จากการการเสียสละไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ

การการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจเป็นทัศนคติเดียวกัน นั่นคือความมุ่งมั่นที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์และสาเหตุของความทุกข์นั้น อย่างแรกคือการเสียสละ ซึ่งเราเพียงแค่มุ่งเน้นไปที่ตัวเราเอง ส่วนอย่างหลังคือความเห็นอกเห็นใจนั้นเราจะมุ่งเน้นต่อผู้อื่น เมื่อเราทราบรายละเอียดทั้งหมดในการสร้างการเสียสละอันได้แก่สาเหตุต่าง ๆ พร้อมกับปัจจัยของจิตใจ ความเข้าใจ และอื่น ๆ แล้ว เราก็จะสามารถพัฒนาความเห็นอกเห็นใจได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

การเสียสละและความเห็นอกเห็นใจเป็นสภาพสำคัญสองประการของจิตใจที่เราต้องปลูกฝังให้เป็นส่วนหนึ่งของแรงจูงใจของเราในขณะที่เราดำเนินไปบนเส้นทางแห่งพระพุทธศาสนา ผมต้องการวินิจฉัยประเด็นบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจทั้งสองนี้อันเนื่องมาจากทั้งสองสภาพมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก ในความเป็นจริง สภาพจิตใจทั้งสองนี้มีสภาพที่เหมือนกันมาก ต่างกันเพียงแค่ว่าทั้งสองสภาพมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน

คำสอนทางพระพุทธศาสนาล้วนมุ่งช่วยให้เรากำจัดความทุกข์และปัญหาต่าง ๆ วิธีที่ใช้ในการทำเช่นนี้คือ ค้นหาสาเหตุที่แท้จริงภายในตัวเรา และกำจัดสาเหตุเหล่านั้นเพื่อไม่ให้มันสร้างความทุกข์อีกต่อไป วิธีนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นว่า มันเป็นไปได้ที่จะกำจัดสาเหตุเหล่านั้นในแนวทางที่ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก เพื่อให้บรรลุสิ่งนั้น เราจำเป็นต้องพัฒนาเส้นทางแห่งจิตใจ ซึ่งหมายถึงวิธีการแห่งความเข้าใจที่จะตอบโต้และกำจัดต้นตอของปัญหาของเราได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว เราขาดความเข้าใจ หรือความไม่รู้ของเรา

นี่เป็นไปตามโครงสร้างของอริยสัจ 4 ซึ่งเป็นคำสอนแรกและคำสอนพื้นฐานที่สุดที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เมื่อเรามองไปที่การเสียสละและความเห็นอกเห็นใจ เราจะเห็นว่าทั้งสองมุ่งไปที่ความทุกข์ ด้วยความปรารถนาให้ความทุกข์นั้นหมดไป ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างทั้งสองอย่างนี้ก็คือ สำหรับการเสียสละ จิตใจของเราจะมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ของเราเอง แต่สำหรับความเห็นอกเห็นใจนั้น จะมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ของผู้อื่น อย่างนั้นแล้ว สภาพจิตใจก็คล้ายกันมากใช่หรือไม่ แต่แล้วก็มีคำถามตามมาว่า อารมณ์นั้นจริง ๆ แล้วเหมือนกันหรือไม่ และเราจะเปลี่ยนจากสภาพจิตใจหนึ่งไปยังอีกสภาพหนึ่งได้อย่างไร

ความหมายของการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจ

คำว่า "การละทิ้ง" ไม่เพียงแต่ใช้ในภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังใช้ในภาษาอื่น ๆ ทั้งหมดที่มีการนำเสนอพระพุทธศาสนาในทางตะวันตกด้วย อย่างไรก็ตาม มีการเริ่มตั้งคำถามว่า นั่นเป็นคำแปลที่ถูกต้องของคำในภาษาสันสกฤตดั้งเดิมหรือภาษาทิเบตหรือไม่ เราก็อาจสงสัยว่า บางทีคำนี้อาจสร้างขึ้นโดยมิชชันนารี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้แปลเริ่มแรกในการแปลศาสนาพุทธไปยังโลกตะวันตก และเป็นผู้ที่เข้าใจคำสอนทางพระพุทธศาสนาในกรอบความคิดที่แตกต่างไปจากเดิม ท้ายที่สุดแล้ว คำว่า “การเสียสละ” มีความหมายแฝงของการละทิ้งทุกสิ่งเพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีที่ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางโลก แล้วก็ไปอาศัยอยู่ในถ้ำหรือวัดแทน แต่นั่นไม่ใช่ความหมายแฝงของคำในภาษาสันสกฤต นิหสรณะ (nihsarana) หรือในภาษาทิเบต เงส-บยุง (nges-’byung) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำนี้ ถ้าเรามองดูที่คำในภาษาทิเบต มันหมายถึงความมุ่งมั่น หมายความว่าจะกลายเป็นสิ่งที่แน่นอน หมายถึงความมุ่งมั่นที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ที่มุ่งเน้นอยู่

การที่จะพัฒนาความมุ่งมั่นเพื่อที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์นั้น ต้องอาศัยความเต็มใจที่จะละทิ้งความทุกข์นั้นและสาเหตุต่าง ๆ ของมัน ดังนั้น มันจึงมีความหมายแฝงของการละทิ้งบางสิ่งบางอย่าง หรือปฏิเสธบางสิ่งบางอย่าง “บางสิ่งบางอย่าง” นั้นคือความทุกข์และสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ที่เรากำลังโฟกัสอยู่ โดยการรับรู้ถึงสิ่งเหล่านั้นก่อน หลังจากรับรู้ว่านี่คือความทุกข์ที่ฉันกำลังประสบอยู่และนี่คือสาเหตุของมัน และฉันก็ไม่อยากสัมผัสกับมันอีกต่อไป ฉันอยากจะออกไปจากความทุกข์นั้น แล้วเราจะพัฒนาความเต็มใจที่จะละทิ้งมันได้ “ฉันอยากให้มันหายไป” ผมคิดว่าอาจเป็นวิธีที่เป็นกลาง ๆ มากกว่าในการแสดงออกถึงสิ่งนี้ เป็นกรณีที่ว่าสภาพจิตใจนี้มุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ของเราเอง หรือในกรณีของความเห็นอกเห็นใจที่มุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ของผู้อื่น แม้ว่าบุคคลที่ประสบกับความทุกข์นั้นไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือคนอื่น ๆ ก็ตาม ต่างก็มีความปรารถนาที่เหมือนกัน เราปรารถนาที่จะให้ความทุกข์นั้นหมดไป

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการสร้างการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจ

มันสำคัญมากไม่เพียงแค่ที่จะต้องรับรู้ว่าเรากำลังมุ่งเน้นไปที่อะไร กล่าวคือความทุกข์ที่เฉพาะเจาะจงบางอย่างและสาเหตุที่แท้จริงของมัน ซึ่งเราหรือผู้อื่นกำลังประสบอยู่เท่านั้น แต่ยังต้องตระหนักถึงปัจจัยที่แตกต่างกันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย ในจดหมายให้คำแนะนำการปฏิบัติเกี่ยวกับพระสูตรและตันตระ (Letter of Practical Advice on Sutra and Tantra) ท่านสองขะปะ (Tsongkhapa) ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า มีปัจจัยใดบ้างที่จำเป็นสำหรับการทำสมาธิอย่างมีประสิทธิภาพโดยทั่วไป อันดับแรก เราต้องเข้าใจก่อนว่าสมาธิคืออะไร การทำสมาธิเป็นวิธีการที่เราสร้างความรู้จักและทำให้จิตใจของเราคุ้นเคยกับสภาพจิตใจหรือสิ่งที่กำหนดบางอย่าง โดยการสร้างสภาพนั้นซ้ำ ๆ หรือมุ่งเน้นไปที่สิ่งนั้น

เพื่อที่จะให้รู้ถึงวิธีทำให้ตัวเราคุ้นเคยกับสภาพจิตใจนั้น เราจำเป็นต้องรู้ลักษณะเฉพาะของมันทั้งหมด เราจำเป็นต้องรู้ถึง

  • สภาพจิตใจนั้นมุ่งเน้นอะไร ในกรณีนี้ก็คือ ความทุกข์และสาเหตุของความทุกข์นั้น
  • แล้วจิตใจเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นอย่างไร ศัพท์ทางเทคนิคคือ "วิธีการรับเอาสิ่งนั้น" วิธีที่จิตใจของเรารับเอาสิ่งนั้น ที่นี่ก็คือ ด้วยความปรารถนาให้มันหมดไปนั่นเอง จิตใจของเราไม่ใช่เพียงแค่มุ่งเน้นไปที่ความทุกข์และสาเหตุของความทุกข์และให้ความสนใจกับสิ่งเหล่านั้นอย่างเดียว วิธีที่จิตใจของเราเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้นคือ “จงหายไป!” 

สภาวะใด ๆ ของจิตใจประกอบด้วยปัจจัยทางจิตที่แตกต่างกันหลายอย่าง เช่น สมาธิ ความตั้งใจ และอื่น ๆ หากเรารู้ปัจจัยเหล่านี้ทั้งหมด มันจะช่วยให้เราสร้างสภาพจิตใจที่ต้องการได้อย่างแท้จริง สำหรับในเรื่องนี้ ท่านสองขะปะได้ระบุประเด็นอื่น ๆ อีกมากมายที่เราจำเป็นต้องรู้ ซึ่งรวมถึง

  • สภาพจิตใจนั้นขึ้นอยู่กับอะไร พูดง่าย ๆ ก็คือ สภาพจิตใจที่เราต้องพัฒนาก่อนหน้านั้นคืออะไร ที่จะช่วยให้เราสร้างสภาพจิตใจนี้ขึ้นมาและรองรับมัน เช่น การระบุความทุกข์และการรับรู้ถึงความทุกข์ของตัวเราและของผู้อื่น
  • ปัจจัยของจิตใจใดบ้างที่จะช่วยสภาพจิตใจที่เราต้องการสร้างขึ้นและปัจจัยใดที่จะทำร้ายมันบ้าง ตัวอย่างเช่น ความรักจะช่วยมันไม่ว่าจะเป็นความรักที่มีต่อตัวเราเองหรือต่อผู้อื่น ส่วนความเกลียดชังไม่ว่าจะเป็นความเกลียดชังตนเองหรือความเกลียดชังผู้อื่นจะเป็นอันตรายต่อสภาพจิตใจนั้น
  • อะไรบ้างที่จะเป็นประโยชน์ และการใช้ประโยชน์หรือการทำงานของสภาพจิตใจนั้นเมื่อเราสร้างมันขึ้นมา ตัวอย่างเช่น การเสียสละจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างแท้จริง และความเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้เราสามารถทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นจากความทุกข์ได้

แม้ว่าในเรื่องนี้อาจฟังดูแล้วเหมือนมีรายละเอียดทางเทคนิคอยู่มากมาย แต่มันมีประโยชน์อย่างมากในการเข้าถึงการฝึกอบรมทางพระพุทธศาสนา หรือการฝึกอบรมทางศาสนาทุกประเภทด้วยเป้าหมายเพื่อการพัฒนา ตัวอย่างเช่น ความรักหรือความเห็นอกเห็นใจ แล้วคุณจะทำแบบนั้นได้อย่างไร บ่อยครั้งที่มักจะเป็นกรณีที่เราไม่รู้แน่ชัดถึงความหมายที่แท้จริงของความรักหรือความเห็นอกเห็นใจ แล้วเราก็ได้แค่นั่งลงด้วยความคิดที่ว่างเปล่าและไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร หรือบางที เราอาจมีความคิดของตัวเองว่าความรักหรือความเห็นอกเห็นใจหมายถึงอะไร แต่ความคิดของเราเองก็มักจะคลุมเครือ ถ้าเรากำลังพยายามที่จะสร้างสิ่งที่คลุมเครือ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถหวังว่าจะได้ก็คือ การมีเพียงแค่ความรู้สึกที่คลุมเครือและอาจเป็นความรู้สึกที่คลุมเครือในบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่สิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนให้เราพัฒนา

