ปัจจัยของจิตใจที่จำเป็นในการทำสมาธิ

การพิจารณาโดยแยบคาย

โดยทั่วไป การทำสมาธิมีสองขั้นตอนคือ การพิจารณาโดยแยบคายและการทำสมาธิให้มั่นคง ในการพิจารณาโดยแยบคาย เราทำผ่านขั้นตอนที่ก้าวหน้าหรือการใช้เหตุผลเช่นเดียวกับที่เราทำในกระบวนการคิดพิจารณาของเราเพื่อสร้างสภาวะจิตใจที่เราพยายามให้ตัวเราคุ้นเคยกับมัน ในกรณีของความเห็นอกเห็นใจ เราเริ่มต้นจากการคิดถึงความทุกข์ทรมานของเราเอง แล้วสร้างความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากสิ่งเหล่านั้น จากนั้นด้วยพื้นฐานนี้ เราจึงจินตนาการถึงสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาลรอบตัวเรา และก่อนอื่นก็เปิดจิตและใจให้ทุกคน เป็นอิสระจากการยึดติด ความรู้สึกรังเกียจ และความไม่แยแส และด้วยความคิดที่ยังคงมุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเหล่านี้ เราจึงปฏิบัติตามลำดับขั้นตอน โดยเริ่มจากการจดจำความเชื่อมโยงและการพึ่งพาซึ่งกันและกันของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด

ถ้าเช่นนั้น ในขณะที่ยังคงมุ่งเน้นไปที่ทุกสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ เราก็จะนึกถึงความทุกข์ทั้งหมดที่พวกเขาประสบพบเจอ บ่อยครั้งที่พวกเขาไม่มีความสุขและผิดหวัง รวมทั้งความสุขที่พวกเขามีอยู่มันก็ไม่ได้อยู่กับพวกเขาตลอดเวลาและไม่เคยพอใจกับมัน พวกเขาพยายามที่จะมีความสุข แต่ไม่ว่าจะทำอะไรเพื่อให้ตัวเองมีความสุข เช่น หมกมุ่นอยู่กับรูปลักษณ์ หรือสะสมสิ่งของมากขึ้นก็ไม่เคยได้ผล ยิ่งทำให้พวกเขามีปัญหามากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ เรายังต้องเตือนตัวเองด้วยว่า เราทุกคนอยู่ร่วมกันในสถานการณ์เดียวกัน และเราจำเป็นต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะถ้าทุกคนเห็นแก่ตัว เราทุกคนจะทุกข์ทรมาน

ด้วยวิธีนี้ เราสร้างตัวเองให้มีความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเรามุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตจำนวนมากมายมหาศาลด้วยความปรารถนาที่จะให้พวกเขาทุกคนเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน และด้วยความตั้งใจที่เราเองกำลังจะทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาของพวกเขาเหล่านั้น

ด้วยการพิจารณาโดยแยบคายนั้น เรายังคงมุ่งเน้นไปที่ความเห็นอกเห็นใจต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมากนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็พิจารณาโดยแยบคายในแง่ที่ว่า เรารับรู้และรู้จักถึงรายละเอียดและประเด็นทั้งหมดที่เราทำมาเพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจนี้ขึ้น สำหรับสิ่งนี้ สภาวะจิตใจที่มีความเห็นอกเห็นใจของเราประกอบด้วยปัจจัยของการค้นหาโดยรวมและการพิจารณาโดยแยบคายอย่างละเอียด ในประการแรกเราสืบหาในแง่ของการเพิ่งจะสังเกตเห็นนั้นเป็นจุดทั่วไปที่สุดเกี่ยวกับจุดกำหนดที่เราโฟกัส ในกรณีนี้ก็คือ พวกเขากำลังมีความทุกข์ ส่วนประการหลังนั้น เราแยกแยะรายละเอียดทั้งหมดของความทุกข์ประเภทต่าง ๆ ที่พวกเขาประสบ ซึ่งจากการรวมกันของทั้งสองสิ่งคือ เรารับรู้และรู้จักประเด็นต่าง ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรามุ่งเน้นนั้น ก็จะรวมเข้าด้วยกันเป็นสภาวะหนึ่งของจิตใจที่คล้ายกับความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งโดยไม่ต้องมาทบทวนทีละประเด็น หรือพูดสิ่งเหล่านี้ในใจของเรา ถ้าการสืบหาและการพิจารณาโดยแยบคายรายละเอียดเหล่านี้อ่อนแอลง เราก็จะต้องทำทุกอย่างทั้งหมดอีกครั้ง ทีละอย่าง ๆ แล้วก็สร้างความเห็นอกเห็นใจขึ้นอีกครั้ง ด้วยการสืบหาโดยรวม และการพิจารณาโดยแยบคายและสมาธิโดยละเอียด

