แรงจูงใจระดับกลางและระดับสูง

ทบทวน

เราได้พูดถึงลำดับขั้นต่าง ๆ ในหนทางแห่งจิตวิญญาณ ซึ่งกล่าวง่าย ๆ คือ เรากำลังพยายามขยายและเปิดแรงจูงใจของเราให้กว้าง โดยเริ่มต้นจากขอบเขตขนาดเล็กจนกระทั่งแผ่ขยายเต็มขอบเขตอย่างสมบูรณ์  ในลักษณะนี้ แต่ละลำดับจึงเป็นการต่อยอดลำดับก่อนหน้านั้นขึ้นไป

นอกจากนี้เรายังได้เห็นว่ามีวิธีสองประการในการดำเนินพัฒนาการนี้  เราสามารถปฏิบัติตามแบบพระธรรมขนาดย่อม ซึ่งเรามุ่งเน้นการปรับปรุงชีวิตในชาตินี้และทำให้ชีวิตเราดีขึ้นกว่าเดิมสักหน่อย  สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ นี่เป็นจุดที่เราควรเริ่มต้น  อย่างไรก็ตาม การนำเสนอตามแบบดั้งเดิมไม่ถือว่าอย่างนี้เป็นระดับด้วยซ้ำ เพราะถือความเชื่อในเรื่องการเกิดใหม่โดยปราศจากจุดเริ่มต้นและจุดจบ  พระธรรมของจริง ซึ่งเปรียบเหมือนโค้ก กล่าวถึงพัฒนาการนี้ภายในบริบทของการเกิดใหม่

เราเห็นแล้วว่าแรงจูงใจในระดับต้น เฉกเช่นเดียวกับแรงจูงใจทุกระดับนั้น มีเป้าหมาย มีเหตุผลสำหรับการบรรลุเป้าหมายนั้น และมีอารมณ์ที่ผลักดันให้เราไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว  ในระดับต้น เรามุ่งพัฒนาชีวิตในอนาคตของเรา โดยสร้างความมั่นใจว่าเราจะสามารถมีการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันเลอค่านี้ต่อไป เพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาตนเองต่อไปเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ขึ้นได้  เราตระหนักว่าการบรรลุเป้าหมายสูงสุดในชาติเดียวนั้นเป็นเรื่องยาก  ต้องอาศัยเวลาและความมุมานะเป็นอย่างมาก  เหตุผลในการพยายามไปสู่การเกิดใหม่ในสภาวะที่ดีกว่าต่อไปนั้นคือ เพื่อให้เราสามารถดำเนินต่อไปบนหนทางนี้ได้

นี่คือสิ่งที่เราวางแผนจะทำเมื่อเราบรรลุเป้าหมายของการได้เกิดใหม่เป็นมนุษย์อันเลอค่า  เราไม่ได้พูดถึงการไปสวรรค์ในชาติต่อไปเพื่อให้อยู่ดีมีสุข  ภายในขอบเขตนี้ อารมณ์ที่ผลักดันให้เราแสวงหาการเกิดใหม่ที่ดีขึ้นคือ ความครั่นคร้านการเกิดใหม่ที่แย่ลง  ภายในสภาวะที่แย่ลงนี้ เราไม่อาจมีโอกาสในการฝึกฝนตัวเองและพัฒนาขึ้น  แต่เรามีความมั่นใจว่าเรามีวิธีหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้  เราได้กล่าวถึงวิธีนี้ในลักษณะของทิศทางที่ปลอดภัย หรือที่พึ่งพิง  หากกล่าวโดยสรุปแล้ว ทิศทางนี้ คือ ความพยายามและการยุติข้อจำกัดและด้านเชิงลบทั้งหมดที่มาพร้อมกับกิจกรรมทางจิตของเราตลอดไป โดยเฉพาะในลักษณะของพฤติกรรม  ยิ่งไปกว่านี้แล้ว เราต้องการกระทำในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์  เราทำเช่นนี้ภายใต้บริบทของการเห็นคุณค่าชีวิตมนุษย์อันเลอค่าที่เรามีนี้ และด้วยความเข้าใจว่าเราย่อมต้องสูญเสียมันไปในยามตาย  ความตายย่อมมาเยือนเป็นแน่และเราไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

แม้แต่สภาวะการเกิดที่ดีที่สุดก็ไม่อาจเป็นที่น่าพึงพอใจ

ในขอบเขตระดับกลาง เราวิเคราะห์ลึกซึ้งลงไปกว่านั้น  แม้หากเรามีสิ่งที่เรียกว่าการเกิดใหม่ที่ดีขึ้นก็ดี หรือการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันเลอค่าก็ดี การดำเนินไปเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ  ชีวิตดำเนินต่อไปและธรรมชาติของมันคือ มันมีขาขึ้นขาลงโดยปราศจากความแน่นอนว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในช่วงเวลาถัดไป  เราอาจจะมีความสุขดีตอนนี้ แต่อีกหนึ่งนาทีให้หลัง เราอาจรู้สึกพึงพอใจน้อยลงอย่างกะทันหัน หรือเศร้า หรือแม้แต่หดหู่  สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้เราเสียอารมณ์ และแน่นอนว่าเรามีปัญหาไม่รู้จบในแต่ละชาติ ที่เราต้องผ่านการกำเนิดและกลายเป็นเด็กทารก ไร้ซึ่งการควบคุมการทำงานใด ๆ ของร่างกาย  เราต้องเรียนรู้การเดินและการพูด และการทำเช่นนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่น่าเบื่อเสียจริง  เรายังต้องไปโรงเรียน และใครเล่าอยากจะกลับไปทำอย่างนั้นอีก  เรายังต้องหาคู่และหางาน และต้องเผชิญกับการเจ็บไข้ได้ป่วย วัยชรา และความตายอีกครั้ง ไม่ใช่แค่กับตัวเรา แต่กับตัวคนที่เรารักเช่นกัน

แม้แต่ในชีวิตมนุษย์อันเลอค่านี้ก็ยังมีสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจมากมาย และปัญหาเชิงอารมณ์ก็จะรอคอยเราอยู่เสมอ  เราโกรธและอารมณ์เสีย และเราก็โลภมาก  เรามีการยึดติดอย่างเหนียวแน่นกับผู้คนและวัตถุต่าง ๆ  เราไร้เดียงสาเรื่องเหตุและผลและความเป็นจริง  ดังนั้นแล้วเราจึงกระทำตัวในลักษณะโง่เขลาต่าง ๆ นานา เช่น คิดว่าการกระทำและวาจาของเราไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อผู้อื่น  เรามักปฏิบัติตัวราวกับว่าผู้อื่นไม่ได้มีตัวตนและมีความรู้สึกอยู่จริง  ตรงนี้เป็นสิ่งที่ไร้เดียงสาอย่างสิ้นเชิง จริงหรือไม่

