ภาพรวมของเส้นทางปฏิบัติตามลำดับ ลัม-ริม

การใช้ประโยชน์สูงสุดจากชีวิตมนุษย์อันเลอค่า

เราทั้งหลายได้รับการเกิดใหม่อันเลอค่าในฐานะมนุษย์ โดยมีร่างกายมนุษย์อันเลอค่าที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ที่สุดได้  เราจะไม่มีโอกาสในการบรรลุการตรัสรู้ได้ดีไปกว่าตอนที่เราเป็นมนุษย์เช่นนี้อีกแล้ว ไม่แม้แต่หากเราไปเกิดเป็นพระอินทร์ ราชาแห่งเทพทั้งปวงก็ตาม!

ในเมื่อไม่มีรากฐานการปฏิบัติใดดีไปกว่าที่เรามีอยู่ตอนนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องทราบถึงขั้นตอนทั้งหมดสำหรับการใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ให้ดีที่สุด  วิธีที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการสร้างความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ คือ การสร้างหัวใจที่มีความน้ำใจและอบอุ่นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปภายในตัวเราเอง  จากรากฐานของหัวใจอันอบอุ่นนี้ เราจึงดำเนินต่อไปยังการสร้างหัวใจที่อุทิศตนด้วยเป้าหมายของโพธิจิต  เช่นนี้คือ ปรารถนาในการบรรลุการตรัสรู้  หากกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความปรารถนาในการกำจัดข้อบกพร่องทั้งหมดของเราและบรรลุศักยภาพสมบูรณ์ของตนเอง เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่สรรพชีวิตทั้งปวงอย่างเต็มกำลัง  เมื่อเราอุทิศหัวใจตนเองให้ผู้อื่นและให้กับการบรรลุการตรัสรู้ จึงเป็นการใช้ประโยชน์สูงสุดจากชีวิตมนุษย์อันเลอค่านี้

ศักยภาพเชิงบวกจากพฤติกรรมในชาติก่อนเป็นสาเหตุสำหรับความสำเร็จในชาติปัจจุบัน

มนุษย์เรานั้นมีหลากหลายประเภทมากมาย และในหมู่คนเหล่านั้น ผู้ที่มีความสนใจสรรค์สร้างประโยชน์ให้กับชีวิตในภายภาคหน้าของตนเองนั้นหาได้ยากยิ่ง จึงไม่ต้องกล่าวถึงการบรรลุการตรัสรู้เลย  ผู้คนส่วนใหญ่เพียงพะวงอยู่กับการหาความสุขให้ตนเองในชาตินี้เท่านั้น  กระนั้นแล้ว ทุกคนย่อมเหมือนกันในแง่ที่ว่า เราต่างปรารถนาที่จะเป็นสุขและไม่มีใครต้องการเป็นทุกข์ หรือมีปัญหา

สำหรับผู้ที่มุ่งเน้นแสวงหาความสุขในชีวิตนี้  ความสุขที่ว่านี้มีสองประเภทด้วยกัน นั่นคือความสุขทางกาย และ ความสุขทางใจ  ผู้คนส่วนใหญ่จำกัดความใส่ใจของตนอยู่แค่ความสุขทางกายบางประเภทเท่านั้น  แม้แต่เรื่องความสุขทางกายนี้ก็เถิด ถึงพวกเราจะพยายามอย่างมากในการนำพาความสุขในระดับหนึ่งมาสู่ชีวิต พวกเราส่วนใหญ่กลับไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรกันแน่  ยกตัวอย่างเช่น มีผู้ที่แสวงหาอาหาร เสื้อผ้าอาภรณ์ ที่อยู่อาศัย และชื่อเสียง แต่กลับออกไปเข่นฆ่า หรือลอบสังหาร หรือสังหารหมู่สิ่งมีชีวิตที่บริสุทธิ์  บางคนกระทำการลักขโมย หรือหลอกลวง หรือยกเค้า  ทั้งหมดนี้เพื่อเสาะแสวงหาความสุขและพยายามหาความอยู่ดีมีสุขทางกายอย่างหนึ่ง  แต่ไม่ว่าจะพยายามทำเพียงไร พวกเขาก็ไม่ทราบวิธีที่เหมาะสมในการก่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขเลย  แทนที่จะได้ความสุข พวกเขากลับสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นให้ตนเอง

ในด้านตรงกันข้าม มีผู้คนที่พยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งในวงการธุรกิจ พาณิชย์ การเกษตร การศึกษา ศิลปะ และอื่น ๆ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นสองกลุ่มด้วยกัน  มีกลุ่มผู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถสร้างความร่ำรวยและครอบครองสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย และมีกลุ่มผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จ หรือบางทีก็กลายเป็นผู้ล้มเหลวไปเลย  หากเราถามว่าอะไรทำให้พวกเขาเป็นเช่นนี้ กล่าวคือ เพราะเหตุใดบางคนถึงประสบความสำเร็จ แต่บางคนกลับล้มเหลว  นี่เป็นเพราะเมล็ดพันธุ์และศักยภาพทั้งหลายที่พวกเขาได้สั่งสมไว้ตั้งแต่อดีตชาติ  ผู้ที่กระทำเชิงทำลายในอดีตชาติได้สะสมศักยภาพเชิงลบอันแรงกล้า และผลลัพธ์ก็คือ พวกเขาจึงล้มเหลวในชาตินี้  ผู้ที่ได้กระทำในเชิงประโยชน์ในอดีตชาติได้สะสมศักยภาพเชิงบวก จึงก่อให้เกิดความสำเร็จและความสุขในชาตินี้

หากคุณไม่ยอมรับคำอธิบายนี้สำหรับเหตุผลที่ว่าทำไมบางคนถึงประสบความสำเร็จและบางคนล้มเหลว พึงพิจารณาว่าไม่มีเหตุผลใดเลยที่ควรมีความแย้งดังกล่าวเกิดขึ้น  หากผู้คนปฏิบัติด้วยความพยายามและความสามารถในระดับเดียวกันแล้ว พวกเขาควรมีความสำเร็จในระดับที่เท่าเทียมกัน  บางคนคิดว่าความสำเร็จเกิดจากประเภทของงานที่ตนทำเลี้ยงชีพในชาตินี้ เช่น งานสายธุรกิจและพาณิชย์ แต่ตรงนี้ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด  สาเหตุที่แท้จริงของความสำเร็จ คือ ศักยภาพที่ได้สั่งสมขึ้นมาจากการกระทำเชิงสร้างสรรค์ในอดีตชาติ  ส่วนการงานและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เราปฏิบัติในชาตินี้ทำหน้าที่เป็นสถานการณ์ หรือ เงื่อนไข ที่ทำให้สาเหตุเหล่านั้นสุกงอม

