การเรียนรู้ SEE: ก้าวสู่การเป็นประชากรโลก

โครงสร้างโดยสังเขปของการเรียนรู้ทางสังคม อารมณ์ และจริยธรรม มหาวิทยาลัยเอมอรี่

การเรียนรู้ทางสังคม อารมณ์ และจริยธรรม (SEE) เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์อนุปัสสนาวิทยาและจริยธรรมบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ (Center for Contemplative Science and Compassion-Based Ethics) ที่มหาวิทยาลัยเอมอรี่ (Emory University) โดยมีเป้าหมายในการเลี้ยงดูบุคคล กลุ่มสังคม และชุมชนในวงกว้างที่มีสุขภาวะทางอารมณ์และมีความรับผิดชอบทางจริยธรรม ในส่วนที่สามและสุดท้ายที่มีชื่อว่า การเรียนรู้ SEE: ก้าวสู่การเป็นประชากรโลก เราจะมาทำความเข้าใจว่าโลกของเราพึ่งพากันและกันอย่างไร มนุษย์ทั้งหมดปรารถนาความสุขเหมือนกันอย่างไร และเราสามารถมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้อย่างไร

นับวันโลกที่เราอยู่ยิ่งมีความซับซ้อน เชื่อมโยง และพึ่งพากันและกันมากขึ้นเรื่อย ๆ  ความท้าทายที่คนรุ่นปัจจุบันและอนาคตต้องเผชิญนั้นได้ขยายตัวไปกว้างไกลมาก  เพราะฉะนั้นการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้จึงต้องใช้วิธีการคิดและการแก้ปัญหาแบบใหม่ที่อาศัยความร่วมมือกัน เป็นสหวิทยาการ และเป็นแนวทางสำหรับทั่วโลก  การมีความเห็นอกเห็นใจอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอกับการสร้างปฏิสัมพันธ์ในโลกอีกต่อไป  เราต้องเสริมควาเห็นอกเห็นใจด้วยการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบบนรากฐานของระบบต่าง ๆ ในบริบทที่กว้างขึ้นตามที่เราอาศัยอยู่ 

การปฏิบัติในขอบเขตทั่วโลก (Global Domain) อาจดูน่าเกรงขามในตอนแรก แต่จริง ๆ แล้วขอบเขตนี้ก็สร้างขึ้นมาจากความรู้และทักษะต่าง ๆ ตามที่เราได้ศึกษาในขอบเขตบุคคลและขอบเขตสังคมไปแล้วนั่นเอง เพียงแต่เราจะขยายไปสู่ชุมชนและสังคมของเรา รวมถึงชุมชนทั่วโลกด้วย  ข้อบ่งชี้ในจุดนี้คือเหมือนที่เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมของตนเองและของผู้อื่น ความสามารถในการเข้าใจวิธีการทำงานของระบบต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ติดตัวเราโดยธรรมชาติด้วยเช่นกัน  การพัฒนาความตระหนักรู้นี้ในเชิงลึกขึ้นและนำการคิดวิเคราะห์ไปใช้ในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อนจะทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางจริยธรรม  การแก้ปัญหาจึงกลายเป็นกระบวนการองค์รวมที่หลีกเลี่ยงแนวโน้มของเราที่จะทำให้ปัญหากระจายเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่เชื่อมต่อกัน

เราสำรวจขอบเขตโลกผ่านหัวข้อดังต่อไปนี้:

  • การเห็นคุณค่าของของการพึ่งพากันและกัน
  • การรับรู้ถึงมนุษยธรรมร่วมกัน
  • ปฏิสัมพันธ์ในชุมชนและทั่วโลก

การเห็นค่าของการพึ่งพากันและกัน

การพึ่งพากันและกันเป็นแนวคิดที่ว่าสิ่งต่าง ๆ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากบริบท  หากแต่การเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ของสิ่งเหล่านี้พึ่งพาสิ่งอื่นและเหตุการณ์อื่นต่างๆ  ยกตัวอย่างเช่น อาหารมื้อทั่วไปที่เรารับประทานนั้นมาจากแหล่งอาหารและผู้คนมากมาย หากเราย้อนรอยวัตถุดิบกลับไปในเวลาและในพื้นที่  นอกจากนี้การพึ่งพากันและกันยังหมายถึงการที่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่หนึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอีกที่หนึ่งด้วย  เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจเกิดขึ้นจากเหตุและเงื่อนไขที่หลากหลาย

