การทำสมาธิเป็นสิ่งที่พบได้ในหลายประเพณีไม่ใช่เฉพาะแต่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ในขณะที่การทำสมาธิหลากหลายลักษณะพบได้ในประเพณีของอินเดียทั้งหมด ณที่นี้ เราควรต้องจำกัดการสนทนาของเราไว้ที่การทำสมาธิที่นำเสนอไว้ในทางพระพุทธศาสนา
การทำสมาธิคืออะไร
คำว่า "การทำสมาธิ" หมายถึง การทำให้ตัวเราเองเคยชินเป็นนิสัย ในภาษาทิเบตคือคำว่า “กอม (gom หรือ sgom)” ซึ่งมีความหมายว่า การสร้างนิสัยที่เป็นประโยชน์ ต้นฉบับในภาษาสันสกฤตคือคำว่า “ภาวนา” ซึ่งมีความหมายแฝงว่าเป็นการทำบางสิ่งบางอย่างให้เกิดขึ้นจริง เรามีสภาวะจิตใจหรือทัศนคติที่เป็นประโยชน์ประเภทหนึ่ง และเราต้องการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทำให้สภาวะจิตใจนั้นดำเนินไปตามวิธีการคิดและการใช้ชีวิตของเรา ข้อแนะนำในการปฏิบัติจะระบุว่านิสัยที่เป็นประโยชน์นั้นคืออะไร และอะไรคือเหตุผล และเป้าหมายในการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประเพณีที่ใช้ในการทำสมาธิ อย่างไรก็ตาม ตามประเพณีของอินเดียทั้งหมดนั้น กระบวนการนั้นจะประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรกคือ การได้ยินหรือการฟัง จากนั้นคือการคิด และต่อจากนั้นจึงจะเป็นการทำสมาธิ
การฟังคำสอน
สมมติว่าเราต้องการสร้างนิสัยที่เป็นประโยชน์ของการเป็นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจ ในการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ หรือเพิ่มความรู้สึกเห็นอกเห็นใจที่มีอยู่นั้น อันดับแรก เราต้องฟังคำสอนบางอย่างในหัวข้อนี้เสียก่อน ในสมัยโบราณอินเดียไม่มีการเขียนคำสอนไว้ คำสอนเหล่านี้ทั้งหมดได้รับการเล่าจากปากต่อปาก ด้วยเหตุนี้ คนที่เรียนรู้การทำสมาธิจึงต้องได้ยินคำสอนก่อน และนี่คือเหตุผลที่เราเรียกขั้นตอนแรกว่า "การฟัง”
แน่นอนว่าทุกวันนี้ เราสามารถอ่านเกี่ยวกับคำสอนต่าง ๆ ได้ เราไม่จำเป็นต้องได้ยินใครบอกคำสอนเหล่านั้นให้เราฟังด้วยตัวเอง แต่หลักการที่อยู่เบื้องหลังของสิ่งนี้นั้นค่อนข้างมีความสำคัญ ในสมัยโบราณทุกอย่างต้องท่องจำ และผู้ฟังต้องแน่ใจว่าสิ่งที่ใครบางคนกำลังท่องอยู่นั้นถูกต้อง คนที่ท่องคำสอนจากความจำอาจจำได้ไม่ถูกต้อง และอาจเกิดข้อผิดพลาดบางอย่างขึ้นได้ และนี่น่าจะเป็นปัญหาที่แท้จริง
การรับรู้ที่แยกแยะ
ดังนั้นเมื่อฟังคำสอน จำเป็นต้องพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “การรับรู้ที่แยกแยะที่เกิดขึ้นจากการฟัง” ภาษาทิเบตคือคำว่า “เชอราบ (shes-rab สันสกฤตคือ prajna)” มักจะถูกแปลว่า “ปัญญา” แต่การใช้คำว่า “ปัญญา” นั้นคลุมเครือเกินไป มันไม่มีความหมายที่ชัดเจน หากคนกลุ่มหนึ่งได้ยินคำว่า “ปัญญา” แต่ละคนจะมีความคิดในเรื่องความหมายที่แท้จริงของมันแตกต่างกันไป ดังนั้น คำว่า "ปัญญา" ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจคำว่า “เชอราบ” ได้อย่างถูกต้องมากนัก นั่นคือเหตุผลที่ผมแปลคำว่า “เชอราบ” คือ "การรับรู้ที่แยกแยะ"
การรับรู้ที่แยกแยะขึ้นอยู่กับปัจจัยของจิตที่มีอยู่เดิม ซึ่งผมแปลว่า "การจำแนก" คนส่วนใหญ่มักจะแปลคำนี้ว่า "การจำได้" แต่ "การจำได้" ก็ยังไม่ถูกต้องเช่นกัน “จำได้” หมายความว่า คุณเคยรู้จักวัตถุสิ่งของนั้นมาก่อนแล้วจึงจำมันได้อีกครั้ง นี่มันไม่ถูกต้องนัก “จำแนก” หมายถึง การระบุบางสิ่งบางอย่างว่าเป็น “สิ่งนี้” โดยการจำแนกความแตกต่างของมันออกจากทุกสิ่งที่ “ไม่ใช่สิ่งนี้” เราสามารถจำแนก “สิ่งนี้” ออกจาก “ไม่ใช่สิ่งนี้” หรือ “สิ่งนี้” จาก “สิ่งนั้น” ได้ เพราะทุกอย่างมีคุณลักษณะเฉพาะของมัน หรือเครื่องหมายที่กำหนดไว้ทำให้เราจำได้เมื่อเรารับรู้ถึงบางสิ่งบางอย่าง ตัวอย่างง่าย ๆ คือ เด็กทารกสามารถจำแนกความแตกต่างระหว่าง "หิว" และ "ไม่หิว" ได้ พวกเขาไม่ต้องการคำพูดสำหรับความรู้สึกทางร่างกายที่แตกต่างกันทั้งสองคำนี้ และพวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องเข้าใจแนวคิดเรื่อง "หิว" และ "ไม่หิว" อย่างลึกซึ้งมาก อย่างไรก็ตาม เด็กทารกสามารถจำแนกความแตกต่างระหว่างทั้งสองอย่างได้ เพราะแต่ละอย่างนั้นมีคุณลักษณะเด่นที่กำหนดไว้เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะ คือประเภทของความรู้สึกทางกายภาพที่เฉพาะเจาะจง
การรับรู้ที่แยกแยะจะเพิ่มความแน่นอนในการจำแนกว่า “มันเป็นสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งนั้นอย่างแน่นอน” ความแน่นอนนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการเมื่อเราฟังคำสอนหรืออ่านเกี่ยวกับคำสอนเหล่านั้น เราต้องการความมั่นใจที่จะรู้ว่า “นี่คือคำสอนที่แท้จริง ไม่ใช่คำสอนที่ผิด” จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะรู้ว่า "นี่คือคำสอนที่แท้จริง" เพราะพระคัมภีร์ต่าง ๆ ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะสามารถเข้าใจได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง โดยปกติ เราต้องอาศัยหนังสือหรืออาจารย์ที่จะอธิบายคำสอนต่าง ๆ เหล่านั้น แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า อาจารย์คนไหนที่เป็นอาจารย์ที่เชื่อถือได้และเป็นอาจารย์จริง บางคนอาจสอนเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา หรือสอนเกี่ยวกับความรัก และความเห็นอกเห็นใจ และบางทีพวกเขาเหล่านั้นกำลังให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกับสิ่งที่พระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้จริง ๆ ก็ได้ โดยใช้การรับรู้ที่แยกแยะ เราต้องแน่ใจอย่างมากว่า คำสอนที่เราได้ยินหรือได้อ่านนั้นตรงตามที่ควรจะเป็น เราจำเป็นต้องให้แน่ใจว่ามันเป็นคำสอนที่แท้จริง