การทำสมาธิให้มั่นคง

สิ่งที่เราจะทำต่อจากการพิจารณาโดยแยบคายคือ การทำสมาธิให้มั่นคง ตอนนี้ เรายังคงมุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ มากมายนี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจเช่นเดียวกัน แต่คราวนี้ไม่มีการสืบหาโดยรวม หรือการพิจารณาโดยแยบคายอย่างละเอียดถึงความทุกข์ของพวกเขา แต่ยังคงอยู่กับความเข้าใจและมีสติรับรู้ว่าพวกเขามีความทุกข์

นั่นคือกระบวนการของการทำสมาธิ ได้แก่ วิธีการที่คุณรวมบางสิ่งบางอย่างเข้าด้วยกันและทำให้เป็นนิสัย และไม่ว่าเรากำลังพูดถึงการทำสมาธิแบบที่มุ่งเน้นไปที่จุดกำหนด  หรือแบบที่อยู่ในสภาวะจิตใจ  หรือรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน  ขั้นตอนและรายละเอียดต่าง ๆ ก็เหมือนกันทั้งหมด

การแยกการทำสมาธิในการพิจารณาโดยแยบคายและการทำสมาธิให้มั่นคงออกจากกัน

สมเด็จองค์ดาไลลามะอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการพิจารณาโดยแยบคายและการทำสมาธิให้มั่นคงไว้ในแง่ของพลังงานของการแสดงออกทางจิตใจของคุณ นี่เป็นวิธีที่ละเอียดอ่อนและประณีตมากในการแยกแยะทั้งสองอย่างออกจากกัน การพิจารณาโดยแยบคายนั้น พลังในการโฟกัสของคุณจะมุ่งออกไปสู่ด้านนอกในแง่ที่ว่ามันกำลังพิจารณาโดยแยบคายรายละเอียดต่าง ๆ ของบางสิ่งบางอย่างทั้งหมด ส่วนการทำสมาธิให้มั่นคง พลังงานของการโฟกัสของคุณจะมุ่งเข้าสู่ด้านในในแง่ที่ว่า ปล่อยให้อารมณ์หรือความเข้าใจนั้นซึมซับลงไป ซึ่งต้องอาศัยสติของส่วนสำคัญการพิจารณาโดยแยบคายนั้นได้นำพาไปสู่ พลังงานไม่ได้กระจายออกไปพร้อมกับรายละเอียดเหมือนในการพิจารณาโดยแยบคาย แต่จะแคบกว่า เน้นการขัดเกลาประเด็นหลัก

มันมีความซับซ้อนมากที่จะสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างการสืบหาใครบางคนด้วยความเห็นอกเห็นใจ ในแง่ที่ว่า พลังงานแผ่ออกไปข้างนอกสู่รายละเอียดของมันทั้งหมด และทำให้ความเห็นอกเห็นใจนั้นมั่นคง ซึ่งพลังงานมีความจดจ่อมากขึ้น นี่เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งที่มาจากการทำจิตใจให้สงบ ถ้าคุณประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง ในการลดเสียงรบกวนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหัวของคุณ (การพูดคุย การแสดงความคิดเห็น เสียงเพลงจาก iPod ของคุณที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง) คุณจะเริ่มสำนึกถึงพลังงานของคุณ และคุณก็จะสามารถสังเกตเห็นได้ว่าพลังงานทางจิตใจของคุณอยู่ในสถานะใด

