บทนำ
ทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการ ซึ่งมักจะเรียกกันว่า “ความสมบูรณ์แบบ 6 ประการ” หรือ “บารมี 6 ประการ” ซึ่งเป็นสภาพจิตใจที่จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างดีที่สุด ทัศนคติเหล่านี้ช่วยต่อต้านอุปสรรคต่าง ๆ ที่มาขัดขวางความสำเร็จไม่ให้บังเกิดขึ้น เช่น ความเกียจคร้าน และความโกรธ ดังนั้นแล้ว ทัศนคติเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “กว้างไกล” เพราะในบริบททางพระพุทธศาสนา เมื่อเราพัฒนาสิ่งเหล่านี้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้ก็จะช่วยให้เราไปถึงฝั่งที่ห่างไกลของมหาสมุทรข้อจำกัดและปัญหาต่าง ๆ ของเรา ถ้าเราได้รับแรงจูงใจจากการเสียสละ ความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหมด ทัศนคติเหล่านี้ก็จะนำพาเราไปสู่การหลุดพ้นได้ ด้วยแรงจูงใจจากโพธิจิต ซึ่งเป็นความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้าเพื่อทำประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้อื่นทั้งหมด ก็จะนำพาเราไปสู่การตรัสรู้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการ ได้แก่
- ความเอื้อเฟื้อ
- วินัยในตนเองตามหลักจริยธรรม
- ความอดทน
- ความเพียร
- ความมั่นคงทางจิตใจ (สมาธิ)
- การรับรู้ที่แยกแยะ (ปัญญา)
เราจะฝึกปฏิบัติทัศนคติหกประการทั้งในการทำสมาธิและในกิจวัตรประจำวัน เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ยิ่งเรามีส่วนร่วมในสภาพจิตใจกับอะไรก็ตามที่เราทำ สิ่งเหล่านั้นก็จะยิ่งแข็งแรงมาก และในที่สุด สิ่งเหล่านี้ก็จะรวมเข้าไปอยู่ในชีวิตของเราจนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตัวเราและผู้อื่นโดยธรรมชาติตลอดเวลา
ความเอื้อเฟื้อ
ความเอื้อเฟื้อเป็นทัศนคติที่เราเต็มใจที่จะให้อะไรก็ตามที่คนอื่นต้องการ แต่จริง ๆ แล้ว มันไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องให้หมดทุกอย่าง แล้วเรากลายเป็นคนยากจนมากเสียเองราวกับว่าความยากจนเป็นคุณธรรมเหมือนอย่างที่พบอยู่ในบางศาสนา ในที่นี้ ความเอื้อเฟื้อหมายความว่า เราเต็มใจที่จะให้โดยไม่ลังเล และปราศจากอุปสรรค และเมื่อมันเหมาะสมที่จะให้ ซึ่งเราจำเป็นต้องใช้การแยกแยะ เราจะไม่ให้ปืนกับคนที่ต้องการออกไปฆ่าโดยคิดว่า “ฉันเป็นคนเอื้อเฟื้อมาก! เอ้า นี่เงินไปซื้อปืนของคุณ!” หรืออีกตัวอย่างหนึ่งของความเอื้อเฟื้อที่ไม่เหมาะสมก็อาจเป็นการที่เราให้เงินใครสักคนเพื่อให้เขาไปซื้อยาเสพติด
การฝึกปฏิบัติความเอื้อเฟื้อไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องร่ำรวย แม้ว่าเราจะยากจนมากและไม่มีอะไรจะให้ แต่เรายังคงมีความเต็มใจที่จะให้ มิฉะนั้นคนยากจนจะพัฒนาความเอื้อเฟื้อได้อย่างไร ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม เราสามารถเอื้อเฟื้อความปรารถนาว่าคนอื่นก็สามารถเพลิดเพลินกับมันได้ เราสามารถทำแบบเดียวกันนี้กับภูมิประเทศที่สวยงาม อากาศดี อาหารอร่อย และอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นความเอื้อเฟื้อ! เราสามารถเอื้อเฟื้อได้ไม่เพียงแต่กับสิ่งที่เป็นของเราเท่านั้น แต่กับสิ่งที่ไม่เป็นของใครเลยด้วย ในการทำสมาธิ เราสามารถจินตนาการถึงการมอบสิ่งวิเศษต่าง ๆ ให้กับผู้อื่นได้ แต่ถ้าเรามีสิ่งที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้จริงและพวกเขาก็ต้องการสิ่งนั้น เราจึงไม่เพียงแค่จินตนาการว่ากำลังมอบสิ่งนั้นให้กับพวกเขา แต่เราให้สิ่งที่พวกเขาต้องการนั้นจริง ๆ!
