ในพระคัมภีร์ การฝึกฝนสำหรับวิธีการทำสมาธิพิจารณาถึงความไม่เที่ยง (Training for How to Meditate on Impermanence) เขียนในรูปแบบของโคลงกลอน (Mi-rtag sgom-tshul-gyi bslab-bya tshigs-su bcad-pa bcas) ของกุงทัง รินโปเช (Gung-thang-tshang dKon-mchog bstan-pa'i sgron-me) (ค.ศ. 1762–1823) เริ่มต้นด้วยการแสดงความเคารพต่อครูต่าง ๆ ของท่านที่ปรากฏให้เห็นในรูปแบบต่าง ๆ มากมายและให้คำสอนต่าง ๆ เพื่อควบคุมจิตใจ
ขอแสดงความเคารพต่อความสุขและความว่างเปล่าที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งปรากฏให้เห็นในรูปแบบและการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันเพื่อให้เหมาะกับความต้องการและอุปนิสัยต่าง ๆ มากมายของสัตว์โลก
ร่างมนุษย์อันล้ำค่านี้ที่มีการหยุดพักชั่วคราว 8 ประการและการเพิ่มคุณค่าอีก 10 ประการนั้นได้มาเพียงครั้งเดียว มีโอกาสเสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสนี้ไปและไปสู่การเกิดใหม่ในชาติหน้าโดยที่ไม่เคยได้ทำสิ่งใด ๆ ที่มีคุณค่าถาวรได้สำเร็จเลย ตอนนี้เป็นเวลาที่จะวางตัวเราบนเส้นทางสู่การหลุดพ้นแล้ว อันที่จริง มันเกือบจะสายเกินไปแล้วด้วยซ้ำ เนื่องจากพวกเราทุกคนที่นี่ต่างมีอายุระหว่าง 20-30 ปีกันทั้งนั้น เราต้องพยุงตัวเราเองไว้ด้วยการเตือนตนเองคล้ายตะขอเหล็กเพื่อปฏิบัติธรรมและการระแวดระวังที่เปรียบได้กับขั้นตอนต่าง ๆ ของการฝึกช้าง การพยายามทำทุกอย่างทางโลกและทางสังสารวัฏให้ครบในเดือนนี้ หรืออย่างน้อยก็ในปีนี้ หรือมีความคิดที่จะเลื่อนการปฏิบัติธรรมแล้วไปทำอย่างอื่นก่อนในปีนี้ ถือเป็นผีที่หลอกล่อตัวเอง ครูคนหนึ่งเคยพูดไว้ว่าผู้เคร่งศาสนาไม่ควรเลยที่จะกังวลว่าจะหาเลี้ยงชีพได้ไม่พอ บางคนแก้ตัวว่าต้องหาเงินเพื่อปฏิบัติธรรม แต่ก็ไม่เคยเห็นมีผู้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังคนใดอดอาหารตายเลยสักคน
จงสร้างจิตอุทิศตนให้ปฏิบัติธรรมโดยสมบูรณ์ กิจกรรมในชีวิตนี้เป็นเหมือนคลื่นบนน้ำ เหมือนคลื่นเล็ก ๆ ระลอกแรกมา แล้วอีกระลอกก็ตามมาทันที ยิ่งคุณทำมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีกิจกรรมใหม่ ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุดมากขึ้นเท่านั้น จะดีกว่าหรือไม่ที่จะตั้งใจแน่วแน่ที่จะละทิ้งสิ่งเหล่านี้ตอนนี้ในเวลาที่ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ พาดบ่าเราอยู่ ดีกว่าที่จะไปตรงนี้ที ตรงนั้นทีอย่างไร้จุดหมาย? ตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน คุณต้องเข้มแข็ง ตั้งใจ ตัดสินใจที่จะทิ้งทุกอย่างแล้วก็ไปจัดการมัน เรื่องนี้ก็เหมือนกับเรื่องของนาโรปะ (Naropa) จะไปหาติโลปะ (Tilopa) ท่านออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนาลันทาอย่างเด็ดขาดแล้วก็ไป หรือเช่นเดียวกับท่านสองขะปะ (Tsongkhapa) ผู้ซึ่งได้รับคำสั่งสอนจากพระมัญชุศรีให้หาสถานที่ที่สงบเงียบฝึกการปฏิบัติขั้นต้น ได้ตั้งปณิธานว่าจะทำอย่างนั้น จึงละทิ้งสาวกนับหมื่นแล้วก็ไป
อย่าหลอกตัวเอง ก่อนการปฏิบัติธรรมในวันพรุ่งนี้จะเกิดขึ้น ความตายของวันนี้อาจมาถึงเร็วกว่า ดังนั้น ถ้าเราต้องการปฏิบัติธรรม ให้ปฏิบัติตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
