พระพุทธเจ้าในสายเถรวาท มหายาน และตันตระเหมือนกันหรือไม่

รูปแบบ หรือการนำเสนอต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของพระพุทธเจ้าไม่ควรจะถูกนำมามองเพียงแค่ในแง่ของข้อเท็จจริงภายในบริบททางประวัติศาสตร์ที่เคร่งครัด หรือในลักษณะที่ขัดแย้งกัน แต่เราจะต้องเข้าใจว่า การนำเสนอแต่ละชิ้นได้ถูกเขียนเพื่ออ่านภายในบริบทหนึ่ง ๆ และแต่ละชิ้นนั้นถูกต้องและมีเหตุผล หากเราดูว่าบริบทที่แตกต่างกันเหล่านี้ให้คำสอนที่เฉพาะเจาะจงแก่เราอย่างไรบ้าง เราไม่เพียงแต่จะได้รับการเห็นคุณค่าอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยทั่วไป แต่เราจะได้เรียนรู้วิธีประยุกต์ใช้คำสอนต่าง ๆ จากการนำเสนอที่แตกต่างกันเหล่านี้ในชีวิตของเราด้วย ถ้าเราปฏิบัติตามขั้นตอนของชีวิตของพระพุทธเจ้าโดยใช้คำสอนในลักษณะนี้ เราก็จะสามารถตระหนักถึงความจริงเหมือนที่พระพุทธเจ้าได้ทำและบรรลุวัตถุประสงค์ของการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเห็นอกเห็นใจได้

บทนำ

หากเราต้องการทราบว่าพระศากยมุนี (Shakyamuni) ผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนาคือใคร เราจะพบว่าเรื่องราวชีวิตของพระพุทธเจ้ามีอยู่หลายเวอร์ชัน ในกรณีนี้ เราอาจจะถามว่า เรื่องทั้งหมดเหล่านี้กำลังพูดถึงคนคนเดียวกันหรือไม่ นี่ไม่ใช่คำถามที่จะตอบได้ง่าย ๆ

เวอร์ชันหนึ่งของชีวิตของพระพุทธเจ้าปรากฎออกมาจากพระไตรปิฎกภาษาบาลี  ซึ่งเป็นพระคัมภีร์ของสายเถรวาท ซึ่งไม่ได้บรรจุเรื่องราวชีวิตทั้งหมดของพระพุทธเจ้าไว้ในที่เดียว แต่เราสามารถปะติดปะต่อเข้าด้วยกันจากแต่ละชิ้นและแต่ละส่วนจากในเนื้อหาของบทต่าง ๆ ได้ ต่อมาภายหลังได้มีการเพิ่มรายละเอียดมากมายให้กับโครงกระดูกที่เปลือยเปล่าเข้าไปในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา

ศาสนาพุทธสายมหายาน ซึ่งขยายความเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพระพุทธเจ้าอย่างมาก เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งของชีวิตของพระพุทธเจ้าที่แตกต่างจากของสายเถรวาท ในเวอร์ชันของสายเถรวาทนั้น พระพุทธเจ้าเป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีการยอมรับโดยทั่วไปว่ามีชีวิตอยู่ตั้งแต่ 566 ถึง 485 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นผู้ที่ได้ตรัสรู้ในช่วงชีวิตในชาตินี้ของท่าน และสิ้นสุดความต่อเนื่องของท่านด้วยความตาย เวอร์ชันของสายมหายานอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวตามที่นำเสนอในพระไตรปิฎกภาษาบาลี และอธิบายถึงวิธีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้มาหลายช่วงชีวิตก่อนหน้านี้ และได้ลงมายังโลกในรูปของพระศากยมุนี (Shakyamuni) บนโลกนี้ ท่านทรงกระทำการเป็นผู้ตรัสรู้ถึงสิบสองครั้งเพื่อเป็นตัวอย่างที่จะแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่า มันสามารถทำได้อย่างไร และเมื่อถึงแก่ความตาย ความต่อเนื่องของท่านยังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้ท่านได้แสดงให้เห็นในภพอื่น ๆ อีกมากมาย ท่านสอนและโปรดให้แก่หมู่มวลสรรพสัตว์