ความเอื้อเฟื้อจะตรงข้ามกับความขี้เหนียว ซึ่งเป็นความไม่เต็มใจที่จะแบ่งปันสิ่งใด ๆ หรือให้สิ่งใด ๆ แก่ผู้อื่น ความขี้เหนียวนี้มักมาพร้อมกับความรู้สึกที่ว่า หากเราให้คนอื่นแล้วจะไม่มีอะไรเหลือสำหรับตัวเราเอง แต่ในทางตรงกันข้าม
ถ้าฉันเก็บทุกอย่างไว้ให้ตัวเองแล้ว ฉันจะมีอะไรเหลือไปให้คนอื่น – คติพจน์ของชาวทิเบต
เราควรระวังอย่าทำตัวบ้าคลั่ง ในขณะที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เราจำเป็นต้องกินและนอน เราจำเป็นต้องดูแลตัวเองเช่นกัน ดังนั้น ด้วยความเอื้อเฟื้อ เราจึงพูดถึงการแบ่งปันสิ่งที่เรามี พระโพธิสัตว์ขั้นสูงมาก ๆ สามารถสละชีวิตของตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่ในระดับของเรา เราไม่สามารถทำแบบนั้นได้จริง ดังนั้น เรายังไม่สามารถและไม่ควรยอมให้ทุกอย่างจนถึงจุดที่เราอดตาย แต่เรายังคงเต็มใจที่จะสละร่างกายของเราเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการช่วยทำงานที่ยากหรือน่าเบื่อ หรือแม้กระทั่งการใช้แรงกาย เราต้องไม่กลัวที่มือเราจะต้องสกปรก!
ความเอื้อเฟื้อยังรวมถึงการแบ่งปันสิ่งที่เรียกว่า “รากฐานของคุณธรรม” ของเรา ซึ่งเป็นศักยภาพเชิงบวกของพลังเชิงบวกที่เราได้สร้างขึ้น ผมสามารถใช้ตัวอย่างจากชีวิตของผมเองอันเป็นผลมาจากศักยภาพเชิงบวกที่สร้างขึ้นจากการกระทำที่สร้างสรรค์ในช่วงชีวิตก่อนหน้านี้ ผมได้มีโอกาสพบและศึกษากับปรมาจารย์ที่ยิ่งใหญ่ทางพระพุทธศาสนาในอินเดีย และได้รับเชิญจากทั่วทุกมุมโลก และสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้คนที่น่าทึ่งมากมาย สิ่งนี้ได้สร้างศักยภาพในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติของผม ผมพยายามแบ่งปัน “รากฐานของคุณธรรม” เหล่านี้กับผู้อื่น ไม่เพียงแต่เก็บรักษาเอาสิ่งที่ได้มาไว้กับตัวผมเองเท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ผมก็จะเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้เชื่อมสัมพันธ์กับบุคคลเหล่านั้นโดยการแนะนำพวกเขาให้รู้จักกับปรมาจารย์เหล่านี้และผู้ที่ได้เรียนรู้เป็นประโยชน์อื่น ๆ จากทั่วโลก ผมพยายามแบ่งปันสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการศึกษาในมหาวิทยาลัย และการใช้เวลาในการเรียนรู้และการฝึกสมาธิหลายทศวรรษในอินเดีย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ การแบ่งปันรากฐานของคุณธรรมของเรา ซึ่งเป็นการเปิดประตูสำหรับผู้อื่น
โดยทั่วไป เราพูดถึงความเอื้อเฟื้อ 4 ประเภท ได้แก่
- ให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุ สิ่งของ
- ให้คำสอนและคำแนะนำ
- ให้ความคุ้มครองจากความกลัว
- ให้ความรัก
ความเอื้อเฟื้อด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุ สิ่งของ
