บทนำ
หัวข้อสำหรับเย็นนี้คือ การทำสมาธิเชิงวิเคราะห์ ตอนนี้ การฝึกพัฒนาตัวเราเองในแง่ของการไปสู่ทิศทางชีวิตที่ปลอดภัยและเป็นบวกและโพธิจิตประกอบด้วยกระบวนการ 3 ขั้นตอนดังนี้
- เราต้องฟังคำสอนต่าง ๆ
- จากนั้น เราต้องครุ่นคิดหรือคิดคำนึงถึงคำสอนเหล่านั้น
- แล้วเราก็ต้องทำสมาธิไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งและจริงจังเกี่ยวกับคำสอนเหล่านั้น
ทุกคนเห็นด้วยกับสิ่งนั้น นี่เป็นคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เป็นมาตรฐานมาก
การสงบใจ
การเพ่งสมาธิไปที่ลมหายใจเพื่อสงบสติอารมณ์ ซึ่งบางคนเชื่อว่าเป็นสมถะที่สมบูรณ์ เป็นเพียงเบื้องต้นของสามขั้นตอนเท่านั้น เราต้องสงบใจก่อนฟังคำสอนต่าง ๆ เราต้องสงบใจก่อนคิดถึงคำสอนเหล่านั้น เราต้องสงบใจก่อนทำสมาธิ ซึ่งการจดจ่ออยู่กับลมหายใจสามารถทำสิ่งนั้นได้ เพียงแค่สงบใจอย่างเดียวไม่ได้นำเราไปสู่สภาวะการมีสมาธิที่มุ่งมั่น และแน่นอนว่า มันก็ไม่ได้ขจัดสาเหตุของปัญหาของเรา (แม้ว่ามันจะทำให้เรามีจิตใจที่มีความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นในการจัดการกับอุปสรรคเหล่านี้ก็ตาม)
แน่นอนว่าการเพ่งสมาธิไปที่ลมหายใจอาจนำมาเป็นจุดกำหนดของการพัฒนาสมาธิอย่างเต็มที่ได้ แต่เพียงแค่ใช้การเพ่งสมาธิอย่างเดียวเพื่อสงบจิตใจไม่ได้นำเราไปสู่สภาวะของสมาธิทั้งหมด และอันที่จริง ถ้าเรามองให้ลึกลงไปอีกหน่อย มันก็มีเพียงในคำสอนของเถรวาทเท่านั้นที่บอกว่าเราสามารถมีสมาธิเต็มที่ได้ด้วยการจดจ่ออยู่กับลมหายใจ การจดจ่ออยู่กับลมหายใจคือการรับรู้ความรู้สึกจากประสาทสัมผัส ซึ่งเป็นการรับรู้ความรู้สึกทางกาย ส่วนตามคำสอนของมหายาน ซึ่งเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาแบบทิเบตปฏิบัติตาม เพื่อให้ได้สมาธิเต็มที่ คุณต้องใช้การรับรู้ทางจิตใจ ไม่ใช่การรับรู้ทางประสาทสัมผัส
ดังนั้น เวลาที่เรามองดูที่การทำสมาธิตามประเพณีปฏิบัติของพุทธศาสนาแบบทิเบต เราจึงต้องมองข้ามเพียงแค่การสงบใจด้วยการจดจ่ออยู่กับลมหายใจเท่านั้น นั่นเป็นเบื้องต้น
การฟัง
ครับ ดังนั้น เราจึงต้องฟังคำสอนต่าง ๆ คิดถึงคำสอนเหล่านั้น แล้วทำสมาธิพิจารณาไตร่ตรอง จากแต่ละขั้นตอนทั้งสามนี้ เราจะได้มาซึ่งการรับรู้ที่แยกแยะ (ซึ่งมักจะแปลว่า ปัญญา แต่ ปัญญา นั้นคลุมเครือเกินไป) ก่อนอื่นเราต้องแยกแยะบางสิ่งบางอย่างเสียก่อน ซึ่งนั่นมักจะเรียกว่า “การแยกแยะออก” เช่นเดียวกับในด้านการมองเห็น ซึ่งในการที่จะจัดการกับมันและมีการรับรู้เชิงลึกใด ๆ ทั้งหมด คุณจะต้องสามารถแยกแยะรูปร่างและสีของใบหน้าของใครบางคนจากผนังได้ นั่นคือขั้นตอนแรก การแยกแยะ และสิ่งที่การรับรู้ที่แยกแยะทำก็คือ มันจะเพิ่มความเด็ดขาดให้กับสิ่งนั้นว่า “มันเป็นสิ่งนี้แน่นอน ไม่ใช่สิ่งนั้น” นั่นคือความหมายของการรับรู้ที่แยกแยะ (อย่างที่ผมพูด โดยปกติแล้ว มันมักจะแปลว่า ปัญญา แต่ ปัญญา ไม่ได้สื่อถึงลักษณะเฉพาะบางอย่างของสิ่งที่เรากำลังพูดถึงในที่นี้จริง ๆ)
จากการฟัง เมื่อเราได้ยินคำสอนบางอย่าง สิ่งที่เราได้มาก็คือ การรับรู้ที่แยกแยะที่เกิดจากการได้ยิน ซึ่งหมายถึงแยกแยะคำสอนทางพระพุทธศาสนา หมายความว่าเราแยกแยะคำกล่าวทางพุทธศาสนาออกจากคำกล่าวอื่น ๆ (สมมติว่าไม่ใช่คำกล่าวทางพุทธศาสนา) และเราก็ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า “นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า” ในการที่จะได้รับผลสำเร็จด้วยคำสอนนั้น เราต้องตัดสินใจเด็ดขาดว่านี่เป็นคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่ใช่หรือ?