อีกเวอร์ชันหนึ่งของพระพุทธเจ้าคือ เวอร์ชันที่เราพบในสายตันตระ ในเวอร์ชันนี้ พระพุทธเจ้าปรากฏในรูปแบบต่าง ๆ พร้อมกัน รูปแบบเหล่านี้ซึ่งเรียกว่า "เทพแห่งการทำสมาธิ" มีหลายสี หลายแขน หลายหน้า และหลายขา ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงถึงแง่มุมต่าง ๆ ของการตระหนักรู้ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าปรากฏในรูปแบบที่แตกต่างกันเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันก็สอนในรูปที่เป็นมนุษย์ เช่น ที่เขาคิชกูฎ (Vulture’s Peak) ในอินเดีย ที่ท่านสอนพระสูตรด้วย

ชีวิตของพระพุทธเจ้าภายในบริบทเฉพาะต่าง ๆ

เวอร์ชันต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงเวอร์ชันย่อย ๆ ดูเหมือนจะสับสน ดังนั้น จริง ๆ แล้ว พระพุทธเจ้าคือใคร เพื่อให้เราเข้าใจถึงเวอร์ชันเหล่านี้ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจหลักธรรมพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาเสียก่อนว่า ชีวิตของพระพุทธเจ้าในแต่ละเวอร์ชันที่สอนในพระคัมภีร์ต่าง ๆ ตามแง่มุมเฉพาะของพระพุทธศาสนานั้นอยู่ภายในบริบทเฉพาะ ประเภทของพระพุทธเจ้าที่อธิบายไว้ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีที่สอนภายในบริบทของคำสอนของสายเถรวาท ดังนั้น มันจึงไม่สมเหตุสมผลเลยที่พระพุทธเจ้าองค์เดียวกันนั้น สอนคำสอนมหายานและคำสอนตันตระทั่วไป

ในตำราของมหายาน ประเภทของพระพุทธเจ้าที่อธิบายไว้ไม่ใช่ "พระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์" (ผู้ที่ตรัสรู้ในช่วงชีวิตเดียว และความต่อเนื่องของท่านสิ้นสุดลงเมื่อถึงแก่ความตาย) นี่ยังเป็นความจริงในการอ้างอิงถึงประเภทของพระพุทธเจ้าที่อธิบายไว้ในคำสอนของลัทธิตันตระด้วย

โดยสรุปคือ เมื่อพูดถึงชีวิตของพระพุทธเจ้า หรือหัวข้ออื่น ๆ หลักธรรมพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาที่ควรคำนึงถึงก็คือ สิ่งที่อธิบายหรือกำหนดไว้ในคำสอนต่าง ๆ จะต้องเข้าใจในบริบทที่เฉพาะเจาะจง อีกวิธีหนึ่งในการพิจารณาเนื้อหาเดียวกันในบริบทที่แตกต่างกันอาจเป็นการถามคำถามบางอย่างเช่น การเรียนรู้เนื้อหานี้นำไปใช้อะไรได้บ้างในชีวิตประจำวันของฉัน เนื้อหานี้มีประโยชน์อะไรต่อเส้นทางพระพุทธศาสนา

จากการมองไปที่ชีวิตของพระพุทธศากยมุนีในบริบทที่แตกต่างกัน หวังว่าจะหลีกเลี่ยงคำถามที่เป็นปัญหาต่อไปนี้ได้นั่นคือ พระพุทธเจ้าสอนพระสูตรมหายานจริงหรือ ท่านสอนสายตันตระจริงหรือ ในสมัยพุทธกาล เนื่องจากคำสอนถูกถ่ายทอดเพียงปากเปล่า และไม่มีการจดบันทึกไว้ จึงมีการถกเถียงกันมากมายในหมู่ชาวพุทธว่า พระพุทธเจ้าสอนคำสอนสายมหายานและคำสอนสายตันตระหรือไม่ มีการนำเสนอการถกเถียงหนึ่งในตำราของท่านศานติเทวะปรมาจารย์ชาวอินเดียที่ยิ่งใหญ่เรื่อง “การดำเนินการในพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์” ซึ่งท่านกล่าวไว้ว่า “เหตุผลใด ๆ ที่พวกท่านฝ่ายหินยาน (เถรวาท ฯลฯ) ให้ไว้เพื่อตัดสิทธิ์พระสูตรมหายานของเรา ฉันก็สามารถที่จะใช้เหตุผลเดียวกันนั้นในการที่จะตัดสิทธิ์พระสูตรของท่านได้เช่นกัน” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทั้งสองสายหินยานและมหายานกล่าวว่า คำสอนของพวกท่านถูกถ่ายทอดต่อกันไปตามขนบธรรมเนียมโดยเล่าปากเปล่า ดังนั้น หากฝ่ายเถรวาทกล่าวกับฝ่ายมหายานว่า “คำสอนของท่านไม่ใช่ของแท้เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน แต่มันมีขึ้นมาในภายหลัง” ฝ่ายมหายานก็สามารถตอบได้ว่า “สิ่งเดียวกันนี้ย่อมเป็นความจริงกับคำสอนของท่านได้เช่นกัน คำสอนของท่านยังถ่ายทอดผ่านโดยการบอกเล่าปากเปล่าและถูกเขียนลงในภายหลัง ดังนั้น หากคำสอนของเราไม่เป็นของจริง ฉะนั้นแล้วของท่านก็ไม่ใช่ของจริงเช่นกัน”