แม้ว่าในการฝึกอบรมทางพุทธศาสนา เรากำลังดำเนินการกับสิ่งที่อาจเรียกว่า "คุณค่าทางศาสนา" สภาพของจิตใจ และอื่น ๆ วิธีการนั้นเป็นวิทยาการทางวิทยาศาสตร์และแม่นยำ มันเป็นเรื่องที่แม่นยำเพราะเรารู้อย่างแน่ชัดว่า เรากำลังพยายามทำสิ่งนั้นด้วยจิตใจของเราและรู้ว่าจะทำมันได้อย่างไร หากเรามีความแม่นยำในวิธีการทำงานกับจิตใจ และอารมณ์ของเราแล้ว เราก็จะสามารถปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ในทางบวกได้อย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้น ทุกอย่างมันก็จะคลุมเครือไปหมด

พวกเราบางคนอาจไม่ได้เป็นคนที่เน้นแนวทางวิทยาศาสตร์หรือเชิงเหตุผลมากนัก พวกเราบางคนอาจเข้าใจหรือรู้เองโดยสัญชาตญาณและพัฒนาอารมณ์ต่าง ๆ ได้มากกว่า แต่ถ้าเรามองไปที่การรู้โดยสัญชาตญาณอย่างใกล้ชิดแล้ว เราจะพบว่าสัญชาตญาณที่ดีที่สุดคือ สัญชาตญาณประเภทที่แม่นยำ สัญชาตญาณที่คลุมเครือไม่ได้ทำให้เราไปไหนได้ไกลนัก ดังนั้น ไม่ว่าเราจะมีบุคลิกลักษณะแบบไหน ความแม่นยำก็มีประโยชน์มาก

ปัจจัยของจิตใจที่มาพร้อมกับการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจคือ ความรู้สึกที่เด็ดขาดของการพอแล้ว

อะไรคือปัจจัยของจิตใจที่มาพร้อมกับการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจ ผมอยากวาดภาพที่ถูกต้องแม่นยำของสภาพจิตใจเหล่านี้ตามที่คำสอนทางพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงไว้ แต่ถึงแม้ว่าเราจะสามารถอธิบายสภาพจิตใจและอารมณ์เหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ แต่ก็จะมีคำถามเกิดขึ้นมาโดยธรรมชาติว่า เราจะสามารถรู้สึกถึงสภาพจิตใจเหล่านี้จริง ๆ ได้อย่างไร แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เรารู้สึกนั้นคือของจริง

ถ้าเรามีความคิดที่ชัดเจนว่าสภาพจิตใจเหล่านี้จำเป็นต้องมีอะไรบ้างเพื่อให้เป็นของจริง เราก็สามารถเปรียบเทียบสิ่งที่เรากำลังประสบอยู่ตอนนี้กับของจริงที่มันจะต้องเป็นนั้นได้ ในการตรวจสอบสิ่งที่เรารู้สึก เราสามารถลองแยกองค์ประกอบของมัน ดูส่วนทั้งหมดที่ประกอบกันเข้าเป็นสิ่งนั้น และค้นหาว่าส่วนใดของสภาพจิตใจนั้นที่อ่อนแอหรือบกพร่อง จากนั้นเราจะรู้ว่าเราต้องทำอะไรเพื่อให้มีสภาพจิตใจที่แม่นยำชัดเจนยิ่งขึ้น การวิเคราะห์และทำความเข้าใจความรู้สึกของเราไม่ใช่กระบวนการที่ทำลายความรู้สึก มันเป็นกระบวนการที่ตามในการบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจเช่นกัน เพื่อช่วยให้เราสามารถบำบัดรักษาได้และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและตัวเราเอง

อารมณ์ที่ครอบงำที่ปรากฎเกิดขึ้นพร้อมกับการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจคืออารมณ์อะไร มันคือคำว่า ยิด-บยุง (yid-’byung) ในภาษาทิเบต ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะแปลคำ ๆ นี้ แต่มันคือสภาวะการเบื่อหน่ายกับบางสิ่ง อย่างที่ว่า “ฉันได้รับบางสิ่งบางอย่างเพียงพอแล้ว” บางครั้งมันก็อาจถูกแปลรุนแรงขึ้นไปอีกเล็กน้อยว่า “รังเกียจ” และที่ผ่านมาผมก็แปลแบบนั้นเช่นกัน เรารังเกียจความทุกข์ของเราและรังเกียจความทุกข์ของผู้อื่น แต่เมื่อไตร่ตรองเพิ่มเติมแล้ว ผมคิดว่า คำนั้นแรงเกินไป เพราะความรังเกียจอาจยุติลงอย่างง่ายดายและเปลี่ยนไปเป็นอารมณ์ของความรู้สึกรังเกียจที่รบกวนเราได้ ผมคิดว่าน้ำเสียงของอารมณ์นี้เป็นกลางกว่าเล็กน้อยกล่าวคือ “พอแล้วกับความทุกข์นี้ มันต้องจบลง” ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ของเราเองหรือความทุกข์ของคนอื่น ดังนั้น สิ่งนี้จึงมีองค์ประกอบบางอย่างของความเด็ดขาดที่มีต่อความทุกข์ “แค่นั้นแหละ พอแล้ว!”

ผมคิดว่าเราสามารถเชื่อมโยงสิ่งนี้ได้กับประสบการณ์ปกติของเรา เราอาจจะทุกข์และต้องการออกจากความทุกข์นี้ แต่เราจะไม่ทำอะไรเพื่อให้หลุดพ้นออกไปจากมันจริง ๆ จนกว่าเราจะตัดสินใจอย่างแน่วแน่และไปถึงจุดที่เราพูดว่า “แค่นั้นแหละ พอแล้ว” ดังนั้น การรู้สึกว่า “พอแล้ว” จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเสียสละ และเป็นน้ำเสียงที่เด่นชัดของมัน

การเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นความจริง

ปัจจัยของจิตใจอีกประการหนึ่งที่มาพร้อมกับการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจก็คือ การเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นความจริง บางครั้ง มันอาจถูกแปลว่า “ศรัทธา” แต่ผมคิดว่าเป็นการแปลที่ไม่เหมาะสม มันไม่เหมาะสมเพราะความศรัทธาอาจอยู่ในสิ่งที่เป็นเท็จหรือไม่แน่นอน เช่น ศรัทธาในการเติบโตอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจ ที่นี่ ความเชื่อในข้อเท็จจริงจะมุ่งเป้าไปที่บางสิ่งที่เป็นจริง และเชื่อว่ามันเป็นความจริง ดังนั้น เราจะไม่พูดถึงการเชื่อในกระต่ายอีสเตอร์หรืออะไรทำนองนั้น

การเชื่อข้อเท็จจริงตามเหตุผล

ความเชื่อในข้อเท็จจริงมีอยู่สามประเภท ประเภทแรกคือ การเชื่อข้อเท็จจริงตามเหตุผล ความเชื่อประเภทนี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ และเรามีความเชื่ออย่างแน่วแน่ในข้อเท็จจริงว่านี่คือความทุกข์จริง ๆ และมันมาจากสาเหตุนี้จริง ๆ นอกจากนี้ เรามีความเชื่อมั่นว่าความทุกข์นี้สามารถขจัดออกไปได้และสามารถขจัดออกไปได้อย่างถาวร

ประเด็นสุดท้ายนั้นถือว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก หากไม่มีความเชื่ออย่างมั่นใจตามหลักของเหตุผลว่า ความทุกข์นั้นสามารถขจัดออกไปได้และฝ่ายตรงข้ามของมันนั้นสามารถกำจัดมันได้อย่างถาวรแล้ว น้ำเสียงของอารมณ์ทั้งหมดก็อาจจะแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น เราอาจรับรู้ว่าเรามีปัญหาบางอย่างในชีวิต และอย่างน้อยที่สุด เราก็อาจเข้าใจถึงสาเหตุของมันได้บ้าง เราอาจอยากจะออกไปให้พ้นจากปัญหาจริง ๆ และเราอาจจะมาถึงจุดที่เรารู้สึกลึกซึ้งว่า เราได้รับมันเพียงพอแล้ว เราต้องการทำอะไรบางอย่างกับมันจริง ๆ แต่สมมติว่า เราคิดว่ามันสิ้นหวัง ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นออกไปจากปัญหาของเราได้จริง ๆ และเราแค่นิ่งเงียบและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันเท่านั้น หรือเรารู้สึกว่า เราถูกลงโทษให้มีปัญหานี้ตลอดไป นั่นเป็นสภาพจิตใจที่แตกต่างกันมากใช่หรือไม่จากความเชื่อในข้อเท็จจริงที่อธิบายไว้ในพระพุทธศาสนา ในสภาพจิตใจที่เรารู้สึกว่าสิ้นหวังนั้น มันก็ง่ายมากที่จะรู้สึกหดหู่ใจกับสถานการณ์ทั้งหมด เรารู้สึกท้อแท้เป็นอย่างมาก เพราะแม้ว่าเราจะอยากจะออกจากปัญหาของเรา แต่เราก็ตระหนักดีว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นเพียงแค่ความคิดปรารถนาเท่านั้นและไม่มีอะไรมากนักที่จะสามารถทำได้

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมความเชื่อมั่นอย่างเด็ดขาดของเราที่ว่าเราสามารถกำจัดปัญหาของเราได้ตลอดไปจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล เราเข้าใจว่า เราจะสามารถกำจัดปัญหาออกจากตัวเราได้อย่างไร และเราเชื่อมั่นว่ามันจะได้ผลด้วย นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความหวัง และความหวังทำให้เรามีพละกำลัง และพละกำลังก็เป็นสิ่งสำคัญมากในการที่จะสามารถทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อขจัดปัญหานั้นออกจากตัวเราได้ นั่นคือ การเชื่อข้อเท็จจริงตามเหตุผล

การเชื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบางสิ่งอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง

ประเภทที่สองของการเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นความจริงเรียกว่า “การเชื่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบางสิ่งอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง” มันจะทำให้สมองปลอดโปร่งในแง่ที่ว่า มันทำให้จิตใจของเราปลอดโปร่งจากอารมณ์ที่รบกวนโดยปราศจากการขจัดสิ่งที่กำหนดออกไปด้วย แล้วนี่หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ความเชื่ออย่างมั่นใจที่ว่าความทุกข์สามารถถูกขจัดออกไปได้อย่างถาวร ช่วยขจัดความซึมเศร้าออกไปจากจิตใจของเราอย่างถาวร มันช่วยขจัดความสงสัยของเราเกี่ยวกับสถานการณ์นั้น มันทำให้จิตใจของเราปลอดโปร่งโล่งจากความรู้สึกสิ้นหวังและความกลัว เมื่อเรามีปัญหาและความยากลำบากมากมาย เราจะตกอยู่ในความกลัวอย่างมาก และคิดว่า “มันจะเป็นแบบนี้ตลอดไป” หรือ “ฉันกลัวที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะบางทีฉันอาจจะยิ่งทำให้มันแย่ลงไปอีกก็ได้”

ผมแน่ใจว่าเราทุกคนรู้จักตัวอย่างนี้ไม่ว่าจะเป็นของตัวเราเองหรือของคนอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น เราอาจมีความสัมพันธ์ที่แย่มากกับใครบางคน เป็นความสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางทำลายและเป็นอันตราย แต่เรากลัวที่จะออกมาจากความสัมพันธ์นั้นและจบมันลงเพราะชีวิตอาจแย่ลงกว่าเดิมถ้าไม่มีคน ๆ นี้ แต่ด้วยความเชื่ออย่างมั่นใจว่าเราสามารถกำจัดปัญหานี้ได้โดยการยุติความสัมพันธ์นั้นและนั่นคือการทำให้มันจบลง ทุกอย่างในชีวิตเราก็จะดีขึ้น เราก็จะขจัดความกลัวและความลังเลออกไปจากจิตใจของเรา

