ข้อกังวลทางโลก 8 ประการและกรอบความคิด

ข้อกังวลทางโลก 8 ประการ

นอกจากประสบการณ์และความรู้สึกภายในจิตใจของเราแล้ว ยังมีเนื้อหาในชีวิตของเราอีกด้วย ตรงนี้ มันเป็นสิ่งเดียวกัน เราควรพยายามที่จะไม่ทำมันให้เป็นเรื่องใหญ่ คำสอนทางพระพุทธศาสนาเน้นที่สิ่งที่ไม่ยั่งยืน 8 ประการในชีวิตที่เรียกว่า “ข้อกังวลทางโลก 8 ประการ” หรือ “โลกธรรม 8” ตามหลักการเดียวกันของทุกสิ่งที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา นั่นคือ มีขึ้นและลง

การได้และการเสีย

บางครั้งเราได้ บางครั้งเราเสีย ในด้านการเงิน บางครั้งเราหาเงินได้และบางครั้งเราก็เสียเงินไป บางครั้งเราซื้ออะไรบางอย่างมาและมันก็ดีมาก (มันเป็นการได้) แต่บางครั้งมันก็พังเร็ว (มันเป็นการเสีย) เช่นเคยว่า ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้ มันเหมือนกับการเล่นเกมไพ่หรือเกมของเด็ก ๆ บางครั้งเราก็ชนะและบางครั้งเราก็แพ้ แล้วไง? ไม่มีอะไรพิเศษ

อันที่จริงเราต้องเตือนตัวเราเองว่า อย่าเป็นเหมือนเด็กน้อยที่ร้องไห้เมื่อแพ้ แล้วตะโกนว่า “ฉันอยากจะชนะ!” ทำไมคุณต้องชนะเสมอ? มันเหมือนกับหวังว่าทุกคนจะชอบฉัน มีคำกล่าวที่เป็นประโยชน์ในพระพุทธศาสนาว่า “ไม่ใช่ทุกคนชอบพระพุทธเจ้า แล้วเราจะคาดหวังอะไรสำหรับตัวเราเอง ทุกคนจะต้องชอบเรางั้นหรือ?” เห็นได้ชัดว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ทุกคนที่จะกดปุ่มไลค์บนหน้าเฟซบุ๊ก (Facebook) ของเรา บางคนก็แค่ไม่ชอบเรา แล้วจะต้องทำยังไง? มันเป็นเรื่องปกติโดยสิ้นเชิง

ทั้งหมดเป็นเรื่องของการได้และการเสีย เมื่อเราคบกับใครสักคน สุดท้าย มันก็จะจบลง ก่อนหน้านี้ เราได้ใช้ภาพของนกป่าที่หน้าต่างที่มันเกิดขึ้นอยู่สักพักหนึ่ง แต่เพราะมันเป็นอิสระ มันก็เลยบินจากไป มันก็เหมือนกันในความสัมพันธ์ ไม่ว่าคุณจะพูดว่า “อย่าทิ้งฉันไป ฉันไม่สามารถอยู่ได้โดยปราศจากคุณ” และแม้ว่าคุณจะอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต คุณคนหนึ่งก็จะต้องตายก่อนอีกคนอย่างไม่ต้องสงสัย เราได้เพื่อน เราเสียเพื่อน ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนั้น นั่นเป็นเพียงวิถีทางที่ชีวิตเป็น มันไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถที่จะรู้สึกมีความสุขเมื่อเรามีเพื่อนคนนั้นและเศร้าเมื่อเราสูญเสียพวกเขาไป การไม่รู้สึกอะไรเลยอาจเป็นทัศนคติของ “อะไรก็ได้” และนั่นก็ไม่เหมือนกับ “ไม่มีอะไรพิเศษ” เลย แต่เราจะไม่ไปสุดโต่งและเราจะไม่ทำมันให้เป็นเรื่องใหญ่

มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะมองดูตัวเราเองและดูว่าเราตอบสนองต่อการได้และการเสียอย่างไร ผมมักจะมองตัวเองเป็นตัวอย่างเพราะผมค่อนข้างจะหมกมุ่นอยู่กับเว็บไซต์ของผม มันครอบงำทั้งความคิดและกิจกรรมของผมตลอดทั้งวัน แน่นอนว่าเรามีโปรแกรมสถิติและทุกวันผมก็รู้ว่ามีคนกำลังอ่านมันอยู่กี่คน ถ้ามันมีการเพิ่มขึ้นในหนึ่งวัน ก็ถือว่าดีมากจริง ๆ แต่ถ้าไม่ถึงจำนวนหนึ่งหรือที่ผมคิดว่ามันควรจะเป็น นั่นก็คงไม่ดีนัก นั่นคือการได้และการเสีย