ฉะนั้นแล้ว ความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ อันอุบัติขึ้นพร้อมกัน  สาเหตุมาจากอดีตชาติ กล่าวคือ เป็นศักยภาพที่สั่งสมในช่วงชีวิตชาติก่อนเหล่านั้น  สถานการณ์เกิดขึ้นโดยอิงจากเวลาและความพยายามในชาตินี้  ทั้งสองอย่างนี้ต้องมาด้วยกัน

เป็นห่วงชีวิตในภายภาคหน้า

ไม่ว่าคนเราจะร่ำรวยมากแค่ไหนในชาตินี้ ไม่ว่าพวกเขาจะเพลิดเพลินกับสิ่งวิเศษวิโสมากมายเพียงใด กลับมิมีผู้ใดรู้สึกพึงพอใจกับสิ่งที่ตนได้สั่งสมมา  ไม่มีใครพูดว่า “ตอนนี้ข้าพเจ้ามีพอแล้ว  ข้าพเจ้าจึงไม่จำเป็นต้องหามาเพิ่ม”  พวกเขามิเคยพอใจกับสิ่งที่ตนเองมี  พวกเขาต้องการเพิ่มเติมอยู่เสมอ  พวกเขาใช้ชีวิตทั้งหมดไปกับการทำงาน แต่กระนั้นแล้ว การทำงานของพวกเขาก็ไม่เคยมีที่สิ้นสุด

กลายเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นซ้ำใหม่อยู่เสมอ เปรียบดังชาวไร่ที่ต้องใช้แรงงานทุกฤดูกาลตลอดปี หว่านเมล็ด คอยดูแลไร่ และเก็บเกี่ยว  เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ เขาก็หว่านเมล็ดอีกครั้ง ดำเนินไปตามวัฏจักรนี้อีกรอบ  ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่เราดำเนินการทำงานต่อไปเรื่อย

แม้เราจะไม่เคยคิดว่างานในชาตินี้จะมีจุดสิ้นสุด กระนั้นแล้ว ความเป็นจริงคือย่อมมีเวลาที่มันจะสิ้นสุดลง  เวลาแห่งความตายของเรานั่นเอง  เมื่อถึงจุดนั้น มันสิ้นสุดในสภาวะแห่งความโศกเศร้าระทมทุกข์ แทนที่จะเป็นสภาวะแห่งความสุข

ฉะนั้นผู้ที่ทำงานเพียงเพื่อแสวงหาอาหาร อาภรณ์ และการยอมรับในชาตินี้เป็นผู้ที่หลอกหลวงตนเองโดยแท้  นี่เป็นเพราะว่าแม้พวกเขาอาจพบความสบายทางกายจริง พวกเขาก็ไม่อาจบรรลุความสุขทางใจได้  เมื่อปราศจากความสุขทางใจ ชีวิตของพวกเขาย่อมไม่ได้รับการเติมเต็มและพวกเขาจึงเสียชีวิตในสภาวะที่ไม่เป็นสุข

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการพยายามทำงานเพื่อความสุขที่อยู่ในใจ ซึ่งอยู่ได้ยั่งยืนกว่า  ความสุขทางกายที่เราอาจบรรลุในชาตินี้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน  หากเราต้องการความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เราต้องพิจารณาถึงชีวิตในภายภาคหน้าของเรา  นี่เป็นเพราะว่า เมื่อเราคิดคำนึงถึงเรื่องนี้แล้ว เราจึงสามารถทำงานเพื่อความสุขที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

หากเราทำงานเพื่อบรรลุความสุขในชีวิตภายภาคหน้า ตรงนี้ย่อมเติมเต็มคำนิยามของการเป็นบุคคลทางจิตวิญญาณ ซึ่งสัมพันธ์กับการปฏิบัติทางจิตวิญญาณแห่งพระธรรม  หากเราจำกัดอยู่เพียงความเป็นห่วงในชาตินี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ย่อมเน่าผุพังได้ เราย่อมเป็นได้เพียงบุคคลทางโลกที่ยึดติดกับวัตถุ  หากเราเริ่มพูดถึงความเป็นห่วงสำหรับชีวิตในภายภาคหน้า เราจึงกลายเป็นบุคคลทางจิตวิญญาณ

การละเว้นจากพฤติกรรมเชิงทำลายเป็นวิธีการนำพาความสุขมาสู่ชีวิตในภายภาคหน้า

วิธีการรับรองความสุขในชีวิตภายภาคหน้าเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ “มาตรการป้องกัน” ของพระธรรม  หากกล่าวอย่างเจาะจงแล้ว หมายถึง การละเว้นตนเองจากการปฏิบัติการกระทำเชิงทำลาย มีการกระทำที่ทำลายอย่างเจาะจงสิบประการ ซึ่งครอบคลุมทางกายสามประการ ทางวาจาสี่ประการ และทางใจสามประการ  ด้วยการยับยั้งและป้องกันตนเองจากการกระทำการเชิงทำลายในทางใด ๆ เหล่านี้ เราจึงสามารถนำความสุขมาสู่ชีวิตในภายภาคหน้าได้

ตอนนี้เราได้ระบุแล้วว่า หากเรากระทำตัวในลักษณะเชิงสร้างสรรค์ ถือว่ามีการเริ่มต้นของการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ซึ่งจะทำให้สิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปได้ด้วยดีในชีวิตชาตินี้และชาติหน้าของเรา  พฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์ประเภทนี้รวมถึง ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาการฆ่าสัตว์หรือแมลงโดยเจตนา หรือการลักขโมยโดยเจตนา และมองเห็นข้อบกพร่องและผลลัพธ์เชิงลบต่าง ๆ ทั้งหมดที่จะตามมาจากการกระทำเช่นนั้น  ตรงนี้รวมถึงการรับรู้เช่นนี้ และจากนั้นจึงตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่ฆ่าชีวิต หรือลักขโมย  เมื่อผู้คนทำการตัดสินใจเช่นนี้แล้ว ย่อมไม่จำเป็นต้องมีกองกำลังทหารหรือตำรวจคอยตรวจสอบว่าพวกเขากระทำตัวอย่างเหมาะสมและเป็นเชิงสร้างสรรค์หรือไม่  สำนึกในศีลธรรมและจริยธรรมส่วนตนย่อมหักห้ามพวกเขามิให้กระทำการเชิงทำลาย

