ทบทวน
เรามาอภิปรายกันต่อถึงบทประพันธ์ของสมเด็จองค์ดาไลลามะ ซึ่งอธิบายการดำเนินจากความเข้าใจเรื่องความจริงสองประการไปสู่ความเข้าใจเรื่องอริยสัจสี่ อันก่อเกิดเป็นความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย เราได้เห็นแล้วว่าความเป็นจริงสองประการกล่าวถึงลักษณะที่สรรพสิ่งดำรงอยู่อย่างแท้จริง:
- ความจริงสัมพัทธ์ หรือความจริงสามัญ; สิ่งที่ปรากฏต่อเรานั้นจริง ๆ แล้วล้วนอุบัติขึ้นโดยเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ หากเรามองเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายทำงานอย่างไรในโลกนี้ นี่เป็นสิ่งที่เราย่อมประจักษ์ ช่างน่าเสียดายอย่างยิ่งที่ปกติเรามักไม่มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะนี้
- ในระดับความจริงล้ำลึกสูงสุด สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นไปไม่ได้ตามการแสดงภาพอันสับสนของเราเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เราคิดว่าสิ่งต่าง ๆ อุบัติขึ้นด้วยพละกำลังของตัวมันเอง เหมือนกับการที่เรามองเห็นว่าพวกมันเกิดขึ้นโดยไม่เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเหตุ เงื่อนไข ส่วนต่าง ๆ หรือสิ่งใดเลยทั้งสิ้น แต่นี่เป็นเรื่องไม่จริง
ดังนั้นนี่คือพื้นฐาน
อริยสัจสี่พูดถึงความสับสนที่วนเวียนอยู่รอบการมองเห็นความเป็นจริงอย่างถูกต้อง เมื่อเราสับสนเกี่ยวกับความเป็นจริง ตรงนี้จึงทำหน้าที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ กล่าวคือ เหตุเป็นความจริงประการที่สอง และ ทุกข์เป็นความจริงประการแรก ในทางกลับกัน หากเรามองเห็นความเป็นจริงอย่างถูกต้องและสามารถตั้งจิตในลักษณะนี้อยู่เสมอ เราจะเกิดความจริงประการที่สาม คือ การดับทุกข์ที่แท้จริง ความเข้าใจเป็นหนทางที่ถูกต้อง อันเป็นความจริงประการที่สี่ซึ่งนำไปสู่การดับทุกข์ที่แท้จริง
เมื่อเราไม่กระจ่างในเรื่องความเป็นจริง เราจึงกระทำการบนรากฐานของการขาดความตระหนักรู้และความสับสัน กอปรกับยืดเวลาให้การเวียนว่ายตายเกิดที่ควบคุมไม่ได้ของเราให้คงอยู่เป็นนิตย์ หากเรากำจัดการขาดความตระหนักรู้นี้ออกจากตนเองเสีย เมื่อนั้นเราย่อมสามารถก้าวถอยหลัง หรือก้าวออกจากการเวียนว่ายตายเกิดของสังสารวัฏได้
พระรัตนตรัย (แก้วสามดวงอันประเสริฐ)
ตอนนี้เราจะมาดูบรรทัดที่สามของบทนี้:
ด้วยการรับรู้ที่ถูกต้องแท้จริง ความเชื่อมั่นของเราว่าที่พึ่งพิงทั้งสามเป็นสัจธรรมจึงมั่นคงแน่วแน่
อย่างที่เราได้เห็นแล้ว ที่พึ่งพิงทั้งสาม หมายถึง พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหล่านี้เป็นศัพท์ภาษาสันสกฤต พระศากยมุนีพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ คือ ผู้ที่ได้ไปถึงการตรัสรู้แล้ว และสอนวิธีการให้เราทำเช่นนั้น พระธรรม คือ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระสงฆ์ คือ ชุมชนผู้ตระหนักรู้ขั้นสูง นี่เป็นความเข้าใจในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีความหมายที่ลึกลงไปสำหรับทั้งสามอย่างนี้อีก
สำหรับความหมายที่ลึกซึ้งขึ้นนั้น พระธรรม หมายถึง การบรรลุที่แท้จริง นั่นก็คือ การบรรลุความจริงประการที่สามและสี่ หากคุณจำได้ ความจริงประการที่สาม คือ การดับทุกข์และเหตุแห่งทุกข์อย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดขึ้นตามลำดับขั้นไป เมื่อเราบรรลุเช่นนี้ในระดับสมบูรณ์แล้ว เราได้รับการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบที่ควบคุมไม่ได้ (สังสารวัฏ) เมื่อเราฝึกตนให้กำจัดเหตุต่าง ๆ ที่กีดกันไม่ให้เรารู้แจ้งถึงรายละเอียดของเหตุและผลทั้งหมดแล้ว เพื่อที่เราจะได้รู้วิธีที่ดีที่สุดการนำทางทุกคนไปสู่การหลุดพ้น เราจึงตรัสรู้กลายเป็นพระพุทธเจ้า ความจริงประการที่สี่ คือ ความเข้าใจที่นำพาการดับที่แท้จริง ซึ่งเกิดจากการดับที่แท้จริงเหล่านั้นนั่นเอง
ทั้งสองอย่างนี้ประกอบกันเป็นที่พึ่งพิง ที่พึ่งพิงเป็นสิ่งที่ปกป้องเรา ซึ่งในกรณีนี้ คือ ปกป้องจากทุกข์และความสามารถไม่เพียงพอของเราในการช่วยเหลือผู้อื่น หากเราบรรลุการดับที่แท้จริงและหนทางที่แท้จริงแห่งจิตแล้ว เราย่อมป้องกันตนเองจากการประสบทุกข์และความไร้สามารถในการรู้วิธีที่ดีที่สุดสำหรับช่วยเหลือผู้อื่น มันไม่ใช่ว่าเพราะมีผู้อื่นได้บรรลุเช่นนี้แล้ว เราจึงเพียงแต่ฝากตัวฝากใจไว้กับเขาแล้วคิดไปว่าเราจะได้รับการช่วยเหลืออย่างมหัศจรรย์
