ความจริงอันประเสริฐประการแรก: ทุกข์ที่แท้จริง

ความจริงขั้นพื้นฐานของชีวิตคือ ทุกคนต่างต้องการเป็นสุขและไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ จากประสบการณ์ของเราเอง เราย่อมมองเห็นได้ง่าย ๆ ว่าไม่มีใครอยากมีปัญหาและความทุกข์ ถึงกระนั้นแล้ว ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลก็ยังปรากฏขึ้นอยู่เสมอตลอดชีวิตของเรา อันที่จริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้เข้ามาตลอดไม่ว่าเราจะพยายามหลีกเลี่ยงมันมากแค่ไหนก็ตาม เมื่อใดที่เราเผชิญหน้ากับปัญหาในชีวิตประจำวัน เรามักพยายามจัดการกับปัญหานั้นให้ดีที่สุด แต่การจัดการกับปัญหาทีละอย่างตามที่เกิดขึ้นนั้นเป็นงานที่ไม่รู้จบ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระองค์ทรงเข้าใจดีว่า มีความจริงเกี่ยวกับชีวิตหลายประการอันเป็นจริงสำหรับทุกคนในทุกแห่งหน เราเรียกความจริงเหล่านี้ว่า อริยสัจสี่ ความจริงอันประเสริฐประการแรกที่พระพุทธเจ้าทรงตระหนักได้และทรงนำมาสอนคือปัญหาที่แท้จริง ความทุกข์ที่แท้จริงที่เราเผชิญอยู่นั้น คือการที่เราทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นยืดยาวกลายเป็นสิ่งถาวร หากเราไม่หยุดสร้างปัญหาเพิ่มให้ตัวเอง ปัญหาเหล่านั้นก็จะไม่หยุดถาโถมเข้ามา ดังนั้นขั้นตอนแรกคือการระบุให้ถูกต้องว่าความทุกข์ที่แท้จริงนั้นคืออะไรกันแน่

ขาขึ้นขาลงของความสุขและความทุกข์

เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาและความทุกข์หลายประเภท  ชีวิตคนเราย่อมมีเรื่องน่าหงุดหงิดและตึงเครียด  เราพยายามอย่างมากในการรังสรรค์ชีวิตที่มีความสุขให้ตนเอง แต่โดยส่วนมากแล้ว เรื่องต่าง ๆ ก็ไม่ดำเนินไปตามที่เราหวังไว้  หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นกับเราในลักษณะที่เราไม่ต้องการ เช่น การที่ความสัมพันธ์ในชีวิตเราแย่ลง การที่ผู้คนปฏิบัติกับเราไม่ดี การเจ็บป่วย การตกงาน เป็นต้น  ไม่ว่าเราจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเรามากเพียงใด มันก็เกิดขึ้นอยู่ดี  โดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักจะรู้สึกหดหู่กับปัญหาเหล่านี้ หรือพยายามจะไม่สนใจมันเลย แต่วิธีเหล่านี้มักทำให้สิ่งต่าง ๆ ยิ่งแย่ลงไปอีก  เราเป็นทุกข์มากขึ้นกว่าเดิม

แม้ในยามที่เราประสบกับความสุขได้เสียที ความสุขนั้นก็มาพร้อมกับปัญหา เพราะความสุขนั้นมันไม่คงอยู่ตลอดไป  มันไม่เคยทำให้เราพึงพอใจได้ และเราก็อยากได้ความสุขเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  ในความจริงแล้ว เราใช้เวลาและพลังงานส่วนใหญ่ไปกับการไล่ล่าส่วนที่ “เพิ่มมากขึ้น” นี้เอง  ลองคิดถึงทัศนคติของเราเวลาเราโพสต์เซลฟี่ลงบนโซเชียลมีเดียสิ  ทุกครั้งที่เราได้ “ไลค์” ซึ่งมาพร้อมกับระดับโดปามีนแห่งความสุขที่สูงขึ้นเล็กน้อย ความรู้สึกแบบนั้นคงอยู่นานแค่ไหน?  เรารีบเช็คว่าเราได้ “ไลค์” เพิ่มแค่ไหน? และเรารู้สึกแย่แค่ไหนเมื่อเราเห็นว่าเราไม่ได้ไลค์เพิ่มเยอะนัก?  นั่นคือความทุกข์ จริงหรือไม่?

