“การฝึกจิตใจ” หมายถึง วิธีการที่จะเปลี่ยนรูปแบบที่เรามองบุคคลหรือสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม เราต้องระมัดระวังเกี่ยวกับคำว่า “การฝึกจิตใจ” เนื่องจากดูเหมือนว่ามันจะรวมถึงการฝึกในเรื่องของสมาธิและความจำด้วย นั่นไม่ใช่สิ่งที่มันพูดถึงอยู่จริง ๆ ในคำศัพท์ภาษาทิเบตสำหรับการฝึกจิตใจ blo-sbyong คำว่า blo ไม่ใช่แค่ "จิตใจ" เท่านั้น คำนี้มีความหมายแฝงของ “ทัศนคติ” มากกว่า คำว่า "การฝึก" ในภาษาทิเบตคือ sbyong ซึ่งมีอยู่สองความหมายคือ "ชำระล้าง" นั่นคือคุณชำระล้างทัศนคติเชิงลบออกไป และ "ฝึก" ในทางบวกมากขึ้น ดังนั้น บางครั้งมันก็ชัดเจนมากกว่าที่จะเข้าใจการฝึกจิตใจให้เป็น “การฝึกทัศนคติ”
ทัศนคติเชิงลบที่สำคัญที่จะต้องชำระล้างออกไปก็คือ ทัศนคติที่คำนึงถึงตัวเองของเรา ซึ่งรวมถึงการนึกถึงแต่ตัวเองและการเห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตัวเองเท่านั้น สิ่งที่ควรฝึกในเชิงบวกคือ ทัศนคติในการรักผู้อื่น ซึ่งรวมถึงการคิดถึงสวัสดิภาพของผู้อื่นด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจเป็นพื้นฐาน วิธีการที่ใช้ในเทคนิคการฝึกจิตใจทั้งหมดเข้ากันได้ดีกับแนวทางทั่วไปของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า “ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ”
ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ
พระพุทธเจ้าสอนวิธีเอาชนะปัญหาในชีวิตของเราในระดับที่ปฏิบัติได้จริง ในความเป็นจริง ทุกสิ่งที่ท่านสอนล้วนมีเป้าหมายเพื่อวัตถุประสงค์นี้ทั้งนั้น เราทุกคนมีปัญหามากมายหลายระดับและหลายประเภท บางอย่างหยาบและเจ็บปวดมาก มันทำให้เราเจ็บปวดมากมายทั้งทางร่างกาย จิตใจ หรือทั้งสองอย่าง บางอย่างเป็นปัญหาที่ละเอียด แต่แม้กระนั้นมันก็ทำให้เจ็บปวดมาก ตัวอย่างเช่น เราสนุกกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต แต่เรารู้สึกท้อแท้ผิดหวังเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้เราพอใจอย่างเต็มที่ มันไม่คงอยู่ตลอดไป มันจะเปลี่ยนไป สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตเราไม่เคยมั่นคง มันมีขึ้นและลง บางครั้งสิ่งต่าง ๆ ก็เป็นไปด้วยดี บางครั้งก็ไม่ดี และสิ่งที่ไม่มั่นคงจริง ๆ ก็คือ ความรู้สึกของเรา บางครั้ง เรารู้สึกมีความสุข บางครั้งก็ไม่มีความสุข บางครั้งดูเหมือนว่าเราไม่รู้สึกอะไรเลย และเราก็ไม่รู้ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในขณะเวลาต่อไป มันดูเหมือนว่าจะไม่ขึ้นอยู่กับผู้คนที่เราอยู่ด้วย หรือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เพราะทันใดนั้นอารมณ์ของเราก็เปลี่ยนไป
เราทุกคนมีปัญหาทางอารมณ์เช่นกัน และมันนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ในชีวิต สิ่งที่น่าท้อแท้จริง ๆ คือ ดูเหมือนว่ามันจะเกิดขึ้นซ้ำอีก ดูเหมือนว่าเราจะสร้างปัญหาให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าบางครั้งดูเหมือนว่ามันจะมาจากคนอื่นก็ตาม แต่ถ้าเราตรวจสอบอย่างละเอียดและตรงไปตรงมามากขึ้น เราจะเห็นว่าต้นตอของปัญหามากมายนั้นคือ ตัวเราเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติที่คำนึงถึงแต่ตัวเองเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต
พระพุทธเจ้าเห็นทั้งหมดนี้ ท่านตระหนักถึงสิ่งนี้ในชีวิตของท่านเอง และเห็นสิ่งนี้ในชีวิตของผู้อื่น ท่านเห็นว่าทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ในระดับโดยรวม เราทุกคนมีปัญหากับแค่เหตุการณ์ปกติของชีวิต เช่น การเกิด การเติบโต การเจ็บป่วย การแก่ชรา และการตาย รวมทั้งความรู้สึกของเราที่มีทั้งขึ้นและลงที่ควบคุมไม่ได้อยู่ตลอดเวลา แต่ท่านบอกว่าปัญหาที่เรามีกับสิ่งเหล่านี้เกิดจากสาเหตุ มันไม่ได้ไม่มีที่มาจากที่ไหนเลย มันไม่ได้มาจากมหาอำนาจภายนอกที่ส่งสิ่งเหล่านี้มาให้เรา ไม่ว่าเราจะเรียกพลังภายนอกนั้นว่า “พระเจ้า” หรือเราทำให้มันไม่มีตัวตนมากขึ้นและเรียกมันว่าชะตากรรมหรือพรหมลิขิตก็ตาม นั่นไม่ใช่ต้นตอของปัญหาจริง ๆ
ต้นตอที่แท้จริงของปัญหาของเราอยู่ภายใน และเมื่อเราพูดว่ามันอยู่ภายใน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ดีหรือเราผิดโดยสันดาน พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า คุณเกิดมาไม่ดี มาพร้อมกับบาป แต่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ต้นตอของปัญหาต่าง ๆ คือ ความสับสนของเราเกี่ยวกับความเป็นจริง มันไม่ใช่ว่าเราโง่ แต่มันเป็นเพียงแค่ในประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเราสิ่งต่าง ๆ ดูเหมือนว่าดำรงอยู่ในรูปแบบที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนี่เป็นจริงในแง่ของการที่เรามองดูตัวเองและผู้อื่น ซึ่งแน่นอนว่ามันจะหล่อหลอมทัศนคติต่าง ๆ ของเราที่มีต่อพวกเขาและต่อเรา เนื่องจากการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางและการคำนึงถึงแต่ตัวเองของเรา มันดูเหมือนว่าเราเป็นคนสำคัญที่สุด และเราควรมีสิ่งต่าง ๆ เป็นไปในแบบที่เราชอบเสมอ และสิ่งที่คนอื่นได้ประสบมันไม่สำคัญเลย ราวกับว่าสิ่งที่คนอื่นรู้สึกไม่สำคัญและไม่มีอยู่จริง ผมคิดว่า เราสามารถเข้าใจสิ่งนี้ได้ในแง่ของสิ่งที่เราประสบจำวนมากอยู่บนพื้นฐานของการฉายภาพและความคาดหวังที่ไม่สมจริงของเรา และไม่ใช่ในสถานการณ์จริงที่เราเผชิญ
แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มันเป็นไปได้ที่จะยุติสถานการณ์นี้ คือที่จะหยุดปัญหาเหล่านี้ในลักษณะที่ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก มันไม่ใช่ว่า เราจะถูกตีตราว่าจะต้องประสบปัญหาเหล่านี้ตลอดไป มันไม่ใช่ว่าทางออกเดียวคือ การที่เราใช้ยา หรือดื่มให้เมาเพื่อที่เราจะได้หยุดความเจ็บปวด และอย่างน้อยก็รู้สึกว่าเรารอดพ้นจากปัญหาต่าง ๆ ของเราได้ในขณะนั้น และมันก็ไม่ใช่แค่ว่า เราจำเป็นจะต้องจมลงไปในภาวะสมาธิที่ลึกซึ้งโดยไร้ความคิด แล้วคิดว่านั่นคงจะช่วยแก้ปัญหาของเราได้ วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว และมันไม่ได้ช่วยขจัดปัญหาของเราได้เลย ถ้าเราต้องการกำจัดปัญหา เราจำเป็นจะต้องกำจัดสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น เราจะต้องกำจัดความสับสนของตัวเอง เราจำเป็นจะต้องแทนที่ความสับสนด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เราต่างก็เหมือนกันที่ว่า ทุกคนต้องการมีความสุข และไม่มีใครอยากไม่มีความสุข และไม่มีใครมีสิทธิที่จะมีความสุขมากไปกว่าใครคนอื่น ยิ่งไปกว่านั้น เราก็แค่คนเดียว ส่วนคนอื่น ๆ ทั้งหมดก็มากเกินกว่าจะนับได้ หากเรามองเห็นความเป็นจริงนี้ และเปลี่ยนทัศนคติของเราตามนั้นอย่างช้า ๆ ขณะที่ความเข้าใจของเราเติบโตขึ้นอย่างลึกซึ้งและลึกซึ้งขึ้น สภาพทางอารมณ์ของเราก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน
การฝึกจิตใจ
เนื่องจากเราใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในโลกจินตนาการของการฉายภาพ ความสับสนของเราจึงหล่อหลอมทัศนคติที่เรามีต่อทุกสิ่งที่เราประสบ ด้วยทัศนคติที่คำนึงถึงแต่ตัวเอง เราจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางนั้นสร้างความทุกข์และปัญหาให้กับเราและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยทัศนคติที่เปลี่ยนไป ประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไปอย่างมาก
ตัวอย่างเช่น แทนที่จะคิดว่าความล่าช้าของเที่ยวบินของเราที่สนามบินเป็นภัยพิบัติส่วนตัว เราอาจแค่มองว่าความจริงก็คือ ตอนนี้เราและคนอื่น ๆ ในเที่ยวบินนั้นมีเวลามากขึ้นในบริเวณที่นั่งรอเที่ยวบิน จากนั้นแล้ว เราก็จะสามารถเปลี่ยนวิธีที่เรามองสถานการณ์นั้น และตอนนี้ด้วยทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับวิธีที่คนอื่น ๆ จัดการกับความล่าช้า เราจึงสามารถมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมโดยสาร และด้วยความสบายใจ ไม่อารมณ์เสีย มันก็จะช่วยให้บุคคลนั้นสงบลงและไม่ว้าวุ่น กระวนกระวายใจ เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย เราสามารถฝึกซ้อมร่างกายให้แข็งแรงและมีความทนทานมากขึ้น ในทำนองเดียวกันด้วยการทำสมาธิ เราจะสามารถฝึกจิตใจและทัศนคติของเราให้เข้มแข็งขึ้น และคิดบวกมากขึ้น และโดยปราศจากอารมณ์เสียเพื่อที่จะให้มีความทนทานมากขึ้นสำหรับสถานการณ์ที่อาจเข้ามารบกวน
การได้มาซึ่งความเข้มแข็งทางอารมณ์
บางครั้งเราสามารถเข้าใจได้ว่าปัญหาของเราคืออะไร เราเข้าใจดีว่าเรากำลังเผชิญกับอารมณ์ที่ไม่ดีบางประเภทเนื่องจากจิตใจของเราที่มันคับแน่นและคับแคบ คิดถึงแต่ตัวเอง แต่มันดูเหมือนว่าจะไม่เปลี่ยนอารมณ์ของเรา เรารู้สึกว่า ความเข้าใจของเราไม่สามารถส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเราได้จริง ๆ แต่ตรงนี้ปัญหามันอยู่ที่ว่ามันเป็นความเข้าใจที่ไม่ลึกซึ้งพอ ไม่เพียงแต่ไม่ลึกซึ้งพอ แต่มันยังไม่ “ซึมซับ” ในช่วงเวลาที่ยาวนานเพียงพอเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเรา
เรามาใช้ตัวอย่างในเรื่องของสุขภาพร่างกายกันอีกครั้งเพื่ออธิบายสิ่งนี้ สมมติว่า เรารู้สึกว่าร่างกายอ่อนแอ เหนื่อย และหนักอยู่ตลอดเวลา เราจึงเริ่มไปโรงยิมหรือสโมสรฟิตเนส และเริ่มออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อเราเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกาย มันไม่ได้เปลี่ยนความรู้สึกทางร่างกายเราในทันที มันจะใช้เวลาช่วงหนึ่ง โดยปกติก็หลายเดือนก่อนที่เราจะเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบในแง่ของสุขภาพของเรา อย่างไรก็ตาม ยิ่งเราออกกำลังกายนานเท่าไหร่ มันก็จะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันของเรา หลังจากนั้นไม่นานมันก็จะเปลี่ยนความรู้สึกของเราไปอย่างแท้จริงนั่นคือ เราจะเริ่มรู้สึกดีมาก เราจะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น และนั่นจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นในแง่ของวิธีจัดการกับผู้อื่น
สิ่งที่คล้ายกันนี้เกิดขึ้นเมื่อเรามีความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ อารมณ์ และทัศนคติต่าง ๆ ของเรา ยิ่งเรามีความเข้าใจมากขึ้นและยิ่งเตือนตัวเองเกี่ยวกับมันยาวนานมากขึ้นเท่าไหร่ ความเข้าใจของเราก็จะยิ่งลึกซึ้งขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์จะไม่เกิดขึ้นในทันที แต่เราจะเริ่มได้รับความสมดุล และความเข้มแข็งทางอารมณ์มากขึ้นเมื่อเราเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่าง ๆ ของเรา
ระดับของแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง
การไปฟิตเนสไม่เพียงแต่ต้องมีกฎระเบียบในตนเองเท่านั้น แต่ยังต้องมีสติ ซึ่งหมายถึงการจำว่าจะต้องไปและไม่ลืมที่จะไป พื้นฐานทั้งหมดของมันคือ สิ่งที่เราเรียกว่า "ทัศนคติที่ห่วงใย" เราห่วงใยตัวเอง ห่วงใยในการที่เรามองดู ความรู้สึก ฯลฯ เราให้ความสำคัญกับตัวเองอย่างจริงจัง และตามหลักแล้ว เราก็เคารพแทบจะทุก "สิทธิ" ที่เราต้องมีในการที่จะมีความสุขและรู้สึกดี ในที่นี้ สิ่งเดียวกันนี้เป็นจริงในแง่ของการเข้าใจตัวเอง เข้าใจว่าชีวิตทางอารมณ์ของเราทำงานอย่างไร นั่นก็ขึ้นอยู่กับการห่วงใยตัวเองเช่นกัน และรู้สึกว่า ใช่แล้ว เราก็มีสิทธิที่จะมีสุขภาพทางอารมณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน
ทัศนคติที่ห่วงใยเกี่ยวกับตัวเรานี้ แตกต่างจากทัศนคติที่คำนึงถึงแต่ตัวเองมาก ซึ่งด้วยทัศนคติคำนึงถึงแต่ตัวเองนี้ เราจะคิดถึงแต่ตัวเอง และเพิกเฉยต่อความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่น เราไม่สนใจว่าทัศนคติและพฤติกรรมของเราจะส่งผลต่อผู้คนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยหรือเพียงแค่พบเจอเท่านั้นอย่างไร ในทางกลับกัน ด้วยทัศนคติที่ห่วงใย เราตระหนักดีว่าความทุกข์และปัญหาในชีวิตของเรามาจากการนึกถึงแต่ตัวเอง และทัศนคติที่เห็นแก่ตัวของเรา และเพราะเราต้องการมีความสุข เราจึงมีความห่วงใยในตัวเองจนถึงจุดที่เราต้องการทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ เราจะพยายามปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของเรา และในอนาคตจะระมัดระวังที่จะพยายามนำสิ่งที่เรากำลังฝึกฝนไปสู่การปฏิบัติให้สำเร็จให้ได้
แน่นอนว่ามีแรงจูงใจหลายระดับในการพัฒนาตัวเองในลักษณะนี้ เมื่อเราวิเคราะห์ความหมายของแรงจูงใจ เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาตัวเอง และอะไรคือแรงทางอารมณ์ที่ขับเคลื่อนเราไปสู่เป้าหมายนี้ คำสอนทางพระพุทธศาสนาแสดงถึงแรงจูงใจที่ก้าวหน้าหลายระดับขณะที่เราพัฒนาก้าวไปบนเส้นทางนั้น เราสามารถฝึกเพียงเพื่อพยายามปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราเพราะตอนนี้มันไม่เป็นที่น่าพอใจ และไม่เพียงแต่เราต้องการมันให้หยุดดำเนินการที่ไม่เป็นที่น่าพอใจต่อไปนั้น แต่มันจะเป็นการดีมากหากมันไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้ อันที่จริงมันจะดีมากถ้ามันดีขึ้นกว่านี้! เราไม่พอใจมากจริง ๆ และเรามาถึงจุดที่เราเบื่อหน่าย และต้องการทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้
