การเรียนรู้ SEE: การปลูกฝังทักษะทางสังคม

โครสร้างโดยสังเขปของการเรียนรู้ทางสังคม อารมณ์ และจริยธรรม มหาวิทยาลัยเอมอรี่

การเรียนรู้ทางสังคม อารมณ์ และจริยธรรม (SEE) เป็นโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์อนุปัสสนาวิทยาและจริยธรรมบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ (Center for Contemplative Science and Compassion-Based Ethics) ที่มหาวิทยาลัยเอมอรี่ (Emory University) โดยมีเป้าหมายในการเลี้ยงดูบุคคล กลุ่มทางสังคม และชุมชนในวงกว้างที่มีสุขภาวะทางอารมณ์และมีความรับผิดชอบด้านจริยธรรม ในส่วนที่สองนี้ที่มีชื่อว่า การเรียนรู้ SEE: การปลูกฝังทักษะทางสังคม เราเรียนรู้การพัฒนาทักษะทางสังคมหลากหลายอย่างที่ช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีและความสามัคคีในความสัมพันธ์กับผู้อื่น

แน่นอนว่าทักษะความเข้าใจทางอารมณ์และการกำกับตัวเองที่เราเรียนรู้ในขอบเขตบุคคล (Personal Domain) มีประโยชน์อย่างมากกับเราในการดำเนินชีวิตต่อไป  อย่างไรก็ตามเนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมโดยธรรมชาติ การสร้างความเชื่อมโยงกับผู้อื่นได้ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน  เมื่อก่อนคนเราเข้าใจว่าคุณสมบัติทางสังคมเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่งานวิจัยล่าสุดทางด้านวิทยาศาสตร์บ่งชี้มากขึ้นว่าคุณสมบัติทางสังคมสามารถปลูกฝังได้ผ่านการเรียนรู้ การพิจารณา และการปฏิบัติอย่างมีจุดประสงค์  “สังคม” หมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยตรงของเรา รวมถึงปฏิสัมพันธ์ภายในชุมชุมขนาดเล็กอย่างภายในโรงเรียน ออฟฟิศ ครอบครัว หรือหมู่บ้านด้วย  สำหรับชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างเมือง สังคม หรือโลกโดยรวมของเรานั้นจะได้รับการกล่าวถึงในขอบเขตที่สามซึ่งเป็นขอบเขตสุดท้าย นั่นคือขอบเขตทั่วโลก (Global Domain)

ความตระหนักรู้ ความเห็นอกเห็นใจ และปฏิสัมพันธ์ในบริบททางสังคม

ขอบเขตสังคมมีหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับขอบเขตบุคคล เว้นเสียแต่ว่าโฟกัสของขอบเขตสังคมนั้นอยู่ที่ผู้อื่นแทนที่จะเป็นตัวเราเอง  ในลักษณะเดียวกัน เราจะผ่านมิติทั้งสามด้าน นั่นคือความตระหนักรู้ ความเห็นอกเห็นใจ และการมีปฏิสัมพันธ์  ความตระหนักรู้ตรงนี้หมายถึงความตระหนักรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับผู้อื่นและความตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเองในฐานะสิ่งมีชีวิตในสังคม กล่าวคือเราดำรงอยู่ได้โดยมีความเกี่ยวข้องกับผู้อื่น เราจำเป็นต้องอาศัยผู้อื่น และการกระทำของเราก็มีผลต่อผู้อื่น  ความตระหนักรู้ในที่นี้ยังรวมถึงความเข้าใจถึงสิ่งที่เรามีร่วมกันในฐานะมนุษย์และสิ่งที่ทำให้พวกเราแต่ละคนแตกต่างกัน  ความเห็นอกเห็นใจเกี่ยวกับการใช้ความรู้ที่ได้จากขอบเขตบุคคลมาใช้ทำความเข้าใจผู้อื่นและอารมณ์ของพวกเขา เพื่อที่เราจะมีปฏิกิริยาตอบโต้และตัดสินผู้อื่นน้อยลง  นอกจากนี้เรายังใช้ความเข้าใจในเชิงลึกดังกล่าวพัฒนาคุณสมบัติอื่นทางสังคม เช่น การสำนึกบุญคุณ การให้อภัย การมีน้ำใจ และการถ่อมตน  อย่างสุดท้ายคือมิติด้านปฏิสัมพันธ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการนำความตระหนักรู้และความเข้าใจเชิงลึกมารวมกัน เพื่อเรียนรู้การเชื่อมโยงกับผู้อื่นในเชิงบวกและเชิงประโยชน์  ดังนั้นส่วนประกอบทั้งสามของขอบเขตสังคมจึงสามารถสรุปได้ดังนี้