ปัญหาทั้งหมดนี้ล้วนดำเนินต่อไป และเราจะยังมีขาขึ้นขาลงในการเกิดใหม่ใด ๆ ที่ดี  อย่างไรเสียจะต้องมีช่วงหนึ่งที่เราร่วงหล่นจากโชคดีไปสู่โชคร้าย จากการเกิดและสถานการณ์ที่ดีขึ้นไปสู่ที่แย่ลง  มันดำเนินไปเช่นนี้อยู่เรื่อยไป  นี่คือความหมายของ “การดำรงอยู่ หรือการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบที่ไม่อาจควบคุมได้” ซึ่งในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า “สังสารวัฏ”

การสละทิ้ง: มุ่งเป้าไปยังการหลุดพ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระ

ในขอบเขตระดับกลาง เป้าหมายที่เราต้องการบรรลุ คือ การหลุดพ้นจากทั้งหมดทั้งมวลนี้  ความต่อเนื่องทางจิตของเราปราศจากจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด และเราไม่ต้องการดำเนินไปตามวัฏจักรที่ดูไม่รู้จบสิ้นของการเวียนว่ายตายเกิดนี้  เมื่อเราพูดว่า “ที่ดูไม่รู้จบสิ้น” หมายถึงว่ามันดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ หากเราไม่ทำสิ่งใดเลยเพื่อจัดการ  เราต้องนำพาจุดจบมาสู่ตรงนี้ และประสบกับการยุติของสังสารวัฏอย่างแท้จริง  เพราะเหตุใดหรือ  เพราะว่าเราต้องการหยุดทุกข์  แม้หากว่าปัญหาที่ประดังเข้ามาจะไม่ได้เลวร้ายมากนัก เราก็ยังอยากหยุดปัญหาที่แฝงตัวอยู่เช่นกัน  นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องการบรรลุการหลุดพ้น

ในภาษาสันสกฤต การหลุดพ้นเรียกว่า “นิพพาน” และแรงจูงใจที่ผลักดันเราไปสู่จุดนี้มักเรียกกันว่า “การสละทิ้ง”  นี่ไม่ใช่คำแปลที่ดีที่สุด แต่โดยรวมแล้วหมายถึงความมุ่งมั่นแรงกล้าอย่างมากในการเป็นอิสระ  เมื่อมีการสละทิ้งแล้ว เราตัดสินใจว่าเราประสบทุกข์เช่นนี้มาเพียงพอแล้ว  เราเหนื่อยหน่ายกับมันแล้ว และในระดับที่ลึกลงไปนั้น เรารู้สึกเอือมระอาอย่างเหลือคณากับทั้งหมดนี้แล้ว  มันต้องพอได้แล้ว  เราต้องการเป็นอิสระ

เต็มใจที่จะทิ้งอารมณ์รบกวนของเรา

เราเห็นว่าในการเป็นอิสระนั้น เราต้องกำจัดสาเหตุของปัญหาและความทุกข์ทั้งหมดของเราก่อน  เราไม่ยินยอมที่จะทิ้งเพียงแค่ความทุกข์ แต่รวมถึงเหตุของมันด้วย  เราไม่ได้พูดถึงการทิ้งไอศกรีม หรือช็อกโกแลต หรืออะไรทำนองนั้น  นั่นเป็นความเข้าใจเรื่องการสละทิ้งเพียงฝุ่นผงเท่านั้น  สิ่งที่เรามุ่งมั่นกระทำ คือ การปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความโกรธ ความโลภ และการยึดติดทุกสิ่งอย่าง  ในกรณีของช็อกโกแลต เราจำเป็นต้องทิ้งการยึดติดของเรากับช็อกโกแลตนี้ ซึ่งอิงอยู่กับการสร้างคุณสมบัติที่ดีของมันให้เป็นเรื่องเกินจริง  ยกตัวอย่างเช่น เราคิดว่า “นี่เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมและอร่อยที่สุดในโลกเลย และมันจะทำให้ฉันมีความสุข มีความสุขสุด ๆ ไปเลย!”  หากช็อกโกแลตสามารถทำเช่นนี้ได้จริง ยิ่งเรากินมากเท่าไหร่ เราก็ต้องมีความสุขมากขึ้นเท่านั้นสิ  แต่ยิ่งเราจะกินช็อกโกแลตเข้าไปมากแค่ไหน ไม่นานเราย่อมรู้สึกเอียนและไม่อยากแม้แต่จะปรายตามองช็อกโกแลตอีกเลย

การมีความปรารถนาที่จะละทิ้งซึ่งความยึดติด ความโกรธ และอื่น ๆ อย่างจริงจังนั้นเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและยากลำบากเหลือเกิน  เราไม่ควรทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว  เหมือนกับมุกตลกที่ว่า มีคนเอาศีรษะโหม่งกำแพง และเขากลัวที่จะหยุด เพราะไม่รู้ว่าถ้าหยุดเอาศีรษะโหม่งกำแพงแล้วจะแย่กว่าหรือเปล่า  นี่เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง เราจึงพุ่งเข้าโหม่งกำแพงต่อไป  แน่นอนว่านี่เป็นตัวอย่างแบบสุดขั้ว  ตัวอย่างที่ดูทั่วไปกว่านั้นอาจจะเป็นการอยู่ในความสัมพันธ์แย่ ๆ กับใครสักคน แต่เราก็ลังเลที่จะเลิกความสัมพันธ์นี้ เพราะเรากลัวที่จะต้องอยู่คนเดียว  ผลที่ตามมาคือ เราคงความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลเช่นนี้ไว้ต่อไป และรู้สึกขมขื่น

ตัวอย่างนี้พบเห็นได้ทั่วไป จริงไหม  เราไม่อยากพูดบางอย่างกับบางคน ด้วยกลัวว่าพวกเขาจะทอดทิ้งเรา  เราไม่ได้พูดถึงประสบการณ์ประหลาดใด ๆ เลย ล้วนเป็นสิ่งที่พวกเราประสบอยู่เสมอ

การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้เป็นไปได้หรือไม่ และฉันสามารถบรรลุสภาวะนี้ได้จริงหรือ

