แรงจูงใจสามระดับสำหรับพระธรรมของจริง
ลัม-ริมนำเสนอแรงจูงใจสามระดับ ดังต่อไปนี้
- ระดับต้น เราคิดในลักษณะของการสร้างความมั่นใจว่าประเภทการเกิดใหม่ของเรานั้นจะเป็นหนึ่งในประเภทที่ดีกว่า ไม่ใช่แค่ในชีวิตชาติหน้า แต่ในทุกชาติไป
- ระดับกลาง แรงจูงใจของเรา คือ การบรรลุการหลุดพ้นอย่างสมบูรณ์จากการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่รู้จบ กล่าวคือ เราต้องการหลุดพ้น
- ระดับสูง เรามุ่งเป้าไปยังการไปถึงสภาวะของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้แล้วอย่างสมบูรณ์ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นทั้งหมดให้เป็นอิสระจากการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้เช่นกัน
ตรงนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าแต่ละระดับอิงอยู่กับสมมุติฐานของการเกิดใหม่ กระนั้นแล้ว ตามที่เราได้พูดถึงก่อนหน้านี้ วิธีการแต่ละอย่างในเนื้อหาของทั้งสามระดับสามารถนำไปใช้ในระดับพระธรรมขนาดย่อมเช่นกัน แรงจูงใจเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เราควรประเมินค่าต่ำ เพราะหากเราสามารถพัฒนาแรงจูงใจเหล่านี้ด้วยความจริงใจแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่พิเศษอย่างยิ่งยวด
เอาชนะความรู้สึกสงสารตัวเอง โดยการเห็นคุณค่าชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าของเรา
สำหรับแรงจูงใจระดับต้น อย่างแรกที่เราต้องตระหนักให้ได้คือ การเห็นคุณค่าสิ่งที่เราเรียกว่า “ชีวิตมนุษย์อันล้ำค่า” ที่เรามี แม้แต่ในระดับพระธรรมขนาดย่อม การตระหนักเช่นนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการเอาชนะความรู้สึกแบบ “ฉันผู้น่าสงสาร” และความรู้สึกหดหู่ทั้งหลายที่มาจากตรงนี้ เราพึงสะท้อนสถานการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับเรา และพยายามเห็นคุณค่าของการที่เราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมเหลือเกิน
ในการนำเสนอฉบับมาตรฐานมีรายการที่ระบุถึงสถานการณ์อันเลวร้ายเอาไว้ยาวเหยียด แต่เราไม่จำเป็นต้องพูดถึงตรงนั้น เพราะเราสามารถคิดในลักษณะกว้าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น เราคิดถึงว่าเราโชคดีเพียงใดที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในเขตสงคราม หรือไม่ได้อยู่ท่ามกลางภาวะอดอยากแร้นแค้น ขาดอาหารจนเสียชีวิตและไม่สามารถหาอาหารให้ลูก ๆ ได้ เราคิดถึงว่าเป็นโชคดีของเราที่เราไม่ได้อาศัยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการในสังคมที่ถูกจำกัด ในโรมาเนีย คนที่มีอายุอาจสามารถเข้าใจข้อนี้ได้ง่ายกว่า เราโชคดีเพียงใดที่ไม่ได้เกิดมาพิการอย่างรุนแรง ทั้งทางจิตใจ ร่างกาย หรืออารมณ์ แน่นอนว่าจากมุมมองทางพระพุทธศาสนาแล้ว เราพึงระลึกว่าตนเองนั้นโชคดีเพียงใดที่ไม่ได้เกิดมาเป็นแมลงสาปที่ใครเห็นเป็นต้องอยากเหยียบให้ตาย
มีการต่อยอดความคิดประเภทนี้ไปอีกมากมาย และเมื่อเรามองตัวเองอย่างเป็นกลางแล้ว เราช่างโชคดีเหลือเกินที่มีอิสรภาพเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงมีอิสรภาพจากสิ่งเหล่านี้ เราจำเป็นต้องเข้าใจด้วยว่าเราสามารถสูญเสียมันไปได้ทุกเมื่อ เช่น ด้วยโรคอัลไซเมอร์ ในปัจจุบันมีวิกฤตทางเศรษฐกิจและอื่น ๆ ที่เลวร้าย ซึ่งอาจจะแย่ลงไปอีก จริง ๆ แล้วคำที่ใช้เพื่ออธิบายสภาวะที่เราเป็นอยู่นี้คือคำว่า “การหยุดพักชั่วคราว” ซึ่งหมายถึงการพักจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เลวร้ายเป็นอย่างยิ่ง การหยุดพักชั่วคราวนี้อาจสิ้นสุดลงได้ทุกเมื่อ
นอกจากอิสรภาพเหล่านี้แล้ว เรายังต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ นานาที่เสริมสร้างชีวิตของเรา ด้วย ยกตัวอย่างเช่น พวกเราส่วนใหญ่มีสุขภาพค่อนข้างแข็งแรง แน่นอนว่าพวกเราหลายคนอาจจะป่วยในภายหน้า แต่ ณ ตอนนี้ พวกเราสามารถเดินเหินได้ปกติ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาไว้และคำสอนเหล่านี้ได้รับการส่งทอดต่อมาเรื่อย ๆ และยังคงมาถึงเรา มีอาจารย์และหนังสือมากมายที่เราสามารถเรียนรู้ได้ จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าเรามีโอกาสมากมายอยู่พร้อม ในสถานการณ์เช่นนี้ เราจำเป็นต้องตระหนักถึงอิสรภาพและสิ่งเสริมสร้างต่าง ๆ ที่เรามี และเห็นคุณค่าอย่างแท้จริงว่าเราโชคดีมากมายเหลือเกิน
