การฟังหลักธรรมคำสอน

ผลของการเจริญสติ

การเจริญสติเป็นวิธีการประเภทหนึ่งสำหรับเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงชีวิตเราให้ดีขึ้น  อย่างไรล่ะ  คือชีวิตของเราได้รับผลกระทบจากบุคลิกภาพและอารมณ์ของเรา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้ชีวิตและสถานการณ์ทางการเงินของเรา ผู้คนที่เราคบหา และอื่น ๆ  หากเราได้ประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตมาบ้างแล้ว เราจะรู้ว่าแม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งภายนอก อย่างการงาน ความร่ำรวย เพื่อนฝูง หากทัศนคติและสภาวะทางจิตเราคงอยู่เช่นเดิม เราย่อมรู้สึกไม่มั่นคงได้  ไม่ว่าเราจะร่ำรวยมากแค่ไหน เรายังคงรู้สึกโกรธและอารมณ์เสียอยู่นั่นเอง  สิ่งเหล่านี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปเพียงเพราะการเปลี่ยนสถานการณ์ภายนอกของเรา

การเจริญสติช่วยเรื่องนี้ได้ เพราะการนำพาความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงมาสู่คุณภาพชีวิตต้องอาศัยการฝึกฝนจิตของเรา  ตรงนี้ไม่ได้หมายถึงคุณสมบัติของความชาญฉลาด หรือการพัฒนาการเพ่งสมาธิและเอาชนะความขี้เกียจให้ได้  สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เราพึงปฏิบัติ แต่เราจำเป็นต้องพิจารณาสถานการณ์ด้านอารมณ์ของเราให้ลึกลงไปอีก กล่าวคือ ความไม่มั่นคงอันเป็นรากฐานและความสับสนเกี่ยวกับชีวิต

การเจริญสมาธิในบริบทของพระพุทธศาสนา

ในปัจจุบัน เราสามารถพบการเจริญสมาธิได้ในระบบความเชื่อที่หลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น  ในบริบททางพระพุทธศาสนา การเจริญสมาธิมีความหมายของการทำสภาวะเชิงบวกของจิตให้เป็นจริง ผ่านวิธีการทำย้ำซ้ำทวน  วิธีการนี้เปรียบเหมือนการฝึกของนักกีฬา หรือการเรียนเครื่องดนตรี ที่เราต้องย้ำทวนสิ่งนั้นซ้ำไปซ้ำมา  ทว่าในการเจริญสมาธินั้น เรากำลังทำให้ตัวเองคุ้นเคยกับสภาวะเชิงบวกของจิตโดยการสร้างสภาวะนั้นขึ้นมา  ในช่วงแรกย่อมรู้สึกฝืนและไม่เป็นธรรมชาติ แต่เมื่อผ่านไปสักพัก เราจะรู้สึกคุ้นเคยกับสภาวะของจิตเช่นนี้จนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราโดยธรรมชาติ

เพียงเพราะว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งถูกสร้างขึ้นในลักษณะนี้ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องไม่เหมาะสมแต่อย่างใด  หากเรากำลังพยายามสร้างสภาวะทางจิตรูปแบบใหม่ขึ้น เราไม่ควรคิดว่ามันเป็นเรื่องผิดธรรมชาติ  หลายคนคิดว่าการเป็นอย่างที่เราเป็นโดยธรรมชาติเป็นเรื่องดีที่สุด โดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงตนเองเลย  แต่หากเราคงอยู่ในสภาวะธรรมชาติจริง ๆ เราก็คงจะต้องปล่อยของเสียให้ราดกางเกงตัวเอง  แต่เราฝึกฝนวิธีการต่าง ๆ นานาเพื่อปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้น  เราสามารถและพึงทำเช่นเดียวกันกับจิตของเรา

เราไม่อาจใช้ข้อโต้แย้งที่ว่า เราควรเป็นธรรมชาติ แล้วทุกอย่างจะดีเอง เพราะว่าการเป็นอยู่อย่างธรรมชาติไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเสมอไป  หากเด็กร้องไห้และผมเกิดอารมณ์เสียขึ้นมา แล้วรู้สึกโดยธรรมชาติว่าอยากตีเด็กคนนั้นให้หุบปากเสีย  อย่างนั้นก็ไม่เข้าข่ายเรื่องที่ดีเลย ใช่ไหมครับ  เรารู้ว่านั่นไม่ใช่วิธีการกระทำที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าการตีเด็กคนนั้นอาจเป็นความคิดแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวตามธรรมชาติ เมื่อเด็กคนนั้นแหกปากร้องขึ้นมากลางดึก

