โดยสรุป หัวข้อของเรา มุมมองชีวิตแบบพระพุทธศาสนา ว่าด้วยวิธีการนำหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวัน หลักคำสอนเหล่านี้มีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ จุดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราอาจศึกษาหลักคำสอนและฝึกเจริญสมาธิทุกวันก็จริง แต่กลับไม่เข้าใจกระจ่างชัดว่าจะนำหลักเหล่านี้ไปใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันได้อย่างไร หลักคำสอนเหล่านี้มีความหมายอย่างไรในเชิงปฏิบัติกันแน่ หลักคำสอนเปลี่ยนชีวิตเราอย่างไร หรือส่งผลกระทบต่อตัวเราอย่างไร หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เราทำในยามว่าง เหมือนกับงานอดิเรก หรือการหลบหนีจากความยุ่งยากทั้งหลายในชีวิตหรือเปล่า เรานำตัวเองเข้าไปอยู่ในจินตทัศน์ (visualisation) หรือภาพเพ้อพกอันน่ารื่นรมย์ หรือว่าการปฏิบัติของเราเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ยิ่งและช่วยเหลือการดำเนินชีวิตของเราจริง ๆ กันแน่ ท้ายที่สุดแล้ว นี่ก็คือสิ่งที่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนามุ่งหวัง นั่นคือการช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามความทุกข์และปัญหาทั้งปวงในชีวิตเรานั่นเอง
แนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์
ในบทสวดมนต์ขนาดสั้นที่มีชื่อว่า การปฏิบัติสามประการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (Three Practices to Be Done Continually) ซึ่งมักสวดก่อนหลักคำสอนส่วนใหญ่ เราสามารถพบแนวปฏิบัติที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการนำหลักคำสอนไปใช้ในชีวิตประจำวัน ในบทสวดนี้ เราจะพบประโยคที่ว่า:
จงอย่ากระทำสิ่งใดอันเป็นเชิงลบเด็ดขาด จงกระทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างงามสง่า; จงกำราบจิตของตนเองอย่างสมบูรณ์ เหล่านี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้า
นี่คือประเด็นที่สำคัญที่สุดในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ในประโยคแรกที่ว่า จงอย่ากระทำสิ่งใดอันเป็นเชิงลบเด็ดขาด คำว่า เชิงลบ หมายถึงสิ่งที่ก่อให้เกิดโทษแก่ตนเอง สิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาและความทุกข์กับผู้อื่น หรือตนเองในระยะยาว ดังนั้นสิ่งแรกที่เราพึงกระทำในการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาคือ พยายามอย่าทำอันตรายผู้อื่นหรือตัวเราเอง ประโยคที่สองกล่าวว่า จงกระทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างงามสง่า คำว่า ประโยชน์ หมายถึงสิ่งที่นำพาเรื่องดี ๆ มาสู่ผู้อื่นและตัวเราและนำความสุขมาให้
ในการกระทำเช่นนั้น ประโยคที่สามกล่าวว่า จงกำราบจิตของตนเองอย่างสมบูรณ์ ประโยคนี้ชี้ให้เห็นถึงบ่อเกิดของการกระทำที่ก่อให้เกิดโทษและประโยชน์ของเรา ในการบรรลุการขจัดสิ่งแรก (การกระทำที่ก่อให้เกิดโทษ) และปฏิบัติสิ่งหลัง (การกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์) เราจำเป็นต้องฝึกปรือตนเอง กล่าวคือฝึกทัศนคติและอารมณ์ทั้งหลาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากจิตของเรานั่นเอง ทัศนคติและอารมณ์ของเราจะส่งผลต่อวิธีการมีปฏิสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่น วิธีการกระทำ การพูด และการคิดในชีวิต จึงนำมาสู่ประโยคสุดท้ายที่ว่า เหล่านี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้า
ทำความเข้าใจความเป็นจริง
หากเราพิจารณาให้ลึกขึ้นอีกสักนิด ตามที่อาจารย์สอนพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นสหายของข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ แนวทางพื้นฐานของพระพุทธศาสนาคือการรู้สภาพที่เป็นจริง กล่าวคือรู้ว่าความเป็นจริงคืออะไรและจัดการกับมันในลักษณะตามความเป็นจริง กล่าวอีกอย่างก็คือ เราจำเป็นต้องตั้งพฤติกรรมและความเข้าใจเรื่องสิ่งต่าง ๆ ให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
ความเป็นจริงคืออะไร ความเป็นจริงคือเหตุและผล หรือสิ่งที่มักเรียกกันว่า “การอุบัติสัมพันธ์ (dependent arising)” สิ่งต่าง ๆ อุบัติขึ้น หรือเกิดขึ้นโดยสอดคล้องกันในเชิงเหตุและผล กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การกระทำที่เป็นโทษและเป็นประโยชน์ของเราล้วนมาจากเหตุต่าง ๆ หากเราพิจารณาพฤติกรรมของเราแล้ว เราจะเห็นว่าพฤติกรรมนั้นย่อมก่อให้เกิดปัญหา หรือไม่ก็นำมาซึ่งความสุขและประโยชน์สุขต่อตัวเราเองและผู้อื่น แต่เราจำเป็นต้องพิจารณาพฤติกรรมของเราโดยไม่ด่วนตัดสิน การไม่ด่วนตัดสินเป็นวิธีที่สำคัญอย่างยิ่งในการจัดการกับชีวิต
พุทธจริยธรรมไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดขึ้นโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือกำหนดโดยสภานิติบัญญัติ หรือผู้ปกครองใด ๆ หากเรามีจริยธรรมที่อิงจากกฎหมายเช่นนั้น เราย่อมด่วนตัดสิน หากเราปฏิบัติตามกฎหมายและข้อปฏิบัติต่าง ๆ เราถือว่าตนเป็นคนดีและย่อมได้รับรางวัลตอบแทน และหากเราไม่ปฏิบัติตาม หากเราละเมิดกฎนี้ เราถือว่าตนเป็นคนเลวและสมควรได้รับการลงโทษ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นพุทธจริยธรรม หรือวิธีการจัดการกับชีวิตในแบบพระพุทธศาสนา จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรพึงระลึก เมื่อตระหนักได้ว่าเราด่วนตัดสินตนเอง นี่คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติอันหยั่งลึกรูปแบบหนึ่งที่เราต้องพยายามกระทำ กล่าวคือจงหยุดด่วนตัดสินตนเอง ยกตัวอย่างเช่น การคิดว่าเราแย่ เราไม่เอาไหน เราไม่ดีพอ หรือว่าสิ่งที่เราทำนั้นช่างเลวร้ายเหลือเกิน
แทนที่จะทำเช่นนั้น เราพึงพิจารณาวิธีการจัดการกับชีวิตในเชิงเหตุและผล หากเราสร้างปัญหาและก่อเรื่องยุ่งเหยิงไว้ สิ่งเหล่านี้อุบัติขึ้นเนื่องจากเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ มันไม่ใช่เพราะว่าเราไม่ดี หากเราพิจารณาให้ลึกลงไป เราจะพบว่าเราสับสนเกี่ยวกับสถานการณ์นั้น เราไม่เข้าใจ จริง ๆ แล้วสิ่งนี้ล้วนมาจากการแสดงภาพ (projection) ของเรา เรามักจะทำสิ่งต่าง ๆ ให้เกินความเป็นจริงและแสดงภาพที่ไร้สาระต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับตนเอง สถานการณ์ และผู้คนรอบตัวเรา จากนั้นเราก็มักเชื่อว่าการแสดงภาพเช่นนี้สอดคล้องกับความเป็นจริง ในเมื่อจริง ๆ แล้วมันไม่สอดคล้องกันเลย หากเราพิจารณาตนเองและเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงปฏิบัติในลักษณะต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโทษ เรามักพบว่าเราได้แสดงภาพไร้สาระบางประการเกี่ยวกับสิ่งใดก็ตามที่ผูกติดอยู่กับสถานการณ์นั้นและเรากำลังตอบโต้การแสดงภาพดังกล่าว
ความจริงสองประการ
