มุมมองเกี่ยวกับความสามัคคีระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม

มีมุมมองเกี่ยวกับบทสนทนาระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามอย่างไรบ้าง?

ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่ยิ่งใหญ่หลายประการครับ  ผมได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนทนานี้น่าจะตั้งแต่สิบสองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ประมาณปี 1997  จากการเดินทางไปในหลายพื้นที่ในโลกอิสลาม ผมพบว่ามีผู้คนที่กระหายข้อมูลเป็นอย่างมาก  บ่อยครั้งที่พวกเขาบอกผมว่า “ช่วยบอกทุกคนหน่อยเถอะว่าไม่ใช่พวกเราทุกคนที่เป็นผู้ก่อการร้าย”

สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงเน้นย้ำเรื่องการสร้างความสามัคคีระหว่างศาสนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเชื่อมสายสัมพันธ์กับโลกมุสลิม  ท่านทรงเน้นย้ำว่าสิ่งที่เราต้องมีคือการศึกษา เพื่อที่เราจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อของกันและกัน โดยปราศจากเจตนาหรือความปรารถนาที่จะเปลี่ยนให้ผู้อื่นหันมานับถือศาสนาของตน  แน่นอนว่าเราต่างมีมุมมองที่ไม่เหมือนกันเกี่ยวกับความเชื่อบางประการ แต่การมุ่งเน้นไปที่จุดนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น  เราต้องเคารพความเชื่อของกันและกัน พยายามเข้าใจและเห็นคุณค่าของการที่ศาสนาแต่ละอย่างช่วยเหลือผู้มีจิตศรัทธาและทำงานร่วมกันเพื่อเน้นย้ำสิ่งที่พวกเรามีร่วมกัน  จุดนี้เกี่ยวข้องกับการเน้นหลักจริยธรรมขั้นพื้นฐานเป็นอย่างมาก ซึ่งท่านสมเด็จทรงเรียกว่า “ค่านิยมสากล”

เราจำเป็นต้องทำงานในลักษณะนี้เพื่อก้าวไปยังสันติภาพและความสามัคคี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ  จุดนี้หมายถึงการให้ชาวมุสลิมเข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งใด ๆ ก็ตามที่เราทำด้วย และต้องไม่มีทัศนคติของ “พวกเรา” ขัดต่อ “พวกเขา”  ยกตัวอย่างเช่น การจัดให้มีการแปลส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามในเว็บไซต์ของผมเป็นภาษาของอิสลาม ถึงแม้ว่าจะมีผู้คนจำนวนไม่มากที่จะอ่านบทความเป็นภาษาเหล่านั้น การกระทำเช่นนี้ก็ถือเป็นการแสดงออกถึงการเคารพต่อชาวมุสลิม  การแสดงความเคารพเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยวดยิ่งและเป็นสิ่งที่สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงให้กำลังใจและสนับสนุนด้วยเช่นกัน

ในงานที่ผมทำเกี่ยวกับประวัติของความสัมพันธ์ระหว่างสองวัฒนธรรมเหล่านี้ นั่นคือวัฒนธรรมพุทธและอิสลามนั้น ผมได้พยายามนำเสนอภาพที่เป็นภววิสัยมากขึ้น โดยไม่ย้ำโฆษณาชวนเชื่อที่ว่าชาวมุสลิมทำลายทุกอย่างที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในอินเดีย  การนำเสนอประวัติศาสตร์ในลักษณะนี้ชี้ให้เห็นว่าผู้พิชิตชาวมุสลิมเหล่านั้นเป็นเพียงแค่ผู้คลั่งศาสนา แต่พวกเขามีจุดประสงค์และมีแรงจูงใจเหมือนกับผู้พิชิตผู้อื่น นั่นคือ เงิน อำนาจ เป็นต้น  เราต้องแสดงให้เห็นและเน้นคุณูปการที่แต่ละวัฒนธรรมสร้างให้กันและกัน  เช่น เราได้เรื่องวัฒนธรรมสมัยใหม่มาจากชาวมุสลิมเยอะเลย เป็นต้น  ยิ่งเราเน้นย้ำเกี่ยวกับคุณูปการจากวัฒนธรรมมุสลิมและให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความเคารพในสิ่งที่เราทำมากเท่าไหร่ ผมคิดว่าเราก็จะมีโอกาสที่ดีในการร่วมมือกันมากขึ้นเท่านั้น  ผมได้พบผู้นำมุสลิมที่ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พบและได้พูดคุยอย่างเปิดเผยเป็นอย่างมากเกี่ยวกับแนวทางของประเด็นเหล่านี้

Top