วิธีเปลี่ยนแปลงโลก

How%20to%20change%20the%20world

บทนำ

คุณเป็นนักเคลื่อนไหว! ขอแสดงความยินดีด้วย ในแง่หนึ่ง พระพุทธเจ้าก็เป็นนักเคลื่อนไหวเช่นกัน เรื่องราวในชีวิตของพระองค์แสดงให้เห็นว่าพระองค์เองก็ทรงเบื่อหน่ายกับสภาพของโลกในสมัยนั้นด้วยเหมือนกัน พระองค์ทรงใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยในพระราชวังของพระบิดาตลอดช่วงวัยเยาว์ และเมื่อพระองค์เสด็จออกไปนอกกำแพงวังเป็นครั้งแรก จึงได้ทรงตระหนักถึงความทุกข์มหาศาลที่อยู่ข้างนอกนั้น ซึ่งก็เหมือนกับคุณในวันนี้เวลาที่คุณเห็นข่าวต่าง ๆ

แม้ว่าการได้พบกับความทุกข์จะทำลายโลกทัศน์ที่ผาสุกของพระพุทธเจ้า แต่มันก็ไม่ได้ทำให้พระองค์หันหน้าหนีด้วยความกลัวหรือด้วยความเฉยเมย ในความเป็นจริง พระพุทธเจ้ากลับตอบสนองต่อความทุกข์นั้นด้วยการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว มุ่งหมายที่จะยุติความทุกข์ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ดังนั้น พระพุทธเจ้าและคำสอนของพระองค์จึงสื่อถึงความรู้สึกเร่งด่วนที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากรู้สึกอยู่ในวันนี้ ซึ่งอาศัยอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคงทางการเมืองและสิ่งที่ดูเหมือนจะกัดกร่อนคุณค่าของมนุษย์ที่เรารักและทะนุถนอมยิ่งนัก

วิธีเปลี่ยนแปลงโลก

แล้วเราจะเปลี่ยนโลกตามหลักพระพุทธศาสนาได้อย่างไร?

เมื่อสำรวจพุทธปรัชญาแล้ว เราจะพบว่า คำตอบในแง่มุมต่าง ๆ เริ่มค่อย ๆ ปรากฏขึ้น อย่างแรกก็คือ การเบื่อหน่ายต่อสภาพของโลกนั้นไม่ใช่สิ่งที่เลวร้าย แต่ตรงกันข้าม ในพระพุทธศาสนา เราเรียกจุดเปลี่ยนของความรู้สึกเบื่อหน่ายนี้ว่า “การละทิ้ง”  เมื่อเราได้เห็นมันทั้งหมดและตระหนักว่าวิธีเดิม ๆ ที่เราเคยใช้เพื่อบรรเทาความไม่สบายใจของเรานั้นใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ดังนั้น เราจึงเริ่มมองหามุมมองที่แตกต่างออกไปอย่างจริงจัง

วิธีแก้ปัญหาที่พระพุทธเจ้าพบนั้นค่อนข้างสุดโต่ง พระองค์ทรงนำคำถามนั้นมาเปลี่ยนเป็นถ้อยคำอย่างปฏิวัติวงการว่า ถ้าท่านต้องการเปลี่ยนแปลงโลก ก็จงเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตัวท่านเองก่อน ขั้นตอนแรกคือการเปลี่ยนความคิดแคบ ๆ ที่เรามีเกี่ยวกับ “ตัวฉัน” ให้กลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก ๆ

