ทำความเข้าใจกับความสามารถของเรา
เรายังไม่ได้พูดอะไรมากนักเกี่ยวกับว่า จริง ๆ แล้วเราคิดว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะบรรลุเป้าหมายทั้งหมดนี้ได้ และฉันมีความสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ซึ่งนี่ก็จะนำไปสู่การสนทนาเกี่ยวกับ “ธรรมชาติของความเป็นพระพุทธเจ้า” ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วหมายถึง ปัจจัยที่พวกเราทุกคนมีที่อนุญาตให้เราเปลี่ยนสภาพกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับลักษณะของจิตใจเป็นหลัก
เราสามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ได้ เราสามารถรับรู้บางสิ่งได้ตลอดเวลาหรือไม่ เราสามารถรับรู้บางสิ่งได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งช่วงระยะเวลานี้จะสามารถทำให้เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้ เราสามารถเพิ่มได้ด้วยวิธีการทำสมาธิและการทำความคุ้นเคยกับมัน แต่พื้นฐานที่สุดของความสำเร็จนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจและแรงจูงใจของเราเอง มันจะต้องมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับเรา
เหมือนกับการรับรู้ว่าคุณมีเงินติดตัวไปเท่าไหร่เมื่อไปซื้อของ เพราะคุณไม่สามารถใช้จ่ายมากกว่านั้นได้ ในบางครั้งเมื่อคุณนั่งอยู่ที่บ้านคุณ มันไม่ได้สำคัญว่าคุณจะมีเงินในกระเป๋าสักเท่าไหร่ เพราะมันไม่เกี่ยวข้องกันและคุณไม่ได้ห่วงใยมัน ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราคิดถึงคำสอนต่าง ๆ คำสอนเหล่านี้จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องกับเรา เพื่อให้รู้สึกว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรา เราต้องเข้าใจหน้าที่และความสำคัญของคำสอนเหล่านั้น เราสามารถสรุปให้มันกลายเป็นสภาวะพื้นฐานของจิตใจที่เรียกว่า “ทัศนคติความห่วงใย” โดยที่เราห่วงใยเกี่ยวกับตัวเรา กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา และสิ่งที่เราประสบ
การห่วงใยตัวเอง
บางที เราอาจเข้าใจหน้าที่ของทัศนคติแห่งความห่วงใยนี้ได้ง่ายขึ้นเมื่อเชื่อมตรงไปยังผู้อื่น ถ้าเราไม่สนใจคนอื่น มันก็ไม่สำคัญว่าเราจะทำหรือพูดอะไร หรือพวกเขาจะชอบหรือไม่ชอบอะไรก็ตาม แต่ถ้าเราคิดว่าคนอื่นมีความสำคัญ เราก็จะห่วงใยว่า พฤติกรรมของเราจะส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร เราจำเป็นต้องพัฒนาความห่วงใยเช่นเดียวกันนี้เกี่ยวกับตัวเราเองว่า ถ้าฉันปล่อยเวลาทั้งหมดให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ และไม่ถือโอกาสจากชีวิตความเป็นมนุษย์ที่สูงค่าของฉันทำประโยชน์ เมื่อถึงเวลาหนึ่งในอนาคต ฉันก็จะตายด้วยความเสียใจอย่างมากกับเวลาที่ปล่อยให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์อันมากมายมหาศาลนี้
เราสามารถนำสิ่งนี้เชื่อมตรงไปยังชีวิตประจำวันได้เช่นกัน ฉันใส่ใจว่าฉันจะเลี้ยงลูกอย่างไร ฉันจะทำงานของฉันอย่างไร ฉันห่วงใยใส่ใจเกี่ยวกับสภาพโดยรวมของสวัสดิภาพทางจิตใจและร่างกายของฉัน การมีทัศนคติเช่นนี้จะทำให้เราพิจารณาว่า คำสอนมีความสำคัญต่อเรา ช้า ๆ โดยคำนึงถึงคำสอน เราจะสามารถจำคำสอนเหล่านั้นได้ ถ้าไม่ตลอดเวลา แต่อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่มากอยู่ การทำสมาธิเป็นวิธีการทำความคุ้นเคยกับคำสอนซ้ำแล้วซ้ำอีกจนคำสอนเหล่านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของจิตใจโดยธรรมชาติโดยที่เราไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามใด ๆ ในการจดจำคำสอนเหล่านั้น
