การฝึกสมาธิหลายอย่างเกี่ยวข้องกับการนึกเห็นภาพ อย่างไรก็ตาม “การนึกเห็นภาพ” อาจเป็นการแปลที่ทำให้เข้าใจผิดเล็กน้อยเพราะเราไม่ได้ใช้สายตา เรากำลังใช้จินตนาการของเรา ดังนั้น ไม่ใช่แค่ภาพ แต่เราต้องจินตนาการถึงเสียง กลิ่น รส และความรู้สึกทางกายภาพด้วย เมื่อเราถวายสารต่าง ๆ ทางใจ เราจินตนาการถึงความสุขทางประสาทสัมผัสที่ได้จากการเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านี้ นอกจากนี้ เราไม่ได้นึกเห็นภาพสองมิติ เราจำเป็นต้องนึกเห็นภาพสามมิติที่มีชีวิตซึ่งทำจากแสง ไม่ใช่เพียงแค่ภาพหรือรูปปั้นหรือรูปการ์ตูนเท่านั้น
มุ่งเน้นไปที่พระพุทธเจ้า
เมื่อปฏิบัติสมาธิตามแบบมหายาน อาจารย์หลายคนแนะนำให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจ เพราะนี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม วิธีปฏิบัติที่พบบ่อยที่สุดเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาธิตามแบบนี้คือ โดยผ่านการนึกเห็นภาพของพระพุทธเจ้าองค์เล็ก นอกจากนี้ เรายังสามารถจ้องมองไปที่แอปเปิลและมีสมาธิได้ แต่จริง ๆ แล้วการจ้องแอปเปิลมีประโยชน์อย่างไร หากเรามุ่งเน้นไปที่พระพุทธเจ้า นอกจากจะได้สมาธิแล้ว เรายังตระหนักรู้ถึงคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า และสามารถเพิ่มทิศทางที่ปลอดภัยในชีวิตของเรา (ที่พึ่ง) ตามที่พระพุทธเจ้าระบุไว้โดยมุ่งที่จะเป็นพระพุทธเจ้าด้วยตัวเองด้วยโพธิจิตตา และอื่น ๆ
นอกจากนี้ ท่านอสังคะ ปรมาจารย์ชาวอินเดียยังชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จของสมาธิที่สมบูรณ์แบบนั้น มาจากการตระหนักรู้ทางจิตใจ ไม่ใช่ด้วยการตระหนักรู้ทางประสาทสัมผัสใด ๆ นี่เป็นเพราะเราจะนำสมาธินั้นไปใช้ในการสร้างความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจในความว่างเปล่า และอื่น ๆ ด้วยจิตใจของเรา เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาธิทางสภาพจิตใจ เราจึงกำลังพยายามสร้าง ทำให้นึกเห็นภาพพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องมือในการฝึกการตระหนักรู้ทางจิตใจของเรา ดังนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามนิกายเกลุก ของพุทธศาสนาทิเบต เรามักจะเน้นไปที่การนึกเห็นภาพของพระพุทธเจ้าเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาธิที่สมบูรณ์แบบ
แล้วตามนิกายสักยะ ญิงมา และกาจู ของพุทธศาสนาทิเบต ที่เรามักพบคำแนะนำว่า ให้จดจ่อกับลมหายใจ หรือเพ่งสายตามองไปที่ภาพวาด หรือรูปปั้นพระพุทธเจ้า สิ่งนี้ขัดแย้งกับคำแนะนำของท่านอสังคะหรือไม่ ไม่ ไม่ใช่ เมื่อเราดูคำอธิบายของพวกเขาว่าจิตใจรับรู้ถึงวัตถุได้อย่างไร โดยที่นิกายทั้งสามเหล่านี้บอกว่า การตระหนักรู้ทางดวงตาจะรับรู้เฉพาะรูปร่างที่เป็นสี และทีละอย่างในแต่ละขณะเท่านั้น ในทำนองเดียวกัน การตระหนักรู้ทางหูจะรับรู้เสียงทีละเสียงในแต่ละขณะเท่านั้น จากนั้น การรับรู้ทางแนวคิดก็จะรวมทุกอย่างเข้าด้วยกันเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าเป็น "วัตถุจากสามัญสำนึก" ตัวอย่างเช่น แอปเปิลไม่ได้เป็นเพียงรูปทรงกลมสีแดง นอกจากนี้ ก็ยังไม่ใช่แค่รสชาติหรือกลิ่นเท่านั้น ไม่ใช่แค่ความรู้สึกทางกายภาพในมือของคุณหรือเสียงเมื่อคุณกัดมันเท่านั้น มันไม่ได้มีอยู่แค่ขณะเดียวเท่านั้น แล้วต่อไปมันจะเป็นวัตถุที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง มีการเป็นไปอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดแอปเปิลก็จะเน่าและผุพังไป แต่ก็มีแอปเปิลธรรมดาที่อาจอยู่ได้สองสามวัน เมื่อคุณเห็นแอปเปิล คุณจะเห็นโครงสร้างทางจิตใจจริง ๆ
ตามคำอธิบายเกี่ยวกับความรู้อารมณ์นี้ เมื่อเรามุ่งเน้นไปที่แอปเปิล หรือลมหายใจ มันเป็นวัตถุตามกรอบความคิด และวัตถุตามกรอบความคิดจะได้รับการมุ่งเน้นด้วยความตระหนักรู้ทางจิตใจ ตามแนวคิด เราได้ใส่รูปทรงที่มีสี และกลิ่น รวมทั้งขณะที่ต่อเนื่องเข้าด้วยกันเป็นวัตถุที่เราอาจเรียกว่า "แอปเปิล" หรืออะไรก็แล้วแต่ตามสามัญสำนึก ดังนั้น นิกายเหล่านี้จึงให้เกียรติคำยืนยันของท่านอสังคะว่า เราจำเป็นต้องพัฒนาสมาธิผ่านการตระหนักรู้ทางจิตใจ
การปฏิบัติจริง
ถ้าเราฝึกปฏิบัติกับพระพุทธรูปเพื่อให้ได้สมาธิ ฉะนั้นแล้ว พระพุทธรูปนั้นจะต้องมีขนาดประมาณเท่าหัวแม่มือของเรา และอยู่ห่างจากด้านหน้าของเราไปประมาณหนึ่งช่วงแขน ดวงตาของเรามองลงไปข้างล่าง ซึ่งไม่ใช่ที่วัตถุจริง ๆ เพราะไม่ได้เกิดจากดวงตา เรามองลงไปด้านล่าง และพระพุทธรูปอยู่เหนือระดับหน้าผากของเราเล็กน้อย
ไม่ใช่เรื่องยากเลย มองลงไปที่พื้นแล้วชูนิ้วหัวแม่มือไว้ข้างหน้าที่ระดับหน้าผาก คุณมีความรู้สึกว่า นิ้วหัวแม่มือของคุณอยู่ตรงนั้น และโดยที่ไม่ต้องมอง คุณก็สามารถเพ่งความจดจ่อไปที่นิ้วหัวแม่มือได้ใช่ไหม หากคุณวางแขนลง คุณก็ยังคงสามารถเพ่งไปที่จุดที่นิ้วหัวแม่มือเคยอยู่ตรงนั้นได้ ง่ายจะตาย!
ในการปฏิบัติทางพุทธศาสนาสายเถรวาทมีหลายข้อแนะนำให้หลับตา แต่ตำรามหายานแนะนำให้ลืมตา มีการปฏิบัติสมาธิแบบเฉพาะเจาะจงบางอย่างที่ให้ลืมตากว้าง ๆ หรือหลับตา แต่โดยทั่วไปทางฝ่ายมหายานจะให้ลืมตา ไม่หลับตา คุณไม่ต้องการให้ดวงตาเปิดเต็มที่เพราะจะฟุ้งซ่านได้ง่าย เราจึงมองลงไปที่ปลายจมูก นี่ไม่ได้หมายความว่า เรากลายเป็นคนตาเหล่ แต่เรามองลงไปที่พื้นที่ระดับปลายจมูก โฟกัสแบบหลวม ๆ ไม่เพ่งจนเกินไป เพราะเราไม่ได้กำลังมองหาคอนแทคเลนส์ที่หล่นลงบนพื้นอยู่
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสียของการนั่งสมาธิโดยหลับตา หากเราคุ้นเคยกับการหลับตาจนสนิทเพื่อที่จะสงบสติอารมณ์และพัฒนาความรักและความเห็นอกเห็นใจ ก็อาจทำให้การปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องยากอยู่ เมื่อคุณมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน คุณไม่สามารถปิดตาของคุณลงในทันทีและพยายามสร้างสภาพจิตใจ ซึ่งอาจดูแปลกไปหน่อย ทางมหายานนั้นให้เราลืมตาขึ้นเล็กน้อยเพราะสิ่งที่เราทำนั้นมุ่งไปที่การช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งหมด เราไม่ต้องการปิดกั้นไม่ให้พวกเขาเข้ามา ปัญหาที่ละเอียดกว่านั้นของการนั่งสมาธิโดยหลับตาตามที่สมเด็จองค์ดาไลลามะชี้ให้เห็นก็คือ เปลือกตามักจะขยิบเล็กน้อย และคุณก็มักจะเห็นจุดสีแดงเต้นอยู่รอบ ๆ ซึ่งนั่นคือความฟุ้งซ่าน
สองแง่มุมของการนึกเห็นภาพ