  • ความตระหนักรู้ระหว่างบุคคล
  • การมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น
  • ทักษะด้านความสัมพันธ์

ความตระหนักรู้ระหว่างบุคคล

ถึงแม้ว่าเราทุกคนจะมีแนวโน้มโดยธรรมชาติที่จะมุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ส่วนตนในเชิงแคบ การฝึกการเชื่อมโยงกับผู้อื่นโดยมุ่งหวังให้เกิดผลประโยชน์ต่อพวกเขาเป็นหลักนั้นเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้ได้ผ่านกาลเวลา  ผลที่ได้ไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์มากสำหรับผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองด้วย  ยกตัวอย่างเช่น การสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของผู้อื่นช่วยเสริมความรู้สึกของความเป็นอยู่ที่ดีและความรู้สึกของการเชื่อมโยงระหว่างบุคคล  บทนี้จะครอบคลุมความตระหนักรู้ระหว่างบุคคลผ่านสามหัวข้อดังต่อไปนี้

  • ใส่ใจความเป็นจริงทางสังคม
  • ใส่ใจความเป็นจริงที่เรามีร่วมกับผู้อื่น
  • เห็นคุณค่าของความหลากหลายและความแตกต่าง

การใส่ใจความเป็นจริงทางสังคมหมายถึงความสามารถในการรับรู้ธรรมชาติทางสังคมที่แท้จริงของเรา ความสำคัญของผู้อื่น และบทบาทของพวกเขาในชีวิตเรา  การใส่ใจความเป็นจริงที่เรามีร่วมกันผู้อื่นเกี่ยวข้องกับการเห็นคุณค่าสิ่งที่เรามีร่วมกับผู้อื่นในระดับพื้นฐาน เช่น ความต้องการมีความสุขและหลีกเลี่ยงความทุกข์  สุดท้ายการเห็นคุณค่าของความหลากหลายและความแตกต่างคือ การเคารพความหลากหลาย เอกลักษณ์ และความแตกต่างของรายบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ และรับรู้ว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ในชีวิตโดยรวมของเราอย่างไร

การใส่ใจความเป็นจริงทางสังคม

เหมือนสำนวนที่กล่าวว่า “ไม่มีผู้ใดอยู่เพียงลำพังได้ ” (no man is an island)  ความเป็นจริงคือมนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์สังคมและมีผู้คนอีกมากมายหลายชีวิตที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตเรา ไม่ว่าเราจะรู้หรือไม่ก็ตาม บางครั้งเราก็ลืมข้อเท็จจริงพื้นฐานที่ว่าผู้อื่นดำรงอยู่ในโลกในฐานะประชากรโลกตามอัตวิสัยเหมือนกับเราไป  ข้อนี้ทำให้เราตกหลุมพรางความเข้าใจผิดได้ง่าย ๆ ว่าเราเป็นเพียงผู้เดียวที่มีความต้องการและมีความจำเป็น เราต้องได้รับการดูแล เป็นต้น

ก่อนอื่นเราสามารถเริ่มต้นด้วยการพิจารณาเกี่ยวกับผู้คนที่มีอิทธิพลต่อชีวิตเรา ผู้คนที่ยังคงมีผลต่อการดำรงอยู่ของเรา และผู้ที่จะมีผลต่อเราในอนาคต  ยกตัวอย่างเช่น เราอาจคิดถึงพ่อแม่หรือผู้อื่นที่หาเลี้ยงดูเรามา หรือยังคงเลี้ยงดูเราด้วยสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานและยังคงให้ความคุ้มครองปกป้องเรา  ผู้อื่นให้มิตรภาพกับเรา  เมื่อพิจารณาในระดับที่กว้างขึ้น เราจะเห็นว่ามีผู้คนอีกนับไม่ถ้วนที่ทำอาหารที่เราทานและทำเสื้อผ้าที่เราใส่  การพิจารณาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเหล่านี้ช่วยปูพื้นฐานสำหรับการสร้างการเห็นคุณค่า การเอาใจเขามาใส่ใจเรา และการเห็นอกเห็นใจสำหรับผู้อื่น