ข้อโต้แย้งอีกประการหนึ่งที่นำเสนอก่อนหน้านี้ในบทความนี้คือ มีแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่แตกต่างกันทั้งในบริบทของเถรวาทและมหายาน พระพุทธเจ้าตามแบบของเถรวาทสอนตามพระคัมภีร์เถรวาทและแบบมหายานก็สอนตามพระคัมภีร์มหายาน จากบริบทเหล่านี้ภายในทั้งสามลัทธิ: เถรวาทในฐานะตัวแทนของหินยาน พระสูตรมหายาน และมหายานตันตระ เราก็สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตโดยทั่วไปของพระพุทธเจ้าได้

สมัยพุทธกาล

ก่อนอื่น เราต้องถามว่าพระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่เมื่อใด ท่านอาศัยอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งในสังคมหนึ่ง นั่นคือภายในบริบทที่ถูกกำหนดไว้ สังคมนี้มีความเชื่อพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งพระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงไว้ ภายในระบบความเชื่อนี้ แนวคิดพื้นฐานที่พบในวิธีคิดของชาวอินเดียทั้งหมดแสดงให้ปรากฎอยู่ในเวลานั้น และได้รับการพัฒนามาตลอดประวัติศาสตร์ พระพุทธเจ้าได้อธิบายสาระสำคัญเหล่านี้ เช่น การเกิดใหม่ ซึ่งถูกกำหนดตามกรรม (การกระทำส่วนบุคคล) และวิธีการที่จะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากวงจรการเกิดใหม่นี้ ระบบของอินเดียทั้งหมดมักจะกล่าวว่า ความรู้หรือความเข้าใจในความเป็นจริงเป็นวิธีการที่จะช่วยให้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเกิดใหม่ได้ พระพุทธเจ้าไม่พอใจกับคำตอบของปรัชญาและศาสนาต่าง ๆ ในเวลานั้น ท่านได้พิจารณาไตร่ตรอง ทำสมาธิ และฝึกปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุความตระหนักรู้ความจริงของท่าน

อินเดียในสมัยพุทธกาล ได้มีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงต่อระบบเผด็จการ มีอาณาจักรหลายรูปแบบที่พ่อค้าร่ำรวยขึ้นเรื่อย ๆ มีการแย่งชิงความมั่งคั่งของกษัตริย์ ในการตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้น กษัตริย์จึงมีความเป็นเผด็จการมากขึ้น ในบางพื้นที่ของอินเดีย สาธารณรัฐเล็ก ๆ เริ่มสร้างระบบความคิดที่ไม่เป็นลำดับชั้นมากขึ้นโดยอิงจากประชากรทั่วไป พระพุทธเจ้า ซึ่งประสูติใน [หรือใกล้เคียง] หนึ่งในสาธารณรัฐเหล่านี้ ได้รับอิทธิพลจากระบบนี้ และจัดตั้งองค์กรสงฆ์ของท่านขึ้นมา ซึ่งจะต้องมีการตัดสินใจร่วมกันโดยสมาชิกทั้งหมด

นอกจากนี้ ในเวลานั้น ได้มีการเคลื่อนไหวของผู้คนที่แสดงปฏิกิริยาต่อต้านศาสนาพระเวทโบราณกับพิธีกรรมและนักบวชต่าง ๆ ของศาสนานี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือในทุกอาณาจักรรวมถึงสาธารณรัฐและระบอบเผด็จการด้วย พวกฝ่ายขวาคือ “สมณะ” ซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญตบะพเนจรหรือ “ผู้ที่ถอนตัว” จากสังคม เป็นผู้ที่ปลีกตัวออกจากสังคมเพื่อเร่ร่อนไปในป่า ทำสมาธิ และพัฒนาจิตวิญญาณของตนเอง ตัวแทนของขบวนการประเภทนี้ไม่รวมถึงเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนิกาย และลูกศิษย์อื่น ๆ ด้วย การปลีกตัวออกจากสังคม อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นสิ่งสำคัญหากผู้ใดปรารถนาที่จะดำเนินตามวิถีทางศาสนา ในการที่จะเป็นอิสระเพื่อแสวงหาความจริง เมื่อเรารู้สึกว่าเราได้ค้นพบความจริงแล้ว ก็อย่าไปยัดเยียดความจริงนั้นให้กับผู้อื่นในลักษณะที่เป็นลำดับชั้นและอย่างเผด็จการ แต่จงเปิดเผยมันออกมาในลักษณะที่เป็น "ประชาธิปไตย" มากกว่า

