แนวทางทฤษฎี
การสำรวจพื้นฐานที่ร่วมกันระหว่างสองศาสนา หรือหลักปรัชญาใด ๆ นั้นมีความอันตรายและความยากลำบากอยู่หลายประการ ความยากลำบากที่สำคัญประการหนึ่งคือแนวทางทฤษฎีที่ผู้สำรวจใช้ในแง่ของวิชาการด้านศาสนาเชิงเปรียบเทียบ ผมขออนุญาตกล่าวถึงแบบแผนสำหรับการจัดประเภทแนวทางต่าง ๆ สำหรับการเปรียบเทียบช่นนี้ในเทวศาสตร์ของศาสนาคริสต์ ซึ่งวางโครงสร้างโดยคริสติน ไบเสอร์ คิบลิงเกอร์ (Kristin Beise Kiblinger) ในบทความที่ชื่อว่า “ท่าทีของชาวพุทธต่อผู้อื่น: ประเภท ตัวอย่าง ดุลพินิจ (Buddhist Stances toward Others: Types, Examples, Considerations)” ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ ทัศคติชาวพุทธต่อศาสนาอื่น (Buddhist Attitudes to Other Religions)
ในบทความนี้ คิบลิงเกอร์ได้ร่างโครงสร้างแนวทางไว้สามประเภทได้แก่ ลัทธิเฉพาะตัว (exclusivism) ลัทธิรวมตัว (inclusivism) และลัทธิพหุนิยม (pluralism)
- แนวทางของลัทธิเฉพาะตัวคือ มีเพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่เป็นทางแห่งความจริงไปสู่พิโมกข์หรือการหลุดพ้น ถึงแม้ว่าศาสนาอื่น ๆ อาจกล่าวถึงหัวข้อที่สอดคล้องกับเรา จุดยืนของพวกเขาเป็นสิ่งผิด ตำราพระพุทธศาสนาหลายเล่มบ่งชี้ให้เห็นถึงทัศนคติดังกล่าวต่อทิฐิที่ไม่ใช่ทางพุทธ และบางครั้งก็มีทัศนคตินี้ต่อทิฐิทางพระพุทธศาสนาแบบอื่นเช่นกัน
- ตามแนวทางของลัทธิรวมตัว เส้นทางไปสู่พิโมกข์หรือการหลุดพ้นนั้นมีหลายเส้นทาง แต่มีเส้นทางหนึ่งที่สูงส่งกว่า พูดอีกอย่างคือ ศาสนาอื่น ๆ อาจมีพื้นฐานที่ร่วมกันกับศาสนาของเรา แต่ถึงแม้ว่าศาสนาเหล่านั้นจะถูกต้องเช่นกัน ศาสนาของเราก็ดีกว่าของพวกเขาอยู่ดี ผู้มีศรัทธาในนิกายทิเบตหลายนิกายมักมีทัศคติดังกล่าวต่อนิกายทิเบตที่ตนไม่ได้นับถือ กล่าวคือ เส้นทางของพวกเขาย่อมนำไปสู่การตรัสรู้ แต่เส้นทางของเรานั้นดีที่สุด
- ตามลัทธิพหุนิยม เส้นทางไปสู่พิโมกข์หรือการหลุดพ้นนั้นมีหลายเส้นทาง และไม่มีเส้นทางใดที่สูงส่งกว่าอีกแบบ มุมมองนี้เป็นมุมมองที่ไม่ได้จำกัดอยู่กับนิกายหรือลัทธิใดอย่างเดียว กล่าวคือ มุมมองนี้นำเสนอจุดยืนต่าง ๆ ของศาสนาทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่ร่วมกันโดยไม่จัดลำดับ
ในแนวทางแบบลัทธิรวมตัวและลัทธิพหุนิยมนี้ มีระดับว่าเรายอมรับความแตกต่างที่แท้จริงได้มากน้อยเพียงใดและคิดว่าความแตกต่างเหล่านี้ลึกซึ้งเพียงใด
- ประเภทแรกเน้นเรื่องสิ่งที่คล้ายคลึงกัน และถึงแม้ว่าจะตระหนักเห็นถึงความแตกต่างทั้งหลายได้ ก็ยังคงลดระดับความแตกต่างเหล่านั้นด้วยการหล่อหลอมใหม่ความแตกต่างเหล่านั้นมีความคล้ายคลึงกัน เทียบเท่ากัน หรือเป็นเพียงประเด็นย่อยที่ไม่สำคัญ ประเภทนี้มองว่าศาสนาอื่นปฏิบัติอย่างเดียวกันกับที่ตนปฏิบัติ เพียงแต่ใช้วิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันเท่านั้น เมื่อมองในลักษณะนี้ พวกเขาก็ปฏิบัติตามศาสนาของเราโดยที่ไม่รู้ตัวนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น นิกายเกลุกอธิบายหลักปฏิบัติซกเซ็น (Dzogchen) ของนิกายเนียงม่า (Nyingma) ตามแนวทฤษฎีของอนุตตรโยคะของเกลุก
- ประเภทที่สองเคารพความแตกต่างอย่างแท้จริงและมองว่าบทสนทนาระหว่างศาสนาเป็นเครื่องมืออันล้ำค้าในการกระตุ้นการเติบโต ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะคิดว่าศาสนาของตนสูงส่งกว่าศาสนาอื่นหรือไม่ก็ตาม
สำหรับประเภทแรก (พวกเขาถือว่าผู้อื่นต่างก็ปฏิบัติตามศาสนาของเขา แต่ในทางที่ต่างกัน) มีข้ออันตรายคือ ผู้ปฏิบัติอาจเกิดความทะนง หยิ่งยโส และหลงตัวเองได้ กล่าวคือประเภทนี้มักถือว่าจริง ๆ แล้วเรารู้ความหมายของศาสนาของพวกเขาดีกว่าพวกเขาเองเสียอีก สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มลัทธิรวมตัวที่เชื่อว่าศาสนาของพวกเรานั้นสูงส่งกว่า มุมมองนี้อาจแสดงออกมาในลักษณะของความเชื่อว่าศาสนาอื่นพยายามทำตามเป้าหมายของเรา โดยที่พวกเขาก็ไม่รู้ตัว หรือไม่ก็เชื่อว่าพวกเขาเพียงแต่อยู่บนเส้นทางศาสนาของเราในระดับต่ำกว่านั่นเอง หากเรามีทัศนคติเหล่านี้ เราก็ไม่อาจเรียนรู้สิ่งใดจากพวกเขาได้เลย แต่พวกเขาสามารถเรียนรู้หลายอย่างได้จากเรา ประเภทย่อยของทัศนคติเหล่านี้คือ
- ศาสนาทั้งหมด หรือศาสนาส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปยังเป้าหมายเดียวกัน และถึงแม้ว่าเส้นทางของพวกเขาอาจไม่ดีเท่าของเรา ในที่สุดมันก็ย่อมนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันกับเส้นทางของเราโดยธรรมชาติ
- ในที่สุดแล้ว พวกเขาต้องได้รับการนำทางไปสู่เส้นทางของเรา เพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันกับเส้นทางของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขามุ่งหวังเช่นกัน แต่ไม่สามารถไปถึงได้ด้วยการเดินตามเส้นทางของพวกเขา ตัวอย่างในพระพุทธศาสนาคือ การที่อนุตตรโยคะตันตระถือว่าพระสูตร หรือพระตันตระระดับต่ำกว่าสามารถนำผู้ปฏิบัติไปสู่สภาพจิตใจของภูมิอันดับที่สิบ (ภูมิที่สิบ) เท่านั้น แต่เมื่อไปถึงจุดนั้นแล้ว ก็จำเป็นต้องใช้วิธีการของอนุตตรโยคะเพื่อบรรลุการตรัสรู้