ในแง่หนึ่ง ผมรู้สึกมีความสุขในระดับต่ำมาก ไม่ใช่เรื่องดราม่าอะไร เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน มีการเข้าชมเราถึง 6,000 ครั้งในหนึ่งวัน ซึ่งจริง ๆ แล้ว “ว้าว 6,000 ครั้ง นั่นเยอะมาก!” แต่ความสุขจากสิ่งนั้นมันเล็กน้อยมาก มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เพราะมันไม่ได้ทำอะไรเลยจริง ๆ ความรู้สึกคือ “นั่นก็ดี แล้วตอนนี้ยังไง? มีอะไรใหม่อีกบ้าง?” จากนั้นอีกวันมันก็ลดลงเหลือ 4,500 วิว ผมรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย “โอ้ วันนี้ไม่ค่อยมีคนดูเลย” แต่สิ่งที่ดูเหมือนเด่นชัดกว่าคือ ความหมกมุ่นในตัวเอง ซึ่งผมก็สารภาพว่าผมอยากดูสถิตินั้นตลอดเวลา พระพุทธศาสนากล่าวว่า การหมกมุ่นอยู่กับตนเองนี้แข็งแกร่งกว่าการหมกมุ่นอยู่กับสิ่งอื่นมาก เนื่องจากการคิดถึง “ฉัน” เป็นสัญชาตญาณอย่างมาก มันไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาด้วยซ้ำว่าคิดว่าตัวเองยอดเยี่ยม หรือยิ่งใหญ่ หรือไม่มีใครรักเรา แต่มันก็มีความคิดเบื้องหลังนี้อยู่ที่นั่นเสมอ

คุณอาจนึกถึงตัวอย่างของคุณเองได้ อาจเป็นอะไรที่เกี่ยวกับเฟซบุ๊กหรือข้อความ? วันนี้ฉันได้รับข้อความกี่ข้อความ? วันนี้ใครชอบโพสต์ของฉันบ้าง? เราเช็คเฟซบุ๊กบ่อยแค่ไหน หรือหยิบโทรศัพท์ออกจากกระเป๋าเพื่อดูว่ามีอะไรเข้ามาหรือไม่? ก่อนนี้ ไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่ผู้คนก็ทำแบบเดียวกันกับบุรุษไปรษณีย์ “วันนี้คุณมีจดหมายถึงฉันไหม?” ถ้าไม่มีจดหมายก็ “โอ้ ไม่มีใครชอบฉัน” หรือเป็นเพียงแค่แผ่นพับโฆษณาและเราก็ไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น ทัศนคติที่ว่า “ไม่มีอะไรพิเศษ” นี้สามารถช่วยให้อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ น้อยลงมาก เพราะเราจะมีความสมดุลทางอารมณ์และมีใจสงบต่ออะไรก็ตามที่กำลังเกิดขึ้นมากขึ้น สิ่งที่ยากกว่านั้นมากคือ การจัดการกับความหมกมุ่นอยู่กับความต้องการที่จะตรวจสอบและดูว่ามีอะไรเข้ามาอยู่เสมอ

การเปลี่ยนทัศนคติเป็นกระบวนการที่ช้าและยาวนาน สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแต่ค่อย ๆ เปลี่ยน มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจเมื่อคุณเริ่มมองตัวคุณเองในแบบที่เป็นจริงมากขึ้น โดยที่คุณเห็นว่า “ฉันกลายเป็นทาสของคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือของฉัน เพราะฉันต้องมองดูมันอยู่เสมอ ฉันต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่ามีคนตอบฉันกี่คน ทำไมฉันถึงกลายเป็นทาส?” มองดูที่ผู้คนบนรถไฟใต้ดินทั้งหมดว่ามีโทรศัพท์มือถืออยู่ในมือของพวกเขามากแค่ไหน ทำไม? เพราะมีการคำนึงถึงแต่ตนเองและไม่มั่นใจในตนเอง โดยมีความคิดว่า “ฉันไม่อยากพลาดโอกาสอะไรบางอย่างไป” ทำไม? อะไรที่มันช่างสำคัญจริง ๆ? บางสิ่งอาจมีความสำคัญ เราไม่ได้พูดว่าไม่มีอะไรเลยที่สำคัญ แต่เราพูดเกินจริงถึงความสำคัญของการติดต่อตลอดเวลา การออนไลน์ตลอดเวลา เป็นการดีที่จะวิเคราะห์สิ่งนี้ในแง่ของความสมดุลทางอารมณ์ของเราเอง