วิธีที่ดีที่สุดในการเริ่มสำนึกถึงพลังงานของคุณคือ การโฟกัสไปที่พลังงานของคุณว่า มันวุ่นวายหรือสงบ ตัวอย่างเช่น วิธีตรวจสอบว่าคุณอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวน เช่น ความโกรธ ความกลัว ความวิตกกังวล ความโลภ หรือความเย่อหยิ่งหรือไม่ก็คือ สิ่งเหล่านี้เป็นพลังงานที่ไม่สงบ เมื่อคุณพูดคุยกับใครสักคน หากคุณรู้สึกได้ว่ามีอาการจุกแน่นที่ท้อง นั่นบ่งบอกว่า พลังงานของคุณปั่นป่วนเล็กน้อย นี่เป็นการบอกเป็นนัย ๆ ว่ามันมีอารมณ์ที่รบกวนจิตใจเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณอาจกำลังพยายามทำให้คน ๆ นั้นประทับใจ หรือพยายามโน้มน้าวเขาคนนั้นในบางสิ่งบางอย่าง หรือมีความก้าวร้าวบางอย่าง สิ่งเหล่านี้อาจบ่งบอกว่า มีบางอย่างรบกวนจิตใจของคุณ เมื่อคุณสามารถรู้ได้ว่า มีบางอย่างผิดปกติ คุณก็มีโอกาสที่จะเริ่มกระบวนการคิดของคุณใหม่ ในแง่ที่เริ่มจิตใจของคุณใหม่ และเปลี่ยนอารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังปฏิกิริยาของคุณ แล้วแทนที่ด้วยสิ่งที่เป็นกุศลธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแลกเปลี่ยนกับใครสักคนนั่นคือ ประเด็นจริง ๆ ที่คุณต้องสามารถตรวจจับอารมณ์ที่รบกวนได้

เมื่อเวลาผ่านไป และด้วยการฝึกปฏิบัติ ในที่สุดคุณก็จะมีการสำนึกมากพอที่จะสามารถแยกแยะพลังงานที่แพร่หลายออกไปภายนอกของการพิจารณาโดยแยบคาย และพลังงานที่มุ่งเข้าสู่ภายในจากการทำสมาธิให้มั่นคง

ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการได้มาซึ่งสมาธิ

ปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการได้มาซึ่งสมาธิเป็นเรื่องปกติของทั้งการพิจารณาโดยแยบคาย และการทำสมาธิให้มั่นคง ในข้อความของศานติเทวะนักปราชญ์ชาวอินเดียเกี่ยวกับการมี ส่วนร่วมในบุคลิกภาพพระโพธิสัตว์ ได้กล่าวถึงปัจจัยเหล่านั้นในบริบทของการพัฒนาวินัยทางจริยธรรม ดังนั้น ก่อนอื่นเราต้องพัฒนาวิธีการเหล่านี้ในพฤติกรรมโดยรวมของเราว่า เราแสดงออกและพูดอย่างไร จากนั้นจึงนำไปใช้กับความคิดของเรา

ปัจจัยหลักของจิตใจที่เราต้องการและใช้ในทั้งสองกรณีคือ สติ ซึ่งเป็นเหมือนกาวใจที่ยึดติดกับสภาวะจิตใจ หรือวิธีการปฏิบัติตัว เป็นคำเดียวกับคำว่า "จดจำ" แต่เราไม่ได้พูดถึง การจดจำในแง่ของการนำบางสิ่งออกจากไฟล์ความทรงจำของเราและเรียกมันกลับคืน ไม่ใช่อย่างนั้น มันยึดมั่นในบางสิ่ง นั่นคือการจดจำ เราจำเป็นต้องมีกาวใจสำหรับจุดกำหนดที่เราต้องการมุ่งเน้น และวิถีทางที่จิตใจเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น

