การรับรู้ที่แยกแยะ คือ การแยกแยะระหว่างสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง สิ่งที่เป็นประโยชน์กับสิ่งที่เป็นอันตราย สำหรับในเรื่องนี้ จะเป็นสองหัวข้อสุดท้ายของมรรค 8 ประการคือ ความเห็น และความตั้งใจที่ถูกต้อง (ความคิดที่เป็นแรงจูงใจที่ถูกต้อง)
ความเห็นที่ถูกต้องจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเชื่อว่า เป็นความจริงจากการแยกแยะที่ถูกต้องระหว่างสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือจากสิ่งที่เป็นอันตรายกับสิ่งเป็นประโยชน์ออกจากกัน แรงจูงใจที่ถูกต้องคือ สภาวะของจิตใจที่สร้างสรรค์ที่ได้จากสิ่งนี้นั่นเอง
ความเห็น
เราอาจมีการรับรู้ที่แยกแยะทั้งที่ถูกต้องและที่ผิดได้ทั้งนั้น
- เราอาจแยกแยะได้อย่างถูกต้องและเชื่อว่า นั่นเป็นจริง
- เราอาจแยกแยะได้ไม่ถูกและก็เชื่อว่า นั่นเป็นจริง
ความเห็นที่ผิดคือ เมื่อเรามีการแยกแยะที่ไม่ถูกต้อง แต่ยึดถือไว้ว่าเป็นความจริง ส่วนความเห็นที่ถูกต้องคือ การแยกแยะที่ถูกต้อง และยึดถือไว้ว่าที่เป็นความจริง
ความเห็นที่ผิด
ตัวอย่างของความเห็นที่ผิด เป็นการยืนยัน และเชื่อว่าการกระทำของเราไม่มีมิติทางจริยธรรมแห่งการทำลาย และการสร้างสรรค์บางอย่างอยู่ในตัว และเชื่อว่าสิ่งนั้นไม่ได้นำผลลัพธ์ในแง่ของสิ่งที่เราประสบเจอ นี่คือ ลักษณะตามความคิดแบบ "อะไรก็ได้" ที่หลายคนมีอยู่ในทุกวันนี้ มันไม่สำคัญ ไม่มีอะไรสำคัญ อะไรก็ได้ ถ้าฉันทำหรือไม่ทำสิ่งนี้ มันก็ไม่สำคัญหรอก อันนี้ไม่ถูกต้อง มันสำคัญว่า คุณสูบบุหรี่ หรือไม่สูบบุหรี่ ถ้าคุณสูบบุหรี่ ก็จะมีผลเสียต่อสุขภาพของคุณ
ความเห็นผิดอีกอย่างก็คือ เชื่อว่าไม่มีทางที่เราจะพัฒนาตนเอง และเอาชนะข้อบกพร่องของเราได้ ดังนั้นจึงไม่มีประโยชน์ที่แม้แต่จะไปกังวลกับมัน อันนี้ผิด เพราะทุกสิ่งไม่ได้อยู่นิ่ง ๆ หรือติดแน่นบนคอนกรีตอยู่ตลอดไป บางคนเชื่อว่า มันไม่มีประโยชน์ที่จะพยายามเป็นคนใจดี มีเมตตา หรือช่วยเหลือผู้อื่น เพราะฉะนั้น เราจึงควรพยายามเอาเปรียบทุกคน และให้ได้รับผลกำไรมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนั่นแหละที่จะนำมาซึ่งความสุข มันไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่ได้นำไปสู่ความสุข มันนำมาซึ่งความขัดแย้ง ความอิจฉาริษยา และความกังวลว่าผู้อื่นจะมาขโมยของ ๆ เราไป
การแยกแยะที่ผิดมีอยู่มากมายหลายประเภท มันอาจจะเกี่ยวกับความทุกข์ และสาเหตุของความทุกข์ได้ ลองพิจารณาในกรณีที่ลูกของคุณเรียนไม่ดีที่โรงเรียน การแยกแยะที่ผิดก็จะคิดว่า “มันเป็นเพราะฉันทั้งหมดเลย มันเป็นความผิดของฉันในฐานะผู้ปกครอง” นี่คือ การแยกแยะที่ผิดเกี่ยวกับเหตุและผล สิ่งต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะสาเหตุเดียวเท่านั้น สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุและหลายเงื่อนไขรวมกัน ไม่ใช่มาจากแค่เพียงสิ่งเดียว เราอาจมีส่วน แต่เราก็ไม่ใช่สาเหตุของปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว และในบางครั้ง เราก็ไม่ใช่สาเหตุด้วยซ้ำ มันเป็นความผิดพลาดทั้งสิ้น ผมกำลังคิดถึงตัวอย่างของบุคคลที่ค่อนข้างถูกรบกวนทางจิตใจ เช่น คนที่ไปการแข่งขันฟุตบอลและทีมตัวเองแพ้ และเขาก็เชื่อว่าเหตุผลเดียวที่ทำให้ทีมของเขาแพ้คือ เขาเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลนั้น ดังนั้น เขานำความโชคร้ายมา “มันเป็นความผิดของฉันที่ทีมแพ้” มันไร้สาระ เป็นการแยกแยะที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเหตุและผล
ความเห็นที่ถูกต้อง
การรับรู้ที่แยกแยะที่ถูกต้องนั้นสำคัญมาก และสำหรับสิ่งนี้ เราจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นจริง ความเป็นจริงของเหตุและผล และอื่น ๆ ด้วย เช่นเดียวกับสภาพอากาศ ซึ่งเกิดจากสาเหตุและเงื่อนไขมากมาย เราก็เช่นกัน ต้องไม่เข้าใจผิดว่า ตัวเองเป็นเหมือนพระเจ้าที่ว่า เราทำแค่อย่างเดียวแล้วทุกอย่างก็จะดีเองกับลูกของเราที่เรียนไม่ดีที่โรงเรียน มันไม่ได้เป็นแบบนั้น
การรับรู้ที่แยกแยะจำเป็นต้องอาศัยสามัญสำนึก สติปัญญา และสมาธิที่ตั้งมั่นในการจดจ่อต่อการแยกแยะที่ถูกต้องของเรา สำหรับข้อนี้ เราจำเป็นต้องมีระเบียบวินัย ที่ทำให้มันลงตัวเข้ากันได้ทั้งหมด
ความตั้งใจ (ความคิดที่เป็นแรงจูงใจ)
เมื่อเราแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสิ่งที่เป็นอันตราย สิ่งที่เป็นจริงกับสิ่งที่ไม่จริงได้แล้ว ความตั้งใจหรือความคิดที่เป็นแรงจูงใจของเราที่เกี่ยวข้องกับการแยกแยะของเราก็จะมีผลต่อ หรือกำหนดวิธีที่เราพูด หรือกระทำ หรือทัศนคติของเราต่อสิ่งต่าง ๆ ถ้าเราแยกแยะไม่ถูกต้อง ความคิดที่เป็นแรงจูงใจที่ผิดก็จะตามมา แต่ถ้าแยกแยะได้ถูกต้อง ความคิดที่เป็นแรงจูงใจที่ถูกต้องก็จะตามมา
ความตั้งใจที่ผิด
ความตั้งใจหรือความคิดที่เป็นแรงจูงใจส่งผลกระทบต่อ 3 ประเด็นหลักคือ
กามฉันท์
ความคิดที่เป็นแรงจูงใจที่ผิดอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่มาจากกามฉันท์ เป็นความปรารถนา และการยึดติด หลงใหลไปกับวัตถุสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่สวยงาม ดนตรีที่เพราะ อาหารที่ดีอร่อย เสื้อผ้าดี ๆ และอื่น ๆ ความคิดที่เป็นแรงจูงใจของเราที่ตั้งใจจะไล่ตามความปรารถนาของเรานั้นอาจมาจากการแยกแยะที่ไม่ถูกต้องว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากเรามีการแยกแยะที่ถูกต้อง เราก็จะมีความวางใจเป็นกลาง ซึ่งเป็นจิตที่สมดุล เป็นอิสระจากการยึดติดกับวัตถุสัมผัสต่าง ๆ
ตัวอย่างเช่น ตอนที่คุณแยกแยะอย่างไม่ถูกต้องว่า มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากว่า เราจะกินข้าวเย็นที่ไหน และจะกินอะไร เราคิดว่า มันจะนำความสุขมาให้เราจริง ๆ ถ้าเราเลือกสถานที่และเมนูอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม ถ้าคุณแยกแยะได้อย่างถูกต้อง คุณจะเห็นว่ามันไม่ได้สำคัญมากมายนัก ยังมีสิ่งสำคัญอื่น ๆ อีกมากมายในชีวิตนอกเหนือจากอาหารเย็น หรืออะไรในจอทีวี จิตใจก็จะผ่อนคลาย และมีความสมดุลมากขึ้น
