พระพุทธประวัติของพระศากยมุนีพุทธเจ้า

03:17
พระพุทธเจ้าอาจได้รับการมองว่าเป็นมุษย์ธรรมดาที่บรรลุการปลดปล่อย โดยความวิริยอุตสาหะอันยิ่งใหญ่ของพระองค์เอง หรือมองว่าเป็นผู้ที่รู้แจ้งแล้วและแสดงเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้นเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว เพื่อสาธิตเส้นทางสู่การตรัสรู้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนิกายต่าง ๆ ในบทความนี้เราจะมาดูพระพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าและดูว่าเราได้รับแรงบันดาลใจใดบ้างจากเส้นทางธรรมะของท่าน

จากข้อมูลดั้งเดิมสมัยโบราณ พระศากยมุนีพุทธเจ้า หรือพระโคตมพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ตั้งแต่ปี 566 ถึง 485 ก่อนสากลศักราช ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย  แหล่งข้อมูลทางพระพุทธศาสนาแต่ละแห่งมีข้อมูลเกี่ยวกับพระพุทธประวัติที่แตกต่างกันออกไป โดยค่อย ๆ พบรายละเอียดมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป  การยืนยันความถูกต้องของรายละเอียดเหล่านี้เป็นเรื่องยาก เนื่องจากเพิ่งมีงานประพันธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อสามศตวรรษให้หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า  กระนั้นแล้วเพียงเพราะรายละเอียดบางประการจะโผล่ขึ้นมาภายหลัง ก็ไม่ได้ถือเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะลดทอนความถูกต้องของข้อมูลเหล่านั้น เพราะผู้คนอาจถ่ายทอดข้อมูลผ่านทางการบอกเล่าก็เป็นได้

โดยทั่วไปแล้ว ชีวประวัติของปรมาจารย์ทางศาสนาพุทธและพระพุทธเจ้าได้รับการรวบรวมไว้เพื่อจุดประสงค์ทางการสอนศาสนา ไม่ใช่เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์  นอกจากนั้นชีวประวัติเหล่านี้ยังได้รับการจัดในรูปแบบที่เอื้อต่อการสอนและสร้างแรงบันดาลให้กับพุทธศาสนิกชนให้ปฏิบัติตามเส้นทางธรรมไปสู่การปลดปล่อยและการตรัสรู้  เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจพระพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในบริบทนี้และวิเคราะห์บทเรียน ที่เราสามารถรับได้จากการศึกษาชีวิตของพระพุทธองค์ 

แหล่งข้อมูลพระพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แหล่งข้อมูลที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับพระพุทธประวัติของพระองค์รวบรวมอยู่ในพระคัมภีร์ของนิกายเถรวาท พระ

พระสูตรภาษาบาลีจากหมวดมัชฌิมนิกาย และตำราพระวินัยปิฎกจากสำนักหินยานหลายแห่ง  อย่างไรก็ตาม ตำราและคัมภีร์เหล่านี้เล่าถึงพระพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าเพียงบางส่วนเท่านั้น

พระพุทธประวัติฉบับขยายครั้งแรกปรากฏในบทกลอนพระพุทศาสนาตอนปลายปีศตวรรษที่ 2 ก่อนสากลศักราช เช่น มหาวัสตุ ของสำนักมหาสังฆิกะของนิกายมหายาน  บทนี้อยู่ด้านนอกของพระไตรปิฏก และเพิ่มรายละเอียดพระพุทธประวัติบางอย่าง เช่น ตอนที่พระพุทธเจ้าประสูติในฐานะเจ้าชายแห่งครอบครัวราชวงศ์กษัตริย์   นอกจากนี้ยังมีบทกลอนปรากฏในตำราของสำนักสรวาสติวาทของนิกายหินยานใน ลลิตวิสตระสูตร  ในภายต่อมานิกายมหายานได้ปรับปรุงบทกลอนโดยหยิบยืมจากฉบับก่อนหน้านี้และขยายความในบางส่วน เช่น อธิบายว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในยุคก่อนหน้านี้มาแล้ว และการมาปรากฏตัวเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็เพื่อมาสาธิตวิธีบรรลุการตรัสรู้และสั่งสอนผู้อื่น

ในที่สุดชีวประวัติเหล่านี้ก็ได้รับการรวบรวมไว้ในชุดคัมภีร์พระไตรปิฎก  ส่วนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ พุทธจริต รจนาโดยพระอัศวโฆษ ในปีศตวรรษที่ 1 ของสากลศักราช   มีฉบับอื่นปรากฏขึ้นภายหลังในตันตระ เช่นในวรรณกรรมของจักรสัมวระ  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในขณะที่ปรากฏกายเป็นพระศากยมุนีพุทธเจ้าและสอนพระสูตรเกี่ยวกับ ปรัชญาปารมิตาสูตร พระองค์ทรงปรากฏเป็นพระวัชรดารา และสอนตันตระอยู่ด้วย

ข้อมูลจากแต่ละที่ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และได้รับแรงบันดาลใจ   ตอนนี้เรามาดูเรื่องราวพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเบื้องต้นจากข้อมูลฉบับต่าง ๆ กันดีกว่า 

