เมื่อเรามุ่งมั่นสู่การตรัสรู้ เราจะปลูกฝังทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการเพื่อนำมาซึ่งคุณสมบัติที่ดีทั้งหมดที่จำเป็นในฐานะของพระพุทธเจ้าเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นทั้งหมด แต่เพื่อช่วยให้คนอื่น ๆ นำคุณสมบัติที่ดีของตัวเองออกมาด้วยนั้น ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องรวบรวมพวกเขาด้วยการโน้มน้าวเชิงบวกของเราเสียก่อน พระพุทธเจ้าได้สอนวิธีการทำสิ่งนี้ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพไว้ในสี่ขั้นตอน
1. มีความเอื้อเฟื้อ
เราต้องเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นถ้าเราทำได้ เมื่อมีคนมาเยี่ยมเรา เราจะเอาเครื่องดื่มให้พวกเขา ถ้าเราออกไปทานข้าวนอกบ้าน เราอาจจะอยากเลี้ยงพวกเขาและจ่ายค่าอาหารให้พวกเขาด้วย การเอื้อเฟื้อไม่จำเป็นต้องหมายถึง แค่การให้สิ่งของบางอย่างกับใครบางคนเท่านั้น สิ่งสำคัญจริง ๆ คือ การเอื้อเฟื้อในเรื่องเวลาของเรา การเต็มใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับใครบางคน รับฟังปัญหาของเขาด้วยความสนใจและห่วงใยอย่างแท้จริง และรับรู้ถึงชีวิตของเขาอย่างจริงจัง นั่นคือของขวัญที่สุดยอดที่เราไม่ควรมองข้าม มันทำให้ผู้คนรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ และรู้สึกผ่อนคลาย และด้วยเหตุนี้ พวกเขาจะมีความสุขและสบายใจเมื่ออยู่กับเรา นี่เป็นขั้นตอนแรกในการเปิดรับการโน้มน้าวเชิงบวกของเรา
2. พูดในลักษณะเป็นที่น่าพอใจ
เพื่อให้ผู้คนเปิดใจกับเรามากขึ้น เราต้องพูดด้วยท่าทีที่อ่อนโยนและเป็นที่น่าพอใจกับพวกเขา ซึ่งหมายถึงวิธีที่พวกเขาจะเข้าใจได้ โดยการใช้ประเภทของภาษาที่พวกเขาสามารถเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องและในแง่ของความสนใจของพวกเขาด้วย โดยพื้นฐานแล้ว เราต้องทำให้คนอื่นสบายใจเมื่ออยู่กับเรา เราถามถึงสุขภาพของพวกเขา และแสดงความสนใจในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา หากมีคนสนใจฟุตบอล เราจะไม่เพียงแค่พูดว่า “นั่นมันงี่เง่า เสียเวลาเปล่า!” นี่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะถ้าเราพูดอย่างนั้น พวกเขาจะไม่เปิดรับเรา พวกเขาจะรู้สึกว่าเรากำลังดูถูกพวกเขา ไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดมากนักว่าใครเป็นผู้ชนะในเกมวันนี้ แต่เราสามารถพูดคุยเกี่ยวกับเกมนี้เล็กน้อยเพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับ หากเราปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้อื่น สิ่งสำคัญคือ ต้องให้ความสนใจกับทุกคนและในสิ่งที่พวกเขาสนใจ ถ้าเราไม่ทำเช่นนี้ เราจะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างไร
เมื่อมีคนเปิดใจและรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากเราแล้ว วิธีการพูดที่เป็นที่น่าพอใจของเราก็สามารถเปลี่ยนให้เป็นเรื่องที่มีความหมายได้มากขึ้น ในเวลาที่เหมาะสม และในสถานการณ์ที่เหมาะสม เราสามารถพูดถึงแง่มุมของคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องและจะเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลนั้น เราต้องแน่ใจว่าได้ระบุถึงประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับจากการทำเช่นนั้น
น้ำเสียงของเรามีความสำคัญมากในการให้คำแนะนำ เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดน้ำเสียงที่บีบบังคับ ถือดี หรืออ้างตัวว่าเป็นผู้มีอุปการะคุณที่เหนือกว่า นี่เป็นสิ่งที่บอกโดยนัยว่าการพูดที่น่าพอใจนั้นหมายถึงอะไร เราจำเป็นต้องพูดในลักษณะที่อีกฝ่ายยอมรับได้ง่ายโดยไม่รู้สึกว่าถูกคุกคามหรือโจมตีด้วยคำแนะนำที่ไม่ต้องการ สิ่งนี้ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและทักษะที่ดีในการรู้ช่วงเวลาที่เหมาะสมและวิธีที่เหมาะสมในการให้คำแนะนำ ถ้าเราคร่ำเคร่งมากเกินไปและยืนกรานในการสนทนาที่ลึกซึ้งและมีความหมายอยู่ตลอดเวลา ผู้คนจะพบว่าเราน่าเบื่อที่จะอยู่ด้วยและจะไม่เปิดรับสิ่งที่เราอาจจะพูดไป นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า บางครั้งเราต้องใช้อารมณ์ขันเพื่อลดทอนน้ำเสียงของการสนทนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคน ๆ นั้นเริ่มตั้งรับเมื่อเราให้คำแนะนำ