แม้ว่าการกระทำของครูผู้ยิ่งใหญ่อย่างเช่น ท่านสองขะปะ และท่านปัทมะสัมภวะ (Padmasambhava) จะกระจายไปทั่วโลก แต่ครูเหล่านี้ทั้งหมดก็ตายไปแล้ว มีเพียงชื่อของพวกเขาเท่านั้นที่เหลืออยู่ ร่างกายของพวกเขาจากไปแล้ว และเราก็ทำความเข้าใจมันได้โดยผ่านคำสอนของพวกเขาก็เท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ความไม่เที่ยง เช่นเดียวกับพระพุทธไสยาสน์ในเมืองกุสินารา ซึ่งเตือนเราว่าแม้แต่พระพุทธเจ้าก็สิ้นพระชนม์ได้ ท่านศานติเทวะกล่าวไว้ใน การมีส่วนร่วมในพฤติกรรมของพระโพธิสัตว์ (Engaging in Bodhisattva Behaviour) (sPyod-'jug ภาษาสันกฤตคือ Bodhicharyavatara) ว่าถ้าพระพุทธเจ้า นั่นคือ พระปัจเจกพุทธเจ้าและสาวกสิ้นชีพหมดแล้ว มันยังจะต้องมีคำถามที่ว่าเราจะตายเหมือนกันไหม อีกหรือไม่? นี่เป็นคำสอนของสมเด็จองค์ดาไลลามะองค์ที่ 8 ซึ่งก็เหมือนกับปรมาจารย์ทั้งหลายที่เขียนคำสอนทั้งหมดนี้ก็ไม่มีชีวิตอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตว่า ถ้าและเมื่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้สูญสลายไปและกลับเข้าไปอยู่ในลักษณะที่เป็นแก่นแท้สำคัญแห่งพระพุทธเจ้า (สวภาวะ) สิ่งนี้เป็นไปก็เพียงเพื่อสอนความไม่เที่ยงแก่สาวกที่หลงผิดเท่านั้นเอง
เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ ในอีกร้อยกว่าปีเราก็จะไม่มีชีวิตอยู่ กษัตริย์และรัฐบุรุษด้วย ผู้ซึ่งภาคภูมิใจอย่างยิ่งในความมั่งคั่งและพละกำลังของตน แล้วก็ผู้ที่โอ้อวดถึงสิ่งดี ๆ ที่ได้ทำก็จะไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป จะเหลือเพียงชื่อของพวกเขาเท่านั้น เป็นความจริงเช่นเดียวกับผู้นำระดับโลกที่มีชื่อเสียงมากมายในปัจจุบัน พวกเขาก็จะไม่มีชีวิตอยู่ตรงนี้ในอนาคต คนที่อายุเท่าคุณและมีร่างกายแข็งแรงพอ ๆ กับคุณก็จะตายด้วย ทันใดนั้นพวกเขาก็จะถูกลักพาตัวไปโดยพญายมราช แล้วอะไรที่ทำให้คุณมั่นใจว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป? จงอย่ากลัวตายแม้ว่าเราจะถูกสอนว่าความไม่เที่ยงเป็นสิ่งที่โง่มากก็ตาม แม้แต่สัตว์ที่ทึ่มและโง่เขลาอย่างแกะ เมื่อมันเห็นว่าแกะตัวอื่น ๆ ถูกคนขายเนื้อฆ่า มันก็สั่นเทาด้วยหัวใจที่เต้นเร็ว
มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเกเช โปโตวา (Geshe Potowa) ว่า มีคน ๆ หนึ่งที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านของท่านมาขอท่านว่า “เมื่อความตายกำลังจะเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า ท่านช่วยส่งข้อความบอกข้าพเจ้าได้ไหม?” ต่อมามีคนเสียชีวิตในหมู่บ้านที่อยู่เหนือขึ้นไปและข้อความเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ถูกส่งไปยังชายคนนั้น แต่เขาไม่ได้ทำอะไรเลย สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับใครบางคนในหมู่บ้านที่อยู่ด้านล่างและที่อยู่ตรงกลาง ผู้ชายคนนี้ก็ยังไม่ทำอะไรเลย ในที่สุดสัญญาณแห่งความตายของเขาเองก็มาถึงเขา เขาจึงวิ่งไปหาเกเช โปโตวาและถามท่านว่า “ทำไมท่านไม่ส่งข้อความถึงข้าพเจ้า?” เกเช โปโตวาตอบว่า “เราทำแล้ว แต่ท่านไม่เข้าใจมัน” เกเช โปโตวาว่าตัวท่านเองเคยทำสมาธิพิจารณาไตร่ตรองถึงความไม่เที่ยงโดยนับจำนวนการตายที่เกิดขึ้นทั้งหมดในเปนโป (Penpo) หุบเขาที่ท่านอาศัยอยู่
ความเข้าใจเรื่องความไม่เที่ยงไม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลอ้างอิงจากพระคัมภีร์ คุณสามารถเห็นมันผ่านการรับรู้เปล่า ๆ จากความตายที่ทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหมดเป็นทุกข์ คนที่มองเห็นความชัดเจนของความตายแต่ไม่ได้ตระหนักถึงมัน ก็เหมือนคนตาบอดที่ลืมตาหรือคนที่มีตาเทียม ในอนาคต เพื่อน ญาติ คนรับใช้ และบริวารของเราจะเสียชีวิต ในขณะที่คุณอยู่ด้วยกันกับพวกเขา มันก็เหมือนกับใบไม้ที่ลมพัดมารวมกัน แล้วกระจัดกระจายไปในภายหลัง แม้ว่าตอนนี้เราจะอยู่ด้วยกัน แต่เมื่อเราได้พบกันอีกในชาติหน้า