ในช่วงที่ผ่านมานี้ สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงตรัสอยู่หลายครา เกี่ยวกับสิ่งที่อาจเป็นวิธีการเชิงสากลที่สุดในการช่วยเหลือให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างมีปัญหาน้อยลง ท่านไม่ทรงจำกัดพระองค์อยู่เพียงในหมู่ของพุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่ทรงตรัสสำหรับสากล เช่นเดียวกับความเป็นห่วงเป็นใยของท่าน ท่านทรงตรัสว่าเราต้องเริ่มต้นด้วยการเข้าใจความจริงสองประการ ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานที่สุด เราไม่จำเป็นต้องมองความจริงสองประการนี้ในเชิงซับซ้อนมากมาย แต่มองในระดับพื้นฐานกว่านั้นมากที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ ด้านหนึ่งมีการแสดงภาพที่อิงจากความเกินจริง หรือไม่ได้อิงจากสิ่งใดเลย นอกจากความคิดพิเรนทร์ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือความเป็นจริง ทั้งสองด้านนี้คือความจริงสองประการ
สำหรับจิตที่สับสนแล้ว การแสดงภาพเหล่านั้นดูเป็นความจริง เช่น “ฉันเป็นคนขี้แพ้ ฉันไม่ได้เรื่อง ไม่มีใครรักฉันเลย” หรือ “นี่เป็นหายนะครั้งใหญ่ที่สุดในโลกเลย” เมื่อทำอาหารมื้อนั้นไหม้ หรือเมื่อร้านอาหารไม่มีเมนูที่เราสั่ง หรือเมื่อเราติดอยู่ในการจราจรและเราคิดว่าเราคงไม่ถึงบ้านเป็นแน่ เราทำสิ่งเหล่านี้ให้รุนแรงเกินความเป็นจริงและแสดงภาพว่ามันเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่เคยเกิดขึ้น เช่น การติดอยู่ในจราจรเช่นนี้จะคงอยู่ตลอดไป เรายึดมั่นว่าการแสดงภาพเหล่านี้เป็นเรื่องจริง เช่นนี้คือความจริงเชิงสามัญ ซึ่งหมายถึงสิ่งที่จิตอันสับสนย่อมพิจารณาว่าเป็นความจริง
นอกจากนี้ก็มีความเป็นจริง ซึ่งหมายถึงความจริงที่ลึกสุขุมที่สุด ความเป็นจริงคือจราจรเกิดติดขัดขึ้นเพราะเหตุและสถานการณ์ต่าง ๆ กล่าวคือเป็นช่วงเร่งรีบและทุกคนต่างอยากจะกลับบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราคาดหวังอย่างไรล่ะ มันก็เหมือนกับการบ่นเรื่องอากาศหนาวในฤดูหนาว เราคาดหวังอย่างไรล่ะ ในเมื่อมันเป็นฤดูหนาวนี่นา มันย่อมเป็นเช่นนั้นแหละ
เราจำเป็นต้องแยกแยะระหว่างความจริงทั้งสองประการ และเมื่อเราตระหนักได้แล้วว่าเรากำลังทำเรื่องให้เกินความเป็นจริงและแสดงภาพไร้สาระเช่นนี้ จงทำลายสิ่งไร้สาระนี้เสีย กล่าวโดยสรุปคือ จงเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราในชีวิต เราต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างความจริงทั้งสองประการและประสานความเข้าใจดังกล่าวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิตเรา ประการนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นนี้ได้รับการระบุไว้ในประโยคถัดไปของบทสวดเดียวกันนี้:
ดั่งดวงดารา ความพร่ามัว หรือคบไฟ (ที่หมุนควง) ภาพลวงตา หยาดน้ำค้าง หรือฟองน้ำ ความฝัน แสงแปลบปลาบบนฟากฟ้า หรือหมู่เมฆ จงคิดถึงปรากฏการณ์ที่เกิดผลกระทบเช่นนั้นแล
เราต้องตระหนักให้ได้เมื่อเรากำลังทำเรื่องต่าง ๆ ให้เกินจริงและแสดงภาพต่าง ๆ ให้เรื่องไม่เป็นเรื่อง หรือเรื่องขี้ปะติ๋วกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เราต้องตระหนักว่าสิ่งที่ดูเหมือนจริงนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา เป็นความฝัน เป็นฟองน้ำ และอื่น ๆ มันไม่ได้เป็นรูปธรรมมั่นคงเหมือนที่เห็น ดังนั้น เราจึงไม่เชื่อว่ามันสอดคล้องกับความเป็นจริง การที่เราไม่เชื่อนี้จึงเป็นเหมือนกับการเจาะลูกโป่งแห่งภาพเพ้อฝันของเรานั่นเอง
การแสดงภาพ
การแสดงภาพ (projection) แบ่งได้ง่าย ๆ ออกเป็นสองประเภทด้วยกัน บางอย่างก็มีประโยชน์และบางอย่างก็ก่อให้เกิดอันตราย การแสดงภาพแบบใดที่เป็นประโยชน์หรือ เราอาจมีเจตนาเชิงบวกหรือเชิงเป็นกลาง เช่น เราอาจมีเจตนาในการจัดทริปเดินทาง เราจะเดินทางจากจุดนี้ไปยังอีกจุดหนึ่งและเราคิดล่วงหน้า นั่นล่ะคือการแสดงภาพ กล่าวคือเราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราต้องนำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปด้วย เราต้องทำการจองสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น การแสดงภาพประเภทนี้ใช้กับกิจวัตรการทำงานหรือรายการซื้อของเวลาเราไปร้านค้าได้ด้วย เช่นนี้คือการแสดงภาพเกี่ยวกับสิ่งที่เราเจตนาจะทำ วางแผนว่าเราจะทำสิ่งนั้นให้เสร็จอย่างไร เรามักทำเช่นนี้ในที่ทำงานเมื่อเราวางแผนว่าจะทำสิ่งใดให้เสร็จสมบูรณ์บ้างในปีนั้น
ถึงกระนั้นแล้ว เราก็จำเป็นต้องตระหนักว่าแผนที่เราสร้างขึ้นนั้นเป็นเหมือนฝัน จุดนี้มีความหมายว่าอย่างไรในเชิงปฏิบัติ มันหมายถึงการมีความยืดหยุ่น สิ่งเหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดผลกระทบ ตามที่กล่าวถึงในบทสวดมนต์ สิ่งเหล่านี้เกิดผลกระทบจากเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งมักเรียกว่า “ปรากฏการณ์ตามเงื่อนไข” สิ่งต่าง ๆ อุบัติขึ้นจากเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนั้นเมื่อเราวางแผน สถานการณ์นั้นจะได้รับผลกระทบจากเหตุและเงื่อนไขทั้งหลาย ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลง เช่น เที่ยวบินนั้นไม่มีที่นั่งว่างเหลือแล้ว ถึงแม้ว่าเราวางแผนจะเดินทางด้วยเที่ยวบินนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนแผนอยู่ดี แทนที่จะบ่นหรืออารมณ์เสียกับเรื่องนี้ เราพึงยอมรับความเป็นจริง เช่นนี้ล่ะคือสิ่งที่เราต้องฝึกตนเองให้ปฏิบัติ เมื่อเราติดอยู่ในแผนการเดิมที่วางไว้และไม่มีความยืดหยุ่นพอที่จะตระหนักได้ว่า แผนการเดิมนั้นเป็นเพียงภาพลวงตา หรือเป็นเหมือนกับฟองน้ำและการเปรียบเปรยอื่น ๆ ในบทสวดข้างต้น เราจึงยึดมั่นถือมั่นกับแผนการนั้น
การยึดมั่นถือมั่นในลักษณะนี้ทำให้เกิดอะไรขึ้นมาหรือ มันทำให้เกิดสภาวะจิตที่ไม่เป็นสุขเอามาก ๆ เราอาจรู้สึกโกรธหรืออารมณ์เสียมากก็เป็นได้ มันทำให้เราเศร้าและไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิ่งใดในสถานการณ์นั้นได้เลย การสบถด่าการจราจรที่ติดขัดไม่ช่วยอะไร การบีบแตรก็ไม่ช่วยอะไรทั้งสิ้น สิ่งเดียวที่ช่วยได้คือการยอมรับความเป็นจริงว่าสถานการณ์ที่เราหวังไว้ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เราวางแผนจะไปถึงตอนเวลาหนึ่ง แต่เราพลาดรถไฟ หรือรถไฟขบวนนั้นเกิดล่าช้า แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ นี่คือการนำหลักคำสอนไปใช้ในเชิงปฏิบัติในชีวิต
เราจำเป็นต้องเข้าใจว่ามีการพิจารณาสรรพสิ่งในลักษณะที่ถูกและผิด ลักษณะที่ผิดคือการคิดว่าสิ่งที่เกิดผลกระทบจากเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอนั้นเป็นสิ่งถาวรและคงอยู่กับที่ เหมือนกับแผนการบางอย่างที่ต้องคงที่อยู่เสมอ การคิดในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติมาก เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแผนการเมื่อต้องเปลี่ยนและเมื่อสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่เราวางแผนไว้ เราอาจจะติดอยู่ในจราจร หรือผู้อื่นยกเลิกนัด หรืออะไรทำนองนั้น ในตำรา ปฏิบัติจริยวัตรเช่นพระโพธิสัตว์ (Engaging in Bodhisattva Behavior) ท่านศานติเทวะได้ระบุคำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ไว้:
หากสามารถบรรเทาได้ ใยจึงต้องอารมณ์เสียเกี่ยวกับสิ่งนั้น หากมิสามารถบรรเทาได้ จะไปอารมณ์เสียเรื่องนั้นเพื่ออันใดเล่า