ในการบรรลุเป้าหมายของการหลุดพ้นและเข้าถึงการตรัสรู้ในที่สุดนั้น เราต้องทราบก่อนว่า นี่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และทราบถึงวิธีการในการบรรลุสิ่งนี้  นี่เป็นหัวข้อที่ซับซ้อน เพราะเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายถึงเป้าหมายที่ไขว่คว้าได้จริงที่พวกเราล้วนบรรลุได้  หลายคนข้ามหัวข้อเหล่านี้ไปเลย  ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ เพราะหากเราไม่เชื่อมั่นจริงว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ เราจะมุมานะพยายามฝึกฝนไปให้ถึงจุดนั้นเพื่ออะไรกัน  อย่างนั้นเราก็แค่กำลังเล่นเกมและสุดท้ายเราจะไปถึงจุดที่เราบอกว่า เรื่องนี้ไร้สาระจริง ๆ และล้มเลิกไป

เราพึงพิจารณาโดยละเอียดถึงหัวข้อเรื่องธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ (ปัจจัยทั้งหลายที่ทำให้เกิดการหลุดพ้นและการตรัสรู้) ความบริสุทธิ์โดยธรรมชาติของจิต และอื่น ๆ  อารมณ์รบกวนและความสับสนทั้งหลายเป็นมูลฐานส่วนหนึ่งของจิตเราหรือไม่  ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว มันก็หมายความว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมดำรงอยู่ทุกชั่วขณะ  หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งชั่วคราวและสามารถกำจัดออกได้ เพื่อไม่ให้มันกลับมาอีกอย่างนั้นหรือ

การตั้งคำถามและโต้วาทีอภิปรายเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด  นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราควรยอมรับอย่างหน้ามืดตามัวไปตามศรัทธาอย่างแน่นอน  ที่จริงแล้ว ยิ่งเราตั้งคำถามมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี เพราะเราจำเป็นต้องมีความชัดเจนกับเรื่องข้อสงสัยต่าง ๆ และมีความมั่นใจแรงกล้าในสิ่งที่เรากระทำ  เราต้องรอจนกระทั่งเรามีความเชื่อมั่น 100% ก่อนหรือเปล่า  เอาล่ะ นี่ไม่ใช่คำถามที่ง่ายเลย  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเชื่อมั่นแล้วอย่างสมบูรณ์  ตรงนี้ต้องใช้เวลานานมาก

หากเราคิดว่านี่เป็นเรื่องไร้สาระทั้งเพ เช่นนั้นก็ชัดเจนว่าเราไม่อาจฝึกปฏิบัติได้  แต่เมื่อเราดำเนินไปในทิศทางของการพิจารณาว่าบางทีมันอาจเป็นไปได้ เช่นนั้นเราก็สามารถเริ่มต้นได้  อย่างไรก็ตาม การคิดว่านี่เป็นเรื่องจริงควรตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผลบางประการและไม่ใช่ความศรัทธาอย่างหน้ามืดตามัว หรือเพราะว่า “อาจารย์ของฉันบอกไว้เช่นนั้น”  พระพุทธเจ้าเองตรัสไว้ว่า “อย่าเชื่อสิ่งใดที่เราตรัส เพียงเพราะมีศรัทธาต่อตัวเรา แต่จงทดสอบราวกับว่าท่านกำลังซื้อทองคำ”  เราต้องพิจารณาให้เห็นว่านี่เป็นเรื่องจริงแน่หรือเปล่า

หันมาเชื่อมั่นในเรื่องการเกิดใหม่: กรณีของท่านเซอร์กง รินโปเชในสองชาติ

การหันมาเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ว่าเป็นข้อเท็จจริงนั้นอาจเป็นกระบวนการที่ยาวนานมาก  ผมสามารถแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวได้ เพราะผมปฏิบัติเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี  ผมศึกษาพระพุทธศาสนามานานกว่า 45 ปี และ ณ จุดหนึ่ง ผมก็เข้าถึงความเข้าใจเชิงปัญญาที่อิงกับเหตุผล ซึ่งอธิบายว่าทำไมการเกิดใหม่จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผล  แต่สิ่งที่ผลักให้ผมก้าวข้ามไปอีกขั้นและทำให้ผมเชื่อมั่นในระดับสัญชาตญาณอารมณ์ คือ ความสัมพันธ์ของผมกับอาจารย์ในช่วงชีวิตสองชาติ  ชื่อของท่านคือ เซอร์กง รินโปเช และท่านเป็นหนึ่งในพระอาจารย์ของสมเด็จองค์ดาไลลามะ  ผมโชคดีเป็นอย่างมากที่ได้เป็นลูกศิษย์คนสนิทของท่าน  ผมอยู่กับท่านเป็นเวลาเก้าปีและเดินทางไปกับท่านในทุก ๆ การเดินทางไปต่างประเทศของท่าน ได้ทำงานใกล้ชิดกับท่านเป็นอย่างมาก  ท่านมรณภาพในปี 1983 และกลับมาเกิดใหม่และพบเจออีกครั้งในระบบทิเบตแห่งทัลกู 

ตอนนี้ท่านอายุ 25 ปี และผมยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับท่านมาก เหมือนกับในชาติที่แล้ว  แน่นอนว่าตอนนี้มีความแตกต่างที่กลับกลับในเรื่องอายุ!

ผมพบกับท่านเซอร์กง รินโปเชคนใหม่ตอนที่ท่านอายุเพียงแค่สี่ปี และตอนที่ผมเดินเข้าไปในห้อง ผู้ที่ดูแลท่านก็ถามท่านว่า “รู้ไหมว่าคนนี้คือใคร”  “อย่าโง่น่า แน่นอนว่าเรารู้ว่าคนนี้คือใคร” เป็นคำตอบของท่าน  ตั้งแต่เริ่มแรก ในฐานะของเด็กอายุสี่ขวบ ท่านให้ความใกล้ชิดและความรักใคร่ต่อผมเป็นอย่างมาก มากกว่ากับผู้อื่นอย่างเห็นได้ชัด  ซึ่งยังคงเป็นเช่นนั้นในขณะที่ท่านเติบโตเป็นผู้ใหญ่

หลาย ๆ ครั้ง พวกเราได้ดูวีดิโอของตัวท่านในชาติที่แล้ว และท่านมักพูดกับผมว่า ซึ่งท่านไม่ได้พูดเรื่องไร้สาระกับผมนะครับ ว่า “อ๋อ เราจำได้ว่าพูดอย่างนั้น”  นอกเหนือจากหลักเหตุผลและตรรกะทั้งหมดนี้ ประสบการณ์นี้แหละคือสิ่งที่ช่วยให้ผมก้าวข้ามความรู้สึกแบบ “อืม บางที อาจจะ…”  ทำให้ผมได้ความชัดเจน

