คำแนะนำเรื่องการทำสมาธิสำหรับการปฏิบัติแบบลัม-ริม

การทำสมาธิเป็นหัวข้อสำคัญอย่างแน่นอน หากเราต้องการนำหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าไปปฏิบัติใช้จริง  อย่างไรก็ตาม การทำสมาธิก็ไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติเฉพาะศาสนาพุทธเท่านั้น  เราสามารถพบการทำสมาธิได้ในสายปฏิบัติต่าง ๆ ของอินเดีย รวมถึงระบบความเชื่อนอกประเทศอินเดียที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาด้วย

คำศัพท์ภาษาสันสฤตที่ใช้เรียกการทำสมาธิคือคำว่า “ภาวนา” คำว่า ภาวนา มาจากคำกริยา “ภู” ซึ่งหมายถึง “การกลายเป็น” หรือ “การทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง”  ดังนั้น ภาวนา จึงเป็นกระบวนการที่เราปฏิบัติคำสอนเกี่ยวกับการพัฒนาสภาวะจิตใจบางประเภทที่เป็นสร้างสรรค์และเราก็ “กลายเป็น” สภาวะนั้นในเชิงเปรียบเทียบ  พูดอีกอย่างก็คือ เราทำให้จิตใจของเรามาอยู่ในสภาวะบางประเภทที่มีประโยชน์ผ่านกระบวนการการทำสมาธิ

เนื่องจากคำว่า ภาวนา มาจากรากศัพท์ภาษาสันสฤตว่า “ภู” ซึ่งมาจากคำว่า “กลายเป็น” คำว่า ภาวนา จึงบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลง  ยกตัวอย่างเช่น หากเราปฏิบัติเมตตาภาวนา เราก็เปลี่ยนแปลงตัวเราให้กลายเป็นบุคคลที่มีความรักอยู่ในหัวใจ  เมื่อแปลศัพท์นี้จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบต มีการใช้คำที่บ่งบอกถึง “การสร้างนิสัย” ซึ่งคือคำว่า “กม” (gom) ในภาษาทิเบตนั่นเอง  คำว่า กม หมายถึงการทำให้ตัวเราคุ้นชินกับสิ่งที่เป็นด้านบวก ไม่ใช่สิ่งที่เป็นด้านลบหรือเป็นกลาง เพราะฉะนั้นจึงสร้างนิสัยเชิงบวกที่เป็นสร้างสรรค์

ดังนั้นคำศัพท์ภาษาทิเบตจึงมีความหมายหรือการบ่งบอกที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกับคำศัพท์ในภาษาสันสกฤต  การบ่งบอกของทั้งสองคำคือ ในการที่เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นดังเป้าหมายที่วางไว้ ตัวอย่างเช่น กลายเป็นบุคคลที่มีความรักอยู่ในหัวใจนั้น เราจำเป็นต้องสร้างความรักให้เป็นนิสัยเชิงประโยชน์ของเรา  วิธีการที่เราใช้ในการสร้างนิสัยเชิงประโยชน์ดังกล่าวก็คือการทำสมาธินั่นเอง

การฟังเทศน์

ตำราปรัชญาหลักของอินเดียที่มีอยู่ก่อนยุคของพระพุทธเจ้าคือ คัมภีร์อุปนิษัท และตำราเหล่านี้ก็มีการกล่าวอ้างอิงถึงการทำสมาธิอยู่แล้ว  ในคัมภีร์อุปนิษัทมีการอภิปรายการทำสมาธิในบริบทของกระบวนการสามขั้นตอน นั่นคือ การฟัง การคิด และการทำสมาธิ  พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงเป็นผู้สร้างกระบวนการสามขั้นตอนนี้ขึ้นมา เพราะในยุคของพระองค์ก็มีกระบวนการดังกล่าวอยู่แล้ว  ดังนั้นหากเราต้องการทำอะไรสักอย่างให้เป็นนิสัยเชิงบวก แน่นอนว่าเราต้องได้ฟังสิ่งนั้นก่อนเป็นอย่างแรก จากนั้นเราก็ต้องทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นโดยการคิดทบทวนไปมา และท้ายที่สุดเราต้องรวมสิ่งนี้เข้าไปในตัวของเรา

หากเราไม่ทราบอะไรเลยเกี่ยวกับพระธรรม เราก็ต้องได้รับข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาก่อน และเราต้องแน่ใจด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวถูกต้อง  ข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างรากฐานที่น่าไว้วางใจสำหรับการให้ความสนใจในหลักธรรมคำสอนที่แท้จริง  อย่างไรก็ตาม ในยุคของพระพุทธเจ้า หลักปรัชญาคำสอนไม่ได้รับการจดบันทึก  การรวบรวมและนำมาเขียนเป็นตำรานั้นเริ่มต้นขึ้นหลายศตวรรษหลังจากนี้  นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมกระบวนการสามขั้นตอนถึงเริ่มต้นด้วยความสำคัญของการ “ได้ยิน” หลักคำสอน พูดอีกอย่างก็คือ การฟังเทศน์นั่นเอง

ในปัจจุบันคุณสามารถรวมการอ่านข้อมูลในหนังสือหรือในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติประเภทต่าง ๆ หรือสภาวะจิตใจที่ต้องการพัฒนาเข้าไปในขั้นแรกด้วยก็ได้  อย่างไรก็ตามจุดนี้ยังเป็นที่โต้เถียงกันอยู่ เพราะเวลาที่เราได้ยินหลักคำสอนโดยตรงจากอาจารย์นั้น มันมีบรรยากาศพิเศษจากการที่อาจารย์อยู่ตรงหน้าเราจริง ๆ เกิดขึ้น  เมื่อเราฟังการเทศนาสด เราอาจได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ในแบบที่อาจหาไม่ได้จากการอ่านหนังสือ  ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ ถึงแม้ว่ายังไงก็ต้องมีคนเขียนหนังสืออยู่ดี  เราจะพบว่านี่เป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวันของเราเช่นกันครับ  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณไปงานคอนเสิร์ตแสดงสด ประสบการณ์ที่ได้นั้นทรงพลังและเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจมากกว่าการฟังแผ่นซีดีที่บ้าน  มันเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างกันมากอยู่ครับ

เมื่อเราฟังเทศน์ ข้อแนะนำที่มีประโยชน์ที่สุดอย่างหนึ่งคือ การกำจัด “ความผิดพลาดสามประการที่เหมือนกับแจกันดินเผา” ออกไป

  • ก่อนอื่น เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของการเป็นแจกันกลับหัวกลับหาง ซึ่งไม่สามารถมีสิ่งใดเข้าไปได้  พูดอีกทางหนึ่งคือ หากจิตของเราปิดกั้น แน่นอนว่าเราก็จะไม่สามารถเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่ได้ยินได้เลย
  • จากนั้นเราต้องหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของการเป็นแจกันก้นรั่ว  ในกรณีนี้เมื่อเทสิ่งใดเข้าไปในแจกัน สิ่งนั้นก็จะไหลออกมาทางรูจนหมด  ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า “เข้าหูซ้าย ทะลุหูขวา” เราต้องเลี่ยงการกระทำเช่นนั้น
  • ท้ายที่สุด เรายังต้องหลีกเลี่ยงความผิดพลาดของการเป็นแจกันสกปรกด้วย  หากคุณเทน้ำสะอาดลงไปในแจกันสกปรก น้ำนั้นก็ถูกปนเปื้อนเช่นกัน  พูดอีกทางหนึ่งก็คือ เมื่อเรามีความคิดล่วงหน้ามากมาย ความคิดที่มีล่วงหน้าเหล่านี้จะปนเปื้อนความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องใหม่ของเรา  แทนที่จะได้ยินสิ่งที่อีกคนพูดเฉย ๆ เรากลับผสมเรื่องใหม่นี้เข้ากับการฉายภาพความคิดของเราเองเสมอ

เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ ทันทีที่เราได้ยินหลักคำสอนบางอย่างแล้ว การจด หรือการบันทึกหลักคำสอนนั้นด้วยวิธีใดก็ตามเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก เพื่อที่เราจะได้สามารถจดจำประเด็นต่าง ๆ ที่ได้รับการกล่าวถึงได้อย่างถูกต้อง  วิธีนี้มีประโยชน์มาก ๆ นะครับ หากเราไม่มีความจำอันสมบูรณ์แบบ ซึ่งพวกเราส่วนใหญ่ก็ไม่มี  ยิ่งเรารอนานเท่าไหร่กว่าเราจะจดสิ่งที่ได้ยิน ความคิดที่มีล่วงหน้าของเราก็ยิ่งเข้าไปปนเปื้อนความทรงจำของเรามากขึ้นเท่านั้น  และถึงแม้ว่าเราจะจด หรือบันทึกลงไปแล้ว เราก็ต้องหมั่นฟังซ้ำไปเรื่อย ๆ  แค่มีหลักคำสอนในหน้าสมุดโน้ตที่วางอยู่บนชั้นวางหนังสือ หรืออยู่ในไฟล์คอมพิวเตอร์ หรืออยู่ในไอพอดของเรานั้นไม่เพียงพอแน่นอนครับ!