ใส่ใจความเป็นจริงที่เรามีร่วมกับผู้อื่น

นอกเหนือจากข้อเท็จจริงที่ว่ามีผู้อื่นดำรงอยู่และเลี้ยงดูเรา เรายังต้องรับรู้ว่าพวกเขาเองก็มีชีวิตทางอารมณ์เช่นกัน  เราเสริมการเห็นคุณค่าของผู้อื่นในขั้นพื้นฐานด้วยการตระหนักถึงความคล้ายคลึงกันในขั้นพื้นฐานของเราและการตระหนักว่าความแตกต่างเหล่านี้ไม่ควรขัดขวางการเห็นคุณค่าในตัวพวกเขา  ความคล้ายคลึงกันที่เราเน้นตรงนี้คือประสบการณ์ขั้นพื้นฐานของมนุษย์  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกัน  ทั้งตัวเราและผู้อื่นต่างก็ปรารถนาถึงความเป็นอยู่ที่ดีและไม่อยากเผชิญกับความลำบากและความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น  พวกเขามีชีวิตทางอารมณ์ซึ่งรวมถึงความต้องการ ความจำเป็น ความกลัว ความหวัง และอื่น ๆ อีกมากมาย  พวกเขาป่วยได้ พวกเขามีข้อจำกัด พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรค ประสบกับความสุขและความล้มเหลวเช่นเดียวกัน  การตระหนักถึงสิ่งที่เรามีร่วมกันเหล่านี้เป็นทักษะที่สามารถปลูกฝังและฝึกให้เป็นนิสัยได้

เมื่อเราได้พัฒนาความเข้าใจทางอารมณ์ถึงระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งรวมถึงแผนที่จิตใจและความตระหนักรู้ทางอารมณ์จากมุมมองของเรา เราก็จะสามารถสังเกตเห็นสิ่งที่เรามีร่วมกับผู้อื่นได้ง่าย  ในขณะเดียวกันเราก็ต้องดูว่าผู้อื่นแตกต่างจากเราอย่างไร  ถึงแม้ว่าทุกคนจะมีความต้องการ มีความจำเป็น มีความกลัว และมีความหวัง พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องต้องการ จำเป็นต้องมี หรือกลัวในสิ่งเดียวกับเรา  เราต้องรับรู้และเคารพข้อนี้  นอกจากนี้ผู้อื่นมีชีประสบการณ์ชีวิต มีมุมมอง และมีความรู้ที่แตกต่างจากเรา ซึ่งเราสามารถเห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมด  การตระหนักถึงความแตกต่างในขณะที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เรามีเหมือนกันช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นด้านที่สำคัญในทักษะด้านความสัมพันธ์

การเห็นคุณค่าของความหลากหลายและความแตกต่าง

ความเป็นจริงที่เรามีร่วมกับผู้อื่นส่วนหนึ่งคือ การที่เราทุกคนต่างมีเอกลักษณ์ มีความแตกต่างกัน และเราเป็นสมาชิกของกลุ่มสังคมที่มีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจากกลุ่มอื่น  เราทุกคนต่างมีการอบรมเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน มีสภาพแวดล้อมครอบครัวที่ต่างกัน และมีประสบการณ์เฉพาะตัวที่ส่งผลต่อมุมมอง ทัศนคติ และปณิธานของเรา

ดังนั้นความหลากหลายจึงเป็นด้านหนึ่งของความจริงที่เรามีร่วมกันและเราควรเห็นคุณค่าของด้านนี้ กล่าวคือเห็นว่าด้านนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เราทุกคนอยู่ร่วมกันได้ แทนที่จะทำให้เราตีตัวออกห่างจากกัน  ความเคารพในความแตกต่างและวิธีที่ความหลากหลายมีส่วนช่วยในชีวิตโดยรวมของเรานั้นเป็นความตระหนักรู้ประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในยุคโลกาภิวัตน์ที่มีความเป็นพหุนิยมมากขึ้น  จุดนี้ช่วยสร้างรากฐานสำหรับความเอาใจเขามาใส่ใจเราและความเห็นอกเห็นใจด้วยความจริงใจ

การมีเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น

เราสามารถพิจารณาว่าคุณสมบัติทางสังคมทั้งหมดมาจากและมีส่วนช่วยในการมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น  ในขณะที่ความตระหนักรู้ระหว่างบุคคลปูทางสำหรับการสร้างคุณสมบัติทางสังคมหลายอย่าง ความเห็นอกเห็นใจก็ช่วยนำคุณสมบัติเหล่านี้เข้ามาอยู่ในบริบททางจริยธรรม  เราสามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นได้จากสามวิธีดังนี้

  • เข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของผู้อื่นในบริบท
  • เห็นคุณค่าและปลูกฝังความมีน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจ
  • เห็นคุณค่าและปลูกฝังอุปนิสัยทางจริยธรรมแบบอื่น

เข้าใจความรู้สึกและอารมณ์ของผู้อื่นในบริบท

ความไม่เข้าใจอารมณ์ของตนเองอาจนำไปสู่การตัดสินตนเอง  ในลักษณะเดียวกันเมื่อเราเห็นผู้อื่นกระทำการในลักษณะที่เราไม่เข้าใจหรือไม่เห็นดีเห็นงามด้วย เราก็ย่อมโต้ตอบด้วยการตัดสินผู้นั้นเป็นธรรมดา  ในลักษณะเดียวกับที่การเข้าใจว่าอารมณ์ต่าง ๆ ของเราเกิดขึ้นจากความต้องการและความจำเป็นนำไปสู่การยอมรับในตัวเองและการมีความเห็นอกเห็นใจต่อตัวเอง กระบวนการนี้ก็ยังใช้งานได้ในการพิจารณาผู้อื่นเช่นกัน

หากเราเข้าใจว่าการกระทำของผู้อื่นได้รับการกระตุ้นจากอารมณ์ต่าง ๆ และอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นภายในบริบทหนึ่งและจากความต้องกานพื้นฐานความเข้าใจนี้ก็จะนำไปสู่ความเอาใจเขามาใส่ใจเราและความเห็นอกเห็นใจ แทนที่จะเป็นความโกรธและการตัดสินผู้อื่น จุดมุ่งหมายในส่วนนี้ไม่ใช่เพื่อหาข้ออ้างสำหรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่เพื่อทำความเข้าใจผู้อื่นและอารมณ์ของพวกเขาในระดับของมนุษย์

เห็นคุณค่าและปลูกฝังความมีน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจ

การให้คุณค่าความเห็นอกเห็นใจมากกว่าความโหดร้ายนั้นอาจดูเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็รู้ดีอยู่แล้ว  กระนั้นแล้วหลายครั้งเราก็ห่างเหินจากข้อเท็จจริงข้อนี้  จากประสบการณ์ส่วนตัวและเหตุการณ์ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ เราสามารถเห็นได้ว่าเราเองไม่ได้ให้คุณค่าความเห็นอกเห็นใจเสมอไป  ตลอดช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ เราเห็นตัวอย่างมากมายนับไม่ถ้วนที่มนุษย์ยอมรับความโหดร้ายของผู้อื่นหรือเพียงแค่ปล่อยการกระทำที่โหดร้ายของตนเองไป

ความเห็นอกเห็นใจเป็นหลักการอันทรงพลังที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์กับพวกเราได้เป็นอย่างมาก แต่การสั่งให้ใจเรามีความเห็นอกเห็นใจเฉย ๆ นั้นไม่ช่วยอะไร  เราจำเป็นต้องเข้าใจว่าแบบไหนคือความเห็นอกเห็นใจและแบบไหนไม่ใช่ความเห็นอกเห็นใจ จากนั้นจึงเห็นคุณค่าของความเห็นอกเห็นใจในฐานะสิ่งที่เราต้องการจะปลูกฝัง  ปกติแล้วการเริ่มต้นด้วยความมีน้ำใจจะง่ายกว่า  เริ่มต้นด้วยการพัฒนาทัศนคติเอาใจใส่และเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่น จากนั้นจึงเริ่มปฏิบัติความเห็นอกเห็นใจ

