ประโยชน์ของการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ

111111111111

ในพระพุทธศาสนา ความเห็นอกเห็นใจไม่ได้เป็นเพียงแค่อุดมคติอันสูงส่งเท่านั้น แต่ยังเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณของเรา การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เพียงเพื่อพัฒนาตนเองเท่านั้น แต่ยังเพื่อสร้างโลกที่สงบสุขและสามัคคีปรองดองยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแทบทุกคนล้วนปรารถนา การฝึกฝนความรู้สึกเห็นอกเห็นใจให้มากขึ้นภายในตัวเราจะช่วยให้เราสามารถสัมผัสชีวิตของผู้อื่นได้อย่างน่าอัศจรรย์ นำแสงสว่างมาสู่สถานที่ที่มืดมิด และให้การบรรเทาทุกข์ในที่ที่มีความทุกข์ นี่คือพลังของความเห็นอกเห็นใจ

ทำไมเราจึงควรพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ?

เราบางคนอาจตั้งคำถามว่า “ทำไมฉันต้องพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ?” เราอาจรู้สึกมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต และรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไรที่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์กับเรามากนัก แต่ถ้าเรารู้สึกมีความสุขและประสบความสำเร็จ เราก็อาจตรวจสอบดูว่าสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับผู้อื่นมากเพียงใด เช่น คนที่ปลูกข้าวที่เรากินและคนที่ดูแลถนนที่เราใช้ ถ้าไม่มีคนอื่น เราจะเป็นอย่างไร?

เมื่อเราเข้าใจว่า แท้จริงแล้ว เราเป็นหนี้บุญคุณโลกรอบ ๆ ตัวเรามากมายเพียงใด เราก็จะมองเห็นว่าการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจเป็นกุญแจสำคัญที่จะเปิดเผยความเชื่อมโยงระหว่างเรากับผู้อื่นอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้วนมีความเชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้น ความสุขและความทุกข์ของผู้อื่นจึงเชื่อมโยงอย่างซับซ้อนกับของตัวเราเอง

เมื่อเราพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ สิ่งสำคัญบางอย่างก็จะเกิดขึ้น นั่นคือ เราจะเริ่มมองข้ามตัวเองและความต้องการ ความปรารถนา และความกังวลส่วนตัวของเรา เราจะเริ่มตระหนักว่าความสุขและความอยู่ดีมีสุขของผู้อื่นมีความสำคัญพอ ๆ กับของตัวเราเอง การฝึกจิตที่งดงามอย่างหนึ่งที่ปรมาจารย์ชาวทิเบตสอนก็คือ ให้นึกภาพตัวเราเองอยู่ฝั่งหนึ่งตามลำพังกับความต้องการและความปรารถนาของเรา ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มีคนอื่น ๆ นั่นคือ สิ่งมีชีวิตทั้งหมด แต่ละชีวิตต่างก็มีความหวังและความยากลำบากของตนเอง แล้วจากนั้นเราก็ถามตัวเองว่า ความต้องการของใครยิ่งใหญ่กว่ากัน ระหว่างความต้องการของฉันเพียงคนเดียว หรือความต้องการของคนอื่น ๆ อีกมากมาย? การเปลี่ยนแปลงมุมมองเช่นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของการช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการช่วยให้เราเป็นอิสระจากการติดอยู่ในความเห็นแก่ตัวของเราเองด้วย ซึ่งทุกอย่างที่เราทำก็คือแค่คิดถึงตัวเราเองเท่านั้น

“ถ้าคุณอยากให้ผู้อื่นมีความสุข จงฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจ ถ้าคุณอยากมีความสุข จงฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจ” — คำกล่าวขององค์ดาไลลามะที่ 14

นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงตรัสไว้ว่า ความเห็นอกเห็นใจเป็นที่มาของความสุขที่แท้จริง ซึ่งต่างจากการวิ่งไล่ตามวัตถุสิ่งของหรือความสำเร็จในหน้าที่การงานของเรา ซึ่งมักให้ความพึงพอใจเพียงชั่วคราว ความเห็นอกเห็นใจนำมาซึ่งความสมหวังที่ยั่งยืน ความเห็นอกเห็นใจทำให้เราพบกับความสุขในช่วงเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน เช่น การให้โดยไม่หวังผลตอบแทนหรือเพียงแค่ยิ้มให้คนแปลกหน้า ความสุขแบบนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายนอก แต่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการห่วงใยใส่ใจผู้อื่นและเชื่อมโยงกับพวกเขาในฐานะมนุษย์ที่ปรารถนาความสุขเช่นเดียวกับเรา

ประโยชน์ของการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ

ในตอนแรก มันอาจดูเหมือนว่าการหันมาใส่ใจความทุกข์ของผู้อื่นและต้องการทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้จะทำให้เรารู้สึกหนักใจหรือแบกรับภาระทางอารมณ์มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ยิ่งเราฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งยกระดับจิตใจของเราเองมากขึ้นเท่านั้น และพบกับความสงบและจุดมุ่งหมายในชีวิตของเราเองมากขึ้น พูดง่าย ๆ ก็คือ การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจจะนำมาซึ่งประโยชน์มากมายนับไม่ถ้วน ทั้งต่อตัวเราเองและต่อโลกที่อยู่รอบตัวเรา

ในระดับส่วนตัว ความเห็นอกเห็นใจได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าสามารถลดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้ ช่วยให้เราสร้างความเข้มแข็งทางอารมณ์ ทำให้เผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ในชีวิตได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ความเห็นอกเห็นใจยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวของเรา ทำให้เราเข้าใจ อดทน และให้การสนับสนุนคนที่เราห่วงใยใส่ใจมากขึ้น

ในระดับที่กว้างขึ้น ความเห็นอกเห็นใจมีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เมื่อเรากระทำด้วยความเห็นอกเห็นใจ เราก็มีส่วนช่วยทำให้เกิดวัฒนธรรมแห่งความใจดีมีเมตตาและความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ซึ่งจะสร้างสภาพแวดล้อมเชิงบวกที่ผู้คนรู้สึกว่ามีคุณค่าและได้รับการสนับสนุน ส่งผลให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความสามัคคีปรองดองในสังคมมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของความเห็นอกเห็นใจก็คือ วิธีที่มันเชื่อมโยงเราเข้ากับธรรมชาติที่แท้จริงของเรา ความเห็นอกเห็นใจช่วยให้เรามองเห็นสิ่งที่อยู่เหนือภาพลวงตาแห่งการแยกจากกัน เผยให้เห็นความเชื่อมโยงถึงกันของทุกชีวิต เมื่อตระหนักถึงสิ่งนี้แล้ว เราไม่เพียงแต่จะพบจุดมุ่งหมาย แต่ยังจะพบหนทางสู่ความสงบและความสมหวังที่ยั่งยืนอีกด้วย

วิธีพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ

พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีการฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจไว้มากมายหลายวิธี เมื่อเราฝึกฝนตนเองกับผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ความเห็นอกเห็นใจของเราก็จะค่อย ๆ กลายเป็นการตอบสนองที่เป็นไปโดยอัตโนมัติต่อผู้อื่น และนำไปสู่การกระทำที่แสดงถึงความใจดีมีเมตตาโดยธรรมชาติ

การใคร่ครวญถึงความทุกข์ของผู้อื่น

เราอยู่ในโลกที่มีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ บอกว่า รู้สึก “เหนื่อยล้าจากความเห็นอกเห็นใจ” เราถูกถาโถมด้วยภาพของสงคราม ความอดอยาก และภัยพิบัติอื่น ๆ ซึ่งหลั่งไหลเข้ามาตามข่าวและโซเชียลมีเดียของเราอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้เราหลายคนรู้สึกท้อแท้และไม่อยากรับรู้ความทุกข์ใด ๆ เพิ่มอีก