รูปแบบอื่นสำหรับลัทธิรวมตัวประเภทที่หนึ่ง (ประเภทที่ลดระดับความแตกต่างทั้งหลายและกล่าวว่าจริง ๆ แล้วความแตกต่างเหล่านั้นเป็นความคล้ายคลึงกัน) คือการถือว่า
- คำศัพท์ แนวคิด และหลักคำสอนต่าง ๆ เป็นการกล่าวที่ไม่แน่ชัดของประสบการณ์การทำสมาธิ และศาสนาทั้งหมดกำลังกล่าวถึงประสบการณ์เดียวกัน
- ทุกศาสนามีแก่นทฤษฎี หรือหลักความเชื่อที่ร่วมกัน และสถานการณ์ทางวัฒนธรรมและทางประวัติศาสตร์เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความแตกต่างทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธศาสนารูปแบบต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ญี่ปุ่น ทิเบต ฯลฯ
นอกจากนี้ เมื่อเราทำการสำรวจพื้นฐานร่วมกันที่เป็นไปได้ระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม เราจะเข้าสู่หัวข้อเรื่องการเปลี่ยนศาสนา
- หากมองตามมุมมองของลัทธิเฉพาะตัว ศาสนาของเราเป็นความจริงเท่านั้น คุณย่อมต้องละทิ้งศาสนาของคุณและหันมานับถือศาสนาของเรา เพื่อที่จะไปสู่พิโมกข์
- หากมองตามมุมมองของลัทธิรวมตัว คุณก็สามารถปฏิบัติตามศาสนาของคุณได้ เพราะจริง ๆ แล้วศาสนาที่คุณนับถือนั้นก็เป็นรูปแบบที่ด้อยกว่าของศาสนาเรานั่นเอง และท้ายที่สุดคุณก็จะตระหนักถึงทิฐิของเราได้เองโดยธรรมชาติ (ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มจิตมาตร Chittamatrins ที่ปฏิบัติพระตันตระแบบอนุตตรโยคะจะกลายเป็นปราสังคิกะ Prasangikas เมื่อพวกเขาเข้าสู่ขั้นการแยกตัวทางจิตใจของการปฏิบัติขั้นสมบูรณ์) หรือไม่ท้ายที่สุดพวกเราก็ต้องเปลี่ยนศาสนาคุณ
- ตามมุมมองของลัทธิพหุนิยม แต่ละศาสนานำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของตนเอง และทั้งหมดล้วนมีค่าแก่การสรรเสริญ โดยมีตัวแปรที่แตกต่างกันสองประการ นั่นคือ เป้าหมายเหล่านั้นเทียบเท่ากันได้ หรือเป้าหมายเหล่านั้นเทียบเท่ากันไม่ได้ และไม่มีศาสนาใดที่สูงส่งกว่า จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนา มุมมองแบบนี้ก็เหมือนกับถ้าคุณปฏิบัติตามหลักของพระพุทธศาสนา คุณก็ได้ขึ้นสวรรค์ของชาวพุทธ แต่ไม่ใช่สรวงสวรรค์ของชาวมุสลิม และถ้าคุณปฏิบัติตามหลักของมุสลิม คุณก็ได้ไปสรวงสวรรค์ของชาวมุสลิม ไม่ใช่สวรรค์ของชาวพุทธ
สำหรับประเภทที่สองของลัทธิรวมตัวและลัทธิพหุนิยม (ประเภทที่เคารพความแตกต่างระหว่างศาสนา โดยยอมรับว่าทั้งหมดล้วนถูกต้อง ไม่ว่าจะมองว่าศาสนาของตนสูงส่งกว่าหรือไม่ก็ตาม) ประเด็นละเอียดอ่อนในจุดนี้คือ วิธีการทำความเข้าใจศาสนาอื่นและเปรียบเทียบศาสนานั้นกับศาสนาของตนเอง
- คุณสามารถเข้าใจศาสนาอื่นโดยพิจารณาจากเงื่อนไขของเขาอย่างเดียวได้หรือไม่ หรือคุณต้องใช้ศาสนาของคุณเป็นหลักเปรียบเทียบความเข้าใจการถือสิทธิ์ความเชื่อต่าง ๆ ของศาสนาอื่น?
- หากคุณต้องทำอย่างหลัง (ทำความเข้าใจหลักความเชื่อของเขาโดยอิงจากหลักความเชื่อของศาสนาคุณ) คุณสามารถทำเช่นนี้ได้โดยไม่ทำให้แนวทางดังกล่าวลดตัวลงมาหรือเสื่อมโทรมกลายไปเป็นแบบประเภทแรกได้หรือไม่ ซึ่งหมายถึงการถือว่าความเชื่อของพวกเขาก็เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของความเชื่อของคุณเท่านั้นเอง
ในทางกลับกัน หากคุณพบประเด็น หรือหัวข้อต่าง ๆ ที่ทั้งสองศาสนามีร่วมกัน เช่น พระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าคุณจะต้องกล่าวถึงหัวข้อและแนวทางของศาสนาอื่นในกรอบแนวคิดของศาสนาคุณเอง คุณก็สามารถเข้าใจและเคารพความแตกต่างเหล่านี้ได้ คุณสามารถเคารพความแตกต่างเหล่านี้ด้วยทัศนคติเปิดใจและไม่มุ่งตัดสิน โดยไม่ถือว่าศาสนาของคุณนั้นดีที่สุด และโดยไม่มีทัศนคติดูหมิ่นศาสนาอื่น ทัศนคติที่ตั้งอยู่บนรากฐานของความเข้าใจและความเคารพในลักษณะนี้เท่านั้นที่จะทำให้คุณสามารถสร้างความสามัคคีระหว่างศาสนาได้
นี่คือแนวทางที่สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงใช้ เมื่อมีคนถามท่านว่า “ศาสนาใดดีที่สุด?” ท่านสมเด็จทรงตรัสว่า “ชุดความเชื่อและการปฏิบัติต่าง ๆ ที่ช่วยให้คุณเป็นคนที่มีความเมตตากรุณามากขึ้นนั่นล่ะ”
มุมมองเชิงประวัติศาสตร์
แนวทางของชาวมุสลิมต่อพระพุทธศาสนาตามประวัติศาสตร์
ตอนนี้เรามาเจาะจงที่พระพุทธศาสนากับศาสนาอิสลามกันครับ นอกจากการค้นคว้าส่วนตัวเกี่ยวกับศาสนาอิสลามแล้ว ผมยังได้นำข้อมูลมาจากหนังสือที่เขียนโดย เรซา ชาห์ เกซมี (Reza Shah Kazemi) ที่มีชื่อว่า พื้นฐานร่วมระหว่างศาสนาอิสลามและพระพุทธศาสนา (Common Ground between Islam and Buddhism) โดยมีคำนำของสมเด็จองค์ดาไลลามะและเจ้าชายฆาซี บิน มุฮัมมัด แห่งประเทศจอร์แดน (Prince Ghazi bin Muhammad of Jordan) ผมได้อ้างอิงข้อความที่เกี่ยวข้องจากคัมภีร์อัลกุรอานที่ระบุไว้ในงานเขียนของ ดร. เกซมี
หากพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว ทั้งชาวมุสลิมและชาวพุทธ (ในบริบทนี้ผมขอจำกัดพระพุทธศาสนาอยู่ในรูปแบบอินโด-ทิเบต) ได้ปฏิบัติใช้แนวทางรวมตัวมาตลอด ยกตัวอย่างเช่น ชาวมุสลิมถือว่าชาวพุทธอยู่ในฐานะ ผู้คนของพระคัมภีร์ เหมือนกับชาวยิว ชาวคริสต์ และชาวโซโรอัสเตอร์ จุดนี้มีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร?