ความเอื้อเฟื้อด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุ สิ่งของ หมายถึงทรัพย์สิน อาหาร เสื้อผ้า เงิน และสิ่งอื่นใดที่เราอาจมี รวมถึงความรู้สึกของการให้เมื่อสมควรให้และการให้ด้วยความเคารพ ไม่เหมือนกับการโยนกระดูกให้สุนัข เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยและเป็นเจ้าของสิ่งของต่าง ๆ มากมายเพื่อฝึกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุ สิ่งของนี้ เพราะเราสามารถให้สิ่งที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของได้เช่นกัน นี่ไม่ได้หมายความว่าเราจะออกไปขโมย เหมือนโรบินฮู้ดยุคใหม่! แต่เรากำลังพูดถึงสิ่งสาธารณะต่าง ๆ เช่น การทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนอื่นสามารถเพลิดเพลินกับมันได้ นั่นคือของขวัญที่ยอดเยี่ยมที่ให้กับผู้อื่น นอกจากนี้ เรายังสามารถแบ่งปันประสบการณ์ที่มีความสุขให้กับผู้อื่นได้ เช่น “ขอให้ทุกคนมีความสุขกับอากาศดี ๆ” เป็นต้น
เราไม่ควรคิดเพียงแง่ของวัตถุที่มีอยู่จริงเท่านั้น เราอาจให้ร่างกายของเราได้ด้วยเช่นกัน ทั้งในด้านของเวลา งาน ความสนใจ พลังงาน กำลังใจ และอื่น ๆ ของเรา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมดเป็นวิธีการที่ฉลาดในการเอื้อเฟื้อด้วยการให้วัตถุ สิ่งของต่าง ๆ
เห็นได้ชัดว่า มันไม่เหมาะสมที่จะให้ยาพิษ อาวุธร้าย หรือสิ่งใด ๆ ก็ตามที่อาจใช้ทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น
ความเอื้อเฟื้อด้วยการให้คำสอนและคำแนะนำ
ในบริบททางพระพุทธศาสนา นี่เป็นเรื่องของการให้พระธรรม ซึ่งหมายถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนา แต่เราสามารถขยายไปยังพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาได้เช่นกัน ไม่ใช่แค่การสอน การแปล การถอดเสียง การเผยแพร่ หรือการสร้างและการทำงานในศูนย์การศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตอบคำถามของผู้คน การให้คำแนะนำและข้อมูลแก่พวกเขาถ้าเราทำได้และเมื่อเราทำได้ เป็นต้น
พระพุทธศาสนานิกายสักยะมีการถวายสมาธิ ที่เรามอบให้กับผู้อื่นในแง่มุมต่าง ๆ ของการปฏิบัติธรรมของเรา ทุกสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการศึกษาและการอ่าน เราเสนอให้กับผู้อื่นและใช้มันในการช่วยเหลือพวกเขา เราทำเช่นเดียวกันกับความรู้ ความเชื่อมั่น วินัย ความรู้แจ้ง และสมาธิทั้งหมดที่เราได้รับ รวมทั้งการอธิบายคำสอนต่าง ๆ ของเราด้วย ทั้งหมดนี้จะอยู่ในหมวดของความเอื้อเฟื้อในการให้พระธรรม แต่แน่นอนว่า เราสามารถขยายไปสู่การแบ่งปันสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่เรารู้ให้กับผู้อื่นได้
ความเอื้อเฟื้อด้วยการให้ความคุ้มครองจากความกลัว
ความเอื้อเฟื้อประเภทนี้หมายถึง การช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตอื่นเมื่อพวกเขาตกอยู่ในสภาพที่เลวร้าย ซึ่งรวมถึงการช่วยชีวิตสัตว์ที่กำลังจะถูกฆ่าและปล่อยสัตว์ที่ถูกขังอยู่ในกรงหรือคอกให้เป็นอิสระ ช่วยชีวิตแมลงวันที่กำลังจมน้ำจากสระว่ายน้ำ และปกป้องคนและสัตว์จากความร้อนและเย็นที่รุนแรง ทั้งหมดนี้เป็นการให้ความคุ้มครอง ถ้ามีตัวด้วงอยู่ในแฟลตของเรา เราไม่เพียงแค่โยนมันออกไปนอกหน้าต่างแล้วตัดสินว่ามันจะไม่เป็นอันตรายหากมันตกลงมาจากตึกห้าชั้น ความเอื้อเฟื้อในการให้ความคุ้มครองจากความกลัวอาจทำได้โดยการพามันออกไปข้างนอกอย่างนุ่มนวล เราจะไม่ทิ้งมันลงชักโครกแล้วพูดว่าขอให้มันโชคดี!
