ลัม-ริมคืออะไร และ สืบมาจากคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างไร
หนทางของฌาน หรือลัม-ริม เป็นหนทางสู่การเข้าถึงและผสมผสานหลักคำสอนขั้นพื้นฐานของพระพุทธศาสนาเข้ากับชีวิตของเรา พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์อยู่เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว พร้อมกับคณะพระสงฆ์ และในภายหลังรวมถึงคณะชี พระพุทธองค์ไม่เพียงทรงสั่งสอนชุมชนที่ถือเพศบรรพชิตเท่านั้น แต่มักทรงได้รับการนิมนต์ไปยังบ้านของผู้คนมากมาย เพื่อรับการถวายภัตตาหารและทรงแสดงธรรมหลังจากนั้น
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาด้วยสิ่งที่เราเรียกว่า “อุบายอันเชี่ยวชาญ” ซึ่งหมายถึงพุทธวิธีของพระองค์ในการสอนผู้อื่นในลักษณะที่พวกเขาสามารถเข้าใจได้ วิธีนี้มีความสำคัญเนื่องจากในสมัยนั้น และแน่นอนว่าในปัจจุบันด้วย ผู้คนมีระดับสติปัญญาและการพัฒนาทางจิตที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนำไปสู่การแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าในหัวข้อที่หลากหลายตามระดับต่าง ๆ
เหล่าสาวกของพระพุทธเจ้าจำนวนมากมีความจำเป็นเลิศ ในสมัยนั้นไม่มีการจดบันทึกสิ่งใดและพระสงฆ์ต้องจดจำคำสอนเอง เพื่อถ่ายทอดให้รุ่นหลังแบบปากต่อปาก ในที่สุดจึงมีการจดบันทึกหลักคำสอน และกลายเป็นที่รู้จักในนามพระสูตร หลายศตวรรษต่อมา ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอินเดียหลายท่านพยายามจัดระเบียบเนื้อหาและเขียนคำปาฐกถาสำหรับแต่ละเรื่อง พระอติศะ หนึ่งในปรมาจารย์ชาวอินเดียที่เดินทางไปยังทิเบต ได้สร้างต้นแบบของการนำเสนอนี้ขึ้นในศตวรรษที่สิบเอ็ด ซึ่งก็คือ ลัม-ริม
ต้นแบบของพระอติศะนำเสนอวิธีการที่หากผู้ใดได้ปฏิบัติแล้วจะสามารถพัฒนาตนเองไปสู่พุทธภาวะได้ การอ่านพระสูตรอย่างสุ่ม ๆ ไม่ได้ชี้ให้เห็นหนทางเริ่มต้นทางจิตอย่างชัดเจน หรือวิธีการบรรลุการตรัสรู้เสมอไป เนื้อหาทั้งหมดอยู่ในนั้นจริง แต่การนำทั้งหมดมารวมกันนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
นี่คือจุดประสงค์ของลัม-ริม โดยการนำเสนอเนื้อหาตามลำดับขั้น หลังจากพระอติศะแล้ว มีงานเขียนอีกหลายฉบับในทิเบตที่แตกต่างออกไปและมีการพรรณนาประกอบมากขึ้น เราจะมาดูฉบับที่เขียนในศตวรรษที่สิบห้า โดยท่านสงขะปะ ซึ่งน่าจะประกอบไปด้วยการพรรณนาเนื้อหาอย่างละเอียดที่สุด ลักษณะเด่นอันน่าทึ่งของฉบับที่ท่านสงขะปะเขียนขึ้น คือ ฉบับนี้รวบรวมอัญพจน์จากพระสูตรและปาฐกถาของอินเดีย เราจึงมั่นใจได้ว่าท่านไม่ได้แต่งสิ่งใดขึ้นมาเอง
อีกหนึ่งลักษณะเด่น คือ ท่านสงขะปะทำการสาธิตเชิงเหตุผลสำหรับประเด็นทั้งหลายไว้อย่างละเอียดมาก ทำให้เรามีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นไปอีกเกี่ยวกับความถูกต้องของหลักคำสอนที่อิงเหตุและผล ลักษณะพิเศษของท่านสงขะปะ คือ ท่านเน้นประเด็นที่ยากที่สุด ซึ่งต่างจากผู้เขียนก่อน ๆ ที่มักข้ามประเด็นเหล่านี้ไป