จุดประสงค์ของการพิจารณาการพึ่งพากันและกันนั้นไม่ใช่เพื่อพัฒนาความเข้าใจเปล่า ๆ ว่าระบบทั่วโลกของเราทำงานอย่างไร แต่เพื่อเป็นการเชื่อมโยงความรู้กับความเอาใจใส่ตัวเราเอง ผู้อื่น และโลกของเรา  เราสามารถทำความเข้าใจการพึ่งพากันและกันได้จากสองมุมมอง

  • ทำความเข้าใจระบบการพึ่งพากันและกัน
  • บริบทของระบบที่บุคคลอาศัยอยู่

การทำความเข้าใจระบบการพึ่งพากันและกันเกี่ยวกับการย้ายโฟกัสจาก “ด้านใน” และ “ด้านอื่น” ไปยังโฟกัส “ด้านนอก” ที่ระบบที่กว้างขึ้น  เรามุ่งความตระหนักรู้ของเราไปยังการทำความเข้าใจหลักการของการพึ่งพากันและกันและระบบทั่วโลกต่าง ๆ  เช่น เหตุและผล  ส่วนในบริบทของระบบที่บุคคลอาศัยอยู่นั้น เรารับรู้ว่าการดำรงอยู่ของเราและของผู้คนรอบตัวเราพัวพันอยู่กับตัวแปรมากมายของเหตุการณ์ เหตุผล และผู้คนทั่วโลก

ทำความเข้าใจระบบการพึ่งพากันและกัน

การพึ่งพากันและกันเป็นทั้งกฎแห่งธรรมชาติและความเป็นจริงพื้นฐานของชีวิตมนุษย์  ไม่มีใครสามารถประคับประคองชีวิตของตน และแน่นอนว่าไม่มีใครสามารถเจริญรุ่งเรืองได้ โดยปราศจากการสนับสนุนของผู้คนนับไม่ถ้วนที่ทำงานเพื่อหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานอย่างอาหาร น้ำ และที่อยู่อาศัยมาให้เรา รวมถึงการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันอีกมากมายที่รับผิดชอบด้านการศึกษา การบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาล เกษตรกรรม การขนส่ง การดูแลสุขภาพ เป็นต้น  วิกฤตครั้งใหญ่ที่เป็นข่าวสาธารณะอย่างมาก เช่น เหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2007-2009 และความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความขัดแย้งความรุนแรงในโลกเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจและนิเวศวิทยาในระดับโลก

ในสังคมแบบดั้งเดิมในอดีต ความรู้สึกเกี่ยวกับการเชื่อมโยงกับผู้อื่นนั้นฝังแน่นในชีวิตประจำวันมากกว่าในปัจจุบันมาก  การเอาชีวิตรอดขึ้นอยู่กับการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนทรัพยากรและความร่วมมือกันทางสังคมรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ไปจนถึงการสร้างตัวอาคารและการต่อสู้กับสัตว์ล่า  อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเคลื่อนที่ง่ายขึ้นและตัดขาดจากชุมชนมากขึ้น เนื่องจากความปรารถนาในการยกระดับทางเศรษฐกิจของตนเอง  จุดนี้ทำให้เกิดภาพลวงตาของความเป็นอิสระ ทำให้เราหลงเชื่อได้ง่าย ๆ ว่าเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นอีกต่อไป  ความรู้สึกผิด ๆ ของความยั่งยืนได้ด้วยตนเองนั้นส่งผลให้เกิดความรู้สึกการแยกตัวทางจิตใจและทางสังคมมากขึ้น  เราเป็นสิ่งมีชีวิตทางสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งความอยู่รอดเช่นเดียวกับความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับผู้อื่น

