การทำความคิดให้สงบ

01:28
การคิดเชิงมโนทัศน์เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ หากเราขาดความคิดในลักษณะนี้ เราก็จะไม่สามารถแยกแยะวัตถุต่าง ๆ ในร้านค้าได้ ว่าสิ่งนี้คือลูกแอปเปิ้ลหรือลูกแพร์ และเราก็จะไม่เข้าใจสำนวนที่ว่า “ขอซื้อตั๋วดูละครสองใบด้วยครับ” ถึงแม้ว่าเราจำเป็นต้องใช้ความคิดเชิงมโนทัศน์ในชีวิตประจำวัน บางครั้งความคิดแบบนี้ก็เป็นอุปสรรคสำหรับตัวเราเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เพื่อจดจ่อในการทำสมาธิ เราจำเป็นต้องหยุดเสียงพูดทั้งหลายในใจและการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงประสบการณ์ที่เราจะได้รับให้ได้

ทำจิตใจให้เงียบ

เราจำเป็นต้องทำจิตใจให้เงียบสงบในการเพ่งสมาธิ  คู่มือสอนการทำสมาธิบางตำราจะอธิบายว่า การกระทำเช่นนี้จะทำให้เราไปถึงสภาพของจิตที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น  แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า เราไม่ได้พุ่งเป้าไปที่จิตใจอันว่างเปล่าทั้งหมดเหมือนกับพวกซอมบี้ไร้จิตใจ หรือเหมือนวิทยุที่ปิดอยู่  ถ้าจะทำอย่างนั้นล่ะก็ การนอนหลับไปเลยคงจะเป็นการดี  เป้าหมายของเราคือการทำให้สิ่งรบกวนจิตใจทั้งหลายเงียบลง  อารมณ์บางอย่างนั้นถือเป็นสิ่งรบกวนมาก เช่น อารมณ์ประหม่า กังวล หรือหวาดกลัว  เป้าหมายของเราก็คือทำให้อารมณ์พวกนี้เงียบสงบลง

เมื่อเราทำให้จิตใจสงบลงแล้ว จิตใจที่ได้จะอยู่ในสภาพที่มีความกระจ่างและตื่นตัว ซึ่งทำให้เราสามารสร้างความรัก ความเข้าใจ หรือส่งความอบอุ่นอย่างมนุษย์ออกไปได้  การจะไปถึงสภาพนี้ต้องอาศัยการผ่อนคลายเชิงลึก ไม่ใช่แค่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อในร่างกายเท่านั้น แต่ยังผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจและอารมณ์ที่ขัดขวางไม่ให้เรารู้สึกถึงความอบอุ่นและชัดเจนตามธรรมชาติของจิตใจได้ หรือขัดขวางไม่ให้รู้สึกถึงอะไรได้เลย

บางคนเข้าใจผิดว่าการทำสมาธิคือ การที่เราต้องหยุดคิด  แทนที่จะหยุดคิด การทำสมาธิทำให้เราหยุดความคิดภายนอกที่ไม่จำเป็นเสีย เช่น ความคิดรบกวนเกี่ยวกับอนาตคต (“มื้อเย็นฉันจะทานอะไรดี?”) และความคิดเชิงลบ (“คุณใจร้ายกับฉันเหลือเกิน คุณนี่มันแย่จริง ๆ!”)  ความคิดเหล่านี้ทั้งหมดจัดอยู่ในประเภทจิตใจว่อกแว่กและความคิดรบกวน

อย่างไรก็ตาม การมีจิตใจที่สงบนั้นเป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น ไม่ใช่จุดมุ่งหมายสุดท้าย  เมื่อจิตใจของเราสงบลง ชัดเจนขึ้น และเปิดกว้างขึ้นแล้ว เราก็สามารถใช้มันได้อย่างเป็นประโยชน์  เราสามารถใช้จิตใจแบบนี้ในชีวิตประจำวัน และในระหว่างการนั่งสมาธิเพื่อพยามยามเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตให้มากขึ้น  เมื่อจิตใจของเราเป็นอิสระจากอารมณ์รบกวนและความคิดภายนอกทั้งหลายแล้ว เราก็จะสามารถคิดถึงหัวข้อที่สำคัญได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างเช่น “ชีวิตฉันทำอะไรมาบ้าง?  มันเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ที่สำคัญนี้ มันทำให้เกิดผลดีหรือไม่?”  เราสามารถคิดเชิงวิเคราะห์ได้ ซึ่งเรียกว่าการพินิจภายใน  ในการที่เราจะเข้าใจประเภทปัญหาเหล่านี้และพินิจภายในให้เกิดประโยชน์ได้นั้น เราจำเป็นต้องมีความกระจ่าง  เราต้องมีจิตใจที่สงบ เงียบ และการทำสมาธิก็เป็นเครื่องมือที่จะสามารถนำพาเราไปสู่สภาพนี้ได้