เราจะอยู่ในรูปแบบที่ต่างออกไปและจะจำกันไม่ได้ด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องที่ยากมากสำหรับบางคนที่จะนึกถึงความไม่เที่ยง แต่อย่างน้อยเราก็ควรมีความสมดุลของชีวิตทางโลกและทางธรรม เพราะสิ่งนี้มันจะสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ใบไม้ร่วง และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ ให้บทเรียนเรื่องความไม่เที่ยง ดังที่มิลาเรปะกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าเห็นทุกสิ่งรอบตัวเป็นคำสอน”
ความไม่เที่ยงอาจเปรียบได้กับ งานเทศกาล คนจากหมู่บ้านต่าง ๆ มารวมตัวกันเพื่องานนี้ แล้วจากนั้นพวกเขาก็แยกย้ายกันไป เราไม่รู้ว่าพวกเขาไปที่ไหนและจะไม่มีวันมารวมตัวกันแบบนี้อีกเลยก็เป็นได้ บรรดาเพื่อนฝูงและญาติ ๆ ที่เรามีอยู่รายล้อมเหล่านี้เปรียบเสมือนผู้คนในงานเทศกาลหรือแมลงวันในฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งต่างก็จะแยกย้ายกระจัดกระจายไป
สิ่งต่าง ๆ เช่น ฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนอาจสวยงามเย้ายวน แต่ล้วนเป็นคำสอนเรื่องความไม่เที่ยงและการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นองค์ประกอบนั้นอยู่ในตัวมันเองทั้งนั้น พืชมีสีเขียวก่อน จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นสีส้ม แล้วก็ไม่ผลิตพืชผลอีกต่อไป อุณหภูมิของน้ำในลำธาร สี และเสียงที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ลำธารที่มีสีเขียวอมฟ้าที่น่าประทับใจพร้อมกับระลอกคลื่นที่สวยงามราวกับการเต้นรำที่กำลังทำให้เกิดเสียงฟองสบู่ที่สวยงามก็จะหยุดนิ่งบนพื้นผิวของมันในที่สุด แล้วน้ำแข็งสีขาวและน้ำก็จะส่งเสียงออกมาเหมือนเสียงคนบ่นพึมพำ สิ่งเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับคนเช่นกัน เมื่อคนยังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ พวกเขาก็จะไปงานเลี้ยงต่าง ๆ และเพลิดเพลินกับการเต้นรำ ร้องเพลง และดื่มเหล้า แต่เมื่ออายุมากขึ้น นิสัยก็เปลี่ยนไป ก็เช่นเดียวกับในตัวอย่างก่อนหน้านี้ พวกเขายังทำเสียงบ่นพึมพำด้วย!
ในช่วงฤดูร้อน ผึ้งกำลังร้องเพลงดูดเอาน้ำหวานของดอกไม้ในสวนสวย ก็เหมือนตอนที่เรายังอายุน้อย เราหลงระเริงในความสุขและความสะดวกสบายทางโลก แต่ในฤดูใบไม้ร่วง สวนดอกไม้นี้ก็จะกลายเป็นเหมือนทะเลทราย และในฤดูหนาว เมื่อลมพัดผ่านสวน มันก็ส่งเสียงเศร้า ผู้คนไม่ต้องการไปที่นั่นและมองว่าทุกอย่างว่างเปล่า บางครั้งภูเขาทั้งลูกก็ถูกปกคลุมไปด้วยดอกไม้ จากนั้นในฤดูหนาวก็จะแห้งแล้งโดยสิ้นเชิง บ้านเรือนก็เหมือนกัน มันตากแดดตากฝนแล้วก็ผุกร่อน ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของความไม่เที่ยง อย่างไรก็ตาม ครูแห่งความไม่เที่ยงที่ชัดที่สุดโดยทันทีในตอนนี้ก็คือ รูปแบบทางกายภาพของเราเอง เมื่อเราอายุมากขึ้น เราไม่สามารถทำสิ่งที่เราทำในวัยหนุ่มสาวได้อีกต่อไป นั่นคือ เราเคลื่อนไหวช้าลงและรูปลักษณ์ของเราก็เปลี่ยนไป
ความไม่เที่ยงไม่เพียงแต่ใช้ได้กับสิ่งมีชีวิตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งไม่มีชีวิตด้วย เช่น อาคาร ธรรมชาติ สวน และเวลาด้วย สถานที่เช่นอารามอันยิ่งใหญ่ที่นาลันทาซึ่ง นาการ์จูนา (Nagarjuna) และ อสังคะ (Asanga) เคยเรียนที่นั่น และพุทธคยา (Bodh Gaya) ได้หายไปนานแล้ว สิ่งเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับอารามกันเดน (Ganden) ที่เซรา (Sera) และมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ยิ่งใหญ่อื่น ๆ ในทิเบต แม้แต่ห้องสมุดทิเบตและหอจดหมายเหตุ (Library of Tibetan Works and Archives) ที่เราอยู่ตอนนี้ก็จะพังทลายและกลายเป็นซากปรักหักพังในที่สุด นาการ์จูนากล่าวใน จดหมายถึงเพื่อน (Letter to a Friend) (ภาษาสันสกฤตคือ Suhrllekha) ของท่านว่า “หากทั้งจักรวาลจะถูกทำลายโดยการเผาไหม้ของดวงอาทิตย์ทั้งเจ็ด ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าร่างกายของเราจะถูกทำลายด้วยเช่นเดียวกัน” เนื่องจากการทำลายนั้นจะทำลายทุกสิ่งผ่านดินแดนพราหมณ์แห่งรูปร่างที่ไม่มีตัวตนที่มั่นคงชั้นแรก
หนูตัวสีดำและตัวสีขาวผลัดกันกินเชือกที่มัดฟาง ในตัวอย่างนี้ หนูตัวสีขาวและหนูตัวสีดำเป็นตัวแทนของกลางวันและกลางคืน มัดของฟางก็คืออายุขัยของเรา และเชือกรอบ ๆ ฟางนี้ก็คือระยะเวลาของมัน ก่อนที่เชือกเส้นนี้จะถูกทำลายอย่างสมบูรณ์ และมัดฟางซึ่งแสดงถึงอายุขัยของเราจะพังลง เราควรจะถือโอกาสนี้ทำสิ่งที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้ได้มากที่สุด
ทุกช่วงเวลากำลังไล่ล่าเราให้ไปหาพญายมราช ก็เช่นเดียวกับสัตว์ที่ถูกนำตัวไปที่โรงฆ่าสัตว์ แต่ละย่างก้าวนำเราเข้าใกล้ความตายมากขึ้น ทุกลมหายใจเข้าของเรานำเราเข้าใกล้ความตายมากขึ้น เราเข้าใกล้มันมากขึ้นแค่ไหนตั้งแต่ตื่นเช้าวันนี้? ความรู้สึกที่ว่าเราจะไม่ตายเพราะเราอายุยังน้อยอยู่ มันเป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่มีความแตกต่างในเรื่องของอายุสำหรับพญายมราช ถ้าพ่อแม่ที่แก่มาก มีผมขาวและร่างกายสั่นเทางอเหมือนคันธนูสามารถนำร่างของลูก ๆ ไปที่สุสานได้ เราจะพูดได้อย่างไรว่าพญายมราชมีการเลือกปฏิบัติตามอายุ? ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องปฏิบัติธรรมโดยไม่คำนึงถึงอายุ ไม่ใช่ปฏิบัติเฉพาะตอนที่เราแก่เท่านั้น สิ่งเดียวที่มีประโยชน์ก็คือ พระธรรม
เพื่อนที่เชื่อถือได้เพียงคนเดียวคือ การปฏิบัติของคุณเอง ผู้คนเชื่อถือไม่ได้ เมื่อพืชผลแห่งความมั่งคั่งของเราถูกทำลายโดยสถานการณ์อันเลวร้าย มันก็เป็นเรื่องยากที่จะได้รับการตอบสนองใด ๆ แม้แต่จากกลุ่มคนที่คุณเคยดูแลมาก่อนก็ตาม เมื่อเรายากจน ทุกคนจะทำให้เราผิดหวังและทอดทิ้งเรา นี่คือธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ เมื่อเราแก่และจน ผู้คนก็จะไม่สนใจเราด้วยซ้ำ เมื่อเราร่ำรวยและมีชื่อเสียง ผู้คนก็มักจะมองหาเราอยู่เสมอ เมื่อมีคนร่ำรวย ผู้คนมักจะเข้ามาหาและแสร้งทำเป็นพวกเขาว่ามีส่วนช่วยทำให้คน ๆ นั้นมีชื่อเสียง ผู้คนพยายามแชร์ความสุขของคุณ แต่ไม่ใช่ความเศร้าของคุณ เมื่อพวกเขาไม่สามารถได้ประโยชน์อะไรจากคุณอีกต่อไป พวกเขาก็จะเพิกเฉยต่อคุณ พระพุทธเจ้าทรงกระทำตรงกันข้ามและให้ความสำคัญกับคนยากจนและคนขัดสนมากกว่า
ถ้าคนที่มีอิทธิพลบอกเพื่อนที่คุณไว้ใจได้มากที่สุดว่าคุณไม่ดี เพื่อนคนนั้นก็จะเปลี่ยนใจและกลายเป็นคนที่เอาแน่ไม่ได้ แค่คำพูดเพียงไม่กี่คำก็อาจทำให้เขาไม่ชอบคุณในวันรุ่งขึ้นได้ นี่เป็นการพิสูจน์คำพูดที่ว่า “บางสิ่งบางอย่างอาจไม่สามารถเข้าถึงได้โดยความยาวหนึ่งหลาทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้สามารถเข้าถึงได้ด้วยความยาวเพียงไม่กี่นิ้ว” ซึ่งหมายความว่าคำพูดแค่ไม่กี่คำอาจทำให้คนที่เคยใกล้ชิดกลายเป็นคนที่ห่างไกลได้ เราต้องหาเพื่อนที่มั่นคงในพระธรรม เพื่อน ๆ ที่ระมัดระวังซึ่งกันและกันและลังเลที่จะชี้ข้อผิดพลาดและจุดอ่อนของคุณ อย่างไรก็ตาม ศัตรูของเราจะมีประโยชน์มากกว่าเมื่อเขาชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของเรา
บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อสะสมทรัพย์สมบัติ ผลก็คือ พวกเขาเปลี่ยนไปอย่างมากและมีความทุกข์มาก เพราะมันเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์อย่างมาก ดังนั้น เราจึงไม่ควรที่จะยึดติดกับความร่ำรวย ความมั่งคั่งมีลักษณะของความสุข แต่มันไม่ใช่ความสุข การหลงใหลในความมั่งคั่งของเราก็คล้ายกับการหลงใหลของผีเสื้อราตรีหรือผีเสื้อกับเปลวไฟ นั่นคือ ถ้ามันเข้าไปใกล้เกินไป มันก็จะถูกทำลาย คนรวยดูมีความสุข หน้าตาดี มีบ้านสวย และดูไม่ต้องกังวลเรื่องเงินทอง สิ่งนี้ดูน่าดึงดูดใจ แต่เมื่อเราหมกมุ่นอยู่กับสถานการณ์นี้อย่างเต็มที่ เราจะเห็นปัญหาและข้อเสียต่าง ๆ ของมัน ตัวอย่างเช่น บางคนเคร่งศาสนา แต่เมื่อพวกเขารวยขึ้น พวกเขาก็เลิกสนใจศาสนาและจิตใจก็มุ่งไปที่การสะสมความมั่งคั่งให้มากขึ้น เราเบื่อการสะสมคุณงามความดีอยู่เสมอ แต่ไม่เคยเบื่อที่จะสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเลย
กล่าวอย่างสั้น ๆ ก็คือ ชีวิตเป็นสิ่งไม่เที่ยงและความตายก็จะมาถึง ดังนั้น เราจึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับมัน ไม่มีความแน่นอนว่าความตายจะมาถึงเมื่อไหร่ แต่เมื่อมันมาถึงแล้ว มันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะหันหลังให้มัน คนรวยไม่สามารถติดสินบนมันได้ คนที่สวยก็ไม่สามารถหลอกล่อมันได้ คนที่กำยำล่ำสันก็สู้มันไม่ได้ มันดูเหมือนว่าในบางแห่ง เงินสามารถซื้อการต่ออายุวีซ่าหรือใบอนุญาตการมีถิ่นที่อยู่ได้ แต่มันก็จะไม่สามารถซื้อการต่ออายุขัยของเราได้
เมื่อเราถูกพญายมราชจับไว้ เราก็จะต้องทิ้งร่างกายที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดไป แม้ว่าเราจะตายบนเตียงอันอบอุ่น แต่เมื่อสติของเราจากไป มันก็จะไม่มีโอกาสแม้แต่วินาทีเดียวที่จะมองย้อนกลับไปที่ญาติ เพื่อนฝูง และความมั่งคั่งของเรา นี่คือความเป็นจริงของชีวิต และเราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อม เราต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสะสมไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทนต่อทุกความยากลำบากอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เราต้องพ้นจากชีวิตนี้ไปด้วยการแบกกระเป๋าเดินทางนั้น นั่นก็คือ ภาระและความรับผิดชอบของการกระทำที่สร้างสรรค์และที่เป็นการทำลายของเราไปด้วย พ่อแม่ที่แก่เฒ่าบางคนสร้างบ้านให้ลูก ๆ และหลาน ๆ ของพวกเขา แต่เมื่อพวกเขาตาย พวกเขาก็จะต้องแบกเอาภาระแห่งพฤติกรรมที่เป็นการทำลายไว้บนหลังของพวกเขาที่สร้างมันขึ้นมา ทั้งฆ่าไส้เดือน และอื่น ๆ ในขณะที่เด็ก ๆ เพียงแค่เพลิดเพลินกับการอยู่ในบ้านหลังนั้นก็เท่านั้น ดังนั้น จากการกระทำดังกล่าว เราจึงเพียงแค่สะสมน้ำหนักของกรรมด้านลบก็เท่านั้น
เมื่อเราเดินทางไปบนเส้นทางที่อันตรายของบาร์โด (bardo) และเผชิญหน้าหรือถูกกองกำลังทหารของพญายมราชหยุดเราไว้ เราตระหนักถึงความไร้ประโยชน์ของความพยายามที่เราทำเพื่อสะสมความมั่งคั่ง แม้ว่าเราจะเสียใจมากในตอนนั้น แต่สิ่งนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไรมากนัก สุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าใครคิดล่วงหน้าได้ คนนั้นก็ฉลาด ถ้าใครมาเสียใจทีหลัง คนนั้นก็โง่” คำแนะนำที่แท้จริงสำหรับคนแปลกหน้าในที่ที่ไม่รู้จักคือ พระธรรม เสบียงที่เตรียมไว้ในอนาคตสำหรับการเดินทางไกลคือพระธรรม คนพายเรือที่พาเราไปสู่อีกฝั่งของมหาสมุทรอย่างปลอดภัยคือ พระธรรม ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้นำกาย วาจา และใจของเรามาปรับใช้กับพระธรรม
