ลักษณะบางประการที่ศาสนาอิสลามและพระพุทธศาสนามีร่วมกัน

บทสนทนากับ ดร.สนะเยซานา อัคพีนาร์ และ ดร.อเล็กซานเดอร์ เบอร์ซิ่น

ชาวตะวันตกหลายคนไม่มีความรู้และหวาดกลัวเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม  วารสาร Inquiring Mind จึงจัดบทสนทนาระหว่าง ดร.อเล็กซานเดอร์ เบอร์ซิ่น และดร.สนะเยซานา อัคพีนาร์ ขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะลบล้างความเข้าใจผิดบางประการที่มักเกิดขึ้นและค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาพุทธ

ดร.เบอร์ซิ่นอาศัยอยู่ในเมืองธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เป็นเวลา 29 ปี โดยทำหน้าที่เป็นล่ามครั้งคราวให้กับสมเด็จองค์ดาไลลามะ  ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเขาสอนการทำสมาธิและปรัชญาทางพระพุทธศาสนาแบบทิเบตอยู่ที่นั่น  ในระหว่างการเดินสายบรรยายทั่วโลกหลายครั้ง เขาได้ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิม  ในการค้นคว้าวิจัยสำหรับหนังสือประวัติศาสตร์ออนไลน์ของเขาชื่อว่า The Historical Interaction between the Buddhist and Islamic Cultures before the Mongol Empire (ปฏิสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างวัฒนธรรมพุทธและอิสลามก่อนอาณาจักรมองโกเลีย) เขาได้บรรยายอยู่ที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศตุรกี จอร์แดน อียิปต์ รวมถึงพูดคุยกับนักวิชาการในประเทศอุซเบกิสถาน ประเทศคีร์กีซสถาน และประเทศคาซัคสถาน

ดร.อัคพีนาร์นับถือพระพุทธศาสนา แต่งานศึกษาของเธอนั้นเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม  ในขณะที่ดั้งเดิมแล้วเธอจะมาจากสาธารณรัฐโครเอเชีย ซึ่งเคยขึ้นกับยูโกสลาเวียมาก่อน บิดาของเธอซึ่งเป็นนักวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้เดินทางไปยังประเทศศรีลังกาในวัยชราและบวชเป็นพระสงฆ์ที่นั่น  ดร.อัคพีนาร์ใช้เวลาครึ่งสัปดาห์ที่ City of Ten Thousand Buddhas (นครพระพุทธะเจ้าหนึ่งหมื่นพระองค์) ซึ่งเป็นอารามพระพุทธศาสนาแบบจีนทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เธอสอนชาวพุทธเกี่ยวกับโลกตะวันตก และใช้เวลาที่เหลืออีกครึ่งสัปดาห์ที่สมาคม บัณฑิตสมาคมเทววิทยา (Graduate Theological Union) ที่ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (Berkley) สอนหลักสูตรเกี่ยวกับศาสนาอิสลามและศาสนาเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งสอนชาวคริสต์เกี่ยวกับโลกตะวันออก

ดร.เบอร์ซิ่น คุณมักนำเสนอพระพุทธศาสนาต่อโลกอิสลาม  เวลานำเสนอ คุณเน้นด้านใดบ้าง แล้วได้รับผลตอบรับอย่างไรบ้าง?

ดร.เบอร์ซิ่น (อ.บ.): แนวทางของผมคือการเรียนรู้จากผู้ฟังชาวมุสลิมเสมอ  ผมได้อธิบายให้พวกเขาฟังว่า ผมคิดว่าศาสนาอิสลามได้รับการนำเสนอในทางที่ผิดไปจากความจริงเป็นอย่างมากในประวัติศาสตร์ฉบับมาตรฐานต่าง ๆ  ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นง่าย ๆ เลยว่าชาวมุสลิมเข้ามาในวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาและทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง  จริง ๆ แล้วพระพุทธศาสนากับศาสนาอิสลามมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิงที่เป็นสร้างสรรค์อย่างมากมายาวนาน  เมื่อคุณมองด้านที่เป็นเชิงทำลาย ด้านนี้ดูเหมือนว่าจะได้รับแรงจูงใจจากการพิจารณาทางด้านเศรษฐกิจและด้านการเมืองเป็นส่วนใหญ่ แทนที่จะเป็นด้านเกี่ยวกับศาสนา  ผมจึงถามเพื่อขอความกระจ่างเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์นี้