ดังนั้น บางครั้งเราก็ชนะ บางครั้งเราก็แพ้ นี่คือชุดหนึ่ง

สิ่งต่าง ๆ เป็นไปด้วยดีและไม่ดี

ชุดข้อกังวลที่สองคือ บางครั้งสิ่งต่าง  ๆ ก็เป็นไปด้วยดี และบางครั้งสิ่งต่าง ๆ ก็แย่ เราสามารถเข้าใจสิ่งนี้ได้ในหลายระดับ แต่ก็เช่นเคยว่า คำตอบคือ “ไม่มีอะไรพิเศษ” วันหนึ่งอาจจะผ่านไปด้วยดี แล้ววันต่อไปอาจจะเต็มไปด้วยอุปสรรค ผู้คนทำให้เราลำบากและทุกอย่างดูเหมือนจะผิดพลาดไปหมด นี่เป็นปกติ ในตอนเช้า พลังงานของเราอาจสูงได้ และในตอนบ่าย มันก็อาจต่ำมากได้ บางครั้งเราก็สุขภาพดี บางครั้งเราก็เป็นหวัด ไม่มีอะไรพิเศษ

การยกย่องและการวิจารณ์

ชุดข้อกังวลต่อไปคือ การยกย่องและการวิจารณ์ บางคนยกย่องเรา บางคนวิจารณ์เรา เราจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร? ไม่ใช่ทุกคนที่ยกย่องสรรเสริญพระพุทธเจ้า บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกพี่ลูกน้องของพระองค์ เป็นคนช่างวิจารณ์อย่างมาก แล้วเหตุใดเราจึงควรคาดหวังให้ทุกคนยกย่องเรา?

ผมจะใช้ตัวอย่างของตัวผมเองอีกครั้ง ผมได้รับอีเมลมากมายเกี่ยวกับเว็บไซต์ของผม และในขณะที่คนส่วนใหญ่บอกว่าเว็บไซต์มีประโยชน์ต่อพวกเขาเพียงใด แต่บางครั้งก็มีการวิจารณ์มัน แน่นอนว่ามันง่ายกว่าที่จะจัดการกับคำยกย่องชมเชย ส่วนคำวิจารณ์อาจรบกวนจิตใจของเรามากขึ้นได้

ด้วยการยกย่อง เราไม่ควรคิดไปสุดโต่งว่าเรายอดเยี่ยมหรือตรงกันข้ามว่า “ฉันไม่สมควรได้รับมัน ถ้าพวกเขารู้จักตัวตนที่แท้จริงของฉันจริง ๆ พวกเขาจะไม่ชอบฉัน” แต่มันก็ง่ายกว่ามากที่จะจัดการกับการยกย่อง แล้วทำไมจัดการกับการวิจารณ์จึงยากกว่ามาก? ก็เป็นเพราะเรารักตัวเอง ด้วยการฝึกทัศนคติ เรามองที่พวกเขามากกว่าที่เรา ดังนั้น เราจึงจะคิดถึงสิ่งที่เราทำซึ่งอาจทำให้พวกเขาส่งคำวิจารณ์มาที่เรา ถ้าเราสามารถช่วยอะไรได้ แม้ว่าจะเป็นเพียงคำขอโทษก็ตาม “ฉันรับทราบว่านี่อาจทำให้คุณยุ่งยากลำบาก ฉันขอโทษจริง ๆ นั่นไม่ใช่ความตั้งใจของฉัน” เราค่อย ๆ เปลี่ยนการมุ่งเน้นจากการคำนึงถึงแต่ตนเองเป็นการคำนึงถึงผู้อื่นได้ 

เราสามารถทำสิ่งนี้ได้ในการมีปฏิสัมพันธ์ตามปกติในชีวิตประจำวันของเรากับผู้อื่น บางครั้ง พวกเขาจะมีความสุขกับเราและบางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อมีคนมีความสุขกับเรา มันก็เป็นเรื่องง่าย จากนั้น เราก็จะมีคนบางคนในชีวิตของเราที่จัดการได้ยากและมักจะวิจารณ์เราหรือคิดลบต่อเรา ทัศนคติของเราที่มีต่อพวกเขาเป็นอย่างไร? เรารับรู้พวกเขาเพียงแค่ว่าเป็นบุคคลเจ้าปัญหาและไม่เป็นที่พอใจเท่านั้นหรือไม่? หรือเราตระหนักดีว่าพวกเขาเป็นคนที่ไม่มีความสุขมาก? ผมแน่ใจว่าคุณทุกคนมีคนแบบนั้นในชีวิตของคุณ พวกเขาโทรหาคุณหรือต้องการพบปะกับคุณและทานอาหารกลางวันด้วย และคุณก็รู้ว่าพวกเขาจะพูดคุยเกี่ยวกับตัวเองและบ่น 100% เลย คุณอาจจะคิดว่า “อี๊ คนนี้อีกแล้ว” แต่คุณก็ไม่สามารถพูดได้เสมอว่าคุณยุ่ง!

