การทำให้เท่าเทียมกันและการแลกเปลี่ยนตนเองกับผู้อื่น

สองเดือนก่อนที่ท่านเซนซับ เซอร์กอง รินโปเช (Tsenzhab Serkong Rinpoche) จะเสียชีวิต ท่านได้บอกให้ดร. เบอร์ซิ่นเขียนคำสอนนี้ คำต่อคำและบอกให้เก็บรักษาไว้เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดของท่าน มันอธิบายรายละเอียดการทำสมาธิเพื่อเอาชนะต้นกำเนิดของความทุกข์และปัญหาต่าง ๆ ของเรามากที่สุด นั่นคือ ทัศนคติที่คำนึงถึงแต่ตนเอง แล้วพัฒนาทัศนคติการคำนึงถึงผู้อื่นอย่างจริงใจแทน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความสุขทั้งหมด

มีประเพณีปฏิบัติอยู่ 2 อย่างในการพัฒนาโพธิจิต ซึ่งเป็นจิตใจที่อุทิศตนเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและแก่การบรรลุการตรัสรู้เพื่อประโยชน์ของพวกเขาให้มากที่สุด นั่นคือ ประเพณีปฏิบัติด้วยเหตุและผล 7 ประการและประเพณีปฏิบัติในการทำให้เท่าเทียมกันและการแลกเปลี่ยนทัศนคติของเราที่มีต่อตนเองกับผู้อื่น แต่ละการปฏิบัติจะมีวิธีการพัฒนาอุเบกขาหรือความวางใจเป็นกลางที่แยกจากกันหรือแตกต่างชัดเจนล่วงหน้าเป็นเบื้องต้น แม้ว่าแต่ละการปฏิบัติจะมีชื่อเดียวกัน นั่นคือ ความวางใจเป็นกลางแต่ประเภทของความวางใจเป็นกลางที่พัฒนานั้นแตกต่างกัน 

  1. ความวางใจเป็นกลางที่เกิดขึ้นก่อนที่จะยอมรับว่าทุกคนเคยเป็นแม่ของเราในการทำสมาธิด้วยเหตุและผล 7 ประการนั้นเกี่ยวข้องกับการนึกภาพเพื่อน ศัตรู และคนแปลกหน้า และเป็นความวางใจเป็นกลางที่เราเลิกมีความรู้สึกยึดติดและความรู้สึกรังเกียจ อันที่จริง ชื่ออย่างหนึ่งของมันคือ “ความวางใจเป็นกลางที่เราเลิกยึดติดและเลิกรังเกียจที่มีต่อเพื่อน ศัตรู และคนแปลกหน้าเพียงเท่านั้น” คำว่า เพียงเท่านั้น ในที่นี้บ่งบอกว่ามีวิธีการที่สองซึ่งเกี่ยวข้องกับบางสิ่งบางอย่างเพิ่มเติม

    อีกชื่อหนึ่งของความวางใจเป็นกลางแบบแรกนี้คือ “ความวางใจเป็นกลางที่เป็นแนวทางในการพัฒนาความวางใจเป็นกลางที่เหมือนกันกับสาวกและพระปัจเจกพุทธเจ้าเพียงเท่านั้น” สาวก (ผู้ฟัง) และ พระปัจเจกพุทธเจ้า (ผู้ตรัสรู้สัจจะด้วยตนเอง) เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านิกายหีนยาน (ยานลำเล็ก) สองประเภท ตรงนี้ คำว่า เพียงเท่านั้น บอกเป็นนัยว่า ด้วยความวางใจเป็นกลางประเภทนี้ เราไม่มีและไม่เกี่ยวข้องกับหัวใจที่อุทิศตนแห่งโพธิจิต
  2. ความวางใจเป็นกลางที่เราพัฒนาเป็นขั้นต้นสำหรับการทำให้เท่าเทียมกันและแลกเปลี่ยนทัศนคติของเราที่มีต่อตนเองกับผู้อื่นไม่ใช่เป็นเพียงแต่ความวางใจเป็นกลางแบบข้างบนนี้เท่านั้น มันคือความวางใจเป็นกลางที่เราไม่มีความรู้สึกใกล้หรือไกลในความคิดหรือการกระทำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำประโยชน์ของเราและช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งหมดและขจัดปัญหาของพวกเขา นี่เป็นวิธีการพัฒนาความวางใจเป็นกลางของ มหายาน (ยานใหญ่) ที่โดดเด่น ไม่ธรรมดา

ความวางใจเป็นกลางเพียงเท่านั้น

ถ้าเราถามถึงวิธีพัฒนาความวางใจเป็นกลางที่เกิดขึ้นก่อนการยอมรับว่าทุกคนเคยเป็นแม่ของเราด้วยวิธีแห่งเหตุและผลทั้ง 7 ประการนั้น มันจะเกี่ยวข้องกับขั้นตอนต่อไปนี้

การสร้างมโนภาพของบุคคล 3 คน

อันดับแรก เรานึกภาพบุคคล 3 คนนั่นคือ บุคคลที่น่ารังเกียจและไม่น่าพอใจอย่างยิ่งที่เราไม่ชอบหรือที่เรามองว่าเป็นศัตรูของเรา คนที่เรารักหรือเพื่อนที่รักใคร่ห่วงใยอย่างสุดซึ้ง และคนแปลกหน้าหรือใครบางคนที่อยู่ตรงกลางที่เราไม่มีความรู้สึกเหล่านี้ด้วยเลย เรานึกภาพของทั้ง 3 คนพร้อมกัน

ทัศนคติแบบใดที่ปกติแล้วจะเกิดขึ้นเวลาที่เรามุ่งความสนใจไปที่แต่ละคนตามลำดับ? ความรู้สึกไม่พอใจ ความไม่สบายใจ และความรู้สึกรังเกียจเกิดขึ้นกับคนที่เราไม่ชอบ ความรู้สึกดึงดูดใจและความยึดติดเกิดขึ้นกับเพื่อนผู้เป็นที่รักยิ่ง ความรู้สึกเฉยเมย ไม่ต้องการที่จะช่วยเหลือหรือทำร้าย เกิดขึ้นกับคนที่ไม่ใช่แบบนั้นทั้งคู่ เนื่องจากเราพบว่าคนแปลกหน้าทั้งไม่น่าสนใจและไม่น่ารังเกียจ

เลิกรู้สึกรังเกียจคนที่เราไม่ชอบ

เพื่อให้ง่ายต่อการสนทนา สมมติว่าทั้ง 3 คนที่เรานึกภาพเป็นผู้หญิง อย่างแรก เราทำงานกับคนที่เราไม่ชอบก่อน ซึ่งเป็นคนที่เราอาจจะมองว่าเป็นศัตรูด้วยซ้ำ