นอกจากนี้ ในระดับสูงกว่านี้ เรายังไม่เพียงแต่สามารถคิดในแง่ของชั่วชีวิตนี้ แต่ยังรวมถึงชีวิตในชาติหน้าอีกด้วย เราไม่ต้องการให้สิ่งต่าง ๆ เลวร้ายในชาติหน้าเช่นกัน เราถูกขับเคลื่อนด้วยแรงทางอารมณ์เช่นเดียวกับที่เราต้องการปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ในชั่วชีวิตนี้ เราแค่กำลังมองดูที่ช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้นเท่านั้นเอง เราสามารถที่จะมีแม้แต่ขั้นตอนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองสิ่งนี้ ซึ่งคิดในแง่ของการไม่ต้องการให้มีปัญหาต่าง ๆ ที่เรามีในครอบครัวของเรา หรือในรูปแบบของเราในการจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่มีต่อคนรุ่นต่อไป
นอกเหนือจากการคิดถึงชาติหน้าแล้ว เราอาจมีแรงจูงใจที่จะอยากออกจากวงจรการเกิดใหม่ที่ไม่น่าพอใจและน่าผิดหวังอย่างสมบูรณ์ หรือถูกขับเคลื่อนด้วยความเห็นอกเห็นใจ เราอาจคิดในแง่ของการช่วยให้ทุกคนเอาชนะปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ในทุกระดับได้ ถ้าเราทำเช่นนั้น แสดงว่าเรากำลังพัฒนาเพื่อที่จะกลายเป็นพระพุทธเจ้า
การจะเป็นคนที่มีแรงจูงใจในระดับที่สูงขึ้นเหล่านี้จะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างมากมายมหาศาล อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะอยู่ในระดับใดก็ตาม เราก็จะพบวิธีการมากมายในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นประโยชน์ ตัวอย่างเช่น แม้ว่าเราจะคิดเพียงแค่ในแง่ของช่วงชีวิตนี้ เราอาจจะถูกกระตุ้นไม่เพียงแค่เฉพาะด้วยความคิดถึงตัวเองและเอาชนะปัญหาของตัวเองเท่านั้น แต่ด้วยความเห็นอกเห็นใจ เราจะคิดถึงผู้อื่นด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราไม่ได้ตั้งเป้าที่จะเอาชนะปัญหาของเราเพียงเพราะมันทำให้เรามีปัญหาและเจ็บปวดมากสำหรับเรา แต่ยังเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีที่สุดด้วย นี่คือการพัฒนาตัวเราเองในลักษณะของการฝึกจิตใจ
ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราเป็นคนติดเหล้า จากมุมมองหนึ่ง เราอาจได้รับแรงบันดาลใจให้พยายามเอาชนะการพึ่งพาแอลกอฮอล์ เพราะมันสร้างความเสียหายต่อเรา ต่อสุขภาพ และทุกสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเราโดยทั่วไป มันทำให้เรารู้สึกแย่เมื่อมีอาการเมาค้างในตอนเช้า แต่เราอาจมีแรงบันดาลใจมากยิ่งขึ้นถ้าเราคิดถึงครอบครัวของเรา เราอาจจะคิดว่าการดื่มเหล้าของฉันขัดขวางฉันจากการเป็นพ่อแม่ที่ดี ตัวอย่างเช่น บ่อยครั้งที่ฉันทำตัวบ้า ๆ บอ ๆ เพราะฉันเมา และนี่จริง ๆ แล้วเป็นการทำลายครอบครัวของฉัน เพื่อนของฉัน ฯลฯ เมื่อเราตระหนักว่าครอบครัวของเราต้องการเรา และปัญหาที่เรามีจากโรคพิษสุราเรื้อรังกำลังขัดขวางไม่ให้เราตอบสนองความต้องการที่แท้จริงที่พวกเขาต้องการ มันก็จะทำให้เรามีความแข็งแรงมากขึ้นที่จะพยายามเอาชนะการพึ่งพาสิ่งนั้น
ดังนั้น แม้ว่าเราจะฝึกฝนวิธีทางพระพุทธศาสนาเหล่านี้ในบริบทของการพยายามปรับปรุงในชั่วชีวิตนี้ แต่แรงจูงใจของความรักและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นก็สำคัญมาก นั่นเป็นการเน้นย้ำในคำสอนการฝึกจิตใจเหล่านี้ในการรักผู้อื่น แม้ว่าเราจะประยุกต์ใช้วิธีการเหล่านี้ได้หลายวิธีเพียงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่ก็จะดีมากยิ่งขึ้นไปอีกที่จะใช้วิธีการเหล่านี้เพื่อให้เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีขึ้น
สิ่งไม่ยืนยงในชีวิตแปดประการ (โลกธรรม 8 ประการ)
ในชีวิตของเรา เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากต่าง ๆ สิ่งเหล่านั้นอาจจะยากในแง่ที่มันเป็นสิ่งที่เจ็บปวด สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่อาจเป็นความเจ็บปวดทางจิตใจได้ด้วย เราสามารถเข้าใจสถานการณ์ที่ยากลำบากต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ตัวอย่างเช่น การเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้อารมณ์ที่รบกวนจิตใจของเราเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ในมุมหนึ่ง อารมณ์ที่รบกวนเหล่านี้อาจเป็นอารมณ์โกรธ แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันอาจจะเป็นความยึดติดที่รุนแรงได้ เราทุกคนรู้ดีว่า เรารู้สึกอึดอัดเพียงใดเมื่อจิตใจของเราเต็มไปด้วยความโกรธ หรือความเป็นศัตรู หรือเมื่อจิตใจของเราเต็มไปด้วยความยึดติดและความปรารถนาอยากได้
สถานการณ์บางอย่างเป็นอะไรที่ยากยิ่ง และมันได้ถูกระบุไว้ในรายการที่เรียกว่า “สิ่งไม่ยืนยงในชีวิต” 8 ประการ บางครั้งก็ได้รับการแปลว่า “ความกังวลทางโลก 8 ประการ” หรือ “โลกธรรม 8 ประการ” แต่สิ่งเหล่านั้นกำลังพูดถึงสิ่งต่าง ๆที่เกิดขึ้นกับเราในชีวิตของเรา ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยืนยง มันไม่มั่นคง มันจะผ่านไป มันเกิดขึ้นสี่คู่
- การได้รับคำชมหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ - หากเราได้รับคำชมเราจะรู้สึกอิ่มเอมใจและยึดติดกับมัน และเมื่อเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ เราทุกคนจะอารมณ์เสียและโกรธ
- การรับข่าวดีหรือข่าวร้าย- เมื่อเราได้รับข่าวดี เราจะตื่นเต้นมาก และแน่นอนว่าเราจะยึดติดกับสิ่งนั้น เราต้องการให้มันคงอยู่ อย่างที่ไม่เกิดขึ้นเลย เมื่อเราได้ยินข่าวร้าย เราจะอารมณ์เสียมาก และมักจะหดหู่และโกรธ
- การประสบกับการได้รับหรือการสูญเสีย - เมื่อเราได้รับบางสิ่งบางอย่าง เช่น มีคนให้บางสิ่งกับเรา เรามีความสุขและตื่นเต้นทั้งหมด และคิดว่า "โอ้ ช่างวิเศษเหลือเกิน" จากนั้น เมื่อเราสูญเสียสิ่งต่างๆ ไป หรือมีคนมาพรากมันไปจากเรา หรือมันพัง เราก็จะอารมณ์เสียทั้งหมด การได้รับและการสูญเสียอาจเป็นในแง่ของผู้คนที่เข้ามาในชีวิตของเราก็ได้ เราได้เพื่อนหรือสูญเสียคนที่รัก หรือที่เห็นได้ชัดก็คือ เรื่องทางการเงิน
- การมีสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นไปด้วยดีหรือไม่ดี - เราทุกคนตื่นเต้นและยึดติด หรือเรารู้สึกหดหู่และโกรธ
เราจะรู้สึกไม่พอใจกับเหตุการณ์ไม่ยืนยงที่เกิดขึ้นทั้งแปดนี้เนื่องจากการคำนึงถึงแต่ตัวเองของเรา เราคิดถึงแต่ตัวเองและสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา และเรารู้สึกว่า “ฉันวิเศษแค่ไหน” หรือ “ฉันมันน่าสงสาร”
การประยุกต์ใช้กองกำลังฝ่ายตรงข้ามเฉพาะกาล
พระพุทธเจ้าสอนวิธีการต่าง ๆ มากมายในการเอาชนะอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสิ่งไม่ยืนยงในชีวิตทั้งแปดประการนี้ แต่ละประการจะครอบคลุมเรื่องของการฝึกฝนตัวเองเพื่อที่จะดูสิ่งที่เรากำลังประสบด้วยทัศนคติที่เป็นประโยชน์มากขึ้นคือ การคำนึงถึงผู้อื่น วิธีหนึ่งคือ การดูสถานการณ์ผ่านเลนส์ของกองกำลังฝ่ายตรงข้ามเฉพาะกาล มันจะไม่กำจัดเราออกจากอารมณ์ที่รบกวนไปตลอดกาล มันไม่ได้ลงลึกพอ แต่มันเป็นประโยชน์มาก
ความรักเป็นศัตรูกับความโกรธ