ถ้าการตอบสนองของเราคือ การคิดว่าการอยู่กับพวกเขาและฟังพวกเขาบ่นเป็นเรื่องที่ไม่น่าพอใจขนาดไหน เราก็สามารถเปลี่ยนมุมมองของเราได้ คน ๆ นี้บ่นตลอดเวลาเพราะเขาไม่มีความสุขจริง ๆ และก็เหงาเหมือนกัน คนที่บ่นมักจะเป็นเพราะไม่มีใครอยากอยู่กับพวกเขา ดังนั้น ถ้าเราจำเป็นจะต้องใช้เวลาร่วมกับพวกเขา เราก็สามารถพัฒนาความเห็นอกเห็นใจได้มากขึ้น และนี่ไม่ใช่ประสบการณ์ที่เลวร้ายเพราะเราคิดในแง่ของพวกเขา ไม่ใช่ในแง่ของ “ฉัน”

การได้ยินข่าวดีและข่าวร้าย 

ข้อกังวลชุดที่ 4 คือ การได้ยินข่าวดีและข่าวร้าย ก็เหมือนก่อนหน้านี้ที่ว่า ทุกสิ่งมีขึ้นมีลงเสมอ แน่นอนว่าชุดที่สี่นี้ทับซ้อนกันอยู่และหลักการของ “ไม่มีอะไรพิเศษ” ก็ใช้กับแต่ละชุดใน 8 ชุดข้อกังวลนี้ ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับการได้ยินไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคนในชีวิตของพวกเขา

ตอนนี้ บางคนอาจจะคัดค้านการฝึกประเภทนี้ โดยอ้างว่าพวกเขาชอบอยู่บนรถไฟเหาะตีลังกาทางอารมณ์เพราะถ้าคุณไม่มีขึ้น ๆ ลง ๆ แสดงว่าคุณไม่มีชีวิตจริง ๆ แต่เราต้องตรวจสอบว่านี่เป็นทัศนคติที่เป็นประโยชน์ที่ควรมีหรือไม่

อย่างแรกคือ ไม่ว่าเราจะอยู่บนรถไฟเหาะตีลังกาทางอารมณ์หรือไม่ เราก็ยังมีชีวิตอยู่ นั่นเป็นการคัดค้านที่ไร้สาระ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราอยู่บนรถไฟเหาะตีลังกาทางอารมณ์? เราไม่ได้คิดอย่างมีเหตุผลเพราะเรารู้สึกท่วมท้นไปด้วยอารมณ์ ถ้าเราสงบสติอารมณ์มากขึ้น ชีวิตของเราก็จะไม่ดราม่านัก และเราก็จะสามารถจัดการกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้นมาก ถ้าคุณคิดไม่ชัดเจนและโกรธ แสดงว่าคุณจะพูดสิ่งที่จะทำให้คุณเสียใจในภายหลัง การมีสติในแง่ของอารมณ์หมายความว่าเราจะไม่ทำเรื่องแบบนี้ และในแง่ของทุกคนที่ต้องการความสุข ความสุขที่สงบแบบนี้จะมั่นคงกว่าแบบ “โอ้ เย้ วู้ปี้!” ความสุขที่มันดราม่าอะไรแบบนั้น

กรอบความคิดสำหรับ “ไม่มีอะไรพิเศษ”

เรามาดูพื้นฐานหรือกรอบความคิดสำหรับทัศนคตินี้ที่เราได้พูดคุยไปแล้วกัน ตรงนี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจแนวความคิด แนวความคิดคืออะไร? แนวความคิดคือ การมองดูสิ่งต่าง ๆ หรือการประสบกับสิ่งต่าง ๆ ผ่านหมวดหมู่ซึ่งอาจเป็นเหมือน “สิ่งพิเศษ” มันเหมือนกับมีกล่องจิตใจอะไรบางอย่าง และเมื่อเราประสบกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะใส่มันเข้าไปในกล่องจิตใจของ “สิ่งพิเศษ”  

เราทำสิ่งนี้ตลอดเวลาเพราะมันเป็นวิธีที่เราจะสามารถทำความเข้าใจและประมวลผลสิ่งต่าง ๆ ได้ มีกล่องจิตใจของ “ผู้หญิง” ฉันเห็นคน ๆ หนึ่งและฉันก็ใส่เธอลงไปในกล่องจิตใจของ “ผู้หญิง” เช่นนี้ เราก็สามารถรวมเอาสิ่งต่าง ๆ ที่เราประสบมาไว้ในกล่องจิตใจที่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น คน ๆ เดียวกันนี้ที่เราใส่ลงใน “ผู้ชาย” หรือ “ผู้หญิง” ก็อาจกลายเป็น “คนหนุ่ม” หรือ “คนแก่” หรือ “ผมสีบลอนด์” หรือ “ผมสีเข้ม” ได้เช่นกัน มีมากมายหลายกล่อง