ด้วยความเชื่ออย่างเชื่อมั่นแบบที่สองนี้  เรายังกำจัดการขยายความด้านลบของความทุกข์ที่เกินจริงออกไปด้วย ในความเป็นจริง เราอาจมีปัญหา แต่ถ้าเราขยายความเกินจริงด้านลบของปัญหานั้น เราจะทำให้มันกลายเป็นสัตว์ประหลาดที่น่ากลัวในจิตใจของเรา เรายังสามารถทำให้ปัญหาขยายออกไปสู่ภายนอกและทำให้มันกลายผลงานของปีศาจ ซึ่งเป็นการทำให้ตัวเองกลัวมากยิ่งขึ้นอีก แต่ด้วยการเสียสละตามความเชื่อที่เข้าใจอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่า มันเป็นไปได้ที่จะกำจัดความทุกข์ได้ตลอดไป เราจึงไม่กลัว เราจะไม่วิ่งหนีจากปัญหาของเรา หรือพยายามหนีมันด้วยความกลัว แต่เราจะเผชิญกับปัญหาของเราและจัดการกับมันด้วยความเชื่ออย่างเชื่อมั่นว่า เราจะประสบความสำเร็จ

ดังนั้น เราจึงต้องระวังถึงวิธีการทำความเข้าใจสภาพทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกของเรา เช่น “การหลบหนีจากคุกแห่งสังสารวัฏ” ไม่ใช่จิตใจของเราปั่นป่วนและสับสนเพราะความกลัวและความเกลียดชังต่อสถานการณ์สังสารวัฏของความทุกข์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากที่ไม่สามารถควบคุมได้ ด้วยความเชื่อที่เข้าใจอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งว่ามันเป็นความจริงที่ว่า เราสามารถปลดปล่อยตัวเองจากความทุกข์ทั้งหมดเหล่านี้ได้ เราจึงมีจิตใจที่สงบและมุ่งมั่นชัดเจน

การเชื่อในข้อเท็จจริงด้วยการมีปณิธานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น

ความเชื่อประเภทที่สามคือ การเชื่อข้อเท็จจริงด้วยการมีปณิธานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น ปณิธานในที่นี่คือ “ฉันจะออกไปจากสิ่งนี้และฉันจะทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ออกไปจากมัน” ตัวอย่างในชีวิตประจำวันของสภาพจิตใจแบบนี้น่าจะเป็นเช่น เมื่อใครบางคนที่เติบโตมามีฐานะยากจน และมุ่งมั่นที่จะหลุดพ้นจากข้อจำกัดของมัน และทำสิ่งที่ประสบความสำเร็จในชีวิตให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าคนเหล่านั้นจะเต็มไปด้วยความเกลียดชังในสถานการณ์ของพวกเขา พวกเขามีความชัดเจน สงบ และรู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไรเพื่อให้รอดพ้นจากความยากจนและออกไปจากมัน และพวกเขาก็จะทำสิ่งนั้น เพราะพวกเขาได้รับสถานการณ์เช่นนี้มามากพอแล้ว พวกเขารู้ว่าจะต้องทำอะไร และก็แค่ลงมือทำมันอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง

ผมกำลังนึกถึงตัวอย่างเพื่อนของผมที่เติบโตมาในครอบครัวที่ยากจนมากในละแวกบ้านใกล้เคียงที่ค่อนข้างหยาบกร้าน เขาไปโรงเรียนที่คนส่วนใหญ่ในชั้นเรียนเป็นพวกที่อยู่ในแก๊งและต่อสู้กันเอง เขามุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากสิ่งนั้น เขารู้ว่าเขาต้องทำอะไร เขาทำงานหนักมากเพื่อให้ได้เงิน และมีโอกาสเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัย เขาเรียนแพทย์ที่นั่น และตอนนี้เขาก็เป็นศัลยแพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ความเห็นอกเห็นใจมีส่วนประกอบเดียวกันกับการเสียสละ

การเสียสละเป็นเช่นนี้เมื่อมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ของเราเอง เมื่อมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ของผู้อื่น มันก็เป็นสิ่งเดียวกัน เรามุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ของผู้อื่นและวิธีที่จิตใจของเราเกี่ยวข้องกับสิ่งนี้ก็คือด้วยความตั้งใจที่ว่า “สิ่งนี้ต้องไป” สภาพจิตใจและอารมณ์ที่มาพร้อมกันนี้ก็เป็นความรู้สึกเดียวกันที่ว่า "นี่พอแล้ว" เราตระหนักดีว่าทุกคนล้วนแล้วแต่มีปัญหาเหล่านี้ในชีวิตที่เราประสบอยู่  แต่ไม่ใช่ว่าเรารังเกียจหรือรู้สึกสิ้นหวังกับมัน ย้ำอีกครั้งคือ สิ่งเหล่านั้นเป็นประเภทของอารมณ์ที่รบกวนต่าง ๆ เรามั่นใจในความเข้าใจและความเชื่อของเราว่า นี่คือสาเหตุของปัญหาและมันเป็นไปได้ที่จะออกไปจากสาเหตุของปัญหาเช่นกัน ไม่ใช่ว่าเราแค่มีความปรารถนาดีเท่านั้น แต่ลึก ๆ แล้วเรารู้ว่ามันสิ้นหวัง ความเชื่อของเราเป็นความเชื่อประเภทที่มีความชัดเจนแจ่มแจ้ง ดังนั้น ด้วยความเห็นอกเห็นใจนี้ จิตใจของเราจึงปราศจากอารมณ์ที่รบกวน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก

ผมนึกถึงตัวอย่าง ผมจำได้ว่า แม่ของผมเคยดูข่าวท้องถิ่นทางโทรทัศน์ในอเมริกา และเธอจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับการฆาตกรรม การปล้น การข่มขืน และอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และเธอก็จะโกรธและขุ่นเคืองมากว่า “มันทำไมถึงได้แย่ขนาดนี้ มันไม่ควรที่จะเกิดขึ้น” นี่ดูเหมือนเป็นความเห็นอกเห็นใจ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นสภาพจิตใจที่ถูกรบกวนมาก นี่ไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจ "ของจริง" ในกรณีนี้ มันมีส่วนผสมของความเห็นอกเห็นใจและความกังวล แต่ก็มีความโกรธและอารมณ์เสียปนอยู่ด้วย

ความเห็นอกเห็นใจที่หมายถึงความเห็นอกเห็นใจ "ของจริง" นั้น ไม่ใช่สภาพจิตใจที่หงุดหงิด แต่มันเป็นสภาพจิตใจที่ชัดเจนมาก มันมาพร้อมกับความเชื่อด้วยปณิธาน ซึ่งก็คือ “ฉันจะพยายามทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับมันเพื่อช่วยขจัดความทุกข์นี้” ดังนั้น จึงไม่ใช่แค่หวังว่า “พวกเขา” จะทำอะไรบางอย่างกับมัน แต่ฉันจะพยายามช่วย อย่างไรก็ตาม ปณิธานและความตั้งใจนี้จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจที่เป็นจริงว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง มันไม่ใช่การผสมกับความคิดที่ว่า “ฉันคือพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพและฉันจะออกไปช่วยโลก” และ “ถ้าฉันช่วยคนนี้ได้สำเร็จ ฉันจะวิเศษแค่ไหน และถ้าฉันล้มเหลว ฉันก็มีความผิด” นี่คือเหตุผลที่เราต้องเข้าใจให้ดี และต้องมีความมั่นใจในกระบวนการที่จะขจัดความทุกข์ออกไป กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยขึ้นอยู่กับหลายสาเหตุและหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่ความตั้งใจจริงของฉันและความปรารถนาของฉันที่ต้องการให้ความทุกข์หมดไปเพียงเท่านั้น

การเสียสละและความเห็นอกเห็นใจที่มุ่งเน้นไปที่ความทุกข์จากความเจ็บปวดและความทุกข์ใจ

ดังที่เราได้อธิบายไว้แล้วว่า ส่วนประกอบแรกที่จำเป็นสำหรับการสร้างการเสียสละหรือความเห็นอกเห็นใจก็คือ มันจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ไม่ว่าจะเป็นของเราเองหรือความทุกข์ของผู้อื่น ถ้าอย่างนั้นแล้วคำถามแรกก็คือ จะต้องมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์แบบไหน พระพุทธเจ้าระบุความทุกข์ที่แท้จริงไว้ 3 ประเภท โดยไม่ต้องลงไปถึงรายละเอียดมากมาย ณ ตรงนี้ ประเภทแรกของความทุกข์ที่เราสามารถมุ่งเน้นก็คือ ความเจ็บปวดและความทุกข์ใจ

มันไม่ใช่เรื่องยากมากมายอะไรที่จะต้องการให้ความเจ็บปวดและความทุกข์ใจหมดไป ผมแน่ใจว่าเราทุกคนเคยประสบปัญหานี้ตอนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ที่คลินิกหมอฟัน แต่นั่นเป็นคำถามที่น่าสนใจตรวจสอบมากจริง ๆ เมื่อเรานั่งอยู่บนเก้าอี้หมอฟัน และเรากำลังประสบกับความเจ็บปวดจากการที่หมอฟันกำลังกรอฟันโดยไม่ใช้ยาชา เรามีความเสียสละต่อสิ่งนั้นหรือไม่ นั่นคือสภาพจิตใจของเราหรือไม่ แล้วสภาพจิตใจของเราที่แท้จริงเป็นอย่างไร เรารู้สึกอย่างไรในขณะที่นั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวนั้น สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ ผมคิดว่ามันเป็นความกลัวและความวิตกกังวล เช่นเดียวกับการเสียสละ เราจะมุ่งเน้นไปที่ความเจ็บปวดที่เรารู้สึก แต่จากนั้นสิ่งที่แตกต่างจากการเสียสละคือ เรามักจะขยายความเกินจริงเกี่ยวกับมันและทำให้มันกลายเป็นอสูรกายไป เราจะไม่สงบเลยอย่างแน่นอน

แต่สมมติว่า เราจัดการกับสถานการณ์นี้ด้วยการเสียสละ เราจะยังคงมุ่งเน้นไปที่ความเจ็บปวดจากการกรอฟันนั้น เราอยากให้ความทุกข์จากความเจ็บปวดของเรานั้นจบลง เราได้รับมันพอแล้ว และเรามั่นใจว่าเราจะสามารถกำจัดมันได้ แต่ตอนนี้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่น่าสนใจขึ้นมา เราสามารถเข้าใจได้ว่า เราจะกำจัดมันได้ง่าย ๆ เพียงแค่อดทนรอและรอ เราจะไม่นั่งบนเก้าอี้หมอฟันกับหมอฟันที่กำลังกรอฟันของเราอยู่คนนี้ไปตลอดชีวิต ความไม่เที่ยงอยู่ที่นั่นและการกรอฟันก็จะสิ้นสุดลง เราก็เพียงแค่ต้องทนกับมันเท่านั้นเอง ด้วยความคิดนี้ เราสามารถสงบลงและมั่นใจได้ว่า หากเราสงบสติอารมณ์และไม่เป็นกังวลมากที่ต้องนั่งบนเก้าอี้นั้นและเกร็งมาก ความทรมานจากความเจ็บปวดจากการกรอฟันก็จะเสร็จสิ้นและหมดไป

ความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งคือ เรามั่นใจได้ว่าเราสามารถกำจัดความทุกข์จากความเจ็บปวดนี้ได้โดยการเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อมัน นี่เป็นวิธีการฝึกอบรมจิตใจหรือทัศนคติในการเปลี่ยนสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ให้เป็นสถานการณ์ในเชิงบวก ตัวอย่างเช่น หากเรานึกถึงความทุกข์ของผู้คนทั้งหมดที่ถูกทรมานในทิเบตหรือในที่อื่น ๆ ของโลก และเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราประสบบนเก้าอี้หมอฟัน เราก็จะเข้าใจได้ว่าความเจ็บปวดของเรานั้นช่างเล็กน้อยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน การเข้าใจความสัมพันธ์ของความทุกข์ของเราจะช่วยให้เราสงบสติอารมณ์เมื่อเผชิญกับความเจ็บปวดที่เล็กน้อย และเราก็จะไม่ทุกข์ทรมานจากมันมากนัก ความเจ็บปวดจะยังคงอยู่ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป

เรามีการเสียสละในทั้งสองตัวอย่างนี้ เราเสียสละอะไร ในระดับที่ผิวเผินนั้น เรากำลังเสียสละความเจ็บปวด แต่ไม่ว่าเราจะมีทัศนคติอย่างไรต่อเรื่องนี้เราก็ไม่สามารถขจัดความเจ็บปวดได้ในทันที เรายังคงประสบกับความรู้สึกเจ็บปวดทางร่างกายจนกว่าการกรอฟันนั้นจะหยุดลง ในความเป็นจริง ความเจ็บปวดจะดำเนินต่อไปจนกว่าหมอฟันจะทำเสร็จไม่ว่าเราจะเสียสละมันหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม การมั่นใจว่าความเจ็บปวดจากการกรอฟันนั้นไม่เที่ยงและเราจะเป็นอิสระในไม่ช้า เพราะความไม่เที่ยงนี้จะช่วยให้เราอดทนต่อความเจ็บปวดได้ ดังนั้น ถ้าเราพิจารณาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เรากำลังเสียสละความทุกข์ที่เราอาจมีในขณะที่ประสบกับความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่นั้นอย่างแท้จริง ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติ เราสามารถกำจัดความทุกข์นั้นได้ทันที

เมื่อความกลัวและความวิตกกังวลมาพร้อมกับประสบการณ์ของเราในขณะนั่งอยู่บนเก้าอี้หมอฟัน สภาพจิตใจเหล่านี้ทำให้เราไม่มีความสุขมากขึ้นและทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก แต่ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อความเจ็บปวดนั้นอย่างเช่น โดยการทำความเข้าใจถึงความไม่เที่ยงหรือความสัมพันธ์ของมันแล้ว เราก็สามารถมั่นใจได้ว่าเราจะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานทางจิตใจและอารมณ์จากการกรอฟันนั้น

ถ้าอย่างนั้นแล้ว นี่ก็คือการปฏิบัติในการเสียสละโดยอาศัยความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่เรากำลังเสียสละตรงนี้ นั่นหมายถึงสิ่งที่เราสามารถกำจัดออกไปจากตัวเราเองได้อย่างแท้เจริงโดยการเปลี่ยนทัศนคติ เรากำลังเสียสละสิ่งต่อไปนี้

  • ความทุกข์ที่เราประสบที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความรู้สึกทางกายที่เจ็บปวด
  • สภาพจิตใจและอารมณ์ที่เจ็บปวด
  • ความทุกข์ที่ประสบอันเกี่ยวข้องกับสภาพจิตใจและอารมณ์ที่เจ็บปวดเหล่านี้

การเปลี่ยนแปลงทัศนคติจะเปลี่ยนสถานการณ์ของความเจ็บปวดที่ได้รับทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง เราได้เห็นตัวอย่างของเรื่องนี้จากองค์ลามะผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในประเทศตะวันตกไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือความเจ็บป่วยระยะสุดท้ายอื่น ๆ  แน่นอนว่าพวกท่านต้องพบกับความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่ที่แน่ ๆ คือพวกท่านเสียสละความทุกข์และการกลัวความเจ็บปวดนั้น พวกท่านเปลี่ยนสถานการณ์ทั้งหมดโดยคิดถึงความทุกข์ของผู้อื่นและความเศร้าของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกไม่สบายของแพทย์ที่รู้สึกสิ้นหวัง องค์ลามะทั้งหลายเหล่านี้แสดงความกังวลอย่างมากต่อความรู้สึกของแพทย์และในทำนองเดียวกันต่อความรู้สึกของทุกคนที่มาเยี่ยมและมาแสดงความเคารพพวกท่าน

อะไรคือรากฐานสำคัญในแนวทางนี้ที่พวกท่านกำลังรับมือกับความเจ็บป่วยของตนเอง มันก็คือ การเสียสละและความเห็นอกเห็นใจนั่นเอง พวกท่านเสียสละความตึงเครียดและความเจ็บปวดทางจิตใจของสถานการณ์ทั้งหมดโดยคำนึงถึงทั้งตัวเองและผู้อื่นที่เกี่ยวข้อง และพวกท่านไม่ใช่เพียงแค่แสร้งทำเป็นว่าจะต้องทำการเสียสละ องค์ลามะเหล่านี้ไม่ได้เพียงแต่พูดออกมาว่า “ไม่เป็นไร อาตมาไม่เป็นไร ไม่ต้องกังวล” แต่ข้างในพวกท่านไม่รู้สึกว่ามันโอเค หากเป็นเช่นนั้นแล้ว พวกท่านน่าจะขาดความเชื่อที่ชัดเจนแจ่มแจ้งนี้ นั่นคือความเชื่อที่เชื่อมั่นว่าจะขจัดความกลัวและความไม่สบายใจออกไปด้วยการใช้คู่ต่อสู้ทางจิตใจตัวนี้หรือตัวนั้นทำให้ความตึงเครียดของสถานการณ์ทั้งหมดจะมีพลังน้อยลง แน่นอนว่า ยิ่งเราคุ้นเคยกับแนวปฏิบัติในการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจเหล่านี้มากขึ้นเท่าไหร่ เหมือนอย่างองค์ลามะทั้งหลายคุ้นเคยนั้น การเสียสละพร้อมด้วยปัจจัยประกอบทั้งหมดที่มาด้วยกันนั้นก็จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ มันจะไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่เราต้องสร้างขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งของสถานการณ์ที่ยากลำบากคือ การตกงานหรือสูญเสียเงินออม แม้ว่าเราจะรู้สึกแย่กับเรื่องนี้ แต่คนอื่น ๆ ที่สูญเสียงานหรือเงินออมก็รู้สึกแย่เช่นเดียวกัน เราต้องการให้ความทุกข์และความหดหู่นั้นหมดไปจากทั้งตัวเราและคนอื่น ๆ การเปลี่ยนจากการเสียสละไปสู่ความเห็นอกเห็นใจไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดเสียสละความทุกข์ของตัวเอง แต่เราจะขยายสภาพจิตใจของเราเพื่อรวมถึงทุกคนด้วย นั่นหมายถึงทั้งเราและคนอื่น ๆ

การเสียสละและความเห็นอกเห็นใจที่มุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ของความสุขปกติธรรมดา

นั่นเป็นการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจที่มุ่งเพียงแค่ความทุกข์จากความเจ็บปวดและความทุกข์ใจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความสุขตามปกติธรรมดาของเราก็เป็นปัญหาเช่นกัน ในแง่หนึ่งก็เป็นรูปแบบหนึ่งของความทุกข์เช่นกัน ความทุกข์นี้หมายถึง ความจริงที่ว่าความสุขธรรมดาของเราไม่เคยคงอยู่ตลอดไป มันไม่เคยสนองความพอใจเลย และเราไม่เคยที่จะรู้สึกพอกับมัน นอกจากนี้ ในไม่ช้ามันก็จะเปลี่ยนเป็นความรู้สึกที่อึดอัด ไม่สบาย และไม่มีความสุข นั่นเป็นเหตุผลที่เรียกมันว่า "ความทุกข์ของความเปลี่ยนแปลง" ตัวอย่างเช่น ถ้าการกินไอศกรีมเป็นสาเหตุของความสุขที่แท้จริง ยิ่งเรากินมากเท่าไหร่ เราก็ควรจะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น แต่เห็นได้ชัดว่าเรามาถึงจุดหนึ่งที่ยิ่งเรากินมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งรู้สึกไม่สบายมากขึ้นเท่านั้น ความสุขธรรมดาของเราตรงการกินไอศกรีมเปลี่ยนไปและเราก็ไม่มีความสุขอีกต่อไป

สรุปว่าความสุขตามปกติธรรมดาคือ สิ่งที่น่าท้อแท้ผิดหวัง ไม่ว่าเราปรารถนาที่จะมีความสุขต่อไปแค่ไหน เราก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าอารมณ์ของเราจะเปลี่ยนไปเมื่อใด นอกจากนี้ เราไม่เคยพอใจกับความสุขที่เรามีในตอนนี้หรือกับความสุขที่เราเคยมีมาก่อน เราต้องการมันมากขึ้นกว่าเดิมเสมอ เราสามารถเสียสละความทุกข์ของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระ

แต่การเสียสละความสุขธรรมดานั้นหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า เราไม่อยากมีความสุขอีกอย่างนั้นหรือ นั่นเป็นสิ่งที่เราต้องการหรือไม่: การสละความสุขเพราะมันไม่น่าพอใจใช่หรือไม่ การคิดเช่นนั้นจะเป็นการเข้าใจผิดทั้งหมดเกี่ยวกับจุดยืนในทางพระพุทธศาสนา ความสุขธรรมดาเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงและกำลังจะสิ้นสุดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกับความเจ็บปวดและความทุกข์ใจ แต่ด้วยการเสียสละ เรายอมรับความจริงนั้นและไม่ขยายความเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ดีของความสุขธรรมดาอย่างเกินจริงในขณะที่มันคงอยู่

นั่นคือวิธีที่เราจะเอาชนะความทุกข์จากความสุขธรรมดาของเรา เราสนุกกับมันในสิ่งที่มันเป็น ซึ่งเป็นความรู้สึกดี ๆ ชั่วคราว ในขณะเดียวกันก็รู้ดีอย่างแท้จริงว่ามันจะไม่คงอยู่ต่อไป เพราะเรารู้ว่ามันจะจบลง เราจึงไม่หงุดหงิด เราไม่คาดหวังว่ามันจะคงอยู่ตลอดไป แต่ในขณะที่มันคงอยู่ เราก็เพลิดเพลินไปกับมัน ไม่ใช่ว่าเราได้สัมผัสมัน รู้ว่ามันจะจบลง แต่มีความประหวั่นอย่างร้อนรนใจว่าเดี๋ยวมันจะหยุดลง ขอให้จำไว้ว่า ด้วยความเชื่อที่ชัดเจนแจ่มแจ้งในความจริงที่ว่ามันจะจบลง เราก็จะขจัดความรู้สึกไม่สบายในความคิดนั้นออกจากความรู้สึกของเราได้

ผมจะขอยกตัวอย่างเช่น การอยู่กับเพื่อนที่เราไม่ได้เห็นเขาตลอดเวลา เพื่อนที่จากไปหลังจากมาเยี่ยมเยียนเราในช่วงเวลาอันสั้น และเราก็ไม่พอใจ เราต้องการให้คน ๆ นั้นอยู่นานขึ้น โอเค ถ้าอย่างนั้น เราคาดหวังอะไรจากการมาเยี่ยมครั้งนั้นกับความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้น เราคาดหวังจริง ๆ หรือว่า การได้อยู่กับคน ๆ นี้จะทำให้เรามีความสุขในที่สุด และกำจัดความเหงาและความไม่มั่นคงของเราไปตลอดกาล ถ้าคนนั้นอยู่นานกว่านี้ต่อสักห้านาที เราจะพอใจไหม

