หลักการของจริยศาสตร์ประยุกต์ในชีวิตประจำวัน

การนำหลักจริยธรรมและค่านิยมไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันเรียกว่า “จริยศาสตร์ประยุกต์” (applied ethics)  เราสามารถกล่าวถึงจริยศาสตร์ประยุกต์ได้โดยใช้คำศัพท์สมัยใหม่ว่า “การศึกษาชีวิต” (life education) ซึ่งนำเสนอทางออกสำหรับความท้าทายทั้งในรูปแบบของความไม่พอใจระดับบุคคลและความไม่สงบนิ่งทางสังคม  ในระดับรายบุคคล หลักการเหล่านี้ช่วยทำให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจชีวิตของตนเองได้  ส่วนในระดับสังคมหลักการเหล่านี้ช่วยให้ผู้ศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับผู้อื่นในลักษณะที่มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าและการพัฒนา  เพราะฉะนั้นจริยธรรมสากลจึงมีบทบาทสำคัญในส่วนนี้

เราได้หลักจริยธรรมเหล่านี้มาจากที่ใดบ้าง?  เราสามารถเรียนรู้หลักเหล่านี้จากแหล่งข้อมูลทางโลกวิสัย เช่น จากงานของอริสโตเติ้ล (Aristotle) หรือผู้นำหลายท่าน เช่น จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ผู้กล่าวไว้ว่า “อย่าถามว่าประเทศของคุณทำอะไรให้คุณได้บ้าง แต่จงถามว่าคุณทำอะไรให้ประเทศของคุณได้บ้าง” (“Ask not what your country can do for you, but what you can do for your country”)  นอกจากนี้เรายังสามารถเรียนรู้หลักการทางจริยธรรมจากศาสนาได้ด้วย  ถึงแม้ว่าบางคนจะโต้แย้งว่าศาสนารังแต่จะแบ่งแยกผู้คน  เราควรสังเกตว่าศาสนานั้นมีสองด้านด้วยกัน  ด้านหนึ่งคือเชิงเทววิทยาซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละศาสนา ส่วนอีกด้านหนึ่งคือระบบเชิงจริยธรรมซึ่งมีสอดคล้องกันในทุกศาสนา  ในเมื่อเราได้หลักจริยธรรมแห่งชีวิตมาจากทุกสิ่งเหล่านี้ ดิฉันจึงขอเสริมว่าศาสนาก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างจริยศาสตร์ประยุกต์แบบสากลเช่นกัน

ที่ศูนย์สำหรับสันติภาพและจิตวิญญาณ (Centre for Peace and Spirituality) ซึ่งก่อตั้งโดยเมาลานา วาฮิดุดดิน คาน (Maulana Wahiduddin Khan) เราได้พัฒนากระบวนทัศน์เชิงปฏิบัติสำหรับจริยศาสตร์ประยุกต์ตามที่เมาลานาได้ฝึกสอนในชั้นเรียนช่วงสุดสัปดาห์ในช่วงเวลาสิบเจ็ดปีที่ผ่านมา  เราได้เตรียมผู้ให้การศึกษาชีวิตหลายพันคนที่ได้นำหลักการเหล่านี้ไปปฏิบัติใช้กับตัวเองก่อน จากนั้นจึงนำไปบอกผู้อื่นต่อ  นี่คือสิ่งที่อาจารย์ต้องทำ ในขั้นแรกพวกเขาต้องใช้หลักการเหล่านี้กับตัวเองก่อนและหมั่นฝึกฝนไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการตลอดชีพ  เราก็เริ่มต้นและจากนั้นในกระบวนการเหล่านี้ เราก็ช่วยเหลือนักเรียนให้นำหลักการเดียวกันนี้ไปใช้ด้วย

สิ่งที่เราพัฒนาขึ้นคือทางออก  ดิฉันได้ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับวิธีสร้างสันติภาพในโลกปัจจุบันและดิฉันก็ตระหนักได้ว่าคนเราจำเป็นต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ  เมื่อจุดนี้เกิดขึ้นแล้ว เราก็จะกลายเป็นสันติบุคคลที่ได้รับการพัฒนาทางสติปัญญาและสร้างเสริมสันติภาพ ความก้าวหน้า และการพัฒนาในสังคมต่อไปได้  การทำเช่นนี้ถือเป็นการพัฒนาประเทศทั้งหลายร่วมกันในระดับนานาชาติ

เพราะฉะนั้นเราจึงได้สร้างโปรแกรมพัฒนาบุคลิกภาพ  ซึ่งดิฉันอยากจะแบ่งปันหลักการสำคัญสามประการของโปรแกรมในครั้งนี้  หลักการเหล่านี้สร้างขึ้นจากจริยธรรมทางโลกและทางศาสนา