ปรมาจารย์นิกายศากยะนามว่า โสนัม เซโม (Sonam Tsemo) กล่าวไว้ว่าในการเริ่มปฏิบัติธรรมนั้น

  • ก่อนอื่นเราต้องรับทราบว่าเรามีปัญหาและเรามีทุกข์
  • จากนั้นเราต้องมีความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากสถานการณ์อันเป็นทุกข์ของเรา
  • ท้ายที่สุด เราต้องให้ความสนใจกับเรื่องพระธรรมในฐานะหนทางหลุดพ้นจากทุกข์

เมื่อเราเพิ่งหัดใหม่ แน่นอนว่าเราต้องเปิดใจให้กว้างและพยายามจดจำสิ่งที่เราเรียนรู้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องฟังธรรมเทศนาด้วยความสนใจและเจตนาในการประเมินคุณค่าสิ่งที่เราได้ยิน  เราต้องการประเมินคุณค่าเพื่อตัดสินใจว่าหลักคำสอนที่เราได้ยินมานั้นเป็นสิ่งที่สามารถช่วยเราให้ก้าวผ่านปัญหาของเราได้หรือไม่ หากเรานำไปใช้  เราไม่ได้เรียนรู้หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาเพื่อจะได้ผ่านการสอบในโรงเรียน หรือเพื่อแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าเรามีความรู้สูงส่งขนาดไหน  เราฟังเทศนาเพื่อดูว่าในหลักคำสอนเหล่านี้มีสิ่งใดที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ในชีวิตของเราบ้าง

ดังนั้นเวลาฟังเทศน์ เราจึงมีวิธีหลากหลายอย่างในการมองตัวเองและสถานการณ์  ในวิธีที่รู้จักกันในชื่อของ “การรับรู้สามอย่าง” เรามองตัวเองในฐานะเป็นคนป่วย มองอาจารย์วในฐานะแพทย์ และมองหลักคำสอนในฐานะยาที่ช่วยให้เราเอาชนะการเจ็บป่วยหรือปัญหาต่าง ๆ นานาของเราได้ โดยการเจ็บป่วยในที่นี้คืออารมณ์รบกวนทั้งหลายนั่นเอง

เมื่อเราก้าวหน้ามากขึ้นในการปฏิบัติของเรา เราจะพบคำแนะนำเพิ่มเติมอีกมากมายเกี่ยวกับทัศนคติที่เราต้องมีต่ออาจารย์ ในแง่ของการมองอาจารย์ว่าเป็นพระพุทธเจ้าและอื่น ๆ  แต่คำแนะนำเหล่านั้นไม่ได้มีไว้สำหรับผู้เริ่มปฏิบัติ

คิดถึงสิ่งที่เราได้ยิน

ขั้นตอนที่สองคือการคิดถึงสิ่งที่เราได้ยิน  เราคิดถึงหลักคำสอนเพื่อทำความเข้าใจ  เราเดินมาถึงจุดจบของกระบวนการการคิดเมื่อเราเข้าใจอย่างถูกต้องแล้วถึงความหมายของคำสอนดังกล่าว  ไม่เพียงแต่เราต้องเข้าใจอย่างถูกต้องเพื่อนำคำสอนไปใช้ปฏิบัติจริงอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่เรายังต้องเชื่อมั่นว่าหลักคำสอนนั้นถูกต้องและเป็นสิ่งที่เราต้องนำไปใช้กับตัวเรา เพราะมันจะช่วยให้เราเอาชนะปัญหาบ้างอย่างของเราได้ด้วย  นอกจากนี้เรายังต้องเชื่อมั่นอีกด้วยว่าเราสามารถบรรลุสิ่งใดก็ตามที่หลักคำสอนนั้นกล่าวถึงได้  หากเราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้  ยกตัวอย่างเช่น เราจะไม่สามารถเอาชนะความโกรธของตัวเองได้ แล้วเราจะทำตามหลักปฏิบัติที่มีจุดมุ่งหมายการเอาชนะความโกรธไปเพื่ออะไรกันล่ะครับ?  เราต้องเชื่อมั่นว่าหลักปฏิบัตินี้จะได้ผลสำหรับการบรรลุเป้าหมายตามที่กล่าวไว้

เมื่อเราคิดถึงหลักคำสอน เราพิจารณาจากมุมมองที่หลากหลาย  ยกตัวอย่างเช่น หากเรากำลังพูดถึงการปฏิบัติเพื่อเจริญเมตตาอย่างเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน เราก็ต้องทราบขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องใช้เพื่อพัฒนาความรักประเภทดังกล่าว  ยกตัวอย่างเช่น ความรักที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคนพึ่งพาสิ่งใด  ความรักประเภทนี้พึ่งพาการมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน การมองว่าทุกคนได้มีน้ำใจกับเรา เป็นต้น  ดังนั้นหากจะพัฒนาความรักอันเป็นสากลในจิตใจเรา เราก็ต้องทราบว่าความรักพึ่งพาสิ่งใด เราต้องพัฒนาความรู้แจ้งและสภาวะจิตใจประเภทใดก่อน เพื่อให้ความรักแบบนี้สามารถเติบโตภายในตัวเราได้

นอกจากนี้เรายังจำเป็นต้องทราบถึงปัจจัยต่อต้านความรัก ซึ่งความรักสามารถแก้ไขสิ่งนั้นได้ด้วย  หากจะพูดให้เจาะจงก็คือ เราต้องเชื่อมั่นว่าปัจจัยต่อต้านคือความโกรธและความเกลียด และเราต้องเชื่อมั่นว่าความรักนั้นทรงพลังกว่าปัจจัยเหล่านี้และสามารถกำจัดมันได้จริง ๆ  เราต้องเข้าใจว่าความรักสามารถกำจัดปัจจัยเหล่านี้ได้อย่างไรด้วย

นอกจากนี้เรายังต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการพัฒนาความรักและเราจะนำความรักที่ได้พัฒนาขึ้นแล้วไปใช้ทำอะไร ซึ่งหมายถึงการรู้ถึงประโยชน์ของการพัฒนาความรัก  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามองตำรามากมายที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาเป้าหมายแบบพระโพธิจิต ซึ่งหมายถึงเป้าหมายของการบรรลุการตรัสรู้ในอนาคตได้ด้วยตนเองเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสิ่งจำกัดที่มีชีวิตทั้งปวง ตำราเหล่านี้มักเริ่มด้วยการอธิบายประโยชน์ของการมีเป้าหมายแบบพระโพธิจิต  จุดประสงค์ที่ตำราเริ่มต้นในลักษณะนี้ก็เพื่อทำให้เราเชื่อมั่นว่าการมีเป้าหมายดังกล่าวในชีวิตเป็นสิ่งที่เราต้องการพัฒนาขึ้น

ท้ายที่สุดเราต้องเชื่อมั่นในตรรกะของหลักคำสอนนั้น  หลักคำสอนนั้นต้องมีตรรกะ ต้องมีเหตุผล และต้องสอดคล้องกับระดับการปฏิบัติและรายละเอียดที่แท้จริงของหลักคำสอนนั้น

ดังนั้นจึงมีสิ่งมากมายหลายอย่างที่เราต้องพิจารณา  การกระโดดไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติสมาธิเลยโดยไม่เข้าใจสิ่งที่เราต้องพัฒนาขึ้นก่อน วิธีการปฏิบัติจะกำจัดสภาวะจิตใจที่เป็นปัญหาออกไปอย่างไร และปัจจัยต่อต้านที่เราต้องระวังคืออะไร และอื่น ๆ นั้นจึงไม่ใช่เรื่องฉลาดเลย  เราสามารถเปรียบเทียบกรณีนั้นได้ในลักษณะนี้ครับ  “การฟังก็เหมือนกับการตักอาหารใส่ปากตัวเองและการคิดพิจารณานั้นก็เหมือนกับการเคี้ยวอาหาร”  หากเราพยายามกลืนอาหารโดยไม่เคี้ยว เราก็จะสำลัก  ในลักษณะเดียวกัน หากเราพยายามทำสมาธิโดยไม่คิดถึงหลักคำสอน เราก็จะพบกับความยากลำบาก