เราทำให้ร่างกายและจิตใจของเราคงอยู่เป็นนิจ ซึ่งเราใช้สิ่งเหล่านี้ในการประสบกับขาขึ้นขาลง

ฉะนั้นแล้วชีวิตของเรามีขึ้นมีลงอยู่ตลอดเวลา  บางครั้งเราก็มีความสุขและรู้สึกดีเยี่ยม บางครั้งเราก็เป็นทุกข์และรู้สึกเศร้า  บ่อยครั้งเราเพียงกล่าวว่า “ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้แหละ” และไม่มองสถานการณ์นั้น ๆ ให้ลึกยิ่งขึ้น แต่เราอยากให้ชีวิตของเราเป็นแบบนี้จริง ๆ หรือ?  แบบที่เราไม่รู้ว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในขณะภายหน้า  โชคดีที่พระพุทธเจ้าทรงมองลึกลงไปและทรงค้นพบปัญหาที่แท้จริงอันเป็นรากฐานของสิ่งทั้งปวง  ปัญหาที่แท้จริง ความทุกข์ที่แท้จริง คือประเภทของร่างกายและจิตใจที่เรามี  ร่างกายและจิตใจประเภทต่าง ๆ ที่เรามีเป็นรากฐานที่เราใช้รับประสบการณ์ขึ้นลง ซึ่งทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กคอยดูดสิ่งเหล่านี้ให้เข้ามา  หากเรามองให้ลึกลงไป ปัญหาที่แท้จริงคือการมีร่างกายและจิตใจเช่นนี้ทำให้เราสร้างและยืดเวลาของประสบการณ์ขาขึ้นขาลงเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ในขณะนี้และยาวไปถึงสัปดาห์หน้า แต่ยืดยาวไปจนถึงยามที่เราตายจากไป  ไม่เพียงเท่านั้น พระพุทธเจ้ายังทรงตรัสไว้ว่า เรายืดเวลาให้ปัญหาของเรา ไม่เพียงแต่ในชีวิตนี้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกลับชาติมาเกิดใหม่และในชาติหน้าทั้งหลายเช่นกัน  ถึงแม้ว่าเราอาจยังไม่เข้าใจและยอมรับเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่ เราก็สามารถเห็นการยืดเวลาปัญหาเหล่านี้สำหรับยุคที่ตามมาเช่นกัน  หากพิจารณาวิกฤตการณ์สภาพอากาศในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ชัดว่าการกระทำของเรายืดเวลาปัญหาให้คงอยู่ยาวนานกว่าการดำรงอยู่ในโลกของเราอย่างไร

ถ้าอย่างนั้น ร่างกายและจิตของเรามีปัญหาอะไรกันแน่?  ปัญหาก็คือร่างกายและจิตของเรานั้นมีขีดจำกัด  ร่างกายของเรามีขีดจำกัดในเรื่องการเจ็บป่วยและการสลายตัวยามเราอายุมากขึ้น เหมือนกับนมที่มีวันหมดอายุ แต่จริง ๆ แล้วร่างกายเราแย่กว่านมด้วยซ้ำ เพราะมันไม่มีวันหมดอายุที่แน่ชัด  เราไม่รู้วันหมดอายุของร่างกายเราเลย  ถึงแม้ว่าร่างกายเราจะคงทน ลองคิดดูว่าเราต้องใช้เวลาคอยดูแลร่างกายของเรามากแค่ไหน  เราต้องชะล้างทำความสะอาด แต่งตัว หาอาหาร นำร่างกายไปยังห้องน้ำ ให้ร่างกายออกกำลังกาย ให้พัก นอนหลับ และดูแลเวลาร่างกายบาดเจ็บและเจ็บป่วย  เรื่องเหล่านี้สนุกมากแค่ไหนกันเล่า?  อย่างที่ปรมาจารย์ทางพระพุทธศาสนาชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า พวกเราล้วนเป็นทาสของร่างกายตนเอง 

