การนำเสนอเส้นทางตามลำดับขั้นตอนลัม-ริมแบบดั้งเดิม

การเดินหน้าด้วยวิธีการของเส้นทางตามลำดับขั้นเพื่อไปสู่การตรัสรู้จะเริ่มต้นด้วยการตระหนักถึงโอกาสที่หายากอย่างไม่น่าเชื่อที่เรามีกับการได้เกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่า ถ้าเราใช้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่ เราก็จะสามารถบรรลุถึงไม่เพียงแค่การเกิดใหม่ในรูปแบบนั้นต่อไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการหลุดพ้นและการตรัสรู้อีกด้วย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับขอบเขตของแรงจูงใจและจุดมุ่งหมายของเรา รวมทั้งการเรียนรู้และการปฏิบัติธรรมที่พระพุทธเจ้าได้สอนไว้

การเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่า

เหตุใดการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่าจึงเป็นเหมือนอัญมณีสารพัดนึก

ร่างกายมนุษย์อันล้ำค่าที่เรามีนี้มีค่ามากกว่าอัญมณีสารพัดนึก มันเป็นพื้นฐานสำหรับการหยุดพัก แต่การหยุดพักและโอกาสที่ร่างกายของเราให้แก่เราไม่ใช่การเสพยา แต่เพื่อปฏิบัติธรรม เหตุใดร่างกายของมนุษย์อันล้ำค่าจึงมีค่ามากกว่าอัญมณีสาพัดนึก? เพราะด้วยอัญมณีสารพัดนึก เราสามารถที่จะได้รับอาหารและเครื่องดื่มสำหรับชาตินี้ได้ แต่อัญมณีสารพัดนึกจะไม่อาจเป็นประโยชน์ต่อชาติหน้าได้ ดังนั้น ร่างกายที่เรามีนี้จึงให้เรามีโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าอัญมณีดังกล่าว

เราทุกคนต้องการความสุขตลอดเวลาและนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ไม่ว่าเราจะบรรลุความสุขใดในชีวิตนี้ มันก็มีอายุสั้นมาก เพราะมันคงอยู่เพียงแค่ชั่วอายุสั้น ๆ นี้เท่านั้น ดังนั้น ถ้าเราต้องการความสุขที่ต่อเนื่องยาวนาน เราจำเป็นต้องคิดถึงชีวิตในชาติหน้าของเรา อัญมณีสารพัดนึกไม่สามารถให้อิสระแก่เราจากการเกิดใหม่ในดินแดนที่เลวร้ายทั้งสามได้และไม่สามารถให้ความเป็นอมตะแก่เราได้ แต่ด้วยการใช้ร่างกายมนุษย์อันล้ำค่านี้เป็นพื้นฐานการฝึกฝน เราก็จะสามารถป้องกันตัวเราเองจากการเกิดใหม่ในสภาพที่ต่ำกว่าได้ และก็เช่นเดียวกับ เจ็ตซัน มิลาเรปะ (Jetsun Milarepa) ที่ใช้มันเป็นรากฐานในการปฏิบัติธรรม เราก็จะสามารถบรรลุการตรัสรู้ในชาตินี้ได้ ดังนั้นในเมื่ออัญมณีสารพัดนึกไม่สามารถมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับเราเหมือนกับร่างกายอันล้ำค่าของเราที่ให้เราได้ ร่างกายของเราจึงมีค่ามากกว่าอัญมณีสารพัดนึก

ดังนั้น เราจึงต้องปฏิบัติธรรมด้วยร่างกายอันล้ำค่านี้ แต่เรามักจะมีมุมมองที่ตรงกันข้าม นั่นคือ แม้ว่ามันจะมีค่ามากกว่าอัญมณีสารพัดนึก แต่เราก็ใช้ร่างกายของเราเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งมากขึ้นเรื่อย ๆ และเราก็พร้อมที่จะสละชีวิตของเราเพื่อเป้าหมายระยะสั้นนี้ มีคนมากมายในโลกที่ร่ำรวยและฉลาดกว่าเรา แต่ด้วยการใช้ร่างกายอันล้ำค่าของเราในการปฏิบัติธรรม เราก็จะสร้างพลังบวก (บุญ) ได้มากกว่าที่พวกเขาทำ ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะไม่ทำให้การเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่านี้สูญเปล่า แต่ใช้มันให้เกิดประโยชน์เพื่อบรรลุจุดประสงค์ 3 ข้อ นั่นคือ การบรรลุการเกิดใหม่ที่ดีกว่าในชาติหน้า การหลุดพ้น และการตรัสรู้

ไม่ว่าเราจะมีวัตถุสิ่งของกี่ชิ้นก็ตาม สิ่งนั้นก็ไม่อาจนำมาซึ่งความพึงพอใจได้ แม้ว่าคน ๆ หนึ่งจะเป็นเจ้าของสิ่งของต่าง ๆ ทั้งหมดในโลกนี้ เขาก็จะไม่พึงพอใจอยู่ดี ดังนั้น มันจึงชัดเจนว่า แม้แต่อัญมณีสารพัดนึกทั้งหมดก็ไม่อาจนำมาซึ่งความพึงพอใจได้ ถ้าคน ๆ หนึ่งได้ทรัพย์สมบัติมากขึ้นเรื่อย ๆ มันก็จะนำมาแต่ความทุกข์มากขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น เราสามารถสัมผัสข้อเท็จจริงนี้ได้ด้วยตัวเราเอง เช่น ถ้าเราเดินทางด้วยรถไฟหรือรถบัสพร้อมกระเป๋าเดินทางจำนวนมาก มันก็จะทำให้การเดินทางลำบากมาก แต่ถ้าเราไม่มีทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี้ มันก็จะเดินทางง่ายมาก

ดังนั้น เราจึงควรพยายามปฏิบัติธรรม ตัวอย่างเช่น เจ็ตซัน มิลาเรปะ ตอนที่อยู่ในถ้ำของเขา ก็ไม่ได้มีทรัพย์สมบัติทั้งหลาย เจ็ตซัน มิลาเรปะและพระศากยมุนีพุทธเจ้าตระหนักดีว่าวัตถุสิ่งของที่ไม่สำคัญและไม่จำเป็นนั้นเป็นอย่างไร และได้ละทิ้งสิ่งเหล่านั้นเพื่อปฏิบัติธรรม และคุณเองก็เช่นกัน ซึ่งเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ร่ำรวยมากมายในโลกนี้ ได้ตระหนักว่าวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ไม่สำคัญนักและได้ละทิ้งสิ่งเหล่านั้นเพื่อมาที่นี่เพื่อปฏิบัติธรรม 

สาเหตุและความยากลำบากในการได้เกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่า

เราจำเป็นต้องพิจารณาว่า ทำไมมันจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะได้ร่างมนุษย์อันล้ำค่านี้มา มันยากที่จะได้มาเนื่องจากสาเหตุของตัวมันเองที่ยากที่จะสร้างได้ ซึ่งมีอยู่ 3 สาเหตุหลักคือ

  • รักษาวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด
  • ฝึกปฏิบัติทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการ (ความสมบูรณ์แบบ 6 ประการ)
  • ถวายบทสวดมหาปณิธานด้วยใจบริสุทธิ์

การรักษาวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด

มันเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะรักษาวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด และมันก็เป็นการยากสำหรับเราที่จะรับรู้และประเมินมันในตัวผู้อื่น นอกจากนี้ ในแง่ของการมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม มีการกระทำที่เป็นการทำลาย 10 ประการ และเราจำเป็นต้องพิจารณาว่าคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร และแน่นอนว่าในบรรดาผู้ที่รู้ว่ามันคืออะไร ส่วนใหญ่ก็จะไม่ฝึกปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงมัน

การกระทำที่เป็นการทำลายร่างกาย 3 ประการ ได้แก่

  • การฆ่า – ตัวอย่างเช่น เราอาจรู้ว่าเราไม่ควรฆ่า แต่เมื่อแมลงกัดเรา เราก็จะตบและฆ่าโดยสัญชาตญาณ
  • การเอาของที่เขาไม่ได้ให้ – แม้ว่าเราจะไม่ได้ออกไปขโมยของอย่างร้ายแรง แต่เราก็อาจจะใช้วิธีอันชาญฉลาดเพื่อเอาของจากคนอื่นมา ดังนั้น มันจึงเกือบจะเป็นสิ่งเดียวกัน
  • มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม – เรามีความปรารถนาอย่างมากที่จะอยู่กับคู่ครองของผู้อื่น

เราสะสมการกระทำที่เป็นการทำลายร่างกายต่าง ๆ เหล่านี้ในแต่ละวันเหมือนหยาดฝนที่ตกลงมาใส่เราเวลาที่เราอยู่กลางสายฝน

การพูดจาที่เป็นการทำลาย 4 ประการ ได้แก่

  • การโกหก – เราสะสมสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น ถ้าเราตั้งใจจะลงเขาและมีคนถามเราว่าเรากำลังจะไปไหน เราก็จะบอกว่าเรากำลังจะขึ้นเขา
  • การพูดจาทำให้เกิดความแตกแยก – ทำให้เพื่อนไม่เป็นมิตรต่อกัน และทำให้คนที่ไม่เป็นมิตรกันอยู่แล้วกลับกลายเป็นศัตรูกันมากขึ้น เราทำสิ่งนี้ตลอดเวลาด้วยการพูดไม่ดีเกี่ยวกับผู้อื่น
  • การพูดจารุนแรงหยาบคาย – สิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องกระทำต่อมนุษย์เสมอไป ตัวอย่างเช่น ถ้าสุนัขเข้ามาในห้องของเรา เราอาจพูดว่า “รีบไสหัวออกไปซะ! ออกไป!” แล้วก็ใช้ภาษาที่รุนแรงหยาบคาย การใช้ภาษาที่หยาบคายหรือรุนแรงถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ เนื่องจากเรารู้ว่า หากมีคนใช้ภาษาที่รุนแรงหยาบคาย เราจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก และก็เช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ ที่รู้สึกแบบนั้น รวมทั้งสัตว์ก็รู้สึกเช่นเดียวกันด้วย
  • การพูดคุยอย่างไร้ความหมาย – แทบทุกคำพูดจากปากของเราเป็นการซุบซิบไร้สาระ เช่น “ฉันเคยไปประเทศนั้น” “ฉันเคยทำมาแล้ว” ถ้าคุณพูดมาก คุณก็จะเพิ่มโอกาสในการใช้คำพูดที่เป็นการทำลายล้างนี้มากขึ้น เพราะอาตมาไม่รู้ภาษาอังกฤษ อาตมาจึงไม่มีโอกาสซุบซิบนินทาเป็นภาษาอังกฤษ อาตมาก็เลยซุบซิบนินทาเป็นภาษาทิเบตเพิ่มมากขึ้นก็เท่านั้น!

วิธีคิดที่เป็นการทำลาย 3 ประการ ได้แก่

  • การคิดอย่างโลภ – เช่น ใครบางคนมีบ้านที่สวยมาก ฯลฯ แล้วคุณก็ต้องการมันสำหรับตัวคุณเอง คิดเกี่ยวกับมันตลอดเวลาและวางแผนว่าจะได้มันมาอย่างไร สิ่งนี้ไม่ดีมาก ๆ แต่เป็นสิ่งที่เรามีกันมาก
  • การคิดมุ่งร้าย – หวังให้ใครสักคนไม่มีความสุขหรือคอหัก นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เพียงแค่หวังให้เกิดกับศัตรูของเราเท่านั้น แต่เรายังสามารถมุ่งร้ายได้ถ้าเพื่อนของเราทำให้เรารำคาญ
  • การคิดอย่างบิดเบือนด้วยการต่อต้าน – เช่น คิดว่าไม่มีการเกิดใหม่ในอนาคตหรือว่าพระรัตนตรัยช่วยใครไม่ได้ หรือคิดว่าการถวายบูชา (puja) เป็นการเสียเวลา หรือการถวายตะเกียงเนยเป็นการเปลืองเนย หรือการทำโทมา (torma) เครื่องเซ่นสังเวยก็เหมือนทิ้ง แซมปา (เมล็ดข้าวบาร์เลย์คั่ว) ไป

มันยากที่จะป้องกันตัวเราเองจากการกระทำเหล่านี้ และถ้าคุณไม่ป้องกันตัวคุณเองจากการกระทำเหล่านี้แล้ว คุณก็จะไม่สามารถบรรลุการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่าได้ ตอนนี้ไม่มีเวลาลงรายละเอียด แต่ถ้าคุณต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม คุณจำเป็นต้องศึกษาคำสอนลัม-ริม (lam-rim)

ฝึกปฏิบัติทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการ (ความสมบูรณ์แบบ 6 ประการ)

สาเหตุที่ 2 ของการได้เกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่าคือ การฝึกฝนทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการหรือบารมี 6 (ความสมบูรณ์ 6 ประการ) ซึ่งได้แก่

  • ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
  • ความมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม
  • ความอดทน
  • ความเพียรพยายาม
  • ความมั่นคงทางจิตใจ (สมาธิ)
  • การรับรู้ที่แยกแยะ (ปัญญา)

แต่แทนที่จะฝึกความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรากลับฝึกความตระหนี่และขยายทัศนคติที่ตระหนี่ถี่เหนียวของเราออกไปให้คนอื่น แทนที่จะมีความอดทน เรากลับมีความโกรธ แทนที่จะมีความเพียรพยายามซึ่งเราพยายามใช้ความกล้าหาญอย่างวีรบุรุษและมีความปีติยินดีในการปฏิบัติธรรม เรากลับมีความเกียจคร้านและอยากนอนอยู่ตลอดเวลา แทนที่จะมีความมั่นคงทางจิตใจ เรากลับปลูกฝังความสับสน ตัวอย่างเช่น เมื่อสวดมนต์จิตใจของเรากลับล่องลอยไปทุกที่ เอาใจไปคิดถึงเรื่องอื่น ๆ และเราก็พัฒนาโอกาสให้สิ่งนี้เกิดขึ้นต่อไปอีก