ตรงนี้ สิ่งที่เราได้ในขั้นนี้คือ ความคิดในถ้อยคำแห่งพระธรรม แต่เราไม่รู้ว่ามันหมายถึงอะไร ตัวอย่างเช่น ฉันมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า ครับ เราสามารถแยกแยะสิ่งนั้นจากข้อความที่ไม่ใช่ข้อความทางพระพุทธศาสนาได้ เราจึงมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า และเราก็คิดว่ามันเป็นจริงเพราะเราเคารพพระพุทธเจ้า แต่ในขั้นนี้ เราไม่เข้าใจความหมายจริง ๆ ว่ามันหมายถึงอะไร เรารู้ว่าคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่ได้บอกว่าชีวิตมนุษย์นี้ไร้ความหมาย ไม่มีจุดหมาย และชีวิตไม่มีจุดหมาย เราได้แยกแยะว่า “โอเค ข้อความทางพุทธศาสนานั้นคือ เรามีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า”
การคิด
ตอนนี้ เราต้องไปต่อในขั้นต่อไป ซึ่งก็คือ การคิดถึงมันเพื่อให้เข้าใจความหมายของมัน นั่นหมายถึง การคิดถึงคำจำกัดความของชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า มันหมายความว่าอย่างไร และการให้เหตุผลว่าเหตุใดมันจึงมีค่า ถ้าเราเข้าใจสิ่งนั้น เราก็จะเข้าใจคำสอนนั้นไม่ใช่หรือ? ดังนั้น เราจึงต้องฝึกทำงานกับสิ่งนี้ เราต้องคิดพิจารณาเกี่ยวกับมัน เราต้องเข้าใจว่าคุณลักษณะ 18 ประการของชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าคืออะไร ตัวอย่างเช่น ฉันไม่ใช่สัตว์ เราไม่ได้กำลังพูดในแง่ชีววิทยาที่ว่าเราไม่ใช่พืช เราเป็นสัตว์ เราไม่ได้พูดในแง่ความรู้สึกนั้น มนุษย์คือคนที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นอันตรายในระยะยาว และสามารถเข้าใจ สื่อสาร ฯลฯ ได้
ดังนั้น เราต้องเข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร นั่นคือ ฉันไม่ใช่สัตว์ และเราต้องเข้าใจแนวการให้เหตุผลและเชื่อมั่นว่ามันพิสูจน์ข้อสมมุติ ตรงนี้ข้อสมมุติคือ การได้เกิดเป็นมนุษย์ มิใช่สัตว์ เป็นสิ่งที่ล้ำค่าสำหรับการปฏิบัติและตระหนักถึงพระธรรม ข้อสมมุติ หมายถึงสิ่งที่เราพยายามพิสูจน์ การได้เกิดเป็นมนุษย์ มิใช่สัตว์ เป็นสิ่งที่ล้ำค่าสำหรับการปฏิบัติและตระหนักถึงพระธรรม และแนวการให้เหตุผลก็คือ ในฐานะสัตว์ ฉันอาจจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของสัญชาตญาณสัตว์อย่างท่วมท้น สัญชาตญาณของสัตว์คืออะไร? ล่าและฆ่า เพื่อปกป้องอาณาเขตของฉันเหมือนสุนัขที่เห่าถ้าใครเข้ามาในบริเวณบ้าน และมีเพศสัมพันธ์กับสัตว์อื่น ๆ ได้ตลอดเวลาเมื่อเราต้องการ ในฐานะของสัตว์ เรามีพลังที่อ่อนแอมากในการแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสิ่งที่เป็นอันตรายในระยะยาว เห็นได้ชัดว่าในระยะสั้นเราสามารถแยกแยะได้ นั่นคือ คุณหนีจากสิงโตเพราะนั่นมันมีประโยชน์ แต่ในระยะยาวเราไม่สามารถที่จะแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสิ่งที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น ถ้าฉันเป็นแบบนี้ การปฏิบัติธรรมก็คงจะยากยิ่งนัก
คุณต้องคิดถึงสิ่งนั้นและพยายามจินตนาการว่ามันกำลังพูดถึงอะไร เราพยายามจินตนาการว่า ถ้าเป็นสัตว์จะเป็นอย่างไรเพื่อโน้มน้าวตัวเราเองถึงข้อเสียของสิ่งนั้น ถ้าเรามีสัญชาตญาณนี้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสัญชาตญาณที่แรงกล้าในการล่า… ผมหมายถึง แค่ดูวิธีที่แมวไล่ตามแมลงหรือหนู มันอาจจะไม่กินสัตว์พวกนั้นด้วยซ้ำ ก็แค่ทรมานมัน แล้วก็พยายามจับมัน ถ้านี่เป็นสัญชาตญาณแรกของเรา ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นที่รุนแรง เมื่อเราเห็นบางสิ่งเคลื่อนไหวเล็กน้อยบนพื้น… แล้วเราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรหากนั่นเป็นสัญชาตญาณโดยอัตโนมัติของเรา ถ้ามันมากมายท่วมท้นขนาดนั้น?
จริง ๆ แล้ว การสังเกตพฤติกรรมของเราเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เราสังเกตเห็นแมลงวัน แมลงสาบ หรือยุงอยู่ในห้อง แล้วเราก็ทำราวกับว่า เราจะสวมหมวกซาฟารี หยิบปืนออกมา แล้วออกล่า แล้วเราก็ไม่สามารถทำสมาธิได้ เราไม่สามารถทำอะไรได้ จนกว่าเราจะจับและฆ่าเหยื่อของเราได้ เราทำสมาธิไม่ได้ เรียนหนังสือไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย จนกว่าเราจะฆ่าสิ่งนี้ อย่างที่ผมพูด การนำสิ่งต่าง ๆ ไปสู่ข้อสรุปที่ไร้สาระนั้นมีประโยชน์มาก หากเมื่อไหร่ที่เรารู้ตัวว่ากำลังทำเช่นนั้น ก็ให้เราคิดในแง่ของการสวมหมวกซาฟารีและไปป่าซาฟารีในแอฟริกา แล้วเราก็จะเห็นว่าพฤติกรรมของเราไร้สาระเพียงใด และแม้ว่าเราพยายามที่จะไล่ยุงออกจากห้องต่อไป แต่อย่างน้อยทัศนคติของเราก็เปลี่ยนไปเล็กน้อยเกี่ยวกับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราไม่ใช่เป็นเพียงแค่สัตว์ที่ตามล่าเท่านั้น
นอกจากนี้ ถ้าเราเป็นสัตว์และเราถูกล่าจากสัตว์ตัวอื่น ๆ ที่อาจโจมตีเราได้ตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องเฝ้าระวังอยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็จะไม่เอื้ออำนวยให้เราสงบลง มีสมาธิ ฯลฯ เพื่อการศึกษาได้
เช่นเดียวกันนี้ เราก็จะตรวจสอบลักษณะอื่น ๆ ของสัตว์ เช่น พฤติกรรมทางเพศของสัตว์ อาณาเขตของสัตว์ ฯลฯ แล้วดูว่านี่เป็นสัญชาตญาณที่เด่น สัญชาตญาณที่แข็งแกร่งของเราหรือไม่อย่างไร เช่นเคยว่า มันก็คงยากมากที่จะก้าวหน้าในการฝึกปฏิบัติได้
หรือถ้าเราต้องลากของหนัก ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นในอินเดีย วัวตัวผู้ที่ต้องลากของหนักมาก (และถูกเฆี่ยนตลอดเวลา ฯลฯ) นั่นก็จะทำให้การฝึกฝนใด ๆ เป็นเรื่องยากเช่นกัน ดังนั้น แบบนี้ เมื่อเรานึกถึงตัวอย่างนี้ ประเด็นที่เกิดเป็นสัตว์โดยเฉพาะนี้ เราจำต้องเชื่อมโยงมันกับบริบทของอินเดียโบราณ เราไม่ได้คิดถึงแบมบี้หรือสุนัขพุดเดิ้ลของใครบางคนในบ้านที่ร่ำรวย เรากำลังนึกถึงแมลงสาบ เรากำลังคิดถึงสุนัขข้างถนน เรากำลังคิดถึงสัตว์ที่มีไว้ใช้งาน
