การเจริญสติมาจากตำราพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม จากตำราเหล่านี้เราได้เรียนรู้ปัจจัยทางจิตใจต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญสติอย่างสมบูรณ์ ปัจจัยทางจิตใจเป็นวิธีในการรับรู้ถึงวัตถุ ซึ่งปรับตัวหรือช่วยเหลือในการรับรู้นั้น ซึ่งรวมถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดการรับรู้ เช่น ความสนใจ ปัจจัยที่ช่วยให้การรับรู้นั้นสามารถคงอยู่ได้ เช่น การเพ่งสมาธิ และอารมณ์ที่แต่งแต้มการรับรู้ เช่น ความรักหรือความโกรธ การเรียนรู้และการนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการเจริญสติจะทำให้เราได้รับประโยชน์สูงสุดจากการปฏิบัติ
การเจริญ “สติ” กลายเป็นวิธีที่สังคมตะวันตกสมัยใหม่นำไปประยุกต์ใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อช่วยคลายความเครียด จัดการกับความเจ็บปวด และเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับการงานหรือการใช้ชีวิตโดยรวม การเจริญสตินั้นมาจากการทำสมาธิหลายแบบของพระพุทธศาสนา ซึ่งอาศัยการทำจิตใจให้สงบลง การกําหนดลมหายใจเข้าออก ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกถึงความสุขหรือความเศร้า การรับรู้ทางร่างกาย และอื่น ๆ ของผู้ปฏิบัติ หลายครั้งการฝึกนี้ได้รับการนำเสนอด้วยคำอธิบายที่กว้างมาก เช่น การดูขณะเวลาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของวัตถุที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในจิตใจเรา
แหล่งที่มาจากพระพุทธศาสนาแบบอินเดีย
การนำเสนอการเจริญสติในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทนั้นอิงมาจากตำราวิมุตติมรรค (เส้นทางสู่การปลดปล่อย) ของพระอุปติสสะ และวิสุทธิมรรค (เส้นทางสู่ความบริสุทธิ์) ของพระพุทธโฆษาจารย์ ตำราเหล่านี้อธิบายถึงสติว่าเป็นด้านสำคัญที่รวมอยู่ในการทำสมาธิหลากหลายแบบ ในการทำสมาธิดังกล่าว สติมีลักษณะของการนึกถึงหรือการระลึกได้ ซึ่งหมายถึงการนึกถึงลมหายใจหรือความจริงของความตาย หน้าที่ของสติคืการไม่ลืม และสติแสดงออกมาในลักษณะของสิ่งที่ปกป้องจิตใจไม่ให้สูญเสียวัตถุของมันไป ดังนั้นหากมองในลักษณะนี้แล้ว สติก็เหมือน “กาวใจ” ประเภทหนึ่งที่ยึดมั่นในวัตถุของสมาธิโดยไม่ปล่อยให้วัตถุนั้นหลุดไป เมื่อกำหนดวัตถุนั้นได้แล้ว สติจะต้องมาพร้อมกับความตระหนักรู้ที่แยกแยะเกี่ยวกับลักษณะของวัตถุนั้น เช่น ความไม่เที่ยง
พระวสุพันธุ ซึ่งเป็นตัวแทนของนิกายไวภาษิกะแบบหินยานกล่าวในคัมภีร์ พระอภิธรรมโกศ (Treasure House of Special Topics of Knowledge) โดยระบุว่าสติเป็นหนึ่งในปัจจัยทางจิตใจสิบประการที่มาพร้อมกับการรับรู้ทุกขณะเวลา สติมาพร้อมกับขณะเวลาเหล่านั้นเสมอไม่ว่าการรับรู้นั้นจะพ่วงปัจจัยทางจิตใจในเชิงประโยชน์ เชิงทำลาย หรือเชิงไม่เจาะจง (เป็นกลางในเชิงจริยธรรม) ก็ตาม ดังนั้นสติจึงเป็นสิ่งที่อยู่กับเราตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะในบริบทของการนทำสมาธิเท่านั้น