ในทำนองเดียวกัน จุดนี้ก็ทำให้ผู้ฟังชาวมุสลิมตั้งคำถามเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา  ตามสถาบันทางเทวศาสตร์หลายแห่งที่ผมไปเยือนในโลกอิสลาม นักวิชาการชาวอิสลามมีความสนใจเรื่องการอภิปรายทั้งหมกเกี่ยวกับพระเจ้าเป็นอย่างมาก  ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ส่วนตัวในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม ว่าไม่มีทางที่จะพูดต่อผู้ฟังชาวอิสลามได้เลยว่า “พระพุทธศาสนาไม่เชื่อในพระเจ้า”  การกล่าวเช่นนี้จะนำไปสู่การปิดประตูในทันที  ในอินโดนีเซียมีนโยบายการยอมรับศาสนาห้าอย่างโดยดูจากความเชื่อเรื่องพระเจ้าของศาสนาเหล่านั้น นั่นคือศาสนาฮินดู ศาสนาอิสลาม คริสต์โปรแตสแตนท์ คริสต์คาทอลิก และพระพุทธศาสนา  ชาวพุทธในอินโดนีเซียแนะนำความเชื่อเรื่องพระเจ้าในพระพุทธศาสนา โดยพูดถึงในเชิงของ พระอาทิพุทธะ (Adibuddha) ซึ่งมาจากหลักคำสอนของกาลจักร (วัฏจักรของเวลา) ที่ได้รับการเผยแพร่ไปถึงประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลามากกว่าพันปีที่แล้วเล็กน้อย  พระอาทิพุทธะมีความหมายโดยตรงถึงพระพุทธเจ้าองค์แรกและองค์ลำดับต้น  ชาวพุทธในอินโดนีเซียไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับอาทิพุทธะอย่างถ่องแท้ แต่พวกเขาก็กล่าวโดยไม่อธิบายว่า “ที่นี่เราก็มีสิ่งที่เท่าเทียมกับพระเจ้าเหมือนกัน”  แน่นอนว่าเมื่อผมไปเยือนอินโดนีเซีย ชาวพุทธในอินโดนีเซียก็ถามผมว่าแท้จริงแล้ว พระอาทิพุทธะหมายถึงอะไร  ผมจึงอธิบายไปว่าคุณสามารถพูดถึงพระอาทิพุทธะในเชิงจิตใจแสงสว่างก็ได้  ในแต่ละคนนี่คือผู้สร้างลักษณะท่าทางของเรา คือสิ่งที่เรารับรู้  ดังนั้นในลักษณะนี้พระอาทิพุทธะก็เหมือนกับผู้สร้างนั่นเอง

ด้วยการใช้การตีความเชิงทั่วไปเกี่ยวกับพระอาทิพุทธะ ผมจึงสามารถเข้าร่วมบทสนทนากับนักวิชาการอิสลามในประเทศอื่นได้  นักวิชาการอิสลามมักค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องนี้ เพราะว่าในศาสนาอิสลามเอง พระอัลลอฮ์ก็ไม่ได้นิยามเป็นบุคคล  ในทำนองเดียวกัน พลังสร้างสรรค์ในจิตใจของแต่ละคนนี้ ซึ่งอาจมองว่าเป็นสิ่งที่เหมือนกับพระเจ้าผู้สร้างในตัวแต่ละคนก็ได้ จึงไม่ได้รับ

การนิยามในเชิงบุคคลเช่นกัน  ตามที่นำเสนอในนิกายเนียงมา (Nyingma) คักยู (Kagyu) และสากยะ (Sakya) ของพระพุทธศาสนาแบบทิเบต พระอาทิพุทธะนั้นอยู่เหนือคำพูดใด ๆ อยู่เหนือแนวคิดใด ๆ ไม่สามารถจินตนาการได้  นักวิชาการอิสลามสามารถเข้าใจจุดนี้ได้ดีมาก  นอกจากนี้หลักการขั้นพื้นฐานของความรักและความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นแก่นของหลักคำสอนเหล่านี้ก็ทำให้นักวิชาการอิสลามเปิดกว้างในการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก

ตามประวัติศาสตร์แล้ว ชาวพุทธในพื้นที่อย่างประเทศอัฟกานิสถาน เอเชียกลาง และอนุทวีปอินเดียนั้นไม่ถือว่าเป็น “ผู้คนของคัมภีร์” โดยผู้นำประเทศมุสลิม ซึ่งตามการใช้อย่างเคร่งครัดตามคัมภีร์อัลกุรอาน คำนี้หมายถึงชาวคริสต์และชาวยิว  กระนั้นแล้วชาวพุทธก็ได้รับสถานะและสิทธิเดียวกันในฐานะ “ผู้คนของคัมภีร์”  นี่หมายความว่าพวกเขาสามารถคงศาสนาของตนไว้ได้ ตราบใดที่พวกเขาจ่ายภาษีโพลพิเศษ  ดังนั้นในบทสนทนาของผมกับนักวิชาการชาวมุสลิม เราจึงช่วยกันสำรวจว่า “ผู้คนของคัมภีร์” หมายความว่าอย่างไร  ผมพบกับผู้นำซูฟีชาวแอฟริกันตะวันตกผู้หนึ่งที่มาจากประเทศกีนี  เขาอธิบายว่า “ผู้คนของคัมภีร์” หมายถึงผู้คนที่เชื่อในหลักการนามธรรมของจริยธรรมและศีลธรรมที่สูงกว่า ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่สร้างหรือกำหนดโลก  จุดนี้ไม่จำเป็นต้องหมายถึงผู้คนที่ยอมรับในคัมภีร์ห้าเล่มของโมเสส หรือ โทราห์ (The Five Books of Moses หรือ Torah)  นอกจากนั้นในการค้นคว้าต่อมาของผม สิ่งที่ทำให้ผมประหลาดใจคือ ในภาษาเติร์กเก่าแก่ (Old Turk) และภาษาซอกเดียน  (Sogdian) ซึ่งเป็นภาษาโบราณที่มีการแปลตำราพระพุทธศาสนาไว้ในประเทศซึ่งเป็นอุซเบกิสถานและอัฟกานิสถานตอนเหนือในปัจจุบันนี้ คำว่า ธรรมะ ได้รับการแปลโดยยืมคำว่า นม (nom) จากภาษากรีกมาใช้ ซึ่งมีความหมายดั้งเดิมว่า “กฎหมาย”  จากนั้นคำว่า นม สำหรับธรรมะก็ได้รับการยืมจากภาษาซอกเดียนไปใช้ในภาษาเอเชียกลางอื่น ๆ ที่มีการแปลตำราพระพุทธศาสนา  เช่น ภาษาอุยกูร์ (Uighur) ซึ่งเป็นตระกูลภาษาเติร์ก และภาษามองโกเลีย  ในภาษามองโกเลียสมัยใหม่ “นม” ไม่ใช่คำแปลสำหรับ “ธรรมะ” อย่างเดียว อีกต่อไปคำนี้ได้รับความหมายอีกอย่างว่า “คัมภีร์” ด้วย ซึ่งหมายถึงหนังสือที่ที่จดบันทึกพระธรรมไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

แต่จริง ๆ แล้วพุทธศาสนิกชนไม่มีคัมภีร์ในลักษณะเดียวกับที่ชาวมุสลิม ชาวคริสต์ และชาวยิวมี คัมภีร์ห้าเล่มของโมเสส ไม่ใช่หรือ?

อ.บ. ไม่มีครับ แต่ประเด็นของ “คัมภีร์” บ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายเชิงจริยธรรมในฐานะเป็นพื้นฐานสำหรับบทสนทนาและความสามัคคีระหว่างศาสนา

ดร.อัคพีนาร์ (ส.อ.): ดิฉันมองในลักษณะที่คล้ายกันนี้เหมือนกัน  เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จำไว้ว่าบิดาแห่งวัฒนธรรมเตอร์กหลาย ๆ ด้านก่อนที่พวกเขาจะมาเป็นชาวมุสลิมคือ เจงกิส ข่าน (Genghis Khan) ผู้เอาชนะและปกครองพวกเขาตามสิ่งที่เรียกว่า ยาซา (yasa) ซึ่งแปลว่า “กฎหมาย”  แน่นอนว่ากฎหมายในที่นี่เป็นกฎหมายทางโลกมากกว่า แต่แนวคิดของ ยาซา นั้นมีความคล้ายคลึงกับแนวคิดของพระธรรมเป็นอย่างมาก  มันเป็นกฎหมายชั่วนิรันดร์ที่เปลี่ยนโลก

อ.บ. ผมคิดว่าประเด็นคือ คุณจำเป็นต้องหาการใช้งานคำศัพท์ที่เหมือนกัน ซึ่งทำให้ศาสนิกชนของทั้งสองศาสนาสามารถเปิดบทสนนาระหว่างกันได้

ส.อ. ใช่แล้วค่ะ  หลักคำสอนเรื่อง ชารีอะห์ (shariah) ของศาสนาอิสลามมีความคล้ายคลึงกับบางส่วนในพระพุทธศาสนาอยู่  ชารีอะห์ เป็นคำศัพท์ภาษาอาราบิค ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่ผู้คนต้องเชื่อฟังเพื่อทำให้การสัญจรในโลกเป็นไปได้ง่าย  นี่เป็นเพียงแค่ตัวแปรที่ทำให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในความสามัคคี  ตามหลักของชารีอะห์ คุณต้องรู้วิธีการจัดการกับสัญชาตญาณ ความเคลือบแคลงใจ และการหยั่งรู้ของตนเอง  ดังนั้นชารีอะห์จึงไม่ใช่ชุดข้อศีล แต่เป็นชุดวิธีการที่ใช้ในการบรรลุความจริง  มันคล้ายกับการทำสมาธิมากเลย