การประสูติ พระชนม์ชีพตอนต้น และการสละ

จากการบันทึกที่เก่าแก่ที่สุด พระศากยมุนีประสูติในครอบครัวนักรบเชื้อพระวงศ์ที่ร่ำรวยในแคว้นศากยะ มีนครหลวงคือกรุงกบิลพัสดุ์  ซึ่งอยู่บริเวณรอยต่อของประเทศอินเดียและเนปาลในปัจจุบัน  ไม่มีการกล่าวถึงว่าพระศากยมุนีประสูติเป็นเจ้าชายในราชวงศ์ และการกล่าวถึงการประสูติในครอบครัวกษัตริย์ ทรงเป็นเจ้าชายและมีพระนามว่าเจ้าชายสิทธัตถะปรากฏในภายหลัง  พระบิดามีพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ แต่ชื่อของพระมารดานามว่าพระนางมายาเทวีเพิ่งปรากฏในเอกสารฉบับต่อ ๆ มา ซึ่งกล่าวถึงนิมิตรปาฏิหารย์เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในพระสุบินของพระนางมายาเทวี  พระนางทรงพระสุบินเห็นพญาช้างเผือกที่มีงาสามคู่เข้าด้านข้างของพระนาง และอสิตดาบสก็ให้คำทำนายไว้ว่า พระโอรสจะทรงเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ หรือไม่ก็เป็นมุนีที่ยิ่งใหญ่  หลังจากนั้นในเอกสารฉบับนี้ก็กล่าวบรรยายถึงการประสูติอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าจากด้านข้างของพระมารดาที่สวนลุมภินี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์  หลังจากที่พระพุทธเจ้าแรกประสูตร พระองค์ทรงเดินเจ็ดก้าว พร้อมพูดว่า “เรามาถึงแล้ว” ตามด้วยการสวรรคตของพระมารดาหลังประสูติกาล

ในช่วงวัยหนุ่มพระองค์ทรงใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์  พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราและมีพระราชกุมารองค์หนึ่งนามว่า ราหุล  ตอนพระองค์ทรงมีพระชันษาได้ 29 ปี ท่านสละซึ่งชีวิตครอบครัวและฐานันดรศักดิ์ใด ๆ และใช้ชีวิตอย่างสมณะขอทาน

สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับการสละซึ่งทุกอย่างของพระองค์คือบริบททางสังคมและยุคสมัยนั้น  ตอนที่พระองค์ทรงเลือกเส้นทางเป็นสมณะ ท่านไม่ได้ทอดทิ้งพระมเหสีและพระโอรสให้อยู่อย่างลำบากและยากจน  ทั้งสองพระองค์จะได้รับการดูแลเป็นอย่างดีโดยครอบครัวอันร่ำรวยของพระพุทธองค์อย่างแน่นอน  นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังอยู่ในวรรณะนักรบ ซึ่งหมายความว่าวันหนึ่งท่านจะต้องจากครอบครัวไปปฏิบัติหน้าที่ของนักรบอยู่แล้ว

การต่อสู้กับศัตรูภายนอกนั้นเราสู้ได้ไม่หยุดหย่อน แต่การต่อสู้ที่แท้จริงคือการต่อสู้กับศัตรูภายในของเราเอง และนั่นคือการต่อสู้ที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกเผชิญหน้า  การที่พระองค์ทรงสละครอบครัวเพื่อจุดประสงค์นี้แสดงให้เห็นว่า หน้าที่ของผู้แสวงธรรมคือการอุทิศทั้งชีวิตให้กับเส้นทางนี้  สำหรับชีวิตในโลกปัจจุบัน หากเราต้องการจากครอบครัวไปเลือกที่จะบวช เราจะต้องดูให้ดีว่าครอบครัวของเราจะได้รับการดูแลอย่างดี ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงสามีภรรยาและลูกของเรา แต่รวมถึงบุพการีที่แก่เท่าด้วย   ในฐานะชาวพุทธ ไม่ว่าเราจะจากครอบครัวไปหรือไม่  เรามีหน้าที่ในการลดทอนความทุกข์ โดยการเอาชนะการเสพติดความรื่นรมย์อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติได้

พระพุทธเจ้าทรงต้องการพ้นทุกข์ โดยการเข้าใจธรรมชาติของการเกิดแก่เจ็บตาย การเวียนว่ายตายเกิด ความเศร้าหมอง และความสับสน  ในเรื่องราวตอนต่อ ๆ มา พระพุทธเจ้าทรงเสด็จออกนอกวังพร้อมสารถีนามว่า ฉันนะ  เมื่อเข้าไปในเมืองพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นผู้คนล้มป่วย ผู้คนชราภาพ และคนเสียชีวิต รวมถึงนักพรตองค์หนึ่ง โดยมีฉันนะอธิบายถึงผู้คนกลุ่มต่าง ๆ ให้ฟัง  เมื่อเห็นดังนี้พระองค์ทรงสามารถระบุความทุกข์ที่คนทุกคนต้องเผชิญและทรงคิดหาทางให้หลุดพ้นจากความทุกข์นั้น

เรื่องราวตอนที่พระพุทธเจ้าทรงได้รับความช่วยเหลือในเส้นทางธรรมะจากสารถีนั้นตรงกับเรื่องราวในคัมภีร์ ภควัทคีตา ตอนที่พระอรชุนรับฟังพระกฤษณะ ซึ่งเป็นสารถีขับรถศึกของพระองค์ เกี่ยวกับหน้าที่ของนักรบที่ต้องสู้กับพระประยูรญาติของท่าน   กรณีของทั้งพุทธและฮินดูแสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งของการออกไปสำรวจชีวิตข้างนอกความสะดวกสบายเพื่อค้นหาความจริง  รถสามารถสื่อถึงยานพาหนะของจิตใจที่นำไปสู่การปลดปล่อย โดยคำพูดของสารถีคือพลังขับเคลื่อนให้ไปสู่การค้นหาความเป็นจริง

การศึกษาและการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ในฐานะเป็นสมณะพรหมจรรย์ พระองค์ทรงเรียนรู้วิธีการต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงให้จิตใจและอรูปฌานจากอาจารย์สองท่าน  พระองค์สามารถเข้าถึงระดับสูงสุดของฌานได้ ซึ่งทำให้ไม่รู้สึกถึงทุกข์และสุขทั่วไปทางโลกแล้ว แต่พระองค์ก็ยังทรงไม่พอใจเพียงเท่านั้น  พระองค์เห็นว่าภาวะเหล่านี้เป็นการช่วยปลดปล่อยชั่วคราวจากความรู้สึกอันแปดเปื้อนเท่านั้น  ไม่ได้ช่วยให้พ้นความทุกข์ที่ลึกซึ้งและเป็นสากลตามที่พระองค์ทรงพยายามหาวิธีแก้   ท่านจึงบำเพ็ญทุกรกิริยาพร้อมกับสหายอีกห้าคน (คือปัญจวัคคีย์ทั้งห้า) แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์จากสังสารวัฎเช่นกัน  เรื่องราวต่อมากล่าวถึงพระพุทธเจ้าจึงละจากการอดอาหารเป็นเวลาหกปีที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เมื่อนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส

สำหรับพวกเราแล้ว ตัวอย่างของพระพุทธเจ้าแสดงให้เห็นว่าเราไม่ควรพึงพอใจกับการสงบนิ่ง หรือสามารถนั่งสมาธิ “ขั้นสูง” ได้  ยิ่งเรื่องสารสังเคราะห์อย่างยาเสพติด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย  การเข้าฌานลึกหรือการทรมานลงโทษตัวเองด้วยการปฏิบัติสุดขั้วต่าง ๆ นั้นไม่ใช่ทางออก  เราต้องเดินทางไปสู่การปลดปล่อยและการตรัสรู้และเราไม่ควรหยุดอยู่กับวิธีการทางศาสนาที่ไม่ทำให้เราไปถึงจุดหมายเหล่านั้นได้

หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงละการบำเพ็ญทุกรกิริยา พระองค์ทรงไปนั่งสมาธิคนเดียวในป่าเพื่อเอาชนะความกลัว  รากฐานของความกลัวคือการหา “อัตตา” และความคิดที่ยึดถือในตนเอง ซึ่งแข็งแกร่งกว่าการเสาะแสวงหาอย่างบีบบังคับในความรื่นรมย์และความบันเทิงอีก  ดังนั้นในหนังสือ วงล้อของอาวุธมีคม ปรมาจารย์ชาวอินเดียในศตวรรษที่ 10 ของสากลศักราช นามว่าท่านธรรมรักษิตะจึงใช้ภาพของนกยูงเดินไปมาในป่าเต็มไปด้วยพืชมีพิษเพื่อสื่อถึงการที่พระโพธิสัตว์ใช้และเปลี่ยนอารมณ์อันเป็นพิษทั้งหลายของตัณหา โทสะ และความไร้เดียงสามาช่วยให้พวกเขาเอาชนะทัศนคติยึดถือตัวเองและหา “อัตตา” ซึ่งเป็นไปไม่ได้ให้เจอ

หลังจากการฝึกสมาธิมาเป็นเวลานาน พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ตอนมีพระชนม์มายุ 35 ปี  ข้อมูลหลังจากนั้นอธิบายรายละเอียดการตรัสรู้ของพระองค์ที่ใต้ต้นโพธิ์ ซึ่งอยู่ในพุทธคยาในปัจจุบัน หลังจากเอาชนะการผจญมารริษยาที่ต้องการขัดขวางไม่ให้พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ โดยแปลงกายเป็นรูปร่างที่น่ากลัวและยุแหย่ให้ท่านหลุดออกจากสมาธิ

จากข้อมูลเก่าแก่ที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสรู้อย่างสมบูรณ์โดยมีความรู้สามประเภท นั่นคือ รู้เรื่องชาติที่แล้วของพระองค์ทั้งหมด รู้เรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดของคนอื่น ๆ ทั้งหมด และรู้อริยสัจ 4    ข้อมูลภายหลังระบุว่าเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ท่านจึงบรรลุสัพพัญญู หรือเป็นผู้รู้แจ้งทุกประการนั่นเอง

การสอนและก่อตั้งพระภิกษุสงฆ์

หลังการตรัสรู้พระพุทธเจ้าทรงลังเลที่จะสอนผู้อื่นถึงวิธีการบรรลุเช่นเดียวกัน เพราะท่านเกรงว่าจะไม่มีผู้ใดเข้าใจ  อย่างไรก็ตามพระเทพเจ้าอินเดีย พระพรหม ผู้สร้างจักรวาล และพระอินทร์ กษัตริย์แห่งทวยเทพเสด็จมาขอร้องให้พระพุทธเจ้าสอน  ในการขอนี้พระพรหมทรงตรัสกับพระพุทธเจ้าว่า หากพระองค์ไม่ทรงสอน โลกนี้จะต้องมีความทุกข์อย่างไม่รู้จบและอย่างน้อยจะมีคนจำนวนหนึ่งที่สามารถเข้าใจคำสอนของท่าน

รายละเอียดในส่วนนี้อาจเป็นเชิงเย้ยหยัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นอยู่เหนือวิธีการทางความเชื่อแบบดั้งเดิมของอินเดียในตอนนั้น  หากเทพเจ้าสูงสุดยังยอมรับว่าโลกนี้ต้องการคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะพวกเขาเองขาดวิธีที่จะดับทุกข์อย่างถาวรแล้วล่ะก็ ปุถุชนธรรมดา ๆ ย่อมต้องการหลักคำสอนของท่านเป็นอย่างยิ่ง  นอกจากนี้ในภาพพุทธประวัติ  พระพรหมแสดงถึงศักดิ์ศรีเย่อหยิ่ง   ความเชื่อผิด ๆ ของพระองค์ที่คิดว่าตนเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นตัวอย่างชั้นดีเยี่ยมที่แสดงถึงความสับสนในเรื่อง “อัตตา” ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และความสามารถในการควบคุมทุกอย่างในชีวิต   ความเชื่อในลักษณะนี้ย่อมนำพาความแห้วและความทุกข์มาให้เราอย่างเลี่ยงไม่ได้  คำสอนของพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการมีตัวตนของเราเท่านั้นที่เสนอแนวทางการดับทุกข์และต้นเหตุของความทุกข์ได้

