พูดให้เข้าใจได้อย่างง่าย ๆ ว่า พระโพธิสัตว์คือผู้ที่มีปัญญาและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ก็แน่นอนว่า มีคนฉลาดและใจดีอยู่มากมายในโลกนี้ แล้วอะไรที่ทำให้พระโพธิสัตว์แตกต่างออกไป? มาเริ่มต้นกันตรงที่ว่า พระโพธิสัตว์ไม่ได้เพียงแค่ปรารถนาให้คนอื่นได้ดีเท่านั้น แต่พระโพธิสัตว์ยังรู้จักวิธีการที่เชี่ยวชาญมากมายที่สามารถช่วยดับทุกข์ของผู้อื่นได้จริง แล้วท่านทั้งหลายเหล่านั้นก็ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์อย่างแท้จริง พระโพธิสัตว์เข้าใจรากเหง้าที่ลึกที่สุดของปัญหาทั้งปวงและมั่นใจว่าสามารถตัดรากเหง้าของปัญหานี้ออกได้ เพื่อไม่ให้สรรพสัตว์มีปัญหาใด ๆ อีกต่อไป ความรู้และจุดมุ่งหมายนี้เองที่ทำให้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจของพระโพธิสัตว์มีอานุภาพมาก
คำว่าพระโพธิสัตว์นี้มาจากคำสันสกฤต 2 คำ คือ “โพธิ” แปลว่า “ตรัสรู้” และ “สัตวา” ซึ่งหมายถึง “การมีชีวิตอยู่” ซึ่งในคำสอนทางพระพุทธศาสนาในยุคแรกนั้น คำว่า “พระโพธิสัตว์” ใช้บอกเล่าอธิบายถึงพระศากยมุนีพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องราวอดีตชาติของพระพุทธเจ้านั้น ก็ได้อธิบายว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าที่ทรงใช้ความอุตสาหะและเรี่ยวแรงมหาศาลเพื่อปลุกชีวิตที่มีอยู่นับไม่ถ้วนให้ตื่นขึ้น ซึ่งพระโพธิสัตว์ก็คือ ผู้ที่มุ่งหน้าไปสู่การตรัสรู้เพื่อประโยชน์สุขของสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทำเช่นนี้เพราะตระหนักดีว่าพวกท่านยังมีข้อจำกัดอยู่มากมาย แม้ว่าพระโพธิสัตว์เหล่านั้นจะรู้จักวิธีการมากมายในการช่วยเหลือผู้อื่น แต่ก็ยังมองไม่ออกว่าวิธีใดที่จะเหมาะกับแต่ละคนมากที่สุด มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่รู้เรื่องนี้ ดังนั้น ในขณะที่ช่วยเหลือผู้อื่นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พระโพธิสัตว์ก็ยังคงต้องพัฒนาตนเองเพิ่มเติมเพื่อกลายมาเป็นพระพุทธเจ้าด้วยเช่นกัน
พระโพธิสัตว์ปฏิญาณตนว่าจะทำงานเพื่อความหลุดพ้นของเหล่าสรรพสัตว์ ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดของพวกท่านจึงไม่ใช่แค่การบรรลุการตรัสรู้เพื่อตนเองเท่านั้น แต่เพื่อช่วยให้สรรพสัตว์ทั้งหลายบรรลุการตรัสรู้ด้วย เนื่องจากความเห็นอกเห็นใจอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ พวกท่านจึงเลื่อนการตรัสรู้ของตนเองออกไปเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและได้รับการเคารพบูชาในฐานะผู้นำทางและผู้พิทักษ์ศาสนา
การปฏิบัติและคุณสมบัติของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์มีคุณสมบัติหลายประการที่พระพุทธเจ้ามีอยู่อย่างครบถ้วนในระดับหนึ่ง แล้วพัฒนาตนเองเพิ่มเติมเพื่อทำให้เข้าใกล้การตรัสรู้ของตนเองและช่วยเหลือตนเองในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นมากยิ่งขึ้น ต่อไปนี้คือคุณสมบัติบางประการที่พระโพธิสัตว์มี
