ความเกี่ยวข้องของกรรมกับชีวิตประจำวันของเรา

ทำความเข้าใจเรื่องกรรม

ในวันนี้ผมอยากจะพูดถึงความเกี่ยวข้องของกรรมกับชีวิตประจำวันของเรา  ก่อนอื่นเลย เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจความหมายของกรรม  เราสามารถใช้คำอธิบายทั่วไปสองแบบ  แบบแรกคือกรรมหมายถึงแรงกระตุ้นทางจิตที่ยากจะขัดขืน ซึ่งดึงดูดให้เรากระทำการในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย การพูดอะไรออกมา หรือการคิดอะไรในใจ  คำอธิบายแบบที่สองจะเสริมในเรื่องเกี่ยวกับการกระทำทางกายและทางคำพูด  สำหรับการกระทำเช่นนี้ กรรมอยู่ในรูปแบบการกระทำทางกายที่โดนบังคับ เสียงที่โดนบังคับในการกระทำทางคำพูด และพลังงานละเอียดที่ยากต่อการขัดขืนที่มาพร้อมกับการกระทำการทั้งสองแบบและดำเนินต่อไปในความต่อเนื่องทางจิตใจของเรา  จุดนี้ต้องสังเกตว่าการอธิบายทั้งสองแบบไม่ได้บอกเลยว่ากรรมเป็นการกระทำที่แท้จริง ถึงแม้ว่าจริง ๆ แล้วคำว่ากรรมในภาษาพูดของทิเบตจะแปลว่า “การกระทำ” ก็ตาม

ทันทีที่การกระทำเกิดขึ้นในลักษณะแรงบังคับทางกรรมตามที่ได้กล่าวไปแล้ว มันก็จะทิ้งผลพวงทางกรรมบางประเภทไว้ในความต่อเนื่องทางจิตของเรา  เรามาพูดถึงประเภทที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายมากที่สุดแล้ว นั่นคือศักยภาพในเชิงบวกหรือในเชิงลบของกรรมและแนวโน้มทางกรรม ทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันเล็กน้อย แต่เราไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดเชิงเทคนิคในตอนนี้  ด้านหนึ่งของศักยภาพของกรรมและแนวโน้มทางกรรมคือ ความสามารถในการก่อให้เกิดผลกระทบหรือผลลัพธ์เมื่อสภาพเงื่อนไขมีความเพียงพอแล้ว  หากใช้คำศัพท์ทางเทคนิค เหมือนกับผลไม้สักลูก ก็คือเมื่อสภาพเงื่อนไขนั้น “เจริญเติบโตเต็มที่ (สุก)” แล้วนั่นเอง

สิ่งที่เจริญเติบโตจากศักยภาพทางกรรมและแนวโน้มทางกรรม

มีผลลัพธ์หลายประเภทที่มาจากศักยภาพและแนวโน้มทางกรรม  ประเภททั่วไปที่สุดคือความรู้สึกสุขหรือทุกข์ในระดับหนึ่ง ซึ่งมาพร้อมกับแต่ละขณะในประสบการณ์ของเรา  ถ้าเป็นความทุกข์ นั่นคือผลลัพธ์ของพฤติกรรมเชิงทำลาย และถ้าเป็นความสุข นั่นก็คือผลลัพธ์ของพฤติกรรมเชิงประโยชน์

นอกจากนี้ยังมีความรู้สึกของการทำการกระทำประเภทก่อนหน้านี้ซ้ำอีก  กรรมไม่ได้เจริญเติบโตจากผลพวงของกรรมโดยตรง  ตอนแรกเราจะเกิดความรู้สึกขึ้นก่อน หมายถึงความรู้สึกว่าเราอยากตะโกนใส่คนอื่นหรือกอดคนอื่น  จากความรู้สึกนี้จะเกิดแรงกระตุ้นให้เราทำเช่นนั้น ซึ่งดึงดูดให้เรากระทำแบบนั้น  มีความแตกต่างที่น่าสังเกตระหว่างความรู้สึกกับแรงกระตุ้น ความรู้สึกว่าอยากทำบางอย่างนั้นเหมือนกับการที่เราอยากหรือปรารถนาจะทำอะไรบางอย่าง  แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยในภาษาอังกฤษ “รู้สึก” นั้นสามารถอธิบายความหมายได้ครอบคลุมกว่าความอยากหรือความปรารถนาเล็กน้อย  มันโดยตั้งใจน้อยกว่า  เรารู้สึกว่าเราอยากทำสิ่งที่คล้ายกับสิ่งที่เราทำไปแล้วอีกครั้ง และเราก็รู้สึกว่าอยากเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่สิ่งที่คล้ายคลึงกันนั้นจะเกิดขึ้นกับเราอีก  อย่างไรก็ตาม การที่อีกคนปฏิบัติกับเราในลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีที่เราปฏิบัติกับเขานั้นไม่ใช่ผลลัพธ์ของศักยภาพและแนวโน้มทางกรรมของเราแน่นอน  เพื่อความชัดเจน นั้นเจริญเติบโตจากศักยภาพและแนวโน้มทางกรรมของพวกเขา ไม่ใช่ของเรา  สิ่งเดียวที่เจริญเติบโตจากทางฝั่งเราคือความรู้สึกว่าอยากเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ไปเจอคนคนนี้ เป็นต้น

อีกอย่างที่เจริญเติบโต ในกรณีนี้โดยเฉพาะจากศักยภาพทางกรรมของเราก็คือ ประเภทของสิ่งมีชีวิต ร่างกายและประเภทกิจกรรมของจิตที่เรามี  ยกตัวอย่างเช่น เราจะประสบกับความสามารถทางจิตที่แตกต่างออกไปถ้าเรามีสมองของสุนัข หรือสมองของมนุษย์  แนวโน้มทางกรรมคือสิ่งที่นำพาความต่อเนื่องทางจิตที่แท้จริง ในกรณีของการเกิดใหม่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อเชื่อมโยงสเปิร์มเข้ากับไข่ของพ่อแม่เฉพาะกลุ่ม  ในลักษณะนี้ประเภทของสิ่งมีชีวิตและร่างกายที่เรามีอยู่ก็คือผลลัพธ์จากแนวโน้มทางกรรมเหล่านี้นั่นเอง

การเจริญเติบโตของกรรมในชาตินี้มักมาจากการกระทำในชาติก่อน ๆ

เมื่อเราพิจารณาประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา เรามักจะคิดว่าความรู้สึกต่าง ๆ ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุขที่เราประสบ หรือความรู้สึกใด ๆ ที่เราต้องทำหรือต้องพูดอะไรบางอย่างนั้นมาจากการเจริญเติบโตของศักยภาพและแนวโน้มทางกรรมจากการกระทำของเราในอดีตของชีวิตนี้  แต่จริง ๆ แล้วมีเพียงพฤติกรรมทางกรรมบางประเภทเท่านั้นที่มีศักยภาพและแนวโน้มที่เจริญเติบโตภายในชาตินี้ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมเชิงลบและเชิงบวกที่มีแรงจูงใจอย่างแรงกล้า โดยเฉพาะหากการกระทำดังกล่าวมุ่งเน้นไปยังผู้คนที่มีน้ำใจอย่างสูงต่อเรา เช่น อาจารย์หรือบุพการีของเรา  กรรมส่วนใหญ่ที่เจริญเติบโตและที่เราประสบในชาตินี้คือผลลัพธ์ของศักยภาพและแนวโน้มทางกรรมที่สะสมมาจากการกระทำในชาติก่อน