เราไม่พอใจเพราะความคาดหวังของเราไม่สมหวัง แต่มันเป็นความคาดหวังที่ไม่เป็นจริงโดยสิ้นเชิง สิ่งที่เราคาดหวังนั้นเป็นไปไม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้าเราไม่คาดหวังว่าจะมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น เราก็จะพอใจกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น นี่คือการยอมรับความเป็นจริง เราเพลิดเพลินกับการมาเยี่ยม อาหาร ความใกล้ชิด หรืออะไรก็ตามที่ตอนนี้เรามีกับคน ๆ นั้น เรารู้ดีว่ามันจะไม่ขจัดความทุกข์ ความเหงา หรือความหิวโหยของเราไปตลอดกาล แต่เราก็ไม่คาดหวังว่ามันจะขจัดสิ่งนั้นเช่นกัน เราจะไม่ขยายความเกินจริงถึงการมาเยี่ยมของเพื่อนเรา เราต้องมีความเข้าใจที่ชัดเจนแจ่มแจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ และไม่เสียใจหรือผิดหวังเมื่อคนนั้นจากไป เราเพลิดเพลินกับสิ่งที่เป็นอยู่ และเมื่อมันจบลงแล้ว มันก็จบลงแล้ว

ทันทีที่เราได้เสียสละปัญหาที่เราเผชิญจากความสุขธรรมดาแล้ว เราจะขยายมันไปสู่ความสุขธรรมดาของผู้อื่นได้อย่างไร ชัดเจนว่า เราก็จะจดจ่ออยู่กับปัญหาของคนอื่นที่เกิดจากความสุขธรรมดานั่นเอง จากนั้นย้ำอีกครั้งว่าการมีเข้าใจที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แน่นอนว่า มันไม่ใช่ว่าเราอิจฉาที่อีกฝ่ายมีความสุขและเราไม่มีความสุข แม้ว่าเราตระหนักว่าความสุขของคน ๆ นั้นจะไม่ทำให้เขาพอใจก็ตาม ในทางตรงกันข้าม ตัวอย่างเช่น เราตระหนักดีว่าคน ๆ นี้ กำลังคาดหวังมากเกินไปจากความสัมพันธ์ของเขากับเพื่อน หรือมักจะหงุดหงิดและไม่พอใจไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรที่ดี ๆ เกิดขึ้นกับเขาก็ตาม เราตระหนักว่านั่นเป็นปัญหา ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการให้เขามีความสุข สิ่งที่เรามุ่งเน้นคือ ความทุกข์หรือปัญหาที่มาจากวิธีการประสบกับความสุขธรรมดาของเขา

การแยกแยะระหว่างความสุขกับปัญหาจากความสุข มันจะทำให้เราชื่นชมยินดีกับความสุขที่อีกฝ่ายรู้สึก มีการเน้นเรื่องความปีติยินดีอย่างมากในคำสอนทางพระพุทธศาสนา เราชื่นชมยินดีในความสุขของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตาม เราเข้าใจถึงข้อบกพร่องของความสุขธรรมดานั้นตามจริง และเรามีความเห็นอกเห็นใจต่อปัญหาที่อาจเกิดจากความสุขนั้น อย่างไรก็ดี แม้ว่ามันจะธรรมดา เป็นความสุขทางโลก แต่เราก็สามารถชื่นชมยินดีกับมันได้

การเสียสละและความเห็นอกเห็นใจที่มุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ที่ครอบคลุมทั่วทั้งหมด

รูปแบบของความทุกข์ที่ลึกที่สุดที่พระพุทธเจ้าชี้ให้เห็นคือ “ความทุกข์ที่ครอบคลุมทั่วทั้งหมด” ซึ่งหมายถึงการเกิดใหม่ที่เกิดซ้ำอย่างไม่สามารถควบคุมได้ที่เรียกว่า “สังสารวัฏ” ซึ่งเป็นพื้นฐานของการประสบกับปัญหาสองประเภทแรก มันเป็นรูปแบบของความทุกข์ที่พระพุทธเจ้าระบุไว้โดยเฉพาะว่าเป็นความทุกข์ที่แท้จริง ซึ่งท่านได้นำเสนอไว้ในอริยสัจสี่ เราจะยังคงมีสิ่งที่เรียกว่า ร่างกายที่ “มีมลทิน” ไม่ว่าจะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งก็จะต้องผ่านกระบวนการทั้งหมดของการเกิด เรียนรู้วิธีการเดิน และทำสิ่งต่าง ๆ อีกครั้ง จะได้รับบาดเจ็บอย่างง่ายดาย จะเจ็บป่วย แก่ตัวลง สูญเสียความสามารถ และเสียชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเราก็จะยังคงมีจิตใจที่ “มีมลทิน” ต่อไปว่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จะสับสน มีการคาดคะเนมากมาย มีความคิดแปลก ๆ ทุกประเภท และมันก็จะมีอารมณ์ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างต่อเนื่อง

เรามักจะอยู่ในความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนและไม่เคยที่จะพอใจ สิ่งต่าง ๆ จะเกิดขึ้นกับเราโดยที่เราไม่ต้องการให้มันเกิดขึ้น เราจะไม่ได้ในสิ่งที่เราชอบเสมอไป และในความเป็นจริง บ่อยครั้งที่เราต้องแยกจากสิ่งที่เราชอบและพบกับสิ่งที่เราไม่ชอบ เมื่อผู้อื่นทำแบบนี้หรือแบบนั้น เราก็ไม่ชอบมัน เราไม่อาจได้รับตามแบบของเรา เราจะหงุดหงิด เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการแม้ว่าเราจะพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้มันมา เช่น งานที่ดี คู่ชีวิตที่ดี หรืออะไรก็ตาม ไม่มีความแน่นอน ไม่เพียงแต่ชาติหน้าของเราเท่านั้น แต่ไม่มีความมั่นใจว่าเราจะรู้สึกอย่างไรในอีกชั่วขณะหนึ่งในอนาคตด้วย

เรามักจะต้องเสียสละร่างกายประเภทนี้และชีวิตปัจจุบันที่เรากำลังเป็นผู้นำทางมันอยู่ และทำให้มันเข้ากันได้กับการเกิดใหม่ทั้งหมด แล้วเรียนรู้ทุกอย่างอีกครั้ง ทำความรู้จักเพื่อนอีกครั้ง เป็นต้น และแน่นอนว่ามีการรับประกันเพียงเล็กน้อยว่าเราจะได้เกิดใหม่เป็นมนุษย์ในครั้งต่อไป แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นไปได้คือ เราจะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์ เราอาจเกิดใหม่เป็นแมลงสาบหรืออะไรที่อาจจะแย่กว่านั้น ด้วยการเสียสละ เราจึงคิดได้ว่าเราได้รับสิ่งนี้มาพอแล้ว

มันค่อนข้างน่าสนใจในการตรวจสอบสภาพจิตใจที่เกี่ยวข้องด้วยการเสียสละระดับนี้ ณ ตรงนี้ ผมคิดว่า ยังมีองค์ประกอบของความเบื่อหน่ายกับการเกิดขึ้นซ้ำอีกของสังสารวัฏที่ไม่สามารถควบคุมได้อยู่อีกด้วย เนื่องจากเราไม่ได้ขยายความเกินจริงเกี่ยวกับลักษณะของชีวิตในสังสารวัฏ ดังนั้นในแง่หนึ่ง เราจึงไม่หลงใหลในชีวิตนั้น เราไม่เพียงแค่ไม่สนใจ แต่มันเป็นสิ่งเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

หากเราไม่รู้สึกหลงใหลกับปัญหาที่เกิดซ้ำซากที่ต้องเผชิญในชีวิต และที่จริงแล้วเราเบื่อหน่ายกับปัญหาเหล่านั้น แต่จากนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่แคร์กับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าเรานำเอาทัศนคติของคำว่า "อะไรก็ได้" ที่ไม่สนใจ แต่เราเข้าใจว่า สาเหตุของปัญหาการเกิดใหม่ที่ซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างควบคุมไม่ได้ที่ครอบคลุมทั้งหมดนั้นมันคืออารมณ์ที่รบกวน ทัศนคติที่รบกวน และพฤติกรรมตามแรงบีบบังคับของเราที่มีสิ่งเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนมัน ยิ่งไปกว่านั้น เราเข้าใจว่าสาเหตุที่แท้จริงของความทุกข์นี้คือ ความไม่รู้และความสับสนที่อยู่เบื้องหลังสภาพจิตใจที่รบกวนและพฤติกรรมตามแรงบีบบังคับของเรา เรามุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากมัน

ความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากสังสารวัฏนี้เป็น “ของจริง” เป็นระดับลึกที่สุดของการเสียสละ ยิ่งไปกว่านั้น เรามั่นใจว่าเราสามารถยุติอาการอันน่ากลัวของการเกิดใหม่ในสังสารวัฏได้ เป็นผลให้จิตใจของเราไม่ถูกรบกวนที่เราอยู่ในสภาพนี้ จิตใจของเราปลอดโปร่ง เรามุ่งมั่นที่จะทำบางสิ่งเกี่ยวกับการปลดปล่อยตัวเอง นอกจากนี้ เรารู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้มันจบลงและเราก็มั่นใจว่าเราทำได้ เมื่อเราเปลี่ยนความมุ่งมั่นนี้ให้เป็นอิสระจากสังสารวัฏจากการมุ่งเน้นที่ตัวเราเองไปเป็นการมุ่งเน้นที่คนอื่นทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งนั้นก็จะกลายเป็น "ความเห็นอกเห็นใจที่ยิ่งใหญ่"

อันตรายที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อพัฒนาการเสียสละ

มีการนำเสนอการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจในบริบทของขอบเขตแรงจูงใจในขั้นตอนตามลำดับเพื่อการตรัสรู้ ลัมริม (lam-rim) และดังนั้นเราจึงสามารถวิเคราะห์ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาการละทิ้งและความเห็นอกเห็นใจโดยมองดูทั้งสองสิ่งนี้ในบริบทนี้ แรงจูงใจในขอบเขตเริ่มต้นคือ การพัฒนาเพื่อปรับปรุงชีวิตในชาติหน้าเพื่อให้เราเกิดใหม่เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อไปพร้อมกับโอกาสทั้งหมดที่จะสามารถดำเนินต่อไปบนเส้นทางศาสนาสู่การตรัสรู้ เมื่อเราพัฒนาแรงจูงใจในระดับเริ่มต้นนี้ สิ่งที่เป็นอันตรายคือ เราอาจพัฒนาความยึดติดกับการเกิดใหม่ของมนุษย์ที่มีค่าได้อย่างง่ายดาย เรารู้สึกว่า “ฉันอยากเกิดใหม่ อยู่กับเพื่อนและคนที่ฉันรักต่อไป และมีความมั่งคั่งและความสะดวกสบาย” และอะไรทำนองนั้น ดังนั้น ความมุ่งมั่นของเราเพื่อการเกิดใหม่ที่ดีกว่าจึงอาจไปผสมกับความยึดติดกับสิ่งนั้นอย่างมากมายได้ เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น เรากำลังขยายความเกินจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติที่ดีของชีวิตมนุษย์อันมีค่าอยู่ ความต้องการและความยึดติดนั้นมีพื้นฐานมาจากการขยายความเกินจริงถึงคุณสมบัติที่ดีของบางสิ่ง ด้วยความต้องการ เราคิดว่า “ฉันต้องมีมัน” เมื่อเราไม่มีบางอย่างและด้วยความยึดติด “ฉันไม่อยากปล่อยมันไป” เมื่อเรามีมันแล้ว

