การทำสมาธิด้วยเหตุและผล 7 ประการเพื่อโพธิจิต

โพธิจิตคือ จุดมุ่งหมายเพื่อที่จะบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าหรือพุทธภาวะเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่ที่สุด วิธีปฏิบัติด้วยเหตุและผล 7 ประการเพื่อสร้างจุดมุ่งหมายนี้และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับมันเมื่อเราได้พัฒนาสิ่งนี้แล้ว จะนำเราไปสู่ลำดับของอารมณ์และความเข้าใจต่าง ๆ เริ่มจากความวางใจเป็นกลาง โดยถือว่าทุกคนเคยเป็นแม่ของเราเพื่อที่จะระลึกถึงความรักของแม่และด้วยความกตัญญูกตเวทีก็ปรารถนาที่จะตอบแทนความใจดีมีเมตตานั้น สิ่งนี้นำไปสู่การพัฒนาความรักและความเห็นอกเห็นใจอย่างเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน เป็นการแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยม และเป็นผลมาจากลำดับของสาเหตุนี้เอง จึงเกิดเป็นจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิต

บทนำ

เรามีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าพร้อมกับการหยุดพักชั่วคราวและการเพิ่มคุณค่าทั้งหมดซึ่งทำให้เราสามารถดำเนินตามเส้นทางพระพุทธศาสนาได้ อย่างไรก็ตาม เสรีภาพและโอกาสเหล่านี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป ดังนั้น เราจึงต้องใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เรามีให้เต็มที่

วิธีที่ดีที่สุดในการใช้ประโยชน์จากชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าของเราคือ การใช้มันเพื่อพัฒนาจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิต จุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิตคือ จิตและใจที่จดจ่ออยู่กับการตรัสรู้ของตัวเราเองซึ่งยังไม่เกิดขึ้น แต่สามารถกำหนดได้ในภายหลังบนความต่อเนื่องทางจิตใจบนรากฐานของปัจจัยธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าที่จะช่วยให้บรรลุได้ ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ เครือข่ายของพลังบวกและการตระหนักรู้อย่างลึกซึ้ง คุณสมบัติที่ดีต่าง ๆ ของเรา และความบริสุทธิ์ตามธรรมชาติของจิตใจของเรา จุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิตนี้มีสองประการคือ เพื่อบรรลุการตรัสรู้นั้นโดยเร็วที่สุดและเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกทั้งปวงด้วยวิธีการนั้น

เมื่อพัฒนาโพธิจิต เราพัฒนาจุดมุ่งหมายทั้งสองประการในลำดับที่ตรงกันข้าม ประการแรก เราตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะทำประโยชน์ต่อสัตว์โลกทั้งหมด ไม่ใช่แค่มนุษย์เท่านั้น สิ่งนี้เกิดขึ้นจากความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และความแน่วแน่เป็นพิเศษของเรา ซึ่งเราจะพูดถึงภายหลังในการบรรยายนี้ เพื่อจะได้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พวกเขา เราจึงตั้งใจที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ เราจำเป็นต้องตรัสรู้เพื่อขจัดข้อจำกัดและข้อบกพร่องทั้งหมดของเรา เพราะเราเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ขัดขวางไม่ให้เราช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีที่สุด ตัวอย่างเช่น ถ้าเราโกรธคนอื่น เราจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร? นอกจากนี้ เรายังจำเป็นต้องตรัสรู้เพื่อที่จะตระหนักถึงศักยภาพของเราทั้งหมดด้วย เราจำเป็นต้องตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่เพื่อที่จะสามารถใช้มันให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ ดังนั้น เมื่อพัฒนาจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิต อันดับแรกมันจึงไม่ใช่ว่าเราต้องการเป็นพระพุทธเจ้าเพราะนั่นเป็นสภาวะสูงสุด แล้วจากนั้น เราจึงต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น เหมือนกับภาษีที่น่ารังเกียจบางอย่างที่เราต้องจ่าย

มีสองวิธีหลักในการพัฒนาจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิต วิธีหนึ่งคือ ผ่านการสอนด้วยเหตุและผล 7 ประการ อีกหนึ่งวิธีคือ ด้วยการทำให้เท่าเทียมกันและแลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับตนเองกับผู้อื่น ในที่นี้ เราจะพูดถึงวิธีแรกในสองวิธีนั้น

การพัฒนาอุเบกขาหรือความวางใจเป็นกลาง

หลักเหตุและผล 7 ประการนั้นมีอยู่ 6 ขั้นตอนที่ทำหน้าที่เป็นสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดขั้นตอนที่ 7 ซึ่งเป็นการพัฒนาจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิตที่เป็นจริง มันเริ่มต้นด้วยขั้นตอนเบื้องต้นไม่นับรวมขั้นตอนที่ 7 มันเป็นการพัฒนาความวางใจเป็นกลางที่เราเอาชนะการดึงดูดใจหรือยึดติดกับสิ่งมีชีวิตบางอย่าง รังเกียจผู้อื่น และไม่แยแสต่อผู้อื่น จุดประสงค์ของขั้นตอนเบื้องต้นนี้คือ การเปิดกว้างต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

การเข้าใจในความเท่าเทียมกันของทุกคน ซึ่งจำเป็นสำหรับการเปิดให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เกิดจากการตระหนักว่าความต่อเนื่องทางจิตใจหรือกระแสของจิตใจไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ดังนั้น ทุกคนในบางเวลาก็เคยเป็นเพื่อนของเรา บางเวลาก็เคยเป็นศัตรูของเรา บางเวลาก็เคยเป็นคนแปลกหน้า และสถานะนั้นต่างก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ในแง่นี้ทุกคนเหมือนกันหมด

ประเด็นหลักที่เราต้องทำความเข้าใจที่อยู่เบื้องหลังวิธีคิดนี้คือ จิตใจที่ไม่มีจุดเริ่มต้น นี่เป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา การเกิดใหม่เกี่ยวข้องกับความต่อเนื่องของประสบการณ์ ความต่อเนื่องทางจิตใจคือความต่อเนื่องของประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจเจกและไม่มีอัตลักษณ์โดยกำเนิดว่าเป็นมนุษย์ สัตว์ ชายหรือหญิง รูปแบบชีวิตและเพศที่ความต่อเนื่องทางจิตใจแสดงออกมาให้เห็นในการเกิดใหม่เฉพาะสิ่งนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของกรรมหรือการกระทำแต่ก่อนและผลของมันที่ตามมา