วัตถุประสงค์และความถูกต้องของชีวประวัติ

ในบริบททางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะอินเดียหรือทิเบต มีการใช้ชีวประวัติเพื่อสอนและอธิบายให้เห็นถึงบางจุดของเรื่องราวชีวิตของบุคคลที่ยิ่งใหญ่แทนที่จะนำเสนอเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น ชีวิตของบุคคลสำคัญทางศาสนาภายในบริบทนี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น ดังนั้นแล้ว จากมุมมองของชาวตะวันตก บางส่วนของเรื่องราวอาจดูแล้วค่อนข้างมหัศจรรย์ทีเดียว ตัวอย่างเช่น จากชีวิตของพระพุทธเจ้า เมื่อช้างเผือกมีงาหกกิ่งได้มาหาพระมารดาในความฝัน หรือเมื่อพระพุทธเจ้าประสูติจากด้านข้างของพระมารดา แล้วก้าวเดินไปเจ็ดก้าวและพูดว่า "ฉันอยู่นี่แล้ว!" จากมุมมองของอินเดีย / ทิเบต มันไม่สำคัญว่าเรื่องราวจะถูกต้องตามประวัติศาสตร์หรือไม่ ประเด็นคือ เรื่องราวนั้นแสดงให้เห็นหรือสอนอะไรแก่ผู้ชม ผู้ฟัง มันมีความเกี่ยวข้องว่า เราต้องการที่จะปะติดปะต่อชีวิตของพระพุทธเจ้าในอดีตเพื่อค้นหาว่าพระพุทธเจ้าทำอะไรจริง หรือเกิดอะไรขึ้นในหมู่สาวกของท่านหรือไม่ หรือถ้าเราต้องการดูเรื่องราวจากมุมมองของคนอินเดียหรือทิเบตว่าจะอ่านมันอย่างไร ในแต่ละบริบท เรื่องราวชีวิตเป็นการสอนบางสิ่งให้เราโดยจะต้องไม่คิดว่าวิธีหนึ่งถูกต้องมากกว่าอีกวิธีหนึ่ง หลักการที่สำคัญของวิธีคิดแบบพุทธศาสนาคือ การที่จะสามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ในหลายระดับจากมุมมองที่แตกต่างกัน และเพื่อที่จะพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้มีเหตุมีผลอย่างสมบูรณ์แบบ มีความจริงมากกว่าหนึ่งอย่างที่จะบอกว่ามันเป็นอย่างไรจริง ๆ

ตัวอย่างที่เป็นที่นิยมในวรรณคดีทางพระพุทธศาสนาคือ ของเหลว สำหรับมนุษย์ ของเหลวนี้ดูเหมือนน้ำ สำหรับผีที่หิวโหย มันจะดูเหมือนหนอง  สำหรับสัตว์นรก มันจะดูเหมือนกรด สำหรับพระเจ้า มันจะดูเหมือนน้ำทิพย์ แล้วอันไหนที่ถูกต้อง ตามวิธีคิดแบบพุทธศาสนานั้นถูกต้องทั้งหมด เพราะความถูกต้องของบางสิ่งนั้นสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในบริบทหนึ่งเท่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ในสาขาหนึ่งของครอบครัวบำบัดที่เรียกว่า การบำบัดตามบริบทเนื้อหา ซึ่งภายในสถานการณ์ของครอบครัว สมาชิกในครอบครัวแต่ละคนจะถูกขอให้อธิบายสถานการณ์ตามเวอร์ชันของพวกเขา พ่อเล่าเวอร์ชันหนึ่ง แม่อีกเวอร์ชันหนึ่ง และลูก ๆ แต่ละคนก็เล่าเวอร์ชันของตัวเอง แต่ละเวอร์ชันเหล่านี้ถูกต้องและได้รับความเคารพเท่าเทียมกัน เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวทุกคนประสบกับสถานการณ์ในแบบของตนเอง นี่เป็นวิธีคิดในทางพระพุทธศาสนาที่ดีมาก และสามารถนำไปใช้กับเรื่องราวชีวิตของพระพุทธเจ้าได้ ถ้าเราอ่านเรื่องราวในแบบต่าง ๆ แต่ละเวอร์ชันมันก็ถูกต้อง และมันจะสอนอะไรเราบางสิ่งบางอย่าง

