คำแนะนำของเซอคง รินโปเชสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม

เกรงใจอาจารย์สอนศาสนาของตนเองเสมอ

เซอคง รินโปเชมักเน้นย้ำถึงการเกรงใจลามะทุกรูปและไม่ทำให้พวกท่านต้องเสียเวลาอยู่เสมอ  ท่านแนะนำให้หลีกเลี่ยงตัวอย่างของผู้คนใจบุญในสปีติ  ตอนที่พวกเขาเข้าแถวกันเพื่อถวายผ้าพันคอในพิธี (คตะ)ให้ท่าน ผู้มีจิตศรัทธาในสปีติจะรอจนกระทั่งตนเองอยู่ตรงหน้าท่านพอดี จากนั้นจึงก้มลงกราบทีละคน  ขั้นตอนแบบนี้ใช้เวลาเป็นชั่วโมง ๆ  นอกจากนี้เวลาเราถามคำถามลามะ รินโปเชบอกว่าอย่าเล่าเรื่องยิ่งใหญ่ยืดยาว หรือแต่งเรื่องราวขึ้นมา  จริง ๆ แล้วท่านสอนผมไม่ให้แปลคำถามเหล่านั้นตรง ๆ ด้วยซ้ำ แต่ให้แปลประเด็นสำคัญไปเลย

นอกจากนี้รินโปเชยังไม่ต้องการให้ผู้มาเยือนถวายผ้าคตะหรือสิ่งที่ท่านเรียกว่า กล่องคุ้กกี้ “น่าเกลียด” ด้วย  ท่านบอกว่าผู้ใดที่ต้องการถวายของให้ลามะควรถวายของดี ๆ ที่ผู้นั้นจะได้ใช้จริงหรือชอบใจ  ยิ่งไปกว่านั้นหากผู้ใดมาพบท่านบ่อย ๆ อย่างเช่นตัวผม ท่านก็บอกให้เลิกนำของมาถวาย  ท่านไม่ได้ต้องการหรือจำเป็นต้องใช้อะไร

ใช้สามัญสำนึกและเตรียมแผนรองไว้ให้พร้อมเสมอ หากบางอย่างไม่เป็นไปตามคาด

รินโปเชแนะนำเสมอให้ผู้คนใช้สามัญสำนึก  ดังนั้นท่านจึงไม่ชอบให้คนมาขอให้ท่านใช้ศาสตร์พยากรณ์สำหรับเรื่องราวทั่วไป  สถานการณ์เดียวที่เหมาะกับการขอใช้ศาสตร์พยากรณ์คือ เวลาที่วิธีทั่วไปไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ โดยเฉพาะหากปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องทางจิตวิญญาณ  มีอยู่ครั้งหนึ่งผมมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องค่าเช่าที่พักและผมขอใช้การพยากรณ์เพื่อหาทางออก  รินโปเชไล่ผมออกไป แล้วบอกให้ผมไปหาทนายความเสีย

นอกจากนี้เวลาวางแผนกิจกรรมใด ๆ รินโปเชจะแนะนำให้เตรียมแผนการไว้อย่างน้อยสามแผน  กลยุทธ์ดังกล่าวจะสร้างความยืดหยุ่นและช่วยให้เราไม่ต้องตื่นตระหนก หากแผนการใดแผนการหนึ่งล้มเหลว  การเตรียมตัวเลือกหลาย ๆ อย่างไว้ให้พร้อมจะก่อให้เกิดความรู้สึกมั่นคงและเราจะมั่นใจได้ว่าอย่างน้อยตัวเลือกสักตัวที่เราเตรียมมาก็ต้องได้ผล