เมื่อเรานึกเห็นภาพให้ปรากฎ มีสองประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจ หนึ่งคือ การปรากฏขึ้น ซึ่งมักแปลว่า “ความชัดเจน” แต่นั่นไม่ใช่คำที่ดีเยี่ยมนัก เพราะมันบ่งบอกเป็นนัยถึงบางสิ่งที่กำลังมุ่งเน้นอยู่ ซึ่ง ณ จุดนี้ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มันเกี่ยวกับการทำให้บางสิ่งปรากฏขึ้นด้วยจินตนาการของเรา ปัจจัยที่สองคือ “ความภาคภูมิใจ” อย่างแท้จริง ซึ่งเรามีความภาคภูมิใจในความรู้สึกอะไรก็ตามที่เรากำลังทำให้มองเห็นนั้นอยู่ตรงนั้นจริง ๆ
ท่านสองขะปะอธิบายว่า ความรู้สึกภาคภูมิใจนี้มีความสำคัญมากในช่วงเริ่มต้น เราไม่ต้องกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับความชัดเจนของการนึกเห็นภาพของเรา แต่ถ้าเรารู้สึกได้จริง ๆ ว่า มีพระพุทธเจ้าอยู่ตรงหน้า มันก็จะดีมาก สิ่งที่เราต้องการคือ ภาพลักษณ์แม้จะเป็นเพียงแค่แสงสีเหลืองเท่านั้นก็ตาม และคิดว่า “ใช่ มีพระพุทธเจ้าอยู่ที่นั่นจริง” รายละเอียดต่าง ๆ จะมาโดยอัตโนมัติเมื่อสมาธิของเราพัฒนาขึ้น
อย่าหักโหมมากเกินไป
ความผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งที่เราทำในขณะที่เป็นนักปฏิบัติคือ การยึดติดรายละเอียดว่า สิ่งที่เราพยายามนึกเห็นนั้นควรจะเป็นอย่างไร มีเครื่องประดับ และเสื้อผ้าแบบไหน ดวงตาเป็นสีอะไร และอื่น ๆ สิ่งนี้อาจทำให้เรามีความกังวลมากขึ้นจนเราไม่สามารถปฏิบัติได้เลย มันจะแย่กว่านั้นอีกเมื่อเราพยายามนึกการจัดเรียงลำดับรูปร่างต่าง ๆ ตำราต่าง ๆ ก็ไม่ได้อะไรช่วยเช่นกัน เนื่องจากให้รายละเอียดปลีกย่อยทั้งหมด ซึ่งให้ความรู้สึกว่า เราควรจะเห็นภาพทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้น การสามารถเห็นภาพรายละเอียดทั้งหมดของการจัดเรียงรูปร่างจำนวนมากที่ซับซ้อนทั้งหมดนั้นถือว่าอยู่ในขั้นสูงอย่างเหลือเชื่อ ในที่สุด เมื่อเรามีทักษะได้อย่างไม่น่าเชื่อแล้วล่ะก็ เราก็จะนึกเห็นภาพทั้งหมด แต่ตอนนี้ให้เราลืมมันไปเสีย หากเราพยายามอย่างหนักเกินไปในการหารายละเอียดทั้งหมด เราก็จะได้สิ่งที่ภาษาทิเบตเรียกว่า "ลูง" (lung) ซึ่งพลังงานของเราจะถูกรบกวน และเราจะรู้สึกท้อแท้
การสร้างการนึกเห็นต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
ท่านสองขะปะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการนึกเห็นที่ซับซ้อนไว้ โดยกล่าวถึงธรรมเนียมสองอย่าง หนึ่งคือ การสร้างรายละเอียดทีละอย่างเพิ่มเข้าไปจนกว่าเราจะได้ภาพรวมทั้งหมด ท่านกล่าวว่าวิธีนี้เหมาะสำหรับบุคคลพิเศษบางคน พวกเราส่วนใหญ่จะต้องเริ่มต้นด้วยภาพที่คลุมเครือ หรือได้ความรู้สึกทั้งหมดของสิ่งนั้นก่อน จากนั้นจึงกรอกรายละเอียดตาม
สิ่งสำคัญคือ กระบวนการเพิ่มรายละเอียดนี้จะต้องเป็นการสะสมเพิ่มที่คุณสามารถมีรายละเอียดที่คมชัดในจุดหนึ่ง จากนั้นจึงเพิ่มอีกรายละเอียดเข้าไปโดยไม่สูญเสียรายละเอียดแรกไป จากนั้นแล้วคุณก็จะมีสองรายละเอียดที่คมชัด และสามารถเพิ่มรายละเอียดที่สามเข้าไปโดยไม่เสียรายละเอียดสองอย่างแรกไป สิ่งสำคัญคือ อย่าปล่อยให้สิ่งที่เราโฟกัสมาแล้วหลุดหายไปเมื่อคุณเพิ่มรายละเอียดบางอย่างเข้าไป