บริบทของระบบที่บุคคลอาศัยอยู่

ในการทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการพึ่งพากันและกันมีความหมาย เราจำเป็นต้องเสริมความเข้าใจดังกล่าวด้วยการพิจารณาภาพรวมว่าพวกเราอยู่ร่วมกันอย่างไร  จุดนี้ช่วยโต้แนวโน้ม ในการมองผิด ๆ ว่าตัวเรานั้นไม่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น หรือว่าเราเป็นอิสระจากระบบโดยกว้าง  ในส่วนนี้เราจะมาดูความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นและความซับซ้อนของความสัมพันธ์เหล่านี้  เราสามารถแบ่งผลลัพธ์ที่ได้เป็นสามทางดังนี้

  • ความตระหนักในบุญคุณของผู้อื่นอย่างจริงใจในระดับระบบ
  • ความตระหนักรู้ในเชิงลึกขึ้นเกี่ยวกับความศักยภาพที่เราจะมีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้อื่น
  • ปณิธานอันแรงกล้าในการกระทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อความอยู่ดีมีสุขในวงกว้างขึ้น

เราเริ่มต้นโดยการพิจารณาว่าพฤติกรรมของเราส่งผลต่อผู้อื่นและพฤติกรรมของพวกเขาส่งผลต่อตัวเราอย่างไร  จากนั้นเราจึงสำรวจวิธีต่าง ๆ ที่ผู้อื่นช่วยทำให้เราอยู่ดีมีสุข  จุดนี้ทำได้โดยการสร้างรายการและทบทวนสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ  แทนที่จะโฟกัสกับผู้คนที่เรารู้จักเหมือนในที่เราทำในขอบเขตสังคม ในส่วนนี้เราจะครอบคลุมกลุ่มที่กว้างขึ้นมาก นั่นคือผู้คน ชุมชน และระบบที่เราอาจไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว  การเข้าใจว่าเราไม่สามารถเจริญ และแน่นอนว่าไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้คนมากมายนั้นเป็นเรื่องจำเป็นในการพัฒนาการเห็นคุณค่าของผู้อื่นด้วยความจริงใจ

ทุกคนมีบทบาทในโครงข่ายกว้างใหญ่ของผู้คนที่สนับสนุนชีวิตเรา  เมื่อเราตระหนักได้ดังนี้ เราก็จะเกิดความรู้สึกของความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  เราไม่จำเป็นต้องมองเห็นว่าผู้อื่นให้ประโยชน์เราอย่างไรบ้างก่อนที่เราจะยอมรับว่าเป็นไปได้มากว่าจะมีประโยชน์ในทางใดทางหนึ่งต่อตัวเราอยู่แล้ว  เมื่อความตระหนักรู้นี้เพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ที่ให้ประโยชน์ซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียมก็จะค่อย ๆ มาก่อนมุมมองแคบ ๆ ที่โฟกัสที่ตัวเองหรือโฟกัสที่การแข่งขัน  ความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้อื่นมากขึ้นจะช่วยตอบโต้ความรู้สึกเหงาได้โดยตรง เพราะจะช่วยเพิ่มการมีมุทิตาจิตได้  จุดนี้จะทำให้เกิดความรื่นรมย์แทน

ในความสำเร็จของผู้อื่นและเป็นตัวแก้ความอิจฉาริษยา รวมถึงการวิจารณ์ตัวเองอย่างโหดร้าย หรือการเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นที่ไม่สมจริงด้วย

การรับรู้ถึงมนุษยธรรมร่วมกัน

ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับการพึ่งพากันและกัน โดยเฉพาะเมื่อรวมกับทักษะที่ปลูกฝังในขอบเขตทางสังคมด้านการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ควรนำไปสู่การเอาใจใส่ผู้อื่นมากขึ้นและการตระหนักถึงการที่เราทุกคนมีความสัมพันธ์กันอย่างไร  จากนั้นเราสามารถเพิ่มพลัง ขยาย และสนับสนุนจุดนี้ได้โดยการปลูกฝังการรับรู้ถึงมนุษยธรรมร่วมกัน  ในส่วนนี้เราใช้การคิดวิเคราะห์ให้รับรู้ว่าในระดับพื้นฐานแล้ว มนุษย์ทุกคนมีความเหมือนกันในด้านชีวิตภายในและสภาพเงื่อนไขของชีวิตตนเอง  ในลักษณะนี้เราสามารถปลูกฝังระดับการเห็นคุณค่า การเอาใจใส่ และการเห็นอกเห็นใจให้กับผู้คนจากทุกที่ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ห่างไกลจากเราหรือดูแตกต่างจากเราก็ตาม  เราศึกษามนุษยธรรมร่วมกันผ่านสองหัวข้อดังนี้