รวมถึงการที่เราอาจปลอบโยนผู้อื่นเมื่อพวกเขาหวาดกลัวไม่ว่าจะเป็นลูกหลานของเรา หรือบางทีอาจเป็นสัตว์ที่กำลังถูกล่า ตัวอย่างเช่น ถ้าแมวกำลังทรมานหนู เราอาจจะพยายามปกป้องหนูโดยการพาเอาหนูออกไปเสีย
ในการปฏิบัติตันตระ ความเอื้อเฟื้อด้วยการให้ความคุ้มครองจากความกลัวมีการตีความเพิ่มเติมคือ การให้ความวางใจเป็นกลางของเราแก่ผู้อื่น นั่นหมายความว่า ผู้คนเหล่านั้นไม่มีอะไรเลยที่จะต้องกลัวเราอย่างแน่นอน เพราะเราจะไม่ยึดติดกับพวกเขา ปฏิเสธพวกเขาด้วยความโกรธและความเกลียดชัง หรือเพิกเฉยต่อพวกเขาด้วยความซื่อไร้เดียงสา ที่นี่เราเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นของขวัญที่ดีมากที่จะมอบให้กับทุกคน
ความเอื้อเฟื้อด้วยการให้ความรัก
การปฏิบัติตันตระยังกล่าวถึงความเอื้อเฟื้อประเภทที่สี่ที่เรียกว่าการให้ความรักไว้ด้วย นี่ไม่ใช่การที่เราเข้าไปกอดทุกคน แต่เป็นการที่เราปรารถนาให้ทุกคนมีความสุข นี่คือนิยามของความรัก เป็นความปรารถนาให้อีกคนมีความสุขและมีเหตุแห่งความสุขนั้น
วิธีการให้อย่างถูกต้อง
เมื่อเราฝึกปฏิบัติทัศนคติที่กว้างไกลแต่ละประการ เราจะพยายามรวมแต่ละประการจากอีกห้าประการนั้นเข้ามาด้วย ในการฝึกปฏิบัติความเอื้อเฟื้อ:
- ร่วมกับวินัยทางจริยธรรม เราจะกำจัดตัวเองออกจากแรงจูงใจที่ซ่อนเร้นที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมทั้งหมดออกไป
- ร่วมกับความอดทน เราจะไม่รังเกียจที่จะแบกรับความยากลำบากใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ร่วมกับความเพียร เราจะมีความปีติยินดีในการให้โดยไม่ทำสิ่งนั้นเพราะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่หรือภาระผูกพัน
- ร่วมกับความมั่นคงทางจิตใจ เราจะมีสมาธิในการอุทิศตนให้กับพลังเชิงบวกที่สร้างขึ้นจากการให้
- ร่วมกับการรับรู้ที่แยกแยะ เราตระหนักดีว่าผู้ให้ (ตัวเรา) ผู้รับ และสิ่งที่ให้ล้วนขาดการดำรงอยู่ที่สร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านั้นล้วนต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะไม่มีผู้ให้หากไม่มีผู้รับ
ความเอื้อเฟื้อและแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม
มีสถานการณ์มากมายที่บ่งชี้ว่าเรากำลังให้บางสิ่งอย่างไม่ถูกต้องและเราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านี้ เราอาจให้ด้วยหวังว่าคนอื่นจะประทับใจ หรือคิดว่าเราเลื่อมใสในศาสนาและยอดเยี่ยมจริง ๆ หรือมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเราให้ เราก็คาดหวังว่าจะได้รับสิ่งตอบแทน แม้ว่ามันจะเป็นเพียงแค่คำขอบคุณก็ตาม อย่างไรก็ตาม เมื่อเราให้ มันเป็นการไม่สมควรที่จะคาดหวังสิ่งใด ๆ เป็นการตอบแทนแม้แต่คำขอบคุณ นับประสาความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมช่วยปรับปรุงสถานการณ์ของพวกเขาเอง นั่นก็ขึ้นอยู่กับกรรมของพวกเขาเป็นหลัก เราสามารถเสนอให้ความช่วยเหลือได้ แต่เราไม่ควรหวังความสำเร็จ หรือคำขอบคุณเป็นการตอบแทน
ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งในช่วงฤดูฝนที่เมืองธรรมศาลา (Dharamsala) ประเทศอินเดีย มีหนูตัวหนึ่งกำลังจมน้ำในท่อระบายน้ำ ผมเอามันออกมาวางบนพื้นให้แห้ง และในขณะที่มันนอนอยู่นั้น เหยี่ยวตัวใหญ่ก็โฉบลงมาและกระชากเอาหนูไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละบุคคล แม้ว่าเราพยายามที่จะช่วยพวกเขาก็ตาม เราอาจให้โอกาสและความช่วยเหลือทั้งหมดแก่ใครบางคนเพื่อให้ประสบความสำเร็จ แต่เขาก็ยังอาจประสบกับความล้มเหลวที่เลวร้ายได้