กลุ่มที่เรียกว่า “ศาสนาอับราฮัม” นั่นคือ ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาที่รู้จักกันในนามศาสนาเชิงประวัติศาสตร์ ศาสนาเหล่านี้มีบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่ตามเหตุการณ์ทางประวัติแล้วมีวิวรณ์จากพระเจ้า พวกเขาจึงเผยความจริงนี้และนี่ถือเป็นที่สุด เราไม่อาจทำสิ่งที่โมเสส หรือพระเยซู หรือมุฮัมหมัดทำได้ เราเพียงแต่ต้องมีศรัทธาในตัวพวกเขา ซึ่งจะช่วยเราให้พ้นทุกข์ ศรัทธาในที่นี้ หมายถึง ศรัทธาในตัวบุคคลเหล่านั้นเอง หรือไม่ก็เป็นศรัทธาในสิ่งที่พวกเขาสอนและเปิดเผย เหมือนกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าทรงมอบพระบัญญัติสิบประการแก่โมเสส หรือพระเยซูเปิดเผยพันธสัญญาใหม่ หรือมุฮัมหมัดเผยคัมภีร์กุรอ่าน เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นนี้เป็นศูนย์กลางของศาสนาเหล่านี้
ศาสนาแบบอินเดีย อย่างศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน สามารถกล่าวได้ว่าเป็นธรรมิกศาสนา ซึ่งแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของพระพุทธเจ้า หรือพระกฤษณะ หรือมหาวีระ (ผู้ก่อตั้งศาสนาเชน) นั้นไม่ใช่เหตุการณ์หลัก หากแต่ตัวเราเองกอปรกับผู้อื่นทั้งหลายก็สามารถบรรลุสภาวะที่บุคคลเหล่านี้ทำได้เช่นกัน ในบริบททางพระพุทธศาสนา พวกเราล้วนสามารถบรรลุการหลุดพ้นและการตรัสรู้ได้ ส่วนธรรมิกศาสนาอื่น ๆ ก็นำเสนอวิธีการหลุดพ้นตามแบบฉบับของตนเช่นกัน นี่เป็นความแตกต่างขั้นพื้นฐานประการหนึ่งระหว่างศาสนาอับราฮัมแบบตะวันตกของเรากับศาสนาแบบอินเดีย
เมื่อเราพิจารณาที่พึ่งพิงทั้งสามแล้ว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราไม่มองสิ่งเหล่านี้ผ่านการแสดงภาพตามศาสนาอับราฮัมที่เราอาจคุ้นเคย ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้เดียวที่สามารถบรรลุการตรัสรู้ได้ และหากเราเชื่อพระองค์แล้วเราย่อมได้รับการช่วยเหลือ ฉะนั้นปกติผมมักเลี่ยงคำว่า “ที่พึ่งพิง” เพราะมันให้นัยยะที่ฟังดูค่อนข้างเป็นเชิงรับ ราวกับว่าสิ่งเดียวที่พวกเราต้องทำคือพูดว่า “พระพุทธเจ้า ได้โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วย!” แล้วเราก็จะได้รับการช่วยเหลือ นั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนา ผมสันทัดการใช้คำว่า “ทิศทางที่ปลอดภัย” มากกว่า ซึ่งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ชี้ให้เห็นถึงทิศทางปลอดภัยให้แก่เรา ทิศทางที่เราเองสามารถบรรลุสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุได้ ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีสำหรับการป้องกันตัวเองให้เรา เราก็ยังคงต้องนำวิธีนี้ไปปฏิบัติใช้ มันคือความเพียรพยายามของเราเองสำหรับการบรรลุการตรัสรู้ที่จะช่วยปกป้องตัวเราจากทุกข์
ธรรมรัตนะ
เมื่อเราพูดถึงพระธรรมรัตนะที่ล้ำลึกที่สุด หรือรัตนากรแห่งธรรม หรือชื่อใด ๆ ที่ก็ตามคุณเรียก เป็นสิ่งสุดประเสริฐที่หาได้ยากยิ่ง ซึ่งเป็นความหมายตรงตัวของคำสองพยางค์ที่ชาวทิเบตใช้แปลคำว่า รัตนากร เรากำลังพูดถึงสภาวะการดับที่แท้จริง และ การบรรลุหนทางแห่งจิตโดยแท้ที่จะนำไปสู่การดับและผลลัพธ์ของมัน เหล่านี้คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องบรรลุด้วยตนเอง เราจึงต้องมีความเชื่อมั่นว่าสามารถบรรลุสิ่งเหล่านี้ได้ ความจริงสองประการและอริยสัจสี่ตามที่เราได้อภิปรายไปนั้นช่วยให้เราเข้าใจว่าการหลุดพ้นและการตรัสรู้นั้นมีอยู่จริง และเราสามารถบรรลุเช่นนั้นได้ด้วยตัวของเราเอง
พุทธรัตนะ
พระพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ได้บรรลุการหลุดพ้นตามด้วยการตรัสรู้อย่างสมบูรณ์แล้ว ไม่ได้หมายถึงแค่พระศากยมุนีพุทธเจ้า แต่หมายรวมถึงพระพุทธเจ้าองค์อื่น ๆ ด้วย พวกท่านได้ทรงสอนและชี้ให้เราเห็นทางที่สามารถบรรลุสภาวะเช่นนั้นได้ด้วยตัวของเราเอง พวกท่านทรงสอนเราด้วยวิธีการสองลักษณะ นั่นคือ ด้วยหลักคำสอนของท่าน และ ด้วยตัวอย่างของท่านเอง โดยอิงจากความเข้าใจและความตระหนักรู้ทั้งหลายของท่าน นี่เป็นประเด็นสำคัญ เพราะประเด็นนี้สาธิตให้เห็นว่า เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้เรียนรู้ได้ผ่านการสอนโดยวาจา และ ผ่านการใช้ชีวิตเป็นแบบอย่างให้เห็นถึงสิ่งที่เราสอน พระธรรมไม่ใช่คำสอนเชิงนามธรรม แต่เป็นสิ่งที่ผู้คน รวมถึงพวกเรานี้ ล้วนคงไว้ได้จริง ๆ
สังฆรัตนะ