  • การเห็นคุณค่าความเท่าเทียมกันขั้นพื้นฐานของทุกคน
  • การเห็นคุณค่าของธีที่ระบบมีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี

การเห็นคุณค่าของความเท่าเทียมขั้นพื้นฐานของทุกคนทำให้เราตระหนักได้ว่าคนทุกคน ตั้งแต่เพื่อนและครอบครัวของเราไปจนถึงคนแปลกหน้าที่อยู่อีกฟากหนึ่งของโลก ทุกคนมีความเท่าเทียมขั้นพื้นฐานในด้านความปรารถนาที่จะมีความสุขและความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงทุกข์ด้วย  การเห็นคุณค่าของการที่ระบบต่าง ๆ ส่งผลกับความเป็นอยู่ที่ดีของเราคือ การรับรู้ว่าระบบทั่วโลกสามารถส่งเสริมหรือลดทอนความเป็นอยู่ที่ดีผ่านการนำคุณค่าเชิงบวกไปใช้หรือการทำให้ความเชื่อในเชิงปัญหาคงอยู่ต่อไป

การเห็นคุณค่าความเท่าเทียมกันขั้นพื้นฐานของทุกคน

เราขยายความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเท่าเทียมกันขั้นพื้นฐานของมนุษยธรรมไปสู่ผู้คนที่อยู่นอกเหนือจากสังคมโดยตรงของเรา  ท้ายที่สุดแล้วเราจะขยายความตระหนักรู้นี้ไปสู่ทั้งโลก  เราทำเช่นนี้โดยการโฟกัสกับสิ่งที่เรามีเหมือนกันในฐานะมนุษย์ เช่น ความปรารถนาเจริญรุ่งเรืองและความต้องการที่จะหลีกเลี่ยงความเครียดและความไม่พึงพอใจ  จุดนี้ช่วยลดอคติและแนวโน้มในการไม่นับความต้องการของผู้อื่นได้

ด้วยการระบุว่าผู้อื่นมีความคล้ายคลึงกับเราในลักษณะนี้ “กลุ่มวงใน” ของเราก็สามารถขยายไปครอบคลุมผู้คนต่างสัญชาติ ต่างเชื้อชาติ และต่างศาสนาได้ เป็นต้น ในทั่วสังคมมีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในข้อนี้หลายอย่าง  ตั้งแต่การบริจาคเลือดของแต่ละบุคคลไปจนถึงการบริจาคอย่างล้นหลามให้กับพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือการประท้วงความอยุติธรรมต่อกลุ่มที่ตนเองไม่ได้เกี่ยวข้อง  ทักษะในการเห็นคุณค่าการพึ่งพากันและกันและการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นทำหน้าที่เป็นเครื่องต่อต้านอุปสรรคหลายอย่างเกี่ยวกับการมองผู้อื่น เช่น อคติ ความรู้สึกห่างไกล และการขาดความเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาของผู้ที่อยู่นอกวงในของเรา

เมื่อเราโฟกัสที่ตัวเอง โลกก็ดูเล็ก ในขณะที่ปัญหาและความลุ่มหลงของเราดูมีขนาดมหึมา  แต่เมื่อเราโฟกัสที่ผู้อื่น โลกเราก็ขยายใหญ่ขึ้น  ปัญหาของเราล่องลอยไปอยู่ในส่วนรอบนอกในใจและดูเล็กลง และเราจึงสามารถเพิ่มความสามารถในการเชื่อมโยงและการกระทำที่เห็นอกเห็นใจได้มากขึ้น