นอกจากนี้ หากผลลัพธ์ที่ดีเกิดขึ้น เราก็ไม่ควรโอ้อวดกับคนนั้น หรือเตือนเขาเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้ทำและให้กับเขาทั้งหมด เราต้องไม่ดูถูกผู้อื่นเมื่อเราช่วยเหลือพวกเขาโดยที่คิดว่าเราให้การช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่แก่พวกเขา จริง ๆ แล้วพวกเขากำลังช่วยเหลือเราด้วยการยอมรับและให้เราสร้างพลังเชิงบวกที่จะนำเราไปสู่การตรัสรู้ และทำให้เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นอกจากนี้ มันยังเป็นแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมในการให้จากความรู้สึกผิดหรือภาระผูกพัน ซึ่งบางทีเป็นความรู้สึกที่ว่าถ้ามีคนอื่นบริจาค เราก็จะต้องทำเช่นเดียวกัน หรือแม้กระทั่งทำให้เด่นกว่าคน ๆ นั้นด้วยการให้มากกว่า
ความเอื้อเฟื้อและแรงจูงใจที่เหมาะสม
เมื่อฝึกปฏิบัติความเอื้อเฟื้อ ความคิดเพียงอย่างเดียวของเราจะต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้รับทั้งชั่วคราวและท้ายที่สุด เราจะพยายามอย่างเต็มที่ และไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม อย่างน้อยเราก็ได้พยายาม นี่ไม่ใช่เป็นแค่แนวคิดนามธรรมที่ว่า “แน่นอน ฉันต้องการช่วยสรรพสัตว์ทั้งหมด” แต่จากนั้นแล้ว เราก็ขี้เกียจแม้แต่จะช่วยล้างจาน!
แน่นอนว่าความเอื้อเฟื้ออาจเป็นไปได้ทั้งสองทาง หากคนอื่นต้องการช่วยเหลือเราและมีความเอื้อเฟื้อ เราก็ไม่ควรเย่อหยิ่งและปฏิเสธที่จะรับคำเชิญชวนหรือของขวัญ คนจำนวนมากทำเช่นนี้เมื่อมีคนพยายามซื้ออะไรบางอย่างให้พวกเขา แม้กระทั่งอะไรที่เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น อาหารมื้อเย็น ในการทำเช่นนี้ เรากีดกันพวกเขาจากโอกาสที่จะสร้างพลังเชิงบวก จริง ๆ แล้ว มันอยู่ในคำปฏิญาณของพระโพธิสัตว์ว่า เราจำเป็นต้องยอมรับคำเชิญชวนและการเสนอให้ความช่วยเหลือของผู้คนเว้นเสียแต่ว่ามันจะเป็นอันตรายต่อพวกเขา
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมเดินทางไปกับท่านเซอร์กอง รินโปเช (Serkong Rinpoche) ในอิตาลี มีคนมาถามคำถามท่าน เมื่อคน ๆ นั้นจากไปเขาได้วางซองที่มีเครื่องถวายไว้บนโต๊ะข้างประตู ท่านเซอร์กอง รินโปเช ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญโดยพูดกับผมว่า “นี่เป็นวิธีที่เหมาะสมในการให้ ไม่ใช่อย่างคนที่เข้ามาแล้วก็โชว์อวดด้วยการนำสิ่งนั้นมาให้องค์ลามะเองเพื่อให้องค์ลามะรู้ว่าใครเป็นผู้ให้และจะชื่นชมมันจริง ๆ และคิดดีขึ้นต่อคนนั้น” มันจะเป็นการดีกว่าเสมอที่จะให้อย่างเงียบ ๆ ไม่เปิดเผยตัวตน ไม่ต้องอวดโชว์อะไรใหญ่โต ให้ในลักษณะที่น่าพอใจและเคารพเช่นนี้จะดีที่สุด