ประเด็นเกี่ยวกับจิตใจที่ไม่มีการเริ่มต้นนี้เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาโพธิจิต เพราะจากความเข้าใจนี้ มันก็จะเป็นไปได้ที่จะพัฒนาความเห็นอกเห็นใจสำหรับทุกคนอย่างแท้จริงได้ ตัวอย่างเช่น เราจะไม่เห็นสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นเพียงยุงตัวหนึ่งเท่านั้น แต่เราเห็นว่าสิ่งมีชีวิตนี้เป็นความต่อเนื่องทางจิตใจของแต่ละบุคคลที่ยาวนานอย่างไม่สิ้นสุดที่ในชีวิตนี้เกิดขึ้นในรูปแบบของยุงเพราะกรรมของมัน มันไม่ใช่ยุงโดยธรรมชาติ สิ่งนี้ทำให้ใจของเราเปิดกว้างต่อยุงเท่ากันกับเปิดกว้างต่อมนุษย์ พลังของโพธิจิตจะเกิดขึ้นจากความจริงที่มากับมันนั้น นั่นคือ เราตั้งใจที่จะทำประโยชน์ให้กับทุกคนอย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่ง่าย

การยอมรับว่าทุกคนเคยเป็นแม่ของเรา 

ด้วยความวางใจเป็นกลาง เมื่อเราสามารถที่จะมองเห็นว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหมดเป็นความต่อเนื่องทางจิตใจที่ไม่มีจุดเริ่มต้นแต่ละบุคคลแล้ว ซึ่งไม่ปฏิเสธรูปแบบของพวกเขาในช่วงชีวิตนี้ เราก็พร้อมที่จะเริ่มขั้นแรกในการทำสมาธิด้วยเหตุและผล 7 ประการ นั่นคือ การรับรู้ว่า ณ จุดหนึ่ง แต่ละคนเคยเป็นแม่ของเรา แนวของการใช้เหตุผลก็เช่นเดียวกับที่เรามีแม่ในชาตินี้ ในทำนองเดียวกัน ทุกช่วงชีวิตที่เราเกิดมาจากครรภ์หรือไข่หนึ่งใบ เราก็มีแม่เช่นเดียวกัน จากตรรกะของการเกิดใหม่อย่างไม่มีจุดเริ่มต้นและความจริงที่ว่ามีสัตว์โลก แม้ว่าจะมีจำนวนนับไม่ถ้วนก็ตาม ทุกคนก็เคยเป็นแม่ของเราในชาติต่าง ๆ ที่ไม่มีจุดเริ่มต้นเช่นกัน และเราก็เคยเป็นแม่ของพวกเขาด้วย พวกเขายังเคยเป็นพ่อของเรา เพื่อนสนิทของเรา และอื่น ๆ ด้วย

ในการมองว่าทุกคนเคยเป็นแม่ของเรา เราจะต้องระวังไม่ให้มองว่าการเป็นแม่ของเราเป็นตัวตนโดยกำเนิดของทุกคน เพราะนั่นอาจจะกลายเป็นปัญหาเล็กน้อยได้เช่นกัน เราต้องพยายามอย่าลืมเรื่องของการที่ไม่มีสิ่งใด (ความว่างเปล่า) ซึ่งก็คือ การปราศจากตัวตนที่ตายตัวโดยกำเนิด

การยอมรับว่าทุกคนเคยเป็นแม่ของเราจะเปลี่ยนวิธีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้อื่นของเราอย่างสิ้นเชิง ตรงนี้ เรากำลังก้าวไปไกลกว่าแค่ความวางใจเป็นกลางต่อทุกคนเท่านั้น แต่เราเห็นแล้วว่าเรามี และยังคงมี ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด อบอุ่น และเต็มไปด้วยความรักกับทุกคนด้วย

การระลึกถึงความน้ำใจของความรักของแม่

ขั้นตอนที่สองใน 7 ประการนั้นคือ การระลึกถึงความน้ำใจของความรักของแม่ สำหรับชาวตะวันตกหลายคน นี่เป็นขั้นตอนที่มีปัญหาในการทำสมาธิ เพราะชาวอินเดียและชาวทิเบตมักจะเอาแม่ของเราในช่วงชีวิตนี้เป็นแบบอย่าง ในสังคมเหล่านั้น ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่มีปัญหาความสัมพันธ์ทางอารมณ์และความสัมพันธ์ที่ยากลำบากกับแม่ของตนน้อยกว่าในสังคมตะวันตก แน่นอนว่า ไม่ว่านั่นจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง มันก็แตกต่างกันไปในแต่ละกรณี แต่ผมจะบอกว่า จากการสังเกตของผมที่อาศัยอยู่ในสังคมทิเบตและสังคมอินเดียมาเป็นเวลา 29 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กโตกับแม่ของพวกเขาที่นั่นดูเหมือนจะมีปัญหาทางอารมณ์น้อยกว่าในตะวันตกมาก

ขั้นตอนนี้ในการทำสมาธิคือ การระลึกว่ามารดาของเรามีน้ำใจอย่างไร หรือเคยมีอย่างไรหากเธอล่วงลับไปแล้ว ย้อนกลับไปหาเธอตอนที่อุ้มท้องเรา จากนั้น เราก็จะขยายสิ่งนี้ไปสู่การคิดว่าทุกคนได้แสดงความน้ำใจต่อเราเหมือน ๆ กันในชาติก่อนอย่างไร

หลายคน เวลาที่พวกเขาสอนสิ่งนี้แก่ชาวตะวันตก จะพูดว่า โอเค ถ้าคุณมีปัญหากับแม่ของคุณ คุณก็สามารถคิดถึงพ่อของคุณแทน เพื่อนสนิท หรือใครก็ได้ที่แสดงความน้ำใจต่อคุณ วิธีนี้จะทำให้คุณไม่ติดขัดในการพยายามทำสมาธิแบบนี้ ผมคิดว่านี่เป็นวิธีการที่เป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเรามีปัญหาในความสัมพันธ์ของเรากับแม่ ให้จัดการกับมันและอย่ามองข้ามมันไป หากเราไม่สามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแม่ได้ ก็จะเป็นเรื่องยากมากที่จะมีความสัมพันธ์ที่จะแสดงความรักที่ดีกับคนอื่น ซึ่งก็มักจะมีปัญหาตามมาเสมอ ดังนั้น ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะมองดูความสัมพันธ์ที่แท้จริงของเรากับแม่ของเรา และพยายามรับรู้ถึงความน้ำใจของเธอ ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นอาจจะเคยยากลำบากหรือยากลำบากเพียงใดในปัจจุบันก็ตาม

