อหิงสาและค่านิยมทางจิตวิญญาณ

วันนี้ผมได้รับเชิญให้มาพูดเกี่ยวกับเรื่องอหิงสา (การไม่ใช้ความรุนแรง) และค่านิยมทางจิตวิญญาณในโลกปัจจุบัน  และหัวข้อนี้ก็มีความสอดคล้องอย่างมากสำหรับนักเรียนอย่างพวกคุณที่กำลังวางแผน เท่าที่ผมเข้าใจนะครับ สำหรับการประกอบสายอาชีพแพทย์และการสอน เพราะส่วนหนึ่งของงานช่วยเหลือผู้อื่นของพวกคุณก็คือ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากสำหรับตัวคุณเองที่จะช่วยเหลือในลักษณะของอหิงสา  เห็นได้ชัดว่าว่าการช่วยเหลือเป็นการกระทำตรงข้ามกับความรุนแรงอยู่แล้ว  และการที่คุณมีค่านิยมทางจิตวิญญาณก็จะช่วยให้งานที่คุณทำมีความหมายมากขึ้น ทำให้งานนั้นมีค่ามากกว่าการสร้างรายได้ และทำให้คุณเห็นคุณค่าในโอกาสงานที่คุณได้รับเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเปี่ยมความหมายจริง ๆ 

พระพุทธศาสนาพูดเรื่องความอหิงสาไว้มากมายเหมือนกับศาสนาอื่น ๆ ทั้งหมด และแน่นอนว่าระบบที่แตกต่างกันย่อมนิยามความหมายของคำว่าอหิงสาในรูปแบบที่แตกต่างกัน หลายครั้งเราคิดถึงความรุนแรงในรูปแบบการกระทำเฉพาะ  การกระทำรุนแรง และอหิงสาก็หมายถึงการละเว้นจากการกระทำประเภทนั้น  แต่แนวทางปฏิบัติของพระพุทธศาสนานั้นมาจากด้านจิตใจมากกว่า เกี่ยวกับสภาวะจิตใจที่เกี่ยวข้อง  นี่เป็นเพราะว่าไม่ว่าเราจะกระทำประเภทการกระทำที่รุนแรงจริง ๆ หรือไม่ก็ตาม ทุกอย่างล้วนงอกเงยมาจากสภาวะความรุนแรงของจิตใจ จริงไหมครับ?  ดังนั้นเพียงแค่เราละเว้นไม่ทำร้ายผู้อื่น แต่ในใจเรามีความคิดรุนแรงมากเกี่ยวกับการทำร้ายผู้นั้น อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้  เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเข้าใจสภาวะรุนแรงของจิตใจและเรียนรู้วิธีการการเอาชนะสภาวะเหล่านี้ให้ได้

ความรุนแรงและอหิงสาสามประเภท

ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เราแบ่งความรุนแรง สภาวะความรุนแรงของจิตใจ ออกเป็นสามประเภทที่แตกต่างกัน  และเราอาจสามารถแปลคำว่า ความรุนแรง ในที่นี่ว่า “ความโหดร้าย” ได้ด้วย  เวลาเราพูดถึงความรุนแรง เราไม่ได้แค่พูดถึงการใช้กำลังบังคับและความแข็งแกร่งนะครับ เพราะบางครั้งเราก็จำเป็นต้องใช้วิธีการที่ใช้กำลังบังคับหยุดผู้นั้นไม่ให้ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น  หากลูกของคุณกำลังวิ่งออกไปยังถนนและอาจโดนรถชนเสียชีวิตได้ง่าย ๆ คุณคงไม่พูดแค่ “อุ๊ย! อย่าวิ่งออกไปที่ถนนสิลูก”  คุณอาจต้องใช้กำลังคว้าตัวลูกอย่างค่อนข้างรุนแรง  ดังนั้นจุดนี้จึงไม่ใช่สิ่งที่เราหมายถึงในการใช้ความรุนแรง ความรุนแรงคือการต้องการทำร้ายและเราสามารถทำร้ายได้ด้วยหลากหลายวิธี  พระพุทธศาสนาจึงกล่าวถึงสามประเภทดังนี้ แต่ผมคิดว่าเราสามารถคิดถึงประเภทอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ความอหิงสาต่อผู้อื่น

ความรุนแรงประเภทแรกคือการคิดรุนแรงต่อผู้อื่น  ประเภทนี้ถูกนิยามในฐานะการขาดความเห็นอกเห็นใจอย่างโหดร้าย ซึ่งเราปรารถนาที่จะสร้างความลำบากหรือทำร้ายผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจคือความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นได้พ้นจากความทุกข์และปัญหาและสาเหตุของมัน  และในกรณีนี้ แทนที่จะอยากให้ผู้อื่นได้พ้นจากความทุกข์ เราอยากให้เขาได้รับความทุกข์ เราอยากให้เขามีปัญหา ไม่ว่าเราจะเป็นผู้สร้างปัญหาเหล่านั้นขึ้นเอง หรือผู้อื่นสร้างขึ้น หรือปัญหาเหล่านั้นเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติก็ตาม  วิธีการที่จะช่วยให้เราเอาชนะสภาวะจิตใจประเภทนี้ได้คือ เราต้องคิดว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันในเชิงที่ว่าทุกคนต้องการมีความสุข ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์

ดังนั้นเมื่อมีใครทำร้ายแก่เรา หรือสมมุติว่าคุณกำลังสอนอยู่ในชั้นเรียน แล้วมีนักเรียนทำร้าย หรือสร้างความก่อกวนกับผู้อื่น แทนที่จะคิดแค่ว่าเราจะลงโทษนักเรียนคนนั้น ซึ่งมักมีความเกี่ยวข้องกับความโกรธ การขาดความอดทน และสภาวะทางจิตใจอื่น ๆ ที่ไม่มั่นคงและอึดอัด จะเป็นประโยชน์กว่ามากหากเราคิดถึงเด็กคนนี้ในเชิงที่ว่าเขาป่วย  เด็กคนนี้อยากมีความสุข แต่ไม่มีความคิดที่กระจ่างชัดหรือถูกต้องเท่าไหร่นักเกี่ยวกับวิธีสร้างความสุข เด็กจึงประพฤติตัวในเชิงก่อกวนมาก โดยมีสภาวะจิตใจที่สับสนและคิดว่าการทำแบบนี้จะทำให้ตนมีความสุขมากขึ้น  หากเรามองเด็กคนนี้จากมุมมองดังกล่าวแล้ว เราจะไม่มองเด็กคนนี้ว่าเป็นเด็กแย่และฉันต้องลงโทษเด็ก  เราพัฒนาความเห็นอกเห็นใจขึ้นมาแทนที่และปรารถนาให้เด็กคนนี้ก้าวข้ามความสับสนและปัญหาของตนเองที่ทำให้เขาประพฤติตัวก่อกวนและซุกซนในห้องเรียน

ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราอยู่เฉย ๆ หรือเราไม่ตอบโต้ใด ๆ นะครับ  ความอหิงสาไม่ได้หมายถึงการไม่ตอบโต้และอยู่เฉย ๆ หากแต่หมายถึงการไม่โกรธ ไม่ปรารถนาที่จะทำร้ายเด็กผู้ก่อกวนคนนี้  แน่นอนว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เด็กคนนี้หยุดการกระทำอันก่อกวน ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตามที่ระบบโรงเรียนของคุณเห็นชอบด้วย  แต่แรงจูงใจเบื้องหลัง สภาวะทางจิตใจเบื้องหลังการกระทำนี้แตกต่างอย่างมากจากความต้องการที่จะลงโทษเด็กคนนี้เพราะเด็กคนนี้เป็นเด็กแย่