ดังนั้น เราจึงเข้าใจการให้คำจำกัดความของลักษณะเฉพาะตรงนี้ และเราก็เข้าใจว่าเราไม่ได้เป็นแบบนี้ ดังนั้น ฉันจึงเป็นอิสระจากสิ่งนี้ เพราะฉันเป็นอิสระจากสิ่งนี้ ฉันจึงมีโอกาสและเสรีภาพที่จะปฏิบัติธรรมได้ ดังนั้น ฉันจึงมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า
เรามาใช้เวลาสักครู่ในการทำขั้นตอนนี้กัน เราจำได้ถึงสิ่งที่เรากำลังพูดถึงเมื่อพูดถึงสัตว์ และเราก็เข้าใจดีว่าเราเป็นอิสระจากสิ่งนั้น และเนื่องจากเราเป็นอิสระจากสิ่งนั้น เราจึงมีโอกาสที่จะฝึกฝน
ครับ เราจะเห็นว่าเราไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจของสัญชาตญาณของสัตว์อย่างสมบูรณ์ นั่นคือ
- ฉันไม่ต้องวิ่งทับสิ่งเล็ก ๆ ที่เคลื่อนไหวบนพื้น
- ฉันไม่ต้องเห่าเวลาที่สัตว์อื่น ๆ เห่าและทำในสิ่งที่พวกมันทำ
- ฉันไม่ต้องกระโจนเข้าใส่สัตว์อีกตัว เหมือนทุกครั้งที่ฉันเห็นตัวที่ดึงดูดใจฉัน ฉันก็เพียงแค่ต้องกระโจนเข้าใส่มันเท่านั้น
แม้ว่าฉันอาจมีสัญชาตญาณของสัตว์อยู่บ้าง แต่ฉันก็ไม่จำเป็นต้องแสดงมันออกมา ฉันเป็นมนุษย์ ฉันมีความสามารถในการแยกแยะระหว่างสิ่งที่เหมาะสมกับสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้ ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงมีชีวิตมนุษย์ที่ล้ำค่าและมีชีวิตมนุษย์ที่ล้ำค่าเพื่อเป้าหมายหนึ่ง เป้าหมายนั้นก็คือ เพื่อที่จะสามารถศึกษาและปฏิบัติธรรมได้ ไม่ใช่เพียงแค่หาเงินให้ได้มาก ๆ เท่านั้น
ดังนั้น ในขั้นตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่? คิดและครุ่นคิดถึงพระธรรม เราไม่ได้อาศัยแค่คำพูดเท่านั้น นั่นคือขั้นแรก แต่โดยอาศัยเครื่องหมายลักษณะเฉพาะหรือการให้คำจำกัดความของคุณลักษณะของชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าและสถานการณ์ของเราเอง สภาวะแวดล้อมเฉพาะของเราเอง และโดยอาศัยแนวการใช้เหตุผล เราก็จะได้รับความเข้าใจเชิงอนุมาน การอนุมาน หมายถึงการพึ่งพาแนวการใช้เหตุผล เพราะสิ่งนี้ ฉันจึงรู้สิ่งนั้น และเราก็ได้มาซึ่งการรับรู้ที่แยกแยะที่เกิดขึ้นจากการคิด และมันก็มุ่งเน้นไปที่ความคิดที่มีความหมายด้วย ไม่ใช่แค่ความคิดเกี่ยวกับคำที่ไร้ความหมายเท่านั้น ดังนั้น ตรงนี้ ความคิดที่มีความหมายในเรื่องนี้ก็คือ “ฉันมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า เพราะฉันเป็นอิสระจากการเป็นสัตว์” และมันก็เด็ดขาดเกี่ยวกับเรื่องนั้น มันแยกแยะสิ่งนี้ โดยแยกแยะสิ่งนี้จากเหตุผลอื่น ๆ และจากคำจำกัดความที่คลุมเครือ ฯลฯ แล้วก็เด็ดขาดเกี่ยวกับมัน
เรามาลองเพ่งสมาธิไปที่การรับรู้ที่แยกแยะกัน นั่นคือ “ฉันมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าเพราะฉันเป็นอิสระจากการเป็นสัตว์” เราเพ่งสมาธิไปที่ความเข้าใจนั้น อันที่จริง ลำดับนั้นควรจะเป็นไปในทางที่ตรงกันข้าม นั่นคือ “ฉันเป็นอิสระจากการเป็นสัตว์ ดังนั้น ฉันจึงมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราอาศัยแนวการใช้เหตุผล แล้วจากนั้นก็ได้ข้อสรุป และเราก็จะต้องพึ่งพาแนวการใช้เหตุผลนั้นซ้ำอีก
ดังนั้น คุณจึงเห็นว่ามีความแตกต่างอย่างมากระหว่างสองขั้นตอนแรก การได้ยินและการคิด การรับรู้ที่แยกแยะที่เราได้รับจากแต่ละขั้นนั้นค่อนข้างแตกต่างกัน
- ขั้นแรกคือ “ฉันมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า” คุณรู้ว่านั่นคือคำสอนทางพระพุทธศานา ไม่ต้องสงสัยเลย แต่เราเพียงสันนิษฐานว่ามันเป็นเรื่องจริง เราไม่รู้จริง ๆ ว่าทำไม เราไม่เข้าใจความหมายว่าจริง ๆ แล้วมันหมายถึงอะไร
- แต่ขั้นที่สอง เรารู้ว่าชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าหมายถึงอะไร เรารู้ว่าทำไมเราจึงมีมัน (เหตุผลของมัน) และเรารู้จุดประสงค์ที่ทำให้มันล้ำค่า (ล้ำค่าเพื่อให้สามารถปฏิบัติธรรมได้) ดังนั้น แทนที่จะสันนิษฐานว่าเป็นความจริงโดยปราศจากความเข้าใจ เราสามารถมาถึงการสรุปนี้และรู้อย่างถูกต้องผ่านการอนุมาน นั่นหมายถึง จากการอาศัยแนวการใช้เหตุผล และเราก็มีการรับรู้ที่แยกแยะเกี่ยวกับมัน นั่นหมายความว่าเราเด็ดขาดในสิ่งนั้น เรามีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่า “ฉันมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าด้วยเหตุผลนี้และเหตุผลนั้น และใช้มันเพื่อจุดประสงค์นี้และจุดประสงค์นั้น”
การโต้วาที
ตอนนี้ ตรงนี้การโต้วาทีเป็นวิธีที่มีประโยชน์มากในการที่จะได้มาซึ่งความเชื่อมั่นที่แน่วแน่ เพราะการโต้วาทีจะช่วยให้เราขจัดความลังเลใจที่คลุมเครือหรือแค่มีความคิดเกี่ยวกับความหมายที่ไม่แน่ชัดออกไปได้ เราจะไม่ลังเลใจ เราจะไม่โอนเอนไปมาว่า ฉันมีมัน? ฉันไม่มีมัน? มันหมายความว่าสิ่งนี้? มันหมายความว่าสิ่งนั้น? เพราะคนอื่นจะพบช่องโหว่ในความคิดของเรามากกว่าตัวเราเอง ถ้าคุณเพียงแค่นั่งอยู่คนเดียวและตรวจสอบความเข้าใจของคุณ มันก็ง่ายมากที่จะพูดว่า “อ๋อ เอาล่ะ พอแล้ว” คนอื่น ๆ จะสามารถค้นหาข้อผิดพลาดและช่องโหว่ในความคิดของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และพวกเขาจะมุ่งมั่นกับมันได้นานขึ้นและมีความกระตือรือร้นมากกว่าที่เราจะทำได้กับตัวเราเอง บางครั้งในการโต้วาที คุณจะมาถึงจุดแห่งอารมณ์ที่คุณจะพูดว่า “พอแล้ว ปล่อยฉันไว้คนเดียวตามลำพังเถอะ” ถ้าคุณเพียงแค่คิดไตร่ตรองเกี่ยวกับมันด้วยตัวคุณเอง แน่นอนว่าคุณจะคงหยุดทำมันไปนานแล้ว ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ ประเพณีปฏิบัติตามพุทธศาสนาแบบทิเบตจึงเน้นย้ำถึงวิธีการโต้วาทีเป็นอย่างมาก มันมีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้เราได้รับความเชื่อมั่นที่แน่วแน่โดยไม่มีความลังเลเกี่ยวกับความเข้าใจของเรา