บางคนอาจคิดว่า ทำไมเราต้องมีรัตนะที่สามนี้ นั่นคือสังฆะอริยะด้วย มีพระพุทธกับพระธรรมก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ ถึงแม้ว่าพระสงฆ์และแม่ชีจะเป็นตัวแทนของสังฆะ นั่นก็ไม่ใช่สังฆรัตนะที่แท้จริง เหมือนกับพระพุทธรูปและภาพวาดต่าง ๆ ที่นำเสนอพระพุทธ และหนังสือต่าง ๆ ที่นำเสนอพระธรรม สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงภาพตัวแทน ในฐานะสิ่งที่เป็นภาพตัวแทนของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พระพุทธรูป หนังสือ พระสงฆ์และแม่ชีทั้งหลายเหล่านั้นเป็นจุดรวมจิตให้เราสำหรับการเคารพ เพราะมันไม่ง่ายที่จะแสดงความเคารพต่อสิ่งที่เป็นนามธรรม แน่นอนว่าทั้งหลายทั้งปวงนี้ย่อมมีความหมายที่ลึกซึ้งลงไป
สังฆรัตนะมีความสำคัญอย่างยวดยิ่ง สังฆะ หมายถึง อริยบุคคล หรือผู้ที่ได้เห็นอริยสัจสี่ในเชิงไร้มโนทัศน์โดยอิงจากความจริงสองประการแล้ว เพราะว่าพวกเขารับรู้เช่นนี้ได้ในเชิงไร้มโนทัศน์แล้ว พวกเขาจึงบรรลุการดับที่แท้จริงในระดับหนึ่ง และบรรลุหนทางแห่งจิตที่แท้จริงในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สมบูรณ์ อริยบุคคลคอยก้าวหน้าไปในทั้งสองอย่างนี้จนในที่สุดจึงหลุดพ้นและตามมาด้วยการตรัสรู้ ความจริงอันประเสริฐได้รับการนิยามว่า ความจริงแห่งอริยะ เป็นสิ่งที่อริยบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรู้ถึงความเป็นจริงเชิงไร้มโนทัศน์เห็นแล้วว่าเป็นจริง ตรงนี้บอกให้เรารู้ว่า
- ไม่ได้มีเพียงแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้นที่รู้แจ้งถึงสิ่งทั้งปวง กอปรกับบรรลุการดับทุกข์และหนทางแห่งจิตโดยแท้ หากแต่ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป
- แม้แต่ก่อนการบรรลุการหลุดพ้น หรือการตรัสรู้ เราเริ่มกะเทาะและกำจัดหลาย ๆ ด้านของทุกข์ที่แท้จริงออก เพราะว่าเรากำลังกำจัดเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงในระดับต่าง ๆ อยู่
การหลุดพ้นและการตรัสรู้เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเริ่มต้นก่อนที่เราจะกลายเป็นพระพุทธเจ้า หรือเป็นผู้ที่หลุดพ้นนานแล้ว เรามักทำความเข้าใจอริยบุคคลได้ง่ายกว่าพระพุทธเจ้า เพราะพวกเขายังคงมีปัญหาบางประการอยู่ กอปรกับพวกเขาบางคนก็ยังไม่ได้เป็นอิสระจากการเวียนว่ายตายเกิดอันควบคุมไม่ได้อย่างสมบูรณ์ แต่พวกเขาเป็นอิสระในส่วนหนึ่งแล้ว ในลักษณะนี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับพวกเขาจึงง่ายกว่าเล็กน้อย
สังฆะอริยะมอบการสนับสนุนและแรงบันดาลใจให้เห็นว่า หากเราดำเนินไปในทิศทางที่ปลอดภัยแต่ละขั้นตามพวกเขาแล้ว เราก็สามารถไปถึงเป้าหมายสูงสุดแห่งการหลุดพ้นและการตรัสรู้ได้เช่นกัน ถึงแม้ว่าเราอาจไม่สามารถไปจนสุดทางได้ ในตอนนี้เราก็ยังสามารถปลดปล่อยตนเองออกจากความทุกข์ในระดับหนึ่งได้ เพราะเราจะปลดปล่อยตนเองออกจากระดับหนึ่งของการขาดความตระหนักรู้ที่ก่อให้เกิดทุกข์ จึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถตั้งจิตอยู่ในความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์มากแค่ไหน หากคุณยังเป็นอริยบุคคล คุณก็ไม่อาจตั้งจิตได้ตลอดเวลา แต่คุณย่อมทำได้หากเป็นพระพุทธเจ้า
การหลุดพ้นและการตรัสรู้ไม่เหมือนกัน การหลุดพ้น คือ เมื่อเราเป็นอิสระจากการเวียนว่ายตายเกิดอันควบคุมไม่ได้ ซึ่งหมายถึงเมื่อเราเป็นผู้บรรลุอรหัตผลแล้ว คือเป็นผู้ที่หลุดพ้นแล้ว การตรัสรู้ คือ เมื่อเราไม่เพียงแต่เป็นอิสระจากความสับสนทางอารมณ์ทั้งหลาย กล่าวคือ อารมณ์รบกวนและการขาดความตระหนักรู้เรื่องการดำรงอยู่ของเรา แต่เรายังเป็นอิสระจากความสับสนทางการรับรู้อีกด้วย กล่าวคือ นิสัยคงที่ของการขาดความตระหนักรู้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เนื่องจากนิสัยทั้งหลายของเราในการเชื่อการแสดงมายาภาพของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ กระบวนการทางจิตของเรายังคงแสดงภาพเหล่านั้น และเราก็ยังคงเชื่อว่าภาพเหล่านั้นสอดคล้องกับความเป็นจริง ตรงนี้จึงก่อให้เกิดอารมณ์รบกวน เราหลุดพ้นได้เมื่อเราหยุดเชื่อว่าภาพลักษณ์ลวงหลอกเหล่านี้สอดคล้องกับความเป็นจริง เราเข้าใจว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงสิ่งไร้สาระ และถึงแม้ว่าสิ่งต่าง ๆ จะดูเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นเลย การรับรู้ของเราจะยังคงจำกัดอยู่และเราจะยังคงมองเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่เป็นกล่อง ๆ ด้วยตัวของมันเอง แต่เราจะรู้ว่านี่ไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของมัน
แม้แต่ในระดับเบื้องต้นมาก ๆ ของฟิสิกส์อะตอม เรามีอะตอมและสนามพลังแม่เหล็กแล้วก็อื่น ๆ แต่ไม่มีเส้นขอบชัดเจนรอบวัตถุไหนเลยที่บอกว่า “ในด้านนี้ของเส้นมีวัตถุอยู่นะ ด้านนั้นของเส้นไม่มีวัตถุอยู่” สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ได้ทื่อตรงอย่างที่เห็น หากเราสามารถกำจัดความสับสนทางการรับรู้ทั้งหลายที่ทำให้เราสร้างภาพลักษณ์อันลวงหลอกเหล่านี้ เมื่อนั้นจิตของเราย่อมหยุดแสดงภาพมายาและเราจึงตรัสรู้ เมื่อเราตรัสรู้แล้ว เราย่อมเห็นการเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างเป็นอนันต์ของทุกสรรพสิ่ง นี่จะทำให้เราเห็นวิธีการที่เปี่ยมทักษะที่สุดในการนำทางผู้อื่นไปสู่การหลุดพ้นและการตรัสรู้
เมื่อเราพูดถึงอริยบุคคล เราไม่ได้พูดถึงแค่พระโพธิสัตว์อริยะ ซึ่งหมายถึงผู้ที่มุ่งเป้าไปยังการตรัสรู้ เรายังพูดถึงอริยบุคคลที่มุ่งเป้าไปยังการหลุดพ้นเท่านั้นด้วย เมื่อเราพูดถึงพระรัตนตรัยในบริบทของเส้นทางที่ปลอดภัย เราหมายถึงผู้ที่มุ่งเป้าไปยังเฉพาะการหลุดพ้นเท่านั้น หรือมุ่งเป้าไปยังทั้งการหลุดพ้นและการตรัสรู้ ไม่ใช่แค่เหล่าพระโพธิสัตว์ที่มุ่งไปยังการตรัสรู้เท่านั้น
สร้างความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ในพระรัตนตรัย
เมื่อใดที่เราเข้าใจความจริงสองประการและความจริงสี่ประการเกี่ยวกับการที่เราติดอยู่ในสังสารวัฏและวิธีการที่เราสามารถออกไปได้แล้ว เมื่อนั้นเราย่อมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่าพระธรรมรัตนะดำรงอยู่จริง และเป็นสัจธรรม เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ความสับสนที่นำมาซึ่งภาพลักลักษณ์ลวงหลอกของสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นั้นไม่ใช่ลักษณะโดยกำเนิดของกระบวนการทางจิต ทำไมน่ะหรือ ก็เพราะว่าเราสามารถกำจัดมันออกได้เมื่อเราตั้งจิตอยู่ในสิ่งตรงข้ามกับการขาดความตระหนักรู้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เมื่อคุณตั้งจิตอยู่ในการตระหนักรู้ความจริงสองประการเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง เมื่อนั้นคุณย่อมไม่มีภาพลักษณ์อันลวงหลอกใด ๆ และคุณย่อมไม่เชื่อมันเป็นแน่ หากคุณสามารถตั้งจิตในการตระหนักรู้เช่นนี้อย่างสมบูรณ์ อันเป็นหนทางที่แท้จริง คุณย่อมบรรลุการดับทุกข์ที่แท้จริง ซึ่งตรงนี้มีเหตุและผลสนับสนุน คุณสามารถยืนยันได้ว่าสิ่งนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง และตรงนี้ก่อให้เกิดผล คุณจะไม่ต้องทรมานจากความขึ้นลงของความทุกข์และความสุขสามัญอีกต่อไป และคุณจะไม่มีการดำรงอยู่ในการเวียนว่ายตายเกิดที่ควบคุมไม่ได้อีกต่อไปเช่นกัน
คุณอาจจะค้านตรงนี้และบอกว่า “เอาล่ะ หากคุณตั้งจิตให้มั่นอยู่ในการขาดความตระหนักรู้ตลอดเวลา คุณก็ไม่อาจเกิดความสามารถเข้าใจ หรือความตระหนักรู้ได้น่ะสิ” ถ้าอย่างนั้นสิ่งใดแข็งแกร่งกว่ากันเล่า การตั้งจิตอยู่ในการขาดความตระหนักรู้ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือการตั้งจิตอยู่ในความตระหนักรู้ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง
หากเราวิเคราะห์ตรงนี้ เราจะเห็นว่าไม่มีแก่นสารใดเลยที่มาสนับสนุนการขาดความตระหนักรู้ ในขณะที่มีเหตุผลเป็นเครื่องสนับสนุนความเข้าใจที่ถูกต้อง สรรพสิ่งล้วนอุบัติขึ้นจากเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ และมันไม่ได้เข้ามาดำรงอยู่ได้ด้วยพลังของตัวมันเอง อีกอย่างหากเราตั้งจิตอยู่ในความเข้าใจที่ถูกต้องตลอดเวลา มันย่อมก่อให้เกิดผล นั่นคือ เราจะไม่ประสบทุกข์ หรือการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอีกต่อไป
ตรงนี้โยงกลับไปที่เรื่องอริยสัจสี่อีกครั้ง เรากำลังมุ่งเป้าไปที่ใด เราอยากทุกข์ทรมานไปตลอดชั่วกาลเวลาอย่างนั้นหรือ หากเราต้องการอย่างนั้น เราก็จงตั้งจิตอยู่ในการขาดความตระหนักรู้ต่อไปและเราย่อมทุกข์ทรมาน ง่าย ๆ อย่างนั้นเลย ถ้าต้องการก็เชิญเถิด! แต่หากคุณอยากเป็นอิสระจากทั้งหมดนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของหนทางจิตวิญญาณแห่งพระพุทธศาสนา ก็เป็นเรื่องชัดเจนอยู่แล้วว่าคุณต้องตั้งจิตให้มั่นคงอยู่ในความตระหนักรู้ที่อิงอยู่กับความเป็นจริง
การทำความเข้าใจเรื่องที่พึ่งพิงนั้นเกิดขึ้นจากการรับรู้ที่ถูกต้อง และจากนั้นความเชื่อมั่นของเราว่าที่พึ่งพิงทั้งสามเป็นสัจธรรมย่อมมั่นคงแน่วแน่ เราไม่สันนิษฐานคาดเดา หรือหวังอีกต่อไปว่า หากเราดำเนินไปในทิศทางนี้ เราจะเป็นอิสระจากทุกข์ เพราะว่าเรามีศรัทธาในการที่ “อาจารย์บอกว่าเป็นอย่างนั้น!” มันจะเกิดขึ้นโดยตั้งอยู่บนการรับรู้ที่ถูกต้อง ตั้งอยู่บนความเข้าใจที่ได้สรุปแล้วกอปรกับหลักเหตุผล
