พวกเราทุกคนล้วนมีปัจจัยการทำงานขั้นพื้นฐานสำหรับการสร้างโพธิจิต
“โพธิจิต” (Bodichitta) เป็นคำศัพท์ภาษาสันสฤต ซึ่งแปลได้ไม่ง่ายนัก คำว่า “จิต” หมายถึง “จิตใจ” แต่เวลาเราพูดถึงจิตใจในพระพุทธศาสนา เราพูดถึงจิตและใจทั้งสอง ในพระพุทธศาสนาเราไม่ได้แบ่งแยกทั้งสองอย่างนี้ ตามที่เรามักทำในวิธีการคิดแบบตะวันตก เพราะฉะนั้นเราไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่การพัฒนาสติปัญญา กล่าวคือด้านเหตุผลของจิตอันประกอบด้วยสมาธิ ความเข้าใจ และอื่น ๆ เพียงเท่านั้น แต่เรายังต้องพัฒนาหัวใจของเราด้วย ซึ่งหมายถึงด้านอารมณ์ทั้งหมดของเรา เพื่อที่เราทุกคนจะสามารถไปถึงคำแรกของคำว่าโพธิจิตได้ นั่นก็คือ “โพธิ” นั่นเอง
“โพธิ” เป็นคำที่บ่งบอกถึงสภาวะการณ์เติบโตและการชะล้างให้บริสุทธิ์ขั้นสูงสุด การชะล้างให้บริสุทธิ์ตรงนี้หมายถึงการกำจัดอุปสรรคและสิ่งขวางกั้นต่าง ๆ ที่เราอาจมี ทั้งสิ่งขวางกั้นทางจิตใจและทางอารมณ์ และยังหมายถึงการกำจัดความสับสน การขาดความเข้าใจและสมาธิด้วย นอกจากนี้ การชะล้างให้บริสุทธิ์ในด้านอารมณ์ยังหมายถึงการกำจัดอารมณ์รบกวน อารมณ์รบกวน เช่น ความโกรธ ความโลภ ความยึดติด ความเห็นแก่ตัว ความเย่อหยิ่ง ความริษยา ความไร้เดียงสา…อารมณ์เหล่านี้มีอีกมากมายเลยครับ เราสามารถพูดต่อไปได้เรื่อย ๆ เลย สิ่งเหล่านี้คือตัวสร้างปัญหาที่แท้จริงในชีวิตเรา เพราะฉะนั้นเป้าหมายที่เรามุ่งไปให้ถึง ด้วยจิตและใจของเรา ก็คือสภาวะของการกำจัดตัวสร้างปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ออกไปให้ได้
ความหมายอีกด้านหนึ่งของคำว่า “โพธิ” หมายถึง “การเจริญเติบโต” ซึ่งหมายความว่าพวกเราทุกคนล้วนมีปัจจัยการทำงานขั้นพื้นฐานอยู่ในตัวเรา พวกเราทุกคนมีร่างกาย พวกเรามีความสามารถในการสื่อสาร ด้วยการใช้ร่างกายของเรา เรามีความสามารถในการปฏิบัติ ในการทำสิ่งต่าง ๆ และพวกเราทุกคนก็มีจิต (ความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ) และมีใจ (ความรู้สึก ความสามารถในการรู้สึกถึงความอบอุ่นกับผู้อื่น) และมีสติปัญญา (ความสามารถในการแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นคุณและสิ่งที่เป็นโทษ)
เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนมีปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้ คุณสมบัติที่ดีเหล่านี้ และมันก็ขึ้นอยู่กับเราว่าเราจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ เราสามารถใช้มันเพื่อสร้างปัญหาให้กับตัวเราเองและผู้อื่นด้วยวิธีการที่เราปฏิบัติ วิธีการที่เราพูด วิธีการที่เราคิด หรือเราจะใช้มันเพื่อสร้างประโยชน์และความสุขเพิ่มขึ้นให้ตัวเองและผู้อื่นก็ได้ หากวิธีที่เราปฏิบัติตัวและสื่อสารและคิดตกอยู่ใต้อิทธิพลของความสับสนและอารมณ์รบกวนต่าง ๆ แน่นอนว่ามันทำให้เกิดปัญหา เมื่อเราปฏิบัติตัวภายใต้อิทธิพลของความโกรธ เราก็มักจะทำอะไรที่เราต้องมาเสียใจภายหลัง จริงไหมครับ? เมื่อเราทำตัวเห็นแก่ตัว การกระทำของเราก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ ไม่มีใครชอบคนเห็นแก่ตัว
นั่นคือด้านเดียว อีกด้านหนึ่งคือ ถ้าเราปฏิบัติตัว สื่อสารและคิดบนพื้นฐานของคุณสมบัติเชิงบวกต่าง ๆ อย่างความรัก ความเห็นอกเห็นใจ การคิดคำนึงถึงผู้อื่น เราก็จะเห็นว่าการกระทำเช่นนี้นำพาความสุขและความพึงพอใจในชีวิตมาสู่เราเพิ่มขึ้น ผู้คนชอบเรา วิธีนี้ช่วยสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นมากขึ้น เราสามารถเห็นจุดนี้ได้ชัดเจนมากในความสัมพันธ์ของเรากับเพื่อน ๆ เช่น ถ้าเราเอาแต่วิจารณ์ผู้อื่นและโกรธผู้อื่นอยู่ตลอด ก็ไม่มีใครอยากคบกับเรา แต่ถ้าเราใจดีต่อพวกเขาและปฏิบัติกับผู้อื่นอย่างดี แน่นอนว่าพวกเขาย่อมชอบใช้เวลาอยู่กับเรา เราสามารถเห็นจุดนี้ได้จากลักษณะที่เราปฏิบัติกับแมวและสุนัขในบ้านของเราด้วย แม้แต่สัตว์เลี้ยงของเรายังไม่ชอบโดนดุด่าและตะโกนใส่ตลอดเวลาเลย พวกมันชอบที่จะได้รับการปฏิบัติด้วยดี ดังนั้นปัจจัยการทำงานพื้นฐานที่เรามีเหล่านี้สามารถเติบโตได้ เราสามารถพัฒนาปัจจัยเหล่านี้ในเชิงบวกได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