ในพระอรรถกถาของ พระอภิธรรมโกศภาษยะ (Commentary to “Treasure House of Special Topics of Knowledge”) พระวสุพันธุได้นิยามสติว่าเป็นปัจจัยทางจิตใจของการไม่ปล่อยวาง หรือการไม่ลืมวัตถุ จึงมาพร้อมกับความเพ่งเล็งอยากได้ในสิ่งนั้นนั้นหรือการสังเกตสิ่งนั้น ด้วยความอยากได้หรือการสังเกตวัตถุนั้น สติจึงทำให้เราสามารถระลึกถึงสิ่งนั้นได้ในเวลาต่อมา
ในตำราจิตตมาตรของมหายาน ปัญจขันธ์ปกรณ์ (Treatment of the Five Aggregates) พระวสุพันธุนำเสนอสติในบริบทเจาะจงของการระลึกถึงวัตถุ ดังนั้นท่านกล่าวไว้ว่า สติคือภาวะของจิตที่ไม่ปล่อยวัตถุที่คุ้นเคยไปและสังเกตเห็นวัตถุนั้นอีกครั้ง ในพระอรรถกถาของท่าน พระสถิรมติอธิบายว่า “วัตถุที่คุ้นเคย” หมายถึงสิ่งที่เราเคยมีประสบการณ์มาก่อน ดังนั้นการระลึกถึงวัตถุอาจเกิดขึ้นในบริบทของการทำสมาธิถึงวัตถุนั้น หรือการนึกถึงบางสิ่งขึ้นมาในชีวิตประจำวันก็ได้
ในตำราจิตตมาตร พระอภิธรรมสมุจจัย (Anthology of Special Topics of Knowledge) พระอสังคะได้นำเสนอสตินั้นเป็นหนึ่งในห้าของปัจจัยสืบหาทางจิตใจ ในกลุ่มนี้สติถือเป็นปัจจัยทางจิตใจที่เกิดขึ้นในการรับรู้เชิงประโยชน์และในการรับรู้เชิงประโยชน์ที่เข้าใจวัตถุของตนเท่านั้น พูดอีกอย่างก็คือ การรับรู้ที่สามารถรับรู้วัตถุนั้นได้อย่างแม่นยำและชัดเจน วัตถุนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ซึ่งเราคุ้นเคย การมองในลักษณะนี้คือการมุ่งเน้นไปยังวัตถุนี้และไม่ลืมหรือเสียมันไป หน้าที่ของมันก็คือการป้องกันไม่ให้ใจลอยไปคิดเรื่องอื่น
การนำเสนอของท่านสองขะปะ
ในตำรา ลัมริมเชนโม (Grand Presentation of the Graded Stages of the Path) ส่วนที่เกี่ยวกับการฝึกสมาธิและภาวะที่สงบนิ่งและคงที่ของจิตใจหรือสมถะ ปรมาจารย์ชาวทิเบตนามว่า สองขะปะอธิบายนิยามคำว่าสติของพระอสังคะไว้อย่างละเอียด ท่านอธิบายว่าสติ (ทิเบต: ดรัน-ปะ) ในบริบทของการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานนั้นมีสามลักษณะด้วยกัน ดังนี้
- มันเพ่งไปยังวัตถุที่เรามีความคุ้นเคยก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ดังนั้นวัตถุในที่นี้คือสิ่งที่เรารู้จักอย่างแน่ใจอยู่แล้วและอาจจะเป็นเชิงประโยชน์ เช่น การสร้างภาพพระพุทธเจ้าในใจ หรืออาจไม่เป็นเชิงใดเลย (เป็นกลางทางจริยธรรม) เช่น ร่างกาย