ตัวอย่างเช่น สมมติว่าสิ่งต่าง ๆ กำลังเป็นไปในทางที่ไม่ดีสำหรับเรา เรามีใครบางคนในชีวิตที่ปฏิบัติต่อเราด้วยวิธีที่น่ารังเกียจ ไม่น่าพอใจ และเรามักจะโกรธคน ๆ นี้ เมื่อนึกถึงแต่ตัวเราเอง เราก็จะหมกมุ่นอยู่กับ “ฉันไม่ชอบวิธีที่เขาปฏิบัติต่อฉัน” สิ่งที่เราจะนำมาใช้ในที่นี้ในฐานะคู่ต่อสู้เฉพาะกาลสำหรับความโกรธคือ ความรัก ตอนนี้เราไม่ได้แค่พูดแบบง่าย ๆ ว่า “อย่าโกรธคนนี้นะ ให้รักเขา” เห็นได้ชัดว่าเป็นไปไม่ได้ที่พวกเราส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นแบบนั้น แต่นี่เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ความเข้าใจเพื่อที่จะสามารถเปลี่ยนสภาวะทางอารมณ์และทัศนคติของเราโดยอาศัยการคำนึงถึงอีกฝ่ายหนึ่ง
คน ๆ นี้แสดงท่าทีที่แย่ ๆ ต่อเรา และเหตุใดเขาจึงแสดงท่าทีเช่นนั้น มีบางอย่างรบกวนเขาอยู่ ผมแน่ใจว่าคุณมีคนแบบนี้ในชีวิตคือ เป็นคนที่มักจะบ่นอยู่เสมอ เมื่อใดก็ตามที่คน ๆ นั้นอยู่กับคุณ การสนทนาทั้งหมดของเขาก็จะบ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้และเรื่องนั้น เขามักจะพูดถึงตัวเองอยู่เสมอ และการอยู่กับเขาเป็นประสบการณ์ที่ “แย่ลง” อย่างสมบูรณ์ หากเราวิเคราะห์แล้ว เห็นได้ชัดว่า คน ๆ นั้นแสดงท่าทีเช่นนี้เพราะเขาไม่มีความสุขอย่างมาก วิธีที่มีประสิทธิผลในการเปลี่ยนทัศนคติของเราคืออาจคิดว่า “ถ้าเพียงแค่คน ๆ นี้มีความสุขได้ อย่างนั้นแล้ว เขาก็คงจะเลิกบ่นและเลิกให้ช่วงเวลาที่ยากลำบากแก่ฉันตลอดเวลา” นิยามของความรักในทางพระพุทธศาสนาคือ การปรารถนาให้อีกฝ่ายมีความสุขและมีเหตุแห่งความสุข ดังนั้น หากแทนที่จะอยากให้อีกคนจากไปและไม่มารบกวนเรา เราก็จะพัฒนาความปรารถนาที่ขอให้พวกเขามีความสุข นั่นคือให้ไม่ว่าอะไรก็ตามที่รบกวนเขาหายไป เราก็จะอารมณ์เสียน้อยลง การปฏิบัติสมาธิเพื่อที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติดังกล่าวคือ “การฝึกจิตใจ”
ลดการดึงดูดทางเพศอย่างหมกมุ่นให้น้อยลง
ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราถูกใจใครสักคนมาก ๆ เราจะใช้คู่ต่อสู้เฉพาะกาลที่ใช้จินตนาการของเรา แทนที่จะนึกถึงแต่ตัวเองและคิดถึงบุคคลนั้นในแง่ของรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้นราวกับว่าบุคคลนั้นเป็นเพียงวัตถุให้ฉันบริโภคเพื่อความสุขของฉัน เราสามารถจินตนาการได้ว่าสิ่งที่อยู่ภายในบุคคลนั้นมีลักษณะอย่างไร - กระเพาะอาหาร ลำไส้ สมอง และสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว โดยเฉพาะที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือ เมื่อเรามองไปที่ใบหน้าของบุคคลนั้นเพื่อจินตนาการถึงโครงสร้างของโครงกระดูก ของกะโหลกศีรษะของคน ๆ นั้น และแน่นอนว่า สิ่งที่เราจินตนาการนั้นเป็นความจริง นั่นคือสิ่งที่อยู่ใต้ผิวหนังของคน ๆ นี้
อีกวิธีหนึ่งที่ได้ผลคือ จินตนาการว่าคน ๆ นั้นเป็นเด็กทารก แล้วจินตนาการว่าเขาจะเป็นอย่างไรเมื่ออายุมาก ด้วยวิธีนี้ เราสามารถทำให้ความยึดติดของเราลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเรื่องของการดึงดูดทางเพศ โดยตระหนักว่าสิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงลักษณะผิวเผินฉาบฉวย และมันจะไม่คงอยู่ตลอดไปอย่างแน่นอน หรือถ้าคนนั้นมีโรคผิวหนังที่น่ากลัว หรือถูกปกคลุมไปด้วยสิวที่เยอะมาก เราจะยังคงพบว่ามันน่าดึงดูดอยู่หรือไม่ ยิ่งเราเข้าใจว่าในความเป็นจริงมีลำไส้ และโครงกระดูกอยู่ภายในคน ๆ นี้ ทัศนคติของเราก็จะเปลี่ยนไปมากขึ้น และการที่เราอารมณ์รบกวนก็จะน้อยลง เราจะมั่นคงขึ้น
จากนั้น เราก็จะสามารถใช้วิธีการเพื่อที่จะพัฒนาทัศนคติที่เป็นห่วงเป็นใยต่อคนนั้นได้ เมื่อคิดถึงคน ๆ นี้ที่เรารู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศที่รุนแรง เราจะเห็นได้ว่าเมื่อเรามีความยึดติดและแรงดึงดูดที่รุนแรงกับคน ๆ หนึ่ง โดยปกติมันก็จะมุ่งเน้นไปที่ร่างกายของคน ๆ นั้นเท่านั้น เรามองข้ามความจริงที่ว่า คนนั้นก็เป็นมนุษย์ที่ต้องการมีความสุข ไม่ต้องการมีความทุกข์ และไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นแค่เพียงวัตถุทางเพศเท่านั้น คน ๆ นี้ก็มีความไม่มั่นคงของเขา มีปัญหาทางอารมณ์ของเขา มีปัญหาครอบครัวของเขา และด้วยวิธีนี้ การมองคน ๆ นี้จึงเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการมองว่าคน ๆ นี้เป็นแค่วัตถุทางเพศอย่างเดียว เราเห็นคน ๆ นี้เป็นมนุษย์จริง ๆ และเริ่มมีความห่วงใยอย่างจริงใจต่อความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของคน ๆ นี้
หลีกเลี่ยงความรู้สึกรังเกียจ หรือไม่แยแสต่อคนขอทานหรือคนพิการ
การใช้คู่ต่อสู้เฉพาะกาลยังมีประสิทธิภาพอย่างมากเมื่อเราเห็นคนที่เราพบว่าค่อนข้างน่าเกลียดหรือน่ารังเกียจ สิ่งนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อเราพบคนขอทานและคนยากจนที่อยู่ในฐานะที่ต่ำมากในประเทศต่าง ๆ เช่น ที่นี่ ในเม็กซิโกหรือในอินเดีย ซึ่งเราจะพบเห็นคนเหล่านั้นอยู่บ่อยกว่าในประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ได้กับคนพิการไม่ว่าจะเป็นคนตาบอด หูหนวก หรือเป็นอัมพาต ซึ่งเรามักจะรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจมากเมื่อพบเห็นคนเหล่านั้น
ผมจำได้ว่าในเบอร์ลินมีนิทรรศการเกี่ยวกับคนพิการครั้งหนึ่ง ส่วนหนึ่งมีวิดีโอสัมภาษณ์ผู้ที่เป็นอัมพาต แขนขาของพวกเขากระตุกอย่างไม่สามารถควบคุมได้ ปากของพวกเขาเบี้ยวไปด้านข้าง และพูดไม่ชัด คนเหล่านี้กำลังพูดถึงชีวิตทางเพศของพวกเขาและเกี่ยวกับสิ่งนั้นว่า ในความเป็นจริงพวกเขามีอารมณ์ประเภทเดียวกัน ความต้องการทางเพศประเภทเดียวกัน และต้องการความสัมพันธ์เหมือนคนอื่น ๆ จากนั้น พวกเขาก็ได้อธิบายประเภทของความสัมพันธ์เรื่องของความรักที่พวกเขามี เด็กนักเรียนทุกคนในเมืองต้องไปดูนิทรรศการนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันวิเศษมากที่ได้แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้จริง ๆ แล้วก็เป็นคนเหมือนกับคนอื่น ๆ นี่เป็นวิธีที่มีประโยชน์มากสำหรับการเอาชนะความรู้สึกรังเกียจ หรือความเฉยเมย ไม่แยแส หรือเพียงแค่ความรู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่กับผู้คนดังกล่าวเหล่านั้น
อีกวิธีหนึ่งคือ เมื่อคุณเห็นคนแก่ขอทานข้างถนนก็ให้นึกภาพว่า "แม่ของฉัน" อยู่ที่นั่น ไม่มีที่อยู่อาศัย และขอทานหรือ "พ่อของฉัน" หรือถ้าคุณเห็นเด็กที่หนีออกจากบ้านมาขอทานอยู่บนถนน ก็ให้นึกถึง “ลูกชายของฉัน” หรือ “ลูกสาวของฉัน” ที่กำลังอยู่ในสถานการณ์นั้น การเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการที่เรามองบุคคลนี้จะทำให้การตอบสนองทางอารมณ์ของเราเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ผมต้องยอมรับว่า ผมไม่เคยทำแบบนั้นมาก่อน แต่ผมรู้จักอาจารย์สอนพุทธศาสนานิกายเซนชาวตะวันตกคนหนึ่งในนครนิวยอร์กที่มีนักเรียนของเขา และถ้าพวกเขาต้องการ ก็จะออกไปข้างนอกโดยไม่มีเงิน บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรืออะไรก็แล้วแต่ที่คล้าย ๆ กันแบบนั้นติดตัวไปด้วย แล้วก็จะร่อนเร่ไม่มีที่อยู่อาศัย ขอทานอยู่เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์เพื่อที่จะสัมผัสว่าการเป็นเช่นนั้นมันจะเป็นอย่างไร