คำว่า “แรงจูงใจ” มีความสำคัญต่อการเข้าใจมากครับ  คำนี้มีสองด้านด้วยกัน  ด้านหนึ่งคือเป้าหมายหรือเจตนาของเรา และอีกด้านคืออารมณ์ที่ขับเคลื่อนให้เราบรรลุเป้าหมายดังกล่าว  เป้าหมายคือการช่วยเหลือเด็ก  ยกตัวอย่างเช่น นั่นเป็นสาเหตุที่ทำไมเราเลือกที่จะเป็นครู ซึ่งก็เหมือนกับถ้าคุณเลือกสายอาชีพทางการแพทย์ เป้าหมายของเราคือการช่วยเหลือผู้ป่วย  ทีนี้สภาวะจิตใจที่ขับเคลื่อนเราไปสู่การบรรลุเป้าหมายนั้นคืออะไรครับ?  ถ้ามันเป็นเพียงแค่การสร้างรายได้ หรือการคาดหวังให้ผู้อื่นขอบคุณเราและซาบซึ้งในบุญคุณของเรา นั่นก็เป็นแรงจูงใจที่เห็นแก่ตัวมากเลย จริงไหมครับ?  เป็นการเอาตนเองเป็นใหญ่  และเพราะว่าโฟกัสส่วนใหญ่ของเราอยู่ที่ตัวเอง เราก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจว่าสิ่งใดดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยจริง ๆ หรอก  ก็เหมือนกับแพทย์ที่แนะนำว่าผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด เมื่อจริง ๆ แล้วการผ่าตัดไม่ได้จำเป็นสำหรับผู้ป่วยรายนั้น แต่แพทย์ก็แนะนำให้ผ่าตัด เพราะการผ่าตัดทำเงินได้มากกว่า  สิ่งที่ควรเป็นแรงขับเคลื่อนเราในการบรรลุเป้าหมายของการช่วยเหลือผู้อื่นคือความเห็นอกเห็นใจ คือการคิดถึงผู้อื่น คิดถึงความอยู่ดีมีสุขของเขา สิ่งใดจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขากันแน่

ทีนี้สำหรับอาชีพทางการแพทย์ ในการช่วยเหลือผู้อื่นบางครั้ง เราก็ต้องใช้วิธีการรักษาที่อาจสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย ทั้งการฉีดยา การผ่าตัด (การฟื้นตัวหลังผ่าตัดนั้นสร้างความเจ็บปวด) แต่นั่นไม่ถือเป็นวิธีการรุนแรง เพราะเจตนาตรงนี้ไม่ใช่เพื่อสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย เจตนานี้คือการช่วยให้ผู้นั้นหายจากอาการทุกข์ จากปัญหา จากความโรคภัยไข้เจ็บของผู้นั้น

จุดนี้ก็เหมือนกับเวลาที่คุณต้องสอนระเบียบวินัยให้กับเด็กนักเรียนผู้ซุกซน  แรงจูงใจตรงนี้ก็ไม่ใช่เพื่อทำร้ายนักเรียนเช่นกัน  เราอยากช่วยเหลือนักเรียน เพราะเราตระหนักได้ว่าเด็กคนนี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนกับตัวเรา กล่าวคือเขาก็อยากมีความสุขและไม่อยากเป็นทุกข์เหมือนกัน และบางทีเราอาจสามารถสอนและแสดงให้เขาเห็นถึงวิธีเพิ่มความสุขในชีวิตได้  ไม่ว่าเด็กคนนี้จะโตขึ้นไปประกอบอาชีพอะไรในอนาคต สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเขาคือการมีระเบียบวินัย ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น  สิ่งเหล่านี้จะช่วยเหลือคนทุกคน ไม่ว่าจะมีบทบาทใดก็ตามในอนาคต

ระเบียบวินัยหมายถึงการควบคุมตนเอง  เวลาที่เด็กอยากจะทำตัวซุกซน เราต้องสอนให้เด็กคนนั้นควบคุมตัวเองให้ได้  ดังนั้นในการลงโทษหรืออบรมระเบียบวินัยให้เด็กคนนั้น เจตนา เป้าหมายของเราก็คือการช่วยเหลือให้เด็กพัฒนาระเบียบวินัยขึ้นได้ด้วยตัวเองนั่นเอง  หากเรามีสภาวะจิตใจแบบนี้เวลาเราลงโทษหรืออบรมระเบียบวินัยให้กับเด็ก การกระทำนี้ก็จะเป็นการสื่อสารกับตัวเด็กเป็นอย่างมาก  มันเหมือนกับเวลาที่ผู้ปกครองลงโทษหรือสอนระเบียบวินัยให้ลูก ผู้ปกครองไม่ได้สร้างความรู้สึกของความเกลียดชังลูกขึ้นมา จริงไหมครับ?

เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญต่อการเรียนรู้และการฝึกฝน หากเราจะทำอาชีพช่วยเหลือผู้อื่น อย่างทางการแพทย์หรือการสอน ซึ่งต้องอาศัยทัศคติแห่งความรักและความเห็นอกเห็นใจภายในตัวเรา กล่าวคือคุณต้องการช่วยเหลือผู้ป่วย คุณต้องการช่วยเหลือนักเรียน เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น และเป็นอิสระจากปัญหาต่าง ๆ  สำหรับด้านนอกนั้นแน่นอนว่าเราต้องมีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งหมายความว่าเราต้องจริงจังและบางครั้งก็ต้องเคร่งครัดค่อนข้างมาก  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็จะสามารถปฏิบัติอาชีพของเราในลักษณะที่ปราศจากความรุนแรง เมื่อพิจารณาตามความหมายแรกของอหิงสา

ดังนั้นแทนที่จะขาดความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น ซึ่งหมายความว่าเราอยากทำร้ายผู้อื่นนั้น เราต้องมีความเห็นอกเห็นใจ มีความปรารถนาอยากให้ผู้อื่นเป็นอิสระจากการทำร้าย เป็นอิสระจากความทุกข์ของพวกเขา  และแน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าวิธีการใดดีที่สุดสำหรับการช่วยเหลือผู้อื่น  นักเรียนแต่ละคน ผู้ป่วยแต่ละคนมีความเป็นปัจเจกบุคคล ซึ่งหมายความว่าวิธีที่ใช้ได้ผลกับคนหนึ่งอาจไม่ได้ผลกับอีกคนเสมอไป  ดังนั้นการเคารพความเป็นปัจเจกบุคคลของคนไข้แต่ละคนในฐานะแพทย์และของนักเรียนแต่ละคนในฐานะครูจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน  จุดนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อเรามีคนไข้จำนวนมากที่ต้องพบในแต่ละวันและมีห้องเรียนที่อัดแน่นไปด้วยนักเรียน  แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถทำความรู้จักแต่ละคนเป็นการส่วนตัวได้ สิ่งที่สำคัญก็ยังคงเป็นสภาวะจิตใจที่มีความสนใจในการทำความรู้จักกับพวกเขา  และการให้ความสนใจในตัวพวกเขาก็ตั้งอยู่บนรากฐานของการเคารพพวกเขานั่นเอง  และพยายามมองพวกเขาด้วยความสนใจและความเคารพประเภทเดียวกันที่เรามีต่อเพื่อนสนิทหรือญาติมิตรของเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกเรา พ่อแม่เรา พี่น้อง หรือแบบใดก็ตามที่สอดคล้องกับอายุของพวกเขาและตัวเรา

