เกริ่นนำ
อริยสัจสี่
พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนม์ชีพอยู่เมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อนในประเทศอินเดีย เนื่องด้วยศิษย์ของพระองค์มีคุณลักษณะและความสามารถที่แตกต่างกัน พระองค์จึงทรงสอนแต่ละคนด้วยวิธีการเฉพาะที่เหมาะแก่การเข้าใจของพวกเขามากที่สุด แต่สิ่งแรกที่ทรงสอนทุกคนนั้นเกี่ยวกับความเข้าใจเชิงลึกขั้นพื้นฐานว่าพระองค์ทรงตรัสรู้ได้อย่างไร พระองค์ทรงสอนสิ่งที่เรียกว่า “อริยสัจสี่” อันเป็นสัจธรรมสี่ประการเกี่ยวกับชีวิตที่คนทั่วไปไม่อาจเห็นได้ว่าเป็นสัจธรรม แต่ผู้ที่มีการตระหนักรู้สูง (อริยบุคคล) ที่มองเห็นความเป็นจริงเชิงไร้มโนทัศน์ เห็นชอบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริง หากกล่าวโดยสรุป ความจริงสี่ประการตอบคำถามดังต่อไปนี้:
- ประเภทของความทุกข์และปัญหาที่แท้จริงที่ทุกคนล้วนประสบในชีวิตคืออะไร
- อะไรเป็นเหตุของมัน
- เราสามารถกำจัดปัญหาเหล่านี้ เพื่อบรรลุการหยุดปัญหาไม่ให้มันเกิดขึ้นใหม่ได้จริงหรือไม่
- ความเข้าใจที่จะก่อให้เกิดการหยุดที่ว่านั้นคืออะไร เพราะมันจะช่วยกำกัดเหตุแห่งทุกข์ได้
คำตอบของปัญหาเหล่านี้ประกอบกันเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างละเอียดตลอดพระชนม์ชีพ และนี่คือสิ่งที่พระองค์ทรงสอนเป็นอย่างแรก
เมื่อเราพิจารณาอริยสัจสี่ จะเห็นว่าความจริงทั้งสี่นี้ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างสันโดษด้วยตัวของมันเอง ความจริงเหล่านี้เกิดจากมูลฐาน และนำทางไปยังเป้าหมายเมื่อเข้าใจถ่องแท้แล้ว หากกล่าวง่าย ๆ คือ พื้นฐานของความจริงทั้งสี่ประการนี้ อันเป็นสัจธรรมทั้งสี่ประการแห่งชีวิต คือ ความเป็นจริง
หากเราต้องการสรุปใจความพระพุทธศาสนาด้วยคำคำเดียว ฉะนั้นแล้ว ตามที่เพื่อนของผมคนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาจารย์สอนพระพุทธศาสนาเคยกล่าวไว้ว่า คำเดียวคำนั้นคือ “สัจนิยม”
หากเราสามารถมองเห็นความเป็นจริง เข้าใจและยอมรับมันได้โดยปราศจากการแสดงภาพสิ่งที่เป็นไปไม่ได้และไม่จริง เราย่อมสามารถจัดการกับสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตของเราได้ในลักษณะตามความเป็นจริง
ดังนั้นหลักคำสอนเรื่องความเป็นจริงจึงเป็นรากฐานของอริยสัจสี่ อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงประกอบด้วยหลายระดับเกี่ยวกับเรื่องการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ และหน้าที่ของสิ่งเหล่านั้นในชีวิต พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องทั้งหมดนี้
พระรัตนตรัยอันประเสริฐ
สิ่งที่ชัดเจนจากเรื่องอริยสัจสี่ คือ ทิศทางที่เราจำเป็นต้องก้าวไปในชีวิต เพื่อเอาชนะความทุกข์และปัญหาทั้งปวง ทิศทางดังกล่าวนี้ได้รับการบ่งชี้ด้วยคำศัพท์เฉพาะทางพระพุทธศาสนาว่า “พระรัตนตรัยอันประเสริฐ” หรือ “แก้วสามดวงแห่งที่พึ่งพิง” ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ละอย่างมีความหมายที่แตกต่างกันหลายระดับ แต่ในระดับที่ลึกที่สุด ทั้งสามหมายถึง
- พระธรรม – เป้าหมายที่เรามุ่งหน้าไปให้ถึง อันหมายถึงการกำจัดปัญหาและเหตุของมันออกจากตัวเรา และบรรลุความเข้าใจถ่องแท้ที่จะกำจัดมันออกจากตัวเราไปตลอดกาล
- พระพุทธ – ผู้ที่ได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างสมบูรณ์แล้ว และเป็นผู้ที่สอนผู้อื่นว่าต้องทำอย่างไรจึงจะบรรลุเช่นนั้น
- พระสงฆ์ – ผู้ที่ปฏิบัติตามหลักคำสอนเหล่านี้และได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน
บทสวดถึงปรมาจารย์นาลันทา 17 ท่าน
สมเด็จองค์ดาไลลามะทรงเขียนบทประพันธ์ที่ไพเราะมากบทหนึ่ง เพื่อเป็นการร้องขอแรงบันดาลใจจากปรมาจารย์ทางพุทธศาสนาผู้ยิ่งใหญ่ 17 ท่าน จากอารามพุทธที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในสมัยอินเดียโบราณ ซึ่งมีชื่อว่า นาลันทา และคงอยู่ประมาณพันปี ด้วยการปฏิบัติดูแลเช่นอาราม ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุด ณ เวลานั้น และผลิตปรมาจารย์พุทธศาสนานิกายอินเดียที่ยิ่งใหญ่ที่สุด องค์ดาไลลามะทรงเขียนคำประพันธ์นี้ขึ้นในรูปแบบบทสวดมนต์ถึงปรมาจารย์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดทั้ง 17 ท่าน โดยเขียนว่า “โปรดสร้างแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าได้เดินตามรอยเท้าของท่านด้วยเถิด” หลังจากบทร้อยกรองคำขอสำหรับปรมาจารย์แต่ละท่านแล้ว องค์สมเด็จจึงทรงสรุปด้วยบทร้อยกรองเชิงทั่วไปหลายบท ซึ่งกล่าวถึงปรมาจารย์ทั้งหมดเหล่านี้
สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอ คือ ปาฐกถาสำหรับบทร้อยกรองสรุปบทหนึ่ง บทนี้สรุปสิ่งที่ผมเพิ่งอธิบายไปเกี่ยวกับความเป็นจริง (ความจริงสองประการ) อริยสัจสี่ และแก้วสามดวงแห่งการพึ่งพิง การพึ่งพิง หมายความว่า หากเราดำเนินไปตามทิศทางที่ทั้งสามนี้ระบุไว้ เราย่อมรักษาตนเองให้รอดพ้นจากความทุกข์และปัญหาทั้งปวง
บทนี้กล่าวว่า
เมื่อทราบความหมายของความจริงสองประการ อันเป็นรากฐาน เป็นลักษณะที่ทุกสรรพสิ่งยึดถือ
คำว่า “ยึดถือ” หมายถึงวิธีการดำรงอยู่ของสิ่งต่าง ๆ วิธีการที่สิ่งต่าง ๆ ทำงาน หากกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การรู้เรื่องความเป็นจริง
เราเกิดความเชื่อมั่นจากการใช้อริยสัจสี่ว่า เราล้วนก้าวเข้าสู่ แต่ก็ก้าวออกมาจากการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่อาจควบคุมได้นี้อยู่เสมอ
หากเราเข้าใจความเป็นจริง เราจะเข้าใจว่าจากการใช้อริยสัจสี่ เราทำให้ปัญหาของเราคงอยู่ยาวนานเป็นนิตย์ กอปรกับวิธีที่เราสามารถกำจัดมันออกไปจากตัวเราได้
ด้วยการรับรู้ที่ถูกต้องแท้จริง ความเชื่อมั่นของเราว่าที่พึ่งพิงทั้งสามเป็นสัจธรรมจึงมั่นคงแน่วแน่
พึงระลึกว่าที่พึ่งพิงทั้งสามนั้นได้รับการพิจารณาในลักษณะของเป้าหมายแท้จริงที่เราบรรลุได้ กล่าวคือ การหยุดปัญหาทั้งปวงของเราอย่างสมบูรณ์ เพื่อที่มันจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป และความเข้าใจที่จะทำให้เกิดตรงนี้ขึ้น
หากคุณต้องการปฏิบัติตามหนทางของพระพุทธศาสนา คุณย่อมมุ่งเป้าไปยังเป้าหมายอย่างหนึ่ง คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเป้าหมายนั้นสามารถบรรลุได้จริง มันเป็นเพียงนิยายหรือเปล่า มันเป็นเรื่องราวสวยหรู หรือเป็นความจริงกันแน่ หลายคนมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมายนั้นโดยอิงจากศรัทธาเพียงอย่างเดียว เช่นว่า “อาจารย์ของฉันบอกไว้ว่าอย่างนั้น ได้เลย ฉันก็อยากเชื่อ ฉันเลยเชื่อตามนั้น”
เช่นนี้อาจใช้ได้สำหรับหลายคน แต่ไม่ใช่วิธีที่มั่นคงที่สุดในการปฏิบัติเสมอไป หลังจากปฏิบัติมาเป็นระยะเวลานานแล้ว สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ คุณเริ่มตั้งคำถาม เช่นว่า ฉันกำลังทำอะไรอยู่ ตรงนี้เป็นเพราะว่าคุณยังคงประสบกับความโกรธ ความยึดติด ความเห็นแก่ตัว และอีกมากมาย ซึ่งเป็นตัวสร้างปัญหาที่แท้จริง และสิ่งเหล่านี้ยากต่อการกำจัดทิ้งจริง ๆ ดังนั้นความก้าวหน้าจึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้ามาก แต่คุณต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ความก้าวหน้าไม่เคยดำเนินไปอย่างราบรื่น มันมีขึ้นและลงอยู่ตลอด บางวันอาจดีขึ้น บางวันอาจแย่ลง หากคุณกำลังปฏิบัติวิธีการทางพระพุทธศาสนาบนรากฐานของความศรัทเพียงอย่างเดียว คุณอาจท้อแท้ใจได้ เพราะมันดูเหมือนว่าคุณไม่ได้ก้าวหน้าไปไหนเลย จากนั้นคุณก็ตั้งคำถามว่า “เอาล่ะ การบรรลุเป้าหมายนั้นเป็นไปได้จริง ๆ เหรอ”
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมบทนี้ถึงระบุว่า “ด้วยการรับรู้อย่างถูกต้อง” หากกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อคุณได้เข้าใจอย่างแท้จริงแล้ว โดยอิงจากหลักเหตุและผล ว่าเป้าหมายนั้นมีอยู่จริงและสามารถบรรลุได้จริง เมื่อนั้นความเชื่อมั่นในเป้าหมายดังกล่าวของคุณ ความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายนั้น และการรับรู้ว่ามีผู้คนที่ได้บรรลุเป้าหมายนั้นจริงแล้วจึงมีความมั่นคงแน่วแน่ คุณเชื่อว่าประเด็นเหล่านี้เป็นสัจธรรม ไม่ใช่เพียงเพราะเขียนไว้ในคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์เล่มหนึ่ง คุณเชื่อมั่นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริง เพราะความจริงสองประการคือความเป็นจริง และอริยสัจสี่กับที่พึ่งพิงทั้งสามก็เป็นไปตามหลักเหตุผลที่อิงอยู่กับความเป็นจริง
โปรดมอบแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าได้ปลูกฝังรากของหนทางแห่งจิตที่นำไปสู่การหลุดพ้นด้วยเทอญ
คุณปลูกเมล็ด แต่ตรงนี้คุณปลูกฝัง “ราก” ไม่ใช่เมล็ด การใช้คำเช่นนี้ชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างของความจริงสองประการ ความจริงสี่ประการ และที่พึ่งพิงทั้งสามว่าเป็นรากฐานของหนทางจิตวิญญาณทั้งหมดแห่งพระพุทธศาสนา ในเมื่อทุกอย่างเกิดจากตรงนี้ เมื่อรากนี้ได้ถูกปลูกฝังลึกลงในจิตแล้ว การปฏิบัติทั้งหมดของคุณจึงอิงอยู่กับความเชื่อมั่น คุณเข้าใจว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ คุณเข้าใจว่าสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ และคุณเข้าใจว่าเป้าหมายนั้นคืออะไร