1. ทัศนคติเชิงบวก

ประการแรกคือทัศนคติเชิงบวก หรือกระบวนการความคิดเชิงบวก  มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชายสองคนในคุกที่มองออกไปนอกหน้าต่างผ่านลูกกรง  ชายคนหนึ่งมองเห็นแต่โคลนตม ในขณะที่อีกคนมองเห็นดวงดาว  จุดนี้หมายความว่าถึงแม้ว่าคนต่างกันจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เราก็สามารถเลือกที่จะคิดเชิงลบและมองเห็นแต่โคลนตม หรือเราจะเลือกมองเห็นโอกาสที่สถานการณ์นั้นมอบให้เราก็ได้  ยิ่งเราพัฒนามุมมองด้านต่าง ๆ ได้มากเท่าไหร่ มุมมองเหล่านั้นก็ยิ่งจะช่วยให้เราเห็นโอกาสได้มากขึ้นเท่านั้น

2. พฤติกรรมเชิงบวก

ประการที่สองคือพฤติกรรมเชิงบวก  ทุกศาสนามีกฎสำคัญด้านจริยธรรม  ในศาสนาคริสต์ มีคำกล่าวว่า “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นแบบที่อยากให้เขาปฏิบัติต่อเรา” (“Do unto others as you would have them do unto you”)  คำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่าเราทราบดีอยู่แล้วว่าเราคาดหวังพฤติกรรมประเภทใดจากผู้อื่น  เราไม่จำเป็นต้องได้รับคำสอนเกี่ยวกับกฎจริยธรรมมากมายนัก เพียงแค่เราปฏิบัติตัวในแบบที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราเท่านั้น  เราเริ่มให้กับผู้อื่นและเราทราบว่าการให้นั้นก็คือการรับเช่นกัน  เราได้รับสิทธิ ได้รับคุณธรรมของความเป็นมนุษย์—ได้รับทุกอย่าง 

3. สันติภาพและการปราศจากความรุนแรง

จากการศึกษาค้นคว้า ดิฉันพบว่าแก่นของจริยธรรมทั้งหมดรวมอยู่ในสันติภาพ  สันติภาพเป็นเหมือนหลังคาของหลักการชีวิตเชิงบวก เช่น ความปรารถนาดี ความเคารพ การให้อภัย  เมื่อมองในลักษณะนี้ หลักการทั้งหมดก็สามารถจัดรวมอยู่ใต้หลังคาของสันติภาพและการปราศจากความรุนแรงได้  เมื่อเราใช้หลักการเหล่านี้และนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เราจะสามารถก้าวหน้าและพัฒนาตนเอง รวมถึงกลายเป็นผู้ส่งเสริมความก้าวหน้าในสังคมได้ด้วย

ดิฉันรู้สึกว่าโปรแกรมเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่ออาจารย์และนักเรียน  วิทยาลัยรามานุชัน (Ramanujan College) ได้ให้โอกาสเรานำบทเรียนเหล่านี้ไปให้อาจารย์และนักเรียนปฏิบัติใช้แล้ว ซึ่งผลที่ออกมาประสบความสำเร็จมาก  ศูนย์แห่งสันติภาพและจิตวิญญาณจึงพัฒนาต่อไปอีกขั้นด้วยการสร้างคอร์สต่าง ๆ สำหรับโรงเรียน เช่น คอร์ส “เรา ผู้มีชีวิต” (“We, the Living”) ซึ่งมีหนังสือเรียน ข้อมูลจากการค้นคว้า และคู่มือสำหรับอาจารย์ผู้สอนประจำคอร์สสำหรับเกรด 1-12  สำหรับระดับอุดมศึกษา เรามีคอร์ส “วัฒนธรรมแห่งสันติภาพ” (“Culture of Peace”) ซึ่งเราหวังว่าจะเริ่มใช้ภายในวิทยาลัยรามานุชัน  สำหรับกลุ่มรายบุคคลและบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในเครืออุดมศึกษา เรากำลังพัฒนา “โปรแกรมชีวิตที่ดี” (“Good Life Program”) เราต้องการจะเผยแพร่โปรแกรมเหล่านี้ให้กับทั่วโลก  เรามีศูนย์หลายแห่งอยู่ทั่วประเทศอินเดีย  ในระดับนานาชาติ เราได้นำคอร์สเหล่านี้ลงออนไลน์ เพื่อที่ศูนย์และอาจารย์ชีวิตของเราตามสถานที่ต่าง ๆ จะสามารถพัฒนาได้ต่อไป  ดิฉันหวังว่านี่จะเป็นก้าวเล็ก ๆ ไปสู่การพัฒนานักการศึกษาชีวิตและนักจริยธรรม  ในลักษณะนี้เราจะสามารถกลายเป็นผู้คนที่ได้รับการพัฒนาเชิงสติปัญญาและเป็นผู้ส่งเสริมความก้าวหน้าและการพัฒนาด้วย

Top