ดังนั้นเราจึงมีการเจริญสมาธิ ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา  บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการศึกษาและการเจริญสมาธิเป็นสองสิ่งที่แยกออกจากกัน ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

สร้างอุปนิสัยเชิงประโยชน์

ในการสร้างอุปนิสัยเชิงประโยชน์ขึ้นมา เราจำเป็นต้องศึกษาก่อนว่าอุปนิสัยเหล่านี้คืออะไรบ้าง แต่การศึกษาตรงนี้ไม่ได้จบและสิ้นสุดในตัว  เราต้องผสมผสานและทำให้อุปนิสัยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา อันเป็นสิ่งที่การเจริญสมาธิก่อให้เกิดขึ้น  เปรียบเหมือนหากเราไม่นำสิ่งสิ่งหนึ่งเข้าไปในปากและเคี้ยวก่อน เราก็ไม่สามารถย่อยมันได้  หากเราไม่น้อมรับหลักคำสอนเข้าสู่จิตและพิจารณาหลักคำสอนเหล่านั้น ย่อมไม่มีทางซึมซับหลักคำสอนผ่านการเจริญสมาธิได้  และก็เหมือนกับอาหารที่ป่วยการจะเคี้ยวและคายออก  เราต้องกลืนและย่อยอาหารเพื่อรับประโยชน์จากมัน

เราจะเริ่มต้นฝึกเจริญสมาธิได้อย่างไร  ตามที่เราได้เห็นแล้ว การเจริญสมาธิเป็นขั้นที่สามของกระบวนการสามขั้นตอน  โครงสร้างประเภทนี้สามารถพบได้ในระบบความเชื่อทางอินเดียทั้งหมด เช่น ในคัมภีร์อุปนิษัทของนิกายฮินดู  หลายคนดูไม่ชื่นชมกับการที่วิธีส่วนใหญ่ที่เราปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้นสอดคล้องกับนิกายอื่น ๆ ของอินเดีย  ทว่าถึงวิธีการอาจคล้ายคลึงกัน สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ในบริบทของพระพุทธศาสนาคือ เป้าหมาย ความเข้าใจในเรื่องความเป็นจริง และแรงจูงใจของผู้ปฏิบัติ

ขั้นตอนทั้งสามประการคือ การฟัง การคิด หรือการไตร่ตรอง จากนั้นคือการเจริญสมาธิ  หากเราฝึกการเจริญสมาธิในบริบทของพระพุทธศาสนา เราพึงใช้ขั้นนี้ในการย่อยหลักธรรมคำสอน

การฟังหลักธรรมคำสอน

ทำไมเราจึงเรียกขั้นแรกว่า “การฟัง”  ก่อนอื่น ในยุคของพระพุทธองค์ไม่มีการจดบันทึกหลักคำสอนเหล่านี้เป็นรายลักษณ์อักษร  ดังนั้นทางเดียวที่คุณจะสามารถเรียนรู้หลักคำสอนเหล่านี้ได้ก็คือการฟังผู้อื่นท่องและอธิบายหลักคำสอนที่พวกเขาได้จดจำมา  ในปัจจุบันเราสามารถอ่านหลักคำสอนทั้งหมดได้ แล้วยังมีประโยชน์ในการฟังหลักคำสอนอีกหรือไม่  ประโยชน์ก็คือ การฟังให้โอกาสเราโดยตรงในการสัมผัสกับอาจารย์ที่มีชีวิตอยู่ ผู้ซึ่งมีปรารถนาให้นักเรียนเข้าใจ  พวกเขาสามารถอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้หลากหลายวิธี และหากคุณมีคำถาม ก็สามารถถามอาจารย์ได้ ซึ่งต่างจากหนังสือ

