สัจพจน์สี่ประการสำหรับตรวจสอบคำสอนทางพระพุทธศาสนา

ในการทดสอบว่า คำสอนทางพระพุทธศาสนาว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่นั้น เราจำเป็นต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ หากเราต้องการพัฒนาคุณลักษณะที่ดี เราจำเป็นต้องรู้ว่า เราต้องทำอะไรก่อน เมื่อเราพัฒนามันแล้ว มันจะช่วยเราได้อย่างไร ประโยชน์เหล่านี้มีเหตุมีผลหรือไม่ และสอดคล้องกับธรรมชาติพื้นฐานของสิ่งต่าง ๆ หรือไม่ หากคำสอนนั้นผ่านเกณฑ์ทั้งหมดนี้ เราก็มั่นใจได้ถึงการนำไปปฏิบัติจริง

ความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมขึ้นอยู่กับการมีทัศนคติที่เป็นจริง นี่หมายถึง การตรวจสอบหลักธรรมคำสอนในลักษณะที่สอดคล้องกับการมีอยู่จริงของสิ่งต่าง ๆ สำหรับการตรวจสอบดังกล่าว พระพุทธเจ้าได้สอนถึงสัจพจน์สี่ประการ (rigs-pa bzhi)ซึ่งเป็นสมมติฐานพื้นฐานในการคิดทางพุทธศาสนา ขอให้จำไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อย่ายอมรับสิ่งที่อาตมาสอนเพียงเพราะศรัทธาหรือเคารพในตัวอาตมาเท่านั้น แต่จงตรวจสอบหาความจริงด้วยตัวเองราวกับว่ากำลังซื้อทองคำอยู่"

สัจพจน์ทั้งสี่ได้แก่

  • การพึ่งพาอาศัย (ltos-pa’i rigs-pa)
  • การทำหน้าที่ (bya-ba byed-pa’i rigs-pa)
  • การสร้างด้วยเหตุผล (tshad-ma’i rigs-pa)
  • ธรรมชาติของสรรพสิ่ง (chos-nyid-kyi rigs-pa).

มาดูกันว่า ท่านสองขะปะได้อธิบายถึงสัจพจน์ทั้งสี่ว่าอย่างไรใน งานนำเสนอที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติตามเส้นทางตามลำดับ (Lam-rim chen-mo - A Grand Presentation of the Graded Stages of the Path)

สัจพจน์ของการพึ่งพาอาศัย

สัจพจน์แรกคือ สิ่งบางสิ่งต่างขึ้นอยู่กับสิ่งอื่น ๆ เป็นพื้นฐาน นี่คือสัจพจน์ของการพึ่งพาอาศัย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะขึ้นขึ้นอยู่กับสาเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ นี่เป็นสัจพจน์ที่เราทุกคนยอมรับได้ หมายความว่า หากเราต้องการพัฒนาคุณลักษณะที่ดี หรือมีความเข้าใจในบางสิ่งบางอย่าง เราจำเป็นต้องตรวจสอบว่า สิ่งนั้นมันขึ้นอยู่กับอะไร เราต้องพัฒนาอะไรก่อนเพื่อใช้เป็นพื้นฐาน

การบรรลุทางจิตใจแต่ละระดับต้องอาศัยการบรรลุและปัจจัยอื่น ๆ เป็นพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการพัฒนาการรับรู้ที่แยกแยะ หรือความเข้าใจเกี่ยวกับความว่างเปล่าหรือความเป็นจริง เราจำเป็นต้องตรวจสอบและทราบว่า ความเข้าใจนี้ขึ้นอยู่กับอะไร มันต้องอาศัยสมาธิ หากไม่มีสมาธิ เราจะพัฒนาความเข้าใจไม่ได้ แล้วพื้นฐานการมีสมาธินั้นขึ้นอยู่กับอะไร มันขึ้นอยู่กับวินัยในตนเอง หากเราไม่มีวินัยในการแก้ไขความใส่ใจของเราเมื่อมันออกนอกลู่นอกทาง เราก็ไม่สามารถพัฒนาสมาธิได้ ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาการรับรู้ที่แยกแยะเกี่ยวกับความว่างเปล่าแล้ว อย่างน้อยที่สุด เราจำเป็นต้องพยายามสร้างวินัยในตนเองและสมาธิพอสมควรก่อน