ผมคิดว่าข้อปฏิบัติประการหนึ่งที่เป็นประโยชน์อย่างสูงเสมอให้จำไว้คือ คนคนนี้เป็นมนุษย์เหมือนกับเราและมีความรู้สึกเหมือนกับเรา  พวกเขาอยากมีความสุข เหมือนกับที่เราอยากมีความสุข และพวกเขาอยากเป็นที่ชื่นชอบ เหมือนกับที่เราก็อยากเป็นที่ชื่นชอบ และหากเรามีความคิดโหดร้ายต่อพวกเขาและปฏิบัติตัวในลักษณะโหดร้ายและเย็นชาต่อพวกเขา พวกเขาก็จะรู้สึกเจ็บ เหมือนกับที่เราเองก็จะรู้สึกเจ็บหากผู้อื่นทำกับเราเช่นนั้น  เพราะฉะนั้นจิตใจแห่งการเคารพผู้อื่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะปัจเจกบุคคล

ความอหิงสาต่อตัวเราเอง

ประเภทที่สองของความอหิงสาเชื่อมโยงเล็กน้อยกับสิ่งที่ผมเพิ่งอธิบายไป เพราะตอนนี้เรากำลังพูดถึงความอหิงสาที่มุ่งมายังตัวเราเอง (ประเภทแรกคือ ความอหิงสาที่มุ่งไปยังผู้อื่น) และในตอนนี้เราก็กำลังพูดถึงการไม่ทำตัวในเชิงที่เป็นทำลายต่อตัวเอง  เมื่อเราทำตัวในเชิงทำลายต่อตัวเอง มันเป็นการกระทำของการขาดความรักตัวเอง ซึ่งเราปรารถนาจะสร้างความลำบากหรือการทำร้ายให้กับตัวเอง  และการกระทำเช่นนี้อาจเป็นได้ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาสร้างการทำร้ายให้กับตัวเองก็ได้  ยกตัวอย่างเช่น ความคิดประเภท “ฉันมันแย่” “ฉันมันไม่เอาไหน” “ฉันมันไม่ดีพอ”

โดยเฉพาะถ้าเราเป็นแพทย์ แล้วคนไข้รายหนึ่งของเราเสียชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราคิดว่า “โธ่ ฉันช่างเป็นหมอที่ไม่เอาไหนเลยจริง ๆ ฉันแย่มาก” แล้วก็รู้สึกผิดและลงโทษตัวเองด้วยทางใดทางหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นทางด้านจิตใจและทางอารมณ์ เพราะเราไม่สามารถช่วยเหลือคนไข้ผู้นั้นได้ คนไข้เสียชีวิต  สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือให้ได้ หากเราจะเป็นแพทย์หรือเป็นครู  เราไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราไม่อาจช่วยเหลือทุกคนได้ แม้พระพุทธเจ้าเองยังทรงไม่สามารถช่วยเหลือทุกคนได้เลย  ดังนั้นบางครั้งเราก็จะต้องพลาดเป็นธรรมดา  ไม่ว่าเราจะไม่สามารถรักษาคนไข้ได้สำเร็จ หรือเราไม่สามารถสอนเด็กนักเรียนคนนั้นได้เลย  แต่นั่นเป็นธรรมชาติของความเป็นจริงครับ  หากผู้นั้นจะได้รับการช่วยเหลือได้ เขาต้องเปิดรับการช่วยเหลือด้วยตัวเอง  โรคบางอย่างนั้นเรายังรักษาไม่ได้ และถึงแม้ว่ามันอาจเป็นไปได้ บางครั้งเราก็ทำผิดพลาด  ท้ายที่สุดแล้วเราก็เป็นมนุษย์นะครับ  และนักเรียนบางคนก็มีปัญหาทางอารมณ์ ปัญหาทางสังคมขั้นรุนแรง หรืออะไรก็แล้วแต่ อาจเป็นปัญหาครอบครัว ซึ่งเกินความสามารถของเราในการช่วยเหลือพวกเขาได้จริง ๆ 

เราจึงต้องคอยระวังลักษณะที่อาจเป็นทำลายสำหรับตัวเราเอง  พูดอีกอย่างก็คือ การใช้ความรุนแรงต่อตัวเราเอง  ตัวอย่างของลักษณะเชิงทำลายต่อตัวเองเช่น เราผลักดันตัวเองมากเกินไปโดยคิดว่า “ฉันจะต้องสมบูรณ์แบบทุกประการ” ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความเป็นจริง  แน่นอนว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุดกับทุกอย่างที่เราทำ แต่ไม่มีใครสมบูรณ์แบบหรอกครับ  และแน่นอนว่าหากเราไม่ประสบความสำเร็จกับบางอย่างที่เราทำ เราก็จะต้องเสียใจกับผลลัพธ์นั้น เราอยากจะทำให้ดีขึ้นในอนาคต แต่เราต้องพยายามอย่างมากที่จะไม่เข้าไปติดอยู่ในอาการหดหู่ซึมเศร้า เพราะว่าสิ่งนี้ เพราะการหดหู่จะเป็นการทำร้ายงานของเรา ทำร้ายประสิทธิภาพในการทำงานของเรา

ตอนนี้คุณอาจพูดว่า “แล้วฉันจะป้องกันไม่ให้ตัวเองรู้สึกหดหู่ หรือรู้สึกเจ็บมากได้อย่างไรกัน?”  เคยไหมครับเวลาที่นักเรียนคนหนึ่งของคุณกำลังไปได้สวยมาก แล้วจู่ ๆ นักเรียนคนนั้นก็ลาออกไปเสียอย่างนั้น  นี่ก็เป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกเศร้าใจ แต่ประเด็นคือเราต้องไม่รู้สึกหดหู่  เพราะฉะนั้นคำถามก็คือ เราจะสามารถช่วยเหลือตัวเองไม่ให้รู้สึกหดหู่ได้อย่างไร?  จุดนี้กลับมายังสิ่งที่เราพูดถึงในเรื่องการรับมือกับผู้อื่นครับ  ในการต้องการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นจริง ๆ และไม่ทำร้ายผู้นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือการเคารพผู้นั้น  ในลักษณะเดียวกันนี้เราก็ต้องเคารพตัวเองเช่นกัน  มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องยืนยันกับตัวเองเสมอว่า “ฉันมีความสามารถ มิฉะนั้นฉันก็ไม่สามารถเป็นครูหรือเป็นหมอได้หรอก”  เรายืนยันแรงจูงใจของเราว่า “ในการทำงานที่ฉันทำอยู่นี้ ฉันมีเจตนาดี” และ “ในฐานะมนุษย์ ฉันไม่สมบูรณ์แบบ  ถึงอย่างนั้นแล้ว ฉันก็เคารพตัวเองในการพยายามทำให้ดีที่สุด” สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราไม่รู้สึกหดหู่เป็นอย่างมาก