ในช่วงของรัฐเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะห์ (Umayyad Caliphate 661 – 750 ยุคทั่วไป) ชาวอาหรับได้กระจายการปกครองและศาสนาของตน นั่นก็คือศาสนาอิสลาม ไปทั่วทวีปตะวันออกกลาง ดังนั้นในช่วงต้นศตวรรษที่แปด นายพลชาวอูมายยัด นามว่า มุฮัมมัดบิน กาซิม (Muhammad bin Qasim) ได้เข้าครอบครองบริเวณที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ชื่อว่า ซินด์ (Sind) ซึ่งในปัจจุบันคือทางตอนใต้ของประเทศปากีสถาน ชาวพุทธและฮินดูในเมืองพราหมณพัท (Brahmanabad) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองขนาดใหญ่ จึงขออนุญาตสร้างวัดขึ้นมาใหม่และคงอิสระในการนับถือศาสนาของตนต่อไปได้ นายพลคาซิมปรึกษากับผู้ว่า นามว่าฮัจจัจ บิน ยูซุฟ (Hajjaj bin Yusuf) ผู้ไปปรึกษาผู้สอนศาสนาอิสลาม ผู้สอนศาสนาเหล่านี้ จึงประกาศว่าชาวพุทธ (รวมถึงชาวฮินดู) เป็นผู้คนของพระคัมภีร์ ซึ่งภายหลังเรียกกันว่า “ข้อยุติคดีพราหมณพัท”
ท่านฮัจจัจ ผู้ว่าอุมัยยะห์ ประกาศว่า:
คำขอของหัวหน้าชาวพราหมณพัททั้งหลายเกี่ยวกับการสร้างวัดวาอารามทางพระพุทธศาสนาและทางศาสนาอื่น ๆ รวมถึงเรื่องการเปิดกว้างต่อศาสนากิจนั้นเป็นเรื่องที่มีความยุติธรรมและมีเหตุผล ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าพวกเรามีสิทธิ์ใดต่อพวกเขานอกเหนือไปจากการเก็บภาษีทั่วไป พวกเขาได้แสดงความเคารพต่อเรา และได้ปฏิบัติตามการจ่ายภาษีรัชชูปการเป็นเครื่องบรรณาการ (อาราบิค: จิซยา) สำหรับเคาะลีฟะฮ์แล้ว เนื่องจากพวกเขาได้กลายเป็นประชากรที่ได้รับการคุ้มครอง (อาราบิค: ธิมมิ) พวกเราจึงไม่มีสิทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้นในการเข้าไปยุ่งกับชีวิตและทรัพย์สินของพวกเขา จงอนุญาตให้พวกเขาปฏิบัติตามศาสนาที่นับถือ ห้ามมิให้ผู้ใดขัดขวางพวกเขา
ต่อจากนั้น ชาวพุทธจึงได้รับอนุญาตให้สร้างวัดและอารามต่าง ๆ ของตนขึ้นมาใหม่ และได้รับสถานะของการเป็นประชาชนที่ได้รับการคุ้มครองที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม ตราบใดที่พวกเขาจ่ายภาษีรัชชูปการเป็นเครื่องบรรณาการ นโยบายนี้ได้รับการปฏิบัติสืบกันมาในการปกครองของเคาะลีฟะฮ์อุมัยยะห์ ตามด้วยเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ที่ปกครองจากกรุงแบกแดด (750 – 1258 ยุคทั่วไป) และจากนั้นคือผู้ปกครองชาวมุสลิมแห่งอินเดีย แต่แน่นอนว่านโยบายดังกล่าวก็ไม่ได้รับการปฏิบัติตามโดยผู้ปกครองหรือนายพลบางกลุ่มเสมอไป กระนั้นแล้ว การใช้ยุติคดีข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่รวมกับกลุ่มลัทธิพหุเทวนิยมนอกศาสนา ซึ่งผู้มีศรัทธาของลัทธิเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว
ตอนนี้คุณอาจแย้งว่าการให้สิทธิ์การยอมรับทางกฎหมายกับพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่าทางเทวศาสตร์ จึงงอกเงยมาจากลัทธิปฏิบัตินิยมมากกว่าการวิเคราะห์เชิงปรัชญาแบบละเอียด กรณีนี้ก็คงจะเป็นแบบนั้นนั่นล่ะครับ หลังจากอนุญาตให้สร้างวัดทางพระพุทธศาสนาและศาสนาฮินดูขึ้นมาใหม่แล้ว ผู้ว่าชาวอาหรับก็หักภาษีผู้แสวงบุญที่เดินทางมาสักการะตามสถานที่เหล่านี้ แต่ถึงกระนั้นแล้ว นักวิชาการด้านศาสนาอิสลามก็ไม่เคยพิจารณาว่านโยบายแบบ “ปฏิบัตินิยม” นี่เป็นการละเมิด หรือลดหย่อนหลักเทวศาสตร์พื้นฐานของอิสลามเลย การให้การยอมรับทางกฎหมายกับพระพุทธศาสนา การปกป้องทางการเมือง และการเปิดรับศาสนานั้นแสดงให้เห็นว่า เส้นทางศาสนาและศีลธรรมของพระพุทธศาสนาสืบทอดมาจากอำนาจที่สูงส่งกว่า นั่นคือ วิวรณ์ที่แท้จริงของพระเจ้านั่นเอง
ถ้าอย่างนั้น พื้นฐานของการประกาศว่าชาวพุทธเป็นผู้คนของพระคัมภีร์คืออะไรกัน? มันเป็นเพียงแค่พื้นฐานในธรรมเนียมการบูชาที่เหมือนกันหรือเปล่า? ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นศตวรรษที่แปด นักประวัติศาสตร์ชาวอิหร่าน อัล-เกอร์มานี เขียนเล่าอย่างละเอียดถึงอารามนววิหาร (Nava Vihara Monastery) ในเมืองแบลค์ของอัฟกานิสถาน และอธิบายถึงธรรมเนียมพระพุทธศาสนาบางอย่างโดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบจากศาสนาอิสลาม เขายังได้เขียนอธิบายถึงวัดหลักว่ามีก้อนหินลูกบาศก์อยู่ตรงกลาง ห่อหุ้มด้วยผ้า และผู้ที่มาสักการะจะเดินวนไปมารอบ ๆ และหมอบกราบ ซึ่งเหมือนกับกรณีของกะอ์
ถ้าอย่างนั้น การประกาศว่าชาวพุทธเป็นผู้คนของพระคัมภีร์มีรากฐานหลักคำสอนอย่างไร? คำถามนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากว่าชาวพุทธได้รับการมองว่าเป็นผู้คนแห่งพระคัมภีร์ พวกเขาก็ย่อมได้รับการรวมอยู่ในกลุ่มของชุมชนที่ได้รับการ “ช่วยเหลือให้พ้นบาป” ตามที่แสดงให้เห็นในข้อความตอนหนึ่งในคัมภีร์อัลกุรอาน