ความเห็นอกเห็นใจได้รับการนิยามว่าเป็นความปรารถนาในการบรรเทาทุกข์ของผู้อื่น  ถึงแม้ว่าหลายคนจะไม่ได้มองความเห็นอกเห็นใจเป็นลักษณะสำคัญอันหนึ่งของการดำรงชีวิตของมนุษย์ งานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นถึงรากฐานทางชีววิทยาของความเห็นอกเห็นใจ  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ปีกทั้งหมดต้องอาศัยการเลี้ยงดูของแม่ในการเอาตัวรอด ซึ่งมีเหตุผลมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าพวกมันไม่สามารถมีชีวิตรอดโดยลำพังหลังจากคลอดได้  พฤติกรรมซึ่งเห็นแก่ผู้อื่นในสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์ซึ่งรวมถึงมนุษย์นั้นสร้างสายสัมพันธ์ซึ่งกันและกันที่สนับสนุนการมีชีวิตรอดและการเจริญเติบโตในระดับรายบุคคลและระดับกลุ่ม  ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากหลายด้านแล้ว ความเห็นอกเห็นใจจึงเป็นเรื่องของการอยู่รอด  จุดนี้อธิบายว่าเหตุใดมนุษย์จึงมีความชื่นชอบความมีน้ำใจเป็นอย่างมากตั้งแต่ยังอายุน้อย และเพราะเหตุใดเราถึงตอบโต้ความเห็นอกเห็นใจในเชิงบวกนัก ซึ่งรวมถึงการตอบโต้ในระดับทางสรีรวิทยาของเราด้วย

เห็นคุณค่าและปลูกฝังอุปนิสัยทางจริยธรรมแบบอื่น

นอกจากความเห็นอกเห็นใจแล้ว เรายังสามารถปลูกฝังอุปนิสัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ความกตัญญูรู้คุณ การให้อภัย ความพอใจในสิ่งที่มี ความถ่อมตน และความอดทน เป็นต้น  อุปนิสัยทั้งหมดนี้ล้วนหมายถึงคุณสมบัติภายใน แทนที่จะเป็นการเป็นเจ้าของทางวัตถุหรือผลสัมฤทธิ์ใด ๆ ซึ่งนำพาประโยชน์และความสุขมาให้กับชีวิตเรา  การโฟกัสที่การให้ค่าผู้คนและเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาเติมเต็มในชีวิตเราตรงกันข้ามกับความคิดที่ว่าการยกย่องตัวเองและการได้มาซึ่งสิ่งต่าง ๆ คือหัวใจไปสู่ความพึงพอใจและความสุขในระยะยาว  เราจำเป็นต้องเห็นคุณค่าและความสำคัญของคุณสมบัติภายในเหล่านี้ด้วย  งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าถึงแม้ความพึงพอใจในชีวิตจะตกลงเมื่อความเป็นอยู่ที่ดีทางวัตถุของเราถึงระดับหนึ่ง ความกตัญญูรู้คุณและความสุขก็มีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อกันอย่างชัดเจนทั้งในเด็กและผู้ใหญ่  ความกตัญญูรู้คุณไม่เพียงแต่นำไปสู่ความพึงพอใจในชีวิตที่สูงขึ้น แต่ยังสามารถเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการต่อต้านความคิดเชิงวัตถุนิยมที่สื่อออกมาทางโซเชียลมีเดีย โฆษณา และรายการโทรทัศน์ได้ด้วย

ผู้อื่นสร้างประโยชน์ให้เราในหลากหลายทางมากและไม่ว่าประโยชน์นั้นจะมีจุดประสงค์เพื่อเราโดยตรงหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ  นอกจากนี้เรายังสามารถตระหนักถึงคุณค่าในสิ่งที่ผู้อื่นยังไม่ได้ทำด้วย พวกเขายังไม่ได้ขโมยของ ทำร้าย หรือเหยียดหยามเรา  ในขั้นสูงขึ้น เราสามารถเรียนรู้ที่จะเห็นประโยชน์ที่เราได้รับการจากการกระทำเชิงลบของผู้อื่น  เราสามารถศึกษาตัวอย่างมากมายของผู้คนที่ประสบกับความยากลำบากอย่างมาก แต่ก็สามารถเอาตัวรอดผ่านมันไปได้และเปลี่ยนแปลงมุมมองของตนเอง ทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีความหมายมากขึ้น  ถึงแม้ว่าเราจะไม่ควรมองข้ามการกระทำผิดของผู้อื่น ความสามารถในการมองการกระทำในอีกมุมได้นั้นก็เป็นวิธีที่ทรงพลังในการปลดปล่อยความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ และความเกลียดได้  การพิจารณารูปแบบที่ผู้อื่นสร้างประโยชน์ให้กับเรานั้นจะส่งผลให้เกิดการปลูกฝังความรู้สึกกตัญญูรู้คุณด้วยใจจริงอย่างมั่นคง ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นสายสัมพันธ์และการเชื่อมโยงกับผู้อื่นอย่างแนบแน่นตามมา