แล้วเราจะสามารถทำกระบวนการคิดนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร?  ขั้นตอนการคิดอาจเป็นรูปแบบการคิดแบบฟรีสไตล์เกี่ยวกับประเด็นทั้งหลายที่ผมได้กล่าวไปแล้ว หรือเมื่อได้ทำเช่นนี้แล้ว เราอาจทำกระบวนการที่เป็นทางการมากขึ้นได้

กระบวนการคิดอย่างเป็นทางการ

กระบวนการคิดอย่างเป็นทางการหมายถึงการคิดตามสายการให้เหตุผล  เมื่อเราต้องการพัฒนาสภาวะจิตใจประเภทหนึ่ง เราก็ต้องสร้างสะสมเพื่อไปให้ถึงสภาวะนั้น  เราต้องสร้างสะสมเพื่อไปให้ถึงสภาวะจิตใจดังกล่าว โดยการปฏิบัติตามระดับหรือขั้นตอนต่าง ๆ และส่วนใหญ่ขั้นตอนเหล่านี้รวมถึงการใช้สายการให้เหตุผล  ยกตัวอย่างเช่น หลักคำสอนอาจกล่าวถึงสายการให้เหตุผลที่นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องอนิจจัง (สิ่งต่าง ๆ ย่อมได้รับผลกระทบจากเหตุ และเงื่อนไขต่าง ๆ ปลี่ยนแปลงไปจากชั่วขณะหนึ่งเป็นชั่วขณะหนึ่งและมีจุดจบ) หรืออาจรวมถึงการใช้สายการให้เหตุผลที่สร้างความเข้าใจถึงสุญญตา (ว่าทุกสิ่งไม่มีการดำรงอยู่ในวิถีที่เป็นไปไม่ได้) ด้วยการคิดถึงและทำงานผ่านตรรกะในสายการให้เหตุผล เราจะเชื่อมั่นว่าเรื่องอนิจจังและสุญญตานั้นถูกต้อง แถมสายการให้เหตุผลยังพิสูจน์ให้เห็นอีกด้วยว่าอนิจจังและสุญญตานั้นเป็นเรื่องจริง  ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเรายังสามารถเชื่อมั่นได้ด้วยการผ่านสายการให้เหตุผลดังกล่าวทำให้เราสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเด็ดขาดเกี่ยวกับเรื่องอนิจจังและสุญญตาได้  อย่าลืมว่าการเชื่อมั่นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการคิด

อีกทางหนึ่งคือ เราสามารถสร้างสะสมไปจนถึงสภาวะจิตใจเฉพาะประเภทหนึ่งผ่านระดับต่าง ๆ แต่ไม่ได้ผ่านสายการให้เหตุผลเสียทีเดียว  ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการพัฒนาเป้าหมายพระโพธิจิต เราจะต้องปฏิบัติตามระดับต่าง ๆ เช่น การสร้างจิตใจที่เป็นกลาง และจากนั้นจึงมองว่าทุกคนเคยเป็นแม่ของเราในชาติก่อนหน้านี้ จดจำความน้ำใจของความรักจากแม่ไว้ และพัฒนาความกตัญญูสำหรับความรักนี้ เป็นต้น  เราปฏิบัติผ่านระดับต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อที่เราจะได้เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติตามขั้นตอนเหล่านี้จะทำให้เราสามารถไปถึงจุดหมายของการพัฒนาพระโพธิจิตได้  นี่ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการคิดเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ในกระบวนการการคิด เรายังต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าสภาวะทางจิตใจที่เราพยายามจะปลูกฝังคืออะไรกันแน่  การทำสมาธิบางประเภทมีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้เรามุ่งเน้นไปยังวัตถุเฉพาะอย่าง เช่น การสร้างภาพของพระพุทธเจ้าขึ้นในจิตใจ  ในการนั่งสมาธิโดยมุ่งเน้นไปยังภาพของพระพุทธเจ้าที่สร้างขึ้นในจิตใจนั้น เราต้องเข้าใจว่าการนั่งสมาธิประเภทนี้เป็นประเภทการมุ่งเน้น และเป้าหมายของมันคือการมุ่งเน้นไปยังวัตถุเฉพาะอย่าง คือ พระพุทธเจ้าที่มีชีวิตแบบสามมิติขนาดเล็กที่สร้างขึ้นจากแสงสว่าง ซึ่งเราจินตนาการว่าอยู่ด้านหน้าเราในระดับสายตา

ในทางกลับกันก็มีการทำสมาธิประเภทอื่นที่มีจุดประสงค์เพื่อช่วยให้เราพัฒนาสภาวะทางจิตใจประเภทต่าง ๆ เช่น ความรัก  ความรักไม่ใช่วัตถุที่เรามุ่งเน้น หากแต่เป็นสภาวะทางจิตใจ เป็นประเภททัศนคติทางจิตใจที่เราพัฒนาขึ้น  ดังนั้นเราจึงต้องทราบประเภทการทำสมาธิที่เราฝึกอยู่  กล่าวคือเราพยายามจะมุ่งเน้นไปยังวัตถุเฉพาะอย่าง หรือเราพยายามสร้างสภาวะทางจิตใจกันแน่? เราพยามจะทำสิ่งใดให้สำเร็จ?

สำหรับทั้งสองกรณี ท่านสองขะปะ (Tsongkhapa) ได้เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่าเราจำเป็นต้องทราบสองสิ่งดังต่อไปนี้

  • ก่อนอื่นเราต้องทำให้แน่ใจว่าวัตถุที่ต้องปรากฏในจิตใจเราคือสิ่งใดกันแน่  ไม่ว่าเราจะพูดถึงการนั่งสมาธิแบบการสร้างภาพพระพุทธเจ้าขึ้นในจิตใจ หรือการทำสมาธิมุ่งเน้นความรัก วัตถุที่ปรากฏขึ้นในการทำสมาธิเราคืออะไร?
  • อย่างที่สองคือเราต้องทราบว่าจิตของเราจับวัตถุนั้นอย่างไร จิตเรารับรู้ถึงสิ่งนั้นอย่างไร?

หากเราไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับทั้งสองประเด็นดังกล่าว เราจะสามารถสร้างสภาวะจิตใจที่เราต้องการจะพัฒนาขึ้นได้อย่างไรกัน?

ยกตัวอย่างเช่น ความเห็นอกเห็นใจ  ความเห็นอกเห็นใจมุ่งเป้าหมายไปที่สิ่งใดครับ?  วัตถุที่ปรากฏขึ้นคืออะไร?  วัตถุที่ปรากฏขึ้นในจิตใจเราในขณะทำสมาธิมุ่งเน้นความเห็นอกเห็นใจนั้นคือสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย สิ่งจำกัดที่มีชีวิตทั้งหลายที่มีทุกข์  จิตของเรามุ่งเน้นไปที่พวกเขาและจำแนกด้านเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับพวกเขา คือ ความทุกข์และเหตุของทุกข์ของพวกเขา  จิตเราจับวัตถุเหล่านี้อย่างไร?  จิตจับวัตถุเหล่านี้ด้วยความปรารถนาอันแรงกล้าให้พวกเขาพ้นจากความทุกข์และเหตุของทุกข์ และด้วยเจตนาที่จะพยายามทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นด้วยตัวเราเอง  ในลักษณะนี้ ผ่านการคิดถึงข้อแนะนำต่าง ๆ ที่เราได้ยินหรือได้อ่านมา เราก็จะสามารถระบุและเข้าใจสภาวะจิตใจที่เราต้องการสร้างขึ้นได้อย่างชัดเจน

หากเราวางแผนที่จะทำสมาธิโดยมุ่งเน้นพระโพธิจิต เราต้องคิดและมีความชัดเจนเกี่ยวกับว่าจิตเรากำลังทำอะไรในขณะทำสมาธิ  คนส่วนใหญ่สับสนพระโพธิจิตกับความเห็นอกเห็นใจ  อย่างไรก็ตาม โพธิจิตกับความเห็นอกเห็นใจนั้นไม่เหมือนกัน  พระโพธิจิตคือสภาวะจิตใจที่มีความเห็นอกเห็นใจเป็นพื้นฐาน แต่พระโพธิจิตมีความกว้างไกลกว่าความต้องการอยากให้ผู้อื่นเป็นอิสระจากทุกข์ของตนและเหตุของทุกข์เป็นอย่างมาก  พระโพธิจิตไปไกลกว่าแค่ความต้องการอยากนำสิ่งจำกัดที่มีชีวิตทั้งหมดไปสู่การตรัสรู้และถือว่าการกระทำนี้เป็นความรับผิดชอบของตน  แต่ความปรารถนาดีและความรู้สึกดี ๆ เหล่านี้เป็นอารมณ์เชิงบวกที่สร้างพื้นฐานและความเติบโตให้กับพระโพธิจิต  เราต้องมีพื้นฐานของความรักและความเห็นอกเห็นใจก่อน