อย่างไรก็ตามบางครั้งลูกศิษย์ทั้งหลายก็ยึดติดอยู่กับการพยาการณ์ ซึ่งเป็นการทำตามความไม่สามารถคิดด้วยตัวเองได้ คนเหล่านี้ต้องการให้คนอื่นมาตัดสินใจให้ เพื่อที่ตนจะได้หลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในชีวิตตนเอง  ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่แล้วการปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับการตัดสินใจครั้งสำคัญจะเป็นเรื่องที่มีคุณประโยชน์ วิธีการที่มั่นคงที่สุดในการตัดสินใจใด ๆ คือการทำให้คุณสมบัติของท่านอยู่ภายใน แม้ในยามที่ลามะไม่อยู่ คุณสมบัติเหล่านี้ก็อยู่กับเราเสมอ และเป็นสิ่งที่ช่วยกำหนดการกระทำที่ชาญฉลาดที่สุดสำหรับเรื่องต่าง ๆ

สิ่งที่รินโปเชแนะนำไม่ให้ทำเด็ดขาดคือ การไปขอให้ลามะหลายรูปทำนายคำถามเดียวกัน จนกระทั่งผู้ถามได้รับคำตอบที่อยากได้ยิน  การขอการพยากรณ์นั้นหมายถึงการไว้เนื้อเชื่อใจและความศรัทธาในตัวลามะรูปนั้น ซึ่งหมายถึงการทำสิ่งใดก็ตามที่ท่านแนะนำ  ยิ่งไปกว่านั้น รินโปเชยังเตือนไม่ให้ไปหาลามะ แล้วบอกว่าอาจารย์ท่านอื่นบอกให้ทำอย่างนู้นอย่างนี้ ท่านคิดว่าอย่างไร? ฉันควรทำหรือไม่?  การกระทำแบบนี้เป็นการแสดงออกถึงการขาดการคำนึงถึงจิตใจผู้อื่น เพราะถือว่าทำให้ลามะรูปนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ต้องไปวิจารณ์ว่าสิ่งที่อาจารย์ท่านอื่นพูดนั้นผิด

เรียนรู้การถามคำถามอย่างเหมาะสม

ในความเป็นจริงแล้ว ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ไม่ทราบวิธีถามคำถามลามะอย่างเหมาะสม  เวลาที่พวกเขาเข้ามาถามคำถามท่านเกี่ยวกับเรื่องโง่เขลา รินโปเชจะแก้ไขพวกเขาเสมอ  ยกตัวอย่างเช่น หากใครไม่รู้ว่าควรจะเข้าพิธีมอบการเสริมพลังดีหรือไม่ การถามว่า “การเข้าร่วมพิธีรับเข้านี้ดีหรือไม่?” เป็นเรื่องน่าขันสิ้นดี  มันก็ต้องดีแน่นอนอยู่แล้ว ใครจะไปพูดว่ามันไม่ดีกันเล่า  แล้วถ้ามีคนถามว่า “ฉันควรเข้าร่วมหรือไม่?”  คำถามนี้มีนัยยะว่า “ฉันจำเป็นต้องเข้าร่วมหรือไม่?”  ไม่มีใครโดนบังคับให้เข้าร่วมอยู่แล้ว  หากต้องการถามอาจารย์ในเรื่องแบบนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือการถามว่า “ท่านแนะนำให้กระผม/ดิฉันทำอย่างไร?”

นอกจากนี้ เวลาเข้าไปถามลามะเพื่อขออนุญาตรับการเสริมพลังที่เขาหรือเธอกำลังพิจารณาอยู่นั้น การถามในแนวว่า “กระผม/ดิฉันเข้าพิธีรับเข้าได้หรือไม่?” เป็นคำถามที่แสดงความสิ้นคิด เพราะคำถามนี้มีความหมายในเชิงว่า “กระผม/ดิฉันมีความสามารถที่จะทำได้หรือไม่?” ซึ่งไร้สาระสิ้นดี  วิธีถามที่ถูกต้องคือ “กระผม/ดิฉันขออนุญาตเข้ารับการเสริมพลัง”   เรื่องการขอต่อวีซ่าเพื่ออยู่ในต่างประเทศก็เช่นกัน มีแต่คนงี่เง่าเท่านั้นที่จะถามว่า “ฉันอยู่ต่อได้หรือไม่?”  วิธีถามอย่างผู้มีวุฒิภาวะคือ “หากท่านจะกรุณาอนุญาต กระผม/ดิฉันมีความประสงค์ที่จะอยู่ต่อ”