จิตของเรา พร้อมทั้งอารมณ์และความรู้ก็มีขอบเขตจำกัดเช่นกัน  เราจำเป็นต้องให้การศึกษาและฝึกฝนจิตของเรา  ถึงกระนั้นแล้วก็ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่เข้าใจ  เราไม่อาจมองเห็นภาพรวมของทุกสิ่งทุกอย่างได้ ยกตัวอย่างเช่น ผลที่เกิดขึ้นตามมาจากสภาวะโลกร้อน ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ สภาพแวดล้อมเสมือนจริง เป็นต้น  นี่ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเราเลย  และที่แย่ไปกว่านั้นคือ ในลักษณะเดียวกันกับร่างกาย จิตใจของเราก็สลายตัวไปพร้อมกับอายุที่มากขึ้นเช่นกัน  ความทรงจำระยะสั้นเริ่มหายไป จิตใจของเราทำงานช้าลง และเราก็สับสนได้ง่ายขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ความรู้สึกของเราก็เจ็บได้ง่ายและอารมณ์ก็อาละวาด ทำให้เราไม่อาจคิดอ่านได้ชัดแจ้ง  แต่ปัญหาที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้คือ การที่ร่างกาย จิต อารมณ์ และความรู้สึกที่จำกัดของเรายืดเวลาตัวเองให้นานขึ้น ทำให้ตัวมันเองเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น

ลักษณะสี่ประการของความทุกข์ที่แท้จริงตามการแสดงออกโดยร่างกายอันจำกัดของเรา

พระพุทธเจ้าทรงแสดงตัวอย่างของความทุกข์ที่แท้จริง โดยใช้ลักษณะสี่ประการของร่างที่จำกัดของเรา