อันดับแรก เราต้องดูความรักของแม่ในอุดมคติก่อน มีการอธิบายถึงสิ่งนี้เต็มไปหมดในพระคัมภีร์ดั้งเดิมที่ทรงคุณค่าต่าง ๆ คุณจะเห็นมันในสัตว์หลายชนิด แม่นกจะกกไข่ไม่ว่ามันจะหนาวเย็นและตัวเปียกแค่ไหน และเมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัว แม่นกก็จะจับแมลงและเคี้ยวแมลง แต่ไม่กลืนมันลงไป แล้วป้อนมันเป็นอาหารแก่ลูกนก นี่เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาจริง ๆ

แน่นอนว่า มันก็มีตัวอย่างในโลกของสัตว์และแมลงที่แม่กินลูกของตัวเอง แต่พวกมันก็ผ่านประสบการณ์ความยากลำบากในการให้กำเนิดลูกของตน และไม่ว่าจะเป็นแม่ผู้ให้กำเนิดของเราหรือแม่ที่รับตั้งครรภ์แทน ต่างก็อุ้มท้องเราไว้ในครรภ์ของเธอ แม้ว่าเราจะตั้งครรภ์ในหลอดทดลอง แต่ก็มีคนดูแลหลอดทดลองและเก็บไว้ที่อุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ว่าแม่ของเราจะชอบอุ้มท้องเราหรือไม่ก็ไม่สำคัญ มันเป็นความน้ำใจอย่างไม่น่าเชื่อที่ได้อุ้มท้องเรามาและไม่ทำแท้งเรา มันไม่สะดวกสบายสำหรับเธอเลย เธอได้รับความเจ็บปวดอย่างมากในช่วงเวลาที่ให้กำเนิดเรา ยิ่งกว่านั้น เมื่อเรายังเป็นทารก ก็มีคนต้องตื่นกลางดึก ป้อนนมเรา และดูแลเรา ไม่อย่างนั้น เราก็คงไม่รอด สิ่งเหล่านี้ถูกเน้นย้ำในพระคัมภีร์ต่าง ๆ นั้น

ถ้าเรามีปัญหากับแม่ของเรา ผมคิดว่าเราสามารถนำเอาสิ่งที่บอกเป็นนัย ๆ ถึงวิธีดำเนินการจากการทำสมาธิถึงครูในพระคัมภีร์การปฏิบัติลัม-ริมของสมเด็จองค์ดาไลลามะองค์ที่ 5 ได้ พระคัมภีร์หลายเล่มก่อนหน้านี้กล่าวว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหาครูสอนศาสนาที่มีเพียงคุณสมบัติที่ดีอย่างเดียวได้ ไม่มีครูสอนศาสนาคนไหนที่จะสมบูรณ์แบบ ทุกคนจะมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนผสมกัน สิ่งที่เราต้องการทำในการทำสมาธิเกี่ยวกับครูสอนศาสนาคือ การมุ่งเน้นไปที่คุณสมบัติที่ดีและความน้ำใจของครูเพื่อพัฒนาความเคารพ แรงบันดาลใจ และความสำนึกบุญคุณอย่างมากมาย สิ่งนี้จะกระตุ้นให้เราพัฒนาคุณสมบัติที่ดีและความน้ำใจเหล่านี้ด้วยตัวเราเอง

สมเด็จองค์ดาไลลามะองค์ที่ 5 อธิบายว่าในกระบวนการทำเช่นนี้ เราไม่จำเป็นต้องปฏิเสธข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของครู นั่นก็จะเป็นความไม่รู้ไป เรารับทราบข้อบกพร่อง แต่เก็บมันไว้ขณะนั้นก่อน เพราะการคิดถึงข้อผิดพลาดของครูก็เพียงแต่จะนำไปสู่การบ่นและทัศนคติเชิงลบเท่านั้น นั่นจะไม่สร้างแรงบันดาลใจเลย มันก็แค่คือการเน้นแต่คุณสมบัติที่ดีและความน้ำใจที่เราได้รับแรงบันดาลใจก็เท่านั้น 

ดังนั้น ก่อนอื่น เราต้องยอมรับข้อบกพร่องต่าง ๆ แต่เราต้องตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมาว่าสิ่งเหล่านี้เป็นข้อบกพร่องที่แท้จริงหรือเป็นเพียงการจินตนาการในส่วนของเราเท่านั้น หากข้อบกพร่องเป็นเพียงแค่จินตนาการแต่ไม่เป็นความจริง เราจะทิ้งมันไปให้หมด จากนั้น เราจำเป็นต้องตรวจสอบว่าข้อบกพร่องที่ไม่ใช่จินตนาการเป็นข้อบกพร่องในปัจจุบันที่ครูมีหรือเป็นเรื่องเก่าในอดีตที่เราไม่ต้องการปล่อยไป ถ้าข้อบกพร่องไม่เป็นปัจจุบันอีกต่อไป เราจะหยุดพิจารณาสิ่งเหล่านั้น ซึ่งมันจะไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อีกต่อไป เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าข้อผิดพลาดในปัจจุบันคืออะไร เราก็บอกว่า โอเค นั่นคือข้อพลาดในปัจจุบันของเขาหรือเธอ จากนั้น เราก็เก็บมันไว้ชั่วขณะนั้นเช่นกัน และมุ่งความสนใจไปที่คุณสมบัติที่ดีเท่านั้น 

