เมื่อเราเปลี่ยนจุดใส่ใจจากการกระทำผิดของบางคนหรือความผิดพลาดต่อคน ๆ นั้นและตระหนักว่าเขาอารมณ์เสียหรือสับสน เราก็จะหลีกเลี่ยงการโกรธ และด้วยความเห็นอกเห็นใจ ก็จะให้อภัยเขา
Meditation forgiving others 1

คำอธิบาย

ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซฟอร์ด การให้อภัย หมายถึงการหยุดความรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจต่อใครบางคนสำหรับการกระทำผิด ข้อบกพร่อง หรือความผิดพลาด สำหรับบางคนมันมีความหมายแฝงเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคคลที่ถูกทำให้ขุ่นเคืองหรือผู้มีอำนาจสูงกว่าบางรายที่ให้การอภัยโทษซึ่งก็จะปล่อยผู้กระทำความผิดพ้นจากการลงโทษสำหรับการกระทำของเขา

การวิเคราะห์ปัจจัยด้านจิตใจในทางพระพุทธศาสนาไม่ได้รวมคำศัพท์สำหรับการให้อภัยไว้อย่างชัดเจน แต่มันรวมถึงความโกรธ ความไม่พอใจ (ซึ่งรวมทั้งการเก็บความขุ่นแค้นไว้) และฝ่ายตรงข้ามของมัน กล่าวคือ การไม่โกรธและไม่โหดร้าย

  • การไม่โกรธ คือการไม่ปรารถนาที่จะตอบโต้และก่อให้เกิดอันตรายเพื่อตอบสนองต่อผู้อื่นหรือต่อตัวเราเองที่เป็น หรือที่จะเป็น ทุกข์เนื่องจากการกระทำของเรา
  • การไม่โหดร้าย บวกกับความเห็นอกเห็นใจนี้ เป็นความปรารถนาให้พวกเขาพ้นจากความทุกข์และสาเหตุของความทุกข์

ดังนั้น จากมุมมองของพระพุทธศาสนา เราจึงปรารถนาให้ผู้อื่นหรือตัวเราเองปราศจากความทุกข์ใด ๆ อันเป็นผลมาจากการกระทำที่เป็นอันตรายของเรา แต่ไม่มีใครมีอำนาจที่จะยกโทษให้ใครบางคนจากผลกรรมของการกระทำผิดของเขา ดังนั้น จึงไม่มีอันตรายใด ๆ จากความรู้สึกมีศีลธรรมอันสูงส่งกว่าผู้อื่นของตนเองที่มากเกินไป เช่นเดียวกับบาทหลวงหรือผู้พิพากษาศาลอาจมีได้ ในการให้อภัยอาชญากร

กุญแจสำคัญตามแนวทางพระพุทธศาสนาในการให้อภัยคือ การแยกบุคคลนั้นจากการกระทำที่เป็นอันตราย หรือเป็นไปในทางทำลาย หรือจากความผิดพลาดของเขาไม่ว่าจะเป็นคนอื่นหรือตัวเราเอง จำไว้ว่าเรากระทำสิ่งที่เป็นไปในทางทำลายและทำผิดพลาดไม่ใช่เพราะเราเลว แต่เป็นเพราะเราสับสนเกี่ยวกับเหตุและผลทางพฤติกรรมและความเป็นจริง และยังเนื่องจากความเข้าใจของเรามีจำกัดด้วย ดังนั้น เราจึงทำผิดพลาด เราเป็นสิ่งจำกัดที่มีชีวิตในสังสารวัฏ มีความสับสนและมีปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อย่างควบคุมไม่ได้ และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นวัตถุที่เหมาะสมแห่งความเห็นอกเห็นใจ เราทำให้เกิดอันตรายและความทุกข์ต่อตัวเองมากพอแล้ว เราจึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มมันให้มากขึ้นอีก

ดังนั้น การให้อภัยในบริบททางพระพุทธศาสนาจึงหมายถึง:

  • แยกบุคคลนั้นจากการกระทำนั้นไม่ว่าจะเป็นคนอื่นหรือตัวเราเอง
  • ไม่โกรธหรือโหดร้ายต่อบุคคลนั้นหรือต่อตัวเรา แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น
  • รู้สึกเห็นอกเห็นใจด้วยความปรารถนาที่จะให้เราหรือบุคคลนั้นเป็นอิสระจากสิ่งที่ทำให้เรากระทำสิ่งที่เป็นไปในทางทำลายหรือทำผิดพลาด

แต่ในแง่ของพฤติกรรมที่เป็นอันตรายหรือความผิดพลาดนั้น เราไม่ใช่แค่นั่งเฉย ๆ และไม่ทำอะไรเลย เราทำตามขั้นตอนใด ๆ ก็ตามที่ทำได้เพื่อหยุดพฤติกรรมที่เป็นไปในทางทำลายเพิ่มมากขึ้น และเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆ แต่ปราศจากความโกรธ หรือความขุ่นเคือง หรือความรู้สึกหยิ่งทะนงว่าเรากำลังให้อภัยพวกเขา

การทำสมาธิ

แม้ว่าเราจำเป็นต้องพัฒนาการให้อภัยทั้งต่อผู้อื่นและตัวเราเอง แต่วันนี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่ผู้อื่น ครั้งต่อไปเราจะมุ่งเน้นไปที่ตัวเราเอง