ฉะนั้นแล้ว การรักษาจริยธรรมอย่างเคร่งครัดจึงเป็นมาตรการป้องกันที่พึงปฏิบัติเพื่อทำให้ตัวเราได้ตายในสภาวะทางจิตที่เป็นสุข  มิฉะนั้นแล้ว เราอาจตายในสภาวะของความเศร้าโศกและความกระวนกระวาย  หากเราปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเหล่านี้ด้วยการเป็นบุคคลที่มีจริยธรรมแล้ว เช่นนั้นเราย่อมไม่มีสิ่งใดต้องกังวลเมื่อถึงเวลาแห่งความตาย  เราสามารถมั่นใจได้ว่าเราจะไปเกิดใหม่เป็นมนุษย์ หรือแม้แต่เป็นเทพในภพหนึ่งของเหล่าเทพ เช่น เป็นพระอินทร์ หรือผู้ใดก็ตาม

ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำใหม่อย่างควบคุมไม่ได้ในทุกชีวิต

แม้หากเราเกิดใหม่เป็นมนุษย์ก็ดี หรือแม้แต่เป็นราชาแห่งทวยเทพก็ดี เรายังคงต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิต  มีปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำใหม่อย่างควบคุมไม่ได้ปรากฏขึ้นเสมอไม่ว่าเราจะไปเกิดใหม่ที่ใดและในฐานะใดก็ตาม  ดังนั้นจึงมิมีประโยชน์อันใดเลยในการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมของการละเว้นการกระทำเชิงทำลาย หากเราทำเช่นนั้นเพียงเพื่อปรารถนาให้ตนเองไม่ไปเกิดใหม่ในสภาวะที่แย่กว่าเดิม  เพราะไม่ว่าเราจะไปเกิดใหม่ที่ใดหรือในสถานะใด ปัญหาย่อมปรากฏอยู่เสมอ

จุดนี้บ่งชี้ให้เห็นว่าเราต้องใช้ขอบเขตที่กว้างขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น หากเราพัฒนาสภาวะทางจิตที่นิ่งสงบและมั่นคง ซึ่งเรียกว่า “สมถะ” ในภาษาสันสกฤต และ “ซิเนย์” (shinay) ในภาษาทิเบต  ผลลัพธ์ที่ได้คือ เราอาจไปเกิดใหม่เป็นเทพในภพภูมิที่สูงส่งกว่าแห่งหนึ่ง อันเป็นภูมิแห่งสิ่งมีชีวิตบนสรวงสวรรค์ หรือภูมิที่ไร้ซึ่งรูปร่างตัวตน  จากนั้นเราจึงสามารถได้รับความวิเศษต่าง ๆ ทั้งหมดของสภาวะการเกิดเช่นนั้น  กระนั้นแล้ว แม้แต่การเกิดใหม่เป็นสิ่งมีชีวิตภายในภพภูมิการดำรงอยู่ที่สูงส่งขึ้นเหล่านี้ก็ไม่ได้มีสิ่งใดพิเศษเลย  เป็นเหมือนการขึ้นไปชั้นสูงสุดของตึกระฟ้า  กล่าวคือ เมื่อเราขึ้นไปถึงตรงนั้นแล้ว ก็มิมีสิ่งใดเหลือให้ทำอีก นอกเสียจากการลงมานั่นเอง

สร้างความมั่นใจในคำสอนของพระพุทธเจ้า

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราพึงพยายามกำจัดปัญหาของเราในทุกที่ที่เราไปเกิด และก้าวหน้าไปให้ไกลยิ่งขึ้น  ในการทำเช่นนั้น เราจำเป็นต้องลงลึกถึงรากฐานของปัญหาและความทุกข์ของเรา ด้วยความตระหนักรู้เชิงแยกแยะ เพื่อทำการแยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างความเป็นจริงและภาพมายา  ในลักษณะนี้ เราจึงสามารถตระหนักถึงสุญญตาได้ในที่สุด ซึ่งหมายถึงความไร้อย่างสมบูรณ์ของการดำรงอยู่ในแบบที่เป็นไปไม่ได้  ความเข้าใจถ่องแท้เรื่องความเป็นจริงเช่นนี้กำจัดการแสดงภาพที่ผิดของเรา และเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วจึงกำจัดปัญหาและความทุกข์ทั้งปวงที่เราประสบได้ในทุกชาติไปตลอดกาล  ช่วยนำพาความสุขที่คงอยู่ตราบชั่วนิรันดร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราต่างบรรลุได้

พวกเราสามารถเรียนรู้หลักคำสอนเรื่องสุญญตาได้จากคัมภีร์ที่เก็บรักษาคำสอนของพระพุทธองค์ไว้  แต่เราจะมีความมั่นใจในความถูกต้องของคัมภีร์เหล่านี้ได้อย่างไร  ไม่ใช่แค่เรื่องสุญญตาเท่านั้น แต่รวมถึงทุกสิ่งอย่างที่พระพุทธองค์ตรัสไว้  ความมั่นใจในความถูกต้องจะต้องเกิดขึ้นจากรากฐานของตรรกะและการวิเคราะห์  ยกตัวอย่างเช่นเรื่องสุญญตา  เราสามารถตัดสินใจในความถูกต้องของสุญญตาได้จากการพึ่งพาการใช้เหตุผล  นอกจากนี้ เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องของหลักคำสอนเรื่องวิธีการบรรลุฌาณแบบซึมซับและสภาวะจิตที่สงบนิ่งมั่นคงได้ผ่านการนำคำแนะนำปฏิบัติเหล่านั้นไปใช้ฝึกฝนจริง และบรรลุสภาวะเหล่านี้ให้ได้จริง  นอกเหนือจากนี้ เรายังสามารถประสบได้ด้วยตนเองว่า เมื่อผ่านการปฏิบัติเหล่านี้แล้ว เราได้บรรลุการรับรู้ที่แข็งแกร่งขึ้นและมีประสาทสัมผัสเพิ่มเติมนานาประเภทจริง ตามที่ได้อธิบายไว้ว่าเป็นผลพลอยได้ของการบรรลุสมาธิประเภทดังกล่าว  ที่จริงแล้ว เราจึงสามารถทำการตรวจสอบประเด็นต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ได้ด้วยประสบการณ์ของเราเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จากรากฐานของการปฏิบัติและความมุมานะพยายามของเราในการทำสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้เป็นจริง ซึ่งเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ ที่เราสามารถตรวจสอบโดยใช้ตรรกะและประสบการณ์ส่วนตัวได้ เราจึงเกิดความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ในความถูกต้องของคำสอนโดยรวมของพระพุทธองค์

ยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า หากเรากระทำในลักษณะเชิงสร้างสรรค์ เช่นนั้นผลลัพธ์ที่ได้คือ เราจะไปเกิดใหม่ในกลุ่มสภาวะการเกิดที่ดีกว่า เช่นว่า เป็นมนุษย์ หรือเป็นเทพ  ในทางกลับกัน หากเราประพฤติตนเชิงทำลายและเชิงลบ ผลที่ตามมาคือการเกิดใหม่ในฐานะสิ่งมีชีวิตในนรก หรือที่เรียกกันว่า ผีสาง “ผู้หิวโหย” หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน  เช่นนี้คือคำกล่าวเกี่ยวกับเหตุและผลเชิงพฤติกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากต่อการพิสูจน์ หรือตรวจสอบด้วยประสบการณ์ของเราเอง หรือด้วยการใช้หลักตรรกะล้วน ๆ  แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องยอมรับตรงนี้จากรากฐานของความศรัทธางมงายในอำนาจของคัมภีร์  นี่เป็นเพราะว่าหากตรรกะและประสบการณ์สาธิตให้เห็นถึงความถูกต้องของสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ อันเกี่ยวกับการบรรลุฌาณขั้นซึมซับและความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องสุญญตา การยอมรับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องพฤติกรรมและผลลัพธ์ของมันจึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอย่างสมบูรณ์

ฉะนั้นแล้ว เราจำเป็นต้องพินิจพิเคราะห์คำกล่าวของพระพุทธเจ้าอย่างพิถีพิถัน ทั้งเรื่องสุญญตา เรื่องความเป็นจริง เรื่องความไร้อย่างสมบูรณ์ของวิธีการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้  เมื่อตระหนักได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องจริงแล้ว เราพึงพินิจคำอธิบายเพิ่มเติมของพระพุทธองค์ เช่นว่า ผลลัพธ์ของการกระทำเชิงสร้างสรรค์คือความสุข  ผลลัพธ์ของการกระทำเชิงทำลายและเชิงลบคือความทุกข์  จากนั้นเราจึงมีความมั่นใจได้ว่าคำอธิบายเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ถูกต้องจริงเช่นกัน และใช้ตรงนี้เป็นรากฐานเพื่อทำการตัดสินใจแน่วแน่ที่จะปรับปรุงพฤติกรรมของเราตามนั้น  หากเราต้องการความสุข เราต้องกระทำการในลักษณะที่จะก่อให้เกิดความสุข นั่นก็คือ เราต้องกระทำการเชิงสร้างสรรค์และเชิงบวกนั่นเอง

การสละ: ความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวง

เป็นการดีที่เราพึงพิจารณารากฐานการทำงานของการเกิดเป็นมนุษย์ดังที่เราเป็นนี้ อันเพรียบพร้อมไปด้วยโอกาสสำหรับความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ ซึ่งการเกิดเช่นนี้มิได้เกิดขึ้นโดยไร้ซึ่งเหตุผล  มันเป็นผลลัพธ์ของการสั่งสมศักยภาพเชิงบวกมหาศาลในอดีตชาติก่อนของเรา  เราต้องได้กระทำการที่เป็นเชิงสร้างสรรค์และเชิงบวกไว้อย่างมากมาย ซึ่งนำไปสู่การเกิดใหม่เช่นนี้และโอกาสต่าง ๆ ที่เรามีตอนนี้  เราจึงต้องไม่ปล่อยให้โอกาสนี้สูญเปล่าไป  หากเราผูกติดอยู่กับสิ่งต่าง ๆ เพียงในชาตินี้ เช่น การแสวงหาอาหารและอาภรณ์ ชื่อเสียงเรียงนาม เช่นนั้นช่วงชีวิตนี้ย่อมเป็นการสูญเปล่า  หากเราพะวงเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้เพียงอย่างเดียว ด้วยความยึดมั่นถือมั่นนี้แล เราย่อมไม่สามารถหันเหออกจากความหมกมุ่นกับชีวิตชาตินี้ชาติเดียวอย่างสมบูรณ์ได้

ในอีกด้านหนึ่ง หากเรามุ่งความพยายามทั้งหมดไปยังการบรรลุความสุขในชีวิตภายภาคหน้าเพื่อจะได้ไปเกิดใหม่เป็นเทพ เช่น เป็นพระอินทร์ เช่นนี้ก็มีปัญหาเช่นกัน  ลองดูสภาพชีวิตของเทพเช่นนี้เถิด  เทพองค์นี้มีความสุขมากมายเหลือคณา ปราศจากปัญหาผิวเผินชั่วคราว  แต่เมื่อถึงเวลาแห่งความตายแล้ว เทพองค์นี้ทรงมีความเสียใจและสำนึกผิดอย่างมหาศาล เพราะทั้งชีวิตที่แสนอภิรมย์นี้ดูเป็นเพียงฝันตื่นหนึ่งเท่านั้น และย่อมนำพามาซึ่งความทุกข์ทรมานเหลือแสน ณ ห้วงเวลาแห่งความตาย  ฉะนั้นการมีเป้าหมายเป็นการเกิดใหม่เช่นนี้จึงมิใช่ทางออกสำหรับปัญหาทั้งปวงของเรา

ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องใช้ประโยชน์จากรากฐานการทำงานของร่างกายมนุษย์อันเลอค่าเช่นนี้ให้เต็มที่ เพราะนี่เป็นสิ่งที่ย่อมต้องสูญไป  มิมีผู้ใดเลยที่เกิดมาแล้วหนีความตายพ้น  ความตายเป็นสิ่งที่ย่อมมาเยือนพวกเราทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับเวลาเท่านั้น  มิมีใครสามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่าเวลาของตนจะมาเมื่อไร  การคำนึงถึงความเป็นจริงเหล่านี้ปลุกให้เราตาสว่างและเกิดปรารถนาที่จะใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากโอกาสที่เรามีในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ดี