อย่าทำให้คนอื่นรอสิ่งที่เราจะเสนอให้ หรือเสนอให้ความช่วยเหลือแต่ให้รอพรุ่งนี้ มันก็คล้าย ๆ กับกรณีของการถวาย ท่านเซอร์กอง รินโปเชเป็นอาจารย์องค์หนึ่งของสมเด็จองค์ดาไลลามะ และมีผู้คนมากมายเคยมาหาท่าน ท่านตั้งข้อสังเกตว่า ท่านพบว่ามันเป็นการไม่คำนึงถึงคนอื่นและเป็นเรื่องน่าขันเล็กน้อยที่ผู้คนจะรอจนกว่าพวกเขาจะได้มาอยู่ตรงหน้าท่านเพื่อทำการหมอบกราบอย่างประณีตบรรจง ท่านพูดว่า “ทั้งหมดนี้ทำให้อาตมาเสียเวลา อาตมาไม่ต้องเห็นพวกเขาหมอบกราบ มันไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของอาตมาที่พวกเขาให้การหมอบกราบ พวกเขาควรทำก่อนที่จะเข้ามา เพื่อที่พวกเขาจะได้พูดกับอาตมาได้โดยตรงในสิ่งที่พวกเขาต้องการจะพูด” มันเป็นเรื่องปกติมากสำหรับชาวทิเบตที่จะมอบผ้าคาตะ (katas) ซึ่งเป็นผ้าพันคอตามพิธีการ ให้กับองค์ลามะ แต่ไม่ควรทำเพื่อสร้างความประทับใจให้กับพวกท่าน จำไว้ว่าการหมอบกราบเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเราไม่ใช่ของครูบาอาจารย์
การให้ด้วยตัวเอง
ไม่ว่าเราจะให้อะไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ เราต้องให้มันด้วยตัวเอง ปรมาจารย์อติศะ (Atisha) มีอุปัฏฐากที่ต้องการถวายเครื่องบูชาทั้งหมดให้ท่านอาจารย์ กรอกขันน้ำ และอื่น ๆ ท่านปรมาจารย์อติศะกล่าวว่า “การลงมือทำด้วยตัวเองเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับอาตมา ท่านจะกินแทนอาตมาด้วยหรือ” เมื่อใดก็ตามที่เป็นไปได้ เราควรทำสิ่งนั้นด้วยตัวเอง
หากเราตัดสินใจที่จะให้บางสิ่ง เราไม่ควรเปลี่ยนใจ หรือเสียใจในภายหลังและนำสิ่งนั้นกลับคืนมา นอกจากนี้ เมื่อเรามอบบางสิ่งไปแล้ว เราไม่ควรยืนกรานว่ามันควรจะถูกใช้ในแบบที่เราต้องการให้ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราให้เงินโดยยืนกรานว่าเงินควรจะนำไปใช้จ่ายอย่างไร มันเหมือนกับเวลาที่เราให้รูปภาพใครไปสักคน แล้วจากนั้นเมื่อเราไปที่บ้านของคน ๆ นั้น แล้วเห็นว่ามันไม่ได้ถูกแขวนอยู่บนฝา เราก็จะรู้สึกเจ็บใจเล็กน้อย จริง ๆ แล้ว เมื่อเราให้อะไรไปแล้ว มันก็ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป
ผมจำได้ว่า ครั้งหนึ่งในเมืองธรรมศาลามีวัดแห่งหนึ่งอยู่ ซึ่งคุณภาพของอาหารแย่มาก ดังนั้นแล้ว พระจึงไม่ค่อยสบาย ในหมู่ชาวตะวันตก เราได้รวบรวมเงินและมอบเงินนั้นให้พวกท่านไปซื้ออาหารที่ดีกว่าเดิม ในท้ายที่สุด พวกท่านก็เพียงแค่ใช้จ่ายเงินไปในการซื้ออิฐเพิ่มเพื่อสร้างวิหารที่ใหญ่และดีกว่าต่อไป! สิ่งนี้สร้างความรำคาญให้กับชาวตะวันตกเป็นอย่างมาก พวกเขาเห็นเป็นเรื่องใหญ่ที่พระเหล่านั้นไม่ใช้เงินไปซื้ออาหาร วิธีแก้ปัญหาก็คือว่า ถ้าเราอยากให้พวกท่านกินอาหารที่ดีขึ้น เราจะต้องซื้ออาหารให้พวกท่านจริง ๆ จากนั้นพวกท่านก็จะต้องกินมัน! ดังนั้น เราจึงต้องฉลาดสักหน่อย ถึงกระนั้น เราก็ยังจะต้องซื้อสิ่งที่พวกท่านชอบกิน และสำหรับชาวทิเบตนั่นหมายถึงเนื้อสัตว์แม้ว่าชาวตะวันตกบางคนจะไม่เห็นด้วยก็ตาม การซื้อเต้าหู้หรืออาหารที่พวกท่านไม่เคยกินนั้นไม่เหมาะสมจริง ๆ
แม้ว่าผมจะเห็นท่านเซอร์กอง รินโปเช เกือบทุกวัน แต่ผมก็มักจะนำของเล็กน้อยมาให้ท่านเสมอ หลังจากนั้นไม่นานท่านก็ดุผมและพูดว่า "ทำไมถึงเอาผ้าคาตะและธูปมาให้ อาตมาไม่ต้องการขยะเหล่านี้!” ท่านเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าขยะ! “จะให้อาตมาทำอะไรกับผ้าคาตะตั้ง 1,000 ผืนนี้” ท่านกล่าวว่า “ถ้าจะนำอะไรมาให้ นำสิ่งที่ชอบและใช้ได้มาให้อาตมา” ผมรู้ว่าท่านชอบกล้วย ดังนั้นผมน่าจะเอากล้วยมาให้ท่าน หากเราต้องการให้อะไรให้ผู้อื่น เราควรมีความชำนาญและให้ในสิ่งที่พวกเขาชอบ เชื่อผมเถอะว่าองค์ลามะเหล่านั้นมีธูปเพียงพอแล้ว!