หากเราเชื่อมั่นว่า เราสามารถบรรลุการรู้แจ้งเหล่านี้ได้ เราก็จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการทำสิ่งนั้น ถ้าเราไม่มีความเชื่อมั่นก็เหมือนกับการกระพือแขนเพื่อพยายามบิน แล้วจะไปเสียเวลาทำแบบนั้นทำไม ในช่วงเริ่มต้น เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเป็นอิสระ หรือการตรัสรู้หมายถึงอะไร แต่เรามีเป้าหมายระยะยาวที่จะเข้าใจสิ่งนี้และพยายามที่จะไปถึงมันให้ได้ ในขณะที่การตระหนักรู้ถึงความตายก็จะช่วยกระตุ้นเตือนไม่เสียโอกาสในการใช้ชีวิตของเราไปโดยเปล่าประโยชน์
การทำสมาธิเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ
ตอนนี้เราพร้อมแล้วที่จะมองถึงขั้นตอนที่สามในกระบวนการ นั่นคือ การทำสมาธิ เพื่อเป็นการแนะนำหัวข้อนี้ ท่านสองขะปะปรมาจารย์พระพุทธศาสนาแบบทิเบตได้เขียนคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ไว้มาก ในจดหมายแนะนำการปฏิบัติเกี่ยวกับพระสูตรและตันตระ (A Letter of Practical Advice on Sutra and Tantra) ท่านเขียนว่า เพื่อที่จะทำสมาธิ เราจำเป็นต้อง “มองเห็นว่าอะไรคือสาเหตุของสภาวะจิตใจที่เราพยายามจะบรรลุ” ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ เราจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจนี้
นี่คือสัจพจน์ของการพึ่งพา เพื่อพัฒนาความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นพ้นทุกข์และสาเหตุของความทุกข์นั้น (คำจำกัดความของความเห็นอกเห็นใจในทางพระพุทธศาสนา) เราต้องตระหนักว่า เรามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้อื่น มิฉะนั้น เราจะไม่สนใจพวกเขาเลย ดังนั้น เราต้องพิจารณาว่าการดำรงอยู่ทั้งหมดของเราขึ้นอยู่กับการทำงานหนักและความมีน้ำใจของทุกคนอย่างไร คนที่ผลิตอาหารให้เรา สร้างถนนให้เรา และอื่น ๆ การระลึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อทำให้ชีวิตของเราดำเนินไปได้ เราสร้างความขอบคุณและความชื่นชม เมื่อมีความรู้สึกจริงใจและลึกซึ้ง ความรู้สึกขอบคุณของเราจะทำให้เกิดความรักที่โอบอ้อมอารีต่อพวกเขาอย่างมาก และเราจะรู้สึกแย่หากมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับพวกเขา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะนำพาไปสู่ความรัก ซึ่งปรารถนาให้พวกเขามีความสุขและให้มีเหตุแห่งความสุข แต่เมื่อเราเห็นว่าพวกเขาไม่มีความสุข แต่ได้รับความทุกข์ทรมานทุกประเภท เราก็เกิดความเห็นอกเห็นใจ การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจของเราขึ้นอยู่กับการทำตามขั้นตอนเหล่านี้ทั้งหมดตามลำดับที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ความเห็นอกเห็นใจยังขึ้นอยู่กับการละทิ้ง ซึ่งหมายถึง การตระหนักถึงความทุกข์ของเราเอง การตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์นั้น และตระหนักว่าคนอื่น ๆ ก็มีความทุกข์และมีความปรารถนาเช่นนั้นเหมือนกัน การละทิ้งจริง ๆ ก็คือ การมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ ความเห็นอกเห็นใจก็เป็นความมุ่งมั่นเช่นเดียวกันที่เชื่อมตรงกับความทุกข์ของผู้อื่น ซึ่งชัดเจนว่าขึ้นอยู่กับการมีความมุ่งมั่นเช่นเดียวกันแบบนั้นต่อตัวเราเองก่อน
