จุดประสงค์และเป้าหมายของชีวิตคือความพยายามมุ่งมั่นเพื่อความสุข
พวกเราอยู่ที่นี่ พวกเราดำรงอยู่และพวกเราล้วนมีสิทธิ์ในการดำรงอยู่ แม้แต่สรรพชีวิตที่ไร้ความรู้สึกอย่างดอกไม้ก็มีสิทธิ์ในการดำรงอยู่ หากมีแรงเชิงลบโหมใส่สิ่งเหล่านี้ ในระดับเคมี ดอกไม้จะซ่อมแซมตนเองเพื่อความอยู่รอด แต่ [เหนือกว่านั้นแล้ว] มนุษย์อย่างพวกเรา รวมถึงแมลงและแม้แต่อะมีบา ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่สุด ถือเป็นสรรพชีวิตที่มีความรู้สึก [และในฐานะสรรพชีวิตที่มีความรู้สึก พวกเรามีกลไกเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้เราอยู่รอด]
สรรพสิ่งที่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยเจตนาหรือประสงค์ของตนเองนั้นเป็น “สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก (sentient being) ตามการอภิปรายของอาตมากับนักวิทยาศาสตร์ คำว่า “ที่มีความรู้สึก” ไม่ได้หมายความว่ามีสติสัมปชัญญะ หรือเป็นมนุษย์ในระดับจิตสำนึกเสมอไป อันที่จริงแล้วการนิยามความหมายของ “การมีจิตสำนึก” หรือ “มีสติสัมปชัญญะ” นั้นเป็นเรื่องยาก โดยปกติแล้วหมายถึงด้านที่กระจ่างชัดที่สุดของจิต แต่ทว่ายามที่เรามีสติกึ่งไม่มีสติรับรู้หรือหมดสติไปนั้นถือว่าไม่มีจิตสำนึกอยู่แล้วหรือ เหล่าแมลงมีจิตสำนึกเช่นนี้หรือไม่ บางทีการพูดถึง “ความสามารถในการรับรู้ (cognitive faculty)” แทนที่จะใช้คำว่าการมีจิตสำนึกนั้นอาจเป็นการดีกว่า
ในกรณีใดก็ตาม ประเด็นหลักคือสิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงอยู่ตอนนี้ [โดยใช้คำว่าความสามารถในการรับรู้] คือความสามารถในการสัมผัสความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ความเจ็บปวด ความอภิรมย์ หรือความรู้สึกเป็นกลางทั้งหลาย อันที่จริงแล้วความอภิรมย์และความเจ็บปวด [และความสุขและทุกข์] เป็นสิ่งที่เราพึงพิจารณาให้ลึกขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกทั้งหมดมีสิทธิ์ในการมีชีวิตอยู่รอด และการมีชีวิตอยู่รอดนี้หมายถึงการปรารถนาความสุขหรือความสบาย จึงเป็นเหตุผลที่สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกพยายามมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตอยู่รอด ดังนั้นการมีชีวิตรอดของเราจึงตั้งอยู่บนความหวัง ความหวังที่จะได้รับสิ่งดี ๆ นั่นก็คือความสุขนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ อาตมามักสรุปว่าจุดประสงค์ของชีวิตก็คือความสุข เมื่อมีหวังและมีความเป็นสุข ร่างกายเราย่อมรู้สึกดี ดังนั้นความหวังและความสุขเป็นปัจจัยเชิงบวกสำหรับสุขภาพเรา สุขภาพขึ้นอยู่กับสภาวะที่เป็นสุขของจิต