ถ้าอย่างนั้นเมื่อเรานั่งลงบนเบาะและเริ่มนั่งสมาธิมุ่งเน้นพระโพธิจิต เรามุ่งเน้นไปที่สิ่งใด?  เรามุ่งเน้นไปที่การตรัสรู้ของเราเอง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้บนรากฐานของปัจจัยธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าของเราและบนรากฐานของการปฏิบัติอย่างหนักที่เราต้องทำเพื่อบรรลุการตรัสรู้  ปัจจัยธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าของเราคือคุณสมบัติและลักษณะขั้นพื้นฐานที่พวกเราทุกคนมี ซึ่งจะช่วยทำให้เราสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ เช่น ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของจิตใจ  เราไม่ได้มุ่งเน้นไปยังการตรัสรู้ของพระศากยมุนีพุทธเจ้า  เราไม่ได้มุ่งเน้นไปยังการตรัสรู้โดยรวมที่เป็นนามธรรม หากแต่เรามุ่งเน้นไปที่การตรัสรู้ของเราเอง การตรัสรู้ของเราที่ยังไม่เกิดขึ้น

แล้วเรามุ่งเน้นไปยังการตรัสรู้ที่ยังไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร?  จุดนี้ไม่ง่ายเลยครับ  ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าจุดนี้หมายความว่าอย่างไร มันเป็นปรากฏการณ์ประเภทใดกันแน่ ปรากฏการณ์ที่ยังไม่เกิด หรือเจ้าสิ่งนี้  ยกตัวอย่างเช่น เราต้องพิจารณาประเด็นต่อไปนี้  ต้นกล้าที่ยังไม่เกิดขึ้นนี้มีตัวตนอยู่แล้วในเมล็ดพันธุ์และรอคอยเวลาที่จะแตกหน่อออกมาหรือเปล่า? หรือต้นกล้าที่ยังไม่เกิดขึ้นนี้ไม่มีตัวตนอยู่เลย ณ เวลาของเมล็ดพันธุ์นี้?

แน่นอนว่าความเข้าใจเรื่องสุญญตาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับจุดนี้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่าเรามุ่งเน้นไปที่สิ่งใด เวลาที่เรามุ่งเน้นไปยังการตรัสรู้ที่ยังไม่เกิดขึ้น  การตรัสรู้ที่ยังไม่เกิดขึ้นของเรานี้ไม่ได้ตั้งอยู่เฉย ๆ ในที่สักแห่งเหมือนกับเส้นชัยการแข่งขันที่เรามุ่งหน้าไป และมันก็ไม่ได้ตั้งอยู่เฉย ๆ ในจิตของเรา หรือในปัจจัยธรรมชาติของความเป็นพระพุทธเจ้าของเรา รอคอยวันเวลาที่จะแตกออกมา  มันไม่ใช่วัตถุที่หาได้แบบนั้น  ในทางกลับกัน เราก็ไม่ได้มุ่งเน้นไปยังสิ่งที่ไม่มีอยู่เลยเช่นกัน  เราไม่ได้มุ่งเน้นไปยังความไม่มีอะไรเลย  หากแต่เราต้องเข้าใจว่าการตรัสรู้ที่ยังไม่เกิดขึ้นของเรานั้นเป็นสิ่งที่สามารถกล่าวถึงได้อย่างมีเหตุผลในความต่อเนื่องทางจิตใจบนรากฐานของปัจจัยธรรมชาติแห่งพระพุทธเจ้า  เรายังต้องทราบความหมายของการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งสามารถถูกกล่าวถึงได้อย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานที่เหมาะสมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการมุ่งเน้นไปที่การตรัสรู้ที่ยังไม่เกิดขึ้นนี้ เราต้องมุ่งเน้นผ่านรูปแทนในใจของการตรัสรู้ที่ปรากฏขึ้นในจิตของเรา  ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจินตนาการเสียงของคำว่า “การตรัสรู้” หรือเราอาจสร้างภาพในจิตใจเป็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ต่อหน้าเรา  ในตันตระเราสามารถสร้างภาพในจิตใจเป็นตัวเราที่อยู่ในรูปแบบปางพระพุทธเจ้าได้  สำหรับตัวอย่างที่ยกมาแต่ละกรณีนี้ เราต้องมองเสียงในใจ หรือภาพในใจที่ปรากฏขึ้นในจิตใจของเราในฐานะรูปแทนการตรัสรู้ที่ยังไม่เกิดขึ้นของเรา

ต่อจากนั้น จิตใจเราจะสามารถมุ่งเน้นไปกับวัตถุในใจที่ปรากฏขึ้นได้อย่างไร?  เรามุ่งเน้นไปที่การตรัสรู้ที่ยังไม่เกิดขึ้นซึ่งรูปแทนโดยวัตถุทางใจที่ปรากฏขึ้นในใจเรา โดยมีเจตนาสองประการ  เจตนาประการแรกคือ “ฉันจะบรรลุการตรัสรู้”  ทีนี้เจตนาในการบรรลุการตรัสรู้นั้นขึ้นอยู่กับหลายสิ่งหลายอย่างที่เราจำเป็นต้องคิดถึงและเข้าใจแล้ว  เราต้องทราบตามความเป็นจริงว่า เราจำเป็นต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อบรรลุการตรัสรู้  เราจะมีทัศนคติสบาย ๆ อย่าง “เออ ฉันจะบรรลุสิ่งนี้ได้” ไม่ได้  เราจำเป็นต้องทราบว่าเราจะบรรลุมันได้อย่างไรและเชื่อมั่นว่าเราสามารถบรรลุได้  เราต้องมีเจตนาที่ถูกต้องในการบรรลุสภาวะการตรัสรู้  มิฉะนั้นการบรรลุดังกล่าวก็เป็นเพียงการฝันหวาน  และแน่นอนว่าเราต้องเข้าใจอย่างถูกต้องว่าการตรัสรู้คืออะไรด้วย ซึ่งไม่ง่ายต่อการทำความเข้าใจมากนัก  เราได้รับความเข้าใจทั้งหมดนี้ผ่านขั้นตอนที่สองของกระบวนการ นั่นคือการคิด

เจตนาที่สองที่เรามีในระหว่างมุ่งเน้นไปยังรูปแทนในใจนี้คือ เมื่อเราได้การตรัสรู้นั้นมาแล้ว เราจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ท้ายที่สุดแล้ว การตรัสรู้ไม่ได้หมายถึงการเป็นพระเจ้าผู้มีความสามารถทำได้ทุกอย่าง และแน่นอนว่าการสร้างประโยชน์ให้กับทุกคนนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของการปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งปูพื้นฐานไว้ที่พระโพธิจิตพึ่งพาอาศัย นั่นก็คือความรักและความเห็นอกเห็นใจ  เรารับหน้าที่ในการนำพาผู้อื่นไปสู่การตรัสรู้ เพราะเราปรารถนาให้พวกเขาเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งหมดและได้รับความสุขอย่างเต็มที่

จริง ๆ แล้วขั้นตอนการคิดนี้ค่อนข้างใช้เวลานานและต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างมาก  แต่ในตอนท้ายของขั้นตอนนี้ เราจะเข้าใจและทราบอย่างแม่นยำและแน่นอนอย่างเต็มที่ว่าสภาวะจิตใจที่เราพยายามจะบรรลุนั้นคืออะไรและเราจะสร้างสะสมเพื่อไปถึงสภาวะจิตใจนั้นได้อย่างไร  นอกจากนี้เรายังเชื่อมั่นอย่างสมบูรณ์และมีเหตุผลว่าเราสามารถสร้างสภาวะจิตใจนั้นขึ้นได้และการสร้างสภาวะนี้จะเป็นประโยชน์อย่างสูง

ถึงแม้ว่ากระบวนการการคิดนี้อาจดูเหมือนการทำสมาธิ กระบวนการนี้ก็ไม่ใช่การทำสมาธิตามนิยามแบบดั้งเดิมแล้ว  ชาวตะวันตกที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้คำศัพท์อย่างแม่นยำอาจเรียกกระบวนการการคิดนี้ว่า “การทำสมาธิ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  เราต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับความแตกต่างทั้งหลายระหว่างการคิดและการทำสมาธิ