มีอยู่ครั้งหนึ่งเทิร์เนอร์รบกวนรินโปเชติดต่อกันอยู่หลายเดือนเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับพิธีอนุญาตการวิงวอนต่อปางมหากาฬหกแขน ผู้ปกป้องแห่งวิญญาณ  ในที่สุดพอรินโปเชตอบตกลง เทิร์เนอรก็ถามท่านว่าจะต้องทุ่มเทท่องบทใดบ้างในแต่ละวัน  รินโปเชแทบจะตีเขา  ท่านดุเขาว่าเขาควรจะตั้งใจทำทุกอย่างตามความทุ่มเทของเขานั่นแหละ

ตรวจสอบความทุ่มเทก่อนกระทำ

รินโปเชไม่พอใจเป็นอย่างมากเวลาที่ชาวตะวันตกพยายามต่อรองความทุ่มเทในการสวดมนต์สำหรับพิธีรับเข้า  ท่านเน้นย้ำว่าเราควรเข้ารับการเสริมพลังสำหรับพระพุทธเจ้าปางต่าง ๆ นั้นก็ต่อเมื่อเรามีความปรารถนาอย่างจริงใจในการฝึกปฏิบัติจนนำไปสู่การตรัสรู้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น  ท่านมองว่าการเข้าร่วมพิธีเพียงเพราะอยาก “รู้สึกดี” หรือเพียงเพราะว่าคนอื่นเขาทำกันนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ  การกระทำที่ไม่เหมาะสมอีกอย่างคือการเข้าร่วมพิธีโดยมีเจตนาที่จะเข้าวิเวกปฏิบัติธรรมสั้น ๆ แล้วหลังจากนั้นก็ลืมการปฏิบัติสมาธิไปเสีย  ความมุ่งมั่นทุ่มเทสำหรับการปฏิบัติพระตันตระนั้นคงอยู่ตราบชั่วชีวิต

รินโปเชเน้นย้ำว่าให้พินิจพิเคราะห์หลักปฏิบัติต่าง ๆ และอาจารย์ให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปมีส่วนร่วม ไม่ใช่เข้าไปเกี่ยวพันก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาทีหลัง  ข้อนี้เป็นข้อบกพร่องสำคัญที่รินโปเชเห็นในตัวชาวตะวันตก  เรามักจะรีบทำอะไรก่อนถึงเวลาอันควร  รินโปเชเตือนไม่ให้เราทำตัวเหมือนคนบ้าวิ่งเข้าไปในทะเลสาปแช่แข็ง แล้วค่อยใช้ไม้จิ้มดูว่าน้ำแข็งนั้นแข็งแรงพอรับน้ำหนักตนเองได้หรือไม่

รินโปเชบอกว่าเราสามารถเข้าร่วมการสอนของอาจารย์ผู้ใดก็ได้ และด้วยเหตุผลตามมารยาท เราสามารถกราบไหว้จีวรของอาจารย์ หรือรูปภาพของพระพุทธเจ้าในห้องได้  อย่างไรก็ตามการเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ผู้นั้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ท่านถึงกับบอกผมว่าผมจะไปเป็นล่ามให้ลามะรูปไหนก็ได้ แต่การทำงานให้ใครสักคนก็ไม่ได้หมายความคนคนนั้นเป็นอาจารย์ของผม  ท่านอธิบายว่านี่เป็นเรื่องจริง ถึงแม้ว่าผมจะแปลการมอบเสริมพลังพระตันตระก็ตามที  สิ่งที่สำคัญคือทัศนคติของเราต่ออาจารย์ผู้นั้น