ข้อเท็จจริงหลักของชีวิตพระพุทธเจ้า และความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของเรา

พระพุทธเจ้าเกิดมาในครอบครัวที่มีสิทธิพิเศษและร่ำรวย (เป็นที่ถกเถียงกันว่าพระองค์เป็นเจ้าชายหรือไม่) ดังนั้น จึงเพลิดเพลินกับความสุขและผลประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงการศึกษาที่ดีด้วย ท่านแต่งงานและมีลูกชายหนึ่งคน ในด้านอาชีพ ท่านได้รับการเสนอให้เข้ารับตำแหน่งของพ่อของท่านในฐานะหัวหน้าของสาธารณรัฐ แต่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ติดตามขบวนการสมณะได้ปฏิเสธข้อเสนอนี้ ที่นี่ สิ่งสำคัญคือ ต้องเน้นว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ขาดความรับผิดชอบที่ทิ้งภรรยาและลูกของท่านไป ในสังคมอินเดีย ภรรยาและลูก ๆ ได้รับการดูแลในครอบครัวขยายของปู่ย่าตายายและสมาชิกคนอื่น ๆ นอกจากนี้ พระพุทธเจ้ายังถือกำเนิดในวรรณะนักรบ ซึ่งเป็นวรรณะที่คนออกจากบ้านเพื่อต่อสู้ศึก พระพุทธเจ้าต่อสู้ศึกของตัวเอง ซึ่งเป็นการต่อสู้ภายในกับความไม่รู้และอารมณ์ที่รบกวนจิตใจ

การตัดสินใจออกจากชีวิตครอบครัวของพระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้ว่า การแสวงหาความจริง นั่นคือการสิ้นสุดของความทุกข์ทรมานทั้งในแง่ของการเกิดใหม่ หรือความทุกข์ทางจิตใจและอารมณ์นั้น สำคัญกว่าการมีตำแหน่งที่ดี อำนาจ และเงิน การทำความเข้าใจวิธีค้นหาวิธีแก้ปัญหาส่วนบุคคลที่เป็นสากล เช่น ความโกรธ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ฯลฯ หรือปัญหาทางสังคม เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการแสวงหาอำนาจและเงินเพื่อตัวเราเอง นั่นคือบทเรียนที่ชีวิตของพระพุทธเจ้าสอนเรา

สมเด็จองค์ดาไลลามะกล่าวว่า การดำเนินตามวิถีชีวิตทางศาสนาร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นมันไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่สิ่งที่สำคัญคือ คุณภาพชีวิตของคุณ และชีวิตของคนที่อยู่รอบข้างคุณ พระพุทธเจ้าเดินตามเส้นทางแห่งศาสนาโดยสิ้นเชิง ด้วยการออกจากพระราชวังด้วยรถม้า (ตัวอย่างจากภควัทคีตา) และได้เห็นความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย ความชรา และความตายหลายประเภท และผู้ที่เป็นสมณะ ที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในพระราชวัง

สัญลักษณ์ในเรื่องราวต่าง ๆ ของชีวิตของพระพุทธเจ้าสามารถนำไปใช้กับทฤษฎีของยุง (Jung) ที่พระพุทธเจ้าตาบอดจากความมั่งคั่งและความสุขทางโลกที่ทำให้ท่านมองไม่เห็นความทุกข์ทรมานของโลกนี้ ต่อเมื่อท่านออกไปจากวังด้วยรถม้า ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางตามวิถีทางแห่งศาสนา ท่านได้เห็นถึงความทุกข์ทรมาน และตระหนักถึงปัญหาทั้งหมดที่ทุกคนเผชิญ

แง่มุมที่สำคัญอย่างยิ่งของเรื่องราวของพระพุทธเจ้า และคำสอนทางพระพุทธศาสนาคือ ไม่ควรปฏิบัติแบบคลั่งไคล้สุดขีด หลังจากออกจากพระราชวัง พระพุทธเจ้าทรงทำสมาธิอย่างเข้มข้น และปฏิบัติแบบผู้บำเพ็ญตบะที่สุดโต่ง ซึ่งนั่นทำให้ท่านแทบจะอดตาย ขณะที่ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ ท่านตระหนักว่าการปฏิบัติเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ และหยุดการอดอาหาร ยอมรับการถวายโยเกิร์ตจากเด็กสาวเลี้ยงแกะคนหนึ่ง ในความคิดของชาวอินเดียคิดว่าวัว (โยเกิร์ต นม) เป็นตัวแทนของความรักและความเห็นอกเห็นใจของแม่ ดังนั้น มันจึงเป็นสัญลักษณ์ที่พระพุทธเจ้าได้รับการถวายผลิตผลจากวัวเพื่อที่จะสอนเราว่า นั่นเป็นความเห็นอกเห็นใจที่ปลุกเราตื่นจากการทรมานร่างกายตนเองเพื่อที่จะทำให้เราพบหนทางที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งเป็นหนทางที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์สากล