มีปัจจัยบางอย่างที่จำเป็นต้องมีสำหรับการสอนอย่างถูกต้องและมีเหตุผลทางพระพุทธศาสนา ผู้เขียนหรือผู้ที่ให้ความรู้ต้องเป็นคนที่เราสามารถตัดสินใจได้ว่าเป็นครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมโดยผ่านการตรวจสอบ ในการตัดสินใจเรื่องนี้ เราจำเป็นต้องถามบุคคลอื่น เช่น “คน ๆ นี้มีอาจารย์อย่างถูกต้องของตนเองหรือไม่ และความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้เป็นอย่างไร อาจารย์ของคน ๆ นี้มาจากเชื้อสายของอาจารย์ที่ถูกต้องในสมัยก่อนหรือไม่” คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่สำคัญที่ต้องตรวจสอบหาความจริง เราไม่ควรที่จะแค่เลือกหนังสือมาโดยการสุ่มอย่างไม่มีแบบแผน เพียงเพราะคนที่เขียนมีชื่อเสียงโด่งดัง และคิดว่าเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ หลักการเดียวกันนี้ก็ใช้ได้เช่นกันเมื่อกำลังฟังการบรรยายของใครบางคน
การใช้การแยกแยะเพื่อค้นหาบริบทของคำสอน
นอกจากนี้ ยังมีบริบทสำหรับคำสอนทางพระพุทธศาสนาแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นประเพณีปรัชญาที่ได้รับคำสอนเหล่านั้นมา มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องรู้ว่า บริบทสำหรับคำสอนที่เฉพาะเจาะจงคืออะไร เหตุผลก็คือ ระบบต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนามีคำอธิบายที่แตกต่างกันไปสำหรับศัพท์ทางเทคนิคเดียวกัน เช่นคำว่า “กรรม” ยิ่งไปกว่านั้น คำสอนเหล่านี้ที่เกี่ยวกับกรรมในระบบหนึ่งนั้นเข้ากันได้กับคำอธิบายต่าง ๆ ที่ระบบนั้นได้ให้ไว้เกี่ยวกับหัวข้ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในธรรมะ ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีการรู้ เราจำเป็นต้องแน่ใจว่า คำสอนนั้นมาจากระบบใด เพื่อที่เราจะสามารถนำไปรวมให้เข้ากันได้อย่างเหมาะสมกับคำสอนอื่น ๆ ที่เราได้ยินมา
การรู้บริบทของคำที่ใช้เป็นสิ่งสำคัญแม้แต่ในการสนทนาทั่วไป ตัวอย่างเช่น คุณได้ยินคำว่า “บน” (bon) ซึ่งในภาษาทิเบตเป็นชื่อของประเพณีก่อนพุทธศาสนา แต่ในภาษาฝรั่งเศส “บน” แปลว่า “ดี” ดังนั้นหากคุณไม่ได้ตระหนักรู้ถึงบริบททางภาษา คุณอาจสับสนได้หากคุณได้ยินคำว่า “บน” คนที่กำลังพูดถึงคำนี้ในบริบททางภาษาฝรั่งเศส หรือบริบททางภาษาทิเบต ดังนั้น การอาศัยเพียงเสียงของคำโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไรอาจทำให้คุณเข้าใจผิดได้
การรู้ถึงบริบทมีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อต้องรับมือกับศัพท์เฉพาะทางพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น คุณอาจกำลังเรียนรู้เกี่ยวกับความว่างเปล่า (voidness หรือ emptiness) ซึ่งมีการอธิบายแบบหนึ่งในประเพณีพุทธศาสนาของอินเดียแห่งหนึ่ง และอีกแบบหนึ่งที่ต่างกันไปในประเพณีอีกแห่งหนึ่ง หรือแม้แต่ภายในประเพณีสอนปรัชญาทางพุทธศาสนาแห่งหนึ่งในอินเดีย ความว่างเปล่าก็ถูกตีความแตกต่างกันไปโดยประเพณีพุทธศาสนาในทิเบตแต่ละนิกาย
ข้อเท็จจริงที่ว่า การมีคำอธิบายต่าง ๆ มากมายในหัวข้อเดียวกันนั้นเป็นแง่มุมหนึ่งที่สับสนที่สุดสำหรับชาวตะวันตกที่กำลังศึกษาพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันน่าสับสนพอสมควรในยุคปัจจุบันที่มีอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราสามารถเข้าถึงข้อมูลประเพณีทางพุทธศาสนาในเอเชียที่แตกต่างกันได้ทั้งหมด หรือแม้กระทั่งประเพณีทางพุทธศาสนาของประเทศหนึ่ง ตัวอย่างเช่นในทิเบตก็มีหลายรูปแบบและการตีความที่แตกต่างกันมากมาย
ผมขออธิบายจุดนั้นให้ชัดเจนขึ้น สมมติว่าเรากำลังศึกษาคำอธิบายโดยละเอียดเกี่ยวกับกรรมกับอาจารย์คนหนึ่งอยู่ เพื่อไม่ให้สับสนเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังเรียนรู้อยู่นั้น เราจำเป็นต้องแยกคำอธิบายนั้นออกจากคำอธิบายที่พบในระบบอื่น ๆ ทั้งหมดยกเว้นแต่จากสิ่งที่อาจารย์กำลังอธิบายให้เราฟัง ตัวอย่างเช่น เราจำเป็นจะต้องรู้ว่าเรากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับการตีความทางพุทธศาสนาไม่ใช่แบบฮินดู และจากคำอธิบายทางพุทธศาสนา เรากำลังศึกษาคำอธิบายจากประเพณีสันสกฤตของอินเดียไม่ใช่จากประเพณีบาลีของเถรวาท และในบรรดาประเพณีสันสกฤตของอินเดีย เรากำลังศึกษามุมมองของพุทธศาสนาสำนักไวภาษิกะ ไม่ใช่มุมมองของศาสนาพุทธสำนักจิตตมาตระ นอกจากนี้ เรากำลังเรียนรู้เกี่ยวกับคำอธิบายตามนิกายเกลุกในเรื่องการนำเสนอของสำนักไวภาษิกะ ไม่ใช่คำอธิบายตามนิกายกาจู เราจำเป็นต้องทราบถึงบริบทที่ชัดเจน เนื่องจากคำอธิบายเกี่ยวกับกรรมมีความแตกต่างกันค่อนข้างหลากหลายขึ้นอยู่กับบริบททางปรัชญา หากเราพยายามที่จะเอาคำอธิบายหัวข้อธรรมะตามนิกายเกลุกให้เข้ากับระบบของนิกายกาจูแล้ว เราย่อมจะสับสนมาก และถ้าเราพยายามผสมคำอธิบายทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นซุปชามใหญ่ เราก็จะยิ่งสับสนมากขึ้น