ข้อเสียของการฟังคือ หากคุณเสียสมาธิ คุณไม่สามารถพลิกข้ามหน้า หรือย้อนกลับมาดูได้  หากคุณเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ ก็เป็นเรื่องน่าละอายที่จะขอให้อาจารย์ย้อนกลับไปพูดเรื่องเดิมอีกครั้ง เพราะคุณไม่ได้ฟัง  คุณอาจจะนั่งอยู่ด้านหลังและได้ยินไม่ชัดเจน  ห้องนั้นอาจจะร้อนอบอ้าวมาก จนคุณรู้สึกง่วง  เช่นนี้คือข้อเสีย  แต่ตรงนี้หมายความว่าคุณพึงอาศัยความพยายามมากขึ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา  การฟังและการปฏิบัติพระพุทธศาสนาจึงไม่ใช่วิธีการเชิงรับอย่างแน่นอน

อันที่จริง แนวทางสำหรับอาจารย์คือ คุณไม่ควรทำให้เป็นเรื่องง่ายเกินไปสำหรับนักเรียน คุณไม่ควรอธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งมากนักในครั้งแรก  สำหรับบางคนอย่างผม นี่เป็นเรื่องยาก เพราะผมชอบความชัดเจนแจ่มแจ้ง  หากผมปฏิบัติตามคำแนะแนวของพระอาจารย์ของผม ท่านเซอร์กง รินโปเช ผู้คอยสอนสั่งวิธีการสอนให้ผมอยู่เสมอในขณะที่ผมเป็นล่ามให้ท่าน  ท่านกล่าวว่า “อย่าอธิบายให้ชัดในตอนแรก เพราะสิ่งที่โยมต้องการคือแยกผู้ที่มีความสนใจจริงออกจากผู้ที่มาเพื่อเหตุผลอื่น  ผู้ที่สนใจจะถามเพิ่มเติม และเป็นเรื่องสำคัญที่นักเรียนต้องสร้างความปรารถนาอันแรงกล้าของตนเองในการเรียนรู้เพิ่มเติม”

ในฐานะนักเรียน หากคุณบ่นว่าอาจารย์ผู้นี้ไม่ชัดเจน คุณเลยไม่อยากกลับไปเรียนอีก คุณจำเป็นต้องพิจารณาคุณสมบัติของอาจารย์ผู้นี้  อาจารย์ผู้นี้ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ จึงไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนใช่หรือไม่  อาจารย์ประเภทนี้มีอยู่ถมไป  หรือว่าอาจารย์ผู้นี้ตั้งใจไม่ให้รายละเอียดทั้งหมด เพื่อกระตุ้นให้คุณสร้างความอุตสาหะและความอดทน  การฟังทั้งหมดนี้มุ่งเน้นไปยังขั้นตอนที่สอง นั่นก็คือการคิดพิจารณาหลักคำสอน  การที่อาจารย์ไม่ให้คำตอบทั้งหมดในทันทีก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่ามาก เพราะทำให้คุณได้คิดก่อน ซึ่งจะช่วยสร้างคุณสมบัติในการพิจารณาหลักคำสอนด้วยตนเอง

พิจารณาหลักคำสอน

เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องพิจารณาหลักคำสอนและดูว่ามันสมเหตุสมผลสำหรับคุณหรือไม่ ดูว่าคุณคิดอย่างไรกับหลักคำสอนนั้น และขอรับความคิดเห็นเกี่ยวกับความคิดของคุณ  ตรงนี้ทำได้ยากในการเรียนเป็นกลุ่มใหญ่และยากเป็นพิเศษเมื่อคุณพบอาจารย์แค่ปีละครั้ง  ตรงนี้ผมพูดถึงสิ่งที่เป็นอุดมคติอยู่  ในศูนย์ธรรมะหลายแห่งที่ไม่มีอาจารย์ประจำอยู่ตลอด คุณต้องพึ่งพาการอ่านและฟังการบันทึกเสียงต่าง ๆ ซึ่งทำให้คุณเรียนรู้ได้มากทีเดียว  เราทำเช่นนี้โดยไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นนิยาย หรือเป็นสิ่งที่คุณนั่งอ่านยามเข้าส้วม หากแต่คุณอ่านด้วยสภาวะจิตเชิงเคารพ  เราค่อย ๆ เรียนผ่านสิ่งเหล่านี้และคิดถึงแต่ละประเด็น  หากคุณอยู่ในศูนย์ โดยไม่มีอาจารย์ คุณก็ยังสามารถอ่านและอภิปรายประเด็นต่าง ๆ ร่วมกันได้  บางคนอาจมีความเข้าใจมากกว่าและสามารถอธิบายเชิงลึกให้ผู้อื่นได้  หากเราเป็นประเภทที่เรียกว่า “ผู้ปฏิบัติไร้บ้าน” ซึ่งหมายถึงผู้ปฏิบัติที่ไม่ไปศูนย์ธรรมะใด ๆ หรือไม่รู้สึกผ่อนคลายกับศูนย์ใกล้ ๆ ที่อยู่อาศัย อาจได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มอภิปรายพระพุทธศาสนาออนไลน์ หากพบกลุ่มที่เหมาะกับตนเอง

การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างมาก มิฉะนั้นการเรียนรู้หลักคำสอนอาจเน้นเรื่องความชาญฉลาดอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตจริง  แน่นอนว่าเราต้องใส่ใจกับหลักคำสอนอย่างจริงจัง แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องนั่งตัวแข็งทื่อและไม่ปริยิ้มอีกเลย หากแต่หมายความว่าเราพูดคุยเรื่องธรรมะให้ถึงแก่นลึก และเราสามารถหัวเราะเมื่อมีใครพูดจาตลก ๆ หรือทำผิดพลาดใด ๆ

สำหรับชาวตะวันตกบางคน นี่เป็นเรื่องที่ยากมาก คือทั้งผ่อนคลายและจริงจังมากในเวลาเดียวกัน  จุดนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคุณได้ผสมผสานหลักคำสอนเข้ากับชีวิตคุณอย่างไร  สุดท้ายแล้ว หนึ่งในจุดประสงค์ขั้นพื้นฐานของหลักคำสอนคือ การทำให้คุณมีความสุขมากขึ้น  หากเราทำตัวเป็นทางการอย่างเคร่งครัดราวกับอยู่ในกองทัพ นั่นย่อมไม่ใช่สภาวะทางจิตที่เป็นสุข  เรากลัวว่าเราจะไม่สมบูรณ์แบบและเราจะทำพลาดแล้วโดนลงโทษ หรืออะไรก็ตาม  นั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนาหรอก!

แจกันคว่ำ แจกันสกปรก แจกันร้าว

งั้นเรากลับไปเรื่องการฟัง  เรามีคำแนะนำเรื่องวิธีการฟังหลักคำสอน โดยอิงจากการไม่เอาอย่างแจกัน  ก่อนอื่น เราต้องไม่เอาอย่างแจกันคว่ำ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ย่อมไม่มีสิ่งใดผ่านเข้าไปได้  เราต้องมีใจเปิดกว้าง  เราไม่ควรเอาอย่างแจกันที่มีรอยร้าว ที่เมื่อทุกอย่างเข้าไปแล้วก็ซึมออกมาทันที  สุดท้ายเราไม่ควรเอาอย่างแจกันสกปรก ที่ความคิดมากมายอยู่ก่อนแล้วจนทำให้หลักคำสอนสับสนปนเปกันไปหมด

เวลาที่คุณฟังเทศนา คุณต้องพยายามหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบกับหลักความเชื่ออื่น  คุณอาจคิดว่า “เอ ศาสนาฮินดูกล่าวไว้แบบนี้ ลัทธิเต๋ากล่าวไว้แบบนั้น”  พระอาจารย์รูปหนึ่งของผมเคยกล่าวไว้ว่า “หากโยมพยายามเปรียบเทียบสองสิ่ง โยมจะไม่เข้าใจสิ่งไหนอย่างแท้จริงเลย มันจะดูไม่สมเหตุสมผล โยมจะติดอยู่อยู่ในความสับสน”  หากคุณมีความเข้าใจระบบความเชื่อทั้งสองอย่างโดยละเอียดถ่องแท้ คุณก็สามารถทำการเปรียบเทียบอย่างมีประโยชน์ได้  อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ความคิดแรกที่คุณควรสลัดออกคือ “มันเป็นอย่างนั้นหรืออย่างนี้นะ” และตั้งใจฟังหลักคำสอนนั้นเอง  มิฉะนั้นคุณจะผสมความคิดที่มีอยู่ก่อนแล้วเข้าด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ผิด แต่ยังไม่เกี่ยวข้องกันอีกด้วย

คำแนะนำที่ว่าอย่าเป็นอย่างแจกันที่มีรอยร้าวกล่าวถึงการที่เราไม่สามารถระลึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปแล้ว  หลายคนพบว่าการจดบันทึกมีประโยชน์มาก แต่เมื่อจดแล้วก็ต้องเอาโน้ตพวกนี้กลับมาดูในภายหลังด้วยจึงจะดี  ในกรณีใดก็ตาม นอกเสียจากว่าเราจะมีความจำที่ยอดเยี่ยมจริง ๆ การจดประเด็นสำคัญจึงเป็นความคิดที่ดี