ในกลุ่มนิกายทั้งสี่ของพระพุทธศาสนาแบบทิเบต นิกายที่ก่อตั้งพร้อมกับท่านสงขะปะเรียกว่า “นิกายเกลุก”
ความหมายของหนทางจิตวิญญาณคืออะไร และ จะจัดโครงสร้างหนทางนี้ได้อย่างไร
อันที่จริงคำถามก็คือ เราจะจัดโครงสร้างของหนทางจิตวิญญาณได้อย่างไร ในอินเดียมีการสอนหลากหลายวิธีการในลักษณะกว้าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น วิธีการสำหรับการพัฒนาสมาธิเป็นที่แพร่หลายในนิกายอื่น ๆ ของอินเดียทั้งหมดในยุคของพระพุทธเจ้า จึงไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบ หรือทรงสร้างขึ้นมาเอง ทุกคนล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า เราพึงพิจารณาวิธีที่เราสามารถผสมผสานการสร้างสมาธิและด้านอื่น ๆ เข้าไปในหนทางจิตวิญญาณ อันเป็นวิธีการพัฒนาตนเอง
พระพุทธเจ้าย่อมทรงมีคำอธิบายที่แตกต่างออกไปในการทำความเข้าใจประเด็นมากมายสำหรับการพัฒนาตนเอง แต่สิ่งที่มีความจำเพาะมากในความเข้าใจเรื่องเป้าหมายทางจิตวิญญาณของพระองค์ หลักการสำคัญของเป้าหมายทางจิตวิญญาณเหล่านี้ กอปรกับสิ่งที่ได้รับการจัดให้เป็นระดับต่าง ๆ คือแรงจูงใจของเรา
ศัพท์ที่บัญญัติสำหรับงานประพันธ์นี้คือ ลัม-ริม โดยที่ “ลัม” แปลว่า “หนทาง” และ “ริม” หมายถึงขั้นตอนตามลำดับของหนทางนี้ หนทางนี้ คือ สภาวะทางจิตทั้งหลายที่เราต้องพัฒนาขึ้นตามลำดับขั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายของเรา เปรียบดั่งเวลาเราเดินทาง หากเราต้องการข้ามจากโรมาเนียไปยังอินเดีย อินเดียถือเป็นเป้าหมายสุดท้ายของเรา แต่ก่อนอื่น เราอาจต้องเดินทางผ่านตุรกี อิหร่าน และที่อื่น ๆ ก่อนที่เราจะไปถึงอินเดียในที่สุด
แรงจูงใจทางจิตวิญญาณ: ให้ความหมายกับชีวิต
สิ่งที่ได้รับการจัดเป็นลำดับขั้นในลัม-ริมมักเป็นแรงจูงใจของเรา ซึ่งตามการนำเสนอทางพระพุทธศาสนาถือเป็นสิ่งที่มีสองส่วนด้วยกัน แรงจูงใจเชื่อมโยงกับเป้าหมาย หรือจุดประสงค์นั้น ๆ ที่เรามี บวกกับอารมณ์ที่ผลักดันให้ไปให้ถึงจุดนั้น หากพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ เรามีเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากบรรลุจุดประสงค์นั้น บวกกับอารมณ์ที่ผลักดันให้เราไปถึงตรงนั้น
หากมองในด้านชีวิตประจำวันของเราแล้ว ตรงนี้มีเหตุผลเป็นอย่างมาก กล่าวคือ เรามีเป้าหมายต่าง ๆ นานาในแต่ละระดับของชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เราอยากได้รับการศึกษา หรือพบกับคู่ครองชั่วชีวิต หรือได้งานดี ๆ หรืออื่น ๆ ซึ่งมีทั้งอารมณ์เชิงบวกและเชิงลบเข้ามาข้องเกี่ยวตรงนี้ และแตกต่างกันไปในปัจเจกบุคคล ในกรณีใดก็ตาม การนำเสนอแรงจูงใจที่สำเร็จในแต่ละขั้นจึงเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับชีวิตทั่วไปของเรา