เมื่อเราพิจารณาเกี่ยวกับผลเสียของทัศนคติที่เอาตนเองเป็นที่ตั้ง รวมถึงข้อที่ว่าความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของเราขึ้นอยู่กับการกระทำด้วยความมีน้ำใจของผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน เราก็ย่อมจะรู้สึกกตัญญูรู้คุณเป็นธรรมดา

นอกจากนี้เรายังต้องปลูกฝังความเอาใจเขามาใส่ใจเรา ซึ่งเป็นความสามารถในการรับรู้และมีความอ่อนไหวต่อประสบการณ์ของผู้อื่น ทั้งความสุขและความเศร้าโศกของพวกเขา  พวกเราส่วนใหญ่จะรู้สึกเอาใจเขามาใส่ใจเราเพื่อนและคนที่เรารักโดยอัตโนมัติ แต่เราสามารถขยายความรู้สึกนี้ให้กว้างขวางและมีความเป็นกลางมากขึ้น  เมื่อเรารวมความเอาใจเขามาใส่ใจเราเข้ากับความรู้เกี่ยวกับสิ่งพื้นฐานที่เราทุกคนมีเหมือนกัน ก็จะก่อให้เกิดเป็นความเอาใจเขามาใส่ใจเราที่ถูกจำกัดด้วยความลำเอียงน้อยลง  การเอาใจเขามาใส่ใจเราหมายถึงการพยายามเข้าใจมุมมองและสถานการณ์ของเขา  ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะบอกว่า “คนคนนี้เห็นแก่ตัว” เราอาจบอกว่า “เราอาจพิจารณาพฤติกรรมของเขาได้ว่าเป็นการเห็นแก่ตัว”  จุดนี้ช่วยให้เราไม่มองว่าคนคนนี้เป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างถาวรและทำให้เราสามารถเปิดใจสังเกตเห็นเหตุการณ์เมื่อพวกเขาไม่เห็นแก่ตัวได้

เมื่อเราสำรวจสิ่งที่เราและผู้อื่นมีร่วมกันและพัฒนาความกตัญญูรู้คุณและเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราก็จะเริ่มสร้างการให้อภัยขึ้นมาเองในใจ  เมื่อเราได้ปลดปล่อยความคาดหวังที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงและปลูกฝังการยอมรับในตนเองแล้ว เราก็จะสามารถปลดปล่อยความโกรธและความขุ่นเคืองใจที่เรารู้สึกต่อผู้อื่นได้ง่ายขึ้น  ดังนั้นการให้อภัยจึงเป็นของขวัญที่เรามอบให้กับตัวเองนั่นเอง

ทักษะด้านความสัมพันธ์

เราต้องนำทางปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ซับซ้อนเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว ตั้งแต่มิตรภาพแบบเพื่อนไปจนถึงประเด็นถกเถียงกันในครอบครัวและความสัมพันธ์ที่ออฟฟิศ  ความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ทางสังคมที่แตกต่างกันนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จ  การเป็นดีอยู่ดีในระยะยาวเกี่ยวข้องกับความสามารถในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์เชิงบวกที่มีความหมายเป็นอย่างมาก ในขณะที่ต้องรับรู้และยุติความสัมพันธ์เชิงโทษ