ดังนั้นโพธิจิตก็คือสภาวะ หรือสถานการณ์ หรือเงื่อนไข ของจิตและใจของเราที่มุ่งไปยังสภาวะของโพธิ มุ่งไปยังสภาวะที่ข้อบกพร่องทั้งหมด ตัวสร้างปัญหาทั้งหมดที่เรามีอยู่ในตัวเราได้รับการกำจัดออกไปอย่างถาวร และคุณสมบัติเชิงบวกทั้งหมดของเราได้รับการพัฒนาไปสู่สภาวะที่เจริญเต็มที่สูงสุด จึงเป็นสิ่งสุดพิเศษ เป็นสภาวะจิตและใจสุดพิเศษ ที่เราจะมีได้
และเราสามารภบรรลุสภาวะนี้ได้ด้วยอารมณ์ที่เป็นเชิงบวกมาก ๆ อารมณ์เหล่านี้คืออะไรบ้าง? พูดง่าย ๆ คือ เราไม่ได้มุ่งไปให้ถึงสภาวะนี้เพียงเพราะว่ามันเป็นสภาวะสูงสุดและฉันต้องการที่จะสูงที่สุด มันไม่ใช่เพราะว่าฉันต้องการจะมีความสุขที่สุดและสภาวะนี้คือความสุขที่สุดที่ฉันจะเป็นได้ หากแต่เราคิดถึงผู้อื่น คิดถึงสิ่งมีชีวิตอีกมากมายนับไม่ถ้วนในโลกนี้ ทั้งมนุษย์ สัตว์ และอะไรก็ตาม และเราเข้าใจว่าพวกเราทุกคนมีความเหมือนกันในแง่ที่ว่าพวกเราทุกคนต้องการมีความสุข และไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ นี่เป็นเรื่องจริงแม้แต่สำหรับสัตว์เดรัจฉาน ถูกไหมครับ? และทุกคนต่างก็พยายามทำในแบบของตนเองที่จะนำพาความสุขมาสู่ตนเองและคนที่เขารัก แต่โชคไม่ดีที่พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอะไรจะนำความสุขมาให้เราได้กันแน่ และเราก็ลองทำสิ่งต่าง ๆ นานาที่มักก่อให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นมากกว่าที่จะสร้างความสุข เราซื้อของดี ๆ ให้ผู้อื่น ซื้อเป็นของขวัญให้เขา แต่เขาไม่ชอบ ง่าย ๆ อย่างนั้นเลย มันยากที่จะเอาใจทุกคนได้ จริงไหมครับ? แต่อย่างไรก็ตาม เราก็จำเป็นต้องลอง
มุ่งเป้าไปยังการตรัสรู้ด้วยเจตนาการเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้อื่น
แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเจตนาของเรา เราอยากช่วยเหลือผู้อื่น มันจะดีแค่ไหนหากทุกคนสามารถเป็นอิสระจากปัญหาและเหตุของปัญหาเหล่านี้ได้ นี่แหละคือความเห็นอกเห็นใจ ความเห็นอกเห็นใจคือความปรารถนาให้ผู้อื่นได้เป็นอิสระจากความทุกข์ของพวกเขาและเหตุของความทุกข์
แล้วมันจะดีแค่ไหนหากทุกคนสามารถมีความสุขและมีเหตุแห่งความสุข นั่นคือคำนิยามของความรักในพระพุทธศาสนา ความรักไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะได้อะไรกลับคืนมา ที่จะให้พวกเขาบอกว่า “ฉันจะรักคุณถ้าคุณรักฉัน” มันไม่ใช่แบบนั้น ความรักไม่ได้ขึ้นอยู่กับความประพฤติของอีกคน ไม่ใช่ว่า “ฉันจะรักเธอถ้าเธอเป็นเด็กดี ถ้าเธอเป็นเด็กซน ฉันก็จะไม่รักเธออีกต่อไป” ความประพฤติตัวของผู้อื่นไม่เกี่ยวกันเลย นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่า ถ้าทุกคนสามารถมีความสุขได้ นั่นถือเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม นั่นคือความรัก
แล้วมันจะดีแค่ไหนหากฉันสามารถทำสิ่งสำคัญบางอย่างที่จะช่วยนำพาความสุขนี้มาให้ทุกคนและช่วยพวกเขากำจัดความทุกข์และปัญหาได้ ตอนนี้ฉันมีขีดจำกัดค่อนข้างมาก ฉันมีความสับสน ฉันมีอารมณ์รบกวน ฉันมักจะขี้เกียจ แล้วยังมีปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการหางาน หาคู่ แล้วยังความลำบากทั้งหลายที่ต้องเผชิญหน้าในชีวิตอีก แต่หากฉันสามารถบรรลุสภาวะนี้ได้ ซึ่งจะกำจัดข้อบกพร่องและความยากลำบากทั้งหมดในตัวฉันออกไป และถ้าฉันสามารถบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเองได้ ฉันก็จะอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้อื่น
ดังนั้นเจตนาสำหรับโพธิจิตตรงนี้คือ เรามุ่งเป้าหมายไปที่สภาวะในอนาคตที่เราเรียกว่า “การตรัสรู้” โดยมีเจตนาในการมุ่งมั่นพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะไปให้ถึงสภาวะดังกล่าว โดยมีเจตนาในการเป็นประโยชน์ให้มากที่สุดสำหรับทุกคนที่เราพบเจอระหว่างทางไปสู่สภาวะการตรัสรู้นี้ และไปสู่สภาวะสูงสุดที่จะเป็นไปได้เมื่อเราบรรลุขั้นนี้ได้แล้ว
แต่ไม่มีใครสามารถกลายเป็นพระเจ้าผู้ทรงพลังได้ ข้อนี้เป็นไปไม่ได้ หากข้อนี้เป็นไปได้ ก็คงจะไม่มีใครมีทุกข์อีกต่อไป แต่ทั้งหมดที่เราทำได้คือการพยายามให้ดีที่สุด แต่ผู้อื่นต้องเปิดใจและยอมรับความช่วยเหลือด้วย ถึงแม้เราจะสามารถอธิบายสิ่งต่าง ๆ อย่างชัดเจนให้ผู้อื่นฟังได้ ผู้คนเหล่านั้นก็ต้องทำความเข้าใจด้วยตัวเอง เราไม่สามารถเข้าใจแทนพวกเขาได้ จริงไหมครับ เราสามารถให้คำแนะนำที่ดี แต่ผู้นั้นก็ต้องยอมรับเอง