ในเมื่อมันเป็นพลังอำนาจของเราเองที่จะรักษาความสุขของเราเองเอาไว้ได้ เราก็ต้องทำอย่างนั้น ถ้าเราไม่ทำ ก็จะมีบางครั้งที่เราสับสนและไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร มีความแตกต่างมากมายอะไรระหว่างผู้ที่มีศาสนากับผู้ที่ไม่มีศีลธรรมที่ตายไป คนหลังเสียชีวิตโดยไม่มีการตระหนักรู้และด้วยความเจ็บปวด คนแรกตายอย่างสงบและเตรียมพร้อมก่อนล่วงหน้า โดยแบ่งทรัพย์สมบัติให้คนยากจน ญาติพี่น้อง ผู้ลี้ภัย และอื่น ๆ เพื่อที่จะเป็นเหมือนผู้ที่มีศาสนา เราควรจะพยายามเรียนรู้จากคำสอนเหล่านี้ให้มากที่สุด เราไม่ควรทำการสละละทิ้งอย่างผิด ๆ และเลิกกินอาหาร การนอน และความมั่งคั่งทั้งหมด แต่ควรจะมีความสมดุลทางจิตวิญญาณและความกังวลด้านวัตถุ และพยายามฝึกฝนให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
การปฏิบัติธรรมไม่ได้เป็นเรื่องของการแต่งกายและปฏิบัติตามจารีตประเพณี แต่มันคือการมีจิตใจที่อบอุ่นและเห็นอกเห็นใจ มีเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวชาวทิเบตที่ตายไป ตกนรก และพบกับพญายมราช เธอบอกพญายมราชว่า ถึงแม้เธอจะทำให้เกิดอันตราย แต่เธอก็ทำอย่างนั้นด้วยแรงจูงใจที่ดีทางจิตใจ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงถูกส่งกลับคืนสู่ชีวิตในรูปแบบเดิม นี่แสดงให้เห็นความจำเป็นของการมีจิตใจที่ดีมีน้ำใจ ไม่ว่าการกระทำของเราจะปรากฏออกมาภายนอกอย่างไร
มีคำกล่าวหนึ่งที่ว่า “คนที่พูดมากเกี่ยวกับพระธรรมจะปฏิบัติน้อย” พระอติศะเน้นย้ำเรื่องนี้เสมอ และทุกครั้งที่เจอคน ๆ หนึ่ง ท่านก็มักจะถามเสมอว่า “ท่านมีจิตใจดีมีเมตตาไหม?” เมื่อดรอมตันปา (Dromtonpa) ได้ยินเรื่องการตายของพระอติศะ เขาเสียใจมากที่เขาไม่ได้อยู่กับพระอติศะตอนที่ท่านเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม พระอติศะฝากข้อความไว้บอกเหล่าลูกศิษย์ของท่านว่า หากตัวท่านเองไม่อยู่อีกต่อไปแล้ว หากพวกเขามีจิตใจที่ดี ก็เหมือนกับการได้เห็นท่าน นอกจากนี้ มันก็เป็นการดีด้วยที่จะจำคำสอนของนิกายกาดัมปะที่ว่า ถึงแม้ตอนนี้เราจะบ่นว่าไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ แต่ถ้าเราสามารถยับยั้งตนเองจากการทำร้ายผู้อื่นได้ มันก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในระดับของเรา จงพยายามอย่าทำให้ใครไม่พอใจ
ขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ เราก็ยังมีโอกาสและพลังที่จะสะสมศักยภาพในเชิงบวกและเพื่ออนาคตของเราได้ เราเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดและศัตรูตัวฉกาจของตัวเราเองในเวลาเดียวกัน ความสุขในอนาคตของเราขึ้นอยู่กับตัวเรา คนที่ตายโดยไม่ได้ปฏิบัติธรรม ก็เหมือนสุนัขที่ใกล้ตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบาร์โด มันไม่มีความแตกต่างอะไรกันเลยที่คุณเกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ไม่ปฏิบัติธรรมกับสุนัขที่ตายอยู่ข้างถนน อันที่จริงแล้ว เมื่อตายไปแล้ว มันก็อาจกลับกลายเป็นว่าสุนัขสร้างกรรมด้านลบน้อยกว่า ดังนั้น การนึกถึงความไม่เที่ยงจึงมีความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น ตรงกลาง และตอนจบของการปฏิบัติ แม้แต่ปรมาจารย์ที่รู้แจ้งเห็นจริงและมีประสบการณ์มากที่สุดก็ยังทำสมาธิไตร่ตรองถึงความไม่เที่ยงเช่นกัน
จากรอยเท้าทั้งหมด รอยเท้าที่ใหญ่ที่สุดคือรอยเท้าของช้าง จากความคิดทั้งหมด สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดคือความไม่เที่ยง