การใช้สัจพจน์แรกนี้มีความสำคัญมากในการศึกษาพระธรรม พวกเราหลายคนอยากจะบรรลุสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่เราได้อ่านในพระคัมภีร์ แต่ถ้าเราต้องการที่จะให้ความปรารถนาของเราสมจริง เราจำเป็นต้องตรวจสอบว่า ความสำเร็จที่จะทำอย่างนั้นมันขึ้นอยู่กับอะไร เมื่อเรารู้ว่า เราจำเป็นต้องสร้างอะไรเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น เราก็รู้ว่าจะไปให้ถึงตรงนั้นได้อย่างไร จากนั้น เราจึงสามารถเริ่มจากฐานรากขึ้นไป สิ่งนี้ทำให้การแสวงหาของเราสมจริง

สัจพจน์ของการทำหน้าที่

ประการที่สองคือ สัจพจน์ของการทำหน้าที่ ทุกปรากฏการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากสาเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ ทำหน้าที่เฉพาะของมัน ไฟไม่ใช่น้ำ ไฟทำหน้าที่เผา นี่เป็นอีกหนึ่งข้อสมมติฐานพื้นฐานในพระพุทธศาสนาหรือสัจพจน์ และเป็นสิ่งที่เรายอมรับได้เช่นกัน การประยุกต์ใช้มันนั้นคือ ในการศึกษาและเรียนรู้พระธรรม เราจำเป็นต้องตรวจสอบการทำงานของสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น เราได้รับคำแนะนำ คำสอนเกี่ยวกับสภาวะจิตใจหรืออารมณ์บางอย่างที่เราต้องพัฒนา เช่น ความรักและสมาธิ และสภาวะจิตใจอื่น ๆ ที่เราต้องกำจัดออกไป เช่น ความสับสน หรือความโกรธ นอกจากนี้ เรายังได้รับการสอนถึงวิธีการบางอย่างที่ให้ปฏิบัติตามด้วย เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการต่าง ๆ เราจำเป็นต้องตรวจสอบวิธีการเหล่านั้นว่า มันทำหน้าที่อะไร เนื่องจากบางสิ่งเข้ากันได้และบางสิ่งก็เข้ากันไม่ได้ สภาวะจิตใจบางอย่างจะทำหน้าที่เสริมสร้าง หรือเพิ่มพูนสภาวะอื่น ๆ

ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบและประสบการณ์ของวิธีการทำสมาธิที่เฉพาะเจาะจงในการพัฒนาความรักจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในสิ่งนั้นให้กับเรามากขึ้น เราสามารถตรวจสอบว่า "สิ่งนี้ถูกต้องหรือไม่" แล้วเราก็พยายามที่จะมีประสบการณ์นั้น หน้าที่ของการทำเช่นนี้ ให้ความมั่นใจกับเราเกี่ยวกับวิธีการนั้น อะไรคือหน้าที่ของความมั่นใจว่าวิธีการปฏิบัตินั้นถูกต้องและได้ผล คำตอบคือ มันช่วยเพิ่มความสามารถของเราในการปฏิบัติได้อย่างลึกซึ้ง หากเราขาดความมั่นใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เราก็จะไม่ปฏิบัติมัน ถ้าเราเข้าใจการทำงานในแต่ละขั้นตอน เราจะใส่ใจในแต่ละขั้นตอน ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะไม่ดำเนินการใด ๆ

นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจหน้าที่ของบางสิ่งบางอย่างที่สร้างความเสียหายหรือต่อต้านอีกสิ่งหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ความเชื่อมั่นในวิธีการจะทำลายความลังเลเกี่ยวกับมัน การขาดความมั่นใจในวิธีการ หรือในความสามารถของเราที่จะปฏิบัติตาม มันจะขัดขวางเราไม่ให้ประสบความสำเร็จหรือไปที่ใด ๆ ได้เลย

เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องรู้ว่า แต่ละสิ่งที่เราเรียนรู้ และแต่ละขั้นตอนของการปฏิบัติที่เราทำจะเสริมสร้างความแข็งแรงของสิ่งใด และจะทำลาย สิ่งใด จากนั้น เราก็จะมีทัศนคติที่เป็นจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ตัวอย่างเช่น เหตุใดเราจึงต้องการพัฒนาสภาวะจิตใจหรือทัศนคติเชิงบวกโดยเฉพาะ เช่น ความรัก เหตุผลที่ถูกต้องก็เป็นเพราะมันทำหน้าที่ให้เกิดความสงบทางจิตใจ และช่วยให้เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ เหตุใดเราจึงต้องการกำจัดตัวเองจากสภาวะจิตใจที่เป็นลบ เช่น ความโกรธ ก็เพราะสิ่งที่มันทำคือ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตัวเรา การรู้จักเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อเราต้องการหยุดรูปแบบพฤติกรรมการทำลายที่เรายึดติดอยู่ เช่น การสูบบุหรี่ ถ้าเราเข้าใจอย่างชัดเจนว่าหน้าที่ของการกระทำคืออะไร เช่น การสูบบุหรี่ทำอะไรกับปอดของเรา เราจะเข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องหยุดทำสิ่งนั้น นั่นคือวิธีการที่เราใช้สัจพจน์ของการทำหน้าที่

สัจพจน์ของการสร้างด้วยเหตุผล

ประการที่สามคือ สัจพจน์ของการสร้างด้วยเหตุผล ซึ่งหมายความว่า ประเด็นได้ถูกสร้างขึ้นหรือพิสูจน์แล้วถ้าวิธีการที่รู้จักที่ถูกต้องไม่ขัดแย้งกับประเด็นนั้น อันดับแรก เราต้องตรวจสอบทุกสิ่งที่เราเรียนรู้ว่าเป็นธรรมะนั้นก่อน เพื่อพิจารณาว่า คำสอนในพระคัมภีร์ขัดแย้งกับสิ่งนั้นหรือไม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า คำสอนเป็นคำสอนธรรมะ คำตอบคือ มันจะสอดคล้องกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ เนื่องจากพระพุทธเจ้าสอนสิ่งต่าง ๆ ที่แตกต่างกันให้กับลูกศิษย์ที่แตกต่างกันของพระองค์ ซึ่งถ้ามองเผิน ๆ ก็จะดูขัดแย้งกัน เราจะรู้เจตนาที่ลึกซึ้งที่สุดของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ท่านธรรมกีรติ (Dharmakirti) ปรมาจารย์ชาวอินเดียอธิบายว่า หากคำสอนปรากฏเป็นประเด็นหลักที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในคำสอนของพระพุทธเจ้า เราก็จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าหมายความเช่นนั้นจริง ๆ นี่เป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับประเด็นทางจริยธรรม

วิธีที่สองในการรู้ว่าบางสิ่งบางอย่างถูกต้องคือ โดยเหตุผลและการสรุปลงความเห็น มีเหตุผลสอดคล้องกันหรือเหตุผลขัดแย้งกับสิ่งนั้นหรือไม่ มันสมเหตุสมผลตามสามัญสำนึกหรือเป็นเรื่องแปลกอย่างสิ้นเชิง จากนั้น วิธีการรู้ที่ถูกต้องอย่างที่สามคือ การรับรู้ที่ตรงไปตรงมา เมื่อเราทำสมาธิจริง ๆ ประสบการณ์ของเราขัดแย้งหรือยืนยันสิ่งนั้นหรือไม่

ให้เราดูตัวอย่างวิธีการใช้สัจพจน์นี้ เราอาจได้รับคำสอนว่า การใช้คู่ต่อสู้เพื่อขจัดข้อบกพร่องหรือปัญหาบางอย่าง เช่น “ความรักเอาชนะความโกรธ” อันดับแรก ให้พิจารณาว่าสิ่งนี้สอดคล้องกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนหรือไม่ ใช่ สอดคล้อง มันไม่ได้ขัดแย้งกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน

มันถูกต้องตามหลักเหตุผลหรือไม่ คำตอบคือ ถูกต้อง ความรักคือการปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข ทำไมคนอื่นที่ทำร้ายฉันและที่ฉันโกรธทำแบบนี้ คนนี้ทำสิ่งเลวร้ายเหล่านี้เพราะเขาไม่มีความสุข เขารู้สึกไม่ดีทั้งทางอารมณ์และจิตใจ ถ้าฉันมีความรักให้กับคนนี้  ฉันจะปรารถนาให้เขามีความสุข  ฉันขอให้คนนั้นไม่เสียใจและไม่ทุกข์ใจ  ทัศนคติเช่นนี้ป้องกันไม่ให้เราโกรธคนนั้นใช่หรือไม่ มันเป็นตรรกะที่สมบูรณ์แบบ ถ้าคนนี้ก่อความเสียหายมากมาย ถ้าฉันต้องการให้เขาหยุดทำแบบนั้น ฉันต้องเพิ่มความรักของฉันให้มากขึ้นอีก  ฉันจำเป็นต้องปรารถนาให้คนนั้นมีความสุข เพราะถ้าเขามีความสุข คนนั้นก็จะไม่ทำสิ่งที่เป็นอันตรายนี้ การโกรธคนนั้นจะไม่ทำให้เขาหยุดทำร้ายฉัน คำสอนนี้มีเหตุผล

สุดท้ายนี้ เราตรวจสอบการรับรู้อย่างตรงไปตรงมา หรือด้วยประสบการณ์ของการทำสมาธิ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราลองทำดูว่า มันได้ผลหรือไม่ ถ้าฉันทำสมาธิให้เกิดความรัก มันจะช่วยลดความโกรธของฉันได้ไหม คำตอบคือได้ นั่นเป็นการทดสอบครั้งที่สามว่าบางสิ่งบางอย่างเป็นการสอนที่สมเหตุสมผลหรือไม่ นี่คือวิธีการใช้สัจพจน์ของการสร้างด้วยเหตุผล

สัจพจน์บนธรรมชาติของสรรพสิ่ง

ประการสุดท้ายคือ สัจพจน์บนธรรมชาติของสรรพสิ่ง นี่คือสัจพจน์ที่ว่าข้อเท็จจริงบางอย่างเป็นเพียงธรรมชาติของสรรพสิ่ง  เช่น ไฟร้อนและน้ำเปียก ทำไมไฟถึงร้อนและทำไมน้ำถึงเปียก นั่นมันก็แค่เป็นในสิ่งที่มันเป็น ในธรรมะ เราต้องตรวจสอบว่าประเด็นใดเป็นความจริงเพียงเพราะนั่นเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่ง เช่น มนุษย์ทุกคนต้องการมีความสุข และไม่มีใครอยากมีความทุกข์ ทำไมเป็นอย่างนั้น ก็นั่นเป็นธรรมชาติของมัน อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ความทุกข์เป็นผลมาจากพฤติกรรมที่ทำลาย และความสุขเป็นผลมาจากพฤติกรรมที่สร้างสรรค์ แล้วทำไมเป็นแบบนั้น ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะนั่นเป็นเพียงวิธีการทำงานของสรรพสิ่งในจักรวาลเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าสร้างมันมาอย่างนั้น มันเป็นอย่างที่มันเป็น หากเราตรวจสอบและพบว่าบางสิ่งมันก็เป็นแค่อย่างที่มันเป็นแล้ว เราจำเป็นต้องยอมรับสิ่งเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงของชีวิต การทำให้ตัวเราบ้าไปกับสิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นการเสียเวลาเปล่า

ประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับธรรมชาติของสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมมากที่สุดคือ ความจริงที่ว่าสังสารวัฏมีขึ้นและลง สิ่งนี้ไม่ได้หมายถึงการเกิดใหม่ที่ดีและที่ร้ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุก ๆ ขณะในชีวิตประจำวันของเราด้วย อารมณ์ของเราและสิ่งที่เรารู้สึกอยากทำมีขึ้นมีลง ถ้าเรายอมรับว่าสิ่งต่าง ๆ เป็นอย่างนั้น เราก็อย่าไปหงุดหงิดกับมัน คุณจะคาดหวังอะไรจากสังสารวัฏ แน่นอนว่าการทำสมาธิบางวันจะไปได้ดีและบางวันก็ไม่ดี บางวันฉันรู้สึกอยากปฏิบัติ แต่วันอื่น ๆ ฉันไม่อยากปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องใหญ่! สิ่งนั้นมันก็เพียงแค่เป็นอย่างที่มันเป็นอยู่เท่านั้นเอง ปล่อยมันไปและอย่าไปอารมณ์เสียกับมัน นั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก

หากเราต้องการเข้าถึงธรรมะด้วยวิธีการที่ปฏิบัติได้จริงแล้ว ทั้งสี่ประเด็นเหล่านี้ที่พระพุทธเจ้าสอนมีประโยชน์มาก เพื่อยืนยันความเข้าใจของเราต่อสิ่งเหล่านั้น รวมทั้งการนำไปประยุกต์ใช้กับคำสอนที่เราเรียนรู้ ขอให้เราดูตัวอย่าง การปล่อยวางจากร่างกายของเรา

  1. พัฒนาการของการปล่อยวางนี้ขึ้นอยู่กับอะไร มันขึ้นอยู่กับความเข้าใจในความไม่เที่ยง การเกิดใหม่ ตัวตนดำรงอยู่อย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกาย จิตใจ และตนเอง เป็นต้น
  2. อะไรคือหน้าที่ในการพัฒนาการปล่อยวางจากร่างกายของเรา มันทำหน้าที่ช่วยให้เราไม่อารมณ์เสียและโกรธเมื่อเราเจ็บป่วย แก่ตัวลง หรือกลายเป็นคนชรา
  3. สิ่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยเหตุผลหรือไม่ คำตอบคือใช่ พระพุทธเจ้าสอนว่า การปล่อยวางจากร่างกายของเราจะช่วยขจัดสาเหตุหนึ่งของความทุกข์ นั่นคือการยึดติดที่ขึ้นอยู่กับระบุด้วยบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ยั่งยืน มันมีเหตุผลหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ มันมีเหตุผล เพราะร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงและแก่ชราลงเรื่อย ๆ เราสัมผัสถึงการทำหน้าที่ของมันหรือไม่ ใช่ เราสัมผัสถึงการทำหน้าที่ของมันในขณะที่เราพัฒนาการปล่อยวาง เราจะเห็นว่า เราประสบกับความทุกข์และปัญหาน้อยลง
  4. แล้วธรรมชาติของสรรพสิ่งเป็นอย่างไร ถ้าฉันทำสมาธิเกี่ยวกับการปล่อยวางจากร่างกายของฉัน ความสุขของฉันจะเพิ่มขึ้นในแต่ละวันหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ นี่คือสังสารวัฏ มันมีขึ้นมีลง ในที่สุด จากมุมมองระยะยาว ฉันจะมีความสุขมากขึ้นและชีวิตของฉันจะดีขึ้น แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นเป็นแนวเส้นตรง นั่นไม่ใช่ธรรมชาติของสรรพสิ่ง

บทสรุป

เราจะเห็นได้ว่า ด้วยการนำสัจพจน์ทั้งสี่มาใช้ในการตรวจสอบคำสอน เช่น การพัฒนาการปล่อยวางจากร่างกายของเรา เราจะพัฒนาทัศนคติที่เป็นจริงเกี่ยวกับวิธีการเข้าถึงสิ่งนั้นได้ ดังนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าเชื่อสิ่งที่ฉันสอนเพียงเพราะศรัทธาหรือเคารพในตัวอาตมาเท่านั้น แต่จงตรวจสอบหาความจริงด้วยตัวเองราวกับว่ากำลังซื้อทองคำอยู่”  ท่านหมายความว่า ให้ตรวจสอบโดยใช้สัจพจน์ทั้งสี่ประการ

Top