กระบวนการการคิดเป็นกิจกรรมที่มีความคุ้มค่าเป็นอย่างสูง และการคิดเกี่ยวกับหลักคำสอนนั้นก็เป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ทุกเมื่อ  อันที่จริงแล้วการทำเช่นนี้ในระหว่างที่เราปฏิบัติกิจกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันอยู่นั้นถือเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก  ยกตัวอย่างเช่น เวลารถติด เราสามารถคิดถึงสภาวะจิตประเภทหนึ่งได้  เช่น ความรัก ซึ่งสามารถใช้กับสถานการณ์นี้ได้  สภาวะดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์อย่างไรกับสถานการณ์นี้บ้าง?  มันจะมีประโยชน์อย่างไรบ้าง? และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่เราสามารถครุ่นคิดได้ในระหว่างวัน

การทำสมาธิ

ตอนนี้เรามาถึงขั้นตอนที่สามของกระบวนการสามขั้นแล้วครับ นั่นก็คือการทำสมาธินั่นเอง  การทำสมาธิคล้ายกับการย่อยอาหารหลังจากที่เราได้เคี้ยวอาหารแล้ว  จุดประสงค์ของการทำสมาธิคือ การทำให้สภาวะจิตใจเชิงบวกประเภทนั้นเป็นนิสัย คือการทำให้กลายเป็นสภาวะจิตใจนั้น เมื่อเราได้คิดและเข้าใจสภาวะดังกล่าวและเชื่อมั่นว่าเราสามารถสร้างสภาวะนั้นได้แล้ว

โดยหลัก ๆ แล้วการทำสมาธิเป็นกระบวนการสองขั้น  ขั้นแรกคือสิ่งที่ผมแปลว่า “การทำสมาธิแบบพินิจ” (discerning meditation)  จริง ๆ แล้วขั้นนี้มักแปลว่า “การทำสมาธิแบบวิเคราะห์” (analytical mediation) แต่การเรียกขั้นนี้ว่าการ “แบบวิเคราะห์” นั้นมักทำให้เกิดความสับสนระหว่างขั้นนี้กับขั้นตอนการคิด  ผมจึงคิดว่าคำว่า “พินิจ” นั้นเป็นคำแปลที่ถูกต้องแม่นยำสำหรับขั้นนี้มากกว่า  ในบริบทนี้คำว่า “พินิจ” หมายถึงการกลั่นกรองสิ่งนั้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน และทำความเข้าใจสิ่งนั้นในลักษณะหนึ่ง  ด้านที่สองของการทำสมาธิคือ การทำสมาธิแบบตรึง (fixating mediation) ซึ่งเราตรึงกับสภาวะจิตใจนั้นและมุ่งเน้นอยู่กับสิ่งนั้น  เราสามารถเรียกขั้นตอนที่สองนี้ได้ว่า “การทำสมาธิแบบมีเสถียรภาพ” (stabilizing meditation)

เราจะทำขั้นแรกของการทำสมาธิแบบพินิจให้สำเร็จได้อย่างไร?  ในระหว่างกระบวนการการคิด เราผ่านการใช้สายการให้เหตุผล หรือผ่านระดับและขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับการสร้างสะสมสภาวะจิตใจเฉพาะประเภทมาแล้ว  เราทำเช่นนั้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับว่าสภาวะจิตใจที่เราต้องการพัฒนานั้นคืออะไร และเราจะสามารถพัฒนาสภาวะจิตใจนั้นได้อย่างไร ตอนนี้ ด้วยการทำสมาธิแบบพินิจ เราผ่านสายการให้เหตุผลหรือขั้นตอนในการสร้างสภาวะจิตใจเฉพาะประเภทอีกครั้ง แต่ตอนนี้เราจะปฏิบัติกระบวนการนี้เพื่อสร้างสภาวะจิตใจนั้นขึ้นมาจริง ๆ อย่างสดชื่นภายในตัวเรา  ยกตัวอย่างเช่น ในการสร้างความเห็นอกเห็นใจสำหรับทุกคน เราตามสายการให้เหตุผลที่ว่า “ทุกคนเคยเป็นแม่ของฉัน ทุกเคยเคยมีความน้ำใจต่อฉัน…” เป็นต้น เพื่อที่เราจะได้ปฏิบัติตัวเองไปสู่สภาวะจิตใจที่ตั้งใจไว้และรู้สึกถึงสภาวะนั้นได้จริง ๆ

เมื่อเราปฏิบัติตัวเองด้วยกระบวนการทีละขั้นตอนนี้ไปจนถึงสภาวะจิตใจที่เราต้องการสร้างให้เป็นนิสัยแล้ว จากนั้นเราจึงทำการพินิจหรือทำความเข้าใจวัตถุอย่างแข็งขันในลักษณะนั้น  ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำสมาธิเจริญความเห็นอกเห็นใจ เรามุ่งเน้นไปที่สิ่งที่จำกัดที่มีชีวิตทั้งปวง โดยเฉพาะรายละเอียดที่เราจำแนกเกี่ยวกับพวกเขา นั่นคือปัญหาและทุกข์ของพวกเขา  เราทำการพินิจว่าพวกเขาเป็นทุกข์และเรามีความปรารถนาอยากให้พวกเขาเป็นอิสระจากทุกข์นั้นและมีเจตนาที่จะช่วยให้พวกเขาเป็นอิสระจากทุกข์นั้น  เรามองเห็นสิ่งมีความรู้สึกในใจจริง ๆ และเรามองพวกเขาในลักษณะนี้ หรืออาจเป็นการมองพวกเขาอย่างนี้ในชีวิตจริงด้วย  ความเห็นอกเห็นใจมุ่งเน้นที่ผู้อื่นและความทุกข์ของพวกเขา และเป็นความปรารถนาอยากให้พวกเขาเป็นอิสระจากสิ่งนั้น

เราคงอยู่กับการพินิจเป็นเวลาสักพักหนึ่งในกระบวนการเชิงแข็งขัน ในขั้นต่อมา การทำสมาธิแบบมีเสถียรภาพก็คือการปล่อยให้สิ่งที่ผ่านการพินิจของเราแล้วซึมซับเข้าไปในตัวเราด้วยการจดจ่ออย่างเต็มที่ไปที่หัวข้อหรือสภาวะจิตใจดังกล่าวนั่นเอง  แน่นอนว่าเราต้องมีความจดจ่อในช่วงการทำสมาธิแบบพินิจเช่นกัน แต่ในช่วงเสถียรภาพนี้ เรายอมให้ความรู้ซึมซับเข้าไปในหัวใจเรา  เรารู้สึกถึงความเห็นอกเห็นใจอย่างแรงกล้า

เราปฏิบัติทั้งสองขั้นตอนนี้ คือการพินิจและเสถียรภาพ สลับกันไปมา และในที่สุดเราก็จะสามารถทำให้ทั้งสองขั้นเข้าด้วยกันได้  การทำให้ขั้นตอนการพินิจและเสถียรภาพเข้าด้วยกันนั้นยากมาก  การอภิปรายเรื่องระดับต่าง ๆ ที่เราต้องปฏิบัติเพื่อทำให้ทั้งสองขั้นเข้าด้วยกันมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก  หากคุณต้องการทราบรายละเอียดบางส่วนในเรื่องนี้ คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของผมครับ

นอกจากนี้เมื่อเราอยู่ในขั้นสูงมากแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่เรียกว่า “การทำสมาธิแบบใช้แรง” อีกต่อไป  การทำสมาธิแบบใช้แรงเป็นการทำสมาธิที่กระบวนการการทำสมาธิแบบพินิจรวมถึงการปฏิบัติผ่านระดับต่าง ๆ และการสร้างสะสมสภาวะจิตใจขึ้น  ในระดับสูงเราสามารถทำสมาธิแบบพินิจโดยไม่ใช้แรงได้  เราสามารถสร้างสภาวะจิตใจที่ต้องการขึ้นในใจได้ทันทีโดยไม่ต้องสร้างสะสมสภาวะนั้นขึ้นผ่านขั้นตอนต่าง ๆ หรือการใช้สายการให้เหตุผล  อย่างไรก็ตาม เรายังคงใช้สภาวะจิตใจนั้นทำการพินิจวัตถุที่เรามุ่งเน้นอยู่ เหมือนกับที่ทำเวลาทำสมาธินิจแบบใช้แรง

ประเภทของการทำสมาธิ

เรามักได้ยินเกี่ยวกับการทำสมาธิสองประเภท  คำศัพท์ภาษาบาลีสำหรับทั้งสองประเภทนี้คือ “สมถะ” (สันสกฤต shamatha)” และ “วิปัสสนา” (สันสกฤต vipashyana) หรือในชื่อภาษาทิเบตว่า “ชิเน” (shinay) และ “ลักทง” (lhagtong)  จริง ๆ แล้วทั้งสองคำหมายถึงสภาวะจิตใจสองประเภทที่เราต้องการบรรลุผ่านกระบวนการการทำสมาธิ  สมถะเป็นสภาวะจิตใจที่นิ่งและคงที่  ความนิ่งนี้อยู่ในลักษณะที่ว่าเมื่อเราอยู่ในสภาวะนี้แล้ว เราได้ทำให้ความมัวทางจิตใจ การเปลี่ยนใจไปมา หรือความปั่นป่วนทางจิตใจ (จิตใจที่เลื่อนลอยไปหาวัตถุอื่นที่น่าดึงดู) ทุกระดับเงียบสงบลงแล้ว  นอกจากนี้สมถะยังมีความคงที่ในลักษณะของการมุ่งเน้นที่คงที่อย่างมั่นคงอยู่กับวัตถุ  เพราะฉะนั้นจึงเป็นการเน้นการทำสมาธิแบบมีเสถียรภาพ