ในสภาพความเป็นจริง ไม่มีสิ่งต่าง ๆ อยู่ในกล่อง  แม้ว่ามันอาจจะดูชัดเจน  แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากมากที่จะเข้าใจและแยกแยะได้จริง ๆ เช่น เราอาจเอาใครมาอยู่ในกล่อง “คนที่แย่มาก” แต่ก็ไม่มีใครดำรงอยู่ได้แค่เป็นคนแย่ ๆ เท่านั้น เพราะถ้าเขามีตัวตนแบบนั้นจริง ๆ ทุกคนก็คงจะเห็นเป็นแบบเดียวกัน และเขาก็น่าจะต้องเป็นแบบนั้นตั้งแต่เวลาตอนที่พวกเขายังเป็นทารกอยู่

กล่องจิตใจเหล่านี้ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งต่าง ๆ และทัศนคติของเราต่อผู้อื่นนั้นก็ได้ถูกกำหนดไว้ตามประเภทของกล่องจิตใจที่เราใส่สิ่งต่าง ๆ ลงไป เราต้องจำไว้ว่ากล่องจิตใจเหล่านี้เป็นเพียงโครงสร้างทางจิตใจและไม่ได้หมายถึงความเป็นจริง ไม่มีกล่องเหล่านั้นอยู่ตรงนั้น ใช่ไหม?!

เราสร้างกล่องเหล่านี้อย่างไร?

ตอนนี้ เรามาดูกันว่าเราระบุและวางสิ่งต่าง ๆ ในกล่องจิตใจแบบนี้แทนที่จะเป็นกล่องจิตใจแบบนั้น อย่างไร เราทำสิ่งนี้บนพื้นฐานของคุณสมบัติบางอย่างของสิ่งที่เราคิดว่าแตกต่างจากสิ่งอื่นจริง ๆ สิ่งนี้อาจเรียกได้ว่า “ลักษณะที่กำหนด” ซึ่งเป็นศัพท์เทคนิคสำหรับมัน ตัวอย่างง่าย ๆ น่าจะเป็นการดูว่าคุณลักษณะที่กำหนดคืออะไรตอนที่เราใส่สิ่งต่าง ๆ ลงในกล่องของการเป็น “สี่เหลี่ยมจัตุรัส” มันมีสี่ด้านเท่ากัน ดังนั้น เราจึงใส่ของที่มีนี้ลงในกล่องจิตใจที่เรียกว่า “สี่เหลี่ยมจัตุรัส”

นั่นเป็นหมวดหมู่ง่าย ๆ แต่ถ้าเป็นหมวดหมู่ของ “คนน่ารำคาญ” ล่ะ? อะไรคือคุณลักษณะของบุคคลที่ทำให้เราเห็นพวกเขาอยู่ในกล่อง “คุณเป็นคนน่ารำคาญ” นี้? มันน่าสนใจที่จะลองดูว่าอะไรที่น่ารำคาญจริง ๆ แมลงวันบินวนเวียนรอบศีรษะคุณและบุคคลนี้มีอะไรที่เหมือนกันที่ทำให้เราใส่ทั้งสองลงในกล่อง “น่ารำคาญ” นี้?

สิ่งที่ผมจะบอกก็คือว่า ทั้งสองอย่างนั้นทำบางอย่างที่ทำให้ฉันเสียสมดุลทางอารมณ์และความสงบของจิตใจ นั่นคือ สภาวะจิตใจที่สงบของฉัน ดังนั้น ที่จริงแล้ว เรากำลังกำหนดกล่องจิตใจในแง่ของตัวฉัน ไม่ใช่ในแง่ของทั้งสองสิ่งนั้น เพราะสิ่งที่ผมเห็นว่าน่ารำคาญ คุณอาจจะไม่รู้สึกว่าน่ารำคาญ และสำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ผมสูญเสียความสงบแห่งจิตใจ นั่นก็อาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจผมจริง ๆ ที่ทำให้ผมคลั่งไคล้ก็ได้ ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่เรานิยามสิ่งต่าง ๆ และใส่มันลงไปในกล่องต่าง ๆ ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองทั้งสิ้น