ภาวะจิตแบบมโนทัศน์และไม่เป็นมโนทัศน์

ตำราฝึกสมาธิหลายตำราสอนให้เรากำจัดความคิดเชิงมโนทัศน์ออกไปและเข้าสู่ภาวะที่ไร้ซึ่งมโนทัศน์  ก่อนอื่นเลย คำสั่งสอนดังกล่าวใช้ไม่ได้กับการทำสมาธิทุกรูปแบบ  หากแต่กล่าวถึงการทำสมาธิขั้นสูงสำหรับการเพ่งจิตไปยังความเป็นจริง  อย่างไรก็ตามมีความคิดเชิงมโนทัศน์รูปแบบหนึ่งที่ต้องได้รับการกำจัดออกไปในขณะฝึกสมาธิทุกรูปแบบ  แต่ก่อนที่เราจะเข้าใจประเภทต่าง ๆ ของแนวคิดเชิงมโนทัศน์ตามที่กล่าวถึงในตำราฝึกสมาธิ  เราจำเป็นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า “มโนทัศน์” ในพระพุทธศาสนาหมายความว่าอย่างไร

ความคิดเชิงมโนทัศน์ไม่ได้หมายถึงเสียงในหัวเราเพียงอย่างเดียว

บางคนเข้าใจว่าความเป็นมโนทัศน์หมายถึงความนึกคิดทั่วไปที่ดังอยู่ในใจเราทุกวัน หรือที่เรียกกันว่า “เสียงในหัว” และการเข้าสู่ภาวะที่ไร้ซึ่งมโนทัศน์ก็หมายถึงการกำจัดเสียงดังกล่าวนี้ออกไป  การทำให้เสียงในหัวที่ว่านี้เงียบลงเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นเพียงแค่ก้าวแรก  การเริ่มต้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของทำให้จิตใจเงียบสงบปราศจากความคิดภายนอกที่รบกวน เพื่อสร้างจิตใจที่กระจ่างและสงบขึ้น   คนอีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าในการเข้าใจบางสิ่งบางอย่างอย่างแท้จริงนั้น คุณจำเป็นต้องเข้าใจสิ่งนั้นในเชิงไร้มโนทัศน์ และความคิดเชิงมโนทัศน์กับความเข้าใจอย่างถูกต้องนั้นผูกขาดกันทั้งคู่   ในความจริงข้อนี้ก็ไม่เป็นอย่างนั้นอีกเช่นกัน

ในการคลายปมความซับซ้อนของมโนทัศน์นั้น  ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องแยกแยะการพูดในความคิดของเราเกี่ยวกับบางสิ่งออกจากการเข้าใจสิ่งนั้นให้ได้ก่อน  เราสามารถพูดในความคิดเกี่ยวกับบางสิ่งได้ไม่ว่าเราจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจสิ่งนั้น  ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถท่องบทสวดมนต์ในใจของเราในภาษาต่างประเทศ โดยเข้าใจหรือไม่เข้าใจความหมายของบทสวดนั้นก็ได้  ในลักษณะเดียวกัน เราสามารถเข้าใจบางสิ่งบางอย่างได้โดยที่สามารถอธิบายหรือไม่สามารถอธิบายสิ่งนั้นเป็นคำพูดในใจได้เช่นกัน เช่น ความรู้สึกเวลาตกหลุมรัก

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องภาวะโนทัศน์กับไร้มโนทัศน์ในการฝึกสมาธินั้นไม่ใช่ประเด็นเรื่องความเข้าใจ หรือไม่เข้าใจบางสิ่งบางอย่าง  ในการฝึกสมาธิและในการใช้ชีวิตประจำวันก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องรักษาความเข้าใจไว้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเชิงมโนทัศน์หรือไม่ และไม่ว่าเราจะสามารถพูดเป็นคำในใจได้หรือไม่   ในบางครั้งการพูดออกมาเป็นคำก็มีประโยชน์ แต่บางครั้งก็ไม่มีประโยชน์เสียเลย หรืออาจไม่จำเป็นเลยด้วยซ้ำ  ยกตัวอย่างเช่น การผูกเชือกรองเท้า  คุณเข้าใจว่าต้องผูกเชือกรองเท้าอย่างไร  คุณจำเป็นต้องพูดออกมาในหัวไหมว่าคุณทำอะไรกับเชือกทั้งสองเส้นเวลาคุณผูก?  ไม่ต้องหรอก  จริง ๆ แล้วผมคิดว่าพวกเราส่วนใหญ่จะพบว่าการอธิบายวิธีการผูกเชือกรองเท้าออกมาเป็นคำนั้นเป็นเรื่องยาก  แต่เรามีความเข้าใจ  หากไม่มีความเข้าใจแล้ว เราก็จะไม่สามารถทำอะไรในชีวิตได้เลย จริงไหมครับ  แค่จะเปิดประตูก็ทำไม่ได้แล้ว