ก่อนที่จะตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ (ในความคิดของชาวอินเดีย ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เป็นสาระสำคัญทั่วไป) และมีมารปรากฏขึ้น คำว่า มาร (Mara) ภาษาสันสกฤตหมายถึง ความตาย ซึ่งเป็นตัวแทนของอุปสรรค สิ่งกีดขวาง และอบายมุข ฯลฯ จากสิ่งนี้ เราจะเห็นว่าแม้แต่พระพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้นั้น ท่านต้องเผชิญกับอุปสรรค และสิ่งกีดขวางในการพยายามทำสิ่งที่เป็นบวกให้สำเร็จ

ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงขั้นสูงทางปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง ณ จุดนี้ ท่านไม่ได้เปลี่ยนจากการเป็นผู้เริ่มต้นที่สมบูรณ์ทุกอย่างไปสู่การเป็นผู้ตรัสรู้ แม้แต่ในช่วงสุดท้ายของการฝึกปฏิบัติ อุปสรรคและสิ่งกีดขวางต่าง ๆ ก็ยิ่งแข็งแรงขึ้น และในขณะที่พระพุทธเจ้าต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้ท่านบรรลุวัตถุประสงค์ของท่านได้ เราก็เช่นกัน ในความเป็นจริง ยิ่งการกระทำที่เราพยายามทำในเชิงบวกให้สำเร็จมากขึ้นเท่าไหร่ อุปสรรคก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น คำสอนตรงนี้ก็คือ เราต้องไม่ท้อถอย แต่จงต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคด้วยพลังที่เข้มแข็งเหมือนนักรบ สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับแนวคิดที่ว่า พระพุทธเจ้ามาจากวรรณะนักรบ เพราะจริง ๆ แล้วเป็นการต่อสู้ภายในกับความหลงเข้าใจผิด ความกลัว และอื่น ๆ ของเรา

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ท่านลังเลที่จะสอนและสงสัยว่า ใครในโลกนี้จะสามารถเข้าใจคำสอนของท่านได้ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ท่านถูกร้องขอให้สอน ท่านคิดว่าท่านน่าจะลองพยายามดู สิ่งนี้สอนให้เรารู้ว่า แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากมากที่จะสอน หรืออธิบายคำสอนให้กับผู้อื่น แต่เราก็ยังคงต้องทำเช่นนั้นด้วยความเห็นอกเห็นใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากแค่ไหนก็ตาม

หลังจากสอนคนอื่นแล้ว หลายคนก็อยากทำตามพระพุทธเจ้า และจากสิ่งนี้ทำให้เกิดพระสงฆ์ขึ้น ในช่วงแรกไม่มีข้อวินัยของพระสงฆ์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพระสงฆ์อยู่ในสังคม จึงมีการนำกฎระเบียบวินัยต่าง ๆ ที่เรียกว่า “พระวินัย” (Vinaya) ขึ้นมาช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการใช้ชีวิตในชุมชนและสังคม กฎเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยใครบางคนที่กำหนดกฎเหล่านั้น แต่ถูกนำมาใช้เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ตัวอย่างเช่น เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้คนคิดว่าพระเป็นคนโลภ เมื่อพวกท่านขออาหาร (ตามธรรมเนียมของสมณะในเวลานั้น) มีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่พวกท่านไม่สามารถขออาหารได้ พวกท่านยอมรับได้เฉพาะสิ่งที่ให้เท่านั้น พวกท่านไม่สามารถกักตุนอาหารได้ พวกท่านไม่สามารถขออะไรเพิ่มเติมได้ เป็นต้น กฎเหล่านี้มีไว้เพื่อให้แน่ใจว่าสังคมจะไม่รังเกียจกับพระสงฆ์ และกฎเหล่านี้ยังคงใช้ได้กับเราในปัจจุบันนี้