เราสามารถพัฒนาสภาวะจิตใจแห่งความนิ่งและคงที่นี้ได้ผ่านการมุ่งเน้นไปที่สิ่งต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการหายใจ การสร้างภาพพระพุทธเจ้าขึ้นในจิตใจ และอื่น ๆ  รายชื่อสิ่งที่เป็นไปได้นั้นยาวมากครับ

แม้แต่ในการทำสมาธิแบบสมถะ เราก็ต้องได้ยินคำแนะนำการปฏิบัติ และจากนั้นจึงคิดเกี่ยวกับระดับของการทำสมาธิ  ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะสร้างภาพพระพุทธเจ้าขึ้นในใจ เราก็จะได้ยินคำแนะนำเกี่ยวกับการสร้างภาพในใจขึ้นทีละขั้น  จากนั้นเราก็จะคิดว่าเราต้องทำสิ่งใดเป็นอย่างแรก อย่างที่สอง และอื่น ๆ

“วิปัสสนา” หมายถึงสภาวะจิตใจซึ่งมีความสามารถเป็นเลิศในการรับรู้  เป็นสภาวะจิตใจที่สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ในลักษณะอันเป็นเลิศ  ฉะนั้นการทำสมาธิวิแบบปัสสนาก็เน้นการทำสมาธิแบบพินิจนั่นเอง  เมื่อเราพูดถึงการบรรลุสภาวะวิปัสสนานั้น เราสามารถบรรลุสภาวะนี้ได้ด้วยการมีสภาวะจิตใจเชิงความสามารถเป็นเลิศในการรับรู้ที่พินิจถึงความอนิจจังหรือสุญญตาได้ แต่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงหนึ่งในสองอย่างนี้เท่านั้น  ในอนุตตรโยคะตันตระ ซึ่งเป็นตันตระขั้นสูงสุด หนึ่งในวิธีการพัฒนาวิปัสสนา กล่าวคือสภาวะจิตใจที่มีความสามารถเป็นเลิศในการรับรู้นี้คือ การสร้างภาพในจิตใจเป็นจุดหรือหยดน้ำขนาดจิ๋วที่ปลายจมูก  จากนั้นในขณะที่ยังคงภาพในจิตใจของหยดนั้นไว้ คุณก็สร้างภาพในจิตใจเป็นหยดน้ำอีกสองหยดในแถวต่อมา จากนั้นก็เป็นสี่หยด แปดหยด สิบหกหยด สามสิบสองหยด และต่อไปเรื่อย ๆ คุณต้องจัดทุกหยดให้อยู่เป็นระเบียบอย่างสมบูรณ์แบบ จากนั้นจึงค่อย ๆ สลายภาพที่สร้างขึ้นไปตามขั้น  ด้วยการสร้างภาพในจิตใจประเภทนี้ขึ้น คุณได้พัฒนาสภาวะจิตใจที่มีความหลักแหลมอย่างยิ่งและมีความสามารถเป็นเลิศในการรับรู้ หากคุณต้องการพัฒนาสภาวะจิตใจนี้ไปสู่ขั้นสูงจริง ๆ คุณสามารถใช้การปฏิบัติอื่น ๆ ที่สร้างภาพในใจว่าในแต่ละหยดมีมณฑล (mandala) ทั้งหมดของระบบพระเทพทั้งหลายที่คุณปฏิบัติอยู่ ซึ่งรวมพระเทพทุกองค์และรายละเอียดทั้งหมดของแต่ละองค์ด้วย  หากคุณทำจุดนี้สำเร็จ คุณก็มีสภาวะจิตใจที่มีความสามารถเป็นเลิศในการรับรู้จริง ๆ ครับ!

การทำสมาธิทั้งสองประเภท นั่นคือสมถะและวิปัสสนานั้นมีอยู่ในพระพุทธศาสนาทุกสาย รวมถึงระบบความเชื่อของอินเดียหลายแบบที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาด้วย  ในพระพุทธศาสนาสายเถรวาท การนั่งสมาธิทั้งสองเรียกเป็นภาษาบาลีว่า “สมถะ” และ “วิปัสสนา” ทั้งสองประเภทพบได้ในสายเซ็นเช่นกัน  ยกตัวอย่างเช่น ในนิกายซอน (Son) ซึ่งเป็นนิกายเซ็นแบบเกาหลี มีบทพิจารณาโกอาน (koan) “นี่คืออะไร?” เมื่อเรามุ่งเน้นที่ “นี่คืออะไร?” ประเด็นตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการมีคำตอบ เช่น “นี่คือโต๊ะ นี่คือแก้ว” เป็นต้น  หากแต่เราพัฒนาจิตใจเราให้อยู่ในสภาวะของ “การสงสัยเชิงลึก” กล่าวคือการถามอยู่เสมอเกี่ยวกับความเป็นจริงของ “นี่คืออะไร?” จากนั้นสภาวะจิตใจของเราก็จะเกิดความสามารถเป็นเลิศในการรับรู้

มีเรื่องตลกอยู่เรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าปรมาจารย์ชาวทิเบตส่วนใหญ่ไม่ได้ศึกษาสายเซ็น พวกท่านไม่คุ้นเคยกับสายนี้  มีการประชุมอันโด่งดังระหว่างปรมาจารย์เซ็นและกาลู รินโปเช (Kalu Rinpoche)  ปรมาจารย์เซ็นหยิบส้มขึ้นมาลูกหนึ่งและถามคาลู รินโปเชว่า “นี่คืออะไร?”  คาลู รินโปเชมองล่ามแปลภาษาของเขาอย่างตั้งคำถาม แล้วจึงถามขึ้นว่า “ทำไมเหรอ? พวกเขาไม่มีส้มในประเทศเขาหรืออย่างไร?”

ดังนั้นเราจึงมีทั้งสมถะและวิปัสสนา  สมถะไม่ใช่แค่การมีสมาธิอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นผ่านขั้นตอนทั้งเก้าขั้น โดยใช้การให้ความใส่ใจประเภทต่าง ๆ เท่านั้น แต่นอกจากการมีสมาธิอย่างสมบูรณ์แล้ว สมถะยังมีสิ่งที่เรียกว่า “สภาวะจิตใจอันเบิกบาน” อีกด้วย  จริง ๆ แล้วคำศัพท์ทางเทคนิคคือคำว่า “ความรู้สึกถึงความแข็งแรง”  นอกเหนือจากสมาธิอันสมบูรณ์แบบแล้ว ยังมีความรู้สึกถึงความแข็งแรง ซึ่งเป็นสภาวะที่มีความเบิกบานทั้งทางร่างกายและจิตใจ  “ความรู้สึกถึงความแข็งแรง” นั้นคล้ายคลึงกับสภาวะของนักกีฬาที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างสมบูรณ์

เซนซับ เซอกง รินโปเช (Tsenshap Serkong Rinpoche) อาจารย์ของผมอธิบายไว้ว่า การมีสภาวะจิตใจของสมถะนั้นเหมือนกับการมีเครื่องบินจัมโบ้  หากคุณวางมันไว้บนพื้นดิน มันก็จะอยู่อย่างนั้น และหากคุณให้มันบินขึ้นไปในอากาศ มันก็จะบินขึ้นไป  มีความรู้สึกในลักษณะที่คุณสามารถเพ่งสมาธิอยู่กับสิ่งใดก็ได้เป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ได้  ร่างกายจะไม่เหนื่อยล้า จิตใจจะไม่เหนื่อยล้า คุณรู้สึกแข็งแรงสุด ๆ และทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าเบิกบานใจ  สมถะเป็นสภาวะจิตใจที่มีความเบิกบานใจ มีความยกระดับ และมีความปีติเป็นอย่างมาก  แต่ไม่ใช่ความปีติแบบที่คุณร้องเพลงและเต้นรำอย่างมีชีวิตชีวาเมื่อวิ่งไปตามถนนอย่างในหนังนะครับ มันไม่ใช่แบบนั้น  ในสภาวะสมถะ จิตใจมีความเฉียบคมอย่างเต็มที่เหมือนกับนักกีฬาที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