ความมุ่งร้าย
แรงจูงใจ หรือความตั้งใจที่ผิดอย่างที่สองคือ ความมุ่งร้าย เป็นความต้องการที่จะทำร้ายใครบางคน หรือทำอันตรายคน ๆ นั้น เหมือนอย่างตอนที่มีคนทำผิดพลาด และคุณโกรธเขา คิดว่าพวกเขาไม่ดีจริง ๆ และจำเป็นต้องถูกลงโทษ นี่เป็นการแยกแยะที่ผิด
เราทำการแยกแยะที่ผิด คิดว่าคนเราไม่เคยทำผิด ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ เราอาจโกรธมากจนเราอยากตีใครสักคน แต่ถ้าเราแยกแยะอย่างถูกต้อง เราก็จะพัฒนาความเมตตากรุณาขึ้นมา นี่คือ ความต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และนำความสุขมาให้พวกเขา ซึ่งมันรวมถึงความแข็งแกร่ง และการให้อภัยด้วย ถ้ามีคนทำผิดพลาด คุณก็รับรู้ว่า มันเป็นเรื่องปกติ และไม่เก็บเอาความไม่พอใจนั้นไว้
ความโหดร้าย
ความตั้งใจที่ผิดอย่างที่สามคือ จิตใจที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณ ซึ่งมีอยู่หลายแง่มุม
- ความเป็นอันธพาล เป็นความโหดร้ายขาดความเมตตาที่เราต้องการให้ผู้อื่นพบกับความทุกข์ทรมาน และไม่มีความสุข ตัวอย่างเช่น เราแบ่งแยกผู้ที่ชื่นชอบติดตามทีมฟุตบอลทีมอื่นว่า พวกเขาแย่ และเราสามารถต่อสู้ใช้กำลังกับพวกเขาได้เพียงเพราะพวกเขาชอบทีมอื่น
- ความเกลียดชังตนเอง เป็นความโหดร้ายของการขาดความรักในตัวเอง ทำร้ายความสุขของเราเอง เพราะเราคิดว่า เราเป็นคนไม่ดี และไม่สมควรที่จะมีความสุข เรามักจะทำแบบนี้โดยการเข้าสู่ความสัมพันธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความสุข ทำนิสัยที่ไม่ดีต่อไปเรื่อย ๆ กินมากเกินไป และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง
- ความสุขที่วิปลาส คือ การที่เราชื่นชมยินดีเมื่อเราเห็น หรือได้ยินผู้คนได้รับความทุกข์ทรมาน คุณคิดว่า บางคนเป็นคนไม่ดี และพวกเขาสมควรแล้วที่จะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างที่พวกเขากำลังประสบอยู่ เหมือนเวลาที่นักการเมืองที่เราไม่ชอบแพ้การเลือกตั้ง ตรงนี้แหละที่เราแยกแยะไม่ถูกต้องว่า บางคนที่ไม่ดี สมควรที่จะถูกลงโทษ และให้มีทุกอย่างไม่ดีเกิดขึ้นกับพวกเขา ในขณะที่คนอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเอง ควรได้รับแต่สิ่งดี ๆ ให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี
ความตั้งใจที่ถูกต้อง
ความตั้งใจที่ถูกต้องจากการแยกแยะที่ถูกต้อง อาจหมายถึง ทัศนคติที่ไม่รุนแรงและไม่โหดร้าย คุณมีสภาวะจิตใจที่ไม่ต้องการก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่นที่กำลังทุกข์ทรมาน ไม่ต้องการรบกวน หรือทำให้พวกเขาหงุดหงิด โมโห เราไม่ยินดีถ้ามีสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับพวกเขา ณ ตรงนี้ ยังต้องมีความเห็นอกเห็นใจด้วย เราต้องการให้ผู้อื่นปราศจากความทุกข์และสาเหตุที่เกิดทุกข์นั้น เพราะเราเห็นว่า ทุกคนมีความทุกข์ทรมาน ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ และไม่มีใครสมควรที่จะได้รับความทุกข์ หากผู้คนทำผิด เราเห็นว่า นั่นเป็นเพราะความสับสน ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ดีโดยกำเนิด ด้วยการแยกแยะที่ถูกต้องและความตั้งใจที่ถูกต้อง มันจะนำเราไปสู่การพูด และการกระทำที่ถูกต้องตามธรรมชาติเอง