การพิจารณาจิตวิทยาในตะวันตกเป็นเรื่องน่าสนใจทีเดียว  นอกเสียจากว่าเราจะต้องสอบ เรามักไม่พยายามเรียนรู้สิ่งใดเลย  เราเรียนรู้เพื่อให้สอบผ่าน และหากเราโกงได้ ทำไมเราจะไม่ทำเล่า  ความคิดแบบนี้ใช้ไม่ได้ในบริบทนี้  ไม่มีการสอบ หรือเกรดดี ๆ หรือการยอมรับจากอาจารย์แต่อย่างใด  ประเด็นทั้งหมดอยู่ที่ความพยายามในการปรับปรุงตนเอง และทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้นั้น หากเรามีความเชื่อมั่นในตัวพระองค์จริง ก็เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น  ไม่มีการแข่งขันกับผู้อื่น เราเพียงคิดถึงหลักคำสอนเองเท่านั้น  เราไม่คิดว่า “คนผู้นั้นมีความโกรธ ฉันไม่มี”  กระจกแห่งธรรมพึงหันเข้าสู่ตัวคุณเอง ไม่ใช่หันสู่ด้านนอก

อุปมานกับการแพทย์

คำแนะแนวอีกประการสำหรับวิธีการฟังหลักธรรมคำสอนคือ การพิจารณาว่าตนเองเป็นคนป่วย พิจารณาพระพุทธเจ้าและอาจารย์ว่าเป็นแพทย์ และคำสอนของพระพุทธองค์เป็นยา  นอกจากนี้เรายังสามารถมองผู้คนที่มีความตระหนักรู้สูงว่าเป็นพยาบาลผู้ช่วยเหลือเราได้  หากกล่าวด้วยคำที่ง่ายขึ้นไปอีกคือ เราก้าวเข้ามาในการปฏิบัติพระพุทธศาสนาด้วยการตระหนักว่า “ฉันมีปัญหา”  เรามีอาการป่วย ซึ่งอาจเป็นความเห็นแก่ตัว หรือความโกรธ หรืออะไรก็ตามที และเราต้องการได้รับการรักษาจากอาการเหล่านี้  พระพุทธเจ้าทรงเป็นแพทย์สูงสุดและฉันจะไปรับยาอัศจรรย์นี้ ไม่ใช่แค่เพื่อลืมมัน แต่ฉันจะทานยานี้ตามขั้นตอนด้วย  ฉันจะพยายามไม่ให้ขาดสักวันเลย และฉันจะไม่ทานยานี้หมดขวดภายในครั้งเดียวแน่  การปฏิบัติพระพุทธศาสนาก็คล้ายกับการทานยาปฏิชีวนะอยู่เหมือนกัน!  คุณต้องทานมันตามเวลาเฉพาะ ตามปริมาณที่กำหนด  หากคุณหยุดทานระหว่างทาง หรือหากคุณไม่ทานติดต่อกัน ย่อมไม่ได้ประโยชน์มากนัก  นี่เป็นคำแนะแนวประการหนึ่งเรื่องการมองพระพุทธศาสนาให้เหมือนสถานการณ์ทางการแพทย์

คำแนะแนวอีกอย่างหนึ่งคือ เมื่อเราฟังเทศน์ ให้จินตนาการว่าเราอยู่ในดินแดนบริสุทธิ์ที่มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นอาจารย์ และเรากำลังฟังการเทศนาอันบริสุทธิ์อยู่  ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่า เราต้องมองว่าอาจารย์เป็นพระพุทธเจ้าเสมอไป หากแต่เราต้องมีความเคารพต่ออาจารย์และตัวเราและหลักคำสอน  เรากำลังทำเรื่องที่จริงจัง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องนั่งหน้าเศร้า แต่เราสามารถมองข้ามห้องที่ร้อนอบอ้าวและให้ความสนใจกับสิ่งที่เรากำลังเรียนพร้อมใจที่เปิดกว้าง