การเห็นคุณค่าของวิธีการที่ระบบส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเรา

ระบบสามารถส่งเสริมหรือลดทอนความเป็นอยู่ที่ดีในระดับวัฒนธรรมและโครงสร้างได้ โดยการสนับสนุนคุณค่าเชิงบวกหรือการทำให้ความเชื่อที่เป็นปัญหาและความไม่เท่าเทียมกันดำเนินต่อไป  เราควรใช้เวลาพิจารณาเกี่ยวกับความรู้สึกของเราเมื่อเราได้รับการปฏิบัติด้วยความไม่เท่าเทียม ด้วยอคติ หรือการเล่นพรรคเล่นพวก  นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ตัวอย่างจากประวัติศาสตร์และเรื่องราวในปัจจุบันเพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของระบบที่มีปัญหาเช่นนั้นได้  สุดท้ายแล้วเราจะสามารถสำรวจได้ว่าอคติและความลำเอียงมีเหตุผลที่ถูกต้องจริงหรือเปล่า หรือว่ามนุษย์ทุกคนควรมีสิทธิที่จะแสวงหาความสุขอย่างเท่าเทียมกัน

การพัฒนาการเอาใจเขามาใส่ใจเราในขอบเขตที่กว้างขึ้นนั้นมีความสำคัญ เพราะในฐานะมนุษย์ ความสามารถในการเอาใจเขามาใส่ใจเราที่ติดตัวมานั้นไม่ได้ครอบคลุมความทุกข์ในขอบเขตที่กว้างขวางหรือปัญหาระดับโลกโดยอัตโนมัติ  ยกตัวอย่างเช่น พวกเราส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเห็นใจผู้ถูกกระทำรายคนเดียวแทนที่จะเป็นผู้ถูกกระทำจำนวนมาก  อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นทางโครงสร้างและวัฒนธรรมจะทำให้เราเห็นคุณค่าและมีความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับความทุกข์เพิ่มขึ้น และความสามารถตอบโต้ความทุกข์อย่างซับซ้อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ความตระหนักถึงมนุษยธรรมร่วมกันทำให้เราสามารถเรียนรู้ที่จะสื่อสารและร่วมมือกันระหว่างเชื้อชาติและกลุ่มสังคม ในขณะที่มีความเข้าใจและความคาดหวังเกี่ยวกับผู้อื่นตามความเป็นจริงมากขึ้น  เมื่อเราตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เรากับผู้อื่นมีร่วมกันมากขึ้น เราก็จะสามารถเห็นคุณค่าในความแตกต่างที่เห็นได้ แทนที่จะรู้สึกเคลือบแคลงใจ ซึ่งจะนำไปสู่การลดลงของอคติและการแยกตัว  เมื่อเราเข้าใจว่าความเป็นอยู่ที่ดีของบุคคลใด ๆ ได้รับผลกระทบจากระบบต่าง ๆ อย่างไร ความเอาใจเขามาใส่ใจเราของเราก็จะยิ่งหยั่งรากลึกและครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงการคิดวิเคราะห์เกี่ยวกับทางออกของทุกข์ที่เป็นไปได้ด้วย

ปฏิสัมพันธ์ในชุมชนและในทั่วโลก

การเห็นคุณค่าของการพึ่งพากันและกัน การปรับตัวเข้าหาวิธีที่เราได้รับประโยชน์จากผู้อื่น และการตระหนักถึงมนุษยธรรมร่วมกันสามารถสร้างความรับผิดชอบและความปรารถนาที่จะลงมือทำ  จากนั้นเราก็ย่อมอยากตอบแทนการกระทำด้วยน้ำใจทั้งหลายที่เราได้รับจากสังคมและลงมือทำเพื่อประโยชน์ผู้อื่นที่ลำบากหรือด้อยโอกาสกว่า  กระนั้นแล้วเราจะสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ในระบบอันซับซ้อนหรือในระดับสังคมหรือในระดับทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร

จุดประสงค์ทั้งหมดของการเรียนรู้ SEE คือการสร้างเสริมพลังให้เรารับรู้และตระหนักถึงศักยภาพของตัวเองในฐานะประชากรโลกที่มีความเห็นอกเห็นใจ  ในการบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว เราควรพิจารณาสองขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ศักยภาพของเราในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชุมชนและในโลก
  • การเข้าร่วมการแก้ปัญหาระดับชุมชนและระดับโลก

ทั้งสองข้อนี้มีความคล้ายคลึงกัน แต่ข้อแรกช่วยให้เรารับรู้ถึงสิ่งที่เราทำได้เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยอิงจากความสามารถและโอกาสของเรา  ส่วนข้อที่สองช่วยให้เราสำรวจวิธีแก้ไขปัญหาที่มีผลต่อชุมชนและโลกในเชิงสร้างสรรค์

ศักยภาพของเราในการก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชนและในโลก

หากเราจะสร้างปฏิสัมพันธ์ในชุมชนหรือในโลก และระบุความต้องการในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเราและผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพและอยู่บนความเป็นจริง โดยที่ไม่ยอมแพ้ต่อความสิ้นหวัง เราต้องรับรู้ถึงข้อจำกัดและความสามารถของเรา สิ่งสำคัญคือเราต้องเรียนรู้ว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้และปัญหาที่หยั่งรากลึกนั้นต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง  นี่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สามารถลงมือแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพได้  แน่นอนว่าถ้าเรารู้สึกอ่อนแอเวลาเผชิญหน้ากับปัญหายาก ๆ การสร้างความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นและต่อตัวราก็จะยากขึ้นด้วยเช่นกัน  นี่เป็นเพราะว่าความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งหมายถึงความปรารถนาหรือความตั้งใจในการบรรเทาทุกข์นั้น ขึ้นอยู่กับความหวัง ซึ่งหมายถึงความเชื่อ ว่าทุกข์นั้นสามารถได้รับการผ่อนปรนได้

ถึงแม้ว่าเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนทั้งระบบได้ เราก็สามารถลงมือทำในลักษณะที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากที่สุดโดยการโฟกัสที่องค์ประกอบหลักในระบบ  การทำในลักษณะนี้จะทำให้เรารู้สึกถึงพลังใจโดยที่ไม่รู้สึกท้วมท้นไปกับขนาดของปัญหาระดับโลกและปัญหาของระบบ  หากเราระบุปัจจัยหลักสองสามอย่างที่เป็นตัวการของผลกระทบส่วนใหญ่ในระบบนั้น เราก็สามารถโฟกัสที่ปัจจัยเหล่านั้นและบรรลุผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดเจนกว่า  นอกจากนี้เราควรพิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่าถึงแม้เราจะไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางได้ทันที ความเปลี่ยนแปลงอย่างเล็ก ๆ ที่เราทำได้ก็คุ้มค่าเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงอย่างเล็กในตอนนี้สามารถกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางได้ในอนาคต  การสะสมการเปลี่ยนแปลงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สามารถทำได้ผ่านการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ รวมกัน อย่างการแยกขยะรีไซเคิลจากหลุมฝังกลบขยะ  ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับระบบที่พึ่งพากันและกันอย่างละเอียด เราจะมีความมั่นใจว่าการกระทำและพฤติกรรมในระดับเล็ก ๆ ช่วยปูเส้นทางให้กับผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต ถึงแม้ว่าเราอาจไม่ได้เห็นผลลัพธ์นั้นด้วยตัวเองก็ตาม

เราต้องแจกแจงประเด็นปัญหาที่ซับซ้อนทางสังคมและระดับทั่วโลกเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่สามารถนำไปวิเคราะห์และจัดการได้  เมื่อเราเห็นแล้วว่าการกระทำของเราสามารถจัดการกับส่วนประกอบขนาดเล็กของปัญหาต่าง ๆ ได้ และเราเห็นว่าส่วนประกอบเหล่านั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไรในระบบที่กว้างขึ้น เราก็จะมีความมั่นใจ รู้สึกถึงการกระทำที่มีเป้าหมายและพลังใจ  ในการทำเช่นนี้เราต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์  การคิดวิเคราะห์ตรงนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาประเด็นที่ซับซ้อนโดยใช้คุณค่าพื้นฐานของมนุษย์เป็นที่ตั้ง  ถึงแม้ว่าการทำเช่นนี้จะไม่ได้การันตีว่าสิ่งที่กระทำแล้วจะตัดสินใจว่าเป็นประโยชน์โดยผู้อื่นอย่างแน่นอน การคิดวิเคราะห์ก็ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้สำหรับการบรรลุผลลัพธ์เชิงประโยชน์