ในทางกลับกัน ความโกรธตั้งอยู่บนความรู้สึกไม่มั่นคงและนำความกลัวมาสู่เรา เมื่อเราประสบกับสิ่งดี ๆ เราย่อมรู้สึกปลอดภัย เมื่อบางอย่างข่มขวัญเรา เราย่อมรู้สึกไม่มั่นคงและจากนั้นจึงรู้สึกโกรธ ความโกรธเป็นส่วนหนึ่งของจิตที่ปกป้องตัวเองจากสิ่งที่มาทำอันตรายต่อการมีชีวิตรอดของเรา แต่ความโกรธ [ซึ่งทำให้เรารู้สึกแย่ ดังนั้นท้ายที่สุดแล้วมัน] จึงเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกายของเรา
การยึดติดเป็นองค์ประกอบที่มีประโยชน์ต่อการมีชีวิตรอดของเรา ดังนั้นแม้แต่สำหรับพืชพรรณที่ไร้ซึ่งองค์ประกอบของการมีจิตสำนึก ยังมีกลไกทางเคมีที่ทำให้มันปกป้องตนเองและช่วยเหลือตนเองให้เติบโต ร่างกายของเราในเชิงกายภาพก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน แต่ในฐานะมนุษย์ ร่างกายเรายังมีองค์ประกอบเชิงบวกอีกอย่างในระดับอารมณ์ที่ทำให้เราเกิดการยึดติดกับผู้อื่นหรือยึดติดกับความสุขของตนเอง [ในทางกลับกัน ความโกรธที่มี] องค์ประกอบของการทำอันตรายผลักเราออกห่างจากสิ่งต่าง ๆ [รวมถึงความสุข] ในระดับกายภาพ ความอภิรมย์ [ที่ความสุขนำมาสู่เรา] เป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกาย ในขณะที่ความโกรธ [และความทุกข์ที่มันก่อขึ้น] เป็นสิ่งอันตราย ดังนั้น [จากมุมมองของการมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตรอด] จุดประสงค์ของชีวิตคือการมีชีวิตที่เป็นสุข
ที่อาตมาพูดถึงอยู่นี้เป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อาตมาไม่ได้พูดถึงศาสนา ซึ่งเป็นขั้นทุติยภูมิ ในระดับศาสนาแล้ว แน่นอนว่ามีคำอธิบายที่ต่างออกไปในเรื่องจุดประสงค์ของชีวิต อันที่จริงในขั้นทุติยภูมินี้ค่อนข้างซับซ้อน ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่จะพูดถึงเรื่องนี้ในระดับขั้นพื้นฐานของมนุษย์
ความสุขคืออะไร
ในเมื่อเป้าหมายและจุดประสงค์ของชีวิตคือความสุข แล้วความสุขคืออะไร บางครั้งการทรมานทางกายก็สามารถก่อให้เกิดความพึงพอใจในระดับที่ลึกขึ้นได้เช่นกัน [ดังเช่นนักกีฬาที่ผ่านการออกกำลังอย่างทรหด] ดังนั้น “ความสุข” จึงมีความหมายหลักถึงความรู้สึกพึงพอใจอย่างลุ่มลึก ฉะนั้นจุดประสงค์ หรือเป้าหมายของชีวิตเรานั้นก็คือความพึงพอใจ ทั้งความสุข ความเศร้า หรือความทรมานมีสองระดับด้วยกัน นั่นคือระดับความรู้สึกและระดับจิตใจ ระดับความรู้สึกนั้นพบได้ทั่วไปในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม รวมถึงกลุ่มแมลงอย่างแมลงวันด้วย ในยามที่อากาศหนาว เมื่อตะวันโผล่ออกมาทักทาย แมลงวันแสดงให้เห็นด้านที่เป็นสุข กล่าวคือมันบินไปรอบ ๆ อย่างรวยรื่น ในห้องที่มีอากาศเย็น มันจะบินช้าลง ซึ่งแสดงสัญญาณของความเศร้าหมอง แต่สิ่งที่มีสมองที่ซับซ้อน ย่อมต้องมีความรู้สึกอภิรมย์ที่แรงกล้าขึ้น [นอกเหนือจากนี้] สมองอันซับซ้อนของเรามีขนาดใหญ่ที่สุด เราจึงมีสติปัญญาด้วยเช่นกัน