  1. เราปล่อยให้ความรู้สึกที่เห็นว่าเธอไม่เป็นที่น่าพอใจและน่ารังเกียจเกิดขึ้น เมื่อได้เห็นมันชัดเจนแล้ว
  2. เราสังเกตว่ามีความรู้สึกเพิ่มเติมเกิดขึ้นอีก กล่าวคือ มันคงจะดีถ้ามีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับเธอ หรือถ้าเธอได้ประสบกับสิ่งที่เธอไม่ต้องการให้เกิดขึ้น
  3. จากนั้น เราก็ตรวจสอบสาเหตุของความรู้สึกที่ไม่ดีและความปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้นเหล่านี้ โดยปกติแล้ว เราพบว่าเป็นเพราะเธอทำร้ายเรา ทำอันตรายแก่เรา หรือทำ หรือพูดสิ่งที่น่ารังเกียจกับเราหรือกับเพื่อนของเรา นั่นคือเหตุผลที่เราต้องการให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับเธอหรือให้เธอไม่ได้ในสิ่งที่เธอต้องการ
  4. ตอนนี้ เราคิดถึงเหตุผลที่อยากให้เรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นกับผู้หญิงคนนี้ที่เราไม่ชอบมาก ๆ และเราก็ตรวจดูว่ามันเป็นเหตุผลที่ดีจริง ๆ หรือไม่ เราจะคิดดังนี้
  • ในชาติก่อน ที่เรียกว่าศัตรูนี้เคยเป็นพ่อและแม่ของฉันมาแล้วหลายครั้ง เช่นเดียวกับญาติและเพื่อนของฉัน เธอได้ช่วยฉันมากมายหลายครั้งนับไม่ถ้วน
  • ในชาตินี้ ไม่แน่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เธออาจจะกลายเป็นผู้ให้การช่วยเหลือที่ดีมากและเป็นเพื่อนที่ดีต่อไปในชาตินี้ได้ สิ่งเหล่านี้มีทางเป็นไปได้มาก
  • ไม่ว่าในกรณีใด เธอกับฉันจะมีชาติหน้าที่ไม่มีที่สิ้นสุดและแน่นอนว่าเธอก็จะเป็นแม่หรือพ่อของฉันในช่วงเวลาหนึ่ง ดังนั้น เธอก็จะช่วยฉันได้มาก และฉันก็ควรจะต้องฝากความหวังทั้งหมดไว้กับเธอ ฉะนั้นแล้ว เนื่องจากเธอมี เธอเป็น และเธอก็จะช่วยฉันในหลาย ๆ ทางทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เธอจึงเป็นเพื่อนที่ดีในที่สุด นี่เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนั้น หากด้วยเหตุผลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เธอทำร้ายฉันเพียงเล็กน้อยในชาตินี้ ฉันจึงคิดว่าเธอเป็นศัตรูและหวังว่าเธอจะเจ็บป่วย นั่นยอมรับไม่ได้และไม่น่าพอใจเลย
  1. เรานึกถึงตัวอย่างบางตัวอย่าง เช่น สมมติว่าพนักงานธนาคารหรือมหาเศรษฐีที่มีอำนาจจะให้เงินแก่ฉันมากมายและเป็นคนที่มีความปรารถนาและเจตนาที่จะทำเช่นนั้น แล้วก็ได้ทำแบบนั้นไปเล็กน้อยในอดีต วันหนึ่งอารมณ์เสียและโกรธ แล้วตบหน้าฉัน ถ้าฉันโกรธและยึดถือความโกรธแค้นไว้ มันอาจทำให้คน ๆ นั้นสูญเสียความตั้งใจที่จะให้เงินฉันไปเลย อาจจะเสี่ยงถึงขนาดเปลี่ยนใจของเขาและตัดสินใจมอบเงินให้คนอื่นไป ในทางกลับกัน ถ้าฉันต้องทนต่อการตบ มองลงไป และเงียบ บางทีเขาก็อาจจะยิ่งพอใจในตัวฉันมากขึ้นในภายหลังที่ฉันไม่อารมณ์เสีย บางทีเขาอาจจะต้องการให้เงินฉันมากกว่าที่เขาตั้งใจไว้ตอนแรกก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากฉันโกรธและทำให้เป็นเรื่องใหญ่ นั่นมันก็คงอาจจะเหมือนกับที่ชาวทิเบตพูดว่า “คุณมีอาหารอยู่ในปาก แล้วลิ้นของคุณก็ดันมันออกไป”
  2. ดังนั้น ฉันจึงต้องคิดกับคนนี้ที่ฉันไม่ชอบในระยะยาว และก็เป็นความจริงเช่นเดียวกันกับสัตว์โลกทั้งหมด ความช่วยเหลือของพวกเขาต่อฉันในระยะยาวนั้นแน่นอนว่าเป็น 100%  ดังนั้น มันจึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ฉันจะยึดถือเอาความโกรธของฉันไว้เพียงเพราะอันตรายเล็กน้อยและไม่สำคัญที่ใคร ๆ ก็อาจทำต่อฉันได้
  3. ต่อไป เราลองนึกถึงแมงป่อง สัตว์ป่า หรือผี ที่แหย่หรือยั่วยุเพียงเล็กน้อยก็โจมตีกลับทันทีว่าเป็นอย่างไร จากนั้น พิจารณาถึงตัวเราเอง เราก็จะเห็นว่าการประพฤติตัวเหมือนสัตว์เหล่านี้ไม่เหมาะสมเพียงใด ด้วยวิธีนี้ เราจะปลดชนวนความโกรธของเราลง เราจำเป็นต้องคิดว่าไม่ว่าคน ๆ นี้จะทำอันตรายอะไรกับฉัน ฉันก็จะไม่อารมณ์เสียและโกรธ มิฉะนั้น ฉันก็ไม่ได้ดีไปกว่าสัตว์ป่าหรือแมงป่องเลย
  4. โดยสรุปแล้ว เรานำสิ่งนี้ทั้งหมดวางลงในรูปแบบของการอ้างเหตุผลประกอบ ฉันควรจะต้องเลิกโกรธคนอื่นเนื่องจากพวกเขาทำร้ายฉัน เพราะ
  • ชาติที่แล้วพวกเขาเป็นพ่อแม่ของฉัน
  • ต่อมาในชาตินี้ ก็ไม่แน่ว่าพวกเขาจะไม่กลายมาเป็นเพื่อนรักที่สุดของฉัน
  • ในชาติหน้า ณ ช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขาจะไปเกิดใหม่เป็นพ่อแม่ของฉันและจะช่วยฉันอย่างมาก ดังนั้น ใน 3 ชาตินั้น พวกเขาจึงเป็นประโยชน์ต่อฉัน
  • ถ้าฉันโกรธตอบ ฉันก็ไม่ได้ดีไปกว่าสัตว์ป่า ดังนั้น ฉันจะเลิกโกรธสำหรับอันตรายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พวกเขาอาจทำกับฉันในชาตินี้