คำแนะนำนี้อยู่ในระดับพื้นฐานมาก เป็นสิ่งที่เราพึงซึมซับและทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกับชีวิต หากเราตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากในชีวิตและเราสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ ก็เปลี่ยนแปลงเสีย หากเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและไม่สามารถทำสิ่งใดได้เลย ถ้าอย่างนั้นก็ป่วยการที่จะอารมณ์เสีย ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋าของเราสูญหายไประหว่างการเดินทางและเราไม่สามารถได้กระเป๋าคืนมาภายในสองสามวันนี้ เราก็ต้องยอมรับความเป็นจริงนั้น
ผมมีประสบการณ์ที่น่าสนใจมากเมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน ผมกำลังเดินทางไปยังการสอนของสมเด็จองค์ดาไลลามะในฮอลแลนด์ ผมไปที่สนามบินเพื่อบินไปยังอัมสเตอร์ดัมและกำลังเข้าแถวรอเช็คอิน ระบบคอมพิวเตอร์เกิดล่มขึ้นมา ทำให้แถวยาวเหยียดออกไป ทุกคนต่างร้อนรนใจว่าจะไม่สามารถเช็คอินได้ทันเวลาขึ้นเครื่อง ถึงจุดหนึ่งผู้คนที่อยู่ข้างหน้าผมในแถวก็หยิบตั๋วและหนังสือเดินทางออกมา และเมื่อผมกำลังจะทำเช่นนั้นบ้าง ผมก็เพิ่งรู้ว่าลืมเอาหนังสือเดินทางของตนเองมาด้วย ผมไม่สามารถเช็คอินโดยไม่ใช่หนังสือเดินทางและผมเองก็ไม่มีบัตรประชาชนของชาวเยอรมัน
นี่เป็นครั้งแรกที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในชั่วชีวิตของผม ผมทำอย่างไรน่ะหรือ ผมอยู่ในสนามบินและไม่มีทางใดเลยที่จะกลับไปยังอพาร์ทเมนท์และกลับมาสนามบินอีกครั้งพร้อมหนังสือเดินทางให้ทันขึ้นเครื่อง ผมอารมณ์เสียกับเรื่องแบบนี้หรือ มันไม่ช่วยอะไรหรอก ผมโกรธไหม นั่นก็ไม่ช่วย ผมไปที่โต๊ะประชาสัมพันธ์และถามว่ามีเที่ยวบินหลังจากนี้ไหม ปรากฏว่าไม่มีเที่ยวบินจากสนามบินนี้เลย แต่คืนนั้นมีเที่ยวบินหนึ่งจะออกจากอีกสนามบินหนึ่งที่อยู่อีกฟากของเมือง นี่หมายความว่าผมจะพลาดงานตอนกลางคืนที่วางแผนว่าจะเข้าร่วม ผมทำอย่างไรหรือ ผมกลับบ้าน จองเที่ยวบินอีกเที่ยวเพื่อบินคืนนั้นและจบเพียงเท่านั้น
ประสบการณ์ในลักษณะนี้เป็นบททดสอบว่าเราได้ประสานหลักคำสอนเข้ากับชีวิตเราอย่างไร เราอารมณ์เสียกับเรื่องทั้งหมดและร้อนรนหรือเปล่า การโกรธของเรารังแต่จะทำให้เราเจ็บปวดแล้วเศร้าหมอง เราต้องยอมรับความเป็นจริงของสถานการณ์นั้นทันทีและจัดการกับสิ่งที่จำเป็นต้องทำ นั่นคือวิธีที่เราผสมผสานและใช้ประโยชน์จากหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องความไม่เที่ยงแท้ในเชิงปฏิบัติ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับการแสดงภาพทั้งหลาย เช่น ภาพที่ผมได้วางแผนจะขึ้นเที่ยวบินนี้ นั่งรถไฟจากสนามบินอัมสเตอร์ดัมไปยังรอตเทอร์ดามเพื่อไปร่วมงานตอนกลางคืน นั่นเป็นเหมือนฝันและมันจะไม่เกิดขึ้นในลักษณะนั้น เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้นเราก็ทำตามอีกแผนหนึ่ง
จุดนี้สัมพันธ์กับการแนะนำขั้นพื้นฐานสำหรับการเจริญสมาธิ กล่าวคือ เราต้องฝึกเจริญสมาธิโดยไร้ซึ่งความคาดหวังใด ๆ หากเราไม่มีความคาดหวังใด ๆ เราย่อมไม่มีความผิดหวังใด ๆ นั่นคือพื้นฐานสำหรับการนำพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติจริง
พี่สาวของผมมีลูกชายสองคนและหลานสี่คน ผมมักสนับสนุนให้เธอไม่คาดหวังว่าลูก ๆ หรือหลาน ๆ จะโทรหาเธอ หากเราคาดหวังเช่นนั้น เราย่อมต้องผิดหวังเพราะพวกเขาไม่ทำเช่นนั้นหรอก หากเราอยากพูดกับใครสักคน เราก็เพียงโทรหาคนนั้น มันง่ายเช่นนั้นเลย เราเพียงแต่ยอมรับความเป็นจริง หากเราเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นได้ จงเปลี่ยนเสีย หากเราไม่อาจเปลี่ยนได้ เราก็เปลี่ยนไม่ได้ เราจะไม่ได้กระเป๋าเดินทางกลับมาเร็วกว่าที่มันควรจะเป็น เราพึงยอมรับข้อนั้นเสีย
โดยสรุปแล้ว มีการแสดงภาพสองประเภทด้วยกัน ประเภทหนึ่งมีประโยชน์ เช่น เราจำเป็นต้องวางแผนต่าง ๆ เราจำเป็นต้องจองตั๋วเครื่องบินหากต้องการเดินทางไปที่ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม การแสดงภาพประเภทอื่น ๆ ไม่เป็นประโยชน์ ทั้งยังเป็นอันตรายอีกด้วย
การสะท้อนภาพและการปฏิบัติใช้ในสถานการณ์จริง
ก่อนที่เราจะไปดูการแสดงภาพเชิงอันตราย การหยุดสักนิดเพื่อสะท้อนภาพสถานการณ์ตนเองเป็นความคิดที่ดี เรามีความยืดหยุ่นมากแค่ไหน เราอารมณ์เสียแค่ไหนเวลาสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เราติดยู่ในตารางเวลาตายตัวที่สิ่งต่าง ๆ ควรเป็นอย่างไรแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น งานนี้จะต้องเสร็จเวลานี้เป๊ะ หรือถ้าเราไปร้านอาหาร พวกเขาจะต้องมีอาหารจานนี้ที่เราชอบและจะต้องมาเสิร์ฟอย่างรวดเร็ว เรายึดติดกับแผนการหรือการคาดหวังบางประการมากแค่ไหน ลองสังเกตว่าเวลาเราผิดหวังนั้นให้ความรู้สึกไม่น่ารื่นรมย์เพียงใด เราผิดหวังเพราะความคาดหวังของเรา เราคิดว่าแผนของเราจะต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงว่าสิ่งต่าง ๆ จะต้องดำเนินไปด้วยดี
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับเหตุและเงื่อนไขทั้งหลาย ร้านอาหารอาจขายอาหารที่เราต้องการหมดแล้ว สิ่งเหล่านี้คือเหตุและเงื่อนไข รถไฟมาล่าช้า เราติดอยู่บนถนนและตกเที่ยวบิน สิ่งเหล่านี้คือเหตุและเงื่อนไข ลองใช้เวลาสองสามนาทีพิจารณาดูเถิดว่าคุณมีความยืดหยุ่นมากแค่ไหน นี่เป็นสิ่งที่คุณควรฝึกฝนหรือเปล่า การเรียนรู้เกี่ยวกับความไม่จีรังยั่งยืน หรือจดจ่ออยู่กับลมหายใจและตระหนักได้ว่าลมหายใจเป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืนนั้นไม่เพียงพอ การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องดี แต่เราจะนำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตได้อย่างไร นั่นคือด้านที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเข้าใจความไม่จีรังยั่งยืน
ลองคิดถึงตัวอย่างที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป เช่น การทำจานตกจนแตก คุณมีอารมณ์โต้ตอบสถานการณ์นี้อย่างไร คุณกำลังทำอาหารอยู่และทำอาหารไหม้ คุณจัดการกับเรื่องนี้ในเชิงอารมณ์อย่างไร จุดนี้เผยให้เห็นถึงความก้าวหน้าของเรา เราพยายามจะทำบางอย่างในคอมพิวเตอร์หรือในโทรศัพท์ แต่มันไม่ได้ผล คุณสามารถลองทำอย่างอื่นทันทีเลยได้ไหม หรือคุณโมโห คุณสบถออกมาหรือเปล่า
สิ่งเหล่านี้คือการนำหลักคำสอนไปใช้ในเชิงปฏิบัติจริง หากเราโมโหในสถานการณ์เหล่านั้นและไม่สามารถเปลี่ยนเป็นแผนสองได้ เพราะมันย่อมมีวิธีอื่นในการทำสิ่งนั้นในโทรศัพท์ ในคอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ อยู่แล้ว หากเราโมโห นั่นหมายความว่ายังมีจุดที่เราต้องฝึกฝนเพิ่มนั่นเอง
การแสดงภาพเชิงอันตราย
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างตน ในการแสดงภาพสองประเภทนี้ มีประเภทหนึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนและจัดตารางเวลา ส่วนอีกประเภทนั้นก่อให้เกิดอันตราย ลองจินตนาการถึงการคิดว่า “ฉันเป็นพวกขี้แพ้ ไม่มีใครรักฉันเลย คนนี้เป็นคนที่แย่เสียจริง” และอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเชิงอันตราย หรือการคิดว่าถ้าทำอาหารไหม้ หรือถ้าตกรถไฟ จะต้องเป็นหายนะสุด ๆ การแสดงภาพเชิงอันตรายเช่นนี้ตั้งอยู่บนการทำเรื่องให้เกินจริง