[ลองพิจารณากรณีของ] มนุษย์ที่ไม่รู้สึกถึงภยันอันตรายทางกายใด ๆ พวกเขามีความสุข มีชีวิตสุขสบาย มีมิตรสหายที่ดี มีเงินเดือนและชื่อเสียง แต่ถึงกระนั้นแล้ว เราก็สังเกตเห็นว่ามหาเศรษฐีบางคน ยกตัวอย่างเช่น พวกเขารู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนสำคัญต่อสังคม แต่พวกเขาในฐานะคนผู้หนึ่งนั้นเป็นคนที่ไม่มีความสุขเอาเสียเลย อาตมามีโอกาสได้พบคนที่ร่ำรวยทั้งอำนาจและเงินทองอยู่บ้าง ซึ่งพวกเขาล้วนแสดงให้เห็นถึงปัญหาขั้นหนักว่าลึก ๆ แล้ว พวกเขามีความรู้สึกเดียวดาย เครียด และเป็นกังวล ดังนั้นในระดับจิตใจแล้ว พวกเขาทุกข์ทรมาน
พวกเรามีสติปัญญาอันยอดเยี่ยม ประสบการณ์ของเราในระดับจิตใจนั้นจึงโดดเด่นกว่าระดับทางกาย เราสามารถใช้ระดับทางจิตลดหรือกำราบความเจ็บปวดทางกายได้ ยกตัวอย่างสั้น ๆ คือ เมื่อสักพักมาแล้ว อาตมาป่วยเป็นโรคร้ายแรง ลำไส้ของอาตมานั้นเจ็บปวดเหลือเกิน ณ ตอนนั้น อาตมาอยู่ที่รัฐพิหาร ซึ่งเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดของอินเดียและเดินทางผ่านพุทธคยาและเมืองนาลันทา ที่นั่นอาตมาเห็นเด็กยากจนข้นแค้นจำนวนมาก พวกเขากำลังเก็บมูลโค พวกเขาไม่มีการศึกษาใด ๆ เลย ทำให้อาตมารู้สึกเศร้ามาก ต่อมาในเมืองปัฏนา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ อาตมามีอาการเจ็บปวดและเหงื่อออกเป็นอย่างมาก อาตมาสังเกตเห็นผู้ชราที่ป่วยผู้หนึ่ง เป็นชายที่กำลังป่วย นุ่งห่มผ้าสีขาว ดูสกปรกอย่างที่สุด ไม่มีใครดูแลคนผู้นั้นเลย เป็นเรื่องที่น่าเศร้าเหลือเกิน คืนนั้นในห้องที่โรงแรม อาการเจ็บปวดทางกายของอาตมารุนแรงมาก แต่จิตของอาตมาคิดถึงเด็กเหล่านั้นและชายป่วยผู้นั้น ความเป็นห่วงนี้ลดความเจ็บปวดทางกายของอาตมาไปได้มากโข
ลองดูตัวอย่างจากผู้ที่ฝึกฝนสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกเถิด พวกเขาทุ่มเทซ้อมอย่างแข็งขัน และไม่ว่าพวกเขาจะประสบกับความเจ็บและยากลำบากเพียงใด พวกเขาก็มีความสุขในระดับจิตใจ ดังนั้นระดับจิตใจจึงสำคัญกว่าประสบการณ์ทางกาย ฉะนั้นแล้วสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ในชีวิตก็คือความสุขและความพึงพอใจนั่นเอง
เหตุแห่งความสุข
ทีนี้เหตุแห่งความสุขมีอะไรบ้าง อาตมาคิดว่าในเมื่อองค์ประกอบทางร่างกายนี้สัมพันธ์กับจิตใจที่สงบได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่จิตที่ถูกรบกวน ดังนั้นจิตใจที่สงบจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ไม่ว่าสถานการณ์ทางกายของเราจะเป็นเช่นไร ความสงบทางจิตใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ถ้าอย่างนั้นเราจะทำให้เกิดจิตใจที่สงบได้อย่างไร
หากบอกว่าให้กำจัดปัญหาทั้งหมดออกไปเสียคงเป็นเรื่องที่ยากต่อการปฏิบัติจริง และการทำให้จิตใจของตนเองทึ่มทื่อและลืมปัญหาทั้งหมดไปก็ใช้ไม่ได้อีกเช่นกัน เราต้องมองปัญหาของเราให้กระจ่างชัดและจัดการกับมัน ในขณะเดียวกันเราก็ต้องรักษาจิตใจที่สงบไว้ เพื่อให้ตนเองมีทัศนคติสมจริงและทำให้เราสามารถปฏิบัติต่อปัญหาเหล่านั้นได้ดี จัดการกับมันได้ดี