นั่นคือเป้าหมายของเรา คือการอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้อื่น แต่กระทำโดยมีความคิดที่อยู่บนความเป็นจริง มีความเข้าใจว่าไม่ว่าผู้อื่นจะได้รับการช่วยเหลืออย่างแท้จริงหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความพยายามของพวกเขาเอง แต่หากเราบรรลุสภาวะที่กำจัดความสับสนทั้งหมดออกไปแล้ว เราก็มีความเป็นไปได้สูงสุดในการทำความเข้าใจถึงวิธีการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เราจะเข้าใจถึงปัจจัยทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเป็นอยู่ของผู้นั้น
เราทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งจากครอบครัว จากเพื่อน ๆ จากสังคมที่เราอาศัยอยู่ และจากยุคสมัยที่เราอาศัยอยู่ บางยุคก็เกิดสงคราม บางยุคก็เกิดความลำบากทางเศรษฐกิจขึ้น และบางยุคก็มีความรุ่งเรือง ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมีผลต่อเรา พระพุทธศาสนากล่าวถึงชาติก่อนและชาติหน้า จากมุมมองนี้ เราต่างได้รับผลกระทบจากชาติก่อนของเราเช่นกัน ดังนั้นหากเราต้องการจะช่วยเหลือใครจริง ๆ หากเราต้องการให้คำแนะนำที่ดีกับเขาจริง ๆ เราก็ต้องรู้จักเขา เราต้องเข้าใจเขา เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างที่มีผลต่อพฤติกรรมของเขา ลักษณะที่เขาปฏิบัติตัว ลักษณะความรู้สึกของเขา ซึ่งหมายถึงการเอาใจใส่ในตัวเขาจริง ๆ ใส่ใจและให้ความละเอียดอ่อนกับลักษณะที่พวกเขาเป็น
ผมคิดว่าพวกคุณสามารถเข้าใจจุดนี้ได้ค่อนข้างง่าย หากพิจารณาจากแค่ความสัมพันธ์ของคุณกับผู้อื่น หากคุณอยู่กับเพื่อนคนหนึ่งและคุณไม่ค่อยสนใจเขาเท่าไหร่นัก คุณมักเอาแต่พูดเรื่องตัวเอง อย่างนั้นคุณก็จะรู้จักเขาคนนั้นได้ผิวเผินมาก แล้วถ้าคุณไม่ใส่ใจเพื่อนของคุณ ยกตัวอย่างเช่น เวลาคุณอยู่กับคนคนหนึ่ง คุณกลับเอาแต่ส่งข้อความหาคนอื่นบนโทรศัพท์ของคุณ อย่างนั้นคุณก็ไม่ได้ใส่ใจเพื่อนของคุณ คุณไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำว่าเพื่อนคุณอาจจะดูรำคาญและเริ่มไม่มีความสุขกับคุณแล้ว เพราะคุณไม่ใส่ใจเขาเลย ดังนั้นหากเราต้องการจะช่วยเหลือใครจริง ๆ เราก็ต้องให้ความใส่ใจกับเขา เราต้องสนใจเขา สังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นและตอบโต้ให้สอดคล้องตามนั้น เหมือนกับการที่เราเองก็อยากให้ผู้อื่นให้ความสำคัญและใส่ใจเรานั่นเอง
ทำความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมกันของตัวเราและผู้อื่น
คืออย่างนี้ครับ ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียมของตัวเราเองและผู้อื่น ทุกคนต่างมีความรู้สึก เหมือนกับที่ผมมีความรู้สึก ทุกคนต่างต้องการมีความสำคัญ เหมือนกับที่ผมต้องการมีความสำคัญ หากผมละเลยผู้อื่น หรือปฏิบัติกับเขาไม่ดีจนเขารู้สึกแย่ เหมือนกับที่ผมรู้สึกแย่เวลาคนอื่นละเลยและไม่ใส่ใจความคิดของผม ทุกคนต่างอยากเป็นที่ชอบของผู้อื่น เหมือนกับที่ผมก็อยากเป็นที่ชอบ ไม่มีใครอยากโดนปฏิเสธและละเลย เหมือนกับที่ผมก็ไม่ชอบเช่นกัน และพวกเราต่างก็เชื่อมโยงกันทั้งนั้น พวกเราลงเรือลำเดียวกันแล้ว
บางครั้งตัวอย่างขำ ๆ นี้ก็สามารถอธิบายให้เห็นภาพได้ดี ลองจินตนาการว่าคุณอยู่ในลิฟต์กับคนอื่นอีกประมาณสิบคน แล้วลิฟต์ค้าง คุณติดคาอยู่ในลิฟต์เป็นเวลาทั้งวันกับผู้คนเหล่านี้ คุณจะเข้ากับทุกคนได้อย่างไร? หากคุณเอาแต่คิดถึงตัวฉัน ตัวฉัน และไม่คิดถึงคนอื่นในสถานที่แคบ ๆ แบบนี้ ก็คงจะมีเหตุขัดแย้งและข้อโต้เถียงกันเกิดขึ้น และก็จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายเป็นอย่างมาก แต่ถ้าคุณตระหนักได้ว่า “เราต่างก็ติดอยู่ในสถานการณ์เดียวกันและเราต้องนึกถึงซึ่งของกันและกัน และคิดว่าเราจะสามารถร่วมมือกันเพื่อเอาตัวรอดและหลุดพ้นจากสถานการณ์น่าอึดอัดนี้ได้อย่างไร” ถ้าเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ว่าการติดอยู่ในลิฟต์จะไม่ใช่สิ่งที่น่ารื่นรมย์ พวกเราก็สามารถจัดการกับสถานการณ์ได้