สิ่งเหล่านี้เป็น “ยา” ที่มีประสิทธิภาพมากในการเอาชนะความไม่แยแสต่อผู้อื่นในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ผมแค่กำลังคิดว่า มันบ่อยแค่ไหนที่เมื่อเราเจอคนแบบนี้ เราไม่อยากแม้แต่ที่จะมองหน้าพวกเขาด้วยซ้ำ มันทำให้เรารู้สึกอึดอัด ลองนึกภาพในอีกด้านหนึ่งว่า ที่นั่นคุณกำลังดิ้นรน และไม่มีใครอยากมองคุณ หรือรับรู้การมีอยู่ของคุณ หรือพวกเขาไล่คุณไปราวกับว่าคุณเป็นยุงตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นี่เป็นวิธีการหนึ่งในการใช้กองกำลังของฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นเพียงเฉพาะกาลเท่านั้น มันไม่ได้ไปถึงต้นตอของปัญหานั้น
การใช้คู่ต่อสู้ที่มีผลลึกซึ้งที่สุด
วิธีการฝึกจิตใจวิธีที่สองคือ การใช้คู่ต่อสู้ที่ไม่ได้เป็นเพียงวิธีการรักษาเฉพาะกาล แต่เป็นวิธีการที่นำไปสู่ต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง และกำจัดมันออกไป นี่หมายถึง การใช้สภาพจิตใจที่ตรงข้ามกัน ไม่มีวันเกิดร่วมกันได้กับความสับสนและเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง นี่หมายถึง ความเข้าใจเกี่ยวกับสุญญตา (ความว่างเปล่า) กล่าวคือ วิธีการมองที่เป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของบุคคลหรือสถานการณ์นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเลย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เบื้องหลังความยึดติดหรือความโกรธของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสับสนของเราที่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ
นี่ไม่ใช่โอกาสสำหรับการสนทนาอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสุญญตา ดังนั้น เราจะรักษาการพูดคุยกันของเราไว้ในระดับพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณไปเยี่ยมปู่ย่าตายายที่ป่วย หรือพ่อแม่สูงอายุในบ้านพักคนชรา เมื่อคุณเดินไปตามโถงทางเดินไปยังห้องของพวกเขา คุณเดินผ่านหญิงชราที่เหี่ยวแห้ง ทรุดตัวนั่งอยู่บนรถเข็น บ่นพึมพำกับตัวเอง น้ำลายไหลย้อย และจิกผ้าขนหนูบนตักของเธอ คุณเห็นคนแบบนั้นแล้วคุณรู้สึกอึดอัดมาก คุณมักจะคิดว่าเธอเป็นแบบนั้นมาตลอด และถ้าในขณะที่คุณเดินผ่านไป เธอยื่นมือออกไป และพยายามคว้ามือของคุณ หรือแค่สัมผัสคุณ คุณก็จะสติแตก คุณกำลังคิดถึงแต่ตัวเอง
แน่นอนว่า เราสามารถนำคู่ต่อสู้เฉพาะกาลของการจำว่า นี่คือมนุษย์ ได้ไปใช้ที่นี่ เธอมีชีวิต มีครอบครัว มีอาชีพ และครั้งหนึ่งก็เคยเป็นสาวมาก่อน เธอไม่ได้มีลักษณะแบบนี้เสมอไป เธอเพียงแค่เอามือเธอไขว่คว้าออกมาเพราะต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์เท่านั้นเอง นี่อาจจะได้ผล แต่เราสามารถใช้วิธีที่ลึกซึ้งกว่านี้ได้ สิ่งนี้ก็คือ การรับรู้ว่าวิธีที่ฉันจินตนาการว่าเธอดำรงอยู่ เช่นเดียวกับลักษณะของเธอที่ปรากฏ แก่ และทรุดโทรมโดยที่ไม่เคยเป็นอย่างอื่นมาก่อน นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ไม่มีใครสามารถดำรงอยู่ได้เช่นนั้นราวกับว่าถูกแช่แข็งในช่วงเวลาในภาพนิ่งภาพหนึ่ง ฉะนั้น เราจึงมุ่งเน้นไปที่ “ไม่มีสิ่งนั้น นั่นเป็นไปไม่ได้” นี่เป็นวิธีที่แข็งแรงกว่ามากในการหยุดความเข้าใจผิดของเราเพื่อที่เราจะได้มีทัศนคติที่เป็นจริงและเห็นอกเห็นใจเธอมากขึ้น
การผ่อนคลายอารมณ์ที่รบกวนเพื่อเปิดเผยการรับรู้ที่ลึกซึ้งที่อยู่เบื้องหลัง
อีกวิธีหนึ่งคือ วิธีที่ใช้ในการทำสมาธิขั้นสูงที่เรียกว่า “มหามุทรา (mahamudra)” คือ “การมองเห็นการรับรู้ที่ลึกซึ้งที่อารมณ์ที่รบกวนนั้นจะปลดปล่อยตัวเองไปสู่สิ่งนั้นโดยอัตโนมัติ” วิธีนี้ใช้กลไกพื้นฐานที่จิตใจของเรารับรู้ความเป็นจริง นั่นคือ “วิธีที่จิตใจของเราทำงาน” เพื่อที่จะทำให้สิ่งนั้นเป็นภาษาง่าย ๆ
ลองมาดูตัวอย่างกัน สมมติว่าเรามีความรู้สึกดึงดูดและความปรารถนาอยากได้ต่อใครสักคนหนึ่ง หากเราสามารถผ่อนคลายความตึงเครียดในสภาพอารมณ์นั้นได้ สิ่งที่เราพบว่าอยู่ข้างใต้คือ สิ่งที่เรียกว่า “การรับรู้เชิงลึกที่ทำให้เป็นรายบุคคล” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ทั้งหมดในแง่ของวิธีการรับรู้บุคคลนี้ คือการที่เรากำลังระบุบุคคลนี้ในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งเปรียบเทียบกับบุคคลอื่น นั่นคือทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริงในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานของจิตใจ ฉะนั้น เราจึงฉายภาพออกมาว่า “คนนี้พิเศษจริง ๆ ” เราขยายความคุณสมบัติบางอย่างเกินจริง แล้วเราก็จะประสบกับความดึงดูดและความปรารถนาอยากได้ หรือความยึดติด
ความปรารถนาอยากได้คือ การที่เมื่อคุณไม่มีสิ่งนั้น คุณก็อยากจะได้มันมา และความยึดติดคือ เมื่อคุณมีมันแล้ว คุณก็ไม่อยากจะปล่อยมันไป เห็นได้ชัดว่าทั้งสองอย่างล้วนแต่เป็นการคำนึงถึงแต่ตัวเองทั้งสิ้น หากเราผ่อนคลายพลังงานที่อัดแน่นของการขยายความเกินจริงและการยึดติดในสภาพจิตใจนี้แล้ว สิ่งที่เหลืออยู่ทั้งหมดก็คือ โครงสร้างพื้นฐานของสิ่งที่จิตใจกำลังกระทำต่อสิ่งนี้ ซึ่งเป็นเพียงแค่การระบุมันลงไปเท่านั้นเอง ก็แค่นั้นเอง
นั่นเป็นวิธีที่ค่อนข้างอยู่ในขั้นสูง แต่ได้ผลมากหากคุณสามารถใช้ได้จริง แต่ต้องใช้ความเป็นผู้ใหญ่สักหน่อยเพื่อที่จะไม่ให้อารมณ์ของคุณพัดพาไป คุณต้องสามารถดูได้ว่าเกิดอะไรขึ้นภายใต้วิธีการจัดการทางอารมณ์กับบางสิ่ง จากนั้นแล้วจึงใจเย็นลง อารมณ์จะปลดปล่อยตัวเองโดยอัตโนมัติ ยิ่งเราเห็นโครงสร้างความรู้พื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังมันมากขึ้น
การเปลี่ยนสถานการณ์เชิงลบให้เป็นเชิงบวก: วิธีที่เรามองผู้อื่น
วิธีต่อไปคือ การเปลี่ยนสถานการณ์ที่คุณคิดว่าไม่เอื้อต่อการฝึกปฏิบัติของคุณไปสู่สถานการณ์ที่เอื้อ นี่เป็นวิธีหลักที่สอนในตำราการฝึกจิตใจแบบดั้งเดิมโดยเฉพาะโคลงกลอนแปดบทในการฝึกจิตใจโดย แลงรี ตางปา (Langri Tangpa) โคลงบทหนึ่งของปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอินเดียท่านศานติเทวะ (Shantideva) อยู่ใน การลงมือในพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ ได้ระบุถึงแนวทางประเภทนี้ไว้ ท่านเขียนไว้ว่า
(VI.10) หากสามารถแก้ไขได้ทำไมต้องอารมณ์เสียกับบางสิ่ง และหากสามารถแก้ไขไม่ได้ อารมณ์เสียจะช่วยมันได้อย่างไร