ทีนี้จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราตรวจสอบตัวเองด้วยความสัตย์จริง แล้วเราพบว่าเราไม่ได้พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้?  ฉันทำได้ดีกว่านี้  แน่นอนว่าในสถานการณ์นั้นเราย่อมรู้สึกเสียดาย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องยืนยันกับตัวเองอีกครั้งว่า “ในอนาคต ฉันจะพยายามมากขึ้น”  แต่ในการป้องกัน หรือพยายามป้องกันความล้มเหลวของการไม่พยายามอย่างเต็มที่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก เราจำเป็นต้องตรวจสอบสาเหตุของสิ่งนี้  ความล้มเหลวนี้อาจเกิดขึ้นเพราะฉันเหนื่อยล้าเกินไป  และสำหรับกรณีนี้ก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องมีความใจดีกับตัวเอง ไม่ใช่มีความคิดเชิงทำลายต่อตนเอง  เราจำเป็นต้องรู้ถึงความจำเป็นของเราในแง่ของการพักผ่อน ขีดจำกัดของฉันอยู่ตรงไหน และเราก็ต้องเคารพสิ่งเหล่านี้อีกครั้ง  อย่าไปรู้สึกแย่กับมันครับ  ทุกคนก็มีขีดจำกัดด้วยกันทั้งนั้น  แน่นอนว่าในสถานการณ์ฉุกเฉิน เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าปกติเสมอ แต่ทุกอย่างมันไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินนี่ครับ  และบางครั้งเราก็เพียงต้องบอกว่า “ฉันจำเป็นต้องพักผ่อน” แล้วจากนั้นก็พยายามพักผ่อน ถ้าเป็นไปได้ เพราะบางครั้งก็อาจเป็นไปไม่ได้  แต่หากคุณสามารถทำได้ ก็ให้พักผ่อนเสียโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด

แน่นอนว่าจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป หากเราพยายามหาสมดุลระหว่างการงานอาชีพกับการสร้างครอบครัว  เด็ก ๆ มีความต้องการมากมายเสมอ  ลูกของเรานี่แหละครับ  แต่จุดนี้ต้องเป็นความสำคัญอันดับต้น ๆ กล่าวคือเราต้องจัดตารางเวลาของเรา เพื่อที่เราจะได้ไม่ทำงานหนักเกินไป ไม่เหนื่อยเกินไป เพราะมิฉะนั้นเราก็จะทำอะไรไม่ได้ดีสักอย่าง  แล้วก็ไม่ใช่ปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดที่เราสติแตก  เพราะการละเลยความต้องการของเรานั้นก็คือการใช้ความรุนแรงกับตัวเราเอง  ดังนั้นความอหิงสาต่อตัวเราจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ

ไม่ยินดีกับเคราะห์ร้ายของผู้อื่น

ความอหิงสาประเภทที่สามคือการไม่ยินดีกับเคราะห์ร้ายของผู้อื่น  พูดอีกอย่างก็คือ มันถือเป็นเรื่องที่โหดร้ายครับ  หากเรามองความรุนแรงในฐานะสภาวะทางจิตใจที่โหดร้าย  การที่เรารู้สึกยินดีกับความลำบากของผู้อื่น หรือเวลาที่ผู้อื่นล้มเหลวนั้นถือเป็นสภาวะทางจิตใจที่โหดร้าย  ตอนนี้คุณอาจคิดว่า “เออ ฉันไม่ค่อยทำอะไรแบบนี้เลย”   แต่หากคุณคิดถึงตัวอย่างด้านการเมือง ถ้ามีผู้สมัครสองคนและคนที่คุณไม่ชอบเสียที่นั่งไป ไม่ว่าจะแพ้การเลือกตั้ง หรือโดนไล่ออก เรารู้สึกยินดีกับเรื่องนี้มาก  เรายินดีกับความเคราะห์ร้ายของพวกเขา ถูกไหมครับ?  ในลักษณะเดียวกันของสถานการณ์นี้ ถึงแม้ว่าเราอาจจะดีใจที่ผู้สมัครที่เราคิดว่าดีที่สุดได้รับตำแหน่งไป เราก็ยินดีกับความสุขของพวกเขา แต่มันไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะต้องยินดีกับการแพ้ของอีกคน เพราะเขาย่อมมีครอบครัว มีผู้คนที่พึ่งพาเขาอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย และเขากำลังประสบกับความทุกข์  เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน  เพราะฉะนั้นเราดีใจที่เขาไม่ได้รับตำแหน่ง แต่เราก็ปรารถนาให้เขามีความสุขในชีวิตด้วยเช่นกัน  เราไม่ปรารถนาร้ายต่อพวกเขา (ปรารถนาให้มีสิ่งแย่ ๆ เกิดขึ้นกับเขา)

ดังนั้น เราได้เห็นแล้วว่าความอหิงสาทั้งสามประเภทนี้เป็นสิ่งต่อต้านการคิดที่โหดร้ายทั้งสามประเภท  ความคิดที่โหดร้ายนั้น

  • ปราศจากความเห็นอกเห็นใจ – อยากให้ผู้อื่นมีความยากลำบากและความทุกข์
  • ไร้ซึ่งความรักตัวเอง – อยากทำร้ายตัวเอง ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
  • มีความยินดีกับเคราะห์ร้ายของผู้อื่น - รู้สึกยินดีเมื่อผู้อื่นล้มเหลว หรือเมื่อมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับพวกเขา

และอย่างที่ผมกล่าวไป ประเภทของการกระทำที่เราทำนั้นเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสิ่งเหล่านี้โดยที่เราไม่ต้องใช้ความรุนแรง มีตัวอย่างคลาสสิคอยู่ในพระสูตรของพระพุทธศาสนาเล่มหนึ่ง  มีผู้ทำสมาธิสองคนนั่งอยู่ริมแม่น้ำ  มีผู้ชายคนหนึ่งเดินมายังแม่น้ำนี้ และแม่น้ำสายนี้มีกระแสน้ำที่รุนแรงมาก ๆ  ผู้ชายคนนี้อยากจะกระโจนลงไปในน้ำและว่ายข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่ง  นี่เป็นแม่น้ำประเภทที่ไม่มีใครสามารถว่ายข้ามไปได้  ใครที่จะลองจะต้องจมน้ำตายอย่างแน่แท้  ผู้นั่งสมาธิคนหนึ่งนั่งอยู่ตรงนั้นโดยมีสีหน้าสงบมากและค่อนข้างพร้อมที่จะไม่ทำอะไรทั้งสิ้น และจะปล่อยให้ชายคนนี้กระโดดลงไปในน้ำ ซึ่งเขาต้องจมน้ำแน่ ๆ  ส่วนผู้นั่งสมาธิอีกคนลุกขึ้น แต่ไม่สามารถหว่านล้อมไม่ให้ชายคนนั้นลงไปในน้ำได้ เขาจึงต่อยชายคนนั้นจนหมดสติเพื่อหยุดไม่ให้เขาลงไปในแม่น้ำ  พระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด (พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาทางนั้นและทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด) และพระองค์ทรงตรัสกับผู้นั่งสมาธิที่นั่งอยู่ตรงนั้นอย่างสงบพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า ว่าเขาคือคนที่กระทำการรุนแรง  การต่อยหน้าคนเพื่อป้องกันมิให้เขาทำร้ายตัวเองนั้นคือการกระทำที่ไม่รุนแรง  ทำไมน่ะหรือครับ?  ก็เพราะว่าแรงจูงใจ สภาวะทางจิตใจคือการอยากช่วยเหลือคนคนนั้นให้หลีกเลี่ยงความทุกข์และเลี่ยงการจมน้ำตายนั่นเอง