ลองขยายตัวอย่างนี้นะครับ หากพวกเราทุกคนติดอยู่ในโลกนี้ เหมือนกับการติดอยู่ในลิฟต์ขนาดใหญ่มาก และถ้าเราไม่ร่วมมือกัน พวกเราก็จะมีช่วงเวลาที่น่าเศร้ามาก เพราะทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน และลักษณะที่เราปฏิบัติต่อกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อคนอีกสิบคนในลิฟต์ หรือคนทุกคนในโลกนี้ก็ยังคงมีผลต่อทุกคนอยู่ดี ด้วยเหตุนี้การร่วมมือกับทุกคนจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แทนที่จะคิดในเชิงว่า “ฉันจะออกไปจากสถานการณ์แย่ ๆ ของการติดอยู่ในลิฟต์นี้ได้อย่างไร?” เราควรคิดในเชิงว่า “พวกเราทุกคนจะออกไปจากสถานการณ์แย่ ๆ นี้ได้อย่างไรกันนะ?” ในชีวิตก็เหมือนกันครับ ไม่ใช่แค่ในลิฟต์เท่านั้น
ฉันจะคิดในแง่ของการรับมือกับปัญหาของตนเองเพียงอย่างเดียวได้อย่างไร (เพราะจริง ๆ ก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษเกี่ยวกับตัวฉัน ฉันก็เป็นแค่คนคนหนึ่งในกลุ่มคนที่ติดอยู่ในลิฟต์)? แถมจริง ๆ แล้วปัญหานั้นก็ไม่ใช่แค่ปัญหาของฉันเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของคนทุกคน จำได้ไหมครับว่าเราพูดถึงปัญหาของความโกรธ ความเห็นแก่ตัว ความโลภ ความไม่รู้…ปัญหาประเภทนี้ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาของทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของปัญหาเหล่านี้เพียงผู้เดียว
ขยายจิตและใจของเราให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ชีวิตทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้เวลาเราพูดถึงโพธิจิต เราพูดถึงประเภทของจิตและใจที่เป็นสากล เราคิดถึงทุกคน โดยไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวกและไม่มีการละเว้นสิ่งมีชีวิตใด ๆ นี่จึงเป็นทัศนคติที่กว้างใหญ่มาก ๆ เป็นสภาวะของจิตใจ เมื่อเราพูดถึงการขยายจิตใจของเรา นี่คือใหญ่ที่สุดที่เราจะขยายไปได้ เราคิดถึงทุกคน ไม่ใช่แต่มนุษย์บนโลกเท่านั้น หากแต่เป็นชีวิตทุกชีวิตที่อยู่บนดาวเคราะห์โลกนี้ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในจักรวาล ยกตัวอย่างเช่น หากเราคิดถึงการสร้างความเสื่อมเสียให้กับสิ่งแวดล้อม การกระทำแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นและยังส่งผลต่อชีวิตสัตว์ป่าด้วย จริงไหมครับ?
เราจึงมีขอบเขตอันกว้างใหญ่เกี่ยวกับผู้คนที่เราห่วงใย เรามีขอบเขตอันกว้างใหญ่ในแง่ของการคิดถึงวิธีแก้ปัญหาในระยะยาวมาก ๆ ไม่ใช่แค่การแก้ไขอย่างรวดเร็วที่จะช่วยเราได้ในระยะเวลาอันสั้น และเมื่อเราคิดในแง่ศักยภาพของเรา เราก็คิดถึงขอบเขตที่ใหญ่ที่สุดในการบรรลุถึงศักยภาพของเรา ไม่ใช่แค่เพียงเล็กน้อย แต่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
และอย่างที่ผมได้กล่าวไป ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนรากฐานของความเคารพตัวเอง เราตระหนักได้ว่าพวกเราทุกคนมีปัจจัยการทำงานที่ทำให้เราสามารถบรรลุสภาวะนี้ได้จริงและผู้อื่นก็เช่นกัน เราจึงให้ความสำคัญกับตนเอง ให้ความสำคัญกับผู้อื่น และเราเคารพตนเองและผู้อื่น พวกเราล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน พวกเราต่างต้องการที่จะมีความสุข ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ และทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราทำอะไร เราดำเนินชีวิตเราอย่างไร
พัฒนาสภาวะจิตใจและอุปนิสัยเชิงประโยชน์ผ่านการทำสมาธิ
พระพุทธศาสนาอุดมไปด้วยวิธีการต่าง ๆ มากมายสำหรับพัฒนาสภาวะจิตใจเหล่านี้ พระพุทธศาสนาไม่ได้เพียงแต่บอกว่า “จงรักทุกคน” และหยุดอยู่แค่นั้น การพูดว่าเราต้องรักทุกคนนั้นฟังดูดีมาก แต่จริง ๆ แล้ว เราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไรกันล่ะ? สำหรับจุดนี้เรามีการทำสมาธิ และการทำสมาธิหมายถึงการสร้างนิสัยเชิงประโยชน์ เหมือนกับการเล่นกีฬา หรือเล่นเครื่องดนตรี เราก็ต้องฝึกฝน เราหมั่นฝึกฝนซ้ำ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนเราเล่นได้เก่งขึ้น ในการฝึกฝน เราก็ได้สะสมการเรียนรู้ จนกระทั่งเราไม่ต้องคิดถึงมันด้วยซ้ำ เราสามารถเล่นกีฬาหรือดนตรีได้ดีอย่างง่ายดาย
การฝึกฝนทัศนคติของเราก็เช่นกัน นี่คือสิ่งที่เราทำในการทำสมาธิ เราพยายามสร้างความรู้สึกบางอย่าง สภาวะทางจิตใจบางอย่าง โดยการฝึกฝนตัวเองให้ไปถึงจุดนั้น เหมือนกับเวลาคุณฝึกเล่นกีฬา ตอนแรกคุณต้องทำการอบอุ่นร่างกายก่อน จากนั้นคุณจึงจะสามารถฝึกซ้อมกีฬาได้ เราก็ทำการอบอุ่นสำหรับสภาวะจิตใจของเราเช่นกัน