เลิกยึดติดกับคนที่เราชอบ

  1. เรามุ่งความคิดไปที่เพื่อนหรือบุคคลอันเป็นที่รักในกลุ่มของศัตรู เพื่อน และคนแปลกหน้าที่เรานึกภาพไปแล้วในตอนแรก
  2. เราปล่อยให้ความรู้สึกดึงดูดใจและความยึดติดเกิดขึ้นต่อเธอคนนั้น
  3. ปล่อยให้ตัวเราเองรู้สึกแข็งแกร่งมากขึ้นว่า เราอยากจะอยู่กับคน ๆ นี้มากแค่ไหน
  4. ตรวจสอบเหตุผลที่เรามีความหลงใหลและความยึดติดดังกล่าว มันเป็นเพราะเธอให้ความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชาตินี้ ทำสิ่งดี ๆ ให้ฉัน ทำให้ฉันรู้สึกดี หรืออะไรทำนองนั้น ฉันรู้สึกหลงใหลและยึดติดกับเธอ
  5. ตอนนี้ เราจะตรวจสอบว่านี่เป็นเหตุผลที่เหมาะสมสำหรับการมีความรู้สึกดังกล่าวหรือไม่ มันก็ไม่ใช่เหตุผลที่ดีเช่นกันเพราะ
  • ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในชาติที่แล้ว เธอเคยเป็นศัตรูของฉัน ทำร้ายฉัน และแม้กระทั่งกัดกินเนื้อหนังของฉัน และดื่มเลือดของฉัน
  • ต่อมาในชาตินี้ ก็ไม่แน่ว่าเธอจะไม่กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของฉัน
  • ในชาติหน้า เห็นชัดได้อย่างไม่ต้องสงวัยว่าเธอจะต้องทำร้ายฉันหรือจะทำอะไรที่เลวร้ายกับฉันในช่วงเวลาหนึ่ง
  1. ด้วยเหตุผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้เธอทำสิ่งที่ดีแต่เล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับฉันในชาตินี้แล้ว ถ้าฉันหลงใหลและยึดติดกับเธอ ฉันก็ไม่ได้ดีไปกว่าผู้ชายที่ถูกล่อลวงด้วยเพลงของปีศาจครึ่งผู้หญิงที่กินคน ปีศาจครึ่งคนเหล่านี้มีรูปลักษณ์ที่สวยงาม หลอกล่อผู้ชายด้วยวิธีการต่าง ๆ ของตน จากนั้นก็กลืนกินพวกเขาในภายหลัง   
  2. ด้วยวิธีนี้ เราจึงตัดสินใจที่จะไม่ยึดติดกับใครเลยสำหรับสิ่งดี ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาหรือเธอทำเพื่อเราในชาตินี้

เลิกเฉยเมยต่อใครบางคนที่เป็นกลาง

ในลำดับที่ 3 เราก็จะปฏิบัติตามขั้นตอนเดียวกันนี้กับบุคคลที่อยู่ระหว่างสองกลุ่มนั้น นั่นคือ คนแปลกหน้าซึ่งไม่ใช่ทั้งมิตรและศัตรู

  1. เรามุ่งความคิดไปที่บุคคลดังกล่าวจากการสร้างมโนภาพของเรา
  2. ปล่อยให้ตัวเราไม่รู้สึกอะไร ไม่ปรารถนาจะทำร้าย ไม่ช่วยเหลือ ไม่กำจัด ไม่อยู่กับบุคคลนี้ 
  3. แล้วให้รู้สึกถึงความตั้งใจที่จะเพิกเฉยต่อบุคคลนั้นต่อไป
  4. เราตรวจสอบเหตุผลที่รู้สึกแบบนี้ของเรา มันเป็นเพราะเธอไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยหรือทำร้ายฉัน ดังนั้น ฉันก็ไม่ต้องมีความสัมพันธ์กับเธอ
  5. เมื่อเราตรวจสอบเพิ่มเติมว่านี่คือเหตุผลที่ถูกต้องที่จะรู้สึกแบบนี้หรือไม่ เราก็จะเห็นว่าเธอไม่ใช่คนแปลกหน้าในที่สุด เพราะในชาติก่อนอันนับไม่ถ้วน ต่อมาในชาตินี้ และต่อไปในชาติหน้า เธอก็จะใกล้ชิด เธอจะเป็นเพื่อนคนหนึ่ง ฯลฯ 

ด้วยวิธีนี้ เราจะสามารถหยุดความรู้สึกโกรธ ความยึดติด หรือความเฉยเมยต่อศัตรู เพื่อนฝูง และคนแปลกหน้าได้ทั้งหมด นี่เป็นแนวทางในการพัฒนาความวางใจเป็นกลางเพียงเท่านั้นที่เหมือนกันกับของสาวกและพระปัจเจกพุทธะซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นเบื้องต้นในการยอมรับว่าทุกคนเคยเป็นแม่ของเราตามวิธีการด้วยเหตุและผล 7 ประการเพื่อพัฒนาโพธิจิตที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น

ความวางใจเป็นกลางของมหายานที่ไม่ธรรมดาในฐานะเป็นขั้นต้นสำหรับการทำให้เท่าเทียมกันและการแลกเปลี่ยนทัศนคติของเรา

วิธีพัฒนาความวางใจเป็นกลางของมหายานที่ไม่ธรรมดาในฐานะเป็นขั้นต้นสำหรับการทำให้เท่าเทียมกันและการแลกเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อตนเองกับผู้อื่นแบ่งออกเป็น

  • วิธีทำให้ความวางใจเป็นกลางเกิดขึ้นได้จริงที่ขึ้นอยู่กับมุมมองที่สัมพันธ์กัน
  • วิธีทำให้ความวางใจเป็นกลางเกิดขึ้นได้จริงที่ขึ้นอยู่กับมุมมองที่ลึกที่สุด

วิธีที่ขึ้นอยู่กับมุมมองที่สัมพันธ์กันแบ่งออกเป็น

  • วิธีทำให้ความวางใจเป็นกลางเกิดขึ้นได้จริงที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเอง
  • วิธีทำให้ความวางใจเป็นกลางเกิดขึ้นได้จริงที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้อื่น

วิธีทำให้ความวางใจเป็นกลางเกิดขึ้นได้จริงที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราเอง

สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับ 3 ประเด็นคือ

  1. เนื่องจากสัตว์โลกทั้งหมดเคยเป็นพ่อแม่ ญาติ และเพื่อนของเรามานับชาติไม่ถ้วน มันจึงไม่เหมาะที่จะรู้สึกว่าบางคนใกล้และบางคนห่างไกล ว่าคนนี้เป็นมิตรและอีกคนเป็นศัตรู ต้อนรับบางคนและปฏิเสธคนอื่น ๆ เราต้องคิดว่า ถ้าฉันไม่เห็นแม่ใน 10 นาที 10 ปี หรือ 10 ชาติ เธอก็ยังคงเป็นแม่ของฉัน
  2. อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นไปได้ว่าในขณะที่สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ได้ช่วยฉัน บางครั้งพวกเขาก็ทำร้ายฉันด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับจำนวนครั้งที่พวกเขาช่วยฉันและปริมาณที่พวกเขาช่วยฉัน ความเสียหายที่พวกเขาทำนั้นมันเล็กน้อย ดังนั้น จึงไม่สมควรที่จะยินดีต้อนรับคนที่ใกล้แล้วปฏิเสธอีกคนที่อยู่ห่างไกล
  3. เราจะต้องตายอย่างแน่นอน แต่เวลาตายของเรานั้นมันไม่แน่นอนเลย ตัวอย่างเช่น สมมติว่า เราถูกพิพากษาให้ถูกประหารชีวิตในวันพรุ่งนี้ มันคงเป็นเรื่องเหลวไหลที่จะใช้วันสุดท้ายของเราไปในการโกรธและทำร้ายใครสักคน หากเลือกที่จะทำบางสิ่งที่ไม่สำคัญ เราก็จะพลาดโอกาสที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และมีความหมายในวันสุดท้ายของเรา ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่ง มีข้าราชการชั้นสูงคนหนึ่งที่โกรธเคืองคน ๆ หนึ่งและคิดจะลงโทษคน ๆ นั้นอย่างรุนแรงในวันรุ่งขึ้น เขาใช้เวลาทั้งวันในการวางแผน แล้วจากนั้นในเช้าวันรุ่งขึ้น ก่อนที่เขาจะทันได้ทำอะไร ตัวเขาเองก็เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ความโกรธของเขานั้นไร้สาระโดยสิ้นเชิง นั่นก็เป็นจริงเช่นเดียวกันกับว่าถ้าบุคคลอื่นต้องถูกลงโทษให้ตายในวันรุ่งขึ้น มันจะมีประโยชน์อะไรที่จะทำร้ายเขาในวันนี้