หนึ่งในอาจารย์ของผมที่ชื่อ เกเช นาวัง ดากเย (Geshe Ngawang Dhargyey) ชี้ให้เห็นถึงอะไรบางอย่างที่ฉลาดแหลมคมมากเกี่ยวกับชาวตะวันตก เขากล่าวว่า “พวกคุณ ชาวตะวันตกมักจะพยายามเปรียบเทียบสิ่งสองสิ่งอยู่เสมอ ซึ่งพวกคุณก็ไม่ได้เข้าใจทั้งสองสิ่งนั้นดีนัก และท้ายที่สุดมีแต่ความสับสนมากขึ้นเท่านั้นเอง” บทเรียนที่เราต้องเรียนรู้จากสิ่งนี้ก็คือว่า มันดีที่จะเปรียบเทียบระบบที่แตกต่างกัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการรู้จักระบบหนึ่งให้เป็นอย่างดีเสียก่อน เมื่อคุณรู้ระบบหนึ่งเป็นอย่างดีแล้ว คุณก็จะสามารถดูระบบอื่น ๆ และเข้าใจความแตกต่างเหล่านั้นได้ แต่ไม่ใช่ก่อนหน้านี้
ดังนั้น หากเราต้องการพิจารณาเกี่ยวกับกรรม หรือความว่างเปล่า หรือหัวข้ออื่น ๆ ในทางพระพุทธศาสนา เราจำเป็นต้องพัฒนาการรับรู้ที่แยกแยะจากการได้ยิน ซึ่งหมายถึง การรู้อย่างถูกต้องและแน่นอน
- คำเหล่านี้เป็นคำพูดที่พูดออกมา ไม่ใช่คำอื่น ๆ
- บุคคลที่พูดคำเหล่านั้นออกมาเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับหัวข้อที่พูด และไม่ใช่คนที่ไม่น่าเชื่อถือ
- นี่คือระบบที่ยึดหลักปรัชญาในการให้คำอธิบายเหล่านั้น ไม่ใช่จากระบบอื่น
เมื่อเรามีการรับรู้ที่แยกแยะที่เกิดจากการได้ยินแล้ว เราก็พร้อมที่จะก้าวไปสู่ขั้นต่อไป
การคิดพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งที่เราเคยได้ยิน
ขั้นตอนต่อไปคือ การรับรู้ที่แยกแยะที่เกิดจากการคิด “การคิด” หมายถึงอะไร การคิดในที่นี้หมายถึง การพยายามเข้าใจความหมายของบางสิ่งบางอย่าง แต่ถ้าเช่นนั้นแล้ว “เข้าใจ” บางสิ่งบางอย่างหมายความว่าอย่างไร คำนิยามของคำว่า "เข้าใจ" นี้ในภาษาทิเบตแปลได้ว่า "การรู้บางสิ่งบางอย่างที่ถูกต้องและเด็ดขาด"
อนึ่ง คำในภาษาสันสกฤตและทิเบตจำนวนมากที่ใช้อธิบายถึงกิจกรรมทางจิตและจิตใจมีความหมายแตกต่างกันมากในภาษาดั้งเดิมเมื่อเปรียบเทียบกับคำที่เราใช้ในภาษาตะวันตกของเรา นี่คือเหตุผลที่มีประโยชน์อย่างมากในการศึกษาภาษาเอเชียดั้งเดิม และศึกษาความหมายของคำในบริบททางภาษาของเอเชีย ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่เพียงแค่อ่านคำแปลในพจนานุกรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำงานกับภาษานั้นจริง ๆ เรียนรู้คำจำกัดความ และอื่น ๆ หากคุณทำเช่นนั้นแล้ว คุณจะได้รับเครื่องมือวิเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพมากในการทำความเข้าใจคำสอนทางพระพุทธศาสนา
การทำความเข้าใจคำที่พูด
คำว่า "เข้าใจ" นี้สามารถใช้ร่วมกับการฟังคำสอนได้ ในบริบทนั้น มันจะปรากฏในประโยคอย่างเช่นว่า “ฉันเข้าใจว่า คุณพูดคำเหล่านั้น” หากในประโยคนั้นมีการเน้นอยู่ที่คำว่า “คุณ” ก็บอกเป็นนัย ๆ ว่า เราไม่ต้องสงสัยเลยว่า คุณพูดคำเหล่านั้นจริง ๆ เราจะไม่คิดว่าคุณไม่ได้พูดหรือคนอื่นพูดคำเหล่านั้น เราได้ยินคุณพูดมันออกมา และเราก็มั่นใจอย่างเต็มที่ว่าไม่มีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับการได้ยินของเรา
ถ้าเน้นความสำคัญไปที่ "คำเหล่านั้น" ก็หมายความว่า "ฉันเข้าใจว่าคุณพูดคำเหล่านั้น" ซึ่งอาจมีความหมายที่แตกต่างกัน "ฉันเข้าใจคำแต่ละคำที่คุณพูด ฉันอาจเข้าใจความหมายสำคัญของคำและวลีเหล่านั้นไม่ได้ครบถ้วนทั้งหมด ซึ่งนั่นก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง แต่ฉันเข้าใจอย่างถูกต้องว่า คุณพูดคำนี้ วลีนี้ และประโยคนี้” เราต้องแน่ใจว่า เราได้ยินคำพูดที่พูดอย่างถูกต้อง เราสามารถตรวจสอบกับคนอื่นได้ เพื่อให้แน่ใจว่าคนอื่นได้ยินคำพูดเดียวกันกับที่เราได้ยิน หากมีการบันทึกเสียงไว้ เราก็สามารถฟังได้ หากเสียงและการบันทึกเสียงของผู้พูดชัดเจน เราก็จะมั่นใจได้ว่าเราได้ยินคำพูดอย่างถูกต้อง หากคำเหล่านั้นไม่ชัดเจน เราสามารถตรวจสอบกับผู้อื่นเพื่อขอความช่วยเหลือ ค้นหาสิ่งที่คนอื่นได้ยิน แล้วนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราได้ยิน นี่เป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ เมื่อเราต้องอาศัยการบันทึกคำสอน ดังนั้น การใช้การรับรู้ที่แยกแยะจากการได้ยิน เราจะกำหนดได้ว่าเราเข้าใจว่าคำที่พูดนั้นคือคำใดได้อย่างถูกต้องและเด็ดขาด
การทำความเข้าใจความหมายของคำ