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย  การบรรลุการหลุดพ้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงหรือ  ธรรมชาติของจิตบริสุทธิ์จริงหรือ  ถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจในเชิงเหตุผลแล้ว เราต้องลงไปลึกซึ้งอีกมากเพื่อให้เข้าใจในเชิงอารมณ์  แต่เราสามารถฝึกฝนเพื่อไปสู่จุดนั้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ความสับสนเรื่องความเป็นจริงเป็นเหตุของการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้

สำหรับแรงจูงใจระดับกลางในลัม-ริม เรามีคำอธิบายที่ละเอียดมากเกี่ยวกับกลไกของการเกิดใหม่อันเกี่ยวข้องกับหลักคำสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทสิบสอง (ปัจจัย 12 อย่างที่เกิดขึ้นตามกันมาและทำให้เกิดทุกข์) นี่เป็นเพียงชื่อของกลไกที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องกรรม ผลแห่งกรรม และอื่น ๆ ทั้งหมด  เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงอารมณ์รบกวนประเภทต่าง ๆ อย่างความโกรธและความโลภ ว่ามันอุบัติขึ้นได้อย่างไร และมีสิ่งใดเป็นมูลฐาน  หากกล่าวในลักษณะที่ง่ายมาก ๆ คือ ผมเรียกปัจจัยมูลฐานนี้ว่า “ความสับสน” ซึ่งเราสับสนเกี่ยวกับเหตุของพฤติกรรมของเราต่อผู้อื่นและต่อตัวเราเอง  ลึกลงไปกว่านั้นคือ เราสับสันเกี่ยวกับลักษณะการดำรงอยู่ของเรา การดำรงของผู้อื่น และการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งทั้งปวง

กล่าวโดยรวม เรามักคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ว่าดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระ อยู่ได้ด้วยพลังของตนเองอย่างสมบูรณ์ และแยกออกจากทุกสิ่งอย่าง ราวกับว่ามันถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยพลาสติก  แม้ว่าเราอาจคิดว่าทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน เราก็ยังคิดถึงสิ่งต่าง ๆ ว่าถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติก แต่เชื่อมโยงกันด้วยเชือก  มีความละเอียดซับซ้อนหลายระดับที่เราจำเป็นต้องเข้าใจในเรื่องการดำรงอยู่อย่างเป็นไปไม่ได้  เราจำเป็นต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าสิ่งใดเป็นไปไม่ได้ และความสับสนของเรานั้นแสดงภาพอย่างไรให้กับทุกคนและทุกสรรพสิ่ง

สุญญตา (ความว่างเปล่า): ความไร้อย่างสมบูรณ์ของการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้

สิ่งเราที่ต้องเข้าใจเรียกว่า “สุญญตา” หรือ “ความว่างเปล่า”  สุญญตา หมายถึง ความไร้อย่างสมบูรณ์ของตัวตน กล่าวคือ ไม่มีสิ่งนั้นดำรงอยู่เลย  สิ่งที่ไม่ดำรงอยู่คือแหล่งอ้างอิงของจริงสำหรับการแสดงภาพที่เป็นไปไม่ได้เหล่านี้  มันไม่สอดคล้องกับสิ่งใดจริงเลย

เราสามารถใช้ตัวอย่างของซานตาคลอส  สมมุติว่าเราเห็นคนผู้หนึ่งมีเครายาวสีขาว สวมชุดสีแดงทั้งตัว และเขาดูเหมือน “ซานตาคลอส” ที่เราเรียกกัน  เราคิดว่าเขาคือซานตาคลอส แต่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  ก็เพราะว่าเขาดูเหมือนซานตาคลอส  อย่างไรก็ตาม รูปลักษณ์ของซานตาคลอสไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งใดที่เป็นจริงเลย เพราะว่าไม่มีซานตาคลอสอยู่จริง  เช่นนี้คือสิ่งที่สุญญตากล่าวถึง การไร้ซึ่งตัวตนของซานตาคลอสตัวจริงที่สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของคนผู้นี้  ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราปฏิเสธว่ามีคนผู้นั้นอยู่จริง และเขาดูเหมือนซานตาคลอสแต่อย่างใด  เราเพียงแต่แจกแจงว่าลักษณะที่ชายผู้นั้นปรากฏต่อเราเป็นเรื่องหลอกลวง  ดูเหมือนซานตาคลอส แต่ก็ไม่ใช่ซานตาคลอสจริง ๆ เพราะไม่มีซานตาคลอสอยู่จริง

จิตของเราทำงานในลักษณะนี้อยู่เสมอ  เราแสดงภาพไร้สาระต่าง ๆ นานา เป็นต้นว่า คนผู้นี้เป็นคนที่สวยที่สุด หรือคนผู้นั้นเป็นคนที่เลวร้ายที่สุด หรือว่าเราเป็นของขวัญจากพระเจ้าให้ลงมายังโลกนี้ หรือในทางกลับกันคือ เรานั้นไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง  เราแสดงภาพเหล่านี้ราวกับว่าตัวเรา หรือตัวพวกเขาดำรงอยู่ในลักษณะนั้น เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์จากสิ่งอื่น ราวกับว่ามันเป็นความจริงและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครดำรงอยู่ในลักษณะนั้น  จริง ๆ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกสรรพสิ่งล้วนดำรงอยู่โดยเกี่ยวร้อยพันกับสิ่งอื่น  สมเด็จองค์ดาไลลามะตรัสมักทรงใช้ตัวอย่างของนิ้ว  นิ้วนางของเรานั้นใหญ่ หรือเล็ก  เอาล่ะ มันมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับนิ้วก้อย แต่ก็เล็กเมื่อเทียบกับนิ้วกลาง  ดังนั้นในตัวของมันเองแล้ว ด้วยพลังของมันเองแล้ว มันเล็กหรือใหญ่กันเล่า  ไม่มีคำตอบ เพราะมันมีขนาดใหญ่หรือเล็กโดยขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นเท่านั้น  มันพึ่งพาสิ่งอื่นอย่างสมบูรณ์และยังพึ่งพาแนวคิดของเราในเรื่องขนาดเล็กและขนาดใหญ่อีกด้วย  ผมคิดว่าคุณเข้าใจตรงนี้แล้ว

ในระดับกลาง เราปฏิบัติเพื่อกำจัดความเข้าใจผิดขั้นพื้นฐานนี้ โดยการทำความเข้าใจเรื่องสุญญตา  ความสับสนเช่นนี้แหละที่ก่อให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดอันไม่อาจควบคุมได้ เพราะมันกระตุ้นการทำงานของกรรมและผลแห่งกรรม ตามที่อธิบายไว้ในกลไกอันซับซ้อนของปฏิจจสมุทบาทสิบสอง