ในฐานะที่เราเป็นตัวตนที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ เราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไม่ใช่เพื่อ “ตัวฉัน” ตัวเล็ก ๆ นี้ หากแต่เพื่อทุกคน นั่นเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากใช่ไหม? แต่ด้วยแนวคิดนี้ เป้าหมายสูงสุดก็ไม่ใช่อื่นใดนอกจากการยุติความทุกข์ของทุกคน ซึ่งก็ได้แก่ ความทุกข์จากความหิวโหย สงคราม ความเจ็บป่วย ความไม่สบายใจและความเจ็บปวดทางจิตใจทั้งหมด ทั้งหมดทั้งมวล มุมมองที่กว้างขึ้นนี้หลีกเลี่ยงปัญหาการเปลี่ยนแปลงโลกโดยมีตนเองเป็นศูนย์กลาง เพียงเพื่อประโยชน์ของเราเอง พระไตรปิฎกกล่าวถึงผู้ที่ตั้งใจจะปลดปล่อยโลกจากความทุกข์และนำพาทุกชีวิตไปสู่การตรัสรู้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ ผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจอันประมาณมิได้ เนื่องจากเราทุกคนต่างก็ต้องการมีความสุขอย่างเท่าเทียมกัน และไม่มีใครต้องการมีทุกข์ ดังนั้น จึงจำเป็นที่เราจะต้องพยายามเปลี่ยนแปลงโลกไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ของทุกคน

ความว่างเปล่าและการพึ่งพาอาศัยกัน

แล้วพระโพธิสัตว์จะเปลี่ยนแปลงโลกจริง ๆ ได้อย่างไร?

มีมากมายหลายสิ่งที่กล่าวไว้ในคำสอนตามลำดับขั้นของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับหนทางสู่การตรัสรู้ ซึ่งอธิบายว่าพระโพธิสัตว์ทำงานอย่างไรในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น แต่เพื่อให้คุณได้พอเห็นภาพ เราจะเปลี่ยนคำถามจาก “ฉันจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร” มาเป็น “ฉัน” นี้คือใครหรือคืออะไร และ “โลก” คืออะไรกันแน่ พระพุทธศาสนาเสนอมุมมองที่ว่า “โลก” และ “ฉัน” ไม่ได้คงที่ตายตัวอย่างที่เราคิด พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริมให้เราตั้งคำถามกับสมมติฐานของเรา พระองค์ทรงพบว่า เมื่อเราวิเคราะห์สิ่งที่เราเรียกว่า “ตัวฉัน” เราจะไม่พบส่วนใดในร่างกายหรือจิตใจของเราที่มั่นคงเป็นรูปธรรมตายตัวที่เป็นตัวตนจริง ๆ และในเมื่อ “ฉัน” ไม่ได้เป็นสิ่งที่คงที่ตายตัวและเป็นอิสระ แล้วจะมี “โลก” ที่ไม่เปลี่ยนแปลงและตายตัวที่ “เรา” กำลังพยายามแก้ไขได้อย่างไร? ยิ่งเราวิเคราะห์สิ่งเหล่านี้มากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งคุ้นเคยกับคำสอนหลักของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับความว่างเปล่า ที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่มีการดำรงอยู่โดยตัวของมันเอง และไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นโดยปราศจากสิ่งอื่น นั่นคือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นด้วยเหตุและปัจจัยมากมาย ไม่ใช่แค่เพียงสิ่งที่เราทำไม่กี่อย่าง เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว เราก็เพียงแค่ทำทุกอย่างที่เราทำได้ที่จะก่อให้เกิดเหตุและปัจจัยบางอย่าง แต่ไม่ต้องทำให้ตัวเรา โลก และสิ่งที่เราทำอยู่เป็นเรื่องใหญ่

พระพุทธเจ้าล้มเหลวใช่ไหม?

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ท้าทายมากอยู่ตรงนี้ ด้วยความเห็นอกเห็นใจและปัญญาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระพุทธเจ้าทรงบรรลุธรรมอันหาที่เปรียบมิได้เพื่อประโยชน์แก่ทุกสรรพชีวิต แต่พอมองไปรอบ ๆ เราก็ยังเห็นว่าสงครามยังคงคุกรุ่น ความอยุติธรรมยังคงดำเนินต่อไป และเราก็ยังเห็นความทุกข์อยู่ทุกหนทุกแห่ง เช่นนั้นแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับพระพุทธเจ้านักเคลื่อนไหวผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้? ถ้าเป้าหมายของพระองค์คือการปลดปล่อยทุกคนจากความทุกข์ เราจะพูดได้อย่างไรว่าพระองค์ประสบความสำเร็จ?