และ ทาริกาห์ (tariqah) หรือ "เส้นทาง" มักถูกอธิบายว่าเป็นแกนกลางของชารีอะห์ ถ้าคุณคิดว่าชารีอะห์เป็นเส้นรอบวงของวงกลม ทาริกาห์จะนำคุณไปอยู่ตรงกลาง ถ้าคุณคิดว่าชารีอะห์เป็นทรงกลม ทาริกาห์เป็นศูนย์กลางของทรงกลม ซึ่งเชื่อมโยงคุณกับทรงกลมอื่นๆ เป็นเส้นทางตรงสู่พระเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่รู้จัก ความว่างเปล่า

ดังนั้นจึงมีแนวความคิดในศาสนาอิสลามที่คล้ายกับแนวคิดทางพุทธศาสนามาก ส่วนใหญ่มาจากเอเชียกลางตั้งแต่แรก ดังนั้นแนวความคิดดั่งกล่าวจึงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามากที่สุด แม้กระทั่งในระดับประวัติศาสตร์ เป็นที่น่าสนใจที่จะสังเกตความเชื่อมโยงเพิ่มเติมระหว่างศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ เทววิทยาของอัลเฆาะซาลี (al-Ghazali) นักศาสนศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ของศาสนาอิสลาม คือสิ่งที่กระตุ้นให้ทอมัส อไควนัส (Thomas Aquinas) เขียนเทววิทยาของเขาเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องศรัทธาและเหตุผล ประเด็นเหล่านี้ได้ถูกกล่าวถึงในเอเชียกลางในหมู่ชาวพุทธและผู้ที่ไม่ใช่ชาวพุทธอย่างละเอียดถี่ถ้วน

อ.บ. แนวคิดอย่าง ญิฮาด (jihad) ซึ่งแปลว่า “ความพยายามอย่างเหมาะสม” ก็มีความสัมพันธ์กับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

ส.อ. การคิดของคุณสามารถเป็นญิฮาด  ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณทำสามารถเป็นญิฮาดได้

อ.บ. ลักษณะเชิงสงครามของคำว่า ญิฮาด ก็สามารถพบได้บ่อยในคำศัพท์ของพระพุทธศาสนาเช่นกัน  จุดนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะยังไงแล้วพระพุทธเจ้าเองก็ทรงมาจากวรรณะนักรบนักปกครอง  ในการใช้ความมุมานะพยายามอย่างเหมาะสม พระพุทธเจ้าเองได้รับการกล่าวถึงในฐานะผู้มีชัยชนะ (Triumphant One) ผู้ซึ่งชนะสงครามของอารมณ์รบกวนทั้งหลาย  ถ้าอย่างนั้นสงครามนี้เกิดขึ้นที่ไหนเหรอ?  มันเกิดขึ้นภายในจิตใจ  มันเป็นการต่อสู้กับความไม่รู้ ความโลภ การยึดติด ความโกรธและความเกลียดนั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีอิทธิพลมากมายระหว่างขบวนการซูฟีกับศาสนาพุทธในเอเชียกลางและอินเดีย คุณพบการปฏิบัติในลัทธิซูฟีที่คล้ายกับการสวดมนตร์ เช่นเดียวกับชาวซูฟิท่องพระนามของพระเจ้า ชาวพุทธก็สรรเสริญชื่อของพระมัญชุศรี นอกจากนี้ยังมีแนวปฏิบัติที่เข้าใจได้สำหรับทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ รวมถึงการเวียนเทียนและการแสวงบุญ ในทั้งสองศาสนา มีการเน้นที่ความเอื้ออาทรและทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นการยากที่จะพูดเกี่ยวกับคุณลักษณะส่วนบุคคล ไม่ว่าอิทธิพลจะมาจากด้านใดด้านหนึ่ง หรือว่าพวกเขาพัฒนาขึ้นโดยอิสระจากกันหรือไม่

ส.อ. ในช่วงเวลาหลายศตวรรษที่ผ่านมา มีการติดต่อโดยตรงระหว่างอินเดียและอ่าวเปอร์เซียอยู่มาก  ในช่วงแรก เมืองบัสราเป็นเมืองท่าที่รุ่งเรือง และเมื่อใดที่มีผู้คนเจ็บป่วยหนักในอ่าวเปอร์เซีย พวกเขาจะล่องเรือออกไปยังบอมเบย์ เพราะลมมรสุมจะพาพวกเขาไปถึงที่ได้เร็ว  การแลกเปลี่ยนกันในเรื่องเทวศาสตร์ก็เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงยุคแรก ๆ นี้เช่นกัน