- การจับวัตถุนั้นไว้ในใจทำให้เราไม่ลืมสิ่งนั้น คำว่า “ไม่ลืม” ในที่นี่ไม่ได้หมายความแค่ว่าถ้ามีใครถามเรา เราก็สามารถจำคำสั่งสอนสำหรับการปฏิบัตินั้นได้ หรือว่าวัตถุที่เราเพ่งสมาธิจดจ่อเป็นอย่างนี้หรืออย่างนั้น หากแต่หมายถึงว่าทันทีที่เราผูกจิตอยู่กับวัตถุนั้น เราก็สามารถจับวัตถุนั้นไว้อยู่ในใจได้ทันทีโดยไม่มีการใจลอยไปคิดเรื่องอื่นแม้แต่น้อย หากเราใจลอยไปคิดเรื่องอีกแม้แต่นิดเดียว ก็แสดงว่าสติของเราหลุดไปแล้ว ดังนั้นหลังจากที่เรากำหนดความใส่ใจกับวัตถุเพ่งใจและสร้างความคิดว่าฉันได้ผูกจิตติดกับวัตถุนี้ไว้ แล้วด้วยภาวะจิตใจที่ไม่คิด (พูดในใจ) เรื่องอะไรใหม่ จึงทำให้เกิดความต่อเนื่องของพลังอันไม่เสื่อมคลาย ซึ่งนี่เป็นวิธีที่เรามอบตัวเองให้กับสติ ดังนั้นการมอบตัวเองให้กับการมีสติก็เหมือนการมอบตัวเองให้แพทย์หรืออาจารย์ของเรา เราจะมอบตัวเองให้กับแพทย์หรืออาจารย์ก็ต่อเมื่อเรามั่นใจว่าบุคคลนี้มีคุณสมบัติอย่างเต็มที่ ในลักษณะเดียวกันนี้เราจึงมอบตัวเองให้สติเมื่อภาวะจิตใจของเราเติมเต็มคุณสมบัติทั้งหมดของภาวะเจริญสติแล้วเท่านั้น
- หน้าที่ของมันคือการไม่ปล่อยให้ใจเราโดนฟุ้งซ่านไปกับวัตถุเพ่งใจอื่น ๆ อย่างเต็มที่มากขึ้น สติป้องกันให้ความใส่ใจของไม่ลืมหรือเสียวัตถุเพ่งใจไป สติกำหนดความใส่ใจไปกับวัตถุดังกล่าวด้วยความอดทน และรักษาความต่อเนื่องของความคุ้นเคยในวัตถุดังกล่าว
การเจริญสติ
ในการปฏิบัติให้บรรลุภาวะจิตใจที่สงบนิ่งและคงที่ หรือสมถนั้น วัตถุที่เราจดจ่อในการนั่งสมาธิต้องคงที่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราเพ่งไปที่ภาพพระพุทธเจ้าในใจ อย่างไรก็ตามสำหรับการเจริญสติที่สอนในสังคมตะวันตกสมัยใหม่นั้น วัตถุคือขณะเวลาปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของวัตถุที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในการรับรู้ทางใจหรือทางกายของเรา จุดนี้จะสอดคล้องกับการกล่าวถึงเรื่องสติของสายเถรวาทมากกว่าในด้านของวัตถุและการนำเสนอแบบไวภาษิกะของพระวสุพันธุ ที่กล่าวว่าสติมาพร้อมกับการรับรู้ทุกขณะเวลา อย่างไรก็ตามวัตถุในที่นี้ต่างกับสิ่งที่พระวสุพันธุและพระอสังคะระบุไว้ในตำราจิตตมาตร ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เราได้ทำความคุ้นเคยมาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น รูปร่างหน้าตาของพระพุทธเจ้า เราค่อนข้างจะพยายามเพ่งจิตไปยังประสบการณ์ที่เราสัมผัสในแต่ละขณะเวลา ทั้งความสัมผัสทางกาย ความคิด อารมณ์ หรือความรู้สึก แต่อย่างที่พระอสังคะอธิบายไป เราเพ่งจิตไปยังสิ่งเหล่านี้อย่างแม่นยำและชัดเจน
จริง ๆ แล้ว ภาวะมีสติกับขณะเวลาปัจจุบันที่เราพยายามฝึกนั้นเป็นการผสมผสานปัจจัยทางจิตใจหลายอย่างซึ่งระบุไว้ในการวิเคราะห์จิตใจทางพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน ปัจจัยหลักที่ใช้คือสติ ความตื่นตัว และทัศนคติที่เอาใจใส่ เพื่อปฏิบัติการเจริญสติอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราควรระบุปัจจัยแต่ละอย่างและปรับปัจจัยที่อ่อนกว่าของเราให้ดีขึ้น
สติ
สติ หรือที่เรียกว่า “กาวใจ” นั้นต้องมาพร้อมกับปัจจัยทางจิตใจอีกสองอย่าง นั่นคือ การจำแนก (การจำได้) และการพิจารณา (การนำไปคิด)