ผมคิดว่าขั้นตอนที่คล้ายกันนั้นเหมาะสมและสามารถใช้ได้ผลดีมากเวลาที่พิจารณาถึงความน้ำใจของแม่ของเรา ไม่มีแม่ใครที่เป็นแม่ในอุดมคติ ถ้าตัวเราเองเป็นพ่อแม่ เรารู้ว่าการเป็นพ่อแม่ในอุดมคติเป็นเรื่องยากอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น เราจึงไม่ควรคาดหวังว่าพ่อแม่ของเราจะเป็นพ่อแม่ในอุดมคติเช่นกัน จากนั้น เราจะพิจารณาข้อผิดพลาดและข้อบกพร่องที่แม่ของเรามีและพยายามทำความเข้าใจสาเหตุและเงื่อนไขที่ทำให้เกิดข้อบกพร่องเหล่านี้ เธอไม่ใช่คนเลวโดยกำเนิด เช่นเดียวกับที่ไม่มีความต่อเนื่องทางจิตใด ๆ ที่เป็นยุงโดยกำเนิด (ซึ่งมันก็ไม่ได้น่ารำคาญโดยกำเนิดด้วย) เราต้องแน่ใจว่าเราไม่ได้กำลังจินตนาการข้อบกพร่องต่าง ๆ ลงบนแม่ของเราหรือเพียงแค่จมอยู่กับเรื่องราวสมัยโบราณ จากนั้น เราก็วางข้อผิดพลาดในจินตนาการทั้งหมดไว้ก่อนชั่วครู่นั้น  รวมทั้งในอดีตและปัจจุบันด้วยเช่นกัน  เราจะพูดว่า โอเค เธอมีหรือเคยมีข้อผิดพลาด แต่เธอก็เป็นเหมือนคนอื่น ๆ เราทุกคนต่างก็มีข้อผิดพลาด แล้วจากนั้น เราก็มาดูที่ความดีและความน้ำใจที่เธอได้แสดงให้เราเห็น

ครูสอนพระธรรมชาวตะวันตกท่านหนึ่ง ผมลืมไปแล้วว่าเป็นใคร ได้แนะนำวิธีการทำสมาธิที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มาก ถึงจุดนี้ เมื่อเรามองข้ามคุณสมบัติด้านลบของแม่แล้ว เราก็จะตรวจสอบชีวิตของเราช่วงห้าหรือสิบปี เราจะใช้เวลาห้านาที ครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง หรือนานแค่ไหนก็ได้ ตรวจสอบและพยายามจดจำสิ่งดี ๆ ทั้งหมดที่แม่ทำเพื่อเราในแต่ละช่วงห้าหรือสิบปี อันดับแรก ตั้งแต่เราอยู่ในครรภ์จนถึงอายุ 5 ขวบ เราจำได้ว่าเธอเปลี่ยนผ้าอ้อมที่สกปรก ป้อนอาหารเรา อาบน้ำเรา และทำสิ่งทั้งหมดนี้ จากนั้น ให้เรานึกถึงตั้งแต่ตอนอายุ 5-10 ขวบ ฯลฯ เธอพาเราไปโรงเรียน บางทีเธออาจจะไม่ได้ช่วยเราทำการบ้าน บางทีเธออาจจะช่วย แต่เธออาจจะทำอาหารให้เราและซักเสื้อผ้าของเรา ตอนเราเป็นวัยรุ่น เธออาจให้เงินเราใช้จ่าย ไม่ว่าแม่ของเราอาจจะเคยเลวร้ายเพียงใด แต่ก็มีความน้ำใจมากมายที่แม่แสดงให้เราเห็นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัยเลย

จากนั้น เราก็สามารถทำสิ่งเดียวกันกับพ่อของเรา กับญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ฯลฯ ได้ มันเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการทำสมาธิ มันเป็นยาแก้พิษที่แรงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อภาวะซึมเศร้าที่บางครั้งเรารู้สึกเวลาที่เราคิดว่า “ไม่มีใครรักฉัน” ด้วยวิธีนี้ ถ้าเราเห็นความน้ำใจของแม่เราในชีวิตนี้ มันก็จะช่วยให้เรารับรู้ว่าทุกคนก็ใจดีกับเราเหมือนกัน ไม่มีใครเป็นแม่ในอุดมคติ แน่นอนว่า เธออาจจะกินเราบางช่วงเวลาในชาติอื่น แต่เธอก็แสดงความน้ำใจต่อเราด้วยเช่นกัน

การตอบแทนความน้ำใจแห่งความรักของแม่

ขั้นตอนที่ 3 ของคำสอนแก่นแท้ 7 ประการคือ การพัฒนาความปรารถนาที่จะตอบแทนความน้ำใจแห่งความรักของแม่ที่เราได้รับ สำหรับสิ่งนี้ เราจะนึกภาพว่าแม่ ๆ ของเราตาบอด สับสน และอารมณ์เสียอย่างยิ่ง ยืนอยู่บนขอบหน้าผา กำลังจะตกลงไปในหุบเหวแห่งความทุกข์ เราจินตนาการด้วยว่า เรา ลูกชายและลูกสาวของพวกเขา กำลังยืนอยู่ข้างพวกเขา โดยรู้ว่าจะช่วยพวกเขาหลีกเลี่ยงการตกลงไปได้อย่างไร ถ้าเรา ลูก ๆ ไม่ช่วยพวกเขา แล้วใครจะช่วย? พวกเขาจะหันไปหาใครได้? ความคิดดังกล่าวจะช่วยเราให้พัฒนาความปรารถนาจากใจจริงนี้เพื่อตอบแทนความน้ำใจของพวกเขาโดยช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากความทุกข์ทุกรูปแบบ

ในการที่จะเพิ่มความปรารถนาของเราให้แข็งแกร่งมากขึ้น เราสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมจากการทำสมาธิที่เราเพิ่งสรุปไว้เกี่ยวกับการระลึกถึงความน้ำใจของแม่ที่แสดงออกมาให้เราเห็น เช่นเคยว่า เราตรวจสอบช่วงเวลาห้าหรือสิบปีในชีวิตของเรา แล้วตรวจสอบว่าเราได้แสดงความน้ำใจกลับให้กับแม่อย่างไรบ้าง เราทำเช่นเดียวกันนี้กับพ่อ เพื่อน ญาติ ฯลฯ

ถ้าเราเปรียบเทียบความรักและความช่วยเหลือที่เราได้รับและให้ไปมากเพียงใด พวกเราส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าเราได้รับมากกว่าที่เราให้มาก ๆ ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ใช่การรู้สึกผิด ซึ่งปกติแล้วจะเป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์แบบตะวันตก ประเด็นคือ มันจะช่วยเราในขั้นต่อไปของการทำสมาธิเพื่อโพธิจิต นั่นคือ การยอมรับความน้ำใจที่เราได้รับ เพื่อที่จะพัฒนาความรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งและปรารถนาที่จะตอบแทนความน้ำใจนั้น

ผมเห็นว่าการปรับเปลี่ยนนี้ให้เข้ากับการทำสมาธิที่ผมเพิ่งสรุปไปมีประโยชน์มากในการกระตุ้นหัวใจของเรา ทำให้เรารู้สึกบางอย่างได้จริง ๆ ผมคิดว่ามันสำคัญมาก ผมเคยเห็นชาวพุทธตะวันตกจำนวนมากที่ทำสมาธิด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจ และแม้กระทั่งคนที่ออกไปช่วยเหลือผู้อื่น แต่พวกเขาก็มีความสัมพันธ์ที่เลวร้ายกับพ่อแม่ของพวกเขาและติดอยู่กับสิ่งนั้น ผมคิดว่ามันค่อนข้างช่วยได้มากจริง ๆ ในการฝึกพัฒนากับความสัมพันธ์นั้นและไม่หลีกเลี่ยงมันเพียงเพราะมันยาก