  • ประการแรกคือ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนิจจัง  บางครั้งเราก็มีสุขภาพดี ซึ่งทำให้เรารู้สึกดี แต่สิ่งเล็กจิ๋วอย่างหนึ่งก็อาจทำให้ร่างกายเราเสียสมดุล ซึ่งทำให้เราล้มป่วยและรู้สึกแย่  ลองดูเอาสิว่าร่างกายเราบอบบางขนาดไหน แค่สิ่งเล็กจิ๋วอย่างเดียวก็ทำให้ร่างกายบาดเจ็บและเจ็บปวดได้แล้ว  สิ่งเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่าทุกช่วงเวลานำพาเราเข้าใกล้ความตายมากขึ้นเรื่อย ๆ  เราจินตนาการไปว่าเราสามารถรักษาร่างกายของเราให้มีสุขภาพดีและแข็งแรงไปได้ตลอดกาล และในยามแก่เฒ่า เราจะยังสามารถทำในสิ่งที่เราเคยทำสมัยหนุ่มสาวได้  แต่เรากำลังหลอกตัวเอง  ความลำบากอย่างไม่รู้จบในการรักษาความเยาว์ทำให้เรากังวลและเครียด
  • ประการที่สองคือ ร่างกายของเราเองนั่นแหละที่เป็นปัญหา  เราอาจคิดว่าหากเราทำให้ร่างกายของเราดูน่าดึงดูดใจ ด้วยการใส่น้ำหอมและแต่งหน้า หรือด้วยการเล่นกล้าม เราจะมีความสุขขึ้น  แต่ไม่ว่าเราจะพยายามทำตนเองให้ดูสวยงามมากเท่าไหร่นั้น เราก็ยังกังวลว่าเรายังดูดีไม่พอ หรือว่าเราเริ่มสูญเสียรูปร่างหน้าตาที่ดูดีของเราไป  ไม่ว่าเราจะแต่งหน้าหรือมีกล้ามเนื้อเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน หรือไม่ว่าเราจะปฏิบัติตามรูปแบบการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีแค่ไหน  ปัญหาเกี่ยวกับร่างกายของเราก็คือ เรายังคงล้มป่วย เรายังคงแก่เฒ่า และเรายังสามารถประสบอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บได้อยู่ดี
  • ประการที่สามคือ ร่างกายของเราส่งกลิ่นเหม็นหากเราไม่ชะล้างมัน  ลมหายใจของเราเริ่มมีกลิ่นหากเราไม่แปรงฟัน ปัสสาวะและอุจจาระที่เราขับออกมานั้นมีกลิ่นเหม็นเน่า  หากเราคายอาหารที่เราเคี้ยวไปแล้วสองสามครั้ง แล้วเอาอาหารนั้นให้ผู้อื่น ใครจะคิดว่าอาหารนั้นสะอาดและเหมาะต่อการทานเข้าไป  ปัญหาตรงนี้คือ เราไม่ใช่สิ่งสิ่งหนึ่งที่ดำรงอยู่ได้อย่างอิสระ เป็น “ตัวฉัน” ที่สามารถแยกออกจากร่างกายของเราและอาศัยอยู่ในโลกแห่งจินตนาการของ “ร่างกายอันสวยงาม”  เราติดอยู่กับร่างกายนี้ที่มีข้อบกพร่อง และเราจำเป็นต้องดูแลมันและใช้งานมันอย่างเหมาะสมผ่านความพยายามในการก้าวข้ามความทุกข์และช่วยเหลือผู้อื่น
  • ประการที่สี่คือ ไม่มีใครสามารถมองเห็นเราในชีวิตจริงได้ นอกเสียจากการที่พวกเขามองเห็นร่างกายของเรา  เราอาจสร้างอวาทาร์ออนไลน์ให้ผู้อื่นได้เห็นเราในวิดิโอเกม แต่กระนั้นแล้ว เมื่อผู้อื่นพบเราใน “โลกแห่งความเป็นจริง” พวกเขาก็เห็นร่างกายของเราในแบบที่มันเป็น  ถึงแม้ว่าในใจเราจะจินตนาการว่า เมื่อเราอายุ 60 เราจะมีหน้าตาเหมือนตอนเราอายุ 20 แต่ผู้อื่นย่อมเห็นร่างกายอายุ 60 ปี เมื่อมองเรา  หากเราไม่เข้าใจและไม่ยอมรับจุดนี้ ก็เท่ากับว่าเราหลอกตัวเองและสร้างปัญหาให้ตนเองโดยการปฏิบัติตัวในแบบต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับวัยของเรา

บทสรุป

ร่างกายที่มีขอบเขตจำกัดของเราเป็นตัวอย่างของความทุกข์อันแท้จริง เนื่องจากว่าร่างกายของเรานี้เป็นสิ่งอนิจจังและเป็นปัญหา เราไม่สามารถแยกออกจากร่างกายได้ และร่างกายเป็นสิ่งที่ผู้อื่นเห็นเวลามองเรา ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม  การมีร่างกายประเภทนี้ก็เป็นปัญหาพออยู่แล้ว แต่ความทุกข์อันแท้จริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงคือ เราจำเป็นต้องมองให้ออกว่า เราใช้การยืดเวลาของการมีร่างกายเช่นนี้จากชาตินี้ไปสู่ชาติอื่น ๆ เป็นพื้นฐานในการประสบกับวัฏจักรความทุกข์และความรื่นรมย์กับความสุขที่ไม่น่าพึงพอใจ ซึ่งดูเป็นวัฏจักรที่ไม่จบสิ้น  นั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องการจริง ๆ หรือ?

Top