ผู้ศรัทธาและผู้ที่เป็นยิว คริสต์ และชาวซาเบียนเท่านั้น – ผู้ใดที่เชื่อในพระเจ้าและวันสุดท้าย และกระทำความดีทั้งหลาย – สำหรับคนเหล่านี้ รางวัลของพวกเขาอยู่กับพระเจ้าของตน ไม่มีความกลัวหรือความทุกข์ใด ๆ จะเกิดขึ้นกับพวกเขา
ข้อความนี้บ่งชี้ถึงพื้นฐานร่วมกันระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลามตามคัมภีร์อัลกุรอ่าน – ความเชื่อในพระเจ้าและวันพิพากษาสุดท้าย และการกระทำมีคุณธรรมและสร้างสรรค์ ถึงแม้ว่าทิฐิจะไม่เหมือนกัน ศาสนาอิสลามก็ถือว่าอย่างน้อยก็คล้ายคลึงกันมากพอที่จะเทียบเคียงกันได้ ดังที่ระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน (2:137):
และหากพวกเขาเชื่อในเรื่องเช่นเรื่องที่เจ้าเชื่อ ฉะนั้นแล้วพวกเขาก็ได้รับการนำทางอย่างถูกต้อง
เพราะฉะนั้นแนวทางประเภทนี้จึงเป็นการรวมตัวอย่างชัดเจน พุทธศาสนิกชนจะไปถึงพิโมกข์เช่นเดียวกับที่สอนในศาสนาอิสลาม เพราะพวกเขาปฏิบัติตามทิฐิที่คล้ายคลึงกัน
คำถามคือ มีขอบเขตอะไรบ้างสำหรับการตัดสินว่าสิ่งใดสามารถรวมอยู่ในแนวคิดเรื่องพระเจ้า ศาสนาที่ได้รับการเผยให้รู้โดยพระเจ้า วันพิพากษาสุดท้าย ความจริงอันเป็นหนึ่งเดียว และอื่น ๆ ทั้งในฝั่งของชาวมุสลิมและชาวพุทธ มีอาจารย์สอนศาสนาบางกลุ่มที่สร้างนิยามของสิ่งเหล่านี้ไว้อย่างค่อนข้างเคร่งครัด แต่บางกลุ่มก็มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากสำหรับนิยามเหล่านี้เช่นกัน
แนวทางของชาวพุทธต่อศาสนาอิสลามตามประวัติศาสตร์
ก่อนที่เราจะไปดูขอบเขตของแนวคิดเหล่านี้ เรามาดูแนวทางของชาวพุทธต่อศาสนาอิสลามตามประวัติศาสตร์กันก่อนเลยครับ ตำราพระพุทธศาสนาสายเดียวที่กล่าวถึงธรรมเนียม หรือความเชื่อของศาสนาอิสลามคือ วรรณกรรมภาษาสันสกฤตเกี่ยวกับ กาลจักรตันตระ (Kalachakra Tantra) ซึ่งพบว่าเขียนขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่สิบและต้นศตวรรษที่สิบเอ็ด ยุคทั่วไป คาดว่าอยู่ในบริเวณตอนตะวันออกเฉียงใต้ของอัฟกานิสถานและตอนเหนือของปากีสถาน ณ ตอนนั้น พุทธศาสนิกชนในพื้นที่นี้ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากการบุกรุกที่อาจเกิดขึ้นโดยผู้ปกครองเมืองมุลตานทางตอนกลางของปากีสถาน ผู้ปกครองมุลตานนับถือชีอะห์อิสมาอีลียะห์ (Ismaili Shia) แบบทางตะวันออก จึงเป็นนิกายย่อยของศาสนาอิสลาม เมืองมุลตานเป็นพันธมิตรของเคาะลีฟะฮ์ฟาฏิมียะฮ์ในประเทศอียิปต์ ซึ่งเป็นคู่แข่งอาหรับอับบาซียะฮ์ในการเข้าควบคุมโลกมุสลิม พุทธศาสนิกชนและชาวฮินดูในอัฟกานิสถานตะวันออกเฉียงใต้และปากีสถานตอนเหนือจึงติดอยู่ท่ามกลางการแก่งแย่งชิงกันนี้
ตำรากาลจักรกล่าวถึงความเชื่อและธรรมเนียมบางประการของผู้ที่อาจเข้ามาบุกรุก ความเชื่อบางประการที่อธิบายไว้ดูเป็นความเชื่อเฉพาะของความคิดอิสมาอีลียะห์ในตอนนั้น เช่น รายชื่อของศาสดา ในขณะที่ความเชื่ออื่นขัดแย้งความคิดดังกล่าว เช่น การเพิ่มชื่อพระมณี (Mani) เข้าไปในรายชื่อนี้ในฐานะผู้ก่อตั้งศาสนามาณีกิ (Manichaeism) อย่างไรก็ตาม ความเชื่อส่วนใหญ่เหล่านี้เป็นพื้นฐานของศาสนาอิสลามโดยรวม ความเชื่อบางประการเกี่ยวกับพฤติกรรมทางจริยธรรมสอดคล้องกับการยืนยันเกี่ยวกับงวินัยทางจริยธรรมในพระพุทธศาสนา ถึงแม้ว่าในตำรานี้จะไม่ได้ระบุถึงความคล้ายคลึงกันของทั้งสองศาสนาก็ตาม กระนั้นแล้ว เราสามารถพิจารณาประเด็นเหล่านี้ในฐานะพื้นฐานร่วมกันระหว่างทั้งสองศาสนาได้ ยกตัวอย่างเช่น ในตำราชื่อ แก่นของตันตระเพิ่มเติมแห่งกาลจักรตันตระอันรุ่งโรจน์ (ทิเบต: dPal dus-kyi ‘khor-lo’i rgyud phyi-ma rgyud-kyi snying-po สันสฤต: Shri-Kalachakra-tantrottaratantra-hrdaya) กล่าวไว้ว่า
พวกเขามีวรรณะเดียว ไม่ขโมย และพูดความจริง พวกเขารักษาความสะอาด เลี่ยงภริยาผู้อื่น ตามหลักของนักปฏิบัติพรตอย่างแน่วแน่ และคงความซื่อสัตย์ต่อภริยาของตนเอง
ในที่อื่น เราพบแนวทางแบบลัทธิรวมตัวมากขึ้น เมื่อตำรากาลจักรเริ่มอธิบายความเชื่อของผู้บุกรุกตามคำศัพท์ที่ใช้ในพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างเช่น ใน กาลจักรตันตระฉบับย่อของราชา (ทิเบต: bsDus-pa’i rgyud-kyi rgyal-po dus-kyi ‘khor-lo สันสกฤต: Laghu-Kalachakra-tantra-raja) II.164cd ระบุไว้ว่า
ผู้สร้างสร้างทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งที่เคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหว การทำให้พระองค์พอใจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำหรับการหลุดพ้นสำหรับชาวตายิย่อมนำไปสู่สวรรค์ นี่ล่ะคือคำสอนของราห์มานต่อผู้คน
“ตายิ” (Tayi) เป็นชื่อที่ตำรากาลจักรใช้เรียกผู้บุกรุก เป็นคำศัพท์ภาษาอาหรับ (เปอร์เซียน: ตาซี) ที่ใช้สำหรับผู้บุกรุกชาวอาหรับในอิหร่าน “ราห์มาน” คือผู้มีความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งหมายถึงพระอัลเลาะห์นั่นเอง