อ.บ. แน่นอนว่ากรุงแบกแดดสร้างโดยสถาปนิกชาวอินเดีย เพื่อเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ใหม่นามว่า อับบาซียะฮ์ (Abbasid) ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่เก้า มีบ้านแห่งความรู้ในกรุงแบกแดด ซึ่งเป็นที่ที่นักแปลชาวพุทธและฮินดูจะมาแปลตำราต่าง ๆ เป็นภาษาพื้นเมือง นั่นคือภาษาอาราบิค  ที่นั่นจึงมีการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมมากมาย  หนึ่งในศาสตร์ที่ได้รับการแลกเปลี่ยนเป็นอย่างมากคือวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ และแพทยศาสตร์

ส.อ. แล้วก็ยังมีปรัชญาด้วย  ดิฉันคิดว่าความผิดพลาดในโลกตะวันตกคือ เมื่อใดก็ตามที่มีการพูดถึงปรัชญาในบริบทของมุสลิม จะต้องเชื่อมโยงไปยังกรีก ซึ่งจริง ๆ แล้วแนวคิดเชิงปรัชญาหลายอย่างในส่วนนี้ไม่ได้มาจากกรีก แต่มาจากอินเดียหรือโลกตะวันออก

อ.บ. บทสนทนาระหว่างผู้นำทางศาสนาชาวมุสลิมและผู้นำของศาสนาอื่นนั้นยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะโดยสมเด็จองค์ดาไลลามะ  ท่านสมเด็จทรงเคยขอให้ผมติดต่อผู้นำซูฟีผิวสีจากแอฟริกาตะวันตกมาให้ท่าน ซึ่งมีความเจาะจงมาก ๆ เลยนะครับ  เพื่อมาอภิปรายร่วมกันเกี่ยวกับทั้งสองศาสนา  ผู้นำแบบนี้แทบตกลงมาจากฟ้า  ดร.ทีร์มีซีอู ดิอาลโล (Dr. Tirmiziou Diallo) ผู้นำจากการสืบทอดซูฟีแห่งประเทศกีนีในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งผมได้กล่าวถึงในตอนต้น และผมได้รู้จักผ่านเพื่อนชาวเยอรมันที่เรามีร่วมกันในคณะทูต  ผมพาเขาไปยังธรรมศาลาเพื่อไปพบท่านสมเด็จ  หัวข้อที่ทั้งสองสนใจอภิปรายมากที่สุดคือเรื่องความเห็นอกเห็นใจ  ในลัทธิซูฟีแบบแอฟริกาตะวันตก หลักการสำคัญคือความรักและความเห็นอกเห็นใจ  ผู้นำซูฟีรู้สึกซาบซึ้งในประสบการณ์การพูดคุยกับท่านสมเด็จมาก จนเขามาร่วมพิธีรับเข้ากาลจักรที่ท่านสมเด็จจัดขึ้นที่เมืองกราซ ประเทศออสเตรียในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ส.อ. บททุกบทในคัมภีร์อัลกุรอานเริ่มต้นด้วยคำอ้อนวอนต่อพระเจ้าผู้ซึ่งปราณีและเห็นอกเห็นใจ  ดิฉันมองคัมภีร์อัลกุรอานว่าเป็นการตีความของคัมภีร์ห้าเล่มของโมเสส เพราะทุกคนทราบเรื่องราวของคัมภีร์ห้าเล่มของโมเสสในยุคศาสดามูฮัมหมัด  แต่สิ่งที่มูฮัมหมัดใส่เข้าไปในธรรมเนียมโบราณของชาวเซมิต (Semites) คือแนวคิดของความเห็นอกเห็นใจภายใต้กฎศักดิ์สิทธิ์  ในการสร้างธรรมเนียมการพูดว่า “ตาต่อตา” เขาชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงมีความเห็นอกเห็นใจ และถ้าคุณสามารถหาความเห็นอกเห็นใจนั้นภายในตัวคุณให้เจอได้ก็จะดีขึ้นอีกมาก  แต่ถ้าคุณหาไม่เจอ อย่างน้อยก็ให้เอาแค่ตาไปข้างเดียวและพอแค่นั้น  ดังนั้นตลอดทั้งคัมภีร์อัลกุรอานจึงมีการลดลงของกฎแห่งกรรมสนอง

มีเรื่องราวอันสวยงามจากศาสนาอิสลามที่พูดถึงปัญหาสำคัญ คือทำไมชาวมุสลิมถึงต้องต่อสู้?  ในตอนแรกมุฮัมหมัดไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเหมือนกับศาสดาอื่นที่ได้รับแรงดลใจจากพระเจ้า  แต่ชุมชนของเขากำลังร่อยหรอไปเรื่อย ๆ และพวกเขากำลังถูกโจมตี  ในที่สุดเขาเห็นว่าเขาไม่อาจระงับสาวกของเขาไม่ให้ต่อสู้ไว้ได้อีกแล้ว  นั่นคือตอนที่มุฮัมหมัดเอ่ยคำพูดอันโด่งดังที่ว่า