ค่านิยมทางจิตวิญญาณ

ทั้งหมดที่ผมได้กล่าวไปเชื่อมโยงกับส่วนที่สองของหัวข้อในเช้าวันนี้ของเราครับ นั่นก็คือค่านิยมทางจิตวิญญาณในโลกปัจจุบัน  คำว่า “ทางจิตวิญญาณ” (spiritual) จริง ๆ แล้วเป็นคำที่ยากต่อการนิยาม และเห็นได้ชัดว่ามีความหมายเชิงนัยยะที่แตกต่างกันออกไปอย่างแน่นอน หรือมีความหมายเชิงนัยยะที่แตกต่างกันอย่างไม่ต้องสงสัยเลย ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษารัสเซีย  แต่เรามาดูลักษณะที่คำนี้ได้รับการนิยามกันครับ หรือคำที่มีความหมายคล้ายคลึงในบริบทของพระพุทธศาสนา  ในพระพุทธศาสนาเราพูดถึงพระธรรม  และ “พระธรรม” หมายถึงวิธีการเชิงป้องกัน  กล่าวคือพระธรรมคือสิ่งที่เราทำเพื่อหลีกเลี่ยงความทุกข์และปัญหาต่าง ๆ  ไม่ใช่แค่การคิดในเชิงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทันที เช่น คุณกำลังขับรถหรือขี่จักรยาน และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการชนบางอย่าง คุณหักหลบไปด้านข้างนะครับ  นั่นไม่ใช่พระธรรม

ฉะนั้นเราไม่ได้กำลังพูดถึงเพียงแต่สิ่งต่าง ๆ ที่เราทำทันทีในชีวิตประจำวัน  เราไม่ได้เรียกสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ หากแต่คือการคิดในลักษณะที่ว่าต้องการป้องกันอะไรบางอย่างในอนาคต  และในศาสนาส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงพระพุทธศาสนาด้วยนั้น หมายถึงการคิดถึงชีวิตในอนาคต และสำหรับบางศาสนาคือการคิดถึงชีวิตในชีวิตหลังความตาย ซึ่งหมายความว่าการเอาใจใส่หลัก ๆ ของเราไม่ได้อยู่เพียงแค่ความสำเร็จเชิงวัตถุในชีวิตนี้ เพราะเมื่อถึงเวลาตายแล้ว เราก็ไม่ได้เอาสิ่งเหล่านี้ติดตัวไปด้วย และชีวิตนี้ก็สั้นมากเมื่อเทียบกับระยะเวลามหาศาลในอนาคต

จุดนี้เป็นเรื่องที่ดีมาก หากเราเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด หรือชีวิตหลังความตาย แต่พวกเราหลายคนอาจไม่เชื่อเรื่องนี้  แล้วเรายังสามารถเป็นผู้คนเชิงจิตวิญญาณได้หรือไม่?  ผมคิดว่าเราเป็นได้แน่นอน หากเราไม่ได้คิดเพียงแค่เรื่องความเป็นอยู่ที่ดีเชิงวัตถุในชาตินี้ สำหรับผมเองและอาจจะสำหรับครอบครัวของผม แต่หากเราคิดในแง่ของระยะเวลาที่ยาวนานกว่านั้นมาก ยกตัวอย่างเช่น สำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคต  พูดอีกอย่างก็คือ เราพยายามสร้างโลกให้น่าอยู่ขึ้นด้วยการสนับสนุนประเภทใดก็ตามที่เราสามารถทำได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ   มีตัวอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ นั่นคือข้าวถุงใหญ่นั้นประกอบไปด้วยเมล็ดข้าวแต่ละเมล็ดทุกเมล็ด  ดังนั้นพวกเราบางคนอาจสามารถบริจาคข้าวหนึ่งกำมือเต็มใส่ถุงนั้นได้ และบางคนอาจสามารถบริจาคข้าวเพียงหนึ่งเมล็ดเท่านั้น แต่ทั้งสองคนก็มีส่วนช่วย  นั่นคือประเด็นครับ  และถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถมีส่วนช่วยได้มากมาย อย่างน้อยเราก็พยายามทำ

ดังนั้นการฝึกฝนเพื่อเตรียมตัวเป็นครูหรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของพวกคุณนั้นจึงถือเป็นโอกาสอันยอดเยี่ยมสำหรับการคิดในแง่ของการช่วยเหลือให้โลกน่าอยู่ขึ้น  ในฐานะครู คุณฝึกฝนอบรมนักเรียนที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตและหวังว่าพวกเขาก็จะทำการช่วยเหลือในส่วนของพวกเขาเช่นกัน  ในฐานะแพทย์ คุณช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้คนไข้ เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถดำเนินการช่วยเหลือในอนาคตต่อไป  จุดนี้จึงกลมกลืนกับความต้องการให้พวกเขามีความสุขและไม่มีทุกข์ได้ดีมาก  กล่าวคือไม่มีความคิดรุนแรงหรือโหดร้ายต่อพวกเขาและให้ความเคารพเขาด้วย  เราเคารพตัวเองในแง่ที่ว่า “ฉันสามารถมีส่วนช่วยสำหรับอนาคตได้” และเราเคารพคนไข้และนักเรียนของเราในแง่ที่ว่า “พวกเขาสามารถมีส่วนช่วยได้เช่นกัน”  แล้วการมีส่วนช่วยหมายความอย่างไร?  การทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นหมายความว่าอย่างไร?  โดยสรุปแล้วมันหมายถึงการสนับสนุนด้วยวิธีการประเภทต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้คนมีความสุขมากขึ้น  และการมีความสุขมากขึ้นไม่ได้หมายถึงความสุขแค่ในระดับวัตถุเท่านั้น ถึงแม้ว่าความสุขระดับนี้จะสำคัญเช่นกัน แต่ยังหมายถึงจิตใจที่มีความสงบสุข หมายถึงความสามารถในการใช้ทั้งทักษะทางเทคนิคและทักษะทางอารมณ์ในการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมพิจารณาว่าเป็นค่านิยมทางจิตวิญญาณ  พูดอีกทางหนึ่งก็คือ สิ่งที่เราพิจารณาว่ามีความสำคัญในชีวิตเราและในเชิงวิธีการใช้ชีวิตของเรา  สรุปแล้วผมคิดว่าการคิดถึงเรื่องแรงจูงใจอย่างจริงจังมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับคนอายุน้อยอย่างพวกคุณ   ทำไมฉันถึงเรียนวิชาที่ฉันเรียนอยู่?  ฉันต้องการจะทำอะไรให้สำเร็จในชีวิต? ฉันต้องการทำอะไรให้สำเร็จสำหรับครอบครัวของฉันในอนาคต?  ฉันต้องการมอบอะไรไว้ให้อนาคตหรือคนรุ่นหลังกันแน่?  แล้วทำไมฉันถึงต้องการแบบนี้?  การหาคำตอบเหล่านี้อาจต้องใช้การค้นหาภายในตัวเองค่อนข้างมากอยู่ แต่ก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าในการทำมาก  เราอาจพบว่าคำตอบของเราสำหรับคำถามเหล่านี้อาจไม่น่าพึงพอใจนัก  และผมคิดว่าเกณฑ์ที่เราจำเป็นต้องใช้ในการตัดสินใจว่า “ฉันต้องการปรับเปลี่ยนแรงจูงใจของฉันให้ถูกต้องหรือไม่?”  คือการมองว่าสิ่งที่ฉันทำนั้นจะนำพาความสุขมาให้ตัวฉันและผู้อื่นหรือไม่ หรือว่ามันจะสร้างแต่ปัญหา?  ในการประเมินผลส่วนนี้ ผลกระทบระยะยาวมีความสำคัญสูงกว่าผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นในทันทีมาก  แต่ถ้าเรามีความชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไรในชีวิตและเห็นว่าเรากำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีในชีวิต จุดนี้ก็จะให้ความรู้สึกอันยอดเยี่ยมในเชิงสุขภาวะและความพึงพอใจ