แล้วเราก็มีความรู้สึกเหล่านี้ทั้งหมด ตอนนี้ มันเริ่มน่าสนใจแล้ว (บางทีมันอาจน่าสนใจอยู่แล้วก็ได้) ดังนั้น เราจึงมีกล่องจิตใจของ “ความสุข” คุณใส่สิ่งต่าง ๆ ลงในกล่องแห่ง “ความสุข” อย่างไร? นั่นมันพูดยาก มีคนถามเราว่า “คุณมีความสุขไหม?” เราไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรด้วยซ้ำ ถ้าเราถามตัวเองว่า “ฉันมีความสุขไหม?” ฉันก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันหมายถึงอะไร? แล้วอะไรคือลักษณะที่กำหนดไว้ของการมีความสุข? เราต้องการความสุขมากมาย แต่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าความสุขคืออะไร แปลกใช่ไหม? คำจำกัดความคือ สิ่งที่เมื่อคุณประสบกับมัน คุณไม่ต้องการที่จะแยกจากมัน คุณต้องการให้มันดำเนินต่อไป นั่นคือคำจำกัดความที่เราพบในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งก็ช่วยเราได้เล็กน้อย

แล้วเฟซบุ๊กล่ะ? เรานิยามสิ่งต่าง ๆ ว่า “ชอบ” อย่างไร? มันอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เรายิ้มและทำให้เรารู้สึกดี แต่ลองนึกภาพถ้าคุณต้องมองดูมันและไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่นเลยทั้งวัน เราอาจจะไม่ชอบมันอีกต่อไปใช่ไหม? ดังนั้น มันจึงแปลก ไม่ใช่หรือ?

เมื่อคุณมีแนวความคิด มันก็มักจะมีภาพในจิตใจของสิ่งที่เป็นตัวแทนของหมวดหมู่นั้น ๆ เสมอ ดังนั้น เมื่อคุณคิดถึง “สุนัข” คุณก็จะมีภาพทางใจของสุนัข ซึ่งผมแน่ใจว่ามันจะแตกต่างกันไปสำหรับทุกคน มันเหมือนกันกับภาพในจิตใจของสิ่งที่แสดงถึงคนที่เซ็กซี่หรือคนที่น่ารำคาญ

แล้วสิ่งที่แสดงถึงสิ่งที่ฉันชอบคืออะไร? นั่นยิ่งยากกว่า แต่เราก็มีวิธีพูดแบบนี้ไม่ใช่หรือว่า “ฉันชอบสไตล์นี้ ฉันชอบอาหารประเภทนี้ ฉันชอบหนังแนวนี้ ผู้หญิงคนนั้นไม่ใช่สเปกของฉัน ผู้ชายคนนั้นคือสเปกของฉัน” อะไรแสดงถึงสิ่งที่ฉันชอบ? ด้วยรูปภาพบนเฟซบุ๊ก เราเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของเราในสิ่งที่เราชอบแล้วก็ใส่มันลงในหมวด “ชอบ” ใช่หรือไม่? เราต้องจำไว้ว่าทั้งหมดนี้มาจากจิตใจของเรา ไม่ใช่จากตัววัตถุเอง ถ้ามีบางสิ่งที่มาจากวัตถุนั้น เช่น ความน่าชื่นชอบภายในวัตถุนั้น ทุกคนก็น่าจะชอบมัน ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องความคิดของแต่ละบุคคล

การนิยามคำว่า “พิเศษ”

ขั้นตอนต่อไปคือ การพิจารณาว่าอะไรทำให้บางสิ่งบางอย่างพิเศษ มีบางอย่างทางด้านของวัตถุนั้นหรือเพียงแค่กล่องจิตใจของ “สิ่งพิเศษ” ที่เรานิยามขึ้นเองหรือไม่? เมื่อเราดูว่าอะไรทำให้บางสิ่งบางอย่างพิเศษ เราจะเริ่มเข้าใจพื้นฐานทางทฤษฎีสำหรับ “ไม่มีอะไรพิเศษ” ไม่มีอะไรพิเศษอย่างแน่นอนทางฝั่งของวัตถุนั้น ความคิดใด ๆ ที่ว่า “พิเศษ” ล้วนมาจากความคิดของเราเอง จากกรอบความคิดของเราเองที่ว่า “พิเศษ” มันเป็นตัวกรองที่เรารับรู้ผ่านสิ่งต่าง ๆ นั่นคือ สิ่งนี้พิเศษและสิ่งนั้นไม่พิเศษ

จากนั้น เราก็สามารถถามตัวเองได้ว่า เรานิยามคำว่าพิเศษอย่างไร? บางคนจะบอกว่า ก็ตอนที่บางสิ่งบางอย่างมันไม่เหมือนใคร เช่น “นี่คือภาพวาดที่พิเศษจริง ๆ” หรือ “นี่คืออาหารมื้อพิเศษ” แต่ทุกอย่างมันก็ไม่ซ้ำกัน ไม่ใช่เหรอ? ไม่มีสองสิ่งใดที่เหมือนกันทุกประการ กะหล่ำปลีแต่ละหัวในกองกะหล่ำปลีก็เป็นกะหล่ำปลีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

จากนั้น คุณอาจจะคิดว่า “อืม สิ่งต่าง ๆ จะต้องแตกต่างออกไป การที่จะพิเศษนั้น มันจะต้องแตกต่าง” แต่ต้องแตกต่างกันแค่ไหน? เราจะวาดเส้นแบ่งระหว่างธรรมดากับพิเศษได้อย่างไรและตรงไหน? เราจะสามารถตัดสินใจได้อย่างไร?