ผมคิดว่านี่เป็นแนวทางการเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเราจะปฏิบัติตามหนทางแห่งจิตวิญญาณแล้ว จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องมั่นใจว่ามันเป็นเรื่องสมเหตุสมผล ไม่ใช่ภาพมายาตามอุดมคติบางประเภทที่ดึงดูดเราทางอารมณ์ แต่กลับเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน หากเราเชื่อมั่นแล้วว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในชีวิตทางจิตวิญญาณของเรานั้นเป็นเรื่องสมเหตุสมผล เราก็สามารถเพิ่มอารมณ์ผ่องใสเข้าไปในการทำเช่นนี้ได้ เราต้องอาศัยความสมดุลของทั้งสองอย่าง นั่นคือ ความเข้าใจและอารมณ์ที่เป็นประโยชน์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ ความกระตือรือร้น ความอดทน และอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้
ความเป็นจริงสองประการ
ความจริงสัมพัทธ์เชิงสามัญ
เมื่อทราบความหมายของความจริงสองประการ อันเป็นรากฐาน เป็นลักษณะที่ทุกสรรพสิ่งยึดถือ
ประโยคแรกของบทนี้พูดถึงความจริงสองประการ นั่นคือ “ความจริงสัมพัทธ์” หรือ “ความจริงเชิงสามัญ” และ “ความจริงล้ำลึกสูงสุด” หากกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สัจธรรมสองประการเกี่ยวกับความเป็นจริงของทุกสิ่งอย่าง อย่างแรกอยู่ในระดับพื้นผิวตื้นเขิน และอีกอย่างอยู่ในระดับที่ลึกที่สุด ทั้งคู่ถือเป็นเรื่องถูกต้อง เพียงแต่จากมุมมองที่ต่างกัน มีการนำเสนอมากมายเกี่ยวกับทั้งสองอย่างนี้ แต่ตอนนี้เราจะใช้การนำเสนอที่องค์สมเด็จดาไลลามะทรงนิยมใช้เมื่อตรัสกับผู้ฟังทั่วไป
เหตุและผล
ความจริงระดับพื้นผิวเกี่ยวกับทุกสิ่งอย่างที่เราประสบคืออะไร ความจริงเช่นนี้ คือ ทุกสิ่งอย่างที่เราประสบล้วนเกิดขึ้นในปัจจุบันเพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุของมันก่อนหน้านี้เท่านั้น หากกล่าวอีกอย่าง คือ ทุกสิ่งอย่างอุบัติขึ้น หรือเกิดขึ้นโดยพึ่งพาเหตุและผล ฟิสิกส์ก็สอนเรื่องหลักการแห่งความสัมพันธ์ทางเหตุผลเช่นกัน แต่กล่าวถึงปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์เท่านั้น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างการเตะบอลและลูกบอลที่กลิ้งไป ความสัมพันธ์นี้เป็นกลไกขั้นพื้นฐาน ซึ่งหมายถึงเหตุและผลนั่นเอง
แน่นอนว่าเราสามารถอธิบายเรื่องความเชื่อมโยงทางเหตุผลในระดับที่ซับซ้อนกว่านี้มาก เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้สิ่งสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณลองดูปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะโลกร้อน สงครามระหว่างเขตแดน และอื่น ๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่ามันไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว กระนั้นแล้วมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไร้สาเหตุใด ๆ หรือเกิดขึ้นจากสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องเลย หากแต่สถานการณ์ทั้งหมดนี้ล้วนอุบัติขึ้นโดยเชื่อมโยงกับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งไม่ได้รวมแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตด้วย อย่างในประเทศยูเครนนี้ คุณไม่อาจแยกสถานการณ์ปัจจุบันออกจากอดีตของโซเวียต หรือสงครามโลกครั้งที่สองและทั้งหมดทั้งมวลนั้นได้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและนิเวศวิทยาในวันนี้อุบัติขึ้นในฐานะผลที่ตามมาของทุกสิ่งอย่างที่ได้เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์ ดังนั้นคุณจึงไม่อาจพูดได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เป็นความผิดของคนคนหนึ่ง หรือสิ่งสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น สรรพสิ่งล้วนอุบัติขึ้นโดยเชื่อมโยงกับโครงข่ายขนาดใหญ่ของเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ เช่นนี้คือความเป็นจริง ใช่หรือไม่