วิธีทำให้ความวางใจเป็นกลางเกิดขึ้นได้จริงที่ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้อื่น

สิ่งนี้ก็แบ่งเป็น 3 ประเด็นเช่นกันคือ

  1. เราต้องคิดว่า สำหรับตัวฉันเอง ฉันไม่อยากทุกข์แม้แต่ในฝันของฉัน และไม่ว่าฉันจะมีความสุขมากแค่ไหน ฉันก็ไม่เคยรู้สึกว่ามันเพียงพอ นี่ก็เป็นความจริงเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ อย่างแน่นอน สัตว์โลกทั้งหมด ตั้งแต่แมลงตัวเล็ก ๆ ขึ้นไปต่างก็ปรารถนาที่จะมีความสุขและไม่ทุกข์หรือมีปัญหาใด ๆ เลย ดังนั้น มันจึงไม่เหมาะสมที่จะปฏิเสธบางคนแล้วยินดีต้อนรับคนอื่น ๆ
  2. สมมุติว่ามีขอทาน 10 คนมาที่หน้าประตูบ้านฉัน มันเป็นการไม่เหมาะสมและไม่ยุติธรรมอย่างยิ่งที่จะให้อาหารเพียงบางคนเท่านั้น แล้วไม่ให้คนที่เหลือ พวกเขาทุกคนเท่าเทียมกันในเรื่องความหิวโหยและความต้องการอาหาร เช่นเดียวกัน สำหรับความสุขที่ไม่เจือปนกับความสับสน แล้วใครมีสิ่งนั้น? แต่แม้กระทั่งความสุขที่เจือปนกับความสับสน สัตว์โลกทั้งหมดก็ยังไม่มีสิ่งนั้นเพียงพอ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต่างสนใจที่จะค้นหา ดังนั้น มันจึงไม่เหมาะสมที่จะปฏิเสธบางคนเพราะห่างไกลและยินดีต้อนรับคนอื่น ๆ เพราะใกล้ชิด
  3. อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมติว่ามีผู้ป่วย 10 คน พวกเขาล้วนมีความทุกข์และน่าสมเพชเท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงไม่ถูกต้องที่จะช่วยเหลือบางคน เลือกปฏิบัติต่อพวกเขาเท่านั้น แล้วก็ลืมคนอื่น ๆ ไป ในทำนองเดียวกัน สัตว์โลกทั้งหมดก็ทุกข์พอ ๆ กันกับปัญหาเฉพาะของพวกเขาและปัญหาทั่วไปของการดำรงอยู่ซ้ำ ๆ อย่างควบคุมไม่ได้ หรือสังสารวัฏ ด้วยเหตุนี้ มันจึงไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมที่จะปฏิเสธบางคนเพราะห่างไกลและยินดีต้อนรับคนอื่น ๆ เพราะใกล้ชิด

วิธีทำให้ความวางใจเป็นกลางเกิดขึ้นได้จริงที่ขึ้นอยู่กับมุมมองที่ลึกที่สุด

สิ่งนี้ก็เกี่ยวข้องกับการคิด 3 ประเด็นเช่นกัน

  1. เนื่องจากความสับสนของเรา เราคิดโดยติดป้ายคนที่ช่วยเหลือเราหรือดีกับเราว่าเป็นเพื่อนแท้และคนที่ทำร้ายเราว่าเป็นศัตรูที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม หากพวกเขาถูกสร้างให้มีอยู่จริงในแบบที่เราติดป้ายให้พวกเขาเป็น ฉะนั้นแล้ว พระตถาคตพุทธเจ้าก็คงจะต้องเห็นพวกเขาเช่นนั้นเช่นกัน แต่พระองค์ไม่เคยทำแบบนั้น ดังที่ท่านธรรมกีรติ (Dharmakirti) ได้กล่าวไว้ใน ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับ (“บทสรุปของดิกนาก) จิตใจที่รับรู้อย่างถูกต้อง” (A Commentary on (Dignaga’s “Compendium of) Validly Cognizing Minds”) (ภาษาสันกฤตคือ Pramanavarttika) ว่า “พระพุทธเจ้าก็เช่นเดียวกัน ปฏิบัติต่อคนที่ทาน้ำหอมบนร่างของพระองค์ด้านหนึ่งและต่อคนอื่นที่เฉือนพระองค์เป็นชิ้น ๆ ด้วยดาบอีกด้านหนึ่งเท่าเทียมกัน”

    นอกจากนี้ เรายังเห็นความไม่ลำเอียงนี้ในตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าปฏิบัติต่อพระเทวทัตลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ซึ่งมักจะพยายามทำร้ายพระองค์เพราะความอิจฉาริษยาด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องหลีกเลี่ยงการแบ่งพรรคแบ่งพวกและเข้าข้างผู้คนโดยคิดสับสนว่าพวกเขามีอยู่จริงในหมวดหมู่ที่เราติดป้ายกำกับพวกเขาไว้ ไม่มีใครดำรงอยู่แบบนั้น เราจำเป็นต้องฝึกการเลิกยึดจับของเราในเรื่องการดำรงอยู่ที่แท้จริงเสีย การยึดจับนี้มาจากจิตใจที่สับสนทำให้สิ่งต่าง ๆ ปรากฏแก่เราในแบบที่ไม่เป็นความจริง
  2. ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าสัตว์โลกถูกสร้างให้มีอยู่จริงในหมวดหมู่ของมิตรและศัตรู อย่างที่เรายึดจับพวกเขาไว้ให้เป็นเท่านั้น พวกเขาก็จะต้องคงอยู่อย่างนั้นเสมอ ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณานาฬิกาที่เรารู้สึกว่าบอกเวลาได้ถูกต้องเสมอ เช่นเดียวกับที่สภาพของมันก็อาจเปลี่ยนแปลงได้และทำงานช้าในบางครั้ง ดังนั้น ก็ในทำนองเดียวกัน สถานะของผู้อื่นก็ไม่คงที่ มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

