เราได้เห็นแล้วว่าสมาธิเป็นหนึ่งในขั้นตอนสามขั้นตอน คือ การฟังคำสอน การคิดไตร่ตรองคำสอน และการทำสมาธิภาวนาถึงคำสอนนั้น สมาธิภาวนาในขั้นตอนที่สามนี้คือการนำเอาคำสอนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันโดยทำซํ้าหรือบ่อยครั้ง พัฒนาจิตให้ดีงามเป็นบวกตามที่ต้องการด้วยการทำซํ้า ทำบ่อยๆจนกลายเป็นนิสัย
เราฟังคำสอนและเกิดการรับรู้ที่แยกแยะได้ว่า “นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้า” เราเชื่อมั่นในคำสอนนั้น และเราก็เห็นว่าเราสามารถเข้าถึงคำสอนที่น่าจะเป็นความจริงนั้นได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจคำสอนนั้นทั้งหมด แต่อย่างน้อยเราเกิดความสนใจและเกิดแรงจูงใจต่อคำสอนนั้น เราอาจคิดว่าคำสอนนั้นถูกต้องเป็นจริงเสียก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ว่าไม่ใช่ ถ้าเราพบว่าคำสอนนั้นไม่จริง ก็ลืมมันไปได้เลย แต่ข้อสำคัญคือ การเปิดใจกว้างคิดล่วงหน้าเอาว่าคำสอนนั้นเป็นจริง แล้วค่อยมาตรวจสอบทีหลังว่าเป็นจริงหรือไม่ เราควรคิดด้วยว่าคำสอนนั้นเป็นประโยชน์ เหมือนกับวิตามิน ท่านคงไม่ทานยาพิษเป็นแน่ โดยคิดว่า “ขอให้ฉันได้ลองทานยาดูว่ามันอันตรายถึงชีวิตไหม” ท่านก็คงคาดคิดเอาไว้ว่าวิตามินคงมีประโยชน์ เพราะว่าหลายคนกล่าวเช่นนั้น ดังนั้นเราควรพยายามทดสอบลองดูด้วยตัวของตัวเอง
เราขบคิดไตร่ตรองถึงคำสอน ก็เพื่อ “การรับรู้ที่แยกแยสิ่งต่างๆได้อันเป็นผลจากการคิดไตร่ตรอง” จึงเกิดความเชื่อมั่นว่าตนเองเข้าใจคำสอนในพุทธศาสนา พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์เป็นความจริง เกิดประโยชน์สุข และรู้แจ้งเข้าถึงได้ เมื่อคนทั่วไปเลิกปฏิบัติเสียกลางคัน และมีหลายๆคนทำแบบนั้นหลังจากปฏิบัติไปได้สักพัก เพราะเกิดมี “อาการลังเลสงสัย” ไม่มั่นใจว่าจะเป็นจริงได้ จึงต่างพากันเลิกล้มการปฏิบัติกันไป
อิสรภาพและการหลุดพ้นคืออะไร
เมื่อเราอ่านถึงเรื่องของอิสรภาพการหลุดพ้น หรือการตรัสรู้ และมรรควิถึเพื่อการหลุดพ้นนั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่าอิสรภาพการหลุดพ้นนั้นมีความหมายอย่างไร ความหมายของการตรัสรู้คืออะไร และเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น คำสอนได้กล่าวว่าพระพุทธองค์เป็นสัพพัญญู ผู้รู้แจ้งในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความถูกต้อง พระพุทธองค์ทรงมีความห่วงใยในสรรพสัตว์เสมอเท่ากัน และสามารถเข้าถึงสื่อสารกับทุกสรรพสัตว์ได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงสามารถช่วยเหลือทุกคนในหนทางที่ดีที่สุด