ดังนั้น เราพึงหันออกจากความหมกมุ่นยึดติดเรื่องการได้รับสิ่งต่าง ๆ สำหรับชีวิตนี้เพียงชาติเดียว  เราทำเช่นนี้โดยการไตร่ตรองความคิดว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ผุพังสลายได้ในชีวิตนี้ย่อมไม่มีแก่นแท้ใด ๆ ที่คงอยู่เลย  ในลักษณะนี้ เราจึงหันออกจากความหมกมุ่นกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตนี้ และพัฒนาความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวงอันเกิดจากความหมกมุ่นดังกล่าว  ความมุ่งมั่นในการเป็นอิสระเช่นนี้เรียกว่า “การสละ”

เฉกเช่นเดียวกัน เราจำเป็นต้องมองถึงชีวิตในภายภาคหน้าและสถานการณ์ประเภทต่าง ๆ ทั้งหลายที่เราอาจไปเกิดใหม่  เมื่อเราคิดถึงสิ่งวิเศษวิโสและความสุขที่เราสามารถมีได้ในการเกิดใหม่เป็นมนุษย์ หรือเป็นเทพนั้น เราพึงรำลึกถึงว่า เช่นนี้ก็นำมาซึ่งปัญหาเช่นกัน  ไม่ว่าเราจะร่ำรวยมากแค่ไหน ปัญหาย่อมเกิดขึ้นเหนือการควบคุม  ฉะนั้นแล้ว การยึดติดและหมกมุ่นกับสิ่งเหล่านี้ในชาติหน้าจึงเป็นสิ่งที่เราต้องผละออกเช่นเดียวกัน  เราทำเช่นนี้ด้วยการพยายามพัฒนาความมุ่งมั่นประเภทที่สอง  นั่นก็คือ ความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวงที่มาพร้อมกับความหมกมุ่นทั้งหลายในชีวิตภายภาคหน้า 

ดังนั้น ความพยายามในการเป็นอิสระจึงมีสองประเภทด้วยกัน  มีความพยายามที่จะเป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวงในชีวิตนี้ และความพยายามที่จะเป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวงในชีวิตชาติหน้าทั้งหมด

อนิจจัง

ผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณ คือ ผู้พึงมีสติรู้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามิมีสถานการณ์ใดในชีวิตคงอยู่มั่นคง  เป็นผู้พึงมีสติรู้ถึงความอนิจจังและความตาย  ทั้งยังเป็นผู้พึงมีสติและตระหนักรู้ถึงปัญหาของตนเองและปัญหาทั้งหมดของชีวิต  สิ่งเหล่านี้กระตุ้นผู้ปฏิบัติดังกล่าวให้ใช้มาตรการป้องกัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ทั้งหมด  หากการลืมเลือนเรื่องความอนิจจังกับปัญหาต่าง ๆ กอปรกับการลืมเรื่องความตายทำให้สิ่งเหล่านี้หายไป คงจะเป็นการดีทีเดียว เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม  แต่ความเป็นจริงคือเรามิอาจทำเช่นนั้นได้  เพียงละเลยข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเราล้วนต้องตาย และข้อเท็จจริงที่ว่าชีวิตเรานั้นมีปัญหา ย่อมมิอาจทำให้มันหายไปไหนเลย  จึงเป็นการดีกว่ามากที่จะตระหนักรู้ถึงปัญหาของเรา เผชิญหน้ากับมันตามความเป็นจริง และจากนั้นจึงใช้มาตรการประเภทต่าง ๆ เพื่อกำจัดมัน  เช่นนี้คือส่วนประกอบของการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ

แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ตอนที่พระองค์ทรงริเริ่มเทศนาคำสอนเกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้ พระองค์ทรงเริ่มด้วยการสอนเรื่องความอนิจจัง อันเกี่ยวกับการที่ไม่มีสิ่งใดคงอยู่มั่นคง  การเดินทางสายจิตวิญญาณทั้งหมดของพระองค์เริ่มต้นด้วยการตระหนักได้ถึงความอนิจจัง  เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อพระองค์ทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน พระองค์ทรงกระทำเช่นนั้นภายใต้บริบทของการสาธิตให้ทุกคนเห็นถึงความจริงแห่งอนิจจัง

อริยสัจสี่

นอกจากนี้ ปัญหามิได้ปรากฏขึ้นโดยไร้หลักแหล่ง  มันย่อมไม่เกิดขึ้นกับเราโดยปราศจากเหตุผลใด ๆ  หากแต่ปัญหาและความไม่เป็นสุขอันแท้จริงของเราทั้งหมดนั้นอุบัติขึ้นจากเหตุที่แท้จริง  คือพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นและอารมณ์และทัศนคติที่รบกวนของเรา  หากกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ กรรมและความหลงผิดของเรา  คือการกระทำตัวด้วยแรงกระตุ้นกอปรกับอารมณ์และทัศนคติรบกวนที่นำปัญหาทั้งหมดมาสู่เรานั่นเอง

ทีนี้ จากเหตุทั้งสองประการของปัญหาทั้งปวง เราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมที่ถูกกระตุ้นมีรากฐานจากอารมณ์และทัศนคติรบกวน  และหากเราพิจารณาอารมณ์และทัศนคติรบกวนทั้ง 84,000 ประเภทตามที่อธิบายไว้ในพระคัมภีร์แล้ว เราย่อมค้นพบว่ามันล้วนเกิดจากแหล่งเดียวกัน นั่นคือ ความอวิชชา หรือการขาดความตระหนักรู้ที่นำพาเราไปสู่การไขว่คว้าการดำรงอยู่และตัวตนแห่งความยึดมั่นถือมั่นโดยแท้

อย่างไรก็ตามไม่มีสิ่งใดที่เป็นตัวตนที่มั่นคงอย่างแท้จริง ทั้งสำหรับตัวเราเอง หรือสิ่งอื่นใด กระนั้นแล้ว เราก็ยังไขว่คว้าสิ่งต่าง ๆ ราวกับว่ามันมีตัวตน หรือมีการดำรงอยู่อย่างมั่นคงแท้จริง  ดังนั้น หากเราสามารถตระหนักและแยกแยะได้ว่า ตัวตนที่มั่นคงแท้จริงนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การกระทำเช่นนี้จึงมีหน้าที่เป็นยาถอนพิษของการไขว่คว้าสิ่งต่าง ๆ ให้มีตัวตนในลักษณะดังกล่าว