ในประเด็นเดียวกัน สิ่งสำคัญคือ ต้องนำสิ่งที่มีคุณภาพดีไม่ใช่แค่ให้ของที่เราไม่ชอบหรือไม่มีประโยชน์แล้วเท่านั้น ยังมีคนที่ไม่ต้องการรับอะไรเลยก็มี ดังนั้นเราอาจพูดว่า “มีคนให้สิ่งนี้กับฉันและฉันจะไม่ใช้มันโปรดรับมันไว้ด้วย ฉันไม่อยากทิ้งมันไป” นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่จะให้ เช่น เอาแฮมเบอร์เกอร์ให้คนที่เป็นมังสวิรัติ หากมีคนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การกินอาหารบางอย่าง เราก็ทำตามนั้น เราไม่นำเค้กไปให้คนที่กำลังลดน้ำหนักอย่างเข้มงวด!
การให้พระธรรม
ในแง่ของการให้พระธรรม หากมีใครต้องการถกเถียงกับเราจากแรงจูงใจของความโกรธ ความยึดติด ความเย่อหยิ่งทะนงตน หรือเพียงแค่ความอยากรู้อยากเห็นที่ไม่มีประโยชน์ เราไม่ควรถกเถียง หรือให้เนื้อหาทางพระพุทธศาสนาแก่คน ๆ นั้น เราสอนและสนทนาธรรมะกับคนที่เปิดรับเท่านั้น หากมีคนที่ไม่เปิดรับ ดังนั้น มันก็ไม่เหมาะสมที่จะสอนหรือพูดคุยกับคน ๆ นั้น อันที่จริงมันเสียเวลาและมีส่วนทำให้เกิดสภาพจิตใจในแง่ลบและความเป็นศัตรูให้แก่พวกเขาเท่านั้น เราจะสอนผู้ที่มีใจกว้างและต้องการเรียนรู้
ถ้าเราจะสอน เราจะสอนในระดับของอีกคนหนึ่งนั้น เราจะไม่ทิ้งการเรียนรู้และความรู้จำนวนมากทั้งหมดของเราลงไปให้กับคนที่เราจะสอน เพียงเพื่อพิสูจน์ว่าเราฉลาดแค่ไหน เราจะไม่สอนขั้นสูงเกินไป เว้นแต่ว่ามันจะเป็นประโยชน์ให้ได้รับรู้บ้างสักเล็กน้อย บางครั้งการสอนขั้นสูงสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนให้ทำงานหนักมากขึ้นในการพยายามความเข้าใจมัน และมันยังเป็นประโยชน์ด้วยกับใครบางคนที่มีความเย่อหยิ่งทะนงตนเล็กน้อย บางครั้งสมเด็จองค์ดาไลลามะจะสอนวิธีการที่ซับซ้อนมากให้กับศาสตราจารย์ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย และอื่น ๆ เพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่าคำสอนทางพระพุทธศาสนามีความซับซ้อนเพียงใด สิ่งนี้ช่วยกำจัดความคิดที่ว่าพระพุทธศาสนานั้นโบราณหรือล้าหลัง
ผมจำได้ว่า ครั้งหนึ่งท่านเซอร์กอง รินโปเช ไปเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติธรรมในประเทศตะวันตก และพวกเขาต้องการให้ท่านสอนบทเรื่องสุญตา (ความว่างเปล่า) จากเนื้อหาของศานติเทวะภายในเวลาเพียงสองวัน นั่นเป็นเรื่องที่ไร้สาระจริง ๆ! เพียงแค่ส่วนนี้ของเนื้อหาก็ใช้เวลาหนึ่งปีหรือมากกว่านั้นในการศึกษาอย่างละเอียด ท่านรินโปเชเริ่มอธิบายถึงเรื่องนี้ด้วยคำสองสามคำแรกของบทในระดับขั้นสูงและซับซ้อนเพื่อแสดงให้เห็นว่าแต่ละคำมีความซับซ้อนเพียงใด ไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่ท่านพูด ซึ่งชี้ให้เห็นว่าช่างอวดดีแค่ไหนที่คิดว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถสอนหรือหลอมรวมกันได้ในการสอนเพียงสองวัน จากนั้น ท่านก็ได้ชะลอการสอนลงไปที่ระดับของพวกเขา และอธิบายความหมายทั่วไปของส่วนเล็ก ๆ ของเนื้อหานั้น