    ถ้าเรานึกถึงคำสอนเกี่ยวกับความจริงที่ว่าไม่มีความแน่นอนในสถานการณ์ของสังสารวัฏที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างควบคุมไม่ได้ ก็จะช่วยได้ตรงนี้ เช่น ลูกชายกินพ่อของเขา ตีแม่ของเขา และเลี้ยงดูศัตรู ตัวอย่างนี้ปรากฎในคำแนะนำเพื่อพัฒนาแรงจูงใจระดับกลางในลำดับขั้นของเส้นทางสู่การตรัสรู้ “ลัม-ริม” (lam-rim) ครั้งหนึ่ง พระมหากัจจายนะผู้ตระหนักรู้อย่างสูง ได้มายังบ้านที่พ่อนั้นมาเกิดใหม่เป็นปลาในสระและลูกชายกำลังกินเขาอยู่ จากนั้น ลูกชายตีสุนัขซึ่งเคยเป็นแม่ของเขาด้วยก้างปลาพ่อของเขาและอุ้มลูกไว้ในอ้อมแขนของเขาซึ่งเคยเป็นศัตรูของเขามาก่อน พระมหากัจจายนะหัวเราะกับความไร้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในสถานะของสิ่งมีชีวิตที่เร่ร่อนอยู่ในสังสารวัฏ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องยุติการยึดถือหรือยึดจับผู้คนให้อยู่ในประเภทมิตรหรือศัตรูที่ตายตัวและถาวร แล้วด้วยพื้นฐานนั้น จึงยินดีต้อนรับฝ่ายหนึ่งและปฏิเสธอีกฝ่ายหนึ่ง
  3. ใน บทสรุปของการฝึกฝน (A Compendium of Trainings) (ภาษาสันสกฤตคือ Shikshasamuccaya) ท่านศานติเทวะ (Shantideva) อธิบายไว้ว่าตนเองและผู้อื่นพึ่งพาอาศัยกันอย่างไร เช่นเดียวกับตัวอย่างของภูเขาที่อยู่ไกลและที่อยู่ใกล้ พวกมันก็อาศัยหรือกำหนดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อเราอยู่บนภูเขาที่อยู่ใกล้  ภูเขาอีกลูกหนึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นภูเขาที่อยู่ไกลและลูกนี้เป็นภูเขาที่อยู่ใกล้ เมื่อเราไปอีกฟากหนึ่ง ภูเขาลูกนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นอยู่ไกลและอีกลูกหนึ่งก็จะเปลี่ยนเป็นอยู่ใกล้ ในทำนองเดียวกัน เราไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็น “ตัวเอง” จากด้านของเราเอง เพราะเมื่อเรามองดูตัวเองจากมุมมองของคนอื่น เราจะกลายเป็น “คนอื่น” เช่นเดียวกัน มิตรและศัตรูเป็นเพียงวิธีการมองหรือพิจารณาบุคคลต่างกันก็เท่านั้น บางคนสามารถเป็นได้ทั้งมิตรของคน ๆ หนึ่งและเป็นศัตรูของอีกคนหนึ่ง เช่นเดียวกับภูเขาที่อยู่ใกล้และที่อยู่ไกล ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับมุมมองของเรา

การตัดสินใจ 5 ประการ

จากการคิดอย่างนี้เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ข้างต้น เราจำเป็นต้องทำการตัดสินใจ 5 ประการ

ฉันจะต้องเลิกแบ่งพรรคแบ่งพวก

ไม่ว่าเราจะมองจากมุมมองที่สัมพันธ์กันหรือที่ลึกซึ้งที่สุด ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องพิจารณาคนหรือสิ่งมีชีวิตบางอย่างว่านี่ใกล้และคนอื่น ๆ ห่างไกล ดังนั้น เราจำต้องตัดสินใจอย่างแน่วแน่ว่า ฉันจะเลิกแบ่งพรรคแบ่งพวก ฉันจะกำจัดความรู้สึกลำเอียงที่ฉันปฏิเสธบางคนและยินดีต้อนรับคนอื่น ๆ เพราะความเป็นศัตรูและความยึดติดทำร้ายฉันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งชั่วคราวและในที่สุด ทั้งระยะสั้นและระยะยาว สิ่งเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ มันเป็นรากเหง้าของความทุกข์หลายร้อยชนิด มันเป็นเหมือนยามที่ทำให้ฉันวนเวียนอยู่ในคุกของปัญหาในสังสารวัฏที่เกิดขึ้นซ้ำซากอย่างควบคุมไม่ได้

ให้นึกถึงตัวอย่างของผู้ที่ยังอยู่ต่อในทิเบตหลังการจลาจลในปีพ.ศ. 2502 ผู้ที่ยึดติดกับอาราม ความมั่งคั่ง ทรัพย์สมบัติ บ้าน ญาติ เพื่อนฝูง ฯลฯ ทนไม่ได้ที่จะทิ้งสิ่งเหล่านั้นไว้ข้างหลัง ผลที่ตามมาก็คือ พวกเขาถูกฝังในเรือนจำหรือค่ายกักกันเป็นเวลา 20 ปีหรือมากกว่านั้นเพราะความยึดติดของพวกเขา ความรู้สึกแบ่งพรรคแบ่งพวกเช่นนี้คือผู้เข่นฆ่าที่นำเราไปสู่ไฟแห่งขุมนรกที่ไร้ความสุข มันคือปีศาจร้ายในตัวเราที่ขวางกั้นเราไม่ให้หลับได้ในตอนกลางคืน เราต้องกำจัดมันทุกวิถีทาง 

ในทางกลับกัน ทัศนคติที่เท่าเทียมกันต่อทุกคน ซึ่งเราปรารถนาให้สัตว์โลกทั้งหมดมีความสุขและถูกแยกออกจากปัญหาและความทุกข์ของพวกเขา มีความสำคัญจากทุกมุมมอง ทั้งแบบชั่วคราวและในที่สุด มันเป็นทางสัญจรสายหลักที่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์เดินเพื่อไปสู่การบรรลุผลสำเร็จของพระองค์ อันเป็นเจตนาและความปรารถนาที่ลึกที่สุดของพระพุทธเจ้าทั้งหมดในสามชาติ ดังนั้น เราต้องคิดว่า ไม่ว่าอันตรายหรือความช่วยเหลือใด ๆ ที่สัตว์โลกจะทำกับฉันที่มาจากฝั่งของพวกเขา ในฝั่งของฉัน ฉันไม่มีทางเลือกอื่น ฉันจะต้องไม่โกรธหรือยึดติด ฉันจะต้องไม่พิจารณาว่าบางคนอยู่ไกลและบางคนอยู่ใกล้ ไม่มีทางหรือวิธีการจัดการกับสถานการณ์อื่นนอกเหนือไปจากนั้น ฉันตัดสินใจอย่างแน่นอนแล้ว ฉันจะต้องมีทัศนคติที่เท่าเทียมกันในแง่ของวิธีที่ฉันคิดและกระทำต่อทุกคน เนื่องจากทุกคนต้องการมีความสุขและไม่ต้องการมีทุกข์ นี่คือสิ่งที่ฉันจะต้องพยายามให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขอครูผู้ชี้นำทางศาสนา โปรดดลบันดาลใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย สิ่งเหล่านี้คือความคิดที่เราต้องมีเมื่อเราท่องบทแรกจากบทห้าบาทใน บูชา ครู – ลามะ โชปา (The Guru Puja – Lama Chopa) ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัตินี้ 

จงดลบันดาลใจให้เราเพิ่มความสบายและความปีติยินดีของผู้อื่นให้มากขึ้นโดยคิดว่าคนอื่นและเราก็ไม่ต่างกัน ไม่มีใครปรารถนาความทุกข์ยากแม้แต่เพียงเล็กน้อยและก็ไม่เคยพอใจกับความสุขที่เขาหรือเธอมี