ดังนั้น หากเราต้องการสร้างสภาวะแห่งความเห็นอกเห็นใจในการทำสมาธิ ตรงประเด็นของการพึ่งพาอาศัยนี้มีความสำคัญมากจริง ๆ แม้ว่าในที่สุดแล้วด้วยการปฏิบัติและการคุ้นเคยเป็นอย่างดี เราจะสามารถสร้างสภาวะแห่งความเห็นอกเห็นใจขึ้นมาได้ทันที แต่ในช่วงเริ่มต้น เราต้องทำตามขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อสร้างตัวเองขึ้นไปในระดับที่เรารู้สึกได้อย่างจริงใจ ดังนั้น การทำสมาธิเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจนี้ เราจำเป็นต้องรู้ขั้นตอนหรือสาเหตุต่าง ๆ ที่ความเห็นอกเห็นใจนี้พึ่งพาอยู่
ท่านสองขะปะกล่าวต่อไปว่า เราจำเป็นต้อง “รู้แง่มุมต่าง ๆ” ด้วย ซึ่งหมายความว่า หากเราจะสร้างความเห็นอกเห็นใจ เราจำเป็นต้องรู้ทุกแง่มุมของความทุกข์ และแง่มุมต่าง ๆ ของสาเหตุของความทุกข์หากเราต้องการให้ทุกคนหลุดพ้นเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหมด นี่ไม่ได้แค่การช่วยหางานให้ทำ หรือให้ได้กินของดี ๆ เท่านั้น แต่เรากำลังพูดถึงความทุกข์ที่แพร่หลายอย่างกว้างขวางของการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่สามารถควบคุมได้ (สังสารวัฏ) ความไม่ตระหนักและความสับสนขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นจริงที่ก่อให้เกิดและดำรงอยู่ในสังสารวัฏ ถ้าต้องการทำสมาธิในเรื่องความรักและความเห็นอกเห็นใจ เราจะมัวแต่มานั่งเพ้อฝันคิดไปว่า "อ้า ช่างดีเหลือเกิน ฉันรักทุกคน” นั่นเป็นวิธีคิดที่คลุมเครือเกินไป สภาวะจิตใจที่เราต้องการสร้างนั้นมีความเฉพาะเจาะจงมาก ท่านสองขะปะกล่าวถึงทุกสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถระบุสภาพจิตใจที่เรากำลังพยายามฝึกปฏิบัติอยู่
จากนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องรู้ว่าเรากำลังมุ่งเน้นไปที่อะไรเมื่อเรากำลังพยายามพัฒนาสภาวะจิตใจนั้น สิ่งที่ควรปรากฏในจิตใจของเราคืออะไร ด้วยการมีความเห็นอกเห็นใจ เรากำลังมุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และความทุกข์ของพวกเขา ในที่นี้ ไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจเท่านั้น แต่เป็น "ความเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่" ซึ่งมุ่งตรงไปยังทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และนั่นหมายถึงสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ซึ่งจริง ๆ ก็คือ ทุกคน มันเป็นขอบเขตที่ใหญ่มากอย่างไม่น่าเชื่อที่จะคิดว่า “ฉันจะช่วยแมลงทุกตัวในจักรวาล” เรากำลังพูดถึงความต่อเนื่องทางจิตใจของแต่ละบุคคล ซึ่งเนื่องจากกรรมของพวกเขาที่ปรากฎออกมาในสภาพของแมลง ซึ่งไม่ได้ความว่า พวกเขาเป็นแมลงเสมอไป เรากำลังจะปลดปล่อยสิ่งมีชีวิตที่ว่าในชาตินี้คือแมลง แต่ในชาติก่อนคือ แม่ของฉัน และเราจะปลดปล่อยแม่ของฉันในชาตินี้ ซึ่งชาติที่แล้วอาจเคยเป็นหนอน