ตอนนี้ มาถึงการคิด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สองในกระบวนการสามขั้นตอนเพื่อให้ได้มาซึ่งความเข้าใจ คือ การทำความเข้าใจความหมายของคำ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากเรากำลังจะสร้างบางสิ่งบางอย่างให้เป็นนิสัยที่เป็นประโยชน์ เราต้องไม่รู้จักแค่เพียงคำศัพท์ แต่ยังต้องรู้จักความหมายของคำศัพท์นั้นด้วย ตัวอย่างเช่น บางคนท่องกลอนในภาษาทิเบต แต่ไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของมัน คุณจะสร้างนิสัยที่เป็นประโยชน์ได้อย่างไรหากคุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคำนี้มีความหมายอย่างไร
คุณจะพบว่า ครูศาสนาพุทธชาวทิเบตหลายคนแนะนำให้ท่องบทสวดมนต์ และวิธีปฏิบัติต่าง ๆ ด้วยภาษาทิเบต แน่นอนว่ามันมีประโยชน์ในการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมที่เก่าแก่หลายศตวรรษนั่นคือ คุณรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของประเพณี และรู้สึกสบายใจ น่ายินดีที่รู้ว่าคนต่างชาติและต่างภาษากำลังสวดมนต์และท่องบทสวดเดียวกัน แต่การท่องเป็นภาษาทิเบตไม่ได้ช่วยให้เราสร้างนิสัยที่เป็นประโยชน์จากคำพูดที่พูดออกมาเหล่านั้น เว้นเสียแต่ว่าเราจะเข้าใจความหมายของคำเหล่านั้นในภาษาทิเบต ดังนั้น เราจึงต้องเข้าใจความหมาย และความหมายนั้นจะต้องเป็นความหมายที่ถูกต้องและเด็ดขาด นั่นหมายถึง การรับรู้ที่แยกแยะเพื่อแยกความหมายของคำที่หมายถึงจริงออกจากที่ไม่ใช่ความหมายของคำนั้น เราทำสิ่งนี้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์และการใช้เหตุผลเชิงตรรกะเพื่อให้ได้มาซึ่งความเข้าใจที่เด็ดขาดว่าแท้จริงแล้วคำนั้นหมายถึงอะไร
เกิดความเชื่อมั่นในความหมายของคำสอน
ประเด็นเกี่ยวกับการได้มาซึ่งความเข้าใจที่เด็ดขาดนำไปสู่หัวข้อที่ยากมากตามมา เราจะเกิดความเชื่อมั่นในบางสิ่งจริง ๆได้อย่างไร ทำให้เชื่อมั่นในบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ชัดเจนและไม่สามารถรับรู้ได้ผ่านทางประสาทสัมผัส เราจำเป็นต้องอาศัยการใช้เหตุผล แต่ก็มีบางคนที่เมื่อนำเสนอด้วยการโต้เถียงด้วยเหตุผลแล้วก็ยังไม่เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยเหตุผลนี้ ในบางกรณี พวกเขาไม่ต้องการเชื่อผลลัพธ์นั้นแม้ว่ามันจะมีเหตุผลก็ตาม หากเราเป็นเช่นนั้นแล้ว มันก็อาจทำให้เกิดอุปสรรคมากมายในการศึกษาพระธรรมของเราได้
แต่สมมติว่า เรายอมรับผลลัพธ์ของเหตุและผล จากนั้นลองใช้ความไม่เที่ยงเป็นตัวอย่างของกระบวนการวิเคราะห์และการใช้เหตุผลดู สิ่งที่เราต้องการพิสูจน์และทำความเข้าใจนั้นคือ ทุกสิ่งที่ถูกสร้างหรือผลิตขึ้นมานั้นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ และเงื่อนไขต่าง ๆ ท้ายสุดแล้วก็จะสิ้นสุดลง ไม่ว่าเรากำลังพูดถึงคอมพิวเตอร์ รถยนต์ ร่างกายของเรา หรือความสัมพันธ์ส่วนตัว สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยสาเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ และเนื่องจากสาเหตุและเงื่อนไขเหล่านั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ทุกช่วงเวลา ผลิตภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้นด้วยสาเหตุและเงื่อนไขเหล่านั้นก็ย่อมพังสลายไปในที่สุด
คุณสามารถนึกถึงตัวอย่างของสิ่งที่คุณซื้อและมันก็พังหรือไม่ทำงานในที่สุด ตัวอย่างเช่น รถคันใหม่ที่คุณซื้อมาแล้วมันก็จะเสียในที่สุด ดอกไม้หรือผลไม้ที่เติบโตก็จะเหี่ยวแห้งตายไปในที่สุด ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับกฎข้อนี้ ไม่มีตัวอย่างของสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นมาแล้วไม่เคยสูญสลายและคงอยู่ตลอดไป ถ้ามันถูกสร้างขึ้นหมายความว่า ไม่เคยมีมันมาก่อน มันก็จะพังลง ทำไมหรือ ก็สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่สามารถทำแบบนั้นได้ด้วยเพียงสาเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ เท่านั้น แต่ทันทีที่หลังจากมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น สาเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่รองรับการเริ่มต้นของการเกิดขึ้นนั้นก็เปลี่ยนแปลงไป ที่เปลี่ยนไปเพราะสิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยปัจจัยที่เป็นมูลเหตุอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ สิ่งเหล่านั้นก็จะไม่รองรับการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของสิ่ง ๆ นั้นในแต่ละทุกขณะต่อมาภายหลัง กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อไม่มีสาเหตุและเงื่อนไขสำหรับบางสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้ว อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นตามมาที่ต้องอาศัยปัจจัยสนับสนุนเหล่านั้นก็จะสลายไป มันจะสลายไปเพราะขาดปัจจัยที่จะสนับสนุนการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องของมันในสภาพเดียวกันกับเมื่อตอนที่มันเริ่มเกิดขึ้น สภาพของมันจะเปลี่ยนไปเพราะมันจะได้รับผลกระทบจากสาเหตุและเงื่อนไขอื่น ๆ