เพื่อให้สามารถสร้างสภาวะเชิงบวกของจิตใจนั้นได้ ก่อนอื่นเราจำเป็นต้องทำจิตใจและอารมณ์ของเราให้สงบเงียบก่อน ถ้าความคิดของเราฟุ้งซ่านไปเรื่องนู้นเรื่องนี้หรือความรู้สึกของเราสับสนปนเปกันไปหมด เรามักจะทำขั้นตอนนี้โดยการโฟกัสที่ลมหายใจของเราอย่างเงียบ ๆ ลมหายใจอยู่กับเราเสมอ และการโฟกัสที่ลมหายใจก็จะช่วยให้เราสงบลงและอยู่กับจังหวะการหายใจที่สม่ำเสมอ และช่วยเชื่อมโยงเรากับร่างกายของเราในกรณีที่ความคิดของเรา “ลอย” ไปตามที่ต่าง ๆ นี่คือแบบฝึกหัดการอบอุ่นขั้นพื้นฐาน
และเราก็คิดถึงแรงจูงใจของเรา ทำไมเราถึงอยากทำสมาธิ? นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการอบอุ่นเช่นกัน เหมือนกับเวลาเราฝึกซ้อมกีฬาหรือเล่นดนตรี เป็นเรื่องสำคัญมากที่เราต้องทำความเข้าใจและพิจารณาตรวจสอบว่า “ฉันทำแบบนี้เพื่ออะไร?” ถึงแม้ว่าเราจะทำแบบนี้เพียงเพราะว่าเราเพลิดเพลินและสนุกไปกับมัน เราก็ต้องเตือนตัวเองแบบนั้น เพราะแน่นอนว่าการฝึกฝนต้องอาศัยการทำงานอย่างหนัก ดังนั้นเราจึงยืนยันกับตัวเองถึงสาเหตุที่เราต้องการสร้างนิสัยเชิงบวกผ่านการทำสมาธิ และสาเหตุนั้นก็คือว่าการทำสมาธิจะช่วยให้ฉันสามารถรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ฉันไม่โกรธง่าย และถ้าฉันเป็นคนโกรธอยู่ตลอดเวลา ฉันก็ไม่อาจช่วยเหลือใครได้เลย หากฉันอารมณ์เสียอยู่ตลอดเวลา ฉันก็ไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย
ดังนั้นเราจึงทำแบบฝึกหัดการอบอุ่นเหล่านี้ จากนั้นจึงทำการทำสมาธิจริง ๆ เราใช้ความคิดบางประการในการสร้างสภาวะของจิตใจที่ต้องการ ในการทำขั้นนี้ สิ่งที่สำคัญมากคือเราต้องเชื่อมความสัมพันธ์กับชีวิตส่วนตัวของเรา เราไม่ได้กำลังคิดถึงทฤษฎีเชิงนามธรรม เรากำลังคิดถึงขั้นตอนที่เราสามารถใช้เพื่อช่วยเหลือชีวิตของเรา
ตัวอย่าง
สมมุติว่าเพื่อนของเราทำตัวไม่ดีกับเราเอาเสียเลย เขาพูดจาทำร้ายจิตใจเรา หรือไม่โทรหาเรา เขาละเลยเรา หรือทำให้ผู้อื่นหัวเราะเยาะเรา ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่แย่มากที่เกิดขึ้นกับทุกคน และเราก็มักตอบโต้ด้วยการที่เรารู้สึกแย่มาก ๆ และเริ่มรำคาญคนเหล่านี้ โดยเฉพาะหากเราคิดว่าเขาเป็นเพื่อนเรา
เราตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยการทำสมาธิ เมื่อจิตใจของเราเริ่มสงบลงหลังจากการเพ่งไปยังลมหายใจ และเราทำการยืนยันว่าเพื่อนของเรา เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเรา พวกเขาต่างก็เป็นคนเหมือนเรา พวกเขาต้องการที่จะมีความสุขและไม่อยากเป็นทุกข์ และต้องมีอะไรที่ทำให้เขาอารมณ์เสียจริงๆสักอย่างที่ทำให้พวกเขาปฏิบัติกับเราในทางแย่ ๆ เช่นนี้ หรือพวกเขาสับสนเกี่ยวกับตัวเรา พวกเขาไม่ได้เห็นคุณค่าในคุณสมบัติที่ดีของเราเท่าไหร่นัก พวกเขาจึงหัวเราะเยาะเรา การโกรธหรือรู้สึกหดหู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ช่วยอะไรเลย เราควรคิดว่าเราอยากให้พวกเขาเป็นอิสระจากอะไรก็ตามที่ทำให้พวกเขาอารมณ์เสีย เพื่อที่พวกเขาจะได้ปฏิบัติกับเราในทางที่ดี เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว พวกเราทุกคนก็จะมีความสุข ทั้งเราและพวกเขา
ดังนั้นแทนที่เราจะรู้สึกโกรธพวกเขา เรารู้สึกถึงความรักและความเห็นอกเห็นใจ “คงจะเยี่ยมมากเลยถ้าพวกเขาสามารถเป็นอิสระจากสิ่งที่ทำให้พวกเขาอารมณ์เสียได้ ขอให้พวกเขามีความสุข หากพวกเขามีความสุข พวกเขาคงไม่ประพฤติตัวในทางที่ไม่น่ารื่นรมย์เช่นนี้” ในลักษณะนี้เราสร้างตัวเองให้รู้สึกถึงความรักต่อพวกเขา แทนที่จะเป็นความโกรธ การฝึกแบบนี้ช่วยให้เรามีความอดทนกับสถานการณ์ของพวกเขามากขึ้น และถ้าเราปฏิบัติตัวในลักษณะที่สงบ เปี่ยมรัก และให้อภัยกันมากขึ้นเช่นนี้ การกระทำของเราก็จะช่วยให้พวกเขาสงบลงเช่นกัน และสถานการณ์ทั้งหมดก็จะง่ายต่อการจัดการมากขึ้น
อย่าถือสาเรื่องแย่ ๆ ที่คนอื่นโยนมาให้เรา