ที่กล่าวมาทั้งหมดถึงพระองค์ท่านเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเทพนิยาย ถ้าหากเราคิดว่ามันเป็นเรื่องตลกไร้สาระ แล้วพวกเราจะพากเพียรกันไปทำไมเพื่ออิสรภาพการหลุดพ้นนั้น หากเราคิดว่าเป็นเทพนิยาย เราก็ไม่เชื่อว่าคนเราบรรลุธรรมได้ เราต้องมองดูที่เป้าหมายที่พุทธศาสนาได้สอนเอาไว้ด้วยใจที่คิดวิจารณ์ และตรวจสอบถึงเจตนาหรือแรงจูงใจของตนเอง
เป้าหมายของเราคืออะไร
คำว่า “แรงจูงใจ” นี้ในพุทธศาสนามีความหมายที่เฉพาะลงไป เรามักพูดถึงว่า “จงยืนยันหรือแสดงถึงแรงจูงใจของท่าน” คำนี้มีสองส่วน ส่วนแรกหมายถึง เป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ส่วนที่สองได้แก่ อารมณ์หรือความรู้สึกที่ผลักดันให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ในภาษาอังกฤษ คำแรงจูงใจมีความหมายค่อนไปในความหมายที่สอง คือเป็นเรื่องของอารมณ์ที่เป็นแรงจูงใจให้เราทำกิจต่างๆ
ข้าพเจ้าเห็นว่าสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ธรรมปฏิบัติเป็นไปเพื่อให้ชีวิตมีความสุขความสบายมากขึ้น ก็จริงอย่างว่านะครับ ไม่มีอะไรผิด ข้าพเจ้าเรียกการเข้าถึงธรรมแบบนั้นว่า “ธรรมะเบาๆ” มากกว่า “ธรรมะจริงแท้” ธรรมะเบาๆนี้เป็นธรรมขั้นเริ่มต้น สิ่งที่จริง คือ การประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อหวังไปเกิดชาติหน้าในภพภูมิที่ดีกว่า โดยการเกิดมาเป็นมนุษย์นับว่าเป็นชาติที่มีค่าทุกชาติไป แต่ถ้าท่านไม่เชื่อในเรื่องการเกิดใหม่ ท่านจะมุ่งหมายให้เกิดใหม่ในชาติหน้าที่ดีได้อย่างไร ก่อนที่จะเข้าใจเรื่องการเกิดใหม่ ต้องรู้และเข้าใจเสียก่อนว่าการเกิดใหม่คืออะไร มีความหมายอย่างไร ในแง่ของธรรมชาติการสืบต่อของจิตและอัตตาตัวตน และอื่นๆ เอาเข้าจริงแล้ว ความมุ่งหมายเพื่อการเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดีไม่ใช่มีในคำสอนพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งคริสตศาสนิกชนและศาสนิกชนอื่นต่างปราถนาการเกิดใหม่ที่ดีด้วยกันทั้งสิ้นเมื่อตายไป ตัวอย่างเช่นศาสนาคริสต์พูดเรื่องชีวิตนิรันดร์ในสวรรค์
ศาสนาฮินดูก็มีคำสอนเรื่องโมกษะ คือการหลุดพ้นจากการควบคุมเป็นไปของการกลับชาติมาเกิดภพแล้วภพเล่า รวมถึงมีวิธีการเพื่อบรรลุธรรมด้วย แน่นอนครับที่ว่าพุทธศาสนามีคำสอนที่เป็นเอกลักษณ์ว่าเป้าหมายสูงสุด คือ การเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้กิเลสโดยสิ้นเชิง.