การทำสมาธิเชิงวิเคราะห์
ดังนั้น นั่นจึงเป็นการคิดหรือครุ่นคิดเกี่ยวกับคำสอนต่าง ๆ จากนั้น เราต้องพิจารณาไตร่ตรองคำสอนเหล่านั้น ผมหมายถึง บ่อยครั้งที่ผู้คนคิดว่าขั้นตอนที่สองคือการพิจารณาไตร่ตรอง แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นการคิด การครุ่นคิดในคำสอน การพิจารณาไตร่ตรองเป็นอะไรที่มากกว่านั้น แต่แน่นอนว่าเราไม่สามารถพิจารณาไตร่ตรองได้ เว้นแต่ว่าเราจะทำขั้นตอนที่ 2 นี้ได้สำเร็จแล้ว คุณไม่สามารถพิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวกับคำสอนนั้นได้จริง ๆ เว้นแต่คุณจะเข้าใจคำสอนนั้นและมั่นใจว่าคำสอนนั้นถูกต้อง คุณอาจเข้าใจบางสิ่งบางอย่างได้และมั่นใจว่าสิ่งนั้นผิด แต่เรากำลังพูดถึงความเข้าใจและการเชื่อมั่นว่านั่นเป็นความจริง เพราะการพิจารณาไตร่ตรองเป็นขั้นตอนในการผสมผสานสิ่งนี้ คือความเข้าใจนี้และความเชื่อมั่นนี้ ให้เข้าสู่วิถีชีวิตของเราในแต่ละวัน
ฉะนั้น อันดับแรก เราจะทำสมาธิเชิงวิเคราะห์ ซึ่งผมชอบเรียกว่า “การพิจารณาโดยแยบคาย” แล้วจึงทำสมาธิให้มั่นคง ทั้งสองนี้มีไว้สำหรับการผสมผสานและการเข้าใจคำสอน ตอนนี้ สำหรับการพิจารณาโดยแยบคาย เราจะใช้ปัจจัยของจิตใจเป็นหลัก 2 ประการ (เน้นเรื่องนี้ แน่นอนว่า มีปัจจัยของจิตใจอื่น ๆ อีกมากมายที่เราต้องใช้ เช่น สมาธิ เป็นต้น) วิธีที่ผมชอบแปลคือการตรวจจับโดยรวม (rtog-pa) และการสืบหาอย่างละเอียด (dpyod-pa) ในบางบริบท คำสองคำนี้หมายถึง “การตรวจสอบหาความจริง” และ “การพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน”
เราจะเข้าใจปัจจัยของจิตใจทั้งสองนี้ได้อย่างไร? เรามาลองใช้ตัวอย่างการแก้ไขข้อความกัน ดูสิ่งที่คุณเขียนหรือคนอื่นเขียนเพื่อดูว่ามีข้อผิดพลาดหรือไม่ อันดับแรก เราจะตรวจสอบอย่างคร่าว ๆ และเราก็จะตรวจพบว่ามีข้อผิดพลาดในหน้าที่พิมพ์นี้ คุณดูคร่าว ๆ และคุณก็สามารถตรวจจับได้ จากนั้นคุณจะพิจารณาอย่างละเอียดและสังเกตเห็นรายละเอียดเฉพาะต่าง ๆ คุณเห็นความแตกต่างหรือไม่? นั่นคือการตรวจสอบหาความจริง ซึ่งเป็นการตรวจจับโดยรวมว่าเกิดอะไรขึ้น จากนั้นจึงพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนมาก ๆ ซึ่งเป็นการสืบหาอย่างละเอียดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
ดังนั้น สำหรับการพิจารณาโดยแยบคายหรือการทำสมาธิเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับการมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า เราจะทำอย่างไร? เราจะมุ่งเน้นที่ตัวเราเอง และเราจะตรวจสอบและพิจารณาอย่างละเอียดว่าเรามีคุณสมบัติที่กำหนดว่าไม่ใช่สัตว์หรือไม่ ดังนั้น เราจึงตรวจสอบอย่างคร่าว ๆ และตรวจพบว่าเรามีอิสระจากการเป็นแบบนั้น เราตรวจพบอะไรเมื่อเราตรวจสอบ? เราตรวจพบว่าเราสามารถเรียนรู้ได้ เราสามารถสื่อสารได้ เราสามารถกระทำการในระดับที่ซับซ้อนกว่าสัตว์ได้อย่างมาก ถูกต้องไหม? ดังนั้น ก็ให้ทำเช่นนั้น แล้วคุณก็มองดูด้วยตัวเอง ไม่ใช่แค่พูดเท่านั้น เราได้ทำขั้นตอนที่สองแล้ว คำเหล่านี้มีความหมาย จำได้ไหม? เราตรวจพบสิ่งต่าง ๆ เช่น
- ฉันสามารถเรียนรู้ได้
- ฉันสามารถสื่อสารได้
- ฉันสามารถกระทำการในระดับที่ซับซ้อนกว่าสัตว์ได้อย่างมาก
ครับ ดังนั้น เราจึงตรวจพบว่าเราเป็นอิสระจากการเป็นสัตว์ จากนั้น เราก็พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเราก็แยกแยะออกและเข้าใจว่าแม้บางครั้งเราอาจทำตัวเหมือนสัตว์ เช่น ในพฤติกรรมทางเพศด้วยการไปเที่ยวดิสโก้ ตามติดคนที่เราคาดว่าจะมาเป็นคู่ของเราเหมือนสัตว์ตามดมกลิ่นของอีกตัวหนึ่ง และการมีความสัมพันธ์ชั่วคืน ซึ่งเราไม่ได้ถูกบังคับให้เป็นเช่นนั้น เราไม่ได้ถูกบังคับให้เป็นเช่นนั้น เราสามารถแยกแยะและเปลี่ยนพฤติกรรมของเราได้ ดังนั้น เราจึงเพ่งความสนใจไปที่การแยกแยะตัวเราเองว่าไม่ใช่สัตว์ สิ่งเหล่านี้เป็นรายละเอียดในแง่ของพฤติกรรมของเรา
ไม่ว่าเราจะมองในแง่ของการเสาะหาคู่ไปทั่วหรือมองในแง่ของการไล่ล่ายุงและแมลงสาบในบ้านของเราหรืออะไรก็ตาม เราพยายามที่จะแยกแยะว่า “ฉันอาจจะทำอย่างนั้น แต่จริง ๆ แล้ว ฉันไม่ได้ถูกบังคับจริง ๆ ฉันสามารถเลือกได้ ฉันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนั้น ฉันเป็นมนุษย์ ฉันไม่ใช่สัตว์ ฉันไม่จำเป็นต้องเห่าเหมือนสุนัขตัวอื่น ๆ ถ้ามีคนประกาศว่าคุณต้องใส่เสื้อผ้าที่มีความยาวขนาดนี้แทนที่จะเป็นความยาวขนาดนั้น คุณต้องมีผมแบบนี้ไม่ใช่แบบนั้น หรือคุณต้องร้องเพลงนี้ไม่ใช่เพลงนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งนั้น เราไม่ใช่สัตว์ที่ตัวอื่นเห่าแล้วเราก็เห่าตาม” มาลองใช้ประเด็นเฉพาะที่เกี่ยวข้องมากขึ้นกัน เมื่อทุกคนตะโกนว่า “สงคราม สงคราม สงคราม” เราไม่จำเป็นต้องตะโกนว่า “สงคราม สงคราม” เหมือนกัน ใช่ไหม? เราไม่ใช่สัตว์ที่ต้องเห่าเมื่อหมาตัวอื่นเห่า
ดังนั้น เราจึงแยกแยะออกและเข้าใจในรายละเอียดที่ละเอียดอ่อนนี้ว่า “ฉันไม่ใช่สัตว์จริง ๆ” ให้ทำอย่างนั้น เราไม่ใช่สัตว์ที่ต้องนั่งอยู่ที่นั่นเหมือนสุนัขรอเจ้านายพูดว่า “ไปเอากระดูกมา” เราคิดได้
การรักษาการตรวจจับและการแยกแยะให้ออกนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกแยะออกว่าเราไม่ใช่สัตว์ เราจะต้องผ่านแนวการใช้เหตุผลนั้นอีกครั้ง นั่นคือ
- ถ้าเราเป็นสัตว์ เราก็ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่
- เรามีอิสระจากการไม่เป็นสัตว์