เมื่อเราเกิดความเข้าใจแล้วว่า มิมีสิ่งที่เป็นการดำรงอยู่อย่างมั่นคงแท้จริง กล่าวคือ ไม่มีสิ่งใดที่มีตัวตนอย่างมั่นคงโดยแท้ ความเข้าใจดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในนาม “หนทางที่แท้จริงแห่งจิต” “หนทางที่แท้จริง” ซึ่งเป็นหนึ่งในอริยสัจสี่  เป็นหนทางแห่งจิตที่ “อริยบุคคล” หรือผู้มีความบรรลุขั้นสูง เห็นชอบว่าเป็นสัจธรรม หรือถูกต้อง และนำไปสู่การบรรลุการหลุดพ้นและตรัสรู้

เมื่อเรามีหนทางที่แท้จริงแห่งจิต อันหมายถึงความตระหนักรู้เชิงแยกแยะว่า ไม่มีตัวตนที่มั่นคงอย่างแท้จริงของสิ่งใดอยู่จริง เมื่อนั้นเราย่อมไม่มีอารมณ์ หรือทัศนคติรบกวน เพราะความหลงผิดเหล่านั้นอิงจากการแสดงมายาภาพและความเชื่อเรื่องการดำรงอยู่ในแบบที่เป็นไปไม่ได้  เมื่อเราไม่มีอารมณ์ หรือทัศนคติรบกวนเช่นนั้นหลงเหลือแล้ว เราย่อมไม่กระทำการที่ถูกกระตุ้น  และเมื่อเราไม่กระทำการที่ถูกกระตุ้นแล้ว เราย่อมหยุดสร้างปัญหาให้ตนเอง  สภาวะที่ปัญหาต่าง ๆ หยุดการอุบัติขึ้นในประสบการณ์ของเราเรียกว่า “การดับที่แท้จริง” คือ “การยุติอย่างแท้จริง”

เช่นนี้คือการนำเสนอเรื่องข้อเท็จจริงสี่ประการที่เห็นแล้วว่าเป็นเรื่องจริงโดยอริยบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่มีความบรรลุสูง  สิ่งเหล่านี้คืออริยสัจสี่  ความจริงสองประการแรกจัดการกับสิ่งรบกวน นั่นคือปัญหาที่แท้จริงและเหตุที่แท้จริงของปัญหานั้น ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมหุนหันพลันแล่น กอปรกับอารมณ์และทัศนคติรบกวน  เมื่อเราหันความใส่ใจของเราในความจริงสองประการหลัง ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่เป็นการปลดปล่อย เราจึงปรารถนาที่จะบรรลุการดับปัญหาทั้งปวงของเราอย่างแท้จริง โดยการกำจัดเหตุของปัญหาให้หมดสิ้นไปอย่างถาวร  และวิธีการทำเช่นนี้คือ การสร้างหนทางแท้จริงแห่งจิต  นี่คือวิธีที่เราสามารถตระหนักเห็นและเข้าใจข้อเท็จจริงทั้งสี่ประการที่เห็นชอบโดยผู้บรรลุสูงแล้วว่าเป็นสัจธรรม

ในการสร้างเสริมรากฐานการทำงานอันยอดเยี่ยมที่เรามีในการเกิดเป็นมนุษย์อันเลอค่า  ตอนนี้เราจำเป็นต้องทุ่มเทความพยายามทั้งหมดเพื่อตระหนักถึงอริยสัจสี่  เมื่อได้ทำเช่นนั้นแล้ว เราจึงจะได้ใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมจากโอกาสต่าง ๆ ที่เรามีในการเกิดครั้งนี้  เมื่อเราคอยสั่งสมความตระหนักรู้ที่มั่นคงให้เป็นนิสัยทางจิตที่มีประโยชน์อยู่ทุกเมื่อ ว่าไม่มีสิ่งที่เป็นการดำรงอยู่อย่างมั่นคงแท้จริง, เราจะสามารถกำจัดปัญหาทั้งปวงของเราให้หมดสิ้นไปได้ตลอดกาล

สร้างความความเห็นอกเห็นใจ

ทีนี้การกำจัดปัญหาทั้งปวงสำหรับตนเองนั้นเป็นเรื่องที่ดีเหลือเกิน แต่มันไม่เพียงพอ  เพราะว่าเราเป็นเพียงคนคนหนึ่ง ในขณะที่ยังมีผู้อื่นอีกจำนวนนับไม่ถ้วน  เราไม่สามารถนับได้ว่ามีสิ่งมีชีวิตอื่น อีกจำนวนเท่าไหร่ และทุกคนล้วนมีปัญหา  พวกเขาล้วนทุกข์ทรมานในทางใดทางหนึ่ง  ฉะนั้นการปฏิบัติเพื่อตนเองอย่างเดียวจึงไม่ยุติธรรม  เราต้องแสวงหาทางออกให้กับทุกคน

เมื่อพิจารณาแล้ว เราย่อมตระหนักได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่มีจิตใจจำกัดนั้นเคยมอบความน้ำใจอย่างล้นเหลือให้เรามาก่อน  อันที่จริง ไม่มีสิ่งใดที่เปี่ยมน้ำใจไปมากกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นอีกแล้ว  เมื่อเราพิจารณาความน้ำใจของพระพุทธเจ้า และความน้ำใจของสิ่งมีชีวิตที่มีความจำกัด เราย่อมตระหนักได้ว่าทั้งสองนั้นมีความเท่าเทียมกัน  ยกตัวอย่างเช่น หากเราชอบน้ำผึ้ง เราพึงคิดคำนึงว่าน้ำผึ้งนั้นมาจากไหน  มันมาจากฝูงผึ้งมากมาย และผึ้งเหล่านั้นต้องทำงานกันอย่างขยันขันแข็งเพื่อผลิตน้ำผึ้งขึ้น พวกมันต้องบินตอมดอกไม้มากมาย ต้องตามเก็บละอองเกสร ทำการหลั่งและเก็บน้ำผึ้งไว้ในรวงผึ้ง  หากเราหวังที่จะได้ลิ้มรสของน้ำผึ้ง เราจำต้องพึ่งพาการทำงานและความน้ำใจของแมลงขนาดเล็กเหล่านี้  เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อเราพิจารณาถึงเนื้อสัตว์ที่พวกเราบางคนรับประทาน เช่นว่า เมื่อเราต้องการอาหารที่ให้พละกำลังกับร่างกายยามเราป่วยและอ่อนแอ มันมาจากไหน  มันมาจากเหล่าสัตว์ที่ต้องเสียสละชีวิตเพื่อเป็นเนื้อเหล่านั้นให้กับพละกำลังและการบำรุงร่างกายของเรา