อย่างไรก็ตาม วิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีที่สุดในการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจคือการใคร่ครวญถึงความทุกข์ของผู้อื่นอย่างจริงจัง ดังนั้น เมื่อเราเห็นโศกนาฏกรรมในข่าว เราจะไม่ได้แค่คิดว่า “น่าสลดใจเหลือเกิน” แล้วเลื่อนผ่านไปทันที ลองพิจารณาตัวอย่างเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เราอาจใช้เวลาสักครู่เพื่อใคร่ครวญว่าการที่ต้องทิ้งบ้านเกิดและชีวิตทั้งหมดไว้เบื้องหลังเพื่อไปสู่สิ่งที่ไม่รู้จักนั้นมันเลวร้ายแค่ไหน พวกเขาไม่เพียงแต่จะต้องเสี่ยงชีวิตในการเดินทางที่อันตรายเพื่อแสวงหาความปลอดภัยเท่านั้น แต่เมื่อมาถึงปลายทางแล้ว พวกเขากลับถูกมองด้วยความระแวงสงสัย ความกลัว หรือความเฉยเมย ลองนึกดูว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหนถ้าเราหรือคนที่เรารักต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น แล้วความรู้สึกเห็นอกเห็นใจก็จะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติว่า “ขออย่าให้ใครต้องพบกับความทุกข์แบบนี้เลย”

ตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าการใคร่ครวญถึงความทุกข์ไม่ได้หมายความถึงการกังวลหรือคิดมากเกี่ยวกับความเจ็บปวดหรือความเศร้าแล้วถูกมันครอบงำ แต่เป็นการตระหนักว่าความทุกข์เป็นประสบการณ์ที่ทุกคนต้องเผชิญ เมื่อเราตระหนักถึงปัญหาหรือความยากลำบากของผู้อื่น ทั้งผู้คนรอบตัวเราและผู้คนที่อยู่ในดินแดนที่ห่างไกล เราก็จะสามารถปลูกฝังความปรารถนาที่จะบรรเทาความทุกข์ของพวกเขาอย่างแท้จริงได้

มีส่วนร่วมในการกระทำที่แสดงออกถึงความใจดีมีเมตตา

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่เรารู้สึกเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่เราทำด้วย แม้แต่การแสดงออกถึงความใจดีมีเมตตาเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นมือเข้าช่วยเหลือ รับฟังเมื่อใครสักคนต้องการพูด หรือเพียงแค่ยิ้มให้คนแปลกหน้า ก็ช่วยให้เราแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจได้

การกระทำที่แสดงออกถึงความใจดีมีเมตตาเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้อาจดูเหมือนไม่สำคัญ แต่แท้จริงแล้ว มันอาจส่งผลอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตได้มากกว่าที่เราคิด ความใจดีมีเมตตาเปรียบเสมือนกล้ามเนื้อ ดังนั้น การกระทำที่แสดงออกถึงความใจดีมีเมตตาทุกครั้ง ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ก็จะช่วยเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจในตัวเราเองให้มีพลังมากขึ้น ทำให้เราแสดงความรู้สึกเห็นอกเห็นใจและห่วงใยใส่ใจผู้อื่นได้ง่ายขึ้นในอนาคต ในโลกที่รู้สึกว่าแตกแยก การทำความดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้สามารถช่วยให้เราใกล้ชิดกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มากขึ้นและทำให้โลกดูสดใสขึ้นได้จริง ๆ

ฝึกฝนการแสดงความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว

ความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวคือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขอย่างแท้จริง มีความเชื่องโยงอย่างใกล้ชิดกับความเห็นอกเห็นใจ เป็นการฝึกปฏิบัติที่ทรงพลังที่จะช่วยให้เราฝึกฝนตัวเองให้เปลี่ยนจุดสนใจจากความกังวลเกี่ยวกับตัวเองไปสู่ความรักในวงกว้างขึ้น ซึ่งครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทั้งหมด เมื่อเราทำแบบนี้ เราก็จะเริ่มเข้าถึงแหล่งความสงบและความสมหวังที่อยู่ภายในตัวเราเองอย่างแท้จริง