ก้าวแต่ละก้าวในธรรม
คำสอนพุทธศาสนาแสดงถึงธรรมในแต่ละระดับที่มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป สำคัญที่เราต้องเคราพในเรื่องนี้ เพราะถ้าเราเพียงแต่พูดว่า “ฉันอยากเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อจะได้ช่วยเหลือสรรพสัตว์” แต่ปราศจากรากฐานใดๆ ก็เป็นเพียงถ้อยคำที่ไม่มีความหมาย เราต้องการหลุดพ้นเพื่อให้แมลงทุกตัวในจักรวาลนี้ตื่นตรัสรู้อย่างนี้หรือเปล่า คงจะไม่ถึงขนาดนั้น เราเพียงแต่ตั้งจิตอธิษฐานถึงเป้าหมายนั้นและตั้งใจกับคำอธิษฐานนั้น แล้วค่อยๆปฏิบัติไป โดยมีการคิดไตร่ตรองตรวจสอบคำสอนแต่ละคำสอน เหมือนอย่างที่ผมกล่าวไว้ในสัจพจน์ 4 ข้อในการตรวจสอบบางสิ่ง เริ่มจากหัวข้อธรรมพื้นฐานที่สุด
เช่น ตัวอย่างการนำเอาสัจพจน์ในคำสอน 4 ข้อ มาคิดพิจารณาถึงความตายและความเป็นอนิจจลักษณะ ข้าพเจ้าเลือกเอาหัวข้อนี้ อาจจะเห็นแก่ตัวซักหน่อย เพราะเพื่อนสนิทที่สุดของข้าพเจ้าเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อสัปดาห์ก่อน
เรานำเอาคำสอนที่สำคัญมาข้อหนึ่ง เช่น คำสอนว่าด้วยเรื่องความตายเพื่อพิจารณาวิเคราะห์จากแง่มุมทั้ง 4 แง่มุม จะใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีขีดจำกัดของเวลาว่าสิบนาทีเรื่องนี้ เรื่องนั้นยี่สิบนาที แต่ถ้าทำเร็วไปก็ไม่ดี เพราะสิ่งที่ท่านนำมาพิจารณาจะดูไม่มีความหมาย จะดีกว่าถ้าจมอยู่กับมันไปก่อนสักครู่เพื่อพิจารณาไตร่ตรอง
- ความจริงของความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน เราต้องเตรียมสภาพจิตอย่างไรบ้างเพื่อระลึกรู้ความตาย
- ความจริงในหน้าที่ เมื่อจิตบรรลุธรรมในระดับหนึ่ง จิตนั้นทำงานอย่างไร อะไรที่เป็นคุณประโยชน์และอะไรที่เป็นโทษ
- ความจริงในเหตุผล เราตรวจสอบคำสอนเพื่อพิจารณาว่าคำสอนนั้นถูกต้องหรือไม่ และสอดคล้องกับคำสอนอื่นของพระพุทธองค์หรือเปล่า สมเหตุสมผลไหม เมื่อทดลองทำดู ได้ผลอย่างที่อ้างหรือไม่
- ความจริงที่เป็นไปตามธรรมชาติ ความตายเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติอย่างนั้นใช่ไหม คนทุกคนต้องตายใช่ไหม
เกิดความรู้ความเข้าใจโดยตลอด
ในขั้นพื้นฐาน เราต้องการแน่ใจว่าเรารู้เข้าใจหัวข้อนั้นดีแล้ว เพื่อจะไม่เสียเวลากลับมาดูเรื่องนั้นอีก ชาวธิเบตมีวิธีการตั้งคำถามและตรวจสอบความรู้เข้าใจด้วยการโต้วาทีทางธรรม นักเรียนทุกคนต้องเข้าร่วมการโต้วาทีทางธรรมนี้ ไม่ใช่จะนั่งเฉยๆหลังห้องเรียน จะมีคนหนึ่งพูดกล่าวเสนอสิ่งหนึ่ง แล้วฝ่ายตรงข้ามจะยอมรับหรือปฏิเสธในคำกล่าวนั้น ประเด็นสำคัญของการโต้วาทีทางธรรมมิใช่หาคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน แต่เพื่อเกิดความมั่นใจว่าตนเองเข้าใจหัวข้อนั้นดี การโต้วาทีทางธรรมเป็นวิธีการที่ดีมาก เพราะคนอื่นมักท้าทายตรวจสอบความคิดของเรามากกว่าที่เราจะท้าทายความคิดของตนเอง การโต้วาทีทางธรรมนี้กระตุ้นพลังให้เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก พวกเขาสนุกสนานและขำกลิ้งเมื่อเห็นคนอื่นเสนอความคิดที่ขัดแย้งกันเอง แต่จบลงด้วยความสนุกสนานพร้อมเสียงหัวเราะ