คิดคำนึงถึงความตายและความอนิจจัง เพื่อไม่ปล่อยให้โอกาสอันล้ำค่าสูญเปล่า
ประเด็นต่อมาในขอบเขตเบื้องต้นคือ การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าชีวิตล้ำค่าที่เรามีนี้ย่อมไม่อยู่ยั้งยืนยง ตรงนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะความจริงที่ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตเราล้วนเปลี่ยนแปลงไป หากแต่รวมถึงความจริงที่ว่าพวกเราล้วนต้องตาย ดังนั้น เราจะพบการเจริญสมาธิจำนวนมากที่ระลึกถึงความตาย ผู้คนจำนวนมากในสังคมหลายแห่งพยายามมองข้ามความตาย ซึ่งมักเป็นหัวข้อต้องห้าม เราไม่ยอมรับความเป็นจริงเลยว่า ณ ตอนหนึ่ง พวกเราล้วนต้องตาย ซึ่งรวมถึงคนที่เรารัก ทุกคนที่เรารู้จัก และตัวเราเอง เช่นนี้คือความเป็นจริง
มีเหตุผลหลายประการที่สนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเราล้วนต้องตาย ทุกคนที่เคยมีชีวิตย่อมต้องตาย ไฉนเลยเราจะมีความพิเศษ หรือผิดแผกไปจากพวกเขา สาเหตุสูงสุดของความตายคือการเกิด ฉะนั้นหากเราได้เกิดขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องตาย ร่างกายเริ่มอ่อนแอและเสื่อมสภาพไปเรื่อยตามวัย ร่างกายไม่แข็งแรงอย่างที่เราคิดไว้ ทั้งยังสามารถได้รับบาดเจ็บและโดนอันตรายต่าง ๆ ได้ง่ายมากด้วย เราต้องโน้มน้าวให้ตัวเองเชื่อมั่นเรื่องนี้ในเชิงเหตุผลให้ได้ เพื่อให้มันค่อย ๆ แทรกซึมลงไปในระดับอารมณ์
นอกจากข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเราล้วนต้องตายนั้น ประเด็นที่สองคือ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเมื่อไหร่ เราไม่จำเป็นต้องชราหรือป่วยถึงจะตายได้ คนหนุ่มสาวสุขภาพแข็งแรงหลายคนตายก่อนคนแก่และคนป่วยไปนานล่วงหน้า เมื่อไม่นานมานี้มีอุบัติเหตุทางเครื่องบินครั้งใหญ่ ซึ่งตอนที่พวกเขาขึ้นเครื่องบินลำนั้น ไม่มีใครคาดคิดเลยว่ามันจะตก เราอาจโดนรถบัสชนเมื่อใดก็ได้ เพื่อนสนิทที่สุดของผม เขาอายุ 54 ปี และมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เสียชีวิตกะทันหันด้วยอาการหัวใจวายเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง
มีเหตุผลมากมายสนับสนุนว่าความตายมาเยือนได้ทุกเมื่อ ความตายไม่คอยท่าให้เราทำงานให้เสร็จ หรือทานมื้อนี้ให้เสร็จ หรือทำอะไรก็ตามก่อน เราไม่อาจบอกความตายว่า “รอสักครู่เดียวนะ ให้ฉันทำสิ่งนี้ให้เสร็จก่อน” เมื่อความตายมาถึง มันย่อมมา และชีวิตของเราก็สิ้นสุดลง เมื่อเวลาของเราหมดแล้ว เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากมายเพื่อยืดเวลาออกไป คุณไม่สามารถติดศีลบนความตาย เราอาจยื้อร่างกายเราไว้ด้วยเครื่องช่วยชีวิต แต่การคงอยู่ในสภาพเหมือนผักนั้นจะมีประโยชน์อย่างไรเล่า เพราะแม้เป็นเช่นนั้น ชีวิตของเราก็ต้องจบลง ณ เวลาหนึ่งอยู่ดี
ประเด็นที่สามเกี่ยวกับความตายคือ ให้พิจารณาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อเรา เมื่อเราเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความตาย เราไม่อาจนำเงินทอง เพื่อนฝูง หรือครอบครัวไปกับเรา แม้หากเราสร้างพีรามิดและโยนพวกเขาทั้งหมดเข้าไปกับเราเมื่อเราตาย พวกเขาย่อมไปกับเราจริง ๆ ไม่ได้อยู่ดี จากมุมมองทางพระพุทธศาสนา เราบอกว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์จริง ๆ กับเราในยามตายคือ นิสัยเชิงบวกที่เราได้สะสมภายในความต่อเนื่องทางจิตของเรา
บางทีเราอาจได้ปฏิบัติคุณงามความดีและช่วยเหลือผู้อื่นไว้มาก หรือบางทีเราอาจมีพัฒนาการไปไกลมากบนหนทางของจิตวิญญาณในเรื่องของการลดความโกรธ ความเห็นแก่ตัว และอื่น ๆ ตรงนี้จะสร้างรอยประทับอันล้ำลึกไว้บนความต่อเนื่องทางจิตของเรา จากมุมมองของพระธรรมขนาดย่อม เราจึงสามารถตายโดยไม่นึกเสียใจและรู้สึกว่าเราได้ใช้ชีวิตในเชิงบวกอย่างคุ้มค่าแล้ว โดยเฉพาะหากเราได้ดูแลเอาใจใส่คนที่เรารัก หรือในระดับที่กว้างขึ้นคือ ได้สร้างคุณูปการให้กับสังคมแล้ว เราจะมีสันติในใจ โดยรู้สึกและคิดว่า “ฉันได้ใช้ชีวิตที่ดีและคุ้มค่าแล้ว”