เมื่อเกิดโทสะ เราขยายคุณสมบัติเชิงลบของสิ่งนั้นให้มากเกินจริงและระเบิดอารมณ์ออกมา หลายคนประสบกับเหตุการณ์นี้ในรถไฟใต้ดินหรือรถราง ในขณะที่เราเดินลงบันไดไป รถไฟเคลื่อนออกไปจากชานชาลาพอดี เราจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร เราสถบหรือเปล่า การต้องรออีกห้าหรือสิบนาทีไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายที่สุดในโลกหรอก แต่เราก็ยังระเบิดออกมาและโต้ตอบด้วยความโมโหโกรธา ซึ่งทำให้เราไม่มีความสุขและไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา จริงไหม
เมื่อมีความโลภและยึดติด เราคิดว่าบางอย่างนั้นเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุดในโลก หรือว่าเราอยู่กับบุคคลที่เลิศเลอที่สุด เราทำเรื่องให้เกินจริง ตกหลุมรัก และมองเห็นแต่ด้านดี ๆ ที่เกินจริงของผู้นั้น เราคาดหวังว่าผู้นั้นจะต้องทำตัวให้สมกับด้านเกินจริงที่เราสร้างขึ้น แต่ไม่มีใครทำได้เช่นนั้น เราจึงผิดหวังนั่นเอง
ทัศนคติเหล่านี้เต็มไปด้วยปัญหา หลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรามองสิ่งต่าง ๆ จากมุมมองที่คับแคบ ยกตัวอย่างเช่น สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อเราเผชิญอุปสรรคในชีวิต หรือมีใครปฏิเสธเรา หรือมีคนทำสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ใส่เรา คนที่เราอยู่ในความสัมพันธ์ด้วยทำสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่โทรหาเราในวันเกิดเรา หรืออารมณ์เสียและตะโกนใส่เรา หรืออะไรก็ตาม เราจดจ่ออยู่กับเหตุการณ์นี้อย่างเดียว เราไม่เห็นภาพโดยกว้างของความสัมพันธ์โดยรวม เราเพียงแต่ระบุสถานการณ์นั้นด้วยสิ่งแคบ ๆ นี้ ซึ่งทำให้เราโกรธมาก
หากเราเผชิญกับความยากลำบากหรืออาการเจ็บป่วย เราอาจคิดว่า “ฉันช่างน่าสงสารเสียจริง ฉันเป็นคนเดียวที่ต้องมาทนกับอะไรแบบนี้” นี่ก็เป็นมุมมองที่คับแคบเช่นกัน มันเป็นการแสดงภาพที่เกิดจากการไม่เห็นภาพรวมโดยกว้าง ยกตัวอย่างเช่น “ไม่มีใครรักฉันเลย” หากเราพิจารณาชั่วชีวิตของเราอย่างครอบคลุมแล้ว ไม่มีใครในชีวิตนี้เคยรักเราเลยเหรอ สุนัขของเราไม่รักเราเหรอ ไม่มีใครเคยดีกับเราหรือใส่ใจเราเลยหรือ อีกตัวอย่างคือ “ฉันเป็นคนขี้แพ้” นั่นเป็นความจริงหรือ เป็นความจริงไหมที่ว่าเราไม่เคยทำอะไรสำเร็จ เราประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ที่จะเดินหรือใช้ห้องน้ำ ดังนั้นเราก็เคยประสบความสำเร็จกับบางเรื่องมาก่อน
จุดนี้ชี้ให้เห็นอีกครั้งว่าการแสดงภาพของเราไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แต่เราอยากให้มันสอดคล้องกับความเป็นจริง เราจึงเชื่อว่ามันเป็นเช่นนั้น เราอยากให้คู่ของเราเป็นคนที่เลิศเลอที่สุด เป็นคนพิเศษในโลก ตัวอย่างที่ดีสำหรับกรณีนี้คือ ฝูงเพนกวินในแอนตาร์คติกาและลักษณะที่พวกมันมีคู่ชีวิตเดียวอยู่ชั่วชีวิต สำหรับพวกเรา เพนกวินก็ดูเหมือนกันหมด แต่สำหรับเพนกวินแล้ว มีเพียงตัวเดียวในหมู่พวกมันที่พิเศษ แน่นอนว่าจากมุมมองของเพนกวินแล้ว มนุษย์ย่อมดูเหมือนกันหมด แต่สำหรับเรา ใครจะรักเราก็ไม่สำคัญ ไม่เลย ต้องเป็นคุณเท่านั้น คนที่พิเศษที่สุด ต้องเป็นคุณที่รักฉัน การขยายความให้เกินจริงในลักษณะนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าใดนัก
ปฏิเสธความเป็นจริง
การแสดงภาพเชิงอันตรายอีกอย่างหนึ่งคือการปฏิเสธความเป็นจริง มองไม่เห็นความเป็นจริงของผู้อื่นและปฏิเสธความจริง การแสดงภาพเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อเราสร้างรูปธรรมให้กับบุคคลและทำให้พวกเขาเป็นเหมือนวัตถุโดยไม่คิดว่าพวกเขาเป็นปุถุชนทั่วไปที่มีความรู้สึก ในพระพุทธศาสนามีประโยคที่เป็นที่รู้จักกล่าวไว้ว่า “ทุกคนอยากมีความสุขและไม่มีใครอยากเป็นทุกข์” เรานำประโยคนี้มาใช้กับผู้อื่นอย่างจริงจังแค่ไหน บ่อยครั้งที่เราละเลยจุดนี้และทำตัวราวกับว่าเราจะปฏิบัติหรือพูดกับผู้อื่นอย่างไรก็ได้ ราวกับว่าเหตุและผลของการกระทำไม่สำคัญและทุกคนไร้ซึ่งความรู้สึก
ยกตัวอย่างเช่น มีคนผู้หนึ่งในออฟฟิศเราเป็นคนที่น่ารังเกียจและไม่น่าคบเอามาก ๆ ถึงกระนั้นแล้วคนผู้นั้นก็ยังอยากมีความสุขและไม่อยากเป็นทุกข์ เขาย่อมอยากให้ผู้อื่นชอบเขาและไม่อยากให้ผู้อื่นรังเกียจเขา เขาทำตัวไม่น่าคบ เพราะเขาสับสนเป็นอย่างมากว่าสิ่งใดจึงจะนำพาความสุขมาสู่ตน จุดนี้โยงกลับไปที่การไม่ด่วนตัดสินอีกครั้ง อย่างที่ท่านศานติเทวะกล่าวไว้ว่า เราทำลายความสุขของตนเองราวกับว่ามันเป็นศัตรูของเรา กล่าวอีกอย่างคือ เราวิ่งไปสู่สาเหตุของความทุกข์นั่นเอง หากผู้ใดปฏิบัติตนในลักษณะเห็นแก่ตัวเหลือทน ย่อมทำให้ทุกคนปฏิเสธเขา ไม่มีใครชอบการปฏิบัติตนในลักษณะนั้น แต่คนผู้นั้นกลับคิดว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้ตนมีความสุขได้
จุดนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยามเผชิญหน้ากับผู้อื่น พยายามทำความเข้าใจว่า “คุณอยากมีความสุขเหมือนกับที่ฉันอยากมีความสุข คุณมีความรู้สึกเหมือนกับที่ฉันก็มีความรู้สึก คุณไม่อยากเป็นทุกข์และอยากเป็นที่ชื่นชอบเหมือนกับฉัน คุณไม่อยากเป็นที่รังเกียจหรือโดนปฏิเสธเหมือนกับฉัน” การฝึกความเข้าใจในลักษณะนี้มีประโยชน์มากเวลาเราอยู่บนรถบัสหรือติดจราจร ทุกคนต่างก็อยากไปให้ถึงจุดหมาย ไม่มีใครอยากนั่งแช่อยู่ในจราจรติดขัด ซึ่งไม่ต่างจากเรา จึงไม่มีเหตุผลใด ๆ ให้โมโหผู้อื่น ทุกคนต่างมีความรู้สึกเหมือนกับเราทั้งนั้น
ประโยคที่ช่วยได้มากคือ “ไม่ใช่คนทุกคนที่ชมชอบพระพุทธเจ้า ไฉนเลยเราจึงคาดหวังว่าทุกคนจะต้องชอบเรา” หรือ “พวกเขาจับพระเยซูตรึงไม้กางเขนได้ แล้วเราคาดหวังว่าเขาจะทำกับเราเช่นไรได้บ้าง” ทุกคนจะต้องรักเราอย่างนั้นหรือ ประโยคเหล่านี้ช่วยได้มากเวลาที่มีคนไม่ชอบเรา หรือไม่ปฏิบัติต่อเราในเชิงบวกตามที่เราต้องการ ประโยคเหล่านี้ช่วยคานความคาดหวังและการแสดงภาพที่ไม่สมจริงอย่างมากในเชิงปฏิบัติของชีวิต เราอาจคิดว่า “ฉันย่อมถูกอยู่เสมอและทุกคนต้องฟังฉัน” แต่แล้วทำไมพวกเขาจึงต้องทำเช่นนั้นด้วยเล่า
พึงระลึกว่าเรากำลังแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นความจริงและสิ่งที่ไม่ใช่ เราอาจมีเจตนาที่จะทำตัวให้ดีขึ้น ปรับปรุงตัว มีสมาธิมากขึ้น หรืออะไรก็ตาม การทำตัวให้ดีขึ้นยามที่เราสามารถทำได้จริงนั้นถือเป็นการคาดหวังที่สมจริง แต่เมื่อเราคิดว่า “ฉันจะต้องเป็นคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตคุณอยู่เสมอ คุณควรจะว่างสำหรับฉันเสมอสิ” เพื่อที่เมื่อคู่ของเรากลับบ้านจากที่ทำงาน ซึ่งดูเหมือนว่าชีวิตเขาในระหว่างวันนั้นไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยและจู่ ๆ พวกเขาก็มาปรากฏตัว ดังนั้นเขาจึงต้องมีเวลาทั้งหมดให้เรา อย่างนี้คือการคาดหวังที่ไม่สมจริง ถูกไหม
ตอนนี้เรามาพิจารณาเวลาที่เรามีความคาดหวังที่ไม่สมจริงกันสักหน่อย เรามีความคาดหวังเช่นนี้มากแค่ไหนและเราตระหนักถึงความคาดหวังแบบนี้ได้ดีแค่ไหน เราตระหนักได้หรือไม่ว่ามันเป็นอันตรายและให้โทษต่อเราเมื่อเราเชื่อมั่นในความคาดหวังเช่นนี้ เราเห็นหรือไม่ว่ามันสร้างความเจ็บปวดทางอารมณ์ให้เรา องค์ดาไลลามะมักทรงเรียกพวกมันว่าตัวสร้างปัญหาภายในของเรา