ผลของการพูดของเราด้วยความอ่อนโยนในลักษณะที่น่าพอใจด้วยวิธีการที่มีความหมายด้วยนั้นคือ เมื่อเราอธิบายคำสอนบางอย่างให้กับใครบางคน จะทำให้คน ๆ นั้นสนใจที่จะบรรลุเป้าหมายของสิ่งที่เราได้แนะนำให้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าบุคคลผู้นั้นจะรู้ได้อย่างชัดเจนและมั่นใจในคำแนะนำ และจากการตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของคำแนะนำนั้น คน ๆ นั้นก็จะให้ความสำคัญกับมัน
3. กระตุ้นผู้อื่นให้ไปถึงเป้าหมายที่พวกเขาตั้งไว้
เราไม่ทิ้งคำแนะนำใด ๆ ที่เราเสนอไว้เพียงแค่ในระดับทฤษฎีทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เราจำเป็นต้องอธิบายอย่างชัดเจนว่าจะนำคำสอนนั้นไปใช้กับสถานการณ์ของบุคคลอื่นได้อย่างไร ด้วยวิธีนี้ เรากระตุ้นผู้อื่นให้นำคำแนะนำของเราไปปฏิบัติเพื่อให้พวกเขาบรรลุเป้าหมายของคำสอนนั้น หลังจากพวกเขารู้วิธีประยุกต์ใช้คำสอน คือรู้แน่นอนว่าจะต้องทำอะไรในแต่ละขั้นตอนแล้ว พวกเขาก็จะกระตือรือร้นที่จะทดลองใช้
ในการกระตุ้นผู้อื่นให้ประยุกต์ใช้คำสอนในชีวิตของพวกเขา เราจะพยายามจัดเตรียมสถานการณ์ที่จะทำให้มันง่ายขึ้นสำหรับพวกเขา นี่หมายถึงการทำให้สิ่งต่าง ๆ ง่ายตั้งแต่ในตอนแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เราต้องค่อย ๆ นำพวกเขาไปสู่เทคนิคขั้นสูงที่ซับซ้อนมากขึ้น ผลคือ พวกเขามีความมั่นใจในตนเองที่จะพยายามและดำเนินการต่อไปด้วยวิธีการต่าง ๆ พวกเขาจะไม่ท้อแท้จากการพยายามประยุกต์ใช้คำสอนบางอย่างที่เกินระดับปัจจุบันของพวกเขา
4. ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านี้
สิ่งที่ทำให้ท้อใจที่สุดอย่างหนึ่งคือ สำหรับคนที่เราแนะนำให้มองว่าเราเป็นคนเสแสร้ง เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขาหันหนีจากคำสอน เราจำเป็นต้องเป็นตัวอย่างที่ดีโดยปฏิบัติตามสิ่งที่เราแนะนำ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราสอนวิธีการทางพุทธศาสนาในการเอาชนะความโกรธให้ใครสักคน แต่กลับทำให้คนนั้นเห็นภาพที่ไม่น่าดูเมื่อเราอยู่กับคน ๆ นั้นที่ร้านอาหาร และเราต้องรออาหารเป็นเวลานานครึ่งชั่วโมง คนนั้นจะคิดอย่างไรกับคำสอนทางพุทธศาสนาเกี่ยวกับการจัดการความโกรธ คน ๆ นั้นก็จะคิดว่าวิธีนี้ไม่ได้ผลและหยุดทำวิธีนั้นไป และเขาจะหยุดรับคำแนะนำเพิ่มเติมที่เราอาจให้อย่างแน่นอน นั่นคือเหตุผลที่ว่า วิธีการประพฤติของเราต้องสอดคล้องกับสิ่งที่เราสอน พื้นฐานนี้เท่านั้นที่จะทำให้คนอื่นเชื่อในสิ่งที่เราพูด
แน่นอนว่าตอนนี้เรายังไม่ใช่พระพุทธเจ้า ดังนั้น จึงไม่มีทางที่เราจะเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์แบบสำหรับใคร ๆ ได้ ถึงกระนั้น เราก็พยายามอย่างเต็มที่ การไม่เป็นคนเสแสร้งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่แสดงให้เห็นว่าทำตามคำสอนเมื่อเราอยู่กับคนที่เราพยายามช่วยเหลือเท่านั้นแล้วปฏิบัติตัวแย่ ๆ เมื่อเราอยู่คนเดียวหรืออยู่กับครอบครัว การปฏิบัติตนให้สอดคล้องตามเป้าหมายของพระธรรมจำเป็นต้องปฏิบัติเป็นประจำและด้วยความจริงใจ
บทสรุป
สี่ขั้นตอนในการรวบรวมและช่วยเหลือผู้อื่นให้บรรลุการพัฒนาที่สมบูรณ์โดยผ่านทางคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ส่วนตัวของเราเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องระดับที่ใหญ่ขึ้นไปอีกกับการทำให้พระธรรมมีอยู่ในโลกนี้อีกด้วย
- มีความเอื้อเฟื้อ - ให้คำสอนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- พูดในลักษณะเป็นที่น่าพอใจ - ทำให้คำสอนสามารถเข้าถึงได้ในภาษาที่เข้าใจง่ายและผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือ เว็บไซต์ พอดแคสต์ วิดีโอ โซเชียลมีเดีย และอื่น ๆ
- กระตุ้นผู้อื่นให้บรรลุเป้าหมาย - ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงวิธีการศึกษาและให้ซึมซับเนื้อหาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งวิธีการนำคำสอนไปใช้ในชีวิตประจำวัน
- ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับเป้าหมายเหล่านี้ - ยกตัวอย่างหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการดำเนินชีวิตของคุณ และในกรณีขององค์กรธรรมในแนวทางที่องค์กรนั้นดำเนินการ
ขั้นตอนทั้งสี่นี้ได้รับการสนับสนุนจากแรงจูงใจที่เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้งอย่างจริงใจ หากไม่ใช่โพธิจิตเต็มรูปแบบที่มุ่งไปสู่การตรัสรู้แล้ว ทั้งสี่ขั้นตอนนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้ผู้อื่นยอมรับการโน้มน้าวเชิงบวกของเรา