สำหรับพระธรรมของจริงนั้น เราจึงสามารถตายโดยมั่นใจได้ว่า นิสัย แนวโน้ม และสัญชาติญาณเชิงบวกทั้งหลายในความต่อเนื่องทางจิตของเราจะดำเนินต่อไปในชีวิตชาติต่อ ๆ ไป เราจะตายโดยรู้สึกว่า “ในชาติต่อ ๆ ไป ฉันจะมีการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันล้ำค่าต่อไป ฉันจะเกิดใหม่เป็นเด็กที่มีสัญชาตญาณเชิงบวกอย่างยิ่ง” เราเห็นจุดนี้ได้กับเด็ก ๆ เด็กบางคนเอาแต่ร้องไห้และอารมณ์เสียในช่วงที่อายุน้อย ในขณะที่บางคนสงบและมีน้ำใจต่อผู้อื่น นี่คือผลลัพธ์ของนิสัยเชิงบวกที่เราได้สะสมมาในอดีตชาติ เมื่อเรามีสภาวะทางจิตที่เป็นสันติในยามที่เราตาย ย่อมเป็นประโยชน์อย่างมาก จำนวนเงินที่เรามีในธนาคารย่อมไม่อาจให้ความสบายใด ๆ แก่เราได้ เพราะเมื่อความตายมาแล้ว มันเป็นเพียงแค่ตัวเลขบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น
การเจริญสมาธิระลึกถึงความตาย
เนื่องจากเหตุผลด้านบน เราจึงมีการเจริญสมาธิโดยระลึกถึงความตาย ซึ่งเราจินตนาการว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา เราถามตัวเองว่าเราพร้อมที่จะตายทุกเมื่อหรือยัง ฉันมีความเสียใจใด ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของตนเองหรือไม่ หากต้องตายวันนี้ ประเด็นของการทำเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อให้รู้สึกหดหู่อย่างแน่นอน หากแต่เป็นการสนับสนุนให้เราใช้ประโยชน์จากชีวิตมนุษย์อันเลอค่าและโอกาสทั้งหมดที่เรามีในตอนนี้ เช่นนี้คือเป้าหมายอย่างสมบูรณ์ของการเจริญสมาธิในลักษณะนี้ ไม่ใช่แค่ว่าฉันแก่ขึ้นทุกวัน แต่ฉันยังเข้าใกล้ความตายขึ้นทุกเมื่อด้วย เมื่อแต่ละวันจบลง เราย่อมมีชีวิตเหลือน้อยลงไปอีกวัน เวลาเหลือน้อยลงทุกทีและเราไม่รู้เลยว่าเราเหลือเวลามากเท่าไหร่ ดังนั้น เราต้องการใช้ชีวิตที่มีอยู่นี้ให้ดีที่สุดและไม่ใช้ชีวิตอย่างสูญเปล่า การตายด้วยสภาวะทางจิตที่เราตระหนักได้ว่าเราได้ใช้ชีวิตไปอย่างสูญเปล่าและเราสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้อีกตั้งมากมาย เป็นสภาวะทางจิตที่เลวร้ายเหลือเกินในยามตาย
เราต้องกำหนดสภาวะทางจิตของ “ฉันจะไม่ทำให้โอกาสของฉันสูญเปล่า” ในแบบสมดุล เราต้องหลีกเลี่ยงการเป็นคนจำพวกบ้าคลั่ง ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะแห่งความกลัว หวาดกลัวที่จะหยุดทำงาน หรือหยุดฝึกเจริญสมาธิอยู่เสมอ เราต้องผ่อนคลายและพักบ้างในยามจำเป็น เพื่อที่เราจะได้มีพลังในการกลับมาปฏิบัติต่อไป ปริศนาธรรมแบบเซ็นสุดโปรดของผมคือ “ความตายย่อมมาได้ทุกเมื่อ ทำตัวให้สบายเถิด” หากคุณคิดดูแล้ว ตรงนี้สมเหตุสมผลมาก ใช่แล้ว เราสามารถตายได้ทุกเมื่อ แต่การทำตัวตึงเครียดและบ้าคลั่งกับตรงนี้เป็นการทำร้ายตัวเอง
ใจความสำคัญ คือ การใช้ประโยชน์จากชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าอย่างน่าอัศจรรย์ที่เรามีนี้ แต่จงกระทำในลักษณะสมดุล เราสามารถผ่อนคลายในยามจำเป็น และต้องมีความสัตย์จริงกับตัวเองในยามที่เราไม่ได้เหนื่อยจริง ๆ เราเพียงแต่ขี้เกียจเท่านั้น เราพึงระลึกถึงแรงจูงใจของตนเองไว้เสมอ
แน่นอนว่าการเจริญสมาธิด้วยความตระหนักรู้เรื่องความตายสามารถนำไปใช้ได้กับทั้งพระธรรมขนาดย่อมและพระธรรมของจริง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ อย่างการบอกรักคนที่เรารักและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ หรือขอโทษและคืนดีกับใครสักคน จงอย่าได้รีรอ คนผู้นั้นอาจไม่อยู่แล้วในวันพรุ่งนี้ และเราเองก็อาจไม่อยู่แล้วในวันพรุ่งนี้เช่นกัน นี่เป็นบทเรียนจากความตระหนักรู้เรื่องความตายที่เราได้เรียนรู้ในแบบพระธรรมขนาดย่อม ซึ่งเป็นประโยชน์และช่วยเหลือเราได้มากในทุกระดับ กล่าวคือ จงอย่าปฏิเสธความตาย แต่จงเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับมัน นอกจากนี้เราสามารถสร้างจินตทัศน์เกี่ยวกับความตายและงานศพของเราเอง ซึ่งอาจช่วยให้ดูสมจริงมากขึ้นได้ แต่จงทำให้แน่ใจว่าเราไม่จมปลักอยู่กับตรงนี้จนรู้สึกป่วยและหดหู่!