มิลาเรปะเข้าสู่พระธรรมตอนที่เขาเห็นความตายที่เกิดจากมนตร์ดำของครูของครูเขา กัมโปปะ (Gampopa) เข้าสู่พระธรรมเมื่อภรรยาเสียชีวิต ในทำนองเดียวกัน เมื่อพระพุทธเจ้าเห็นความตายเป็นครั้งแรก พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลใจให้เข้าสู่พระธรรมและหาทางดับทุกข์นี้ ความไม่เที่ยงมีความหมายว่า ทางที่อยู่ตรงกลาง (อย่าสับสนกับมัธยมกะหรือทางสายกลาง) มันเป็นทางที่อยู่ตรงกลางที่ทำหน้าที่ขัดขวางการยึดติดกับชีวิตนี้และสร้างความคิดเชิงบวกต่อการปฏิบัติทั้งหมดของเรา ความไม่เที่ยงนี้ในฐานะที่เป็น “ทางสายกลาง” มีการตีความที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเช่นกัน สามารถอธิบายมันว่าเป็นมัธยมกะได้เช่นกัน ความไม่เที่ยงเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในปรัชญามัธยมกะ ซึ่งขจัดความคิดเกี่ยวกับตัวตนที่เป็นเท็จและช่วยสร้างเราในความเป็นจริงแห่งตัวตนตามแบบแผนได้
หลังจากที่เราเอาจิตใจออกจากความฟุ้งซ่านต่าง ๆ และมุ่งไปที่พระธรรมได้แล้ว เราก็ต้องทำสิ่งต่อไปนี้ แม้ว่าในโลกนี้จะมีประเพณีปฏิบัติที่ขึ้นชื่ออย่างลึกซึ้งมากมาย แต่หลังจากที่เราน้อมรับการปฏิบัติธรรมโดยสมบูรณ์แล้ว มันก็น่าจะพยายามปฏิบัติตามแก่นแท้ของคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสามชาติผ่านประเพณีปฏิบัติของท่านสองขะปะที่มั่นคงถาวรแล้ว สำหรับสิ่งนี้ เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามวิธีการของพระสูตรและตันตระรวมกัน ซึ่งรวมถึงคำอธิบายและการปฏิบัติด้วย ในการที่จะปฏิบัติตามนี้ เราต้องรู้จักธรรมชาติ ขั้นตอน และส่วนต่าง ๆ ของเส้นทางนี้และปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง ตัวอย่างเช่น เราไม่ควรฝึกตันตระก่อนพระสูตร หรือศึกษาพระโพธิจิตโดยไม่รู้ถึงการเกิดใหม่ของมนุษย์อันล้ำค่า ทิศทางที่ปลอดภัย (ที่พึ่ง) การเกิดขึ้นของสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นต้น
เราควรพยายามปลูกฝังสัญชาตญาณสำหรับเส้นทางที่ไม่ผิดพลาดทั้งหมดและคำสอนที่สำคัญ ๆ ไว้ในจิตใจของเราในแต่ละวัน เช่นเดียวกับพ่อค้าที่พยายามขายให้ได้มากที่สุดในแต่ละวัน เราก็ควรพยายามปลูกเมล็ดพันธุ์สีขาวให้ได้มากที่สุดในแต่ละวันเพื่อสร้างศักยภาพเชิงบวกให้ได้มากที่สุดเช่นกัน ในทางปฏิบัติ เราสามารถทำสมาธิโดยทบทวนทีละประเด็นเกี่ยวกับเนื้อหาสั้น ๆ ของเส้นทางทั่วไปของพระสูตรและตันตระได้ เช่น รากฐานสำหรับคุณสมบัติที่ดี (The Foundation for Good Qualities) (Yon-tan gzhi-gyur-ma) ซึ่งมักจะท่องจำ ท่องช้า ๆ และทำสมาธิไตร่ตรองถึงมัน นอกจากนี้ ยังอาจพบได้ใน การปฏิบัติเบื้องต้น (Jorcho) (sByor-mchod) ด้วย อีกคัมภีร์หนึ่งที่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นคือ ประเด็นสั้น ๆ ของเส้นทางตามลำดับขั้น (The Abbreviated Points of the Graded Path) (Lam-rim bsdus-don) ซึ่งกล่าวถึงทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการ (บารมี 6) ซึ่งเนื้อหานี้ไม่ชัดเจนเท่า รากฐานสำหรับคุณสมบัติที่ดี แต่รวมเอาความมีวินัยในตนเองตามหลักจริยธรรมสามประเภทไว้ ซึ่งในทางกลับกันก็ได้รวมเอาทัศนคติที่กว้างไกล 6 ประการไว้ด้วย อีกเนื้อหาหนึ่งที่เราสามารถใช้สำหรับการทำสมาธิโดยทบทวนทีละประเด็นแบบนี้คือ ส่วนหนึ่งของการปฏิบัติลัม-ริมตามลำดับขั้นตอนใน บูชาครู - ลามะ โชปา (The Guru Puja –Lama Chopa) (Bla-ma mcchod-pa) การทำสมาธิโดยทบทวนทีละประเด็นเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการทบทวนสิ่งที่เราได้เรียนรู้และช่วยจัดระเบียบในจิตใจของเรา คล้ายกับการตรวจสอบแผนที่เพื่อดูว่าทุกอย่างอยู่ที่ไหนหรือมีมุมมองทางอากาศจากภูเขาบนที่ราบทั้งหมด