ข้อดีของแนวทางการเรียนรู้แบบนี้คือ ไม่ว่าท่านจะเป็นใคร ท่านอาจจะแสดงความขัดแย้งกับความเป็นจริงออกมาได้ และพูดอะไรออกมาแบบโง่ๆไม่ได้ความหมาย ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีเพราะจะช่วยลดอัตตาตัวตนและความโอหังของท่านเอง อีกอย่างหนึ่งคือการช่วยให้ท่านเกิดความกล้าขึ้นมา ไม่อายใคร ท่านจะมาขี้อายต่อหน้ากลุ่มคนมากมายในการโต้วาทีไม่ได้
เราไม่ควรมองการโต้วาทีทางธรรมว่า “เป็นเพียงกิจกรรมทางสมองหรือพุทธิปัญญา ทำสมาธิเพื่อเกิดญาณทัศนะจะดีกว่า” การโต้วาทีช่วยในเรื่องสมาธิได้ดี และนี่เป็นเป้าหมายทั้งหมด หลังจากการโต้วาที ท่านจะหมดความสงสัยใดๆ และเกิดความเชื่อมั่นในความเข้าใจคำสอนของตน หลังจากนั้น ท่านก็จะเจริญสมาธิภาวนาเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งและความเชื่อมั่น มิเช่นนั้นแล้วสมาธิของท่านก็จะยังไม่มั่นคง พวกท่านในที่นี้ยังไม่เคยโต้วาทีทางธรรมที่เป็นทางการกันเลย แต่เป็นสิ่งที่ดีมากที่ได้ถกเถียงถึงคำสอนโดยไม่เย่อหยิ่งโอหัง หรือปกป้องตนเอง โดยคิดไปเองว่าคนอื่นโจมตีเราเป็นการส่วนตัว
พุทธศาสนามีคำศัพท์และความหมายศัพท์ที่พูดว่า “เชื่อในข้อเท็จจริงว่าเป็นจริง” และ “ความเชื่อที่มั่นคงเหนียวแน่น” การที่เราเชื่อในบางสิ่งว่าเป็นจริงนั่นอาจผิดหรือไม่จริงก็ได้ ดังนั้นเราต้องระมัดระวังตรวจสอบคำสอนให้ดี ไม่ด่วนสรุปว่าเราเข้าใจถูกต้องแล้ว ทั้งๆที่จริงแล้วเรายังไม่เข้าใจถูกต้องดีเลย ความเชื่อที่มั่นคงเหนียวแน่น หมายถึง เรามั่นใจในคำสอนนั้น และไม่มีอะไรมาทำลายเปลี่ยนใจในความเชื่อเราที่มีต่อคำสอนได้ ข้อนี้ต้องฝึกพัฒนา .
ก้าวเดินต่อไป
แต่สิ่งทั้งหมดนี้อาจกลับกลายเป็นความดื้นรั้นและใจที่ปิดกั้น เราเกิดความเข้าใจผิดๆ และดื้อดึงในความคิดของตนแม้ว่าจะมีคนพยายามแก้ไขท้วงติง บางครั้งสิ่งนี้ถูกเรียกว่า “มิจฉาทิฏฐิ” กล่าวคือ เรามีความเชื่อความคิดเห็นผิดๆ แต่ยังดื้อรั้นในสิ่งนั้นจนกลายเป็นคนดุร้ายพร้อมโจมตีทำร้ายใครก็ตามที่คิดต่างออกไป
หากยังไม่บรรลุมรรคผลเป็นพระพุทธเจ้า เราต้องพยายามศึกษาเข้าใจสิ่งต่างๆให้มากและลึกซึ้งกว่าเดิม เรามักจะได้รับคำบอกกล่าวบ่อยๆว่า “อย่าเพิ่งพออกพอใจในความรู้ ความเข้าใจ และความสำเร็จของตนที่พึงมีในตอนนี้ เพราะท่านจะเกิดความรู้ ความเข้าใจ และความสําเร็จที่ลึกซึ้งมากกว่านี้ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้กลายเป็นพระพุทธเจ้า” และถึงแม้ว่าท่านจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็ตาม แต่ก็คงยังไม่ลึกซึ้ง ท่านตริจาง รินโปเช พระอาจารย์ขององค์ดาไลลามะท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้อ่าน ลัมริมเชนโม (คำสอนว่าด้วยเรื่องระดับคำสอนแห่งธรรม ของพระอาจารย์สองขะปะ ที่เป็นคัมภีร์ศาสนาพื้นฐานเล่มใหญ่มาก) ตั้งหลายร้อยครั้ง อ่านแต่ละครั้งก็ให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งแตกต่างกันไป” นี่คือตัวอย่างที่ดีที่เราต้องศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นแม้ว่าในช่วงแรกจะเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก็ตาม