สร้างความครั่นคร้ามการประสบกับการเกิดใหม่ในสภาวะที่แย่ลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังความตาย
จากนั้นเราจึงพิจารณาต่อไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราตายไป สำหรับตรงนี้ มีการนำเสนอถึงสภาวะการเกิดใหม่ที่แย่ที่สุดที่เราประสบได้ และกล่าวว่าเราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังเพียงใด ตรงนี้ก็ไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อย เพราะการนำเสนอในพระพุทธศาสนาครอบคลุมตั้งแต่การเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งแย่กว่าภพภูมิในปัจจุบันของเรา ไปจนถึงถึงรูปแบบที่เรามองไม่เห็นด้วย
เมื่อเราพิจารณาการเกิดในฐานะสัตว์เดรัจฉาน เราพึงระลึกไว้เสมอว่าภูมินี้รวมถึงแมลงและปลา พร้อมทั้งสัตว์สายพันธุ์และประเภทต่าง ๆ ทั้งหมดทั้งมวลด้วย มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เห็นว่าการเกิดใหม่ในภพภูมิของสัตว์นั้นเลวร้ายเพียงใด เพราะพวกมันต้องอดทนต่อความกลัวและความทุกข์ทรมานทั้งหลาย เมื่อเรานึกถึงการเกิดใหม่เป็นสัตว์เดรัจฉาน เราไม่ได้จินตนาการถึงชีวิตของสุนัขพุดเดิ้ลที่ผ่านการทำเล็บสวยงามในคฤหาสน์ แต่เรานึกถึงแมลงสาปและหนู ซึ่งเป็นที่น่าขยะแขยงของคนส่วนใหญ่ และแมลงกับปลาเล็กที่ถูกกินโดยสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า และแน่นอนว่ารวมถึงสัตว์ทั้งหลายที่ถูกเลี้ยงในเชิงอุตสาหกรรมและถูกเชือดโดยมนุษย์ด้วย
อารมณ์ที่สร้างขึ้นตรงนี้เกี่ยวกับชีวิตในภายภาคหน้านั้นมักได้รับการแปลว่า “ความกลัว” แต่ผมไม่แน่ใจว่านี่เป็นคำที่ดีที่สุดหรือเปล่า เพราะมันมีความหมายเชิงนัยยะถึงความสิ้นหวัง ราวกับว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย อย่างไรก็ตาม เราสามารถปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงจุดนี้ได้ ผมจึงขอใช้คำว่า “ความครั่นคร้าม” ดีกว่า ซึ่งหมายความว่าเราไม่อยากให้มันเกิดขึ้นสุด ๆ เลยจริง ๆ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราต้องไปเข้าร่วมประชุมธุรกิจที่น่าเบื่อ เราครั่นคร้ามที่จะไป มันจะต้องน่าเบื่อและเลวร้ายแน่ ๆ แต่เราไม่ได้กลัวที่จะไป เช่นนี้คืออารมณ์ที่เราควรสร้างขึ้น เรามีชีวิตอันเลอค่านี้ที่สามารถสูญสิ้นไปได้ทุกเมื่อ เราจึงต้องการใช้ประโยชน์จากมัน เพื่อทำให้มั่นใจว่าเราจะไม่เกิดเป็นแมลงสาปในชีวิตชาติต่อไป การเกิดเป็นแมลงสาปจะเป็นเรื่องที่แย่มากเหลือเกินและเราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นเลย ดังนั้นเราจึงต้องปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงเช่นนั้น
ในพระธรรมของจริง เราไม่เพียงกล่าวถึงการเกิดใหม่เป็นสัตว์และแมลง แต่กล่าวถึงการเกิดใหม่ในภพภูมิของภูตผีและนรกด้วย เราไม่ควรรู้สึกอายที่จะรวมตรงนี้เข้าไปด้วย เพราะการเก็บซ่อนคำอธิบายเรื่องนี้ไว้เป็นสิ่งไม่ยุติธรรมสำหรับพระพุทธศาสนา แทนที่จะทำเช่นนั้น เราสามารถเปิดใจให้กว้างและพูดว่า “ฉันไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้เลย”
วิธีทำความเข้าใจสภาวะการเกิดเป็นอมนุษย์
เราสามารถทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ในลักษณะของกระบวนการทางจิต หรือหากกล่าวอีกอย่างก็คือ ทุก ๆ ช่วงเวลาของการประสบสิ่งหนึ่ง ในแต่ละช่วงเวลาเกิดการอุบัติขึ้นของโฮโลแกรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรามองเห็น รู้ หรือคิดถึงสิ่งหนึ่ง และอื่น ๆ สิ่งที่มาพร้อมกับแต่ละช่วงเวลาของประสบการณ์ คือ ความรู้สึกประเภทสุขหรือทุกข์ จริง ๆ แล้วตรงนี้ดูจะเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างเรากับคอมพิวเตอร์ ในคอมพิวเตอร์มีข้อมูลที่มันจัดการได้และรู้ในลักษณะหนึ่ง แต่คอมพิวเตอร์ไม่รู้สึกสุข หรือทุกข์ และมันไม่ได้รับประสบการณ์ใด ๆ จากข้อมูล การที่เรามีความรู้สึกสุขและทุกข์เป็นสิ่งที่นิยามการสัมผัสประสบการณ์ และขอบเขตของความทุกข์และสุขนั้นก็กว้างใหญ่ไพศาลมาก ปริมาณขอบเขตที่เราสามารถสัมผัสได้นั้นขึ้นอยู่กับฮาร์ดแวร์ของเรา กล่าวอีกอย่างก็คือ ประเภทของร่างกายที่เรามีนั่นเอง
