ทุกศาสนาล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน
ทุกศาสนามีสาสน์เหมือนกันในเรื่องความรัก ความอดทน การให้อภัย การเอาชนะเอาตนเองเป็นที่ตั้งและความเห็นแก่ตัว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกศาสนาสอนเหมือนกันทั้งสิ้น และเป็นพื้นฐานของบทสนทนาระหว่างศาสนา หลักปรัชญาและวิธีการในการสอนคุณสมบัติเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามศาสนา แต่กระนั้นแล้วก็มุ่งไปยังเป้าหมายเดียวกัน ศาสนาทั้งหมดในโลกมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการนำความสุขมาสู่ผู้คนและสังคม เมื่อพิจารณาพื้นฐานที่มีร่วมกันและรับรู้ถึงความแตกต่างทางด้านปรัชญาแล้ว คำถามคือเราจะสามารถสนับสนุนและพัฒนาความสามัคคีระหว่างศาสนาได้อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับโลกยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก
หากเราพิจารณาโลกของพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม เราจะเห็นว่าทั้งสองศาสนามีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมกันทั้งในยุคประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน ซึ่งสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ เช่น อินเดีย เอเชียกลางและตะวันออกเฉียงใต้ และตอนนี้ก็มีผู้ต่างแดนชาวมุสลิมจำนวนมากเดินทางมายังยุโรปและอเมริกาตอนเหนือ เรามีความใกล้ชิดกับสังคมและวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นมาก พวกเขาพบปะและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนชาวยิว ชาวคริสต์ และรวมถึงชาวพุทธด้วย ผู้ฟังบางคน ณ ที่นี้อาจมีพื้นเพทางพระพุทธศาสนาและอาจพบว่าการเปรียบเทียบระหว่างทั้งสองศาสนานี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
นี่คือส่วนที่สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงเป็นห่วงค่อนข้างมากเกี่ยวกับความสามัคคีระหว่างศาสนา ท่านทรงเน้นย้ำเสมอว่า พื้นฐานของความสามัคคีนี้อยู่ที่การศึกษา เมื่อผู้คนไม่ทราบถึงข้อมูลและมักได้รับข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับศาสนาอื่น ความหวาดกลัวและความไม่เชื่อใจกันจึงเกิดขึ้น ผู้คนมักสร้างลักษณะให้กับศาสนาทั้งศาสนาโดยเหมารวมจากชนกลุ่มเล็กมาก ๆ ที่ท่านสมเด็จทรงเรียกว่า “ผู้สร้างความชั่วร้าย” ผู้คนกลุ่มนี้มีอยู่ในทุกสังคมและศาสนา
นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ดังนั้นพื้นฐานของความสามัคคีระหว่างศาสนาจึงอยู่ที่การศึกษา รากฐานทางการศึกษาจะนำไปสู่ความเคารพ หากเราเข้าใจหลักปรัชญาของกันและกันและวิธีการปลูกฝังคุณสมบัติเชิงบวกเหล่านี้ที่เราทุกคนมีร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติสากลของความรัก ความเห็นอกเห็นใจ การให้อภัย และอื่น ๆ เพราะฉะนั้นแล้ว เรามาตรวจสอบทั้งสองศาสนานี้และมาดูว่าทั้งคู่กล่าวถึงการสร้างความรักอย่างไรกันบ้างกัน มาเริ่มที่ศาสนาอิสลามกันก่อนเลย
หลักพื้นฐานของศาสนาอิสลาม
แรงขับเคลื่อนภายในโดยธรรมชาติอันบริสุทธิ์ในการติดตามพระเจ้า
แก่นสำคัญของทุกเรื่องในศาสนาอิสลามคือพระเจ้า ซึ่งเป็นผู้ทรงสร้าง พระเจ้าทรงสร้างผู้ชายและผู้หญิงที่มีใจโอนเอียง หรือความโน้มเอียง หรือแรงขับเคลื่อนภายในโดยธรรมชาติอันบริสุทธิ์ในการยินยอมต่อพระเจ้าและประพฤติตนตามเจตจำนงของพระเจ้า จากมุมมองของเรา จุดนี้อาจจะดูแปลกสักหน่อย แต่หากเรามองจุดนี้จากมุมมองทางชีวภาพ เราถูกสร้างขึ้นโดยพ่อแม่ของเรา โดยแม่ แม่และทารกมีแรงขับเคลื่อนภายในโดยธรรมชาติในการสร้างสายพันธ์กัน ดังนั้นในกรณีของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทารกย่อมไปยังอกแม่เพื่อดูดนมโดยอัตโนมัติและได้สารอาหารสำหรับการเจริญเติบโต มีแรงขับเคลื่อนในการเข้าใกล้ผู้สร้างของเรา
ดังนั้นแรงขับเคลื่อนที่พูดถึงในศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าจะเป็นระดับที่สูงขึ้น ก็ไม่ใช่ความคิดที่แปลกประหลาดอะไรในแง่ของแรงขับเคลื่อนโดยธรรมชาติ เหมือนกับแผ่นแม่เหล็กที่ดึงดูดผู้คนไปหาผู้ทรงสร้าง ประพฤติตนและยินยอมต่อเจตจำนงของพระเจ้า แม้แต่ในโลกของสัตว์ ทารกก็ยังทำตัวตามแม่ของมัน นี่คือสัญชาตญาณ และนี่ก็คือสิ่งที่เรากำลังพูดถึง
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ทั้งหลายด้วยเจตจำนงเสรีและสติปัญญา ด้วยอิทธิพลของสติปัญญา พร้อมด้วยเจตจำนงเสรี จิตวิญญาณสามารถเลือกที่จะเชื่อฟังพระเจ้า หรือถูกกำกับโดยอารมณ์เชิงลบอันเกิดจากการไม่เชื่อฟังเจตจำนงของพระเจ้าก็ได้ จุดนี้คือการถือตนเป็นใหญ่ เราพบจุดนี้ได้ในช่วงพัฒนาการวัยเด็กเช่นกัน เด็กวัยนี้มีเจตจำนงเป็นของตนเองและไม่เชื่อฟังพ่อแม่ อะไรทำนองนั้น
จุดนี้นำไปสู่พฤติกรรมเชิงลบซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามโดยพระเจ้า และในที่สุดจึงเกิดรอยดำพอกพูนสะสมขึ้นรอบ ๆ หัวใจ ทำให้เกิดผ้าคลุมกั้นระหว่างหัวใจของคนผู้นั้นกับสาสน์ของมุฮัมหมัด หัวใจของคนผู้นั้นปิดกั้นความจริงของพระเจ้า แต่ในเมื่อสิ่งที่ปฏิบัติเจตจำนงเสรีคือจิตวิญญาณ จิตวิญญาณย่อมจำเป็นต้องใช้เจตจำนงเสรีของสติปัญญาในการกำจัดรอยดำเหล่านั้นออกจากหัวใจ ด้วยการใช้สติปัญญา ผู้นั้นจึงจะสามารถแยกแยะและเห็นว่าสิ่งใดเป็นเจตจำนงของพระเจ้าและสิ่งใดที่ไม่ใช่ และผู้นั้นสามารถเลือกว่าจะปฏิบัติตามนั้นหรือไม่ก็ได้
ความพยายามในการเปิดหัวใจได้รับการอธิบายในลักษณะของการต่อสู้ นั่นคือความหมายของคำว่า “ญิฮาด” ถึงแม้ว่าคำว่าญิฮาดจะมีหลายระดับและสามารถนำไปใช้ได้ในรูปแบบต่าง ๆ ในศาสนาอิสลาม แก่นความหมายของคำนี้คือการต่อสู้ภายในตัวเอง หรือการรบเพื่อเอาชนะอิทธิพลของอารมณ์เชิงลบ การไม่เชื่อฟังเจตจำนงของพระเจ้า และการดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรม—คือการเอาชนะการขาดความศรัทธา หรือการโดนครอบงำโดยอิทธิพลของราคะและความโกรธ
มิติสามด้านในศาสนาอิสลาม
การปฏิบัติตามเจตจำนงของพระเจ้าหมายความว่าอย่างไร? ส่วนนี้หมายถึงการบูชาพระเจ้าจากใจจริง ในศาสนาอิสลาม ส่วนนี้ครอบคลุมสิ่งที่รู้จักกันในนามมิติทั้งสามด้านของศาสนาอิสลาม มิติทั้งสามด้านนี้คือ การยินยอม หรือศิโรราบต่อเจตจำนงของพระเจ้า ความศรัทธา และที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ แนวคิดในอิสลามที่เรียกว่า “ความเป็นเลิศ”
การยินยอม
การยินยอมหมายถึงการยอมรับความจริงอันสูงสุดว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระผู้เป็นเจ้าและมุฮัมหมัดคือศาสดาของพระเจ้า นอกจากนี้ยังหมายถึงการทราบและปฏิบัติตามกฎของพระเจ้า นั่นคือชารีอะห์ “ชารีอะห์” เป็นคำภาษาอาราบิค ซึ่งหมายถึงวิธีการดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรม สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการปฏิบัติตามเจตจำนงของพระเจ้าคือการใช้ชีวิตอย่างมีจริยธรรมตามที่ระบุไว้ในชารีอะห์ การใช้ชีวิตในลักษณะนี้รวมถึงการละหมาดวันละห้าครั้ง และเป็นพลังยึดเหนี่ยวทางสังคมที่ทรงพลังมาก
ในสังคมอิสลามที่มีความเคร่งครัดสูง ทุกสิ่งทุกอย่างจะหยุดนิ่งเป็นเวลาห้าครั้งในแต่ละวัน ที่หมู่บ้านพลัม (Plum Village) ของหลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) เรามีกระดิ่งเตือนสติ ซึ่งจะดังขึ้นเป็นบางครั้งเพื่อเตือนให้เรามีสติกับสิ่งที่เรากระทำอยู่ ซึ่งสามารถเข้าใจได้ในหลากหลายระดับ แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้ไม่ใช่แค่หมู่บ้านขนาดเล็กที่อยู่อย่างปลีกวิเวก แต่เป็นสังคมทั้งหมดที่จะหยุดห้าครั้งต่อวัน เพื่อเตือนตัวเองให้ปฏิบัติตามเจตจำนงของพระเจ้า ซึ่งเป็นลักษณะทางจริยธรรมของชีวิต
ผมมีโอกาสได้เดินทางไปรอบ ๆ ทวีปแอฟริกาและโลกอิสลามในฐานะตัวแทนของสมเด็จองค์ดาไลลามะ เพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากพวกเขา ในแซนซิบาร์ สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดอย่างหนึ่งคือ พวกเขาใช้กฎระเบียบอันเคร่งครัดของศาสนาอิสลามในการช่วยเหลือผู้ติดยาให้เอาชนะอาการเสพติดของตน หากคนเรามีตารางเวลาที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แทนที่จะใช้ชีวิตอย่างคนติดยา แถมยังเป็นตารางเวลาที่ตั้งอยู่บนรากฐานทางจริยธรรมด้วย การทำแบบนี้ช่วยสร้างโครงสร้างให้ชีวิตเป็นอย่างมาก เวลาที่คนเราติดยา เราจะสูญเสียโครงสร้างทั้งหมดของชีวิตไป วิธีนี้ก่อให้เกิดความคิดมากมาย เพราะในทิเบตก็มีปัญหาแบบนี้เช่นเดียวกัน หากผู้ติดยาได้รับการมอบหมายให้ทำบางอย่างให้สำเร็จ เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า โงนโดร (ngondro) ในภาษาทิเบต ซึ่งรวมถึงการหมอบกราบและอื่น ๆ หากพวกเขาได้รับมอบหมายกิจวัตรที่เคร่งครัด วิธีนี้ก็อาจเป็นประโยชน์อย่างมากกับพวกเขาได้