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนึกเห็นภาพของสิ่งมีชีวิตแต่ละชีวิต แต่ในแนวปฏิบัติทางพุทธศาสนาสายมหายานที่มีจิตใจกว้างขวาง เราพยายามจินตนาการถึงผู้ชมจำนวนมากที่อยู่รอบตัวเราในขณะที่เรากำลังปฏิบัติตนอยู่ และเรากำลังบรรเทาความทุกข์ของทุกคน ในตอนต้นของพระสูตรมหายานหลาย ๆ บทได้กล่าวถึงจำนวนสิ่งมีชีวิตที่เป็นผู้ชมหลายพันล้านสิ่งรอบตัว ซึ่งให้แนวคิดเกี่ยวกับขอบเขตที่ว่านี้
การมีความเห็นอกเห็นใจต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันนั้นอาจเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริง ๆ พื้นฐานของสิ่งนี้ก็คือ การมีจิตใจที่เป็นกลางที่เราจะเปิดใจให้กับคนอื่น ๆ ทั้งหมด เราจำเป็นต้องรู้ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะสามารถทำสมาธิในเรื่องความเห็นอกเห็นใจได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ เราต้องรู้ว่า จิตใจเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราโฟกัสอย่างไร ถ้าเราทำสมาธิเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ เรามีความปรารถนาที่จะให้พวกเขาหลุดพ้นจากความทุกข์ และสาเหตุทั้งหมดของความทุกข์ถูกทำลายไป ไม่ใช่ความปรารถนาที่จะให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือ หรือที่ความทุกข์นั้นจะหายไปโดยทั่วไป แต่เราเองจะพยายามช่วยให้พวกเขาเอาชนะมัน
ท่านสองขะปะชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า เราต้องรู้ว่าอะไรจะเป็นประโยชน์และจะช่วยเราในการพัฒนาการมีความเห็นอกเห็นใจ และอะไรที่จะเป็นผลร้ายและอันตราย ไม่ใช่เพียงแต่สิ่งที่จะช่วยให้เราพัฒนาการมีความเห็นอกเห็นใจเท่านั้น แต่สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือ ต้องมั่นใจว่าคนเราจะสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ได้จริง หากเราไม่คิดว่ามันจะเป็นไปได้แล้ว เราจะปรารถนาและพยายามทำสิ่งนั้นให้สำเร็จได้อย่างไร พื้นฐานของสิ่งนี้คือ ความเชื่อมั่นว่าฉันสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานได้ และฉันสามารถช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ได้ สำหรับสิ่งนี้ เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่เป็นจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เราสามารถทำได้ และแม้กระทั่งพระพุทธเจ้าว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง ดังนั้น สิ่งที่เป็นภัยต่อการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจของเราจึงไม่ใช่แค่การเอาแต่ใจตัวเองและความเห็นแก่ตัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความท้อแท้และขาดความมั่นใจในตนเองด้วย ท้ายที่สุดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความทุกข์ไม่สามารถถูกกำจัดออกไปได้เหมือนหนามที่ตำเท้าของใครบางคน พระพุทธเจ้าก็แค่แสดงให้เราดูทางได้เท่านั้น แต่คนอื่น ๆ ต้องทำงานหนักนั้นด้วยตัวเองเช่นกัน เราจะสามารถคาดหวังได้อย่างไรว่า เราจะสามารถเอาชนะพระพุทธเจ้าได้