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามลูกศิษย์คนหนึ่งว่า “หากมีคนพยายามให้อะไรบางอย่างกับเจ้าและเจ้าไม่ยอมรับไว้ สิ่งนั้นจะเป็นของใคร?” แน่นอนว่าถ้าคุณไม่รับไว้ สิ่งนั้นย่อมเป็นของคนที่พยายามจะให้สิ่งนั้นกับเรา ดังนั้นถ้ามีคนพยายามจะให้ความรู้สึกนึกคิดเชิงลบ คำวิจารณ์ หรืออะไรแย่ ๆกับคุณ คุณก็ต้องไม่ยอมรับมันและไม่ถือสาสิ่งเหล่านั้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คุณควรมองว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้อีกคนอารมณ์เสียจริง ๆ แน่นอนว่าถ้ามีคนวิจารณ์เรา คำวิจารณ์นั้นอาจเป็นประโยชน์ในการสำรวจตัวเองเพื่อดูว่าสิ่งที่เขาพูดมานั้นอาจเป็นสิ่งที่เราควรปรับปรุงจริง ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าเราละเลยสิ่งเหล่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่วิ่งไปรอบ ๆ เหมือนกับแคทเชอร์ในเกมบอลที่พร้อมรับลูกบอลขยะและความคิดแย่ ๆ ที่คนอื่นโยนมาให้เราเสมอ
บางครั้งเราก็ทำตัวแบบนั้น ใช่ไหมครับ? เรากระวนกระวายที่จะรับขยะทุกอย่างที่คนอื่นโยนมาให้เรา ทั้งคำพูดแย่ ๆ การมองดูถูก และอะไรก็ตาม ถึงแม้ว่านี่จะไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องพยายามที่จะไม่เก็บสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเหล่านี้มาใส่ใจ มาคิดว่านี่เป็นการโดนปฏิเสธตัวฉัน แต่ให้คิดว่านี่คือปัญหาของคนที่พูดแทน พูดอีกทางก็คือ แทนที่จะมีทัศนคติในการมองคนคนนั้นว่าเป็นคนไม่ดี เราควรมองว่า “อ้าว มีอะไรบางอย่างทำให้เขาอารมณ์เสียอยู่ มีอะไรบางอย่างผิดปกติสำหรับเขา”
มันเหมือนกับถ้าเราต้องดูแลเด็กอายุสองสามขวบ เด็กน้อยเหนื่อยมากแล้ว แต่ยังไม่อยากเข้านอน แล้วเราพูดว่า “เอาล่ะ ได้เวลาเข้านอนแล้ว” แล้วเด็กน้อยพูดว่า “หนูเกลียดพี่!” เราถือสาสิ่งที่เด็กพูดจริงจังไหมครับ? เด็กน้อยเหนื่อยมากแล้ว เราจึงไม่เก็บคำพูดแย่ ๆ ที่เด็กพูดมาคิดเป็นการส่วนตัว หากแต่เราให้ความอดทนและความรักต่อเด็กน้อยมากขึ้น และพยายามทำให้เขาสงบลง
ในการทำสมาธิ เราพยายามมองผู้ที่สร้างปัญหาให้เราในลักษณะที่เป็นสร้างสรรค์เช่นนี้ และฝึกฝนการมีความอดทน ความรัก และทัศนคติเชิงบวกให้มากขึ้นสำหรับคนผู้นี้ที่อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก เพื่อที่เมื่อเราประสบกับสถานการณ์เหล่านี้ เราจะสามารถรับมือกับมันได้ดีขึ้น ดังนั้นโดยสรุปแล้ว สภาวะจิตใจอันน่าทึ่งของโพธิจิตก็คือสิ่งที่เราต้องฝึกฝนตัวเองให้บรรลุและได้มา โดยเรามีความรับผิดชอบในการช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้มากที่สุดผ่านการทำงาน ผ่านการทำสมาธิ และการใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อกำจัดข้อบกพร่องทั้งหมดของเราให้ได้มากที่สุดและบรรลุถึงศักยภาพของเรา เพราะถ้าเราทำงานเพื่อช่วยเหลือให้ผู้อื่นมีความสุข แน่นอนว่าเราก็จะมีความสุขที่สุดเช่นกัน แต่ถ้าเราทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขส่วนตนเท่านั้น และทำเช่นนั้นโดยละเลยผู้อื่นหรือเบียดเบียนผู้อื่น เราทุกคนก็จะย่อมเป็นทุกข์
ตอนนี้ที่คุณยังอายุน้อย คุณเป็นนักเรียน นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการเรียนรู้ที่จะเคารพศักยภาพ ความสามารถของตัวเองอย่างแท้จริง และตระหนักว่าคุณมีปัจจัยการทำงานทั้งหมดในการพัฒนาและในกาพัฒนาในทิศทางเชิงบวก แทนที่จะเป็นเชิงลบหรือไร้ทิศทาง เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ ในยุคแห่งข้อมูล โซเชียลมีเดีย และอื่น ๆ เราทุกคนต่างเชื่อมโยงกัน และเราสามารถพัฒนาด้วยวิธีเชิงบวกได้กว่านี้อีกมากมาย ซึ่งจะส่งผลต่อทุกคนในลักษณะที่เป็นสร้างสรรค์
ทั้งหมดนี้คือการอธิบายคร่าว ๆ เกี่ยวกับโพธิจิต ตอนนี้ได้เวลาสำหรับคำถามแล้วครับ
ความรักในมุมมองของพระพุทธศาสนาคืออะไร
ช่วยอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรักจากมุมมองของพระพุทธศาสนาหน่อยได้ไหมคะ โดยเฉพาะในบริบทความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายและผู้หญิง
เวลาเราพูดถึงเรื่องความรักในมุมมองของพระพุทธศาสนา อย่างที่ผมได้กล่าวไปในการอภิปราย ความรักคือความปรารถนาที่จะให้ใครคนนั้นมีความสุขและมีเหตุสำหรับความสุข นี่หมายถึงการยอมรับคนคนนั้นอย่างสมบูรณ์ ทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของเขา และความปรารถนาของเราที่จะให้เขามีความสุขนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาปฏิบัติกับเราอย่างไรหรือเขาประพฤติตนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ฉันอยากให้เขามีความสุข ถึงแม้ว่านั่นจะหมายถึงการให้พื้นที่ส่วนตัวกับเขาก็ตาม