ในขณะที่การทำสมาธิด้วยสติเราคอยเฝ้าดูจิตใจของเรา ท่านสองขะปะอธิบายว่า เราใช้ปัจจัยของจิตใจในการตรวจจับโดยรวมเพื่อดูว่า โดยทั่วไปแล้วสภาพจิตใจของเราอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์ที่รบกวน ความใจลอย หรือความมัว มันสำคัญที่ท่านระบุการตรวจพบโดยรวมมากกว่าการสืบหาอย่างละเอียด การสืบหาอย่างละเอียดจะเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบในเรื่องของรายละเอียดมากเกินไป จึงทำให้ความใส่ใจของเราไม่อยู่ที่จุดมุ่งเน้นหลัก มีอันตรายอย่างมากในการทำสมาธิที่ว่า เราอาจเกิดหวาดระแวงมากเกินไปว่าเราจะสูญเสียจุดกำหนดนั้นไป และใจกำลังเริ่มจะลอย แล้วทำให้เราแข็งทื่อ และตึงเครียด สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ ในทางกลับกัน คุณก็ไม่ต้องการที่จะผ่อนคลายและเหลวไหลเกินไป ซึ่งนั่นก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเช่นกัน

จากนั้น เราก็ต้องการความตื่นตัว ซึ่งเปรียบเสมือนระบบเตือนภัย เมื่อเราตรวจจับได้ว่า เรากำลังสูญเสียจุดกำหนดของการทำสมาธิไป การตื่นตัวจะทำให้สัญญาเตือนภัยดังขึ้น เพื่อให้รู้ว่า บางอย่างจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข จากนั้น เราก็จะสามารถนำสิ่งที่โฟกัสนั้นกลับมาได้พร้อมกับความใส่ใจ

ข้อผิดพลาดที่ต้องได้รับการแก้ไข

ข้อผิดพลาดสองประการที่เราพยายามกำจัดให้หมดไปภายใต้ 2 ประเภทหลัก ได้แก่ “การที่ใจไม่อยู่กับที่” และ “ความมัว” การที่ใจไม่อยู่กับที่เป็นภาวะที่เรามีใจลอยอันเนื่องจากความยึดติดหรือความต้องการ อาจอยู่ในรูปแบบของการคิดเป็นถ้อยคำและภาพเคลื่อนไหวทางจิต ตำราแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่อภิปรายถึงการไม่อยู่กับที่ในแง่ของการยึดติดทางเพศ บางทีอาจเป็นเพราะผู้ชมหลักในเวลานั้นคือ พระและแม่ชีพรหมจรรย์ ซึ่งประเด็นเรื่องการเอาชนะความยึดติดทางเพศเป็นเรื่องสำคัญ แต่การยึดติดอาจจะยึดติดเรื่องอาหารการกิน เรื่องดนตรี หรืออะไรก็ได้ ในทางตรงกันข้าม ภาวะใจลอยอาจเกิดจากอารมณ์ ความคิด หรือแม้กระทั่งเสียงรบกวน หรือการล่วงล้ำประสาทสัมผัสอื่น ๆ ก็ได้ ว่าง่าย ๆ โดยทั่วไปแล้ว ภาวะใจลอยนี้อาจเรียกว่า “การฟุ้งซ่าน” ก็ได้

การที่ใจไม่อยู่กับที่มีหลายระดับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการวางความใส่ใจของเราในเจุดกำหนดหรือความรู้สึกของเรา

  • การไม่อยู่กับที่โดยสิ้นเชิง -  คุณสูญเสียการยึดถือในจุดกำหนดโดยสิ้นเชิง และเริ่มคิดถึงสิ่งต่าง ๆ  สติที่เป็นกาวใจอ่อนแอจนลืมจุดกำหนดไปโดยสิ้นเชิง 
  • การไม่อยู่กับที่ที่เบาบาง - คุณไม่ปล่อยการยึดถือจุดกำหนดไปอย่างสิ้นเชิง แต่ในเวลาเดียวกันกับที่คุณยึดถือจุดกำหนด คุณก็กำลังคิดถึงอย่างอื่นแฝงอยู่ภายใต้ด้วย
  • การไม่อยู่กับที่ที่เบาบางที่สุด – คุณไม่มีความแฝงอยู่เลย แต่เหมือนมีอะไรบางอย่างรบกวนให้คุณทิ้งจุดกำหนด และไปคิดถึงสิ่งอื่น  สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อความยึดถือทางจิตใจถูกบีบแน่นเกินไป 

ความมัวเกี่ยวข้องกับความชัดเจนของจุดกำหนด ซึ่งอาจเป็นลักษณะที่ปรากฏหากเห็นได้ หรือเป็นความรู้สึกหากเป็นสภาวะของจิตใจ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ

  • ความมัวอย่างสิ้นเชิง – การทำงานของ "การสร้างรูปลักษณ์" ในจิตใจของคุณอ่อนแอมากจนไม่สามารถก่อให้เกิดภาพหรือความรู้สึกใด ๆ ได้เลย สิ่งนี้สามารถมาพร้อมกับปัจจัยอื่น ๆ อีก 2 ปัจจัยที่เรียกว่า “จิตใจที่คลุมเครือ” ซึ่ง ได้แก่ ความรู้สึกหนักอึ้งในร่างกายและจิตใจ หรือความง่วงนอน และแม้กระทั่งการนอนหลับ
  • ความมัวที่เบาบาง – มีรูปลักษณ์ปรากฏ แต่การยึดถือไม่แน่นพอจึงขาดความคมชัด ที่นี่เราไม่ได้พูดถึงเพียงแค่เน้นที่ความคมชัดในรายละเอียดของการแสดงภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอารมณ์ด้วยที่หลุดจากโฟกัสของเราไป เช่น ความเห็นอกเห็นใจ อาจเป็นเพียงความรู้สึกที่คลุมเครืออย่างเช่น “ความรัก สันติภาพ ฉันรักทุกคน” คุณกำลังสร้างความรู้สึก แต่มันขาดจุดเน้นที่เฉพาะเจาะจง นั่นคือ ความปรารถนาให้ทุกคนพ้นทุกข์และสาเหตุของความทุกข์นั้น เราต้องจำไว้ว่า ทุกรายละเอียด ทุกแง่มุมของสภาพจิตใจที่เราต้องการสร้างนั้นมีความเฉพาะเจาะจงมาก ไม่ควรคลุมเครือ 
  • ความมัวที่เบาบางที่สุด – คือคุณมีการโฟกัสที่คมชัดเมื่อคุณก่อให้เกิดจุดกำหนดนั้น แต่การดูแลรักษามันไว้ไม่แน่นหนามาก ดังนั้น มันจึงไม่สดใหม่ ชัดเจน และมีชีวิตชีวา ต้องมีความสดใหม่ในแต่ละช่วงเวลา ไม่ใช่เหมือนขนมปังที่เก่าและแข็งมาก และไม่ดีเท่าไหร่ 

เมื่อเราพูดถึงอาการ “เหม่อ” อาจหมายถึงข้อผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเราต้องสามารถตรวจพบได้เมื่อมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ขั้นแรกคุณต้องตั้งมั่นทางจิตใจไว้ที่จุดกำหนด หรือสภาวะจิตใจนั้น จากนั้นด้วยสติที่เป็นกาวใจให้ยึดไว้ไม่ปล่อยไป

นี่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำสมาธิให้ประสบความสำเร็จ ต้องยึดถือไว้ให้แน่น แต่ไม่แน่นเกินไปและไม่หลวมเกินไป ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณกำลังลดน้ำหนักและเดินผ่านร้านเบเกอรี่และมีเค้กสวย ๆ อยู่ตรงหน้าต่าง คุณต้องยึดถือไว้ว่า คุณกำลังลดน้ำหนักอยู่ ไม่ควรเข้าไปในร้านและซื้อเค้กช็อกโกแลต หรือพวกเขากำลังเสิร์ฟไอศกรีมให้กับทุกคนบนโต๊ะ คุณก็ต้องอดทน และยึดมั่นในเป้าหมายของการลดน้ำหนักไว้ ไม่ปล่อยมันไป อาจพูดว่า  “ไม่ล่ะ ขอบคุณนะ ฉันกำลังลดน้ำหนักอยู่”