การมีการรับรู้ที่ถูกต้องนั้นมีสองวิธีด้วยกัน คือ ผ่านการสรุปทางเหตุและผล หรือการรับรู้เฉย ๆ ซึ่งเหมือนกับการมองเห็น ได้ยิน หรือประสบด้วยตนเองในเชิงไร้มโนทัศน์ สำหรับวิธีที่สองนี้ ปัญหาอยู่ที่ว่าคุณจะต้องอยู่ในขั้นสูงมาก ๆ ถึงจะประสบได้ด้วยตนเอง ดังนั้นคุณจึงต้องเริ่มต้นด้วยการใช้การสรุปเป็นรากฐานสำหรับการรับรู้ที่ถูกต้อง
ก้าวหน้าไปบนหนทางจิตวิญญาณ
ทีนี้เรามีบรรทัดที่สี่:
โปรดมอบแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าได้ปลูกฝังรากของหนทางแห่งจิตที่นำไปสู่การหลุดพ้นด้วยเทอญ
เมื่อเราพูดถึงหนทางแห่งจิตที่นำไปสู่การหลุดพ้น เรื่องนี้สามารถนำเสนอได้หลายวิธี หนึ่งในวิธีนั้นก็คือ ขอบเขตแรงจูงใจสามระดับ ซึ่งมักรู้จักกันในชื่อภาษาทิเบต “ลัม-ริม” (ฌานลำดับ) ลำดับขั้นเหล่านี้ คือ สามเป้าหมายที่เจริญก้าวหน้าขึ้น
- ขอบเขตแรก คือ การหลีกเลี่ยงการเกิดใหม่ที่แย่ลง และ การได้รับการเกิดใหม่ที่ดีขึ้น เราอยากมีการเกิดใหม่ที่ดีขึ้นโดยมีทุกข์น้อยลง เพราะว่าเราจะได้มีเงื่อนไขเปี่ยมประสิทธิภาพสำหรับการดำเนินต่อไปบนหนทางจิตวิญญาณนี้ หากเราไปเกิดเป็นแมลงสาป เราย่อมไม่สามารถทำอะไรได้มากมายในการพัฒนาทางจิตวิญญาณ ในการหลีกเลี่ยงการเกิดใหม่ที่แย่ลง เราจำเป็นต้องกำจัดความสับสนเกี่ยวกับความจริงสัมพัทธ์ ซึ่งก็คือเหตุและผล ออกจากตัวเราเอง เหตุผลหลักของการเกิดใหม่ที่แย่ลงนั้น คือ พฤติกรรมเชิงโทษของเรา และเรากระทำการเชิงโทษเพราะเราขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเรา หรือเราคิดว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้เรามีความสุข
- ขอบเขตระดับกลาง คือ การมุ่งหมายไปยังการหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งสามประเภท ได้แก่ ความไร้สุข ความสุขเชิงสามัญ และรากฐานของทั้งสองสิ่งนี้ ซึ่งก็คือ การเวียนว่ายตายเกิดอันควบคุมไม่ได้ ในการทำเช่นนี้เราจำเป็นต้องกำจัดความสับสนเกี่ยวกับความจริงล้ำลึกสูงสุดออกจากตัวเรา โดยใช้ความเข้าใจเรื่องสุญญตา อันที่จริงแล้วเราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ในอริยสัจสี่ทั้งหมดอยู่ตลอดเวลา การตั้งจิตให้มั่นอยู่ในสภาวะนี้ตลอดเวลานั้นยากมาก เราจึงต้องพัฒนาไปให้ไกลขึ้น
- ขอบเขตระดับสูง คือ การบรรลุสภาวะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพื่อที่เราจะได้สามารถช่วยเหลือผู้อื่นทุกคนด้วยวิธีที่ดีที่สุด ในขณะที่ตั้งจิตอยู่ในความจริงล้ำลึกสูงสุด เราจะเข้าใจความจริงสัมพันธ์อย่างสมบูรณ์ มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่สามารถตั้งจิตอยู่ในความจริงสองประการพร้อมกันตลอดเวลาได้
หากเราพิจารณาประโยคนี้ให้ลึกขึ้น “จากความจริงสองประการ ความจริงสี่ประการ; จากความจริงสี่ประการ ที่พึ่งพิงทั้งสาม” นี่เป็นรากของระดับทั้งสามที่อธิบายไว้ด้านบน และเป็นการฝึกฝนตนที่นำไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ ประโยคนี้บอกว่าเป็นราก และรากนั้นไม่ใช่เมล็ดพันธุ์ รากเป็นสิ่งที่ให้ความมั่นคงและพละกำลังแก่พืช หากเรามีความเชื่อมั่นบนรากฐานของเหตุและผลว่าเป้าหมายทั้งสามนี้เป็นสิ่งที่สามารถบรรลุได้ ว่ามันดำรงอยู่ และเราเองก็สามารถบรรลุมันได้ แน่นอนว่ามันย่อมให้ความมั่นคงที่จะสนับสนุนเราไปตลอดหนทางแห่งจิตวิญญาณจนไปสู่เป้าหมายนั้น
การนำเสนอรูปแบบอื่น ๆ กล่าวว่า รากของระดับทั้งสามนี้คือความสัมพันธ์ที่ดีกับอาจารย์ศาสนา และคุณจะพบส่วนนี้ได้ในตำราลัม-ริมทุกเล่มเลยก็ว่าได้ ความสัมพันธ์ที่ดีเป็นรากของหนทางแห่งจิตวิญญาณทั้งหมดในลักษณะที่ว่า เราได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ และแรงบันดาลใจนี้แหละที่มอบกำลังและแรงให้กับเราได้เดินต่อไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ
อีกครั้ง เราจะพบวิธีการสองแบบสำหรับวิธีการก้าวหน้าบนหนทางแห่งจิตวิญญาณอย่างมั่นคง
- วิธีแบบแรก คือ ให้ใช้พละกำลังและแรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์ของเรากับอาจารย์ศาสนา จากตรงนี้เราใช้เหตุผลในแบบที่ว่า “อาจารย์ของฉันเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนั้นสิ่งที่อาจารย์ของฉันกล่าว เช่นว่า การบรรลุการตรัสรู้ทำได้จริง จึงเป็นเรื่องถูกต้อง ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่อาจารย์จะต้องแต่งเรื่องนี้ขึ้นมา” นี่จึงเป็นการใช้เหตุผลประเภทหนึ่ง แต่ผู้คนส่วนใหญ่ประสบกับตรงนี้ในระดับอารมณ์เสียมากกว่า ซึ่งอาจารย์สร้างแรงบันดาลใจให้เราอย่างตื้นตันมาก จนก่อเกิดเป็นกำลังอย่างเหลือเชื่อในก้าวไปบนหนทางแห่งนี้ ตรงนี้คล้ายกับวิธีแรกจากสองวิธีในการสร้างโพธิจิต ด้วยวิธีดังกล่าวนี้เราสร้างโพธิจิตสัมพัทธ์ขึ้น ซึ่งเราได้รับการกระตุ้นที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และจากนั้นจึงได้รับกระตุ้นในการบรรลุการตรัสรู้โดยอิงจากศรัทธาว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ หลังจากนั้นเราจึงเกิดความเชื่อมั่นด้วยหลักเหตุผลว่าสิ่งนี้บรรลุได้จริง