ตรงนี้สามารถเข้าใจได้ไม่เพียงแต่ในลักษณะของความสุขและความทุกข์เท่านั้น แต่รวมถึงประสาทสัมผัสต่าง ๆ ของเราด้วย บางคนมองเห็นได้ไกลกว่าผู้อื่น ในขณะที่บางคนสามารถได้ยินชัดเจนกว่าผู้อื่น และบางคนก็สามารถทนความร้อนและความเย็นได้ดีกว่าผู้อื่น หากดูในกลุ่มสัตว์แล้ว สุนัขได้ยินคลื่นความถี่ได้สูงกว่ามนุษย์มาก เพราะมันมีประเภทร่างกายที่ต่างออกไป จึงเปรียบเหมือนมีฮาร์ดแวร์ที่ต่างกัน เหยี่ยวสามารถมองเห็นได้ไกลกว่ามนุษย์ด้วยลักษณะตาของเหยี่ยว ในเมื่อประสาทสัมผัสเป็นอย่างนี้ได้ ไหนเลยจะไม่เป็นจริงกับขอบเขตของความรู้สึกสุขและทุกข์ด้วยเช่นกัน
เราสามารถรวมความรู้สึกอภิรมย์และความเจ็บปวดเข้าไปในเรื่องนี้ได้ด้วย ถึงแม้ว่ามันจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เราสัมผัสกับความสุขและความทุกข์ทางจิตใจ ในขณะที่สัมผัสกับความอภิรมย์และความเจ็บปวดส่วนใหญ่ทางกาย อย่างน้อยเมื่อดูตามความหมายของคำเหล่านี้ในภาษาอังกฤษ หากเกิดความเจ็บปวดทางอารมณ์ขึ้น เราสัมผัสได้ถึงอาการช็อคและร่างกายเราอาจหยุดทำงานได้เลย
ในอีกด้านหนึ่ง ความอภิรมย์นั้นน่าสนใจ หากคุณวิเคราะห์อาการคัน จริง ๆ แล้วมันเป็นความอภิรมย์ขั้นรุนแรง มันไม่ได้เจ็บปวดเลย แต่จริง ๆ แล้วมันน่าอภิรมย์มากเกินไป จนเราต้องทำลายมันเสียตามสัญชาตญาณด้วยการเกา นั่นคือวิธีการรับมือกับกลุ่มอาการโรคเรื้อรังทางผิวหนังที่มีอาการคันรุนแรง ซึ่งให้คิดว่าอาการคันนี่เป็นเรื่องน่าอภิรมย์ การพยายามผ่อนคลายและเพลิดเพลินกับตรงนี้เป็นเรื่องที่ยากมากและซับซ้อนมาก โดยเฉพาะหากการเกานั้นจะทำให้เกิดความเสียหาย แต่มันก็เป็นไปได้ ในกรณีใดก็ตาม หากเราคิดในเชิงความอภิรมย์ทางเพศ ยิ่งรุนแรงแค่ไหน เราก็ยิ่งอยากไปให้ถึงจุดสุดยอดเพื่อทำลายมันลงมากขึ้นเท่านั้น
เราจึงจะเห็นได้ว่าฮาร์ดแวร์ของมนุษย์ที่เรามีนี้สามารถสัมผัสกับขอบเขตบางส่วนของความสุขและความทุกข์ รวมถึงความอภิรมย์และความเจ็บปวดได้เท่านั้น นอกจากนี้เรายังได้ระบุแล้วว่า สัตว์ต่าง ๆ สามารถสัมผัสกับขอบเขตประสาทสัมผัสต่าง ๆ ได้มากกว่า เช่น การมองเห็นและเสียง ดังนั้นตามเหตุผลแล้ว จึงเป็นไปได้ที่อาจมีฮาร์ดแวร์ประเภทอื่นที่สามารถสัมผัสกับขอบเขตของความเจ็บปวด ความอภิรมย์ ความสุข และความทุกข์ได้มากขึ้น ทำไมจะไม่ได้ล่ะ
มันคือกระบวนการทางจิตที่เราพูดถึงในลักษณะของความต่อเนื่องจากชีวิตสู่ชีวิต ไม่มีเหตุผลใดเลยที่มันจะไม่สามารถสัมผัสกับขอบเขตทั้งหมดของความทุกข์และความเจ็บปวดขั้นรุนแรง ไปจนถึงความอภิรมย์และความสุขขั้นสุดยอดได้ ตรงนี้เป็นเรื่องของประเภทฮาร์ดแวร์ที่เรามีในแต่ละชาติเท่านั้น การมองอย่างนี้เป็นวิธีเชิงเหตุผลในการพยายามและอย่างน้อยก็เปิดใจให้กว้างพอสำหรับเข้าใจสิ่งมีชีวิตประเภทอื่น ๆ เหล่านี้ที่ระบุไว้ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเราไม่อาจมองเห็นได้ เรามองไม่เห็นอะมีบา แต่ด้วยกล้องจุลทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ เราก็สามารถมองเห็นและยอมรับว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกัน เราอาจจะมองไม่เห็นผี แต่ด้วยการพัฒนาทางจิตแล้ว ก็เป็นเรื่องที่อาจเป็นไปได้
พระธรรมขนาดย่อมลดเรื่องภพภูมิอื่น ๆ ทั้งหมดเหลือเพียงแค่ประเภทของประสบการณ์มนุษย์ เป็นต้นว่า คนผู้หนึ่งอาจถูกรบกวนทางจิตมากเสียจนเหมือนตนเองใช้ชีวิตอยู่ในนรกก็ไม่ปาน ตรงนี้ช่วยให้เราสร้างความเห็นอกเห็นใจต่อคนเหล่านี้ และความปรารถนาไม่ให้ตนเองเป็นเช่นนั้นในอนาคต ตรงนี้เป็นเรื่องที่รับได้ในระดับของพระธรรมขนาดย่อม อย่างไรก็ตาม พระธรรมของจริงไม่ได้พูดถึงเพียงแค่ประสบการณ์ของมนุษย์ หากแต่ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เราและทุกคนสามารถมี โดยตั้งอยู่บนรากฐานของความต่อเนื่องทางจิต กระบวนการทางจิตสามารถดำเนินไปพร้อมกับสิ่งใดก็ได้ภายในขอบเขตของความสุขไปสู่ทุกข์ ความอภิรมย์ไปถึงความเจ็บปวด เราไม่อยากได้รากฐานบางประเภทที่จำกัดและสามารถรองรับได้แต่ประสบการณ์เจ็บปวดอันเลวร้ายในอนาคตอย่างแน่นอน จุดนี้ชัดเจน