- ดังนั้น เราจึงมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าที่จะปฏิบัติธรรม
จากนั้น เราก็จะมุ่งเน้นไปที่ความเข้าใจเชิงอนุมานและมุ่งความสนใจไปที่การแยกแยะออกว่าตัวเราเองมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า
ดังนั้น กรุณาทำเช่นนั้น
- ถ้าเราเป็นสัตว์ เราก็ไม่สามารถปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่
- เรามีอิสระจากการไม่เป็นสัตว์ ฉันสามารถแยกแยะออกและเข้าใจสิ่งนั้นได้
- ดังนั้น เราจึงมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าที่จะปฏิบัติธรรม
- และตอนนี้ ก็แยกแยะออกและเข้าใจว่าเรามีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าด้วยความเข้าใจเชิงอนุมานว่าเพราะเหตุใด
ครับ เพราะมันมีการแยกแยะออกนี้ จึงเรียกมันว่า การพิจารณาโดยแยบคาย อย่างที่ผมพูดไปแล้ว ปกติ มันมักจะถูกแปลว่า การทำสมาธิเชิงวิเคราะห์ แต่ การวิเคราะห์ ไม่ค่อยสื่อความหมาย ใช่ไหม? และตรงนี้ เราก็มีการรับรู้ที่แยกแยะที่เกิดจากการทำสมาธิพิจารณาไตร่ตรอง มันเด็ดขาดอย่างยิ่งเพราะเราแยกแยะออกและเข้าใจได้ว่าเรามีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าด้วยเหตุผลนี้และด้วยเหตุผลนั้น และเราก็พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เราแยกแยะออกและเข้าใจแล้วว่าเรามีมันด้วยเหตุผลนี้และเหตุผลนั้นอย่างแน่นอน
การทำสมาธิให้มั่นคง
การทำสมาธิมี 2 ขั้นตอนคือ การแยกแยะและการทำสมาธิให้มั่นคง ด้วยการทำสมาธิให้มั่นคง เราเพียงแค่มุ่งเน้นไปที่การมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าโดยไม่ต้องแยกแยะมันในรายละเอียดอย่างแข็งขัน คำสำคัญในที่นี้คือ อย่างแข็งขัน คือโดยที่ไม่มีการแยกแยะว่า “มันเป็นเพราะฉันไม่ใช่สัตว์” และ “ถ้าฉันเป็นสัตว์ ฉันก็ทำสมาธิไม่ได้” เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือ เรากำลังจดจ่ออยู่กับความรู้สึกว่าเรามีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า ความรู้สึก ตรงนี้หมายถึงความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ เราเชื่อมันอย่างแท้จริง นั่นคือสิ่งที่คุณมุ่งเน้น มันไม่ใช่การแยกแยะรายละเอียดต่าง มันเป็นความเชื่อมั่นที่มั่นคงและความรู้สึกของการมีชีวิตมนุษย์อันล้ำค่านี้ แน่นอนว่ามันตั้งอยู่บนความเข้าใจว่ามันคืออะไรและได้แยกแยะมันออกแล้ว
เรามาทำอย่างนั้นกันสักครู่หนึ่ง
การทำสมาธิประเภทนี้ช่วยให้เราขจัดข้อบกพร่องและปัญหาต่าง ๆ เช่น การเสียเวลาไปเปล่า ๆ และด้วยการทำสมาธิประเภทนี้ เราจึงพัฒนาคุณสมบัติที่ดี ๆ ของเราจากการตระหนักถึงชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าของเรา ดังนั้น จึงนำมันไปใช้อย่างสร้างสรรค์เพื่อพระธรรม เนื่องจากเราเข้าใจบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับตัวเรา เราจึงผสมผสานมัน เรารู้สึกได้ สิ่งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะมันขจัดสาเหตุของปัญหาและพัฒนาคุณภาพที่ดี
เราสามารถเปรียบเทียบสิ่งนี้ได้ด้วยแค่การเพ่งความสนใจไปที่ลมหายใจโดยที่ไม่มีความเข้าใจในตัวมัน มันอาจทำให้เราสงบลง แต่ก็เหมือนไปนอนและกินยาระงับประสาท มันไม่ได้นำมาซึ่งการยุติสาเหตุของปัญหาของเรา ในทางกลับกัน ถ้าเรามุ่งความสนใจไปที่ลมหายในด้วยความเข้าใจและการแยกแยะ นั่นคือ การแยกแยะและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เช่น ความไม่เที่ยง การเปลี่ยนแปลงชั่วขณะ ไม่มีฉันที่มั่นคงเป็นผู้ควบคุมการหายใจหรือผู้สังเกตกระบวนการที่แยกออกมานั้น มันก็สามารถเริ่มกระทำในฐานะสาเหตุเพื่อขจัดสาเหตุของปัญหาของเราได้
การแยกแยะนี้มีความสำคัญมาก ๆ ในการที่จะสามารถบรรลุจุดมุ่งหมายของพระธรรมได้อย่างแท้จริง มันจะขจัดสาเหตุของปัญหาของเราและตระหนักถึงศักยภาพของเรา ซึ่งเป็นศักยภาพเชิงบวก
ความเข้าใจทางปัญญา สัญชาตญาณ อวัยวะภายใน และความรู้สึกทางอารมณ์
ตอนนี้ พึงระลึกไว้เสมอว่าทั้งการพิจารณาโดยแยบคายและการทำสมาธิให้มั่นคงเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับความคิด ทั้งสองอย่างเป็นกระบวนการรับรู้ทางความคิดในสิ่งที่เราได้อธิบายไว้ตรงนี้ ทั้งคู่เป็นแนวความคิด ทั้งสองอย่างต่างผ่านสื่อกลางของความคิดที่ว่าชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าหมายถึงอะไร นั่นคือสิ่งที่หมายถึงแนวคิด มันผ่านสื่อของความคิด การพิจารณาโดยแยบคาบนั้นอาศัยแนวการใช้เหตุผล การทำสมาธิให้มั่นคงนั้นไม่ได้อาศัยแนวการใช้เหตุผล แต่ถึงกระนั้นทั้งสองอย่างก็ยังมุ่งความสนใจไปที่ชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าของเราผ่านแนวคิดที่ว่าชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าหมายถึงอะไร ดังนั้น ความคิดจึงเป็นตัวแทน ผมหมายถึงว่า ความคิดคืออะไร? ความคิดคือการเป็นตัวแทนของชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า ไม่ว่าเราจะนำเสนอด้วยคำพูดหรือด้วยภาพหรือความรู้สึก แต่มันมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวแทนนี้ มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับคำ หรือภาพ หรือความรู้สึก
ผมกำลังยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะบ่อยครั้งที่เรามีความสับสนมากมายเกี่ยวกับการทำความเข้าใจกระบวนการทำสมาธิทางพระพุทธศาสนา เพราะเรานำศัพท์เฉพาะทางตะวันตกมาจากระบบที่แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงจริง ๆ บ่อยครั้งในศัพท์เฉพาะของตะวันตก เราแยกแยะระหว่างกระบวนการทางปัญญากับกระบวนการที่เป็นสัญชาตญาณ ฉะนั้นแล้ว สิ่งนี้จะสอดคล้องกับการวิเคราะห์ทางพระพุทธศาสนาของเราได้อย่างไร?