หากมองในหลาย ๆ มุม การพูดออกมาเป็นคำนั้นก็มีประโยชน์จริง ๆ  เราจำเป็นต้องพูดออกมาเป็นคำเพื่อสื่อสารกับผู้อื่น  อย่างไรก็ตาม การพูดเป็นคำในใจนั้นไม่ใช่เรื่องจำเป็นเสมอไป   แต่การกระทำที่เราพูดออกมาเป็นคำนั้นมีความเป็นกลางด้วยตัวของมันเอง ซึ่งหมายความว่าเราสามารถนำไปใช้ในเชิงประโยชน์หรือเชิงทำลายก็ได้   ในความเป็นจริงแล้วมีการทำสมาธิบางแบบให้เป็นประโยชน์ที่ใช้การพูดออกมาเป็นคำ  ยกตัวอย่างเช่น การท่องบทมนต์ซ้ำ ๆ ก็ถือเป็นการพูดออกมาเป็นคำรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสร้างและรักษาจังหวะหรือการสั่นสะเทือนเฉพาะตัวในจิตใจ  จังหวะคงที่ของมนต์นั้นมีประโยชน์มาก เพราะมันช่วยให้เราสามารถเพ่งสมาธิกับภาวะของจิตใจนั้น ๆ ได้  ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่สร้างความเห็นอกเห็นใจและความรัก หากคุณท่องมนต์บท โอม มณิ ปทฺเม หูม  ก็จะทำให้ง่ายต่อการเพ่งจิตไปยังภาวะของความรักมากกว่า  แน่นอนว่าคุณสามารถเพ่งจิตให้อยู่กับภาวะความรักโดยไม่ต้องพูดอะไรในใจเลยก็ได้เช่นกัน  ดังนั้นการพูดเป็นคำในใจนั้นจึงไม่ใช่ปัญหา   แน่นอนว่าในทางกลับกัน เราจำเป็นต้องทำใจเงียบลง เวลาที่เราเริ่มพูดเกี่ยวกับเรื่องไร้ประโยชน์ในใจอย่างไม่หยุดหย่อน

ความคิดเชิงมโนทัศน์หมายถึงการจัดประเภทสิ่งต่าง ๆ ให้อยู่ในกล่องในจิตใจ

หากประเด็นเรื่องความเป็นมโนทัศน์ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับการพูดออกมาเป็นคำหรือความเข้าใจ แล้วปัญหามันคืออะไรกัน?  จิตใจเชิงมโนทัศน์คืออะไร? และคำสั่งสอนการทำสมาธิหมายความว่าอย่างไรเวลาบอกให้เรากำจัดความเป็นมโนทัศน์ออกไป?  คำสั่งสอนเหล่านี้เกี่ยวกับการทำสมาธิทุกระดับและทุกขั้น รวมถึงชีวิตประจำวันของเราหรือไม่?  คำถามเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการไขกระจ่างประเด็นดังกล่าว

จิตใจเชิงมโนทัศน์หมายถึงการคิดในแง่ของประเภทต่าง ๆ โดยการจัดสิ่งเหล่านี้ให้อยู่ในกล่อง เช่นดีหรือไม่ดี  ดำหรือ ขาว”  “สุนัขหรือ แมว

แน่นอนว่าเวลาเราไปซื้อของ เราจำเป็นต้องสามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนคือแอปเปิ้ล อันไหนคือส้ม หรือผลไม้ลูกไหนสุก ลูกไหนยังไม่สุก   ในกรณีในชีวิตประจำวันเช่นนี้ การคิดในเชิงประเภทไม่ได้มีปัญหาอะไร  แต่มันมีประเภทแบบอื่นที่เป็นปัญหา  หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่เราเรียกว่า “ความเชื่อล่วงหน้า”