มีทางใดในการหลีกเลี่ยงสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ นี่คือคำถามที่สำคัญ! ก่อนอื่น เราต้องตั้งมั่นทิศทางเชิงบวกบางประเภทในชีวิตของเราก่อน ซึ่งจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการเกิดใหม่ที่แย่ลงกว่าเดิม อันที่จริงแล้ว การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่เลี่ยงสถานการณ์ดังกล่าว แต่ยังนำเราไปสู่การหลุดพ้นและการตรัสรู้อีกด้วย
ตั้งมั่นทิศทางที่ปลอดภัยให้กับชีวิต: หาที่พึ่งพิง
ผมไม่ค่อยสันทัดกับคำว่า “ที่พึ่งพิง” ซึ่งดูชักชวนให้เข้าใจผิดอยู่เล็กน้อย โดยให้ความรู้สึกที่เป็นเชิงรับมากเกินไป ราวกับว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ช่วยชีวิตในเชิง “โอ้ พระพุทธองค์ โปรดช่วยข้าพเจ้าด้วย!” แล้วมันก็ไม่เหมือนกับการที่เราเป็นสัตว์ที่ถูกนำไปปล่อยยังศูนย์พึ่งพิงสัตว์ป่าด้วย เรากำลังพูดถึงสิ่งที่เป็นเชิงรุกมาก ไม่ใช่เชิงรับเลยสักนิด ผมอธิบายเรื่องนี้เหมือนกับการวาง “ทิศทางที่ปลอดภัย” ให้กับชีวิตเรา กล่าวคือ หากเราเดินไปในทิศทางนี้แล้ว เราย่อมปกป้องตัวเองจากการประสบกับการเกิดใหม่ที่แย่ลง การเวียนว่ายตายเกิดทั้งหมด รวมถึงการไร้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย
คำว่า “พระธรรม” มักได้รับการแปลหมายถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจริง ๆ แล้วหมายถึงมาตรการเชิงป้องกัน เป็นสิ่งที่เราสามารถนำไปใช้กับตนเอง เพื่อป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงปัญหาและความทุกข์ยากในอนาคต เรานำมาตรการนี้ไปปฏิบัติในชีวิต เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสามประการของการเกิดใหม่ที่แย่ลง การเวียนว่ายตายเกิด และการไร้ความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่
ทิศทางที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นแล้วคืออะไร อันที่จริงแล้ว ทิศทางนี้ก็คือสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงบรรลุแล้วด้วยพระองค์เอง อันเป็นการยุติอุปสรรค ข้อบกพร่อง ความสับสน และอารมณ์รบกวนทั้งหมดทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน พระพุทธองค์ทรงตระหนักถึงศักยภาพเชิงบวกทั้งหมดของจิต นี่คือทิศทางที่เราพูดถึง จริง ๆ แล้วนี่คือสิ่งที่เราหมายถึง เมื่อพูดถึงทิศทางปลอดภัยของพระรัตนตรัยอันประเสริฐที่หาได้ยากยิ่งแห่งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พระธรรมคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติจนลุล่วงและหลักคำสอนของพระองค์ อันเป็นวิธีการที่ทำให้เราสามารถบรรลุสิ่งเดียวกันนี้ พระพุทธเจ้าหมายถึงบุคคลที่ได้บรรลุแล้วในขั้นสมบูรณ์ พระสงฆ์ไม่ได้หมายถึงเพียงผู้คนในอาราม หรือในศูนย์พระพุทธศาสนา หากแต่หมายถึงคณะสงฆ์ อันที่จริง นี่ก็ไม่ได้ถือเป็นทิศทางที่ปลอดภัยจริง ๆ พระสงฆ์ อันเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย หมายถึงผู้ที่ได้ตระหนักรู้ขั้นสูงแล้ว ผู้ซึ่งได้บรรลุส่วนหนึ่งของสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบรรลุอย่างสมบูรณ์