ดังนั้น เมื่อเราได้พัฒนาความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่จะเป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวงของเรา เราจึงจำเป็นต้องโอนทัศนคติดังกล่าวนั้นไปยังผู้อื่นด้วย  เรามีความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากปัญหาของตนเองฉันใด เราย่อมต้องมีความปรารถนาให้ทุกคนเป็นอิสระจากปัญหาของตนเองด้วยฉันนั้น  ทัศนคติดังกล่าวนี้เรียกว่า “ความความเห็นอกเห็นใจ”

หากเราไม่ได้คิดอย่างจริงเกี่ยวกับปัญหาของเราและเกี่ยวกับการที่เราไม่อยากมีปัญหาเหล่านั้น และหากเราไม่ได้พัฒนาความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากปัญหาเหล่านั้น การจะคิดถึงปัญหาของผู้อื่นอย่างจริงจังย่อมเป็นเรื่องยากมาก  เราย่อมไม่สามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจอย่างจริงใจเพื่อปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นอิสระจากปัญหาของตน  ยกตัวอย่างเช่น หากมีข้าราชการคนหนึ่งที่ได้รับความยากลำบากมากตลอดหน้าที่การงาน และเขาไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูง คนผู้นี้ย่อมมีความสงสารและมีความเห็นอกเห็นใจต่อปัญหาของผู้อื่น  คนผู้นี้ย่อมอยู่ในตำแหน่งที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ดีกว่าข้าราชการที่สุขสบายมาทั้งชีวิต ผู้ไม่เคยรู้ซึ้งถึงความทุกข์

โพธิจิต

ทัศนคติที่เราปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นอิสระจากความทุกข์ทรมานนั้นเรียกว่า “ความเห็นอกเห็นใจ”  ทัศนคติที่เราปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขเป็นนิยามของ “ความรัก”  หากเราพิจารณาถึงความปรารถนาที่ต้องการให้ผู้อื่นเป็นสุขและเป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวง และหากเราตัดสินใจว่า ในเมื่อทุกคนล้วนเคยมีความน้ำใจต่อเรา เราจึงต้องทำบางอย่างเพื่อตอบแทน ไม่ใช่เพียงในระดับผิวเผิน แต่ช่วยให้พวกเขาเป็นอิสระจากปัญหาทั้งปวงของตน  การน้อมรับความรับผิดชอบเช่นนี้เรียกว่า “การตั้งใจที่ยอดเยี่ยม”

หากเรามัวแต่ติดอยู่กับความเป็นห่วงที่เห็นแก่ตัวของเรา ไฉนเลยเราจะสามารถบรรลุการตระหนักรู้ หรือพัฒนาคุณสมบัติแห่งพระพุทธเจ้าใด ๆ ได้  แต่หากเราผละออกจากความเห็นแก่ตัวและหันมาเอาใจใส่สภาพของผู้อื่นแล้ว เช่นนี้จึงเป็นรากฐานสำหรับเราในการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  การยุ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมอย่างการฆาตกรรม การลักขโมย และอื่น ๆ นั้น เกิดจากความเป็นห่วงที่เห็นแก่ตัวของเรา เพื่อสะสมทรัพยากรต่าง ๆ ให้กับตัวของเราเอง  วิธีการที่ไร้ทักษะเช่นนี้รังแต่จะนำมาซึ่งปัญหาเพิ่มเติม และรากฐานของทั้งหมดนี้ก็คือความเห็นแก่ตัวของเรานั่นเอง

พระศากยมุนีพุทธเจ้าทรงสามารถบรรลุสภาวะแห่งการตรัสรู้ได้ คือเกิดความรู้แจ้งและพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการที่พระองค์ทรงเป็นห่วงความเป็นดีอยู่ดีของผู้อื่นอย่างเดียว  อันที่จริง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงบรรลุสภาวะของการตระหนักรู้ถึงศักยภาพสูงสุดของตนเองได้จากรากฐานของความเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่น  ฉะนั้น หากเรามองตามความเป็นจริง เราจะเห็นได้ว่าแม้เราอาจมีการตั้งใจที่ยอดเยี่ยมนี้ ซึ่ง “นำพาความสุขมาสู่ทุกคนและปลดปล่อยพวกเขาให้พ้นปัญหาทั้งปวง” เรากลับไม่มีความสามารถในการทำเช่นนั้น ต่อให้เราปรารถนาแค่ไหนก็ตาม  พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่มีความสามารถในการช่วยเหลือทุกคนให้เอาชนะปัญหาทั้งปวงของตนเองและได้รับความสุข

ดังนั้น การอุทิศหัวใจของเราให้กับการสร้างประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นอย่างเต็มที่จึงเป็นสิ่งจำเป็น กอปรกับการบรรลุสภาวะตรัสรู้แห่งพระพุทธเจ้า เพื่อกระทำเช่นนั้นให้ได้อย่างเต็มกำลัง  เช่นนี้เรียกว่า “เป้าหมายแห่งโพธิจิต”

ด้วยหัวใจที่อุทิศตนด้วยเป้าหมายแห่งโพธิจิต สมมุติว่าเราถวายของทั่วไปบางอย่าง เช่น ถวายดอกไม้  หากเจตนาของการถวายเป็นการสร้างประโยชน์แก่ทุกคน และเพื่อบรรลุการตรัสรู้เพื่อที่เราจะสามารถกระทำเช่นนั้นได้อย่างเต็มกำลัง  อย่างนั้นศักยภาพเชิงบวกที่เกิดจากการกระทำทั่วไปเช่นนี้จึงยิ่งใหญ่ไพศาล  อันที่จริง เมื่อเป้าหมายของเราคือ การที่สามารถสร้างประโยชน์แก่ทุกคน ประโยชน์นั้นย่อมสมน้ำสมเนื้อกับเป้าหมายดังกล่าว  มันมากมายเท่ากับจำนวนของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย  ประโยชน์ของการอุทิศหัวใจในลักษณะนี้อย่างบริสุทธิ์และจริงใจยิ่งใหญ่กว่าการถวายโลกทั้งใบที่ประดับประดาไปด้วยทองคำและอัญมณีให้กับพระพุทธเจ้าอยู่มากโข  แม้หากเราให้อาหารแด่สรรพชีวิตทั้งหมดในจักรวาล ประโยชน์ของการมีหัวใจที่อุทิศตนด้วยเป้าหมายแห่งโพธิจิตเพียงชั่วขณะหนึ่งยังคงยิ่งใหญ่เสียกว่า