สรุปสั้น ๆ คือ หากเราไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของการสร้างสภาวะจิตใจ เช่น ความเห็นอกเห็นใจแล้ว เราก็จะไปได้ไม่ไกล ด้วยวิธีนี้ เราสามารถที่จะเริ่มเข้าใจได้ว่า การทำสมาธิที่แม่นยำและซับซ้อนนั้นแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร เราสามารถเรียกมันว่าเป็น “ศาสตร์แห่งจิตใจ” ได้
ในช่วงระหว่างการทำสมาธิ
ท่านสองขะปะยังชี้ให้เห็นว่า ในช่วงเวลาระหว่างการทำสมาธิแต่ละช่วงก็สำคัญมากเช่นกัน เขาแนะนำให้อ่านข้อความในพระคัมภีร์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำสมาธิที่เรากำลังฝึกอยู่ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มันจะเป็นการยืนยันความเชื่อมั่นของเราว่า สิ่งที่เรากำลังทำนั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนจริง ๆ ส่วนในอีกแง่หนึ่งนั้น มันจะทำให้เรามีแรงบันดาลใจจากการอ่านสิ่งที่ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ทำและประสบความสำเร็จแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ท่านสองขะปะได้กล่าวไว้ว่า เราจำเป็นต้องสร้างพลังเชิงบวกและชำระล้างพลังด้านลบของตัวเองโดยผ่านการฝึกปฏิบัติชำระล้างให้บริสุทธิ์
ผมใช้คำว่า “พลังเชิงบวก” แทนคำว่า “บุญ” ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นการให้ความคิดที่ผิด คำว่า บุญ ฟังดูเหมือนว่าคุณกำลังรวบรวมสะสมคะแนน และถ้าคุณทำคะแนนถึงหนึ่งร้อยคุณก็จะชนะ สิ่งที่เรากำลังทำคือ การสร้างพลังเชิงบวกที่ทำให้คุณได้รับพลังงานที่เพียงพอสำหรับการทำงานเช่นเดียวกับโทรศัพท์มือถือ ดังนั้น ด้วยความคิดของเรา เราจึงต้องใช้แนวทางการชำระล้างเพื่อช่วยเอาชนะการปิดกั้นทางจิตใจที่ทำให้คุณรู้สึกว่าไม่เข้าใจอะไรเลย นอกจากนี้ ยังอาจเป็นการปิดกั้นอารมณ์ด้วย การเสริมสร้างพลังเชิงบวกและการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติต่าง ๆ ที่ชำระล้างทำให้บริสุทธิ์จะทำให้เราสามารถฝ่าด่านการปิดกั้นเหล่านี้ไปได้เพื่อให้เราได้รับความรู้แจ้งและการเข้าใจที่ลึกซึ้ง
แล้วนั่นหมายความว่าอย่างไรในระดับปฏิบัติ ก็หมายความว่า เมื่อเรากำลังพยายามทำความเข้าใจอะไรบางอย่างอยู่ แม้แต่ในงานของเราเอง แต่เราไม่สามารถเข้าใจได้ เราก็จะหยุดพักก่อน แล้วพยายามทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การทำเช่นนั้นโดยปกติแล้วเมื่อคุณกลับมา จิตใจของคุณจะอยู่ในสภาพที่เป็นบวกและยกระดับขึ้น รวมทั้งการมีความรู้สึกที่มีคุณค่าในตัวเองสูงขึ้นมากกว่าที่จะมีความคับข้องใจ ซึ่งเราก็มักจะเข้าใจได้ดีขึ้นเล็กน้อย ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มันจะต้องมีกิจกรรมบางอย่างที่เราสามารถมีส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลากับลูก ๆ ของเรามากขึ้น การไปเยี่ยมญาติผู้สูงอายุที่ป่วยและเหงา หรือไม่ว่าอะไรก็ตาม สิ่งที่เป็นบวกเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องทำ แม้ว่าจะมีพิธีกรรมมากมายที่เราสามารถปฏิบัติได้ แต่การปฏิบัติในชีวิตจริงนั้นให้พลังที่แข็งแกร่งกว่ามาก
ตรวจสอบความก้าวหน้าของเรา