แรงจูงใจทางจิตวิญญาณของเราก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน มีสภาวะทางจิตต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราอย่างแท้จริง เรากำลังทำอะไรอยู่ในชีวิตนี้ คือมี “ระดับทางโลก” ที่เรามีครอบครัว มีงาน และอื่น ๆ แต่เรากำลังทำอะไรอยู่ในระดับจิตวิญญาณ ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราเช่นกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งสองด้านในชีวิตเราไม่ขัดแย้งกันเอง หรือไม่แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง หากแต่ควรผสมผสานรวมกันอย่างกลมกลืน
ทั้งสองด้านไม่เพียงแต่ต้องกลมกลืนกัน แต่ยังต้องช่วยสนับสนุนกันและกันด้วย ชีวิตระดับจิตวิญญาณของเราควรให้พละกำลังเราในการใช้ชีวิตทางโลก ในขณะที่ชีวิตทางโลกควรให้ทรัพยากรแก่เราในการปฏิบัติชีวิตทางจิตวิญญาณ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเรียนรู้ผ่านลำดับขั้นของลัม-ริมจำเป็นต้องนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน
เป็นคนดีขึ้น
ถ้าอย่างนั้นเรากำลังทำอะไรกับการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาตามการนำเสนอนี้ หากพูดในเชิงกว้าง การปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาสามารถสรุปได้เป็นคำสั้น ๆ เพียงไม่กี่คำ พูดด้วยภาษาง่าย ๆ คือ เรากำลังฝึกตนเองให้กลายเป็นคนดีขึ้น คำว่า “คนดีขึ้น” อาจฟังดูเป็นเชิงตัดสิน แต่ตรงนี้ไม่มีการตัดสินใด ๆ ทั้งสิ้น นั่นไม่ใช่ประเด็นเลย เราเพียงแต่พยายามเอาชนะพฤติกรรมเชิงโทษและอารมณ์เชิงลบที่เราทุกคนล้วนประสบเป็นครั้งคราว เช่น ความโกรธ ความโลภ ความเห็นแก่ตัว และอื่น ๆ
พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญา หรือการปฏิบัติเพียงหนึ่งเดียวที่มีเป้าหมายประเภทนี้ เราสามารถพบเป้าหมายเดียวกันนี้ในศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนายิว ศาสนาฮินดู และเราพบเป้าหมายนี้ในด้านมนุษยธรรมเช่นกัน มันมีอยู่ทุกหนแห่ง พุทธวิธี ซึ่งเหมือนกับวิธีอื่น ๆ ที่เราเจอในหลักต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายประเภทดังกล่าว โดยการให้แนวทางสำหรับการเป็นคนดีขึ้นตามลำดับขั้น
ในการเป็น “คนดีขึ้น” เราต้องเริ่มจากการหยุดทำตัวในเชิงโทษ ซึ่งหมายถึงลักษณะที่เราทำร้ายผู้อื่น ในการทำเช่นนี้ เราจะต้องฝึกควบคุมตนเอง ในระดับที่ลึกลงไป เมื่อเราสามารถทำเช่นนี้ได้แล้ว เราก็จะสามารถเน้นการเอาชนะสิ่งที่ทำให้เรากระทำตัวเชิงโทษจริง ๆ เช่น ความโกรธ ความโลภ การยึดติด ความอิจฉา ความเกลียดชัง และอื่น ๆ ในการทำเช่นนี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าอารมณ์เหล่านี้อุบัติขึ้นได้อย่างไรและมันทำงานอย่างไร ด้วยวิธีนี้ เราจึงพัฒนาความเข้าใจประเภทต่าง ๆ ที่ช่วยลดทอน หรือกำจัดอารมณ์รบกวนเหล่านี้ได้