“การจำแนก” (ทิเบต: ’du-shes สันสกฤต: samjna) เน้นลักษณะเด่นขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันเป็นแต่ละขณะเวลาประสบการณ์ของเรา มันช่วยแจกแจงสิ่งเหล่านี้ออกจากอย่างอื่น ยกตัวอย่างเช่น การจำแนกช่วยแจกแจงความรู้สึกทางกายของความเจ็บออกจากความรู้สึกทางกายอื่น ๆ ที่เรากำลังประสบพร้อมกันนั้น เช่น อุณหภูมิในห้องที่เราอยู่ การพิจารณาที่ถูกต้องเข้าใจวัตถุนั้นในอย่างที่มันเป็น ความเจ็บปวดเป็นเพียงแค่ความรู้สึกทางกาย ไม่ได้มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านั้น
เมื่อสติมาพร้อมกับการจำแนกและการพิจารณาที่ถูกต้อง เราพยายามจดจ่ออยู่กับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของขณะเวลาปัจจุบัน เราพยายามทำเช่นนั้นโดยไม่สูญเสียการที่เนื้อหาขณะเวลาปัจจุบันเป็นวัตถุเพ่งใจเนื่องจากโดนฟุ้งซ่านไป การฟุ้งซ่านมักเกิดขึ้นเพราะเราคิดถึงสิ่งที่เราประสบในขณะเวลาก่อนหน้านี้หรือสิ่งที่เราอาจประสบในขณะเวลาในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนั้นเราก็ลืมความจริงที่ว่าความคิดถึงอดีตหรืออนาคตเหล่านี้เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้เท่านั้น เราหยุดจำแนกความคิดนี้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะเวลาประสบการณ์ปัจจุบันและดูดซับเข้าร่วมกับ “เรื่องราว” ของความคิดเหล่านั้น ผลที่ตามมาคือเราสูญเสียวัตถุเพ่งใจของเราเพราะเราถูกฟุ้งซ่านจากความคิดเหล่านี้ อย่างไรก็ตามหากเราสามารถคงสภาวะของจิตใจที่ปราศจากการถูฟุ้งซ่านไว้ได้สำเร็จ เราก็จะได้มาซึ่งสติมั่นคงที่ไม่ลืมวัตถุที่เราจดจ่ออยู่ ในลักษณะนี้สติทำหน้าที่เป็นกาวจิตใจที่คอยยึดเหนี่ยวความใส่ใจไว้กับขณะเวลาปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของประสบการณ์เรานั่นเอง
ในพระอรรถกถาของ การแยะแยะตรงกลางจากความสุดโต่ง (สันสฤต: Madhyantavibhaga) ของพระอสังคะ พระสถิรมติอธิบายว่าเราต้องเตือนตัวเองเป็นครั้งคราวถึงวัตถุที่เราจดจ่ออยู่เพื่อเป็นเครื่องช่วยเหลือในการคงสติไว้ ซึ่งหมายถึงการพูดคำสำคัญในใจเพื่อให้เรารักษาการกำหนดสติของเราให้เข้มแข็งไว้ได้ ข้อนี้ตรงกับการยืนยันของพระวสุพันธุที่กล่าวว่า สติเกี่ยวกับการสังเกตวัตถุนั้น ท่านสองขะปะอธิบายจุดนี้โดยละเอียดโดยกล่าวว่า “หากลบล้างข้อนี้โดยบอกว่าการทำเช่นนี้เป็นการคิดตรอง แล้วก็ไม่พูดเตือนตัวเอง การพัฒนาสติและความตื่นตัวที่แข็งแกร่งก็จะเป็นเรื่องที่ยากมาก”
ความตื่นตัว
