สงครามศาสนาครั้งใหม่ต้องอาศัยทางออกแบบใหม่

สงครามศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่นั้นได้รับการขับเคลื่อนโดยอุดมการณ์ใหม่ของลัทธิชาตินิยมทางศาสนา ซึ่งกำลังบ่อนทำลายการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติของพลเมืองทั่วโลก

เชื้อไวรัสของอุดมการณ์แบบใหม่นี้เริ่มขึ้นในช่วงปีทศวรรษที่ 1920 ในลักษณะของลัทธิมูลฐานนิยมในกลุ่มชาวคริสต์ (Christian fundamentalism) ก่อนที่จะถูกนำไปปฏิบัติใช้ในทวีปตะวันออกกลางโดยกลุ่มมุสลิมและราชวงศ์ต่าง ๆ ในฐานะป้อมปราการต่อต้านนักสังคมนิยมอาหรับ  ลัทธิมูลฐานนิยมได้รับกำลังเคลื่อนไหวด้วยขบวนการขาลิสถานในอินเดีย และได้รับความสำเร็จทางการเมืองในระบอบการปกครองแบบอิสลามในอิหร่านและปากีสถาน  ในปัจจุบัน ลัทธิมูลฐานนิยมทางศาสนาได้กลายพันธุ์อีกครั้ง โดยกลายเป็นลัทธิชาตินิยมทางศาสนาแบบเกลียดกลัวผู้อื่น ซึ่งพบได้ในมาเลเซีย ศรีลังกา อินเดีย เมียนมาร์ ไนจีเรีย ปากีสถาน ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ อีกมากมาย

สงครามชาตินิยมทางศาสนาแบบใหม่นี้แตกต่างจากสงครามศาสนาคริสต์ของยุโรปในช่วงปี ค.ศ. 1524-1648 ตามการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์  การต่อสู้ในครั้งนั้นจบลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพเว็สท์ฟาเลินในปี ค.ศ. 1648 และฝ่ายฆราวาสนิยมที่แยกศาสนาออกจากการเมือง และที่แพร่กระจายผ่านลัทธิล่าอาณานิคม เพื่อกลายเป็นโมเดลโลกสำหรับรัฐชาติ

ในปัจจุบัน สงครามศาสนาตั้งอยู่บนรากฐานของอุดมการณ์ของการเกลียดและกลัวทางศาสนาและความสูงส่งตามเรื่องปรัมปรา  โรคร้ายชนิดใหม่นี้ไม่ปรากฏในมุมมองทางศาสนาในช่วงก่อนการล่าอาณานิคม ซึ่งสนับสนุนการดำรงอยู่ร่วมกัน การเปิดใจกว้างยอมรับ และการแลกเปลี่ยนซื้อขาย ซึ่งดูได้จากตัวอย่างของเส้นทางสายไหมโบราณจากประเทศญี่ปุ่นไปไกลถึงเมดิเตอร์เรเนียน

สงครามศาสนาใหม่หยั่งรากลึกในการเนรเทศศาสนาต่าง ๆ ออกจากปริมณฑลสาธารณะโดยฆราวาสนิยม  ภายใต้การปกครองแบบฆราวาสนิยมมีความหวังว่าศาสนาจะหายไป แต่การกดขี่กลับส่งผลในลักษณะการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสำหรับแผนการทางการเมืองของชาติพันธุ์ที่เป็นชนกลุ่มใหญ่

ดังนั้น ทฤษฎียอดนิยมที่ว่าศาสนาเป็นต้นเหตุของสงครามทั้งหมดนั้นจึงเป็นการลวงให้เข้าใจผิดทางประวัติศาสตร์ ตามที่ได้แสดงให้เห็นในตัวอย่างหลายพันตัวอย่างเกี่ยวกับการร่วมมืออย่างสันติระหว่างศาสนาในอดีต  กระนั้นแล้วในยุคปัจจุบัน ศาสนาได้ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างภาพเลวร้ายให้กับประชากรกลุ่มน้อย โดยการแพร่กระจายความกลัวในจินตนาการว่าจำนวนประชากรที่ค่อนข้างน้อยของพวกเขาจะทวีคูณขึ้นอย่างรวดเร็วจนสร้างความท่วมท้วนให้กับชนกลุ่มใหญ่  ความกลัวเช่นนี้ไม่เป็นความจริงในเชิงวิทยาศาสตร์และเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในเชิงประชากรศาสตร์

ประวัติศาสตร์หลังปี ค.ศ. 1945 ได้เห็นถึงคลื่นของการสร้างชาติ ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทางกลุ่มชาตินิยมที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในปัจจุบันในแคว้นกัศมีร์ ปาเลสไตน์ ไอร์แลนด์เหนือ เคอร์ดิสถาน ภาคใต้ของประเทศไทย และฟิลิปปินส์ตอนใต้  ในทุกกรณีที่กล่าวมานี้ กลุ่มกบฏไม่ได้ต้องการก่อตั้งรัฐศาสนาขึ้นมา  หากแต่ความขัดแย้งเหล่านี้เป็นปัญหาทางการเมืองตกค้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขในลัทธิชาตินิยมยุคปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องอาศัยทางออกทางการเมือง

ลัทธิชาตินิยมทางศาสนายุคหลังสงครามเย็นได้สร้างความปวดหัวอย่างไม่คาดคิดให้กับผู้สร้างนโยบาย ซึ่งไม่สามารถหาทางออกได้จากตำราใด ๆ เลย  สงครามเหล่านี้นำโดยกลุ่มชาตินิยมที่มีแผนการทางศาสนาสำหรับส่วนรวม และได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจในอิสราเอล ปากีสถาน อินเดีย มาเลียเซีย อินโดนิเซีย และสหรัฐอเมริกา  ปรากฏการณ์ของลัทธิชาตินิยมแบบฆราวาสทั่วไปได้เปลี่ยนแปลงไปทางศาสนา  “ความปกติใหม่” แบบลูกผสมนี้จำเป็นต้องได้รับการวิเคราะห์และทำความเข้าใจ หากเราจะสามารถป้องกันไม่ให้มันทำลายแนวคิดได้ หลักปฏิบัติ และความเคารพต่อการเป็นพลเมืองสากล อันเป็นรากฐานของรัฐสมัยใหม่แบบรวมตัวและพหุนิยม

สิ่งเดิมพันของปัญหานี้ไม่น้อยไปกว่าอนาคตความเป็นสากลของเอเชีย ซึ่งกำลังได้รับการบ่อนทำลายโดยขบวนการชาตินิยมทางศาสนาที่เพิ่มขึ้น และผลกระทบของวัตถุนิยมเชิงพาณิชย์อย่างรุนแรง  ทั้งนักทฤษฎีสังคม หรืออาจารย์สอนศาสนาต่างก็ไม่สามารถนำเสนอทางออกสำหรับความท้าทายนี้  สิ่งที่จำเป็นคือแนวทางปฏิบัติแบบสหวิทยาการ

นโยบายในปัจจุบันจัดการกับการก่อตัวของลัทธิชาตินิยมทางศาสนาและความรุนแรงที่เข้าร่วมว่าเป็นปัญหาด้านความปลอดภัย  นโยบายเช่นนี้ไม่เพียงพอและมองข้ามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่า ทางออกของทุกข์อยู่ที่การหาเหตุของทุกข์

ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดอยู่ระหว่างการแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจ และประชากรที่เป็นคริสต์ มุสลิม และพุทธ  ที่กำลังแพร่เชื้อลัทธิชาตินิยมทางศาสนาที่รุนแรง ซึ่งทำให้ประชาชนต่างเป็นปรปักษ์ของกันและกัน  ปัญหานี้สร้างอันตรายให้กับอนาคตของทวีปนั้น ซึ่งกลายเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจทั่วโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลมาจากทรัพยากรประชากรที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี  กลุ่มประเทศอาเซียนรอดพ้นสงครามเย็นมาได้  พวกเขาไม่ควรจะมาทำลายพวกเดียวกันเองผ่านทางลัทธิชาตินิยมทางศาสนาภายในกลุ่มเลย