จุดนี้จึงมีความสำคัญที่ต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าสภาวะจิตใจของวิปัสสนานั้นเป็นสภาวะจิตใจที่เพิ่มเติมจากสภาวะของสมถะ  นอกเหนือจากการมีสมาธิอย่างสมบูรณ์และมีสภาพแข็งแรงของสมถะแล้ว วิปัสสนายังเพิ่มเติมความรู้สึกแข็งแรงประการที่สอง  นี่คือความรู้สึกของจิตใจที่แข็งแรงสำหรับการเข้าใจและการพินิจสิ่งใดก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีการทำสมาธิอีกประเภทหนึ่งที่มักเรียกว่า “การทำสมาธิแบบชำเลืองมอง” (glance meditation)  เมื่อเราฝึกการทำสมาธิประเภทหนึ่งอยู่ เราจำเป็นต้องทบทวนเส้นทางทางพระพุทธศาสนาทั้งหมดเป็นระยะ ๆ  จุดประสงค์ของการทำเช่นนี้คือ การเตือนตัวเองว่าหัวข้อการทำสมาธิที่เราปฏิบัติอยู่นั้นสอดคล้องกับภาพรวมอย่างไร เพื่อเราจะได้ไม่เน้นที่หัวข้อใดหัวข้อหนึ่งมากเกินไปและข้ามหรือละเลยอีกหัวข้อหนึ่ง  ดังนั้นการทำสมาธิแบบชำเลืองมองจึงหมายถึงการทบทวนเส้นทางทั้งหมด คือเป็นการทบทวนประเภทหนึ่งนั่นเอง

หลายปีก่อน ผมมาที่กรุงมอสโกพร้อมกับ ดร. เตนซิน เชอดรัค (Dr. Tenzin Choedrak) ผู้เป็นแพทย์ประจำตัวของสมเด็จองค์ดาไลลามะ  พวกเรากำลังทำโปรเจคเกี่ยวกับการใช้ยาแผนทิเบตช่วยเหลือเหยื่อจากภัยพิบัติเชียร์โนบีล  พวกเราพักในโรงแรมที่ดีมาก ๆ และได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข  หลายครั้งพวกเราได้ไปงานเลี้ยงรับประทานอาหารรัสเซียเจ็ดคอร์สอันมีโด่งดัง  ทีนี้ดร. เตนซิน เชอดรัคใช้เวลายี่สิบปีอยู่ในค่ายกักกันของจีนก่อนที่เขาจะออกมาจากทิเบตและเดินทางมายังอินเดียได้ และเมื่ออาหารคอร์สแรกเสิร์ฟ ไม่ว่าเราจะเตือนเขาล่วงหน้ามากเท่าไหร่ก็ตาม เขาก็จะทานอาหารคอร์สแรกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เหมือนกับว่านี่จะเป็นอาหารอย่างเดียวที่เขาจะได้ทานจนถึงสัปดาห์หน้า  จากนั้นเขาก็จะอิ่มมาก จึงไม่สามารถทานอาหารอีกหกคอร์สที่ตามมาได้เลย  เรื่องนี้ถือเป็นการเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เราต้องการหลีกเลี่ยงในการทำสมาธิแบบชำเลืองมอง  เราต้องการทบทวนและพึงระลึกถึงเมนูทั้งหมดในอาหารเจ็ดคอร์สไว้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ “ทานมากเกินไป” และทำสมาธิเกี่ยวกับหัวข้อหนึ่งมากเกินไป  การทำเช่นนี้ก็เหมือนการยัดอาหารมื้อแรกเข้าไปและพลาดอาหารจานที่เหลือในมื้อนั้นนั่นเอง

ทีนี้ผมได้อธิบายถึงประเภทการทำสมาธิที่เราสร้างสะสมสภาวะจิตใจขึ้น แต่การทำสมาธิประเภทนี้ไม่ใช่ประเภทเดียวที่ปฏิบัติในพระพุทธศาสนา  การปฏิบัติสมาธิบางประเภท เช่น การทำสมาธิแบบกาจู (Kagyu) บางประเภทที่เกี่ยวกับธรรมชาติของจิตใจ หรือในหลักปฏิบัติของเซ็นบางประเภทนั้นมีแนวทางปฏิบัติที่ต่างออกไป  แทนที่จะสะสมเพื่อไปให้ถึงสภาวะจิตใจนั้น ๆ เราสร้างความเงียบลงไปสู่สภาวะจิตใจเพื่อค้นพบคุณสมบัติในจิตใจที่ติดตัวมาโดยกำเนิดของเรา เช่น ความรัก หรือความกระจ่างของจิตใจและเพื่อหาทางไปสู่สิ่งเหล่านี้  กระนั้นแล้วในการทำสมาธิประเภทนี้ เราก็ยังคงต้องได้ยินคำแนะนำข้อปฏิบัติก่อน จากนั้นจึงคิดพิจารณาสิ่งนี้จนเราเข้าใจ  นอกจากนี้เราต้องทราบด้วยว่าสภาวะจิตใจที่เราสร้างความเงียบลงไปหานี้ตั้งอยู่บนรากฐานของสิ่งใด เราจะบรรลุสิ่งใด เราต้องทำอะไรก่อนและหลัง เป็นต้น  โครงสร้างของการทำสมาธิประเภท “สร้างความเงียบลง” นั้นเหมือนกับการทำสมาธิแบบ “สร้างสะสม”

สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำสมาธิมากที่สุด

มีคำแนะนำมากมายเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับการทำสมาธิแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดพื้นที่สำหรับทำสมาธิ การกวาดพื้นและทำความสะอาดห้อง และข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการหมอบกราบ การถวายเครื่องเซ่น และอื่น ๆ อีกมากมาย  ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำสมาธิเป็นอย่างมาก  ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและสถานการณ์ที่เอื้อต่อการทำสมาธิจะเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะที่นั่งที่เหมาะสมและสภาพแวดล้อมที่สะอาดและเงียบ เราก็ไม่จำเป็นต้องจัดสถานที่รอบตัวเราให้วิจิตรสวยงาม  เราไม่จำเป็นต้องลงทุนมากเพื่อซื้อเครื่องติดตั้งทองคำและธูปตามที่ใช้อย่างเป็นทางการและเปิดดนตรีสไตล์นิวเอจ (New Age) คลอ หรืออะไรพวกนั้น  ท่านมิลาเรปะ (Milarepa) ไม่มีสิ่งเหล่านี้อย่างแน่นอนและท่านก็ประสบความสำเร็จในการฝึกสมาธิเป็นอย่างมาก!  เราพยายามจัดให้พื้นที่สำหรับการทำสมาธิของเราให้ดีเท่าที่เราทำได้ โดยไม่ต้องทุ่มเทมากเกินไปและทำทุกอย่างให้ดูวิจิตรสวยงามเหมือนเป็นแค่การแสดง

นอกจากนี้เรายังต้องสามารถทำสมาธิได้ทุกที่  หากเราเดินทางด้วยรถไฟเป็นระยะเวลานาน เราต้องไม่พูดว่า “ฉันทำสมาธิบนรถไฟไม่ได้หรอก เพราะฉันไม่มีถ้วยน้ำ แล้วฉันก็จุดธูปไม่ได้เลย ฉันหมอบกราบไม่ได้” เป็นต้น  จริง ๆ เราสามารถทำสมาธิที่ไหนก็ได้ครับ เมื่อเรามีความเชี่ยวชาญมากขึ้นสักหน่อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ ตอนต่อแถวรอ หรือที่ไหนก็ได้  แม้แต่ในชีวิตประจำวันของเรา ในระหว่างการนั่งสมาธิอย่างเป็นทางการแต่ละครั้ง เราสามารถพยายามจดจำว่าต้องปฏิบัติกับผู้อื่นด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจ  นั่นก็ถือเป็นการทำสมาธิ ถูกไหมครับ?

อย่าลืมนะครับว่าจุดประสงค์หลักของการทำสมาธิคือการรวมหลักคำสอนเข้าด้วยกัน กล่าวคือการทำให้หลักคำสอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา เพื่อที่เราจะได้สามารถนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้  แต่เมื่อการทำสมาธิถูกแยกออกจากชีวิตประจำวันของเราแล้ว มันก็เพียงแค่งานอดิเรก โดยเฉพาะหากการทำสมาธิของเรารวมถึงการสร้างภาพในใจเชิงตันตระแบบประหลาด ๆ มันก็อาจกลายเป็นทริปไปดิสนีย์แลนด์ได้ง่าย ๆ ไปยังดินแดนแห่งความฝัน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันแต่อย่างใดเลย  หากเราเดินตามเส้นทางนี้ จิตใจของเราก็จะไม่มั่นคงและการทำสมาธิก็แทบจะไม่ก่อให้เกิดผลใด ๆ ในชีวิตประจำวันของเราเลย  อย่าลืมนะครับว่าจุดประสงค์หลักของการทำสมาธิคือการนำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตจริง

และไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน สิ่งที่เราต้องทำก่อนทำสมาธิคือการกำหนดแรงจูงใจ ยืนยันแรงจูงใจนั้น และมีเจตนาในการทำสมาธิพร้อมการเพ่งจิต  หากจิตใจของเราเลื่อนลอย เราก็จะนำทางมันกลับมา  หากเราเริ่มง่วง เราก็จะปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้น  ในท้ายที่สุดเราก็ทำการอุทิศพลังเชิงบวก  หากเราไม่อุทิศพลังงานเชิงบวกที่เราสร้างขึ้นจากการทำสมาธิ ความขยันหมั่นเพียรในการทำสมาธิของเราก็เพียงแต่พัฒนาสถานการณ์เชิงสังสารวัฏของเราเท่านั้น เราต้องการอุทิศพลังงานเชิงบวกให้กับการตรัสรู้เพื่อประโยชน์ของทุกคน

เปรียบเทียบการทำสมาธิเดี่ยวกับการทำสมาธิเป็นกลุ่ม

บางคนทำสมาธิเป็นคนเดียว  อันที่จริงแล้ว ชาวทิเบตมักทำสมาธิเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ พวกเขาแทบจะไม่ทำสมาธิกลุ่มเลย ถึงแม้ว่าในอารามพระสงฆ์และแม่ชีจะสวดมนต์และคัมภีร์พิธีกรรมต่าง ๆ ร่วมกันเป็นกลุ่มก็ตาม  อย่างไรก็ตาม ในโลกตะวันตกเราได้สร้างธรรมเนียมการนั่งสมาธิแบบกลุ่มขึ้น  สำหรับผู้คนส่วนใหญ่ ประโยชน์ของการนั่งสมาธิแบบกลุ่มคือระเบียบวินัย  หากเราอยู่คนเดียว เราอาจไม่มีวินัยบังคับให้ตัวเองนั่งลงและทำสมาธิ  เราลุกขึ้นก่อนที่เราตั้งใจไว้ ในขณะที่เวลามีผู้อื่นรอบตัวเรา เรามีระเบียบวินัยมากขึ้น  เรามีแนวโน้มที่จะหยุกหยิกไปมาน้อยลงด้วย เพราะเรารู้สึกอายที่จะทำเช่นนั้นต่อหน้าคนอื่น

บางคนรู้สึกว่าการนั่งสมาธิเป็นกลุ่มเป็นสิ่งที่เลวร้ายมาก เพราะพวกเขาถูกผู้อื่นรบกวนสมาธิ โดยเฉพาะเวลามีใครไอหรือหยุกหยิกไปมา หลายคนพบว่าจุดนี้แย่มากต่อการนั่งสมาธิ พวกเขาจึงชอบนั่งสมาธิเดี่ยวเป็นการส่วนตัวมากกว่า โดยเฉพาะหากกลุ่มนั้นท่องบทเสียงดังพร้อมกัน และบางคนก็ท่องช้ากว่าที่เราท่องตามปกติ เราจึงรู้สึกเบื่อหน่ายและกรธได้อย่างง่ายดาย รวมถึงสถานการณ์ในทางกลับกันด้วย ถ้าทั้งกลุ่มท่องเร็วเกินไป เราก็กรธเหมือนกัน

เราต้องเป็นผู้ตัดสินว่าการนั่งสมาธิแบบไหนเหมาะกับเรามากกว่า แบบเดี่ยว หรือแบบกลุ่ม  อย่างไรก็ตาม ผมได้สังเกตเห็นลักษณะที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเวลาเข้าร่วมการนั่งสมาธิแบบกลุ่มขนาดเล็ก ซึ่งหมายถึงการนั่งสมาธิกับผู้อื่นอีกคนหรือสองคน  การนั่งสมาธิสามารถประสบความสำเร็จได้สูงมากเมื่อคุณมีสายสัมพันธ์และการเชื่อมโยงเป็นพิเศษกับผู้ร่วมนั่งสมาธิ ซึ่งคุณจะรู้สึกถึงความเป็นเข้ากันกับพวกเขาได้มาก  มันเหมือนกับว่าพลังงานของทุกคนเกื้อหนุนกันและกัน  การนั่งสมาธิกับกลุ่มแบบนี้จึงให้พลังงานและความกระจ่างชัดกับคุณได้มาก แต่เมื่อพลังงานของผู้ที่นั่งสมาธิในกลุ่มขนาดเล็กตีกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นทางตรงข้ามเลยครับ มันนำมาซึ่งความรำคาญและทำให้จิตใจของคุณทึบมากกว่าเดิมเยอะ  ดังนั้นคุณจึงควรต้องดูให้ดีว่าคุณจะนั่งสมาธิกับใคร หากคุณตัดสินใจจะนั่งสมาธิกับผู้อื่น

ความสำคัญของความเพียรพยายาม

คำแนะนำสุดท้ายเป็นคำแนะนำที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง นั่นคือธรรมชาติของสังสารวัฏนั้นมีขึ้นและมีลง  ดังนั้นการทำสมาธิของเราก็ย่อมมีขึ้นและมีลงเป็นธรรมดา  มันไม่มีทางจะเป็นกระบวนการราบรื่นในลักษณะที่คุณพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน  บางวันการทำสมาธิก็จะเป็นไปได้ด้วยดีและบางวันก็ไม่ดี  บางวันเราอยากทำสมาธิและบางวันเราก็ไม่รู้สึกอยากทำสมาธิเลย  นี่เป็นสิ่งปกติและเป็นธรรมชาติมาก มันเป็นธรรมชาติของสังสารวัฏ  ประเด็นคือไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร คุณควรมีความพากเพียรและพยายามทำต่อไป  หากคุณมีความคิดว่า “ฉันไม่เห็นอยากนั่งสมาธิเลย” แล้วมันทำไมล่ะครับ?  เราก็นั่งสมาธิอยู่ดี  เรารักษาความสม่ำเสมอ ทำทุกวัน ถึงแม้ว่าจะนั่งเพียงแค่สองถึงสามนาทีก็ตาม  ความสม่ำเสมอนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างความมั่นคงบนเส้นทางนี้ให้เรา

นอกจากนี้ อย่ากำหนดเวลาการนั่งสมาธินานเกินไปในแต่ละครั้ง โดยเฉพาะในช่วงแรก  สามถึงห้านาทีก็เพียงพอแล้ว  มิฉะนั้นคุณจะคิดว่า “ฉันแทบรอไม่ไหวให้มันจบ” แล้วจากนั้นคุณก็จะไม่อยากกลับไปนั่งสมาธิอีก  หากคุณจบการนั่งสมาธิเวลาที่คุณยังอยากนั่งสมาธิต่อไปอีก คุณก็จะรู้สึกดีใจมากที่ได้กลับไปนั่งสมาธิอีก  มันก็เหมือนเวลาที่คุณอยู่กับใครบางคนและเขาต้องไปตอนที่คุณยังอยากใช้เวลาร่วมกับเขาต่อไปอีกนั่นแหละครับ เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้น คุณก็จะอยากพบเขาอีกในเร็ววัน  แต่ถ้าพวกเขาอยู่นานเกินไปจนถึงจุดที่คุณรู้สึกเหนื่อยกับเขาแล้วและอยากให้เขากลับไปเร็ว ๆ คุณก็จะไม่รู้สึกดีใจที่จะได้เจอเขาอีก

ท้ายที่สุด สิ่งสำคัญคือการค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลาในการนั่งสมาธิ  ต้องมีความยืดหยุ่น การมีความยืดหยุ่นเป็นสิ่งสำคัญมากครับ  อย่างที่ผมได้กล่าวไปว่า อย่าเว้นการนั่งสมาธิแม้แต่วันเดียว  คุณจะได้ความมั่นคง ความไว้วางใจ และความมั่นใจ หากคุณนั่งสมาธิทุกวัน  แต่คุณต้องยืดหยุ่น บางครั้งคุณอาจสามารถนั่งสมาธิได้ครบตามที่คุณอยากทำ แต่บางครั้งคุณอาจไม่มีเวลา ก็ให้กำหนดเวลาสั้น ๆ เอา แต่อย่างน้อยให้ทำทุกวัน  อย่าเป็นพวกบ้าคลั่งและหักโหมมากเกินไป โกอาน (koan) ของเซ็นที่ผมชอบมากที่สุดคือ “ความตายมาได้ทุกเมื่อ ผ่อนคลาย!”

Top