ในตอนแรก พระพุทธเจ้าลังเลที่จะรวมเอาพวกผู้หญิงไว้ในพระสงฆ์ เพราะท่านกังวลว่า สังคมจะคิดว่าชายหญิงจะอยู่ในป่าด้วยกันอย่างไม่เหมาะสม แต่ในที่สุดเมื่อท่านยอมรับผู้หญิงให้อยู่ในพระสงฆ์ ท่านได้กำหนดกฎเกณฑ์วินัยที่เฉพาะเจาะจงอย่างยิ่งเพื่อให้แน่ใจว่าสังคมจะไม่รับเอาความคิดที่ผิดไป เช่น พระภิกษุและพระภิกษุณีไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ด้วยกันตามลำพัง จะต้องมีพี่เลี้ยง (พระภิกษุณี) ปรากฎตัวอยู่ด้วยเสมอ และพวกท่านไม่สามารถนั่งบนที่นั่งหรือเตียงเดียวกันได้ กฎเหล่านี้สอนเราว่า ในแง่หนึ่งพระพุทธเจ้าปฏิเสธความรุ่งโรจน์ของสังคมเพื่อค้นหาความจริง และในอีกทางหนึ่งนั้น ท่านไม่ต้องการให้ความคิดที่ผิดแก่สังคม แม้ว่าเราอาจไม่เห็นด้วยกับหลักการทั้งหมดของสังคมในแง่ของค่านิยม แต่คุณก็ไม่ต้องการทำให้สังคมแปลกแยก สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่ในปัจจุบันจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเป็นเหมือนนักการทูตเพื่อที่จะทำความเข้าใจวิธีที่จะไม่ทำให้ขุ่นเคือง หรือทำให้เกิดความสงสัยที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักเหตุผล แม้ว่าพวกเขาจะไม่เห็นด้วยว่าค่านิยมของสังคมเป็นอย่างไรก็ตาม

พระพุทธเจ้ามีลูกพี่ลูกน้องคือ เทวทัต ซึ่งไม่ชอบพระพุทธเจ้า และสร้างความเดือดร้อนให้กับท่านอยู่เสมอ ในความเป็นจริง ถ้าคุณพิจารณาเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกภาษาบาลีนั้น ผู้คนจำนวนมากทำให้ท่านเดือดร้อน และไม่ชอบท่าน สิ่งนี้สอนบทเรียนอันมีค่าให้เราว่า มีการไม่ชอบพระพุทธเจ้า และท่านก็ไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ แล้วเราจะทำได้อย่างไร ดังนั้น เราต้องนึกถึงความเป็นจริง และไม่รู้สึกหดหู่ถ้าคนอื่นไม่ชอบเราและถ้าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้

ในเรื่องราวชีวิตเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานนั้น พระอานนท์ (หนึ่งในสาวกหลักของพระพุทธเจ้า) มีโอกาสที่จะขอให้พระพุทธเจ้าไม่ให้ปรินิพพาน แต่ท่านไม่ได้ทำ และชีวิตของพระพุทธเจ้าก็สิ้นสุดลง นี่สอนให้เรารู้ว่า พระพุทธเจ้าจะสอนเมื่อได้รับการร้องขอเท่านั้น และพระพุทธเจ้าจะอยู่เมื่อได้รับการร้องขอเท่านั้น ถ้าไม่มีใครต้องการให้ท่านอยู่ ท่านก็จะจากไป เราสามารถนำสิ่งนี้ไปใช้กับตัวเองได้หากผู้คนไม่ต้องการความช่วยเหลือจากเรา หรือไม่ต้องการเรา เราก็จะต้องไม่ผลักดันตัวเองให้ไปหาพวกเขา มีคนอื่น ๆ อีกมากมายที่อาจเปิดกว้างและต้องการความช่วยเหลือจากเรา

ข้อสรุป

เราสามารถมองชีวิตของพระพุทธเจ้าได้จากหลายแง่มุม เราอาจจะสามารถพยายามค้นหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ทั้งหมด ซึ่งแม้ว่าจะมีความถูกต้องตามบริบทของมุมมองประวัติศาสตร์แบบตะวันตก  แต่ก็ไม่สามารถทำให้เราได้รับความแน่นอนใด ๆ เกี่ยวกับวันที่หรือปีที่เฉพาะเจาะจงได้ หรือ เราสามารถดูบทเรียนที่เราเรียนรู้ได้ในแง่ของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏในเรื่องราว เช่น ในการวิเคราะห์แบบยุง (Jung) เพื่อถามคำถามว่า มันบ่งบอกอะไร มันแสดงถึงอะไร