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว ความสัมพันธ์กับใครบางคนที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุและหลายเงื่อนไข ยกตัวอย่างเช่น ฉันอายุเท่านี้ เขาอีกคนอายุเท่านั้น สิ่งนี้เกิดขึ้นในชีวิตของฉัน นั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้สนับสนุนให้เราสองคนได้พบกันและพัฒนาความสัมพันธ์นั้น แต่เงื่อนไขเหล่านั้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง เราอายุมากขึ้น มีสิ่งต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นในชีวิตของเรา แม้ว่าเราจะอยู่ด้วยกันเป็นเวลานาน เราคนใดคนหนึ่งก็คงจะตายก่อนอีกคนหนึ่ง ด้วยสาเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ ความสัมพันธ์ระหว่างเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป แม้ว่าจะเป็นผลลัพธ์ที่เราเข้าถึงได้ด้วยการใช้เหตุและผล แต่เราก็ไม่ต้องการยอมรับความจริงข้อนี้อยู่ดี
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อเราซื้อคอมพิวเตอร์ เราคาดหวังว่ามันจะคงอยู่ตลอดไปและจะไม่พังลง แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้น ทำไมมันถึงพัง มันพังก็เพราะมันถูกสร้างขึ้นไง อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจริงในขณะที่มันพังหรือเสียนั้นก็เป็นเพียงเงื่อนไขสำหรับการสิ้นสุดของมันเท่านั้นเอง แต่สาเหตุที่แท้จริงที่มันพังคือ มันถูกสร้างขึ้นนั่นเอง เหมือนกับการพูดว่า “สาเหตุของการตายของคนนี้คืออะไร เหตุผลการตายของคน ๆ นี้ก็คือ การเกิด” มีเรื่องตลกว่า “คุณรู้จักคำจำกัดความของชีวิตหรือไม่รู้สิ มันก็คือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีอัตราการเสียชีวิต 100%” น่าเสียดายที่นั่นเป็นเรื่องจริง! แม้ว่าเราจะใช้เหตุผลเมื่อเราคิดพิจารณาในหัวข้อนั้น เช่น พยายามเข้าใจความไม่เที่ยงแต่ก็มักจะมีการต่อต้านอย่างมาก บางครั้งเราไม่ต้องการเชื่อข้อมูลที่ถูกนำเสนอให้กับเรา เราไม่ต้องการที่ยอมรับว่าความไม่เที่ยงนั้นเป็นความจริงของชีวิต นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องทบทวนเหตุผลนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อทำความเข้าใจกับหัวข้อนี้อย่างลึกซึ้งจริง ๆ
จากการผ่านกระบวนการคิด เราจะเข้าถึง "ความเข้าใจ" ที่เรียกว่า "การรับรู้ที่แยกแยะที่มาจากการคิด" เราเข้าใจความหมายของคำนั้นอย่างถูกต้องและเรามีความเด็ดขาดเกี่ยวกับสิ่งนั้น กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราได้ดำเนินการตามหลักเหตุผลและแยกสิ่งที่ไม่ใช่ความหมายของคำนั้นออกไป “ความไม่เที่ยงไม่ได้หมายความว่า คอมพิวเตอร์ของฉันอาจจะพัง แต่หมายความว่า มันจะพังลง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตอย่างแน่นอน” ดังนั้น ไม่ว่าเราจะเชื่อมั่นในความจริงอย่างแน่วแน่หรือไม่ก็ตามว่า “ทุกสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจะแตกสลาย” แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็เข้าใจอย่างถูกต้องว่าความไม่เที่ยงหมายถึงอะไร
เกิดความเชื่อมั่นว่า คำสอนที่เราได้ยินนั้นเป็นจริงและเป็นประโยชน์
ต่อไป เราต้องเชื่อมั่นไม่เพียงแต่เฉพาะความหมายของคำที่เราได้ยินเท่านั้น แต่เรายังต้องมั่นใจด้วยว่าความหมายเหล่านั้นเป็นจริง ในตัวอย่างของความไม่เที่ยงนั้น เราอาจเข้าใจความหมายของคำนั้น แต่เราเชื่อว่ามันเป็นจริงรึเปล่า เรามั่นใจจริง ๆ หรือ หากเรายังคงยืนกรานในการคิดเกี่ยวกับความไม่เที่ยงอยู่ และเราไม่สามารถหาข้อยกเว้นใด ๆ ต่อกฎนั้นได้อย่างแน่นอนแล้ว เราก็จะเชื่ออย่างแท้จริงว่า ความไม่เที่ยงนั้นเป็นกฎพื้นฐาน กระบวนการคิดอาจเป็นไปในทำนองนี้ว่า “ฉันจะตายอย่างแน่นอน ทุกคนที่เกิดมาแล้วก็ตายไปแล้ว ไม่มีตัวอย่างของคนที่เกิดมาแล้วไม่ตาย ดังนั้น มีเหตุผลใดหรือไม่ที่จะเชื่อว่าฉันจะไม่ตาย คำตอบก็คือ ไม่มี”
หากเราเชื่อมั่นว่า เมื่อถึงเวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคตเราจะตาย เราก็จะพยายามทำให้ชีวิตนี้มีความหมายมากที่สุด บ่อยครั้งในกรณีของบางคนที่มีประสบการณ์เฉียดตาย เขาจะตระหนักว่า “เฮ้ ฉันยังมีชีวิตอยู่ และฉันต้องการใช้เวลาที่เหลืออยู่ของฉันให้มีความหมายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” แต่เราไม่จำเป็นต้องรอประสบการณ์ใกล้ตายเพื่อที่จะมั่นใจในความตายของเราและสร้างความเชื่อมั่นที่จะใช้เวลาที่เหลือของเราให้เป็นประโยชน์
ดังนั้นโดยผ่านการคิด ก่อนอื่นเราเข้าใจความหมายอย่างถูกต้องและแม่นยำ ต่อไปเราเชื่อมั่นว่านั่นเป็นจริง และประการที่สามเราต้องเชื่อมั่นว่ามันจะเป็นประโยชน์สำหรับฉันที่จะซึมซับสิ่งนี้ และทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของวิธีที่ฉันใช้ปฏิบัติในชีวิต
ทั้งหมดนี้ ทั้งการเข้าใจความหมาย เชื่อมั่นว่ามันเป็นความจริง และมั่นใจว่ามันเป็นประโยชน์ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการรับรู้ที่แยกแยะที่มาจากการคิด เป็นกระบวนการที่สำคัญมากและใช้เวลาค่อนข้างมาก เราต้องนั่งเงียบ ๆ และคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับคำสอนที่เราเคยได้ยินหรือได้อ่านมา ตัวอย่างเช่น หากไม่ทำเช่นนั้น ถ้าเราพยายามพิจารณาเกี่ยวกับความไม่เที่ยง เราก็มีแนวโน้มที่จะนั่งเฉย ๆ และไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไร จากนั้นเราก็จะตกอยู่ในความสับสน เป็นภาวะที่เราเรียกว่า “เหม่อ” และคิดว่าเป็นการทำสมาธิ นั่นไม่ใช่การทำสมาธิเลย แล้วการทำสมาธิคืออะไร