หลีกเลี่ยงการบวชเป็นพระหรือชีก่อนวัยอันควร

รินโปเชรู้สึกด้วยว่าชาวตะวันตกบวชเป็นพระสงฆ์และชีเร็วเกินไป โดยไม่พิจารณาให้ดีว่านี่เป็นสิ่งที่ตนเองต้องการสำหรับทั้งชีวิตหรือไม่  พวกเขามักลืมคิดถึงว่าการออกบวชของตนจะมีผลต่อบิดามารดาอย่างไร และพวกเขาจะเลี้ยงตัวเองอย่างไรในอนาคต  แน่นอนว่าหากผู้นั้นเป็นเหมือนผู้ปฏิบัติในอดีต ซึ่งละทิ้งแล้วซึ่งทุกสิ่ง ผู้นั้นก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับครอบครัวหรือเงินทอง  อย่างไรก็ตามเราก็รู้ตัวเองอยู่ว่าเราเป็นอย่างมิลาเรปะ (Milarepa) หรือไม่

ในบริบทนี้รินโปเชมักกล่าวถึงตัวอย่างของดรุบคัง เกเลก-กยัตโส (Drubkang Geleg-gyatso)  ปรมาจารย์ชาวทิเบตผู้เป็นเลิศองค์นี้ต้องการบวชเป็นพระตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ครอบครัวของท่านไม่เห็นด้วยและเกิดอารมณ์เสียกับความต้องการของท่านมาก  ดังนั้นท่านจึงรับใช้บิดามารดาของท่านให้ดีในช่วงที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่  เมื่อพวกเขาเสียชีวิต ท่านก็บริจาคมรดกตกทอดให้แก่การกุศล  จากนั้นท่านถึงออกบวช

รินโปเชย้ำเสมอว่าให้เคารพและรับใช้บิดามารดาของตนเอง  ในฐานะพุทธศาสนิกชนชาวตะวันตก เราพูดกันอย่างเปิดเผยว่าเรามองทุกคนเป็นบิดาและมารดาของเราในชาติก่อนและเราต้องตอบแทนบุญคุณพวกเขา  แต่จริง ๆ แล้วในชีวิตส่วนตัว พวกเราหลายคนเข้ากับบิดามารดาในชาตินี้ไม่ค่อยได้เสียด้วยซ้ำ  รินโปเชสอนว่าที่แท้จริงแล้วการรับใช้และมีความปราณีต่อบิดามารดาของเรานั้นก็คือการปฏิบัติอันยิ่งใหญ่ของชาวพุทธ

หากผู้ใดได้ศึกษาพิจารณาอย่างละเอียดมาล่วงหน้าแล้ว จากนั้นจึงบวชเป็นพระหรือชี หรือหากผู้ใดเข้ารับพิธีบวชไปแล้ว รินโปเชบอกว่าอย่าทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ เหมือนกับค้างคาว  เวลาที่ค้างคาวอยู่ท่ามกลางฝูงนก มันไม่อยากทำตามที่นกทำ บอกว่า “อ้อ ฉันทำแบบนั้นไม่ได้หรอก ฉันมีฟันนะ”  พอมันไปอยู่ท่ามกลางหนู มันก็บอกว่า “อ้อ ฉันทำแบบนั้นไม่ได้หรอก ฉันมีปีกนะ”  การกระทำตามตัวอย่างนี้คือการเข้าสู่สมณเพศเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้น  เมื่อผู้คนเหล่านี้ไม่ชอบกิจกรรมใด ๆ ที่ฆราวาสต้องทำ เช่น การหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง พวกเขาก็ใช้จีวรเป็นข้องอ้าง  พอพวกเขาไม่ใส่ใจรูปแบบหรือระเบียบของสงฆ์ อย่างการเข้าร่วมพิธีที่ยาวนาน หรือการเดินทางในขณะสวมจีวร พวกเขาก็ใช้ข้ออ้างว่าตนเป็นชาวตะวันตก  รินโปเชมักพูดเสมอว่า “กำลังหลอกใครอยู่?”