ผมคิดว่าหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้คนรู้สึกหดหู่บางครั้งคือ พวกเขาพบว่าชีวิตของตนเองนั้นไร้ความหมาย ไร้ทิศทาง  เรากำลังไล่ตามอาชีพของเรา แต่ใจเราไม่ได้อยู่กับงานนั้น  และเรารู้สึกว่าปัญหาต่าง ๆ ในโลก ปัญหาในประเทศ ปัญหาในเขตของเรา ปัญหาในครอบครัวเรา ปัญหาของตัวเราเอง  สิ่งเหล่านี้มันเลวร้ายเกินไป มันมากเกินจะรับไหว  แล้วการใช้ชีวิตด้วยสภาวะจิตใจดังกล่าวจะมีความหมายอะไรล่ะครับ?  มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก ๆ  มันไม่ใช่ชีวิตที่มีความสุขมาก  เพราะฉะนั้นจุดนี้ก็เช่นกัน เราต้องอาศัยความเคารพในตัวเองเพื่อพยายามเอาชนะความรู้สึกสิ้นหวัง  เราต้องยืนยันกับตัวเองอีกรอบว่า “ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็นอย่างไร ฉันมีความสามารถในการพัฒนาตนเองและเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นได้”  และจุดนี้มีความสำคัญมาก ไม่ใช่แค่เพื่อทำให้ตัวฉันเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้น มีการรับรู้ข้อนี้ แต่รวมถึงสภาวะจิตใจทั้งหมดของฉันที่จะส่งผลต่อผู้คนรอบตัวฉันด้วย  ดังนั้นการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นทางการแพทย์หรือการสอนนั้น…นี่ล่ะคือการทำสิ่งที่มีความหมาย  เราไม่อาจรู้ได้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แต่เรารู้ว่าหากผู้คนมีสุขภาพที่ดี หากผู้คนมีการศึกษา ก็ย่อมมีหวัง มีหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นได้  บางทีนี่อาจเป็นเรื่องที่ยากต่อการจินตนาการ  แต่ถึงแม้ว่าในอนาคตจะมีความยากลำบากมากขึ้น เราก็สามารถช่วยผู้คนให้เตรียมตัวเพื่อรับมือกับสิ่งเหล่านั้นได้ดีขึ้น

ทั้งหมดนี้คือความคิดของผมเกี่ยวกับอหิงสาและค่านิยมทางจิตวิญญาณในโลกปัจจุบันครับ

คำถาม

ในโลกปัจจุบัน เราเข้าใจว่าความเห็นอกเห็นใจเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมทางพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว  แต่สถานการณ์ในชีวิตจริงนั้นมันยากมาก และบางครั้งเด็ก ๆ ก็เติบโตขึ้นมาโดยปราศจากพ่อแม่ พวกเขาจึงค่อนข้างคึกคะนอง  สำหรับพวกเรา หากเราเป็นครู การแสดงให้พวกเขาเห็นถึงความจำเป็นของความเห็นอกเห็นใจนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก กล่าวคือพวกเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะปกป้องผู้คนที่อ่อนแอกว่าและไม่ทำร้ายหรือทำตัวคึกคะนองใส่ผู้คนที่อ่อนแอกว่า  ดังนั้นในฐานะครู เราจะสามารถสื่อสารจุดนี้กับนักเรียนได้อย่างไร โดยเฉพาะกับนักเรียนที่ค่อนข้างมีความรุนแรง นักเรียนที่กำลังเติบโตในสถานการณ์การเงินและสังคมที่ยากลำบาก

ผมคิดว่าหนึ่งในวิธีที่จะสามารถช่วยเหลือเด็กที่คึกคะนองเหล่านี้ได้คือการให้พวกเขาได้ให้ ให้และสร้างความเอื้ออาทร  พูดอีกอย่างก็คือ หากใครบางคน (ยกตัวอย่างว่าเป็นเด็กแล้วกันครับ) ได้รับโอกาสให้มอบบางอย่างกับเด็กอีกคน เช่น เขาเป็นผู้แจกกระดาษให้เด็กอีกคนหรืองานที่ได้รับมอบหมาย หรือถ้าเขาทำการกระทำใด ๆ ที่เป็นการเอื้ออาทร นั่นก็คือการช่วยเหลือผู้อื่น  จุดนี้จะสร้างความรู้สึกของการเห็นคุณค่าในตัวเองให้เด็กคนนี้  พูดอีกอย่างก็คือ หากเด็กคนนี้มาจากพื้นเพที่ยากลำบากและรู้สึกขาดความรัก พวกเขามักแสดงความรู้สึกของการโดนปฏิเสธผ่านพฤติกรรมคึกคะนองเหล่านี้  “ถ้าฉันถูกคนส่วนใหญ่มองว่าไม่เอาไหนอยู่แล้ว เพราะฉันมีพื้นเพที่มาที่ไม่ดี งั้นฉันก็จะแสดงให้ทุกคนเห็นเลยว่าฉันมันไม่เอาไหนแค่ไหน” แบบนั้นน่ะครับ  ดังนั้นพูดอีกอย่างก็คือ พวกเขาปฏิบัติตัวในลักษณะต่อต้านสังคม ในลักษณะแยกตัวจากสังคม ไปก่อคดีต่าง ๆ  นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยอยู่ครับ  แต่หากพวกเขาได้รับโอกาสในการแสดงออกถึงความดีของพวกเขา ว่าพวกเขามีสิ่งที่สามารถให้ผู้อื่นได้ ถึงแม้ว่าพวกเขาอาจไม่ได้ให้ในทางที่ดี ผมหมายถึงในทางที่มีประสิทธิภาพสูงนะครับ ถึงกระนั้นแล้ว จุดนี้ก็ทำให้พวกเขารู้สึกได้ว่าตนเองมีสิ่งดี ๆ ที่จะให้ได้ ไม่ได้มีเพียงแค่สิ่งที่ไม่ดีเท่านั้น

จากมุมมองทางพระพุทธศาสนาแล้ว นี่คือการสะสมพลังเชิงบวก หรือสะสมบุญด้วยการให้  แต่เราไม่ต้องบอกคำอธิบายทางพระพุทธศาสนาครับ  ผมคิดว่าแค่ในเชิงของจิตวิทยา สิ่งที่ผมอธิบายไปก็สามารถเป็นประโยชน์ได้ครับ  แต่ในการให้พวกเขาทำสิ่งดี ๆ หรือสิ่งที่เป็นสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่านี่เป็นบทลงโทษ

ในชีวิตเรา เรามักต้องรับมือกับการลงโทษหรืออบรมระเบียบวินัยให้กับผู้อื่น แต่ก็ยังมีกระบวนการของการอบรมระเบียบวินัยใหม่ด้วย คือเวลาที่เราพยายามอบรมระเบียบวินัยให้กับผู้นั้นอีกรอบหนึ่ง  แต่ในกระบวนการนี้ สิ่งใดจะเป็นประโยชน์ที่สุดครับ? บทลงโทษ หรืออาจจะให้ผู้นั้นทำงานบางประเภท อย่างงานบริการสังคม  หรือว่าจะเป็นการให้การศึกษาเชิงศีลธรรมกับผู้นี้ครับ?  สมมุติว่าเป็นผู้ต้องขัง เป็นอาชญากร หมายถึงผู้คนที่เราต้องจัดระเบียบวินัยให้นั้นไม่ใช่เด็กน่ะครับ 

โดยรวมแล้วคำถามนี้ตอบยากมากครับ เพราะว่าอีกครั้งนะครับ ทุกคนมีความเป็นปัจเจกบุคคล  โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เคยมีส่วนร่วมกับการสอนในเรือนจำ แต่เพื่อนร่วมงานของผมหลายคน เพื่อนร่วมงานในสายพระพุทธศาสนา เคยมีส่วนร่วมมาแล้ว  และสิ่งหนึ่งที่พวกเขาพบคือ ผู้ต้องขังหลายคน แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนนะครับ…มันต้องใช้เวลานานมาก เพราะพวกเขามีเวลาเยอะมากในการพิจารณาชีวิตตัวเอง พิจารณาว่าตัวเองได้ทำอะไรในชีวิตบ้างและต้องการอะไรในชีวิต  ดังนั้นจึงมีผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งที่ค่อนข้างสนใจการเรียนรู้การรับมือกับความโกรธของตนเอง การรับมือกับแรงกระตุ้นที่รุนแรง พวกเขาจึงค่อนข้างเปิดรับการทำสมาธิประเภทพื้นฐานที่สุดในพระพุทธศาสนาเพื่อสร้างความสงบ เช่น การมุ่งเน้นไปที่ลมหายใจ  ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเปิดรับความช่วยเหลือประเภทนี้  แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเปิดรับต่อการรับความช่วยเหลือ และถ้าพวกเขาไม่เปิดรับ เราก็ทำอะไรมากไม่ได้  การลงโทษทางกายกับพวกเขาเวลาที่พวกเขาไม่มีความปรารถนาที่จะปรับปรุงตัวหรือเปลี่ยนแปลงชีวิตนั้นมีแต่จะสร้างความเกลียดชังและความโกรธในตัวพวกเขาเพิ่มมากขึ้น

มีการฝึกฝนที่ใช้ในจิตวิทยาบางรูปแบบที่อาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ดีนักในกรณีนี้ แต่ผมจะกล่าวถึงเพื่อเป็นไอเดียสำหรับคุณ  เวลาที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตัวคึกคะนองเป็นอย่างมาก ซึ่งมักเป็นเด็กวัยรุ่น เขาจะออกเดินทางไปเป็นกลุ่มพร้อมกับผู้นำ และพวกเขาจะมีล่อไปด้วย  แน่นอนว่าล่อเป็นสัตว์ที่ดื้อรั้นมากและไม่ค่อยทำตามคำสั่ง เขามีหน้าที่รับผิดชอบล่อตัวนี้ ต้องจัดการกับล่อตัวนี้ให้ได้  เขาจึงต้องเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความโกรธและการขาดความอดทนของตนเอง รวมถึงอะไรก็แล้วแต่ เพื่อหาวิธีทำงานกับล่อตัวนี้ให้ได้  จุดนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการให้หน้าที่รับผิดชอบที่เป็นสร้างสรรค์บางอย่างกับวัยรุ่นกลุ่มนี้ โดยการทำหน้าที่ดูแลล่อ

ดังนั้น บางครั้งการมอบภาระหน้าที่ให้เด็กดูแลสัตว์ทำให้พวกเขา…สัตว์จะไม่วิจารณ์พวกเขา มีแต่ผู้คนที่วิจารณ์  ดูอย่างสุนัขสิครับ…ไม่ว่าคุณจะสอนระเบียบวินัยมันมากแค่ไหน มันก็ยังชอบคุณ  เพราะฉะนั้นบางครั้งการให้พวกเขารับมือกับสิ่งมีชีวิตอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้คือสุนัข อาจก่อให้เกิดผลในเชิงการทำให้บางคนอ่อนน้อมได้ ทำให้พวกเขาใจเย็นลงและมีความรับผิดชอบมากขึ้น  แต่แน่นอนว่าก็มีผู้คนบางประเภทที่มีความรุนแรงมาก ๆ และถ้าคุณให้สุนัขกับเขา เขาก็จะทรมานสุนัขตัวนั้น คุณจึงต้องใช้ความระมัดระวังครับ

ผมมีเพื่อนเป็นจิตแพทย์และส่วนใหญ่เธอทำงานกับวัยรุ่นที่มีความรุนแรง ซึ่งมักเป็นคนไร้บ้าน อาศัยอยู่ตามถนนและเผชิญกับความยากลำบากทั้งหลาย  เธอบอกผมว่าข้อปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เธอใช้คือ อีกครั้งนะครับ เรากลับมาที่สิ่งที่เราเพิ่งพูดถึงไป นั่นคือการรักษาเด็กที่อาจมีความรุนแรงสูง ด้วยความสนใจและความเคารพพวกเขาในฐานะมนุษย์  ให้ความสำคัญกับพวกเขาอย่างจริงจัง  ใช้เวลาในการฟังพวกเขาและเรียนรู้ว่าพวกเขามีปัญหาอะไรกันแน่  แต่สิ่งหนึ่งที่คุณต้องหลีกเลี่ยงให้มากคือ หากคุณกำลังฟังพวกเขา อย่าพูดว่า “อ้อ ชั่วโมงของคุณหมดแล้ว คุณต้องไปแล้วล่ะ”  พวกเขามักจะตอบโต้สถานการณ์นี้ในเชิงรุนแรงมาก เพราะมันเป็นการปฏิเสธ

ดังนั้น บทเรียนสำหรับเรื่องนี้คือ หากเราพยายามจะรับมือกับนักเรียนเกเร เราต้องให้เวลากับนักเรียนคนนั้น  คุณจะต้องรับฟังเขา  คุณต้องการพยายามทำความเข้าใจว่าเขามีปัญหาอะไร (ถึงแม้ว่าคุณจะไม่สามารถคิดหาทางออกได้ก็ตาม เพราะการฟังอย่างเห็นอกเห็นใจก็มีประโยชน์แล้ว) แต่อย่าจำกัดเวลาในการฟังและให้ความเคารพกับเด็กคนนี้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

แต่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ควรทำในการลงโทษหรืออบรมระเบียบวินัยให้กับพวกเขา  เป็นเรื่องที่พูดได้ยากมาก  ผมไม่รู้ว่าวิธีการแบบใดยอมรับได้และยอมรับไม่ได้ในสังคมของคุณ  แต่การลงโทษพวกเขา โดยเฉพาะด้วยความโกรธนั้น ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ครับ

คนเราจะสามารถเอาชนะความรำคาญในความสัมพันธ์กับคนอื่นในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร?