- ความเห็นอกเห็นใจ – พระโพธิสัตว์รักและใส่ใจสรรพสัตว์ทั้งหลาย พวกเราส่วนใหญ่ให้ความสำคัญแก่ตนเองก่อน แต่พระโพธิสัตว์ให้ความสำคัญแก่ผู้อื่นก่อนตนเอง พวกท่านเป็นเหมือนแม่ที่เห็นสรรพสัตว์เป็นลูกสุดที่รักเพียงคนเดียว เมื่อลูกป่วย แม่ทนไม่ได้ที่จะเห็นลูกเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานและจะยอมช่วยทุกอย่าง ในทำนองเดียวกัน พระโพธิสัตว์ก็ไม่อาจทนเห็นพวกเราคนใดคนหนึ่งต้องทนทุกข์ได้ พวกท่านไม่เพียงแต่ต้องการดูแลเอาใส่ใจทุกคนเท่า ๆ กันเพียงเท่านั้น แต่พวกท่านยังช่วยเหลือเราทุกเมื่อและเท่าที่พวกท่านจะทำได้ด้วย
- ปัญญา – พระโพธิสัตว์สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นโทษได้ พวกท่านเหล่านั้นยังสามารถแยกแยะความเป็นจริงออกจากจินตนาการได้ด้วย ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเหล่านี้ช่วยให้พระโพธิสัตว์แนะนำผู้อื่นไปสู่การปลดปล่อยได้
- วิธีการที่เหมาะสม – พระโพธิสัตว์มีความเชี่ยวชาญ รู้จักวิธีการช่วยเหลือผู้อื่น และใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อทำเช่นนั้น
- ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ – พระโพธิสัตว์มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทั้งในแง่ของทรัพยากรเนื้อหาและในแง่ของเวลาและกำลังหรือเรี่ยวแรงที่ตนเองมี พระโพธิสัตว์เต็มใจสละทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนมีเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น และไม่ยึดติดกับทรัพย์สินหรือความสำเร็จของตน
- ความอดทน – พระโพธิสัตว์เป็นผู้ที่มีความอดทนทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เข้าใจว่าเส้นทางสู่การตรัสรู้นั้นยาวไกล และพวกท่านก็เต็มใจสละเวลาเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นไม่ว่าจะต้องก้าวเดินไปทางไหนก็ตาม
- การประพฤติตามหลักจริยธรรม – พระโพธิสัตว์ตั้งมั่นในการประพฤติตามหลักจริยธรรม กล่าวคือ หลีกเลี่ยงการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่นและปลูกฝังการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง
- ความกล้าหาญ – พระโพธิสัตว์มีความกล้าหาญ เต็มใจที่จะเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น พระโพธิสัตว์ไม่เกรงกลัวต่อสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือการเสี่ยงภัยเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
การปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ในปัจจุบัน
ตัวอย่างที่ดีมากของพระโพธิสัตว์คือ สมเด็จองค์ดาไลลามะ องค์ที่ 14 ท่านทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไม่มีวันหยุดตั้งแต่เช้าจนดึก ท่านเริ่มต้นทำงานตั้งแต่ตี 3 ของทุกวัน ด้วยการทำสมาธิหลายชั่วโมง แล้วจากนั้น ก็อุทิศเวลาที่เหลือให้กับการพบปะและช่วยเหลือผู้อื่น