หรือหากคุณพิจารณาในเชิงจิตวิทยา เช่นว่า หากคุณมีปัญหาในครอบครัว คุณก็ไม่อาจพูดได้อีกว่าปัญหานี้มาจากเหตุเดียว หรือเกิดขึ้นอย่างไร้เหตุ สมาชิกครอบครัวทุกคนมีส่วนสร้างปัญหาในลักษณะที่เกี่ยวเนื่องกันให้ครอบครัว เช่นเดียวกัน คุณจึงไม่สามารถพูดได้ว่า ลักษณะที่พวกเขาแต่ละคนประพฤติตัวนั้นไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาที่ที่ทำงาน ที่โรงเรียน และกับเพื่อนฝูงของเขา ทุกอย่างล้วนส่งอิทธิพลทั้งนั้น ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว สถานการณ์ทางครอบครัวก็ไม่ได้เกิดขึ้นโดยแยกจากสังคมและระบบการเมือง สังคมและเศรษฐกิจของสัมคมนั้น ทั้งหมดนี้ล้วนส่งอิทธิพลต่อปัญหาทางใดทางหนึ่งเช่นกัน
ฉะนั้นแล้ว สัจนิยมในที่นี้จึงหมายถึง สัจธรรมที่ว่าทุกสิ่งอย่างล้วนสัมพันธ์กันและส่งอิทธิพลต่อสิ่งอื่นทั้งหมด ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในฐานะผลลัพธ์ของโครงข่ายซับซ้อนขนาดใหญ่ของเหตุและเงื่อนไข นั่นคือความเป็นจริง
หากเช่นนี้คือเหตุของวัตถุกายภาพ รวมถึงปัญหาโลกและครอบครัว แล้วในระดับบุคคลอย่างเรื่องส่วนตัวของเราเล่า ในเรื่องความสุขและความทุกข์เป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้มีเหตุหรือไม่ มันเกิดขึ้นอย่างไร้เหตุหรือ ท้ายที่สุดแล้ว บางครั้งผมก็รู้สึกมีความสุข บางครั้งผมก็ไม่รู้สึกอย่างนั้น และไม่มีทางที่เราจะรู้ได้เลยว่าเราจะรู้เช่นไรในช่วงเวลาต่อไป ดังนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยไร้เหตุผลหรือเปล่า หรือว่ามันเกิดขึ้นโดยเชื่อมโยงแค่กับสิ่งที่ผมทำอยู่ตอนนี้เท่านั้น เอาล่ะ อย่างนี้ก็ดูไม่สมเหตุสมผล จริงหรือไม่ ผมอาจจะทานอาหารอย่างเดียวกันภายในสองวันนี้ และวันหนึ่งผมรู้สึกมีความสุขขณะทานสิ่งนี้ แล้ววันต่อมาผมรู้สึกเศร้าขณะทานสิ่งนี้ อย่างนั้นมันก็ไม่ได้เป็นเพราะอาหารน่ะสิ ผมอาจจะอยู่กับคนที่ผมรักที่สุดและบางครั้งก็รู้สึกเป็นสุข บางครั้งก็เป็นทุกข์ ผมอาจจะร่ำรวยและมีทุกอย่างที่ดำเนินไปด้วยดี แต่ผมก็ยังรู้สึกทุกข์ได้
ถ้าอย่างนั้นความสุขและความทุกข์นี้มาจากไหนกัน มันถูกส่งลงมาโดยผู้สูงส่งที่คอยกดปุ่มให้บางครั้งผมรู้สึกมีความสุขและบางครั้งรู้สึกทุกข์เหรอ ขออภัยครับ ผมไม่ได้ตั้งใจก้าวร้าว ผมยกตัวอย่างไร้สาระสุดโต่ง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณประสบ เช่น วัตถุกายภาพที่ขยับเขยื้อน หรือเมื่อคุณเผลอไปแตะเตาร้อน ๆ แล้วทำให้มือไหม้จนเจ็บปวดนั้น เกิดขึ้นตามกฎแห่งเหตุและผล เช่นนั้นแล้วความสุขและความทุกข์ก็เป็นไปตามกฎแห่งความเกี่ยวเนื่องทางเหตุผลที่เข้าใจได้เหมือนกันใช่ไหม นี่เป็นคำถามและเป็นประเด็นหลักของความเป็นจริงที่เกี่ยวเนื่องกับความจริงสัมพัทธ์ในบริบทของบทร้อยกรองนี้ หมายถึงความเป็นจริงของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องทางเหตุผลระหว่างพฤติกรรมของเรากับการประสบความสุข หรือความทุกข์เป็นผลลัพธ์
กรรม
ตรงนี้นำเรามาสู่หลักคำสอนขั้นพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาในเรื่องกรรม กรรมคืออะไร นี่ไม่ใช่หัวข้อง่าย ๆ เลย มีคำอธิบายหลายอย่างและมีการเข้าใจผิดมากมาย แต่โดยสรุปแล้ว
กรรม หมายถึง แรงผลักดันที่ขับเคลื่อนและกำหนดลักษณะรูปแบบการกระทำ การพูดจา และการคิดของเรา
พฤติกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นเชิงโทษ เชิงประโยชน์ หรือแม้แต่เชิงเป็นกลาง ค่อนข้างเป็นการถูกผลักดัน หากคุณลองคิดดู
- ผมรำคาญและรู้สึกอยากตะโกนใส่หน้าใครสักคน และจากนั้นผมก็ตะโกนออกมาเสียอย่างนั้น
- ผมเป็นประเภทชอบปกป้องผู้อื่นมากเกินเหตุ และรู้สึกอยากจะมองเข้าไปดูให้แน่ใจว่าเด็กยังอยู่ดี และจากนั้นผมก็เอาแต่เข้าไปดูเด็กซ้ำแล้วซ้ำเล่า บ่อยเกินกว่าความจำเป็น หรืออยู่ในขอบเขตที่ปกติของสุขภาพ
- ผมหิวและรู้สึกอยากเดินไปเปิดตู้เย็นเพื่อหาขนมกิน จากนั้นผมก็ออกเดินไปตรงนั้นเลย
แรงกระตุ้นดังกล่านี้มาจากไหน แล้วมันนำไปสู่สิ่งใด เช่นนี้เป็นคำถามของหลักคำสอนเรื่องกรรม คำอธิบายทางพระพุทธศาสนา คือว่า เมื่อคุณกระทำการ พูดจา หรือคิดในลักษณะที่มีแรงกระตุ้น มันสั่งสมศักยภาพและแนวโน้มต่าง ๆ ในความต่อเนื่องทางจิตของคุณ ซึ่งดำเนินต่อไปเรื่อยในทุกชั่วขณะของประสบการณ์หลังจากนั้น เมื่อได้รับการกระตุ้นโดยเงื่อนไขต่าง ๆ จึงนำไปสู่การที่คุณรู้สึกอยากกระทำรูปแบบพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก
แน่นอนว่าคุณสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ในระดับสรีรวิทยาเช่นกัน กล่าวคือ การกระทำในรูปแบบนี้สร้างและเสริมกำลังให้วิถีประสาท เพื่อที่ต่อมาคุณย่อมปฏิบัติตามรูปแบบพฤติกรรมเช่นนั้นได้ง่ายขึ้น พระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธพื้นฐานทางกายภาพแต่อย่างใด หากแต่กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้จากมุมมองของประสบการณ์ และวิเคราะห์ในลักษณะตัวอย่างเพิ่มเติมของหลักเหตุและผล