ดังนั้น การปฏิบัติตามเจตจำนงของพระเจ้าและดำเนินชีวิตเชิงจริยธรรมหมายถึง:
- การละหมาดวันละห้าครั้ง
- การจ่ายภาษีสำหรับคนยากจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวมุสลิมทุกคนทำในฐานะส่วนหนึ่งของความเป็นอยู่โดยรวมของสังคม
- การถือศีลอดในช่วงรอมฎอน การทำเช่นนี้ถือเป็นญิฮาดรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือเป็นการต่อสู้ภายในเพื่อเอาชนะความยึดติดในอาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งต่าง ๆ ของผู้ปฏิบัติ ในช่วงนี้ผู้ปฏิบัติไม่เพียงแต่ยึดระเบียบการละเว้นการยึดติดในอาหาร สิ่งบันเทิง และอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังดำเนินชีวิตอย่างมีสติอย่างสมบูรณ์ในเดือนแห่งพระเจ้าด้วย
- นอกจากนี้ยังมีการแสวงบุญด้วย การเดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ในศาสนาอิสลามและแสดงทบาทออกใหม่ถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของมุฮัมหมัด แน่นอนว่าการทำเช่นนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติระลึกถึงหลักคำสอนที่ท่านเผยแพร่ในคัมภีร์อัลกุรอาน
ศรัทธาและความเป็นเลิศ
มิติที่สอง ความศรัทธา หมายถึงการยอมรับความจริงขั้นพื้นฐานของศาสนาอิสลามและความถูกต้องแน่นอนของคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งเป็นพระวจนะของพระเจ้า
มิติที่สามมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการพูดถึงความรัก มิตินี้มักแปลว่า “ความรัก” และหมายถึงความเป็นเลิศ ทั้งในด้านลักษณะและการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้า พระเจ้าทรงสร้างมวลมนุษย์ทั้งหมดขึ้นมาพร้อมความเป็นเลิศนี้ คุณสมบัติอันเป็นเลิศต่าง ๆ ของลักษณะและความสามารถในการรับใช้พระเจ้า พระเจ้ามีความรู้สึกใกล้ชิดและมีความรักต่อความเป็นเลิศที่พระเจ้าทรงสร้างในมนุษยชาติ คุณสมบัติอันเป็นเลิศเหล่านี้รวมถึงความรักและความสามารถในการเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่นด้วย การปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าหมายถึงการกระทำด้วยความรักต่อทุกสรรพสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมา และกระทำเช่นนี้เป็นรูปแบบของการบูชาพระเจ้า
นี่เป็นแนวคิดและแนวทางปฏิบัติด้านความรักที่น่าสนใจมาก การรักสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นเป็นวิธีการรับใช้พระเจ้าและเป็นการเติมเต็มความเป็นเลิศที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นในตัวพวกเราทุกคนโดยการรับใช้สิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น หนึ่งในคำภาษาอาราบิคที่แปลว่ารักมีนัยยะของความใกล้เคียงกับความเป็นเลิศ และอีกคำหนึ่งมีนัยยะของความรู้สึกใกล้ชิดที่แสดงออกในการกระทำและการปฏิบัติของผู้หนึ่งต่อผู้อื่น เราสามารถเรียนรู้ได้อะไรได้หลายอย่างเพียงดูจากความหมายของคำและโดยเอาคัมภีร์อัลกุรอานเท่านั้นเป็นพื้นฐาน เราพิจารณาคำที่ใช้ในความหมายของความรัก และคำเหล่านี้มีความหมายเชิงนัยยะดังนี้ ความรู้สึกใกล้ชิดกับความเป็นเลิศ และความรู้สึกใกล้ชิดที่แสดงออกในการปฏิบัติตัวและการกระทำต่อผู้อื่น
การกระทำการด้วยความรักต่อผู้อื่นเป็นการกระทำของเจตจำนงเสรี คนเราสามารถใช้สติปัญญาของตนเองในการตัดสินใจในลักษณะนี้ พวกเขาปฏิบัติตามใจโอนเอียงภายในของตนในการปฏิบัติตามความใกล้ชิดกับพระเจ้า จุดนี้น่าสนใจมากนะครับ พระเจ้าทรงสร้างเราขึ้นมา มีสิ่งที่เหมือนแม่เหล็กในการดึงดูดเราให้เข้าใกล้ผู้ทรงสร้าง สร้างเจตจำนงเสรีให้เราเลือกได้ แล้วยังมีสิ่งยั่วยุและอะไรทำนองนั้นอีก วิธีที่เราจะใกล้ชิดกับพระเจ้าเพื่อเติมเต็มธรรมชาติที่ติดตัวมาโดยกำเนิดได้นั้น คือการกระทำผ่านความรักและการรับใช้และการช่วยเหลือผู้อื่น เราอาจกระทำสิ่งนี้ในรูปแบบของการจ่ายภาษีสำหรับผู้ยากจน หรือการช่วยเหลือวิธีต่าง ๆ ภายในสังคมมุสลิม นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในจุดนี้คือ สมาชิกของกลุ่มมนุษยชาติแต่ละคนเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน มันมีความรู้สึกของความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน ทุกคนมีจิตวิญญาณและมีหัวใจที่ปกคลุมไปด้วยการโอนเอียงภายในนี้ ซึ่งสามารถดึงดูดแต่ละคนเข้าสู่พระเจ้าได้
พระเจ้าในฐานะผู้พิพากษา ผู้กำหนดบทลงโทษ และพระเจ้าผู้มีความเห็นอกเห็นใจทรงให้อภัย
นอกจากนี้ พร้อมกันหลักจริยธรรมของศาสนาอิสลาม พระเจ้าทรงเป็นผู้พิพากษาทุกคนด้วยความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและทรงรักผู้ที่ยินยอมต่อเจตจำนงของพระเจ้าเท่านั้น ซึ่งนำไปสู่ชีวิตที่มีจริยธรรมตามชารีอะห์ พระเจ้าทรงลงโทษผู้ที่ไม่เชื่อฟังและก่อให้เกิดความเสียหาย เพื่อประโยชน์ต่อความเป็นดีอยู่ดีของสังคมโดยรวม ดังนั้นมวลมนุษยชาติจึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎแห่งชารีอะห์เพื่อเป็นการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าพระเจ้าและในฐานะสัญลักษณ์แห่งความรัก กฎหมายและความยุติธรรมจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมชาวมุสลิม
ในสังคมตะวันตก เรามีข้อกฎหมายที่มาจากพันธสัญญาเดิม (Old Testament) ในโลกจูเดโอ-คริสเตียน (Judeo-Christian) เช่นกัน มีการตัดสินและมีการให้รางวัล สังคมจะรักและดูแลเราหากเราเชื่อฟังกฎหมายและจะลงโทษเราหากเราไม่เชื่อฟัง แนวคิดนี้ไม่ใช่แนวคิดที่ผิดแผกไปจากมุมมองแบบตะวันตกเลยแม้แต่น้อย
หากคนคนหนึ่งอยู่ในการต่อสู้ภายในเช่นนี้ การทำญิฮาดกับการเอาตนเองเป็นที่ตั้งนี้ และการกระทำนี้ทำให้เขาเดินหนีจากพระเจ้าและความรักของพระเจ้า แต่เขาสำนึกบาปจากใจจริง เขาก็จะได้รับการให้อภัยจากพระเจ้า แนวคิดนี้มีบทบาทสำคัญในศาสนาอิสลามเป็นอย่างมาก พระเจ้าเป็นผู้ทรงมีความเห็นอกเห็นใจ เป็นผู้ทรงให้อภัยอยู่เสมอ พระเจ้าทรงเข้าไปในหัวใจของผู้กระทำผิดที่ต้องการสำนึกบาปและทรงช่วยให้พวกเขาสำนึกบาป แล้วพระเจ้าก็ทรงให้อภัยพวกเขา
เราสามารถพิจารณาแนวคิดนี้ในเชิงเปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนาได้ การสำนึกบาปรวมถึงความรู้สึกสำนึกผิด เราเสียใจในสิ่งที่เราได้ทำลงไป และเราสำนึกบาปและละทิ้งความโกรธเคืองใด ๆ ที่เรามีต่อผู้ที่เราทำร้าย เพราะพวกเขาทำร้ายเรา จากนั้นเราจึงชดเชยจุดนี้ด้วยการทำอะไรบางอย่างเพื่อถ่วงดุลความผิดที่เราได้ทำลงไป ด้วยการกระทำที่เป็นกุศล และเราตัดสินใจที่จะไม่กระทำความผิดนั้นซ้ำสองอีก แนวคิดในลักษณะนี้คล้ายกับสิ่งที่คัมภีร์อัลกุรอานระบุไว้โดยตรง
ชารีอะห์และการให้อภัย
ศาลพิพากษาของชารีอะห์เกี่ยวข้องกับการให้อภัยอีกด้วย ด้านนี้เป็นด้านที่เหลือเชื่อมากในชารีอะห์ ซึ่งเรามักไม่ค่อยทราบกัน เรามักทราบเพียงแค่บทลงโทษ ซึ่งฟังดูค่อนข้างน่ากลัว แต่ผู้รับบาปของคดีนั้น ๆ หรือครอบครัวของผู้รับบาปมีตัวเลือก พวกเขาสามารถเลือกที่จะทลงโทษอย่างเข้มงวด หรือรับการชดเชยบางประเภท เช่นการรับแพะและอูฐในอดีต หรือรับค่าชดเชยเป็นเงิน หรืออภัยโทษก็ได้ พวกเขาสามารถให้อภัยได้ หากครอบครัว หรือผู้รับบาปเลือกที่จะให้อภัยผู้ที่ก่อคดีกับตน พวกเขาก็จะได้เป็นอิสระ
การปฏิบัติการให้อภัยในบริบทของกฎหมายก็ถือเป็นการปรนนิบัติรับใช้พระเจ้าอันเป็นเลิศเช่นกัน จุดนี้ไม่ธรรมดาเลยและน่าสนใจในด้านการกำหนดโทษของกฎชารีอะห์ บางครั้งชาวตะวันตกสับสนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ในเมื่อมีรูปแบบกฎหมายที่เคร่งครัดขนาดนี้ แล้วเรื่องการให้อภัยนี้ก็มักไม่เป็นที่รู้จัก ทำไมสังคมถึงอยากได้อะไรแบบนั้นกัน? สิ่งที่ผู้คนอยากเห็นในสถานที่อย่างโซมาเลียที่สังคมถูกย่ำยีโดยขุนศึกและความวุ่นวายทั้งหลาย ซึ่งเป็นอันตรายอย่างน่ากลัวมาก คือผู้คนต้องการความรู้สึกถึงระเบียบในระดับหนึ่ง สิ่งที่มาจากวัฒนธรรมของพวกเขาคือชารีอะห์ หากพวกเขามีสิ่งนี้ พวกเขาก็รู้สึกปลอดภัยได้ พวกเขารู้ว่าโจรผู้ร้ายจะต้องโดนตัดมือทิ้ง จุดนี้สร้างความท้อใจให้กับหัวขโมยมากกว่าการโดนจับเข้าคุกเป็นอย่างมาก สัญญาของระเบียบบางประเภทเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดมาก
นอกจากนี้ เวลาเราเดินทางไปรอบ ๆ แอฟริกา เราจะเห็นได้ว่าศาสนาที่เติบโตมากที่สุดคือศาสนาอิสลาม เราอาจถามว่าทำไม? ผู้คนให้สาเหตุว่ามันคือความรู้สึกของความเท่าเทียม ภราดรภาพที่ทุกคนเท่าเทียมกัน เมื่อพวกเขาคิดถึงตะวันตก พวกเขาคิดถึงอำนาจของอาณานิคม ซึ่งปราศจากความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ล่าอาณานิคมผิวขาวกับชาวแอฟริกันอย่างสิ้นเชิง จุดนี้เป็นจุดเชื้อเชิญและน่าดึงดูดที่สำคัญของศาสนาอิสลามสำหรับประเทศในทวีปแอฟริกา
เมื่อผู้คนสร้างความรักสำหรับจักรวาลและมนุษยชาติในลักษณะที่บริสุทธิ์มากที่สุด ในศาสนาอิสลาม ความรักของพวกเขาไม่ใช้สำหรับจักรวาล หรือสำหรับมนุษยชาติเอง ในศาสนาอิสลาม ความรักนี้คือความรักของพระเจ้าและความเป็นเลิศที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น นี่คือความคิดเชิงปรัชญาสำหรับเรื่องความรัก การสร้างความรักในลักษณะนี้ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของทุกคน ยอมให้เกิดการสร้างความรักในระดับกว้างมาก มันไม่ใช่ว่าเรารักคนนี้ แต่ไม่ได้รักอีกคน ตราบใดที่ผู้คนมุ่งมั่นปฏิบัติเพื่อความดีและความเป็นเลิศประเภทนี้ ความรักของผู้นั้นก็เป็นความรักสำหรับทุกคน พระเจ้าทรงสร้างคุณสมบัติอันเป็นเลิศและความดีนี้ขึ้นในตัวคนทุกคน จึงยอมให้ผู้คนสามารถรักคนทุกคนได้ หากผู้คนประพฤติตัวด้วยความโกรธ ราคะ และความรุนแรง ในขั้นแรกพวกเขาได้รับการสนับสนุนให้สำนึกผิดและกลับตัวไปใช้ชีวิตอย่างมีจริยธรรม นี่คือพื้นฐานหลักปรัชญาที่เป็นโครงสร้างของความรักในศาสนาอิสลาม
หลักขั้นพื้นฐานในพระพุทธศาสนา
เมื่อเราหันมาพิจารณาพระพุทธศาสนา เราจะเห็นว่าเรามีการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างความรักที่ค่อนข้างแตกต่างออกไป แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากคือการสังเกตว่าทั้งสองศาสนามีสิ่งที่คล้ายคลึงกันมากแค่ไหน
คุณสมบัติของธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธะเจ้าโดยกำเนิด ซึ่งไม่มีจุดเริ่มต้นหรือพระเจ้าผู้ทรงสร้าง
ในพระพุทธศาสนา สิ่งมีชีวิตทั้งหลายทั้งปวงมีธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธะเจ้าโดยไม่มีจุดเริ่มต้น คุณสมบัตินี้ทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสามารถเป็นพระพุทธเจ้าได้ ในศาสนาอิสลาม ธรรมชาติอันบริสุทธิ์โดยกำเนิดนั้นยอมให้ผู้คนมีความใกล้ชิดกับพระเจ้าได้ และในสายของซูฟีบางแบบ ธรรมชาตินี้ยอมให้ผู้คนสามารถรวมกับพระเจ้าได้ แต่ไม่มีทางที่ผู้นั้นจะกลายเป็นพระเจ้าได้ ส่วนในพระพุทธศาสนา ธรรมชาติโดยกำเนิด ธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธะเจ้านี้ทำให้ทุกคนสามารถกลายเป็นพระพุทธเจ้าได้ มุมมองทางด้านปรัชญาและคำอธิบายที่แตกต่างกันนี้มุ่งเน้นถึงลักษณะปรากฏการณ์ที่คล้ายคลึงกันมาก
ในพระพุทธศาสนา ไม่มีใครเป็นผู้สร้างธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธะเจ้า ธรรมชาตินี้เพียงแค่ดำรงอยู่ โดยธรรมชาติ ปราศจากการเริ่มต้น ในศาสนาอิสลาม พระเจ้าเป็นผู้ทรงสร้างสิ่งนี้ มันเป็นการมองอีกแบบหนึ่ง เพราะหากเราถามว่าพระเจ้ามีจุดเริ่มต้นหรือไม่ พระเจ้าก็ปราศจากจุดเริ่มต้นเช่นกัน ท้ายที่สุดคำตอบที่ได้ก็ยังคงเป็นการปราศจากจุดเริ่มต้น เพียงแต่ในพระพุทธศาสนา เราไม่มีพระเจ้าผู้ทรงสร้างในลักษณะนั้น
ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ผู้คนทั้งหลายมีคุณสมบัติที่ดีเหมือนกัน เช่น ความเห็นอกเห็นใจโดยกำเนิดและสติปัญญาที่สามารถแยกแยะสิ่งเป็นประโยชน์ออกจากสิ่งที่เป็นโทษได้ พระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามเห็นตรงกันในจุดนี้ และวิทยาศาสตร์ก็เห็นตรงกันว่าจุดนี้เป็นส่วนหนึ่งของสัญชาตญาณโดยกำเนิดของเรา ซึ่งเป็นสัญชาตญาณในการดูแลตนเอง เป็นสัญชาตญาณในการเอาตัวรอด และดูแลผู้อื่นในสายพันธุ์ของเรา จุดนี้ไม่ขัดแย้งกันนะครับ พวกเราทั้งหลายมีความสามารถในการแยกแยะว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์และสิ่งใดเป็นโทษ
วินัยทางจริยธรรม
ในพระพุทธศาสนา วินัยทางจริยธรรมขึ้นอยู่กับความเข้าใจว่าการกระทำใดนำพาความทุกข์และความสุขมาให้เรา พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงสร้างสิ่งเหล่านี้เหมือนกับที่พระเจ้าทรงสร้างกฎแห่งเหตุและผลเชิงจริยธรรมในศาสนาอิสลาม ในพระพุทธศาสนา ด้วยความตระหนักรู้ที่แยกแยะ ผู้ปฏิบัติย่อมสามารถวิเคราะห์และแยกแยะสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นโทษสำหรับตนเองได้ พระพุทธศาสนาใช้สติปัญญาในลักษณะนี้ ในขณะที่ศาสนาอิสลามนั้นสร้างแนวคิดเรื่องนี้แตกต่างออกไป สติปัญญาถูกใช้เพื่อตัดสินใจว่าจะเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟังเจตจำนงของพระเจ้าในการรักสรรพสิ่งทั้งปวงที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นและดำเนินชีวิตอย่างมีจริยธรรม
ในศาสนาอิสลาม พระเจ้าทรงสร้างกฎแห่งพฤติกรรมเชิงจริยธรรม และพระเจ้าทรงตัดสินด้วยการให้รางวัลและการลงโทษ ตามหลักพระพุทธศาสนา พฤติกรรมเชิงโทษก่อให้เกิดความทุกข์ตามมาโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว และพฤติกรรมเชิงประโยชน์ก็ก่อให้เกิดความสุขตามมาโดยอัตโนมัติ หากเราปฏิบัติตัวภายใต้อิทธิพลของอารมณ์รบกวนทั้งหลายและอวิชชา ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ตามมา อันเป็นผลของกฎแห่งเหตุและผลตามธรรมชาติ แต่ในศาสนาอิสลาม พระเจ้าทรงเป็นผู้ลงโทษเราสำหรับการกระทำเหล่านั้น ทั้งสองแบบให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน เพียงแต่ใช้การอธิบายที่ต่างกันเท่านั้น
ฉะนั้นในพระพุทธศาสนา หากผู้ปฏิบัติละเว้นการกระทำอันเกิดจากอารมณ์รบกวนเหล่านี้ การละเว้นนั้นถือเป็นเชิงประโยชน์ หากผู้นั้นช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความรักและความเห็นอกเห็นใจ การกระทำนี้ก็จะนำความสุขมาสู่ผู้นั้น จากมุมมองของศาสนาอิสลาม พระเจ้าทรงให้รางวัลเรา เราเข้าใกล้พระเจ้าและธรรมชาติอันบริสุทธิ์โดยกำเนิดของเรามากขึ้น ทั้งสองมุมมองนี้คล้ายกันครับ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับคำถามว่าเหตุและผลทำงานอย่างไร จริง ๆ แล้วนี่เป็นคำถามและประเด็นที่ค่อนข้างเข้าใจยากนะครับ พระพุทธศาสนาเพียงแต่บอกว่ามันเป็นอย่างนั้น และชาวพุทธก็เชื่อพระพุทธเจ้าในฐานะแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง โดยพิจารณาจากสิ่งอื่น ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ในศาสนาอิสลาม ผู้ปฏิบัติก็ยอมรับว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งนี้ ซึ่งเป็นความจริงและถูกต้องแน่นอน
ความศรัทธาในพระพุทธเจ้าและการนับถือพระองค์เป็นทีพึ่ง
จริง ๆ แล้วความศรัทธาในพระพุทธศาสนาตั้งอยู่บนรากฐานของตรรกะและเหตุผลในการสาธิตให้ตนเองประจักษ์ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะท้ายที่สุดแล้ว พระพุทธเจ้าทรงตรัสให้เรานั้นตั้งคำถามและวิเคราะห์ในสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสด้วยตัวเราเอง สำหรับศาสนาอิสลาม ผู้ปฏิบัติต้องยินยอมและมีศรัทธาอย่างสมบูรณ์ ทั้งสองอย่างนี้ต่างกันค่อนข้างมากนะครับ เมื่อผู้ปฏิบัติมีความมั่นใจว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว ผู้นั้นก็นับถือพระองค์เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งในที่นี้หมายถึงเราใช้ทิศทางที่ปลอดภัยนี้ในการดำเนินชีวิตเพื่อจะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธะเจ้าในตัวเรามากขึ้น นี่คือสิ่งที่จะปกป้องเราจากภัยอันตรายและการหลงทาง
เราสามารถอธิบายจุดนี้ได้จากมุมมองของศาสนาอิสลาม กล่าวคือเราต้องการทิศทางบางอย่างในชีวิตของเรา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างจากศาสนาอิสลามคือ การถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งนั้นไม่ได้หมายความว่าเราบูชาพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าหลายคนอาจจะมองแบบนั้นก็ตาม หากพิจารณาในแง่ของหลักคำสอน มันไม่ใช่ความศรัทธาอย่างหน้ามืดตามัวและเชื่อแต่ว่า “พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงดีเลิศเหลือเกิน” และไม่ใช่การยินยอมสิโรราบอย่างที่มีในศาสนาอิสลามด้วย
หากเราเจาะลึกลงไปอีก จุดนี้น่าสนใจมาก ๆ ครับ การยอมสิโรราบต่อพระเจ้านั้นหมายความว่าอย่างไรกันแน่? จุดนี้หมายถึงการเอาชนะการเอาตนเองเป็นที่ตั้ง หรือการทำตามเจตจำนงของตนเอง การคิดว่าเรารู้ทุกสิ่งทุกอย่าง เรารู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด แล้วพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่าอย่างไรล่ะ? พระพุทธศาสนากล่าวว่าเราต้องเอาชนะอัตตาที่เป็นใหญ่ให้ได้ ซึ่งเกี่ยวกับการที่เราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เราเป็นคนที่สำคัญที่สุด และความคิดในลักษณะนี้
จุดนี้ก็เหมือนกันครับ มันเป็นเพียงแค่รสชาติที่แตกต่างกันในเรื่องที่เราต้องทำ เราจำเป็นต้องยอมสิโรราบในแง่ของการยึดติดกับแนวคิดเรื่องอัตตาอันแข็งแกร่ง แน่นอนว่าในพระพุทธศาสนามีอัตตาอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่สิ่งอันแข็งแกร่งที่จะต้องได้ทุกอย่างตามต้องการ จะต้องถูกอยู่เสมอ จะต้องได้รับความใส่ใจจากทุกคนอยู่เสมอ และความรู้สึกลักษณะนี้ทั้งหมด ความคิดแบบนี้ทำให้เราประสบกับปัญหาและความลำบากมากมายในชีวิตของเรา เราต้องละทิ้งและเลิกความคิดแบบนี้ จุดนี้เป็นรสชาติและการสร้างกรอบความคิดที่แตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์นั้นค่อนข้างคล้ายกันมาก
การพึ่งพาพระธรรมและพื้นฐานสำหรับวินัยทางจริยธรรม
คำว่า “พระธรรม” หมายถึงมาตรการเชิงป้องกัน เป็นสิ่งที่สกัดกั้นเราไว้จากความทุกข์ หลักคำสอนของพระพุทธเจ้าชี้ให้เห็นถึงประเด็นนี้ หลักคำสอนเป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติต้องวิเคราะห์เพื่อค้นพบความจริงตามคำสอนเหล่านั้น นี่ไม่ใช่ศรัทธาที่ไม่อาจตั้งคำถามได้อย่างในคัมภีร์อัลกุรอานและชารีอะห์ พระธรรมไม่ใช่พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ หรือระบบกฎหมาย สิ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “พระธรรม” ในภาษาจีนใช้คำแปลเดียวกับคำว่า “กฎหมาย” และมองพระพุทธศาสนาผ่านสิ่งที่เราเรียกว่ามุมมองแบบชาวจีนและเข้าใจพระพุทธศาสนาในแง่ของวัฒนธรรมขงจื๊อ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้มีบทบาทสำคัญทั้งในพระพุทธศาสนาของอินเดียและทิเบต ซึ่งต่างจากลักษณะบทบาทในหลักจูเดโอ-คริสเตียน-อิสลามในตะวันตก พระพุทธศาสนาไม่ได้มีกฎหมายใด ๆ ที่เกี่ยวกับว่าหากเราปฏิบัติตามนั้น หรือหากเราเชื่อฟังกฎหมาย ก็ถือว่าเราเป็นคนดี ในสังคมตะวันตก เราได้แง่คิดลักษณะนี้มาจากพื้นฐานของคัมภีร์ไบเบิ้ลและมาจากสังคมกรีกโบราณด้วย หากผู้ใดปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้นั้นย่อมเป็นพลเมืองดี ไม่ว่ากฎหมายเหล่านี้จะได้รับการบัญญัติโดยพระเจ้า หรือสภานิติบัญญัติใด ๆ ก็ตาม บทบาทของจริยธรรมมีความสำคัญมากและตั้งอยู่บนรากฐานของการเชื่อฟัง
ในทางตรงกันข้าม จริยธรรมในพระพุทธศาสนาไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของการเชื่อฟัง หากแต่อยู่บนรากฐานของการใช้ความแยกแยะอันบริสุทธิ์ในการเข้าใจว่า หากเรากระทำในเชิงโทษ การกระทำนั้นก็จะก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมา ทั้งปัญหาสำหรับสังคมและตัวของเราเอง ยกตัวอย่างเช่น การฆ่าแมลง เมื่อเราวิเคราะห์ประเด็นนี้ หากสัญชาตญาณแรกเวลาที่มีอะไรทำเสียงหึ่ง ๆ รอบตัวเราคือการตบและฆ่าสิ่งนั้นทิ้ง ถ้าอย่างนั้นเราก็จำเป็นต้องพิจารณาถึงสัญชาตญาณแรกของเรา มันก็เหมือนสุนัขน่ะครับ ถ้าเราไปจิ้มแหย่สุนัข มันก็จะขู่คำรามและส่งเสียงเห่า เราเป็นเหมือนสุนัขหรือเปล่า? พอเราเจออะไรก็ตามที่เราไม่ชอบ สัญชาตญาณแรกของเราคือโจมตี ทำร้าย และฆ่ามันอย่างนั้นหรือ? ฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่ามีปัญญาอยู่เบื้องหลังความประพฤติตัวเชิงทำลายและการก่อให้เกิดความทุกข์และปัญหาเหล่านี้ หากเราเห็นสิ่งแปลกปลอมใด ๆ แล้วเราโจมตีมันทันที ความประพฤตินี้ไม่ส่งเสริมให้เกิดความสงบและสันติในจิตใจเท่าไหร่นัก
ลองคิดถึงทัศนคติเวลาที่เรากำลังพยายามจะนอน แล้วมียุงบินหึ่ง ๆ อยู่รอบ ๆ เราสิครับ เราอารมณ์เสียแค่ไหน คนส่วนใหญ่อยากจะไปตามล่าและจับยุงพวกนั้นให้ได้ นี่แหละคือประเภทของสิ่งที่เราแยกแยะ มันไม่ใช่ว่าการฆ่ายุงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และหากเราไม่ฆ่ามันเราจะเป็นพลเมืองที่ดี หรือชาวมุสลิมหรือชาวคริสต์ที่ดี
มันเป็นแนวคิดที่ต่างกัน และแนวทางไปสู่จริยธรรมในลักษณะนี้ก็ทำให้เราคิดอะไรได้มากมาย สิ่งใดอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของเรา? อีกครั้งนะครับ เพื่อเป็นการเสริมเฉย ๆ ตอนที่ผมสอนเรื่องจริยธรรมพระพุทธศาสนาอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นที่ที่ผมอาศัยอยู่ ผมถามนักเรียนของผมว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ขโมย นักเรียนบางคนตอบว่าพวกเขากลัวเรื่องการกลับชาติมาเกิดใหม่ในสภาพที่แย่กว่าเดิม หรืออะไรประมาณนั้น ผมจึงถามว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจจริง ๆ หรือ? ไม่มีใครเชื่อเท่าไหร่ เมื่อพับประเด็นเหล่านี้เก็บไปแล้ว ผมจึงถามว่า “ทำไมคุณถึงไม่ขโมย?” คำตอบที่ได้คือ มันรู้สึกไม่ถูกต้อง นั่นแหละครับคือเหตุผล
นั่นแหละคือสิ่งที่พระพุทธศาสนาพูด กล่าวคือเบื้องหลังของพฤติกรรมเชิงจริยธรรมมีความรู้สึกของความมีศักดิ์ศรีในตนเองและการเห็นคุณค่าในตนเอง คือเรามีความเคารพตัวเองพอที่จะไม่ปฏิบัติตัวในลักษะดังกล่าว การกระทำนี้จะนำความเสื่อมเสียมาสู่ตัวเรา มาสู่ครอบครัวเรา มาสู่ค่านิยมของเรา และมาสู่ทุกอบ่าง นี่คือพื้นฐานของพฤติกรรมเชิงจริยธรรมตามที่พระพุทธศาสนากล่าวไว้ เมื่อเรามีพื้นฐานนี้แล้ว ด้วยสติปัญญาและความสามารถอันยอดเยี่ยมของมนุษย์เรา เราก็สามารถแยกแยะและเลือกได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์และสิ่งใดเป็นโทษ เราไม่อยากทำสิ่งที่เป็นโทษ เพราะเรามีความเคารพต่อตัวเองมากเกินที่จะทำตัวแบบนี้ นี่คือวิธีการนำเสนอมหัศจรรย์ในพระพุทธศาสนา มันไม่ใช่เรื่องของการเชื่อฟัง แน่นอนว่าในที่สุดแล้ว เรามีพฤติกรรมเชิงจริยธรรม แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะใช้แนวทางใดในการไปสู่จุดนี้ ดังนั้นเราจึงมีพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งพา พึ่งพาพระธรรม และต่อจากนั้นก็พึ่งพาพระสงฆ์
พระสงฆ์เป็นที่พึ่งพา: การเปรียบเทียบกับหลักภราดรภาพในศาสนาอิสลาม
พระสงฆ์คือชุมชนของผู้ที่อยู่บนเส้นทาง และไม่ได้เป็นแค่คณะสงฆ์ของพระภิกษุและพระภิกษุณีตามการนำเสนอแบบประเพณีนิยมทั่วไป แต่เป็นผู้ที่มีความตระหนักรู้ขั้นสูง ในศาสนาอิสลามมีกลุ่มคนประเภทนี้หรือไม่? บางทีหลักภราดรภาพของชาวมุสลิมทั้งหมดอาจทำหน้าที่เป็นชุมชนที่ให้การสนับสนุนก็ได้ หน้าที่หลักของพระสงฆ์คือการให้กำลังใจเกี่ยวกับความจริงที่ว่ามีผู้อื่นที่กำลังอยู่บนเส้นทางไปสู่การเป็นพระพุทธเจ้า เนื่องจากคุณสมบัติทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าทรงมี จึงเป็นเรื่องยากที่ใครจะเทียบกับพระองค์ได้ แต่ก็มีผู้คนที่มุ่งมั่นพยายามเดินทางไปให้ถึงจุดนั้นและมีความก้าวหน้าด้วย เพราะนั้นเราไม่ได้อยู่อย่างเดียวดาย จุดนี้ให้การสนับสนุนเราในฐานะชุมชน
ในศาสนาอิสลาม เรามีภราดรภาพของชาวมุสลิมทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น ไม่ว่าคุณจะร่ำรวยหรือยากจนแค่ไหน คนทุกคนแต่งตัวเหมือนกันเวลาออกไปแสวงบุญ มีความรู้สึกของความเท่าเทียมกัน ในพระพุทธศาสนา สิ่งที่น่าสนใจคือเราไม่ทำการตัดสินเชิงศีลธรรมสำหรับผู้ที่ไม่อยู่บนเส้นทางนี้ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นในการให้อภัยพวกเขา หรือพยายามเปลี่ยนพวกเขา จุดนี้จะแตกต่างออกไปเล็กน้อยในศาสนาอิสลาม
ธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธะเจ้าที่ถูกบดบัง: ความคล้ายคลึงกับผ้าคลุมปิดหัวใจในศาสนาอิสลามและลัทธิซูฟี
พระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่าถึงแม้เราจะมีธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธะเจ้าที่บริสุทธิ์ จิตใจของเราก็โดนบดบังโดยการขาดความตระหนักรู้ หรืออวิชชาเกี่ยวกับธรรมชาติที่แท้จริงของความเป็นจริง เรามีสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาบดบัง และธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธะเจ้าก็ถูกบดบังด้วยกลุ่มเมฆแห่งอวิชชา จุดนี้ฟังดูเหมือนสิ่งที่ศาสนาอิสลามกล่าวไว้มากเลยนะครับ ศาสนาอิสลามกล่าวถึงอารมณ์รบกวนและหัวใจที่ถูกปกคลุม และอธิบายถึงผ้าคลุมทั้งหลายที่ปกคลุมหัวใจ ในลัทธิซูฟี ซึ่งเป็นนิกายย่อยของศาสนาอิสลาม พวกเขาพูดถึงการเปิดผ้าคลุมเหล่านี้ ถือเป็นการเปรียบเปรยในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน อวิชชานำไปสู่การเอาตนเองเป็นที่ตั้ง อารมณ์รบกวนเชิงลบ และพฤติกรรมเชิงทำลาย
สำหรับในพระพุทธศาสนา ผู้ปฏิบัติสามารถกำจัดสิ่งบดบัง หรือผ้าคลุมเหล่านี้ออกไปจากธรรมชาติที่แท้จริงของเราได้ผ่านทางการเข้าใจความเป็นจริงและการสร้างความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และโพธิจิต โพธิจิตคือจิตใจที่มุ่งเน้นอยู่กับการตรัสรู้ของตนเอง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น แต่สามารถไม่เกิดได้เนื่องจากพื้นฐานของธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธะเจ้า จุดนี้ไม่ได้แตกแยกจากการมุ่งเน้นอยู่กับพระเจ้า แน่นอนว่าพระเจ้ากับพระพุทธเจ้านั้นค่อนข้างแตกต่างกัน แต่แนวคิดของการมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายของธรรมชาติอันบริสุทธิ์โดยกำเนิดของตนเอง ที่ผู้ฝึกพยายามเข้าไปใกล้ขึ้นและบรรลุให้ได้นั้นถือเป็นพลังขับเคลื่อนอันยิ่งใหญ่สำหรับชาวพุทธและชาวมุสลิม
การสร้างความรักในพระพุทธศาสนาเมื่อเปรียบเทียบกับศาสนาอิสลาม
นิยามความรัก
ความรักในพระพุทธศาสนาได้รับการนิยามว่าเป็นความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นได้รับความสุขและเหตุแห่งความสุข ความปรารถนานี้ตั้งอยู่บนรากฐานของความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมกันของสิ่งมีชีวิตทุกประการ ทั้งต่อกันและกันและกับตัวเรา ในแง่ที่ทุกคนล้วนต้องการที่จะเป็นสุข ไม่มีใครอยากทุกข์ นั่นคือเป้าหมายของชีวิต คือหนทางไปสู่ความสุข พืชเติบโตขึ้นและต้องการแสงอาทิตย์เพื่อเดินทางไปสู่ความสุขของมัน เราสามารถสาธยายคำอธิบายเชิงบทกลอนเกี่ยวกับหนทางสู่ความสุขโดยทั่วไปในชีวิตได้อีกมากมาย
การสร้างความรัก
ในพระพุทธศาสนา ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของความเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตทั้งปวงมีความสามารถในการมีความสุข เพราะพวกเราทั้งหมดล้วนมีธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธะเจ้า ยิ่งไปกว่านั้น เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข และศาสนาอิสลามก็มีประเด็นที่คล้ายกันนี้เช่นกัน ในศาสนาอิสลามประเด็นนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของการพึ่งพากันและกันของทุกคน และการรับรู้และเห็นคุณค่าของความน้ำใจที่เราได้รับจากผู้อื่นทั้งหมด ศาสนาอิสลามไม่ได้เน้นย้ำความน้ำใจที่เราได้รับจากผู้อื่นเท่าไหร่นัก แต่เน้นย้ำความพระคุณที่เราได้รับจากพระเจ้า ผู้ทรงสร้างสรรค์สิ่งมีชีวิตทั้งหมดขึ้นมา จึงเป็นการมองเรื่องความเท่าเทียมกันของทุกคนจากมุมมองที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย
ความรักในพระพุทธศาสนาพัฒนาขึ้นจากการคำนึงถึงความสุขของผู้อื่น เราฝึกฝนให้ตัวเองดีขึ้นเพื่อที่เราจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นโดยการตรัสรู้ได้ การรักและรับใช้ผู้อื่นไม่ใช่การกระทำของการบูชาพระพุทธเจ้า ในขณะที่การรักและการรับใช้ผู้อื่นในศาสนาอิสลามเป็นการกระทำของการบูชาพระเจ้า กระนั้นแล้วเราก็ช่วยเหลือผู้อื่นและผลลัพธ์ก็เหมือนกัน
โดยการรักผู้อื่น เราสร้างพลังเชิงบวกให้กับตนเองเพื่อที่จะก้าวเป็นพระพุทธเจ้า เมื่อมองในแง่นี้แล้ว เราก็เข้าใกล้ความเป็นพุทธภาวะมากขึ้น แต่ไม่เหมือนในศาสนาอิสลาม หากเปรียบเทียบในกรณีเดียวกันนี้ ศาสนาอิสลามจะมุ่งเน้นการเข้าใกล้ชิดองค์พระพุทธเจ้า จุดมุ่งหมายของพุทธภาวะและการกลายเป็นพระพุทธเจ้ากับการเข้าใกล้ชิดพระพุทธเจ้านั้นมีความแตกต่างกันมากนะครับ ในพระพุทธศาสนาเราไม่ได้มุ่งเน้นไปที่พระพุทธเจ้าในฐานะปัจเจกบุคคล พระพุทธเจ้าทรงเป็นอาจารย์ที่สำคัญเป็นอย่างมาก แต่ไม่ใช่ในฐานะผู้ทรงสร้างที่เราบูชา
เหตุและผลตามธรรมชาติเมื่อเปรียบเทียบกับการลงโทษของพระเจ้า
เพื่อที่จะรักผู้อื่น เราจำเป็นต้องเอาชนะการเทิดทูนตัวเอง จุดนี้คล้ายกับในศาสนาอิสลามที่มีญิฮาดภายในเป็นการต่อสู้กับการเอาตนเองเป็นที่ตั้งและการไม่เชื่อฟังเจตจำนงของพระเจ้า อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาไม่ได้ระบุให้เราขออภัยโทษจากพระพุทธเจ้าสำหรับบาปที่เราก่อขึ้น หรือการกระทำผิด หรือการกระทำด้วยความไม่รู้ของเรา เวลาที่เราเห็นผู้อื่นกระทำการในเชิงลบและเชิงทำลาย มันไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาไม่ดีหรือไม่เชื่อฟัง หากแต่เป็นเพราะพวกเขาสับสนในอวิชชาและไม่เข้าใจอย่างแท้จริงถึงสิ่งที่พวกเขากำลังทำและผลที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการกระทำของตนเอง เราใช้จุดนี้เป็นพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ มันไม่ใช่ว่าเราให้อภัยเขาในเชิงนั้น แต่เราเข้าใจเขาและสร้างความรักและความเห็นอกเห็นใจในลักษณะนั้น
ดังนั้นเมื่อความทุกข์เกิดขึ้นจากการกระทำเชิงทำลาย ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของกฎแห่งเหตุและผล เราไม่ได้ทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายของพระเจ้าโดยการลงโทษผู้อื่น ในทิเบตหรืออินเดียมีระบบกฎหมายแน่ ๆ รวมถึงในสังคมพุทธศาสนิกชนด้วย แต่มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้น แล้วเราก็ทำงานของพระเจ้าบนพื้นโลกด้วยการบังคับใช้เจตจำนงของพระเจ้า ตรงนี้แตกต่างกันมาก
ความสอดคล้องเรื่องการสำนึกผิดในพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม
ในพระพุทธศาสนามีการสำนึกผิดคล้ายกับในศาสนาอิสลาม และความสอดคล้องของทั้งสองศาสนานี้ค่อนข้างน่าสนใจมาก
- ในทั้งสองศาสนา เราจำเป็นต้องรับรู้ถึงความผิดพลาดของเรา ความผิดพลาดที่กระทำจากอวิชชาในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่จากการไม่เชื่อฟังเหมือนในศาสนาอิสลาม
- เราเสียใจต่อสิ่งที่ทำ ซึ่งเหมือนกับในศาสนาอิสลาม
- เราตั้งใจว่าจะไม่ทำการกระทำผิดนั้นอีก เหมือนกับในศาสนาอิสลาม
- เรายืนยันทิศทางเชิงบวกในชีวิตที่เราจะดำเนินต่อไป จุดนี้ไม่ค่อยเหมือนกับการขออภัยโทษจากพระเจ้าเท่าไหร่ แต่เป็นการยืนยันสิ่งเชิงบวก ด้วยการขออภัยโทษจากพระเจ้า เราก็หันหน้าสู่ทิศทางเชิงบวกเช่นเดียวกัน
- สุดท้ายแล้ว เราชดเชยความผิดของเราด้วยการกระทำเชิงบวก ซึ่งเหมือนกับในศาสนาอิสลาม
จะเห็นได้ชัดว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่เหมือนกันและมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต่างกันระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม ท้ายที่สุดทั้งสองศาสนาก็สอนเรื่องความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน และการให้อภัยเหมือนกัน เมื่อเราสามารถรับรู้และเห็นคุณค่าของประเด็นที่สอดคล้องกันระหว่างทั้งสองศาสนาของโลกนี้ได้ ไม่ว่าจะมีหลักปรัชญาที่แตกต่างกัน เราก็จะมีพื้นฐานสำหรับบทสนทนา ความสามัคคีระหว่างศาสนา และการเรียนรู้ระหว่างกันและกันได้
คำถามและคำตอบ
การเรียนรู้จากกันและกัน
ฉันคิดว่าองค์ดาไลลามะทรงตรัสแนะนำเกี่ยวกับบทสนทนากับศาสนาอื่นว่า เราจะไม่พยายามเปลี่ยนศาสนาของผู้อื่น แต่สร้างแรงบันดาลใจในความเชื่อของพวกเขาเอง เราควรใช้ปัญญาเพื่อให้พวกเขามองความเชื่อของตนเองในอีกด้านหนึ่ง คุณมีแนวทางสำหรับบทสนทนานี้อย่างไรบ้าง?
อย่างที่ผมกล่าวไปนะครับ และตามที่องค์ดาไลลามะทรงตรัสไว้เช่นกัน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ศาสนาทั้งหลายสามารถเรียนรู้จากกันและกันได้ ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธศาสนาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยวิธีการมากมายสำหรับการฝึกสมาธิ พัฒนาความรัก และความเห็นอกเห็นใจ เป็นต้น กลุ่มศาสนาที่เน้นเรื่องการพิจารณาในการเจริญกรรมฐานเป็นหลักพบว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากพระพุทธศาสนา เราเห็นตัวอย่างนี้ได้มากเป็นพิเศษในกลุ่มอารามนิกายคาทอลิก ซึ่งมีผู้ปฏิบัติมาเรียนรู้เรื่องการทำสมาธิและสามารถนำไปใช้ในศาสนาของตนเองได้
องค์ดาไลลามะทรงตรัสเสมอ โดยเฉพาะเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา ว่าพุทธศาสนิกชนแบบทิเบตสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติบริการสังคมของชุมชนนักบวชเหล่านี้ได้เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์หลากหลายประการ นี่เป็นสิ่งที่ไม่เคยพัฒนาได้มากเลยในทิเบต เมื่อมองในแง่ของโรงเรียนในอารามและการให้ที่อยู่อาศัยเด็กกำพร้า บ้านพักคนชรา โรงพยาบาล และอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากกิจกรรมของแม่ชีเทเรซ่าได้อย่างแน่นอน
นั่นคือการแลกเปลี่ยนในลักษณะหนึ่ง อย่างที่ผมเล่าไป ผมกลับไปรายงานถึงปรากฏการณ์ที่ผมพบเห็นในแซนซิบาร์ ที่ศาสนาอิสลามใช้การปฏิบัติทางศาสนาตามตารางเวลาอย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยเหลือผู้ติดยา นี่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก ในลักษณะนี้จึงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนที่มีประโยชน์ระหว่างศาสนา โดยไม่พยายามเปลี่ยนศาสนาของกันและกัน
สิ่งที่องค์ดาไลลามะทรงสนพระทัยเป็นพิเศษคือ การจัดการประชุมปิดแบบส่วนตัวกับผู้ฝึกการเจริญกรรมฐานที่เคร่งครัดมาก ๆ จากแต่ละศาสนา เพื่อมารวมตัวและเปรียบเทียบประสบการณ์ของแต่ละคน หากการประชุมนี้สามารถเกิดขึ้นได้คงจะเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก
คุณค่าสากล
จากการเปรียบเทียบอย่างละเอียดกับศาสนาอิสลาม ฟังดูเหมือนคุณบอกว่าเราไม่ควรพอใจกับตัวเองอย่างเต็มที่และคิดว่าพระพุทธศาสนานั้นดีที่สุด ถ้าเป็นอย่างนั้น นี่ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เพราะหลักความเชื่อประเภทใด ๆ มักจะคิดว่าตัวเองพึ่งพาตนเองได้ การเปิดประตูสู่โลกอิสลามจึงเป็นการเปิดประตูสู่สิ่งอื่น ๆ ด้วย
ใช่ครับ ผมเห็นด้วยกับที่คุณพูดมาทั้งหมด องค์ดาไลลามะทรงตรัสว่า ไม่มีศาสนาใดที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เหมือนกับที่ไม่มีอาหารใดที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน แต่คนเราสามารถเลือกได้ว่าสิ่งใดดีกับเราที่สุด เส้นทางไหนเหมาะที่สุด เราไม่อาจกำหนดให้ผู้อื่นได้ ค่านิยมสากลพื้นฐานเหล่านี้พบได้ในทุกศาสนาและใช้ได้สำหรับทุกคน รวมถึงผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามศาสนาใดเลยก็ตาม นี่คือสิ่งสำคัญ สิ่งที่องค์ดาไลลามะทรงเป็นห่วงมากคือ เราจะปลูกฝังค่านิยมสากลพื้นฐานของความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน การให้อภัย และเราจะสานต่อบทสนทนานี้ได้อย่างไร และแนะนำค่านิยมสากลเหล่านี้เข้าไปในระบบการศึกษาได้อย่างไร วิธีการพัฒนาสิ่งเหล่านี้ในโลกได้คือ การเริ่มด้วยการสอนค่านิยมพื้นฐานเหล่านี้ให้เด็ก ๆ ในโรงเรียน ยกตัวอย่างเช่น การทำแบบง่าย ๆ เลย ถ้าเราเริ่มโกรธหรือคับข้องใจ ให้นับหนึ่งถึงสิบ หรือเพ่งสมาธิไปยังลมหายใจเราสามรอบ หรือใช้วิธีการพูดแทนที่จะเป็นการต่อสู้
นักการศึกษาบางกลุ่มในอินเดียและอเมริกากำลังพัฒนาหลักสูตรที่ค่อย ๆ แนะนำสิ่งเหล่านี้เข้าไปในในระบบการศึกษาในลักษณะที่ให้ความเคารพและเป็นแบบโลกวิสัย อย่างที่ท่านสมเด็จทรงเรียก ซึ่งหมายถึงการให้ความเคารพทุกศาสนา ไม่ได้เจาะจงศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
ในศาสนาอิสลามมีแนวคิดเรื่องการตรัสรู้หรือไม่?
ตอนที่คุณพูดถึงการทำความเข้าใจหรือการปฏิบัติในศาสนาอิสลามที่ผู้ปฏิบัติพยายามเข้าใกล้ชิด หรือหลอมรวมกับพระเจ้านั้น ในจุดนี้มีความเข้าใจเรื่องการตรัสรู้ในศาสนาอิสลามหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น สามารถเข้าใจจุดนี้ได้อย่างไร?
การใกล้ชิดพระเจ้ามากขึ้นนั้นพบได้ทั่วไปในศาสนาอิสลาม ในขณะที่การหล่อหลอมรวมกับพระเจ้านั้นเป็นความเชื่อในลัทธิซูฟีบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยในศาสนาอิสลาม การตรัสรู้ขึ้นอยู่กับการนิยามแนวคิดนี้ ถ้าเรานิยามแนวคิดนี้ตามลักษณะของพระพุทธศาสนาแบบเฉพาะเจาะจง ถ้าอย่างนั้นเราก็ไม่สามารถพูดได้ว่าศาสนาอื่นมุ่งเป้าหมายไปที่การตรัสรู้ดังกล่าว อาจารย์ท่านหนึ่งของผมกล่าวไว้ได้ดีมาก นั่นคือหากเราภาวนาขอไปสวรรค์คริสต์ เราก็จะไม่ได้ไปอยู่ในสวรรค์พุทธ และหากเราภาวนาขอไปสวรรค์พุทธ เราก็จะไม่ได้ไปอยู่ในสวรรค์คริสต์
แต่ละศาสนามีเป้าหมายที่ผู้ปฏิบัติพยายามจะบรรลุให้ได้ เพื่อการเป็นคนประเภทที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคนประเภทที่มีจริยธรรมและเป็นมีความรักสูงสุด หรือมากกว่านั้น แต่เราไม่สามารถพูดได้ว่าการปฏิบัติตามเส้นทางนี้จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายเฉพาะอย่างตามที่ระบุไว้ในศาสนาอื่น
หมายความว่าแนวคิดเรื่องสวรรค์ของพวกเขาก็มีเรื่องการตรัสรู้อยู่ใช่ไหม?
ในขณะที่มีชีวิตอยู่ มีเรื่องของการเป็นคนดีที่สุด แล้วจากนั้นก็เป็นช่วงที่เกือบจะเหมือนกับอันตรภพ (ภาษาทิเบต bardo) คือเป็นช่วงช่องว่างระหว่างการเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะมีการตัดสินครั้งสุดท้ายเกิดขึ้น ซึ่งให้ความรู้สึกถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วก็จะเป็นช่วงการตัดสินครั้งสุดท้าย แล้วก็ใช่แล้ว มีสวรรค์ นี่คือลักษณะเป้าหมายสูงสุดในศาสนาอิสลาม
เมื่อเราพิจารณาตำรากาลจักรในพระพุทธศาสนา เราจะพบว่ามีการกล่าวถึงศาสนาอิสลามด้วย เพราะตอนนั้นมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองศาสนาแล้ว มีแค่สองอย่างที่ตำรากาลจักรทั้งหมด ณ ตอนนั้นพูดถึงแล้วฟังดูแปลก ๆ หนึ่งในนั้นคือว่าสวรรค์และนรกนั้นเป็นนิรันดร์และไม่มีแนวคิดเรื่องความไม่เที่ยง จากมุมมองทางพระพุทธศาสนาแล้ว การเกิดใหม่ในสวรรค์มีช่วงเวลายาวนานเป็นอย่างยิ่ง แต่มันย่อมสิ้นสุดลง และชีวิตในสถานะการเกิดครั้งใหม่ก็จะตามมา อีกสิ่งหนึ่งที่กล่าวในตำรากาลจักรที่ฟังดูแปลกคือ ชาวมุสลิมคิดว่าการฆ่าสัตว์ด้วยวิธีฮาลาลเป็นการสังเวยแด่พระเจ้ารูปแบบหนึ่ง เพราะเวลาฆ่าสัตว์ พวกเขาพูดว่า “บิสมิลลาฮ์” (Bismillah) ซึ่งหมายถึง “ในนามของพระอัลลอฮ์” ชาวพุทธตีความหมายการกระทำนี้ว่าเป็นการสังเวยเลือดแด่พระอัลลอฮ์ และพวกเขาคิดว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง จุดนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นการเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎการรับประอาหารในศาสนาอิสลาม นอกจากนั้นก็ไม่มีเรื่องใดที่พวกเขาไม่เห็นด้วย ไม่มีการกล่าวถึงเรื่องผู้ทรงสร้าง ไม่มีอะไรเลย จริง ๆ แล้วจุดนี้บ่งบอกอะไรหลายอย่างเลยนะครับ
ใคร ๆ ก็สามารถตรัสรู้ได้หรือ?
มีตำราหลายเล่มมากที่กล่าวไม่เหมือนกัน มีพระสูตรเล่มหนึ่งที่กล่าวถึงผู้คนที่ไม่มีธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธะเจ้า มีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่หากผู้นั้นไม่มีธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธะเจ้า ผู้นั้นก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ มีช่วงเวลาที่เรามีแนวคิดขัดแย้งกันเหล่านี้
ตามคำอธิบายที่ผมได้ยินมานั้น มันไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีธรรมชาติแห่งการเป็นพระพุทธเจ้า ก่อนอื่นเลย เราต้องพิจารณาว่าธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้านั้นคืออะไร มันคือปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้ผู้นั้นกลายเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นคุณสมบัตินานาประการของพระพุทธเจ้า นี่คือเครือข่ายของพลังเชิงบวก ซึ่งบางครั้งแปลว่า “การสะสมบุญ” และเครือข่ายของความตระหนักรู้อันลึกซึ้ง บางครั้งแปลว่า “การสะสมปัญญา” ทุกคนมีพลังเชิงบวกนี้จากการกระทำเชิงบวกอันตั้งอยู่บนรากฐานของความเห็นอกเห็นใจและวิธีการทำงานของจิต พร้อมกับความเข้าใจและอื่นๆ
ในฝ่ายค้านกับเครือข่ายพลังบวกคือสิ่งที่เราสามารถเรียกได้ว่า “เครือข่ายของศักยภาพเชิงลบ” จากการกระทำเชิงลบ เราสามารถกำจัดศักยภาพเชิงลบทั้งหมดได้ แต่คำถามที่สำคัญคือเราจะสามารถกำจัดศักยภาพเชิงบวกทั้งหมดออกจากตัวเอง จนทำให้เราไม่สามารถบรรลุพุทธภาวะได้หรือไม่ นั่นล่ะครับคือคำถาม การอภิปรายนี้เกี่ยวกับว่าเราจะสามารถสูญเสียศักยภาพเชิงบวกจำนวนมากไปได้หรือไม่ แต่มันมีอะไรบางอย่างที่อยู่ตรงนั้นเสมอ นั่นคือสาระของการอภิปรายนี้
มีการอภิปรายอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับว่า ถ้าเราบรรลุการปลดปล่อยในฐานะพระอรหันต์ได้แล้ว นั่นคือทางตันหรือเปล่า หรือเราสามารถไปต่อเพื่อเป็นพระพุทธเจ้าได้ เมื่อพวกเขาพูดว่าคนเราเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้หรอก นั่นล่ะคือตอนที่มองว่าการเป็นพระอรหันต์คือทางตัน
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมองหาอรรถกถาและคำอธิบายเพิ่มเติมเรื่อย ๆ เกี่ยวกับความหมาย เราอาจพูดได้ว่าคนคนหนึ่งถูกประณามให้ได้รับการปลดปล่อยได้เสมอ แต่ไม่อาจเป็นพระพุทธเจ้าได้ ราวกับว่าพวกเขาเป็นพระอรหันต์ผู้น่าสงสารในสวรรค์ ช่างน่าเบื่อเหลือเกิน แต่พระพุทธเจ้าทรงมองเห็นอย่างชัดเจนว่าผู้คนก็ต่างกัน เมื่อดูจากพระพุทธประวัติแล้ว เราจะเห็นว่าพระองค์ทรงเสด็จไปยังบ้านของผู้คนพร้อมกับคณะสงฆ์ พระองค์ทรงได้รับนิมนต์ให้ไปฉันเพลและผู้คนก็ตั้งใจถวายเพลให้กับพระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ จากนั้นจึงขอให้พระองค์ทรงสอนพวกเขาหลังเพล ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนพวกเขา และเมื่อได้ทรงเห็นความสามารถทางจิตใจของผู้คนที่นิมนต์ท่านไปสอนแล้ว ท่านจึงทรงปรับการสอนตามวิธีที่พวกเขาจะสามารถเข้าใจได้
ในลักษณะนี้ หากเราพิจารณาชื่อของพระสูตรทั้งหลาย พระสูตรหลายบทใช้ชื่อของผู้ที่ได้รับการสอนพระสูตรเหล่านั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน มีพื้นฐานหรือความเข้าใจเดียวกัน ดังนั้นจึงมีคำอธิบายหลายแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาญฉลาดมาก
มีผู้คนจำนวนไม่มากจากศาสนาอิสลามที่หันเข้าพระพุทธศาสนา
ดูเหมือนว่าจะมีผู้คนจากศาสนาคริสต์หรือยิวที่สนใจในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ค่อยมีคนจากศาสนาอิสลาม คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้?
ก่อนอื่นเลย ในสังคมศาสนาอิสลามหลายแห่ง หากผู้ใดละทิ้งศาสนาอิสลาม นั่นถือเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด ในสังคมบางแห่ง ผู้นั้นอาจโดนลงโทษอย่างรุนแรงสำหรับการทำเช่นนี้ได้เลย องค์ดาไลลามะทรงเน้นย้ำความสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลที่ถูกต้องและทรงให้กำลังใจให้ผมเผยแพร่ข้อความเรื่องความสามัคคีระหว่างศาสนา ผมเน้นความสามัคคีระหว่างชาวพุทธ-มุสลิมเป็นหลัก และได้ไปบรรยายในสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งในโลกอิสลาม มีครั้งหนึ่งผมไปบรรยายที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ และมีนักเรียนมาประมาณ 300 คนมาเข้าร่วมการบรรยายเรื่องพระพุทธศาสนาด้วยความสมัครใจ พวกเขาบอกว่าพวกเขากระหายข้อมูลและอยากเรียนรู้อะไรบ้าง
ท่านสมเด็จทรงให้กำลังใจเป็นอย่างยิ่งให้ผมทำการแปลหลักคำสอนพื้นฐานของพระพุทธศาสนาเป็นภาษาตระกูลหลักในอิสลาม เราแปลได้ประมาณหกภาษาแล้วและมีผู้อ่านจำนวนมาก เราวิเคราะห์ภาษาต่าง ๆ บนเว็บไซต์ของเราเพื่อดูว่าบทความใดได้รับความนิยมมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ในภาษาอาราบิค บทความที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “วิธีการจัดการความโกรธ” นี่เป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์กับผู้อ่านได้ โดยที่ผู้นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นชาวพุทธ พระพุทธศาสนามีวิธีการที่มีประโยชน์มากมายสำหรับการเอาชนะความโกรธและการจัดการกับความกลัวและสิ่งเหล่านี้ ในประเทศอิหร่าน ในภาษาเปอร์เซีย บทความยอดนิยมเกี่ยวกับการทำสมาธิ พวกเขาสนใจเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างมาก ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรพุทธศาสนิกชนชาวจีนอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งประชากรมุสลิมด้วย พวกเขาสนใจในบทความเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองศาสนา
เพราะฉะนั้นความสนใจมีอยู่แน่นอน นอกจากนี้สิ่งที่เราพบในปากีสถานคือ มีผู้คนวัยหนุ่มสาวจำนวนมากที่เบื่อหน่ายกับความรุนแรงและความหวาดกลัว และรู้สึกว่าเรื่องนี้ต้องพอได้แล้ว พวกเขากำลังมองหาสิ่งที่จะสร้างความสงบสุขในจิตใจได้บ้าง ตราบใดที่เรานำเสนอวิธีการแบบพระพุทธศาสนาในลักษณะที่ไม่พยายามจะเปลี่ยนศาสนาใคร วิธีนี้ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ไม่มีใครต้องละทิ้งศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสต์ แต่พระพุทธศาสนามีสิ่งที่สามารถนำเสนอให้กับโลกได้มากมาย และนี่ก็คือสิ่งที่เราพยายามทำ นี่คือสิ่งที่องค์ดาไลลามะทรงพยายามทำในแง่ของการส่งเสริมค่านิยมสากล ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
ตราบใดที่เราไม่ลดทอนพระพุทธศาสนาให้เหลือเพียงแค่ค่านิยมสากลเหล่านี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมต่อพระพุทธศาสนา นี่ก็เป็นสิ่งที่ใช้ได้ ปัญญาของพระพุทธเจ้า ปัญญาของทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เข้าถึงได้และมีความยั่งยืนมากที่สุด มีคนจำนวนมากที่มีส่วนร่วมในความพยายามนี้ รวมถึงตัวผมเองด้วย
ความว่างเปล่าและตัวตนโดยสมมติ
ขอบคุณสำหรับคำสอนเหล่านี้ครับ ผมและเพื่อนร่วมงานเดินทางเป็นเวลาแปดชั่วโมงเพื่อมาร่วมการสอนนี้ คุณบอกว่ามีตัวตนอยู่ และปกติเรามักได้ยินเกี่ยวกับเรื่องความว่างเปล่าของการดำรงอยู่โดยธรรมชาติและการไร้ซึ่งความมีตัวตนของ “ฉัน” และทำนองนั้น คุณช่วยอธิบายถึงความแตกต่างได้ไหมครับ?
จากมุมมองทางพระพุทธศาสนานั้นมีตัวตนอยู่ ไม่ได้บอกว่าไม่มีตัวตนอยู่ แต่ตัวตนนั้นคือสิ่งที่ขึ้นอยู่กับร่างกาย จิต อารมณ์ และสิ่งอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถพูดได้ว่าตัวตนเป็นเพียงแค่ร่างกาย หรือเพียงแค่จิตใจ หรือเพียงแค่อารมณ์ต่าง ๆ หรือเป็นสติปัญญา หรือเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ อย่างไรก็ตาม จากพื้นฐานนี้ เราสามารถพูดได้ว่ามี “ตัวฉัน” สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เป็นพื้นฐานที่ “ตัวฉัน” อาศัยอยู่นั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สภาวะอารมณ์ของเราเปลี่ยนแปลง ร่างกายของเรากำลังเติบโตตลอดเวลา หากเราพิจารณาที่ร่างกาย เซลล์ทุกเซลล์ในร่างกายของเรานั้นแตกต่างกัน ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่เซลล์สักเซลล์ในร่างกายของเราตั้งแต่เราเป็นทารก มีตัวตน แต่มันเปลี่ยนแปลงจากชั่วขณะหนึ่งเป็นชั่วขณะหนึ่งเป็นชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกายและจิตใจ แต่มันไม่มีตัวตนที่ไม่เกี่ยวข้องกับร่างกาย จิตใจ อารมณ์ต่าง ๆ ฯลฯ และไม่เปลี่ยนแปลงไปทุกช่วงเวลาตามที่ร่างกาย จิตใจ ฯลฯ เปลี่ยนแปลงไปจากชั่วขณะหนึ่งเป็นชั่วขณะหนึ่ง
หมายความว่าไม่มีความถาวรอย่างนั้นหรือ?
ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบ เมื่อมองในลักษณะนี้แล้ว ตัวตนของแต่ละคนก็เป็นนิรันดร์ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง ปัญหาอยู่ที่คำว่า “rtag-pa” ในภาษาทิเบต ซึ่งแปลได้ว่า “ถาวร” มีสองความหมาย ความหมายหนึ่งคือ ตลอดกาล และสำหรับความหมายนี้ พระพุทธศาสนาก็บอกว่าใช่แล้ว มันไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบ แม้แต่สำหรับพระพุทธเจ้าเอง ความหมายอีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งนั้นไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่ตัวตนนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากชั่วขณะหนึ่งเป็นชั่วขณะหนึ่ง ถึงแม้ว่าตัวคุณตอนเป็นทารกและตัวคุณตอนเป็นผู้ใหญ่เป็นคนเดียวกัน คุณก็ไม่สามารถพูดได้ว่าตัวคุณวัยผู้ใหญ่นั้นเหมือนกับตัวคุณในวัยเด็กทุกประการ คุณเปลี่ยนแปลงไป ในลักษณะนี้ ตัวตนจึงเปลี่ยนแปลงไปจากชั่วขณะหนึ่งเป็นชั่วขณะหนึ่ง แต่เป็นนิรันดร์เพราะมันดำเนินต่อไปตลอดกาล นี่คือจุดที่ความสับสนเกิดขึ้น เพราะคำภาษาทิเบต ซึ่งมาจากคำภาษาสันสกฤตนั้นมีสองความหมาย
อิทธิพลของศาสนาฮินดู หรือพระพุทธศาสนาต่อลัทธิซูฟี
คุณพูดถึงลัทธิซูฟี ฉันเดาว่าลัทธินี้มีความสอดคล้องกับพระพุทธศาสนามากกว่า ลัทธินี้มีความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกับศาสนาอิสลามหลักที่ไม่ราบรื่นนัก ถึงแม้ว่าจะใกล้เคียงกับศาสนาอิสลามก็ตาม บางคนมีแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด คุณคิดว่าจุดนี้มีการเชื่อมโยงอะไรบางอย่างทางประวัติศาสตร์ไหมครับ เพราะฉันมีปรมาจารย์ซูฟีจากสถานที่ที่เรียกว่าเปอร์เซียภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเอเชียกลาง อิสลามค่อนข้างแข็งแกร่งเมื่อไปถึงพื้นที่นั้น จากการวิจัย คุณเคยพบการเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์อะไรบ้างไหมครับ?
ดูเหมือนศาสนาฮินดูจะมีอิทธิพลกับลัทธิซูฟีชัดเจนกว่าหน่อยนะครับ โดยเฉพาะในแถบอัฟกานิสถาน ปากีสถาน อินเดีย และแคชเมียร์ มีอิทธิพลทางด้านโยคะและอะไรพวกนั้นด้วย มีการสวดมนต์และท่องวลีและชื่อต่าง ๆ ซ้ำติดต่อกัน และเราอาจเรียกตรงนี้ว่าเป็นการท่องบทมันตราก็ได้ ซึ่งพบในศาสนาฮินดูเช่นเดียวกัน ประเด็นคืออิทธิพลนี้มาจากไหน มาจากศาสนาฮินดู หรือมาจากพระพุทธศาสนากันแน่? หลักฐานเอนเอียงไปทางศาสนาฮินดูมากกว่าเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม มีบางอย่างที่ชวนให้นึกถึงพระพุทธศาสนาแน่นอน แต่ส่วนมากนี่เป็นในแง่ของที่ตั้งบูชาสำหรับปรมาจารย์ซูฟี บางคนบอกว่าที่ตั้งบูชาเหล่านี้เป็นสถูปประเภทหนึ่ง วิธีการทำสมาธิดูน่าจะมาจากศาสนาฮินดู
ในลัทธิซูฟีมีหลายอย่างที่น่าสนใจมาก เวลาที่เราพูดถึงความรัก พวกเขากลับใช้คำอีกคำสำหรับความรัก ซึ่งไม่พบในคัมภีร์อัลกุรอาน แต่มีความหมายเชิงนัยยะของคำว่า “ความงาม” มีการโหยหาและปรารถนาโดยธรรมชาติในการกลับคืนสู่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและความงามของพระเจ้า ความรักแห่งความงามนี้ได้รับการถ่ายทอดผ่านทางดนตรี ซึ่งมีบทบาทสำคัญมากในลัทธิซูฟีและไม่พบในพระพุทธศาสนา มีการสวดมนต์ต่าง ๆ แต่การสวดนี้ไม่ใช่ยานพาหนะเพื่อให้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ามากขึ้น
เราต้องพิจารณาด้านอื่น ๆ ในลัทธิซูฟีที่อาจดูมีความคล้ายคลึงกัน มีการทำสมาธิและการท่องบทที่เหมือนกับการท่องมันตรา การอยู่อาศัยเป็นชุมชนร่วมกันกับอาจารย์ แต่ศาสนาฮินดูก็มีสิ่งเหล่านี้เช่นกัน พูดยากครับ แต่ที่แน่ ๆ คือเอเชียกลางเป็นหม้อหลอมรวมที่ทั้งสามวัฒนธรรมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งพระพุทธศาสนา ศาสนาฮินดู และศาสนาอิสลาม
เปรียบเทียบกระบวนการการเสียชีวิต
ช่วยอธิบายเพิ่มเติมเล็กน้อยเกี่ยวกับการเตรียมตัวสำหรับความตายในคัมภีร์อัลกุรอานหน่อยได้ไหมครับ? ผู้ที่ใกล้ตายควรมองแสงไฟหรือเปล่า?
ผมไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้นะครับ แล้วผมก็ไม่ใช่นักวิชาการคัมภีร์อัลกุรอานอย่างแน่นอน ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพียงการระลึกถึงพระเจ้า ผมไม่รู้ว่ามีการอธิบายถึงรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ระหว่างกระบวนการการเสียชีวิตเหมือนที่พระพุทธศาสนาอธิบายในหลักคำสอนตันตระหรือเปล่า ผมยังไม่เคยเห็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีนะครับ เพียงแค่ว่าผมยังไม่เคยเห็นเท่านั้นเอง
ผมถามเพราะผมเคยอาศัยอยู่ที่ดูไบกับนักเรียนหลายคน และมันค่อนข้างใกล้เคียงกับวัฒนธรรมอิสลามแบบเต็มที่มาก ๆ ผมไม่ได้เห็นอะไรเกี่ยวกับผู้หญิงเลย ยกเว้นการอุทิศตนอย่างสมบูรณ์ให้กับบิดาและการเตรียมพร้อมเพื่อถูกส่งตัวให้สามี ตั้งแต่นั้นมาและในปัจจุบันก็มีมากขึ้น มีนักเรียนและอาจารย์คนอื่น ๆ ที่อุทิศตนแบบนั้น แต่เมื่อมาถึงเรื่องความตายแล้วกลับไม่มีใครพูดถึงเลย มันเหมือนกับว่า จงทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในชีวิตนี้ แล้วจากนั้นฉันก็จะได้ไปสวรรค์ แค่ไปให้ถึงสวรรค์ก็เป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ แล้ว แล้วเราจะเตรียมตัวสำหรับการตายอย่างไร ผมเติบโตในครอบครัวคริสต์ และดูเหมือนว่าจะไม่มีความสอดคล้องเกี่ยวกับสิ่งที่พระพุทธศาสนานำเสนอสำหรับการเตรีมตัวก่อนตายเลย
ในการเตรียมตัวก่อนตาย พระพุทธศาสนาบอกว่าความคิดที่ดีที่สุดคือการพึ่งพา ทิศทางใดที่เราอยากจะเดินทางไป โพธิจิต มุ่งหน้าไปสู่การตรัสรู้ และความปรารถนาอย่างเช่น ขอให้สามารถได้พบพานกับหลักคำสอนต่าง ๆ อาจารย์ และอะไรแบบนั้นอีก เพื่อที่เราจะได้สามารถดำเนินต่อไปบนเส้นทางศาสนา เราตายโดยคิดถึงพระพุทธเจ้า หรืออาจารย์สอนศาสนาของเรา ในลักษณะเดียวกัน สำหรับศาสนาอิสลาม การคิดถึงพระเจ้าเป็นหลักในยามที่กำลังตายนั้นก็จะค่อนข้างสอดคล้องกันนะครับ
ในศาสนาอิสลามมีหลักคำสอนเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราตายไปแล้วโดยเฉพาะ มีการบันทึกการกระทำเชิงบวกและเชิงลบเอาไว้ และการบันทึกนี้ก็จะถูกพิจารณาเมื่อเราตายไป จากนั้นเราก็จะไปยังสถานที่รอประเภทหนึ่ง ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น น่ากลัวหรือดี จนกระทั่งถึงวันตัดสิน จากนั้นทุกคนก็จะลุกขึ้นมาจากหลุมศพอีกครั้ง อยู่ต่อหน้าพระเจ้า แล้วจึงจะมีการตัดสินครั้งสุดท้าย ตอนนั้นก็จะได้ไปสวรรค์หรือนรกอันเป็นนิรันดร์นั่นเอง
ในศาสนาอิสลาม ผู้ปฏิบัติจะคิดในแง่นั้น หากเราเป็นมุสลิมที่ดี เราก็จะเน้นการสำนึกผิดและการขออภัยโทษจากพระเจ้าสำหรับสิ่งไม่ดีใด ๆ ที่เราได้ทำลงไป ในพระพุทธศาสนาก็มีการทำแบบนี้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ใดละเมิดคำสาบานโพธิสัตว์ หรือตันตระ หรืออะไรแบบนั้น ก่อนตายผู้นั้นก็อยากจะสมาทานคำสาบานใหม่ เพื่อที่จะได้ตายพร้อมกับคำสาบานที่ได้รับการชะล้างให้บริสุทธิ์ใหม่ สิ่งนั่นก็มีอย่างแน่นอน มีความคิดที่คล้ายคลึงกันในเรื่องความเสียใจและการชำระบาปก่อนที่เราจะตาย ผมว่าจุดนี้ค่อนข้างสอดคล้องกันทั้งในพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม หากผู้นั้นเป็นผู้ปฏิบัติอย่างจริงใจของศาสนานั้น ๆ แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ผู้คนส่วนใหญ่ แต่ถ้าผู้นั้นเป็นแบบนั้น นั่นย่อมเป็นสิ่งที่เราจะทำ
เรารอคอยสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปแทนที่จะไม่อยากปล่อยสิ่งที่เรามีอยู่ไป แน่นอนว่ายังมีเรื่องของการสละชีวิตเพื่อศาสนา ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ฉันทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนที่ออสโล ซึ่งมีนักเรียน 60% นับถือศาสนาอิสลาม คุณช่วยอธิบายเกี่ยวกับความโกรธ โดยเฉพาะในพฤติกรรมกลุ่มนักเรียนชายในโรงเรียนหน่อยได้ไหม? มีสงครามมากมายเกิดขึ้นในโลกอิสลามและมีความโกรธเกิดขึ้นในที่นี้เช่นกัน ลูกสาวของฉันไปมัสยิดกับนักเรียนผู้หญิง และมีการซุบซิบนินทาและพฤติกรรมแย่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย นี่คือผู้คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในบ้านเกิดตนเองแล้ว เป็นทายาทรุ่นที่สองจากปากีสถาน อัฟกานิสถาน และตอนนี้ก็มีซีเรีย ฉันควรบอกลูกสาวว่าอย่างไร? มันเป็นเรื่องที่ยากมากจริง ๆ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับความก้าวร้าวและความโกรธนี้?
นี่เป็นเรื่องที่น่าคับข้องใจเหลือเกินสำหรับใครก็ตามที่มาจากประเทศเหล่านี้ในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นรุ่นที่สองแล้วก็ตาม เมื่อต้องมาเห็นความทุกข์และการนองเลือดเกิดขึ้นมากมาย แน่นอนว่าเรื่องนี้ทำให้คนอายุน้อยอารมณ์เสียมาก เพราะพวกเขาไม่มีความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดีนัก มันออกมาในรูปแบบการแสดงความโกรธอย่างชัดเจน หนึ่งในปัญหาเชิงจิตวิทยาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือผู้ต่างแดนกลุ่มอื่น ๆ คือประเด็นของความจงรักภักดี ในด้านหนึ่งประเทศเจ้าภาพขอให้เราจงรักภักดีกับคุณค่าของประเทศพวกเขา แต่แล้วชนกลุ่มน้อยนี้ก็มีวัฒนธรรมและศาสนาของตนเองที่พวกเขารู้สึกว่าต้องแสดงความจงรักภักดี
จุดนี้คล้ายกับประเด็นการแบ่งแยกความภักดีของเด็กในกรณีที่พ่อแม่หย่าร้างกันมากครับ พวกเขารู้สึกว่าถ้าตนเองภักดีต่อแม่ ก็จะเป็นการไม่ภักดีต่อพ่อ แล้วก็ในทางกลับกันด้วย คำถามคือเราจะหาความปรองดองที่ทำให้พวกเขามีความภักดีต่อทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ยกตัวอย่างเช่น หากเราบอกว่าคนเราควรภักดีต่อรัฐและไม่ใช่วัฒนธรรมและศาสนาดั้งเดิมของตน จากนั้น โดยไม่รู้ตัว เนื่องจากแรงผลักดันให้เกิดความจงรักภักดีนี้ เราจึงภักดีต่อแง่มุมเชิงลบของวัฒนธรรมดั้งเดิมโดยไม่รู้ตัว จุดนี้ปรากฏขึ้นในรูปแบบของความก้าวร้าวและอะไรพวกนั้น
หากมองในมุมมองของการบำบัด วิธีที่มีประโยชน์คือการให้พวกเขาสามารถรับรู้ถึงสิ่งเชิงบวกจากพื้นเพวัฒนธรรมดั้งเดิมที่พวกเขายึดเป็นความภักดีได้ ซึ่งสิ่งนั้นจะทำให้เกิดการเชื่อมความภักดีโดยไม่มีข้อขัดแย้ง ไม่ต้องเลือกว่าจะเป็นอย่างนี้หรืออีกอย่าง นี่เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการลองปฏิบัติดูในสังคมอย่างมาก ในสังคมบางแห่งในยุโรป ผู้หญิงไม่สามารถใส่ผ้าคลุมได้และอะไรทำนองนั้น ในมุมมองของพวกเขา นี่เป็นเรื่องที่แย่มากและจุดนี้จะนำไปสู่ความโกรธ
ใส่ผ้าคลุมแล้วมันมีปัญหาอะไรนักหนา? ถ้าใบหน้าของพวกเขาถูกคลุมหมดและพวกเขาอยู่ในการตัดสินคดีในศาลที่อเมริกา ยกตัวอย่างนะครับ นั่นเป็นสถานการณ์เดียวที่พวกเขาจะต้องถอดผ้าคลุมออก หรือแน่นอน เวลาขับรถ
เราต้องดูว่าค่านิยมใดที่คนมีจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขาซึ่งสามารถเข้ากันได้อย่างกลมกลืนในสังคม และไม่เป็นปัญหาหรือข้อขัดแย้ง จุดนี้จะช่วยแก้เรื่องความก้าวร้าว แน่นอนว่าสำหรับเด็กแล้ว นี่เป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้าใจ บางทีคุณอาจลองถามลูกสาวดูว่า ในช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับเธอ เธอไม่รู้สึกคับข้องใจและโกรธบ้างหรือ? แล้วเธอพูดสิ่งแย่ ๆ ใส่ผู้อื่นทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจรึเปล่า? คุณสามารถช่วยให้เธอเข้าใจว่า คนพวกนั้นไม่ได้หมายความแบบนั้น และบ่อยครั้งที่ผู้คนพูดต่าง ๆ นานาเวลาที่พวกเขาอารมณ์เสีย บางครั้งวิธีนี้ก็ช่วยได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กด้วยครับ
ขอบคุณทุกคนครับ ผมมีความยินดีที่ได้อภิปรายเรื่องนี้กับพวกคุณและหวังว่าการอภิปรายนี้จะทำให้คุณได้ข้อคิดหลายอย่างครับ