- อีกแบบหนึ่ง คือ เมื่อเราสะท้อนความคิดเรื่องลักษณะการฝึกปฏิบัติที่เราใช้ในการสร้างโพธิจิตล้ำลึกสูงสุด เราเกิดความเชื่อมั่นในเรื่องสุญญตาตามที่อธิบายไว้ในบทประพันธ์ดังกล่าว ขั้นแรกเราเชื่อว่าสามารถบรรลุเช่นนี้ได้ และจากนั้นเราจึงฝึกฝนตนเองในด้านอารมณ์ให้ฝึกปฏิบัติอย่างมุมานะเพื่อตรัสรู้ เปิดหัวใจให้กว้าง และอื่น ๆ
ทั้งสองแบบเป็นแนวทางการปฏิบัติสู่หนทางแห่งจิตวิญญาณที่ถูกต้องใช้ได้ และทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับขอบเขต หรือความสามารถของเราเอง มีคำอธิบายในตำรากล่าวว่า ผู้ที่มีความสามารถและปัญญาเฉียบแหลมยิ่งย่อมเห็นว่าการใช้การนำเสนอตามหลักเหตุผลนั้นเหมาะสมกับบุคลิกของตนมากกว่า ในขณะที่ผู้ที่ไม่เฉียบแหลมเท่าย่อมปฏิบัติในระดับอารมณ์มากกว่า สำหรับกลุ่มที่สองนี้ สิ่งที่ได้ผลดีที่สุดคือ การใช้แรงบันดาลใจจากอาจารย์และอารมณ์ที่สร้างขึ้นโดยมีความรักและความเห็นอกเห็นใจเป็นรากฐาน
เมื่อมองจากหลาย ๆ ด้านแล้ว ผมคิดว่าการคงสมดุลของทั้งสองแนวทางนี้เป็นการดี และเรายังสามารถเพิ่มแบบที่สามเข้าไปด้วย นั่นคือ ด้านการอุทิศตน บางคนได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิบัติตามหนทางไปสู่การตรัสรู้โดยการเข้าร่วมและแสดงพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ผู้ปฏิบัตินำมาใช้สำหรับยุคมิลเลนเนียล เราไม่ควรปฏิเสธวิธีอื่นในการเข้าสู่หนทางแห่งพระพุทธศาสนาเพียงเพราะว่าเราสะดวกใจใช้แนวทางแบบใดแบบหนึ่งมากกว่า หากเราจะพัฒนาตนเองและศักยภาพของตนเองให้สมบูรณ์ เราจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างแนวทางทั้งสาม
เช่นนี้เป็นการนำเสนอขั้นพื้นฐานเฉพาะของบทร้อยกรองนี้ ซึ่งอยู่ในบทสวดที่สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงประพันธ์ขึ้น อย่างที่อาจารย์ของผมมักกล่าวอยู่เสมอ คุณรีดนมวัวฉันใด คุณก็สามารถรีดความหมายได้มากมายจากบทร้อยกรองสั้น ๆ เหล่านี้ฉันนั้น
คำถามและคำตอบ
การปฏิบัติใช้อริยสัจสี่ในชีวิตจริง
หากเพื่อนของข้าพเจ้าคนหนึ่งเป็นกังวลตลอดเวลา ข้าพเจ้าสามารถบอกให้เขาใจเย็น ๆ และอย่าคิดมากเกินไป นี่เป็นคำเตือนสติที่เราสามารถมอบให้กับทั้งตนเองและผู้อื่นได้ แต่แล้วเวลาที่ข้าพเจ้าทำตัวเห็นแก่ตัวและกำลังรับมือกับผู้อื่นอยู่ มีบทมันตรา หรือคำเตือนสติใด ๆ บ้างไหมที่ข้าพเจ้าสามารถใช้ได้ เพื่อไม่ให้ตนเองลืมพิจารณาว่าลักษณะการแสดงภาพมายาของจิตที่ตั้งตนเองเป็นใหญ่และลักษณะความเป็นจริงอยู่ที่ใด
ตามที่ท่านสงขะปะ ปรมาจารย์ชาวทิเบตผู้ยิ่งใหญ่กล่าวไว้ว่า เว้นเสียแต่เวลาที่เราตั้งจิตเชิงไร้มโนทัศน์อยู่ในสุญญตา กระบวนการทางจิตของเราย่อมแสดงภาพมายาของการดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นไปไม่ได้ มันเกิดขึ้นตลอดเวลา วัตถุประสงค์แห่งการหักล้างนั้นใช้กับทุกช่วงเวลาของประสบการณ์ของเรา ยกเว้นขณะอยู่ในการเจริญสมาธิขั้นลึก
มีสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายอย่างที่สามารถช่วยเราทำลายลักษณะลวงหลอกที่เราเห็นเหล่านี้ได้ ภาพหนึ่งที่มีประโยชน์ คือ การ “เจาะลูปโป่ง” แห่งภาพมายานั้น แต่ต้องทำในลักษณะอทวิภาวะ (ไร้ความเป็นคู่) ซึ่งหมายถึงว่า ไม่มี “ตัวฉัน” ถือเข็มอยู่ตรงนี้และลูกโป่งลูกใหญ่อยู่ตรงนั้น แล้ว “ตัวฉัน” คนนี้ก็เดินไปเจาะลูกโป่ง มันเป็นเพียงแค่ว่าลูกโป่งลูกนั้น ซึ่งหมายถึงการสร้างเรื่องการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ ให้เกินจริง ถูกเจาะ ภาพลักษณ์ลวงหลอกอาจจะเป็นเช่นว่า “คุณนี่มันแย่มากจริง ๆ” หรือ “สถานการณ์ที่ฉันเป็นอยู่นี้มันแย่มากเหลือเกิน” และเราไม่อาจมองเห็นมันภายในบริบทของเหตุและเงื่อนไขทั้งหมดทั้งมวล และทุกคนต่างก็ประสบกับสิ่งที่คล้ายกันทั้งนั้น จากนั้นเราจึงคิดว่า “ฉันผู้น่าสงสาร!” เราเพียงแต่จินตนาการว่าทั้งหมดนี้แตกสลายไป
อีกภาพหนึ่งคือ ภาพของหนังสือที่เปิดอยู่ โดยมีหน้าหนึ่งแสดงถึง “ฉันผู้น่าสงสารต้องทุกข์ทรมานจากสิ่งนี้” และอีกหน้าเป็นสถานการณ์เลวร้ายที่เราไม่อาจรับมือไหว มันเหมือนกับเทพนิยายแย่ ๆ เรื่องหนึ่ง ในใจเราเห็นภาพว่าหนังสือเล่มนี้กำลังปิด และนั่นก็คือตอนจบของเทพนิยายเรื่องนี้ หากจะใช้คำศัพท์เฉพาะอีกก็คือ เรามองว่ามันเป็นการปิดหนังสือแห่งทวิภาวะนั่นเอง!