แล้วเรื่องความสุขกับความทุกข์ล่ะ พระพุทธศาสนาอธิบายทั้งสองสิ่งนี้ในลักษณะของเหตุและผลแห่งกรรมเช่นกัน หากคุณประสบกับความทุกข์ มันเป็นผลระยะยาวของพฤติกรรมกระตุ้นเชิงโทษที่กระทำภายใต้อิทธิพลของอารมณ์รบกวนทั้งหลาย หากคุณประสบความสุขสามัญ อันเป็นความสุขประเภทที่ไม่ยั่งยืนและไม่เคยสร้างความพึงพอใจ แต่ก็ให้ความรู้สึกดี เช่นนั้นเป็นผลระยะยาวของพฤติกรรมเชิงประโยชน์ที่กระทำภายใต้อิทธิพลของอารมณ์เชิงบวก เช่น ความอดทนอดกลั้น และ ความน้ำใจ กระนั้นแล้วมันก็ยังมีแรงกระตุ้น เพราะมันผสมปะปนไปกับความสับสนเกี่ยวกับวิธีการดำรงอยู่ของเรา กล่าวคือ การเป็นผู้ที่ถูกกระตุ้นให้ทำดี หรือเป็นผู้ที่ถูกกระตุ้นให้นิยมความสมบูรณ์แบบ
เราจะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ที่เกี่ยวโยงกันเหล่านี้ได้อย่างไร ในขั้นแรก เราจำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างพฤติกรรมเชิงประโยชน์และพฤติกรรมเชิงโทษก่อน ความแตกต่างระหว่างทั้งสองอย่างนี้ไม่ได้วัดจากผลลัพธ์ที่พฤติกรรมของคุณมีต่อผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณโกรธใครคนหนึ่งมากและใช้มีดแทงเขา นั่นเป็นเชิงโทษ ในอีกทางหนึ่ง หากคุณเป็นศัลแพทย์ คุณใช้มีดกรีดผู้อื่นเพื่อทำการผ่าตัดช่วยชีวิตเขา นั่นเป็นเชิงประโยชน์ แน่นอนว่าการกระทำของการทะลวงมีดเข้าไปในตัวผู้อื่นนั้นไม่ใช่ปัจจัยกำหนดว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเชิงประโยชน์ หรือเป็นเชิงโทษ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ กล่าวคือ สภาวะของจิตที่การกระทำนั้นตั้งมั่นอยู่ และ เป้าหมายตามเจตนารมย์ของคุณในการทำเช่นนั้น
หากการกระทำนั้นถูกจูงใจด้วยอารมณ์รบกวน เช่น ความโกรธ ความยึดติด ความโลภ ความไร้เดียงสา ความเย่อหยิ่ง ความเห็นแก่ตัว และอื่น ๆ ในทำนองนี้ เช่นนั้นย่อมเป็นการกระทำเชิงโทษ แม้ว่าสิ่งที่คุณทำนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ดีด้วยตัวของมันเองก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น หากคุณนวดให้ผู้อื่นอย่างดิบดีโดยมีเจตนาและปรารถนาที่จะล่วงละเมิดเขา การกระทำของคุณก็เป็นเชิงโทษ ในอีกทางหนึ่ง หากการกระทำนั้นเป็นอิสระจากอารมณ์รบกวนเหล่านี้ในระดับหนึ่ง เช่นนั้นย่อมเป็นการกระทำเชิงบวก ถึงแม้ว่าการกระทำสิ่งดังกล่าวอาจไม่ดีเลยสักนิด ยกตัวอย่างเช่น ในฐานะพ่อแม่ คุณสั่งให้ลูกที่ประพฤติผิดไปอยู่ในห้อง ไม่ใช่ด้วยความโกรธ แต่เป็นด้วยความรักและห่วงใยในการสอนไม่ให้เขาทำตัวซุกซน อย่างไรก็ตาม ในกรณีเหล่านี้ส่วนใหญ่ การกระทำเชิงประโยชน์ก็ยังมีแรงกระตุ้น เพราะมันผสมปนเปอยู่กับแรงขับเคลื่อนในจิตใต้สำนึกที่มาจากความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาของคุณ ซึ่งในกรณีนี้คือ การเป็นพ่อแม่ที่ดี
ถ้าอย่างนั้นเราจะสามารถเข้าใจความสัมพันธ์เกี่ยวโยงระหว่างความทุกข์กับพฤติกรรมเชิงโทษที่อยู่บนรากฐานของอารมณ์รบกวน และ ความสัมพันธ์เกี่ยวโยงระหว่างความสุขกับพฤติกรรมเชิงประโยชน์ที่เป็นอิสระจากอารมณ์รบกวนในระดับหนึ่งได้อย่างไร ตรงนี้ไม่เพียงแต่เป็นคำถามที่น่าสนใจเท่านั้น แต่ยังเป็นคำถามที่สำคัญอย่างยวดยิ่ง เพราะพระพุทธเจ้าทรงระบุว่า กรรม อารมณ์รบกวนทั้งหลาย และความสับสนเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของเราเป็นเหตุที่ทำให้เรารู้สึก สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุสำหรับความทุกข์และความสุขสามัญที่ไม่น่าพึงพอใจ เราจำเป็นต้องก้าวข้ามทั้งสองสิ่งนี้เพื่อเป็นอิสระจากความทุกข์อันเกิดขึ้นจากความรู้สึกทั้งสองประเภทนี้