การเพิ่มขึ้นของลัทธิชาตินิยมทางศาสนาเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่ต่อการเป็นพลเมือง ซึ่งรัฐต้องแก้ไขผ่านทางการศึกษา หากต้องการยับยั้งความรุนแรงในอนาคต  การศึกษาแบบเน้นเทคโนโลยีในปัจจุบันและชีวิตประจำวันที่ได้รับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดียขาดความลึกซึ้งที่จำเป็นในการเฉลยเรื่องการสร้างภาพความเลวร้ายและความกลัวชาติพันธุ์  หลักสูตรเหล่านี้ต้องได้รับการทบทวนใหม่ให้รวมเนื้อหาของความเป็นมนุษย์เข้าไป ซึ่งเป็นเครื่องมือต่อต้านลัทธิความคับแคบ ความไม่รู้ระหว่างศาสนา ความไม่อดทนอดกลั้น และความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมา  บรรพบุรุษของพวกเราต่างเสียสละตนเองและถึงกับสละชีพเพื่ออิสรภาพและการพัฒนา เพื่อทำให้คนยุคปัจจุบันมีโลกที่มีความสันติมากขึ้น  เราไม่ควรมอบอนาคตที่มีความรุนแรงให้กับลูกหลานเรา

ถ้าอย่างนั้นเรามีทางออกอย่างไร?  กลุ่มฆราวาสนิยมจะต้องเรียนรู้ที่จะเอื้อให้กับศาสนาในปริมณฑลสาธารณะ ในขณะที่ผู้นำศาสนาทั้งหลายจะต้องช่วยสร้างความสมดุลให้กับบทบาททางสาธารณะของศาสนาด้วยเรื่องจิตวิญญาณ  ในขณะเดียวกันผู้นำศาสนาทุกศาสนาควรประณามการกระทำรุนแรงที่สมาชิกศาสนาของตนกระทำอยู่เสมอ  การปกป้องสิทธิของประชาชน แทนที่จะเป็นกลุ่มที่สนใจแต่ประโยชน์ของตน ถือเป็นความสำคัญระดับชาติ

โลกาภิวัตน์เรียกร้องความเคารพต่อความหลากหลาย ความเป็นประชาธิปไตย และจัดการความต้องการพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน  สงครามศาสนาแบบชาตินิยมครั้งใหม่นี้เป็นเครื่องหมายอันตรายที่แสดงให้เห็นว่า เรากำลังเข้าสู่โลกยุคหลังฆราวาสนิยม  รากฐานของโลกในยุคนี้ไม่ได้อยู่ในศาสนา แต่อยู่ที่ผลกระทบของโลกฆราวาสนิยมที่มีต่อศาสนา  สงครามศาสนาของยุโรปสมัยก่อนนำไปสู่ฆราวาสนิยม การพัฒนา และลัทธิมูลฐานนิยม  ลัทธิมูลฐานนิยมเชิงโลกวิสัยและศาสนาได้ดำเนินไปตามทางของมันมาพอแล้ว  งานที่สำคัญในตอนนี้คือการหามนุษยนิยมใหม่สำหรับโลกยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งไม่ใช้แค่องค์กรเชิงพาณิชย์ หรือปฏิกิริยาการต่อต้านการก่อการร้ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสร้างอารยธรรมแบบรวมตัวที่ยึดถืออิสรภาพ ความเห็นอกเห็นใจ ความยุติธรรม และเหตุผล  วิสัยทัศน์ดังกล่าวได้รับการสรุปไว้โดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลชาวอินเดีย รพินทรนาถ ฐากุร (Rabindranath Tagore)

ที่ไหนที่ความรู้เป็นอิสระ ที่โลกไม่ถูกแบ่งแยกเป็นส่วน ๆ โดยกำแพงคับแคบภายในประเทศ ที่คำพูดทั้งหลายมาจากความจริงที่ลึกซึ้ง ที่ความพยายามไปสู่ความสมบูรณ์แบบอย่างไม่ย่อท้อ ที่สายธารของเหตุผลไม่หลงทางอยู่ในทรายทะเลทรายอันน่าเบื่อของนิสัยที่ตายแล้ว ที่จิตใจได้รับการนำทางโดยท่านไปสู่ความคิดและการกระทำอันกว้างใหญ่ไพศาล - ไปสู่สรวงสวรรค์แห่งอิสรภาพ พระบิดา โปรดปลุกให้ประเทศของข้าพเจ้าตื่นด้วยเถิด
Top