จากนั้น คุณก็อาจพูดว่าสิ่งพิเศษจะต้องเป็นสิ่งใหม่ แต่นั่นเป็นเรื่องใหม่สำหรับฉันหรือใหม่สำหรับจักรวาล? เรามักจะนิยามทุกอย่างในแง่มุมของ “ฉัน” และทุกประสบการณ์ที่เราเคยมีว่าใหม่ ไม่ใช่หรือ? ผมไม่ได้ประสบสิ่งเดียวกันกับที่ผมประสบเมื่อวานนี้เหมือนวันนี้ วันนี้ไม่ใช่เมื่อวาน ดังนั้น ในแง่หนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างมีความพิเศษ ซึ่งจริง ๆ แล้วหมายความว่าไม่มีอะไรพิเศษ ทุกอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทุกอย่างแตกต่างกันออกไป และทุกอย่างมีความเฉพาะตัว ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่เราจะถือว่าพิเศษได้เลย ถ้าเราพูดว่าบางอย่างพิเศษเพราะเราชอบมัน แต่เราทุกคนรู้ว่าสิ่งที่เราชอบเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเราได้รับมันมากเกินไป เราก็จะไม่ชอบมันอีกต่อไป และถ้าเรามีมันนานเกินไป เราก็จะเบื่อ

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่เราพัฒนาฝึกฝนเพื่อช่วยให้เราเอาชนะการเสพติดในการใส่สิ่งต่าง ๆ ลงในกล่อง “พิเศษ” นี้ “สิ่งที่ฉันรู้สึกตอนนี้สำคัญมาก” เพราะอะไร? ทำไมมันจึงอยู่ในกล่อง “สำคัญ” นี้? ดังนั้น สิ่งที่เราพยายามทำก็คือ ไม่มองดูสิ่งใด ๆ ในกล่องจิตใจที่ไม่จำเป็น แน่นอนว่ามีกล่องที่มีประโยชน์และจำเป็น เราจะไม่สามารถเข้าใจภาษาได้หากปราศจากมัน ผู้คนสร้างเสียงที่แตกต่างกันด้วยสำเนียงและระดับเสียงที่แตกต่างกันเพื่อพูดคำเดียวกัน ซึ่งเราก็แค่เข้าใจได้เนื่องจากมีกล่องจิตใจสำหรับคำนั้น

ดังนั้น เราจึงไม่สามารถทิ้งกล่องทั้งหมดได้ กล่องจิตใจบางอย่างไม่เป็นประโยชน์เพราะเป็นความคิดส่วนตัวล้วน ๆ เช่น “สิ่งพิเศษ” เมื่อคุณเริ่มวิเคราะห์มัน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่อยู่ในทัศนคติของเรา นั่นคือ สิ่งที่เราเชื่อว่าพิเศษแม้ว่าเราจะไม่สามารถนิยามได้ว่าพิเศษคืออะไรก็ตาม

ด้วยแนวทางนี้ เราไม่เพียงแค่ใช้การควบคุมตนเองและวินัยในการพูดว่า “ฉันจะไม่มองดูสิ่งต่าง ๆ เป็นสิ่งพิเศษ” เพราะนั่นเป็นเรื่องยากมากที่จะนำไปใช้ได้ แต่ด้วยความเข้าใจ เราก็จะเห็นได้ว่าเนื่องจากทั้งหมดเป็นเพียงโครงสร้างทางจิตใจ ดังนั้น มันจึงไม่มีอะไรพิเศษเลยจริง ๆ