ชาวตะวันตกหลายท่านได้รับอิทธิพลจากปรัชญาที่มีลักษณะเชิงตัดสิน สำหรับพวกเราหลาย ๆ คน ความคิดที่เป็นตัวการปัญหามากที่สุดอย่างหนึ่งคือตัวเรานั้นไม่ดีพอ ความคิดเช่นนี้เป็นเชิงตัดสินมาก ๆ เราจำเป็นต้องตระหนักให้ได้ว่าไม่มีใครกำลังตัดสินเราและเราก็ไม่จำเป็นต้องตัดสินตนเองอย่างแน่นอน เราอาจจะสับสน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราบกพร่องหรือเลวร้าย การแสดงภาพเช่นนี้เป็นการบ่อนทำลายตนเองอย่างมาก
การแยกแยะความจริงทั้งสองประการให้ได้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก สิ่งที่ดูเป็นจริงสำหรับเรา เช่นว่า เราไม่ดีพอ จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องผิด ไม่มีเหตุผลใดเลยที่เราต้องเชื่อเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามหยุดเชื่อความคิดนี้เสียและใช้ชีวิตตามหลักเหตุและผล หากเราต้องการทำสิ่งใดให้สำเร็จ เราต้องพิจารณาเหตุผลต่าง ๆ ที่จะนำเราไปสู่จุดนั้น หากเป็นไปได้ ก็จงทำเสีย หากเป็นไปไม่ได้ ก็จงยอมรับความเป็นจริงเสีย ยกตัวอย่างเช่น หากเราอยากได้งานที่ดีขึ้น เราก็ต้องมองหางาน ไม่ใช่เฝ้ารอให้ฟ้าประทานสิ่งใดลงมาหรือรอให้ใครเอามามอบให้เรา มันมีเหตุและผลอยู่ตรงนี้ เราต้องเปิดรับความเป็นไปได้ต่าง ๆ และคว้าโอกาสไว้ให้ดี ไม่ใช่ขังตัวเองไว้ในสถานการณ์เดิม แล้วคิดว่ามันช่างเลวร้ายเหลือเกิน เราไม่มีทางก้าวหน้าเป็นแน่ ไม่มีสิ่งใดจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ความคิดในลักษณะนี้เป็นเชิงลบมาก ๆ ตามที่บทสวดมนต์ระบุไว้ว่า จงอย่ากระทำสิ่งใดอันเป็นเชิงลบเด็ดขาด ไม่ใช่เพียงแต่ในเชิงการกระทำและวาจาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการคิด การที่เราพิจารณาตนเองและผู้อื่นด้วย
อริยสัจสี่
แนวทางการแยกแยะการแสดงภาพจากความเป็นจริงคือวิธีนำอริยสัจสี่ไปปฏิบัติใช้ในชีวิตจริง ตามที่สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงเน้นย้ำว่า เราจำเป็นต้องดำเนินจากความจริงสองประการไปสู่ความจริงสี่ประการ (อริยสัจสี่) เราต้องเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ของเรา ซึ่งเป็นความจริงประการแรก ปัญหาเหล่านี้เกิดจากเหตุอันเป็นความจริงประการที่สอง เรามีการแสดงภาพ พร้อมทั้งอวิชชาและการขาดความตระหนักรู้ว่าการแสดงภาพเหล่านี้ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง หากเราต้องการหยุดสิ่งเหล่านี้ อยากกำจัดมันทิ้งไป ซึ่งเป็นความจริงประการที่สามนั้น เราต้องเข้าใจความเป็นจริงอันเป็นความจริงประการที่สี่ และเจาะลูกโป่งแห่งภาพเพ้อฝันนั้นเสีย
เราไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธศาสนิกชนในการนำแนวทางนี้ไปปฏิบัติ ตามที่องค์ดาไลลามะตรัสไว้ว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางสากล และเราไม่ต้องเรียกมันว่าอริยสัจสี่ เราไม่ต้องเรียกมันว่าอะไรเลย จริง ๆ แล้วลักษณะนี้นำไปสู่พระรัตนตรัยโดยที่ไม่ต้องกำหนดชื่อให้เป็นเช่นนั้นด้วยซ้ำ เราเข้าใจว่าหากเรากำจัดเหตุของปัญหาได้แล้ว ปัญหาก็จะหายไป สภาวะที่เหตุและปัญหาทั้งหมดหายไปและความเข้าใจที่นำพาเรามาสู่จุดนี้คือพระธรรมนั่นเอง ตรงนี้เป็นความจริงประการที่สามและสี่ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงเป็นผู้ที่กระทำเช่นนี้อย่างสมบูรณ์แล้วและพระสงฆ์ (สังฆะ) คือผู้ที่ได้กระทำเช่นนี้แล้วในบางส่วน
ในลักษณะนี้เราจึงมีความจริงสองประการ ความจริงสี่ประการ และพระรัตนตรัย และเราไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธศาสนิกชนเพื่อมีทั้งหมดนี้ด้วยซ้ำ เส้นแบ่งในการเป็นพุทธศาสนิกชนคือเป้าหมายในการปฏิบัติเพื่อปรับปรุงชีวิตในชาติต่อ ๆ ไปให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ต้องอาศัยความเชื่อเรื่องชาติก่อนและชาติหน้า ตามที่สมเด็จทรงชี้ให้เห็นว่าแนวปฏิบัติของพระสูตรแบบดั้งเดิมตามที่เผยแพร่ในทิเบตในยุคของพระอติศะนั้นคือลัม-ริม ซึ่งหมายถึงแรงผลักดันสามระดับ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาชีวิตในชาติต่อ ๆ ไป บรรลุการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้ในชาติต่อ ๆ ไป แล้วจึงเข้าถึงการตรัสรู้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้หลุดพ้นจากชีวิตในชาติต่อไปให้ได้ดีที่สุด โครงสร้างทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับชาติหน้าและการเกิดใหม่ ความคิดสี่ประการที่หันจิตเข้าสู่พระธรรมก็เป็นสิ่งเดียวกัน นั่นคือการเกิดใหม่ เส้นทางทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนความศรัทธาว่าการเกิดใหม่นั้นเป็นเรื่องจริง
สำหรับชาวตะวันตก หรือแนวทางที่กว้างขึ้น เราควรเริ่มต้นจากความจริงสองประการ ความจริงสี่ประการ และพระรัตนตรัยก่อน หลังจากนี้เราสามารถอภิปรายเรื่องเหตุและผล แต่เรื่องเหตุและผลจะไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจได้เลยหากเราอยู่ในขั้นเริ่มต้นอย่างสมบูรณ์ จุดนี้นำไปสู่จิตที่ปราศจากจุดเริ่มต้น และหากเราเข้าใจจิตที่ปราศจากจุดเริ่มต้นแล้ว เราจึงจะเข้าใจการเกิดใหม่ ในจุดนี้เราอาจไปถึงขั้นที่ต้องการสร้างประโยชน์ให้กับชีวิตในภายภาคหน้าและเป็นอิสระจากสังสารวัฏอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อการปฏิบัติฌานของลัม-ริมตั้งอยู่บนความศรัทธาในการเกิดใหม่อย่างเดียว มันย่อมไม่มั่นคง นี่ไม่ได้หมายความว่าการฝึกลัม-ริมบนพื้นฐานเช่นนี้ไร้ประโยชน์ แต่การฝึกจะมั่นคงกว่านี้ได้ หากเราสามารถทำความเข้าใจว่าความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่มีการเริ่มต้นอย่างไรตามธรรมเนียมดั้งเดิมของชาวทิเบต
รูปแบบของความจริงทั้งสองประการและอื่น ๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้นชี้ให้เห็นถึงวิธีที่เราสามารถผสมผสานหลักคำสอนทั้งหลายเข้าในชีวิตของเราด้วยเช่นกัน เริ่มต้นจากการแยกแยะระหว่างการแสดงภาพและความเป็นจริง การตระหนักเมื่อเราแสดงภาพในความคิดและความเชื่อมั่นของเราในการแสดงภาพเหล่านั้น ทั้งหมดนี้ล้วนต้องปฏิบัติให้ได้โดยปราศจากการด่วนตัดสิน ยกตัวอย่างเช่น “ฉันนึกว่าคุณจะช่วยฉันเรื่องนั้นเสียอีก แต่คุณกลับไม่ช่วย” หรือ “ฉันนึกว่าคุณจะทำถูกต้องเสียอีก แต่เปล่าเลย” เวลาเราทำงาน เรามอบหมายงานให้ผู้อื่นโดยคาดหวังว่าเขาจะทำได้ดี แต่ปรากฏว่าเขาทำไม่ได้ เราทำอย่างไรหรือ เราก็ทำเองเสียเลย เราโกรธคนผู้นั้นหรือเปล่า นั่นก็ป่วยการเปล่า ๆ เพียงแต่อย่ามอบหมายงานในลักษณะนี้ให้เขาอีกคราวหน้า หรือสอนให้เขาทำอย่างถูกต้องเสีย จงรับมือกับความเป็นจริง เราอารมณ์เสียเนื่องจากคาดหวังว่าคนผู้นั้นจะต้องทำได้ถูกต้องโดยไม่ต้องสอนเลย เราหวังได้ว่าพวกเขาจะทำเช่นนั้น ซึ่งมีความต่างกัน เมื่อไม่มีความคาดหวังแล้ว ย่อมไม่มีความผิดหวัง
อารมณ์รบกวน