จุดนี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับหลาย ๆ คน หรืออาจจะสำหรับคนส่วนใหญ่   สำหรับชาวตะวันตก พวกเราส่วนใหญ่ไม่เชื่อในเรื่องอดีตชาติและชาติหน้าเลย  นั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่งและน่าเสียดายที่เราไม่มีเวลาวันนี้ในการสำรวจชีวิตในอดีตและอนาคต รวมถึงวิธีที่เราจะเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร  อย่างไรก็ตามผมคิดว่าต่อให้ไม่เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การพูดเรื่องกรรมทั้งหมดนั้นมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราและวิธีที่เรารับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้เป็นอย่างมาก

การพัฒนาความใส่ใจ สติ และความตระหนักรู้ที่แยกแยะเกี่ยวกับพฤติกรรมอย่างบีบบังคับ

ขั้นแรกของการรับมือกับสิ่งที่เราเผชิญในชีวิต เราจำเป็นต้องพัฒนาความใส่ใจก่อน  ความใส่ใจ หรือการให้ความใส่ใจนั้นเป็นปัจจัยทางจิตที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมทางจิตของเรากับวัตถุนั้น ๆ  เมื่อวัตถุนั้นคือสิ่งที่เราประสบในทุกขณะเวลา แวดวงในตะวันตกเรียกว่า “การมีสติ” ถึงแม้ว่านั่นจะไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของ “สติ” ในพระพุทธศาสนาก็ตาม  เมื่อเราใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจและอารมณ์ของเรา สติก็เป็นปัจจัยทางจิตใจที่เหมือนกับกาวทางใจ กล่าวคือสติป้องกันไม่ให้เราเสียความใส่ใจไปนั่นเอง  เมื่อเราใส่ใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เราก็จะสามารถสังเกตได้ดีขึ้นเวลาที่เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรหรืออยากพูดอะไร  เราสามารถรับรู้ได้เมื่อความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นและสังเกตถึงช่องว่างระหว่างเวลาที่เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรบางอย่าง และเวลาที่เราประสบกับแรงกระตุ้นย่างจับใจที่ทำให้เรากระทำพฤติกรรมดังกล่าว

ในภาษาพูดของภาษาอังกฤษ เรากล่าวถึงผู้คนบางคนว่าพวกเขาโพล่งสิ่งแรกที่แล่นเข้ามาในหัวโดยไม่คิด  พวกเขาไม่มีเซนเซอร์ภายในที่คัดกรองสิ่งที่พวกเขาพูดหรือทำ  อะไรที่เข้ามาในหัว พวกเขาก็จะทำหรือพูดเลยตามใจอยาก  แต่เมื่อเราสังเกตเห็นว่ามันมีช่องว่างระหว่างตอนที่ความรู้สึกเหล่านี้ก่อตัวขึ้นและตอนที่เราปฏิบัติตามความรู้สึกเหล่านี้ จุดนี้ก็จะทำให้เราใช้สิ่งที่เรียกว่า “ความตระหนักรู้ที่แยกแยะ” เพื่อตัดสินใจว่าเราจะปฏิบัติตามที่รู้สึกหรือไม่  เราแยกแยะว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นประโยชน์หรือจะสร้างปัญหามากมาย  ถ้าการกระทำนั้นรังแต่จะสร้างปัญหามากมายตามมา เราก็เข้าใจว่ามันเป็นการกระทำเชิงทำลายและตัดสินใจไม่กระทำเช่นนั้น  ยกตัวอย่างเช่น เราไม่จำเป็นต้องบอกคนอื่นว่า “คุณใส่ชุดอะไรน่าเกลียดจังเลย”  การทำแบบนั้นมันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรนัก จริงไหมครับ?

ประเด็นคือเราเข้าใจว่าความรู้สึกของการกระทำหรือพูดในแบบต่าง ๆ นั้นมาจากนิสัย  ผมใช้คำว่า “นิสัย” ตรงนี้เป็นคำศัพท์ทั่วไปสำหรับศักยภาพและแนวโน้มทางกรรม  ไม่ว่านิสัยเหล่านี้จะมาจากชาตินี้หรือชาติก่อนหน้านี้ก็ไม่สำคัญ  สิ่งที่สำคัญคือว่า เรากำลังกระทำการด้วยแรงบังคับที่อิงจากรูปแบบการกระทำในอดีต นิสัยในอดีต และมันไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะต้องตกเป็นทาสมัน  เราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์เดรัจฉานที่กระทำสิ่งใดโดยไม่สามารถควบคุมสัญชาตญาณตนเองได้  ในฐานะมนุษย์ เรามีสติปัญญา ซึ่งหมายถึงความสามารถในการแยกแยะระหว่างสิ่งที่เป็นประโยชน์และสิ่งที่เป็นอันตราย  ไม่ว่าชาติที่แล้วจะมีอยู่จริงหรือไม่ เราก็เห็นได้ว่าการกระทำโดยอิงจากนิสัยแย่ ๆ ของเราเป็นเรื่องที่โง่เง่าสิ้นดี มันรังแต่จะสร้างปัญหาให้เราอยู่เรื่อย  ในเมื่อเราไม่อยากสร้างปัญหาให้ตัวเองเพิ่มขึ้นด้วยความขาดสติ เราจึงพยายามเอาชนะการกระทำที่เกิดจากแรงบังคับ ซึ่งมีรากฐานมาจากนิสัยแย่ ๆ

เราจำเป็นต้องพิจารณารูปแบบการกระทำพฤติกรรมอันเกิดจากแรงบังคับของเราซ้ำ ๆ ราวกับว่ามันเป็นสิ่งเสพติด  เราอาจเสพติดแอลกอฮอล์ ติดบุหรี่ ติดยา  แต่เราก็สามารถเสพติดกิจกรรมต่าง ๆ อย่าง การพนัน หรือการมีเพศสัมพันธ์ หรือแม้แต่การตะโกนด่าคนก็ได้  มีวิธีหลายอย่างทั้งทางพระพุทธศาสนาและทางที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนาในการเอาชนะการเสพติดเหล่านี้  เราจำเป็นต้องปฏิบัติวิธีการเหล่านี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มิฉะนั้นเราก็จะทำเกินขอบเขตการควบคุม ซึ่งรังแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก

ขั้นแรกของโปรแกรมบำบัดการเสพติดใด ๆ ก็ตามคือ การรับรู้และยอมรับว่าเราเป็นผู้เสพติด  ขั้นตอนนี้จำเป็นอย่างยวดยิ่ง  เราจำเป็นต้องระบุปัญหาให้ได้ก่อนที่เราจะแก้ไขเพื่อกำจัดปัญหา  แต่โปรแกรมบำบัดการเสพติดบางอย่างก็ทำให้ผู้บำบัดเชื่อว่าการเป็นผู้เสพติดนั้นเป็นตัวตนที่แท้จริงอันไม่เปลี่ยนแปลงของตนเองและไม่มีใครสามารถก้าวข้ามการเป็นผู้เสพติดได้ เราไม่มีทางจะหยุดพฤติกรรมเสพติดของเราได้จริง ๆ  อย่างไรก็ตามจากมุมมองทางพระพุทธศาสนาแล้ว เราสามารถหยุดการเสพติดทุกอย่างได้ รวมถึงการเสพติดประเภทของพฤติกรรมที่เป็นเชิงทำลายตนเอง เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นอีก  นั่นคือเป้าหมายของเราในฐานะผู้ปฏิบัติชาวพุทธ