ความจำเป็นของสมาธิและจริยธรรมวินัยส่วนตน

ในการบรรลุความเข้าใจเรื่องสุญญตา เราจำเป็นต้องมีสมาธิ  ในการพัฒนาสมาธินี้ เราจำเป็นต้องมีจริยธรรมวินัย  ตัวอย่างที่ระบุไว้คือการตัดต้นไม้  ความเข้าใจเปรียบเหมือนขวานคมกริบ แต่หากจะตัดต้นไม้ให้ได้นั้น เราต้องจามให้ถูกจุด  การจามที่จุดเดิมเรื่อย ๆ นั้นเปรียบเหมือนสมาธิ  การหยิบขวานขึ้นมา เหวี่ยงมัน และจามไปตรงจุดเดิม เราต้องอาศัยกำลัง  กำลังนี้มาจากจริยธรรมวินัยของเรา ซึ่งเราละเว้นจากการกระทำเชิงโทษ

ขอบเขตระดับกลางยังนำเสนอการถือศีลกลุ่มต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งครอบคลุมศีลขั้นสมบูรณ์ หรือขั้นเริ่มต้นสำหรับพระภิกษุ หรือภิกษุณี หรือศีลสำหรับคฤหัสถ์ชายหญิงด้วย  คฤหัสถ์หมายถึง ผู้ที่ไม่ได้ถือสมณะพรหมจรรย์ในอาราม แต่ไม่ได้หมายความคุณจะต้องมีครอบครัวเสมอไป เพราะหมายรวมถึงผู้ที่เป็นโสดด้วยเช่นกัน  ในอินเดียสมัยโบราณ นี่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างหายาก เพราะคฤหัสถ์มักมีครอบครัวด้วยกันทั้งนั้น  ศีลสำหรับเพศบรรพชิตและคฤหัสถ์นั้นเรียกรวมกันว่า “ศีลสำหรับการหลุดพ้นรายบุคคล” เพราะมุ่งเน้นไปยังการหลุดพ้นส่วนตน  ศีลเหล่านี้ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงพฤติกรรมประเภทต่าง ๆ ที่มักมีแรงจูงใจจากอารมณ์รบกวน ซึ่งจะขัดขวางการฝึกเจริญสมาธิและสิ่งเชิงบวกต่าง ๆ ในลักษณะเดียวกันนี้

จริง ๆ แล้วการถือศีลเป็นเรื่องสำคัญมาก  เพราะเหตุใดหรือ  เพราะเมื่อเราถือศีลว่าจะไม่ทำสิ่งนั้นแล้ว มันย่อมปลดปล่อยเราจากความไม่แน่ใจ  ยกตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการว่าเรากำลังพยายามเลิกเหล้า หรือบุหรี่  ทุกครั้งที่เราอยู่กับผู้คนที่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ เรามีความไม่แน่ใจว่าเราควรทำไหม หรือปฏิเสธไป  แม้ว่าเราจะพยายามที่จะเลิกจริง ๆ ทุกครั้งที่เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้น เราก็จะต้องตัดสินใจ ซึ่งการตัดสินใจนี้เป็นเรื่องท้าท้าย หรือไม่ก็น่าเครียด

หากเราปฏิญาณถือศีลแล้ว ก็ไร้ข้อกังขาใด ๆ  เราได้ทำการตัดสินแล้วว่า “ฉันจะไม่ดื่ม  ฉันจะไม่สูบบุหรี่” หรืออะไรก็ตาม  ทีนี้ก็ไม่สำคัญแล้วหากทุกคนรอบตัวเราจะดื่มเหล้า เพราะเราได้ตัดสินใจแล้ว  แทนที่จะเป็นการจำกัด หรือการลงโทษ การถือศีลให้กำลังเราได้มากอยู่และปลดปล่อยเราออกจากความลังเลใจ โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นโทษต่อการบรรลุการหลุดพ้นสุดท้ายของเรา

พระพุทธศาสนาไม่มีข้อบังคับใด ๆ ให้ถือศีลเลย  เราต้องทำความเข้าใจตรงนี้  ไม่มีใครพูดได้ว่า คุณต้องถือศีลข้อนั้นข้อนี้ และก็ไม่มีใครพูดว่าคุณต้องบวชเป็นพระหรือชี และใช้ชีวิตอยู่ในอาราม  อย่างไรก็ตาม หากคุณจริงจังอย่างแท้จริงกับการบรรลุการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ และการกำจัดความโกรธ ความยึดติด ความโลภ และอื่น ๆ ออกจากตนเองอย่างถาวรล่ะก็ การถือศีลบางข้อจะทำให้ตรงนี้ง่ายขึ้นอย่างแน่นอน  บางทีเราอาจจะยังไม่พร้อมสำหรับตรงนั้น ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด  เราจำเป็นต้องประเมินตนเองและสถานการณ์ของเราอย่างสัตย์จริง

นี่คือขอบเขตของระดับกลาง  ถึงแม้ว่าสมาธิและสุญญตาจะเป็นส่วนหนึ่งของขอบเขตนี้ ทั้งสองหัวข้อยังไม่ได้รับการอภิปรายในรายละเอียด  หัวข้อเหล่านี้ได้รับการพิจารณาอย่างเต็มที่ในหลักคำสอนระดับสูง

แรงจูงใจระดับสูง: คิดถึงสรรพชีวิตทั้งปวง

สำหรับขอบเขตระดับสูง เราคิดในลักษณะที่เราไม่ได้อยู่เพียงผู้เดียวในจักรวาลนี้  ยังมีผู้อื่นด้วย และผู้อื่นก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเรา  ทุกคนต่างก็ทุกข์ทรมานและต้องผ่านการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้นี้เช่นเดียวกัน  เราต้องการความสุขที่มั่นคงและหลีกเลี่ยงความทุกข์ เฉกเช่นเดียวกันกับผู้อื่น  พวกเราล้วนมีความเท่าเทียมกันในลักษณะนี้  ไม่ใช่แค่ตัวฉันกับบางคนที่เราเลือกแล้ว แต่เป็นสรรพชีวิตทั้งปวง  พวกเราต่างเชื่อมโยงกันและพึ่งพาอาศัยกันทั้งนั้น  เราไม่ได้ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระสมบูรณ์  อันที่จริง เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ในลักษณะนั้น

มีวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อนเป็นอย่างมากในการขยายขอบเขตของหัวใจเราให้ครอบคลุมทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงเรื่องนี้ไปเล็กน้อย ตอนที่พูดถึงการตระหนักว่าสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ทั้งหมดเคยเป็นมารดาของเราในชาติก่อน ๆ และเคยให้ความน้ำใจต่อเรามาก่อน  แล้วก็มีแบบของพระธรรมขนาดย่อม ที่เรามองว่าผู้อื่นมีความสามารถในการเป็นมารดาดูแลเรา  อย่างไรก็ตาม ตรงนี้มีข้อจำกัดอยู่ เพราะมันยากที่จะนำไปใช้กับเพื่อนของเรา นั่นก็คือยุงนั่นเอง

ความรัก

ในการเริ่มต้นขยายขอบเขตหัวใจ เราเริ่มจากการพัฒนาสิ่งที่เราเรียกว่า “ความรัก”  จริง ๆ แล้วกระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยความสงบใจ ซึ่งเราไม่ได้ต้องตาต้องใจผู้ใด ไม่ได้ถูกขับไล่โดยผู้ใด และรู้สึกวางเฉยกับที่ผู้คนที่เหลือ  เราฝึกฝนเพื่อเปิดใจให้กว้างสำหรับทุกคน และจากพื้นฐานนี้ เราตระหนักถึงความเชื่อมโยงของเรากับผู้อื่น  เราสามารถพัฒนาตรงนี้ผ่านการใช้เหตุผลว่าทุกคนเคยเป็นมารดาของเราและเคยให้ความน้ำใจเราอย่างมากในชาติก่อน ๆ หรือเพียงตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราชอบและใช้งานอยู่นั้นมาจากแรงงานของผู้อื่น  ลองพินิจพื้นที่อยู่ใต้เท้าพวกคุณเถิด อาคารที่คุณอยู่นี้ น้ำที่คุณดื่ม เราเคยคิดบ้างหรือไม่ว่ามันมาจากไหน  น้ำและอาหารของเรามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไรกัน  มันมาจากแรงงานของผู้อื่น ความพยายามของผู้คนรอบตัวเรา  พวกเราต่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของพวกเรา เพราะการสร้างประโยชน์ให้กับตัวเรานั้น เราต้องสร้างประโยชน์ให้กับทุกคน

จากพื้นฐานนี้แล้ว เราสามารถพัฒนาความรักที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคนได้  ความรักในที่นี้ หมายถึงความปรารถนาให้ทุกสรรพชีวิตเป็นสุขและมีเหตุสำหรับความสุข  ไม่เกี่ยวข้องกับความรักเชิงชายหญิงเลย ซึ่งมักข้องเกี่ยวกับความยึดติดอยู่มาก  เมื่อเราพูดว่า “ฉันรักคุณ” มักหมายความว่า “ฉันต้องการคุณ  อย่าทิ้งฉันไปเลย  ฉันไม่อาจอยู่ได้หากไม่มีคุณ”  เมื่อเราไม่ได้รับความสนใจดังที่ปรารถนาจากอีกคน หรือหากเขาพูดจาน่ารังเกียจใส่เรา ไม่นานคำพูดนั้นก็อาจเปลี่ยนเป็น “ฉันไม่รักคุณอีกต่อไปแล้ว”

ในทางพระพุทธศาสนา ความรักประเภทที่เราพูดถึงนั้นไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับการกระทำของผู้อื่น หรือสิ่งที่เขากระทำต่อเราเลย  เป็นเพียงปรารถนาอยากให้คุณมีความสุข  เหมือนกับว่าผู้อื่นทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายฉัน  เราอยากให้นิ้วเท้าทั้งหมดของเราเป็นสุข ไม่ใช่แค่บางนิ้วเท่านั้น  ไม่สำคัญเลยว่านิ้วเท้าของเราจะทำอะไรกับเราบ้าง

ความเห็นอกเห็นใจ

เมื่อมีความรักแล้ว เราจึงพัฒนา “ความเห็นอกเห็นใจ”  นี่คือความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นเป็นอิสระจากความทุกข์และเหตุแห่งทุกข์  ไม่ใช่เพียงแค่ความทุกข์ในระดับผิวเผิน ซึ่งหมายถึงขาขึ้นขาลงในชีวิต แต่หมายถึงความทุกข์ในระดับที่ล้ำลึกกว่านั้น อย่างการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้  การมีความเห็นอกเห็นใจไม่ได้หมายความว่าเราดูถูกดูแคลนผู้อื่นและรู้สึกสงสารเขา เป็นต้นว่า “โธ่ เธอผู้น่าสงสาร”  ความเห็นอกเห็นใจทางพระพุทธศาสนาตั้งอยู่บนรากฐานของความเคารพและความเข้าใจว่า ผู้อื่นสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งปวงและเหตุของมันได้  มันไม่ได้เป็นเพียงความปรารถนาดี ๆ หรือวาจาหวาน ๆ  เมื่อมีความเห็นอกเห็นใจ เราเริ่มรับผิดชอบในการทำให้สภาวะของการเป็นอิสระจากความทุกข์เกิดขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยความกล้าหาญอย่างมาก

เมื่อเราพัฒนาสิ่งที่รู้จักกันในนาม “ความเห็นอกเห็นใจอันยิ่งใหญ่” ความเห็นอกเห็นใจของเราจึงมุ่งไปยังสรรพชีวิตทั้งปวงอย่างเท่าเทียมกันและมองทุกสรรพชีวิตนั้นด้วยความรักและห่วงใยแบบที่มารดามีต่อบุตรคนเดียว  ความรู้สึกของความเห็นอกเห็นใจอันยิ่งใหญ่นี้ยังประกอบไปด้วยความปรารถนาในการปกป้องสรรพชีวิตทั้งปวงจากการทนทุกข์ต่อไปอีกด้วย

การตัดสินใจแน่วแน่เป็นพิเศษ

ขั้นตอนต่อไปคือ การพัฒนาสภาวะทางจิตที่เรียกว่า “การตัดสินใจแน่วแน่เป็นพิเศษ”  นี่เป็นการตัดสินใจอย่างแรงกล้าว่า เราจะน้อมรับความรับผิดชอบไม่เพียงแต่ในการช่วยเหลือผู้อื่นในระดับผิวเผินหรือลึกลงกว่านั้น  เราตัดสินใจแน่วแน่ที่จะรับผิดชอบในการช่วยเหลือผู้อื่นให้ไปถึงสภาวะการตรัสรู้แห่งพระพุทธเจ้า  เราไม่ได้ตั้งใจจะทำเช่นนี้เท่านั้น  เราได้ตัดสินใจแล้วว่า เราจะทำเช่นนี้อย่างแน่นอน