ดังนั้น เราจึงต้องมีการตรวจจับเพื่อดูว่า เรากำลังหลงทางอยู่หรือเปล่า “การวางจิตใจของฉัน และยึดถือจุดกำหนดนั้นมีความผิดพลาดหรือไม่ มีบางอย่างผิดปกติกับจิตใจของฉันที่ส่งผลต่อจุดกำหนดหรือความรู้สึกหรือไม่” หากเราตรวจพบข้อผิดพลาดบางอย่าง การแจ้งเตือนจะส่งเสียงเตือนภายใน และความใส่ใจจะนำเอาการโฟกัสของเรากลับมา ในขณะเดียวกันเราต้องไม่เป็นตำรวจที่หวาดระแวงเกี่ยวกับมัน ซึ่งมีความเป็นคู่กันอยู่ระหว่าง “ฉัน” ที่เป็นคือตำรวจ และ “ฉัน” ที่กำลังทำสมาธิอยู่ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสมาธิแบบคู่เช่นนี้ เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความว่างเปล่าของตัวตนคือ เราไม่มีตัวตนอยู่โดยสิ้นเชิงในวิถีทางของการอยู่เป็นคู่ที่เป็นไปไม่ได้นี้

การประยุกต์ใช้ทักษะการปฏิบัติสมาธิ

ความสามารถในการจดจ่ออยู่กับจุดกำหนดด้วยสติและสมาธิเป็นสิ่งที่เราต้องการในชีวิตประจำวัน นั่นคือเหตุผลที่เราปฏิบัติสมาธิ ก็เพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้นิสัยที่เป็นประโยชน์นั้นในชีวิตประจำวันของเราได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังพูดกับใครบางคน หรือกำลังฟังคน ๆ นั้นอยู่ เราต้องให้ความใส่ใจ เราต้องตั้งใจฟัง และไม่คิดถึงเรื่องอาหารกลางวัน หรือพูดในใจว่า “หุบปากแล้วไปให้พ้น” ดังนั้น การปฏิสัมพันธ์ส่วนบุคคล งานของเรา การเรียนของเรา และอื่น ๆ จึงเป็นพื้นที่ที่สมบูรณ์แบบสำหรับการปฏิบัติสมาธิ

ปัจจัยสนับสนุนสี่ข้อ

สองสิ่งที่เราต้องการเมื่อปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาธิในการทำสมาธิของเราคือ วิริยะ  (มักเรียกว่า "ความเพียร") และความอดทน โดยวิริยะก็คือ ความกล้าหาญและความเพียรที่แข็งแรงและเกือบเหมือนอย่างวีรบุรุษที่จะทำสิ่งที่เป็นบวกให้สำเร็จ ในขณะที่ความอดทนคือ ความสามารถในการทนทานต่อความยากลำบากทั้งหมดโดยไม่ท้อแท้หรือโกรธ ในเนื้อหาของการมีส่วนร่วมในบุคลิกภาพพระโพธิสัตว์ ศานติเทวะได้อธิบายถึงปัจจัย 6 ประการที่สามารถช่วยให้เราพัฒนาความเพียรได้ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ปัจจัยสนับสนุนสี่ข้อและสองกำลัง ซึ่งเป็นประโยชน์ในการที่จะเรียนรู้และปฏิบัติ

ประการแรกเรียกว่า ความเชื่อมั่นที่หนักแน่น หรือปณิธานที่แน่วแน่ “ปณิธาน” เป็นคำที่เข้มแข็งสำหรับความปรารถนา และถูกกำหนดให้เชื่อมั่นอย่างหนักแน่นถึงประโยชน์ของการบรรลุเป้าหมายและข้อเสียของการไม่บรรลุเป้าหมาย ดังนั้น ปณิธานที่จะบรรลุเป้าหมายจึงแกว่งไปมา หรือย้อนกลับไม่ได้ เมื่อเราอ่านเกี่ยวกับสภาวะต่าง ๆ ของจิตใจที่เราต้องการบรรลุด้วยการปฏิบัติทางพุทธศาสนาของเรา การนำเสนอส่วนมากมักจะอธิบายถึงประโยชน์เป็นอันดับแรกและข้อเสียของการไม่บรรลุไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาเรียนรู้ ในตำราของศานติเทวะก็เป็นไปตามรูปแบบนี้ บทแรกเกี่ยวกับโพธิจิต เราเชื่อมั่นในประโยชน์ของการมีสภาพจิตใจเช่นนี้ ซึ่งทำให้เราแข็งแรงและมีความสุขที่จะทำเพื่อสิ่งนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราท้อแท้ มันเป็นสิ่งที่ดีที่ต้องเตือนตัวเองให้รู้ถึงประโยชน์ของสิ่งที่เรามุ่งหวังที่จะบรรลุนั้น