การเสียสละรูปแบบพฤติกรรมบังคับของเรา

จุดนี้คือจุดที่การเสียสละเข้ามาช่วยในการเอาชนะการเสพติดรูปแบบพฤติกรรมบังคับ  การเสียสละคือความตั้งใจในการเป็นอิสระจากบางสิ่งและความเต็มใจที่จะละทิ้งสิ่งนั้น  อารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเสียสละคือความรังเกียจและความเบื่อหน่ายเหลือทน  เราเบื่อหน่ายกับการเสพติดทางพฤติกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นการเสพติดเชิงลบในเชิงทำลายตัวเองหรือการเสพติดทางประสาทในเชิงบวก  ยกตัวอย่างเช่น เราเบื่อหน่ายกับการอารมณ์ร้อนและตะโกนใส่ผู้อื่นตลอดเวลา หรือเราเบื่อหน่ายกับการที่เราหมกมุ่นกับการล้างมือที่โดนบังคับตลอดเวลา  ดังนั้นเมื่อเรารู้สึกว่าอยากตะโกนหรือล้างมืออีกครั้ง ถึงแม้ว่าเราจะเพิ่งล้างมือไปก็ตาม เราก็ยืนยันความตั้งใจของเราอีกครั้งให้เราจะกำจัดตัวเองจากความรู้สึกเช่นนั้นอีกตลอดไป  ในขั้นแรก เรายืนยันความตั้งใจของเราอีกครั้งว่าอย่างน้อยเราจะไม่กระทำตามที่เรารู้สึกว่าอยากทำอีกแล้ว จากนั้นเราจึงใช้การควบคุมตัวเอง แล้วก็ไม่ทำอย่างนั้น  แต่แน่นอนว่าการควบคุมตัวเองเป็นเพียงแค่ก้าวแรก  เราต้องเข้าไปให้ลึกขึ้นเพื่อกำจัดสาเหตุที่ลึกที่สุดของพฤติกรรมบังคับของเราให้ได้

การเข้าใจผิดเกี่ยวกับกรรม

เมื่อเราพยายามนำหลักคำสอนเรื่องกรรมไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราต้องระวังเรื่องการเข้าใจผิดในลักษณะที่ว่า เราสมควรที่จะประสบกับสิ่งต่าง ๆ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เจริญเติบโตมาจากกรรมของเรา  หากเรามีทัศนคติแบบผู้แพ้เช่นนี้ เราคิดว่าในชาติที่แล้วเราเป็นคนไม่ดี และตอนนี้เราก็สมควรได้รับสิ่งเหล่านี้เพื่อเป็นบทลงโทษ  เราพบหลักคำสอนของอาจารย์ศานติเทวะที่กล่าวว่า ถ้าเราไม่ตั้งเป้า ก็ไม่มีใครยิงธนูมาปัก  ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติตัวเชิงทำลายในอดีต เราก็คงจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับการที่มีคนโกรธเราและปฏิบัติกับเราแย่ ๆ ในชาตินี้ เป็นต้น  ประเด็นของอาจารย์ศานติเทวะไม่ใช่ให้เราไปโทษคนอื่น แต่ให้โทษตัวเราเอง  อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่า เราควรมีความรู้สึกสุดโต่งว่าเรานั้นเป็นคนไม่ดีเสียเหลือเกินและเราสมควรได้รับทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเราทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราจึงควรหุบปาก หยุดบ่น และยอมรับบทลงโทษของเราเสีย  ผมว่านั่นไม่ใช่วิธีการรับมือกับหลักคำสอนเรื่องกรรมที่ดีต่อสุขภาพที่สุด และก็ไม่ใช่วิธีการนำหลักคำสอนไปปฏิบัติตามจุดมุ่งหมายด้วย

แทนที่เราจะใช้มุมมองแบบยอมแพ้ต่อโชคชะตาแบบนี้ เราควรมองด้านอื่น ๆ ของหลักคำสอนเรื่องกรรม เพื่อดูว่าเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร  เมื่อเราประสบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในตอนนี้ เราสามารถอนุมานได้จากหลักคำสอนเรื่องกรรมว่าเหตุเกิดมาจากการกระทำในอดีตของเรา  หลักคำสอนหลายตำราลงรายละเอียดเกี่ยวกับการเชื่อมโยงกันระหว่างสิ่งที่เราประสบกับการกระทำในอดีตของเรา  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรามักประสบกับความสัมพันธ์ที่ไม่เคยยั่งยืน เราอยู่กับคนรักได้ไม่ยืดยาวเสียที หรือคนอื่นเลิกคบกับเราตลอดเวลา นั่นคือผลลัพธ์ของการที่เราชอบพูดจาสร้างปัญหาให้ผู้อื่น  เราพูดจาในสิ่งที่น่ารังเกียจกับผู้คนเกี่ยวกับเพื่อนของเขา เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างพวกเขา  เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์ที่เพื่อนเราเดินจากเราไป นั่นคือการเจริญเติบโตของกรรมในส่วนนั้น กล่าวคือเรากำลังประสบกับเหตุการณ์ที่ผู้อื่นปฏิบัติกับเราในแบบที่เราปฏิบัติกับเขานั่นเอง

อีกสิ่งหนึ่งที่จะเจริญเติบโตมาจากการพูดจาสร้างความแตกแยกคือ ความรู้สึกบังคับให้กระทำพฤติกรรมเช่นนี้ซ้ำอีก  เมื่อดูจากจุดนี้แล้ว ในการใช้ความเข้าใจเรื่องกรรมของเราให้เป็นเครื่องมือที่เกิดประโยชน์ เราต้องสำรวจตัวเองด้วยความสัตย์จริง  เรามีแนวโน้มที่จะวิจารณ์หรือพูดจาว่ากล่าวคนอื่นให้คนที่ชอบเขา ทำงานกับเขา เรียนกับเขา หรือเป็นมิตรกับเขาไหม?  เราก็คงจะพบว่าเรามักจะชอบวิพากษ์วิจารณ์มากเกินควร  เราแทบจะไม่พูดถึงข้อดีของใครเลย เพราะเราเอาแต่พูดถึงข้อเสียของพวกเขา  นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยมาก จริงไหมครับ?  เรากระตือรือร้นที่จะกล่าวถึงข้อเสียของผู้อื่นและเล่าให้ทุกคนฟัง แล้วก็บ่นเกี่ยวกับข้อเสียเหล่านี้  แต่บ่อยแค่ไหนที่เราดูแต่คุณสมบัติที่ดีของผู้อื่นและชมพวกเขาให้ผู้อื่นฟัง?  นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยนักสำหรับพวกเราส่วนใหญ่