ถ้าคุณสามารถทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ ทำไมต้องอารมณ์เสียกับมันด้วย ก็แค่เปลี่ยนมันเท่านั้นเอง และถ้าคุณไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ ทำไมต้องอารมณ์เสียด้วย มันจะไม่ช่วยอะไร ดังนั้น หากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าเราจะมีผลร้ายและยากลำบากมาก เช่น คำวิพาษ์วิจารณ์ หรือสิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปไม่ดี และจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ ทำไมต้องอารมณ์เสียกับเรื่องนี้ด้วย ก็แค่เปลี่ยนทัศนคติของคุณที่มีต่อมันเท่านั้นเอง
มีวิถีทางหลากหลายในการเปลี่ยนสถานการณ์ที่เป็นแง่ลบให้เป็นแง่บวก วิธีการเปลี่ยนทัศนคติของเราจำนวนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการที่เรามองคนอื่นในแบบที่แตกต่างออกไปในตอนที่เมื่อมันทำให้เรามีปัญหา และวิธีอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับการที่เรามองตัวเองในสถานการณ์ที่ยากลำบากเหล่านี้ อย่างแรก เรามาดูวิธีการที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติของเราที่มีต่อผู้อื่นกันเสียก่อน
มองว่าคนที่สร้างปัญหาเป็นเหมือนจินตามณีที่สามารถประทานพรให้สมหวังได้
วิธีหนึ่งในการเปลี่ยนทัศนคติของเราที่มีต่อผู้คนที่สร้างปัญหาคือ การมองว่าพวกเขา “เหมือนจินตามณีที่สามารถประทานพรให้สมหวังได้” ตัวอย่างเช่น เราอาจคิดว่า “นี่คือคนที่เสนอความท้าทายให้ฉัน เขาเสนอโอกาสให้ฉันเติบโต ที่จะทดสอบว่าฉันพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน นี่มันวิเศษมาก” หรือ “นี่คือคนที่ชวนฉันมาทานอาหารกลางวัน เขามักจะบ่นตลอดเวลา และเขาก็ทำให้ฉันรู้สึกหดหู่ใจมากที่ได้อยู่ด้วย และนี่มันก็เป็นสิ่งที่วิเศษมาก! ช่างเป็นอะไรที่ดีมากเลยที่คน ๆ นี้เชิญฉัน เพราะตอนนี้ฉันจะมีโอกาสได้ปฏิบัติความอดทนและความเข้าใจอย่างแท้จริง” ดังนั้น คน ๆ นี้จึงเป็นเหมือนจินตามณีที่สามารถประทานพรให้สมหวังได้ “ช่างวิเศษเหลือเกินที่เพื่อนบ้านของฉันขอให้ฉันเป็นพี่เลี้ยงดูแลเด็กที่ฉันรู้ว่าจะร้องไห้และกรีดร้องตลอดทั้งเย็นเลย นั่นยอดเยี่ยมมาก”
ท่านศานติเทวะได้กล่าวไว้อย่างดีมาก
(VI.107) ดังนั้น ฉันจะดีใจกับศัตรูที่โผล่ขึ้นมาเหมือนเป็นสมบัติในบ้านของฉัน โดยที่ไม่ต้องได้มาด้วยความเหนื่อยล้า เนื่องจากเขาจะกลายเป็นผู้ช่วยของฉันเพื่อที่ฉันจะได้มีพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์
สิ่งที่ทำให้พระโพธิสัตว์ ผู้ที่อุทิศตนเพื่อบรรลุการตรัสรู้เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น มีความสุขมากที่สุดคือ เมื่อใครบางคนขอให้คน ๆ นั้นทำบางสิ่งเพื่อเขา หากไม่มีใครขอให้เขาทำอะไรเลย เขาก็จะรู้สึกเศร้ามาก จะรู้สึกว่าเขาไร้ประโยชน์ ผมมีเว็บไซต์ และได้รับอีเมล ถามคำถาม หรือทำสิ่งต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ง่ายมากที่จะรู้สึกรำคาญกับสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวที่เข้ามาจำนวนมากมายนั้น แต่ถ้าผมสามารถฝึกปฏิบัติแบบนี้ได้จริง ๆ ผมก็คงจะยินดีมาก ยิ่งเข้ามามากเท่าไหร่ ผมก็จะมีโอกาสในการช่วยเหลือผู้คนมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราสวดคำภาวนาในทางพระพุทธศาสนา “ขอให้ฉันเป็นประโยชน์ต่อสรรพสัตว์” จากนั้น ก็มีมนุษย์จำนวนมากมาหาเรา และขอให้เราช่วยพวกเขา คำภาวนาของเรายังไม่เป็นจริงอีกหรือ
ดังที่ท่านศานติเทวะเขียนไว้ว่า
(VII.64) แม้ว่าผู้คนจะกระทำเพื่อความสุข แต่มันก็ไม่ชัดเจนว่าพวกเขาจะมีความสุขหรือไม่ แต่สำหรับ (พระโพธิสัตว์) คนที่มีการกระทำที่นำมาซึ่งความสุขจริง ๆ แล้ว เขาจะมีความสุขได้อย่างไรโดยที่ไม่ทำสิ่งเหล่านั้น
มองว่าคนที่สร้างปัญหาเป็นเหมือนลูกที่ป่วยของเรา
การเปลี่ยนทัศนคติอีกประการหนึ่งคือ มองว่าบุคคลนี้ ผู้ซึ่งทำให้เรามีปัญหามากมายและไม่น่าพอใจที่จะอยู่ด้วย เป็นเหมือนลูกที่ป่วยของเรา เมื่อลูกของเราป่วย งอแง และร้องไห้ เขาอาจทำให้เรามีช่วงเวลาที่แย่ แต่โดยพื้นฐานแล้ว เรายังคงมีความรักมากมายให้กับลูก เพราะเราเข้าใจว่าลูกไม่สบาย บางทีอาจจำเป็นที่เขาจะต้องเข้านอน หรืออะไรก็แล้วแต่ และถ้าลูกที่เหนื่อยล้ามากของเราพูดว่า “หนูเกลียดแม่ และหนูไม่อยากไปนอน” เราจะไม่ถือสากับเรื่องนี้ เพราะลูกป่วยอยู่ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนทัศนคติของเราที่มีต่อคน ๆ นี้ที่ไม่เป็นที่น่าพอใจที่จะอยู่ด้วย ถือว่าเขาเป็นลูกที่ป่วย แทนที่จะมองว่าเป็นศัตรูพืชที่น่ารำคาญ ด้วยวิธีนี้ เราแค่เป็นห่วงใยเขาเท่านั้น ไม่ใช่ห่วงใยตัวเรา
มองว่าคนที่สร้างปัญหาเป็นครูของเรา
วิธีที่สามคือ มองว่าคนเหล่านั้นเป็นครูของเรา มีเรื่องเล่าที่โด่งดังเมื่อท่านอติศะ (Atisha) ไปทิเบต ท่านได้พาพ่อครัวชาวอินเดียมาด้วย พ่อครัวชาวอินเดียคนนี้ไม่เคยทำตามคำแนะนำ และมักจะเถียงกลับเสมอ ชาวทิเบตพูดกับท่านอติศะว่า “ทำไมท่านไม่ส่งเขากลับอินเดียล่ะ เราสามารถทำอาหารให้ท่านได้” ท่านอติศะกล่าวว่า “ไม่ ไม่! เขาไม่ใช่เป็นแค่พ่อครัวของฉันเท่านั้น แต่เขาเป็นครูแห่งความอดทนของฉัน” ดังนั้น หากเรามีญาติที่น่ารำคาญในชีวิตของเราที่เราต้องรับมือไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม การถือว่าบุคคลนี้เป็นครูแห่งความอดทนของเรานั้นมีประโยชน์มาก
ในความเป็นจริง ผู้คนสามารถสอนเราได้หลายสิ่งหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ด้วยการที่พวกเขาทำตัวไม่ดี พวกเขาก็สามารถสอนเราว่าอย่าทำตัวแบบนั้น แม้แต่สุนัขของเราก็สามารถเป็นครูของเราได้ คุณเคยสังเกตไหมว่า ถ้าคุณพาสุนัขไปไหนมาไหนกับคุณในระหว่างวัน สุนัขจะสามารถนอนบนพื้นได้ทุกที่และผ่อนคลาย แม้กระทั่งหลับไปก็ได้ ในขณะที่เราต้องการ "โอ้ มันต้องเป็นเตียงพิเศษ มันต้องเป็นผ้าปูลินินอย่างดี และมันต้องนุ่ม” หรือ “มันต้องแข็ง” อย่างนี้หรืออย่างนั้น สุนัขไม่บ่น สุนัขสามารถนอนได้ทุกที่ นี่เป็นการสอนที่ยอดเยี่ยม วิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่จะมองดูคนอื่นแตกต่างออกไป เมื่อพวกเขากำลังทำให้เรามีปัญหา จงมองว่าพวกเขาเป็นจินตามณีที่สามารถประทานพรให้สมหวังได้ หรือมองเห็นคนเหล่านั้นในฐานะของลูกที่ป่วย หรือในฐานะของครู
การเปลี่ยนสถานการณ์เชิงลบเป็นเชิงบวก: วิธีที่เรามองดูตัวเอง
มอบชัยชนะให้ผู้อื่น
นอกจากนี้ ยังมีวิธีการที่เราสามารถมองตัวเองแตกต่างออกไป และเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อตัวเองในสถานการณ์เหล่านี้ได้ อย่างแรกคือ “มอบชัยชนะให้ผู้อื่น และยอมรับความสูญเสียมาไว้ที่ตัวคุณเอง” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ด้วยทัศนคติที่คำนึงถึงตัวเอง เรามักจะคิดถึงตัวเองว่า “ฉันต้องชนะ ฉันต้องได้ในสิ่งที่ฉันต้องการตลอด และอีกฝ่ายต้องยอมให้” ในขณะที่ถ้าเรายอมรับการสูญเสียมาไว้ที่ตัวเอง การโต้แย้งก็เสร็จสิ้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น คุณอยู่กับเพื่อนหรือคู่ครองของคุณ และคุณต้องตัดสินใจว่าจะไปร้านอาหารร้านไหนดี หากเพื่อนของคุณต้องการไปสถานที่แห่งหนึ่งโดยเฉพาะ และคุณยืนยันที่อื่นคุณก็จะเริ่มโต้เถียงกันไปมา แต่ท้ายที่สุดแล้วมันต่างกันตรงไหน ถ้าคุณเพียงแค่ยอมรับและพูดว่า “โอเค ไปที่ร้านอาหารของคุณกันเถอะ” ฉะนั้นแล้ว การโต้แย้งก็จบลง พูดง่าย ๆ คือ การโต้แย้งจะเสร็จสิ้นหากเราคำนึงถึงอีกฝ่ายมากกว่าตัวเอง และมอบชัยชนะนั้นให้กับอีกฝ่ายไป