อันตรายจากการเสียสละก็คล้ายกับอันตรายจากความยึดติดนี้ แต่อยู่ในมิติของความขยะแขยง แทนที่จะเป็นแรงดึงดูดที่มาจากการอวดอ้างคุณสมบัติที่ดีของการเกิดใหม่เป็นมนุษย์อันมีค่า ด้วยการเสียสละ เราจะมีอันตรายจากการอวดอ้างคุณสมบัติเชิงลบของการดำรงอยู่ในสังสารวัฏ เนื่องจากการขยายความเกินจริงนั้น ทำให้เรารู้สึกความขยะแขยงกับมัน และนำไปสู่ความน่ารังเกียจที่เราเคยพูดถึงมาก่อน ความรังเกียจและความขยะแขยงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด

เมื่อเราพยายามพัฒนาการเสียสละ เราจะทำสิ่งนี้ภายในบริบทของการพยายามเป็นคนที่มีขอบเขตของแรงจูงใจระดับกลาง กล่าวคือ การที่คน ๆ หนึ่งพยายามที่จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏการเกิดใหม่ที่ไม่สามารถควบคุมได้ นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้เรากำลังมุ่งเน้นไปที่ข้อเสียหรือข้อบกพร่องของสังสารวัฏ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดสี่ประการที่ทำให้จิตใจหันเข้าหาพระธรรม” เราพยายามคิดอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับข้อเสียของสังสารวัฏ

เมื่อเราทำอย่างนั้นจริง ๆ เรากำลังมองหาข้อเสียของสังสารวัฏในทุกสิ่งที่เราประสบในชีวิต สิ่งนี้สามารถระบายสีสันให้กับอารมณ์และประสบการณ์ชีวิตของเราได้อย่างรุนแรง ไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ความคิดแรกที่น่าจะเกิดขึ้นในใจของเราก็คือ ความทุกข์ ตัวอย่างเช่น เราเห็นใครบางคนและเราอาจรู้สึกถึงแรงดึงดูดเล็กน้อย แต่แล้วเราก็คิดว่านั่นคือ "ความทุกข์" เราเข้าสู่งานชิ้นใหม่โดยคิดว่า “ความทุกข์: มันจะแย่มาก” ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็เป็น “ความทุกข์” เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นก็ “ความทุกข์” ทุกอย่าง เราเข้าไปอาบน้ำนี่ก็ “ความทุกข์: มันจะจบลงและฉันต้องทำมันอีกครั้งในภายหลัง น่าเบื่อ” ด้วยวิธีนี้มันง่ายมากที่จะพัฒนาทัศนคติเชิงลบต่อชีวิตโดยทั่วไป นั่นคือ ต่อทุกสิ่งที่เราประสบและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้คน เราซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ “ความทุกข์ มันจะพัง ไวรัสจะเข้ามาในเครื่อง” เราพบเพื่อนคนหนึ่ง และความคิดแรกของเราคือ เวลากับเพื่อนคนนี้จะไม่น่าพอใจอย่างไร เราไม่สามารถสนุกกับอะไรได้เลย ทัศนคติเชิงลบนี้ที่ว่า ทุกอย่างน่ากลัวและโง่เขลาสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

การรวมความปีติยินดีกับการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจเข้าด้วยกัน

เราจะจัดการกับอันตรายจากการกลายเป็นคนคิดในทางลบและซึมเศร้าได้อย่างไร วิธีแก้ปัญหาทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่พูดว่า “เพลิดเพลินกับความงดงามของชีวิต” ใช่หรือไม่ เราต้องระวังตรงนี้ให้มาก การมีความสุขเพลิดเพลินในชีวิตเป็นเรื่องไร้เดียงสาอันเกี่ยวกับธรรมชาติของความทุกข์ใช่หรือไม่ ขัดแย้งกับการเสียสละหรือไม่ โอนถ่ายสิ่งนี้ไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ โดยคิดว่า “ช่างน่าเศร้าที่ทุกคนต้องทนทุกข์ทรมาน มันช่างน่ากลัวจริง” การรวมความเศร้านี้เข้ากับความปีติยินดีที่ได้เห็นใครบางคนหมายถึง “ฉันมีความสุขกับความทุกข์ของคุณ” หรือเปล่า ไม่ใช่ มันไม่ใช่อย่างนั้นแน่นอน ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะรวมความรู้สึกของความปีติยินดีและความสุขกับการเสียสละหรือความเห็นอกเห็นใจได้อย่างไร

เมื่อเรากำลังพยายามหาความปีติยินดีในชีวิต และมีความปีติยินดีในการพบปะผู้อื่น และพบความปีติยินดีในชีวิตของพวกเขา เรากำลังมุ่งเน้นไปที่อะไรบางอย่างที่แตกต่างจากตอนที่เรามุ่งเน้นอยู่เมื่อกำลังประสบกับการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจ เรามุ่งเน้นด้วยความปีติยินดีกับศักยภาพแห่งความเป็นพุทธเจ้าของตัวเรา ของผู้อื่น และโอกาสอันยอดเยี่ยมสำหรับความก้าวหน้าทางศาสนาที่ชีวิตของเราสามารถมอบให้ได้ เราทุกคนมีศักยภาพที่จะทำให้ตัวเราบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าและนั่นคือสิ่งที่น่าชื่นชมยินดี นั่นคือที่มาของความปีติยินดี เราไม่ได้มุ่งเน้นด้วยความยินดีกับธรรมชาติแห่งความทุกข์ของชีวิตของเราเองและของผู้อื่น

ตัวอย่างเช่น ด้วยการเสียสละ เรามองที่ตัวเองและชีวิตของเรา เรารับรู้และรับทราบความทุกข์ที่อยู่ตรงนั้น แม้ว่ามันจะเศร้า แต่เราก็ไม่ได้หดหู่ใจกับมัน เราไม่ได้ใช้ทัศนคติที่ว่า “อะไรก็ได้” ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความรู้สึกหมดหนทางและสิ้นหวัง แต่ด้วยการเสียสละ เรามั่นใจว่าเราสามารถกำจัดความทุกข์ของตัวเองได้ เรามีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวว่า เรากำลังจะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ทนไม่ได้นี้ เรารู้ว่าเราจะต้องทำอะไร และเราก็มั่นใจว่า เราสามารถทำได้และกำจัดมันได้ การคิดแบบนั้นจะทำให้เรามีความสุขใช่ไหม

ถึงกระนั้นมันก็ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากที่จะพยายามรวมสภาพจิตใจทั้งสองนี้เข้าด้วยกันนั่นคือ ความปีติยินดีและการเสียสละหรือความเห็นอกเห็นใจ ทั้งสองอย่างนั้นเกิดขึ้นพร้อมกัน และอย่างหนึ่งเป็นฐานของอีกอย่างหนึ่งหรือไม่ แล้วทั้งสองสิ่งนี้สลับกันได้ไหม เช่นเดียวกับการปฏิบัติทองเลน (tonglen) : การรับความทุกข์และการส่งความสุขให้หรือไม่ เราจะนำสิ่งเหล่านี้มารวมกันในชีวิตประจำวันของเรา คือ มีการเสียสละอย่างจริงใจ แต่โดยปราศจากความรู้สึกในแง่ลบของความรู้สึกว่าทุกอย่างโง่เขลาและไร้ค่าและรู้สึกหดหู่ได้อย่างไร  สำหรับผมแล้วดูเหมือนว่า ด้วยการเสียสละหรือความเห็นอกเห็นใจ และความปีติยินดี เราเพียงแค่มองชีวิตของตนเองและผู้อื่นจากมุมมองของทั้งสองด้านที่แตกต่างกัน แต่ผมคิดว่า เราแต่ละคนต้องวิเคราะห์สิ่งนี้ด้วยตัวเอง

การเสียสละไม่ได้หมายถึงการหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

สมมติว่าเราประสบความสำเร็จในการพัฒนาการเสียสละเพื่อที่เราจะไม่ติดใจในสิ่งต่าง ๆ ในการดำรงอยู่อย่างปกติธรรมดาของเรา สมมติว่าเราสรุปได้แล้วว่าความสัมพันธ์ทางโลกประเภทใดก็ตามที่เราเข้าไปมีส่วนมันก็เพียงแค่ทำให้เกิดความทุกข์ ดังนั้นแล้ว เราจึงตัดสินใจที่จะเป็นพระหรือแม่ชีและอาศัยอยู่ในวัดวาอาราม แม้ว่าเราจะตัดสินใจเช่นนั้น แต่เราก็ต้องระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่รังเกียจคนทั่วไป เพราะนั่นจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการรู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขา เราอาจจะจบลงด้วยความคิดที่ว่า “คุณก็แค่เป็นปัญหา!” สิ่งนี้สร้างนิสัยที่ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับใคร หากเราจะกลายเป็นคนที่มีความเห็นอกเห็นใจ เราจำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับผู้อื่น และพยายามช่วยเหลือหากพวกเขาต้องการ

ดังนั้น ความเกลียดชังหรือไม่แยแสผู้อื่นจึงเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งเมื่อพัฒนาการเสียสละ เมื่อเราพบใครบางคน เราอาจรู้สึกว่า “คน ๆ นี้ก็เพียงแค่กำลังจะเป็นปัญหา การจัดการกับเขาหรือเธอเป็นเพียงแค่การนำความทุกข์และปัญหามาให้กับฉันเท่านั้น พวกเขาจะไม่รับคำแนะนำของฉัน พวกเขาจะทำให้ฉันลำบาก” เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เราต้องพยายามหลีกเลี่ยง

เมื่อเรากำลังพัฒนาการเสียสละ เราต้องมองความทุกข์ของตัวเองจากสองมุมมอง ก่อนอื่น เรามองว่าความทุกข์ของเราเป็นสิ่งที่ทนไม่ได้ และเรามุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากมัน ยิ่งไปกว่านั้น เราตระหนักดีว่าเรามีธรรมชาติของความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศักยภาพพื้นฐานที่ทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหมด และได้รับการปลดปล่อยและแม้แต่เป็นพระพุทธเจ้าเอง การตระหนักถึงศักยภาพของเราที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ไม่ใช่ปฏิเสธความรู้สึกปีติยินดีในชีวิต แต่จะเติมเต็มเราด้วยความปีติยินดีแทน ดังนั้น ความปีติยินดีนี้จึงไม่ขัดแย้งกับการเสียสละ ซึ่งหมายถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะเป็นอิสระ อันที่จริงความปีติยินดีนี้จะช่วยเสริมการเสียสละของเรา ดังนั้น แทนที่จะละเลยตัวเองและละเลยการพัฒนาเพื่อปลดปล่อยตัวเองด้วยทัศนคติที่ไม่แยแสว่า “อะไรก็ได้” เราก็ดูแลตัวเองอย่างดีเยี่ยมและในแง่หนึ่งก็คือ เห็นอกเห็นใจตัวเอง

การวิเคราะห์แบบเดียวกันนี้ใช้ได้กับการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นทั้งหมดด้วย เราปรารถนาให้พวกเขาปราศจากความทุกข์เช่นกัน และชื่นชมยินดีในความจริงที่ว่าโดยมีธรรมชาติของความเป็นพระพุทธเจ้าพวกเขาสามารถเป็นอิสระได้เช่นกัน จากนั้น เราก็จะดำเนินการตามความเป็นจริงเพื่อช่วยพวกเขา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เราต้องการให้ความทุกข์ของพวกเขาหมดไป แต่เราห่วงใยผู้ที่กำลังประสบกับความทุกข์และไม่ต้องการให้พวกเขาจากไป