นี่คือหนึ่งในประเด็นที่มีประโยชน์ที่สุดที่เราสามารถเรียนรู้จากหลักคำสอนเรื่องกรรมและสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้  เราสามารถหารูปแบบในพฤติกรรมปกติของเราที่สอดคล้องกับประเภทของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา  จากนั้นแทนที่จะตกหลุมพรางของทัศนคติผู้แพ้  “ฉันสมควรต้องเจอแบบนี้เพราะชาติที่แล้วฉันทำผิดเหลือเกิน ฉันชอบวิจารณ์ผู้อื่น”  เราควรหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราในตอนนี้  เมื่อเรารู้สึกว่าอยากพูดอะไรแย่ ๆ เกี่ยวกับใครบางคน เราก็เตือนตัวเองให้ลองพิจารณาถึงข้อดีของเขามากขึ้นและชมเขาแทน

เราสามารถระบุตัวอย่างกลุ่มอาการทางกรรมได้หลากหลายประเภทมาก  ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะยากจน  จากการตรวจสอบแล้วเราอาจพบว่าเรามักเอาเปรียบและใช้ของของผู้อื่นตลอด ใช้ผู้อื่นหาประโยชน์เข้าตัว ไม่เคยเลี้ยงใครเลย แต่คาดหวังว่าคนอื่นจะต้องเลี้ยงเราเสมอ  อะไรแบบนั้น  ตรงนี้ผมพูดถึงการใช้ของของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต อย่างเช่นการนำอาหารของเขาในตู้เย็นไปทานโดยไม่ขอเจ้าของก่อน อะไรแบบนี้  เราจะสังเกตเห็นความสัมพันธ์ในเรื่องนี้กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา กับความรู้สึกและแนวโน้มในการปฏิบัติตัวในลักษณะคล้าย ๆ กันของเรา  ปรมาจารย์ชาวอินเดียนามว่า ท่านธรรมรักษิตะ (Dharmarakshita) ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เหล่านี้ในตำราฝึกจิตที่ชื่อว่า วงล้อของอาวุธมีคม (Wheel of Sharp Weapons)

นอกจากนี้เราต้องเข้าใจว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากสาเหตุเดียว  พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าถังน้ำไม่ได้เติมเต็มด้วยน้ำหยดแรกและหยดสุดท้าย หากแต่เติมเต็มด้วยน้ำทุกหยดรวมกัน  ไม่ว่าเราจะประสบกับความทุกข์ใด ความทุกข์นั้นไม่ใช่ผลลัพธ์ของสิ่งแย่ ๆ ที่เราทำในอดีตเพียงอย่างเดียว แล้วก็ไม่ใช่ผลลัพธ์ของการสะสมของสิ่งแย่ ๆ ที่เราทำก่อนหน้านี้ด้วย  หากแต่เป็นเหตุและเงื่อนไขมากมายนับไม่ถ้วนที่มารวมตัวกัน ซึ่งทำให้เราประสบกับสิ่งนั้น ๆ

สมมุติว่าเราโดนรถชน  มันไม่ใช่ว่าเราคงเคยไปทำร้ายใครเขามา จะด้วยรถยนต์หรือไม่ก็ตาม  มันไม่ใช่แค่นั้น เพราะมันยังรวมถึงศักยภาพทางกรรมทั้งหมดของคนที่ชนเราด้วย  แล้วก็ยังมีอากาศ สภาพการจราจร และเหตุผลที่เราออกไปเดินตรงนั้นในตอนนั้น  มีคนงานที่สร้างถนนอยู่  มันมีจำนวนสาเหตุและสภาพเงื่อนไขมากมายนับไม่ถ้วนที่เข้ามารวมกันและทำให้เราประสบกับสถานการณ์ที่เราโดนรถชน

เมื่อเราขยายมุมมองเกี่ยวกับเหตุและผลให้กว้างขึ้นและเข้าใจว่าผลลัพธ์อย่างหนึ่งนั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ มากมาย เราก็จะเริ่มแยกโครงสร้างความเป็น “ตัวฉัน” ที่แข็งแกร่งลง เหมือนเราเป็นคนผิดที่สมควรได้รับสิ่งนี้และทั้งหมดนี้เป็นความผิดของเราเอง  แน่นอนว่าเรามีส่วนรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่การรับผิดชอบในการกระทำของตัวเองและการระบุด้วย “ตัวฉัน” อย่างแน่ชัดว่าเราเป็นคนผิด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นความผิดของเรา ทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันมาก

ทำความเข้าใจเรื่องสุญญตาเกี่ยวข้องกับกรรม

เมื่อเราขยายมุมมองของเหตุและผลให้กว้างขึ้นแล้ว เราจำเป็นต้องแยกโครงสร้างสิ่งที่เรียกว่า “วงกลมสามวง” ที่เกี่ยวข้องด้วย  เราสามารถคิดสูตรวงกลมสามวงนี้ได้หลายรูปแบบ แต่ในบริบทของการเจริญเติบโตของกรรมนั้นเราสามารถระบุทั้งสามในฐานะ “ตัวฉัน” ที่ประสบกับการเจริญเติบโตของกรรม สิ่งที่เกิดจากการเจริญเติบโตของกรรมที่เรากำลังประสบอยู่ตอนนี้ และสิ่งที่เราทำในอดีตที่เป็นสาเหตุทางกรรมสำหรับสิ่งที่เจริญเติบโตขึ้น  เมื่อเราไม่เข้าใจว่าวงกลมทั้งสามนี้เกิดขึ้นอย่างสัมพันธ์กันและไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวเอง โดยปราศจากการพึ่งพาทุกสิ่งทุกอย่างที่มันพึ่งพาในการเกิดขึ้นนั้น ในใจเราก็จะสร้างและยึดมั่น “ตัวฉัน” ซึ่งมีการดำรงอยู่ที่เข้มแข็ง   ที่ทำไม่ดีในอดีตและสมควรได้รับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้  ในลักษณะนี้เรากลายเป็นเหยื่อ หรือกลายเป็นอาชญากรที่โดนลงโทษ และเราจะยึดติดอยู่กับสิ่งที่ดูเหมือนตัวตนอันเข้มแข็งนั้น  นี่เป็นสภาวะของจิตที่ไม่มีความสุขมาก ถูกไหมครับ?  เราทำให้สิ่งที่เราประสบอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องใหญ่โตโดยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่เลวร้ายเหลือเกิน แล้วเราก็ทำให้การกระทำในอดีตของเราเป็นเรื่องใหญ่โตอีก ด้วยการมองว่าการกระทำเหล่านั้นเป็นสิ่งเลวร้ายเหลือเกิน  ทั้งหมดทั้งมวลนี้อิ่มตัวไปด้วยความรู้สึกผิดและความรู้สึกสงสารตัวเอง ซึ่งมีแต่จะทำให้ประสบการณ์ในชีวิตประจำวันเราแย่ลงเรื่อย ๆ

ดังนั้นการนำความเข้าใจเรื่องสุญญตาเข้ามาใช้จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก  หากไม่มีความเข้าใจในส่วนนี้ ทุกอย่างก็จะดูรวมกันอย่างแน่นหนาไปหน่อย ทำให้เราหลงไปอยู่ในจุดสุดโต่งได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีแต่จะสร้างปัญหาและทุกข์มากขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่ได้อธิบายไปแล้ว  แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีความเข้าใจเรื่องสุญญตา เราก็ต้องปฏิบัติตัวโดยระลึกไว้เสมอว่าทุกอย่างที่เราคิด พูด หรือทำจะมีผลทางกรรมตามมา  เมื่อเราตระหนักถึงจุดนี้แล้ว เราก็ต้องเว้นจากการกระทำในเชิงทำลายและปฏิบัติตัวในลักษณะที่เป็นประโยชน์แทน แล้วก็ลงมือปฏิบัติจริง