ท่านปุณฑรีก (Pundarika) อธิบายข้อความตอนนี้ไว้เพิ่มเติมใน แสงที่ไร้รอยเปื้อน: คำวิจารณ์อธิบาย “กาลจักรตันตระฉบับย่อของราชา” (Stainless Light: A Commentary Explaining “The Regal Abridged Kalachakra Tantra ทิเบต: bsDus-pa’i rgyud-kyi rgyal-po dus-kyi ‘khor-lo’i ‘grel-bshad dri-ma med-pa’i ‘od สันสกฤต: Vimalaprabha-nama-laghu-Kalachakra-tantra-raja-tika)
ทีนี้สำหรับการยืนยันของผู้บุกรุกชาวตายี ราห์มาน ผู้สร้าง เป็นผู้ให้กำเนิดปรากฏการณ์แห่งการกระทำทุกอย่าง ทั้งแบบที่เคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหว เหตุสำหรับการหลุดพ้นของตายี ซึ่งหมายถึงผู้บุกรุกที่นุ่งห่มขาวนั้น คือการทำให้ราห์มานพึงพอใจ และการกระทำเช่นนี้จะนำพาการเกิดใหม่ในภพที่สูงขึ้น (ในสรวงสวรรค์) มาสู่มนุษย์ การทำให้พระองค์ไม่พึงพอใจจะนำไปสู่ (การเกิดใหม่) ในนรก เหล่านี้คือคำสอนของราห์มาน ซึ่งเป็นการยืนยันของตายี
ท่านปุณฑรีกอธิบายเพิ่มเติมว่า
การยืนยันของผู้บุกรุกตายีคือ มนุษย์ที่เสียชีวิตแล้วจะประสบความสุข หรือความทุกข์ในการเกิดใหม่ที่สูงขึ้น (ในสรวงสวรรค์) หรือในนรก ด้วยร่างมนุษย์ของพวกเขาผ่านการตัดสินใจของราห์มาน
พื้นฐานร่วมกันในที่นี่ระหว่างพระพุทธศาสนาและความเข้าใจของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามคือ การเกิดใหม่ในสวรรค์และในนรกที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของผู้นั้น สิ่งที่น่าสนใจในข้อความข้างต้นคือ ตำรากาลจักรไม่ได้แสดงความคิดเห็นต่อการถือว่ามีผู้สร้าง หรือบทบาทของผู้สร้างในการกำหนดชีวิตหลังความตาย โดยขึ้นอยู่กับว่าบุคคลผู้นั้นทำให้พระองค์พอใจหรือไม่ อนึ่ง สำหรับประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับการพิพากษาของพระอัลเลาะห์ โดยขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นทำให้พระองค์พึงพอใจหรือไม่ การนำเสนอของพระพุทธศาสนานั้นไม่ยุติธรรม ตาม หะดีษ (hadith คือ ชีวประวัติของมุฮัมมัดนั้น) พระอัลเลาะห์ตรัสว่า
โอ้ ผู้รับใช้ของข้า การกระทำของเจ้าต่างหากที่ข้าพิจารณาสำหรับเจ้า และจึงตอบสนองเจ้าตามนั้น
อย่างไรก็ตาม ตำรากาลจักรเน้นเพียงแต่ธรรมชาติของชีวิตหลังความตายและผลลัพธ์ที่ขึ้นอยู่กับการกระทำของผู้นั้นระหว่างที่มีชีวิตอยู่โดยรวม เมื่ออภิปรายประเด็นนี้ในลักษณะดังกล่าว ตำราเหล่านี้เผยให้เห็นถึงแนวทางรวมตัวสำหรับการระบุการยืนยันของผู้บุกรุกในเรื่องการเกิดใหม่อันเป็นนิรันดร์ ในฐานะมุมมองผิด ๆ ที่ได้รับการอธิบายไว้อย่างถูกต้องมากกว่าในพระพุทธศาสนา กาลจักรตันตระฉบับย่อของราชา II.174 กล่าวว่า
ในช่วงชีวิตหลังความตาย (อันเป็นนิรันดร์) ผู้นั้นจะประสบกับ (ผลลัพธ์ของ) การกระทำกรรมก่อนหน้านี้ในโลกนี้ หากเป็นเช่นนั้น การหมดสิ้นไปของกรรมของมนุษย์จากการเกิดชาติหนึ่งไปยังอีกชาติหนึ่งจะไม่เกิดขึ้น จะไม่มีการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ และไม่มีการเข้าสู่การหลุดพ้น แม้แต่ในลักษณะของการดำรงอยู่ที่นับไม่ถ้วน ความคิดเช่นนั้นปรากฏอยู่ในกลุ่มชาวตายีจริง ๆ ถึงแม้ว่าจะถูกการปฏิเสธโดยกลุ่มอื่นก็ตาม
หากเราพิจารณาประเด็นนี้ที่เกี่ยวข้องกับการสาปแช่งชั่วนิรันดร์ภายในบริบทที่กว้างขึ้นของพระพุทธศาสนา พื้นฐานที่ร่วมกันระหว่างทิฐิแบบพุทธและแบบมุสลิมก็ดูขยายกว้างขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม พื้นฐานดังกล่าวขยายกว้างขึ้น เพราะคุณสามารถมองจุดยืนของมุสลิมเรื่องการเกิดใหม่และการหลุดพ้นในฐานะขั้นบันไดไปสู่จุดยืนของชาวพุทธ ฉะนั้นตามการอธิบายของพระพุทธศาสนาแล้ว คุณอาจพูดได้ว่าศาสนาอิสลามพูดถึงแต่การหลุดพ้นจากการเป็นทุกข์ของความทุกข์ หรือจากสภาพการเกิดใหม่ที่แย่ลง การหลุดพ้นที่นี่คือ การเกิดใหม่ที่สูงขึ้นในสรวงสวรรค์ ท้ายที่สุดแล้ว จุดนี้ก็เป็นขอบเขตขั้นต้นของแรงจูงใจในลำดับเส้นทางการปฏิบัติลัม-ริม พระพุทธศาสนาเสริมโดยการพูดถึงการหลุดพ้นจากความทุกข์อันมากมายทั้งหมดของการเกิดใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายของขอบเขตขั้นกลางของแรงจูงใจ เมื่อพิจารณาในลักษณะนี้แล้ว การนับถืออิสลามจึงเป็นขั้นต้นของการนับถือพระพุทธศาสนา
แต่คุณสามารถมองการยืนยันของมุสลิมว่าความทุกข์เป็นนิรันดร์ในทางอื่นได้เช่นกัน เพื่อที่ทิฐินี้จะได้ไม่แตกต่างจากทิฐิของพระพุทธศาสนามากนัก ในตำรากาลจักร การแย้งแนวคิดเรื่องนรกของมุสลิมคือ เมื่อใดที่อยู่ในไฟนรกแล้ว สภาวะนั้นเป็นนิรันดร์และคุณไม่สามารถหลุดพ้นจากสภาวะนั้นได้ แต่ถ้าเรามองคำอธิบายเรื่องสังสารวัฏของพระพุทธศาสนา ผู้ที่อยู่ในสังสารวัฏนี้ต้องการที่จะหลุดพ้นจากมัน เหมือนการหนีออกจากอาคารไฟไหม้ นอกจากนี้ การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏจะเป็นนิรันดร์ นอกเสียจากว่าผู้นั้นลงมือกระทำบางอย่าง นั่นก็คือการหันเข้าพึ่งพาธรรมมะนั่นเอง