การฝึกปฏิบัติทางศาสนาไม่ใช่ข้ออ้างในการไม่หางานทำ

รินโปเชอธิบายว่าข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ปฏิบัติธรรมทุกคนไม่ควรมีงานทำ  ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรืออยู่ในสมณเพศ ทุกคนย่อมต้องมีความติดดินและใช้ชีวิตในเชิงปฏิบัติได้จริงทั้งนั้น  รินโปเชสอนว่าการครอบครองจิตและคำพูดของเรานั้นสำคัญกว่าการครอบครองร่างกาย  ดังนั้นท่านจึงแนะนำงานรับใช้สำหรับผู้ปฏิบัติเคร่งครัดที่จำเป็นต้องเลี้ยงตัวเอง  ในขณะทำงานเราสามารถท่องมันตราและส่งความรู้สึกอันอบอุ่นและความคิดที่เปี่ยมไปด้วยความกรุณาปรานีออกไปได้  หากการคิดถึงหลักคำสอนในระหว่างการทำงานนั้นยากเกินไปและเราได้รับการมอบเสริมพลังพระตันตระแล้ว อย่างน้อยเราก็สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ในใจตัวเองได้  ตลอดทั้งวันเราสามารถจินตนาการว่าเราเป็นปางต่าง ๆ และสภาพแวดล้อมของเราก็คือดินแดนบริสุทธิ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตของเรา  จากนั้นในตอนเช้าตรู่และกลางคืน เราสามารถปฏิบัติการสร้างภาพในใจอย่างละเอียดของสาธนาได้  รินโปเชย้ำเสมอว่าไม่ให้เรามองว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่แยกต่างหากกับชีวิต

ตลอดระยะเวลาหลายปีเทิร์เนอร์อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษกับภรรยาและลูกสองคน โดยไม่มีอาชีพและต้องพึ่งหน่วยงานสังคมสงเคราะห์  เขาใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด  เขารู้สึกว่าเขาจะเสียเวลาทำงานทำไม ในเมื่อเขาสามารถปฏิบัติหลักคำสอนได้  ก่อนหน้านั้นเขาได้เข้ารับพิธีอนุญาตสำหรับมหากาฬขาวจากรินโปเช ซึ่งเป็นเทพปกป้องที่เกี่ยวข้องกับความร่ำรวย  เขาสวดมนต์ทุกวันขอให้ปัญหาทางการเงินของเขาได้รับการแก้ไข  รินโปเชไม่พอใจกับเรื่องนี้เอาเสียเลย  ท่านบอกว่าการทำแบบนี้ก็เหมือนคนป่วยที่สวดอ้อนวอนพระไภษัชยคุรุขอให้ตนหายดี แต่ไม่เคยทานยาเลย  ท่านบอกให้เทิร์เนอร์ไปหางานทำและทำการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในเวลาที่สั้นลงตอนเช้ากับตอนกลางคืนเท่านั้น  เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วการเรียกเทพมหากาฬจึงจะช่วยให้การงานของเขาดำเนินไปสู่ความสำเร็จทางการเงิน

สามารถปฏิบัติได้จริงและมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

รินโปเชชอบให้ผู้คนทำสิ่งใดให้ทำจริงและทำอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ทำไปใจลอย  ดังนั้นท่านจะชอบให้การปฏิบัติและการสวดมนต์เสร็จไวเสมอ  ครั้งหนึ่งมีนักเรียนที่ศูนย์เกเผลิง (Ghepheling Center) ในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลีขอให้รินโปเชนำการนั่งสมาธิเพื่อเป็นการปิดหลักสูตรเรื่องลำดับเส้นทางการปฏิบัติ (ลัม-ริม) และเป็นการปฏิบัติในแบบพระอโวโลกิเตศวร  รินโปเชตอบตกลงและกำกับให้พวกเขาสร้างตนเป็นพระอวโลกิเตศวรผ่านทางกระบวนการหกม้วน จากนั้นจึงปฏิบัติสมาธิด้วยจุดลัม-ริมอีกหลายสิบสองจุด  ท่านให้ทำทั้งหมดนี้ภายในเวลาสองนาที  เมื่อนักเรียนกล่าวถึงความเหลือเชื่อนี้และประท้วงว่าท่านให้เวลาทำน้อยเกินไป  รินโปเชก็ผ่อนคลายกฎมากขึ้น โดยพูดว่า “ได้ งั้นให้ทำภายในเวลาสามนาที”  จากนั้นท่านจึงอธิบายว่าผู้ปฏิบัติที่มีทักษะสามารถทำการปฏิบัติที่ครอบคลุมลัม-ริมได้ทั้งหมดในระยะเวลาที่จะยกเท้าขึ้นอานม้าเวลาขึ้นขี่มา  เมื่อความตายมาเยือน เราไม่มีเวลามานั่งให้เรียบร้อยแล้วค่อย ๆ สร้างภาพในจิตใจขึ้นผ่านกระบวนการช้า ๆ หรอก

มองการปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริง

รินโปเชเน้นย้ำเรื่องการมองการปฏิบัติธรรมทุกด้านตามความเป็นจริง  ข้อนี้สำคัญเป็นพิเศษหากเราปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ที่พยายามช่วยเหลือผู้อื่น  ถึงแม้ว่าฝั่งเราจะอยากช่วยด้วยใจจริงอยู่เสมอ เราต้องไม่ลืมว่าการเปิดรับของผู้อื่นต่อความช่วยเหลือของเรา รวมถึงความสำเร็จของความเพียรที่เราทำนั้นขึ้นอยู่กับกรรมของพวกเขา  กรรมในที่นี้หมายถึงแบบแผนที่ผ่านมาที่วางเงื่อนไขจิตใจของพวกเขาไว้  ดังนั้นรินโปเชจึงเตือนไม่ให้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา หรือในยามที่ผู้อื่นไม่ได้สนใจอยากได้รับความช่วยเหลือ  การเข้าไปก้าวก่ายของเรานั้นมีแต่จะทำให้เกิดอารมณ์แค้นใจ และหากเราช่วยไม่สำเร็จ เราก็จะโดนกล่าวโทษเอาได้

อย่าสัญญาเกินกว่าที่เราทำได้

สิ่งที่ดีที่สุดคือการทำตัวให้ไม่เป็นจุดสนใจ  เราสามารถบอกให้ผู้อื่นทราบได้ว่าเรายินดีให้ความช่วยเหลือ และถ้าพวกเขาขอ เราก็สามารถเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องในธุระของเขาได้  อย่างไรก็ตามเราควรหลีกเลี่ยงการโฆษณาตัวเองในฐานะ “พระโพธิสัตว์รับจ้าง”  จะเป็นการดีที่สุดหากเราปฏิบัติสมาธิประจำวันของเราเองและใช้ชีวิตอย่างถ่อมตน  รินโปเชเตือนเป็นพิเศษเรื่องการให้สัญญาเกินความสามารถของตนเอง หรือการป่าวประกาศว่าเราจะดำเนินการ หรือทำสิ่งใดให้สำเร็จในอนาคต  การกระทำเช่นนี้จะเป็นการสร้างอุปสรรคเพิ่มขึ้น และในที่สุดหากเราไม่ทำสิ่งที่พูดให้เป็นจริง เราก็จะทำให้ตัวเองดูโง่เขลาและสูญเสียความน่าเชื่อถือไป