ถ้าเรากำลังนึกเห็นภาพของพระพุทธเจ้า ท่านสองขะปะแนะนำให้เราเริ่มต้นที่ดวงตา จากนั้น ถ้ารูปทรงทั่วไปของร่างกายชัดเจน เราก็ควรจะยึดถือสิ่งนั้นไว้ หากรูปทรงทั่วไปไม่ชัดเจน แต่มีบางส่วนที่ชัดเจน เราก็ควรจะใส่ใจสิ่งที่ชัดเจนก่อน หากสองสามส่วนนี้จางลงด้วย เราก็จำเป็นต้องสร้างรูปทรงทั่วไปคร่าว ๆ ทั้งหมดอีกครั้ง
การนึกเห็นภาพเป็นเครื่องมือในการขยายการตระหนักรู้
อะไรคือประเด็นสำคัญของการทำให้มองเห็นภาพที่ซับซ้อนเหล่านี้ทั้งหมด มันไม่ใช่แค่การพัฒนาทักษะกีฬาทางจิตที่ท้ายสุดเราจะได้รับรางวัลเหรียญทองโอลิมปิกในด้านการนึกเห็นภาพ แต่รายละเอียดทั้งหมดช่วยขยายการตระหนักรู้ และความเข้าใจของเราในหลาย ๆ สิ่งพร้อมกัน ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า ทุกสิ่งมีลักษณะอย่างไร แต่อยู่ที่ว่า แต่ละรายละเอียดแสดงถึงอะไรมากกว่า
พิจารณากรณีของการปฏิบัติแห่งเหตุและผลต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ 32 ประการที่สำคัญ มันเป็นเรื่องยากมากที่จะควบคุมความคิดของเราไปพร้อม ๆ กันกับการปฏิบัติ 32 ประการเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราทำในลักษณะที่เป็นนามธรรมเต็มรูปแบบ หากเราแสดง 32 ประการเหล่านี้ในรูปแบบภาพแจ่มแจ้งของสัญลักษณ์ทางร่างกายของพระพุทธเจ้าที่ยอดเยี่ยม 32 ประการ เช่น ผมมีลักษณะขดเป็นวงตามเข็มนาฬิกา มันจะง่ายขึ้นที่จะรวมมันเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังต้องการทำให้สำเร็จอยู่ หากเราไม่สามารถสร้างภาพให้ปรากฏทีละภาพได้ เราจะเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเข้าด้วยกันได้อย่างไร เรามุ่งมั่นที่จะทำประโยชน์ให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ซึ่งหมายถึงการตระหนักรู้ถึงทุกคนในเวลาเดียวกัน ในส่วนนี้ เราจำเป็นต้องขยายจิตใจของเราเพื่อพัฒนาการตระหนักรู้ของเราอย่างช้า ๆ การนึกเห็นภาพที่ซับซ้อนเหล่านี้จะช่วยให้เราทำสิ่งนี้ได้
บทสรุป
เราไม่ได้เกียจคร้านถ้าเรามีความกระตือรือร้นเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง แต่จงเลื่อนออกไปจนกว่าหลังจากที่เราได้หยุดพักแล้ว เพราะมันสำคัญมากที่จะต้องรู้ว่า เมื่อใดที่เราต้องการพักผ่อนเพื่อที่เราจะได้ไม่เหนื่อยล้าหมดแรงและยอมแพ้โดยสิ้นเชิง เมื่อเราเห็นประโยชน์ของการเรียนรู้คำสอนอย่างแท้จริง ตรวจสอบแล้ว ทำสมาธิเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นแล้ว วิริยะซึ่งได้รับการสนับสนุนจากความเพียรพยายามและความปีติยินดีย่อมจะเกิดขึ้นมาอย่างช้า ๆ ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการนึกเห็นภาพในทางพุทธศาสนาเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการทำสมาธิและการตระหนักรู้ของเราให้บริสุทธิ์เพื่อไปสู่ระดับที่เหลือเชื่อนั้นได้ กุญแจสำคัญในเรื่องนี้คือ การรู้ว่า เราต้องดำเนินการทีละขั้นตอน และหากดำเนินการต่อไปเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไปเราจะสามารถบรรลุสภาพจิตใจที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับตนเองและเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นทั้งหมดได้