วิธีที่แนะนำเพื่อประยุกต์ใช้การปฏิบัตินั้น

สิ่งสำคัญในแต่ละขั้นตอนเหล่านี้คือ การเปิดใจและพยายามขยายขอบเขตการปฏิบัติของเราไปสู่สิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในแต่ละขั้นตอน แน่นอนว่า เราสามารถเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ ได้ แต่จากนั้นเราต้องค่อย ๆ ขยายขอบเขตของเรา เราทำสิ่งนี้บนพื้นฐานของความวางใจเป็นกลาง โดยมองว่าทุกคนเป็นความต่อเนื่องทางจิตใจของแต่ละบุคคล ผมพบวิธีที่มีประสิทธิภาพในการทำสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงแค่นั่งสมาธิโดยที่เราหลับตา นึกอย่างเป็นนามธรรมถึง “สัตว์โลกทั้งปวง” ผมคิดว่าวิธีที่จะมีประสิทธิภาพมากกว่าก็คือ การปฏิบัติที่คล้ายกับวิธีที่ผมแนะนำในการฝึกฝนการสำนึกทางอารมณ์เพื่อพัฒนาอารมณ์ที่สมดุล

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พยายามพัฒนาทัศนคติเชิงบวกเหล่านี้ต่อผู้คนหลาย ๆ คนก่อนขณะเพ่งไปที่รูปถ่ายของพวกเขา นั่นคือ เพื่อน คนที่เราไม่ชอบ และคนแปลกหน้า จากนั้น ก็พยายามพัฒนาสิ่งเหล่านั้นในขณะที่มองคนจริง ๆ นั่งเป็นวงกลมรอบตัวเราในกลุ่มการทำสมาธิ แล้วจากนั้น ลองทำกับคนที่อยู่ในรถไฟใต้ดินหรือบนรถบัส ด้วยวิธีนี้ เรานำทัศนคติเชิงบวกที่เรากำลังพยายามพัฒนาไปประยุกต์ใช้กับผู้อื่นอย่างแท้จริง

ในทำนองเดียวกัน เราก็พยายามประยุกต์ใช้กับสัตว์ แมลง และอื่น ๆ ไม่ใช่แค่ในใจของเราตามทฤษฎีเท่านั้น แต่ตอนที่เรามองเห็นมันจริง ๆ ในการทำเช่นนั้น เราจำเป็นต้องพยายามหลีกเลี่ยงความสุดโต่งที่บางครั้งเราเห็นในหมู่ชาวทิเบต กล่าวคือ ความน้ำใจต่อแมลงง่ายกว่าต่อมนุษย์ ถ้ามีมดอยู่กลางวัด ทุกคนก็จะทำแบบสุดโต่งเพื่อไม่ให้มดได้รับบาดเจ็บ แต่บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่ได้แสดงความห่วงใยและมีน้ำใจต่อมนุษย์ เช่น คนอินเดียหรือชาวต่างชาติที่ไปวัดของพวกเขาและต้องการทราบบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเห็นที่นั่น ตรงนี้ เราต้องรักษามุมมองที่เหมาะสมไว้

บางคนอาจบอกว่าช่วยมดง่ายกว่าช่วยมนุษย์ นี่เป็นเพราะว่ามดจะไม่พูดตอบคุณและทำให้คุณลำบากใจ ในขณะที่คนมักจะทำอย่างนั้น สำหรับมด คุณก็แค่หยิบมันขึ้นมาแล้วก็เอาออกไปข้างนอกได้ คุณไม่สามารถทำอย่างนั้นกับคนได้หากพวกเขาน่ารำคาญ ไม่ว่าในกรณีใด ประเด็นของผมก็คือ ผู้คนจำนวนมากทำสมาธิในลักษณะที่เป็นนามธรรมมาก นั่นคือ ได้แต่พิจารณานึกถึง “สัตว์โลกทั้งปวง” แต่ไม่เคยประยุกต์ใช้กับคนจริงใน “โลกแห่งความเป็นจริง” เลย สิ่งนี้จึงสร้างปัญหาใหญ่สำหรับความก้าวหน้าตามเส้นทางนี้

ความรักที่ยิ่งใหญ่

เมื่อเรายอมรับว่าทุกคนเคยเป็นแม่ของเรา ระลึกถึงความน้ำใจของความรักของแม่ และด้วยความกตัญญู คิดที่จะตอบแทนความน้ำใจนั้น เราก็จะมีความรู้สึกถึงความรักที่อบอุ่นใจเป็นธรรมดา นี่คือความรู้สึกใกล้ชิดและความอบอุ่นที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติต่อทุกคนที่เราพบ ไม่จำเป็นต้องทำสมาธิแยกออกไปต่างหากเพื่อพัฒนาความรู้สึกนี้ มันเรียกอีกอย่างว่า ความรักที่ห่วงใยและคำนึงถึง เป็นความรักที่เราคำนึงถึง ใส่ใจห่วงใยใครสักคน มีความห่วงกังวลในสวัสดิภาพของเขาหรือเธอ และจะรู้สึกเศร้ามากหากมีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นกับเขาหรือเธอ

ด้วยความรักที่อบอุ่นใจ เราจะไปต่อกันที่ขั้นตอนที่ 4 นั่นคือ การทำสมาธิพิจารณาถึงความรักอันยิ่งใหญ่ ความรักคือ ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข โดยทั่วไปก็เป็นคนที่เราชอบ อย่างไรก็ตาม ความรักที่ยิ่งใหญ่คือความปรารถนาให้ทุกคนมีความสุขและมีเหตุแห่งความสุข มันสำคัญมากที่จะต้องเป็นทั้งความสุขและสาเหตุของความสุข ซึ่งหมายความว่า ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ของเราว่าความสุขเกิดจากสาเหตุ ไม่ใช่แค่ความโปรดปรานของพระเจ้าหรือความโชคดี และสาเหตุก็ไม่ใช่ ฉัน

