เรามาดูลักษณะเฉพาะตัวบางอย่างของนิกายเถรวาท และพระพุทธศาสนาแบบจีนและทิเบต ซึ่งถือเป็นตัวแทนนิกายใหญ่ ๆ ในปัจจุบัน
นิกายเถรวาท
นิกายที่ปฏิบัติกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ นิกายเถรวาท ซึ่งเน้นหลักการเจริญสติ การเจริญสติสามารถทำได้โดยการเพ่งสมาธิไปที่ลมหายใจ และ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกายขณะนั่ง การเคลื่อนไหว และเจตนาในการเดินในจังหวะที่ช้ามาก การมีสติกับการเคลื่อนไหวขึ้นลงในทุกขณะทำให้ผู้ฝึกตระหนักได้ถึงความเป็นอนิจจัง เมื่อผู้ฝึกได้นำความเข้าใจในจุดนี้ไปใช้กับการวิเคราะห์ประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดของเขา เขาก็จะตระหนักได้ว่าไม่มีตัวตนจีรังยั่งยืน ทุกสิ่งย่อมมีเกิดและดับสูญไปพร้อมกับตัวของมันเอง ไม่มีพันธะกับสิ่งใดหรือผู้ใด ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้ว เราก็จะเข้าใจความเป็นจริงที่จะสามารถปลดปล่อยตัวเราออกจากการกังวลเรื่องของตนเองเป็นศูนย์กลางและความทุกข์ที่ทัศนคตินี้นำมาให้
นอกจากนี้นิกายเถรวาทยังสอนการทำสมาธิเกี่ยวกับความรักอันไร้ขอบเขต (เมตตา) ความสงสาร (กรุณา) ความวางใจเป็นกลาง (อุเบกขา) ความยินดี (มุทิตา)
ในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมามีขบวนการที่เรียกว่า “พุทธศาสนาเพื่อสังคม” โดยเริ่มต้นที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นการใช้โปรแกรมทางศาสนาพุทธเข้าช่วยเหลือทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
พระสงฆ์นิกายเถรวาทศึกษาและท่องพระคัมภีร์พุทธศาสนาและปฏิบัติพิธีทางศาสนาสำหรับชุมชนพุทธศาสนิกชน พระสงฆ์จะออกบิณฑบาตรทุกวัน และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาก็จะใส่บาตร ซึ่งถือเป็นการฝึกจิตใจให้รู้จักมีความโอบอ้อมอารี
นิกายมหายานในเอเชียตะวันออก
หลักนิกายมหายานในเอเชียตะวันออกนั้นมาจากเมืองจีน มีสองด้านใหญ่ ๆ นั่นคือ ดินแดนสุขาวดี และที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า เซ็น
- หลักของดินแดนสุขาวดีเน้นการสวดนามของพระอมิตาภพุทธะ พระพุทธเจ้าแห่งแสงสว่างอนันต์ วิธีนี้จะทำให้ผู้สวดได้เข้าไปยังดินแดนสุขาวดี ซึ่งเป็นสรวงสวรรค์ที่มีทุกอย่างพร้อมนำให้ผู้นั้นได้กลายเป็นพระพุทธเจ้า
- เซ็นเน้นการทำสมาธิอย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้ฝึกจะทำให้จิตสงบจากความคิดเชิงมโนทัศน์ทั้งหมด เพื่อให้ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ของจิตที่เจริญความสงสารและปัญญาจะเปล่งประกายออกมา
พระสงฆ์และแม่ชีผู้ปฏิบัติทั้งสองหลักนี้ท่องบทสวดมนต์และสอดคล้องกับหลักวัฒนธรรมแบบขงจื๊อ ทำพิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะพิธีเกี่ยวกับบรรพบุรุษที่ได้ล่วงลับไปแล้วของครอบครัวผู้มีจิตศรัทธา
นิกายมหายานแบบทิเบต
พระพุทธศาสนานิกายมหายานแบบทิเบตที่พบได้ทั่วเอเชียกลางนั้นรักษาการพัฒนาตามประวัติศาสตร์ทั้งหมดของพุทธศาสนาแบบอินเดียไว้ โดยเฉพาะหลักปฏิบัติเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสงฆ์ อย่างที่นาลันทา ดังนั้นจึงเน้นเรื่องการศึกษาเล่าเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับธรรมชาติของจิต อารมณ์ และความเป็นจริงผ่านทางการใช้ตรรกะและการอภิปราย ซึ่งจะปฏิบัติควบคู่ไปกับการนั่งสมาธิเข้มข้นในหัวข้อเหล่านี้
ในทิเบตแนวทางนี้ผสมผสานกับหลักพุทธแบบอินเดียที่เรียกว่า การฝึกตันตระ ซึ่งเป็นการใช้พลังแห่งจินตนาการและการทำงานร่วมกับพลังงานละเอียดในร่างกาย เพื่อพัฒนาให้ผู้ฝึกได้กลายเป็นพระพุทธเจ้า วิธีนี้ทำได้โดยการเพ่งสมาธิไปยังความว่างเปล่า (สุญตา) และความสงสาร และภายในบริบทนั้น ให้จินตนาการว่าเป็นปางหนึ่งของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าบางครั้งปางเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “เทวาสมาธิ” ปางเหล่านี้ไม่ได้หมายถึงพระเจ้า หรือการปฏิบัติเพื่อพระเจ้า และศาสนาพุทธก็ไม่ใช่ศาสนาที่นับถือพระเจ้าหลายองค์แต่อย่างใด ปางแต่ละปางเป็นตัวแทนของการตรัสรู้ด้านหนึ่งของพระพุทธเจ้า เช่น ปัญญา หรือความสงสาร การนึกภาพตัวเองในรูปแบบของปางเหล่านั้นและท่องบทสวดมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกัน ทำให้ผู้ฝึกสามารถเอาชนะภาพของตัวเองในเชิงลบและหลอกลวง และสร้างลักษณะที่ปางเหล่านั้นมีขึ้นมาได้ การฝึกวิธีนี้ถือเป็นการฝึกขั้นสูงและต้องมีอาจารย์ที่ได้รับการรับรองอย่างเต็มที่คอยดูแลอย่างใกล้ชัด
นอกจากนี้พระพุทธศาสนาแบบทิเบตยังมีการสวดมนต์และทำพิธีกรรมค่อนข้างมากด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์เพื่อกำจัดพลังเชิงลบและภาพรบกวนต่าง ๆ ในรูปแบบของภูตผีปีศาจ ในการทำพิธีดังกล่าว ผู้ฝึกจะจินตนาการว่าตัวเองมีลักษณะที่เข้มแข็งมาก เพื่อเป็นการเสริมจิตให้มีพลังและความมั่นใจในการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีการเน้นเกี่ยวกับเทคนิคการนั่งสมาธิเพื่อบำเพ็ญความรักและความความสงสาร ซึ่งมีการใช้ทักษะการสร้างภาพขึ้นในใจเช่นกัน
บทสรุป
ไม่ว่าเราจะดูหลักการฝึกสติของนิกายเถรวาท การสวดนามของพระอมิตาภพุทธะในประเทศจีน หรือการฝึกการอภิปรายและการสร้างภาพในจิตใจของทิเบตนั้น พระพุทธศาสนาทุกนิกายก็รวมอยู่ในบริบทเดียวกันทั้งนั้น ทั้งหมดล้วนให้วิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเอาชนะความทุกข์และตระหนักถึงศักยภาพของตัวเราเอง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเราเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่นมากเท่าที่จะทำได้ด้วย