องค์ประกอบสองอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในคอร์สนี้ นั่นคือความตระหนักรู้เกี่ยวกับธรรมชาติทางสังคมของเรารวมกับความเข้าใจในอารมณ์ของผู้อื่นตามบริบทนั้น สร้างพื้นฐานสำหรับการสร้างทักษะ พฤติกรรม และหลักปฏิบัติที่เอื้อต่อความเป็นดีอยู่ดีของตัวเราและผู้อื่น  ถึงแม้ว่าพฤติกรรมของเราจะตั้งอยู่บนรากฐานของความเอาใจเขามาใส่ใจเราและความเห็นอกเห็นใจ บางทีการกระทำของเราก็ต่อต้านถ่วงทั้งสองสิ่งนี้ไว้  เราอาจมีเจตนาดีจริง ๆ แต่สุดท้ายเรากลับสร้างความลำบากให้กับตัวเองและผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว  เราสามารถลดผลกระทบในจุดนี้ได้ผ่านการเก็บเกี่ยวประสบการณ์  ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ที่เรียนอย่างกระตือรือร้นจนกระทั่งทักษะเหล่านี้ซึมซับและกลายเป็นนิสัยของเรา  เราสามารถฝึกฝนสี่ด้านดังต่อไปนี้

  • การฟังด้วยความเอาใจเขามาใส่ใจเรา
  • การสื่อสารที่มีทักษะ
  • การช่วยเหลือผู้อื่น
  • การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง

การฟังด้วยความเอาใจเขามาใส่ใจเรา

การฟังด้วยความเอาใจเขามาใส่ใจเราคือการฟังผู้อื่นด้วยจิตใจที่เปิดกว้างและไม่ปิดกั้นตัวเองเนื่องจากปฏิกิริยาโต้ตอบทางอารมณ์  จุดนี้มีรากฐานอยู่ในความเคารพและการเห็นคุณค่าในตัวผู้อื่น ถึงแม้ว่ามุมมองของเขาจะต่างจากของเรา  เราสามารถปฏิบัติการฟังด้วยความเอาใจเขามาใส่ใจเราได้ด้วยแบบฝึกหัด “การฟังในเชิงลึก” ซึ่งเราจะพยายามฟังผู้อื่นโดยไม่แสดงความคิดเห็นหรือตัดสินเขาเป็นเวลาสองสามนาทีในแต่ละครั้ง  หรือเราอาจลองดูหรือฟังผู้คนที่พูดในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย แล้วหยุดเป็นพัก ๆ เพื่อเรียบเรียงประโยคหรือพูดสิ่งที่พวกเขาพูดออกมาก่อนที่เราจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ทางอารมณ์กับสิ่งเหล่านั้น

การฟังด้วยความเอาใจเขามาใส่ใจเราควรเป็นการฟังที่ให้ความใส่ใจเนื้อหาทั้งในเชิงทั่วไปและความต้องการและปณิธานที่อาจเผยให้เห็นถึงบริบทในการทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดด้วย

การสื่อสารที่มีทักษะ

การฟังเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่เรายังต้องสามารถสื่อสารสิ่งที่เราต้องการจะพูดในลักษณะที่มีความสุขุม ก่อให้เกิดประโยชน์ และเสริมพลังต่อตัวเราเองและผู้อื่นด้วย  แนวคิดของ “การสื่อสารเสริมพลัง” หมายถึงความสามารถในการพูดด้วยความเคารพและความชัดเจน ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเรา แต่รวมถึงผู้ที่อาจไม่สามารถพูดเพื่อตัวเองได้ด้วย  การโต้วาทีสามารถเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากได้  ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถเลือกที่จะโต้วาทีกับเพื่อนและลองเข้าข้างฝ่ายที่เรามักไม่เห็นด้วย  ในเมื่อเราในฐานะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะลดทอนความถูกต้องหรือแม้กระทั่งลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ต่อต้านมุมมองของเรา แบบฝึกหัดนี้จึงสามารถช่วยปลูกฝังความถ่อมตน ความอยากรู้ทางปัญญา และความรู้สึกถึงมนุษยธรรมที่เรามีร่วมกันได้