สาเหตุแห่งความสุขมีอยู่ในคำสอนเรื่องกรรม นั่นคือ ถ้าคนกระทำอย่างสร้างสรรค์ ไม่ยึดติด ไม่โกรธ ฯลฯ พวกเขาก็จะพบกับความสุข ดังนั้น เราจึงต้องมาคิดตรงนี้ว่า “ขอให้คุณมีความสุขและสาเหตุแห่งความสุข ขอให้คุณกระทำอย่างสร้างสรรค์และในทางที่ดีจริง ๆ เพื่อที่คุณจะได้พบกับความสุข” 

จากขั้นตอนนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าในการทำสมาธิเพื่อโพธิจิตนี้ เรามุ่งมั่นที่จะเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อช่วยเหลือทุกคน แต่ไม่ได้ขยายบทบาทที่เราจะสามารถช่วยพวกเขาได้ เราสามารถชี้ทางให้คนอื่นเห็นได้ แต่พวกเขาจำเป็นจะต้องสร้างสาเหตุของความสุขด้วยตัวเอง

ความเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่

แล้วก็มาถึงขั้นตอนที่ 5 นั่นคือ ความเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่ เป็นความปรารถนาให้ทุกคนพ้นทุกข์และสาเหตุแห่งทุกข์ ก็เช่นเดียวกันกับความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าทุกข์เกิดจากเหตุและจำเป็นต้องขจัดเหตุเหล่านั้นให้สิ้นไปเพื่อดับทุกข์ เช่นเคยว่า มันเป็นมุมมองที่เป็นจริงมาก ความรักที่ยิ่งใหญ่และความเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่แค่ความรู้สึกทางอารมณ์เช่น “ฉันรู้สึกสงสารที่ทุกคนเป็นทุกข์” แต่มันจะมาพร้อมกับความเข้าใจในเหตุและผลทางพฤติกรรม

ความเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่มันมากกว่าความเห็นอกเห็นใจปกติธรรมดาในหลาย ๆ ด้าน

  • มันมีจุดมุ่งหมายเท่า ๆ กันต่อสัตว์โลกทั้งหมด ไม่ใช่แค่บางส่วน
  • เช่นเดียวกับความรักที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้แก่การคำนึงถึงและความห่วงใยต่อสิ่งมีชีวิตแต่ละตนเหมือนแม่ที่รักลูกคนเดียวของเธอ และความปรารถนาที่จะปกป้องและคุ้มกันลูก
  • มันเป็นความปรารถนาที่มีให้ต่อสัตว์โลกแต่ละตนเป็นอิสระจากความทุกข์จากการเกิดใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างควบคุมไม่ได้ที่แผ่กระจายไปทั่วกับสิ่งต่าง ๆ ที่มาจากความสับสน ผสมปนเปกับความสับสน ทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เป็นทุกข์อย่างถาวร ดังนั้น มันจึงไม่ใช่เพียงความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดหรือความทุกข์จากการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ความทุกข์จากการเปลี่ยนแปลงคือ ความสุขทางโลกธรรมดาที่ไม่มีวันคงอยู่และไม่มีวันพอใจ ความเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่ความปรารถนาให้สัตว์โลกไปสวรรค์เพื่อหนีปัญหา 
  • มันตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า มันเป็นไปได้สำหรับสัตว์โลกทั้งหมดที่จะได้รับการปลดปล่อยจากความทุกข์ทรมานที่แผ่ซ่านไปทั่ว มันจึงไม่ใช่แค่ความปรารถนาดีเท่านั้น

ความเห็นอกเห็นใจมักจะได้รับการอธิบายว่าเป็นทัศนคติที่คล้ายกับการสละทิ้ง ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระ การสละทิ้งเป็นทัศนคติที่มุ่งเป้าไปที่ความทุกข์ของเราเอง สาเหตุของความทุกข์ และความปรารถนาที่จะให้เราเป็นอิสระจากความทุกข์นั้น จากความมุ่งมั่นของเราที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ของเราเองและสาเหตุของความทุกข์นั้น เราสามารถพัฒนาความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นได้ สิ่งที่เราทำคือ เปลี่ยนทัศนคติแบบเดิมและมุ่งไปที่คนอื่น ๆ ไปสู่ความทุกข์และสาเหตุของความทุกข์ของพวกเขา และความปรารถนาให้พวกเขาหลุดพ้นจากสิ่งนั้น ด้วยความเอาจริงเอาจังอย่างเดียวกับที่เราปรารถนาให้กับตัวเราเอง

มีคำกล่าวอยู่เสมอว่า เป็นเรื่องยากสำหรับเราที่จะเข้าใจและรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่นอย่างแท้จริง เว้นแต่เราจะคิดถึงความทุกข์ของเราเองและปรารถนาให้ตัวเองพ้นจากความทุกข์นั้น เราต้องเข้าใจว่าคนอื่น ๆ ก็ประสบความเจ็บปวดจากความทุกข์อย่างแท้จริงและความทุกข์ของพวกเขาก็ทำร้ายพวกเขามากเท่ากับความทุกข์ของเราที่ทำร้ายเรา การเข้าใจสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับการยอมรับว่าความทุกข์ของเราเองก็เจ็บปวด มิฉะนั้น เราจะไม่ถือว่าความทุกข์ของผู้อื่นสำคัญ จำไว้ว่า เราปรารถนาให้แม่ของเรา ที่น้ำใจเรา มีความสุขปราศจากความทุกข์ เราจึงเริ่มทำสมาธิกับแม่ของเรา ฯลฯ เพื่อที่ว่าการทำสมาธินั้นจะทำให้เกิดมีความรู้สึกบางอย่างต่อมันจริง ๆ

การขยายวิธีการเพื่อช่วยลดการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ

เช่นเดียวกับในพระคัมภีร์ต่าง ๆ ที่กล่าวว่า ความเห็นอกเห็นใจเกิดขึ้นจากใจจริงก็ต่อเมื่อเราปรารถนาให้ตนเองปราศจากความทุกข์และสาเหตุของความทุกข์นั้น ผมคิดว่าเราสามารถสร้างหลักการเดียวกันนี้เกี่ยวกับความรักได้ สิ่งนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพวกเราที่เป็นทุกข์จากการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ การเห็นคุณค่าในตนเองต่ำเป็นปรากฏการณ์ของชาวตะวันตกโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในหมู่ชาวทิเบตหรือในหมู่ชาวอินเดียในเรื่องนั้น ก่อนที่เราจะปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขและมีเหตุแห่งความสุขอย่างจริงใจ เราต้องปรารถนาให้ตนเองมีความสุขและมีเหตุแห่งความสุขเสียก่อน ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่คู่ควรกับความสุข ทำไมคนอื่นถึงควรจะมีความสุขล่ะ?