การฝึกฝนจิตใจด้วยการทำความเข้าใจแนวความคิด

มีหลายระดับที่เราสามารถทำงานกับทัศนคติของเราผ่านการฝึกฝนจิตใจ เราสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านกล่องจิตใจต่าง ๆ และเราสามารถเปลี่ยนวัตถุต่าง ๆ ที่เรารับรู้จากกล่องหนึ่งไปยังอีกกล่องหนึ่งได้ ดังนั้น แทนที่จะใส่ใครสักคนใน “คนที่น่ารำคาญและขี้บ่น” เราใส่พวกเขาใน “คนไม่มีความสุขและโดดเดี่ยว” ซึ่งเปลี่ยนวิธีการจัดการกับบุคคลนั้นทั้งหมดของเรา เราตระหนักดีว่าไม่มีอะไรทางด้านของคน ๆ นั้นที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้หรือแบบนั้นโดยกำเนิด แต่นั่นมันเป็นทัศนคติของเราต่อวิธีที่เรารับรู้พวกเขาซึ่งส่งผลต่อวิธีที่เราประสบและจัดการกับพวกเขาอย่างไร

หมวดหมู่ทางจิตใจบางอย่างเช่น “พิเศษ” นั้นก็แค่ไม่มีประโยชน์เลย มีคนพิเศษและโอกาสพิเศษ และอะไรทั้งหมดแบบนั้น แต่คุณเคยคิดบ้างไหมว่ามันช่างเป็นไปตามอำเภอใจแค่ไหนตอนที่เราคิดว่าวันเกิดหรือวันปีใหม่นั้นช่างพิเศษเหลือเกิน? อะไรทำให้มันพิเศษ? ก็แค่คนตัดสินว่ามันพิเศษ ไม่มีอะไรพิเศษเป็นพิเศษเกี่ยวกับวันที่ 1 มกราคม และวันที่นั้นก็ไม่ได้สัมพันธ์กับสิ่งใดในทางดาราศาสตร์ด้วยซ้ำ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และคุณก็ไม่สามารถจัดวางจุดเริ่มต้นได้ว่า “อ้า! นี่เป็นวันแรกของปี” ไม่มีที่หนึ่ง นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมแต่ละวัฒนธรรมจึงมีปีใหม่ของตัวเอง ไม่มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนั้น ถ้าคุณอยู่ในวัฒนธรรมที่มีการเฉลิมฉลองปีใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนขี้บ่นหรือคิดว่ามันไร้สาระ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องตื่นเต้นมากเกินไปและทำมันให้เป็นเรื่องใหญ่

เมื่อเราเข้าใจลักษณะพื้นฐานว่ากรอบความคิด พร้อมกับกล่องจิตใจและหมวดหมู่ รวมทั้งลักษณะหรือคุณลักษณะที่นิยามไว้เหล่านี้ทำงานอย่างไรแล้ว เราก็สามารถใช้มันตอนที่มันมีประโยชน์และปล่อยมันไปเมื่อมันไม่มีประโยชน์ได้

สุดท้ายนี้ เมื่อเราเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงทัศนคติของเรา มันจำเป็นต้องมีแรงจูงใจและความอดทนอย่างมาก ยิ่งเราคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงผ่านการฝึกฝนซ้ำ ๆ มากเท่าไหร่ การเปลี่ยนแปลงก็จะยิ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่เราต้องทำทั้งหมดเวลาที่เรารู้สึกไม่มีความสุขคือ การเตือนตัวเราเองว่า “เฮ้ ฉันแค่คิดถึงฉัน ฉัน ฉันเท่านั้น”

การฝึกฝนทัศนคติเป็นกระบวนการที่ยาวนาน แต่ก็คุ้มค่ามาก

บทสรุป

เราตื่นขึ้นมาทุกเช้าด้วยเป้าหมายเดิม นั่นคือ เราต้องการอนาคตที่ดีขึ้นและมีความสุขมากขึ้น ในสิ่งนี้ เราทุกคนเหมือนกัน นอกจากนี้ เราทุกคนต่างก็เท่าเทียมกันในการที่จะคิดว่า “ฉัน” เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ก่อปัญหาให้เราไม่รู้จบ เนื่องจากการคำนึงถึงแต่ตนเองซึ่งดูน่าดึงดูดใจมากเพราะมันคอยดูแล “ฉัน” เราจึงวิ่งเข้าหาความทุกข์อย่างแท้จริง และหลีกหนีจากความสุขที่เราปรารถนา เมื่อเราเริ่มที่จะเข้าใจความเป็นจริงว่าสิ่งต่าง ๆ มีวิถีทางตามที่มันเป็น ทั้งหมดนี้ก็จะเปลี่ยนแปลง ชีวิตมีขึ้นมีลง และมันก็เป็นเช่นนั้นเสมอ เราไม่สามารถควบคุมสิ่งนี้ได้ แต่สิ่งที่เราควบคุมได้คือทัศนคติของเราเอง ทุกขณะ เราตอบสนองต่อสิ่งที่เราประสบอย่างไร ด้วยความพยายาม เราก็จะสามารถเปลี่ยนชีวิตของเราให้มีความสุขได้ โดยที่เราห่วงใยใส่ใจตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร

Top