ในศตวรรษที่สิบเก้า ปรมาจารย์ชาวเนียงม่านามว่า มิพัม (Mi-pham ‘Jam-dbyangs rnam-rgyal rgya-mtsho) ในตำรา ไฟส่องสว่างของดวงอาทิตย์วัชระ, การอธิบายความหมายของคำกล่าวใน “กาลจักรตันตระอันรุ่งโรจน์”: คำวิจารณ์สำหรับบท (ที่ห้า), ความตระหนักรู้ลึกซึ้ง (dPal dus-kyi ‘khor-lo’i rgyud-kyi tshig don rab-tu gsal-byed rdo-rje nyi-ma’i snang-ba, Ye-shes le’u’i ‘grel-chen) มีการใช้แนวทางการรวมตัวที่ชัดเจนกว่างานเขียนกาลจักรดั้งเดิมอีก โดยบอกใบ้ว่า พระพุทธเจ้าใช้ความฉลาดในอุบายในการทรงสอนวิธีการต่าง ๆ สำหรับนำทางชาวมุสลิมไปสู่การตรัสรู้ ท่านมิพัมได้เขียนไว้ว่า
ผู้บุกรุกที่ไม่ใช่ชาวอินเดียเชื่อถือ (ประเด็นเชิงปรัชญา) สองประการ พวกเขาเชื่อว่าปรากฏการณ์ภายนอกมีธรรมชาติของการรวมตัวกันของอะตอมทั้งหลาย และพวกเขาเชื่อการดำรงอยู่ของตัวตนของบุคคลผู้หนึ่งที่กำเนิดเป็นระยะเวลาชั่วคราว หรือมีด้านการกำเนิดในสังสารวัฏ เป้าหมายคือการบรรลุความสุขของพระเจ้าเป็นผล นอกจากนี้แล้ว พวกเขาไม่ยืนยันเรื่องนิพพานประเภทอื่น ๆ
ท่านมิพัมชี้ให้เห็นว่าการยืนยันของผู้บุกรุกเรื่องธรรมชาติเชิงอะตอมของสิ่งต่าง ๆ นั้นสอดคล้องกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ท่านอธิบายว่านิกายไวภาษิกะ (Vaibhashika) และเสาตรานติกะ (Sautrantika) ของพระพุทธศาสนาสายหินยานยืนยันเรื่องอะตอมไร้ชิ้นส่วนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้ ในขณะที่นิกายจิตตมาตร (Chittamatra) และมัธยมกะ (Madhyamaka) ของพระพุทธศาสนาสายมหายานยืนยันเรื่องอะตอมที่แบ่งแยกได้ไม่จบไม่สิ้น
สำหรับเรื่องเกี่ยวกับอัตตา หรือวิญญาณ ท่านมิพัมกล่าวต่อไปว่า
เมื่อทรงทราบลักษณะนิสัยและความคิดของพวกเขาแล้ว พระพุทธเจ้าทรงสอนพระสูตรที่พวกเขา (ผู้บุกรุก) สามารถยอมรับได้ ยกตัวอย่างเช่น ใน พระสูตรแห่งการแบกความรับผิดชอบ (The Sutra of Carrying Responsibility หรือ Khur ‘khu-ba’i mdo) พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ผู้ที่แบกความรับผิดชอบ (สำหรับการกระทำ) มีดำรงอยู่จริง แต่ไม่ได้ทรงกล่าวถึงวิญญาณของผู้นั้นในฐานะสิ่งที่เป็นถาวร หรือไม่ถาวร ประเด็นเหล่านี้เป็นความจริงตามการยืนยันของพวกเขา (ผู้บุกรุก) ความหมายที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งใจสื่อคือ คนเราดำรงอยู่ในการดำรงต่อไปของอัตตาที่แบกความรับผิดชอบสำหรับ กรรม ซึ่งเป็นเพียงแต่การใส่ความที่ความต่อเนื่อง และไม่ได้เป็นสิ่งถาวร หรือไม่ถาวรโดยธรรมชาติ
สำหรับเรื่องของความฝัน ซึ่งเพียงแต่เกิดขึ้นจากนิสัยต่าง ๆ ของจิต บุคคลที่เป็นตัวเป็นตนประสบความสุขและความเศร้าไม่ได้ดำรงอยู่จริง เนื่องจากเรื่องนี้เป็นแค่รูปลักษณ์ภายนอก ความอนิจจัง (ของบุคคลนั้น) ในกรณีนี้จึงไม่เหมือนกับธรรมชาติของสิ่งที่อนิจจังด้วยซ้ำ นี่เป็นเพราะว่ามันปราศจากธรรมชาติของบุคคลนั้น เมื่อได้พิจารณาตรวจสอบแล้ว จึงเห็น (ได้อย่างชัดเจน) ว่าเป็นวัตถุที่ปราศจากการสอดแทรกของถาวร หรืออนิจจัง จึงสอนในแบบนั้น ด้วยหลักคำสอนบทนี้ของพระตถาคต (ผู้บุกรุก) จึงละเลิกพระธรรมของผู้บุกรุก และกลายเป็นไวภาษิกะถือระบบหนึ่งของพระพุทธศาสนาแทน
ทัศนคติการรวมตัวในที่นี้คือ พระพุทธเจ้าทรงตรัสหลักคำสอนที่สามารถสอดคล้องกับการยืนยันของผู้บุกรุกได้ และด้วยการใช้ความฉลาดในอุบายนี้ พระองค์ทรงนำผู้บุกรุกไปสู่การหลุดพ้น แน่นอนว่าชาวมุสลิมจะต้องเห็นว่านี่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ และทัศนคติดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปสู่ความสามัคคีระหว่างศาสนาได้อย่างแน่นอน
พื้นฐานร่วมกันเมื่อดูจากการที่พุทธศาสนิกชนได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้คนของพระคัมภีร์
ตอนนี้เรากลับมาดูการบ่งบอกของการที่ศาสนาอิสลามพิจารณาว่าพุทธศาสนิกชนเป็นผู้คนของพระคัมภีร์ เพื่อตรวจสอบพื้นฐานร่วมกันครับ อย่างที่เราเห็นแล้ว พื้นฐานร่วมกันจากการยืนยันดังกล่าวคือ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ได้รับการเผยให้ทราบโดยอำนาจที่สูงส่ง นั่นคือพระเจ้า แน่นอนว่าจุดนี้นำไปสู่คำถามเกี่ยวกับพระเจ้าในฐานะแหล่งที่มาของการวิวรณ์ และผู้คนที่รับการวิวรณ์นั้น แล้วนำมาแบ่งปันกับผู้อื่นในโลก
สำหรับคำถามเกี่ยวกับการวิวรณ์ดังกล่าว ทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิมปฏิบัติตามแนวทางรวมตัว ยกตัวอย่างเช่น คำวิจารณ์ของตำรากาลจักร แสงที่ไร้รอยเปื้อน อธิบายว่า