เมื่อเราต้องการปฏิบัติตามประโยคที่กล่าวว่า จงอย่ากระทำการใดอันเป็นเชิงลบเด็ดขาด เราจำเป็นต้องรู้ตัวเมื่อเราปฏิบัติตน พูด หรือคิดในลักษณะที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอารมณ์รบกวน คำนิยามของอารมณ์รบกวนคือ สภาวะของจิตที่เมื่อก่อตัวขึ้นแล้วทำให้เราสูญเสียความสันติในจิตใจและการควบคุมตนเอง ยามที่เราโกรธ เราไม่มีสันติในจิตใจ เราทำและพูดสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้เรานึกเสียใจภายหลัง ยามที่เราละโมบหรือยึดติดกับผู้อื่น นั่นก็ไม่ใช่สภาวะจิตที่มีสันติ เราพูดสิ่งต่าง ๆ ที่เมื่อนำมาพิจารณาในภายหลังแล้วกลับดูน่าขำอยู่ไม่น้อย บ่อยครั้งการทำเช่นนี้เป็นการไล่ผู้อื่นให้ห่างออกไป อันเนื่องมาจากการเรียกร้องและการยึดติดจนเกินควรนั่นเอง
เราจำเป็นต้องตระหนักเมื่อเรากระทำการภายใต้อิทธิพลของอารมณ์รบกวน เมื่อเราเริ่มไวต่อพลังงานของตนเองขึ้นสักนิด เราสามารถรู้สึกได้ว่าเราประหม่าเล็กน้อยในยามที่มีความรู้สึกเกลียดชังหรือความโหยหาไขว่คว้ากระเพื่อมอยู่ อารมณ์เชิงทำลายและรบกวนเหล่านี้เกิดจากอวิชชาและการขาดความตระหนักรู้ของเรา เราขาดความตระหนักรู้ถึงเหตุและผล ไม่ใช่ว่าเราโง่เขลาหรอก หากแต่เราขาดความตระหนักรู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนมาจากเหตุ พร้อมทั้งไม่อาจตระหนักได้ว่าการแสดงภาพต่าง ๆ ของเราไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
การฝึกจิตเจ็ดจุด (The Seven-Point Mind Training) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า:
จงโยนความผิดทั้งปวงให้กับสิ่งสิ่งหนึ่ง นั่นคือการหวงแหนตนเอง
ประโยคนี้หมายความว่าเราพยายามไขว่คว้าหาหาทางให้สิ่งต่าง ๆ ให้เป็นไปตามทางของเราอยู่เสมอ ทางที่เราต้องการให้มันเป็น นี่คือทัศนคติแบบ “ฉันมาก่อน” กล่าวคือ “ฉันแสดงภาพและคาดหวังว่าสิ่งต่าง ๆ ต้องเป็นไปอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันจึงควรเป็นอย่างนี้” การโยนความผิดให้กับทัศนคติดังกล่าวนี้เป็นคำแนะนำที่มีประโยชน์ยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น “ฉันอยากให้ร้านอาหารนี้สมบูรณ์แบบ” หรือ “ฉันอยากให้ค่ำคืนนี้ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์แบบ” หรือ “ฉันอยากให้คุณทำแบบนี้กับฉัน” ลักษณะนี้มาจากทัศนคติแบบ “ตัวฉัน ตัวฉัน ตัวฉัน” เราคิดถึงแต่ตัวฉัน แต่ไม่ใช่ตัวคุณ เราไม่ได้คิดว่าเขาคนนั้นอาจมีวันที่แย่ หรือกำลังยุ่งกับอย่างอื่นอยู่ ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับ “ตัวฉัน” และสิ่งที่เราต้องการ สิ่งเหล่านี้คือประเด็นปัญหาที่เราต้องการมุ่งเน้นและเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันให้ได้ ในมุมมองเรื่องชีวิตแบบพระพุทธศาสนานั้น ต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดของเราก็คือการหวงแหนตนเอง ซึ่งหมายถึงความเห็นแก่ตัวและการเอาตนเองเป็นใหญ่ จุดนี้ไม่ได้แนะนำว่าเราต้องละเลยความต้องการของตนเองให้หมด แต่หมายถึงการไม่นำความต้องการส่วนตนเป็นสิ่งเดียวที่สำคัญและละเลยความต้องการของผู้อื่น จึงถือเป็นแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานอย่างยิ่ง
จงกระทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างงามสง่า หมายความว่าให้กระทำการทั้งหลายด้วยความเข้าใจและปราศจากการโกรธ โลภ หรือโหยหาต้องการมาก เราต้องการหลีกเลี่ยงการเป็นคนที่โหยหาการยอมรับและได้รับความสนใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อเรากระทำการภายใต้อิทธิพลของทัศนคติเหล่านั้นแล้ว เราย่อมสร้างปัญหา จริงหรือไม่ เราทำการเรียกร้องอย่างไม่สมเหตุสมผลจากผู้อื่นและเราก็ต้องผิดหวัง การกระทำในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์หมายถึงการกระทำโดยปราศจากสิ่งนี้นี่เอง ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราได้บรรลุการยุติอารมณ์รบกวนและทัศนคติรบกวนเหล่านี้ในขั้นที่ลึกที่สุดได้แล้ว หากแต่หมายถึงว่าเราสามารถห้ามตนเองไม่ให้กระทำการภายใต้อิทธิพลอันแรงกล้าของสิ่งเหล่านี้
ชีวิตคือสนามฝึกของเรา
เราไม่อยากเป็นผู้ไร้เดียงสาและไม่สามารถตระหนักถึงคุณสมบัติของผู้อื่นได้ เราจำเป็นต้องตระหนักให้ได้ว่าในเมื่อเรามีความรู้สึก ผู้อื่นก็ย่อมมีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ในเมื่อเราไม่อยากถูกปฏิเสธหรือถูกหมางเมิน ผู้อื่นย่อมไม่อยากถูกปฏิเสธหรือถูกหมางเมินเช่นกัน การตระหนักรู้เหล่านี้คือสิ่งที่เราจำเป็นต้องนำไปปฏิบัติในชีวิตจริง ในการทำเช่นนี้ เราจำเป็นต้องกำราบจิตของตนเองอย่างสมบูรณ์ตามที่ระบุไว้ในประโยคที่สามของบทสวดมนต์
การมองว่าชีวิตเปรียบเสมือนสนามฝึกของเรานั้นช่วยด้านนี้ได้มาก นี่ล่ะคือการฝึกปฏิบัติ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่การนั่งบนหมอนในสภาพแวดล้อมสวยงาม พร้อมเทียน ธูป ความเงียบสงัด ที่ต้องปราศจากเสียงเด็กร้องไห้
ครั้งหนึ่งผมไปที่ศูนย์ธรรมมะที่ศิษย์ผู้หนึ่งของผมสอนอยู่และมีคนนำเด็กอายุสองขวบมาด้วย เด็กสองขวบคนนี้วิ่งเล่นไปทั่วห้องสอนในระหว่างคาบการสอน แล้วเราคาดหวังอย่างไรกับเด็กสองขวบเล่า เราคาดหวังว่าเขาจะนั่งเงียบเรียบร้อยอยู่ตลอดเวลาชั่วโมงครึ่งอย่างนั้นหรือ อาจารย์จึงชี้ให้เห็นว่าการนำเด็กน้อยมายังห้องเรียนนั้นเป็นเรื่องสมบูรณ์แบบทีเดียว กล่าวคือเป็นความท้าทายที่ดีเยี่ยมในการที่ให้เด็กน้อยวิ่งเล่นไปมาส่งเสียงดังในขณะที่พวกเราพยายามฝึกสมาธิ นี่จึงเป็นการฝึกที่แท้จริง เราสามารถฝึกโดยไม่อารมณ์เสียและไม่เสียสมาธิได้หรือไม่ ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ไม่ควรให้ความใส่ใจลูกและคอยดูว่าจะไม่เกิดเหตุใดขึ้นกับลูก แต่เราสามารถฝึกท่ามกลางเสียงจราจรดังลั่นด้านนอก หรือแม้แต่ในยามที่เราติดอยู่บนถนนได้หรือไม่
ชีวิตย่อมเป็นเช่นนี้ ชีวิตต้องเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกปฏิบัติ เป็นสมรภูมิรบของจริงกับอวิชชา การขาดความตระหนักรู้ และอารมณ์รบกวนของเรา ในตำรามาลัยรัตนะของพระโพธิสัตว์ (A Bodhisattva’s Garland of Gems) ท่านอติศะกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า:
เมื่ออยู่ท่ามกลางผู้คนหมู่มาก ให้ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบการพูดของตนเอง เมื่ออยู่เพียงลำพัง ให้ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบจิตของตนเอง
คำกล่าวนี้มีประโยชน์เป็นอย่างมาก เมื่อเราอยู่กับผู้อื่น ให้ระวังว่าเราพูดจากับพวกเขาอย่างไร ไม่ใช่แค่คำพูดที่ใช้ แต่รวมถึงน้ำเสียง อารมณ์ และทัศนคติที่ขับส่งคำพูดเหล่านั้นด้วย หากเราพบว่าเรากำลังพูดด้วยความเกลียดชังหรือความหยิ่งทระนง ให้จับสังเกตและลดสิ่งเหล่านั้นลงเสีย ซึ่งก็เหมือนกับจิตของเรายามอยู่ตามลำพัง ให้ระวังสิ่งที่เราคิด โดยเฉพาะกลุ่มอาการ “ฉันผู้น่าสงสาร ไม่มีใครเห็นค่าฉันบ้างเลย”
จุดนี้นำเรามาสู่ประเด็นในการฝึกจิตเจ็ดจุด ซึ่งระบุว่ามีสิ่งยากลำบากสามประการ นั่นคือการมีสติกับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งการมีสติในที่นี้หมายถึงการจดจำ การมีสติในการปฏิบัติสิ่งเหล่านั้นและใส่ใจในการรักษามันไว้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดและสำคัญที่สุดที่ต้องใส่ใจ เราเคยได้ยินเรื่องการฝึกสติ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราเพียงแต่อยู่กับปัจจุบันตามที่เข้าใจในบริบทของตะวันตกเท่านั้น คำว่า “สติ” หมายถึงการจดจำ เราต้องจำว่าภาพที่เราแสดงขึ้นนั้นเป็นสิ่งไร้สาระและนำการตระหนักรู้นี้ไปปฏิบัติและคงรักษามันไว้ เช่นนี้คือการฝึกปฏิบัติที่แท้จริงในชีวิตประจำวัน