เมื่อสมเด็จองค์ดาไลลามะสอนฝูงชนจำนวนมาก ท่านจะสอนผู้คนแต่ละระดับอย่างละเล็กอย่างละน้อยที่นั่น ส่วนใหญ่ท่านจะสอนในระดับสูงมากโดยมุ่งตรงไปที่องค์ลามะ เกเช และ เขนโป (khenpo) ที่ยิ่งใหญ่ต่าง ๆ เนื่องจากท่านมีความก้าวหน้ามากกว่าคนอื่น ๆ ท่านจึงสามารถสอนพวกท่านในระดับนี้ จากนั้นพวกท่านก็จะสามารถอธิบายในรูปแบบที่ซับซ้อนน้อยลงให้กับนักเรียนของพวกท่านให้เข้าใจได้ ในสถานการณ์ประเภทนี้ เราจะไม่สอนให้กับคนที่อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเพราะคนอื่นสามารถดูแลระดับนั้นได้ คุณจะสอนให้กับระดับสูงสุดเพื่อให้มันสามารถลดหลั่นผ่านลงไปตามลำดับนั้น
สุดท้าย มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้กับผู้ที่จำเป็นต้องรับเท่านั้น หากมันไม่จำเป็นสำหรับใครบางคน แต่เพียงแค่คน ๆ นั้น ต้องการบางสิ่งนั้นเพราะความโลภและความยึดติด เช่น เด็ก ๆ ต้องการช็อกโกแลตตลอดทั้งวัน ก็ไม่สมควรที่จะให้ เราจำเป็นต้องใช้การรับรู้ที่แยกแยะเพื่อพิจารณาว่า จะให้อะไร เมื่อไหร่ และแก่ใครที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม ท่านทรุงปา รินโปเช (Trungpa Rinpoche) เป็นผู้บัญญัติศัพท์ที่ยอดเยี่ยมคือ "ความเห็นอกเห็นใจที่โง่เง่า" นั่นคือ เราไม่ได้ช่วยให้ทุกคนทำทุกอย่างที่ต้องการ เพราะมันอาจค่อนข้างจะโง่เง่ามาก! ความเอื้อเฟื้อของเราต้องสอดคล้องกับปัญญาของเรา
บทสรุป
การปฏิบัติความเอื้อเฟื้อไม่จำเป็นต้องร่ำรวยหรือมีทรัพย์สินมากมาย ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนหรือกำลังทำอะไรอยู่ เราก็สามารถเริ่มพัฒนาความเอื้อเฟื้อผ่านการแบ่งปันทางจิตใจทุกสิ่งที่เราเพลิดเพลิน ไม่ว่าจะเป็นอากาศบริสุทธิ์ที่เราหายใจเข้าไป พระอาทิตย์ตกอันงดงามที่เราชื่นชอบ อาหารอร่อย ๆ ที่เรารับประทาน การปรารถนาให้คนอื่นสนุกเพลิดเพลินกับทุกสิ่งที่เราทำถือเป็นพื้นฐานสำหรับก้าวต่อไปที่เราจะให้กับผู้อื่นในสิ่งที่เขาต้องการจริง ๆ
ถ้าเราสามารถทำได้ มันก็เป็นการดีที่จะให้ความช่วยเหลือด้านวัตถุ สิ่งของ แต่เราสามารถเผื่อแผ่เวลาและแรงกายของเราได้ด้วย เมื่อเราให้ด้วยความยินดี และด้วยแรงจูงใจที่บริสุทธิ์ ความเอื้อเฟื้อจะกลายเป็นพลังที่มีประสิทธิภาพที่จะทำให้ความรุ่งเรืองและความสุขของเราและของผู้อื่นมีความมั่นคง