  • ทำใจให้สงบโดยมุ่งเน้นความใส่ใจไปที่ลมหายใจ
  • ให้นึกถึงคนที่ทำบางสิ่งบางอย่างที่ทำร้ายคุณหรือทำให้คุณรำคาญที่ทำให้คุณโกรธและรู้สึกไม่พอใจและอาจถึงกับยังแค้นเคืองด้วย ในเวลาต่อมาคุณก็คิดถึงสิ่งที่เขาทำ แล้วก็โกรธและไม่พอใจ
  • พยายามนึกว่าคุณรู้สึกอย่างไรและสังเกตว่าความรู้สึกแบบนี้ไม่ใช่สภาพจิตใจที่มีความสุขหรือทำให้สบายใจ
  • ตอนนี้ในใจของคุณ ให้พยายามแยกบุคคลนั้นจากการกระทำของเขา นี่เป็นเพียงแค่เหตุการณ์เดียวเท่านั้นแม้ว่ามันจะเกิดขึ้นหลายครั้งในบริบทตลอดชีวิตของเขาก็ตาม
  • บุคคลนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ รวมถึงตัวฉันเองก็ต้องการมีความสุขและไม่ต้องการมีความทุกข์ แต่รู้สึกสับสนว่าอะไรจะทำให้เขามีความสุข และเพราะการไม่มีความสุข แล้วก็ความไม่ตระหนักและความไม่รู้ เขาจึงกระทำสิ่งที่เป็นไปในทางทำลายโดยการทำร้ายคุณหรือทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คุณรำคาญ
  • ให้สังเกตว่ายิ่งคุณมุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ความโกรธและความไม่พอใจของคุณก็จะยิ่งลดลงมากขึ้นเท่านั้น
  • สร้างความเห็นอกเห็นใจให้กับเขา เป็นความปรารถนาที่จะให้เขาปราศจากความสับสนและไม่มีความสุขที่เป็นสาเหตุทำให้เขาทำร้ายคุณหรือทำอะไรที่น่ารำคาญ
  • ตกลงใจว่าในเวลาที่เหมาะสมเมื่อคุณสงบและเขาเปิดใจกว้าง คุณจะชี้ให้เห็นว่าเขาทำอะไรที่ทำร้ายคุณและพยายามแก้ไขปัญหานั้น

ทำซ้ำขั้นตอนเหล่านั้นกับใครบางคนที่ทำผิดพลาด:

  • นึกถึงความผิดพลาดที่เขาทำและคุณโกรธเขาถึงความผิดพลาดที่เขาทำ
  • พยายามนึกว่าคุณรู้สึกอย่างไร และสังเกตว่าความรู้สึกแบบนี้ไม่ใช่สภาพทางจิตใจที่มีความสุขหรือทำให้สบายใจ
  • ตอนนี้ในใจของคุณ ให้พยายามแยกบุคคลนั้นจากการกระทำที่ผิดพลาดของเขา
  • บุคคลนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ รวมถึงตัวฉันเองก็ต้องการที่จะเป็นประโยชน์และไม่ทำผิดพลาด แต่รู้สึกสับสนว่าวิธีใดเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการทำบางสิ่งบางอย่าง หรือวิธีที่ดีที่สุดในการกระทำ หรือบางทีอาจไม่ได้ให้ความใส่ใจ หรือขี้เกียจ หรืออะไรก็ตาม และด้วยความไม่รู้และอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ เขาจึงทำผิดพลาด เขาเป็นสิ่งจำกัดที่มีชีวิต ดังนั้น มันจึงไม่สมเหตุสมผลเลยที่จะคาดหวังว่าเขาจะสมบูรณ์แบบเสมอไปและจะไม่เคยทำผิดพลาดเลย
  • ให้สังเกตว่ายิ่งคุณมุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจนี้มากขึ้นเท่าไหร่ ความโกรธของคุณก็จะยิ่งลดลงมากขึ้นเท่านั้น
  • สร้างความเห็นอกเห็นใจให้กับเขา เป็นความปรารถนาที่จะให้เขาปราศจากความสับสน ความไม่รู้ และอารมณ์ที่รบกวนจิตใจที่ทำให้เขาทำผิดพลาด
  • ตกลงใจว่าในเวลาที่เหมาะสมเมื่อคุณสงบและเขาเปิดใจกว้าง คุณจะชี้ให้เห็นถึงความผิดพลาดของเขาและช่วยเขาแก้ไขมัน

สรุป

การให้อภัยไม่ได้หมายถึงการยกโทษให้ใครบางคนสำหรับพฤติกรรมที่เป็นไปในทางทำลายหรือความผิดพลาดของเขาราวกับว่าเรามีศีลธรรมและสมบูรณ์แบบกว่าที่เขาเป็น เขาเลวร้ายยิ่งกว่าเรา ดังนั้น ด้วยอำนาจที่หยิ่งผยองของเรา เราจึงยกโทษและให้อภัยเขาแม้ว่าเขาจะไม่รู้สึกผิดก็ตาม การให้อภัยหมายถึง การไม่โกรธ ไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจ และไม่เก็บความขุ่นแค้นไว้และต้องการตอบโต้ เราแยกบุคคลนั้นจากการกระทำหรือความผิดพลาดของเขา พัฒนาความเห็นอกเห็นใจต่อบุคคลนั้นและดำเนินการเพื่อแก้ไขการกระทำของเขา หรือเพื่อช่วยให้เขาไม่ทำผิดพลาดซ้ำ ด้วยวิธีนี้เราจะหลีกเลี่ยงหลุมพรางและความทุกข์ที่มาจากความโกรธของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความโกรธนำไปสู่ความคิดที่โกรธ ก้าวร้าว คำพูดที่ไม่เป็นมิตร และพฤติกรรมที่โกรธเกรี้ยวและไม่ยั้งคิด

Top