- ถ้าเราแทนบางสิ่งบางอย่างด้วยคำพูด ซึ่งก็คือ ความคิดที่ประกอบด้วยคำต่าง ๆ แล้วมุ่งความสนใจไปที่บางสิ่งบางอย่างผ่านสื่อกลางของคำ เราจะเรียกสิ่งนั้นว่า กระบวนการทางปัญญา
- ขณะที่แสดงบางสิ่งบางอย่างผ่านความรู้สึกหรือภาพ ซึ่งก็คือ ความคิดที่มาจากความรู้สึกหรือภาพ แล้วมุ่งความสนใจไปที่สิ่งนั้น เราจะเรียกสิ่งนั้นว่า กระบวนการทางสัญชาตญาณ
แต่โปรดทราบว่า ไม่ว่าเราจะแทนบางสิ่งบางอย่างด้วยคำพูด หรือด้วยภาพและความรู้สึก ไม่ว่าในกรณีใด การแสดงให้เห็นนี้อาจเป็นการแสดงให้เห็นที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ได้ และทั้งสองอย่างก็เป็นแนวความคิด ทั้งกระบวนการทางปัญญาและกระบวนการทางสัญชาตญาณนี้เป็นแนวความคิด และทั้งสองอย่างก็จำเป็นต้องมาพร้อมกับความเข้าใจที่ถูกต้องว่าคำเหล่านั้นหมายถึงอะไร หรือความรู้สึกหรือภาพนั้นหมายถึงอะไร คุณตามทันไหม?
ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้สามารถซึมซาบเอาความเข้าใจนี้ได้ เราจำเป็นต้องเชื่อในสิ่งนั้น และเราต้องมุ่งเน้นไปที่สิ่งนั้นด้วยความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ ความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าในตะวันตกเราอาจจะเรียกว่าความเข้าใจเกี่ยวกับอวัยวะภายใน และเมื่อความเข้าใจเกี่ยวกับอวัยวะภายในนี้มาพร้อมกับอารมณ์เชิงสร้างสรรค์ เช่น การเล็งเห็นคุณค่า นั่นคือ เราเล็งเห็นคุณค่าและความหายากของชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า จากนั้นในตะวันตก เราก็อาจกล่าวว่า ความเข้าใจของเราทำให้เราถูกกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก
นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมความสัมพันธ์ที่ดีกับครูสอนศาสนาจึงมีสองด้าน นั่นคือการทำสมาธิพิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวกับสิ่งนั้น หนึ่งคือความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ในคุณสมบัติที่ดีของครู และอีกหนึ่งคือความซาบซึ้ง เล็งเห็นคุณค่าในความใจดีของครู ดังนั้นเราจึงมีความเชื่อมั่นที่แน่วแน่และเราก็ถูกกระตุ้นทางอารมณ์เช่นกัน เมื่อเรามีสองสิ่งนี้ ไม่ว่าความเข้าใจจะผ่านเข้ามาด้วยคำพูดหรือความรู้สึก มันก็ไม่สำคัญ มันไม่สร้างความแตกต่าง ดังนั้น มันจึงไม่สำคัญว่าเราจะปฏิบัติตามแนวทางโดยปัญญาหรือโดยสัญชาตญาณจากการวิเคราะห์แบบตะวันตกของเราหรือไม่ ตราบใดที่เรามีความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่และมีความเข้าใจในสิ่งนั้นและการเล็งเห็นคุณค่าแล้ว เราก็สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง แต่จงจำไว้เสมอว่า ตราบใดที่เราอยู่ในสังสารวัฏ การเปลี่ยนแปลงจะไม่เป็นเส้นตรง มันจะมีขึ้นและลง มันจะไม่ดีขึ้นทุกวัน แนวโน้มระยะยาวอาจจะดีขึ้น แต่วันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง มันก็จะมีขึ้นและลง
จำไว้ว่าเมื่อเราพยายามที่จะระบุวิธีการทางสัญชาตญาณ ฯลฯ เรายังคงต้องอาศัยแนวการใช้เหตุผลเพื่อให้มีความเข้าใจและความเชื่อมั่น มิฉะนั้น หากเรามีเพียงแค่ความรู้สึกบางอย่าง มันอาจจะไม่ชัดเจนและคลุมเครือ และเราก็จะไม่มีความเข้าใจถึงความหมายของมัน แต่ถ้าเราใช้แนวการให้เหตุผล ถ้าเราได้พิจารณาแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ในตัวเราอย่างถี่ถ้วนและเราเข้าใจมัน เรามั่นใจในสิ่งนั้น เรารู้คำจำกัดความ เราสามารถที่จะรับรู้ได้ภายในตัวเราเอง เป็นต้น จากนั้นแล้ว ถ้าเราเป็นคนมีปัญญา เราก็สามารถแทนมันและมุ่งความสนใจไปที่มันด้วยคำพูด หรือถ้าเราเป็นแบบทางสัญชาตญาณมากกว่า เราก็สามารถแทนมันและมุ่งความสนใจไปที่มันในแง่ของภาพหรือความรู้สึก มันไม่สำคัญ ทั้งสองอย่างถูกต้องได้และทั้งสองอย่างก็เป็นแนวความคิดได้ แต่เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจของเราไปเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ความคิด ซึ่งนั่นเป็นเรื่องยากมาก ๆ ที่จะมีได้ นั่นเป็นเพียงการรับรู้บางสิ่งบางอย่าง คือ รับรู้ว่าเรามีชีวิตมนุษย์ที่มีค่า ไม่ใช่ด้วยความคิดของมัน ไม่ใช่ด้วยความรู้สึกของมัน ฯลฯ แต่แค่อย่างตรงไปตรงมาก็เท่านั้น นั่นเป็นเรื่องยากมาก
ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจอย่างชัดเจน เราก็จะเห็นได้ว่าไม่ว่าเราจะเป็นคนมีปัญญาหรือเป็นคนมีสัญชาตญาณ หากยังคงต้องการความก้าวหน้าใด ๆ ในการปฏิบัติต่อไป เราก็จำเป็นต้องดำเนินการตามวิธีการรู้ที่ถูกต้องของการรับรู้เหล่านี้ นั่นคือ คุณได้ยินอะไรบางอย่าง คุณสมมุติเอาว่ามันเป็นเรื่องจริง จากนั้น คุณก็ต้องทำความเข้าใจ พิจารณาแยกแยะอย่างละเอียด และเข้าใจ นั่นคือ คุณต้องได้รับความเข้าใจเชิงอนุมาน แล้วคุณก็มุ่งความสนใจไปที่มัน ครับ นั่นคือกระบวนการสร้างความก้าวหน้าในเส้นทางนี้ของเรา ผ่านการฟัง การคิด และการทำสมาธิพิจารณาไตร่ตรอง นั่นคือสิ่งที่เกี่ยวกับการทำสมาธิเชิงวิเคราะห์
มันจะใช้เวลาสักพักหนึ่ง ตอนนี้ คุณเพิ่งจะได้ยินเรื่องนี้ จากนั้น คุณก็ต้องคิดเกี่ยวกับมันและทบทวนมัน ก่อนหน้านี้ คุณอาจมีความเข้าใจคร่าว ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เราหมายถึงการทำสมาธิเชิงวิเคราะห์ ดังนั้น ตอนนี้คุณได้ยินจากการสนทนาที่ละเอียดมากขึ้นแล้ว ดังนั้น คุณต้องคิดเกี่ยวกับมัน ฝึกทำมันไปอย่างช้า ๆ
คำถาม