ละเว้นพฤติกรรมเชิงทำลาย

ปัจจัยสำคัญสำหรับการละเว้นพฤติกรรมเชิงทำลายประเภทใด ๆ ก็ตามที่สอนในตำราพระพุทธศาสนาคือ ให้คิดถึงข้อเสียของการทำพฤติกรรมเหล่านั้น  เพราะว่าเราไม่ต้องการประสบกับความทุกข์อันเป็นผลพวงมาจากพฤติกรรมดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อเกิดความรู้สึกว่าอยากทำหรืออยากพูดอะไรที่เป็นเชิงทำลาย เราก็จะละเว้นการทำเช่นนั้น  แต่ส่วนใหญ่แล้วเราไม่ได้คิดแบบนี้  เราละเว้นการทำเช่นนั้นเพราะเรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะไม่ทำพฤติกรรมเชิงทำลาย  จุดนี้เลยน่าสนใจทีเดียว เพราะว่ามีพฤติกรรมเชิงทำลายบางประเภทที่คนเรารู้สึกว่าไม่ถูกต้องแน่ ๆ เช่น การโกง การทำลายข้าวของ หรืออะไรแบบนั้น  ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่เป็นไร  บางทีเราอาจจะไม่ได้คิดถึงผลเชิงลบที่จะตามมา แต่เราก็ยังไม่ทำพฤติกรรมเหล่านั้นอยู่ดี

แล้วการฆ่ายุงล่ะ?  ผมไม่รู้ว่าคุณคิดยังไง แต่ผมเคยมีประสบการณ์ที่ผมรู้สึกว่าการตบยุงตาย หรือการเดินไปรอบ ๆ ราวกับว่าผมอยู่ในซาฟารีในแอฟริกา แล้วก็พยายามล่าและฆ่ายุงตัวที่มันทำให้ผมต้องตื่นทั้งคืนนี่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง  มันรู้สึกใช่  ถึงแม้ว่าเราจะตระหนักถึงความน่าขันของการตามล่าหายุงในซาฟารีได้ เราก็ยังจะตะลุยซาฟารีอยู่ดี จริงไหม?  จริง ๆ แล้วการคิดถึงตัวอย่างไร้สาระแบบนี้ช่วยอธิบายกรณีนี้ได้ค่อนข้างดี

สำหรับพฤติกรรมเชิงทำลายประเภทนี้ มันจำเป็นอย่างมากที่เราจะคิดถึงข้อเสียต่าง ๆ ที่จะมาจากการฆ่ายุงและการที่เราไม่สามารถทนได้  ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องปล่อยให้ยุงดูดเลือดเราเสียทีเดียว แต่หมายถึงการพยายามใช้วิธีจัดการยุงอย่างมีสันติภาพมากกว่านี้  เราอาจจะเอาขวดโหลครอบมันไว้ตอนที่มันบินไปเกาะฝาห้อง เอาแผ่นกระดาษสอดเข้าไปข้างใต้ขวดโหล แล้วก็เอามันออกไปปล่อยนอกห้อง  มันเป็นวิธีที่ปฏิบัติได้จริง ๆ แต่เราต้องระวังว่าใจเราไม่ได้ยังไปซาฟารีอยู่ เพราะใจเราอาจจะไปซาฟารีแล้วก็ได้ในขณะที่ใช้ขวดโหลและแผ่นกระดาษจับยุง

จริง ๆ แล้วสถานการณ์นี้เหมาะแก่การนำมาวิเคราะห์  เรากำลังไล่ยุงออกไปจากห้องเพราะเราไม่อยากคันจากการโดนยุงกัดหรือเปล่า หรือว่าเราคิดถึงชีวิตของยุงตัวนั้น?  แน่นอนว่าการทำแบบนี้เท่ากับการไม่ให้อาหารยุง  เราต้องพิจารณาว่าหากเรายังคงฆ่ายุง หรือแมลงวัน หรืออะไรก็ตามต่อไปเรื่อย ๆ เรากำลังสร้างนิสัยแบบไหนอยู่?  นิสัยที่เรากำลังสร้างคือ เมื่อมีสิ่งใดมารบกวนเรา การโต้ตอบอย่างแรกของเราคือการฆ่าสิ่งนั้น  แนวโน้มคือการใช้วิธีรุนแรงเพื่อกำจัดสิ่งรบกวนนั้น แทนที่จะพยายามใช้วิธีสันติภาพ  ดังนั้นเวลาเราล่ายุงด้วยการใช้ขวดโหลและแผ่นกระดาษนั้น อย่างน้อยก็อย่าทำด้วยความเกลียดชังยุงตัวนั้น  เราไม่ควรคิดว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ยอมรับไม่ได้และเราจะต้องกำจัดมันออกไป เพราะมันบุกเข้ามาในพื้นที่ของเรา

แน่นอนว่านอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติขั้นสูงอีกหลายแบบที่เรานำไปใช้ได้ เช่น การมองว่ายุงตัวนี้เคยเป็นแม่ของเราในชาติก่อน เป็นต้น  แต่สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ การปฏิบัติแบบนั้นยากที่จะทำได้ด้วยความจริงใจ  ประเด็นคือบางอย่างเราก็รู้สึกถูกที่จะไม่ทำพฤติกรรมเชิงทำลาย แต่สำหรับบางอย่างเราก็ต้องเตือนตัวเองถึงแรงจูงใจที่มีจริง ๆ 

ปัจจัยกระตุ้นแนวโน้มและศักยภาพทางกรรม

อีกหนึ่งประเด็นที่ผมอยากจะพูดถึงเกี่ยวกับปัจจัยเฉพาะอย่างที่เป็นตัวกระตุ้นแนวโน้มและศักยภาพทางกรรม ซึ่งทำให้กรรมเหล่านั้นเจริญเติบโตขึ้นมา  ประเด็นนี้ได้รับการอภิปรายในหลักคำสอนของการอาศัยกันในการเกิดขึ้น มี 12 ข้อ (ปฏิจจสมุปบาท) ในด้านของปัจจัยที่กระตุ้นศักยภาพของกรรมตอนตาย  ปัจจัยเหล่านี้ “โยน” ความต่อเนื่องทางจิตของเราไปในการเวียนว่ายตายเกิดในอนาคต

ปัจจัยแรกคือข้อของความทะยานอยาก  “ความทะยานอยาก” เป็นคำแปลของคำศัพท์ภาษาทิเบตสำหรับข้อนี้ แต่คำศัพท์ภาษาสันสกฤตดั้งเดิมหมายถึง “ความกระหาย” (ตัณหา)  ปัจจัยอีกอย่างที่มักแปลว่า “การยึดมั่น” ก็ไม่ใช่คำแปลที่ชัดเจนที่สุดเช่นกัน เพราะมีคำศัพท์อื่นที่มักแปลว่า “การยึดมั่น” อีก เช่นคำที่หมายถึงการ  “ยึดมั่นหาการดำรงอยู่ที่แท้จริง” ซึ่งก็ไม่เหมือนกับคำศัพท์เหล่านี้อีก  คำศัพท์นี้มีความหมายตรง ๆ ว่า “การได้รับมาซึ่งบางอย่าง” หรือ “การรับเอาบางอย่าง”  ผมอยากจะใช้คำว่า “ตัวรับ”  (“obtainer”) มันเป็นอารมณ์หรือทัศคติแบบตัวรับ ซึ่งหากเราพัฒนามันแล้ว ก็จะทำให้เราได้ได้มาซึ่ง หรือรับเอา การเกิดใหม่ในอนาคตมาให้เรา  ถึงแม้ว่าในบริบทของ 12 ข้อ (ของปฎิจจสมุปบาท) ปัจจัยเหล่านี้จะได้รับการอธิบายในฐานะสิ่งที่กระตุ้นการโยนกรรมไปยังการเกิดใหม่ในอนาคต แต่การนำเสนอบางรูปแบบอื่น ๆ บ่งชี้ว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวกระตุ้นศักยภาพและแนวโน้มทางกรรมของทุกขณะเวลา