การช่วยเหลือผู้อื่น

การฟังและการสื่อสารเป็นสิ่งขั้นพื้นฐาน แต่ยังมีวิธีอีกหลากหลายวิธีในการช่วยเหลือผู้อื่น  การช่วยเหลือผู้อื่นควรมีความเหมาะสมกับความต้องการของผู้อื่นเสมอและอยู่ในขอบเขตความสามารถของเราเองด้วย  ตั้งแต่การบริการชุมชนไปจนถึงการอาสาสมัคร จนถึง “การสุ่มแสดงน้ำใจ”  งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการให้ความช่วยเหลือมีส่วนช่วยสนับสนุนความเป็นดีอยู่ดีของเรามากกว่าการรอรับความช่วยเหลือเสียอีก

เราสามารถใช้เวลาพิจารณาเกี่ยวกับกระบวนการในการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย  เรารู้สึกอย่างไรเวลาเราได้ช่วยเหลือผู้อื่น เราเรียนรู้อะไรบ้าง เราจะสามารถเสริมการกระทำของเราได้อย่างไร และการกระทำเช่นนี้ส่งผลอย่างไรต่อผู้ที่เราพยายาจะช่วยเหลือ  ในที่สุดเราจะสามารถสำรวจประเภทของความช่วยเหลือที่ผู้อื่นต้องการอย่างแท้จริงสำหรับความเป็นดีอยู่ดีในระยะยาว ซึ่งอยู่นอกเหนือจากสิ่งที่เห็นภายนอก

การเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง

เราต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งต่าง ๆ ในชีวิตของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้  จริง ๆ แล้วความขัดแย้งก็ไม่ได้แย่เสมอไป แต่การเรียนรู้ที่จะนำทางผ่านความขัดแย้งสำหรับตัวเราและผู้อื่นก็เป็นทักษะที่สำคัญ  การแก้ปัญหาความขัดแย้งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์และความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่สามารถเสริมความเป็นดีอยู่ดีของทั้งสองฝ่ายได้  ในการนี้เราจะต้องตอบโต้ความขัดแย้งในเชิงที่เป็นประโยชน์และส่งเสริมความร่วมมือ ความปรองดอง และความสัมพันธ์เชิงสันติภาพ

ความสันติภายในทำหน้าที่เป็นพื้นฐานสำหรับความสันติภายนอก  ในลักษณะเดียวกันนี้ ความปรองดองภายในก็สามารถนำไปสู่ความปรองดองภายนอกได้เช่นกัน  การรับมือกับโลกภายในของเราช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง  หากไม่มีการปลูกฝังเรื่องความถ่อมตัว ความเอาใจเขามาใส่ใจเรา ความเห็นอกเห็นใจ การให้อภัย ความเป็นกลาง และการตระหนักถึงมนุษยธรรมที่เรามีร่วมกันแล้ว การเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็จะเป็นไปได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย  เมื่อใดที่เรามีทักษะเหล่านี้แล้ว หน้าที่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็สามารถกลายเป็นประสบการณ์อันลึกซึ้งและเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงสำหรับทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม

สรุป

ในส่วนแรกของคอร์สนี้ เราพัฒนาความเข้าใจทางอารมณ์เพื่อให้เข้าใจตัวเราได้ดีขึ้น  ในส่วนที่สองนี้ เราใช้ความเข้าใจดังกล่าวสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทั้งครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน และคนแปลกหน้าเราที่พบปะ  การปลูกฝังทักษะด้านความสัมพันธ์นี้เชื่อมอยู่กับหลักการของความมีน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจ  เมื่อเราฝึกสิ่งเหล่านี้อย่างเพียงพอแล้ว ทักษะทางสังคมก็ไม่หยุดอยู่ที่การเป็นเทคนิคเท่านั้น หากแต่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นผลลัพธ์ของอุปนิสัยการเห็นคุณค่าและความเป็นห่วงเป็นใยผู้อื่นโดยธรรมชาติของเรา  เมื่อเรานำกลยุทธ์เชิงบวกเหล่านี้ไปปฏิบัติในบริบททางสังคมที่เราเผชิญอยู่ ความสัมพันธ์ของเราก็จะมีความสามัคคีมากขึ้น แถมเรายังมีความสุขและรู้สึกเติมเต็มมากขึ้นด้วย


หากคุณต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดอ่านโครงสร้างการเรียนรู้  SEE ฉบับเต็มและเรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมอื่น ๆ  ของศูนย์อนุปัสสนาวิทยาและจริยธรรมบนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจ (Center for Contemplative Science and Compassion-Based Ethics)

Top