จากนั้นเราก็สามารถลงไปในระดับที่ลึกซึ้งขึ้นอีกและจัดการกับสิ่งที่เป็นรากฐานของอารมณ์รบกวนทั้งหลายเหล่านี้ ด้วยการตระหนักถึงความเห็นแก่ตัวและการเอาตนเองเป็นที่ตั้ง คิดถึงแต่ตนเอง เรามักคิดว่า “ฉันต้องได้อย่างที่ฉันต้องการเสมอ” เมื่อเราไม่ได้อย่างที่ต้องการ เรามักโมโหโกรธา ถึงเราจะต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามแบบที่เราอยากได้เสมอ แต่เพราะเหตุใดมันต้องเป็นเช่นนั้นด้วยเล่า ไม่มีเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น นอกเสียจากว่าเราอยากให้มันเป็นแบบนั้น ทุกคนคิดแบบเดียวกัน และพวกเราจะถูกต้องทุกคนไม่ได้
เราจะค่อย ๆ ปฏิบัติฝึกตนไปเรื่อยจนถึงจุดที่เราสามารถเอาชนะตัวสร้างปัญหาขั้นพื้นฐานที่สุดนี้ได้ เมื่อได้วิเคราะห์แล้ว จึงเห็นว่าความเห็นแก่ตัวของเราขึ้นอยู่กับแนวคิดเรื่อง “ฉัน” และ “อัตตา” ของฉัน หากกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แนวคิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเราตั้งอยู่บนรากฐานของความคิดที่ว่า “ฉันเป็นคนพิเศษ” ราวกับว่าเราล้วนเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นคนที่สำคัญที่สุดที่ไม่ข้องเกี่ยวกับใครเลย เราต้องทำการพิจารณาความคิดนี้โดยละเอียด เพราะมีบางสิ่งที่ผิดพลาดและบิดเบี้ยวอย่างมากเกี่ยวกับความคิดนี้ เช่นนี้ล่ะคือสิ่งที่หนทางฌานกล่าวถึง
ระดับความก้าวหน้าของแรงจูงใจ: พระธรรมขนาดย่อม
อุบายทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้มีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับเป้าหมายประเภทนี้ พูดง่าย ๆ คือ เรามีเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องการเลี่ยงพฤติกรรมเชิงโทษและอารมณ์เชิงลบ อย่างความโกรธและความเห็นแก่ตัว เหตุผลนี้คงจะเป็นเพราะเราเข้าใจว่า เมื่อเรากระทำการภายใต้อิทธิพลของสิ่งเหล่านี้ มันไม่น่าอภิรมย์และก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเองและผู้อื่น เราไม่อยากได้ปัญหาเหล่านี้!
นอกจากนี้ เรายังสามารถพิจารณาการสร้างปัญหาในหนทางของฌานได้เช่นกัน หากผมกระทำการในลักษณะนั้น ๆ มันจะสร้างปัญหาและความลำบากในตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราไปมีเรื่องต่อยตีอย่างหนักหน่วงกับคนผู้หนึ่งและทำเขาบาดเจ็บ เราก็อาจได้รับบาดเจ็บเช่นกัน หรือโดนจับเข้าคุกเข้าตาราง ในระดับที่ลึกลงไป เราสามารถมองถึงผลที่ตามมาในระยะยาวของพฤติกรรมเชิงโทษของเรา เพราะเราต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคตเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแต่ในตอนนี้ หากต่อยอดจากตรงนี้ เราอาจต้องการหลีกเลี่ยงการสร้างปัญหาและความยุ่งยากให้กับครอบครัวเรา คนที่เรารัก เพื่อน ๆ และสังคมของเราด้วย ทั้งหมดนี้อยู่ในขอบเขตของชีวิตในชาตินี้ หากไปให้ไกลกว่านั้น เราอาจคิดในเชิงที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น อย่างความต้องการหลีกเลี่ยงการสร้างความยากลำบากให้กับคนรุ่งหลัง เช่น ปัญหาสภาวะโลกร้อน
สำหรับแรงจูงใจทั้งหมดนี้ มันไม่ใช่ว่าเมื่อเราพัฒนาแรงจูงใจใหม่ขึ้นมา เราจึงล้มเลิกแรงจูงใจอันก่อนหน้า หากแต่แรงจูงใจเหล่านี้ล้วนสะสมและเพิ่มพูนกันและกัน นี่เป็นหลักการสำคัญของหนทางฌาน ทุกอย่างที่อธิบายมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่า “พระธรรมขนาดย่อม” มันนำเสนอหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ “พระธรรม” ในด้านชีวิตของชาตินี้เท่านั้น โดยไม่กล่าวถึงการเกิดใหม่ ผมได้คิดสองคำนี้ขึ้นมา “พระธรรมขนาดย่อม” และ “พระธรรมของจริง” ตามเครื่องดื่มโค้กไลท์และของจริงที่เต็มไปด้วยน้ำตาลอย่างโค้ก
ยกประโยชน์ความน่าสงสัยให้กับเรื่องการเกิดใหม่ ขณะคิดคำนึงเพียงพัฒนาชีวิตชาตินี้
“ธรรมะ” เป็นคำภาษาสันสกฤต หมายถึง คำสอนของพระพุทธเจ้า “ขนาดย่อม” ไม่ได้แปลว่ามีสิ่งใดผิด เพียงแต่ว่ามันไม่ใช่ฉบับที่แข็งแกร่งของจริง การนำเสนอลัม-ริมของแท้ที่เราพบในนิกายทิเบตนั้นคือของจริง แต่อาจจะมากเกินไปสำหรับหลาย ๆ คนที่เพิ่งเริ่มต้น เหตุผลหลักสำหรับข้อนี้ คือ การนำเสนอเช่นนี้ถือว่าเราเชื่อในเรื่องการเกิดใหม่อย่างสมบูรณ์แล้ว และหัวข้อทั้งหมดก็ได้รับการนำเสนอผ่านสมมุติฐานที่ว่าการเกิดใหม่เป็นเรื่องจริง จากมุมมองนี้ เราจึงเริ่มปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในชาติต่อ ๆ ไปและพัฒนาตนสำหรับการเกิดใหม่ในภายภาคหน้า
หากเราไม่เชื่อในเรื่องชาติหน้า ไฉนเลยเราจะมีแรงจูงใจในการพัฒนาชีวิตของเราด้วยความจริงใจ มันเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อเรามีคำถามเกี่ยวกับความคิดเรื่องชีวิตชาติก่อนชาติหน้า และเราไม่เชื่อมั่น หรือไม่แม้แต่จะเข้าใจในจุดนี้ เราก็จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยพระธรรมขนาดย่อม เราต้องมีความสัตย์จริงกับตนเองว่าเรามีเป้าหมายอย่างไรกันแน่ในการปฏิบัติทางจิตวิญญาณของเรา
สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ เราคงจะมุ่งเป้าไปยังการทำให้ชีวิตนี้ดีขึ้นอีกสักนิด และนั่นก็เป็นเป้าหมายที่ใช้ได้อย่างแน่นอน เป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอยู่ในระดับของพระธรรมขนาดย่อม เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรับรู้ว่านี่คือพระธรรมขนาดย่อมและไม่ใช่ของจริง ความสับสนระหว่างสองอย่างนี้ทำให้เราลดทอนพระพุทธศาสนาเป็นเพียงการบำบัด หรือการช่วยเหลือตนเองรูปแบบหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจำกัดและไม่ยุติธรรมต่อพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้เรายังต้องรับรู้ด้วยว่า หากเราไม่แม้แต่จะเข้าใจว่าพระธรรมของจริงเกี่ยวกับอะไร ไฉนเลยเราจะเชื่อว่านี่เป็นเรื่องจริง เราควรเปิดใจให้กว้าง โดยคิดว่า “ฉันไม่แน่ใจว่าที่พวกเขาพูดถึงชีวิตในชาติหน้า ๆ และการหลุดพ้นนั้นถูกต้องหรือเปล่า แต่ตอนนี้ฉันจะฝึกในระดับพระธรรมขนาดย่อมก่อน เมื่อฉันพัฒนาขึ้นแล้วและเจริญสมาธิมากขึ้นแล้ว บางทีฉันอาจจะเข้าใจพระธรรมของจริงมากขึ้นก็เป็นได้” แนวทางนี้ใช้ได้และเหมาะสมอย่างแน่นอน โดยอิงจากความเคารพต่อพระพุทธเจ้าและความเชื่อมั่นว่าพระองค์ทรงไม่ได้พูดเรื่องไร้สาระในขณะแสดงธรรมเทศนาเรื่องเหล่านั้น
นอกจากนี้เรายังสามารถรับรู้ได้ด้วยว่า ความคิดบางประการที่เรามีขึ้นเองซึ่งให้นิยามและอธิบายเรื่องชีวิตชาติหน้าและการหลุดพ้น ยกตัวอย่างนะครับ อาจไม่ถูกต้องอย่างสิ้นเชิง และพระพุทธศาสนาเองก็ไม่ยอมรับคำนิยาม หรือคำอธิบายอันมาจากการปรุงแต่งล่วงหน้าเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นความหมายของสิ่งนั้น ๆ หรือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องน่าขัน พระพุทธเจ้าเองก็อาจทรงคิดว่าเป็นเรื่องน่าขันเช่นกัน เพราะเป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น ความคิดที่ว่าเราเป็นเหมือนวิญญาณที่มีปีก ซึ่งบินออกจากร่างและไปเข้าอีกร่างหนึ่ง เป็นความคิดที่พระพุทธเจ้าทรงไม่ยอมรับเช่นกัน พระพุทธเจ้ายังทรงปฏิเสธความคิดที่ว่าเราสามารถกลายเป็นพระเจ้าผู้ประเสริฐได้เองอีกด้วย
ข้อดีของการคิดเรื่องการเกิดใหม่ที่ปราศจากจุดเริ่มต้น
วิธีการส่วนใหญ่ที่นำเสนอในหนทางลำดับขั้นนี้สามารถใช้กับการปฏิบัติพระธรรมขนาดย่อม หรือพระธรรมของจริงได้ อย่างไรก็ตาม มีวิธีการบางอย่างที่ต้องอาศัยความเข้าใจเรื่องชาติหน้าจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ในการพัฒนาความรักอย่างเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน วิธีหนึ่งคือการตระหนักว่าทุกคนล้วนมีการเกิดใหม่ที่ปราศจากจุดเริ่มต้นและมีจำนวนสรรพชีวิตที่แน่นอน จากจุดเริ่มต้นนี้ จึงดำเนินไปตามเชิงเหตุผลว่า ณ จุดใดจุดหนึ่ง สรรพชีวิตทั้งปวงเคยเป็นมารดาของเราและเป็นมารดาของผู้อื่น เราเองก็เคยเป็นมารดาของสรรพชีวิตอื่นทั้งปวงเช่นกัน เราอาจสามารถนำเสนอหลักฐานเชิงคณิตศาสตร์ของตรรกะนี้ได้ กล่าวคือ ของการไม่มีจุดเริ่มต้น แต่มีจำนวนสิ่งมีชีวิตที่แน่นอน หากมีทั้งเวลาที่เป็นอนันต์และสิ่งมีชีวิตที่ไม่จำกัด อย่างนั้นเราก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันดำเนินไปในลักษณะนี้จริง