ลองคิดดูเถิด เวลาที่คุณกระทำ พูดจา หรือคิดเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือใครคนหนึ่งด้วยความโกรธ ยกตัวอย่างนะครับ คุณรู้สึกผ่อนคลายสบายใจหรือไม่ พลังงานของคุณสงบไหม ไม่หรอก ไม่สงบเลยสักนิด มันกระสับกระส่าย ในเวลาแบบนี้คุณเป็นสุขหรือไม่ ผมไม่คิดว่าจะมีใครพูดว่าตนเองเป็นสุขในขณะประสบกับความโกรธ หรืออารมณ์รบกวนประเภทอื่น ๆ เช่นเดียวกัน หากคุณลองสังเกตุพลังงานของตัวเองเวลารู้สึกโลภ คุณก็ไม่ได้ผ่อนคลายสบายใจเช่นกัน คุณกลัวว่าจะได้ไม่พอ เวลาที่คุณยึดติดอยู่กับใครคนหนึ่งเป็นอย่างมากและคิดคะนึงถึงเขาใจจะขาด คุณก็ไม่ได้ผ่อนคลายสบายใจเช่นกัน พลังงานของคุณถูกรบกวนเป็นอย่างมาก ในขณะที่เมื่อคุณไม่ได้รู้สึกโกรธ โลภ เห็นแก่ตัว หรืออะไรทำนองนี้ และคุณเพียงแต่พยายามมีความน้ำใจ จิตของคุณจะสงบขึ้น พลังงานของคุณก็นุ่มนวลขึ้น จริงหรือไม่ พูดง่าย ๆ คือคุณรู้สึกเป็นสุข แต่นี่อาจเป็นความสุขในระดับแผ่วเบา ไม่ได้ระทึกอารมณ์แต่อย่างใด แม้เมื่อคุณเป็น “คนดี” โดยถูกกระตุ้น และต้องการทำให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ พลังงานของคุณย่อมผ่อนคลายมากขึ้นและคุณรู้สึกเป็นสุขขึ้นจากการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ เมื่อเทียบกับเวลาที่คุณกระทำการจากความโกรธ แน่นอนว่าหากขณะกำลังทำสิ่งเชิงบวกอยู่ คุณเป็นกังวลว่าจะทำพลาด หรือทำได้ไม่ดีพอ เช่นนั้นคุณก็ไม่ได้ผ่อนคลายสบายใจกับความคิดและความกังวลเช่นนั้น
ประเด็นที่น่าสังเกตุตรงนี้ คือ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ หรือความสุขสัมพัทธ์นี้คงอยู่เพียงชั่วครู่เดียวเท่านั้น แม้หลังจากที่การกระทำของคุณสิ้นสุดแล้ว ตรงนี้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่คุณรู้สึกเวลาคุณทำอย่างอื่นสามารถได้รับผลกระทบจากสิ่งที่คุณทำก่อนหน้านี้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงความสัมพันธ์ของกรรมและระดับความสุขทุกข์ที่คุณประสบ พระองค์ทรงไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เรารู้สึกหลังจากการกระทำเป็นหลัก พระองค์ทรงหมายถึงผลลัพธ์ในระยะที่ยาวกว่านั้นมาก ถึงอย่างนั้นแล้ว เราก็สามารถเริ่มเห็นคุณค่าในประเด็นของพระองค์ เมื่อเราคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมทางอารมณ์ที่ได้รับการกระตุ้นของเรากับลักษณะการไหลเวียนของพลังงานในร่างกายเรา
ฉะนั้นแล้ว ความจริงสัมพัทธ์เกี่ยวกับทุกสิ่งอย่างที่เราประสบ คือ ทุกสิ่งอย่างล้วนอุบัติขึ้นโดยเกี่ยวข้องกับเหตุและเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสภาวะทั่วไปของจิต และไม่ใช่แค่เรารู้สึกอยากทำอะไร แต่รวมถึงว่าเราเป็นสุข หรือทุกข์ด้วย เช่นนี้เป็นด้านหนึ่งของความเป็นจริง ซึ่งประโยคในบทร้อยกรองนี้เรียกว่า พื้นฐาน อันเป็นลักษณะที่ทุกสรรพสิ่งยึดถือ ดังนั้น จึงเป็นลักษณะที่ทุกสรรพสิ่งดำรงอยู่ ปฏิบัติหน้าที่ และทำงาน
ความจริงล้ำลึกสูงสุด
ความจริงประการที่สองเกี่ยวกับทุกสรรพสิ่งมุ่งเน้นไปในระดับที่ลึกขึ้น ถึงแม้ว่าสิ่งทั้งหลายอาจดูเหมือนว่ามันปรากฏอยู่และปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่เป็นไปไม่ได้เนื่องจากการแสดงภาพมายาของเรา ลักษณะที่เป็นไปไม่ได้ที่สิ่งทั้งหลายดูเหมือนปรากฏอยู่ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริง
ความไร้ซึ่งอย่างสมบูรณ์ของสิ่งที่หาตัวตนได้สอดคล้องกับการแสดงภาพของเราที่เรียกว่า “สุญญตา” มักแปลว่า “ความว่างเปล่า”
ถึงแม้ว่าลักษณะของการดำรงอยู่ที่เป็นไปไม่ได้ตามที่จิตของเราแสดงออกมาจากความสับสนอันเป็นนิสัยนั้นจะมีความละเอียดหลายระดับด้วยกัน เราสามารถเริ่มปฏิบัติฝึกตนกับความจริงล้ำลึกสูงสุดนี้ได้ด้วยการปฏิบัติในระดับทั่วไปที่สุด นั่นคือ สรรพสิ่งไม่ดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นไปไม่ได้ มันจะเป็นอย่างนั้นได้อย่างไร ความเป็นจริงคือว่า ไม่มีสิ่งใดสอดคล้องกับความไร้สาระที่เป็นไปไม่ได้ตามที่จิตอันสับสันของเรานั้นแสดงภาพขึ้น มันเป็นความไร้อย่างแท้จริง ไม่มีสิ่งใดเป็นเช่นนี้เลย
ลองพิจารณาตัวอย่างคลาสสิคดู เด็กคนหนึ่งคิดว่ามีสัตว์ประหลาดอยู่ใต้เตียง จริง ๆ แล้วมีแมวตัวหนึ่งอยู่ใต้เตียง แต่เด็กคนนี้สร้างภาพว่าแมวตัวนี้คือสัตว์ประหลาด จากนั้นเพราะเด็กคนนี้เชื่อว่ามีสัตว์ประหลาดอยู่จริง ๆ ถึงแม้ว่านี่จะเป็นเรื่องไร้สาระ เด็กจึงหวาดกลัวเหลือเกิน ดังนั้นการแสดงภาพไร้สาระเช่นนี้มีผลกระทบต่อเด็กคนนี้ แต่มันไม่ได้ทำให้แมวตัวนั้นกลายเป็นสัตว์ประหลาดจริง ๆ อย่างแน่นอน เพราะไม่มีสัตว์ประหลาดอยู่จริง ฉะนั้นแล้ว สุญญตา คือ ความไร้อย่างแท้จริงของสัตว์ประหลาดตัวจริงที่สอดคล้องกับภาพมายาของเด็ก ไม่เคยมีสัตว์ประหลาดอยู่และก็ไม่อาจมีสัตว์ประหลาดอยู่ด้วย แต่เมื่อนำการแสดงภาพออกแล้วก็ยังมีแมวอยู่ใต้เตียง มันไม่ใช่ว่าไม่มีสิ่งใดอยู่ตรงนั้นเลย