ต่อไปคือ ความมั่นคงหรือมั่นใจในตนเอง “ความมั่นคง” หมายถึง มั่นคงและมีความพากเพียรในการปฏิบัติ ซึ่งมาจากการตรวจสอบว่า เราสามารถบรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้หรือไม่ และเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำได้ ดังนั้น ด้วยความมั่นใจในตัวเองเราจึงทำมันอย่างมั่นคงแม้ว่าความก้าวหน้าจะมีขึ้นหรือลงก็ตาม ซึ่งนั่นเป็นความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้น บางวันอาจไปได้ดีเยี่ยม บางวันอาจแย่มาก บางวันเราอยากทำมาก และบางวันเราก็ไม่อยากทำเลย แต่ถ้าเราเชื่อมั่นในประโยชน์ของสิ่งนั้น ถ้าเรามีความพากเพียร ซึ่งอธิบายว่าเป็นเหมือนชุดเกราะ เราก็จะคิดว่า “มันไม่สำคัญ ฉันไม่สนหรอกว่ามันจะขึ้นหรือลง ฉันแค่ทำต่อไปทุกวันอย่างมั่นคง ฉันรู้ว่าในที่สุดมันก็เป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายของฉัน”

เมื่อเราทำมาเป็นระยะเวลานานขึ้น เราก็จะเห็นแนวโน้มของการมีสมาธิมากขึ้นทีละน้อย และเราจะพัฒนาปัจจัยสนับสนุนต่อไปคือ ความปีติยินดี เราไม่พอใจกับความก้าวหน้าแค่เพียงเล็กน้อย ดังนั้น เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาต่อไปและต่อไปด้วยความรู้สึกพึงพอใจในตนเอง ผลลัพธ์ก็คือ เห็นได้ชัดว่า เราจะมีความสุขมากขึ้นเพราะประเด็นทั้งหมดคือ การขจัดความทุกข์ เมื่อจิตใจของเราฟุ้งซ่านน้อยลง อารมณ์เสียน้อยลง และถูกรบกวนน้อยลง แน่นอนว่าเราจะมีความสุขมากขึ้น เมื่อเห็นสิ่งนี้ เราจึงรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะก้าวไปอีกขั้น และก้าวหน้ามากขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนข้อที่สี่คือ การพักผ่อน ซึ่งหมายถึง การหยุดพักเมื่อเราเหนื่อยล้า นี่ไม่ใช่ความเกียจคร้าน แต่คือการทำให้ตัวเองสดชื่น ไม่มีอะไรทำลายความพยายามของเราได้แย่ไปกว่าการหักโหมเกินไป ทำให้เราเหนื่อยล้าหมดแรง การหักโหมมากเกินไปจะทำให้พลังงานในร่างกายแย่ลงเหมือนกับการบีบลูกโป่งจนถึงจุดที่ทำให้มันระเบิด เราต้องสามารถตัดสินตัวเองและกำหนดเวลาที่เราต้องการพักผ่อนได้ และไม่รู้สึกผิดกับมัน! เป็นการดีที่จะเลือกสิ่งที่จะช่วยให้เราผ่อนคลาย แต่ไม่เพิ่มอารมณ์ที่รบกวน เห็นได้ชัดว่า สิ่งนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน นี่คือปัจจัยสนับสนุนสี่ประการสำหรับวิริยะ

สองกำลัง

ตอนนี้ มาถึงเรื่องของสองกำลัง สิ่งแรกคือ การยอมรับโดยธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง การยอมรับโดยธรรมชาติในสิ่งที่เราจำเป็นต้องปฏิบัติ และสิ่งที่เราจำเป็นต้องกำจัดออกจากตัวเราเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของเรา เราเห็นความเป็นจริงของสถานการณ์ของเรา และยอมรับความยากลำบากที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสิ่งนั้นออกไปจากตัวเรา เช่น อารมณ์ที่รบกวนจิตใจ เราต้องยอมรับความเป็นจริงตั้งแต่แรกเพื่อจะได้ไม่แปลกใจในภายหลังว่ามันยากแค่ไหน!