เมื่อพูดถึงผู้บุกรุกแล้ว มุฮัมมัดเป็นร่างอวตารของราห์มาน ในฐานะผู้ที่ชี้ให้เห็นถึงหลักคำสอนของผู้บุกรุก ท่านเป็นกูรูและเป็นปรมาจารย์ของผู้บุกรุกชาวตายี
ในศาสนาฮินดู อวตารคือร่างจุติวิญญาณของพระเจ้าองค์หนึ่งในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้น การที่มุฮัมมัดเป็นร่างอวตารของราห์มานนั้นจึงตรงกับการยืนยันของฮินดูว่า พระกฤษณะเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ ตามคำอธิบายของพระพุทธศาสนาแล้ว การเปรียบเทียบนี้สามารถเทียบเท่าได้กับการยืนยันว่ามุฮัมมัดเป็นการแสดงนิรมาณกายของพระอัลเลาะห์
ในทางกลับกัน เราจะถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา หรือเป็นผู้ส่งสารของพระอัลเลาะห์ได้หรือไม่? นักประวัติศาสตร์ชาวเปอร์เซียนามว่า อัล-บิรูนี (al-Biruni) เดินทางไปพร้อมกับมาห์มุดแห่งฆซีนี (Mahmud of Ghazini) ในการบุกรุกอนุทวีปอินเดียของเขาช่วงต้นศตวรรษที่สิบเอ็ดของยุคทั่วไป อัล-บิรูนีเขียน หนังสือเกี่ยวกับอินเดีย (A Book about India อาหรับ: Kitab al-Hind) โดยอ้างอิงจากสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ที่นั่น ในหนังสือเล่มนี้ เขาอธิบายธรรมเนียมและความเชื่อเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา และให้ข้อสังเกตว่าชาวอินเดียมองว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา จุดนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาชี้แนะให้ชาวมุสลิมยอมรับพระพุทธเจ้าในฐานะศาสดา หรือผู้ในฐานะส่งสารของพระอัลเลาะห์เสียทีเดียว กระนั้นแล้ว ข้อความในคัมภีร์อัลกุรอาน (4:163-164) บอกไว้ว่า
ที่แท้จริงแล้วเราสร้างบันดาลใจให้เจ้า เหมือนกับที่เราสร้างแรงบันดาลใจให้โนอาห์ และศาสดาคนอื่น ๆ หลังจากเขา เหมือนกับที่เราสร้างแรงบันดาลใจให้อับราฮัม และอิชมาเอล และอิสอัค และยาโคบ และปฐมบรรพบุรุษทั้งหลาย และพระเยซู และโยบ และโยนาห์ และอาโรน และซาโลมอน และเหมือนกับที่เราประทานเพลงสดุดีให้กับดาวิด เราได้กล่าวให้เจ้าฟังถึงผู้ส่งสารบางรายที่เราได้ส่งมาก่อนหน้านี้ แต่เราก็ยังไม่ได้กล่าวถึงผู้ส่งสารบางรายกับเจ้า
พระพุทธเจ้าอาจรวมอยู่ในกลุ่มผู้ส่งสารที่ไม่ได้รับการกล่าวถึงอย่างชัดเจนนี้ก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตามการนำเสนอเรื่องการกระทำสิบสองประการแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงปรากฏขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ เมื่อสิ่งมีชีวิตมีความสุกงอมและทรงสอนพระธรรมแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เพื่อให้เหมาะกับสิ่งมีชีวิตในช่วงนั้น ถึงแม้ว่าจะมีพระพุทธเจ้านิรมาณกายสูงสุดหลายพันองค์ในช่วงกัลป์ที่ยิ่งใหญ่นี้ โดยมีกัลป์ที่ยิ่งใหญ่อีกจำนวนมากก่อนจะถึงกัลป์ที่ยิ่งใหญ่ครั้งต่อไปที่พระพุทธเจ้าดังกล่าวจะทรงปรากฏตัวขึ้น ก็มีพระนิรมาณกายในฐานะบุคคลหลายคนที่ปรากฏขึ้นในช่วงเวลาที่หลักคำสอนของพระนิรมาณกายสูงสุดแต่ละองค์นี้ยังคงอยู่ เราอาจเรียกพระนิรมาณกายทั้งสองประเภทนี้ว่า “ผู้ส่งสารของพระธรรม” นอกจากนี้พระพุทธเจ้าแต่ละองค์ยังใช้ความฉลาดในอุบายสำหรับการสอนพระธรรมที่แตกต่างกันสำหรับผู้คนที่ต่างกัน สำหรับบางคน พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าอัตตามีอยู่จริงด้วยซ้ำ ศาสนาอิสลามก็มีรูปแบบการสอนด้วยใช้ความฉลาดในอุบายที่ต่างกันเช่นกัน คัมภีร์อัลกุรอาน (14:4) กล่าวว่า
และเราไม่เคยส่งผู้ส่งสารที่ไม่สามารถพูดภาษาของคนของเขาได้ เพื่อที่เขาจะได้สร้างความชัดเจนให้กับผู้คนเหล่านั้น
เราต้องพิจารณาจุดนี้อย่างระมัดระวัง ถึงแม้ว่าศาสนาอิสลามจะยอมรับพระพุทธเจ้าในฐานะผู้ส่งสารของพระเจ้า ชาวมุสลิม รวมถึงชาวคริสต์และยิวจะรู้สึกถูกหมิ่นหากเราบอกว่า มุฮัมมัด พระเยซู อับราฮัม และดาวิดเป็นพระพุทธเจ้านิรมาณกาย หรือเป็นร่างอวตารของพระอัลเลาะห์ ตรงนี้เป็นจุดอ่อนสำคัญของแนวทางแบบรวมตัวในการเปรียบเทียบศาสนา อย่างไรก็ตาม เราจะสามารถเข้าใจการยืนยันในพระพุทธศาสนาที่ท่านนาคารชุนะ (Nagarjuna) เปิดเผยให้เห็นในหลักคำสอนของปรัชญาปารมิตาที่พระมัญชุศรีมอบหมายให้พญานาคดูแล ซึ่งนำหลักคำสอนไปซ่อนใต้มหาสมุทรได้อย่างไร? หรือการยืนยันที่ว่าท่านอสังคะ (Asanga) ได้รับหลักคำสอนการกระทำอย่างกว้างขวางเรื่องความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และโพธิจิตจากพระศรีอริยเมตไตรย เมื่อท่านถูกพาไปที่สวรรค์ชั้นธูษิฏา (Tusita) ได้อย่างไร? เราจะสามารถเข้าใจเรื่องการมองเห็นอันบริสุทธิ์และหลักคำสอนตำราทรัพย์สมบัติที่ได้รับการเปิดเผยในนิกายเนียงม่าได้อย่างไร? การยืนยันเหล่านี้ของพระพุทธศาสนาแตกต่างจากการยืนยันของมุสลิมเรื่องศาสดาผู้เปิดเผยพระวจนะของพระเจ้าหรือไม่?