มรณานุสติภาวนา
ตอนนี้เราจะมาดูกันในประเด็น 4 ข้อที่เกี่ยวกับเรื่องมรณานุสติ เพื่อเป็นตัวอย่างว่ามรณานุสติกับประเด็น 4 ข้อว่าไว้อย่างไร และจะนำเอาไปใช้ได้อย่างไร แน่นอนว่าเราจะทำการศึกษาเรื่องนี้หลังจากได้เรียนรู้ถึงเรื่องความตายและมรณานุสติเสียก่อน เมื่อพูดถึงความตาย มาดูความจริงพื้นฐาน 3 ข้อ ว่าด้วยเรื่องความตาย
- ไม่มีใครหนีความตายไปได้
- ไม่มีใครรู้วันตาย
- ไม่มีอะไรช่วยเราได้ในเวลาที่ตาย ยกเว้นพระธรรมะคำสอน
ทุกคนต้องตาย ไม่มีใครหนีความตายได้ ทั้งข้าพเจ้าและท่าน ทุกคนรู้เรื่องนี้ดี เราไม่รู้ว่าเมื่อไรความตายจะมาเยือน และเมื่อเราตาย ไม่มีอะไรช่วยเราได้เลย จะมีก็แต่นิสัยที่ดีที่เราได้ทำและสร้างเอาไว้จนเป็นส่วนหนึ่งของจิตที่ต่อเนื่อง
ไม่มีใครหนีความตายได้ แต่ทว่าเจ้าความตายขึ้นอยู่กับสิ่งใดเล่า (ความจริงของความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน) ข้อแรก ความตายขึ้นอยู่กับการมีชีวิต ถ้าไม่เกิดก็ไม่ตาย เราแก่ลงทุกวัน และร่างกายเราครั้งหนึ่งที่เคยแข็งแรงก็กลับอ่อนแอลง ดังนั้นความตายขึ้นอยู่กับร่างกายที่วันหนึ่งจะเจ็บ จะป่วย หรือไม่ก็เกิดอุบัติเหตรถชนตาย
ทำไมจึงคิดถึงความตาย
ในระดับที่ลึกลงไปถึงความจริงเรื่องความสัมพันธ์อิงอาศัย ก่อนทำความเข้าใจถึงเรื่องมรณานุสติภาวนา เราพบว่าชีวิตมนุษย์ช่างมีค่า เป็นสิ่งมหัศจรรย์เสียเหลือเกิน การระลึกรู้ความตาย หรือตายก่อนตายมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยนำเราได้ประโยชน์กับชีวิตที่มีค่าในปัจจุบันนี้ หากเราไม่ชื่นชอบชีวิตตนเองและโอกาสที่ได้รับ เราก็จะไม่คิดจริงๆจังๆกับเรื่องความตายของตน เพราะมหาชนมักไม่ชอบคิดหรือพูดเรื่องความตาย “ฉันยังมีชีวิตอยู่ ยังอาศัยร่างกายและจิตใจทำสิ่งที่ดีมีคุณประโยชน์ให้สำเร็จได้” แต่แท้จริงแล้วคนเหล่านั้นยังทำอะไรไม่สำเร็จเอาเลย สรุป การระลึกรู้ความตายจำต้องสัมพันธ์กับการระลึกรู้ถึงชีวิต
เราแลเห็นได้ว่าชีวิตคนเราช่างมีค่า และเราเป็นอิสระหลุดพ้นได้จากเหตุการณ์ที่เลวร้าย ที่มักกักกั้นเราให้ได้ประโยชน์กับการมีชีวิต เรายังไม่เคยเกิดเป็นแมลงสาบ ที่เมื่อใครๆเห็นก็จ้องกระทืบ เรายังไม่เคยเกิดเป็นปลาเล็ก ที่เป็นอาหารของปลาที่ใหญ่กว่า ลองคิดดูว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง หรือประสบผลสำเร็จได้อย่างไร ถ้าต้องเกิดเป็นเจ้าแมลงวัน คงทำอะไรมากไม่ได้ ใช่ไหมครับ เพราะสิ่งที่เราสนใจตลอดชีวิตคือขี้และขยะเพียงเท่านั้น!
ดังนั้นจุดประสงค์ในการระลึกรู้ถึงความตาย (ความจริงในหน้าที่) ไม่ใช่มานั่งเครียดวิตกกังวล “โอ้ช่างแย่และน่ากลัวอะไรเช่นนี้ ฉันคงตายแน่ๆ” นี่ไม่ใช่ประเด็น การทำหน้าที่ คือ การได้ประโยชน์กับเวลาที่มีค่าที่เรามีอยู่ในขณะนี้ เราไม่มีวันรู้เลยว่าเมื่อไหร่เราจะตาย เหมือนตัวอย่างเพื่อนของข้าพเจ้าที่เสียไปอาทิตย์ที่แล้ว สุขภาพเขาแข็งแรงดีมาก และเขายังไม่แก่เลย ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ความดันสูงก็ไม่มี เขาออกกำลังกายมากและเป็นนักปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาเอาจริงเอาจังคนหนึ่ง เช้าของอาทิตย์ก่อน เขาหัวใจวายตายขณะอาบนํ้าอยู่ ตายคาที่เลยครับ
เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเมื่อไหร่เราจะสูญเสียชีวิตที่มีค่าไป ปกติแล้วความตายมาอย่างไม่คาดคิด ไม่ต้องรอให้แก่ก่อนหรือเจ็บก่อนแล้วค่อยตาย ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของการตายก่อนตาย คือ การไม่เกียจคร้านการงาน หรือผลัดวันประกันพรุ่ง อลันเพื่อนข้าพเจ้าที่เสียชีวิตเป็นตัวอย่างที่ดี แม่ของอลันแก่มากเเล้วและสุขภาพไม่ดี อลันต้องการจะช่วยแม่ทั้งเรื่องเงินทองและเอาใจใส่ดูแลสุขภาพ ทุกสัปดาห์เขาจะไปช่วยดูแลแม่ ไปช่วยซื้อของและช่วยเรื่องอื่นๆ อลันพูดบ่อยๆว่า ถ้าแม่เขาเสีย เขาจะเกษียณอายุ และสิ่งที่จะทำก่อนอันดับแรก คือ ไปปลีกวิเวกเพื่อทำสมาธิแห่งพระวัชรสัตว์เพื่อชำระล้างกรรมให้บริสุทธิ์เป็นเวลาหนึ่งปี และหลังจากนั้นจะปลีกวิเวกให้นานมากกว่านี้ เขาตั้งใจแบบนี้
ข้าพเจ้าเคยเล่าไว้ว่าเพื่อนคนนี้ของข้าพเจ้าเป็นนักปฏิบัติธรรมเอาจริงเอาจัง แต่เขาก็ไม่มีโอกาสที่จะปลีกวิเวกเพื่อทำสมาธิอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะต้องไปช่วยดูแลแม่ และต้องทำงานเลี้ยงชีพอีก เขาควรจะดูแลแม่หรือไปปลีกวิเวกเพื่อทำสมาธิเมื่อโอกาสเอื้ออำนวย ธรรมะจะให้คำแนะนำอย่างไรแก่เราดี คำสอนเรื่องความตายว่าเราควรจะทำอะไรดี คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ดีให้คิดพินิจพิเคราะห์ว่าเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ เราจะทำอย่างไรดี