หลาย ๆ ครั้ง ความรักถูกนำไปผสมกับตัณหา (ตัณหาคือเวลาที่เราไม่มีสิ่งนั้นและเราต้องได้สิ่งนั้นมา) ความรักอาจปนอยู่กับการยึดติด (ซึ่งถึงเราจะมีอะไรแล้ว เราก็ไม่อยากปล่อยมันไป) และความโลภ (ซึ่งถ้าเรามีคนที่เป็นเพื่อนเราแล้ว มีคนที่เรารักแล้ว เราก็อยากมีแบบนี้เพิ่มมากขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ) ทั้งหมดนี้อิงจากการมองแต่คุณสมบัติที่ดีของพวกเขาอย่างเดียวและขยายคุณสมบัติเหล่านี้ให้เกินจริง ทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ โดยละเลยข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่พวกเขาอาจมี และคุณสมบัติดี ๆ ที่เขามีอาจเป็นแค่ว่าเขาชอบฉัน ฉันรู้สึกดีเมื่ออยู่กับคนนี้ เขาหน้าตาดี เขาเซ็กซี่ หรืออะไรก็ตาม เรามองเพียงด้านที่เล็กมากในตัวคนคนนี้ ซึ่งเราให้ความสำคัญกับด้านนี้มากกว่าสิ่งอื่นใดทั้งหมด ดังนั้นทัศนคตินี้จึงไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงและขึ้นอยู่กับลักษณะที่คนคนนั้นปฏิบัติต่อเราเป็นอย่างมาก ถ้าเขาปฏิบัติกับฉันดี ฉันก็จะรักเขา แต่ถ้าเขาปฏิบัติกับฉันไม่ดี ฉันก็จะไม่รักเขาแล้ว นี่ไม่ใช่ประเภทของความรักที่มั่นคง
อย่างที่ผมกล่าวไป ประเภทความรักที่มั่นคง ประเภทที่เรากล่าวถึงในพระพุทธศาสนานั้น คือประเภทที่เรารับรู้ถึงด้านบวกและด้านลบในตัวคนคนนั้น เพราะทุกคนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่มีใครเป็นบุคคลในอุดมคติหรือสมบูรณ์แบบ เห็นไหมครับว่าปัญหาคือพวกเราหลาย ๆ คนยังเชื่อในเรื่องเล่าเทพนิยาย ในเทพนิยายมีเจ้าชายรูปงามและเจ้าหญิงผู้เลอโฉมขี่ม้าขาวและที่จะช่างสมบูรณ์แบบในทุกด้าน เราก็มองหาเจ้าชายหรือเจ้าหญิงผู้นี้อยู่เสมอ และเราก็สร้างลักษณะของเจ้าชายหรือเจ้าหญิงให้กับผู้คนทั้งหลายที่เราตกหลุมรัก แต่น่าเสียดายว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นแต่ในเทพนิยาย เหมือนซานตาคลอส ซึ่งไม่ได้หมายถึงสิ่งใดที่เป็นจริงเลย
นี่ไม่ใช่การตระหนักรู้ที่น่ารื่นรมย์นัก มันเป็นสิ่งที่ยากต่อการยอมรับ แล้วเราก็ไม่ยอมแพ้ด้วย “ปรากฏว่าคนนี้ไม่ใช่เจ้าชายหรือเจ้าหญิง แต่คนหน้าต้องใช่แล้วล่ะ” ตราบใดที่เรายังคงการฉายภาพในลักษณะนี้ไว้และมองหาเจ้าชายหรือเจ้าหญิงขี่ม้าขาว ความสัมพันธ์ของเรา ความสัมพันธ์รักของเรากับผู้อื่น ก็จะมีปัญหา เพราะไม่มีใครสามารถเทียบเคียงกับคู่ชีวิตสมบูรณ์แบบในอุดมคติของเราได้เลย เราโกรธเวลาที่พวกเขาไม่ปฏิบัติตัวอย่างเจ้าชายหรือเจ้าหญิง งั้นนี่ก็หมายความเรากำลังไม่ยอมรับความเป็นจริงที่ว่าเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา และมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นความรักที่แท้จริง ความรักที่มั่นคงจึงตั้งอยู่บนการยอมรับความเป็นจริงของอีกคนหนึ่ง
อีกด้านหนึ่งของความเป็นจริงเกี่ยวกับคนที่เราตกหลุมรักซึ่งเรามักลืมไป คือเราไม่ใช่สิ่งเดียวในชีวิตของเขา หลายครั้งเราลืมคิดถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขามีชีวิตที่อยู่นอกเหนือจากการอยู่กับเราด้วย พวกเขามีเพื่อนคนอื่น มีครอบครัว มีความรับผิดชอบอื่น ๆ มีสิ่งอื่นที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ไม่ได้มีแค่เราคนเดียว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะหึงหวงและอารมณ์เสียเวลาที่เขาใช้เวลากับคนอื่น หรือกับสิ่งอื่นในชีวิตของเขา และเมื่อเขาอารมณ์ไม่ดี หรือ เขาไม่อยากใช้เวลาร่วมกับเรา เราไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียวหรอก เราไม่ใช่สาเหตุของทุกอย่างที่ทำให้อีกคนรู้สึกหรือกระทำสิ่งต่าง ๆ ถ้าเขาอารมณ์ไม่ดี อาจเป็นผลจากเรื่องที่เกิดขึ้นในครอบครัวเขา อาจเป็นผลจากเพื่อนคนอื่นของเขา อาจเป็นผลจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการรู้สึกไม่สบายตัวของเขาก็ได้ มีผลกระทบจากหลายสิ่งหลายอย่าง ทำไมเราถึงต้องคิดว่าเราเป็นสาเหตุเดียวสำหรับทุกอย่างที่ทำให้อีกคนเกิดความรู้สึกใด ๆ ด้วยเล่า?