ดังนั้น ด้วยบทแรกนี้ เราสวดอ้อนวอนให้พัฒนาทัศนคติที่เท่าเทียมกันว่าไม่มีความรู้สึกที่ใกล้หรือไกลในความคิดหรือการกระทำของเราที่เกี่ยวกับการทำให้เกิดความสุขและขจัดความทุกข์อย่างเท่าเทียมกันของทุกคน ทัศนคติของความเท่าเทียมกันดังกล่าวได้เติมเต็มคำจำกัดความของประเภทของความวางใจเป็นกลางหรือทัศนคติที่เท่าเทียมกันซึ่งเราคำนึงถึงในที่นี้ เราตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะพัฒนาและบรรลุทัศนคตินั้น เช่นเดียวกับเมื่อเราเห็นสิ่งของที่ยอดเยี่ยมในร้านค้าและตัดสินใจซื้อมันนั่นเอง

ฉันจะต้องเป็นอิสระจากการคำนึงถึงแต่ตนเอง

ต่อไป เราจะคิดถึงข้อบกพร่องของการมีทัศนคติการคำนึงถึงแต่ตนเอง เนื่องจากความเห็นแก่ตัวของทัศนคติการคำนึงถึงแต่ตนเอง เราจึงกระทำการที่เป็นไปในทางทำลาย กระทำสิ่งที่เป็นการทำลาย 10 ประการ และด้วยเหตุนี้เองจึงนำเราไปสู่การเกิดใหม่ที่เลวร้าย จากตรงนั้นไปจนถึงการไม่บรรลุนิพพานของการเป็น พระอรหันต์ (สิ่งมีชีวิตที่เป็นอิสระ) ความเห็นแก่ตัวเช่นนี้ทำให้สูญเสียความสุขและความสงบสุขทั้งหมด แม้ว่าพระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะเข้าใกล้การตรัสรู้ แต่บางองค์ก็เข้าใกล้การตรัสรู้มากกว่าบางองค์ ความแตกต่างระหว่างพวกเขามาจากปริมาณการคำนึงถึงแต่ตนเองที่พวกเขายังคงมีอยู่ ตั้งแต่ความขัดแย้งในประเทศไปจนถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างครูสอนศาสนาและลูกศิษย์ ภายในครอบครัว หรือในหมู่เพื่อนฝูง ล้วนมาจากการคำนึงถึงแต่ตนเองทั้งนั้น ดังนั้น เราจึงจำเป็นจะต้องคิดว่า ถ้าฉันไม่ขจัดความเห็นแก่ตัวและการคำนึงถึงแต่ตนเองที่ก่อความวุ่นวายภายในตัวฉันให้หมดไป มันก็ไม่มีทางที่ฉันจะมีความสุขได้ ดังนั้น ฉันจะต้องไม่ปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการคำนึงถึงแต่ตนเอง ข้าแต่ครูผู้ชี้นำทางศาสนา โปรดดลบันดาลใจให้ข้าพเจ้าขจัดความกังวลที่เห็นแก่ตัวทั้งหมดนี้ด้วย สิ่งเหล่านี้คือความคิดในบทที่สอง 

จงดลบันดาลใจให้เราเห็นว่าโรคเรื้อรังของการคำนึงถึงแต่ตนเองนี้เป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ทรมานที่ไม่พึงปรารถนาของเรา และด้วยเหตุนี้ เราจึงโกรธเคืองมันว่าเป็นสิ่งที่ควรจะถูกตำหนิ จึงทำลายปีศาจร้ายแห่งความเห็นแก่ตัวนั้น

ดังนั้น ในบทที่สองนี้ เราจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะเป็นอิสระจากทัศนคติการคำนึงถึงแต่ตนเองอันเป็นความกังวลที่เห็นแก่ตัว

ฉันจะต้องคำนึงถึงผู้อื่นเป็นแนวทางปฏิบัติหลักของฉัน

ต่อไป เราก็จะนึกถึงประโยชน์และคุณสมบัติที่ดีต่าง ๆ ที่ตามมาจากการคำนึงถึงผู้อื่น ในชาตินี้ความสุขทั้งหมดและทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ในชาติหน้าเกิดเป็นมนุษย์หรือเทพเจ้า และโดยทั่วไปแล้ว ความสุขทั้งหมดไปจนถึงการบรรลุการตรัสรู้นั้นก็มาจากคำนึงถึงผู้อื่น เราจำเป็นจะต้องคิดถึงมันมาก ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่ของตัวอย่างต่าง ๆ มากมาย เช่น ความเป็นที่นิยมของข้าราชการที่เป็นที่ชื่นชอบของทุกคนนั้นเกิดจากการคำนึงถึงและห่วงใยผู้อื่น ความมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมของเราในการยับยั้งไม่ให้เราคร่าชีวิตของผู้อื่นหรือจากการขโมยล้วนมาจากการคำนึงถึงผู้อื่นของเรา และนี่คือสิ่งที่สามารถทำให้เราเกิดใหม่เป็นมนุษย์ได้

ตัวอย่างเช่น สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงคิดถึงสวัสดิภาพของทุกคนในทุกที่ และคุณสมบัติที่ดีทั้งหมดของท่านก็มาจากการคำนึงถึงผู้อื่น พระโพธิสัตว์ตอกเมย ซังโป (Togme Zangpo) ไม่สามารถโดนกามหรือกามะ (Kama) ทำร้ายได้ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งราคะที่ตั้งใจจะรบกวนท่าน ผู้ปฏิบัติพุทธศาสนาแบบทิเบตผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้เป็นคนประเภทที่หากแมลงบินเข้ากองไฟก็จะร้องไห้ออกมา ท่านห่วงใยคนอื่นอย่างจริงใจ ซึ่งแม้แต่ผีและผู้ที่รบกวนก็ไม่สามารถนำพาตัวเองไปทำร้ายท่านได้ อย่างที่ตัวของวิญญาณพูดเองว่า นั่นเป็นเพราะท่านมีความคิดเพียงแต่การทำประโยชน์และคำนึงถึงเราเท่านั้น

ในชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์เกิดเป็นพระอินทร์ ซึ่งเป็นราชาแห่งเทพเจ้า มีสงครามเกิดขึ้นระหว่างเทพเจ้ากับเหล่ามนุษย์ครึ่งเทพ เหล่ามนุษย์ครึ่งเทพกำลังจะชนะและพระอินทร์ก็หนีไปด้วยรถม้าของพระองค์ พอมาถึงจุดหนึ่งบนถนนที่มีนกพิราบหลายตัวมาชุมนุมกัน พระองค์ก็กลัวว่าจะขี่รถม้าทับพวกมัน พระองค์จึงหยุดรถม้าของพระองค์ เมื่อเห็นเช่นนี้ เหล่ามนุษย์ครึ่งเทพต่างก็คิดว่าพระองค์หยุดรถม้าเพื่อจะหันหลังกลับมาโจมตีพวกตน ดังนั้น มนุษย์ครึ่งเทพเหล่านี้จึงหนีไป ถ้าเราวิเคราะห์สิ่งนี้ เราจะพบว่าการหนีไปของพวกมนุษย์ครึ่งเทพเกิดจากทัศนคติของพระอินทร์ในการคำนึงถึงผู้อื่น ในลักษณะเช่นนี้ เราจำเป็นจะต้องคิดถึงข้อดีของการคำนึงถึงผู้อื่นจากหลายมุมมอง