นี่เป็นคำถามที่สำคัญมาก และส่วนที่ลึกที่สุดของคำตอบก็จะขึ้นอยู่กับความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าของแต่ละคน ในความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้และก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ในชั่วข้ามคืนเหมือนกับการโบกไม้กายสิทธิ์ แต่เช่นเดียวกับนักเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่คนอื่น ๆ เช่น คานธี (Gandhi) หรือ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King) อิทธิพลของพระองค์ไม่ได้มาจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทันที หากแต่มาจากการเสนอวิธีการใหม่หมดเลยในการรับมือกับความท้าทายหรือปัญหาต่าง ๆ ของโลกใบนี้ ในเครือข่ายอันกว้างใหญ่ของการพึ่งพาอาศัยกัน เราอาจพูดได้ว่าโลกได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากความเข้าใจอันลึกซึ้งของพระพุทธเจ้า และแน่นอนว่า เราแต่ละคนก็ยังคงต้องยึดถือและปฏิบัติตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา ซึ่งทั้งหมดนั้นมันก็มีอยู่ตรงนั้นให้เราแล้ว พระพุทธเจ้าได้เพิ่มกล่องเครื่องมืออันทรงพลังสำหรับการเปลี่ยนแปลงในโลกที่กำลังมีความทุกข์ของเรา ให้ทุกคนสามารถหยิบใช้ได้ตลอดเวลา

หากเรามองให้ลึกลงไปอีกสักหน่อย พระพุทธเจ้าก็จะตรัสว่าสิ่งที่เราเรียกว่า “โลก” นั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นหนึ่งเดียว มีโลกอยู่หลายโลกก่อนหน้าโลกนี้ และจะมีอีกหลายโลกในอนาคต บางคำสอนถึงกับกล่าวว่ามีพหุจักรวาลหรือโลกคู่ขนานอยู่ในขณะนี้ สภาพของโลกเราหรือโลกที่อาจเป็นไปได้อื่น ๆ ไม่ได้เป็นสิ่งที่คงที่ตายตัว และอนาคตก็เช่นกัน แต่สิ่งหนึ่งที่แน่นอนก็คือ ในเมื่อโลกของเราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผลกระทบเชิงบวกใด ๆ ที่เราสร้างขึ้นให้กับโลกจึงย่อมมีคุณค่า และไม่ใช่แค่การกระทำทางกายของเราเท่านั้นที่สำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ภายนอกเท่านั้น กิจกรรมทางจิตใจ เช่น ความคิด ความปรารถนา และความตั้งใจของเรา ต่างก็มีพลังพอ ๆ กับการกระทำของเราตามที่คำสอนทางพระพุทธศาสนากล่าวไว้

การตรัสรู้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง

ท้ายที่สุด เมื่อใครก็ตามบรรลุการตรัสรู้อย่างสมบูรณ์ สมการนั้นก็จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กิจกรรมของพระพุทธเจ้าที่บรรลุการตรัสรู้สูงสุดไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพื้นที่ เวลา หรือแม้แต่ทัศนวิสัยเดิม ๆ ความช่วยเหลือที่ท่านผู้ตรัสรู้ทั้งหลายให้มานั้นอาจไม่ปรากฎอย่างชัดเจนต่อสายตามนุษย์เสมอไป แต่ก็ยังคงดำเนินต่อไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ดังนั้น บางทีคำตอบสำหรับคำถามเดิมของเราก็อาจไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเริ่มต้นขึ้นเมื่อเราขยายมุมมองของเราต่อปัญหาที่อยู่ตรงหน้าและเมื่อเราเห็นว่า “ฉัน” และ “โลก” เชื่อมโยงกันและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับความเป็นไปได้มากมาย พระพุทธเจ้าแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากภายในจริง ๆ แต่ก็ไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้น หากเราพัฒนาคุณสมบัติอันน่าทึ่งอย่างความเห็นอกเห็นใจและปัญญาได้เช่นกันแล้ว เราก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ และหากเส้นทางนั้นดูเหมือนจะยากลำบาก? นั่นหมายความว่า คุณก็มาอยู่ในที่จุดที่พระพุทธเจ้าเคยอยู่ ซึ่งเป็นจุดที่สมบูรณ์แบบในการเริ่มต้นแล้ว

Top