การทำสมาธิมีสามประเภท
เช่นเดียวกับโดยผ่านการฟังคำสอนและการคิดถึงคำสอนเหล่านั้น เราได้พัฒนาประเภทของการรับรู้ที่แยกแยะที่เกี่ยวข้องกับสองอย่างนี้ การทำสมาธินำมาซึ่งสิ่งที่เราเรียกว่า การรับรู้ที่แยกแยะที่เกิดจากการทำสมาธิ ด้วยการรับรู้นี้ เราสามารถสร้างสภาวะจิตใจที่เป็นประโยชน์ที่เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนา และเราสามารถแยกแยะมันออกจากสภาวะจิตใจอื่น ๆ ทั้งหมดได้อย่างเด็ดขาดและถูกต้องด้วยสมาธิที่สมบูรณ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งการรับรู้ที่แยกแยะนี้ เราได้ทำให้ตัวเราคุ้นเคยกับสภาพจิตใจที่ต้องการนี้ผ่านการสร้างมันขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก การทำสมาธิมีหลายประเภทที่เราทำเช่นนี้ แต่ขอพิจารณาเฉพาะ 3 ประเภทที่พบบ่อยที่สุด
มุ่งเน้นไปที่จุดหรือเรื่องที่กำหนด
การทำสมาธิประเภทแรกนั้นมุ่งเน้นไปที่จุดหรือเรื่องที่กำหนด เราสามารถโฟกัสไปที่จุดหรือเรื่องประเภทใดก็ได้ และสิ่งที่เราพยายามจะพัฒนาคือ การมีสมาธิอยู่กับจุดหรือเรื่องนั้น ไม่ว่าจะมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกของลมหายใจเข้าและออก หรือมุ่งเน้นไปที่ภาพพระพุทธเจ้าที่นึกเห็น หรือมุ่งเน้นไปที่ธรรมชาติของจิตใจ ต่างก็ยังคงเป็นการมุ่งเน้นไปที่เป้าหมาย ทั้งสามอย่างนี้เป็นจุดหรือเรื่องที่ใช้กันมากที่สุดในการพัฒนาสมาธิในศาสนาพุทธแบบทิเบต
รูปแบบที่สำคัญของการทำสมาธิแบบนี้คือ การมุ่งเน้นไปที่จุดหรือเรื่องด้วยการจดจ่อ และในขณะที่จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นก็พยายามที่จะเข้าใจมันอย่างกระจ่างด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ความไม่เที่ยง โดยการจดจ่ออยู่กับเป้าหมายนี้ด้วยความเข้าใจ มันจะซึมซับเข้าไปจริง ๆ ว่าในความเป็นจริงนั้นมันไม่เที่ยง นั่นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มากสำหรับการเอาชนะการยึดติดกับบางสิ่งบางอย่างราวกับว่ามันจะคงอยู่ตลอดไป
อีกตัวอย่างที่มีประโยชน์คือ คุณมีความเป็นเพื่อน หรือมีความสัมพันธ์กับใครบางคน และคน ๆ นั้นไม่ได้โทรหาคุณ หรือมาเยี่ยมหาคุณ แล้วคุณก็จะอารมณ์เสียมาก ในตัวอย่างนี้ คุณต้องเข้าใจและเชื่อมั่นในข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ว่า “ฉันไม่ใช่คน ๆ เดียวในชีวิตของเพื่อนฉัน ยังมีคนอื่นอีกมากมายในชีวิตของเขานอกเหนือจากฉัน ดังนั้น มันจึงไม่มีเหตุผลอย่างยิ่งที่ฉันจะคาดหวังว่าเขาจะให้เวลาของเขากับฉันเท่านั้น และจะไม่ให้เวลาของเขากับคนอื่น” ณ ตรงนี้ คุณกำลังท้าทายการจินตนาการถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้คือ “ฉันเป็นคนเดียวในชีวิตของเพื่อนฉัน” ดังนั้น เมื่อคุณอารมณ์เสียว่าเพื่อนของคุณไม่ได้ใช้เวลากับคุณมากพอ คุณก็ควรพยายามโฟกัสไปที่เขาด้วยความเข้าใจว่า “เขามีคนอื่นและสิ่งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขานอกจากฉัน”
ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงการทำสมาธิ เราจะไม่พูดถึงกระบวนการที่ลึกลับและมหัศจรรย์อะไรบางอย่าง เราจะไม่ออกไปสู่ดินแดนแห่งความเพ้อฝัน แต่การทำสมาธินั้นนำมาซึ่งวิธีการปฏิบัติที่ใช้ได้จริงในการจัดการกับความทุกข์ ความยุ่งยาก และปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของเรา
สรุปว่าการทำสมาธิแบบแรกนั้นคือ การมุ่งเน้นไปที่จุดหรือเรื่องกำหนดด้วยวิธีการหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยการจดจ่อเพียงอย่างเดียว หรือด้วยการทำความเข้าใจและความแยกแยะบางอย่าง ดังเช่นในตัวอย่างของการมุ่งเน้นไปที่เพื่อนของเรา
การสร้างสภาวะจิตใจ
ประเภทที่สองคือ การทำสมาธิเพื่อสร้างสภาวะจิตใจบางอย่าง เช่น สร้างความรัก หรือความเห็นอกเห็นใจ และจดจ่ออยู่กับความรู้สึกนั้น การมุ่งเน้นไม่ใช่เป้าหมายที่เรามุ่งหวังต่อความรักหรือความเห็นอกเห็นใจ แต่จะเน้นในการพัฒนาอารมณ์หรือความรู้สึกมากกว่า
การสร้างความมุ่งมาดปรารถนา
ประเภทที่สามของการทำสมาธิคือ การมุ่งเน้นไปที่จุดหรือเรื่องกำหนดด้วยความมุ่งมาดปรารถนาที่จะบรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่นการมุ่งเน้นไปที่การตรัสรู้ของตัวเองที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยปณิธานที่ว่า “ฉันจะบรรลุมัน” สิ่งนี้เรียกว่า “โพธิจิตภาวนา” เมื่อเราทำสมาธิเกี่ยวกับโพธิจิต บางครั้งแปลว่า "จิตแห่งการตื่นรู้" สิ่งที่เรากำลังมุ่งเน้นอยู่ไม่ใช่การตรัสรู้โดยทั่วไป และไม่ใช่การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แต่เรามุ่งเน้นไปที่การตรัสรู้ของเราเอง การตรัสรู้ของเรายังไม่เกิดขึ้น แต่มันสามารถเกิดขึ้นได้ เราเชื่อว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานของศักยภาพพระพุทธเจ้าของเรา และการฝึกฝนอย่างหนัก ดังนั้น ด้วยการทำสมาธิประเภทที่สามนี้เราจึงมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายในอนาคตด้วยจุดมุ่งหมายที่หนักแน่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น