โพธิจิต: เป้าหมายสู่การบรรลุการตรัสรู้เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นทั้งปวง

ขั้นสุดท้ายของกระบวนการนี้ คือ การพัฒนาสิ่งที่เราเรียกว่า “โพธิจิต” อันมีรากฐานมาจากความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และความตั้งใจแน่วแน่เป็นพิเศษ  เราตระหนักว่าหนทางเดียวที่เราจะสามารถช่วยเหลือทุกคนได้ดีที่สุดคือ หากเราบรรลุสภาวะแห่งพุทธะด้วยตนเอง  แต่เพื่อให้ปณิธานดังกล่าวสมจริง เราจำเป็นต้องเข้าก่อนว่าพุทธะหมายถึงอะไร ลักษณะที่พระพุทธเจ้าสามารถและไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้  อย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าไม่ใช่พระเจ้าผู้ทรงพลังเหนือทุกสิ่งอย่าง ผู้สามารถดีดนิ้วและทำให้ความทุกข์ของทุกคนอันตรธานหายไปได้  พระพุทธเจ้าสามารถชี้ทางและสร้างแรงบันดาลใจกับผู้อื่นได้อย่างแน่นอน แต่เราต้องปฏิบัติด้วยตนเอง  ไม่มีใครอื่นสามารถเข้าใจความเป็นจริงให้เราได้  เราต้องเข้าใจด้วยตัวของเราเอง

ดังนั้น โพธิจิตที่มีแรงผลักดันจากความรักและความเห็นอกเห็นใจ จึงมุ่งเน้นไปยังการตรัสรู้ในอนาคตของเราเอง  เป็นการตรัสรู้ของเรา ไม่ใช่ของพระศากยมุนีพุทธเจ้า หรือการตรัสรู้ในเชิงกว้าง  การตรัสรู้ของเรายังไม่เกิดขึ้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ และจะเกิดขึ้นบนรากฐานของปัจจัยของธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะในความต่อเนื่องทางจิตของเรา  ปัจจัยเหล่านี้รวมถึงธรรมชาติขั้นพื้นฐานที่ปราศจากการแปดเปื้อน และศักยภาพกับความเป็นไปได้ทั้งหมด  เรามุ่งเน้นไปยังการตรัสรู้ที่ยังไม่เกิดขึ้นนี้ โดยมีเจตนาบรรลุเพื่อที่เราจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้มากที่สุด  ตลอดเส้นทางไปสู่การตรัสรู้นี้ เรายังตั้งใจสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นอย่างสุดกำลังอีกด้วย

นี่คือโพธิจิต  ซึ่งเป็นสภาวะทางจิตที่กว้างใหญ่ไพศาลเหลือคณา และเราไม่ควรเข้าใจผิดว่าสิ่งนี้เป็นเพียงการเจริญสมาธิโดยระลึกถึงความรักและความเห็นอกเห็นใจ  มันไม่ใช่แค่นั้น  ความรักและความเห็นอกเห็นใจเป็นรากฐาน แต่โพธิจิตนั้นยิ่งใหญ่กว่านั้นมากเหลือเกิน

เจตคติอันกว้างใหญ่ไพศาลทั้งหก (ความสมบูรณ์แบบทั้งหก)

ตามที่เราได้เห็นแล้ว เป้าหมายภายในขอบเขตขั้นสูง คือ การบรรลุสภาวะแห่งพุทธะ เพื่อที่เราจะได้สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเต็มกำลัง  เราได้รับแรงผลักดันจากความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และความตั้งใจแน่วแน่เป็นพิเศษ  แต่เราจะสามารถบรรลุการตรัสรู้ได้อย่างไร  ตรงนี้นำเรามาสู่การนำเสนอสิ่งที่รู้จักกันในนาม “ความสมบูรณ์แบบทั้งหก” หรือ “บารมีหก” ในภาษาสันสกฤต หรือตามที่ผมมักแปลว่า “เจตคติอันกว้างใหญ่ไพศาลทั้งหก”  ผมสันทัดคำนี้มากกว่า เพราะมันกว้างไกลมาก พาเราไปจนถึงสภาวะการตรัสรู้แห่งพุทธะ  สำหรับบางคน การใช้คำว่า “ความสมบูรณ์แบบ” ทำให้ฟังดูเหมือนว่าเขาต้องสมบูรณ์แบบ แต่เขาก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงทำให้รู้สึกด้อยลงไป  นั่นไม่ใช่ความรู้สึกที่คำนี้ควรสร้างขึ้นเลย

ความโอบอ้อมอารี (ทาน)

เจตคติแรกที่เราต้องพัฒนาขึ้น คือ ความโอบอ้อมอารี ซึ่งเราให้ผู้อื่น ไม่ใช่แค่สิ่งของ แต่รวมถึงคำแนะนำ คำสอน และอิสรภาพจากความกลัว  ถึงแม้ว่าเราอาจไม่มีสิ่งของใดจะให้ เราเสริมสร้างเจตคติของความตั้งใจที่จะให้สิ่งที่จำเป็น  ของขวัญอีกอย่างที่เราสามารถให้ได้คือการปฏิบัติต่อผู้อื่นของเรา  เพราะว่าเราได้พัฒนาความสงบใจแล้ว จึงหมายความว่าผู้อื่นย่อมไม่มีอะไรต้องกลัวเรา  เราจะไม่โกรธผู้อื่น ไม่เกาะติดผู้อื่น หรืออยากได้อะไรจากผู้อื่น  เราจะไม่ละเลยผู้อื่น หรือปฏิเสธเขาในยามที่เขาทำสิ่งที่เราไม่ชอบ  นอกจากนี้ เรายังจะช่วยพวกเขาอย่างแท้จริงและจริงใจด้วย  จริง ๆ แล้วนี่เป็นของขวัญอันน่าเหลือเชื่อที่เราสามารถมอบให้ผู้อื่นได้ เป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่ที่เราพัฒนาขึ้นด้วยความโอบอ้อมอารี

จริยธรรมวินัยส่วนตน (ศีล)

เจตคติอันกว้างใหญ่ไพศาลประการต่อไปที่เราพัฒนา คือ จริยธรรมวินัยส่วนตน ซึ่งเราฝึกฝนไม่ให้กระทำการเชิงโทษ แต่ยังเป็นเชิงบวกให้มากที่สุดด้วย  เรามีวินัยในการศึกษาและเจริญสมาธิและช่วยเหลือผู้อื่นจริง  เราไม่เหนื่อยหน่ายเกินไปที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และไม่ละเลยผู้อื่นเพียงเพราะเราไม่รู้สึกอยากช่วยเหลือ