แมทธิว ริคารด์ (Matthieu Ricard) พระภิกษุที่มักถูกกล่าวขานว่าเป็น “ชายที่มีความสุขที่สุดในโลก” ได้กล่าวไว้ว่า “ความไม่เห็นแก่ตัวเป็นสภาวะจิตใจที่ดีที่สุดที่ควรฝึกฝน เพราะจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเราเองและแก่ผู้อื่น” เมื่อเราพยายามฝึกฝนการแสดงความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวเป็นประจำทุกวัน เราก็จะพัฒนาจิตใจที่เปิดกว้างและมีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นโดยธรรมชาติ 

การฝึกฝนนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ แต่อาจเริ่มต้นจากอะไรที่ง่าย ๆ เช่น การอวยพรให้ผู้คนที่เราพบเจอในแต่ละวันมีความสุขอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการอวยพรให้คนแปลกหน้าบนท้องถนนอย่างเงียบ ๆ ในใจ การหวังให้เพื่อนพบความสงบสุข หรือการส่งความรักให้กับผู้ที่กำลังมีความทุกข์ทั่วโลก การตั้งใจทำความดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแสดงความรักและความเห็นอกเห็นใจของเราให้มากขึ้นได้

บางครั้ง เราจะเห็นว่ามันเป็นเรื่องง่ายที่จะแสดงออกถึงความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวต่อผู้ที่ภายนอกดูเหมือนกำลังมีความทุกข์ เราอาจเห็นขอทานบนถนนแล้วรู้สึกในทันทีว่า “ขอให้พวกเขาพบกับความสุขและพ้นจากความยากลำบากของพวกเขา” แต่แล้วพอเราเห็นใครสักคนที่ดูร่ำรวยและดูเหมือนจะมีทุกอย่าง เรากลับคิดว่า “ทำไมฉันต้องหวังให้พวกเขามีความสุขด้วย? ในเมื่อพวกเขาก็มีทุกอย่างอยู่แล้ว!” อย่างไรก็ตาม ความรักที่ไม่เห็นแก่ตัวนั้นอยู่เหนือประสบการณ์ภายนอก ไม่ว่าใครจะดูเหมือนกำลังลำบากหรือเจริญรุ่งเรือง เราก็ควรจำไว้ว่าทุกคนล้วนสมควรได้รับความสุข

สำหรับเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนการเจริญเมตตาภาวนาหรือการแผ่เมตตา ในการฝึกปฏิบัตินี้ เราจะเริ่มต้นด้วยการสร้างความรู้สึกแห่งความรักและความใจดีมีเมตตาต่อตัวเราเองก่อน แล้วจากนั้นก็ค่อย ๆ ขยายความรู้สึกนั้นไปสู่ผู้อื่น เริ่มจากคนที่เรารัก แล้วต่อด้วยคนที่เรารู้สึกเฉย ๆ และสุดท้ายก็ผู้ที่เราเห็นว่าเป็นคนที่รับมือยากหรือสร้างความลำบากใจให้ เป้าหมายของการฝึกปฏิบัตินี้คือการค่อย ๆ ขยายวงแห่งความรักและความเห็นอกเห็นใจของเราออกไปจนกระทั่งครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะปรารถนาให้ทุกคนที่เราพบเจอมีความสุขโดยธรรมชาติ