หากคุณอยากได้บทมันตรา คุณอาจจะพูดว่า “ไร้สาระ” หรือ “เหลวไหล” เพื่อเตือนสติว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าเรานั้นเป็นเพียงสิ่งไร้สาระโดยแท้ ปัญหาหลักคือเราต้องจำให้ได้ เวลาที่เราต้องใช้ตรงนี้มากที่สุดคือ เมื่อเรากำลังประสบกับอารมณ์รบกวนอันแกร่งกล้า ตัวอย่างที่ชาวทิเบตใช้คือ ความรู้สึกเวลาที่คุณโดนกล่าวหาว่าทำอะไรบางอย่างและมีความรู้สึกแรงกล้าว่า “ฉันไม่ได้ทำนะ! คุณหมายความว่ายังไงที่ว่าฉันเป็นคนโกหกและเป็นขโมย!” ความรู้สึกของอัตตาที่แรงกล้าจึงก่อตัวขึ้น
ความแตกต่างระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาธรรมิกศาสนาอื่น ๆ
คุณบอกว่ามีธรรมิกศาสนาอื่น ๆ ด้วย และแต่ละศาสนาก็กล่าวว่ามีปัญหาอยู่ แต่ก็มีการหลุดพ้นจากปัญหาเช่นกัน แน่นอนว่าแต่ละศาสนาย่อมบอกว่าวิธีการของตนนั้นดีที่สุด ดังนั้นแล้ว คุณช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าสิ่งใดเป็นสิ่งเฉพาะของพระพุทธศาสนาจากมุมมองนี้
คุณพูดถูกแล้ว ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ ศาสนาเชน ต่างพูดถึงการบรรลุการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอันควบคุมไม่ได้ และอธิบายว่าสภาวะของการหลุดพ้นนั้นเป็นอย่างไร แต่ละศาสนากล่าวว่า วิธีการบรรลุการหลุดพ้นนั้นเกิดขึ้นจากความเข้าใจเรื่องความเป็นจริง ความเป็นจริงในแบบแต่ละศาสนาอธิบาย ในลักษณะนี้ พระพุทธศาสนาจึงอยู่ภายในบริบทของศาสนาทางอินเดียอย่างสมบูรณ์ สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจสี่ พระพุทธศาสนาสอนว่า:
- ผู้อื่นอาจอธิบายว่าทุกข์คืออะไร แต่พระพุทธเจ้าตรัสถึงทุกข์แท้จริง;
- ผู้อื่นอาจบอกว่าการขาดความตระหนักรู้ประเภทใดประเภทหนึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ แต่พระพุทธเจ้าตรัสถึงประเภทการขาดความตระหนักรู้ที่ลุ่มลึกที่สุด นั่นคือ เหตุที่แท้จริง
- สิ่งที่ธรรมิกศาสนาอื่น ๆ อาจพิจารณาว่าเป็นการดับที่แท้จริงนั้นไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไป หรือไม่ได้เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์
- ความเข้าใจที่ผู้อื่นกล่าวถึงนั้นสามารถพาคุณไปถึงสภาวะหนึ่งได้ แต่ไม่ใช่หนทางแห่งจิตที่แท้จริงที่สามารถนำพาคุณไปสู่การหลุดพ้นได้
เป็นเรื่องปกติที่ผู้อื่นย่อมกล่าวในลักษณะเดียวกันนี้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ฉะนั้นเราพึงสืบเสาะว่าความเป็นจริงคือสิ่งใดกันแน่ อย่างที่เราเห็นในบทประพันธ์ รากฐานทั้งหมดของหนทางแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องจริงสำหรับศาสนาฮินดูและศาสนาเชนเช่นกัน ไม่ใช่แค่พระพุทธศาสนา คือ มุมมองเรื่องความเป็นจริง ตรงนี้ต้องได้รับการทดสอบด้วยการใช้เหตุผล ประสบการณ์ และความเข้าใจ
มีข้อแตกต่างสำคัญระหว่างการปฏิบัติตามหนทางจิตวิญญาณเพื่อให้ตนเองเป็นผู้มีความน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจมากขึ้นในชีวิตนี้ กับเพื่อบรรลุการหลุดพ้น หากเราพูดถึงการตรัสรู้ คุณสามารถสืบเสาะได้จากรากฐานของการใช้เหตุผลและการอภิปรายเพื่อดูว่าคำอธิบายแบบใดถูกต้องใช้ได้ที่สุด อย่างไรก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ที่ฝึกตนบนหนทางจิตวิญญาณไม่ได้มุ่งเป้าไปยังการหลุดพ้นจริง ๆ พวกเขาอาจบอกว่าตนตั้งใจอย่างนั้น แต่พวกเขาไม่รู้เลยว่าตรงนี้หมายความว่าอย่างไรและเพียงแต่พยายามพัฒนาชีวิตตนเองในชาตินี้เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องสมควรเช่นกัน ตรงนี้ไม่มีสิ่งใดผิดเลย
ดังนั้นเมื่อสมเด็จองค์ดาไลลามะทรงได้รับคำถามถามว่าศาสนาใดดีที่สุด ท่านทรงตอบว่า ศาสนาที่ดีที่สุด คือ ศาสนาที่ช่วยให้ตัวคุณเองกลายเป็นคนที่มีความน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น แต่ละคนไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถพูดได้ว่ามีหนทางใดที่ถูกต้องกว่าในการสร้างความเห็นอกเห็นใจ ความน้ำใจ ความอดทน การให้อภัย และต่าง ๆ นานา ทั้งหมดนี้สามารถพัฒนาได้อย่างเท่าเทียมกันด้วยศาสนามากมายที่แตกต่างกัน เช่นนี้จึงเป็นรากฐานแห่งความปรองดองทางศาสนา
เราจะสร้างความก้าวหน้าบนหนทางสายจิตวิญญาณได้อย่างไร
ข้าพเจ้าอยากถามเรื่องการสร้างความก้าวหน้าบนหนทางนี้ ในสหภาพโซเวียต เรามีแผนการ 5 ปี สำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ บางทีคุณอาจพอให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มปฏิบัติพระพุทธศาสนาว่า พวกเขาสามารถทำอย่างไรได้บ้างในช่วงหนึ่งปี สามปี หรือห้าปี เพื่อไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง
วิธีที่แพร่หลายและไว้วางใจได้มากที่สุด อย่างน้อยก็ในนิกายที่ผมฝึกมา คือ การปฏิบัติโดยใช้ลัม-ริม ซึ่งหมายถึงฌานลำดับ วิธีนี้แสดงให้คุณเห็นทีละขั้นตอนถึงสิ่งที่คุณจำเป็นต้องเข้าใจ ซึมซับ และพัฒนาเพื่อความก้าวหน้าบนหนทางแห่งจิตวิญญาณ
วิธีดั้งเดิมในการปฏิบัติตามลัม-ริม คือ คุณได้รับประเด็นหนึ่งมาแล้วก็ฝึกปฏิบัติด้วยประเด็นนั้น โดยไม่รู้ว่าลำดับต่อไปคืออะไร เมื่อคุณเข้าใจส่วนหนึ่งแล้วจึงต่อไปยังส่วนถัดไป ในปัจจุบันหนทางทั้งหมดนี้ได้รับการระบุไว้ในหนังสือต่าง ๆ คุณจึงสามารถอ่านทั้งหมดได้ภายในคราวเดียว แต่คุณยังคงต้องใช้เวลามากมายกับแต่ละประเด็น แม้หลังจากที่คุณได้อ่านทั้งหมดจบแล้ว คุณก็ยังคงต้องกลับไปดูว่าแต่ละประเด็นเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นทั้งหมดอย่างไร
เราพึงระลึกไว้ว่าความก้าวหน้านั้นไม่เคยเป็นไปอย่างราบรื่น แต่มีขึ้นมีลงอยู่เสมอ ดังนั้นหากวันหนึ่งเป็นไปได้ด้วยดีและวันถัดมาไม่ใช่อย่างนั้น ตรงนี้ก็ไม่ได้มีสิ่งใดพิเศษเลย คุณเพียงแต่ดำเนินต่อไป นี่เป็นวลีโปรดของร่างจุติรุ่นเยาว์ของอาจารย์ผม: “มันไม่ได้พิเศษเลย” ไม่มีสิ่งใดพิเศษเกี่ยวกับสิ่งที่คุณประสบเลย มันไปได้ด้วยดีแล้วอย่างไร มันไปได้ไม่ดีแล้วอย่างไร
ดังนั้นการกำหนดแผนการ 5 ปี จึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล เพราะทุกคนต่างก้าวหน้าแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงตรัสไว้ว่าวิธีการที่เราจะรู้ได้ว่าเราก้าวหน้าหรือเปล่าไม่ใช่การดูวันต่อวัน หรือเดือนต่อเดือน แต่จงดูในระยะเวลา 5 ปี เราสามารถเปรียบเทียบวิธีการรับมือกับความยากลำบากของเราเมื่อก่อนกับวิธีที่เรารับมือตอนนี้ได้ เรามีความสงบสุขุมขึ้นหรือไม่ เมื่อนั้นเราจึงจะเห็นความก้าวหน้าของเรา
วิธีแบบอื่นก็มีเช่นกัน อย่างการปฏิบัติงอนโดร (ngondro) ซึ่งเป็นการปฏิบัติเบื้องต้นที่คุณทำการกราบ 100,000 ครั้ง ทำตามหลักการที่พึ่งและอื่น ๆ หลายคนมักเริ่มด้วยวิธีนี้ ผมคิดว่าแนวทางทั้งสองอย่างนี้สะท้อนให้เห็นแนวทางปฏิบัติพระธรรมคำสอนสองแบบด้วยกัน เมื่อคุณเริ่มปฏิบัติงอนโดร มักเริ่มจากรากฐานของแรงบันดาลใจจากอาจารย์ คุณอาจไม่รู้อะไรมาก แต่คุณได้รับแรงบันดาลอย่างเหลือล้นจากอาจารย์ และคุณมั่นใจว่าสิ่งที่อาจารย์อธิบายนั้นจะเป็นประโยชน์ คุณจึงทำการปฏิบัติงอนโดร 100,000 ครั้ง
แนวทางที่ผมฝึกนั้นเป็นแนวทางที่ผมอธิบายจากบทประพันธ์นี้ ซึ่งเป็นแนวทางที่องค์ดาไลลามะมักทรงสอนด้วยตนเอง ขั้นแรกคุณต้องบรรลุความเชื่อมั่นและความเข้าใจในหนทางนี้ก่อน กล่าวคือ นี่เป็นสิ่งเป็นไปไปได้ เป้าหมายของคุณคืออะไร เป็นต้น แล้วจากนั้นคุณจึงปฏิบัติงอนโดร
แน่นอนว่าเราสามารถเลือกทางสายกลางระหว่างทั้งสองแบบนี้ได้ด้วย ในขณะที่เริ่มต้นด้วยงอนโดร คุณก็เริ่มฝึกฝนเพื่อบรรลุความเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ของเป้าหมายนั้นเช่นกัน หรือในขณะที่คุณกำลังศึกษาและฝึกปฏิบัติ คุณก็เริ่มปฏิบัติงอนโดรได้แล้ว ดังนั้นจึงมีวิธีที่แตกต่างกันในการนำทั้งหมดนี้มารวมกัน หากเราเริ่มคิดจริงจังเกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ที่เหล่าอาจารย์ชาวทิเบตสอนพระธรรม ผมว่าอย่างนี้เข้ากับโครงสร้างที่ผมเพิ่มอธิบายไป ทุกอย่างกลับไปที่ท่านนาคารชุนะและวิธีที่แตกต่างกันสองแบบในการสร้างโพธิจิต นั่นคือใช้แบบสัมพัทธ์ก่อนและจากนั้นจึงใช้แบบล้ำลึก หรือใช้แบบล้ำลึกก่อนและจากนั้นจึงใช้แบบสัมพัทธ์ เราต้องตัดสินใจด้วยตนเองว่าแบบใดเข้ากับเราที่สุด
บทสรุป
ลักษณะที่อริยสัจสี่เกี่ยวพันกับหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเรื่องความเป็นจริงในความจริงสองประการ และจากนั้นจึงเกี่ยวกับพระรัตนตรัยนั้นเป็นการวิเคราะห์ขั้นสูงมาก ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่าความจริงทุกประการและรัตนะทั้งสามคืออะไร ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างชัดเจนของปรัชญาและการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาด้วย เราได้ใช้บทประพันธ์สั้น ๆ แต่กินใจความของสมเด็จองค์ดาไลลามะเป็นรากฐานในการพิจารณาความตระหนักรู้เหล่านี้ให้ลึกขึ้น ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งนี้แสดงให้เห็นถึงแบบแผนด้านเหตุและผลที่เพิ่มความเข้าใจให้เรา กอปรกับลักษณะที่ความตระหนักรู้ที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาสนับสนุนกันและกัน ฉะนั้นแล้วจึงเผยให้เห็นถึงหนทางจิตวิญญาณที่พัวพันร้อยเกี่ยวกันอย่างสมบูรณ์