ความอดทน (ขันติ)

ความอดทนเป็นความสามารถในการทนทานความทุกข์และความยากลำบากทั้งหลาย โดยไม่โกรธ หรืออารมณ์เสีย  การฝึกฝนตนเองและพยายามช่วยเหลือผู้อื่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และหลาย ๆ คนก็ช่วยเหลือได้ไม่ง่ายเลย  พวกเขาสร้างความลำบากให้กับเราและเราต้องอาศัยความอดทน เพื่อไม่ให้ตนเองโกรธ  มีวิธีการหลายอย่างสำหรับการพัฒนาความอดทน เฉกเช่นเดียวกับการพัฒนาเจตคติอันกว้างใหญ่ไพศาลประการอื่น

ความเพียร (วิริยะ)

เจตคติต่อไป คือ ความเพียร ซึ่งเราไม่ยอมแพ้ ไม่ว่าจะยากเพียงใด  ในลักษณะนี้ เจตคติอันกว้างใหญ่ไพศาลประการนี้เป็นเหมือนความกล้าหาญเชิงวีรบุรุษมากกว่า  เราไม่เพียงแต่ไม่ยอมแพ้ แต่เรายังเพลินกับความสุขในการช่วยเหลือผู้อื่น และมีความสุขมากที่มีโอกาสได้ช่วยเหลือด้วย  มีแนวทางมากมายเกี่ยวกับการพัฒนาข้อนี้ ซึ่งรวมถึงการรู้ว่าเมื่อไรควรพักและผ่อนคลาย  หากเราโหมตัวเองเกินไป เราย่อมไม่สามารถช่วยเหลือใครได้  เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้แล้ว ยังมีวิธีการอีกมากมายในการเอาชนะความเกียจคร้านประเภทต่าง ๆ ที่ขัดขวางไม่ให้เราฝึกฝนตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นต่อไปด้วย

ความมั่นคงทางจิต

ต่อจากนี้เรามีการปฏิบัติสำหรับพัฒนาความมั่นคงทางจิต  ตรงนี้ไม่ได้ครอบคลุมเพียงแต่สมาธิเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความมั่นคงทางอารมณ์ด้วย  สิ่งที่เราต้องการ คือ สภาวะทางจิตที่มั่นคงที่จะไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการวอกแวกทางจิต หันเหไปหาวัตถุที่ดึงดูดเรา และไม่ทึมทื่อและสะลึมสะลือ  จิตเช่นนี้ตั้งมั่นอยู่กับสิ่งใด ๆ ก็ตามที่เราต้องการจดจ่อ  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีคนคุยกับเราอยู่ จิตของเราย่อมไม่วอกแวกไปคิดถึงสิ่งอื่น  เรายังสามารถมีความมั่นคงในลักษณะที่เราไม่มีอารมณ์พลุ่งพล่านที่รบกวนความมั่นคง เป็นต้นว่า เราไม่อารมณ์เสีย  ตรงนี้หมายความว่าเราไม่อ่อนไหวต่อความรู้สึกเกินไป หรือไม่เพิกเฉยต่อความรู้สึกเกินไป หากแต่มีความสมดุลและมั่นคง

ความตระหนักเชิงแยกแยะ

ข้อนี้มักแปลว่า “ปัญญา” และในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า ปรัชญาปารมิตา  เจตคติสุดท้ายนี้หมายถึงความสามารถในการแยกแยะระหว่างวิธีการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ และสิ่งที่เป็นไปไม่ได้  เป็นความตระหนักรู้ที่มีความเฉพาะมาก  คำว่า “ปัญญา” จึงดูคลุมเครือไปเสียหน่อย  เรากำลังพูดถึงความตระหนักรู้ในการรู้ว่าสิ่งใดเป็นไปไม่ได้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเข้าใจเรื่องสุญญตา (ความว่างเปล่า)  เราแยกแยะว่าบางสิ่งเป็นเรื่องไร้สาระ เป็นไปไม่ได้ และไม่ได้หมายถึงสิ่งใดเลย

เราฝึกฝนโดยใช้การปฏิบัติและวิธีการเหล่านี้เพื่อสร้างเจตคติอันกว้างใหญ่ไพศาลหกประการ เป้าหมายของเรา แรงจูงใจ ความตั้งใจแน่วแน่เป็นพิเศษ และโพธิจิต  ทั้งหมดนี้ประกอบเป็นขอบเขตระดับสูงของแรงจูงใจ

บทสรุป

เมื่อต่อยอดจากระดับต้นแล้ว ในระดับกลางเราตระหนักว่า แม้เราจะมีการเกิดใหม่ในสภาวะที่ดีขึ้น เราจะยังคงเป็นทุกข์เช่นเดิม  เราจะยังคงเผชิญกับปัญหา และต้องป่วย ต้องตาย และต้องเริ่มทำทั้งหมดนี้ใหม่อีกครั้ง ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ  เมื่อเหนื่อยหน่ายกับสิ่งนี้แล้ว เราเข้าใจว่าตลอดการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้นี้ ไม่มีสิ่งใดพิเศษเลย ฉะนั้นเราจึงมุ่งเป้าไปยังการหลุดพ้นจากทั้งหมดนี้

เมื่อเราดำเนินไปสู่ระดับสูง เราหยุดคิดถึงตัวเองว่าเป็นคนที่สำคัญที่สุด เป็นศูนย์กลางของจักรวาล  เราตระหนักว่าทุกคนเป็นเหมือนเรา ในลักษณะที่ต้องการเป็นสุขและต้องการหลีกเลี่ยงทุกข์  ไม่เพียงเท่านี้ เรายังเห็นว่าสรรพชีวิตทั้งปวง ทั้งในอดีตชาติก็ดี ในชาตินี้ก็ดี ล้วนมีความน้ำใจอย่างมากล้นต่อเรา  หากไม่มีพวกเขาแล้ว เราย่อมไม่สามารถกิน ดื่ม เขียนอ่าน ไปยังร้านต่าง ๆ ไปเพลิดเพลินกับภาพยนต์ หรือทำอะไรได้มากมายเลย  เมื่อเห็นว่าการเพิกเฉยต่อความน้ำใจนี้เป็นเรื่องน่าอาย เราจึงได้รับแรงกระตุ้นจากความเห็นอกเห็นใจและความรักต่อพวกเขา นำไปสู่การสร้างโพธิจิต ซึ่งเราปรารถนาการบรรลุการตรัสรู้ของเราเอง เพื่อจะได้สามารถเป็นประโยชน์อย่างสูงสุดต่อผู้อื่นได้

Top