ส่วนนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ของกรรมในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก  อย่างแรกความทะยานอยากคืออะไร? ความกระหายคืออะไร?  มันเป็นปัจจัยทางจิตที่มุ่งเน้นไปยังความสุขและความทุกข์ในระดับหนึ่งที่เรากำลังรู้สึกอยู่ และทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทำให้มันเกินจริง  เมื่อเรามุ่งความสนใจไปยังความสุข เราก็กระหายไม่อยากให้มันจบ  ในกรณีของการไม่มีความสุขหรือความทุกข์นั้น เราก็กระหายให้มันจบไป  สำหรับความรู้สึกกลาง ๆ ซึ่งตรงนี้เราหมายถึงสิ่งที่เรารู้สึกเวลาเราอยู่ในสภาวะสมาธิขั้นสูงที่เรียกกันว่า ฌาน  ในสภาวะเหล่านั้น เรากระหายไม่ให้ความรู้เป็นกลางนี้ลดลง  แน่นอนว่าเรามีความกระหายและการยึดติดในระดับที่แตกต่างกันไปด้วย

“ตัวรับ” กล่าวถึงรายการอารมณ์และทัศคติรบกวน  เมื่อหนึ่งอย่างหรือหลายอย่างในกลุ่มนี้รวมกับความกระหายแล้วก็จะไปกระตุ้นการทำงานของศักยภาพและแนวโน้มทางกรรมของเรา  ข้อที่สำคัญที่สุดในรายการนี้คือการมองตัวเองในฐานะ “ตัวฉัน” ที่มีการดำรงอยู่อย่างแท้จริง  ซึ่งตรงกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ในองค์รวมของเรา นั่นคือร่างกาย จิต อารมณ์ เป็นต้น หรือเป็นการในการเป็นเจ้าของ ในฐานะ “ของฉัน” ที่มีการดำรงอยู่อย่างแท้จริง

โดยสรุปแล้ว ความกระหายมุ่งเน้นความรู้สึกสุขหรือทุกข์ในระดับหนึ่ง จากนั้นทัศนคติแบบตัวรับ ก็มุ่งเน้นที่ “ตัวฉัน” ซึ่งกำลังประสบกับสิ่งนั้นอยู่  ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีความเข้าใจเรื่องสุญญตาเกี่ยวกับความรู้สึกและสุญญตาเกี่ยวกับ “ตัวฉัน” เราก็ยังสามาถนำการวิเคราะห์เกี่ยวกับปัจจัยกระตุ้นแนวโน้มทางกรรมไปใช้ในชีวิตประจำวันได้  ในทุกช่วงเวลาเรารู้สึกถึงความทุกข์และความสุขในระดับต่าง ๆ  ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถนำหลักคำสอนที่เรียกว่า โลกธรรม 8 ประการ ไปปฏิบัติเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ในจุดนี้ได้

คำศัพท์ภาษาทิเบตที่แปลว่า “ของโลก” นั้นคือ jigten (’jig rten) ในคำว่า “โลกธรรม” นั้นประกอบด้วยสองพยางค์  ten แปลว่าพื้นฐาน และ jig หมายถึงสิ่งที่แตกสลายและดับไป  ดังนั้น โลกธรรม 8 ประการ หรือความกังวลทางโลกแปดประการ จึงหมายถึงทัศนคติที่เรามีต่อสิ่งที่แตกดับได้ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา  เรามักจะเพลิดเพลินมากเกินไปหรือหดหู่จนเกินควรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตที่ไม่มีรากฐานที่มั่นคงและคงอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น

ในกรณีของปัจจัยกระตุ้นแนวโน้มทางกรรม หลักของโลกธรรมที่เกี่ยวข้องคือการที่เราเพลิดเพลินมากเกินไปเวลาเรามีความสุขและหดหู่มากเวลาเราไม่มีความสุข  ในกรณีเหล่านี้ สิ่งใดมีรากฐานที่ไม่มั่นคง?  สิ่งนั้นคือความสุขและความทุกข์ที่เรารู้สึกนั่นเอง  เมื่อมันขาดรากฐานที่มั่นคง มันก็คงอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น  แต่เนื่องจากว่าเราทำให้ความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ราวกับว่ามันจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนไปตลอดกาล เราจึงทำตัวเกินเหตุด้วยการเพลิดเพลินมากเกินจริงหรือหดหู่อย่างเต็มที่เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น  เหมือนกับคนหิวน้ำที่เพียงแค่จิบน้ำ เราเพลิดเพลินกับการลิ้มรสความสุขมากเกินไปและเราไม่อยากเสียมันไป  แล้วก็เหมือนกับคนหิวน้ำที่เป็นทุกข์จากการขาดน้ำ เรารู้สึกหดหู่อย่างเต็มที่เมื่อเรารู้สึกทุกข์และอยากให้ความทุกข์นี้หายไป

ความวางใจเป็นกลางต่อความรู้สึกสุขและทุกข์

ปรมาจารย์ชาวอินเดีย ศานติเทวะ กล่าวถึงทัศนคติเหล่านี้ว่าเป็นทัศนคติหน่อมแน้ม  เราจำเป็นต้องก้าวข้ามปฏิกิริยาตอบโต้กับความสุขหรือความทุกข์แบบเด็ก ๆ นี้ให้ได้  ในการทำเช่นนั้นเราต้องพัฒนาความวางใจเป็นกลาง  “ใจเป็นกลาง” หมายถึงการที่เราไม่โต้ตอบความรู้สึกที่เราประสบอย่างเกินจริง เพราะหากจะอธิบายในภาษาง่าย ๆ แล้วก็คือนี่เป็นธรรมชาติของสังสารวัฏ มันขึ้นลงตลอด  บางทีเราก็จะรู้สึกมีความสุขและบางทีเราก็จะรู้สึกทุกข์  นี่เป็นเรื่องธรรมชาติ  แล้วเราก็ไม่มีทางคาดเดาได้ว่าเราจะรู้สึกสุขหรือทุกข์เมื่อใด  อารมณ์ของเราอาจเปลี่ยนในทันทีทันใดโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน  ระดับความสุขและความทุกข์ที่เรารู้สึกนั้นไม่จำเป็นต้องมากมายเสมอ  มันอาจอยู่ในระดับต่ำมากก็ได้  ประเด็นที่สำคัญตรงนี้คือ ไม่ว่าเราจะรู้สึกอย่างไร มันก็ “ไม่ใช่สิ่งที่พิเศษอะไร”