เรามักจินตนาการไปตามความนิสัยความเคยชินว่า สรรพสิ่งดำรงอยู่ในลักษณะที่มันปรากฏให้เราเห็นจริง ๆ เราเพียงแต่ตระหนักถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา หรือสิ่งที่เรารู้สึกอยู่จริง ๆ ณ เวลานั้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ผมอาจรู้สึกไม่เป็นสุขตอนนี้ และมันดูเหมือนว่าความรู้สึกนี้อุบัติขึ้นด้วยตัวของมันเองโดยไร้ซึ่งเหตุผลใด ๆ ผมก็แค่รู้สึกไม่เป็นสุข ผมไม่รู้ว่าทำไม ผมรู้สึกเบื่อ ผมรู้สึกเซ็ง ผมเป็นทุกข์และมันก็ดูไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ผมกำลังทำอยู่ หรือผู้คนที่ผมอยู่ด้วยเลย จู่ ๆ ผมก็รู้สึกเซ็งขึ้นมาทันใด ผมจึงเป็นทุกข์ ก็ไม่เห็นจะต้องเป็นเรื่องราวใหญ่โตอะไรนี่นา มันอาจจะเป็นความรู้สึกไม่พึงพอใจในระดับต่ำ แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเกิดขึ้นราวกับว่าไม่มีเหตุใด ๆ แต่ตรงนี้มันเป็นไปได้ มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่นนี้คือความจริงล้ำลึกสูงสุด
สำหรับความจริงสัมพัทธ์เชิงสามัญ คือ ทุกสรรพสิ่ง ซึ่งรวมถึงความทุกข์สุขของผม อุบัติขึ้นจากกระบวนการของเหตุและผล ถึงแม้ว่านี่จะเป็นความเป็นจริง มันก็ไม่ได้ดูเป็นอย่างนั้นสำหรับผม มันดูเหมือนว่าสิ่งที่ผมรู้สึกนั้นไม่มีแหล่งที่มาและไม่มีเหตุผลใด ๆ เลย ความจริงล้ำลึกขั้นสูงสุด คือ ลักษณะที่มันปรากฏต่อหน้าผมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง กล่าวคือ มันเป็นการแสดงภาพของสิ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากคุณพิจารณาตรงนี้แล้วเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก
ผมขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าผมมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ตะโกนใส่ผมเป็นครั้งคราว เรามีความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยม แต่จู่ ๆ เพื่อนผมคนนี้ก็โกรธอะไรบางอย่างและพาลตะโกนใส่ผม สถานการณ์นี้ดูเป็นอย่างไรสำหรับผม มันดูเหมือนกับว่า “คุณไม่รักฉันแล้ว” ผมจึงรู้สึกอารมณ์เสียมาก เพราะทั้งหมดที่ปรากฏในใจผมคือ เพื่อนของผมกำลังตะโกนใส่ผม และผมก็ระบุตัวตนของเขากับลักษณะนี้อย่างสมบูรณ์โดยไม่เหลือช่องว่างสำหรับสิ่งใดอีกเลย แต่การแสดงภาพเช่นนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การตะโกนนั้นไม่ได้อุบัติขึ้นอย่างไร้เหตุผล ดำรงอยู่แยกออกจากการเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งในมิตรภาพอันยาวนานของเราอย่างสมบูรณ์ บางทีเหตุการณ์เช่นนี้อาจเคยเกิดขึ้นกับคุณเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เรามองไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ทั้งหมดทั้งมวลที่เรามีร่วมกับเพื่อนของเราแล้ว กล่าวคือ ช่วงเวลาทั้งหมดที่เราอยู่ร่วมกับคนคนนี้และปฏิสัมพันธ์ทั้งหมดของเรา แต่นี่ไม่ใช่อย่างเดียว เรายังมองไม่เห็นองค์รวมที่ใหญ่ขึ้นด้วย เราไม่ใช่ผู้เดียวในชีวิตของเพื่อนเรา และมิตรภาพของเราก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เกิดขึ้นในชีวิตของเขา เพื่อนเรามีชีวิตทั้งชีวิตที่อยู่นอกเหนือจากตัวผม ซึ่งตรงนี้ส่งผลต่อลักษณะที่เขารู้สึกและประพฤติตัว บางทีเขาอาจจะมีวันที่ยากลำบากในที่ทำงาน หรือมีปัญหากับพ่อแม่เขา ซึ่งทำให้เพื่อนของผมอารมณ์ไม่ดี เลยตะโกนใส่ผม ความจริงล้ำลึกขั้นสูงสุดคือ การแสดงภาพของผมนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มันไม่อาจเป็นความจริงได้เลยที่การเขาตะโกนของเขาดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง โดยไม่เกี่ยวพันกับบริบทของมิตรภาพทั้งหมดของเราและสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในชีวิตของเขา ความเป็นจริงที่สอดคล้องกับลักษณะของการดำรงอยู่ของเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเลยไม่อาจดำรงอยู่ได้ มันไม่มีสิ่งเช่นนั้น ความไร้อย่างสมบูรณ์ของการดำรงอยู่ในลักษณะนี้เรียกว่า “ความว่างเปล่า” หรือ “สุญญตา” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับคำว่า ศูนย์
ฉะนั้นแล้ว ตามความจริงสองประการ เมื่อสรรพสิ่งต่าง ๆ ไร้ซึ่งการดำรงอยู่อย่างสันโดษและไม่เกี่ยวพันกันและกัน เมื่อนั้นเหตุและผลย่อมทำงาน นั่นเพราะว่าเหตุและผลดำรงอยู่โดยสัมพันธ์และเกี่ยวพันกันและกัน ไม่มีสิ่งใดสามารถดำรงอยู่ในฐานะเหตุ หากไม่มีผลที่อาจเกิดขึ้นจากมันได้ หากสิ่งนั้นไม่สามารถก่อให้เกิดผล ไฉนเลยสิ่งนั้นจะดำรงอยู่ในฐานะเหตุของสิ่งใดได้ ฉะนั้นความจริงสัมพัทธ์ของสรรพสิ่งทั้งหลาย นั่นคือ ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสรรพสิ่ง สามารถทำงานได้เพราะความจริงล้ำลึกขั้นสูงสุดเกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งปวง กล่าวคือ ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นไปไม่ได้ของการไม่เชื่อมโยงกับสิ่งอื่นใด