สภาวะเชิงไร้มโนทัศน์และเชิงมโนทัศน์
เรามักได้ยินคำแนะนำเชิงพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับการดำรงอยู่อย่างไร้มโนทัศน์ (non-conceptual) และเลี่ยงการเป็นอยู่เชิงมโนทัศน์ (conceptual) ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร จริงอยู่ว่าเราย่อมสามารถสาธยายคำนิยามและบทวิเคราะห์เชิงเทคนิคของเรื่องนี้ได้ แต่หากเรามองในเชิงปฏิบัติแล้ว เป้าหมายที่เรามุ่งเน้นนั้นไม่ใช่การที่ต้องมานั่งคิดถึงสิ่งเหล่านี้เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ ในสถานการณ์ที่เราตกเที่ยวบินหรือขบวนรถไฟ เป้าหมายของเราไม่ใช่การคิดถึงเรื่องความไม่จีรังยั่งยืนทุกอย่างล้วนได้รับผลกระทบจากเหตุและผล หรือว่าการโกรธของเราย่อมไม่ช่วยอะไร เราอาจต้องคิดถึงสิ่งเหล่านี้ในขั้นแรก แต่สิ่งที่เราต้องการคือทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องคิดถึงมันด้วยซ้ำ เพราะมันดำรงอยู่เสมอ ซึ่งทำให้เราไม่โต้ตอบกับสิ่งใดอย่างเกินจำเป็นและมีความยืดหยุ่นโดยอัตโนมัติ
นี่ล่ะคือเป้าหมายของเรา ไม่ใช่สภาวะปริศนาลึกลับแต่อย่างใด บางทีลักษณะนี้อาจไม่ใช่สภาวะไร้มโนทัศน์ลุ่มลึกขั้นสมบูรณ์ แต่หากไม่พูดถึงวิธีเชิงเทคนิคแล้ว นี่คือสิ่งที่เราพึงฝึกฝนเพื่อให้บรรลุ เราฝึกฝนเพื่อที่จะสามารถผสมผสานหลักคำสอนทั้งหมดเหล่านี้เข้ากับชีวิตของเรา เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดทุกข์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับตนเองและผู้อื่น จึงถือเป็นแก่นของทั้งหมดนี้นั่นเอง
คำถาม
เมื่อใดที่เราควรมีความยืดหยุ่นในการดำเนินตามแผน
ข้าพเจ้าอยากคิดว่าตัวเองนั้นมีความยืดหยุ่นและอยากจะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง แต่นั่นไม่ใช่ความจริงเสมอไป ปัญหาอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าเผชิญในการรับรู้ความเป็นจริงนั้นคือ การรู้ว่าเมื่อใดควรล้มเลิกและเมื่อใดไม่ควรล้มเลิกแผนการที่วางไว้ การรู้ว่าสิ่งใดเปลี่ยนแปลงได้และสิ่งใดที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น ข้าพเจ้าพลาดรถไฟเที่ยวนี้และรีบวิ่งออกไปเรียกแท็กซี่ เพื่อไปให้ทันรถไฟขบวนนั้นที่สถานีต่อไป เราจะสามารถตัดสินได้อย่างไรว่าเวลานี้เราควรพยายามดิ้นรนเพื่อให้แผนที่เราวางไว้ดำเนินไปได้ดังเดิม
มีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการทำตามแผนที่วางไว้หรือการล้มเลิกแผนนั้น เราต้องดูว่ามันมีตัวเลือกอื่นและสามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ เหมือนกับตัวอย่างที่คุณยกขึ้นมาเรื่องการนั่งแท็กซี่ไปยังสถานีถัดไปเพื่อขึ้นรถไฟขบวนนั้น หากตอนนั้นไม่มีแท็กซี่ว่างเลย อย่างนั้นเราก็ต้องล้มเลิกแผนไป นั่นคือตัวอย่างในระดับการปฏิบัติ แต่ในอีกระดับหนึ่งนั้น สมมุติว่าเราสมัครเข้าโรงเรียนแห่งหนึ่งและเราโดนปฏิเสธในปีนี้ เราควรยอมแพ้หรือลองสมัครใหม่อีกครั้งในปีหน้า เราก็ต้องประเมินดู การยื่นสมัครใหม่ปีหน้าก็ไม่ได้มีอะไรเสียหายหากเราไม่ได้รับการตอบรับจากที่อื่นอยู่แล้ว ตรงนี้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ว่าสิ่งใดสมเหตุสมผลตามความเป็นจริง เรากำลังประเมินความสามารถและวุฒิการศึกษาของเราสูงเกินไปหรือเปล่า เราก็ต้องถามความคิดเห็นจากผู้อื่นด้วย
การตัดสินใจแต่ละครั้งต้องอาศัยการวิเคราะห์ ไม่มีคำตอบชัดเจนใด ๆ ที่สามารถครอบคลุมได้ทุกอย่าง เราจำเป็นต้องพิจารณาว่าสิ่งที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้นั้นขึ้นอยู่กับเหตุและผล เพราะสิ่งต่าง ๆ ล้วนอุบัติขึ้นเพราะเหตุและผล เราสามารถทำให้เหตุและผลเหล่านั้นเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากไม่สามารถทำได้ตอนนี้ มีความเป็นได้ที่เราจะทำได้ในอนาคตหรือไม่ มีตัวเลือกอื่นหรือไม่ เราจำเป็นต้องพิจารณาการตัดสินใจและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในเชิงตรรกะให้มาก
การเป็นคนอ่อนไหวทางอารมณ์สูง
การสังเกตเห็นว่าข้าพเจ้าทำให้ตัวเองติดอยู่ในวงเวียนแห่งความทุกข์นั้นถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าพยายามระลึกว่าการแสดงภาพเหล่านั้นไม่สมเหตุสมผล แต่ความรู้สึกของข้าพเจ้านั้นต่างออกไป และข้าพเจ้าก็กลับไปเป็นอย่างเดิมเสมอ ข้าพเจ้าสามารถฝึกอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้เกิดการด้อยค่าตนเอง เพราะตอนนี้การระลึกเป็นเรื่องยาก
หลายต่อหลายครั้งเรารู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์และสิ่งใดคือสิ่งที่ดีที่สุด แต่อารมณ์ของเรานั้นแข็งกล้าจนลำบากที่จะจัดการได้จริง อันที่จริงแล้วเหตุการณ์เช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติมาก เราต้องพยายามตัดสินใจให้เด็ดขาดมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการโน้มน้าวตัวเองให้สำเร็จว่าถึงแม้ฉันอาจเป็นคนที่อ่อนไหวทางอารมณ์อย่างมากและอารมณ์เสียง่าย หรืออะไรทำนองนี้ แต่ฉันจะไม่นำส่วนนี้มาใส่ใจให้มากนัก
เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าจุดนี้หมายความว่าอย่างไร เราอาจจะอารมณ์เสียมากหรือสะเทือนอารมณ์อย่างมากกับอะไรบางอย่าง แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมผ่านไป ความรู้สึกและอารมณ์ล้วนผ่านไปและเปลี่ยนไป เราไม่อยากจะยึดถือและระบุตัวตนของเราด้วยสิ่งเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น เราไม่ควรคิดว่า “ฉันอารมณ์เสียมากเลย เพราะฉันทำพลาดอีกแล้วและฉันทำตามความคาดหวังของตนเองไม่ได้ ฉันมันไม่เอาไหนจริง ๆ” การคิดในลักษณะนี้หมายความว่าเรากำลังระบุตัวตนกับความรู้สึกนั้น จึงยึดติดกับมัน เราคิดว่าสิ่งที่เรารู้สึกนั้นสำคัญหรือมีความพิเศษมากมาย ซึ่งไม่จริงเลย มันเป็นเพียงความรู้สึกที่ผ่านมาและผ่านไป เราจำเป็นต้องโน้มน้าวตัวเองให้ได้ว่าความรู้สึกนี้จะผ่านไปและจงปล่อยให้มันผ่านไป ลึก ๆ แล้วเราเข้าใจดีว่ามันเป็นเพียงความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล เรารู้สึกเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดนั้นย่อมผ่านไปจนได้ เราไม่นำความเจ็บปวดนี้มาใส่ใจอย่างรุนแรงราวกับว่ามันเป็นจุดจบของโลกนี้