ในลักษณะเดียวกันนี้ ถ้าเราอยู่ในความสัมพันธ์ระยะยาวกับคนคนนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างมากที่เกิดขึ้นในการมีปฏิสัมพันธ์ของเราในแต่ละวัน หลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “เขาไม่ได้โทรหาฉันเลยวันนี้ เขาไม่ตอบข้อความของฉันเลย” และเราก็ขยายความสำคัญของเหตุการณ์นี้ เราไม่ได้มองในบริบทระยะยาวของความสัมพันธ์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทั้งหมด และเพียงเพราะเหตุการณ์เดียวนี้ เราจึงสรุปว่าเขาไม่รักเราแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นการมองเพียงระยะสั้นมาก ๆ เลยนะครับ มองเพียงแค่เรื่องเล็ก ๆ เรื่องเดียวเท่านั้นและมองเรื่องนี้แยกออกจากความสัมพันธ์ทั้งหมด
ความเป็นจริงคือชีวิตและอารมณ์และอะไรก็ตามของทุกคนมีการขึ้นลง นี่เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับเรา เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับทุกคน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่บางครั้งคนที่เรารักรู้สึกอยากอยู่กับเรา และบางครั้งเขาก็ไม่รู้สึกอย่างนั้น บางครั้งเขาอารมณ์ดีและบางครั้งเขาก็อารมณ์ไม่ดี และถ้าเขาอารมณ์ไม่ดี หรือถ้าเขายุ่งอยู่กับสิ่งอื่นมากจนไม่สามารถตอบข้อความของเรา หรืออะไรก็ตามได้ในตอนนั้น นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักเราแล้ว มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต
นี่คือสิ่งที่สำคัญมากบางอย่างที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ หากเราต้องการทำให้ความสัมพันธ์รักของเรามั่นคง มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นความอลหม่านทางอารมณ์อย่างไม่จบสิ้น
มีตัวอย่างที่ดีมากที่ปรมาจารย์พระพุทธศาสนาชาวอินเดียท่านหนึ่งกล่าวไว้ ซึ่งเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นกับใบไม้ที่ปลิวไปในสายลม หลุดร่วงลงมาจากต้นไม้ในฤดูใบไม้ร่วง บางครั้งใบไม้จะล่องลอยไปตามสายลมด้วยกัน บางครั้งมันก็แยกกัน นี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นบางทีความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นก็อาจยาวนานตราบชั่วชีวิตเรา แต่บางทีก็อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น
จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรพยายามมองผู้อื่นว่าเป็นนกป่าบินมาเกาะที่หน้าต่างของเรา นกป่าสวยงามตัวนี้มาที่หน้าต่างของเรา ช่างเป็นเรื่องที่น่ายินดีเหลือเกิน ช่างเป็นเรื่องที่สวยงามและน่าดีใจเหลือเกินที่เจ้านกป่าตัวนี้มาอยู่กับฉันเป็นเวลาสักพักหนึ่ง แต่แน่นอนว่าเจ้านกตัวนี้จะต้องบินออกไป มันเป็นอิสระ และถ้านกตัวนี้มาที่หน้าต่างของฉันอีกครั้ง ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีและโชคดีสำหรับฉันจริง ๆ แต่ถ้าฉันพยายามจับนกตัวนี้ใส่กรงขังไว้ล่ะก็ เจ้านกก็จะไม่มีความสุขเลยและอาจจะตายด้วยซ้ำ
สิ่งนี้ก็เหมือนกับเวลาที่มีคนเดินเข้ามาในชีวิตเราและเรารักเขานั่นแหละครับ เขาเป็นเหมือนเจ้านกป่าสวยงามตัวนี้ เขาเข้ามาในชีวิตเรา นำความสุขและสวยงามมากมายมาให้กับชีวิตเรา แต่เขาเป็นอิสระ เหมือนกับนกป่า แต่ถ้าเราพยายามไขว่คว้าและยึดเขาไว้ราวกับสิ่งของในครอบครองของเรา และเราจี้เขาตลอด “ทำไมคุณไม่โทรหาฉัน? ทำไมคุณไม่มาหาฉัน? ทำไมคุณไม่ใช้เวลากับฉันให้มากกว่านี้?” นี่ก็เหมือนกับการพยายามจับเจ้านกป่าขังกรง เจ้านกป่าจะพยายามหลบหนีออกไปให้ได้มากที่สุด และถ้านกตัวนี้อยู่กับเราเหมือนกับที่คนคนนี้อยู่กับเราด้วยความรู้สึกผิด เขาก็จะไม่มีความสุขเลย
การมองในลักษณะนี้มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับการคิดถึงใครก็ตามที่เราตกหลุมรัก ที่เข้ามาในชีวิตเรา ให้เรามองเขาในฐานะนกป่าที่สวยงาม ยิ่งเราผ่อนคลายมากเท่าไหร่ ยิ่งเราไขว่คว้าน้อยลงเท่าไหร่ เจ้านกป่าตัวนั้นก็จะยิ่งชอบมาเยือนหน้าต่างของเรามากขึ้นเท่านั้น