เมื่อผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่งนั่งอย่างสง่างามในที่ทำงาน ตำแหน่งของเขาและทุกอย่างเกี่ยวกับมันเกิดจากการมีอยู่ของผู้อื่น ในตัวอย่างนี้ ความน้ำใจของผู้อื่นก็อยู่ที่การมีพวกเขาอยู่จริงตรงนั้น ถ้าไม่มีคนอื่นนอกจากตัวเขาเอง เขาก็ไม่สามารถเป็นผู้พิพากษาได้ เขาจะไม่มีอะไรทำ ยิ่งไปกว่านั้น ต่อให้มีคนอยู่ ถ้าไม่มีใครมาหาเขา ผู้พิพากษาคนนี้ก็จะนั่งเอนหลังเฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลย ในทางกลับกัน ถ้าคนจำนวนมากอยู่ตรงหน้าเขา มองไปที่เขาเพื่อให้จัดการเรื่องของตน เช่นนั้นแล้วเมื่อต้องพึ่งพาอาศัยคนเหล่านั้น ผู้พิพากษาหรือเจ้าหน้าที่ก็จะลุกขึ้นนั่งและรับใช้พวกเขาอย่างดีโดยการตัดสินความให้คนเหล่านั้น เป็นความจริงเช่นเดียวกับลามะ ในการที่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น ท่านจึงนั่งลงสอนอย่างดี ตำแหน่งทั้งหมดของท่านเกิดจากการมีคนอื่นมาให้ท่านช่วย ท่านสอนพระธรรมเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พวกเขา ดังนั้นแล้ว ความช่วยเหลือของท่านจึงต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น เช่น โดยการระลึกถึงความน้ำใจของพวกเขา

ในทำนองเดียวกัน ด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจ จากการคำนึงถึงผู้อื่น เราจึงสามารถตรัสรู้ได้อย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น ถ้าศัตรูทำร้ายเราและเราพัฒนาความอดทน ด้วยวิธีนี้ เราจึงเข้าใกล้การตรัสรู้มากขึ้น สิ่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่เราคำนึงถึงผู้อื่น ดังนั้น เนื่องจากสัตว์โลกเป็นพื้นฐานและรากเหง้าของความสุขและสวัสดิภาพทั้งหมด โดยไม่มีข้อยกเว้น เราจึงจำเป็นต้องตัดสินใจว่าไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรหรือจะทำร้ายฉันอย่างไร ฉันก็จะต้องคำนึงถึงผู้อื่นเสมอ สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เป็นเหมือนครูสอนศาสนาของฉัน เป็นเหมือนพระพุทธเจ้า หรือเป็นเหมือนอัญมณีล้ำค่า ดังนั้น ฉันจะต้องคำนึงถึงพวกเขา ฉันจะรู้สึกสูญเสียหากมีสิ่งใดผิดปกติเกิดขึ้นกับพวกเขา และฉันจะไม่ปฏิเสธพวกเขาเลยไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฉันจะต้องมีจิตใจที่อบอุ่นและใจดีต่อพวกเขาเสมอ ได้โปรด ดลบันดาลใจให้ข้าพเจ้า ข้าแต่ครูผู้ชี้นำทางศาสนาของข้าพเจ้า ขออย่าให้ข้าพเจ้าแยกจากจิตใจและความรู้สึกคำนึงถึงผู้อื่นแม้แต่ชั่วขณะหนึ่งเลย นี่คือความหมายของบทที่สาม 

จงดลบันดาลใจให้เราเห็นว่าจิตใจที่คำนึงถึงแม่ของเราและจะทำให้พวกเขามีความสุขเป็นประตูสู่ความดีที่ไม่มีขอบเขต และด้วยเหตุนี้ จึงต้องคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตที่เร่ร่อนเหล่านี้มากกว่าชีวิตของเรา แม้ว่าพวกเขาจะปรากฏตัวเป็นศัตรูของเราก็ตาม

ด้วยวิธีนี้ เราจึงตัดสินใจที่จะมุ่งความสนใจไปที่การปฏิบัติในการคำนึงถึงผู้อื่นเป็นหลักของเรา

ฉันสามารถแลกเปลี่ยนทัศนคติของฉันเกี่ยวกับตนเองกับผู้อื่นได้อย่างแน่นอน

โดยอาศัยประตูทางผ่านของการคิดถึงข้อบกพร่องมากมายของการคำนึงถึงแต่ตัวเราเองและคุณสมบัติมากมายของการคำนึงถึงผู้อื่น เมื่อเรารู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยนค่านิยมของเราว่าใครที่เราควรคำนึงถึง จากนั้น เราก็สงสัยว่าเราจะเปลี่ยนมันได้จริงหรือไม่ แน่นอนว่าเราสามารถเปลี่ยนมันได้ เราสามารถเปลี่ยนทัศนคติของเราได้ เพราะก่อนจะตรัสรู้ พระพุทธเจ้าก็เหมือนกับเรา ท่านเองก็ร่อนเร่ไปจากการเกิดใหม่ไปสู่การเกิดใหม่เช่นเดียวกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างควบคุมไม่ได้และปัญหาของสังสารวัฏ อย่างไรก็ตาม พระพุทธองค์สามารถทรงแลกเปลี่ยนทัศนคติของท่านเกี่ยวกับว่าใครที่ท่านควรคำนึงถึง โดยการยึดมั่นในการคำนึงถึงผู้อื่น ท่านได้บรรลุถึงจุดสูงสุดของการสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของตนเองและของผู้อื่นได้

ในทางตรงข้าม หากเราคำนึงถึงแต่ตนเองเท่านั้นและเพิกเฉยต่อผู้อื่นทั้งหมด ยังไม่ต้องคิดถึงการทำสิ่งใด ๆ  ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้สำเร็จ เรายังไม่ได้ทำประโยชน์ให้ตัวเองได้สำเร็จเลยแม้แต่นิดเดียวด้วยซ้ำ การคำนึงถึงแต่ตัวเราเองและการเพิกเฉยต่อผู้อื่นทำให้เราหมดหนทางโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถทำสิ่งใดที่มีความสำคัญอย่างแท้จริงได้สำเร็จ เราไม่สามารถพัฒนาการละทิ้งหรือความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงที่จะเป็นอิสระจากปัญหาต่าง ๆ ของเราได้ เราไม่สามารถแม้แต่จะป้องกันตัวเราเองจากการตกลงไปสู่สภาวะการเกิดใหม่ที่เลวร้ายที่สุดอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ด้วยวิธีเหล่านี้ เรานึกถึงข้อบกพร่องของการคำนึงถึงแต่ตัวเราเองและประโยชน์ของการคำนึงถึงผู้อื่น ถ้าพระพุทธเจ้าเปลี่ยนทัศนคติได้ และท่านก็เริ่มต้นเหมือนเรา เราก็ย่อมสามารถเปลี่ยนทัศนคติได้เช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น หากมีความคุ้นเคยมากพอ มันก็เป็นไปได้ที่จะคำนึงถึงร่างกายของผู้อื่นได้เช่นเดียวกับที่เราจะคำนึงถึงร่างกายของเราเอง ท้ายที่สุด เราเอาอสุจิและไข่จากร่างกายของคนอื่น กล่าวคือ พ่อแม่ของเรา และตอนนี้เราก็คำนึงถึงพวกเขาในฐานะร่างกายของเราเอง แรกเริ่มเดิมทีพวกเขาไม่ใช่ของเรา ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องคิดว่ามันเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนทัศนคติของฉัน ฉันสามารถแลกเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อตนเองกับผู้อื่นได้ ดังนั้น ไม่ว่าฉันจะคิดถึงมันอย่างไร มันก็จะไม่เป็นที่ยอมรับเว้นแต่ฉันจะแลกเปลี่ยนทัศนคติที่ฉันยึดถือไว้ต่อตนเองกับผู้อื่น มันเป็นสิ่งที่ฉันทำได้ ไม่ใช่สิ่งที่ฉันทำไม่ได้ ดังนั้น ข้าแต่ครูผู้ชี้นำทางศาสนาของข้าพเจ้า ขอทรงดลใจข้าพเจ้าทำสิ่งนั้นด้วย นี่คือการผลักดันของบทที่สี่ 