แน่นอนว่าหัวข้อนี้ยากต่อการเข้าใจมาก โดยเฉพาะถ้าเราไม่เคยคิดในเชิงของการเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่รู้จบในชาติก่อน ๆ จากรากฐานของการเกิดใหม่อันเป็นอนันต์นี้ เราสามารถคิดในเชิงความรักของมารดาที่สรรพชีวิตทั้งปวงได้มอบให้เรา เห็นคุณค่าตรงนี้ และต้องการมอบความน้ำใจและความรักกลับคืน มีการพัฒนาต่อยอดรากฐานนี้อีกมากมาย ส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ คือ การมองเห็นว่าผู้นั้นผู้นี้เคยเป็นมารดาของเรามาก่อน ขึ้นอยู่กับว่าตอนไหนเท่านั้น ไม่ว่าเราจะไม่ได้เจอมารดามาเป็นเวลาสิบนาที สิบวัน หรือสิบปี ท่านก็คือมารดาของเรา เฉกเช่นเดียวกัน หากเราไม่ได้เจอท่านมาเป็นเวลาสิบชาติ ท่านก็ยังคงเป็นมารดาของเราอยู่ดี วิธีการคิดแบบนี้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก หากเราเชื่อเรื่องการเกิดใหม่จริง หากไม่มีความเชื่อนี้แล้ว ย่อมเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ
ตรงนี้ใช้ได้ดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อเราคิดถึงยุง ไม่ใช่แค่ผู้คน ยุงตัวนี้เคยเป็นมารดาเราในชาติก่อน เพราะการเกิดใหม่สามารถเกิดขึ้นในรูปแบบใดก็ได้ที่มีกระบวนการทางจิต เรื่องนี้มีในพระธรรมขนาดย่อมด้วย คือการที่เรามองว่าใคร ๆ ก็สามารถพาเรากลับบ้าน ดูแลเรา ให้ข้าวให้น้ำเรา ใคร ๆ ก็สามารถทำเช่นนั้นได้ เวลาเราเดินทาง เรามักพบว่าคนแปลกหน้าอาจจะปฏิบัติกับเราเป็นอย่างดีมากและให้การต้อนรับเราอย่างอบอุ่น จะเป็นชายหรือหญิงนั้นไม่สำคัญ ทุกคนย่อมสามารถปฏิบัติกับเราในลักษณะของมารดาได้ทั้งนั้น เมื่อลูกเราโตขึ้น เขาก็สามารถช่วยดูแลเราได้เช่นกัน ตรงนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าจะค่อนข้างจำกัดสักหน่อย เพราะการคิดว่ายุงที่เราเห็นตัวนี้สามารถพาเรากลับบ้านและดูแลเราเหมือนเป็นมารดาเรานั้นเป็นเรื่องยากอยู่
ตรงนี้เผยให้เห็นเล็กน้อยว่าวิธีการต่าง ๆ สามารถใช้กับระดับพระธรรมขนาดย่อมและพระธรรมของจริงได้อย่างไร ทั้งสองอย่างนี้มีประโยชน์มากในแบบของตนเอง แต่พระธรรมขนาดย่อมนั้นมีขอบเขตจำกัด พระธรรมของจริงเปิดโอกาสมากมายเหลือคณา ไม่ว่าเราจะใช้กับระดับใด ประเด็นหลักอยู่ที่การนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตจริง เมื่อเราติดอยู่บนท้องถนน หรือเรากำลังเข้าแถวยาวเหยียด และเรารู้สึกโกรธ หรือหมดความอดทนกับผู้อื่น เราสามารถมองพวกเขาว่าเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนมารดาเรา เราสามารถคิดถึงจุดนี้ว่าเป็นเรื่องในชาติก่อน หรือชาตินี้ แล้วมันจะช่วยดับอารมณ์โกรธลง ช่วยให้เรามีความอดทนมากขึ้น หากมารดาของเราอยู่ข้างหน้าเราในแถวนั้นจริง ๆ ผมมั่นใจว่าเราคงไม่ว่าอะไรถ้าท่านได้รับการบริการก่อน เราสามารถพยายามนำความเข้าใจไปปฏิบัติใช้ในลักษณะนี้ได้ เราไม่ควรแต่พัฒนาสภาวะทางจิตเหล่านี้ในขณะที่เรานั่งเจริญสติอยู่บนเบาะรองนั่งเท่านั้น แต่ควรทำเช่นนี้กับชีวิตประจำวันของเรา
การเจริญสมาธิเป็นวิธีฝึกฝนตนเอง