มันอาจเป็นเรื่องยากที่จะได้ประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติลัม-ริมในตอนนี้ แต่การทำสมาธิโดยทบทวนทีละประเด็นในแต่ละวันจะปลูกฝังคำแนะนำสำหรับการรวบรวมคำสอนทั้งหมดไว้ในจิตใจของเรา เมื่อเราทำสมาธิพิจารณาไตร่ตรองด้วยการปฏิบัติลัม-ริมนั้น เราต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องที่ให้ไว้ในคำแนะนำ อันดับแรก เราควรจะกำหนดแรงจูงใจเกี่ยวกับโพธิจิตของเราและสุดท้ายก็อุทิศตนให้ เมื่อเรากำหนดแรงจูงใจในตอนเริ่มต้นการปฏิบัตินี้ เราควรจะคิดว่าเรากำลังมีส่วนร่วมในการทำสมาธิเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นทั้งหมด ถ้าเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยเราก็ควรมีการละทิ้ง ในตอนท้ายของการทำสมาธิ เราควรอุทิศศักยภาพเชิงบวกที่เราสร้างขึ้นเพื่อความสุขของสัตว์โลกทั้งหมดและการบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าของพวกเขา อาตมาขอให้คุณใช้แก่นแท้ของชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าของคุณโดยการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติแบบนี้ “การรับเอาแก่นแท้” มีการตีความอยู่สามระดับ นั่นคือ ใหญ่ กลาง และเล็ก ระดับใหญ่คือ การเป็นพระพุทธเจ้าในชาตินี้ ระดับกลางคือ การบรรลุถึงการหลุดพ้นจากอารมณ์ที่รบกวนจิตใจทั้งปวง และระดับเล็กคือ การบรรลุถึงการเป็นอิสระจากการเกิดใหม่ในสภาพที่ต่ำกว่า
การอุทิศตน
ด้วยแรงและพลังของแรงในเชิงบวกที่สร้างขึ้นจากสิ่งนี้ ขอให้เราสามารถทำลายแหล่งที่มาของความทุกข์ นั่นคือ การยึดจับความถาวร ความยึดติด และความเกลียดชังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขอให้เราสามารถทำลายพลังแห่งการยึดจับการดำรงอยู่จริงซึ่งเป็นรากเหง้าของสังสารวัฏได้ ขอให้ทุกคนบรรลุถึงสภาวะความเป็นอมตะอันเป็นมงคลอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ ความเป็นพระพุทธเจ้าด้วยเทอญ
การปฏิบัติธรรมในวันหนึ่งตอนที่พระธรรมเสื่อมยังดีกว่าการประพฤติตามหลักจริยธรรมนับร้อยตอนที่พระธรรมรุ่งเรือง การปฏิบัติธรรม หมายถึง การมีจิตใจดี มีน้ำใจ นึกถึงผู้อื่น เห็นอกเห็นใจ ละเว้นจากการไม่ทำอันตรายผู้อื่น นี่คือวิธีตอบแทนความน้ำใจของครูเหล่านั้น แทนที่จะแสร้งทำเป็นเห็นอกเห็นใจในขณะที่เก็บความเกลียดชังของเราไว้ในใจ การปฏิบัติธรรมอย่างไม่เสแสร้งนั้นดีที่สุด มิลาเรปะกล่าวว่า “อย่าทำงานเพื่อความสุขของตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อความสุขของผู้อื่นด้วย นี่คือวิธีตอบแทนคุณของครูที่เป็นเสมือนดั่งพ่อ”
วิธีที่ดีที่สุดสำหรับผู้เริ่มต้นที่จะเข้าสู่พระธรรมคือ ขั้นแรก ให้เรียนรู้เกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการทำลาย 10 ประการและยับยั้งตนเองจากสิ่งเหล่านี้เสียก่อน จากนั้นจึงค่อย ๆ ฝึกฝนการปฏิบัติของเราและเข้าสู่การทำสมาธิ การทำสมาธิทันทีตั้งแต่เริ่มต้นนั้นอาจเพียงแค่นำไปสู่ความคับข้องใจที่เรียกว่า “lung” (พิธีการท่องด้วยปากเปล่า) และความสับสนได้ ดังนั้นแล้ว เราจึงอาจพัฒนาความเกลียดชังในการทำสมาธิได้อย่างง่ายดาย นี่เป็นพื้นฐานที่ไม่เป็นอันตรายที่สุด มั่นคงที่สุด และไม่เสแสร้งเพื่อการปฏิบัติธรรม ในการฝึกปฏิบัติการกระทำที่สร้างสรรค์ทางจริยธรรม 10 ประการ เราจำเป็นต้องพัฒนาศักดิ์ศรีทางศีลธรรมในตนเอง ใส่ใจว่าการกระทำของเราจะกระทบผู้อื่นอย่างไร มีสติสัมปชัญญะ และตื่นตัว เราไม่ควรจะทำแค่สิ่งที่ทำให้เราพอใจเท่านั้น แต่ให้นึกถึงผลกระทบต่าง ๆ ของสิ่งที่เราสวมใส่ ทำ คิด และพูดต่อผู้อื่นด้วย ที่สำคัญ เราไม่ควรทำร้ายใคร