การปรารถนาให้ตัวเราเองมีความสุขนั้นเป็นขั้นตอนหนึ่งในการทำสมาธิที่ผมคิดว่าเราสามารถเพิ่มได้อย่างปลอดภัยหากเราเป็นทุกข์จากความเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ ผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างสำคัญ ในการคิดแบบนี้ที่ว่า ทุกคนสมควรที่จะมีความสุข เป็นการช่วยเตือนตัวเราถึงธรรมชาติของพระพุทธเจ้า เราทุกคนไม่ได้เลวร้าย ไม่มีใครเลวไปทั้งหมด เราทุกคนมีศักยภาพที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น มีความสุข ฯลฯ 

อีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือ ความรักและความเห็นอกเห็นใจยังได้รับการพัฒนาในโรงเรียนเถรวาทและโรงเรียนหินยานอื่น ๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ที่นั่น วิธีการทำสมาธิไม่ได้ทำตามลำดับขั้นตอนเหมือนอย่าง 7 ขั้นตอนเหล่านี้ตรงนี้ ที่ช่วยให้เราสร้างความรักและความเห็นอกเห็นใจตามเหตุผล เช่น การระลึกถึงความน้ำใจของแม่ อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรคิดว่าการทำสมาธิด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจนั้นขาดหายไปในประเพณีปฏิบัติของนิกายเถรวาท อย่างไรก็ดี ยังไม่มีขั้นต่อไปในการทำสมาธิเพื่อโพธิจิตตรงนั้น

ความแน่วแน่เป็นพิเศษ

นักแปลต่างแปลขั้นต่อไปซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 6 ในรูปแบบต่าง ๆ บ้างก็เรียกมันว่า “ความปรารถนาที่ไม่เห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง” สมเด็จองค์ดาไลลามะใช้คำว่า “ความรับผิดชอบสากล” ถึงแม้ว่าผมจะแปลมันในหลาย ๆ แบบด้วยตัวผมเอง แต่ตอนนี้ ผมชอบคำว่า “ความแน่วแน่เป็นพิเศษ” ด้วยความเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่ เราจะมีความปรารถนาและความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ตรงนี้ เราตัดสินใจอย่างแน่วแน่ เราจะทำมันอย่างแน่นอน เรารับผิดชอบที่จะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับความทุกข์ของผู้อื่นจริง ๆ ถ้ามีคนกำลังจะจมน้ำในทะเลสาบ เราไม่เพียงแค่ยืนบนฝั่งแล้วพูดว่า “ฉันหวังว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น” เราต้องกระโดดเข้าไปช่วยคน ๆ นั้นจริง ๆ ในทำนองเดียวกัน ตรงนี้ ในการทำสมาธิเพื่อโพธิจิต เราตัดสินใจที่จะรับผิดชอบอย่างเต็มที่ในการช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตทั้งหมดให้มากที่สุด

จุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิต 

จากแนวทางการพัฒนา 6 ขั้นตอนนี้ในฐานะที่เป็นเหตุ ขั้นตอนที่ 7 คือ การพัฒนาจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิตในฐานะที่เป็นผล เมื่อเราตรวจสอบว่าเราจะสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มากที่สุดอย่างไร แต่ด้วยข้อจำกัดในปัจจุบันและอารมณ์และทัศนคติที่รบกวนจิตใจเรา เราตระหนักดีว่าเราจะไม่สามารถช่วยได้มากจริง ๆ ถ้าฉันเห็นแก่ตัวและใจร้อน ชอบคนบางคน แล้วโกรธคนอื่น และขี้เกียจ ถ้าฉันเหนื่อยตลอดเวลา ถ้าฉันไม่สามารถเข้าใจคนอื่นได้จริง ๆ และถ้าฉันไม่สามารถสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ถ้าฉันกลัวคนอื่น กลัวคนอื่นไม่ชอบหรือถูกปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดจะขัดขวางไม่ให้ฉันช่วยเหลือให้ได้มากที่สุดได้ เพราะฉันต้องการที่จะช่วยเหลือจริง ๆ ดังนั้น ฉันจึงต้องกำจัดสิ่งเหล่านี้ออกไป ฉันต้องฝึกพัฒนาตัวเองและกำจัดสิ่งเหล่านี้เพื่อที่ฉันจะได้ใช้ปัญญา ความสามารถ และคุณสมบัติทางธรรมชาติของพระพุทธเจ้าเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เราจะต้องจำไว้เสมอว่า “ให้มากที่สุด” นั่นคือ เราจะไม่กลายเป็นเทพเจ้าผู้ทรงอำนาจ จากแนวการคิดแบบนี้ เราตั้งใจที่จะเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อช่วยเหลือทุกคนอย่างเต็มที่ นี่คือการพัฒนาจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิต ด้วยสิ่งนี้ เราจึงมุ่งเน้นไปที่การตรัสรู้ส่วนบุคคลที่ยังไม่เกิดขึ้นของเราด้วยความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะบรรลุมันโดยเร็วที่สุดและช่วยเหลือผู้อื่นด้วยการบรรลุสิ่งนี้

การประพฤติปฏิบัติแบบพระโพธิสัตว์

เมื่อเราได้พัฒนาโพธิจิตแล้ว เราก็จะพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าเราจะมีข้อจำกัดก็ตาม ทั้งนี้เพราะเรามีความแน่วแน่เป็นพิเศษที่จะรับผิดชอบในการช่วยเหลือที่สร้างขึ้นจากขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ในทั้ง 7 ประการที่เป็นเหตุและผลในการทำสมาธิเพื่อโพธิจิต

นี่หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่เราพบเห็นผู้อื่นและเห็นว่าพวกเขากำลังมีปัญหา เช่น การไม่มีบ้านอยู่ เราจะไม่มองว่าพวกเขาเป็นเพียงคนไร้บ้านเท่านั้น เมื่อเราเห็นพวกเขา เราจะไม่คิดว่าพวกเขายากจน เกียจคร้านโดยกำเนิด หรือการตัดสินที่มีคุณค่าอะไรก็ตามที่เราจินตนาการไว้ แต่เราจะตระหนักดีว่าในช่วงชีวิตนี้และณ จุดหนึ่งในช่วงชีวิตนี้โดยเฉพาะ พวกเขาก็เป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องทางจิตใจของพวกเขานั้นไม่มีจุดเริ่มต้น และในบางจุด พวกเขาก็เคยเป็นแม่ของเราและดูแลเราด้วยความน้ำใจ พวกเขาอุ้มทองเรามา เปลี่ยนผ้าอ้อมที่สกปรก ฯลฯ และเราก็รู้สึกสำนึกในบุญคุณจริง ๆ และอยากจะตอบแทนความน้ำใจนี้จริง ๆ เราปรารถนาให้พวกเขามีความสุข มีสาเหตุแห่งความสุข ปราศจากปัญหาและสาเหตุของปัญหา เรารับผิดชอบในการพยายามที่จะทำอะไรบางอย่างกับมัน

เราจำเป็นจะต้องทำอย่างไร? ไม่ใช่ว่าเราจะต้องกลับบ้านและทำสมาธิเพื่อเอาชนะข้อบกพร่องของเรา และไม่ต้องทำอะไรเพื่อช่วยคนเหล่านี้จริง ๆ แน่นอนว่า เราจำเป็นต้องทำสมาธิมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระตุ้นให้เราทำในขณะนั้นคือ การเอาชนะความเขินอาย ความลังเล และความตระหนี่ของเรา และให้บางอย่างกับพวกเขา อย่างน้อยก็ยิ้มให้พวกเขา อย่างน้อยก็ทำอะไรบางอย่าง

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราใช้ความแน่วแน่เป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นเราในตอนนี้เพื่อที่จะเอาชนะข้อจำกัดของเราให้มากที่สุดและใช้ศักยภาพของเราให้มากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถช่วยได้ในตอนนี้ แน่นอนว่า เมื่อเรากลับบ้าน เราต้องฝึกพัฒนาตัวเราเองให้มากขึ้น แต่อย่าลืมคนที่ไร้บ้านเหล่านั้นแล้วก็เพียงแค่กลับบ้านและทำสมาธิเท่านั้น ถ้าเรามีความแน่วแน่อย่างจริงใจแล้ว มันก็จะทำให้เราให้ความสนใจเอาใจใส่

แรงจูงใจที่แข็งแกร่งที่สุดในการฝึกพัฒนาตัวเราเองในแต่ละช่วงเวลานั้นเกิดขึ้นตอนที่เราพบกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือ เราเห็นหญิงชราคนหนึ่งนั่งอยู่บนพื้นเย็นในฤดูหนาวขอทานที่สถานีรถไฟใต้ดินและคิดว่าถ้าเป็นแม่ของฉันล่ะ? ถ้าเธอเป็นแม่ที่แท้จริงของเราในชีวิตนี้ กำลังนั่งอยู่บนพื้นดินที่หนาวเย็นและขอทานอยู่ เราจะแค่เดินผ่านไปไหม? หรือเด็กหนุ่มบนรถไฟใต้ดินที่เร่ขายหนังสือพิมพ์ของคนไร้บ้านแก้ขัด เราจะรู้สึกอย่างไรถ้านั่นเป็นลูกชายของเราเอง? เด็กคนนี้มีพ่อแม่ มันสำคัญมาก ในอินเดีย เราเห็นคนที่เป็นโรคเรื้อนและคนพิการอื่น ๆ และโดยปกติ เราก็ไม่เคยคิดว่าคนที่เป็นโรคเรื้อนเหล่านี้มีครอบครัว พวกเขามีครอบครัว ให้มองพวกเขาเป็นมนุษย์

แน่นอนว่า เราต้องมีการรับรู้ที่แยกแยะเพื่อที่จะแยกแยะสถานการณ์ปกติของคนไร้บ้านเหล่านี้ บางคนอยู่บนถนนวิงวอนขอผู้คนเพื่อซื้อยาหรือเหล้า ในกรณีเช่นนี้ เราจำเป็นต้องใช้สิ่งที่พุทธศาสนาเรียกว่า “อุบาย” เรามีความปรารถนาที่จะช่วยเหลือ มีความคิดว่าสาเหตุของความทุกข์ของพวกเขาคืออะไร และความสุขของพวกเขาน่าจะเป็นอะไร จากนั้น เราก็พยายามทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์สำหรับพวกเขา บางทีการให้เงินกับพวกเขาอาจไม่เป็นประโยชน์เลย ซึ่งพวกเขาอาจจะใช้มันเพื่อซื้อยาหรือเหล้าเพิ่มก็เท่านั้น ดังนั้น เราจึงไม่ให้เงินพวกเขา ถ้าเรามีอาหารบางอย่าง เราก็สามารถให้พวกเขาได้ แต่ไม่ว่าในกรณีใด เราสามารถให้ทัศนคติที่ห่วงใยเอาใจใส่และให้ความเคารพแก่พวกเขาได้โดยไม่คิดว่าพวกเขาเป็นเหมือนคนขี้เมาหรือคนติดสุราที่น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง พวกเขาเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ที่ทุกข์ทรมาน

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจว่าวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้อื่นคืออะไร เราจะเห็นว่าตอนนี้เราถูกจำกัด เราไม่รู้จริง ๆ ว่าอะไรดีที่สุด เราต้องเป็นพระพุทธเจ้าถึงจะรู้จริง ๆ แต่ตอนนี้เราพยายามทำให้ดีที่สุดโดยตระหนักว่า บางครั้งเราจะทำผิดพลาด แต่อย่างน้อยเราก็พยายาม

บทสรุป

เมื่อเราได้พัฒนาจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิตโดยการฝึกฝนตัวเราเองด้วยวิธีการเหตุและผล 7 ประการแล้ว เป้าหมายของเราในการบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าที่จะช่วยเหลือผู้อื่นให้ดีที่สุดจึงมีขึ้นเนื่องจากมันสนับสนุนสภาวะทางอารมณ์ที่แข็งแกร่งที่ผสมผสานความรู้สึกของแต่ละบุคคลหลายอย่างเข้าด้วยกัน ซึ่งได้แก่ ความรู้สึกใกล้ชิดและความเชื่อมโยงกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ความซาบซึ้งในความน้ำใจที่ผู้อื่นได้แสดงออกมา ความรู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้ง ความห่วงใย ความรักและความเห็นอกเห็นใจ บวกกับความตั้งใจแน่วแน่ที่จะรับผิดชอบในการช่วยเหลือทุกคนให้ได้มากที่สุด ด้วยการมีอารมณ์เช่นนั้นอยู่ เป้าหมายแห่งโพธิจิตของเราจึงแข็งแกร่ง จริงใจ และมั่นคง

Top