ข้าเห็นแล้วว่าข้าไม่อาจหยุดสิ่งนี้ได้  ดังนั้นหากเจ้าต้องต่อสู้ ก็จงทำเสีย แต่อย่าลืมว่าตั้งแต่นี้ไป ภาระจากการกระทำของเจ้าจะตกอยู่กับเจ้าแล้ว และศาสนาของเจ้าจะไม่อาจบริสุทธิ์ได้จนกระทั่งเจ้ารับผิดชอบต่อภาระการกระทำของตนเอง

นั่นคือกฎแห่งกรรมในคำสอนนี้

คำว่า ก็อดรฺ (qadr) หมายถึงกำลัง  ปกติแล้วในโลกตะวันตกคุณมอง ก็อดรฺ ในลักษณะของโชคชะตาก็ได้  อย่างไรก็ตามคำว่าโชคชะตาก็สามารถตีความว่าเป็นกรรมได้เช่นกัน  โปรดสังเกตว่ามุฮัมหมัดพูดว่าอย่างไรต่อไป

เมื่อเจ้าได้ล้มศัตรูด้วยการใช้คมดาบของเจ้าปักคอของเขา แล้วเขาร้องขอความปราณี หากเจ้าสามารถหาความรู้สึกของความเห็นอกเห็นใจในตัวเจ้าได้ สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำคือการให้อภัยเขา ณ ที่นั้น และเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นเพื่อน  หากเจ้าไม่สามารถหาความเห็นอกเห็นใจสำหรับคนคนนั้นได้แม้แต่น้อยในตัวเจ้า ก็จงลงมือฆ่าเขาเสีย  แต่จงพยายามหาความเห็นอกเห็นใจนั้น เพราะเจ้ามีความรับผิดชอบต่อพระเจ้า

จริง ๆ แล้วชาวมุสลิมยุคแรก ๆ เลย คือผู้ที่เปลี่ยนศาสนาในสมรภูมิรบ  แต่หลักการคิดในจุดนี้คือ ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการไว้ชีวิต หากแต่เป็นผู้ที่ให้ชีวิตที่จะกลายเป็นคนดีขึ้น

ถ้าอย่างนั้นความเห็นอกเห็นใจสอดคล้องกับบริบทของญิฮาดในศาสนาอิสลามยุคปัจจุบันอย่างไร?

ส.อ. ดูเหมือนจะไม่เข้ากัน  ทุกวันนี้เรามีศาสนาอิสลามในรูปแบบที่ชอบต่อสู้มากมายหลายประเภทที่แยกออกมาจากการสืบทอดแบบดั้งเดิม  ชาวมุสลิมยุคหลัง (Neo-Muslims) กลุ่มนี้มักอ้างว่าตนไม่จำเป็นต้องเรียนรู้คัมภีร์ อัลกุรอาน ถึงแม้ว่านี่จะเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นรากฐานของศาสนาอิสลามก็ตาม  สำหรับคนกลุ่มนี้ การศึกษาสองบทแรก ๆ ก็เพียงพอแล้ว และลืมส่วนที่เหลือ  เมื่อคุณเริ่มทำแบบนั้น คุณก็ทำลายศาสนา

อ.บ. เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องเน้นย้ำว่า ชาวมุสลิมที่เป็นพวกชอบต่อสู้ เป็นพวกคลั่ง หรือเป็นพวกมูลฐานนิยมนั้นเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยมากในศาสนาอิสลาม  คุณมีพวกคลั่งมูลฐานนิยมในทุกศาสนาแหละครับ รวมทั้งในพระพุทธศาสนาด้วย

มีหลักคำสอนใดในศาสนาอิสลามที่นำไปสู่ หรือสร้างความถูกต้องให้กับการวางระเบิดฆ่าตัวตายหรือไม่?