อย่างที่ระบุไว้ในบทร้อยกรอง สัจธรรมที่ความจริงสองประการสนับสนุนกันและกันในลักษณะนี้เป็นพื้นฐาน เป็นลักษณะที่ทุกสรรพสิ่งยึดถือ “พื้นฐาน” ยังชี้ให้เห็นว่ามันเป็นพื้นฐานสำหรับสิ่งถัดมาด้วย จากรากฐานของการมองเห็นความจริง นั่นคือ ความจริงสองประการ พระพุทธเจ้าทรงเข้าใจความจริงสี่ประการ
คำถาม
การประสบกับความเป็นจริงที่แท้จริง
การประสบกับความเป็นจริงที่แท้จริง ซึ่งคุณไม่มีแนวคิดที่ผิดเลยเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หรือไม่ หรือมันเป็นเพียงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ไม่ ไม่ครับ มันเป็นไปได้ ถึงแม้ว่ากระบวนการทางจิตของเราจะทำให้ทุกอย่างปรากฏราวกับว่ามันดำรงอยู่ในลักษณะที่เป็นไปไม่ได้ กระนั้นแล้วในเมื่อมันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง การกำจัดสิ่งที่สร้างความบิดเบือนเช่นนั้นจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นี่เป็นเพราะว่ามีความเป็นจริงโดยแท้ และเพราะว่าความเป็นจริงที่บิดเบือนนั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติขั้นพื้นฐานของกระบวนการทางจิต การที่กระบวนการทางจิตจะทำงานโดยปราศจากการแสดงภาพ หรือการบิดเบือนใด ๆ นั้นจึงเป็นไปได้
บนรากฐานนี้ เราเข้าใจว่าเมื่อกระบวนการทางจิตบิดเบือนความเป็นจริง มันย่อมสร้างปัญหา ความทรมาน และความทุกข์ให้แก่เรา แต่ในเมื่อเราสามารถหยุดจิตไม่ให้แสดงภาพบิดเบือนเช่นนั้นอีก เราก็จะไม่สร้างและประสบปัญหาเองอีก เมื่อใดที่เราเข้าใจว่าจิตของเราสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ เมื่อนั้นเราได้บรรลุเป้าหมายนี้เป็นทิศทางที่ปลอดภัยสูงสุด ซึ่งเรานำไปใช้ในชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันความทุกข์ ทิศทางที่ปลอดภัยนี้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า “ที่พึ่งพิง” แต่เราจะสามารถมุ่งไปยังเป้าหมายนี้ได้ก็ต่อเมื่อเราเชื่อมั่นว่าเราสามารถบรรลุมันได้จริง ๆ ความเชื่อมั่นของเรามาจากการตระหนักได้ว่า ทุกสิ่งอย่างที่ผมได้กล่าวถึงนั้นตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นจริงและความสามารถของเราในการรับรู้เช่นนี้
แต่ตรงนี้อาศัยการฝึกฝนอันยาวนานมาก เพื่อให้เราคุ้นเคยกับความเป็นจริงและตัดผ่านสิ่งปิดกั้นทางจิตใจทั้งหลาย นี่คือส่วนที่การเจริญสมาธิเข้ามามีบทบาท การเจริญสมาธิในบริบทนี้ คือ การฝึกฝนตนเองให้คุ้นเคยกับความเป็นจริง โดยการสร้างสมการมองเห็นความเป็นจริงให้เป็นนิสัยเชิงประโยชน์ หากคุณสร้างสมนิสัยดังกล่าวแล้ว เมื่อใดที่คุณพบปะใคร คุณก็ปรับตัวเองให้คุ้นเคยกับการมองเห็นเขาในลักษณะที่นอกเหนือจากการปรากฏตัวของเขาต่อหน้าคุณเท่านั้น หากแต่คุณตระหนักรู้อย่างสมบูรณ์ว่า พวกเขาเคยเป็นเด็กทารกมาก่อน พวกเขามีวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ และมีสิ่งต่าง ๆ มากมายที่ส่งอิทธิพลต่อตัวเขาตลอดชั่วชีวิตนี้ และพวกเขาคงจะเติบใหญ่และได้รับอิทธิพลจากสิ่งอื่นเพิ่มเติมอีก ในลักษณะนี้คุณจึงมองเห็นความเป็นจริงของบริบททั้งหมดในชีวิตของเขา และเห็นว่าทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวพันเชื่อมโยงกัน มุมมองต่อคนคนนี้ตามความเป็นจริงทำให้คุณสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเขาในลักษณะที่มีประโยชน์และสมเหตุสมผลมากกว่าการมองแคบ ๆ ว่าพวกเขาเป็นเหมือนภาพถ่ายนิ่งต่อหน้าคุณ
แต่คุณต้องฝึกฝนตนเองให้ทำเช่นนั้น คุณคงไม่รู้รายละเอียดและอิทธิพลทั้งหมดในชีวิตของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็ไม่เป็นไรเลย เพียงแค่ตระหนักว่าคนคนนี้มีเรื่องราวในอดีตที่เต็มไปด้วยอิทธิพลและคงจะมีเรื่องราวในอนาคตด้วย เพียงเท่านี้ก็จะเปิดให้คุณมองเห็นความเป็นจริงของเขามากขึ้นแล้ว ดังนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากคุณเห็นเด็กทารกคนหนึ่ง คุณไม่ได้เพียงมองเห็นเด็กคนนั้นในฐานะเด็กทารกคนหนึ่ง หากแต่มองเห็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า และทุกอย่างที่คุณทำตอนนี้ย่อมส่งผลต่อลักษณะที่เด็กทารกคนนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คุณมองภาพรวม คุณอยู่กับความเป็นจริง