ข้าพเจ้าเข้าใจถึงความสำคัญของการทำสมาธิเชิงวิเคราะห์นี้และมันมีความสัมพันธ์กับครูผู้สอนอย่างไร แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจก็คือ ทำไมบอกเราว่าเราต้องไม่ถามครู เราต้องรับเอาสิ่งที่พวกเขาบอกและพฤติกรรมของพวกเขา ฯลฯ อย่างเงียบ ๆ และปราศจากข้อสงสัยหรือคำถามใด ๆ
นั่นไม่ใช่คำสอนที่แท้จริงที่เราพบเห็นในพระธรรม จากมุมมองของวินัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งวินัยทางจริยธรรม นั่นคือ ถ้าครูฝ่าฝืนวินัยทางจริยธรรม ขัดต่อคำสาบาน เราก็ชี้ให้เห็น เราไม่เห็นด้วยกับสิ่งนั้น ถ้าครูขอให้เราทำอะไรที่ขัดกับคำสอนทางจริยธรรม มันก็บอกไว้ชัดเจนว่าคุณจะต้องปฏิเสธ
และถ้าเราลงลึกในคำสอนพระสูตรและตันตระ นั่นคือ ถ้าครูพูดอะไรที่ไม่สอดคล้องกับคำสอน เราก็ถามว่า “ข้าพเจ้าไม่เข้าใจสิ่งนั้น สิ่งนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่ท่านพูดก่อนหน้านี้ ท่านช่วยอธิบายให้ลึกซึ้งกว่านี้ได้ไหม?” หรือ “สิ่งนี้ขัดแย้งกับเนื้อหานี้ ท่านช่วยอธิบายให้ลึกซึ้งกว่านี้ได้ไหม?” เป็นต้น เพราะครูก็หลุดปากพูดอะไรบางอย่างที่ไม่ตั้งใจเหมือนคนอื่น ๆ ได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับตัวอย่างโบราณที่เคยได้ยินกันถึงชาติก่อนของพระพุทธเจ้า เมื่อครูบอกพระพุทธเจ้าและนักเรียนคนอื่น ๆ ให้ออกไปลักขโมย พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ออกไปทำอย่างนั้น ครูจึงถามพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็ตอบว่า “ขโมยจะช่วยใครได้อย่างไร?” ครูก็กล่าวว่า “ท่านเข้าใจประเด็นของบทเรียนแล้ว ท่านเพียงคนเดียวเท่านั้น”
จากมุมมองที่สูงสุดของตันตระ นั่นคือ ถ้าเราเห็นความขัดแย้งในตัวครูกับครูที่มีการกระทำที่ขัดต่อพระธรรม ฯลฯ และเมื่อเราถามครู ฯลฯ ครูไม่ยอมรับสิ่งนี้ ครูไม่เปลี่ยนแปลง และอื่น ๆ ถ้าเราเห็นข้อผิดพลาดทั้งหมด ถึงแม้ว่าเราได้รับการทำพิธีรับเข้าตันตระจากครู สิ่งที่เราได้รับการบอกกล่าวให้ทำคือ แค่อยู่ห่าง ๆ ก็เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเรียนกับครูคนนั้นอีกต่อไปหรืออยู่กับครูคนนั้นอีกต่อไป แต่จงเงียบไว้ รักษาระยะห่างด้วยความเคารพ ไม่ต้องเผยแพร่เรื่องราว และอย่าคิดว่า “โอ้ ครูคนนี้ช่างน่ากลัวจริง ๆ” เราชื่นชมในสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ชื่นชมคุณสมบัติที่ดีของสิ่งที่เราได้เรียนรู้ แล้วจากนั้นคุณเพียงแค่รักษาความวางใจเป็นกลางไว้ก็เท่านั้น
มันหมายความว่าอย่างไรเมื่อคุณพูดว่าเราไม่ถาม? หมายความว่า คุณไม่ได้สงสัยว่าครูมีความเป็นพระพุทธเจ้า นั่นคือที่คุณไม่ถาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ตั้งคำถามกับคำแนะนำของครูเมื่อมันดูเหมือนจะไม่เหมาะสม เมื่อเราดูตัวอย่างเช่น ติโลปะ (Tilopa) ที่บอกนาโรปะ (Naropa) ให้กระโดดจากหน้าผาและเขาก็ทำ ดังที่สมเด็จองค์ดาไลลามะพูดเสมอว่า ตรวจสอบ ติโลปะเป็นครูที่มาถึงสภาวะที่เขาสามารถกินปลาเป็น ๆ แล้ววางกระดูกลงกับพื้น ดีดนิ้ว แล้วปลาก็จะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง และนาโรปะเป็นเจ้าอาวาสที่เรียนรู้มากที่สุดในยุคของเขา ดังนั้น ถ้าครูของเราอยู่ในระดับติโลปะและเราอยู่ในระดับของนาโรปะ ดังนั้นแล้ว ตัวอย่างจากชีวประวัติของนาโรปะก็มีความเกี่ยวข้อง ถ้าเราไม่ได้อยู่ในระดับนั้นและครูของเราก็ไม่ได้อยู่ในระดับนั้น ซึ่งพูดถึงเกือบทุกคน มันก็จะเป็นกรณีที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง ฉะนั้น เราจึงต้องหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ ครูกำลังทำอะไร และมันสอดคล้องกับพระธรรมหรือไม่ ? แล้วครูกำลังสอนอะไร และสิ่งนั้นมันสอดคล้องกับพระธรรมหรือไม่? เราตรวจสอบอยู่เสมอ ถ้าเราไม่รู้ เราต้องตรวจสอบ
ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนระดับแรก ข้าพเจ้าเป็นผู้มาใหม่สำหรับศูนย์นี้ ใหม่ต่อคำสอน และแน่นอน ข้าพเจ้ารู้ดีว่าเป็นเพราะความบกพร่องและขาดความเข้าใจว่าข้าพเจ้ามีปัญหานี้ แต่ข้าพเจ้าพบว่ามันยากมากที่จะเข้าใจและยอมรับความคิดเรื่องการเกิดใหม่และชาติหน้าได้ และข้าพเจ้าก็เข้าใจดีว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญมากในคำสอนของพระพุทธศาสนา ตัวอย่างเช่น เมื่อข้าพเจ้าทำสมาธิพิจารณาถึงชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าของข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเห็นว่ามันเป็นของขวัญ เป็นความเป็นไปได้ เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง ข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้าต้องพิจารณาใคร่ครวญถึงชาติหน้า ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก ๆ สำหรับข้าพเจ้า ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความรู้สึกว่ามันไม่สำคัญว่าข้าพเจ้าจะทำสมาธิพิจารณาถึงชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าของข้าพเจ้ามากเพียงใดและบ่อยครั้งเพียงใด เพราะหากปราศจากความเข้าใจเกี่ยวกับชาติหน้า ความซาบซึ้ง การเห็นคุณค่าอย่างเต็มเปี่ยมในชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าของข้าพเจ้าก็จะยังไม่สมบูรณ์อยู่เสมอ ดังนั้น นี่คือสภาวะที่ยากลำบากของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะผ่านมันไปได้อย่างไร?