จริง ๆ แล้วจุดนี้มีความลึกซึ้งมาก  “ไม่ใช่สิ่งที่พิเศษอะไร” หมายถึงมันไม่มีอะไรที่น่าประหลาดใจ ไม่มีอะไรผิดแผกไปจากปกติ  เราคาดหวังอะไร?  แน่นอนว่าทุกอย่างมันก็ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ไม่จำเป็นต้องทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่  ไม่ว่าเราจะประสบกับเหตุการณ์อะไรในชีวิต บางครั้งเราก็มีความสุข แล้วบางครั้งเราก็ไม่มีความสุข  แน่นอน เราตระหนักได้ว่าความทุกข์มาจากการกระทำในเชิงทำลายและความสุขมาจากการกระทำในเชิงประโยชน์  แต่เราไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าสิ่งที่เรารู้สึกนั้นช่างน่าอัศจรรย์ใจหรือช่างเลวร้ายมากเหลือเกิน  แล้วที่แน่ ๆ คือเราไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นใน “ตัวฉัน” เข้มแข็ง ขนาดใหญ่ เลย แบบที่ว่า “ฉันมีความสุขมากเลย” หรือ “ตัวฉันช่างน่าสงสารนัก ฉันเศร้าเหลือเกิน”

แน่นอนว่าโดยสมมติแล้ว เราก็อยากมีความสุขและเราไม่อยากเป็นทุกข์  นอกจากนี้ โดยสมมติ หลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายเพื่อการปลดปล่อยและการตรัสรู้ ซึ่งจะทำให้เราเป็นอิสระจากการไม่มีความสุขและความทุกข์  แต่เราไม่ต้องทำให้สิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่  นี่แหละคือประเด็น  เรื่องนี้บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ของหลักคำสอนเรื่องกรรมกับชีวิตประจำวันของเราและสิ่งที่จะนำความสงบสุขในใจมาให้เรา  ความสงบสุขในใจมาจากความวางใจเป็นกลางในแง่ของอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดวัน เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่บางครั้งเราจะรู้สึกมีความสุขและบางครั้งเราก็จะไม่มีความสุข  นั่นคือส่วนหนึ่งของสังสารวัฏ นั่นคือสิ่งที่จะต้องคาดหวังอยู่แล้ว  เราก็แค่ปฏิบัติธรรมในแบบที่เราทำมาตลอดต่อไป  หากมีตอนไหนที่เรารู้สึกไม่มีความสุขมากนัก แล้วมันก็ไม่เป็นไร

ชีวิตขาขึ้นขาลง

นี่ไม่ได้หมายความว่าเราควรหยุดมีความรู้สึกทั้งหมด เราควรหยุดรู้สึกสุขหรือทุกข์ แล้วกลายเป็นคนที่ไร้ความรู้สึกใด ๆ ทั้งสิ้น  นั่นไม่ใช่ความหมายของเรื่องนี้อย่างแน่นอน  เราจะมีสุขหรือมีทุกข์ก็ได้  เมื่อมีอะไรดี ๆ เกิดขึ้น เราก็มีความสุข  เมื่อมีอะไรที่ไม่ค่อยดีเกิดขึ้น เราก็ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่  ยกตัวอย่างเช่น เราไปร้านอาหารและอยากจะสั่งอาหารจานโปรด แต่ปรากฎว่าทางร้านไม่มีอาหารจานนั้นแล้ว เขาขายหมดแล้ว เราเลยไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่  มันเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่เราไม่จำเป็นต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่  เรารู้สึกไม่มีความสุขได้ แต่อย่าไปยึดติดและอย่าติดอยู่ในอารมณ์เสีย

บางทีตัวอย่างข้างต้นอาจจะดูไร้สาระไปหน่อย  ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องมากขึ้นคือเวลาที่คนที่เรารักเสียชีวิต  นี่เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกเศร้าและไม่มีความสุข  มันไม่ผิดเลย  อันที่จริงการไม่แสดงความอาลัยกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่แย่ต่อสุขภาพมาก  แต่อย่าไปยึดติดและอย่าไประบุว่าความเศร้านั้นคือส่วนหนึ่งของ “ตัวฉัน” ที่แท้จริง เข้มแข็ง ขนาดใหญ่ ตัวฉันที่กำลังเศร้าใจจะขาด หากมองในอีกมุมมองหนึ่ง ถ้าเราอยู่กับผู้อื่นแล้วเราพูดตลอดเลยว่า “ฉันมีความสุขจังเลย เรากำลังสนุกกันมากเลยใช่ไหม?”  ทำอย่างนี้ก็ทำลายบรรยากาศหมดเลย จริงไหม?  จงเผประสบกับขาขึ้นและขาลงในชีวิต  เรามีความสุข แล้วก็ไม่มีความสุข  มันไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่มีอะไรพิเศษเลย

นอกจากความวางใจเป็นกลางแล้ว ทัศนคติและมุมมองอีกอย่างที่เราสามารถสร้างเวลาเราทุกข์และเวลาที่ชีวิตไม่เป็นไปอย่างที่หวังไว้ คือการดูว่าเหตุทางกรรมของสิ่งนั้นเป็นอะไรได้บ้าง  อย่างที่เราได้พูดไปแล้ว เราสามารถสอบสวนและพยายามมองหารูปแบบ ดูว่าเราทำซ้ำบางสิ่งที่คล้ายคลึงกับสิ่งนั้นอย่างไร แล้วก็แก้ไขตรงจุดนั้นเสีย

แรงจูงใจสามระดับในลำดับขั้นของลัมริม

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงเกี่ยวกับแรงจูงใจสามระดับตามที่นำเสนอในลัมริม หรือลำดับขั้นของเส้นทางการปฏิบัติ  หากกล่าวโดยทั่วไปแล้ว หลักคำสอนเรื่องกรรมได้รับการนำเสนอภายในขอบเขตเบื้องต้นของแรงจูงใจ  เราละเว้นจากการกระทำในเชิงทำลาย เพราะเรากลัวผลแห่งความทุกข์ที่จะตามมาจากการที่เราไม่ละเว้นจากการกระทำแบบนั้น  เราไม่รู้ว่าการกระทำของเราจะส่งผลให้ผู้อื่นต้องประสบกับอะไรบ้าง  เราไม่อาจการันตีผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพวกเขาได้เลย  แต่จากฝั่งของเรา เราก็ไม่อยากประสบกับทุกข์และความไม่สุขอันเป็นผลลัพธ์ของการกระทำเชิงทำลายของเราเลย  เราหวั่นเกรงหรือหวาดกลัวสิ่งนั้น แต่เราก็กลัวในทางที่ดีต่อสุขภาพ  เราไม่ได้กำลังพูดถึงความกลัวบทลงโทษ  มันคือว่าเราต้องการหลีกเลี่ยงความทุกข์และความไม่สุขจริง ๆ  หากพูดให้เจาะจงกว่านั้นก็คือ เราต้องการหลีกเลี่ยงความทุกข์และความไม่สุขในชาติต่อ ๆ ไปในอนาคต  นี่คือขอบเขตระดับแรกของแรงจูงใจ

สำหรับระดับกลางนั้น เราต้องการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมอย่างบีบบังคับทางกรรมทุกประเภท เพราะเราอยากพ้นทุกข์  หากเราไม่พ้นทุกข์ เราก็จะเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏแห่งความทุกข์สุกไปตลอดกาล  คิดดูว่าจะแย่ขนาดไหน