เราใช้แนวทางนี้กับตัวเองก่อน “ฉันอยากให้ความทุกข์ของฉันหมดไป แต่ไม่ใช่ว่าฉันต้องการทำลายตัวเอง ทัศนคติเชิงลบของการปฏิเสธของฉันมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ไม่ใช่ที่ตัวฉันในฐานะที่เป็นบุคคลคนหนึ่ง” อาจเป็นเรื่องง่ายมากที่จะทำให้สับสนทั้งสองอย่างและคิดว่า “ฉันจะฆ่าตัวตายเพื่อกำจัดความทุกข์” เมื่อความแตกต่างนี้ชัดเจนเกี่ยวกับตัวเรา ในทำนองเดียวกัน เราก็จะคิดด้วยความเห็นอกเห็นใจว่า “ฉันอยากให้ความทุกข์ของคุณหมดไป แต่ฉันไม่อยากให้คุณจากไป”

มันไม่ง่ายนักที่จะทำให้เกิดความแตกต่างนี้ ในทำนองเดียวกัน มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกำจัดตัวเองจากการเสียสละที่สร้างผิดพลาดนี้ ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่าขยะแขยงผู้คน และก็จะหลีกเลี่ยงการยุ่งเกี่ยวกับทุกคนโดยคิดว่า “แค่ปล่อยให้ฉันอยู่คนเดียวก็พอ ฉันแค่อยากไปที่ถ้ำหรือวัดวาอารามของฉัน แล้วก็ทำสมาธิ” แม้ว่าอารมณ์ที่รบกวนของเราจะรุนแรงมากจนขัดขวางความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นอย่างมาก และเราจำเป็นต้องทำสมาธิอย่างสันโดษเพื่อที่จะจัดการกับอารมณ์เหล่านั้น แต่เราก็ยังต้องหลีกเลี่ยงการมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้อื่นหรือต่อตัวเราเองและการขาดความเห็นอกเห็นใจด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับความทุกข์ที่พวกเขาประสบ

เราจะหลีกเลี่ยงปัญหาการพัฒนาทัศนคติเชิงลบนี้ได้อย่างไร สำหรับเรื่องนี้ เราต้องไปให้ไกลกว่าขอบเขตของสิ่งที่ผมเรียกว่า "ธรรมะซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่าย" และวิเคราะห์ในแง่ของ "ธรรมะที่แท้จริง" ธรรมะซึ่งสามารถเข้าใจได้ง่ายจะนำเสนอวิธีการที่มีฐานจากข้อกังวลของชีวิตในชาตินี้ล้วน ๆ  ในขณะที่ธรรมะที่แท้จริงนั้นจะมีฐานอยู่ที่การยอมรับชีวิตในชาติก่อนและชาติหน้า

ชั่วชีวิตหนึ่งนั้นถูกกำหนดว่าเป็นความต่อเนื่องของขณะทั้งหมดในชีวิตของเรา ชั่วชีวิตของเราไม่เหมือนกับขณะใดขณะหนึ่ง และไม่ได้เกิดขึ้นอย่างอิสระจากขณะใด ๆ เหล่านี้ นอกจากนี้ เราไม่สามารถพูดได้แม้กระทั่งว่าชั่วชีวิตของเราจะเหมือนกับผลรวมของขณะทั้งหมด เพราะขณะทั้งหมดในชั่วชีวิตของเราไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ วัยเด็กของเราจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป ชั่วชีวิตของเราเป็นเพียงการกำหนดไว้บนความต่อเนื่องเท่านั้น

ตามธรรมะที่แท้จริงนั้น บุคคลได้รับการกำหนดในทำนองเดียวกันจากความต่อเนื่องทางจิตใจของแต่ละบุคคล แต่ความต่อเนื่องทางจิตใจต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้ไม่ได้คงอยู่เพียงชั่วชีวิตนี้เท่านั้น มันคงอยู่ตลอดไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด บุคคลก็ไม่เหมือนกันในขณะหนึ่งของความต่อเนื่องทางจิตใจที่พวกเขาถูกกำหนดขึ้น และก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นอิสระจากความต่อเนื่องหรือเหมือนกันกับความต่อเนื่องทั้งหมดราวกับว่าความต่อเนื่องทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นพร้อมกัน

การวิเคราะห์ที่คล้ายคลึงกันถือว่าเป็นความจริงเกี่ยวกับคุณลักษณะของความต่อเนื่องทางจิตใจที่บุคคลใด ๆ ถูกกำหนดไว้ ในกรณีของการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจ คุณลักษณะของความต่อเนื่องของจิตใจคือ ความทุกข์ที่ครอบคลุมทั้งหมด บุคคลมีอยู่และประสบกับความทุกข์ แต่ไม่เหมือนกันกับสถานการณ์ความทุกข์เฉพาะใด ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมด้วยความต่อเนื่องทางจิตใจที่พวกเขาถูกกำหนดไว้ และไม่เหมือนกันกับความทุกข์ที่ครอบคลุมทั้งหมดที่ได้เกิดขึ้นและดำเนินอยู่บนความต่อเนื่องทางจิตใจที่ไม่มีจุดเริ่มต้น เมื่อเราตระหนักถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ เราก็จะไม่ระบุตัวตนว่า "ฉัน" หรือคนอื่น ๆ ด้วยความทุกข์ที่เราแต่ละคนประสบ เพราะการไม่สับสนว่า “ฉัน” หรือ “คุณ” กับความทุกข์และคิดว่ามันเหมือนกัน ดังนั้นแล้ว เมื่อเราต้องการให้ความทุกข์นั้นหมดไป เราก็ไม่ต้องการให้ “ฉัน” หรือ “คุณ” จากไปเช่นกัน

ด้วยวิธีนี้ เราจึงมีมุมมองเกี่ยวกับ “ฉัน” ของผู้อื่นและตัวเราชัดเจนมากกว่าเดิม ความทุกข์และสาเหตุของความทุกข์สามารถขจัดออกไปจากความต่อเนื่องทางจิตใจของเราได้เพื่อที่ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่บุคคลที่ประสบกับความทุกข์เหล่านั้นไม่สามารถถูกขจัดออกไปได้ เช่นเดียวกับที่ความต่อเนื่องทางจิตใจไม่มีจุดสิ้นสุด เช่นเดียวกันกับบุคคลที่ถูกกำหนดไว้แล้วสำหรับสิ่งนั้น ซึ่งแต่ละคนก็จะเป็น "ฉัน" ที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

ถ้าเราเข้าใจถึงความบริสุทธิ์โดยธรรมชาติของความต่อเนื่องทางจิตใจ และความทุกข์และสาเหตุของมันว่าสามารถขจัดออกไปได้ตลอดกาล เราก็ต้องระวังไม่ระบุ "ฉัน" ด้วยความต่อเนื่องทางจิตใจที่บริสุทธิ์เช่นกัน มิฉะนั้น เราอาจจะกลายเป็นคนซื่อไร้เดียงสาเกี่ยวกับความทุกข์และไม่ถือการเอามันออกไปเป็นเรื่องจริงจัง เพราะเราเชื่อว่าความทุกข์นั้นไม่มีอยู่จริง

การเปลี่ยนแปลงจากการรับความทุกข์ไปเป็นการส่งความสุขในการปฏิบัติทองเลน (tonglen)

เมื่อเราคิดถึงความทุกข์ของผู้อื่นหรือความทุกข์ของตัวเอง มันก็เศร้า เราไม่รู้สึกมีความสุขอย่างแน่นอนที่เรากำลังทุกข์หรือคนอื่นกำลังทุกข์ เรารู้สึกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ในคำสอนเรื่องการปฏิบัติทองเลน (tonglen) การให้และการรับนั้น เรามุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ของผู้อื่น หรือแม้แต่ความทุกข์ของเราเอง โดยธรรมชาติแล้วจะรู้สึกเศร้ากับมัน ไม่ใช่ว่าเราจะไม่รู้สึกอะไรเลยราวกับว่าความทุกข์นั้นไม่จริงและไม่เจ็บปวด ดังนั้น เราก็จะจินตนาการถึงความทุกข์ว่า เราเต็มใจยอมรับประสบการณ์ของความทุกข์ด้วยตัวเอง แล้วจากนั้น เราก็ให้ความรักแก่คนอื่นหรือตัวเราเอง ซึ่งเป็นความปรารถนาที่จะมีความสุข ดังนั้น เราจึงเปลี่ยนจากความรู้สึกเศร้าของความทุกข์ที่เรายอมรับในตัวเอง เป็นรู้สึกถึงความสุขที่เราส่งออกไป

การเปลี่ยนจากความรู้สึกเศร้าเป็นความสุขเป็นสิ่งที่ทำให้หลาย ๆ คนสะดุดเมื่อทำการปฏิบัติทองเลน (tonglen) เราทุกคนเปลี่ยนจากความรู้สึกเศร้าเป็นความสุขโดยกะทันหันได้อย่างไร ท้ายสุดแล้ว ทั้งสองอย่างนี้เป็นความรู้สึกที่ขัดแย้งกัน เราเห็นปัญหาคล้าย ๆ กันเมื่อพูดถึงวิธีการสร้างสมดุลโดยมุ่งเน้นไปที่ความทุกข์ด้วยการเสียสละและโดยไม่รู้สึกหดหู่ใจ รวมทั้งสามารถประสบความปีติยินดีของชีวิตและความเป็นไปได้ในการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ที่นี่ถือว่าเป็นปัญหาประเภทเดียวกัน

เราสามารถเข้าใจถึงความสำคัญของความสามารถในการปรับสมดุลความเศร้ากับความสุขเมื่อเรานึกถึงตัวอย่างของการไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อนที่ป่วย เรารู้สึกเศร้าที่เขาป่วยและทุกข์ทรมาน แต่ถ้าในขณะที่เราไปเยี่ยมคนที่เรารัก เรายังคงเสียใจและไม่มีความสุขนั่นก็ไม่ได้ช่วยอะไรคน ๆ นั้นเลย เราต้องให้กำลังใจญาติหรือเพื่อนที่ป่วยของเรา แต่เราจะสร้างความรู้สึกมีความสุขในสถานการณ์นั้นได้อย่างไร มันเป็นเพียงของปลอมเท่านั้นหรือเปล่า เราแค่ยิ้มกว้างบนใบหน้าในขณะที่รู้สึกแย่อยู่ข้างในอย่างนั้นหรือ

ในการเปลี่ยนจากความเศร้าเป็นความสุขอย่างจริงใจตรงนี้ เราสามารถประยุกต์ใช้คำสอนขั้นสูงของมหามุทรา (mahamudra) ที่ว่า “ลักษณะการผนึกรวมที่ยิ่งใหญ่ของจิตใจ” ประการแรก เมื่อเรารับความทุกข์ของผู้อื่นหรือของตัวเราเองมา เราสมัครใจยอมรับความทุกข์นั้น เมื่อเราทำสิ่งนี้ด้วยความจริงใจ จะทำให้เรารู้สึกมั่นใจและเข้มแข็งในตัวเอง เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดที่ว่าตนเป็นเหยื่อ” ของตัวฉันที่น่าสงสาร ฉันกำลังทุกข์ทรมาน

ด้วยวิธีตามคำสอนมหามุทรา เราถือว่าความโศกเศร้าที่เรารู้สึกกับความทุกข์นี้เป็นเหมือนคลื่นที่อยู่ด้านบนสุดของมหาสมุทรแห่งจิตใจ ด้วยความเข้มแข็งภายในที่เราได้รับจากการยอมรับความทุกข์โดยสมัครใจนั้น เราจึงไม่ถูกคลื่นซัดทางอารมณ์ เราปล่อยให้คลื่นแห่งความโศกเศร้าที่เราประสบอยู่สงบลง เมื่อมันสงบลงตามธรรมชาติแล้ว เราก็จะสามารถเข้าถึงความปีติยินดีอันเงียบสงบของจิตใจโดยธรรมชาติได้ มันจะเปล่งประกายออกมาจากใจของเราโดยธรรมชาติ และนี่คือสิ่งที่เรามอบให้กับผู้อื่นหรือสิ่งที่เราประสบกับตัวเองด้วยการปฏิบัติทองเลน (tonglen)