การรวมเอาองค์ 8 ประการเข้าไว้ด้วยกัน
องค์ 8 ประการของหนทางรวมเข้ากันได้อย่างดังนี้
- ความเห็น และความตั้งใจ ที่ถูกต้องเป็นการเตรียมพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติ นำเราไปสู่การพูด การกระทำ และการหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้องตามธรรมชาติ เราแยกแยะว่าอะไรที่ถูกต้องในแง่ของผลกระทบของพฤติกรรมของเราที่มีต่อผู้อื่น และต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ทำร้ายพวกเขา
- บนพื้นฐานนี้ เราได้พยายามพัฒนาปรับปรุงตนเอง พัฒนาคุณสมบัติที่ดี และไม่ฟุ้งซ่านด้วยความคิดที่แปลกประหลาดเกี่ยวกับร่างกาย ความรู้สึก และอื่น ๆ ของเรา เราใช้สมาธิในการจดจ่อกับสิ่งที่เป็นประโยชน์ จากนั้น ความตั้งใจของเราก็จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้น ด้วยวิธีนี้ ทุกอย่างมันเชื่อมต่อกันทั้งหมด
แม้ว่าเราจะสามารถนำเสนอการฝึกฝนทั้งสามอย่าง และหนทางทั้ง 8 ประการตามลำดับ แต่เป้าหมายสูงสุดก็คือ การที่เราสามารถนำสิ่งเหล่านั้นไปปฏิบัติโดยการผสมผสานบูรณาการทุกอย่างร่วมกันทั้งหมด
บทสรุป
ตั้งแต่ที่เราตื่นนอนขึ้นมาในตอนเช้าจนถึงช่วงเวลาที่เราเข้านอนตอนกลางคืน ประสาทสัมผัสของเรากระหายความบันเทิง ดวงตาของเรามองหารูปลักษณ์ต่าง ๆ ที่สวยงาม หูของเราต้องการได้ยินเสียงที่ช่วยผ่อนคลาย และปากของเราก็ต้องการลิ้มรสชาติที่อร่อย ทุกอย่างมันก็ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ กับการที่เราต้องการสัมผัสกับสิ่งที่น่าพึงพอใจ ถ้านี่คือ ขอบเขตของชีวิตของเราแล้วก็ เราย่อมไม่เคยที่จะพอใจ และเราก็จะไม่สามารถพัฒนาแม้กระทั่งการมีสมาธิเพียงเศษเสี้ยวอันน้อยนิดได้เลย
การฝึกฝนตนเองทั้งสามอย่างในทางจริยธรรม สมาธิ และการรับรู้นั้น จะช่วยให้เรามีชีวิตอยู่ในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แทนที่จะเป็นเพียงแต่การค้นหาความพึงพอใจให้กับตัวเองอย่างเดียว หนทางทั้ง 8 ประการได้ให้รูปแบบที่จะช่วยให้เราได้รับประโยชน์ไม่เพียงแต่ต่อตัวเราเองเท่านั้น แต่ยังจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย เมื่อเราตรวจสอบและทำความเข้าใจว่า เหตุใดความเห็นที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และความเห็นผิดนั้นเป็นสิ่งที่ผิด และทำไมการกระทำที่ถูกต้องจึงเป็นการกระทำที่มีประโยชน์ และการกระทำที่ไม่ถูกต้องเป็นการกระทำที่เป็นอันตราย (และอื่น ๆ ) หากเราประพฤติตนตามนี้ได้ ชีวิตของเราย่อมจะพัฒนาได้ดียิ่งขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็จะนำพาเราไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ชีวิตชาวพุทธที่สมบูรณ์”