สำหรับแรงจูงใจระดับสูง เราต้องการละเว้นจากพฤติกรรมอย่างบีบบังคับทางกรรมทั้งหมดนี้ เพราะว่ามันขัดขวางความสามารถของเราในการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นอย่างมาก  เราจะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร หากเรายังต้องฟันฝ่าความขึ้นลงนี้ตลอดเวลาและหากมีสิ่งอันไม่พึงประสงค์มากมายเกิดขึ้นกับเราอยู่เสมอ?  ความคิดหลักของเราคือ สิ่งนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถของเราในการช่วยเหลือผู้อื่น  เราไม่ได้คิดในเชิงมนุษยธรรมว่าการกระทำของเราจะทำร้ายผู้อื่นอย่างไร  แต่เราคิดถึงสิ่งที่กีดขวางความสามารถของเราในการช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่า

ทัศนคติแบบชาวพุทธเกี่ยวกับพฤติกรรมทางจริยธรรมนั้นแตกต่างเป็นอย่างมากจากแนวทางมนุษยธรรมของตะวันตกที่ว่า “ตราบใดที่การกระทำของฉันไม่ได้ทำร้ายใคร มันก็ไม่เป็นไร”  แนวทางนั้นก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอก เว้นเสียแต่ว่าเราไม่สามารถการันตีได้ว่าผลกระทบของพฤติกรรมเราจะกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร  ยกตัวอย่างเช่น เราขโมยอะไรบางอย่างจากคนคนหนึ่ง แล้วเขาก็ดีใจมาก เพราะของสิ่งนั้นอยู่ในสภาพแย่มากอยู่แล้วและเขาก็จะเรียกเงินประกันได้  ในทางกลับกัน เราอาจจะให้เงินจำนวนมากกับคนคนหนึ่ง แล้วเขาก็โดนปล้นและฆาตกรรม

แน่นอนว่าในพระพุทธศาสนาเราสร้างความรักและความเห็นอกเห็นใจ และแน่นอนว่าเราไม่ต้องการทำร้ายผู้อื่น  แต่ในขอบเขตขั้นสูงของแรงจูงใจนั้น สิ่งที่เน้นย้ำเป็นหลักคือเราไม่ต้องการทำสิ่งใดที่จะจำกัดความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นของเรา  แรงจูงใจประเภทนี้เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับเส้นทางธรรมของพระพุทธศาสนาไปสู่การตรัสรู้และความพยายามในการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่ที่สุด  นี่คือหลักที่เน้นในการอภิปรายเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา

สำหรับการกระทำในชีวิตประจำวันนั้น ความสัมพันธ์ของแรงจูงใจแบบมหายานคือ การช่วยเพิ่มกำลังให้กับวินัยทางจริยธรรมของตัวเอง  หากเราจะประพฤติในเชิงทำลาย เราจะช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไร?  ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราชอบโอ้อวดและโกงผู้อื่นอยู่เสมอ ก็จะไม่มีใครเชื่อใจเรา แล้วเราจะไปช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างไรกัน?  หากจะให้เจาะจงกว่านั้นคือ ในฐานะอาจารย์ หากเราประสบกับการเจริญเติบโตของกรรมตัวเองในรูปแบบของลูกศิษย์ที่จู่ ๆ ก็ทิ้งเราไป ผมใช้ตัวอย่างที่แล้วนะครับ แล้วเราจะไปช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร  ลูกศิษย์จะไม่เคยอยู่กับเรานานเลย  พวกเขาทิ้งเราตลอด  แน่นอนว่าจุดนี้ควรจะเป็นแรงจูงใจให้เราหยุดวิจารณ์ผู้อื่นและเริ่มพูดถึงคุณสมบัติที่ดีของผู้อื่นแทน

ปัจจัยทางจิตใจสองประการในพฤติกรรมเชิงประโยชน์

ประเด็นสุดท้าย  ในคัมภีร์ พระอภิธรรมโกศ (Treasure-House of Special Topics of Knowledge) ปรมาจารย์ชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่กล่าวว่า มีปัจจัยทางจิตใจสองประการที่อยู่ในการกระทำเชิงประโยชน์เสมอ  ถึงแม้ว่าพระอสังคะจะนิยามปัจจัยจิตใจเหล่านี้อีกแบบหนึ่งในตำราของท่าน เรายังคงจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับคำนิยามของพระวสุพันธุ  ปัจจัยอย่างแรกคือการเคารพคุณสมบัติที่ดีและเคารพผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว  ปัจจัยที่สองคือการละเว้นจากการปฏิบัติตัวเชิงทำลายอย่างเปิดเผย  คำว่า “เปิดเผย” ในที่นี้หมายถึงว่าเราไม่สนใจเลย  เราจะไม่ใช้การควบคุมตัวเองใด ๆ ทั้งสิ้น  เราไม่สนใจ เพราะฉะนั้นเราก็จะไม่ละเว้นจากการทำตัวเชิงทำลายเลย  เราก็เลยทำอะไรก็ได้ตามที่รู้สึกว่าอยากทำ

แต่สำหรับพฤติกรรมเชิงประโยชน์นั้น เรามีทัศคติที่ตรงกันข้าม เราเคารพต่อคุณสมบัติเชิงบวก ผู้คนที่มีคุณสมบัติเหล่านั้นและเราควบคุมตนเอง  การกระทำของเราจะไม่เป็นเชิงทำลายอย่างเปิดเผย  เราใส่ใจกับสิ่งที่เราพูดและทำ  บางทีส่วนนี้อาจเตือนให้เรานึกถึงประโยคที่ว่า “มันรู้สึกถูก”

ส่วนนี้บ่งชี้ถึงสิ่งที่เราต้องเน้นย้ำและเตือนตัวเองอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน  เราจำเป็นต้องยืนยันความเคารพของเราสำหรับคุณสมบัติที่ดีอย่างความอดทนอดกลั้นและความมีน้ำใจ และความเคารพของเราต่อผู้คนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้  พวกเขาเป็นแหล่งของแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่  นอกจากนี้เรายังต้องยืนยันกับตัวเองอีกครั้งว่าเราต้องการปฏิบัติการควบคุมตัวเองและอยากใส่ใจในสิ่งที่เราพูดหรือทำจริง ๆ และไม่กระทำการเชิงทำลายและที่เลวร้ายอย่างที่สุด

ข้อสังเกตตอนจบ

เราได้พูดครอบคลุมค่อนข้างมากเกี่ยวกับเรื่องกรรมและวิธีที่เราสามารถทำให้หลักคำสอนนี้สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของเราได้  ถ้าอย่างนั้นเรามาใช้เวลาซึมซับปัจจัยทั้งสองอย่างนี้กัน  โดยสรุป สำหรับการกระทำเชิงประโยชน์ เราไม่ได้ทำเช่นนั้นโดยมีรากฐานแค่ความอยากเป็นเด็กดี  นั่นไม่ใช่รากฐาน  หากแต่เรากระทำเชิงประโยชน์บนรากฐานของการเคารพคุณสมบัติที่ดีและผู้คนที่มีคุณสมบัติเหล่านั้น และเรารู้สึกถูกต้องที่จะละเว้นจากการปฏิบัติเชิงทำลายอย่างเปิดเผยโดยปราศจากการควบคุมตนเอง  เพราะฉะนั้นเราก็ต้องทำและปฏิบัติตัวเช่นนั้น

Top