การสังเกตของคุณเป็นการสังเกตที่ดีมาก หนึ่งในคำปฏิญาณของตันตระคือ ไม่เคยพอใจกับความเข้าใจของเราในสิ่งใดจนกว่าเราจะบรรลุการตรัสรู้ และนั่นหมายถึงความเข้าใจของเราในทุกสิ่ง รวมถึงชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าด้วย ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งและลึกซึ้งยิ่งขึ้นในขณะที่เราก้าวหน้าไปตามเส้นทางนี้ ดังนั้น แม้ว่าตอนนี้เราเข้าใจการเกิดใหม่แล้ว แต่ท่านยังคงสามารถเข้าไปลึกมากกว่านั้นได้ในแง่ของการทำความเข้าใจชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า นั่นไม่ได้หมายความว่าความเข้าใจในขั้นแรก ๆ จะไม่เกิดประโยชน์ แต่ละขั้นตอนมีประโยชน์ระหว่างเส้นทางนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเรานึกอยู่เสมอว่าระดับความเข้าใจที่เรามีในตอนนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะไปสู่การทำความเข้าใจที่ลึกซึ้งและลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนนั้น นั่นจึงสมบูรณ์แบบ
มันชัดเจนมากในคำสอน นั่นคือ อย่ารู้สึกว่าคุณเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งเพียงพอแล้ว “โอ้ ตอนนี้ ฉันเข้าใจแล้ว ฉันไม่ต้องคิดพิจารณาเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าอีกต่อไป” นั่นเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวง คุณสามารถลงลึกขึ้นและลึกขึ้นได้เสมอ
ตามที่คุณอธิบายไว้ เราในฐานะมนุษย์ที่มีความสามารถในการแยกแยะออกและเข้าใจ เราสามารถเลือกที่จะไม่เห่าหรือไม่ทำทุกสิ่งที่คุณได้พูดไปแล้ว แต่ถ้าเรามีความสามารถในการแยกแยะออกและเข้าใจ นั่นหมายความว่าเรามีศักยภาพ แล้วถ้าเราเกิดใหม่เป็นสัตว์ เราจะสูญเสียศักยภาพเหล่านั้นได้อย่างไร? ข้าพเจ้าหมายความว่า สำหรับข้าพเจ้า มันฟังดูไร้เหตุผลและไม่สอดคล้องกันว่าเราสามารถสูญเสียศักยภาพเหล่านั้นได้ ศักยภาพในการแยกแยะออกและเข้าใจที่เรามีอยู่แล้วในตอนนี้หากเราเกิดใหม่เป็นสัตว์ เกิดอะไรขึ้นที่นั่น?
คุณต้องแยกแยะความแตกต่างระหว่างศักยภาพและความสามารถที่ปรากฏชัดแจ้งแท้จริง เด็กมีศักยภาพมากมาย มีศักยภาพที่จะสามารถขับรถได้ แต่ไม่มีความสามารถที่ปรากฏชัดแจ้งแท้จริง และเมื่อเราป่วย เรายังมีศักยภาพที่จะสามารถคิดได้อย่างชัดเจน ทำงาน และอื่น ๆ ได้ แต่ในขณะนั้นก็มีอุปสรรค ดังนั้น เราจึงไม่มีความสามารถที่ปรากฏชัดแจ้ง เช่นเดียวกับสัตว์ ศักยภาพยังคงมีอยู่ที่นั่น นั่นคือ ศักยภาพของธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะยังคงมีอยู่ แต่ความสามารถที่ปรากฏชัดแจ้งอย่างแท้จริงไม่มี (หรือถ้าเป็นเช่นนั้น สิ่งเหล่านั้นมันก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับมนุษย์)
การอุทิศตน
ปิดท้ายด้วยการอุทิศตน สิ่งสำคัญคือพลังบวกที่เกิดจากการกระทำต่าง ๆ ที่เราได้ฟังและทำสมาธิที่นี่ ฯลฯ ถ้าเราไม่อุทิศมันเพื่อการตรัสรู้ จะเกิดอะไรขึ้นโดยไม่ทำอะไรเลย เป็นการตั้งค่าเริ่มต้นอะไรทำนองนั้น คือมันกระทำการในฐานะเป็นเหตุทำให้สังสารวัฏดีขึ้น ตัวอย่างเช่น เราจะซาบซึ้ง เห็นคุณค่าชีวิตมนุษย์ของเราที่สามารถทำเงินได้มากมาย ดังนั้น เพื่อให้สิ่งนี้ทำหน้าที่เป็นเหตุแห่งการตรัสรู้ เราจึงต้องอุทิศมันเพื่อการนั้นจริง ๆ ดังนั้น เราจึงทำแบบนั้นอย่างมีสติ เราจะพูดว่า “ขอให้การกระทำนี้เป็นเหตุให้ข้าพเจ้าสามารถบรรลุถึงจิตใจ กาย วาจา ฯลฯ ของพระพุทธเจ้า เพื่อจะสามารถทำประโยชน์ให้แก่ทุกคนด้วย” แล้วมันก็จะทำหน้าที่เป็นสาเหตุดังกล่าว และ “ขอให้ความเข้าใจและความซาบซึ้ง การเล็งเห็นคุณค่านี้ลึกซึ้งและลึกซึ้งยิ่งขึ้นเพื่อให้ตลอดเส้นทางสู่การตรัสรู้เริ่มก่อให้เกิดผลลัพธ์ในพฤติกรรมของข้าพเจ้าเพื่อให้สามารถทำประโยชน์แก่ทุกคนได้ด้วย”