การฝึกสติและสมาธิ

การฝึกสติคือการฝึกฝนให้อยู่กับปัจจุบันและตระหนักรู้เกี่ยวกับความคิด อารมณ์ และสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างเต็มที่โดยไม่ตัดสิน เมื่อเราฝึกฝนทักษะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ เราก็จะเข้าใจความทุกข์ของตัวเองและของผู้อื่นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อความตระหนักรู้ของเราเพิ่มขึ้น ความเห็นอกเห็นใจของเราก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่เราก็จะเริ่มเห็นว่าความทุกข์เป็นส่วนพื้นฐานของสภาพการเป็นมนุษย์ที่เราทุกคนล้วนต้องเผชิญ

ดังที่พระภิกษุและครูผู้ยิ่งใหญ่ทางพระพุทธศาสนา ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) ได้กล่าวไว้อย่างคมคายว่า “การฝึกสติให้กำเนิดความเห็นอกเห็นใจ” เมื่อเรามีสติมากขึ้น เราก็จะเริ่มสังเกตเห็นไม่เพียงแต่แนวทางที่เห็นได้อย่างชัดเจนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่เราและผู้อื่นประสบกับความเจ็บปวด ความกลัว และความคับข้องใจด้วย ความเข้าใจนี้จะทำให้ใจของเราอ่อนลง ดังนั้น แทนที่จะตอบสนองด้วยความหงุดหงิดหรือความคับข้องใจ เราก็สามารถตอบสนองด้วยความเห็นอกเห็นใจและความใจดีมีเมตตาได้

การฝึกสติและสมาธิจะทำให้เรารับรู้ว่า ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากและปัญหาหรืออุปสรรคของตนเอง สิ่งนี้จะช่วยให้เราก้าวข้ามการตัดสินและการสรุปที่เรามักจะรีบด่วนสรุปเอาเองได้ ในขณะที่เราค่อย ๆ ฝึกขยายความเห็นอกเห็นใจของเราไปยังทุก ๆ ชีวิตอย่างช้า ๆ เราก็จะเริ่มทำลายกำแพงแห่งการแบ่งแยกและบ่อยครั้งก็คือความรู้สึกเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งมักจะขัดขวางไม่ให้เราเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้งนั่นเอง ด้วยวิธีการนี้ เราก็จะมีส่วนสนับสนุนความสุขของตัวเราเองในฐานะสัตว์สังคมและความสุขของทุกคนที่อยู่รอบตัวเรา

บทสรุป: เส้นทางสู่ความเห็นอกเห็นใจที่แท้จริง

ท่านติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวไว้ว่า “ความเห็นอกเห็นใจเป็นคำกริยา” หมายความว่า เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนอย่างจริงจัง ไม่แต่เฉพาะกับผู้ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนอย่างเห็นได้ชัดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกคนที่เราพบเจอ ไม่ว่าจะด้วยการกระทำที่แสดงออกถึงความใจดีมีเมตตาเล็ก ๆ น้อย ๆ การใคร่ครวญถึงความทุกข์ของผู้อื่น หรือการแผ่เมตตา เมล็ดพันธุ์แห่งความเห็นอกเห็นใจภายในตัวเราก็จะสามารถเบ่งบานเป็นดอกไม้แห่งความห่วงใยที่มีต่อทุก ๆ ชีวิตได้อย่างแท้จริง

ในฐานะที่เป็นมนุษย์ เรามักจะหมกมุ่นอยู่กับความต้องการและความกังวลของตนเองได้ง่ายมาก แต่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน หรือมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ต่างก็ปรารถนาความสุขและต้องการพ้นจากความทุกข์เช่นกัน ตรงนี้เองที่เราสามารถเข้ามามีส่วนช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เราอาจคิดว่าเราไม่มีความสำคัญอะไรนัก แต่พระพุทธเจ้าทรงสอนเราว่า ทุกสิ่งทุกอย่างและทุกคนเชื่อมโยงถึงกันหมด นั่นหมายความว่า ทุกครั้งที่เรายิ้มให้คนแปลกหน้า และทุกนาทีที่เราแผ่เมตตา ล้วนแต่ส่งผลดีต่อตัวเราและผู้คนรอบข้างทั้งนั้น

Top