พระพุทธเจ้าทรงตอบรับคำขอของพระพรหมและพระอินทร์ แล้วจึงเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันในสารนาถและทรงสอนอริยสัจ 4 ให้กับปัญจวัคคีย์ทั้งห้ารูป  ในภาพพระพุทธประวัติ กวางสื่อถึงความอ่อนโยน  ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงวิธีการที่มีความอ่อนโยน หลีกเลี่ยงวิธีสุดโต่งแบบสุขนิยม หรือการบำเพ็ญตบะ

หลังจากนั้นไม่นานก็มีชายหนุ่มจำนวนมากจากเมืองรอบ ๆ พาราณาสีเข้าร่วมเป็นสาวกของพระพุทธองค์ โดยปฏิบัติตามหลักการครองพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัด   บุพการีของพวกเขาได้เข้าร่วมเป็นอุบาสกอุบาสิกาและเริ่มสนับสนุนพวกเขาด้วยการใส่บาตร  ทันทีที่มีสมาชิกในกลุ่มผู้ได้รับการฝึกฝนและมีคุณสมบัติเพรียบพร้อมแล้ว สมาชิกผู้นั้นจะได้รับการส่งไปสอนผู้อื่น  ในลักษณะนี้กลุ่มสาวกพระพุทธเจ้าก็ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ และได้สร้างคณะสงฆ์ในหลากหลายพื้นที่

พระพุทธเจ้าทรงก่อตั้งคณะสงฆ์เหล่านี้ขึ้นตามแนวทางปฏิบัติจริง  พระสงฆ์สามารถอนุญาตให้ผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมคณะเข้ามาได้ แต่พวกเขาต้องปฏิบัติตามสิกขาบทอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้ขัดอำนาจทางโลก  ดังนั้นในระยะเวลานี้พระพุทธเจ้าจึงไม่อนุญาตให้อาชญากร ผู้ที่ทำงานรับใช้ราชวงศ์อย่างเช่นกองทัพ ทาสที่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว และผู้ที่มีโรคติดต่ออย่างโรคเรื้อนเข้าร่วมได้   นอกจากนี้ยังไม่ได้อนุญาตให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าร่วมด้วย  พระพุทธเจ้ามีพระประสงค์ที่จะเลี่ยงปัญหาและทำให้สาธารณะมีความเคารพและเชื่อมั่นต่อคณะสงฆ์และหลักธรรม  การกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าในฐานะผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เราต้องให้ความเคารพประเพณีท้องถิ่นและประพฤติตนให้ควรแก่การเคารพนับถือ แล้วผู้คนก็จะมองพระพุทธศาสนาในภาพลักษณ์ที่ดีและให้ความเคารพเช่นกัน

หลังจากนั้นไม่นานพระพุทธเจ้าทรงเสด็จกลับแคว้นมคธ อาณาจักรอันเป็นที่ตั้งของพุทธคยา  พระองค์ทรงได้รับนิมนต์ไปยังกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้น โดยพระเจ้าพิมพิสาร ผู้ทรงอุปถัมป์ศาสนาพุทธและเป็นลูกศิษย์  พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเข้าร่วมเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าและกลายเป็นหนึ่งในสาวกที่ใกล้ชิดกับพระองค์มากที่สุด

ภายในหนึ่งปีหลังจากการตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ บ้านเกิดของท่าน  ที่ราหุล พระโอรสของพระองค์ขอติดตามไปด้วย   ณ ตอนนั้นเจ้าชายนันทะรูปงาม ซึ่งเป็นพระภาดาต่างมารดาของพระพุทธเจ้าได้ออกผนวชไปแล้ว  พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดาของพระพุทธเจ้าทรงเศร้าเสียใจมากที่ไม่เหลือทายาทไว้สืบตระกูล   พระองค์จึงทรงขอร้องพระพุทธเจ้าว่า ในอนาคต บุตรต้องได้รับคำยินยอมจากพ่อแม่ให้ออกบวชก่อน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเห็นด้วยอย่างเต็มที่  ประเด็นของจุดนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของพระพุทธเจ้าต่อพระบิดา แต่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการไม่สร้างความมุ่งร้ายต่อพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในครอบครัวของเราเอง

เรื่องราวภายหลังเกี่ยวกับการพบปะระหว่างพระพุทธเจ้ากับครอบครัวของพระองค์ โดยพระองค์ใช้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เพื่อเสด็จไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือที่บางแหล่งข้อมูลบอกว่าเป็นสววรค์ชั้นธูษิฏา เพื่อไปแสดงธรรมสอนพระมารดาที่ไปเกิดใหม่ที่นั่น ข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการซาบซึ้งและตอบแทนบุญคุณมารดา

การขยายตัวของคณะสงฆ์

ในช่วงแรกคณะสาวกพระพุทธเจ้ามีขนาดค่อนข้างเล็กและมีพระสงฆ์ไม่เกิน 20 รูป  แต่ละคณะจะปกครองตัวเองและปฏิบัติตามกฏที่ตั้งไว้สำหรับการออกบิณฑบาต  การกระทำและการตัดสินใจของแต่ละคณะจะกระทำโดยการลงคะแนนเสียงฉันทามติภายในคณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ลงรอยกันและเพื่อไม่ให้ผู้ใดเป็นใหญ่เพียงผู้เดียว  พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พระสงฆ์ทุกรูปยึดถือพระธรรมเป็นใหญ่สุด  แม้แต่พระวินัยก็สามารถแก้ไขได้ หากมีความจำเป็น แต่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะต้องขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของคณะ

พระเจ้าพิมพิสารทรงเสนอแนะให้พระพุทธเจ้านำเอาธรรมเนียมของกลุ่มสมณะอื่น ๆ มาใช้ อย่างศาสนาเชนที่จัดการประชุมสี่ครั้งต่อเดือน  ตามธรรมเนียมนี้สมาชิกของกลุ่มจะมารวมตัวกันเพื่ออภิปรายหลักคำสอนตามข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์   พระพุทธเจ้าทรงเห็นชอบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเปิดยอมรับข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามธรรมเนียมของสมัยนั้น และสุดท้ายพระองค์ทรงสร้างโครงสร้างหลาย ๆ ด้านของคณะสงฆ์และหลักคำสอนของท่านตามแบบศาสนาเชนด้วย   พระมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชน มีชีวิตอยู่ประมาณครึ่งศตวรรษก่อนพระพุทธเจ้า

นอกจากนี้พระสารีบุตรยังขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทวินัยสงฆ์ขึ้นมาด้วย  พระพุทธเจ้าทรงตัดสินใจว่าจะเป็นการดีที่สุด หากรอจนปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏขึ้นมา แล้วจึงบัญญัติเพื่อไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำสองอีก  นโยบายนี้ได้รับการปฏิบัติตามในส่วนของการกระทำที่เป็นการทำลายโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นโทษต่อบุคคลที่กระทำ และในส่วนของการกระทำเป็นกลางเชิงจริยธรรมที่ได้รับการห้ามสำหรับเฉพาะบุคคลในสถานการณ์บางอย่างและด้วยเหตุผลบางประการ  ดังนั้นพระวินัยจึงเป็นสิกขาบทที่บัญญัติขึ้นเพื่อการปฏิบัติเฉพาะกิจ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและมิให้เกิดความขัดใจ

จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงตั้งการสวดปาติโมกข์สี่ครั้งต่อเดือน ซึ่งเหล่าพระสงฆ์จะมารวมตัวกันและมีการแสดงอาบัติของพระภิกษุ  การละเมิดสิกขาบทร้ายแรงจะส่งผลให้พระรูปนั้นถูกขับไล่ออกจากคณะ แต่ถ้าไม่ร้ายแรงก็จะโดนคาดโทษไว้  ในภายหลังการสวดปาติโมกข์นี้จัดขึ้นเดือนละสองครั้ง

จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติช่วงจำพรรษาในหน้าฝนเป็นเวลาสามเดือน  ในช่วงระยะเวลานี้พระสงฆ์จะอยู่ในสถานที่แห่งเดียวและจะไม่เดินทางไปค้างแรมที่อื่น  จุดประสงค์ของการจำพรรษาคือ การป้องกันไม่ให้พระสงฆ์ไปสร้างความเสียหายต่อพืชผลของชาวบ้านในขณะเดินธุดงค์ผ่าน  สิ่งนี้นำไปสู่การจัดตั้งวัดถาวร ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ได้ผล  เราจะเห็นได้ว่าการบัญญัติเช่นนี้เกิดขึ้นเพื่อเลี่ยงอันตรายต่อชุมชนชาวบ้านและทำให้พวกเขามีความเคารพนับถือในคณะสงฆ์ด้วย

ตั้งแต่การจำพรรษาครั้งที่สองเป็นต้นไป พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลาทั้งหมด 25 ฤดูฝนในป่าเชตวัน ด้านนอกเมืองสาวัตถี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล   อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างวัดให้พระพุทธเจ้าและสาวกของพระองค์ที่นี่  และพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงอุปถัมป์พระสงฆ์ต่อไป   มีเรื่องราวมากมายในพระพุทธประวัติที่เกิดขึ้นที่วัดเชตวันแห่งนี้  เรื่องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดน่าจะเป็นการที่พระพุทธเจ้าทรงชนะผู้นำสำนักปฏิบัติหลักที่ไม่ใช่พุทธทั้ง 6 แห่ง ณ ตอนนั้น ซึ่งกำลังแข่งประชันพลังอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์กันอยู่

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่มีผู้ใดสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์แบบพระพุทธเจ้าได้แล้ว  เราควรสังเกตว่าแทนที่จะใช้ตรรกะ พระองค์ทรงเลือกใช้พลังนี้ปราบฝ่ายตรงข้ามเมื่อจิตใจของพวกเขานั้นปิดกั้นเหตุผลทั้งหมด  ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะโน้มน้าวให้พวกเขาเริ่มเปิดใจต่อความเข้าใจของเรานั้นคือ การสาธิตระดับความเข้าใจของเราผ่านทางการกระทำและการประพฤติตน  ในภาษาอังกฤษก็มีคำเรียกการกระทำแบบนี้เช่นกัน นั่นคือ “การกระทำสำคัญกว่าคำพูด” (Actions speak louder than words)