ครั้งหนึ่ง มีครูคนหนึ่งซึ่งขณะที่กำลังฝึกปฏิบัติ จำได้ว่ามีงานหนึ่งที่เขาอยากให้ลูกศิษย์ทำแต่ลืมบอกไป พอนึกขึ้นได้ก็หยุดการทำสมาธิ ลุกขึ้นบอกให้ลูกศิษย์ทำสิ่งนั้น นี่คือความใจลอยของครูที่เอาใจไปคิดถึงเรื่องอื่น ๆ เมื่อใดก็ตามที่เราฝึกปฏิบัติการสวดมนต์ จิตใจของเรามีแนวโน้มที่จะขาดสมาธิ 

ในแง่ของการรับรู้ที่แยกแยะอันกว้างไกล เราจำเป็นต้องปลูกฝังการรับรู้ที่แยกแยะที่เข้าใจเรื่องของการที่ไม่มีสิ่งใด (ความว่างเปล่า) แต่เรากลับศึกษาสิ่งต่าง ๆ ทางโลกแทน เช่น การวาดภาพทาสี ดังนั้น เราจึงไม่ได้สร้างความรู้ที่ถูกต้อง

กล่าวอย่างสั้น ๆ คือ มันยากมากที่จะสร้างสาเหตุของการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่า เมื่อเห็นว่าในการที่จะมีร่างกายเช่นนี้ได้นั้นมันยากเพียงใด เราควรคิดว่า เรามีมันเพียงครั้งเดียวและมันอาจหายไปได้ง่ายมาก ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์จากร่างกายมนุษย์อันล้ำค่านี้ที่เราได้รับมา มันก็จะเป็นการยากมากที่จะได้รับร่างกายนี้ใหม่ในอนาคต

การถวายบทสวดมหาปณิธานด้วยใจบริสุทธิ์

เราจำเป็นต้องเสริมการรักษาวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมและฝึกปฏิบัติทัศนคติอันกว้างไกลทั้งหกด้วยการสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจเพื่อให้เกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่า นี่ไม่ได้หมายถึงการสวดมนต์เช่น “โอ้ พระพุทธเจ้า ขอทรงโปรดประทานมันแก่ข้าพระองค์หากข้าพระองค์เป็นเด็กดี และข้าพระองค์ก็สรรเสริญพระองค์ตลอดเวลา” แต่มันควรจะเป็นการชี้นำที่เข้มแข็งมากสำหรับความตั้งใจและพลังงานเชิงบวกของเรา โดยมีการอุทิศตนที่เฉพาะเจาะจงในการบรรลุถึงการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่า

มันสำคัญที่การอุทิศตนนั้นจะต้องมีความเฉพาะเจาะจง ในอารามกันเดน (Ganden Monastery) มีบัลลังก์ซึ่งเป็นที่นั่งที่สูงมากของหัวหน้าคณะเกลุกปา (Gelugpa) คือบัลลังก์กันเดน ในทิเบต มักจะมีสัตว์อยู่ในอารามเสมอ และวันหนึ่ง ก็มีวัวตัวหนึ่งเดินเข้าไปในวัดและนอนลงบนบัลลังก์ ภิกษุทั้งหลายประหลาดใจในเรื่องนี้มาก พวกเขาจึงถามครูผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งที่นั่นว่า “สิ่งนี้เกิดจากสาเหตุอะไร?” ครูบอกว่า “ในชาติก่อน สิ่งมีชีวิตนี้สวดมนต์ให้สามารถนั่งบนบัลลังก์กันเดนได้ แต่ยังไม่เจาะจงเพียงพอ!”

การหยุดพักจากสถานการณ์ทั้ง 8 ของการไม่มีเวลาว่าง

ธรรมชาติของการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่าคือ การได้หยุดพัก 8 ครั้ง นั่นหมายความว่า ในขณะนี้ มันเป็นอิสระจากสถานการณ์ชั่วคราวทั้ง 8 ของการไม่มีเวลาว่าง สภาพของการไม่มีเวลาว่างคือ สภาพที่ไม่มีโอกาสปฏิบัติธรรม

สภาพของอมนุษย์ที่ไม่มีเวลาว่างมี 4 สภาพ ได้แก่

  • สิ่งมีชีวิตที่ติดอยู่ในดินแดนที่ไร้ความสุข (สัตว์นรก) – ถ้าเราเกิดใหม่ในแดนนรกที่ไร้ความสุข ก็จะไม่มีโอกาสได้ฝึกฝนเพราะร่างกายของเราถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา
  • ผีหิวโหย (ผีหิวโหยหรือเปรต) – ถ้าเราเกิดใหม่เป็นผี เราจะหิวกระหายตลอดเวลาและหมกมุ่นอยู่กับความคิดเรื่องอาหาร

ถ้าเราตื่นนอนตอนเช้าแล้วไม่ได้ทานอาหารเช้า เราก็จะไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติธรรม ถ้าเราตื่นมาด้วยความปวดหัว เราก็จะไม่เต็มใจที่จะปฏิบัติธรรม ดังนั้น ถ้าดูจากจากประสบการณ์ของเรา ถ้าเราเกิดเป็นผีที่หิวโหยและขาดอาหารไป 60 ปี เราก็คงไม่สนใจที่จะปฏิบัติธรรม ดังนั้น เราจำเป็นต้องขอบคุณที่โชคดีที่เราไม่ได้เกิดใหม่ในฐานะผู้ถูกทรมานที่ถูกขังอยู่ในแดนนรกที่ไร้ความสุข หรือเป็นผีหิวโหยที่คว้าจับอาหารอยู่ตลอดเวลา

  • ดิรัจฉาน (สัตว์) – แม้ว่าเราจะเกิดเป็นสุนัขของสมเด็จองค์ดาไลลามะ เราก็ไม่สามารถแม้แต่จะท่องบทสวดที่พึ่งนั้นได้ เราโชคดีมากที่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น
  • เทพ (เทพเจ้าที่อายุยืน) – เทวดาที่อายุยืนในแดนสวรรค์มีความปีติยินดีทางโลกอย่างมากจนไม่สนใจในการปฏิบัติธรรม

พระสารีบุตรมีสาวกคนหนึ่งซึ่งมอบตัวเขาเองให้กับท่านด้วยความศรัทธาอย่างแข็งขันกับ “การอุทิศตนให้ครู” หลังจากที่สาวกนั้นเสียชีวิต เขาก็ไปเกิดในแดนเทพ พระสารีบุตรได้ใช้พลังประสาทสัมผัสพิเศษจึงสามารถเห็นได้ว่าสาวกผู้ซื่อสัตย์ของท่านได้ไปเกิดในอาณาจักรนั้น ท่านก็เลยคิดว่าจะไปเยี่ยมเขา เมื่อพระสารีบุตรไปถึงแดนเทพแห่งนั้น แต่สิ่งที่สาวกคนนั้นทำทั้งหมดก็คือโบกมือทักทาย “สวัสดี!” ให้ท่าน เขาไม่สนใจครูหรือการปฏิบัติธรรมเพราะเขากำลังมีช่วงเวลาที่ดีนั้น

เราสามารถเห็นสิ่งนี้ได้จากประสบการณ์ของเรา ถ้าใครยากจนมาก ก็จะเตรียมพร้อมในการปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเขากลายมาเป็นคนที่ร่ำรวยและมีความสะดวกสบายมาก เขาก็จะไม่สนใจ ดังนั้น เราจึงโชคดีมากที่ไม่ได้เกิดเป็นเทพเจ้าที่มีอายุยืนยาว

สภาพของมนุษย์ที่ไม่มีเวลาว่างมี 4 สภาพ ได้แก่

  • ในที่ที่ไม่มีถ้อยคำของพระพุทธเจ้า – เช่น มีคนเกิดในประเทศหรือในเวลาที่พวกเขาไม่สามารถที่จะได้ยินแม้แต่พระธรรม เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น
  • ในสังคมป่าเถื่อน – เป็นที่ที่ความสนใจของทุกคนล้วนแต่อยู่ที่การหาอาหารและเสื้อผ้าเท่านั้น

ในทิเบตมีภูเขาที่เรียกว่า ซารี (Tsari) ชาวทิเบตจะไปที่นั่นทุก ๆ 12 ปี ชนเผ่าโลบา (Loba) ที่อาศัยอยู่ที่นั่นป่าเถื่อนมาก และเพื่อที่จะผ่านประเทศของพวกเขา เราจะต้องเสียภาษี ภาษีคือจามรี และเมื่อชนเผ่าได้จามรีแล้ว พวกเขาก็จะฆ่าและกินมันและดื่มเลือดมันทันที เราจึงโชคดีที่ไม่ได้เกิดในสถานที่นั้น แม้จะเป็นมนุษย์ก็ตาม

  • กับผู้พิการมาก – ถ้าเราเกิดมาตาบอด หูหนวกและเป็นใบ้ หรือมีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ หรือสังคม แต่กำเนิด เราก็จะมีอุปสรรคร้ายแรงในการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ
  • ในพื้นที่ที่มีทัศนคติต่อต้านศาสนา – สถานที่ที่ผู้คนคิดว่าการปฏิบัติทางศาสนาใด ๆ โดยเฉพาะพระธรรมทางพุทธศาสนาเป็นการเสียเวลาอย่างโง่เขลาและสิ่งที่คุ้มค่าทั้งหมดคือ การหาเงิน เป็นต้น

ถ้าเราเกิดใหม่เป็นมนุษย์โดยปราศจากสภาพทั้งหมดนี้ และนอกจากนี้ ถ้าเราเข้าใจถึงสาเหตุต่าง ๆ ของการได้มาซึ่งสภาพนั้น เราจึงโชคดีเป็นทวีคูณ หลายคนที่มีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าเช่นนี้ไม่ได้ตระหนักว่าอะไรคือสาเหตุต่าง ๆ เพื่อการดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะได้มาซึ่งการเกิดใหม่แบบนั้นเพิ่มขึ้นอีก 

การเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกัน

เราสามารถใช้การเปรียบเทียบความคล้ายคลึงกันเพื่อช่วยให้เราเข้าใจความยากลำบากในการได้มาซึ่งร่างกายมนุษย์อันล้ำค่าได้ ตัวอย่างเช่น มันหายากพอ ๆ กับเม็ดทรายที่อาจจะเกาะติดกับกระจกได้เมื่อโยนมันใส่กระจกนั้น

ถ้าเราคิดถึงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เราจะตระหนักว่าการเกิดใหม่เป็นมนุษย์ในปัจจุบันของเรานั้นช่างล้ำค่าเพียงใด และเราควรคิดว่า เราได้มันมาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ให้ลองนึกถึงผู้คนหลายร้อยล้านคนในอินเดียว่าจะมีสักกี่คนที่จะปฏิบัติธรรม ดังนั้น เราจึงจะได้เห็นว่ามันหายากแค่ไหน

ครั้งหนึ่ง มีลามะองค์หนึ่งกำลังบรรยายเรื่องความยากลำบากในการได้เกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่า มีคนฟังชาวมองโกเลียคนหนึ่งพูดขึ้นว่า “ถ้าท่านคิดว่าการเกิดใหม่เป็นมนุษย์เป็นเรื่องยากนัก ท่านควรจะไปที่ประเทศจีนและดูว่ามีคนอยู่กี่คนที่นั่น!” นั่นก็เหมือนกับการบอกอาตมาว่าอาตมาควรจะไปประเทศรัสเซีย

สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ดีมากที่จะคิดเกี่ยวกับการทำสมาธิ

การใช้ประโยชน์จากร่างกายมนุษย์อันล้ำค่าของเราและดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย

ถ้าเราคิดว่าเราทำงานหนักแค่ไหนในชาติก่อนเพื่อให้ได้ร่างกายมนุษย์อันล้ำค่านี้มา เราก็จะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้ชีวิตนี้มีความหมาย ตัวอย่างก็น่าจะเป็นเช่นว่า ถ้าคุณบรรทุกของขึ้นบนภูเขาไปครึ่งทางแล้วปล่อยมันไป มันก็จะตกลงมาจนสุดทาง งานที่เราทำเพื่อให้ได้มาซึ่งการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่าในชีวิตนี้เปรียบเสมือนงานที่บรรทุกสัมภาระไปบนภูเขาครึ่งทาง และถ้าเราปล่อยมันไป งานทั้งหมดก็จะสูญเปล่า

ฉะนั้น เมื่อเรามีร่างกายมนุษย์อันล้ำค่า เราก็ไม่ควรที่จะเพียงแค่ปรารถนาที่จะมีร่างกายนั้นอีกในอนาคตเท่านั้น ขณะที่เรามีมันอยู่ตอนนี้ เราจำเป็นต้องใช้มันเพื่อบรรลุสภาพของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้โดยสมบูรณ์ ถ้าเราไม่ทำ มันก็จะเหมือนมีถุงข้าว แค่นั่งเฉย ๆ อยู่ตรงนั้นและไม่กินมัน แต่สวดภาวนาขอให้มีข้าวอีกถุงในชาติหน้า เราต้องใช้ประโยชน์จากการเกิดใหม่เป็นมนุษย์ของเราอย่างเต็มที่ในตอนนี้