พวกเราส่วนใหญ่ไม่มีครูส่วนตัวที่สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าของเราได้ แต่คำสอนการฝึกจิตใจในวิถีพุทธทิเบต (lojong) จะบอกว่า เราเป็นพยานที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง เราจำเป็นต้องถามตัวเองว่า เราสามารถมีสมาธิดีหรือไม่ดี หรือว่าเรามีความคิดใจลอยมากหรือไม่ ไม่มีใครสามารถตัดสินสิ่งนี้แทนเราได้! คำสอนและการปฏิบัติทั้งหมดมีไว้เพื่อให้เราปรับปรุงสภาพอารมณ์ของเราเองเพื่อให้เราฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง ดังนั้น เราจึงเป็นตัวตัดสินที่ดีที่สุดในการดูว่า จริง ๆ แล้วเรายังโกรธอยู่ หรือโกรธน้อยลง เป็นต้น
หลักการที่เราต้องจำไว้คือ ชีวิตมีขึ้นมีลง ดังนั้น ความก้าวหน้าจึงไม่เป็นเส้นตรง มันคงจะไม่ง่าย ๆ เพียงแค่ดีขึ้นและดีขึ้นเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน จนกว่าเราจะถึงจุดที่เราเป็นอิสระ มันก็จะมีขึ้นมีลง แม้ว่าเราจะฝึกฝนมาเป็นเวลานานและปกติเราจะไม่โกรธ แต่บางครั้งเราก็ยังโกรธ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะท้อแท้ ในแง่หนึ่ง เราต้องพยายามมากขึ้นที่จะปรับปรุงตัวเอง แต่ในทางกลับกัน อย่าลงโทษตัวเองหรือรู้สึกผิดเมื่อคุณทำพลาดไป สมเด็จองค์ดาไลลามะกล่าวว่า เมื่อประเมินความก้าวหน้าของเรา เราจำเป็นต้องมองที่ระยะเวลา 5 ปีไม่ใช่แค่สัปดาห์เดียว ถ้าเรามองดูที่วิธีการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ของเราเมื่อห้าปีก่อนเปรียบเทียบกับตอนนี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความก้าวหน้าของเราที่เกิดขึ้น
บทสรุป
ไม่จำเป็นต้องมีสถานที่พิเศษในการทำสมาธิ มีเพียงแค่สถานที่ที่ค่อนข้างเงียบและสะอาดก็พอแล้ว แต่ถึงแม้จะไม่มีอย่างที่กล่าวมานี้ก็ไม่เป็นไร เพื่อนของผมคนหนึ่งอาศัยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์เล็ก ๆ กับแม่ของเธอ ซึ่งเป็นแค่ห้อง ๆ เดียว มีโทรทัศน์และวิทยุของแม่เธอ และแม่เธอจะอารมณ์เสีย ถ้าเธอพยายามทำสมาธิหรืออะไรทำนองนั้น โอกาสเดียวของเธอที่จะทำสมาธิได้คือ ทำสมาธิขณะนั่งบนโถส้วม นั่นคือ ที่ที่เธอปฏิบัติทุกวัน และมันก็ไม่เป็นไร คุณไม่จำเป็นต้องมีเทียน หรือธูป หรือสิ่งของใด ๆ เพราะนั่นมันก็เป็นแค่ “สิ่งของ” สิ่งสำคัญคือ สิ่งที่เรากำลังทำกับจิตใจของเรา และการทำสมาธิคือการฝึกสภาพจิตใจบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้ทุกที่ทุกเวลา สภาพจิตใจบางอย่างอาจพัฒนาได้ง่ายกว่าเมื่อเราอยู่บนรถไฟใต้ดินหรือบนรถบัส เมื่อเราต้องการพัฒนาความอดทน เพื่อมองเห็นว่าทุกคนต้องการมีความสุขและไม่ต้องการความทุกข์ จะมีอะไรดีไปกว่าบนรถบัสที่แออัดแทนที่จะนั่งอยู่คนเดียวในห้องของเราโดยจินตนาการถึงผู้คนเหล่านั้น
สิ่งที่สำคัญในการฝึกสมาธิคือ เราจะต้องทำทุกวันอย่างแน่นอน คุณคงไม่ลืมแปรงฟันหรือลืมเข้าห้องน้ำใช่ไหม ดังนั้น อย่าลืมทำสมาธิด้วย เราสามารถทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างสม่ำเสมอได้ แม้ว่าจะใช้เวลาแค่ 5 นาทีต่อวันก็ตาม ไม่ว่าเราจะเป็นใคร เราทุกคนสามารถตื่นขึ้นมาก่อน 5 นาทีในตอนเช้าเพื่อให้มีเวลาทำสมาธิได้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องที่แสนจะทุกข์ทรมาน แต่มันสามารถเพิ่มเสถียรภาพได้อย่างมาก ไม่ว่าวันข้างหน้ามันจะบ้าบอยังไงก็ตาม คุณจะมีเวลานี้ให้กับตัวเองเสมอที่ให้ความต่อเนื่อง