ตอนนี้ เราไม่ได้พูดถึงสถานการณ์ที่สุดโต่งจริง ๆ ที่อีกฝ่ายกำลังแนะนำสิ่งที่เป็นลบและเป็นไปในทางทำลาย แต่ในเมื่อจริง ๆ แล้ว มันไม่ได้ต่างกันอย่างลึกซึ้งตรงไหนเลย ก็จงมอบชัยชนะนั้นให้อีกฝ่ายเสีย แน่นอนว่า อาจจะมีการคัดค้านเกี่ยวกับกลวิธีนี้หากคุณยอมอยู่เสมอ และอีกฝ่ายหาประโยชน์จากคุณ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดว่าคุณต้องมีความละเอียดอ่อนเมื่อใช้วิธีนี้ แต่ก็มีอยู่หลายสถานการณ์ที่วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับปัญหานั้น
ผมจะขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผมเอง ผมอาศัยอยู่ในย่านร้านอาหารสำคัญแห่งหนึ่งของเบอร์ลิน ในมุมที่พลุกพล่าน ผมอาศัยอยู่ในตึกอะพาร์ตเมนต์ ชั้นล่างเคยเป็นโรงแรมเล็ก ๆ ที่เงียบสงบมาก แต่แล้วร้านอาหารใหม่ก็มาเปิดที่นั่น ซึ่งเป็นร้านอาหารสเปนที่ได้รับความนิยมมาก ร้านอาหารแห่งนี้เปิดให้บริการตั้งแต่เจ็ดโมงเช้าจนถึงตีสามทุกวัน เมื่ออากาศอบอุ่น พวกเขาจะมีโต๊ะด้านนอกทั้งสองด้านของอาคารที่ผมอาศัยอยู่ ผู้คนนั่งข้างนอก ดื่มเบียร์หรือไวน์ พูดคุยกันเสียงดัง และหัวเราะกันจนถึงสามโมงเช้า เมื่อพวกเขาเปิดร้านอาหารครั้งแรกโดยมีโต๊ะกลางแจ้งอยู่ใต้หน้าต่างห้องนอนของผม ผมเคยนอนที่นั่นตอนกลางคืน แต่ไม่สามารถหลับไปได้เพราะเสียงมันดัง หงุดหงิด รำคาญ และคิดถึงแต่ตัวเอง และไม่ได้คิดว่าคนอื่นกำลังมีช่วงเวลาที่ดี ๆ กัน ผมจะจินตนาการไปต่าง ๆ นา ๆ ผมนึกภาพว่าตัวเองอยู่ในปราสาทยุคกลาง และมีน้ำมันดินเดือดถังใหญ่กำลังเทลงบนผู้คนเหล่านั้น แต่ผมไม่สามารถเป็นแค่ชายชราที่ขี้บ่น อารมณ์เสียที่จะโทรศัพท์หาและพูดว่า “บอกให้คนพวกนั้นเงียบนะ ไม่งั้นผมจะโทรหาตำรวจ!” สิ่งนี้อาจจะไม่ได้ผล
ดังนั้น ผมจึงตัดสินใจว่ามีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหานี้คือ มอบชัยชนะให้กับผู้อื่น และยอมรับความสูญเสียมาไว้ที่ตัวเอง การเพลิดเพลินสนุกสนานกับตอนเย็นในฤดูร้อนของพวกเขาสำคัญกว่าการได้นอนหลับในห้องนอนของผม ห้องเดียวในบ้านของผมที่ไม่หันหน้าไปทางถนนคือ ห้องครัว ผมมีห้องครัวขนาดใหญ่มากพร้อมกับพื้นที่ยกสูงสำหรับทานอาหารเช้า มีพื้นที่ว่างมากมายตรงนั้น ผมจึงนอนที่นั่นในเดือนที่อากาศอบอุ่น ผมเอาที่นอนพิงกำแพงช่วงตอนกลางวัน และตอนกลางคืนผมก็เอามันปูบนพื้นและนอนที่นั่นในห้องครัว มันเงียบสนิท และที่จริงแล้วก็เป็นห้องที่เย็นสบายที่สุดในบ้านด้วย
ผมมีความสุขมากที่ได้นอนในครัว ผมให้ชัยชนะแก่พวกเขาไป และผมก็ไม่สนใจว่าพวกเขาจะดังแค่ไหนเพราะผมไม่ได้ยินพวกเขาแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ดีมากในช่วงก่อนวันปีใหม่ เพราะชาวเยอรมันชอบจุดประทัดมาก เสียงมันดังมากจากถนน แต่ก็เช่นเคย ถ้าผมเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมอบชัยชนะให้พวกเขาไปด้วยการนอนในครัวก็ไม่มีปัญหา
สิ่งต่าง ๆ ในเชิงลบที่เกิดขึ้นกับฉันกำลังเผาผลาญกรรมเชิงลบของฉัน
วิธีที่สองคือ การมองสิ่งที่เป็นลบที่เกิดขึ้นกับเราว่าเป็น "การเผาผลาญกรรมด้านลบของฉัน" นี่ไม่ได้หมายความว่า เรายอมรับมันว่าเป็นการลงโทษ แต่เราคิดว่าสิ่งที่ยากลำบากที่เกิดขึ้นนี้กำลังเผาผลาญกรรมเชิงลบบางอย่างในรูปแบบที่เล็กลง และการทำเช่นนี้จะป้องกันไม่ให้มันสุกงอมเกิดเป็นสิ่งที่น่ากลัวกว่าในอนาคต ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ตอนที่คุณติดอยู่ในการจราจร และไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เป็นเวลานาน ฉะนั้น คุณจึงคิดว่า “เยี่ยมมาก! นี่เป็นการเผาผลาญกรรมให้เป็นอัมพาตโดยที่ฉันเคลื่อนไหวไม่ได้จริง ๆ อย่างเช่น ถ้าฉันเป็นโรคหลอดเลือดในสมองต่อมาภายหลัง” เช่นนี้ เราก็ดีใจที่มีสิ่งเชิงลบเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะนี่เป็นการล้างหนทางให้สิ่งต่าง ๆ ที่ดีขึ้นอย่างมากในอนาคต
ชาวพุทธดั้งเดิมเชื่อเรื่องวิญญาณที่เป็นอันตราย หากเรายอมรับการมีอยู่ของพวกมัน เราก็จะสามารถเปลี่ยนทัศนคตินี้ไปอีกขั้น และถามวิญญาณที่เป็นอันตรายว่า “ส่งอันตรายให้ฉันมากขึ้น มากขึ้น” ผมมีประสบการณ์แบบนี้ที่ดีมากเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทุกอย่างเริ่มผิดปกติตั้งแต่ประมาณกลางเดือนกรกฎาคมอยู่เป็นเวลาประมาณสองเดือน ทุกอย่างพังเสียหาย ผมติดเชื้อจากเนื้องอกแปลก ๆ บนหลังของผม และผมก็ไม่สามารถไปฟิตเนสได้ประมาณสองเดือน เพราะสุดท้ายเมื่อการติดเชื้อหมดไป พวกเขาก็ต้องตัดเนื้องอกออกไป จากนั้น คอมพิวเตอร์ผมก็ติดไวรัสที่ร้ายแรงมาก มันทำลายฮาร์ดดิสก์ด้วย ดังนั้น ผมจึงไม่มีคอมพิวเตอร์ปกติใช้เป็นเวลาหนึ่งเดือน จากนั้นเครื่องพิมพ์ก็เสีย และเครื่องเล่นวิดีโอสองตัวทั้งคู่ของผมก็พัง ผมเป็นแฟนตัวยงของโหราศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่อธิบายไม่ได้ ฐานข้อมูลของคำทำนายดวงชะตาทั้งหมดที่ผมรวบรวมไว้ของผู้คนหายไป ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ผมจะได้ข้อมูลนั้นกลับคืนมา จากนั้น ผมก็ทำถ้วยโปรดที่ผมชอบใช้แตก แล้วก็ในช่วงที่สิ่งต่าง ๆ นี้เกิดขึ้นกับผม ผมไปฝรั่งเศสเพื่อขอคำสอนจากสมเด็จองค์ดาไลลามะและสายการบินก็ทำกระเป๋าเดินทางของผมหาย
นี่เป็นสิ่งสุดท้ายที่เกิดขึ้น เมื่อกระเป๋าของผมหาย ผมก็แค่หัวเราะ มันช่างน่าตลกเสียเหลือเกิน จากนั้น ผมก็เริ่มคิดว่า “รับเพิ่มอีก รับเอามากขึ้นอีก วิญญาณที่เป็นอันตราย! มีอะไรที่คุณจะทำให้เกิดผิดพลาดได้อีก” สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกดีขึ้นมาก แทนที่จะวางกำแพงทางอารมณ์เพื่อยับยั้งสิ่งต่างๆ ที่เข้ามารบกวนจิตใจ ผมยอมรับมันอย่างเปิดเผยและยินดีรับมันมากขึ้นด้วยซ้ำ
สองสามปีที่ผ่านมา ผมมีอาการติดเชื้อที่กระดูกขากรรไกรใต้ฟันซี่หนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้ทำการรักษารากฟัน และต้องผ่าตัดกระดูกขากรรไกรชิ้นหนึ่งออก ไม่นานหลังจากการเดินทางไปฝรั่งเศสครั้งนั้น ผมไปหาหมอฟัน และเขาแจ้งข่าวที่น่ายินดีว่า การติดเชื้อกลับมาอีกในเนื้อเยื่อที่เป็นแผลเป็นนั้น และผมต้องผ่าตัดครั้งที่สองเพื่อตัดกระดูกออกมากขึ้น ผมสามารถเปลี่ยนข่าวนี้ให้เป็นสิ่งที่ดีได้ด้วยทัศนคติที่ว่า “เยี่ยมมาก! นี่เป็นการกำจัดอุปสรรคที่ผมจะต้องนำงานส่วนของภาษาขึ้นบนเว็บไซต์ของผมในครั้งต่อไป”
ตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้น ยิ่งคุณพยายามทำสิ่งที่เป็นบวกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีอุปสรรคมากขึ้นเท่านั้นเพื่อที่จะพยายามป้องกันไม่ให้สิ่งที่ดีเกิดขึ้น ดังนั้น ผมจึงมองว่าเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์ที่ยอดเยี่ยมที่ทำให้อุปสรรคหมดไป ผมจึงขอวิญญาณที่เป็นอันตรายว่า "นำอุปสรรคต่าง ๆ มาให้ผมมากขึ้นอีก โยนมันมาที่ผมเลย!" ในการทำเช่นนั้น ผมไม่ใช่ว่าไม่มีความสุขเลยตลอดช่วงเวลาที่ทุกอย่างพังทลายและผิดพลาดไปหมดนี้ ดังนั้น หากคุณสามารถนำวิธีการฝึกจิตใจนี้ไปใช้ได้จริง มันจะได้ผลจริง ๆ แทนที่จะมองสถานการณ์ว่าเป็นเรื่องยาก น่ากลัว และน่าหดหู่ คุณก็เปลี่ยนทัศนคติและมองว่ามันเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมแทน
การให้ความสุขกับผู้อื่นและรับความทุกข์ของพวกเขา (ทองเลน)
วิธีสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดถึงน่าจะเป็นวิธีขั้นสูงและยากที่สุดในวิธีทั้งหมด นั่นคือ การปฏิบัติทองเลน (tonglen) คือการให้และรับ เมื่อคุณประสบกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่น ปวดฟัน วิธีการคือ ให้คิดว่า “ขอให้ทุกคนที่ปวดฟันหายปวดฟันและให้ความปวดฟันนั้นมาสุกงอมที่ฉันแทน การที่ฉันรับเอาการปวดฟันของทุกคนมาไว้ที่ตัวเอง ขอให้ไม่มีใครต้องปวดฟันอีกเลย” ด้วยการเปิดจิตใจและเปิดหัวใจให้กับทุกคน และยอมรับเอาความทุกข์มาอย่างเต็มใจ เราจะเอาชนะความใจแคบ ความกลัว และความไม่มีความสุขจากการคิดเพียงว่า "เราผู้น่าสงสาร" ด้วยทองเลน เราจะก้าวไปไกลกว่าเดิมและจะคิดว่า “ฉันจะละลายความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานทั้งหมดของพวกเขา แล้วก็โดยการเข้าสู่ความสุขพื้นฐานทางจิตใจของฉัน ฉันจะส่งความสุขนั้นออกไปให้พวกเขาทั้งหมด”
ตอนนี้ คุณต้องระวังให้มากที่จะไม่ใช้ลักษณะของการเป็นผู้ยอมพลีชีพ “ฉันจะทนทุกข์ทรมานเพื่อคุณ” ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือ การเพิ่มอัตตา ผมต้องสารภาพว่าผมไม่ถนัดวิธีนี้มากนัก การจะทำด้วยความจริงใจนั้นต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก แต่เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ลองทำดู
ผมบอกไปแล้วว่า ผมต้องผ่าตัดกรามครั้งที่สอง และก็จะต้องตื่นตลอดในช่วงเวลาทั้งหมดของการผ่าตัดนั้น มันค่อนข้างน่ายินดีมาก! พวกเขาผ่าเปิดเหงือกทั้งหมดของคุณที่ด้านใดด้านหนึ่งของปากของคุณ ลอกมันลงแล้วใช้อะไรบางอย่างเหมือนกับเลื่อยไฟฟ้าใส่เข้าไปและตัดกระดูกขากรรไกรชิ้นหนึ่ง ปลายรากฟันเล็กน้อย และเนื้อบางส่วนรอบ ๆ กระดูกขากรรไกรนั้นออก วิธีที่พวกเขาทำนั้นมันเกือบจะเป็นเหมือนที่ทำกันในยุคกลาง ครั้งแรกที่ผมได้รับการรักษานั้น ผมเพิ่งพบจริง ๆ ว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ น่าสนใจมาก จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้เจ็บปวดมากนัก เพราะการดมยาสลบนั้นค่อนข้างดี แม้ว่าในช่วงกลางผมจะต้องใช้มันมากขึ้น แต่ในครั้งที่สองที่ผมรับการรักษานั้น การติดเชื้อมันมากขึ้น และเมื่อมีการติดเชื้อยาชาโนโวเคน (Novocain) จะไม่ทำงานในบริเวณนั้นจริง ๆ ดังนั้น จึงเจ็บปวดมาก
ผมได้ลองใช้วิธีการที่ใช้ในมหามุทราที่ว่า มันเป็นเพียงความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ไม่ว่าคุณจะจั๊กจี้มือคุณ หยิก เกา หรือตัดมัน มันก็เป็นเพียงความรู้สึกทางกาย ไม่มีอะไรมาก ดังนั้น อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ นั่นได้ผลในระดับหนึ่ง แต่จากนั้น ผมก็จำทองเลนได้ นี่เป็นช่วงเวลาที่มีการข่มเหงรังแกและทรมานเกิดขึ้นจำนวนมากในทิเบต ผมเริ่มคิดถึงความเจ็บปวดที่ไม่น่าเชื่อนั้นที่ผู้คนที่นั่นกำลังประสบ และเมื่อเทียบกับสิ่งนั้นสิ่งที่ผมประสบอยู่มันไม่มีอะไรเลย มันเป็นเรื่องเล็กน้อย มันคงจะใช้เวลาสองนาที จากนั้นมันก็คงจะเสร็จสิ้น
ดังนั้น แทนที่จะคิดว่า “ผมตัวน้อยน่าสงสาร ผมกำลังทุกข์ทรมาน” ผมขยายทัศนคติเพื่อคิดถึงคนเหล่านี้ทั้งหมดในทิเบตและคิดว่า “จำนวนความทุกข์ที่พวกเขามีนั้นมากกว่าความทุกข์เพียงเล็กน้อยที่ผมมี” และมันทำให้ความทุกข์ของผมมีมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม ฉะนั้น ผมจึงคิดว่า “ขอให้ความทุกข์และความเจ็บปวดทั้งหมดของพวกเขาถูกดูดเข้าไปในความเจ็บปวดนี้ที่ขากรรไกรของผม และด้วยการที่ผมอยู่อย่างสงบและมีความสุขผ่านสิ่งนี้ ผมขอให้พวกเขาได้มีความสงบแห่งจิตใจ”
แม้ว่าผมจะไม่ได้ทำอย่างถูกต้อง 100% แต่ก็ช่วยได้มากในการรับมือกับสถานการณ์นั้น ถ้าคุณทำมันอย่างถูกต้อง คุณก็อยากจะรู้สึกถึงความเจ็บปวดของพวกเขาจริง ๆ และไปเพิ่มอาการปวดของคุณให้แย่ลงอีก พูดตามตรง มันเป็นขั้นสูงมากจริง ๆ ที่จะทำเช่นนั้นด้วยความจริงใจ คุณสามารถพูดออกมาเป็นคำพูดได้ แต่มันไม่มีความหมายอะไรเลย การอยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริง ๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อย ความรู้สึกของการดูดความทุกข์ของพวกเขาออกไป และการมีความทุกข์นี้เพียงพอแล้วสำหรับความทุกข์ที่พวกเขามี อย่างน้อยในระดับนั้น มันก็อาจทำได้
อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรให้มันสับสนกับของจริง ของจริงนั้นรุนแรงกว่ามาก เพราะสภาพจิตใจที่คุณกำลังพัฒนาอยู่ที่นี่ ที่กำลังใช้มันอยู่ที่นี่ เป็นสิ่งหนึ่งที่แทนที่จะต่อสู้กับความเจ็บปวดนั้น คุณสมัครใจยอมรับมันด้วยความมั่นใจในตัวเองว่าคุณสามารถจัดการกับมันได้ ถ้าคุณกำลังทำสิ่งนี้กับความทุกข์ทรมานของคนจำนวนมากนี้ แน่นอนว่า คุณมีความมั่นใจในตัวเองที่จะยอมรับและจัดการกับความเจ็บปวดของตัวเอง ไม่ต่อสู้กับมัน และไม่สติแตกกับมัน ดังนั้น มันจึงไม่ใช่วิธีวิเศษ ถ้าคุณวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นกับมันแล้ว จะเห็นว่ามีเหตุผลมาก
บทสรุป
ฉะนั้นแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการบางอย่างที่ใช้ในการฝึกจิตใจโลจอง (lojong) เพื่อเอาชนะการคิดถึงแต่ตัวเองและให้มีความห่วงใยผู้อื่นพื้นฐานของเรา โดยไม่คำนึงถึงระดับแรงจูงใจของเรา การเปลี่ยนแปลงทัศนคติดังกล่าวมีประโยชน์มาก การเปลี่ยนแปลงตัวเองที่เกิดจากสิ่งนี้คือ ความสามารถในการคิดและรู้สึกอย่างจริงใจ “ไม่ว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากเลวร้ายจะเกิดขึ้น ฉันจะไม่คิดว่า ‘ฉันผู้น่าสงสาร’ และปล่อยให้มันทำร้ายฉัน ฉันจะไม่ปล่อยให้มันกดดันฉัน” แต่เราจะพัฒนาทัศนคติทั่วไปในชีวิตว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉันสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ ฉันสามารถใช้มันเพื่อพัฒนาความห่วงใยผู้อื่นได้มากขึ้น มันจะไม่เป็นอุปสรรค” การมีทัศนคติเช่นนี้จะทำให้คุณมีความกล้าหาญอย่างมากในชีวิต