เราอาจจะมองชีวิตของพระพุทธเจ้าในบริบทของสายมหายานที่ใหญ่ขึ้นด้วยการนำเสนอพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เมื่อหลายกัปที่ผ่านมา และสอนเราเกี่ยวกับสาระสำคัญมหายานของความเป็นสากล และความเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในช่วงชีวิตอื่น ๆ อีกมากมาย นี่เป็นการสอนให้เรารู้ว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ตอนนี้เป็นผลมาจากคนรุ่นก่อนเราทั้งหมด และถ้าเราพยายามที่จะทำสิ่งที่เป็นบวกแล้ว เราจะต้องคิดในแง่ของคนรุ่นหลังทั้งหมด

ในการนำเสนอแบบตันตระ พระพุทธเจ้าสอนในสถานที่หนึ่งเกี่ยวกับปรัชญาที่ลึกซึ้ง และอีกสถานที่หนึ่งท่านปรากฏตัวให้เห็นด้วยใบหน้าสี่ใบหน้า ซึ่งแต่ละใบหน้านั้นกำลังสอนสิ่งที่แตกต่างกันไปพร้อม ๆ กัน สิ่งนี้บ่งชี้ว่าแง่มุมต่าง ๆ ของคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เราพบตลอดประวัติศาสตร์นั้นมาจากแหล่งกำเนิดหรือแนวคิดพื้นฐานเดียวกัน และสามารถนำเสนอได้แตกต่างกัน

เราพบหลักการพื้นฐานที่มีอยู่ในคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประเภท ไม่ว่าเราจะนึกถึงการนำเสนอแบบเถรวาท การนำเสนอพระสูตรมหายาน หรือการนำเสนอแบบตันตระ ในการนำเสนอทั้งหมดนี้มีหลักการพื้นฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นโดยแขน ขา และจำนวนใบหน้าของพระพุทธรูปต่าง ๆ คำสอนพื้นฐานของพระพุทธเจ้าอยู่ในแง่ของอริยสัจจ์สี่ประการ ซึ่งเราสามารถพูดได้ว่ามันได้รับการนำเสนอในรูปของใบหน้าทั้งสี่หน้า การนำเสนอชีวิตของพระพุทธเจ้านี้ไม่ได้ให้ไว้ในแง่ของข้อเท็จจริงที่อ่านได้จริง  แต่เพื่อช่วยให้เราสามารถสืบถามถึงการประยุกต์ใช้ของแต่ละการนำเสนอและวัตถุประสงค์ของการนำเสนอนั้นได้ จากการสืบถามนี้ ทำให้เราสามารถเข้าใจเนื้อหาเหล่านี้ได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

บทสรุป

การดำเนินชีวิตของพระพุทธเจ้ามีสามเวอร์ชัน ได้แก่ การนำเสนอแบบเถรวาท การนำเสนอแบบพระสูตรมหายาน และการนำเสนอแบบตันตระ มีการถกเถียงอภิปรายกันว่า การนำเสนอเหล่านี้ขัดแย้งกันหรือไม่ แต่ด้วยตรรกศาสตร์แล้ว เราสามารถแสดงให้เห็นว่าแต่ละการนำเสนอนั้นได้รับการสอนในบริบทที่แตกต่างกัน การนำเสนอที่แตกต่างกันเหล่านี้มีเพื่อที่จะสร้างแรงบันดาลใจและสอนเรา ถ้าเราดูเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ท่านอาศัยอยู่ในสังคมเฉพาะ ซึ่งมีระบบความเชื่อที่อธิบายประเด็นบางอย่างเกี่ยวกับวิธีการที่จะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากความทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่พอใจกับระบบนี้ จึงแสวงหาความจริงที่สอนภายในระบบที่ไม่ใช่ลำดับชั้นวรรณะ จากการออกจากความสะดวกสบายในบ้านและครอบครัวของท่าน ท่านได้พยายามต่อสู้กับความทุกข์ทรมานภายใน สิ่งนี้ไม่ได้มาจากการบำเพ็ญตบะ แต่เกิดจากความความเห็นอกเห็นใจที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ทรมานที่เป็นสากล พระพุทธเจ้าเผชิญกับอุปสรรคมากมาย  แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ขัดขวางท่าน และเมื่อท่านได้ตรัสรู้แล้ว ท่านก็ได้ทำตามคำขอที่จะสอนด้วยความเห็นอกเห็นใจ สำหรับสาวกของพระพุทธเจ้า พระสงฆ์สำหรับทั้งพระภิกษุและพระภิกษุณีนั้นถูกสร้างขึ้นโดยมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสังคม

Top