ส.อ. ในศาสนาอิสลาม ซึ่งเหมือนกับในศาสนาคริสต์ มีผู้ยอมสละชีวิตเพื่อศาสนา  มือวางระเบิดฆ่าตัวตายอ้างว่าตนเองเป็นผู้ยอมสละชีวิตเพื่อศาสนา แต่พวกเขาฆ่าตัวเอง  กฎข้อแรกคือ “เจ้าจะไม่ฆ่า” โดยเฉพาะฆ่าตัวเอง  ผู้คนเหล่านี้ไม่ใช่ผู้สละชีวิต แต่เป็นเพียง “ผู้ฆ่าตัวตาย”

พุทธศาสนิกชนหลายคนในโลกตะวันตกรู้จักศาสนาอิสลามผ่านกวีชาวซูฟีอย่างรูมี (Rumi) และฮาฟิซ (Hafiz) เป็นหลัก  ทั้งสองเน้นเรื่องความรักและการอุทิศตนอย่างสมบูรณ์ให้กับพระเจ้า หรือพระเจ้าตามที่ปรากฏอยู่ในทุกสรรพสิ่ง  ถึงแม้ว่าผู้คนจะชื่นชอบกวีทั้งสองและแนวทางปฏิบัติดังกล่าวเป็นอย่างมาก ความรักอันน่าปลาบปลื้มที่พวกเขาพูดถึงนั้นดูจะไม่มีที่ยืนในพระพุทธศาสนาตามที่ชาวตะวันตกนับถือเท่าไหร่นัก ซึ่งเกี่ยวกับการนั่งสมาธิในความเงียบและการสำรวจภายในตนเอง

ส.อ. มีชาวมุสลิมที่ไม่ได้รู้สึกปลาบปลื้มยินดีเหมือนกันค่ะ  บทกลอนเหล่านั้นมีพลังชัดเจนมากและน่าจะมีรากฐานมาจากศาสนาฮินดู หรือในนิกายการอุทิศตนแบบอื่น ๆ ของอินเดีย  แต่ก็มีอีกธรรมเนียมหนึ่งจากเอเชียกลางที่เชื่อมสะพานระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาพุทธในวิธีที่น่าสนใจมาก  นี่คือสิ่งที่คนจีนเรียกว่า “กลอนคู่สองบรรทัด” หรือบทกวีสี่บรรทัด  ในภาษาตระกูลเติร์ค เรียกว่า โกศมา (koshma) ซึ่งหมายถึง “สิ่งที่ดำเนินผ่านจิตใจ”  มันคือความคิดที่คุณจับไว้ได้ในขณะที่มันกำลังวิ่งหนีไป  คือความคิดที่คุณควรปล่อยมันไป แต่คุณก็จับมันไว้อยู่ดี  คุณเขียนกลอนสองบรรทัดชุดหนึ่ง และเพิ่มประโยคสุดท้ายเข้าไปเพื่อเปลี่ยนความหมายทั้งหมด  พูดอะไรบางอย่างที่ไม่มีเหตุผล  ที่แท้จริงแล้วมันก็คือบทพิจารณาในนิกายเซน (koan) นั่นเอง  กวีที่มีชื่อเสียงอย่างโอมาร์ คัยยาม (Omar Khayyam) ใช้แรงบันดาลใจจากจุดนี้ และชาวซูฟีหลายคนก็เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเอเชียกลาง  ตัวอย่างที่ดีคือกวีพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงจากตุรกี นามว่า ยูนุส เอมเร (Yunus Emre) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะผู้นับถือซูฟีเช่นกัน   บทกลอนหลายบทของเขาเริ่มต้นด้วยการครุ่นคิดเกี่ยวกับหลุมศพในสุสาน ซึ่งเป็นรูปแบบทั่วไปในการฝึกสมาธิ

ลัทธิซูฟีมีการนั่งสมาธิในความเงียบหรือไม่?

ส.อ. มีค่ะ ขึ้นอยู่กับสาย  บางสายให้ตะโกน กรีดร้อง ตะเบ็งเสียง และเต้น บางสายก็กระทำในความเงียบ

อ.บ. ในทางกลับกัน มิติของการอุทิศตนที่พบได้ในหลากหลายนิกายของซูฟีก็พบได้อยู่ในกลุ่มชาวตะวันตกที่ปฏิบัติในศูนย์พระพุทธศาสนาแบบมหายานหลายแห่งเช่นกัน  ผู้ปฏิบัติชาวพุทธหลายคนชื่นชอบการมารวมตัวกันเพื่อสวดมนต์และร้องเพลง และบางกลุ่มก็ปฏิบัติสิ่งที่เรียกว่า “การเต้นแบบพระวัชระ” (vajra-dances)

ช่วยอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับพระอัลลอฮ์ในเชิงเปรียบเทียบกับแนวคิดเรื่องพระเจ้าในศาสนาอื่น ๆ และกับหลักคำสอนที่เกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนาหน่อยครับ?