สำหรับเรื่องพระเจ้า ด้านเดียวที่พระพุทธศาสนาลบล้างคือ เรื่องของผู้สร้างที่มีอำนาจทุกประการ ซึ่งสามารถสร้างสิ่งต่าง ๆ โดยปราศจากการได้รับผลกระทบ หรือได้รับอิทธิพลจากสิ่งใด แม้แต่ความปรารถนาในการสร้าง
พระพุทธศาสนาไม่ได้ลบล้างคุณสมบัติอื่นของพระเจ้า หรือไม่แต่การกระทำของการสร้างเอง ยกตัวอย่างเช่น อนุตตรโยคะตันตระอธิบายว่า จิตใจอันสว่างกระจ่างของบุคคลแต่ละคนนั้นเป็นผู้สร้างการปรากฏขึ้นทั้งหมดที่ผู้นั้นประสบ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกรรมส่วนตัวของบุคคลผู้นั้นและกรรมโดยรวม นอกจากนั้น ตามแก่นที่ลึกที่สุดของความจริงแล้ว จิตที่สว่างกระจ่างอยู่เหนือคำพูดและแนวคิดใด ๆ ซึ่งก็เหมือนกับพระอัลเลาะห์ คัมภีร์อัลกุรอานประกาศว่า
อัลเลาะห์คือผู้ยิ่งใหญ่ที่อยู่เหนือกว่าคำอธิบายใด ๆ
ถึงอย่างนั้นแล้วก็มียังชื่อสำหรับพระอัลเลาะห์จำนวนเก้าสิบเก้าชื่อ และชื่อเหล่านี้ล้วนกล่าวถึงคุณสมบัติที่สำคัญของพระองค์ ในลักษณะเดียวกันนี้ ใน สังคีตชื่อของพระมัญชุศรี (ทิเบต: ‘Jam-dpal mtshan-brjod สันสกฤต: Manjushri-nama-samgiti) คำว่ามัญชุศรีก็หมายถึงจิตที่สว่างกระจ่างชัดในสภาวะแรกเริ่ม และบทต่างๆในตำรากาลจักรอธิบายถึงคุณสมบัติดังกล่าว
เช่นเดียวกันพระอัลเลาะห์ พระมัญชุศรีที่มีจิตสว่างกระจ่างชัดคือ
(58) เป็นผู้แรกเริ่มที่สูงส่งที่สุด
(100) เป็นผู้ที่ปราศจากการเริ่มต้นและจุดจบ
(97) เป็นผู้ที่ไม่ได้แสดงตน เป็นผู้ที่ไม่ปรากฏตัว เป็นผู้ที่ไม่มีสัญญาณใดที่จะทำให้ท่านเป็นที่พบเห็น
นอกจากนี้ พระอัลเลาะห์คือหนึ่งเดียว ในลักษณะเดียวกันนี้ พระมัญชุศรีผู้มีจิตใจสว่างกระจ่างชัดคือ
(47) ไม่มีคู่ เป็นผู้พูดที่ปราศจากความเป็นคู่
คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระอัลเลาะห์คือ อัล-หักก์ (al-haqq) ซึ่งหมายถึงแท้ ความจริง สิ่งที่เหมาะสม รวมถึงในเชิงจริยธรรมด้วย จุดนี้มีความสัมพันธ์กับพระธรรมในเชิงของ ธรรมตา นั่นคือความจริงที่ลึกที่สุด ความตระหนักรู้ที่ลึกซึ้งธรรมกาย
พระมัญชุศรีที่มีจิตสว่างกระจ่างชัดคือ
(55-56) พระธรรมศักดิ์สิทธิ์ ผู้ปกครองพระธรรม…ผู้ยอดเยี่ยม ทรงกลมของความเป็นจริงที่ไม่เสื่อมคลาย
(47) อาศัยอยู่ที่จุดจบของสิ่งที่สมบูรณ์แบบอย่างนั้น พร้อมการคำรามสิงโตของธรรมชาติขาดตัวตนที่แท้จริง
(157) ท่านทรงเป็นความบริสุทธิ์และความรุ่งโรจน์ของความจริงที่ลึกที่สุด
พระอัลเลาะห์มักได้รับการกล่าวถึงในนาม อัล-ราห์มานเสมอ ซึ่งหมายถึงผู้มีความเห็นอกเห็นใจ และอัล-ราฮิม ซึ่งหมายถึงผู้มีความปราณี ความเห็นอกเห็นใจในที่นี่อยู่ในลักษณะของการมีความเห็นอกเห็นใจในการสร้างและมีความปราณีในการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ ในซกเซ็น คุณสมบัติของริกปะ (rigpa) ซึ่งหมายถึงความตระหนักรู้อันบริสุทธิ์ ที่ทำให้การปรากฏต่าง ๆ สามารถเรียกได้ว่า “ความเห็นอกเห็นใจ” นอกจากนี้ พระมัญชุศรีที่มีจิตสว่างกระจ่างชัดคือ
(38) ประกอบไปด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ จิตใจอันเป็นเลิศแห่งความเห็นอกเห็นใจอันยิ่งใหญ่
(88) ผู้เติมเต็มเป้าหมายของสิ่งจำกัดที่มีชีวิตทั้งหลาย ผู้ปรารถนาประโยชน์ ผู้ที่มีความรักใคร่สิ่งจำกัดที่มีชีวิตทั้งหลายแบบบุพการี
นอกจากนี้ เช่นเดียวกับอัลเลาะห์ พระมัญชุศรีที่มีจิตสว่างกระจ่างชัดคือ
(152) ผู้ที่ควรค่าแก่การถวายของบูชา ควรค่าแก่การสรรเสริญ ผู้ที่ต้องหมอบกราบ…ควรค่าแก่การแสดงความเคารพ ควรค่าแก่การคารวะเป็นที่สุด ควรค่าแก่การสักการะ
ลักษณะเกี่ยวกับพระอัลเลาะห์ดังกล่าว จิตใจที่สว่างกระจ่างชัด การวิวรณ์ความจริง ความเห็นอกเห็นใจ และอื่น ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพื้นฐานร่วมกันระหว่างพระพุทธศาสนาและศาสนาอิสลาม นอกเหนือจากหลักทางจริยธรรมที่ทั้งสองศาสนามีร่วมกัน เรายังสามารถพูดถึงลักษณะอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การท่อง ซิกรฺ (dhikrs) ในศาสนาอิสลาม และการท่องบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนา การเน้นย้ำเรื่องการให้ปัน การเรียน การเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์ และอื่น ๆ อีกมากมาย หากเราเข้าถึงลักษณะร่วมกันเหล่านี้ด้วยความเคารพต่อความเป็นพหุนิยม โดยไม่ตัดสินและไม่พยายามนำหลักคำสอนของผู้อื่นเข้ามาเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของหลักคำสอนของเราเอง เราก็จะมีพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับความสามัคคีทางศาสนา