สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงตรัสอยู่เสมอว่า กุญแจสู่ความสามัคคีระหว่างศาสนาคือการศึกษา จุดนี้เป็นเพราะว่าความไม่เชื่อใจและความเป็นปรปักษ์ต่อศาสนาอื่นนั้นมักตั้งอยู่บนความไม่รู้เกี่ยวกับคำสอนของศาสนาเหล่านั้น ศาสนาทั้งหมดมีความเชื่อในค่านิยมสากลร่วมกันในเรื่องของความรัก ความเห็นอกเห็นใจ การให้อภัย และความน้ำใจ นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเหมือนกันด้วย นั่นคือการสร้างชีวิตที่เป็นสุขมากขึ้นสำหรับรายบุคคลและสังคม ความแตกต่างทางด้านหลักปรัชญาของแต่ละศาสนาไม่ได้ลบล้างความสำคัญของค่านิยมเหล่านี้สำหรับการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเลย ความแตกต่างนั้นเพียงแต่บ่งชี้ถึงโครงสร้างและเหตุผลหลากหลายที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันสำหรับผู้ปฏิบัติต่อการพัฒนาคุณธรรมที่เหมือนกันเหล่านี้ ดังนั้นในการบ่มเพาะความสามัคคีระหว่างศาสนา ผู้มีศรัทธาในแต่ละศาสนาจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าศาสนาของผู้อื่นเห็นชอบเรื่องค่านิยมทางศีลธรรมเหล่านี้เช่นกัน เมื่อใดที่พวกเขามีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพื้นฐานร่วมกันดังกล่าว เมื่อนั้นความเชื่อใจ ความเคารพ และความสามัคคีก็จะสามารถงอกเงยขึ้นมาได้
ความจำเป็นของการศึกษาระหว่างศาสนามีความสอดคล้องเป็นอย่างมากกับความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตของประเทศเมียนมาร์ ประเทศไทย และประเทศศรีลังกาที่มีข้อขัดแย้งระหว่างชุมชนเกิดขึ้น ความรุนแรงภายในชุมชนคนธรรมดาเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ยิ่งรับไม่ได้เข้าไปอีกเมื่อชุมชนนักบวชเป็นผู้สนับสนุนความรุนแรงดังกล่าว ในบทความนี้ เรามาสำรวจดูขั้นตอนที่สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อบรรเทาสถานการณ์นี้กันเลยครับ
ในช่วงเวลามากกว่า 700 ปี มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ในโลกของพระพุทธศาสนา ที่นั่นมีปรมาจารย์ชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่ที่เขียนและสอนตำราต่าง ๆ ของตนซึ่งนำเสนอระบบลัทธิทางพระพุทธศาสนาของอินเดียทั้งสี่ระบบ และที่นั่นพวกท่านได้พบปะและโต้วาทีกับปรมาจารย์จากระบบความคิดแบบอื่น ๆ ณ ช่วงเวลานั้นด้วย ฝ่ายใดที่แพ้การโต้วาทีจะต้องยอมรับคำยืนยันของผู้ชนะเป็นความจริงสูงสุด การโต้วาทีเช่นนี้มีการเดิมพันสูง กล่าวคือ ผู้ชนะเท่านั้นจะเป็นผู้ที่ได้รับพระบรมราชูปถัมป์
นักเรียนพระสงฆ์ที่นาลันทาจึงได้รับการฝึกฝนด้านการโต้วาทีและศึกษาคำยืนยันต่าง ๆ ของระบบลัทธิแบบอื่นของอินเดียที่ไม่ใช่ทางพระพุทธศาสนาของอินเดีย จุดมุ่งหมายของการศึกษาดังกล่าวคือการลบล้างทิฐิเหล่านี้ สถาบันพระสงฆ์ของทิเบตได้สืบทอดธรรมเนียมการเรียนรู้ของนาลันทาต่อมา นั่นคือการเรียนรู้ผ่านการโต้วาทีและการเปรียบเทียบคำยืนยันของพระพุทธศาสนากับคำยืนยันของระบบลัทธิเก่าแก่ของอินเดียที่ไม่ใช่ทางพระพุทธศาสนา
ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะขยายธรรมเนียมของนาลันทาสำหรับการศึกษาแบบพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับแนวคิดที่ไม่ใช่ทางพระพุทธศาสนา ทั้งให้ครอบคลุมการศึกษาภายในอารามและการศึกษาทางโลก หลักสูตรต้องรวบรวมการศึกษาศาสนาอิสลาม แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญบางประการ จุดประสงค์ของการศึกษาต้องมุ่งไปที่การสำรวจพื้นฐานค่านิยมสากลที่ทั้งสองศาสนามีร่วมกัน การเรียนรู้ความแตกต่างทางปรัชญาต่าง ๆ ไม่ควรกระทำเพื่อลบล้างจุดยืนของฝ่ายตรงข้ามในการโต้วาที หากแต่การโต้วาทีควรมุ่งเน้นที่การสำรวจว่าระบบแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงนั้นสามารถสนับสนุนค่านิยมสากลด้านความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันได้อย่างไร
ผลลัพธ์ของการศึกษาในลักษณะนี้จะทำให้พุทธศาสนิกชนมีความเข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่า และเคารพหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม และตระหนักว่าอิสลามไม่คุกคามความเชื่อของพวกเขา ผลลัพธ์ดังกล่าวจะช่วยนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่มีความสามัคคีมากขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ทางเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเคยมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ในลักษณะนี้ คณะสงฆ์ทั้งหลายจึงสามารถแสดงตัวอย่างและเป็นผู้นำในการสนับสนุนสันติภาพได้
ตอนนี้เรามาดูตัวอย่างโดยสังเขปเกี่ยวกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลามและพระพุทธศาสนาที่ส่งเสริมค่านิยมสากลเหล่านี้กันครับ
ตามหลักของศาสนาอิสลามแล้ว พระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างมนุษย์ชายและหญิงขึ้นด้วยใจโอนเอียงและความโน้มเอียงอันบริสุทธิ์ในการเชื่อและยอมจำนนต่อพระเจ้าและในการปฏิบัติตามเจตจำนงของพระเจ้า เจตจำนงของพระเจ้ามีไว้เพื่อให้พวกเขาเชื่อฟังกฎจริยธรรมที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น และเพื่อให้พวกเขาบูชาพระองค์ผ่านการรักษาลักษณะนิสัยที่มีความเป็นเลิศและผ่านการรับใช้พระองค์ การรับใช้อันเป็นเลิศต่อพระเจ้าหมายถึง การปฏิบัติตัวด้วยความรักต่อทุกสรรพสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น การปฏิบัติเช่นนี้ถือเป็นการบูชาพระองค์รูปแบบหนึ่ง และช่วยนำพาผู้บูชาให้ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากขึ้น ซึ่งตรงตามเจตจำนงของพระเจ้า
แต่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ทั้งหลายพร้อมด้วยสติปัญญาและเจตจำนงเสรี ด้วยการใช้เจตจำนงเสรีและการใช้สติปัญญา ผู้คนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเชื่อฟังเจตจำนงของพระเจ้าดีหรือไม่ หากพวกเขาเลือกที่จะไม่เชื่อฟัง พวกเขาตกอยู่ใต้อิทธิพลของอารมณ์เชิงทำลายและเอาตนเองเป็นที่ตั้ง การกระทำเช่นนี้จึงนำไปสู่พฤติกรรมเชิงลบที่พระเจ้าทรงห้ามไว้
การปฏิบัติตัวด้วยความรักต่อผู้อื่นนั้นถือเป็นการกระทำด้วยเจตจำนงเสรีเช่นกัน และผู้คนสามารถใช้สติปัญญาของตนในการเลือกที่จะปฏิบัติเช่นนี้ หากพวกเขาปฏิบัติตัวด้วยความรักและความน้ำใจต่อผู้อื่น พวกเขากำลังปฏิบัติตามใจโอนเอียงภายในเพื่อเข้าใกล้ชิดกับพระเจ้า ในศาสนาอิสลาม เมื่อผู้คนสร้างความรักขึ้นสำหรับจักรวาลและมนุษยชาติในลักษณะที่บริสุทธิ์ที่สุด ความรักของพวกเขาไม่ใช่ความรักสำหรับจักรวาลหรือเพื่อนมนุษยชาติในตัวของมันเอง หากแต่เป็นความรักพระเจ้าผู้ทรงสร้างความเป็นเลิศในตัวพวกเขา
ตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าอันบริสุทธิ์ในตัว โดยไม่มีจุดเริ่มต้น ภาวะดังกล่าวนี้ทำให้พวกเขาสามารถบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ ในศาสนาอิสลาม ธรรมชาติอันบริสุทธิ์โดยกำเนิดทำให้ผู้คนสามารถใกล้ชิดพระเจ้า และในนิกายซูฟีบางนิกาย ธรรมชาติดังกล่าวนี้ทำให้ผู้ปฏิบัติหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งกับพระเจ้าได้ด้วย แต่พวกเขาไม่อาจเป็นพระเจ้าได้ ในพระพุทธศาสนา ไม่มีผู้ใดสร้างธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าในตัวผู้คน ภาวะดังกล่าวอยู่ในตัวผู้คนอยู่แล้วตามความเป็นจริง
นอกจากนี้ พระพุทธศาสนาสอดคล้องกับศาสนาอิสลามในการยืนยันเรื่องคุณสมบัติที่ดีในตัวคน เช่น มีความเห็นอกเห็นใจโดยกำเนิด และมีความสามารถทางสติปัญญาในการแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นอันตราย แต่ในพระพุทธศาสนา วินัยทางจริยธรรมตั้งอยู่บนรากฐานของความเข้าใจว่าการกระทำแบบใดนำมาซึ่งความทุกข์ และการกระทำแบบใดนำมาซึ่งความสุข ด้วยการใช้สติปัญญา ผู้คนสามารถวิเคราะห์และแยกแยะได้เองว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์และสิ่งใดเป็นอันตราย ในศาสนาอิสลาม สติปัญญาถูกใช้เพื่อตัดสินใจว่าจะเชื่อฟังเจตจำนงของพระเจ้าดีหรือไม่ สำหรับทั้งสองกรณี ผู้คนมีอิสระที่จะเลือกปฏิบัติในลักษณะที่เป็นประโยชน์หรือเป็นอันตราย และใช้ความสามารถในการแยกแยะของสติปัญญาตนเองตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ถึงแม้ว่าพระเจ้าและพระพุทธเจ้าจะเป็นผู้รอบรู้ ทั้งสองก็มิได้ทรงกำหนดตัวเลือกที่ผู้คนตัดสินใจกระทำไว้ล่วงหน้า
ตามหลักศาสนาอิสลาม พระเจ้าทรงสร้างกฎแห่งพฤติกรรมเชิงจริยธรรม และพระเจ้าทรงเป็นผู้ตัดสินด้วยรางวัลและการลงโทษ แต่พระเจ้าทรงมีความปราณีและทรงยกโทษให้ผู้ที่สำนึกผิดต่อการกระทำผิดของตนและยอมจำนนต่อเจตจำนงของพระเจ้า ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีผู้ใดสร้างกฎแห่งกรรมและเหตุและผลเชิงพฤติกรรมขึ้นมา สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติของความเป็นจริง ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นตามพฤติกรรมเชิงทำลายที่กระทำด้วยความอวิชชา ในขณะที่ความสุขเกิดขึ้นจากพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่กระทำด้วยปัญญาและความเห็นอกเห็นใจ อย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับในศาสนาอิสลาม หากผู้คนยอมรับการกระทำผิดอย่างเปิดเผยและเสียใจอย่างจริงใจ พระพุทธศาสนาสอนว่าพวกเขาสามารถหลีกเลี่ยงการประสบความทุกข์อันเกิดขึ้นจากการกระทำเชิงลบของตนได้ แต่การล้างบาปนี้ไม่ได้หมายถึงการขออภัยโทษและการรับการอภัยโทษจากพระพุทธเจ้า
ความรักในพระพุทธศาสนาคือ ความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นมีความสุขและมีเหตุสำหรับความสุข ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของการตระหนักรู้ว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน กล่าวคือ ทุกคนต้องการมีความสุขและไม่มีใครต้องการมีทุกข์ ในศาสนาอิสลาม ทุกคนมีความเท่าเทียมกันในลักษณะที่ว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนถูกสร้างโดยพระเจ้า อย่างไรก็ตาม สำหรับทั้งสองกรณี ทุกสรรพสิ่งมีความเท่าเทียมกัน
พระพุทธศาสนาสอนว่า ทุกสรรพสิ่งมีความสามารถและมีสิทธิ์ที่จะมีความสุข เนื่องจากมีธรรมชาติแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า ดังนั้น การสร้างความรักสำหรับผู้อื่นจึงกระทำจากการพิจารณาถึงความสุขของผู้อื่น ความรักและการรับใช้ผู้อื่นไม่ใช่การบูชาพระพุทธเจ้า ในการรักต่อผู้อื่นนี้ ผู้นั้นสะสมบุญเพื่อบรรลุเป็นพระพุทธเจ้าเอง ในลักษณะนี้พวกเขาจึงเข้าใกล้พุทธภาวะมากขึ้น แต่ไม่ใช่การเข้าใกล้พระพุทธเจ้ามากขึ้นเหมือนในศาสนาอิสลาม
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถึงแม้พระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามจะมีข้อแตกต่างเชิงปรัชญา คำสอนของทั้งสองศาสนาล้วนสนับสนุนค่านิยมสากลของความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และการให้อภัยอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาระหว่างศาสนานั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นระหว่างศาสนา สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมนั้นมีความหลากหลายและซับซ้อน นอกจากนั้น ข้อขัดแย้งเหล่านี้ยังแตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่มีแรงเสียดทานเกิดขึ้น ความแตกต่างเกี่ยวกับความเชื่อของแต่ละศาสนามักไม่ใช่เหตุผลของข้อขัดแย้งในปัจจุบัน บ่อยครั้งประเด็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง ภาษา เชื้อชาติ และประวัติศาสตร์มีบทบาทสำคัญกว่าในการสร้างความเป็นปรปักษ์ระหว่างกัน กระนั้นแล้ว การศึกษาระหว่างศาสนาก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับการสร้างความเคารพระหว่างทั้งสองฝ่าย แต่การศึกษาที่กว้างขวางขึ้นเท่านั้นที่จะสามารถเปลี่ยนจากการโทษความแตกต่างระหว่างศาสนาเท่านั้นในฐานะสาเหตุของข้อขัดแย้ง และหันไปพิจารณาสาเหตุพื้นฐานทางด้านสังคม ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจแทน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจใด ๆ ให้สำเร็จได้นั้น นโยบายเหล่านี้จำเป็นต้องมีรากฐานอยู่บนการยืนยันค่านิยมสากลที่ทั้งพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามมีร่วมกัน การศึกษาคือกุญแจสำคัญ และผมหวังว่านาลันทาจะสามารถก้าวเป็นผู้นำในด้านนี้ได้อีกครั้ง ขอบคุณครับ