อ.บ. พระพุทธศาสนามีบางด้านที่สามารถกำหนดให้กับพระอัลลอฮ์ หรือพระเจ้าโดยทั่วไป แต่ไม่ได้รวมทั้งหมดไว้ในคำเดียว  อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาไม่ได้ยืนยันหลักการหรือความเป็นจริงบางอย่างที่อยู่นอกเหนือหรือแยกต่างหากจากตัวเราและจักรวาลที่เราอยู่ในลักษณะสองนัยยะที่เหนือขึ้นไป  หลักการสูงสุดในพระพุทธศาสนาที่เชื่อมทุกสรรพสิ่งเข้าไว้ด้วยกันคือ “สุญญตา”  สุญญตาหมายถึงข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ในรูปแบบที่เป็นไปไม่ได้ ที่จินตนาการสร้างภาพขึ้นมา โดยไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นใดเลย  หากแต่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดและทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กัน  หากคุณพูดในแง่ของสุญญตา มันนี้ไม่ได้แยกออกจากเราและโลกของเรา ถึงแม้ว่านิกายทิเบตบางนิกายจะกล่าวถึงสิ่งนี้ว่าอยู่นอกเหนือคำพูดและแนวคิดใด ๆ  เนื่องจากสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั้งหมดพึ่งพากันและกัน เราจึงต้องมีความเป็นห่วงเป็นใยและมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นทุกคน  คุณสมบัติของความเห็นอกเห็นใจไม่ได้แยกออกหรืออยู่นอกเหนือตัวเรา หากแต่ติดตัวเราทุกคนมาแต่กำเนิด

ส.อ. ดิฉันคิดว่าพระอัลลอฮ์ก็ความไม่มีสิ่งใดเลย และเวลาที่คุณเอ่ยบทมันตราขั้นพื้นฐานของศาสนาอิสลาม “ละอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์”  (“La Ilaha ‘Ila Al-lah” ซึ่งเขียนอยู่บนธงชาติซาอุดิ) จริง ๆ แล้วบทนี้เชื้อเชิญให้คุณท่องว่า “ไม่มีพระเจ้านอกจากอัลลอฮ์” ซ้ำไปซ้ำมา ในขณะที่คุณลดพยางค์ลงไปหนึ่งพยางค์ หรือลด “ลาฮ์” (lah) ลงไปในแต่ละครั้ง

คำว่า “ลาฮ์” แปลว่า “ไม่” จึงเป็นการลบล้าง  ดังนั้น อัลลอฮ์คือผู้ยิ่งใหญ่ “ไม่”  อัลลอฮ์คือสิ่งที่คุณจินตนาการไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง  และดังนั้นคำว่า “อาฮ์” (ah) ตอนท้ายของคำว่า ลาฮ์ จึงบ่งบอกถึงความไม่มีอะไรเลย  เมื่อคุณท่อง “ละอิลาฮะ อิลลัลลอฮ์” ไปเรื่อย ๆ คุณกำลังลอกชั้นของทุกสิ่งทุกอย่างที่จินตนาการได้ออก  คุณท่องซ้ำและลบพยางค์ออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหลือ “อาฮ์” และนั้นคือ ฮัว (hua, เขา/He) ซึ่งเป็นลมหายใจอันบริสุทธิ์ของพระเจ้า

อ.บ. สุญญตาก็เป็นการลบล้างหรือการกำจัดออกเช่นกัน  ในกรณีนี้คือการลบล้างจินตนาการทั้งหลายเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง  สุญญตาได้รับการนำเสนอโดยสระ “อะ” ที่ไม่ได้เขียนไว้ ซึ่งในภาษาตระกูลอินเดียถือเป็นส่วนหนึ่งของพยัญชนะภาษาสันสกฤตแต่ละตัว  แถม “อะ” ในภาษาสันสฤตเป็นคำนำหน้าที่บ่งบอกถึงการปฏิเสธ  นอกจากนี้ในตันตระ คุณมีการสลายตัวของกิจกรรมทางจิตใจด้านที่หยาบและความสับสนที่เกี่ยวข้องในส่วนนี้ได้รับการนำเสนอโดยการสร้างภาพในจิตใจถึงส่วนต่าง ๆ ของพยางค์ หุม (hum) โดยนำแต่ละส่วนมาละลายเข้าด้วยกัน จนกระทั่งเหลือแต่จิตใจแสงสว่าง ซึ่งเป็นรากฐานของการปรากฏตัวและการพึ่งพากันและกันของทุกสิ่ง  ดังนั้นถึงแม้ว่าสุญญตาจะเป็นลักษณะการดำรงอยู่อย่างไม่ชัดเจนของทุกสิ่งในขั้นลึกและไม่ใช่สิ่งที่อยู่เหนือขึ้นไป สุญญตาก็มีความคล้ายคลึงกับหลักคำสอนในศาสนาอิสลามหลายอย่าง จึงทำให้เกิดเป็นบทสนทนาและความเข้าใจระหว่างทั้งสองศาสนาที่ยิ่งใหญ่นี้ได้

Top