การเข้าร่วมการแก้ปัญหาในชุมชนและในทั่วโลก

ถึงแม้ว่าการบรรลุทางออกของปัญหานั้นอาจไม่อยู่ภายในกำลังความสามารถของเรา เราก็ยังสามารถพิจารณาเกี่ยวกับปัญหาและวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้  เราสามารถใช้โครงร่างดังต่อไปนี้เพื่อสำรวจประเด็นต่าง ๆ ที่เราเผชิญหน้าอยู่

  • ตระหนักถึงระบบและความซับซ้อนของระบบเหล่านั้น
  • ประเมินผลที่จะเกิดขึ้นตามมาในระยะสั้นและระยะยาว
  • ประเมินสถานการณ์ในบริบททางคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์
  • ลดอิทธิพลที่เกิดจากอารมณ์เชิงลบและความลำเอียง
  • สร้างทัศคติที่เปิดใจ มีความร่วมมือ และถ่อมตนอย่างชาญฉลาด
  • พิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียของแนวทางปฏิบัตินั้น ๆ

หลายครั้งที่คนเราลงมือกระทำโดยไม่ได้ประเมินสิ่งที่จะเกิดตามมาในระยะสั้นและระยะยาวให้ดีก่อน  เวลาเราตรวจสอบประเด็นแต่ละอย่าง เรายังต้องคิดถึงประชากรจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบจากแนวทางปฏิบัตินั้นด้วย  หากเราปฏิบัติตามและทำความคุ้นเคยกับกระบวนการนี้ เราจะเริ่มคิดถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการกระทำในเชิงที่กว้างขึ้นและผลกระทบของการกระทำดังกล่าวต่อผู้คนที่ตอนแรกอาจดูห่างไกลมากจากประเด็นที่เราพิจารณา นอกจากนี้เรายังต้องดูว่าประเด็นนั้นเกี่ยวข้องกับคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์อย่างไร และวิธีแก้ไขดังกล่าวจะสามารถสนับสนุนความเจริญของบุคคล สังคม และทั่วโลกได้อย่างไร

ปฏิสัมพันธ์ในสังคมและทั่วโลกได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากโดยทัศคนติเปิดใจที่เต็มใจร่วมมือกับผู้อื่น เคารพและเรียนรู้จากมุมมอง ความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ของผู้อื่น  การหารือกันที่ดีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราพิจารณาว่าผู้อื่นก็ใช้เหตุผลและประสบการณ์ของเขาในการที่มาถึงจุดยืนของเขาเช่นกัน ถึงแม้ว่าจุดยืนนั้นอาจแตกต่างจากความคิดของเรา  หากไม่มีความถ่อมตนอย่างชาญฉลาดและการเปิดใจแล้ว การหารือและการลงมติร่วมกันก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย และบทสนทนาก็อาจเสื่อมถอยไปเป็นข้อขัดแย้งที่ไม่เกิดประโยชน์และนำไปสู่การแก่งแย่งชิงอำนาจกันได้

มีปัญหาขั้นร้ายแรงเพียงไม่กี่อย่างที่เราสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องร่วมมือและทำงานกับผู้อื่น ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการสื่อสารความคิดและคุณค่าของเราอย่างชัดเจน  ดังนั้นปฏิสัมพันธ์ในชุมชนและในทั่วโลกจึงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีโดยความสามารถในการสื่อสารจุดยืนของเรา ถามคำถาม เรียนรู้จากผู้อื่น และเข้าร่วมการหารือในเชิงที่ก่อให้เกิดประโยชน์  การที่เราสามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจนและที่เป็นข้อบนพื้นฐานของการคิดวิเคราะห์และการยึดถือคุณค่าอย่างแน่วแน่ รวมถึงการที่เราสามารถพูดเชิงเสริมพลังและสร้างแรงบันดาลใจ ถึงแม้จะพูดแทนผู้ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงพูดก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นทักษะอันทรงพลังสำหรับพวกเราทุกคนในฐานะประชากรโลกและผู้นำการเปลี่ยนแปลง