หากเราวิเคราะห์สถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าไม่น่ารื่นรมย์ ที่เรารู้สึกว่าน่ารำคาญ เราจะพบว่ามันเกิดขึ้นจากสาเหตุ สถานการณ์ และเงื่อนไขที่แตกต่างกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขทางสังคม เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นที่บ้านของผู้คนรอบตัว พื้นเพของพวกเขา ฯลฯ  เมื่อเรารำคาญหรือโกรธสิ่งเหล่านี้ จริง ๆ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในจิตใจคือการนำเหตุการณ์ดังกล่าว หรืออะไรก็ตามที่เรารำคาญ มาสร้างให้กลายเป็นสัตว์ประหลาดน่าเกลียดน่ากลัวอันแข็งแกร่ง ให้เป็นสิ่งที่เลวร้าย  เราลืมมองถึงสาเหตุและเงื่อนไขซึ่งมันอาศัยอยู่ในความเป็นจริง และเพราะว่าเราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น ความโกรธจึงเป็นอารมณ์อันแข็งแกร่งในการปฏิเสธสิ่งนั้น

ทีนี้หากเราลองคิดถึงการปฏิเสธนะครับ…กลไกเบื้องหลังการปฏิเสธก็คือว่า “ฉันปรารถนาอยากให้ความทุกข์ ความลำบากนี้ออกไป ให้มันหายไปเสีย”  นั่นคือความเห็นอกเห็นใจ  ดังนั้นฝ่ายตรงข้ามของความโกรธและความรำคาญก็คือความรักเสมอ  ความรักคือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขและมีเหตุสำหรับความสุข  พวกเขาปฏิบัติตัวในทางแย่ ๆ เนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้และเพราะว่าพวกเขาไม่มีความสุข  ฉันอยากให้เขามีความสุข เพื่อที่พวกเขาจะได้เลิกปฏิบัติตัวในลักษณะแย่ ๆ ที่น่ารำคาญ  ในการที่พวกเขาจะมีความสุขได้ ฉันต้องเรียนรู้ว่าเงื่อนไขใดบ้างที่กำลังทำให้พวกเขาไม่มีความสุขและทำตัวเกเร จากนั้นจึงดูว่าฉันสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง

วิธีเหล่านั้นเป็นวิธีบางประการที่เราใช้  จริง ๆ มันก็คือการวิเคราะห์นั่นแหละครับ  สิ่งนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุนั้นสาเหตุนี้  ฉันอยากให้พวกเขาหยุดทำตัวแบบนี้ ซึ่งเกิดจากสาเหตุเหล่านี้ ดังนั้นฉันสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของพวกเขา

ในฐานะครู เราจะต้องรับมือกับเด็ก ๆ ที่มาจากพื้นเพที่แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของพื้นเพทางวัฒนธรรม สังคม และศาสนา  มันเพียงพอหรือไม่ที่เราจะมีความอดทนกับเด็กทั้งหมดเหล่านี้ กับเด็กประเภทต่าง ๆ กันในการลงโทษหรืออบรมระเบียบวินัยและในการสอนพวกเขา?

ผมคิดว่าหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือความสนใจในตัวเด็ก ซึ่งหมายถึงการทำความคุ้นเคยกับพื้นเพทางศาสนาของเด็กเหล่านี้ พื้นเพทางสังคมของพวกเขา  ยิ่งคุณเข้าใจผู้คนที่คุณพยายามให้การศึกษามากขึ้นเท่าไหร่ คุณก็จะสามารถเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการมากขึ้นเท่านั้น  และหวังว่าจุดประสงค์ของการศึกษาจะไม่ใช่เพียงเพื่อให้พวกเขาสอบผ่าน หากแต่เพื่อช่วยเหลือให้พวกเขาเป็นคนที่ดีขึ้น  เพราะฉะนั้นจงเรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขา  คุณอาจให้พวกเขาเขียนเรียงความสั้น ๆ เกี่ยวกับตนเอง หรือเกี่ยวกับครอบครัวและพื้นเพของเขา หรืออะไรทำนองนั้น  ทำให้เขาพูดถึงบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับตัวเอง  จากนั้นคุณก็จะสามารถรู้จักพวกเขาได้ดีขึ้นบ้าง

ฉันมักพบคนที่ลังเลเวลาที่พวกเขาจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นของตัวเอง หรือพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวเอง เพราะพวกเขากลัวโดนปฏิเสธ  และคำถามของฉันเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ก้าวข้ามความใจแคบและความกลัวของเขา

ผมว่านี่เป็นปัญหาที่ชัดเจนมากในเด็กวัยรุ่น ซึ่งกังวลมากกับการยอมรับจากเพื่อนฝูงเป็นอย่างมาก  เราจะสามารถช่วยให้เขาเอาชนะความขี้อายได้อย่างไรน่ะหรือ?  เอาล่ะครับ หนึ่งในวิธีที่ใช้ในการศึกษาภายในอารามทางพระพุทธศาสนาก็คือ หลังจากการเรียนบทเรียนแต่ละบท นักเรียนทุกคนจะแยกกันจับคู่สองคน จากนั้นจึงหารือกับคู่ของตัวเอง จริง ๆ พวกเขาทำการอภิปรายกันครับ อภิปรายเชิงเหตุผล แต่เป็นการหารือกับคู่เกี่ยวกับสิ่งที่เรียนไปเพื่อดูว่าแต่ละคนเข้าใจหรือไม่  ดังนั้นพวกเขาไม่ได้พูดหน้าชั้นเรียนให้ทุกคนฟัง ซึ่งนักเรียนบางคนอาจทำตัวใจร้ายและหัวเราะเยาะใส่พวกเขา  แต่พอเป็นคู่แล้ว ยังไงคุณก็ต้องพูดอะไรสักอย่าง  อาจารย์สามารถเดินไปรอบ ๆ และฟังแต่ละกลุ่มหารือกันสักสองสามนาที เพื่อดูให้แน่ใจว่าพวกเขากำลังพูดกันเกี่ยวกับหัวข้อที่เรียนจริง ๆ และไม่ได้พูดกันเรื่องอื่น  แต่วิธีนี้เป็นวิธีการสอนที่ดีมากครับ เพราะทำให้เด็กไม่ต้องนั่งฟังอยู่เฉย ๆ โดยไม่ใส่ใจและไม่เรียนรู้อะไรเลย  พวกเขาต้องพูดบ้าง  พวกเขาต้องแสดงให้คู่หารือเห็นว่าพวกเขาใส่ใจและตั้งใจฟังบทเรียนจริง ๆ  และพวกเขาจะเขินอายไม่ได้  แต่คุณต้องทำให้แน่ใจว่านักเรียนไม่เลือกคู่หารือคนเดิมตลอดนะครับ พวกเขาต้องเปลี่ยนคู่  นี่เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในระบบการศึกษาในอาราม ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ได้

Top