ตามธรรมเนียมดั้งเดิมแล้ว ความรู้สึกเปรียบได้กับก้อนเมฆก้อนหนึ่งบนท้องฟ้าที่จะเคลื่อนผ่านไป จริง ๆ แล้วลักษณะนี้เป็นวิธีเดียวในการเริ่มต้นรับมือกับมัน นอกจากนี้เรายังต้องตระหนักว่าอารมณ์มีขึ้นและลงอยู่เสมอ บางคนอ่อนไหวทางอารมณ์มากกว่าผู้อื่นมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เราไม่จำเป็นต้องทำการตัดสินตรงนี้เลย มันเป็นส่วนหนึ่งของการยอมรับความเป็นจริง ความเป็นจริงก็คือว่าตอนนี้เราอยู่ที่ใด เราอาจอ่อนไหวทางอารมณ์มากและถูกปลุกปั่นอารมณ์ได้ง่าย แต่เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับตรงนั้น จงฝึกฝนการโน้มน้าวตนเองว่าเรื่องใดคือความเป็นจริงให้มากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น “ฉันไปปฏิบัติธรรมและนึกว่าจะมีสมาธิดีมาก แต่จิตของฉันดันวอกแวกไปมาตลอดการปฏิบัติธรรมครั้งนี้” เอาล่ะ เรามีการคาดหวังที่ไม่สมจริง แน่นอนว่าจิตเราย่อมต้องวอกแวก และแน่นอนว่ามันยังไม่ยอดเยี่ยมในตอนนี้ จงลดความคาดหวังลงและเปิดใจรับส่วนนี้อย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น “ฉันสามารถบรรลุระดับสูงสุดได้ แต่ยังไปไม่ถึงโดยปราศจากความสัมพันธ์ของเหตุและผลกระทบ ฉันจึงต้องมุมานะฝึกฝน”
นอกจากนี้หากเรามีความอ่อนไหวทางอารมณ์สูง แนวโน้มดังกล่าวนี้สามารถเปลี่ยนแปลงและนำไปใช้เพื่อสร้างอารมณ์เชิงบวกได้ ในกรณีดังกล่าว เราจะสามารถสัมผัสกับความรักและความเห็นอกเห็นใจในระดับที่สูงขึ้น ในลักษณะนี้ การมีอารมณ์อ่อนไหวจึงเป็นเรื่องดี เพราะอย่างไรก็มีผู้คนที่มีตรรกะสูงมากจนทำให้การรับรู้ความรู้สึกใด ๆ เป็นเรื่องยากลำบาก สำหรับพวกเขาแล้ว มันยากเหลือเกินที่จะสัมผัสกับความรักและความเห็นอกเห็นใจอย่างจริงจัง หากคุณเป็นคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวสูง ย่อมมีแง่บวกอยู่ในตัวอยู่แล้ว จึงขึ้นอยู่กับการแปลงเปลี่ยนมันเท่านั้น ซึ่งจะค่อย ๆ เกิดขึ้นหากคุณนำเรื่องเหตุและผลไปปฏิบัติใช้
การทำงานนอกเหนือพื้นที่ความคุ้นเคย (Comfort zones)
พวกเราต่างเข้าร่วมการอบรมนี้และพวกเราก็เห็นว่าผู้คนจำเป็นจะต้องหันมารับผิดชอบในสถานการณ์ที่หลากหลายของสังคม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาตรงจุดนี้ ออกจากพื้นที่ความคุ้นเคยของเราและจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ที่ท้าทายเราในเชิงอารมณ์
เรื่องนี้เกี่ยวกับสิ่งที่เป็นเชิงประโยชน์และเชิงโทษ ยกตัวอย่างเช่น การออกจากพื้นที่ความคุ้นเคยเพื่อไปบาร์ แล้วไปคบหากับคนเมาทั้งหลายคงไม่เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เราอาจพูดได้ว่าพระโพธิสัตว์ทรงไปนรกเพื่อช่วยเหลือสรรพชีวิตที่นั่น แต่การพูดแบบนี้คงเป็นเรื่องสุดโต่งไปสักนิดสำหรับมนุษย์อย่างพวกเรา แต่การก้าวข้ามพื้นที่ความคุ้นเคยเพื่อไปทำสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ เช่น พูดจากับคนไร้บ้านตามถนนด้วยความเมตตา เป็นเรื่องที่แตกต่างออกไป
สิ่งแรกที่เราต้องแยกแยะให้ได้คือ สถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือพื้นที่ความคุ้นเคยของเรานั้นมีประโยชน์แค่ไหน หากมองในเชิงของสิ่งที่เราพยายามจะทำให้สำเร็จ ผู้คนหนุ่มสาวบางกลุ่มอาจไปคลับเพื่อไปเต้นรำท่ามกลางเพลงเทคโนทั้งคืนจนรุ่งสาง หากเราออกจากพื้นที่ความคุ้นเคยของตนเองเพื่อไปทำสิ่งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์แค่ไหน นี่ก็เป็นการก้าวออกจากพื้นที่ความคุ้นเคย แต่มันไม่ก่อให้เกิดสิ่งเชิงบวกใด ๆ เลย นอกเสียจากเป็นการพยายามเอาชนะทัศนคติด่วนตัดสินเชิงลบของเรา แต่เราสามารถฝึกฝนเพื่อเอาชนะทัศนคติเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องไปเต้นรำถึงรุ่งสางจนหูหนวกจากเสียงดนตรีกระหึ่ม อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งอื่นที่อยู่นอกเหนือจากพื้นที่ความคุ้นเคยของเราอีก อย่างการทำงานกับผู้อพยพ การก้าวออกจากพื้นที่ความคุ้นเคยเพื่อไปทำงานกับพวกเขาย่อมเป็นเชิงบวกและก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งยังช่วยพัฒนาความโอบอ้อมอารีของเราด้วย
ที่กรุงเบอร์ลิน ผมมีคลาสอภิปรายเล็ก ๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ พวกเราล้วนเป็นเพื่อนกันและมักไปทานอาหารร่วมกันหลังเลิกคลาส ผมเปิดประเด็นคำถามว่าพระธรรมช่วยเหลือพวกเขาในชีวิตประจำวันอย่างไร ลูกศิษย์ผู้หนึ่งในคลาสของผมบอกว่า เขาพยายามที่จะออกจากพื้นที่ความคุ้นเคยของตน โดยอธิบายว่าเขามักจะให้ความสนใจและสนิทสนมมากขึ้นกับผู้คนที่มีรูปร่างหน้าดี จะว่าไปเขามองคนเหล่านี้ว่ามีความสำคัญมากกว่าผู้อื่นด้วยซ้ำ ดังนั้นเขาจึงตั้งใจผูกมิตรกับคนที่ที่ทำงานที่เป็นคนอ้วนมากและรอยแปลก ๆ อยู่ที่หน้า ทำให้ดูไม่น่ามองนัก เขาต้องการจะมองให้ชัดว่าผู้นี้คือมนุษย์ที่อยากมีความสุข อยากเป็นที่ชื่นชอบ และไม่อยากเป็นที่รังเกียจหรือหมางเมิน คนผู้นี้อาจกลายเป็นเพื่อนที่ยอดเยี่ยมก็ได้ เป็นอัญมณีชิ้นหนึ่ง เขาจึงตัดสินใจที่จะไม่มองข้ามคนผู้นี้ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมากของการก้าวข้ามพื้นที่ความคุ้นเคยเพื่อทำสิ่งเชิงบวก สิ่งเหล่านี้ล้วนทำได้ไม่ยากทั้งนั้น หากเราจะก้าวข้ามขีดจำกัดปกติของตนเอง ให้ทำทีละขั้นตอนตามที่เป็นไปได้ ไม่ใช่ทำในสิ่งที่เข้าถึงไม่ได้
เพื่อนผมอีกคนทำแบบสุดโต่ง เขาชอบออกจากพื้นที่ความคุ้นเคยอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น เขามักไปคบหากับกลุ่มคนติดยาที่ขายยาในสวนสาธารณะ เขาทำเช่นนั้นเพราะการอยู่กับคนพวกนี้ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ผมไม่เห็นประโยชน์จากการทำแบบนี้นัก ดูเหมือนเป็นการสาธิตความห้าวหาญเสียมากกว่า
ดังนั้นคำถามที่ว่าเราจะออกจากพื้นที่ความคุ้นเคยอย่างไรและพื้นที่ความคุ้นเคยของเราหมายความว่าอย่างไรกันแน่จึงเรื่องที่น่าสนใจมาก การคิดว่าภายในพื้นที่ความคุ้นเคยคือที่ที่เรารู้สึกปลอดภัยถือเป็นการแสดงภาพมากน้อยเพียงใด พื้นที่ความคุ้นเคยคืออะไร สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการวิเคราะห์ภายในตัวเราเอง เราสามารถรู้สึกสบายใจในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามกับคนทุกประเภทอย่างนั้นหรือ
กุญแจไขประเด็นนี้คือการโยนความผิดให้กับสิ่งสิ่งหนึ่ง นั่นก็คือการหวงแหนตนเอง เมื่อเรารู้สึกไม่สบายใจกับผู้อื่นหรือสถานการณ์นั้น ๆ นั่นเป็นเพราะว่าเรากำลังคิดถึงแต่ “ตัวฉัน ตัวฉัน ตัวฉัน” ยกตัวอย่างเช่น เราคิดว่า “ฉันไม่ชอบแบบนี้และฉันก็รับมันไม่ได้ด้วย” เราไม่ได้คิดถึงผู้อื่น จึงเป็นเรื่องของการให้ความสนใจผู้อื่นและมองเห็นว่าพวกเราล้วนเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น
บทสรุป
ทั้งหมดนี้เป็นหลักการขั้นพื้นฐานมาก หากเราเลิกเห็นแก่ตัวและเอาตนเองเป็นที่ตั้ง เราก็จะเป็นสุขขึ้น เมื่อเราอยู่กับอีกคนหนึ่ง แทนที่จะพูดถึงแต่ตนเอง หากเราแสดงความสนใจคนผู้นั้นด้วยใจจริงและถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของเขา เราก็จะเป็นสุขขึ้น และแน่นอนว่าเขาผู้นั้นก็จะเป็นสุขขึ้นเช่นกัน วิธีการเหล่านี้จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่ปฏิบัติได้จริงในการจัดการกับชีวิตและผู้อื่น การพึงระลึกถึงสิ่งเหล่านี้คือสติที่เราต้องการบรรลุให้ได้ เราพยายามระลึกถึงการปฏิบัติคำแนะนำเหล่านี้เมื่อเราเห็นแก่ตัวและคิดถึงแต่ตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอีกคนเขายุ่งและอยากจะลากลับแล้ว แต่เรากลับพูดต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน เราคิดว่าสิ่งที่เราพูดนั้นมีความสำคัญ ถามว่าคนผู้นั้นอยากจะฟังจริง ๆ หรือ ไม่เลย แต่เราแสดงภาพว่าเขาอยากฟัง ชีวิตเราคือที่ที่เราปฏิบัติพระธรรม