เราสามารถเห็นถึงหลักการเชิงเหตุผลของทั้งหมดนี้ได้ หากเราพิจารณาว่าอาหารมื้อหนึ่งสำหรับทุกคนในจักรวาลย่อมเติมเต็มความหิวโหยของพวกเขาเพียงครั้งเดียว  พวกเขาย่อมเกิดความหิวโหยอีก และปัญหาของความหิวโหยนั้นย่อมคงอยู่ต่อไป  แต่หากเราปรารถนากอปรกับเป้าหมายแห่งโพธิจิต ในการระงับปัญหาทั้งปวงให้ทุกคนอยู่ทุกเมื่อ และเราอุทิศตนให้กับการบรรลุการตรัสรู้เพื่อทำเช่นนั้นให้ได้ดีที่สุด การทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่ระงับความหิวโหยของทุกคนได้ แต่ยังนำมาซึ่งความสามารถในการยุติปัญหาของพวกเขาอย่างสมบูรณ์ด้วย

ข้อคิดเห็นสรุป

ฉะนั้นแล้ว สำหรับขั้นต่อไปในการสร้างเป้าหมายแห่งโพธิจิต เราพึงปฏิญาณตนอย่างแน่วแน่ว่าเราจะไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตใด ๆ  เมื่อเราเห็นโทษและข้อเสียทั้งหมดของการทำร้ายผู้อื่นแล้ว ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม และปฏิญาณตนว่าจะไม่ทำเช่นนั้น ตรงนี้จึงก่อให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่  ถือเป็นการกระทำประเภทที่ควรค่าแก่การสรรเสริญเป็นอย่างมาก  การปฏิญาณอย่างแน่วแน่ว่าเราจะไม่ทำร้าย หรือไม่ทำอันตรายผู้ใดเป็นมาตรการทางจิตวิญญาณที่พวกเราทั้งหลายล้วนทำได้ ณ บัดนี้  เราไม่จำเป็นต้องคิดถึงการปฏิบัติทางจิตวิญญาณว่าเป็นสิ่งที่สูงส่งและห่างไกล

กล่าวโดยสรุปคือ การเป็นผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณนั้นมิได้เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตแปลกประหลาดมหัศจรรย์แต่อย่างใด  ในประวัติศาสตร์ปรากฏหลักฐานของฆราวาสจำนวนมากที่เป็นผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่  เมื่อเราดูชีวประวัติของมหาสิทธาทั้งแปดสิบสี่ท่านในสมัยอินเดียโบราณที่ได้บรรลุความสมบูรณ์ขั้นสูง ในกลุ่มนี้มีหลายคนที่เป็นฆราวาส

นอกจากนี้เราก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกท้อแท้หากเรามีอายุมาก หรือคิดว่าคนอายุมากไม่สามารถเป็นผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณได้  หากเราดูตัวอย่างจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ มีตัวอย่างของฆราวาสผู้หนึ่งนามว่า ชรีจาติ ผู้มีอายุ 80 ปี ตอนที่เขาเป็นผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณ  เขาสามารถบรรลุสภาวะของสิ่งมีชีวิตที่หลุดพ้น หรือพระอรหันต์ ภายในช่วงชีวิตเขาได้  ฉะนั้น เราจึงไม่มีทางแก่เกินไป

ในอีกทางหนึ่ง หากเราอายุน้อย เราก็ไม่ควรทำตัวหยิบหย่งเกินไป แต่พึงใช้ประโยชน์จากเรี่ยวแรงที่มีในการมุ่งมั่นปฏิบัติทางจิตวิญญาณของเรา  และเราต้องไม่คิดว่าเราสามารถเลื่อนการปฏิบัติมาตรการป้องกันทางจิตวิญญาณเหล่านี้ไปจนกว่าเราจะอายุมากขึ้น เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าความตายจะมาเยือนเมื่อไหร่  ยิ่งไปกว่านั้น ความชราเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะมาถึงเราในคราวเดียว  เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้สึกราวกับว่า จู่ ๆ ชีวิตของเราก็หายไปเสียอย่างนั้น

มีสิ่งเชิงบวกทั่วไปมากมายที่เราทำได้  อาตมารู้จักบางคนในต่างประเทศที่ทุ่มเททั้งความพยายามและเงินทองไปกับการให้อาหารเลี้ยงนก  พวกเขามีเครื่องป้อนอาหารด้านนอกบ้านของเขาและหมดเงินหลายพันไปกับการจัดหาอาหารในแต่ละวัน  ที่จริงพวกเขาสละการพักร้อนทิ้งไป เพราะไม่อยากให้นกต้องอดทานอาหารจากตน  นี่เป็นการปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งทำให้อาตมาเห็นแล้วมีความสุข เพราะการปฏิบัติเช่นนี้เป็นประเภทของพระโพธิสัตว์จริง ๆ  ยังมีตัวอย่างอีกมากมายของชาวทิเบตที่เดินทางไปแสวงบุญในอินเดีย และเตรียมขนมปังไว้ให้ฝูงนกพิราบ และข้าวสำหรับนกประเภทต่าง ๆ  สิ่งเหล่านี้เป็นการปฏิบัติที่ยอดเยี่ยมสำหรับการก่อให้เกิดชีวิตยืนยาว

บทสรุป

หากจะสรุปการอภิปรายของเรา ประเด็นสำคัญคือ

  • สร้างหัวใจที่มีความน้ำใจและอบอุ่นเพื่อทำงานอย่างต่อเนื่องสำหรับประโยชน์ของทุกคน
  • จงอย่าทำร้ายผู้ใด หรือสิ่งใด กล่าวคือ อย่าสร้างอันตราย หรือปัญหา

สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญสำหรับการปฏิบัติทางจิตวิญญาณอันยอดเยี่ยม  เราจำเป็นต้องใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากรากฐานการทำงานที่เรามีในการเกิดเป็นมนุษย์อันยอดเยี่ยมนี้ โดยการอุทิศหัวใจของเราอย่างบริสุทธิ์กอปรกับเป้าหมายแห่งโพธิจิตให้กับผู้อื่นและการบรรลุการตรัสรู้  ในลักษณะนี้ เราจะสามารถบรรลุสภาวะของการเป็นผู้รู้แจ้งและผู้ที่พัฒนาแล้วอย่างเต็มที่ได้จริง ๆ กล่าวคือ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แจ้งอย่างสมบูรณ์

Top