การก่อตั้งคณะภิกษุณีในศาสนาพุทธ

ในช่วงภายหลังในเส้นทางการสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงก่อตั้งคณะภิกษุณีในเมืองไวสาลี ตามคำขอของพระมหาปชาบดี ผู้เป็นพระมาตุจฉาของพระพุทธเจ้า   ตอนแรกพระองค์ทรงลังเล แต่ทรงตัดสินใจว่าการตั้งคณะภิกษูณีนี้จะเป็นไปได้ หากบัญญัติสิกขาบทพระวินัยเพิ่มเติมสำหรับภิกษุณี   การกระทำเช่นนี้มิได้หมายความว่าพระพุทธเจ้าเห็นว่าผู้หญิงมีระเบียบวินัยน้อยกว่าผู้ชาย จึงต้องมีสิกขาบทเพื่อควบคุมมากขึ้นแต่อย่างใด  หากแต่พระองค์ทรงกังวลว่าการจัดตั้งกลุ่มของผู้หญิงจะทำให้ชื่อเสียงของพระพุทธศาสนามีมลทินและทำให้หลักคำสอนของพระองค์ต้องดับลงก่อนกาลอันควร  เหนือสิ่งอื่นใดแล้วพระพุทธเจ้าทรงต้องการหลีกเลี่ยงการดูหมิ่นจากชุมชนภายนอก  ดังนั้นคณะภิกษุณีจึงต้องปฏิบัติตนให้อยู่เหนือข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ผิดจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วพระพุทธเจ้าทรงลังเลที่จะบัญญัติสิกขาบทใด ๆ และยอมให้ยกเลิกสิกขาบทที่มีความสำคัญน้อยได้ หากพบว่าไม่มีความจำเป็น   นโยบายดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงกระบวนการของความจริงสองประการ นั่นคือ ความจริงโดยปรมัตถ์ และพระองค์ยังคงเคารพความจริงที่ถือกำหนดโดยชาวโลก ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีท้องถิ่น  ถึงแม้ว่าตามความจริงโดยปรมัตถ์ การบวชของภิกษุณีจะไม่มีปัญหาใด ๆ เลย  แต่เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้คนดูถูกคำสอนของพระพุทธศาสนา จึงต้องมีการบัญญัติสิกขาบทพระวินัยเพิ่มเติมสำหรับภิกษุณี   ความจริงโดยปรมัตถ์ไม่ยึดติดกับสิ่งที่สังคมพูดหรือคิด ซึ่งแตกต่างจากความจริงที่ถือกำหนดโดยชาวโลก  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ชุมชนพระพุทธศาสนาต้องปฏิบัติตนให้เป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสสำหรับสังคม  ดังนั้นในยุคสังคมสมัยใหม่ หากมีการแสดงอคติใด ๆ ต่อภิกษุณี ผู้หญิง หรือชนกลุ่มน้อยใด ๆ ตามประเพณีของพระพุทธศาสนา พวกเราชาวพุทธจึงควรแก้ไขสิ่งเหล่านั้นตามที่สอดคล้องกับครรลองของสังคมในขณะนั้น

โดยสรุปแล้วความอดทนอดกลั้นและความความเห็นอกเห็นใจถือเป็นจุดสำคัญของคำสอนของพระพุทธเจ้ามาตลอด  ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าทรงสนับสนุนสาวกใหม่ที่เคยนับถือศาสนาอื่นมาก่อนให้สนับสนุนศาสนาดังกล่าวต่อไป  ภายในคณะสงฆ์พระองค์ทรงสอนให้ทุกคนดูแลกันและกัน หากมีพระรูปใดอาพาธ เพราะถือว่าอยู่ในคณะสงฆ์เดียวกัน  การช่วยเหลือเกื้อกูลกันนี้ถือเป็นกฏสำคัญสำหรับสังคมพุทธศาสนิกชนเช่นกัน

วิธีการสอนแบบบรรยายของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงสอนผู้อื่นผ่านทางการใช้คำพูดและตัวอย่างชีวิตของพระองค์เอง   สำหรับการสอนทางการพูดนั้น พระองค์ทรงมีวิธีสองประการ โดยขึ้นอยู่กับว่าพระองค์สอนผู้เดี่ยวหรือสอนเป็นกลุ่ม  สำหรับการสอนเป็นกลุ่ม พระพุทธเจ้าจะสอนแบบธรรมเทศนา โดยเน้นแต่ละประเด็นด้วยใช้คำที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจและจดจำได้ดีขึ้น  สำหรับการสอนรายบุคคล ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากการฉันที่บ้านของผู้ที่นิมนต์ท่านและสาวกไป ท่านทรงใช้อีกวิธีหนึ่ง   พระองค์ไม่เคยแย้ง หรือท้าทายมุมมองของผู้ฟัง แต่จะใช้มุมมองนี้ตั้งถามคำถามต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ฟังเกิดความกระจ่างในความคิดของตนเอง  ด้วยวิธีนี้พระพุทธเจ้าทรงทำให้ผู้ฟังได้พัฒนามุมมองของตนและค่อย ๆ เข้าใจความจริงได้ลึกขึ้น  ยกตัวอย่างเช่นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสให้บุคคลจากวรรณะพราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าใจว่า ความสูงส่งกว่าของมนุษย์ไม่ได้มาจากชนชั้นวรรณะที่เราเกิด แต่มาจากการสร้างคุณสมบัติที่ดีของเขาต่างหาก

อีกตัวอย่างหนึ่งคือตอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมารดาที่นำทารกที่เสียชีวิตมาหาพระองค์  พร้อมขอร้องให้ท่านชุบชีวิตทารกน้อย  พระพุทธเจ้าตรัสให้นางนำเมล็ดมัสตาร์ดจากบ้านที่ไม่เคยถูกความตายไปเยือนมา แล้วพระองค์จะดูว่าทำอะไรได้บ้าง  หญิงผู้นี้ไปตามบ้านหลังแล้วหลังเล่า แต่ทุกหลังก็เคยประสบกับความตายมาแล้วทั้งนั้น  นางจึงค่อย ๆ ตระหนักได้ว่าวันหนึ่งคนเราก็ต้องตายเหมือนกัน  นางจึงสามารถนำร่างของทารกน้อยไปเผาด้วยจิตที่สงบขึ้นได้

วิธีการสอนของพระพุทธเจ้าแสดงให้เราเห็นว่าการช่วยเหลือผู้คนไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการเผชิญหน้ากันเสมอ  วิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการช่วยให้พวกเขาคิดได้เอง  อย่างไรก็ตามสำหรับการสอนเป็นกลุ่มนั้น เราควรใช้วิธีการอธิบายอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา

แผนการทำลายพระพุทธเจ้าและสร้างความแตกแยก

เจ็ดปีก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระเทวทัตผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องกับพระพุทธองค์วางแผนชิงตำแหน่งศาสดาของท่าน  ในทำนองเดียวกันพระเจ้าอชาตศัตรูก็วางแผนชิงบัลลังก์จากพระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นพระบิดาและผู้ปกครองแคว้นมคธ  พระเทวทัตและพระเจ้าอชาตศัตรูจึงร่วมกันวางแผน  พระเจ้าอชาตศัตรูพยายามฆ่าพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งนำไปสู่พระเจ้าพิมพิสารกลับสละราชบัลลังก์ให้ในภายหลัง  เมื่อเห็นความสำเร็จของพระเจ้าอชาตศัตรู พระเทวทัตจึงขอให้ท่านทรงฆ่าพระพุทธเจ้า  แต่ความพยายามทั้งหมดก็ล้มเหลว

จากนั้นพระเทวทัตจึงพยายามหลอกล่อพระสงฆ์ให้ออกห่างจากพระพุทธเจ้า โดยอ้างว่าตนนั้น “ศักดิ์สิทธิ์” กว่าพระพุทธองค์และบัญญัติพระวินัยที่เข้มงวดยิ่งขึ้น  ข้อมูลจากคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์ในยุคศตวรรษที่ 4 ของสากลศักราช ระบุว่าข้อเสนอใหม่ของพระเทวทัตคือ

  • สวมใส่จีวรที่ปะชุนจากผ้าขี้ริ้ว
  • สวมใส่จีวรสามชิ้นเท่านั้น
  • จะต้องออกบิณฑบาตและจะยินดีรับนิมนต์ไปฉันในเรือนไม่ได้ 
  • ห้ามมิให้ข้ามบ้านหลังใดในขณะออกบิณฑบาต
  • ฉันอาหารที่ได้รับในคราวเดียว
  • ฉันจากบาตรของตนเท่านั้น
  • ต้องปฏิเสธอาหารประเภทอื่นทั้งหมด
  • ดำรงชีพอยู่แต่ในป่าเท่านั้น
  • ดำรงชีพอยู่ใต้ร่มไม้
  • ดำรงชีพอยู่ในพื้นที่โล่ง จะอาศัยในเขตแดนบ้านไม่ได้ 
  • ค้างในสุสานเป็นเวลาส่วนมาก
  • พึงพอใจกับที่ใดก็ตามที่พบ ในขณะเสด็จธุดงค์ไปตามที่ต่าง ๆ
  • นอนในท่านั่ง ห้ามมิให้นอนในท่านอนยาว

พระพุทธเจ้าตรัสว่าหากภิกษุรูปใดประสงค์จะปฏิบัติตามกฏเพิ่มเติมเหล่านี้นั่นก็ย่อมทำได้ แต่ไม่สามารถบังคับให้ภิกษุทุกรูปปฏิบัติตามได้  มีภิกษุจำนวนหนึ่งเลือกปฏิบัติตามพระเทวทัต จึงออกจากนิกายของพระพุทธเจ้าไปตั้งนิกายใหม่ของตนเอง

ในสำนักเถรวาท กฏเพิ่มเติมในพระวินัยที่พระเทวทัตบัญญัตินั้นเรียกว่า “ธุดงค์วัตร 13 ข้อ”  พระที่ธุดงค์ในป่า ซึ่งตอนนี้ยังพบอยู่ในประเทศไทยนั้นน่าจะนำหลักปฏิบัติมาจากส่วนนี้  พระมหากัสสปะเถระเป็นพระผู้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดและเป็นที่รู้จักมากที่สุด  ในปัจจุบันนักบวชและพราหมณ์ศาสนาฮินดูที่อยู่ตามป่าก็ถือกฏในลักษณะนี้เช่นกัน  หลักปฏิบัติของพวกเขามีความคล้ายคลึงกับนักบวชภิกขาจารในสมัยพระพุทธองค์

นิกายมหายานมีธุดงค์วัตร 12 ข้อที่คล้ายกัน โดยละข้อที่ว่า “ห้ามมิให้ข้ามบ้านหลังใดในขณะออกบิณฑบาต” และเพิ่มการ “สวมใส่จีวรที่ถูกทิ้งไว้ในถังขยะ” และรวม “การออกบิณฑบาต” และ “ฉันจากบาตรของตนเท่านั้น” เป็นข้อเดียวกัน  กฏส่วนใหญ่ได้รับการปฏิบัติตามโดยกลุ่มนักปฏิบัติตันตระขั้นสูงเรียกว่า มหาสิทธา ซึ่งพบทั้งในพระพุทธศาสนานิกายมหายานและศาสนาฮินดู

การแยกออกจากนิกายพระพุทธศาสนาหนึ่ง แล้วไปสร้างสำนักของตนเอง หรือหากเป็นสมัยปัจจุบันอาจเป็นการสร้างศูนย์ธรรมมะแยกต่างหากนั้นไม่ถือเป็นปัญหา  การทำเช่นนี้ไม่ถือเป็นการ “สร้างความแตกแยกภายในหมู่สงฆ์” ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าข้อของอนันตริยกรรม (กรรมหนักที่สุด)  พระเทวทัตได้สร้างความแตกแยก เพราะกลุ่มที่แยกตัวออกมานั้นมีเจตนาร้ายต่อสำนักของพระพุทธเจ้าและวิจารณ์สำนักของพระพุทธองค์อย่างรุนแรง   ข้อมูลบางตำราเผยว่าความมุ้งร้ายของการยุให้แตกแยกกันเช่นนี้จะมีอายุไปหลายศตวรรษเลยทีเดียว