ไม่มีสิ่งใดถูกรบกวนหรือที่รบกวนเกี่ยวกับความปีติยินดีตามธรรมชาติของจิตใจนี้ เราไม่ประกาศหรือโชว์ความสุขของเราเช่นว่า “น่าเสียดายที่คุณป่วย ฉันรู้สึกแย่แทนคุณ แต่ฉันก็มีความสุขกับชีวิตของฉัน ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีสำหรับฉัน” ความปีติยินดีโดยธรรมชาติที่ผ่อนคลายของเราช่วยปลอบประโลมผู้อื่นและตัวเราเองอย่างเงียบ ๆ

รากฐานของการสร้างการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจ

เมื่อเราเริ่มการบรรยาย ผมได้ชี้ให้เห็นว่าท่านสองขะปะอธิบายว่า การสร้างสภาพจิตใจ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ จำเป็นต้องรู้ก่อนว่ามันสร้างขึ้นจากอะไร ความเห็นอกเห็นใจสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการพัฒนาการเสียสละที่เหมาะสมก่อน ด้วยการเสียสละ เรามุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากอารมณ์ที่รบกวน ซึ่งผลักดันให้เกิดการกลับมาของการเกิดใหม่ที่ไม่สามารถควบคุมได้ของเรา และเรากำลังพัฒนาตัวเราในการกำจัดสิ่งนั้นออกจากตัวเอง

ขั้นตอนต่อไปในการสร้างรากฐานสำหรับความเห็นอกเห็นใจคือ การพัฒนาวางใจเป็นกลาง (อุเบกขา) บนพื้นฐานของการเสียสละของเรา กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บนพื้นฐานของการพัฒนาเพื่อกำจัดอารมณ์ที่รบกวนของเรานั่นเอง ด้วยวางใจเป็นกลาง เรามุ่งเน้นไปที่สิ่งมีชีวิตทั้งหมดในลักษณะที่เปิดกว้างโดยปราศจากอารมณ์ที่รบกวนแห่งการดึงดูด ความรู้สึกรังเกียจ หรือการไม่แยแสต่อสิ่งมีชีวิตใด ๆ เราเปิดกว้างสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเนื่องจากเราทุกคนมีความเท่าเทียมกันที่แต่ละคนแค่เพียงถูกกำหนดจากความต่อเนื่องทางจิตใจที่ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดสิ้นสุด เนื่องจากในช่วงเวลาที่ไม่มีจุดเริ่มต้น เรามีความสัมพันธ์ทุกรูปแบบกับสิ่งมีชีวิตทุกประเภท เราไม่ได้ระบุใครด้วยประเภทของความสัมพันธ์ที่เราอาจมีกับพวกเขา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งไม่ว่าจะเป็น เพื่อน ศัตรู หรือคนแปลกหน้า ดังนั้น จึงไม่มีพื้นฐานสำหรับการดึงดูด ความรู้สึกรังเกียจ หรือความเฉยเมย

ไม่มีประโยชน์ที่จะมุ่งเน้นไปที่เวลาที่ทุก ๆ ชีวิตเป็นศัตรูของเรา และแม้กระทั่งฆาตกรของเรา มันเป็นประโยชน์มากขึ้นที่จะมุ่งเน้นไปที่ว่า ทุกคนเคยเป็นแม่ของเรา และจากนั้นก็นึกถึงความใจดีที่ทุกคนแสดงให้เราเห็นในฐานะแม่ของเรา หรือในฐานะผู้ดูแลหลักของเรา แม้ว่าแม่ของเราในช่วงชีวิตนี้จะทำร้ายเราและแย่มาก แต่ความใจดีขั้นต่ำที่เธอแสดงออกก็คือ เธอไม่ได้ทำแท้งไม่ให้เราเกิดมา ไม่ว่าจะเป็นแม่ หรือในปัจจุบันบางทีอาจเป็นแม่อุ้มบุญของเรา ซึ่งใจดีกับเราเป็นพิเศษเพราะแม่อุ้มบุญนั้นก็อุ้มท้องเราเมื่อตอนที่เราอยู่ในครรภ์ของแม่เช่นกัน

ขั้นต่อไปมักจะแปลว่า “การชดใช้คืนความใจดีนั้น” แต่ผมมักจะคิดว่าคำว่า “ชดใช้คืน” นั้นให้ความรู้สึกผิด เนื่องจากคำว่า "ชดใช้คืน" แสดงถึงหนี้ในข้อตกลงทางธุรกิจ และหากเราไม่ชำระหนี้ เราก็มีความผิด แทนที่จะรู้สึกว่าเป็นภาระผูกพันหรือรู้สึกผิด น้ำเสียงที่มุ่งเน้นเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับขั้นตอนนี้ที่ควรจะเป็นก็คือ ความซาบซึ้งและขอบคุณสำหรับความน้ำใจที่เราได้รับ จากนั้น บนพื้นฐานของอารมณ์นั้นเมื่อเราจินตนาการว่า แม่ของเราตาบอด สับสน และหลงผิดกำลังจะตกจากหน้าผาไปสู่ก้นบึ้งของพฤติกรรมที่เป็นอันตราย และตัวเราเองที่ยืนอยู่ข้าง ๆ แม่ และรู้ว่าจะช่วยแม่ได้อย่างไร โดยธรรมชาติ เราจะรับผิดชอบเพื่อทำทุกวิถีทางในการป้องกันความหายนะของเธอ ถ้าลูกชายหรือลูกสาวของเธอไม่ช่วยเธอ แล้วใครจะช่วย

บนพื้นฐานของความรู้สึกความกตัญญูอย่างสุดซึ้งต่อน้ำใจที่ทุกคนมีต่อเราในครั้งหนึ่งหรืออีกครั้งหนึ่ง และมากกว่าความเต็มใจที่จะแสดงความกตัญญูด้วยการช่วยเหลือพวกเขาจริง ๆ เราจึงพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า "ความรักที่อบอุ่นหัวใจ" โดยอัตโนมัติ เรารู้สึกถึงการเชื่อมต่อที่อบอุ่นกับทุกคน นั่นคือ เมื่อใดก็ตามที่เราพบใคร เราจะรู้สึกใกล้ชิดกับพวกเขาโดยอัตโนมัติเหมือนแม่เพื่อลูกคนเดียวที่มีค่า เราเป็นห่วงสวัสดิภาพของพวกเขาอย่างจริงใจ และคงจะรู้สึกเศร้าหากมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นกับพวกเขา

บนพื้นฐานของความรักที่อบอุ่นหัวใจ เรามีประเภทของความรักที่ปลูกฝังในพระพุทธศาสนา นั่นคือความปรารถนาให้สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตมีความสุขและมีเหตุแห่งความสุขนั้นอย่างเท่าเทียมกัน บนพื้นฐานของความรักนี้สำหรับทุกคน เราพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ นั่นคือ ความปรารถนาให้พวกเขาพ้นทุกข์และสาเหตุของความทุกข์ ดังนั้น เราจะเห็นว่าความเห็นอกเห็นใจซึ่งเป็นพื้นฐานและสนับสนุน เป็นความซับซ้อนของอารมณ์เชิงบวกหลายอย่าง เช่น ความรู้สึกเปิดกว้างและความใกล้ชิดกับทุกคน ความกตัญญูต่อความใจดี ความรักที่อบอุ่นหัวใจ ความชอบ และอื่น ๆ ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในความเห็นอกเห็นใจทั้งสิ้น

โดยการขยายเพิ่มเติมขึ้นอีก ถ้าความเห็นอกเห็นใจเป็นสภาพจิตใจของการเสียสละ ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ความทุกข์ของผู้อื่น ถ้าเช่นนั้นแล้ว รากฐานของความเห็นอกเห็นใจก็ควรจะปรากฏในรูปแบบบางอย่างด้วยการเสียสละเช่นกัน นั่นหมายความว่า อันดับแรก เราต้องมีความวางใจเป็นกลางต่อตัวเอง ไม่ใช่แรงดึงดูด ไม่ใช่การรังเกียจ ไม่ใช่การเฉยเมย จากนั้น เราต้องตระหนักว่าการมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เป็นเชิงลบที่เราเคยทำในชาตินี้และชาติที่แล้วไม่ช่วยอะไร ควบคู่ไปกับการเห็นคนอื่นเป็นแม่ของเรา และใจดีกับเรา  เราต้องมุ่งเน้นไปยังสิ่งดี ๆ ที่เป็นบวกที่เราได้ทำเพื่อตัวเราเอง ความจริงที่ว่า ในปัจจุบันเรามีความสุขกับสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์ทั้งหมดของชีวิตมนุษย์ที่มีค่า ซึ่งเป็นผลกรรมของการกระทำที่สร้างสรรค์ที่เราเคยทำไว้ในอดีต เราซาบซึ้งในความใจดีที่เราได้แสดงให้ตัวเองในการทำสิ่งนั้นและรู้สึกความกตัญญู สิ่งนี้จะนำไปสู่ความรักที่อบอุ่นหัวใจต่อตัวเราเอง ไม่ใช่ความเกลียดชังตนเอง เราดูแลสวัสดิภาพของเราอย่างจริงใจ และคงจะรู้สึกแย่มากหากมีอะไรเลวร้ายเกิดขึ้นกับเรา

เมื่อพัฒนาความเห็นอกเห็นใจ หลักการที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันคือ ทุกคนต้องการมีความสุข ไม่มีใครอยากไม่มีความสุข และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีความสุขและไม่ทุกข์อย่างเท่าเทียมกัน “ทุกคน” ในที่นี้รวมถึงตัวเราด้วย ดังนั้น เราจึงมีสิทธิ์ที่จะมีความสุขเช่นกันและเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่มีความไม่สุขเช่นกัน ดังนั้น การพัฒนาการเสียสละเป็นความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระนี้จึงเป็นการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเราเอง

โปรดอย่าเข้าใจผิด ผมไม่ได้ส่งเสริมทัศนคติที่เป็นคู่กันต่อตัวเองที่ว่า “ฉัน” คนที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเองนั้นแตกต่างจาก “ฉัน” คนที่ฉันรู้สึกเห็นอกเห็นใจ “การใจดีต่อตัวเอง” เป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น แต่ถ้าเราต้องการที่จะใจดีต่อตัวเอง และปลดปล่อยตัวเองจากความทุกข์และการไม่มีความสุข เราจำเป็นต้องพัฒนาทัศนคติ อย่างเช่น “ฉันไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคน ๆ นี้ ฉันไม่อยากโกรธ ฉันไม่อยากอารมณ์เสีย ฉันไม่อยากยึดติด” ด้วยวิธีนี้ เราจะพัฒนาด้วยความมุ่งมั่นนี้เพื่อให้ปราศจากปัญหา และมันเป็นอีกมุมหนึ่งในการสร้างสมดุลระหว่างความรู้สึก “ทุกอย่างเป็นทุกข์” ด้วยความรู้สึกพื้นฐานของความสุขที่อบอุ่นใจและความสงบ

บทสรุป

เราได้พูดคุยครอบคลุมเนื้อหามากมาย แต่ผมต้องการนำเสนอภาพที่สมบูรณ์มากกว่าของหัวข้อที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนานี้ มันไม่ใช่แค่หัวข้อที่เราศึกษา แต่ในแง่ของการพัฒนาส่วนบุคคลของเราเอง มันสำคัญสำหรับการบ่งชี้ว่า เราจะพัฒนาการเสียสละและความเห็นอกเห็นใจได้อย่างไร เราได้ตรวจสอบวิธีที่จะเปลี่ยนจากการเสียสละไปสู่ความเห็นอกเห็นใจในวิธีที่มั่นคงสมบูรณ์และความสัมพันธ์ของสภาพจิตใจทั้งสองนั้น

Top