สำหรับผู้ที่ทานยากล่อมประสาท คืออาตมาไม่เคยมีประสบการณ์หรอก อาตมาไม่ทราบว่ายามที่ผู้คนทานยากล่อมประสาทเข้าไป สติปัญญาของพวกเขานั้นเฉียบแหลมหรือทึ่มทื่อ เรื่องนี้อาตมาต้องขอถาม ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1959 ตอนที่อาตมาอยู่ในมัสซูรี มารดาของอาตมา หรือบางทีอาจเป็นผู้อื่น ถูกรบกวนและรู้สึกกระวนกระวายเป็นอย่างมาก คือการนอนถูกรบกวน แพทย์อธิบายว่ามียาบางตัวที่เขาสามารถทานได้ แต่จะทำให้จิตใจพร่ามัวอยู่สักหน่อย ตอนนั้นอาตมาคิดว่านั่นไม่ใช่สิ่งดีเลย ในด้านหนึ่ง คุณได้รับความสงบในจิตใจ แต่ในอีกด้านหนึ่ง หากผลกระทบคือความพร่ามัว นี่ก็ไม่ใช่เรื่องดี อาตมาชอบอีกทางมากกว่า อาตมาชอบมีสติปัญญาที่ทำงานได้อย่างเต็มที่และมีความใส่ใจและตื่นตัว แต่ไม่ถูกรบกวน ความสงบทางจิตที่ไม่ถูกรบกวนนั้นเป็นดีที่สุด
สำหรับจุดนี้ ความเอื้ออาทรอย่างมีความเห็นอกเห็นใจของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ยิ่งจิตใจมีความเห็นอกเห็นใจสูงเท่าไหร่ สมองของเราก็ทำงานได้ดีขึ้นเท่านั้น หากจิตใจของเราเกิดความกลัวและความโกรธ จะเกิดอะไรขึ้น สมองของเราย่อมทำงานได้แย่ลง ครั้งหนึ่งอาตมาพบกับนักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่งที่อายุมากกว่าแปดสิบปี เขาถวายหนังสือเล่มหนึ่งของเขาให้อาตมา อาตมาคิดว่าหนังสือชื่อ เราเป็นนักโทษของความโกรธ หรืออะไรทำนองนั้น ในขณะพูดคุยเรื่องประสบการณ์ของเรา เขาพูดว่าเมื่อเราเกิดความโกรธต่อวัตถุหนึ่งแล้ว วัตถุนั้นจะปรากฏในแง่ลบเอามาก ๆ แต่เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของความเป็นแง่ลบนั้นมาจากการแสดงภาพในจิตใจของเรา ตรงนี้มาจากประสบการณ์ตรงของเขา
พระพุทธศาสนากล่าวไว้ในลักษณะนี้เช่นกัน เมื่อมีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้น เราไม่อาจมองเห็นความเป็นจริงได้ เมื่อเราจำเป็นต้องทำการตัดสินใจและจิตใจของเราโดนครอบงำด้วยความโกรธ เราย่อมมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจพลาด ไม่มีใครอยากตัดสินใจพลาด แต่ ณ ตอนนั้น ส่วนหนึ่งของสติปัญญาและสมองที่ทำงานในการแยกแยะถูกผิดและทำการตัดสินใจให้ดีที่สุดนั้นกำลังทำงานอย่างย่ำแย่ แม้แต่ผู้นำที่เก่งกาจก็ประสบกับสถานการณ์นี้
ดังนั้นความเห็นอกเห็นใจและความเอื้ออาทรจึงช่วยเหลือสมองให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่นมากขึ้น ในขั้นต่อมานั้น ความเห็นอกเห็นใจให้กำลังแก่เราจากภายใน กล่าวคือความเห็นอกเห็นใจให้ความมั่นใจในตนเองและลดระดับความกลัวลง ซึ่งส่งผลให้จิตใจของเราสงบนิ่ง ฉะนั้นความเห็นอกเห็นใจจึงมีการทำงานสองประการ นั่นคือทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้นและนำพากำลังมาสู่เราจากภายใน สิ่งเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุแห่งความสุขนั่นเอง อาตมารู้สึกว่ามันเป็นเช่นนั้น