เปิดใจให้กว้าง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า เราพึงพิจารณาหลักคำสอนราวกับว่าเรากำลังซื้อทองคำ  เราไม่ควรเชื่อสิ่งใดเพียงเพราะเรามีศรัทธาในตัวท่าน  การทำเช่นนี้หมายความว่าเราต้องมีใจเปิดกว้าง รวมถึงข้อสันนิษฐานว่าพระพุทธองค์ย่อมไม่ทรงสอนสิ่งโง่เขลาเพื่อความสนุกสนาน  เมื่อมีใจเช่นนี้แล้ว เราจึงสามารถพิจารณาถึงความหมายของหลักคำสอนได้  จากนั้นเราจึงสามารถนำสิ่งที่เราพบว่าเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ไปใช้  ผมจะยกตัวอย่างข้อสันนิษฐานเรื่องชีวิตชาติก่อนและชาติหน้า

ผมเติบโตมาในแบบตะวันตกทั่วไปและตอนที่เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา ผมไม่มีความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่แม้แต่น้อย ความเชื่อนี้เป็นเรื่องประหลาดสำหรับความคิดของคนส่วนใหญ่ในโลกตะวันตก  หากพวกเขาคิดถึงชีวิตหลังความตาย คงหนีไม่พ้นเรื่องสวรรค์และนรกในแบบคริสต์ศาสนา  แต่แล้วการคิดถึงทุกคนว่าเคยเป็นมารดาในชาติก่อนของเราก็อยู่ในหลักคำสอนทั้งหมด คุณจึงไม่สามารถปฏิเสธข้อนี้ได้

วิธีที่ผมทำความเข้าใจเรื่องนี้ในช่วงแรกคือคิดว่า “เอาล่ะ ผมจะสันนิษฐานว่าความคิดเรื่องการเกิดใหม่เป็นเรื่องที่ถูกต้องก็แล้วกัน ถึงแม้ว่าตอนนี้ผมจะยังไม่เข้าใจก็ตามที  ผมจะไม่สร้างข้ออ้าง หรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับเรื่องนี้ แต่จะใช้เวลาค่อย ๆ พยายามเข้าใจมัน”  เมื่อเวลาผ่านไป ผมถึงได้เห็นว่าทุกสรรพสิ่งที่ตั้งอยู่บนรากฐานของการเกิดใหม่เป็นประโยชน์และถูกต้องจริง ๆ  ดังนั้นความคิดเรื่องการเกิดใหม่อาจจะเป็นเรื่องจริงก็ได้

ในภายหลังคุณย่อมตระหนักได้ว่า เมื่อคุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ากล่าวถึงสิ่งใดที่เกิดใหม่ คุณย่อมไม่สามารถเข้าใจการเกิดใหม่ได้  คุณต้องลงรายละเอียดให้ลึกลงไปอีก และจากตรงนั้นเรื่องภูมินรกและภูติผีและอื่น ๆ จึงเริ่มเป็นที่เข้าใจได้  และหากเราไม่เข้าใจธรรมชาติของจิต ทั้งหมดนี้ย่อมดูไม่มีเหตุผลเลย  จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องไม่ปฏิเสธหลักคำสอนส่วนใดในทันที เพียงเพราะว่าเราไม่เข้าใจ หรือว่ามันดูแปลกประหลาดเกินไป  เช่นนี้คือการเปิดใจให้กว้างและมีความตระหนักรู้แยกแยะให้ได้ว่า “ใช่ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน  พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการเกิดใหม่  ขอโทษทีนะ ฉันอาจจะไม่ชอบเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง และฉันจะต้องจัดการกับเรื่องนี้ หากต้องการเข้าใจพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้งขึ้น”

บทสรุป

คำแนะนำที่เราพบในคัมภีร์พระพุทธศาสนาไม่เพียงแต่มีประโยชน์ยามศึกษาพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่สำหรับชีวิตประจำวันของเราด้วย  การเป็นแจกันสกปรกหรือแจกันร้าวไม่เคยเป็นเรื่องดี!  การนำพระพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตของเราเป็นกระบวนการเชิงรุก ซึ่งเริ่มต้นด้วยการฟัง  เมื่อเราได้ทำเช่นนี้แล้ว เราจึงสามารถพินิจพิจารณาหลักคำสอนได้ เปรียบเหมือนการจะซื้อแหวนเพชรสักวง โดยต้องเปิดใจให้กว้างสำหรับหัวข้อที่เราอาจยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้

Top