ข้อแนะนำหนึ่งคือ อาจจะทำสมาธิในระยะสั้นๆ ใช้เวลาไม่ต้องมาก แล้วก็มาช่วยดูแลแม่ในเวลาเดียวกัน การปลีกวิเวกไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่ต้องทำเต็มเวลา เราอาจจะทำสมาธิช่วงเวลาเช้าหรือเย็น แล้วทำกิจกรรมการงานในช่วงเวลากลางวัน การปลีกวิเวกทำสมาธิเป็นเรื่องดี แต่การตอบแทนช่วยเหลือสัตว์โลกก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะแม่ของเราผู้ให้กำเนิดเรามา เมื่อท่านดูแลพ่อแม่บังเกิดเกล้าโดยไม่มีความโกรธเคืองใดๆ เช่นว่า “อยากให้พวกเขาตายไปเลยเพราะเกลียดภาระงานที่ทำนี้เหลือเกิน เพื่อจะได้พักผ่อนเกษียณสักที” หากท่านปราศจากความโกรธ ความไม่พึงพอใจใดๆ ท่านได้สร้างคุณความดี พลังด้านบวกเป็นอย่างมาก แต่ถ้าหากเราไม่ต้องห่วงกังวลพ่อแม่ หรือมีภาระต้องดูแลท่าน แน่นอนว่าเราคงใช้และพึงได้ประโยชน์จากชีวิตของตนเองให้มากที่สุดเท่าที่ตนเองต้องการ
ครูอาจารย์ลามะธิเบตมักไม่ค่อยถือเอาความกับการเรียนของนักเรียนชาวตะวันตกเสียเท่าไหร่นัก เพราะชาวตะวันตกส่วนมากมักไม่ทุ่มเทใส่ใจต่อการศึกษาธรรมะ หรือเกิดความซาบซึ้งในคุณค่าเท่าใดนัก คนตะวันตกมักจะคิดว่า “วันนี้เหนื่อยจัง ไปเรียนวันอื่นดีกว่า” แต่ถ้าเราเป็นนักเรียนที่เอาจริงเอาจัง และระลึกรู้ถึงความตายและชีวิตที่ลํ้าค่าอยู่ทุกขณะ เราก็จะไปเรียนทุกวันเมื่อมีเวลา ไม่เกี่ยงว่าวันนี้จะรู้สึกอย่างไร
ความตายกำลังมาถึง ขอจงผ่อนคลาย!
ชีวิตที่มีค่าของเรากำลังจะจบลง เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าจะจบลงเมื่อใด อาจจะตายคาห้องนํ้าเพราะหัวใจวายตาย หรือถูกอุบัติเหตุรถชนตาย เราไม่อยากจะเสียเวลาไปกับชีวิต การระลึกรู้ความตายช่วยให้เราไม่เกียจคร้านการงาน และพึงเอาประโยชน์จากโอกาสชีวิตที่มีอยู่ จะทำได้ก็ต้องไม่เครียดวิตกกังวล หรือตึงเกินไป เราโดยมากมักจะตื่นตระหนกตึงเครียดเกินไปจนเครียดไปกับเรื่องเล็กๆน้อยๆ หรือแม้แต่การศึกษาปฏิบัติธรรม เราต้องปฏิบัติด้วยนํ้าใสใจจริง แต่ก็ทำตัวสบายๆไม่ให้เครียด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะขี้เกียจ เมื่อท่านสร้างให้เกิดเป็นนิสัยที่ดี เมื่อกำลังจะตาย ก็ไม่มีปัญหาเพราะนิสัยที่ดีที่สร้างเอาไว้จะช่วยท่านเอง
ความตายเป็นบทสรุปชีวิตที่สมเหตุสมผล
เราจะมาดูกันว่าคําสอนอื่นๆจะสอดคล้องกับคำสอนที่พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้หรือไม่ (ความจริงในเหตุผล) จะประเมินได้ก็ต่อเมื่อท่านได้รับคำสอนมาบ้างแล้ว หรือไม่ก็ศึกษาอ่านหนังสือธรรมะมาหลายเล่มแล้ว คำสอนในพุทธศาสนาส่วนใหญ่พูดถึงพระอนิจจลักษณะ ดังนั้นจึงสอดรับกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอน
สมเหตุสมผลไหม ผมว่าสมเหตุสมผลนะครับ เราเข้าใกล้ความตายอยู่ทุกวัน การแสดงต้องมีวันจบลง ความตายต้องมาเป็นแน่แท้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะหนีความตายไปได้เมื่อมันมาถึง จะต่ออายุขัยก็ทำไม่ได้ เวลาที่เหลือน้อยลงไปทุกวัน ทุกเวลานาที ก่อให้ใจคอห่อเหี่ยวลงไปมาก แต่ถ้าเราทำตัวสบายสบาย ไม่ตื่นตระหนกจนสติแตก แต่ก็ให้ความสำคัญเรื่องที่ว่านี้อย่างเอาจริงเอาจัง ถ้าทำได้ ถือว่าลึกซึ้งทีเดียว แม้ว่าเราไม่มีเวลามากนักในขณะมีชีวิตอยู่ในการปฏิบัติธรรม เราก็ต้องตาย ทุกคนมีชีวิตก็ต้องจบชีวิตลง
เกิดผลที่ดี
เมื่อเราเชื่อว่าความตายกำลังมาถึงในไม่ช้า และชีวิตเรามีค่า จะทำให้เราไม่เกียจคร้าน รีบขวนขวายกับโอกาสของชีวิตในการประกอบกิจ นี้คือผลดี
ความจริงข้อ 4 เกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งต่างๆ มีขึ้นและจากไป นี่คือความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เราต้องยอมรับข้อเท็จจริงนี้
ตัวอย่างทั้ง 4 ข้อนี้แสดงถึงการนำประสบการณ์ส่วนตนมาใช้วิเคราะห์คำสอน เป็นขบวนการต่อเนื่องใช้เวลานานถึงจะเชื่อมั่นเต็มร้อยเพื่อนำมาใช้กับชีวิตของเรา ความเข้าใจที่เกิดจากสมองมันง่ายกว่าความเข้าใจในทางอารมณ์ เรื่องอารมณ์เป็นเรื่องยาก จิตกับกายนั้นต่างกัน อย่างเช่นตัวอย่างความตายของเพื่อนข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกสงบได้ในทางจิตใจและอารมณ์ แต่กายของข้าพเจ้ากลับรู้สึกเหนื่อล้าเพราะเสียพลังไปมาก
สรุปว่าความเศร้ามีอยู่ในระดับกายภาพ เพราะว่าการรู้สึกได้ในระดับกายสัมผัสที่ว่า “ทุกคนต้องตาย” มันยากเสียเหลือเกิน และในไม่ช้าความทุกข์ทางใจก็เกิดขึ้นตามมา มันเป็นธรรมชาติเช่นนั้นเอง เรายังไม่ได้บรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังไม่หมดสิ้นซึ่งกิเลส ยังไม่เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ยังไม่อาจกำจัดอารมณ์ที่ทำให้จิตขุ่นมัวหรือความทุกข์หมดลงไปได้ แต่ขอให้เราก็ตั้งจิตอธิษฐานในเป้าหมายนั้น
สรุป
เมื่อเรารู้แล้วว่าอิสรภาพและการตรัสรู้คืออะไร เราก็ตั้งจิตอธิษฐานถึงเป้าหมายนั้นไว้ แล้วก็ฝึกปฏิบัติในสิ่งที่เราต้องการ ไปแต่ละขั้นจนถึงเส้นชัย 4 ข้อนี้มีประโยชน์ ช่วยให้เกิดความมั่นใจในสิ่งที่กำลังทำ
เมื่อเราภาวนาถึงความตาย และเข้าใจอย่างแท้จริงว่าเราก็กำลังก้าวเข้าสู่ความตาย แม้ว่ายังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่ก็ทำให้เรารู้ว่าอะไรที่สำคัญจริงๆในชีวิต ตายก่อนตายช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในอย่างมาก ไม่ประมาทเกียจคร้าน หรือเกิดความเครียดวิตกกังวลใดๆ