มีอยู่ครั้งหนึ่ง สมเด็จองค์ดาไลลามะเสด็จมายังเมืองสปิติ (Spiti) หลังจากการเดินทางอันยาวนาน ถึงตอนนี้ ท่านได้สอนมาหลายวันแล้วจนเสียงหายเพราะการพูดคุยมากมาย ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่อยากให้ท่านเหนื่อยมากไปกว่านี้ จึงแค่ขอให้ท่านนั่งลงและสวดบทแผ่เมตตา โอม มณี ปัทเม หูม (OM MANI PADME HUM) แก่ผู้ฟัง ซึ่งท่านก็เห็นด้วย แต่เมื่อการสอนเริ่มต้นขึ้น ท่านบอกว่า แม้ข้าพเจ้าจะขอให้ท่านพักและทำอะไรง่าย ๆ แต่ท่านก็ว่าท่านหลับสบายดี และไม่อยากทำให้ใครเสียเวลา ท่านจึงตัดสินใจที่จะสอน จากนั้น ท่านก็ได้สอนเรื่องพื้นฐานของคุณลักษณะที่ดีทั้งปวง (Foundation of All Good Qualities) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งช่วงเวลานั้นเสียงท่านก็หายเป็นปกติ
หลังจากสอนเสร็จ ข้าพเจ้าก็พาท่านไปที่ห้องของท่าน จากนั้น ท่านก็ถอดเสื้อจีวรตัวนอกออกแล้วนอนลงบนโซฟา แล้วท่านก็บอกว่า ข้าพเจ้าออกไปได้เพราะท่านรู้สึกเหนื่อยมาก แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เห็นความเหน็ดเหนื่อยบนใบหน้าของท่านเลย เห็นแต่เพียงใบหน้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่มากมายเท่านั้นจริง ๆ รู้สึกว่า คนธรรมดา ๆ อายุ 80 ไม่น่าจะทำงานแบบนี้ได้ สมเด็จองค์ดาไลลามะท่านช่างเป็นบุคคลที่น่าอัศจรรย์จริง ๆ!
ข้าพเจ้าสงสัยว่า ความลับที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนี้คืออะไร ซึ่งมันก็ไม่ใช่อะไรอื่นแต่เป็นความเห็นอกเห็นใจนั่นเอง ท่านทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์อย่างถาวร เราเล่นเกม 4-5 ชั่วโมงได้โดยไม่เหนื่อย แต่ท่านมองว่า สิ่งเดียวที่มีประโยชน์คือ การได้ช่วยเหลือผู้อื่น ดังนั้น ท่านจึงไม่รู้สึกเหนื่อย เมื่อพิจารณาดูที่คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ปัญญา ความกล้าหาญ และอื่น ๆ แล้ว เราก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสมเด็จองค์ดาไลลามะนั้นเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง
บทสรุป
พระโพธิสัตว์เป็นผู้นำทางที่ทรงพลังและมีความเห็นอกเห็นใจที่จะช่วยเหลือผู้ติดตามตนบนเส้นทางสู่การตรัสรู้ ด้วยการกระทำที่เสียสละและคำสอนของพระโพธิสัตว์เหล่านั้น พวกท่านจึงทำหน้าที่เป็นแบบอย่างสำหรับชาวพุทธและเป็นแรงบันดาลใจให้เราพัฒนาและปลูกฝังคุณสมบัติเดียวกันนี้ในตัวเรา ด้วยเหตุนี้ พระโพธิสัตว์จึงยังคงมีบทบาทสำคัญในชีวิตทางจิตวิญญาณของชาวพุทธหลายล้านคนทั่วโลก โดยเป็นแหล่งของแรงบันดาลใจและคำแนะนำสำหรับผู้ที่แสวงหาปัญญาและความเห็นอกเห็นใจในชีวิตของตนเองมากขึ้น
มันไม่มีทางที่จะบอกได้เลยว่าใครเป็นหรือไม่เป็นพระโพธิสัตว์จากภายนอก ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราแต่ละคนสามารถเป็นพระโพธิสัตว์ได้ด้วยตัวเราเอง ถ้าเราฝึกฝนและพัฒนาตนเองเพื่อจะเป็นพระพุทธเจ้าโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์ เราก็เป็นพระโพธิสัตว์ แต่มันจะดีแค่ไหนหากเราไม่เพียงแต่มีความปรารถนาเท่านั้น แต่เรายังมีความสามารถที่จะช่วยเหลือผู้อื่น แล้วใช้เวลาและกำลังของเราทำงานเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ด้วย ถ้าเราต้องการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง เราก็ต้องเป็นพระโพธิสัตว์ก่อน แล้วจากนั้น จึงมุ่งหน้าไปสู่การเป็นพระพุทธเจ้า ไม่มีอะไรที่จะทำให้ชีวิตมีความหมายมากกว่านี้แล้ว