เพื่อการนี้ นี่คือสิ่งที่เราต้องทำเป็นขั้นแรก เราต้องตั้งมั่นทิศทางที่ปลอดภัยในชีวิตของเราด้วยความจริงจัง กล่าวคือ เป็นสิ่งที่เรามุ่งปฏิบัติเพื่อไปให้ถึง เราปฏิบัติเพื่อบรรลุสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงได้บรรลุแล้ว วิธีที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ และวิธีที่พระสงฆ์ได้บรรลุแล้วบางส่วน การวางทิศทางดังกล่าวในชีวิตเราสร้างความแตกต่างอย่างมหาศาลในทุกระดับ เพราะตอนนี้ชีวิตของเราย่อมมีความหมายและมีทิศทางจริง เรากำลังฝึกฝนตนเองเพื่อกำจัดข้อบกพร่องและตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง หากเราทำเช่นนั้น เราจะรู้สึกเป็นสุขมากขึ้นทางอารมณ์โดยรวม เพราะเราจะไม่คิดว่า “ฉันไม่รู้ว่าชีวิตนี้มีความหมายอย่างไร ฉันไม่รู้ว่าฉันทำอะไรอยู่ตอนนี้ ชีวิตของฉันไร้ความหมาย” นั่นถือเป็นสภาวะทางจิตที่แย่มากเลย และเมื่อผู้ใดมีสภาวะทางจิตเช่นนี้มักหมายความว่าชีวิตของพวกเขามีแต่เรื่องเงินทองนั่นเอง แม้จะฟังดูซ้ำซากเพียงไร ความจริงก็คือ “เงินทองซื้อความสุขไม่ได้”
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเชิงโทษ
ทีนี้เมื่อเรามีทิศทางที่ปลอดภัยในชีวิตแล้ว จากพื้นฐานนี้ มีวิธีหลีกเลี่ยงการเกิดใหม่ที่แย่ลงได้อย่างไร วิธีการ คือ การหลีกเลี่ยงการกระทำในลักษณะเชิงโทษ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ หมายถึงว่าเราพยายามหลีกเลี่ยงการกระทำทั้งสามอย่างนี้ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์รบกวน เช่น ความโกรธ ความโลภ การยึดติด ความไร้เดียงสา ความอิจฉา และอารมณ์อื่น ๆ อีกมากมาย วิธีที่ดีที่สุดในการใช้ประโยชน์จากชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าในระดับต้นคือ การหลีกเลี่ยงการกระทำ การพูด และการคิดในลักษณะเชิงโทษ
อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องทำเช่นนี้ภายใต้กรอบของพระพุทธศาสนา หากกล่าวโดยรวมแล้ว ศาสนาทุกศาสนาสอนให้เราไม่กระทำเชิงโทษ เช่น การเข่นฆ่าและการขโมย แต่พื้นฐานอันเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนานั้นไม่ใช่กฎหมาย ไม่มีกฎหมายใด ๆ ที่บัญญัติขึ้นโดยผู้วิเศษ หรือนิติบัญญัติ หรือรัฐบาล พุทธจริยธรรมไม่ได้อิงกับการเชื่อฟังกฎหมาย เช่นว่า “จงเชื่อฟังกฎหมาย มิฉะนั้นจะโดนลงโทษ” ในระบบประมวลกฎหมายนั้น เราสามารถติดศีลบน หรืออาจจ้างทนายความเก่ง ๆ เพื่อหลบหนีการลงโทษได้ อีกทั้งมันไม่ใช่ว่าเมื่อเราเชื่อฟังกฎหมายแล้ว เราเป็นคนดี และหากเราไม่เชื่อ เราเป็นคนเลว หรือเป็นอาชญากร การเชื่อฟังไม่ใช่รากฐานของพุทธจริยธรรม
ปฏิบัติพฤติกรรมเชิงประโยชน์
เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทราบว่า พฤติกรรมเชิงประโยชน์หมายความว่าอย่างไรในพระพุทธศาสนา เราสามารถทำความเข้าใจได้จากการพิจารณาลักษณะของพฤติกรรมเชิงประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น วิธีหนึ่งสำหรับการเข่นฆ่า หรือการพรากชีวิต คือ การล่าสัตว์ แต่หากเราไม่เคยออกล่าและไม่เคยสนใจในการล่าด้วย ความจริงข้อที่ว่าเราไม่ล่าสัตว์นั้นไม่นับเป็นพฤติกรรมเชิงประโยชน์ ถึงแม้ว่านี่จะเป็นสิ่งที่ดีก็ตาม พฤติกรรมเชิงประโยชน์ หมายถึง เมื่อเรารู้สึกอยากตบยุงให้ตาย เราไม่กระทำตามที่รู้สึก เราเข้าใจว่าหากเรากระทำเช่นนั้นแล้ว ย่อมเป็นการกระทำจากความโกรธ คิดถึงเพียงแต่ตัวฉัน ตัวฉัน ตัวฉัน ยิ่งไปกว่านี้ เรารู้ว่าหากเราฆ่ายุงแล้ว จะก่อให้เกิดนิสัยรุนแรงที่เมื่อเราเจออะไรที่ไม่ชอบ เราจะจัดการกับมันด้วยการฆ่า ดังนั้นแทนที่จะตบยุง เราพึงหาวิธีการที่มีสันติกว่านี้ในการจัดการกับมัน เช่น การใช้ถ้วยจับมันไว้และนำไปปล่อยด้านนอก การกระทำเชิงประโยชน์ คือ การละเว้นการฆ่าสิ่งมีชีวิตที่เราอยากจะฆ่าจริง ๆ เราละเว้นเพราะเราเข้าใจในเหตุและผล การกระทำเชิงประโยชน์ประเภทนี้สร้างสมศักยภาพเชิงบวกอันแข็งแกร่งในจิตเรามากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ยังมีการกระทำเชิงประโยชน์ในระดับที่แข็งแกร่งกว่านี้ด้วย ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ไม่ฆ่ายุง แต่คือการให้อาหารมัน เราสามารถให้มันได้ชิมเลือดของเราเสียหน่อย อย่างไรเสียเราก็มีเลือดเยอะ ผมเคยเจอคนไม่กี่คนที่สามารถทำอย่างนั้นได้จริง ข้อที่ว่าเราไม่ล่าสัตว์นั้นไม่ได้เป็นการกระทำเชิงบวกที่แข็งแกร่งเท่าที่เราอาจคิด