ความตื่นตัว (ทิเบต: shes-bzhin บาลี: สัมปชัญญะ) คือปัจจัยทางจิตใจที่สอดส่องและตรวจสอบสภาพของการกำหนดสติอยู่ในวัตถุเพ่งใจนั้น ปัจจัยนี้ทำงานในบริบทของการรักษาสติให้อยู่กับวัตถุที่เราจดจ่อ ซึ่งก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะเวลาปัจจุบันของประสบการณ์เรานั่นเอง ถ้ามองอย่างนี้แล้วความตื่นตัวก็เป็นส่วนหนึ่งของสติที่แข็งแกร่ง ตามที่ท่านสองขะปะชี้ให้เห็น ยิ่งสติของเราแข็งแกร่งมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งคุ้นเคยกับการมีสติโดยไม่ถูกฟุ้งซ่านได้มากขึ้นเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือเรามีความไวมากขึ้นต่อการรู้ตัวเมื่อเราถูกฟุ้งซ่าน ดังนั้นยิ่งเรามีสติที่แข็งแกร่งมากขึ้นเท่าไหร่ ความตื่นตัวของเราก็จะยิ่งแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน
เราไม่ควรคิดถึงความตื่นตัวในความหมายเชิงทวินิยม กล่าวคือจิตหนึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์ที่มีตัวตนเป็นของตนเองและจิตนี้กำลังมองจิตผู้ฝึกซึ่งแยกออกมาต่างหาก ในอีกทางหนึ่ง ท่านสองขะปะกล่าวว่าเราต้องแยกความแตกต่างกันทั้งสองอย่างนี้ นั่นคือสติและความตื่นตัวด้วยความระมัดระวัง ท่านเตือนว่า “หากสับสนและนำภาวะของจิตใจทั้งหมดนี้มาปนกันและไม่สร้างความแตกต่างเหล่านี้ ก็จะทำเหมือนกับที่ผู้ฝึกสมาธิปัจจุบันในทิเบตทำกันในปัจจุบันนี้ ทุกอย่างก็มาผสมมั่วกันไปหมด และอาตมามีความเคลือบแคลงใจว่าพวกเขาจะบรรลุถึงภาวะการเพ่งพินิจด้วยจิตที่เป็นสมาธิแนวแนได้จริง”
ความตื่นตัวไม่ได้หมายถึงการสังเกตเห็นความหันเหในสติของเราเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงการกระตุ้น “ระบบเตือนภัย” ภายในอีกด้วย เพราะเมื่อเราเรียกการใส่ใจกลับคืนมาได้แล้ว เราก็สามารถแก้ไขการเพ่งใจของเราและสร้างสติขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตามความตื่นตัวและการเรียกการใส่ใจกลับคืนมานั้นจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อเราอาศัยองค์ประกอบอย่างที่สามของการเจริญสติด้วย นั่นคือ ทัศนคติที่เอาใจใส่
ทัศนคติที่เอาใจใส่
ทัศนคติที่เอาใจใส่ (ทิเบต: bag-yod บาลี: อปฺปมาทะ ซึ่งหมายถึงความระมัดระวัง ความมีหิริโอตตัปปะ) เป็นปัจจัยทางจิตใจที่ดูแลและระมัดระวังเกี่ยวกับภาวะของจิตใจ ปัจจัยนี้ปกป้องจิตใจของเราไม่ให้เอนเอียงไปยังด้านที่ทำลายและรักษาจิตใจให้อยู่ในด้านบวกที่เป็นประโยชน์ ดังนั้นด้วยการใช้ทัศนคติที่เอาใจใส่ เราถือสภาวะของจิตใจเราอย่างจริงจัง เรา “เอาใจใส่” ภาวะจิตใจของเรา ในลักษณะนี้ทัศนคติที่เอาใจใส่มีความคล้ายคลึงกับปัจจัยทางจิตใจที่อยากได้วัตถุที่เราจดจ่อตามที่พระวสุพันธุอธิบายไว้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสติ
พระวสุพันธุกล่าวว่า หากเราไม่ได้อยากได้วัตถุวัตถุเพ่งใจในขณะเวลาเฉพาะเจาะจง พูดอีกอย่างก็คือหากเราไม่ได้จดจ่อกับสิ่งนั้นอย่างใกล้ชิดในลักษณะของสิ่งที่ควรค่าแก่ความจำก็ว่าได้ เราก็จะไม่สามารถนึกถึงสิ่งนั้นได้ อย่างไรก็ตามทัศนคติที่เอาใจใส่อาศัยมากกว่าความอยากได้ มันไม่ใช่แค่การเอาใจใส่วัตถุเพ่งใจนั้นมากพอให้เราจำได้ หากแต่ทัศนคติที่เอาใจใส่ผลักดันให้เราใช้การเรียกการใส่ใจกลับมาใหม่ เพื่อแก้ไขการกำหนดสติในยามที่ความตื่นตัวจับได้ว่ามันกลายมีความผิดพลาดไปแล้ว หากเราไม่มีทัศนคติที่เอาใจใส่ เราก็จะไม่สนใจว่าเราลืมวัตถุที่เราจดจ่ออยู่ไปแล้ว ขณะเวลาปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเราจะรู้ตัวว่าเราถูกฟุ้งซ่านก็ตามที เพราะฉะนั้นทัศนคติที่เอาใจใส่ก็คือรากฐานของวินัยทางจริยธรรมในตัวเอง ซึ่งเราใช้หักห้ามตัวเองจากพฤติกรรมที่ทำลายนั่นเอง
คำศัพท์ภาษาทิเบตสำหรับทัศนคติที่เอาใจใส่ คือ bag-yod ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า “มีความความระมัดระวัง” ตรงข้ามกับคำว่า bag-med ซึ่งแปลว่าการขาดความระวัง หรือความไม่ระมัดระวัง อย่างไรก็ตามคำศัพท์ภาษาสันสกฤตดั้งเดิมที่แปลเป็นภาษาทิเบตว่า bag-yod นั้นคือคำว่า อประมาท ซึ่งหมายถึง “ความไม่ประมาท” ประมาทหมายถึงการมึนเมาหรือการมีจิตใจไม่คงที่ ซึ่งทำให้เราไม่สนใจถึงสิ่งที่เราพูดหรือกระทำ และไม่เอาใจใส่สิ่งที่เราพูดหรือกระทำด้วย ดังนั้นหากเรามีทัศนคติที่เอาใจใส่ เราก็จะไม่เป็นอย่างคนเมา เรามีความรู้ตัว สุขุม และรับผิดชอบ ซึ่งทำให้เราเอาใจใส่ภาวะของจิตใจเราได้
สรุป
การเจริญสติอาศัยการเชื่อมโยงอันซับซ้อนของปัจจัยทางจิตใจ โดยทั้งหมดมุ่งเน้นไปยังสิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในขณะเวลาปัจจุบันของประสบการณ์ นอกจากปัจจัยหลักทั้งสาม นั่นคือสติ ความตื่นตัว และทัศนคติที่เอาใจใส่แล้ว การเจริญสติยังต้องใช้การจำแนก การพิจารณาที่ถูกต้อง วินัยทางจริยธรรมส่วนตัว และการเรียกการใส่ใจกลับคืนมาเมื่อจำเป็น ดังนั้นเราจึงต้องมีความตระหนักรู้ที่แยกแยะเพื่อจำแนกปัจจัยเหล่านี้ออกจากกันด้วยความชัดเจน เพราะฉะนั้นมีความตระหนักรู้ที่แยกแยะในบริบทของการเจริญสตินั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่การจดจ่ออยู่กับด้านใดด้านหนึ่งของวัตถุเพ่งใจ เช่น ความไม่เที่ยงของขณะเวลาแต่ละขณะในประสบการณ์ของเรา แต่ยังมุ่งเน้นไปยังด้านต่าง ๆ ของภาวะจิตใจในขณะที่เราทำสมาธิด้วย
เพราะฉะนั้นในการอภิปรายเกี่ยวกับการพัฒนาภาวะสมถที่เงียบสงบและคงที่ ท่านสองขะปะจึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการพึ่งพาตำราขั้นสูงของปรมาจารย์พระพุทธศาสนาชาวอินเดีย ท่านแนะนำว่า
อย่าเอาแต่หวังว่าจะสามารถผลักดันตัวเองอย่างแน่วแน่ด้วยความกระตือรือร้นที่ขาดความรู้ อย่างที่ท่านอารยะศูระ (Aryashura) ได้เขียนไว้ใน Compendium of the Far-Reaching. Attitudes (สันสกฤต: ปารมิตาสมาส) ว่า “หากใช้แต่เพียงความกระตือรือร้น คุณก็จะจบด้วยการเหนื่อยเปล่า แต่หากคุณฝึกฝนตัวเองโดยการใช้ความตระหนักรู้ที่แยกแยะเข้ามาช่วย คุณก็จะบรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ได้”