กระบวนการธรรมมะได้รับการอธิบายว่าเป็นการฝึกฝนตนเอง จุดนี้มีความหมายเช่นนี้ เมื่อเราเจริญสมาธิอยู่ในบรรยากาศเงียบสงบภายใต้การควบคุมในห้องของเรา เรากำลังฝึกฝนการสร้างความเข้าใจประเภทนี้และสภาวะทางจิตที่เป็นเชิงบวกมากขึ้น เราใช้จินตนาการในการคิดถึงผู้อื่นและพัฒนาทัศนคติเชิงประโยชน์ต่อพวกเขา ถึงแม้ว่านี่จะไม่ใช่วิธีการตามแบบแผน ถึงกระนั้นแล้ว ผมคิดว่าการดูภาพผู้คนในระหว่างการเจริญสมาธินั้นเป็นเรื่องที่ใช้ได้อย่างแน่นอน เมื่อ 2,500 ปีก่อนนู้น พวกเขาไม่มีภาพคน และผมไม่คิดว่าการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการเป็นปัญหาแต่อย่างใด
เมื่อเราได้พัฒนาความคุ้นเคยกับสภาวะทางจิตเชิงบวกประเภทนั้น ๆ อย่างเพียงพอแล้ว เราจึงพยายามนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน นั่นคือจุดประสงค์ทั้งหมดทั้งมวล การระลึกถึงความคิดเปี่ยมรักในขณะนั่งอยู่บนเบาะ แต่กลับโกรธครอบครัวและเพื่อนร่วมงานของคุณย่อมไม่ใช่ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนา ดังนั้น เราต้องไม่ทำให้การฝึกเจริญสมาธิเป็นเพียงการหลบหนีจากชีวิตจริง ที่เราเพียงอยากใช้เวลาสักเล็กน้อยในการหาความสงบให้ตัวเอง หากเราไปยังดินแดนเพ้อฝัน โดยคิดถึงสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลาย ก็ถือเป็นการหลบหนีเช่นเดียวกัน การฝึกเจริญสติควรแตกต่างออกไปเป็นอย่างมาก กล่าวคือ เรากำลังฝึกฝนตนเองให้สามารถจัดการกับปัญหาแห่งชีวิต
การฝึกฝนนี้ยากลำบาก และเราก็ไม่ควรหลอกตัวเอง หรือให้ตัวเองโดนโฆษณาหลอกให้คิดไปว่านี่เป็นเรื่องง่ายและทำได้อย่างรวดเร็ว การเอาชนะความเห็นแก่ตัวและอารมณ์เชิงโทษอื่น ๆ ของเราไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันตั้งอยู่บนรากฐานของนิสัยที่หยั่งรากลึกยิ่ง วิธีเดียวในการเอาชนะมันให้ได้ คือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของเราในเรื่องสิ่งต่าง ๆ และกำจัดความสับสนซึ่งเป็นมูลฐานของสภาวะเชิงโทษทางจิตเหล่านี้ออกจากตัวเรา
บทสรุป
การปฏิบัติพระพุทธศาสนาสามารถแยกออกเป็นพระธรรมขนาดย่อม และ พระธรรมของจริง สำหรับพระธรรมขนาดย่อม เราต้องการพัฒนาคุณภาพของชีวิตในชาตินี้ให้ดีขึ้น โดยการตระเตรียมเครื่องมือทางจิตให้พร้อมกับการจัดการปัญหาที่ชีวิตนำพามาให้เราได้ดียิ่งขึ้น พระธรรมขนาดย่อมไม่มีสิ่งใดไม่ดีเลย แต่ก็เหมือนกับโค้กไลท์ที่ไม่อาจมีรสชาติได้เท่ากับของจริง
ตามหลักดั้งเดิมแล้ว คำสอนลัม-ริมไม่ได้อ้างอิงถึงความคิดใด ๆ ที่เรากล่าวถึงในเชิงพระธรรมขนาดย่อม เพราะลัม-ริมถือความเชื่อในชีวิตชาติก่อนและชาติหน้า กระนั้นแล้ว การที่เราอยากปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นและกลายเป็นคนดีขึ้นนั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างแรกบนถนนสายปฏิบัติพระธรรมของจริง