ดังที่สมเด็จองค์ดาไลลามะมักจะกล่าวไว้ว่า “ครูสอนศาสนาพุทธหรือบุคคลใดที่อ้างว่าพุทธศาสนานั้นง่ายและรวดเร็ว จงสงสัยในตัวบุคคลและแรงจูงใจของเขาให้มาก เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายหรือรวดเร็วเลย เราคุ้นเคยกับอารมณ์ที่รบกวนจิตใจมามากจึงไม่มีวิธีง่าย ๆ ในการกำจัดมันเหมือนแค่การกินยาเท่านั้น ” เกเช นาวัง ดากเย (Geshe Ngawang Dhargyey) ครูของผมอีกคนหนึ่งเคยพูดเสมอว่า “ใครก็ตามที่หลงใหลในหนทางแห่งพุทธศาสนาที่ง่ายและรวดเร็วนั้นเนื่องมาจากความเกียจคร้าน คน ๆ นั้นไม่ต้องการที่จะทำงานหนักทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วมันเป็นสิ่งจำเป็น”  

กำลังที่สองคือ การเข้าควบคุม ซึ่งหมายถึง เข้าควบคุมและประยุกต์ใช้ตัวเรากับสิ่งที่เราต้องการจะบรรลุ แทนที่จะปล่อยให้ความเกียจคร้านของเรา หรืออารมณ์ที่รบกวนอื่นใดเข้าควบคุมเรา ปณิธานของเราที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นคือ สิ่งที่จะต้องควบคุม เราพูดกับตัวเองได้ว่า “หยุดทำตัวเหมือนเด็กทารก ควบคุมตัวเอง แล้วลงมือทำมันซะ!”

เหนื่อยหรือเกียจคร้านไหม

อาจสงสัยว่า เราจะแยกแยะระหว่างความเหนื่อยกับความเกียจคร้านได้อย่างไร ประการแรก ความเกียจคร้านมีหลายประเภทเช่น เมื่อเราฟุ้งซ่านไปกับสิ่งที่ไร้สาระ เราเกียจคร้านเกินไปที่จะทำสมาธิ หรือเรียนหนังสือ หรืออะไรก็ตามแต่ แล้วหันเหความสนใจไปที่รายการโทรทัศน์ หรือท่องอินเทอร์เน็ตแทน แล้วก็มีความเกียจคร้านที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ในภายหลัง ซึ่งคุณมักจะคิดว่าจะเลื่อนเวลาทำสิ่งต่าง ๆ ออกไปได้ นอกจากนี้ยังมีความเกียจคร้านอีกประเภทหนึ่งที่คุณใช้เป็นคำแก้ตัวเช่น “ฉันทำไม่ได้”

เมื่อเราเหนื่อย เรายังมีความปรารถนาที่จะทำ “ฉันอยากทำจริง ๆ แต่ตอนนี้ฉันง่วงมาก ดังนั้น ฉันจะพักผ่อนแป๊บนึง หลังจากนั้น ฉันจะตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะกลับไปทำอีก” นี่ไม่ใช่การแก้ตัวหรือไม่ใส่ใจ ความเกียจคร้านจริง ๆ แล้วจะไม่มีความปรารถนาที่อยากจะทำต่อ

บทสรุป

การทำสมาธิไม่ใช่เรื่องง่าย และเราต้องระมัดระวังกับใครก็ตามที่อ้างว่ามีวิธีที่รวดเร็วในการบรรลุความสำเร็จได้อย่างเหลือเชื่อนั้น เพราะโดยทั่วไปแล้วสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น

การทำสมาธิของเราจำเป็นต้องเป็นกระบวนการที่แอกทีฟไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีชีวิตชีวาหรือน่าเบื่อ ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับคำสอนที่เราได้ฟังและได้คิด ถ้าเราสามารถทำได้ในแต่ละวันแต่ละปีต่อไปก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า คำสอนจะฝังแน่นลงไป และเมื่อเกิดปัญหาหรืออารมณ์เชิงลบเกิดขึ้น ซึ่งมันก็จะเกิดขึ้น ในที่สุดเราก็จะสามารถจัดการกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย

Top