ตัวอย่างสำหรับความเชื่อล่วงหน้า เช่น “ฉันกะแล้วว่าคุณจะต้องใจร้ายกับฉันเสมอ  คุณเป็นคนไม่ดี เพราะในอดีตคุณทำนู่นนี่นั่น แล้วตอนนี้ฉันก็ทำนายเลยว่า ไม่ว่าจะยังไง คุณก็จะยังคงเป็นคนไม่ดีต่อไป”  เราได้ตัดสินคนคนนี้ไปก่อนแล้วว่า เขาเป็นคนแย่และจะต้องแย่กับเราต่อไป  นี่ล่ะคือความเชื่อล่วงหน้า   ในความคิดของเรา เราจัดประเภทคนคนนี้ใส่กล่อง “คนไม่ดี”  และแน่นอนหากเราคิดเช่นนั้น และมองเขาด้วยความคิดที่ว่า “เขาใจร้าย เขาจะต้องทำตัวแย่กับฉันเสมอ”  การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดกำแพงใหญ่กั้นระหว่างเรากับคนคนนั้น  ความเชื่อล่วงหน้าของเราส่งผลต่อการที่เรามองเขา  ดังนั้นความเชื่อล่วงหน้าจึงเป็นภาวะจิตใจที่เราจัดประเภท เราจัดสิ่งเหล่านั้นใส่เข้าไปในกล่องในจิตใจ

ความไร้ซึ่งมโนทัศน์

ความไร้ซึ่งมโนทัศน์นั้นมีหลายระดับ แต่หนึ่งในนั้นคือการเปิดใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น  การทำเช่นนี้ไม่ได้หมายถึงการละทิ้งความเข้าใจเชิงมโนทัศน์ไปทั้งหมด   ยกตัวอย่างเช่น หากมีสุนัขตัวหนึ่งที่กัดคนมาหลายคนแล้ว  หากเราคิดในเชิงประเภท “สุนัขที่กัดคน” เราก็จะระมัดระวังตัวเวลาอยู่ใกล้สุนัขตัวนี้  เรามีการป้องกันตัวอย่างสมเหตุสมผลเมื่อต้องอยู่ใกล้สัตว์ตัวนี้ แต่เราไม่มีความเชื่อล่วงหน้าที่ว่า “สุนัขตัวนี้จะต้องกัดฉันแน่ ๆ งั้นฉันจะไม่แม้แต่พยายามเข้าใกล้มันเด็ดขาด”  ในจุดนี้มีเส้นความสมดุลบาง ๆ กั้นระหว่างการยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ความเชื่อล่วงหน้ามากีดกันเราไม่ให้สัมผัสประสบการณ์ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่

ระดับของความปราศจากมโนทัศน์ที่ต้องใช้ในการทำสมาธิทุกรูปแบบคือ จิตใจที่ปราศจากความเชื่อล่วงหน้า

หนึ่งในคำสั่งสอนแบบทั่วไปที่สุดคือ ให้ทำสมาธิโดยไม่ต้องคาดหวังใด ๆ และไม่ต้องกังวลเรื่องใด ๆ  ความเชื่อล่วงหน้าในการทำสมาธิแต่ละครั้งอาจเป็นความคาดหวังว่าการทำสมาธิครั้งนี้จะต้องดำเนินไปด้วยดีมาก ๆ หรือความกังวลว่าขาจะเจ็บ หรือความคิดว่าที่ว่า “ฉันจะต้องไม่สำเร็จ”  ความคิดความคาดหวังและความกังวลเหล่านี้คือความเชื่อล่วงหน้า ไม่ว่าคุณจะพูดเป็นคำในใจหรือไม่ก็ตาม  ความคิดเหล่านี้จับการทำสมาธิครั้งนั้นลงไปในกล่องของ “ประสบการณ์อันยอดเยี่ยม” หรือ “ประสบการณ์อันเจ็บปวด”  แนวทางปฏิบัติแบบปราศจากมโนทัศน์สำหรับการทำสมาธิควรจะมีความเรียบง่าย นั่นคือ ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นและจัดการกับสิ่งนั้นตามคำสั่งสอนการทำสมาธิ โดยไม่ไปตัดสินสถานการณ์นั้น

บทสรุป

หากเราไม่มีความเข้าใจประเภทต่าง ๆ ของความคิดเชิงมโนทัศน์แล้ว   เราอาจเข้าใจผิดจินตนาการไปถึงอันตรายของความคิดเหล่านี้สำหรับการทำสมาธิและแม้แต่ในชีวิตประจำวันของเรา   ในการทำสมาธิส่วนใหญ่แล้ว เราจำเป็นต้องทำให้เสียงในหัวนั้นเงียบลงและละทิ้งความเชื่อล่วงหน้าทุกอย่างให้ได้    เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นผู้ปฏิบัติขั้นสูงสุด การเข้าใจบางอย่างทั้งภายในและภายนอกการทำสมาธิต้องอาศัยการจัดประเภทในจิตใจ ไม่ว่าเราพูดออกมาเป็นคำหรือไม่ก็ตาม

Top