การทำสมาธิทั้งสามประเภทในชีวิตประจำวัน
ฉะนั้นแล้ว การทำสมาธิทั้งสามประเภทนี้กำลังพัฒนานิสัยที่เป็นประโยชน์ที่เราต้องการนำเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันของเรา มันสำคัญมากที่การทำสมาธิไม่ใช่กิจกรรมขอบสนามที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา การทำสมาธิไม่ใช่การหลบหนี มันไม่ใช่เกม ไม่ใช่งานอดิเรก แต่เป็นวิธีที่จะช่วยให้เราพัฒนาคุณสมบัติที่เราต้องการนำมาสู่ชีวิตและใช้มันในชีวิตได้ทุกวัน
มาอธิบายถึงวิธีที่เราใช้สามวิธีนี้โดยใช้ตัวอย่างที่เพิ่งกล่าวถึงไปกัน เมื่อเราฝึกการทำสมาธิแบบแรก ซึ่งเรามุ่งเน้นไปที่จุดหรือเรื่องกำหนด เราเรียนรู้ที่จะทำให้จิตใจของเราให้เงียบสงบ และเพิ่มความสามารถในการจดจ่อ เราเรียนรู้ไม่เพียงแต่จะมีสมาธิในการทำงานของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตอนที่เรากำลังสนทนากับใครบางคนด้วย เราต้องการที่จะมีสมาธิกับคน ๆ นั้น กับสิ่งที่เขากำลังพูดอยู่ และไม่ให้จิตใจของเราไปคิดเกี่ยวกับสิ่งอื่น ๆ ทั้งหมด เราต้องการฟังโดยไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจโดยไม่ตัดสินสิ่งที่เขาพูดว่า “โอ้ นั่นช่างโง่จริง ๆ ” หรือ “ฉันหวังว่าเขาน่าจะหุบปากนะ” เราต้องการที่จะให้การพูดพล่ามที่เกิดขึ้นในจิตใจทั้งหมดเงียบลง นอกจากนี้ เรายังสามารถเสริมสมาธิของเรากับบุคคลนี้และคำพูดของเขาด้วยความเข้าใจว่า “คุณเป็นมนุษย์และมีความรู้สึกเช่นเดียวกับฉัน คุณต้องการความสนใจเมื่อคุณกำลังพูดอยู่เช่นเดียวกับที่ฉันทำตอนที่ฉันกำลังพูด” นี่คือสิ่งที่เราจะฝึกปฏิบัติผ่านการทำสมาธิอย่างจดจ่อ
เราอาจใช้การทำสมาธิประเภทที่สองสร้างสภาวะของจิตใจเพื่อเพิ่มความรักและความเห็นอกเห็นใจที่เรามีในชีวิตประจำวัน เราฝึกปฏิบัติเพื่อสร้างความรัก ซึ่งเป็นความปรารถนาที่ให้ทุกคนมีความสุข ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนหรืออยู่กับใคร ความรักในที่นี้หมายถึง ความรักที่มีต่อทุกคนจริง ๆ ทุกคนบนรถบัส ทุกคนบนรถไฟใต้ดิน ทุกคนที่อยู่บนท้องถนน ทุกคนในร้าน สัตว์และแมลงทุกตัว สรุปว่าทุกคน นั่นหมายถึงการพัฒนาความเคารพต่อทุกคน ทุกคนเท่าเทียมกันในฐานะที่ว่าทุกคนต้องการมีความสุขและไม่ต้องการที่จะมีความทุกข์ และทุกคนก็มีสิทธิเท่าเทียมกันในการมีความสุข รวมถึงแม้กระทั่งแมลงวันด้วย!
และสุดท้าย เราใช้การทำสมาธิเพื่อพัฒนาปณิธานที่เราพกพามาตลอดชีวิต “ฉันกำลังทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย ฉันกำลังพยายามลดข้อบกพร่องของฉันลง ฉันกำลังพัฒนาคุณสมบัติที่ดี และฉันกำลังพัฒนาเพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระ และเพื่อการตรัสรู้” ปณิธานนั้นแทรกซึมเข้าไปทั่วทั้งชีวิตของเรา ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เรานั่งอยู่บนเบาะเท่านั้น
คำแนะนำของท่านสองขะปะ (Tsongkhapa) เกี่ยวกับการพัฒนาสภาวะจิตใจที่เป็นประโยชน์
ท่านสองขะปะ ปรมาจารย์ชาวทิเบตผู้ยิ่งใหญ่ได้อธิบายไว้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับสิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้อย่างแท้จริงสำหรับการทำสมาธิทุกประเภทเหล่านี้ พูดง่าย ๆ ก็คือ จะพัฒนาสภาวะจิตใจที่เป็นประโยชน์ในฐานะที่เป็นรากฐานสำหรับการทำสมาธิได้อย่างไร
รู้ว่าคุณกำลังมุ่งเน้นไปที่อะไร
อันดับแรก เราต้องรู้ว่าเรากำลังมุ่งเน้นไปที่อะไร มาดูตัวอย่างของความเห็นอกเห็นใจกัน ในการมุ่งเน้นไปที่ความเห็นอกเห็นใจนั้น เรามุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ทรมานของผู้อื่น มันค่อนข้างแตกต่างจากโพธิจิต ตรงที่เรามุ่งเน้นไปที่การตรัสรู้ของเราเองที่ยังไม่เกิดขึ้น บางคนคิดว่าพวกเขากำลังทำสมาธิเกี่ยวกับโพธิจิต แต่จริง ๆ แล้วพวกเขาแค่ทำสมาธิเกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจเท่านั้น ความเห็นอกเห็นใจเป็นรากฐานสำหรับโพธิจิต แต่ความเห็นอกเห็นใจกับโพธิจิตไม่เหมือนกัน
รู้ทุกแง่มุมของสิ่งที่เรามุ่งเน้น
หลังจากที่เราได้กำหนดจุดโฟกัสที่แน่นอนแล้ว ในกรณีนี้ความทุกข์ของผู้อื่นเป็นจุดโฟกัสของความเห็นอกเห็นใจ ต่อไปเราต้องรู้ทุกแง่มุมของจุดนั้น ดังนั้น เราจึงสำรวจแง่มุมต่าง ๆ หรือประเภทต่าง ๆ ของความทุกข์ที่ทุกคนประสบพบเจอ ความทุกข์ ประเภทของความสุขโดยทั่วไปของเรา การอยู่ภายใต้การควบคุมการบีบบังคับของกรรม และความทุกข์ทรมานจากการเกิดใหม่ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ทรมานของสิ่งมีชีวิตเพียงไม่กี่ประเภทเท่านั้น เช่น ความทุกข์ยากและความยากลำบากในการตกงาน ในกรณีของเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่ เรามุ่งเน้นไปที่ทุกแง่มุมของความทุกข์ทรมานที่ทุกคนประสบกันทั่วโลก รวมทั้งสัตว์ด้วย