สรุป

ในสองส่วนแรก เราได้เรียนรู้การนำทิศทางอารมณ์ของเราและการสร้างปฏิสัมพันธ์อย่างสมัครสมานกับครอบครัว เพื่อน และเพื่อนร่วมงานของเรา  ในส่วนที่สามซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายนี้ เราเริ่มเข้าใจว่าโลกนี้อาศัยกันพึ่งพากันและกันอย่างไร มนุษย์ทุกคนมีความปรารถนาร่วมกันที่จะมีความสุขและเลี่ยงทุกข์เหมือนกันอย่างไร และการกระทำของเราสามารถส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงระดับโลกในวงกว้างขึ้นอย่างไร

โลกที่เราอาศัยอยู่นี้มีความซับซ้อน  ในฐานะผู้ใหญ่ มันอาจดูเหมือนว่าเราสามารถเอาตัวรอดได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากใครทั้งสิ้น  บางทีเราอาจรู้สึกว่าเพื่อนมนุษย์รอบโลกของเราไม่สำคัญ เพราะท้ายที่สุดแล้วพวกเขาก็แตกต่างจากเรามาก  และหลายครั้งมันก็อาจดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้หรือยากเกินไปที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในโลกนี้  เมื่อเราเข้าใจความเป็นจริงของสถานการณ์เราแล้ว ว่าอาหารที่เราทาน เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ และรถยนต์ที่เราขับนั้นมาจากแรงงานของผู้อื่น เราย่อมมีความรู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของพวกเขา  เมื่อเราเห็นแล้วว่าเพื่อนมนุษย์ของเราปรารถนาที่จะมีความสุขเหมือนกับเรา เราก็ย่อมพัฒนาความปรารถนาที่อยากให้พวกเขามีความสุขขึ้นมา  ในที่สุดด้วยความเข้าใจว่าการกระทำเล็ก ๆ สามารถก่อตัวเป็นผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ เราก็จะมีความมั่นใจว่าการกระทำเชิงประโยชน์ใด ๆ ที่เราทำ ไม่ว่าจะเล็กแค่ไหน ก็ถือเป็นประโยชน์ต่อโลกได้

โปรแกรมฝึกอบรมนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อให้อ่านและลืมไป แต่เราต้องนำแต่ละข้อไปปฏิบัติใช้  มนุษย์เรานั้นแตกต่างกันก็จริง แต่เราต่างก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการนำทางการพบปะกับผู้คนและสถานการณ์ทางสังคมอันนับไม่ถ้วน  เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดการกับชีวิตขาขึ้นขาลงแล้ว เราจะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างการกระทำที่มีแรงจูงใจสำหรับผลประโยชน์ส่วนตัวและการกระทำที่ทำเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น  ด้วยความตระหนักรู้อันลึกซึ้งเกี่ยวกับแรงกระตุ้นและความลำเอียงของเรา รวมถึงความสามารถในการจัดการปฏิกิริยาโต้ตอบและการพิจารณาวิเคราะห์สถานการณ์ เราก็สามารถจัดการกับทุกอย่างที่เราต้องเผชิญในชีวิตได้  เราสามารถก้าวไปข้างหน้าและตระหนักถึงศักยภาพมหาศาลของเราในการเป็นพลังแห่งความดี ความดีของตัวเราเอง ความดีของผู้อื่น และความดีในโลกอันกว้างใหญ่


หากคุณต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดอ่านโครงสร้างการเรียนรู้  SEE ฉบับเต็มและเรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมอื่น ๆ ของศูนย์อนุปัสสนาวิทยาและจริยธรรมบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ (Center for Contemplative Science and Compassion-Based Ethics)

Top