มีสติตระหนักถึงความตาย

ความตายเป็นสิ่งที่แน่นอน

ถ้าเราพิจารณาประเภทของร่างกายมนุษย์ที่เรามี มันไม่ได้ทำมาจากหินหรือโลหะ ถ้าเป็นแบบนั้น มันก็อาจอยู่ได้นาน อันที่จริง ถ้าเรากรีดร่างกายของเราเพื่อดูว่ามีอะไรอยู่ข้างใน มันก็จะเป็นเลือดและตับไตไส้พุงต่าง ๆ มากมาย เหมือนกับเครื่องในสัตว์ที่ผู้คนแขวนไว้อยู่ในบ้านหลังจากซื้อเนื้อที่ตลาด ภายในของเราบอบบาง ละเอียดอ่อน เท่า ๆ กับภายในของนาฬิกา

ถ้าเราคิดถึงความตายและจำนวนผู้เสียชีวิต เราอาจใช้ขั้นตอนการนับลูกประคำของสายลูกประคำทีละเม็ด ถ้าอาตมานึกถึงจำนวนชาวทิเบตที่เสียชีวิตตั้งแต่มาที่ธรรมศาลา อาตมาอาจสามารถผ่านขั้นตอนการนับลูกประคำทั้งหมดได้อย่างรวดเร็ว

ไม่มีใครสักคนที่มีร่างมนุษย์ที่ไม่ตาย และถ้าคุณคิดว่าพืชและต้นไม้ตายไปอย่างไร คุณจะเห็นว่ามันเป็นเพียงเรื่องของเวลาก่อนที่คุณจะตายก็เท่านั้น ข้อสรุปตามธรรมชาติของการเกิดมาก็คือ การตาย ไม่มีอะไรอื่นอีกที่เราจะสามารถทำได้ บทสรุปของการมารวมตัวกันที่นี่คือ การแยกย้ายจากกันไป และบทสรุปสุดท้ายของการขึ้นไปคือ การลงมา โดยการตระหนักว่าไม่มีอะไรให้เราทำนอกจากตาย เราจึงจำเป็นต้องพยายามปฏิบัติธรรมให้มากที่สุดก่อนที่ความตายจะมาถึง

ดังนั้น เราควรจะคิดว่าเราจะตายอย่างไร ลองนึกภาพคุณป่วยหนัก และเนื้อหนังมังสาของคุณก็เปลี่ยนเป็นสีที่น่ากลัว แล้วคุณก็อ่อนแอมาก ญาติของคุณทั้งหมดร้องไห้และพูดว่ามันแย่มากแค่ไหน แล้วหมอก็มาและให้ยาคุณ จากนั้น เขาก็แค่กระดกลิ้นและพูดว่ามันแย่มากเลย

เราตายได้ทุกเมื่อ

นอกจากนี้ ยังไม่มีความแน่นอนว่าคุณจะตายเมื่อไหร่ด้วย เรามองเห็นพ่อแม่ที่มีผมหงอกซึ่งแก่มากกำลังฝังศพลูก ๆ ของพวกเขา และหลายคนสำลักอาหารตายขณะที่กินข้าวตามปกติ

ตัวอย่างเช่น คุณสามารถคิดในแง่ของตัวอย่างนี้จากทิเบตได้ ชายคนหนึ่งเก็บเนื้อชิ้นใหญ่ไว้ แล้วพูดว่าเขาจะกินมันในตอนเช้า แต่ชิ้นเนื้ออยู่ได้นานกว่าตัวเขา อีกตัวอย่างหนึ่ง อาตมารู้จักชาวไร่มันฝรั่งที่มาจากซิมลา (Simla) ที่กำลังจะทำขนมปังทอดสำหรับมื้อกลางวัน แต่เสียชีวิตขณะที่ทำขนมปังอยู่

วิธีที่ดีที่สุดในการสำนึกถึงคุณค่าของความไม่เที่ยงและความตายนั้นไม่ใช่อ่านหนังสือเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ แต่ให้นึกถึงคนอื่นที่เรารู้จักที่เสียชีวิตไปแล้ว

พระธรรมเท่านั้นที่สามารถช่วยเราได้ในเวลาแห่งความตาย

การทำสมาธิพิจารณาถึงความตายมีความสำคัญอย่างไร? มันแสดงให้เห็นว่าสิ่งเดียวที่คุ้มค่าที่จะทำก็คือ การปฏิบัติธรรม

ถ้าเราคิดในแง่สิ่งที่เป็นวัตถุ คุณจะเห็นว่าเราไม่สามารถเอาอะไรไปพร้อมกับเราได้เลย ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นพ่อค้าผู้มั่งคั่งที่หาเงินได้มากมาย ทั้งหมดที่คุณมีได้คือ ผ้าราคาแพงมากที่จะห่อร่างของคุณเพื่อเผาศพ ในแง่ของจำนวนการกระทำที่เป็นไปในทางทำลายที่พ่อค้ารายนี้ทำเพื่อสะสมความมั่งคั่งนี้ขณะที่เขาเดินทางจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งอาจมีจำนวนมหาศาล

ถ้าคุณมีคนใช้ หรือคนงานจำนวนมาก หรือเป็นผู้บัญชาการทหาร 100,000 นาย ไม่มีใครสามารถมากับคุณได้เมื่อคุณตาย แม้แต่ประเทศที่เต็มไปด้วยญาติพี่น้องก็ช่วยอะไรไม่ได้ ทั้งหมดที่พวกเขาทำได้คือ ยืนนิ่ง ๆ ขณะที่คุณตาย ซึ่งรบกวนจิตใจคุณอย่างมากและขัดขวางการตายอย่างสงบและการเกิดใหม่ของคุณอย่างมาก

สิ่งเดียวที่จะสามารถช่วยในยามตายได้คือ การปฏิบัติธรรม เพราะถ้าคุณสร้างพลังกรรมเชิงบวกมากพอจากการกระทำเชิงสร้างสรรค์ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเกิดใหม่ในชาติหน้าของคุณ แต่พลังกรรมเชิงลบจะทำให้พวกเขาแย่ลง นี่คือสิ่งที่คุณสามารถจะเข้าใจได้โดยไม่ต้องคิดถึงเกี่ยวกับความตาย ชาวทิเบตหลายคนตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เคยร่ำรวยมากในทิเบต แต่พวกเขาต้องเหลือไว้เพียงความรู้และคุณสมบัติภายในที่พวกเขามีในขณะนั้น เราจึงจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างบริสุทธิ์ในช่วงชีวิตของเราและไม่เสียเวลาไปกับกิจกรรมทางโลก

เราควรพิจารณากิจกรรมทางโลกทั้งหมดในชีวิตนี้ว่าไม่สำคัญ เช่นเดียวกับแกลบข้าวสาลี กิจกรรมทางโลกต่าง ๆ ไม่มีสาระสำคัญ เราควรถือว่ากิจกรรมทางโลกเป็นเหมือนเด็กที่สร้างปราสาททราย เมื่อพวกเขาเล่นกับมันเสร็จแล้ว พวกเขาก็ทิ้งมันไว้ข้างหลังและจากไป นี่คือวิธีที่เราควรนึกถึงกิจกรรมทางโลก

ถ้าคุณคิดถึงเกี่ยวกับสิ่งนี้ทั้งหมด มันก็จะช่วยการปฏิบัติธรรมของคุณได้อย่างมาก

ขอบเขตขั้นต่ำของแรงจูงใจทั้ง 2 ขอบเขต

ขอบเขตชั้นต้น

ถ้าเราถือว่ากิจกรรมทางโลกทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่สำคัญมากนัก เราก็จะตระหนักว่าสิ่งสำคัญเพียงอย่างเดียวคือการปฏิบัติธรรมของเรา การปฏิบัติธรรมคือ การทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเกิดใหม่ในชาติหน้าของคุณ ตัวอย่างเช่น มีทัศนคติที่ว่า “ตอนนี้ ฉันได้เกิดขึ้นใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่า ฉันจะใช้มันเพื่อป้องกันการตกลงไปสู่ดินแดนที่เลวร้ายในชาติหน้า” ซึ่งเป็นระดับที่เล็กน้อยที่สุดในการใช้ประโยชน์จากชีวิตอันล้ำค่าของเรา

สิ่งที่จะป้องกันเราจากการตกลงไปสู่ดินแดนทั้ง 3 แห่งที่เลวร้ายกว่าคือ การรักษาความมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด แต่ถึงแม้เราจะตั้งความปรารถนาอย่างแน่วแน่ที่จะรักษาวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมแล้ว แต่มันก็จะค่อย ๆ เสื่อมถอยลง ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเราตกลงไปสู่การเกิดใหม่ในภพภูมิที่เลวร้ายกว่า เราจำเป็นต้องกำจัดอารมณ์ที่รบกวนจิตใจของเราออกไป มันเหมือนกับการซักเสื้อผ้าที่เปื้อนมาก นั่นคือ ในตอนแรกคุณใช้แรงเพียงเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ เพิ่มแรงของคุณขึ้น ในการกำจัดอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ คุณต้องเริ่มต้นอย่างช้า ๆ และนุ่มนวล แล้วค่อย ๆ พยายามพัฒนาตัวคุณเองอย่างเต็มที่ ดังนั้น เพื่อรักษาวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม คุณต้องค่อย ๆ ใช้มัน แล้วจากนั้น ด้วยการใช้มันอย่างทีละน้อย คุณก็จะสามารถกำจัดอารมณ์ที่รบกวนจิตใจออกจากตัวคุณเองได้ ไม่เช่นนั้นความพยายามของคุณก็อาจเสื่อมลงได้อย่างง่ายดาย

ถ้าคุณปฏิบัติตามความมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดใหม่ในภพภูมิที่เลวร้ายกว่าทั้ง 3 แดน นี่คือระดับขั้นต่ำของการปฏิบัติธรรม

ขอบเขตชั้นกลาง

แม้ว่าเราจะหลีกหนีจากการเกิดใน 3 ดินแดนที่เลวร้ายกว่าและชาติหน้าเราจะได้ไปเกิดท่ามกลางความปีติยินดีและความสุขในดินแดนแห่งเทพ หรือแม้แต่เกิดเป็นมนุษย์ เราก็ควรจะพยายามตระหนักว่าการเกิดใหม่ของสังสารวัฏทั้งหมดล้วนเป็นความทุกข์ มีการสนทนากันอย่างกว้างขวางในคำสอนลัม-ริม แต่อาจอธิบายได้ด้วยตัวอย่างนี้ว่า คุณกำลังยืนอยู่กลางแดดที่ร้อนจัด ดังนั้น คุณจึงเข้าไปข้างใน แล้วคุณก็พ้นทุกข์จากความร้อนแล้ว แต่ก็ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้ทนทุกข์จากความหนาวเย็นแทน จึงไม่มีสถานการณ์สังสารวัฏใดที่เราจะปราศจากความทุกข์ได้เลย

อารมณ์ต่าง ๆ ที่รบกวนจิตใจนั้นทำให้เราวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ ซึ่งเป็นการเกิดใหม่อย่างควบคุมไม่ได้ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า รากของมันนั้น ก็เหมือนรากของต้นไม้ กำลังยึดจับเอาอัตลักษณ์ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงไว้อยู่ การวนเวียนของเราในสังสารวัฏ ก็เหมือนวนรอบอยู่บนม้าหมุน แล้วก็ไปไม่ถึงไหนเลย วิธีเดียวที่จะลงจากมันได้คือ การยกตัวเราขึ้น ให้อยู่เหนือมัน สูงขึ้นเหนือมัน ในการที่จะทำเช่นนี้ เราต้องกลายเป็นอารยะ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตระหนักรู้อย่างสูง ผู้ที่มีการรับรู้ที่แยกแยะโดยปราศจากการนึกคิดที่ตระหนักรู้ถึงความไม่มีอัตลักษณ์ นั่นคือ การปราศจาก “วิญญาณ” ที่ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ สิ่งนี้เป็นการรับรู้ที่แยกแยะถึงการที่ไม่มีสิ่งใด (ความว่างเปล่า) 

ในการที่จะปลูกฝังความตระหนักรู้ถึงความว่างเปล่าในความต่อเนื่องทางจิตใจของเรานี้ มันจำเป็นที่จะต้องบรรลุสมถะ ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่หยุดนิ่งและสงบแล้ว และเพื่อให้ได้สิ่งนี้ เราจำเป็นจะต้องมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม ดังนั้น การฝึกฝนขั้นที่สูงขึ้นทั้ง 3 อย่าง นั่นคือ การฝึกความมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม สมาธิที่สมบูรณ์ และการรับรู้ที่แยกแยะที่สูงขึ้น จะทำให้เราอยู่เหนือการเกิดใหม่ของสังสารวัฏที่ควบคุมไม่ได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าเราปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ เราก็จะสามารถยุติการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏได้

สิ่งมีชีวิตที่ยกระดับตัวเองให้อยู่ในสภาพของอารยะมี 3 ประเภท ได้แก่

  • ผู้ที่บรรลุจิตใจในหนทางแห่งการมองเห็น (ทางแห่งการมองเห็น)
  • ผู้ที่บรรลุจิตใจในหนทางแห่งความคุ้นชิน (ทางแห่งสมาธิ)
  • ผู้ที่บรรลุจิตใจแห่งหนทางที่ไม่จำเป็นต้องฝึกปฏิบัติเพิ่มเติม

สิ่งมีชีวิตที่มีหนทางแห่งจิตใจที่มองเห็นใหม่ ย่อมมีการรับรู้ถึงความว่างเปล่าที่ตรงไปตรงมาโดยปราศจากการนึกคิด บรรดาผู้ที่หนทางแห่งจิตใจที่คุ้นเคยจะทำสมาธิพิจารณาไตร่ตรองมากขึ้นเรื่อย ๆ และทำความคุ้นเคยกับตนเอง หรือสร้างนิสัยแห่งการรับรู้ถึงความว่างเปล่าที่ปราศจากการนึกคิดนี้ ถ้าคุณได้ทำสมาธิไตร่ตรองและไตร่ตรอง และทำจิตใจของคุณให้เคยชินกับการรับรู้ถึงความว่างเปล่านี้และได้ขจัดความคลุมเครือทางอารมณ์ให้หลุดพ้นไปตลอดกาลแล้ว คุณก็จะเป็นพระอรหันต์ ซึ่งก็คือ สิ่งมีชีวิตที่เป็นอิสระแล้วนั่นเอง

ขอบเขตขั้นสูงของแรงจูงใจ

ความรักและความเห็นอกเห็นใจ

แต่มันยังไม่เพียงพอที่จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระแต่ลำพังได้ เพราะสรรพสัตว์ทั้งหมด (สัตว์โลก) อยู่ในสถานการณ์เดียวกันนี้ สัตว์โลกทั้งหมดเหมือนกันนั่นคือมีความทุกข์และปรารถนาที่จะหลบหนีจากมัน หากเราพัฒนาจิตใจที่ปรารถนาให้สัตว์โลกทั้งหลายปราศจากทุกข์ นี่เรียกว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” แต่การจะปลูกฝังความปรารถนานี้ให้สัตว์โลกทั้งปวงต้องพลัดพรากจากความทุกข์ คุณจะต้องทำสมาธิพิจารณาใคร่ครวญในความทุกข์ของตัวคุณเองมาเป็นเวลานาน แล้วเมื่อตระหนักรู้ว่ามันเลวร้ายเพียงใด คุณก็จะสามารถพัฒนาการสละทิ้งได้ ซึ่งก็คือ ความตั้งใจที่จะเป็นอิสระนั่นเอง เมื่อคุณได้แนวคิดว่าความทุกข์มันแย่อย่างไรและปรารถนาที่จะกำจัดมันด้วยตัวของคุณเองแล้ว คุณก็สามารถนำความคิดนั้นไปปรับใช้กับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดได้ นั่นคือความเห็นอกเห็นใจ

ดังนั้น การสละทิ้งจึงเป็นความปรารถนาให้ฉันพ้นจากความทุกข์ ในขณะที่ความเห็นอกเห็นใจเป็นความปรารถนาให้สัตว์โลกทั้งปวงพ้นจากความทุกข์ ความแตกต่างระหว่างความเห็นอกเห็นใจกับความรักคือ ด้วยความเห็นอกเห็นใจ เราจะคิดว่า “มันจะวิเศษแค่ไหนถ้าหากสัตว์โลกทั้งหมดถูกแยกออกจากความทุกข์และสาเหตุของความทุกข์” ในขณะที่ความรักเป็นความปรารถนาให้สัตว์โลกทั้งปวงได้รับความสุขและกับสาเหตุแห่งความสุขนั้น

วิธีพัฒนาความวางใจเป็นกลางและโพธิจิต

อะไรคือเหตุผลที่เราไม่มีความรักและความเห็นอกเห็นใจ? เหตุใดเราจึงไม่ปรารถนาให้ทุกคนพ้นทุกข์และมีความสุข? มันเป็นเพราะจิตใจของเราไม่ราบเรียบ นั่นคือ มันหยาบกระด้าง มันมีจุดที่สูงและจุดที่ต่ำ อะไรคือความไม่เท่าเทียมกันของจิตใจของเรานี้? มันเป็นเพราะเรามีความยึดติดอย่างมากต่อญาติและเพื่อนของเรา และเวลาที่เราเห็นศัตรูหรือคนที่เราไม่ชอบ เราก็จะมีความเกลียดชังอย่างมาก

แล้วเราจะทำถนนที่เป็นร่องนี้ให้เรียบได้อย่างไร? เราสามารถทำความเข้าใจได้โดยนึกถึงตัวอย่างนี้ เช่น มีคนให้เงินคุณ 100 รูปีเมื่อวานนี้ และอีกคนหนึ่งให้ 100 รูปีแก่คุณวันนี้ คนที่ให้เงินคุณ 100 รูปีเมื่อวานนี้ชกหน้าคุณเมื่อเช้านี้ และคนที่ให้เงินคุณ 100 รูปีกับคุณวันนี้ชกหน้าคุณเมื่อวานนี้ คุณควรจะชอบใครและคุณควรจะเกลียดใคร?

หากเป็นเช่นนี้ เราจะต้องคิดว่าศัตรูของเราในอดีตได้ให้ประโยชน์กับเรามากเพียงใด ในอนาคต อาจจะเกิดเป็นความช่วยเหลืออย่างมากได้ ในทำนองเดียวกัน เพื่อนของเราได้ทำร้ายเราอย่างมากในอดีตและจะทำเช่นนั้นอีกในอนาคต มันเป็นเพียงเรื่องของเวลาก็เท่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น มีหลายคนที่เป็นมนุษย์กินเนื้อคน หรือแม้แต่มนุษย์หมาป่า หรือแวมไพร์ เราอาจพบว่าพวกเขามีเสน่ห์มากและแต่งงานกับหนึ่งในนั้น แต่คืนหนึ่งเขี้ยวของพวกเขาก็จะออกมาและพวกเขาก็จะกินเราจนหมด

ตอนที่คุณตีสุนัข มันจะเห่าและกัดคุณ ดังนั้น ถ้าเราโกรธศัตรู เราก็กำลังตอบโต้แบบเดียวกับที่สุนัขจะทำ เราจำเป็นต้องขจัดความไม่เท่าเทียมกันของจิตใจ ความยึดติด และความรู้สึกรังเกียจที่เรามี และบรรลุความวางใจเป็นกลาง ยิ่งไปกว่านั้น เราก็สามารถพัฒนาความรักและความเห็นอกเห็นใจได้ เช่นเดียวกับที่คุณต้องปูถนนที่เป็นร่องเพื่อให้รถยนต์เดินทางไปบนนั้นได้

เราต้องมีความคิดที่ทรงพลังเหมือนไดนาไมต์ที่ระเบิดและทำให้ถนนเรียบ ความคิดแบบไหน? นึกถึงความน้ำใจของสัตว์โลกอื่น ๆ เช่น เราดื่มนม สิ่งนี้มาจากวัวและควายน้ำ พวกมันออกไปกินหญ้าและดื่มน้ำ แล้วสิ่งที่เราทำคือเอาน้ำนมจากพวกมันมา กระต่ายและหนูถูกใช้ไปในการทดลองทางการแพทย์ ดังนั้น ยาที่เรามีได้มาจากหนูและกระต่ายที่สละชีวิตเพื่อเรา

มีสัตว์โลกที่เรามองว่าเป็นศัตรูและทำร้ายเรา แต่ถ้าเราเปรียบเทียบความเสียหายที่พวกเขาทำกับเรากับความน้ำใจของพวกเขาแล้ว อย่างหลังมีค่ามากกว่าอย่างแรก และอันตรายที่พวกเขาทำกับเรานั้นอาจช่วยเราได้มากจริง ๆ ในการเป็นพระพุทธเจ้า เราจำเป็นจะต้องพัฒนาความอดทน และด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องการคนที่น่ารังเกียจ ถ้าทุกคนดีมาก เราก็จะไม่สามารถพัฒนาความอดทนได้ ผู้ที่โกรธเคืองเราเป็นเพียงสัตว์โลกเท่านั้น ไม่ใช่พระพุทธเจ้า นั่นแหละคือคนที่สอนให้เราอดทน ตัวอย่างเช่น เมื่อท่านอติศะ (Atisha) มาที่ทิเบต ท่านได้นำชาวอินเดียที่ดื้อรั้นมากมาด้วย ซึ่งมักจะทดสอบความอดทนของท่านอยู่เสมอ เมื่อถูกถามว่าทำไมพาเขามาด้วย ท่านก็ตอบว่า เป็นการฝึกฝนความอดทน ดังนั้น สัตว์โลกและพระพุทธเจ้าจึงมีความน้ำใจต่อเราเท่าเทียมกัน สิ่งนี้ได้รับการยืนยันในคัมภีร์ การมีส่วนร่วมในพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ (Engaging in Bodhisattva Behavior) ของท่านศานติเทวะ

มีเหตุผลที่ว่าทำไมพระพุทธเจ้าไม่โกรธ มันเป็นเพราะท่านมีความมุ่งมั่น มีสมาธิที่สมบูรณ์ ปราศจากอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ เพราะพระพุทธเจ้ามีความมุ่งมั่นอย่างนี้ ท่านจึงไม่โกรธเคือง ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องพัฒนาสิ่งนี้ ในตอนเช้า เราต้องตื่นขึ้นด้วยความคิดสองอย่างคือ

  • วันนี้ฉันจะไม่ทำให้คนอื่นโกรธ
  • ฉันจะไม่ปล่อยให้คนอื่นทำให้ฉันโกรธ

ถ้าเราทำตัวเราให้คุ้นเคยกับสิ่งนี้ เราก็จะสามารถลดอารมณ์ที่รบกวนจิตใจของเราให้น้อยลงและในที่สุดก็จะพัฒนาสภาพที่ปราศจากอารมณ์ที่รบกวนจิตใจไปตลอดกาล แล้วจึงกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้

ถ้าเราถามว่า อะไรที่เราจะสามารถทำให้พระพุทธเจ้าพอใจได้ มันก็คือ การช่วยเหลือและมีน้ำใจต่อสัตว์โลก สิ่งนี้จะทำให้พระพุทธเจ้าพอใจจริง ๆ ตัวอย่างเช่น ถ้ามีพ่อแม่และพวกเขาก็มีลูก เราสามารถที่จะทำให้พ่อแม่มีความสุขมากขึ้นได้ด้วยการใจดีมีน้ำใจกับลูกแทนที่จะมีน้ำใจเฉพาะกับพ่อแม่เท่านั้น ในทำนองเดียวกัน พระพุทธเจ้าจะมีความสุขมากขึ้น ถ้าเรามีน้ำใจต่อสัตว์โลกและต่อพระพุทธเจ้า ดังนั้น บนพื้นฐานของสิ่งนี้ทั้งหมด เราจำเป็นจะต้องพยายามพัฒนาจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิตที่ว่า “ฉันจะบรรลุถึงสภาพของความเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อทำประโยชน์ให้กับสัตว์โลกทั้งหมด”

บรรลุการตรัสรู้ในช่วงชีวิตนี้

ยิ่งไปกว่านั้น เราจำเป็นจะต้องมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุถึงสภาพของความเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อเห็นแก่สัตว์โลกในช่วงชีวิตนี้เดี๋ยวนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีทางที่จะบรรลุการตรัสรู้ได้ในช่วงชีวิตนี้แล้วทางนั้นเป็นอย่างไร? ก็ด้วยเส้นทางตันตระ ถ้าคุณปฏิบัติตามนี้ มันก็เป็นไปได้ที่จะบรรลุการตรัสรู้ได้ในช่วงชีวิตนี้

แม้ว่าเราจะมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุการตรัสรู้ในช่วงชีวิตนี้ แต่เราไม่ควรจะคิดว่ามันง่าย เพราะเราได้สะสมการกระทำที่เป็นไปในทางทำลายมากมายตั้งแต่เวลาที่ไม่มีจุดเริ่มต้น ตันตระอาจจะรวดเร็ว แต่ก็เป็นเส้นทางที่ยากมาก เราไม่ควรคิดว่าการฝึกฝนเส้นทางตันตระนั้นจะรวดเร็วเหมือนการขึ้นเครื่องบิน มันไม่ง่ายอย่างนั้น ตัวอย่างเช่น เจ็ตซัน มิลาเรปะ (Jetsun Milarepa) ประสบความยากลำบากมากมายกับครูของเขาที่ชื่อ มาร์ปา (Marpa) เช่น การสร้างหอคอย ถูกทุบตี และผ่านการทนทุกข์ทรมานอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงสามารถบรรลุการตรัสรู้ในช่วงชีวิตนั้นได้ แต่เราอาจจะไม่เต็มใจรับความทุกข์ยากแม้เพียงเสี้ยวเดียวของมิลาเรปะที่เขาประสบเลย

ถ้าเรามีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะบรรลุการตรัสรู้ในช่วงชีวิตนี้และพร้อมที่จะเผชิญกับความยากลำบากครั้งใหญ่ ด้วยเหตุนี้ ก็จะมีโอกาสที่ว่าถ้าเราฝึกฝนอย่างแน่วแน่ เราก็จะสามารถบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าด้วยตัวเราเองได้

บทสรุป

เมื่อเกิดมาพร้อมกับร่างกายมนุษย์อันล้ำค่า เราก็สามารถใช้ร่างกายนั้นปฏิบัติธรรมและบรรลุการเกิดใหม่ที่ดีกว่า การหลุดพ้น และการตรัสรู้ได้ สำหรับสิ่งนี้ เราต้องทำตามเส้นทางตามลำดับขั้นตอน สิ่งนี้ประกอบด้วยการหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการทำลาย 10 ประการ ขจัดอารมณ์ที่รบกวนจิตใจในตัวเราเอง และด้วยความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเป็นอิสระจากสังสารวัฏและจุดมุ่งหมายแห่งโพธิจิต ได้มาซึ่งความตั้งใจเดียวที่แน่วแน่ และการรับรู้ถึงการไม่มีสิ่งใด (ความว่างเปล่า) โดยปราศจากการนึกคิด

Top