เรื่องราวความแตกแยกนี้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีความอดทนอดกลั้นเป็นอย่างยิ่งและไม่ได้เป็นผู้ที่ยึดติดกับหลักเดิมเลยแม้แต่น้อย  หากสาวกของพระองค์ต้องการปฏิบัติตามพระวินัยที่เคร่งครัดขึ้นจากที่บัญญัติไว้ ก็ย่อมทำได้  และหากพวกเขาไม่ประสงค์จะทำเช่นนั้นก็ไม่เป็นไร   ไม่มีผู้ใดถูกบังคับให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  หากภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดต้องการลาสิกขาก็ย่อมทำได้เช่นกัน  อย่างไรก็ตามสิ่งที่ถือเป็นการทำลายล้างอย่างมากคือการสร้างความแตกแยกภายในกลุ่มศาสนาพุทธ โดยเฉพาะภายในคณะสงฆ์ โดยทำให้กลุ่มย่อยเหล่านั้นมีความประสงค์ร้ายและพยายามทำลายอีกกลุ่มหนึ่ง  แม้แต่การเข้าร่วมกระบวนการชิงชังเหล่านี้ในภายหลังก็ถือเป็นภัยเช่นกัน  หากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งคิดกระทำสิ่งใดในเชิงทำลายและเป็นโทษ ความเห็นอกเห็นใจสอนให้เราตักเตือนผู้คนเกี่ยวกับภัยอันตรายของการเข้าร่วมกับกลุ่มนั้น แต่เจตนาของเราไม่ควรยุ่งมีความโกรธเกลียด หรือมุ่งแค้นใด ๆ 

ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าได้บรรลุการปลดปล่อยแล้ว และพระองค์ก็ได้พ้นความตายโดยควบคุมไม่ได้  อย่างไรก็ตามเมื่อพระพุทธองค์มีพระชันษาได้ 81 ปี พระองค์ทรงตัดสินใจว่าจะสอนสาวกเรื่องความไม่เที่ยงและเสด็จปรินิพพาน  ก่อนที่พระองค์จะทรงเสด็จปรินิพพาน พระอานนท์ได้ขอให้พระพุทธองค์ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อและสอนต่อไป แต่พระอานนท์ไม่ได้มองนัยยะสำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัส  จุดนี้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงสอนเฉพาะเมื่อมีคนขอให้ท่านสอนเท่านั้น  หากไม่มีใครขอหรือสนใจ ท่านก็จะเสด็จไปที่อื่นที่ท่านสามารถสร้างประโยชน์ได้มากกว่า  การคงอยู่ของอาจารย์และหลักคำสอนจึงขึ้นอยู่กับนักเรียน

ที่บ้านของนายจุณฑะในเมืองกุสินารา  พระพุทธเจ้าทรงประชวรอย่างรุนแรงหลังจากสเวยอาหารที่นายจุณฑะนำมาถวายให้พระองค์และสาวก   ก่อนที่พระองค์จะเสด็จดับขันธ์ ท่านตรัสกับเหล่าสาวกของท่านว่า หากมีข้อสงสัยหรือคำถามใด ๆ ให้ยึดในหลักพระธรรมของท่านและพระวินัย ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นครูตั้งแต่นี้ไป  พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าผู้ปฏิบัติจะต้องค้นหาคำตอบจากคำสอนของท่านสำหรับตนเอง เพราะจะไม่มีผู้ใดที่สามารถให้คำตอบทุกประการได้แล้ว  จากนั้นท่านจึง เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

นายจุณฑะสิ้นหวังมาก เพราะคิดว่าตนเป็นผู้วางยาพระพุทธเจ้า แต่พระอานนท์ปลอบเขาและบอกว่าเขาได้สะสมบุญ ไว้มากจากการถวายอาหารมื้อสุดท้ายให้พระพุทธเจ้าก่อนท่านเสด็จปรินิพพาน

จากนั้นจึงมีพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ แล้วนำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในสถูปเจดีย์เป็นอนุสรณ์สถาน โดยเฉพาะในที่ที่กลายเป็นสถานที่แสวงบุญหลักของชาวพุทธทั้งสี่ที่ ได้แก่

  • ลุมภินี - สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
  • พุทธคยา - สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • สารนาถ - สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นครั้งแรก
  • กุสินารา - สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้า

บทสรุป

พระพุทธศาสนาแต่ละนิกายระบุข้อมูลพระพุทธประวัติที่แตกต่างกันไป  ความแตกต่างนี้แสดงให้เห็นถึงวิธีที่นิกายเหล่านั้นเข้าใจพระพุทธเจ้าและสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากตัวอย่างของพระพุทธองค์

  • ฉบับหินยาน - กล่าวถึงเฉพาะพระพุทธประวัติ โดยแสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีความวิริยอุตสาหะเป็นอย่างมากจนบรรลุการตรัสรู้  สอนให้เรารู้ว่าแม้แต่คนธรรมดาอย่างเราก็สามารถนำความวิริยอุตสาหะนี้ไปเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตเช่นกัน
  • ฉบับมหายานโดยรวม - พระพุทธเจ้าเคยตรัสรู้มาแล้วหลายกัลป์ก่อน โดยได้ประจักษ์ชีวิตมีการกระทำ 12 ประการแห่งการตรัสรู้  สอนให้เราเห็นถึงการตรัสรู้ประกอบด้วยความอุตสาหะเพื่อเพื่อประโยชน์ของทุกคน
  • ฉบับอนุตตรโยคะตันตระ - พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระศากยมุนีสอนปรัชญาปารมิตาสูตร ในขณะที่ทรงเป็นพระวัชรธรสอนตันตระด้วย  แสดงให้เห็นว่าหลักตันตระอิงอยู่บนคำสอนนิกายมัธยมกะเกี่ยวกับสุญญตาอย่างสมบูรณ์

ดังนั้นเราจึงสามารถเรียนรู้ข้อคิดอันเป็นประโยชน์มากมายจากพระพุทธประวัติฉบับต่าง ๆ และได้รับแรงบันดาลใจในหลายระดับต่าง ๆ

Top