ทีนี้ความสามารถอื่น ๆ ย่อมดีสำหรับความสุขเช่นกัน เช่น ทุกคนต่างชอบเงินทอง หากเรามีเงินทอง เราก็สามารถเพลิดเพลินไปกับความสามารถดี ๆ ได้ โดยปกติแล้ว เรามักพิจารณาว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญที่สุด แต่อาตมากลับไม่คิดเช่นนั้น ความสบายทางวัตถุเกิดจากความพยายามทางกายได้ก็จริง แต่ความสบายทางจิตใจนั้นต้องเกิดจากความพยายามทางจิตใจ หากเราไปที่ร้านแห่งหนึ่งและเสนอเงินให้กับเจ้าของร้าน โดยบอกว่าเราอยากซื้อสันติในใจ เขาย่อมบอกว่าไม่มีสิ่งใดจะขาย เจ้าของร้านหลายรายจะรู้สึกว่าการกล่าวเช่นนี้เป็นเรื่องบ้าบอและจะหัวเราะใส่เราเป็นแน่ การฉีดยาหรือทานยาบางประเภทอาจนำความสุข หรือความสงบในใจมาให้เราได้ แต่ไม่ใช่ในระดับเต็มที่ เราเห็นตัวอย่างได้จากการให้คำแนะนำว่าเราจำเป็นต้องรับมือกับอารมณ์ผ่านการอภิปรายและวิเคราะห์เหตุผล ดังนั้นเราจึงต้องใช้แนวทางเชิงจิตใจ เมื่อใดที่อาตมาทำการบรรยาย อาตมาจึงพูดเสมอว่าคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราคิดเรื่องการพัฒนาภายนอกมากเกินไป หากเราใส่ใจแต่ระดับนี้อย่างเดียว ย่อมไม่เพียงพอ ความสุขและความพึงพอใจที่แท้จริงต้องมาจากภายใน
องค์ประกอบขั้นพื้นฐานสำหรับสิ่งเหล่านี้ก็คือความเห็นอกเห็นใจและความเอื้ออาทรของมนุษย์ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เกิดจากชีววิทยา ในฐานะทารก การอยู่รอดของเราขึ้นอยู่กับความเอื้ออาทรเพียงอย่างเดียว เมื่อมีความเอื้ออาทร เราจึงรู้สึกปลอดภัย เมื่อไร้ความเอื้ออาทร เราย่อมรู้สึกกระวนกระวายและไม่มั่นคง หากเราถูกพรากจากมารดา เราร้องไห้จ้า หากเราอยู่ในอ้อมกอดอบอุ่นแน่นแฟ้นของมารดา เรารู้สึกเป็นสุขและเงียบสงบ สำหรับทารกแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทางชีววิทยา อย่างนักวิทยาศาสตร์ผู้หนึ่ง เป็นอาจารย์ของอาตมา เป็นนักชีววิทยาที่ทำงานเกี่ยวกับความรุนแรงของแอนติบอดี้ต่อต้านนิวเคลียร์ เขาบอกอาตมาว่าหลังแรกเกิด สัมผัสทางกายจากมารดาในช่วงเวลาหลายสัปดาห์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของสมองและพัฒนาการของทารก มันนำมาซึ่งความรู้สึกปลอดภัยและสบาย ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการที่เหมาะสมด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมถึงสมองด้วย
ฉะนั้นแล้ว เมล็ดพันธ์แห่งความเห็นอกเห็นใจและความเอื้ออาทรนั้นจึงมิใช่สิ่งที่มาจากศาสนา หากแต่มาจากชีววิทยา พวกเราล้วนเกิดมาจากครรภ์ของมารดาและพวกเราต่างมีชีวิตรอดเนื่องจากการดูแลและความเอื้ออาทรของมารดา ในประเพณีของอินเดีย เราพิจารณาการเกิดจากดอกบัวในดินแดนอันบริสุทธิ์ ซึ่งฟังดูดีมาก แต่บางทีผู้คนที่นั่นอาจมีความเอื้ออาทรให้เหล่าดอกบัวมากกว่าให้ผู้คน การเกิดจากครรภ์ของมารดาจึงดีกว่า เพราะฉะนั้นเราเพรียบพร้อมไปด้วยเมล็ดพันธ์แห่งความเห็นอกเห็นใจอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้แลคือเหตุแห่งความสุข