รู้ว่าจิตใจของเราเกี่ยวข้องกับสิ่งที่มุ่งเน้นนั้นอย่างไร
ต่อไป เราต้องรู้ว่าจิตใจของเราเกี่ยวข้องกับเป้าหมายนั้นอย่างไร ด้วยความเห็นอกเห็นใจ จิตใจของเรามุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ทรมานของผู้อื่นด้วยความปรารถนาว่ามันจะหายไปและจะไม่กลับมาอีก ไม่ใช่ทัศนคติที่ว่า “โอ้ มันช่างน่ากลัวอะไรขนาดนี้” ดังนั้น ขอย้ำอีกครั้งว่า ความคิดนี้แตกต่างจากโพธิจิตมาก ด้วยโพธิจิตนั้น เราจะมุ่งเน้นไปที่การตรัสรู้ของเราที่ยังไม่เกิดขึ้น และเราเกี่ยวข้องกับมันด้วยความตั้งใจ “ฉันจะบรรลุมันให้ได้ และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วยการบรรลุเป้าหมายนั้น” สิ่งนี้แตกต่างอย่างมากจากการที่เราเกี่ยวข้องเชื่อมโยงความเห็นอกเห็นใจกับความทุกข์ทรมานของผู้อื่น
รู้ว่าอะไรจะช่วยพัฒนาได้
จากนั้น เราจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรจะช่วยให้เราพัฒนาสภาวะจิตใจนี้ได้ ในตัวอย่างของเราความเห็นอกเห็นใจได้รับการสนับสนุนจากการที่เรามีความตั้งใจหรือความรู้สึกเดียวกันต่อความทุกข์ทรมานของเราเอง ที่เรียกว่า "ความปณิธานที่จะเป็นอิสระ" มักจะแปลว่า "การสละ" ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ทรมานของเราเอง และปณิธานที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์นั้นและหลุดพ้นจากสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นด้วย ความต้องการอยากหลุดพ้นจากเหตุแห่งทุกข์หมายถึง การเต็มใจที่จะเลิกพฤติกรรมที่ทำให้เราทุกข์ยากเช่น การโกรธ หากเราสามารถพัฒนาปณิธานที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้จริง ๆ สิ่งนั้นก็จะสนับสนุนความสามารถในการชี้นำทัศนคติ ความปรารถนานั้นที่มีต่อผู้อื่นอย่างแรงกล้าเช่นเดียวกับที่เรามุ่งเน้นไปที่ตัวเราเอง
รู้ว่าอะไรที่เป็นอันตรายต่อการพัฒนา
เราต้องรู้ด้วยว่าอะไรจะขัดขวางการพัฒนาสภาวะจิตใจนี้ สิ่งที่จะขัดขวางการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจคือการไม่เอาจริงเอาจังกับคนอื่นและไม่ถือเอาความทุกข์ของพวกเขามาใส่ใจอย่างจริงจัง เพื่อต่อต้านสิ่งนั้น เราต้องคิดว่า “ทุกคนต้องการมีความสุข ไม่มีใครอยากจะมีความทุกข์ ไม่มีใครที่ไม่อยากเป็นอิสระจากความทุกข์ เราทุกคนเหมือนกันหมด และทุกคนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกับฉันมีความรู้สึก ทุกคนที่ทุกข์ทรมานก็เจ็บพอ ๆ กับที่ฉันเจ็บจากความทุกข์ของฉัน พวกเขาต้องการที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ทรมานของพวกเขาเช่นเดียวกับที่ฉันต้องการที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ทรมานของฉันเช่นกัน” ด้วยวิธีนี้เราจะพัฒนาความรู้สึกที่อ่อนไหวและความเคารพต่อผู้อื่น หากเราไม่มีความรู้สึกและความเคารพนั้น เราก็จะถูกขัดขวางการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจอย่างจริงใจ
รู้จักการประยุกต์ใช้สภาวะจิตใจนั้น
ท่านสองขะปะกล่าวต่อไว้ว่า เมื่อเราได้พัฒนาสภาวะจิตใจนี้ เราต้องรู้ว่าเราจะทำอย่างไรกับมัน พูดง่าย ๆ คือ การใช้งานของมันคืออะไร ฉันพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ แล้วยังไง มันจะช่วยให้ฉันจัดการกับผู้อื่นได้ มันจะช่วยให้ฉันทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น และมันจะกระตุ้นฉันและผลักดันฉันอย่างแท้จริงให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดของการตรัสรู้เพื่อให้ฉันสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างมากมาย ฉันเข้าใจว่าสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้ฉันสามารถช่วยพวกเขาได้ในตอนนี้คือ ข้อจำกัดของฉัน ดังนั้น ฉันจึงอยากเอาชนะข้อจำกัดของฉันอย่างมาก”
รู้ว่าสภาวะจิตใจนั้นจะกำจัดอะไร
สิ่งต่อไปที่เราต้องรู้คือ สภาวะจิตใจนี้จะกำจัดหรือกำจัดอะไร เห็นอกเห็นใจจะกำจัดความรู้สึกเย็นชาที่ฉันไม่สนใจคนอื่น มันจะช่วยให้ฉันกำจัดความเกียจคร้านที่ไม่ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น และมันจะช่วยให้ฉันเอาชนะความเกียจคร้านที่ไม่ต้องการฝึกฝนตัวเอง ด้วยการกำจัดความรู้สึกเย็นชานี้ ฉันสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้มากขึ้น หากเรารู้องค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้เพื่อพัฒนาและฝึกสมาธิให้มีความเห็นอกเห็นใจแล้ว เราก็จะมั่นใจได้อย่างยิ่งว่า เรากำลังทำสมาธินี้อย่างถูกต้อง เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ และทำไมเราถึงทำเช่นนั้น เราได้เตรียมตัวอย่างถูกต้องเหมาะสมแล้วสำหรับการเข้าร่วมในการทำสมาธินี้ มิฉะนั้นก็จะเหมือนกับการกระโดดลงไปในน้ำลึกในสระว่ายน้ำ และไม่รู้ว่าจะว่ายน้ำอย่างไร ถ้าเราพูดอย่างง่าย ๆ ว่า “เอาล่ะแค่นั่งลง แล้วก็ทำสมาธิ” และเราก็ไม่รู้ว่าเราควรจะต้องทำอะไร นั่นก็มีโอกาสมากเลยที่เราจะไม่ประสบผลสำเร็จ