การไม่ให้สัญญาเกินกำลังของเรานั้นเกี่ยวข้องกับสายสัมพันธ์กับอาจารย์ของเราเป็นอย่างมาก  รินโปเชบอกให้ปฏิบัติตามคำแนะนำจากตำราโคลงห้าสิบบทเกี่ยวกับปรมาจารย์ศาสนา (Fifty Stanzas on the Spiritual Master) ของพระอัศวโฆษอยู่เสมอ ซึ่งท่านท่องตำรานี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติประจำวัน  หากอาจารย์ของเราขอให้เราทำสิ่งใดที่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราไม่สามารถทำได้ เราก็ต้องอธิบายอย่างนอบน้อมและสุภาพถึงสาเหตุที่เราไม่สามารถปฏิบัติตามที่ท่านขอได้  รินโปเชเน้นย้ำว่าประเด็นสำคัญของการทุ่มเทอย่างหมดใจให้อาจารย์นั้นไม่ใช่การอุทิศตนเป็นทาส หรือเป็นหุ่นยนต์ของท่าน หากแต่เป็นการเรียนรู้ที่จะยืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้ คิดเองให้ได้ และตรัสรู้ให้ได้  หากเราไม่สามารถทำตามที่อาจารย์แนะนำได้ สิ่งที่ไม่เหมาะสมคือการรู้สึกผิดว่าเราทำให้อาจารย์เราผิดหวังและเราเป็นลูกศิษย์ที่ไม่เอาไหน  อาจารย์ที่ดีไม่ใช่ผู้เผด็จการที่ไร้เหตุผล

หากเรารับปากที่จะทำสิ่งใดให้กับใครแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ของเราหรือใครก็ตาม รินโปเชแนะนำให้ตกลงทุกอย่างให้ชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่ม  เราอาจทำให้เกิดหายนะตามมาได้ หากเรารับปากเหมือนคนใจบุญที่ไร้เดียงสา แล้วในระหว่างการกระทำงานชิ้นนั้น หรือเมื่อทำงานเสร็จแล้ว เราเพิ่งจะมาประกาศว่าเราคาดหวังสิ่งตอบแทน  รินโปเชสอนว่าหากเราทำสิ่งใดอย่างจริงจัง มองทุกอย่างบนความเป็นจริง และคิดก่อนล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทางโลกหรือทางธรรมก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี  แต่หากเราทำสิ่งใดอย่างหละหลวม ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และรีบทำสิ่งต่าง ๆ โดยขาดสติ สิ่งนั้นก็ย่อมจะไม่สำเร็จ

คำแนะนำสำหรับศูนย์พระพุทธศาสนา

รินโปเชแนะนำแนวทางปฏิบัติเดียวกันสำหรับศูนย์พระพุทธศาสนาในตะวันตก  ท่านบอกพวกเขาให้หลีกเลี่ยงการเป็นใหญ่โตจนกลายเป็นภาระตัวเองให้ต้องมีหนี้สินและให้สัญญาว่าจะทำโครงการต่าง ๆ ที่ตัวเองไม่สามารถทำได้ หรือทำให้เสร็จสิ้นได้  ท่านบอกให้พวกเขาเริ่มต้นเล็ก ๆ อย่างสงบเสงี่ยม และพยายามต่อต้านการล่อลวงที่จะตั้งศูนย์ในบริเวณชนบทที่ห่างไกล  ศูนย์พุทธศาสนาควรง่ายต่อการเดินทางสำหรับผู้อยู่อาศัยในเมืองและง่ายต่อการหางานในพื้นที่ใกล้เคียง  กลุ่มผู้ก่อตั้งสามารถขายศูนย์และซื้อสถานที่ใหม่ที่ใหญ่ขึ้นได้หากจำเป็น แต่ทั้งหมดนี้ต้องกระทำในช่วงเวลาที่เหมาะสม

จุดประสงค์ของศูนย์พุทธศาสนาไม่ใช่เพื่อการดึงดูดกลุ่มผู้คนจำนวนมากด้วยการโฆษณาโอ้อวดราวกับการแสดงละครสัตว์  รินโปเชชอบนักเรียนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีความตั้งใจจริงมากกว่าเสมอ  นอกจากนี้ สำหรับการเลือกอาจารย์นั้น จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าอาจารย์ผู้นั้นเป็นคนสนุกหรือเล่าเรื่องตลกได้มากเพียงใด  หากเราต้องการฟังเรื่องขำ ๆ หรือเห็นอะไรแปลกตา เราไปดูตัวตลกในการแสดงละครสัตว์ หรือไปชมการแสดงอื่น ๆ  เอาก็ได้

Top