โดยย่อ จงดลบันดาลใจให้เราพัฒนาจิตใจที่เข้าใจความแตกต่างระหว่างข้อบกพร่องของสิ่งมีชีวิตที่เหมือนกับทารกที่เป็นทาสความเห็นแก่ตัวของตนเองจะมีจุดจบเพียงลำพังกับความดีของราชาแห่งปราชญ์ที่ทำงานเพื่อเห็นแก่ผู้อื่นเท่านั้น เพื่อให้สามารถทำให้เท่าเทียมกันและแลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับผู้อื่นกับตัวเราเองได้

ดังนั้น การตัดสินใจของเราในที่นี้คือ เราสามารถเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการคำนึงถึงแต่ตนเองและผู้อื่นได้อย่างแน่นอน

ฉันจะต้องแลกเปลี่ยนทัศนคติของฉันเกี่ยวกับตนเองกับผู้อื่นอย่างแน่นอน

เช่นเคยว่า เราคิดถึงข้อบกพร่องของการคำนึงถึงแต่ตนเองและประโยชน์ของการคำนึงถึงผู้อื่น แต่คราวนี้เราทำแบบสลับกันโดยผสมผสานทั้งสองเข้าด้วยกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราทบทวนการกระทำที่เป็นการทำลาย 10 ประการและการกระทำเชิงสร้างสรรค์ 10 ประการ ทีละประการจากแต่ละรายการสลับกัน แล้วดูผลลัพธ์ในแง่ของการคำนึงถึงแต่ตนเองและการคำนึงถึงผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ถ้าฉันคำนึงถึงตัวฉันเอง ฉันจะไม่ลังเลใจที่จะเอาชีวิตผู้อื่น ผลก็คือ ฉันจะได้ไปเกิดในแดนนรกที่ไร้ความสุข และต่อให้มาเกิดใหม่เป็นมนุษย์ ฉันก็จะมีอายุสั้นที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ในทางกลับกัน ถ้าฉันคำนึงถึงผู้อื่น ฉันจะหยุดเอาชีวิตของผู้อื่น และผลที่ตามมาก็คือ ฉันจะไปเกิดใหม่ในสภาพที่ดีขึ้น อายุยืนยาว เป็นต้น จากนั้น เราก็ทำซ้ำขั้นตอนเดิมกับการขโมยและการละเว้นจากการขโมย ปล่อยใจไปกับพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม แล้วละเว้นจากการกระทำดังกล่าว เป็นต้น สรุปโดยย่อ ดังบทที่ห้าที่กล่าวว่า

เนื่องจากการคำนึงถึงตัวเราเองเป็นประตูสู่ความทุกข์ทรมานทั้งหมด ในขณะที่การคำนึงถึงแม่ของเรานั้นเป็นรากฐานสำหรับทุกสิ่งที่ดี ขอดลบันดาลใจให้เราสร้างหลักปฏิบัติของเราเป็นโยคะในการแลกเปลี่ยนผู้อื่นกับตัวเราเองด้วย

การตัดสินใจประการที่ห้าก็คือ ฉันจะต้องแลกเปลี่ยนทัศนคติของฉันที่มีต่อตนเองกับผู้อื่นอย่างแน่นอน นี่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตัดสินใจว่าตอนนี้ฉันเป็นคุณและคุณเป็นฉัน แต่หมายถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองกับคนที่เราคำนึงถึง แทนที่จะคำนึงถึงตัวเราเองและเพิกเฉยต่อผู้อื่น ตอนนี้เราจะต้องเพิกเฉยต่อข้อกังวลที่เห็นแก่ตัวของเราและคำนึงถึงผู้อื่นแทน ถ้าเราทำเช่นนี้ไม่สำเร็จ ก็ไม่มีทางที่เราจะบรรลุสิ่งใดได้ แต่ถ้าเราทำการแลกเปลี่ยนทัศนคตินี้ แล้วบนพื้นฐานนั้น เราก็สามารถฝึกฝนต่อไปด้วยการสร้างภาพของการให้ความสุขแก่ผู้อื่นและรับเอาความทุกข์ของพวกเขามา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความรักและความเห็นอกเห็นใจอย่างจริงใจได้ บนพื้นฐานนั้น เราจะสามารถพัฒนาการตั้งใจแน่วแน่ที่ยอดเยี่ยมเพื่อบรรเทาปัญหาและความทุกข์ต่าง ๆ ของทุกคนและนำความสุขมาสู่พวกเขาได้ และพัฒนาโพธิจิตที่อุทิศตนเพื่อทำประโยชน์แก่ผู้อื่นซึ่งเรามุ่งมั่นสำหรับการตรัสรู้เพื่อที่จะสามารถทำแบบนั้นได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

บทสรุป

แหล่งที่มาของคำสอนเหล่านี้คือ การมีส่วนร่วมในพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ (ภาษาสันสกฤตคือ Bodhicharyavatara) โดยท่านศานติเทวะ คำสอนต่าง ๆ ของปรมาจารย์นิกายกาดัมปะ รวมถึง บูชา ครู – ลามะ โชปา (Guru Puja – Lama Chopa) โดย ปานเชน ลามะ (Panchen Lama) องค์ที่ 4 ปรากฏในรูปแบบนี้พร้อมส่วนต่าง ๆ ที่มีหมายเลขใน ผลงานสะสมของ กยับเจ ตริจัง ดอเจชัง (The Collected Works of Kyabje Trijang Dorjechang) รองครูพิเศษที่ล่วงลับไปแล้วของสมเด็จองค์ดาไลลามะ อย่างไรก็ตาม หากสนใจโครงร่างและตัวเลขมากเกินไป มันก็เหมือนกับตอนที่เรามีจานที่มีโมโม่ (เกี๊ยว) 7 ชิ้นอยู่ข้างหน้าเรา แทนที่จะกินมัน เราอยากให้ใครสักคนมาพิสูจน์ว่ามันมีอยู่กี่ชิ้น แหล่งที่มาของรูปร่างของมัน ฯลฯ  แค่นั่งลงและกินมันก็เท่านั้น!

Top