รากฐานของพุทธจริยธรรม คือ การเข้าใจเหตุและผลของการกระทำ
ฉะนั้นในพระพุทธศาสนา รากฐานทั้งหมดของจริยธรรมคือ การเข้าใจว่าการกระทำในลักษณะบางประการจะสร้างผลลัพธ์บางประเภทขึ้น และแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นโทษและสิ่งที่เป็นคุณ ยกตัวอย่างเช่น หากเรากระทำการในลักษณะเชิงโทษ ตรงนี้ย่อมสร้างสภาวะทางจิตที่เป็นทุกข์ หรือถูกรบกวนสำหรับตนเอง เรากระทำตัวเช่นนี้เนื่องจากความสับสนพื้นฐานของเรา อย่างแรกเลย เราอาจไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วการกระทำเชิงโทษนั้นเป็นการทำลายตนเอง เหมือนเวลาเราเสพติดยา หรือแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ เราอาจคิดในเชิงกลับกันว่า หากเราเมายาหรือมึนเมาตลอดเวลา เราจะสามารถเลี่ยงปัญหาของเราได้
ดังนั้นจากความเข้าใจเรื่องพื้นฐานของพฤติกรรมเชิงจริยธรรมแล้ว เราตระหนักได้ว่าเมื่อเรากระทำตัวเชิงโทษ มันไม่ใช่ว่าเราเป็นคนเลว แต่เป็นเพราะเราสับสน เมื่อผู้อื่นกระทำการเชิงโทษ มันไม่ใช่ว่าพวกเขาเป็นคนเลวและสมควรได้รับการลงโทษ แต่เป็นเพราะพวกเขาสับสนและถูกรบกวนมาก พวกเขาจึงสมควรแก่ความเห็นอกเห็นใจที่เราอยากช่วยเหลือเขากำจัดความสับสนทิ้งไปเสีย ใช่แล้ว เราอาจจะต้องขังเขาเอาไว้ หากเขามีโอกาสจะทำร้ายผู้อื่นต่อไป แต่ตรงนี้ควรกระทำด้วยจิตใจที่ต่างออกไป เราไม่จำเป็นต้องลงโทษ หรือทำร้ายเขา แต่เป็นการพยายามช่วยเขา พวกเขามีความต่อเนื่องทางจิตที่จะดำเนินต่อไปตลอดกาล และหากเราไม่พยายามบำบัดเขาทางใดทางหนึ่งในตอนนี้ พวกเขาย่อมดำเนินการกระทำเชิงโทษรุนแรงนี้ต่อไปในกาลหน้า
อย่างไรก็ตาม สำหรับระดับต้น เรามุ่งเน้นที่ตัวเองและความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้ายในอนาคตเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงชีวิตในชาตินี้สำหรับพระธรรมขนาดย่อม หรือชีวิตในภายภาคหน้าสำหรับพระธรรมของจริง ในระดับนี้ นี่คือการใช้ชีวิตมนุษย์อันเลอค่าด้วยการหาทิศทางที่ปลอดภัย เราให้คุณค่าชีวิตนี้ เพราะเรารู้ว่าเราจะต้องเสียมันไป และเราต้องการสร้างความมั่นใจว่าเราจะสามารถมีชีวิตมนุษย์อันเลอค่านี้ต่อไปในอนาคต เราต้องการชีวิตในภพภูมิมนุษย์ เพราะการไปให้ถึงเป้าหมายของการหลุดพ้นและการตรัสรู้นั้นต้องใช้เวลานานมาก เปรียบพระธรรมขนาดย่อมดั่งย่างก้าวไปสู่พระธรรมของจริง ระดับต้นที่เราได้กล่าวถึงนี้ก็คือย่างก้าวไปสู่ระดับกลางและระดับสูงนั่นเอง
บทสรุป
แรงจูงใจระดับต้นเริ่มจากการเห็นคุณค่าชีวิตมนุษย์อันล้ำค่าสุดประมาณที่เรามีนี้ เรามีร่างกายนี้ มีโอกาส และที่สำคัญที่สุดคือ เรามีสติปัญญาของมนุษย์ หากเราตั้งใจจริงแล้ว แทบไม่มีสิ่งใดเลยที่เราไม่อาจบรรลุได้
สถานการณ์อันน่ามหัศจรรย์ที่เราเป็นอยู่นี้ย่อมไม่คงอยู่ตลอดไป เพราะไม่มีสิ่งใดเป็นเช่นนั้นได้ ไม่ว่าเราจะร่ำรวยแค่ไหน หรือจะมีชื่อเสียงมากแค่ไหน หรือเราจะมีเพื่อนฝูงมากแค่ไหน หรือร่างกายเราจะแข็งแรงแค่ไหน เราย่อมต้องตาย ไม่ใช่แค่ว่าไม่มีสิ่งใดที่สามารถหยุดเรื่องนี้ได้ แต่เรายังไม่มีทางรู้อีกว่าเวลาของเราจะหมดลงเมื่อไร อย่างที่กล่าวไว้ว่า หากเราตระหนักถึงความตายอย่างแท้จริง เราย่อมไม่มีทางใช้ชีวิตอย่างสามัญได้
เมื่อเราเห็นแล้วว่าชีวิตเป็นสิ่งเปราะบางและอาจสิ้นสุดลงได้ทุกเมื่อ เราจะเริ่มคิดเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากความตาย เนื่องจากมีสภาวะที่เป็นไปได้มากมายเหลือเกินสำหรับการเกิดใหม่ของเรา หลายประเภทนั้นเลวร้ายมาก เราจึงตั้งมั่นทิศทางที่ปลอดภัยให้กับชีวิตเรา
ทิศทางที่ปลอดภัยนี้กระตุ้นให้เราละเว้นจากการกระทำเชิงโทษ ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ในอนาคต และเริ่มปฏิบัติการกระทำเชิงประโยชน์ ซึ่งก่อให้เกิดความสุขในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราย่อมสร้างความมั่นใจในการเกิดในสภาวะที่ดียิ่งขึ้นไปในชาติหน้า